ตามรอยพระพุทธบาท

หนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม 5 (ตอนที่ 4) วัดจามเทวี
praew - 3/2/10 at 11:44

◄ ย้อนอ่าน ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 5




สารบัญ

01.
พิธีบวงสรวงสักการบูชา ณ วัดจามเทวี
02. พระราชชีวประวัติ พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ แห่งนครหริภุญชัย
03. ประวัติวัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน
04. พิธีถวายพระราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณแด่พระแม่เจ้า ฯ
05.
วันแห่ง "แผ่นดินของพ่อ"
05. สมกับคำว่า "แม่ศรี"


praew - 3/2/10 at 12:00



ตอนที่ ๔

วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน




เจ้าหน้าที่ในชุดล้านนาได้เตรียมจัดสถานที่เพื่อทำพิธีบวงสรวง พร้อมกับขึ้นไปห่มผ้าที่พระเจดีย์กู่กุด

ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะได้ติดตามเรื่องราวกันต่อไป ไม่ทราบว่าจะยังพอจำเหตุการณ์ที่ได้เล่าผ่านไปได้หรือไม่ เพราะได้ลำดับความมาถึง ๓ ตอนแล้ว โดยตอนแรกได้เล่าเรื่องการเดินทางไป งานฉลองอายุครบ ๗ รอบ (๘๔ ปี) หลวงปู่ครูบาชัยวงศ์ แล้วเดินทางไป วัดพระบาทผาผึ้ง ต่อจากนั้นก็ไป วัดพระธาตุจอมทอง แล้วไปค้างคืนที่ วัดโขงขาว จ.เชียงใหม่ นั่นเป็นการเล่าเรื่องผ่านไปในตอนที่ ๒ ของวันที่ ๑๙ เม.ย. ๒๕๔๐

ส่วนในตอนที่ ๓ ได้เล่าเรื่องเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน เดินทางไป วัดพระธาตุดอยคำ แล้วได้เล่าเรื่องประวัติ วัดพระธาตุดอยคำ และ "พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี" ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ โดยได้อาศัยอยู่กับท่านวาสุเทพฤาษี ณ สุวรรณบรรพต (ดอยคำ)

ครั้นเมื่อ "เด็กหญิงวี" มีอายุได้ ๑๓ ปี มีรูปโฉมงดงามมาก "ท่านพ่อฤาษี" เห็นว่าดวงชะตาจะได้เป็นใหญ่ในแคว้นไกล จึงคิดที่จะส่งนางไปตามกรรมลิขิต แล้วจึงได้ให้ "กุมารีวี" ลงนาวายนต์ไปพร้อมกับบรรดาฝูงวานร อันมีพญากากะวานร เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองภัย

แต่ทว่าเรือแพจะล่องลอยไปที่ใดก็ยังไม่ทราบได้ เพราะต้องเล่าเรื่องที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยเดินทางมาที่ วัดพระธาตุหริภุญชัยกันก่อน ครั้นเสร็จเรื่องราวและพิธีบวงสรวงสักการบูชาแล้ว จึงเดินทางมาเล่าเรื่องของพระแม่เจ้าต่อไปที่ วัดจามเทวี อันเป็นสถานที่สำคัญ อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน

เมื่อขบวนรถของพวกเราไปถึงแล้ว ก็พบวาจ้าหน้าที่ที่ได้เดินทางมาก่อนล่วงหน้า ได้จัดเตรียมเครื่องบางศรีครบชุด พร้อมทั้งเครื่องสักการะต่าง ๆ เช่น ฉัตรเงิน ฉัตรทอง และพุ่มเงิน พุ่มทอง เป็นต้น ได้วางไว้สวยเด่นเป็นสง่าอยู่ในโต๊ะเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับทางวัดได้จัดปูเสื่อไว้ด้านหน้า "พระเจดีย์กู่กุด" อันเป็นสถานที่ที่จะกระทำพิธีสักการบูชาสืบต่อไป

เวลาที่ไปถึงนั้นเป็นเวลาเกือบบ่ายโมงแล้ว แต่ได้อาศัยเลาภายใต้ต้นไม้ใหญ่ จึงทำให้ไม่ร้อนมากนัก ในตอนนี้ เจ้าหน้าที่นำผ้าห่มพระเจดีย์ ซึ่งมีพื้นเป็นสีขาวแวววาว ขอบผ้าด้านบนเป็นสีทองสวยงามมาก พร้อมกับจัดร้อยพวงมาลัยดาวเรืองไว้รอบองค์พระเจดีย์ หลังจากจัดเครื่องสักการบูชาดังกล่าวนี้เสร็จแล้ว ญาติโยมทุกคนนั่งประจำที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้เล่าเพราะเหตุใดที่ได้มา ณ สถานที่นี้ต่อไป....


praew - 3/2/10 at 12:01



พระราชชีวประวัติ พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ แห่งนครหริภุญชัย



อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ในเมืองลำพูน (ภาพจาก travel.sanook.com)


ต่อไปนี้ก็มารับฟังเรื่องราวของพระแม่เจ้าในขณะที่ยังทรงพระเยาว์กันต่อไป ซึ่ง คุณสุทธวารี สุวรรณภาชย์ ได้เป็นผู้ค้นพบการจารึกเรื่องนี้ไว้ใน "สมุดข่อย" ที่เทือกเขาขุนตาล ซึ่งบันทึกไว้เป็น "อักขระลานนา" จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในสมัยนั้นกันจริง ๆ

ในตอนต้นประวัติ "กำเนิดกุมารีวี" นั้น ท่านสุเทพฤาษี เป็นผู้จารึกไว้เอง ในสมัยต่อมา พระที่เลี้ยงปทุมวดี จึงเป็นผู้บันทึก แต่ในที่นี้จะขออนุญาตนำมาลงแต่โดยย่อเป็นบางตอนเท่านั้น โดยท่านได้บันทึกไว้ว่า

ในปีพุทธศักราช ๑๑๙๐ ลำดับนั้น นาวายนต์ได้มาถึง นครละโว้ คือ เมืองลพบุรี เดิมนั่นเอง นาวายนต์ได้ลอยวนไม่เคลื่อนที่ไปทิศทางใด จนกระทั่งรุ่งแจ้ง ณ ท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคล (ปัจจุบันเป็นท่าฉนวน หน้าวัดเชิงท่า อ.เมือง จ.ลพบุรี) ซึ่งเป็นท่าโดยเสด็จทางเรือของพระเจ้ากรุงละโว้ คือ พระเจ้านพรัตนราช

ชาวประชาแห่งลวะบุรีได้โจษขานกันอื้ออึงว่า มีกุมารีน้อยร่างสะคราญ พร้อมทั้งพญาวานรอยู่ในนาวายนต์ลอยวนอยู่ ณ ที่นั้น จึงมุขมนตรีได้สดับข่าวก็รีบไปดู ได้เห็นเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงได้เข้ากราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงละโว้ทันที จึงกษัตริย์ละโว้ พร้อมทั้งพระมเหสี คือ พระนางมัณทนาเทวี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร ก็ทรงเห็นธิดาน้อยพร้อมทั้งฝูงวานตอยู่ในนาวายนต์อย่างสำราญ จึงมีพระบัญชาให้หมู่อำมาตย์ไปดึงนาวายนต์นั้นเข้ายังฝั่ง

เกิดเหตุอัศจรรย์ แต่ก็ประหลาดนัก นาวายนต์ลำนั้นไม่ยอมเคลื่อนที่ คงลอยวนอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์ พระองค์พร้อมด้วยพระมเหสี จึงได้เสด็จลงท่าน้ำทรงสาวเชือก เพื่อดึงนาวายนต์เข้าหาฝั่ง ก็ปรากฏเป็นอัศจรรย์เหลือหลาย ณ เบื้องบนนภากาศที่แสงสุริยเจ้าเริ่มสาดลงมายังพื้นปฐพี ได้บังเกิดศุภนิมิต สายฝนโปรยเป็นละอองให้ชื่นฉ่ำ

ครั้นนาวาน้อยได้เข้าเทียบยังท่าน้ำแล้ว เหล่ามุขอำมาตย์และประชาราษฎร์ ได้โห่ร้องถวายพระพรให้กษัตริย์และพระมเหสี พร้อมกับต้อนรับกุมารีน้อยกันเซ็งแซ่ พระมเหสีได้โอบอุ้มกุมารีน้อยพร้อมกับจุมพิต เหล่าทวยราษฎร์ต่างยื้อแย่งกันเข้าชมกุมารีน้อย พระพิรุณก็โปรยปรายความชุ่มเย็นประดุจละอองเหมย (หมอก) ตลอดเวลา

จึงกษัตริย์และพระมเหสีได้จูงมือกุมารีน้อย เสด็จพระราชดำเนินเข้าประทับยังพลับพลา กุมารีน้อยก็เหมือนเป็นผู้รู้ ได้ก้มกราบถวายบังคมพระบาทของกษัตริย์และพระมเหสี ฝูงวานรก็ประนมมือกราบพร้อมกัน ดูประดุจการกระทำของมนุษย์ผู้ประเสริฐ เพลานั้นเบื้องบนนภากาศ ได้บังเกิดแสงประหลาดมีสีต่าง ๆ

เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่องราวแต่หนหลังจาก "เด็กหญิงกุมารีวี" แล้ว จึงมีพระบัญชาให้โหรหลวงผูกดวงชะตาของกุมารีน้อย ซึ่งโหรหลวงได้ทำนายเอาไว้ว่า "ต่อไปภายหน้าจักได้เป็นจอมจักรพรรดินี ยอดกษัตรีย์ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน และแม้ว่าราชาใดได้กุมารีนี้เป็นอัครมเหสีคู่บารมีแล้ว จักเพียบพร้อมด้วยมหาสมบัติ ๗ ประการเป็นแน่แท้

ประเทศใดเมืองใดที่กุมารีนี้สถิตอยู่ จะร่วมเย็นเป็นสุข ปราศจากภัยพิบัติ ผลหมากรากไม้ โภชนาหาร จะสมบูรณ์เป็นที่ยิ่ง" ครั้นพระองค์ได้ทรงทราบเช่นนั้นแล้ว จึงได้สถาปนากุมารีน้อยเป็น "เอกราชธิดา" ให้ทูลเชิญพระมหาอุปราช คือ เจ้ารามราช ยังนครรามบุรี ให้มางานฉลองสมโภชเอกราชธิดา โดยมีมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน

แล้วจึงรับสั่งให้ เจ้าหญิงปทุมวดี และเจ้าหญิงเกษวดี ซึ่งเป็นราชธิดาแห่ง พระเจ้าทศราช และ พระนางผกาเทวี ผู้ครองนครรัตนปุระ เป็นผู้ให้การศึกษาศิลปวิทยาการ ตำรับพิชัยสงคราม อีกทั้งศิลปหัตถกรรม การดนตรี และเป็นพระพี่เลี้ยง

ส่วนบรรดาวานรทั้งหลาย ให้เสนาจัดสวนให้อยู่นอกพระนครที่อุดมด้วยผลหมากรากไม้ให้เป็นที่อยู่อย่างสำราญ (คงจะสืบเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบันนี้ ที่อาศัยอยู่บริเวณศาลพระกาฬ) เมื่อได้จัดงานพระราชพิธีสถาปนาเป็นเอกราชธิดาแห่งนครละโว้ แล้ว จึงมีพระนามว่า เจ้าหญิงจามะเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี รัตนกัญญา ลวะบุรีราเมศวร

ในงานนี้ เจ้าหญิงได้พบกับ เจ้ารามราช ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชของ พระเจ้านพรัตนราช กษัตริย์ละโว้ จึงมีความพึงพอใจซึ่งกันและกันกาลเวลาได้ล่วงไป เจ้าหญิงได้ทรงศึกษาอักษรศาสตร์และหัตถกรรม จากพระพี่เลี้ยงปทุมวดี และเรียนวิชาตำรับพิชัยสงครามและเพลงอาวุธ จากพระพี่เลี้ยงเกษวดี จนมีความชำนาญทั้งดาบคู่และธนูไม่แพ้ชาย ทรงม้าอาชาไนยสีขาวปลอดได้อย่างโลดโผน ยิ่งกว่าขุนศึกบางคน ทั้งยังชำนาญในพิณเป็นอย่างยิ่ง

กรุงละโว้จึงมีความสุขเกษมเปรมปรีดิ์กันทั่วหน้า เป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดาพระราชมารดา ตลอดถึงข้าราชบริพารทั้งหลาย ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ปราศจากเสี้ยนหนามศัตรู ฝ่ายพระมหาอุปราช เมื่อได้ไปมาใกล้ชิดกับเจ้าหญิง ก็เกิดความเสน่หาขึ้น และเมื่อเจ้าหญิงมีพระชนม์ได้ ๒๐ พรรษา ทรงมีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก สุดจักหาหญิงใดเสมอเหมือนอันความงามของพระราชธิดากรุงละโว้นั้น

ได้เปรียบไว้ว่า ทรงมีดวงพระพักตร์เป็นรูปไข่ เส้นเกษาดำสนิทดุจขนนกกาน้ำ พระเนตรคมเป็นแวววาว เมื่อแลต้องผู้ใด มิว่าหญิงหรือชาย จะพิศวงงงงวยไปทุกผู้ และร้อนแรงด้วยพิษเสน่หา พระโขนงโก่งเรียวยาวประดุจคันธนูของนายพรานขมังธนู ที่กำลังโน้มน้าวสายพระนาสิกโด่งคมสันรับกับพระพักตร์ ริมฝีพระโอษฐ์แดงระเรื่อ เหมือนผลตำลึงสุก พระทนต์เรียบขาวสะอาดดุจไข่มุก พระกรอวบเรียวงามดุจงาช้าง ขณะยุรยาตร์พระวรกายดุจช้างสาร เวลาก้าวพระบาทดุจนางหงส์ขณะเยื้องกราย พระกายหอมประดุจกลิ่นเกสรบัวหลวง พระสุรเสียงประดุจหนึ่งว่าเสียงพระนารายณ์

เมื่อผู้ใดได้ยลพระพักตร์แล้ว จักตกอยู่ในบ่วงเสน่หา ด้วยกระนี้หรือพระมหาอุปราช จะอดใจอยู่ได้ ฉะนั้น เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างมีพระทัยตรงกัน จึงได้มีพระราชพิธีหมั้นขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๖ พุทธศักราช ๑๑๙๖ ข่าวที่ทรงมีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนักนี่เอง

จึงได้เลื่องลือไปถึงพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงโกสัมพี จนมีเหตุให้ต้องทำสงครามกันไปในที่สุด ต่อมาภายหลังจึงเรียกสถานที่นั้นว่า "วังเจ้า" เพราะ "เจ้าเมือง" หลายพระองค์ต้องมาสิ้นพระชนม์ ด้วยฝีมือของเหล่าทหารชายหญิงชาวละโว้ พร้อมด้วยหมู่วานรทั้งหลาย อันมีเจ้าหญิงจามะเทวีและเจ้ารามราชเป็นจอมทัพ

ในบันทึกนี้ได้เล่าถึงการศึกในครั้งนี้ไว้ว่า เจ้าหญิงทรงชุดนักรบสีเขียวใบไม้ สนับเพลาสีเขียว เชิงชายบุด้วยดิ้นทอง รัดเกล้าด้วยแพรสีเหลือง คาดพระนาภีด้วยแพรสีเดียวกัน พระหัตถ์กระชับด้วยพระแสงดาบคู่ ประทับยืนเด่นอยู่เบื้องหน้าเหล่าทหารหาญละโว้ การศึกในคราวนี้ กรุงโกสัมพีเสียเจ้าชายผู้จอมทัพ และพระราชโอรสต่างประเทศอีก ๕ พระองค์ แม่ทัพนายกองอีกมากมาย จำนวนนายและพบที่ยกมารวม ๒ แสนเศษ เหลือรอดตาย ๕ หมื่นเศษ

ทางฝ่ายละโว้ทหารหญิงขาดไป ๑๐๐ คน วานร ๑๐ ตัว แม่ทัพขุนศึก นายกองและพลทหาร สิ้นไป ๘ พันเศษ จากจำนวนที่ยกมาครั้งแรก มีจำนวน ๕ หมื่นเศษ

ครั้นเสร็จศึกสงครามแล้ว จึงมาถึงพระราชพิธีอันสำคัญ คือพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้ารามราช กับเจ้าหญิงทั้ง ๓ พระองค์ คือเจ้าหญิงจามะเทวี เจ้าหญิงปทุมวดี และ เจ้าหญิงเกษวดี เมื่อวันจันทร์ เดือน ๖ ปีขาล พ.ศ. ๑๑๙๘

ครั้นงานพระราชพิธีผ่านไปได้ ๓ วัน พระเจ้าละโว้พระองค์ใหม่ พร้อมทั้งพระมเหสีทั้งหมด ได้เสด็จเลียบพระนครทางสถลมาค ตามพระราชประเพณี (ปีที่ขึ้นครองราชย์ มิได้เสด็จเลียบพระนคร เข้าใจว่าคงรออภิเษกสมรสแล้วเสด็จเลียบพระนครพร้อมกัน)

หลังจากนั้น เจ้าหญิงที่ทรงระหกระเหินไปจาก "ระมิงค์นคร" ได้เสวยสุขกับพระราชสามีทุกนิรันดร์วันคืน และในปีนี้ พระราชินีจามะเทวี ฯ ทรงโปรดให้สร้างนครอันสวยงาม ขึ้นที่ "สุวรรณบรรพต" แล้วทรงตั้งนามให้ใหม่ว่า นครงามฟ้า หรือ นครฟ้างาม (เขาทอง จ.นครสวรรค์)

โลกนี้ไม่มีอะไรที่จะแน่นอน ทุกสิ่งเปลี่ยนแปรไปตามกรรม ฝ่ายทางบุรพนคร (ลำพูน) กษัตริย์ที่ปกครอง มีพระอุปนิสัยโลเล มิอยู่ในทศพิธราชธรรม เสวยแต่น้ำจันฑ์ มัวเมาด้วยอิสตรี ประชาชนถูกดกขี่ข่มเหง เสนาข้าราชบริพารลวนประจบสอพลอ จึงเทพดารักษาเมืองก็พิโรธ เกิดโรคภัย พลเมืองล้มตายและแล้วพระพิรุณก็กระหน่ำ จึงอุทกภัยและวาตภัยได้เกิดขึ้น น้ำนองท่วมท้น คนและสัตว์หนีมิทัน ล้มตายหายไปกับแม่พระคงคา และเมื่อน้ำงวดลงแล้ว บุรพนครได้เป็นนครร้างเสียแล้ว

ท่านสุเทพฤาษี ผู้สถิตย์อยู่ ณ อุจฉุตบรรพต (ดอยสุเทพ) จึงได้เชิญฤาษีผู้น้องทั้งสามอันมี พระฤาษีสุกันต์ ผู้อยู่นครละโว้ พระฤาษีสุทันต์ แห่งนครสามแสน พระฤาษีสุพราหมณ์ แห่งนครละกอน (ลำปาง) พร้อมด้วยฤาษีจากทิศต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น ๑๐๐ คน

โดยท่านสุเทพฤาษีเป็นประธาน พร้อมกับชาวบ้านที่รอดพ้นจากอุทกภัย ได้มารวมกันช่วยกันสร้างนครขึ้นใหม่ เมื่อกลางปี พ.ศ. ๑๒๐๐ ให้นามนครใหม่ว่า นครหริภุญชัย แล้วมอบให้ เจ้าหญิงจามะเทวี ราชธิดาแห่งกรุงละโว้ ขึ้นมาครองเมืองนี้ เป็นต้นปฐมบรมกษัตรีย์ มีพระนามว่า พระนางจามะเทวีบรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย

ซึ่งได้เสด็จมากับพระราชโอรสฝาแฝดทั้งสองคือ เจ้ามหันตยศ และ เจ้าอนันตยศ ทั้งพระนางปทุมวดีและพระนางเกษวดี พร้อมด้วยพระเถระและข้าราชบริพารทั้งหลาย โดยได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๒๐๒ ในขณะที่มีพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา

ครั้นถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ จึงทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกับท่านสุเทพฤาษีไปยัง "ดอยคำ" แล้วเสด็จเข้าไปในอุโมงค์ตรงไปยัง "อุจฉุตบรรพต" คือ "ดอยสุเทพ" แล้วไปออกที่ "ดอยอ่างสลุง" คือดอยเชียงดาว เพื่อไปทำพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก แล้วได้เสด็จกลับพระนครจัดงานพระราชพิธีสมโภชพระนครตลอด ๑๕ วัน ๑๕ คืน

ต่อมาได้ทรงวางระเบียบการปกครองแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งช่วยบริหารบ้านเมืองจัดตั้งกองทัพให้เข้มแข็ง สร้างเวียงหน้าด่านไว้ป้องกันศัตรู สร้างวัดวาอาราม สร้างโรงเรียน ทั้งยังได้ทรงตราอักษรขึ้นใหม่เรียกว่า อักขระรามัญ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรและชาวหริภุญชัยได้ศึกษาเล่าเรียน แล้วได้มีการจารึกประวัติศาสตร์เอาไว้ ทั้งได้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกอีกด้วย บ้านเมืองจึงมีความเจริญรุ่งเรืองสืบมา

ฝ่ายทางด้านกรุงละโว้ พระเจ้ารามราชก็ได้ครองราชสมบัติ จนกระทั่งปีพุทธศักราช ๑๒๑๕ พระองค์จึงได้ทรงสละราชาสมบัติออกผนวช แล้วได้สิ้นพระชนม์ในสภาวะของพระภิกษุ ซึ่งหลวงพ่อได้บอกว่า พระศพได้ฝังไว้ใต้บริเวณพื้นพระอุโบสถวัดโขงขาว

ขอย้อนกลับมาทางเมืองหริภุญชัยกันอีกที่จะมีเรื่องกับ ขุนวิลังคะ เจ้าเมืองระมิงค์นคร หรือเชียงใหม่ในเวลานี้ ด้วยพระรูปพระโฉมที่งดงามนี่เอง จึงเป็นเหตุให้กษัตริย์พระองค์นี้ มีความใฝ่ฝันที่จะได้มาเป็นพระมเหสี จึงต้องทำศึกสงครามกันอีก การรบในครั้งนี้ ก็มีพระราชโอรสทั้งสอง ได้ยกกองศึกเข้าประหัตประหารกัน ผลที่สุดก็ได้รับชยชนะต่อข้าศึก ระมิงค์นครจึงตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองหริภุญชัยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

(จนกระทั่งถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายของหริภุญชัย มีพระนามว่า"ญี่บา" ได้กลับไปเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ในสมัย พ่อขุนเม็งราย) ในปี พ.ศ. ๑๒๒๔ จึงมีพระราชพิธีอภิเษกสมรสเจ้าชายทั้งสองกับเจ้าหญิงทั้งห้าพระองค์ คือ เจ้ามหันตยศ ฯ กับ เจ้าหญิงจันทรา (พระราชธิดาของพระพี่เลี้ยงพระนางเกษวดี) และเจ้าหญิงประกายคำ (พระราชธิดาพระเจ้ากรุงอุชเชนี)

เจ้าอนันตยศ ฯ กับ เจ้าหญิงผกามาศ (พระราชธิดาพระพี่เลี้ยงพระนางเกษวดี) และเจ้าหญิงประกายฟ้า (พระราชธิดาพระเจ้ากรุงอุชเชนี) เจ้าหญิงจิรประภา (เอกราชธิดาพระเจ้าการิกโท พระนางปาริสเทวี แห่งนครเขลางค์) มีมหรสพฉลองถึง ๑๕ วัน ๑๕ คืน

พระโอวาทของพระแม่เจ้า ฯ

ครั้งนั้น พระแม่เจ้าได้ทรงประทานพระโอวาท แด่พระราชโอรสและพระวรชายาในการร่วมชีวิตจิตใจกันว่า "ลูกรักของมารดา..! เมื่อว่าลูกได้ร่วมชีวิตเข้าเป็นสามีภรรยานั้น มิว่าจ้าวว่าไพร่ ย่อมต้องระลึกว่า ทั้งสองฝ่ายต้องระลึกถึงหน้าที่ยิ่งกว่าสิ่งใด สามีย่อมปฏิบัติหน้าที่ของสามีภรรยาย่อมปฏิบัติหน้าที่ของภรรยา และทั้งสองต้องระลึกเกียรติอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ

ข้อสำคัญต้องระลึกว่า สามีคือ "ช้างเท้าหน้า" ภรรยาคือ "ช้างเท้าหลัง" อันความข้อนี้จำแนกออกว่า มิใช่ว่าสามีทำอะไร ภรรยาจะต้องทำอย่างนั้น ตามอย่างกันไปเรื่อย ๆ แต่หมายความ...สามีนั้นเปรียบดังเท้าช้างคู่หน้า ก้าวไปก่อน บังเอิญว่าไปพลาดพลั้ง ถลำหล่มหรือหลุม เท้าหลังต้องรีบยันไว้ให้มั่น อย่าให้ถลำไปทั้งตัว เฉกเช่น...สามีออกหาเลี้ยงชีวิต อาจประมาทพลาดพลั้งจะด้วยเหตุใดก็ตาม ภรรยาต้องตั้งหลักมั่นคง อาจให้สติหรือแก้ไขความผิดพลาดนั้น มิใช่ผิดก็ผิดไปด้วยกัน

อนึ่ง กิจการใด ๆ ต้องรีบกระทำ เมื่อนึกคิดแล้วอย่าผลัดเวลา หรืออายุ โดยอ้างว่าเด็กไปบ้าง แก่ไปบ้าง มนุษย์และสัตว์ตลอดจนพืช ดำรงอยู่ด้วยธาตุทั้ง ๔ มี ดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าธาตุเหล่านี้หมดสิ้นไป ให้อายุเท่าไร ก็มิมีความหมาย เพราะวัน เดือน ปี เราตั้งขึ้นมาเป็นการสมมุติ จนตรวจตัวของเราว่า ขาดธาตุอะไร..ก็เติมธาตุนั้น ใครผู้ใดจะมัวหลงงมงายว่า อายุเท่านั้นจะเป็นอย่างนั้น เราอย่าไปเอาเยี่ยงเขา เพราะเราไม่เหมือนเขา ขอลูกรักทั้งมวล...! จงจดจำคำที่มารดากล่าวนี้ ไว้เป็นอุทาหรณ์เถิด..."

ต่อมาจึงทรงโปรดให้ พระเจ้ามหันตยศครองเมืองหริภุญชัยแทน และให้ พระเจ้าอนันตยศ ไปครองนครเขลางค์ คือเมืองลำปาง ในเวลานั้นพระแม่เจ้าก็ทรงเสด็จไปมาระหว่างสองพระนคร กาลเวลาผ่านไป บ้านเมืองก็มีความเป็นอยู่สุขสงบดี

ครั้นถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง พุทธศักราช ๑๒๓๖ พระแม่เจ้าจึงได้ทรงสละเพศเป็นแม่ชี เมื่อมีพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา แม่ชีจามะเทวีได้ทรงบำเพ็ญสมณธรรม ณ สำนักอารามจามะเทวี นับจำนวนวัดที่ได้ทรงสร้างตั้งแต่ครั้งอยู่ละโว้ และเสด็จมาครองนครหริภุญชัย รวมได้ ๒,๕๐๐ วัด สร้างกุฏิได้ ๑ หมื่นหลัง จวบจนพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ทรงสละเพศเป็น "แม่ชี" ก็ยุติการสร้างถาวรวัตถุทั้งหลาย คงบำเพ็ญสมณธรรมแต่เพียงอย่างเดียว

ตราบจนกระทั่งถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๒๗๔ ที่บรรดาประชาชนชาวเมืองทั้งหลาย จะต้องพบกับความเศร้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวง เหมือนกับต้องสูญเสียมารดาอันเป็นที่รักยิ่ง เมื่อแม่ชีจามะเทวีผู้เป็นศรีแก่แผ่นดินนี้ ได้สิ้นพระชนม์ไปตามกาลเวลา เมื่อเช้าตรู่ของวันพระ ๘ ค่ำ โดยปราศจากโรคภัยใด ๆ เมื่อทำวัตรเช้าตั้งแต่แสงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ได้นั่งหลับพระเนตรจนสิ้นลมปราณข่าวการสิ้นพระชนม์ได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว บรรดาปวงพสกนิกรของพระองค์ได้หลั่งไหลมาทั่วทิศ มืดฟ้ามัวดิน แต่ละคนมีสีหน้าเนืองนองด้วยน้ำตา ไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ คนแก่ชรา ต่างก็พากันพร่ำเพ้อรำพันว่า

"พระแม่เจ้าเสด็จไปแล้ว ข้าพระบาททั้งหลายมีแต่โศกาอาดูร ดวงใจของข้าพระบาทแทบขาดรอน โอ้...พระร่มโพธิร่มไทรได้เสด็จจากไปเสียแล้ว... ด้วยพระชนมายุเพียง ๙๘ พรรษา ไม่น่าเลย... ขอพระองค์จนทรงเสด็จสู่ทิพยวิมานเถิด...!

หลังจากนั้นพระศพจึงถูกเปลี่ยนจากชุดแม่ชี แล้วนำเครื่องทรงพระมหากษัตรีย์มาสวมใส่อย่างรีบด่วน เมื่อกษัตริย์เขลางค์มาถึงพร้อมพระประยูรญาติ เจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ก็ทะยอยมาทั่วทุกนคร นครอุชเชนได้นำปรอทมาสำหรับใส่พระบรมศพ ได้กำหนดสวดพระอภิธรรม ๑ เดือน รักษาพระบรมศพไว้ ๒ ปี

ครั้นได้กำหนดครบ ๒ ปี ในปีพุทธศักราช ๑๒๗๖ นับจากปีที่พระแม่เจ้าประสูติตราบ ถึงวันนี้ ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงนับได้ ๑๐๐ ปี ในวันนี้ประชาราษฎรผู้มีความเคารพรักในพระมหากษัตรีย์ที่เปี่ยมล้นด้วยความดี ต่างมาร่วมพิธีกันแน่นขนัด นครหริภุญชัยจึงดูเล็กไป แล้วจึงได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นสู่ราชรถ เคลื่อนขบวนเสด็จไปยังพระเมรุมาศ ณ เชตุวันพนาเวศ ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระนคร ริมแม่น้ำระมิงค์ (ปัจจุบันอยู่บริเวณสะพานศรีวิชัย)

หลังจากถวายพระเพลิงอดีตพระมหากษัตริย์แล้ว ก็จึงได้อัญเชิญพระอัฐิไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ณ อารามจามะเทวี คือที่ วัดจามเทวี แห่งนี้ ปัจจุบันนี้จึงเรียกว่า สุวรรณเจดีย์จังโกฏ (กู่กุด) (สรุปความว่า นับตั้งแต่พระแม่เจ้าครองเมืองหริภุญชัยจนถึง พระเจ้าญี่บา เป็นที่สุด รวมทั้งหมด ๕๐ พระองค์ จำนวนปี ๖๓๑ ปี)

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง ประวัติวัดจามเทวี)))))))


praew - 3/2/10 at 12:04


ประวัติวัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน


......เป็นอันว่า ประวัติการสร้างของวัดนี้ ก็คงจะเก่าแก่นานมาแล้ว ที่พระแม่เจ้าได้ทรงสร้างไว้เป็นแห่งแรก นับตั้งแต่ได้เสด็จมาครองเมืองหริภุญชัย ตามประวัติที่ คุณสุทธวารี เรียบเรียงไว้บอกว่า สร้างเมื่อวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๒๐๒ ทั้งได้พระราชทานชื่อพระอาราม ตามพระนามของพระแม่เจ้าอีกด้วย

.......โดยเฉพาะบั้นปลายชีวิตก็ได้มาปฏิบัติธรรม จวบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์อยู่ ณ สถานที่นี้ รวมเวลาที่ได้ทรงบำเพ็ญ "เนกขัมมบารมี" ถึง ๓๘ พรรษา ที่ได้รักษาศีลพรหมจรรย์ทรงเพศเป็นแม่ชี ตามที่ หลวงปู่บุญทึม ได้กล่าวยืนยันไว้กับ ผู้พันอรรณพ กอวัฒนา อีกว่า

........"วัดจามเทวีนี้กษัตริย์ทรงสร้าง เป็นพระอารามหลวงรุ่งเรืองมาแต่อดีต ครั้งสมัยพระนางจามเทวี ตกมาถึงสมัย ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย หมู่ศรัทธาทายกทายิกามี เจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนเป็นหัวหน้า ก็ได้ไปนิมนต์ ครูบาเจ้าศรีวิชัย มาช่วยบูรณะซ่อมแซมพระวิหาร สร้างองค์พระประธาน และซ่อมกำแพงรอบวัด งานแล้วเสี้ยง (สิ้น) พรรษา ครูบาเจ้าฯ ป่วยก็มาป่วยอยู่นี่..หมู่ทายกทายิกามาเชิญไป "บ้านปาง" (เป็นบ้านเกิดของท่านครูบาศรีวิชัย) ตายที่นั่น... มาเผาศพที่นี่ อยู่นั่นไง...อัฐิครูบาฯ และนี่หีบศพ...!

หลวงปู่หันไปชี้ที่หีบบรรจุศพครูบาเจ้าฯ ที่ท่านได้เก็บรักษาเอาไว้มาโดยตลอด (ส่วนไม้เท้ากับพัดขนนกนั้น หลวงปู่ชุ่มเป็นผู้เก็บรักษาไว้) และหลวงปู่ธรรมไชย ก็ยังได้ผ้าไตรจีวรไว้ ๑ ชุด ซึ่งเวลาจะทำพิธีสำคัญ หลวงปู่จะห่มผ้าจีวรของครูบาเจ้าฯ ทับจีวรของท่านอีกทีหนึ่ง

หลังจากครูบาเจ้าฯ มรณภาพได้ ๓ ปี ได้อัญเชิญศพมาตั้งไว้ที่วัดจามเทวี เพื่อรอให้คณะศิษย์ได้มากราบไหว้กันอย่างทั่วถึง เป็นเวลาอีก ๔ ปี แล้วจึงได้ทำการประชุมเพลิง ณ สถานที่นี้เอง วัดนี้จึงเป็นที่สำคัญหลายประการ แม้แต่หลวงพ่อก็ยังเดินทางมาหลายครั้ง ดังที่ได้เล่าให้ฟังไปแล้วนั้น ส่วนรายละเอียดประวัติวัดจามเทวี (จากเว็บ 202.142.213.110/LPMANSION) มีดังนี้


......วัดจามเทวี เป็นวัดที่มีความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีความเก่าแก่มากวัดหนึ่งในจังหวัดลำพูนตั้งอยู่ถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๑๒ ไร่ ๑ งาน ๕ ตารางวา

.......โดยทั่วไปเรียกกันว่า "วัดกู่กุด" ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างตั้งแต่สมัยใด ส่วนใหญ่เป็นการสันนิษฐานจากเอกสารชั้นหลัง ประกอบกับตำนานและนิยาย

.......ซึ่งกล่าวกันว่า พระราชโอรสของพระนางจามเทวี คือ พระเจ้ามหันตยศ และ พระเจ้าอนันตยศ โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อถวายพระเพลิง แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์เหลี่ยมมียอดหุ้มด้วยทอง เรียกชื่อว่า "สุวรรณจังโกฏิ"

....... แต่จากการที่ได้พบ "ศิลาจารึกวัดกู่กุด" บริเวณเชิงพระธาตุเจดีย์กู่กุด (ศิลาจารึกลำพูนหลักที่สอง ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูน)

ศิลาจารึกหลักนี้กล่าวถึงการปฏิสังขรณ์ "รัตนเจดีย์กู่กุด" ที่ได้หักพังลงเนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ได้เกิดขึ้นในสมัยนั้น ฉะนั้น ลักษณะทางศิลปกรรมของพระเจดีย์ที่วัดกู่กุดนี้ น่าจะอยู่ในสมัยของพระเจ้าสรรพสิทธิ์ คือ พุทธศตวรรษที่ ๑๗ และน่าจะไม่เก่าเกินรัชกาลพระเจ้าสววาธิสิทธิ์ หลังจากนั้นวัดนี้ก็คงถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง

จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๗๙ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้อาราธนา ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา มาช่วยก่อสร้างโบสถ์ วิหาร กุฏิตลอดจนบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่สำคัญภายในวัด แล้วสถาปนาวัดจามเทวีขึ้นใหม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐ มีชื่อว่า วัดจามเทวี จนกระทั่งทุกวันนี้




พิธีบวงสรวงสักการบูชา
"ไหว้พ่อ" ณ อาณาจักรเชียงแสน "ไหว้แม่" ณ อาณาจักรหริภุญชัย




พิธีบวงสรวงบายศรี ณ พระเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จ.ลำพูน

ต่อไปนี้ก็จะเริ่มพิธีบวงสรวง เพื่อเป็นการสักการะดวงพระวิญญาณของท่านทั้งหลายอันมีพระแม่เจ้า เป็นต้น โดยเฉพาะคำว่า "แม่" มีความสำคัญมาก นอกจากจะเป็นแม่ของลูกๆ แล้ว ท่านยังเป็นแม่ของคนทั้งแผ่นดิน แต่ถ้ามีแต่แม่...ไม่มีพ่อก็ไม่ได้...!

พ่อและแม่จึงมีความสำคัญด้วยกัน ควรที่เราจะได้แสดงความกตัญญูกตเวที เพื่อตอบสนองคุณความดี ที่ท่านมีน้ำใจอันใหญ่หลวง ต้องเลี้ยงลูกมาด้วยความอดทน ดังจะเห็นได้ว่าพ่อแม่ยอมเสียสละเพื่อลูกได้ทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตของท่าน

เมื่อคราวก่อนเราก็ได้ไปบ้านเก่าของพ่อแล้ว ได้มารวมกันในสถานที่นี้อีก ซึ่งถือว่าเป็นบ้านเก่าของแม่ จึงต้องทำพิธีบวงสรวงเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นเครื่องบายศรีที่จัดทำเพื่อไหว้ "แม่" และ "พ่อ" กันโดยเฉพาะ คำว่า "พ่อ" และ "แม่" ย่อมมีได้ทุกภพทุกชาติ ทุกที่ทุกสถาน

นอกจากจะเป็นคนแล้ว ท่านอาจจะเป็นเทวดานางฟ้าหรือพรหม ตลอดกระทั่งถึงพระนิพพาน อันมีองค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดา เป็นอาทิ เมื่อเราไหว้พ่อไหว้แม่ จิตของเราจึงน้อมไปถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ได้ ตลอดถึงพระอริยเจ้าเจ้า ครูบาอาจารย์เจ้า และเทพพรหมทั้งหลาย เป็นต้น

ฉะนั้น ขอคุณธรรมความเป็นพ่อแม่ของท่านทั้งหลาย โปรดได้แผ่บารมีปกปักษ์รักษาลูก ๆ ที่สามถิตย์อยู่ ณ ที่นี้ หรือที่มิได้มีโอกาสมาก็ดี เพื่อขอความเป็นมิ่งขวัญ และเป็นศิริมงคล พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดถึงภยันตรายทั้งปวง ให้มีความคล่องตัวในด้านการงานและการเงิน เป็นต้น

"สาธุ...สาธุ...ด้วยอำนาจแห่งการตั้งสัจจะอธิษฐาน และบุญความดีที่ลูกกระทำนี้ ตั้งใจจะบูชาคุณบิดามารดาโดยเฉพาะ ขอพระคุณของพ่อและแม่ทั้งหลาย ที่ได้มาปรากฏอยู่ในสถานที่นี้ โปรดดลบันดาลให้ลูกรักของท่านทั้งหลายทั้งหมดนี้ ได้แคล้วคลาดจากภัยเหล่านั้น มีความยากจนทั้งหลาย เป็นต้น ขอให้มีชัยชนะจากศัตรูหมู่พาล ตราบจนกระทั่งสุขเกษมสำราญ อยู่ในแดนพระนิพพาน ณ กาลบัดนี้เทอญ..."

ครั้นบรรยายเรื่องราวจบลงแล้ว ประธานในพิธีได้เข้าไปจุดธูปเทียนที่โต๊ะบวงสรวง ซึ่งจัดไว้ตรงหน้า "พระเจดีย์กู่กุด" ทุกคนพนมมืออธิษฐานตามที่กล่าวไปแล้วนั้น แล้วเสียงบวงสรวงของหลวงพ่อก็ได้ดังก้องไปทั่วบริเวณนั้น

พวกเราต่างตั้งจิตไปตามกระแสเสียงด้วยความเคารพ ส่วนใครจะพบท่านด้วยกำลังใจในทิพจักขุญาณบ้างนั้น ก็เป็นไปตามอัธยาศัยของแต่ละคน แต่ที่เห็นกันเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่กำลังฟ้อนรำถวายนั้น ได้บังเกิดแสงประหลาดมีสีต่าง ๆ เบื้องบนนภากาศเป็นที่อัศจรรย์

เมื่อคณะฟ้อนรำ "ชุดสาวไหม" ในชุดหญิงสาวชาวหริภุญชัยในอดีต ได้รำฟ้อนจบลงไปแล้ว จึงเป็นการแสดงรำดาบคู่จำนวน ๒ คน ได้ร่ายรำไปตามจังหวะเสียงเพลงอย่างตื่นเต้นและเร้าใจ สร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นแก่ทุกคน คณะชุดฟ้อนรำทั้งหมดนี้ เป็นคณะนักเรียน โรงเรียนพร้าววิทยาคม อีกเช่นเคย

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอน "พิธีถวายพระราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณแด่พระแม่เจ้า" )))))))


praew - 3/2/10 at 12:04


พิธีถวายพระราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณแด่พระแม่เจ้า ฯ


ฉะนั้น ด้วยคุณความดีของพระแม่เจ้าที่ได้ทำคุณประโยชน์ต่อชาติต่อแผ่นดินมาแล้ว ไม่แพ้ชายอกสามศอก เฉกเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ไทยทั้งหลายในอดีต ควรที่พวกเราเหล่าลูกหลายของหลวงพ่อ จะได้มาแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ในฐานะที่ทรงเป็นวีรกษัตรีย์พระองค์หนึ่งของชาวสยามอีกทั้งได้เป็นต้นตระกูล "จามเทวีวงศ์" อันทรงศักดิ์มาก่อน พระแม่เจ้าจึงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยในสมัยนั้น เพราะมีพระรูปพระโฉมศิริสวยโสภา และมีจริยางดงามนุ่มนวลไม่ถือพระองค์ ทั้งยังมีความรอบรู้ในศิลปวิชาการต่าง ๆ ทั้งการบ้านการเรือน การดนตรี การรบ และการปกครอง เป็นต้น

ในด้านพระพุทธศาสนา พระแม่เจ้าทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เรียกว่างามพร้อมทั้งรูปสวยและจริยาวัตรครบคุณสมบัติของกุลสตรี สมกับที่ยกย่องว่าเป็น "พระแม่เจ้า" ของคนไทยสมัยนั้นอย่างแท้จริง

"บันทึกพิเศษ"

เป็นอันว่าพระแม่เจ้านั้น ตามประวัติที่ท่านเล่าไว้ในสมัย สมเด็จพระพุทธทีปังกร พระแม่เจ้าทรงมีพระนามว่า "พระนางมหารัตนนารี" เป็นพระมเหสีของ "พระเจ้านวราชบรมจักรพรรดิ"

ต่อมาสมัย สมเด็จพระพุทธสิกขี จึงมีนามว่า "ปการันยา" เป็นภรรยาของท่าน "ปการัง" ครั้นถึงสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "เวสสภู" ชาตินี้มีนามว่า "ศิริกัลยา" เป็นชายาของท่าน "อินทระ"

ตาม "บันทึกพิเศษ" ท่านเล่าต่อไปว่าต่อมาพระพุทธเจ้าเสด็จมาเทศน์โปรด ท่านปู่ท่านพ่อ และนักรบทั้งหมด ได้ถอดอาวุธคู่มือถวายเป็นพุทธบูชา ส่วนท่านย่า ท่านแม่ และลูก ๆ ถอดเครื่องประดับกายทั้งหมด ถวายเป็นพุทธบูชาเช่นกัน

ท่านบอกว่ากรรมที่ทำให้ลำบากมาหลายชาติ ก็เพราะอาศัย "สงคราม" เป็นเหตุ โดยเฉพาะท่านแม่ศรี แล้ว เรื่องการรบเป็นหัวเรือใหญ่ เก่งในเพลงอาวุธหลายอย่าง การยิงธนูคราวละ ๓-๔ ดอกพร้อมกัน เพื่อให้ถูกจุดหมายดอกละจุด เมื่อมีสงครามจะออกคู่กับฉันทุกคราว แต่งตัวเป็นชาย ชอบให้ชุดสีเหลือง โพกผ้าสีเหลือง สะพายดาบคู่ หอกซัด ธนูคู่ชีพ และมีดสั้น

ครั้งหนึ่ง ฉันกำลังรบกับข้าศึกที่ท้ารบตัวต่อตัว ข้าศึกเล่นไม่ซื่อ ลอบยิงธนูมาทางข้างหลัง แม่ศรี แกก็ยิงธนู ๓ ดอกสวนลูกธนูของข้าศึก ดอกหนึ่งถูกลูกธนูของข้าศึกหัก เป็นการตัดอาวุธที่จะมาทำลายชีวิต อีกดอกหนึ่งถูกตัวคนยิงตาย อีกดอกหนึ่งถูกคู่รบกับฉันตาย รวมความว่า แกยิงคราวเดียว ได้ผล ๓ อย่าง

เรื่องที่ท่านเล่านี้ จะเห็นว่าท่านแม่มีความชำนาญในเพลงอาวุธ โดยเฉพาะเรื่องธนูมาตั้งแต่อดีตชาติแล้ว จนกระทั่งมาเป็น "วีรกษัตรีย์ศรีหริภุญชัย" ก็ยังชำนาญในอาวุธนี้อยู่ จะเห็นว่ามีเหตุมีผลตรงกัน เป็นเพราะมีความสามารถเช่นนี้ จึงรักษาชีวิตของท่านพ่อเอาไว้ได้

ครั้นถึงสมัย พระพุทธกัสสป ก็ได้มาเป็นพระมเหสีของ "พระเจ้าศรีทรงธรรม" ทรงพระนามว่า พรรณวดีศรีโสภาค ท่านแม่ศรีได้มาเกิดร่วมทุกข์ร่วมสุขกับท่านพ่อตลอดมา รวมทั้งลูก ๆ ทั้งหลาย ที่ต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเกิด เพื่อช่วยกันสนับสนุนพระโพธิญาณ หวังที่จะให้ท่านพ่อได้บรรลุอภิเษาสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคตกาล ตามที่ได้ตั้งความปราถนากันมาหลายพุทธันดร

จวบจนกระทั่งสมัยพุทธกาลนี้ จึงมาเป็นเอกอัครมเหสีของ "พระเจ้าปเสนทิโกศล" จนได้เฉลิมพระนามว่า "พระนางมัลลิกาเทวี" กุลสตรีผู้มีปัญญาเลิศ จนได้เกิดมีการถวาย "อสทิสทาน" แด่องค์สมเด็จพระพิชิตมาร ณ เมืองสาวัตถี ช่วยให้พระราชสวามีพ้นจากความทุกข์ใจไปได้

หลังพุทธกาลไปแล้ว ท่านแม่ก็ได้ลงมาเกิดเป็นพระมเหสีของ "พระเจ้ามังรายนราช" ได้ร่วมสร้างพระบารมีร่วมกับลูก ๆ ณ พระธาตุดอยตุง ประมาณปีพุทธศักราช ๑๐๐ จนถึงปีพุทธกาล ๒๒๔ ก็มาเป็น พระนางสิริงามตัวเทวี อัครมเหสีของ "พระเจ้าตวันอธิราชบรมโพธิสัตว์" พระมหากษัตริย์แห่ง กรุงสุวรรณภูมิ ช่วยกันพัฒนาประเทศ แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้เจริญรุ่งเรือง

แล้วก็เว้นไปอีกเกือบ ๗๐๐ ปี ประมาณปีพุทธศักราช ๙๐๐ ปีเศษ จึงมาถึงตอนสำคัญที่พวกเรากำลังยืนพร้อมกัน ณ สถานที่นี้ จึงเหมือนกับมีนัดกันอีกแล้ว เพราะเมื่อครั้งก่อน (๑๘ ม.ค. ๔๐) เราก็มีนัดกันที่ เชียงแสน เป็นการย้อนรอยถอยไปในอดีตสมัย พระเจ้าพรหมมหาราช การทำศึกสงครามในครั้งนั้น ท่านแม่ก็ต้องจบชีวิตลงตรงที่ประตูเมือง ด้วยถูกคมอาวุธของข้าศึก คือ "ขอมดำ" ได้ลอบดักซุ่มทำร้ายในระหว่างที่บุกเข้าไปในประตูเมือง

อนิจจา...! ยังมิได้ทันฉลองชัยชนะกัน แม่ก็ต้องจากพ่อไปเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ พ่อจึงมีความแค้นใจมาก จึงร่วมกับแม่ทัพนายกองทั้งหลาย ได้เข่นฆ่าขอมอย่างไม่ยั้งมือ ถ้าท่านปู่พระอินทร์ไม่ไปขวางกั้นเอาไว้ที่กำแพงเพชร ป่านนี้พวกเราคงจะได้สร้างบาปกันอย่างมหันต์

เป็นอันว่าในวันนั้น เราได้ยกย่องการทำศึกสงครามในครั้งนั้น ว่าเป็นชัยชนะที่เด็ดขาด แต่ก็ต้องอนาถที่จะต้องมาเสียท่านแม่ไปเสียก่อน แต่ท่านพ่อก็ได้รับการสรรเสริญและยกย่องว่า เป็นวีรบุรุษของชาวไทยในอาณาจักรนี้ เพราะช่วยกู้ชาติอธิปไตยไว้ให้ลูกหลาน...!

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง วันแห่ง "แผ่นดินของพ่อ" )))))))


praew - 3/2/10 at 12:05


วันแห่ง "แผ่นดินของพ่อ"


ครั้งนั้น เราจึงได้จัดงานเป็นการฉลองชัยชนะ และเทิดพระเกียรติคุณพระเจ้าพรหมมหาราช สถานที่พวกเราไปยืนกันในวันนั้น จึงเปรียบเสมือน "แผ่นดินของพ่อ" ที่รออยู่ ณ เชียงแสน นั่นถือว่าเป็น "วันของพ่อ" ที่พวกเราไปจัดทำกัน

วันแห่ง "แผ่นดินของแม่"


และในวันนี้..ที่มิได้บอกให้ทราบไว้ก่อน เนื่องจากเกรงว่าจะมาชนิดมือฟ้ามัวดินกันอีก จึงได้จัดสลับกัน เผื่อบางคนที่มิได้ไปร่วมงาน "แผ่นดินของพ่อ" ในวันนั้น จะได้มีโอกาสมาร่วมงานกันในครั้งนี้แทน ที่จะต้องมาย้อนอดีตรำลึก และแต่งกายคล้ายสมัย อาณาจักรหริภุญชัย ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินนี้ ที่เรียกกันว่า "แผ่นดินของแม่" ถือเป็น "วันของแม่" ผู้ประเสริฐนั่นเอง

วันนี้...จึงตั้งใจมาจัดงานย้อนรำลึกเทิดพระเกียรติคุณของ "ท่านแม่" กันโดยเฉพาะ หลังจากท่านแม่ได้สร้างวีรกรรมร่วมกับท่านพ่อแล้ว ก็ได้กลับมาสร้างวีรกรรม ณ เมืองลำพูน จนกระทั่งกลายเป็น "อาณาจักรหริภุญชัย" ที่ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น จนสิ้นพระชนม์ไปในปีพุทธศักราช ๑๒๗๔

แล้วท่านได้กลับมาเกิดอีกหลายวาระ จนมาถึงสมัยสุโขทัย ลพบุรี และอยุธยา ในชาตินี้ ณ กรุงศรีอยุธยา นับเป็นวีรกรรมที่กล้าหาญมาก นั่นก็คือการทำศึกสงครามกับพม่า คือในสมัย "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ"

ด้วยอาศัยน้ำพระทัยที่รักใคร่ในพระราชสวามีเป็นที่สุด กอปรด้วยความเสียสละอย่างใหญ่หลวง โดยมิได้คิดห่วงใยแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง หวังที่จะช่วยองค์ประมุขของชาติ ให้รอดพ้นภัยจากข้าศึก โดยปลอมพระองค์เป็นชาย ทรงช้างโดยเสด็จของสมเด็จพระราชสวามี แล้วได้ทรงกระทำยุทธหัตถี พลาดท่าเสียทีถูกข้าศึกจ้วงฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

บุคคลเช่นนี้... ควรหรือไม่ที่พวกเราลูกหลานไทย จะไม่มายกย่องสรรเสริญพระเกียรติคุณของท่าน ผืนแผ่นดินไทยในตอนนั้น ถ้าไม่มีกษัตริย์ปกครอง ผลจะเป็นอย่างไร นอกจากต้องเป็นขี้ข้าเมืองขึ้นของพม่าอย่างแน่นอน เราคงจะไม่มีอิสรภาพอย่างเช่นทุกวันนี้

การที่เราอยู่ดีมีความสุข ก็เป็นเพราะเลือดเนื้อและชีวิตที่ท่านยอมอุทิศให้ เพื่อรักษาชาติอธิปไตยไว้ให้ลูกหลานทั้งหลาย

นอกจากท่านจะเอาความตายเข้าแลกเพื่อชัยชนะ... เพื่อพื้นปฐพีที่เรายืนอยู่นี้.. เพื่อมิให้คนไทยต้องตกเป็นทาสพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านได้ทำหน้าที่เป็นศรีภรรยาที่ดี..ที่ประเสริฐมาทุกชาติ สมดังกับคำที่ "ท่านพ่อ" เรียก "ท่านแม่" เสมอว่า "แม่ศรี" อย่างแท้จริง

ในชาตินี้ สมัยกรุงศรีอยุธยา จึงต้องลงมาเสียสละอย่างใหญ่หลวง ยากนักที่บุคคลอื่น จะพึงกระทำได้ ด้วยการสละพระชนม์ชีพ เพื่อรักษาพระราชสวาม ีและปวงชนชาวไทยไว้ให้พ้นจากอันตราย ท่านผู้นี้ก็คือ "พระแม่เจ้าศรีสุริโยทัย" นั่นเอง

เมื่อละครฉากหนึ่งผ่านไปในสมัยอยุธยา ละครฉากสุดท้ายก็ตามมา นั่นก็คือ สมัยรัตนโกสินทร์ ที่ท่านแม่ลงมาเป็นครั้งสุดท้าย จะเป็นใครนั้นก็ลองฟังการเล่าจากท่านโดยตรงดีกว่า

"ประชาชนชาวไทยและเทศทั่วราชอาณาจักร ได้รับความเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวง ในการสิ้นพระชนม์ โดยอุบัติเหตุของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เอกอัครมเหสีของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ปรมินทรพระมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระปิยมหาราช" เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓

ในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนพระอิริยาบถพักผ่อน ณ พระราชวังบางปะอิน และในการเสด็จครั้งนั้น ได้เกิดอุบัติเหตุอันร้ายแรง เรือพระที่นั่งล่มในระยะทางที่กำลังจะเสด็จ คือในแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนเหนือปากเกร็ด ซึ่งเรียกว่า "ตำบลบางพูด"

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ กับ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ได้สิ้นพระชนม์ภายในเรือพระที่นั่งนั้น โดยปราศจากการช่วยเหลือ เพราะพระราชประเพณีถูกกีดกันด้วย "กฎมณเฑียรบาล" ยังความเศร้าโศกครั้งนั้นให้เกิดขึ้นกับประชาชน โดยความเศร้าสลดอันยิ่งใหญ่ของพสกนิกรชาวไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช ซึ่งทรงเสียพระอัครมเหสี และพระเจ้าลูกเธอ อันเป็นที่รักประหนึ่งดวงพระราชหฤทัยของพระองค์ เพราะเคราะห์กรรมอันนี้ แม้จะเป็นเวลาผ่านพ้นมาเป็นเวลาเกือบ ๘๐ ปีแล้วก็ตาม

แต่ว่าพระเกียรติคุณเรื่องราวการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งมีผู้โจษขานกันติดปากมาจนทุกวันนี้ เขาเรียกกันว่า "พระนางเรือล่ม" ก็ยังคงเป็นที่เล่าสู่กันฟังมาตราบเท่าทุกวันนี้ มิมีวันลืมเลือน...มิมีวัน จืดจาง...!

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงมีรับสั่งให้สร้าง พระบรมอนุสาวรีย์ มีพระบรมรูปสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในระหว่างทรงพระครรภ์ พระราชธิดาที่ประสูติแล้ว ทั้งยังให้ทรงจารึกบรรยายความเศร้าโศกในพระทัยไว้เป็นอักษรในครั้งนั้นว่า

"จุฬาลงกรณ์ บรมราชผู้เป็นสามี อันได้รับความเศร้าโศกเพราะทุกข์อันแรงกล้าในเวลานั้นแทบจะถึงแก่ชีวิตถึงกระนั้นก็ยังมิได้หักหาย"

เป็นอันว่า ปิดฉากสุดท้ายของท่านเพียงแค่นี้ ถึงแม้จะจบลงด้วยความปวดร้าว ความเศร้าโศกเสียใจ ความทุกข์ระทมจากผู้ที่อยู่เบื้องหลัง แต่เป็นไปตามกฏของธรรมดา เพราะท่านแม่จะมีพระชนมายุไม่ยืนนาน แต่ละชาติก็ต้องมาจบชีวิตลงเสียก่อน

ถึงอย่างไรก็ตามคุณความดีที่ท่านมีส่วนสร้างชาติสร้างแผ่นดินให้แก่ปวงชนชาวไทยมาแล้ว พวกเราก็ยังระลึกนึกถึงพระคุณท่านอยู่เสมอ...มิเคยลืมเลือน...!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสียสละที่ใหญ่หลวงนัก ที่เราอาจจะนึกไม่ถึงกัน นั่นก็คือการไม่ลงมาเกิดร่วมด้วยกับท่านพ่อ ในสมัยชาติปัจจุบันนี้ คงรออยู่ที่ข้างบน เพื่อคอยช่วยลูกๆทั้งหลาย ทั้งที่เคยเกิดกับท่านโดยตรงก็ดี หรือ ที่ไปเกิดกับแม่อื่น ๆ อีกก็ตาม ท่านก็ถือว่าเป็นลูกทุกคน มีความเมตตาโอบอ้อมอารี คอยช่วยเหลือเกื้อกูลตลอดมา

"ท่านแม่"จึงเป็นผู้เสียสละเพื่อ "ท่านพ่อ" เพื่อลูก ๆ ทุกคน ตลอดถึงปวงชนชาวไทย เพื่อรักษาแผ่นดินไทยที่เราอาศัยเกิดนี้ ให้คงความเป็นไท เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ มีเอกราชอธิปไตย แม้จะมีอริราชศัตรูเข้ามารุกราน ท่านก็แสดงความกล้าหาญยิ่งกว่าชายชาญ เพื่อรักษาความเป็นไทยไว้ให้ลูกหลาน แม้ร่างกายจะจบสิ้นลงก็ตามที พร้อมจะพลีชีพนี้ไว้บนพื้นปฐพี

ในตอนนี้...ก็เหมือนกับตอนที่เทิดทูนวีรกรรมของ พระเจ้าพรหมมหาราช ที่ทรงกู้ชาติจากขอมไว้ได้ การเดินทางมาในครั้งนี้ ก็หวังที่จะมาเทิดทูนวีรกรรมของ "ท่านแม่" ผู้เป็นวีรกษัตรีย์ของชาวสยาม ที่ได้ทรงเสียสละเพื่อประเทศชาติร่วมกับท่านพ่อตลอดมา

เราได้ยกย่องในฐานะที่ "ท่านพ่อ" เป็นผู้สร้าง อาณาจักรเชียงแสน มาแล้ว สำหรับตอนนี้ก็จะเป็นการยกย่อง "ท่านแม่" ที่เป็นผู้สร้าง อาณาจักรหริภุญชัย จึงได้ชื่อว่าเป็น "ต้นตระกูลของไทย" อีกท่านหนึ่งเช่นกัน

ณ โอกาสนี้ จึงขอให้ทุกท่านโปรดยืนขึ้นเพื่อไว้อาลัยในวีรกรรมของ "ท่านแม่" ที่ผ่านมาทั้งหมด สักประมาณ ๑ นาที แล้วน้อมอุทิศเพลงสรรเสริญนี้ ถวายแด่ดวงพระวิญญาณของท่านและเหล่านักรบไทยในอดีตทั้งหมด

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณ ที่ท่านได้อุทิศพลีชีวิตกันมาทุกสมัย เพื่อปกป้องเผ่าผองไทย อันมี "ท่านพ่อ" และ "ท่านแม่" ผู้เป็นประธาน ณ กาลบัดนี้เถิด

ครั้นทุกคนลุกขึ้นแล้ว...ต่างยืนสงบนิ่ง เพื่อน้อมจิตระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณด้วยความเคารพ แด่ผู้เป็นบิดาและมารดาของชาวไทย นับเป็น "ต้นตระกูล" ของคนไทย ควรที่จะต้องสรรเสริญพระคุณท่านด้วยเพลง " ต้นตระกูลไทย " อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากครั้งแรก เราได้เปิดเพลงนี้ไปครั้งหนึ่งแล้ว ณ วัดพระธาตุจอมกิตติ อันเป็นแผ่นดินของพ่อ ที่จะต้องเป็นเสียงร้องของผู้ชาย ครั้นมาถึงแผ่นดินแม่ จึงต้องเปิดเพลงนี้อีกครั้ง ซึ่งจะต้องเป็นเพลงเดียวกัน แต่เป็นเสียงของนักร้องหญิง

เมื่อเพลงนี้ดังกระหึ่มขึ้น เสียงร้องก้องไปทั่วบริเวณ หลายคนกลับร้องไม่ออก เพราะตื้นตันใจไปกับเนื้อร้องและทำนองเพลง ทำให้นึกถึงความรักความเสียสละของบรรพบุรุษไทย ยากที่จะลืมเลือนไปจากจิตใจของพวกเราได้...

"...ต้นตระกูลไทย ใจท่านเหี้ยมหาญ
รักษาดินแดนไทย ไว้ให้ลูกหลาน สู้จนสูญเสีย
แม้ชีวิตของท่าน เพื่อถนอมบ้านเมืองไว้ให้เรา

ลุกขึ้นเถิด พี่น้องไทย อย่าให้ชีวิตสูญเปล่า
รักชาติยิ่งชีพของเรา เหมือนดังพงษ์เผ่า ต้นตระกูลไทย...!


ตอนแรกเสียงเพลงดังขึ้น ต่อมาเสียงของพวกเราก็ดังตามจนจบเพลง ต่อจากนั้น เสียงเพลง สยามมานุสติ ก็ตามขึ้นมา ต่อด้วยเพลง รักชาติ และ ดุจบิดรมารดา แล้วจบด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ คือ... "ความฝันอันสูงสุด"

"ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้ศึกทุก เมื่อไม่หวั่นไหว ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง ฯ

จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา ฯ

ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร ไม่เรรวน พะว้าพะวังคิดกังขา ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา ไม่เสียดายชีวา ถ้าสิ้นไป ฯ

นี่คือปฏิธาน ที่หาญมุ่ง หมายผดุงยุติธรรมอันสดใส ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน ฯ

โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย.."

เสียงเพลงได้จบลง ทุกคนก็นั่งลงเหมือนเดิม หลังจากยืนร้องเพลงไป บางคนก็น้ำตาไหลไปด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงความผูกพันในความรักชาติของพวกเรา ยังมั่นคงตลอดมาทุกชาติ พวกเราไม่เคยคิดคดทรยศต่อชาติ ศาสน์กษัตริย์ ยังคงมั่นอยู่ในสถาบันทั้ง ๓ ตลอดไป

การรวมใจเช่นนี้ ทำให้มีพลังใจที่บริสุทธิ์ที่จะช่วยกันอธิษฐานจิต ถือเป็นพิธีการ "ตัดไม้ข่มนาม" เพื่อให้ประเทศไทยได้รอดพ้นจากภัยต่าง ๆ เช่น จากภัยพิบัติ หรือภัยจากสงครามเป็นต้น เราจึงได้มาฉลองชัยชนะกัน เป็นการแก้ "เค็ด" ไว้ก่อนล่วงหน้า ด้วยการแต่งกายสวยงามทั้งชายและหญิง เพื่อย้อนยุคไปในอดีตกาล ในชุดชาวไทยสมัย "อาณาจักรหริภุญชัย"

เพื่อเป็นการประกาศความรุ่งเรืองไปในอาณาประเทศว่า ประเทศไทยต่อไปในกาลข้างหน้า จะมีความสุขสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาธัญญาหาร บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า คนไทยมีความเป็นอยู่เป็นสุข ด้วยทรัพย์สมบัติจากใต้ดินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่นแร่ธาตุน้ำมัน และทองคำ เป็นต้น นั่นเป็นการเจริญต่อไปในด้าน "วัตถุ" ของยุคชาวศรีวิลัย

ส่วนทางด้าน "จิตใจ" ของชาวไทยในสมัยยุค "อภิญญาใหญ่" พระพุทธศาสนาในยุคกึ่งพุทธกาลไปแล้วนั้น คงจะเจริญรุ่งเรืองคล้ายสมัยพุทธกาล ตามพระพุทธพยากรณ์ที่หลวงพ่อเคยเล่าไปแล้วนั้น คุณพระรัตนตรัย คือ แก้วทั้ง ๓ ประการ จะสถิตย์สถาพรอยู่ในดวงใจของคนไทย อาจจะเลยไปถึงคนในต่างประเทศด้วยก็เป็นได้

นั่นคือ...ความรุ่งโรจน์ต่อไปของคนไทยในอนาคต ทั้งทางด้าน "วัตถุ" และ "จิตใจ" คือทั้งทาง "โลก" และทาง "ธรรม" ที่คนไทยในอดีตได้สร้างไว้...ได้สืบสานมาถึงปัจจุบันนี้ และจะต้องดำรงไว้ตลอดไป แต่อาจจะต้องพบกับทุกข์ก่อนนะ แล้วจึงจะพบความสุขในภายหลัง...!


เป็นอันว่า เราได้ไปยืนที่ "แผ่นดินของพ่อ" แล้วมายืนที่ "แผ่นดินของแม่" และได้มารวมกันด้วยความสามัคคี เพื่อทำพิธีถวายพระราชสดุดี เป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณทั้ง "พ่อ" และ "แม่" ครบถ้วนทุกประการ ณ สถานที่นี้ โอกาสเช่นนี้...คงจะไม่มีอีกแล้ว พวกเราคงจะจำภาพเหตุการณ์เหล่านี้ เพื่อประทับไว้ให้อยู่ในความทรงจำตลอดไป

โอกาสนี้ที่จะได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณทั้งสอง จึงขอให้ทุกคนตั้งจิตอธิษฐานขอขมาโทษต่อท่านพ่อและท่านแม่ พร้อมกันทีเดียว ต่อหน้าพระอัฐิธาตุของท่านแม่ เพื่อเป็นสักขีพยาน จึงขอให้ทุกท่าน ตั้ง นะโม ๓ จบ ก่อน

"กรรมใด ที่ลูกชายหญิงทั้งหลาย ได้เคยประมาทพลาดพลั้ง ล่วงเกินท่านพ่อและท่านแม่ นับตั้งแต่อดีตกาล นานมาจนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งที่เจตนาก็ดี มิได้เจตนาก็ดี ที่จะเป็นโทษเพียงใด ด้วยกายวาจาใจ ที่ทำไปด้วยความเขลา คือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ข้าแต่พระบิดรมารดา ลูกกราบขอขมาด้วยเครื่องบูชาสักการะเหล่านี้ อันมีบายศรีเป็นต้น เพื่อเทิดทูนผลบุญนี้ ขึ้นเหนือเศียรเกล้าของลูก ขอพระพ่อเจ้าและพระแม่เจ้า ผู้มีคุณอันประเสริฐ ได้โปรดเมตตาอดโทษ ให้แก่ลูกชายหญิงทั้งหลาย นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานด้วยเทอญ..."

แล้วทุกคนต่างก็นำเครื่องสักการะ อันมีดอกไม้ (ดอกบัว) ธูปเทียน เป็นต้น เข้าไปวางไว้ด้านหน้า "พระเจดีย์กู่กุด" แล้วกราบพร้อมกัน


◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง สมกับคำว่า "แม่ศรี" )))))))


praew - 3/2/10 at 12:06


สมกับคำว่า "แม่ศรี"


บัดนี้...วีรกษัตรีย์ผู้เป็นศรี "สาวัตถี" ผู้เป็นศรี "โยนกบุรี" ผู้เป็นศรี "หริภุญชัย" ผู้เป็นศรี "อยุธยา" และสุดท้ายท่านได้เป็นศรี "รัตนโกสินทร์" สมกับพระนามของท่านว่า... "แม่ศรี" สมจริงแล้วทุกประการ

ตามที่พ่อมักยกย่องกล่าวขานให้ลูก ๆ ได้ยินอยู่เสมอ ในสมัยที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ บัดนี้ เราคงไม่มีโอกาสได้ยินเสียงของท่านพ่อ ที่เรียกท่านแม่ว่า "แม่ศรี" อีกต่อไปแล้ว ยังคงเหลืออยู่แต่เสียงในเทปที่บันทึกไว้เป็นอดีตเท่านั้น และคงจะไม่ได้ยินอีกต่อไปแล้ว (ไม่นับเสียงทิพย์นะ) เพราะท่านทั้งสองได้เข้าสู่พระนิพพาน อันเป็นแดนเอกันตบรมสุขอย่างแท้จริง หลังจากร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน อย่างน้อย ๑๖ อสงไขย กำไรแสนกัป

นับตั้งแต่ท่านพ่อเข้าไปปรารถนาพระโพธิญาณ แทบเบื้องบาทมูลขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งแรกนั้น ท่านปู่ท่านย่า และท่านแม่ ตลอดทั้งลูก ๆ ต่างมีจิตยินดีในกุศลเจตนาท่านพ่อ หวังที่จะร่วมกันก่อสร้างพระบารมี เพื่อที่ช่วยกันประกาศพระศาสนา

เมื่อได้เห็นท่านพ่อตั้งความปรารถนาเช่นนั้น จึงได้เข้าไปขอตั้งความปรารถนาตามท่านเช่นกัน เพื่อช่วยกันสนับสนุนให้ท่านพ่อได้บรรลุผลตามที่มุ่งหมาย นั่นคือได้ตรัสรู้อภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล แล้วจะได้บรรลุธรรมตามคำสั่งสอน ในสมัยที่บิดรเป็นพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น ด้วยความรักความผูกพันกันมาในอดีต ทั้งท่านพ่อและท่านแม่ รวมทั้งลูก ๆ ทั้งหลาย ที่จะต้องติดตามท่านไปในแดนพระนิพพานเช่นกัน "ผู้เขียน" จึงขอเขียนเรื่องนี้ เพื่อท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้เป็นอนุสรณ์แห่งการอำลา "พุทธภูมิ" ของท่านพ่อ และพันธะของท่านปู่ท่านย่าและท่านแม่ ที่ตั้งใจจะไปเป็นผู้อุปัฎฐาก พระศรีอาริย์ และสาวกของพระองค์ อีก ๒ แสนรูป โดยร่วมกับลูก ๆ ทั้งหลาย เพื่อช่วยกันเลี้ยงพระในสมัยนั้น

บัดนี้ พันธะทั้งหลายที่ผูกพันกันในอดีตจำต้องยุติลงไปแล้ว เพราะท่านผู้ใหญ่ทุกท่านได้ตัดสินใจไปพระนิพพานกัน เหลือแต่พวกเราเท่านั้นที่จะตามท่านไปหรือไม่... ทั้งนี้ อยู่ที่การปฏิบัติตาม "คติธรรม" คำสั่งสอนของท่านด้วย

ในวโรกาสสุดท้ายนี้ จะขออัญเชิญโอวาทของท่านมาเตือนใจกันไว้เป็นการปิดท้ายสักนิดซึ่งจะต้องขออนุญาตบางท่านเกี่ยวข้องกับ "บันทึกพิเศษ" นี้ด้วย

โอวาทของ "ท่านแม่"


"..เรื่องที่เล่าให้ฟังนี้ ไม่ใช่เล่าให้ฟังเพื่อทะนงว่าจนเคยเป็นบุตรกษัตริย์ หรือเคยเป็นนักรบ เล่าให้ฟังเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า เครื่องเพชร เครื่องทอง สมัยเป็นลูกกษัตริย์นั้น มีนับไม่ถ้วน จะเอาอย่างไรก็ได้อย่างนั้น รูปร่างทรวดทรงหรือก็สวยสดงดงามมาก ดาราสมัยนี้ ไม่มีทางทาบติด ผิวก็สวย ทรงก็งาม มรรยาทก็นิ่มนวล ความสามารถดีทุกอย่าง รบก็เก่งศักดิ์ก็สูง

แต่เดี๋ยวนี้ สิ่งเหล่านั้นมีอะไรเหลือบ้าง แม้แต่ชื่อก็จำไม่ได้ เกิดใหม่ ตระกูลต่างมาจากเดิม ความเป็นอยู่ต่างกัน เคยมีคนรับใช้ แม้แต่น้ำล้างหน้าก็เกือบไม่ต้องหยิบ มีคนคอยหยิบส่งให้ เดี๋ยวนี้ต้องทำเองหมด แม้ท่านพ่อที่เป็นกษัตริย์มาเองก็เช่นกัน...ไม่มีอะไรเหลือ

จงเห็นตามความเป็นจริงของโลกว่า โลกไม่มีอะไรแน่นอน การเกิดเป็นลูกกษัตริย์ ลูกเกิดมาหลายร้อยวาระ แต่ความเป็นกษัตริย์ เดี๋ยวนี้ไม่มี มันหายไปไหน ใครทำให้มันหาย ทั้งนี้ ไม่ต้องโทษใคร โทษโลก โลกมันทำให้หาย โลกมันทำให้สิ้นสภาพ โลกมันทำลายทุกสิ่งทุกอย่างหมด...!

(ในตอนนี้ เสียงเพลง "ธรณีกรรแสง" ก็ดังขึ้นเบา ๆ เพื่อให้เคล้ากับบรรยากาศแห่งอารมณ์ ที่บ่งบอกแห่งความรักและความอาลัย)

"...แม้แต่แม่รักลูกเหมือนแก้วตา ก็ต้องอยู่ห่างจากลูก ลูกเป็นมนุษย์ แม่เป็นเทวดา ที่ต้องแยกกันอย่างนี้ ก็เพราะเราหลงว่าโลกเป็นของดี ลูกอย่าหลงโลกมันต่อไปเลยนะ มุ่งเอาพระนิพพานเป็นที่ตั้ง ปลดความรัดรึงในโลกเสียให้หมด ความสบายใจจะมีแก่ลูก

การที่เล่าเรื่องในอดีตให้ฟัง ก็เพื่อจะได้รู้ว่าเราสร้างวีรกรรมที่ชาวโลกสรรเสริญไว้มาก การรบเก่ง โลกยกย่อง แต่ตามกฎของกรรม กลับลงโทษเรา บางครั้งสุข บางคราวมีทุกข์ บางคนเราทำดีแก่เขา แต่เขาไม่เห็นความดี กรรมอย่างนี้มาจาก "สงครามเดิม" เป็นผลกฎของกรรมตามสนอง

แต่ที่ลูกมีผลในด้านความเป็นอยู่พอสมควร ก็เพราะผล "ทาน" ที่สร้างร่วมกับแม่และพ่อมา จึงช่วยพยุงตัวไม่ให้ล่มจม การที่มีอายุยืน เพราะเหตุที่เกื้อกูลแก่พระศาสนา มีการรักษา "ศีล"

เดิมแม่คิดไม่ออกว่าลูกจะมีโอกาสหรือ... เพราะเห็นภาระหนัก เมื่อลูกตัดสินใจเด็ดขาด ตามแบบฉบับเดิมได้ แม่ดีใจมาก...แม่ดีใจด้วยกับลูก..ขอลูกของแม่...จงสุขสบายในธรรม ของพระพุทธเจ้าตลอดชีวิตเถิด...!

ครั้นจบโอวาทของท่านแม่แล้ว ก็เป็นอันเสร็จ "พิธีถวายพระราชสดุดีเทิดพระเกียรติคุณ" ของท่าน ทุกคนที่อยู่ ณ ที่นั้น จะมีความรู้สึกนึกคิดอย่าง...มิอาจทราบได้ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ว่าเป็นโดยธรรมชาติหรือไม่...แต่ภายในจิตใจของพวกเราส่วนใหญ่นั้น ต่างมั่นใจในพระพุทธานุภาพ เพราะพระพุทธองค์ย่อมรุ่งเรืองด้วยฉัพพรรณรังสี รัศมี ๖ ประการ ดั่งพระอาทิตย์ทรงกลด...ฉะนั้น สวัสดี


◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป ตอนที่ ๕ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง )))))))