ตามรอยพระพุทธบาท

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 26)
webmaster - 24/5/08 at 23:05

(Update 8 ต.ค. 51)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »


ตอนที่ 26

รายการ "สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต" ตอนที่ 14




สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต

ตอนที่ 14 งดงามและเข้มแข็ง

ออกอากาศเมื่อ : 2008-08-04



ความเห็นเรื่อง “พญานาค” จากนักประวัติศาสตร์

"........ท่านผู้อ่านคงจะอ่านรายละเอียดเรื่อง “บั้งไฟพญานาค” กันมาตั้งแต่ต้นแล้ว จะเห็นว่ามีทั้งฝ่ายที่เชื่อและไม่เชื่อ โดยเฉพาะทางด้านพุทธศาสตร์ต่างก็เชื่อว่า “พญานาคมีจริง” ตามที่ได้นำประวัติของครูบาอาจารย์ต่างๆ ท่านได้พบเห็นด้วยตนเองไปแล้ว ส่วนฝ่ายที่อ้างทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์กลับเห็นว่า “เป็นปรากฏการณ์จากธรรมชาติ” ในตอนนี้ก็เหลือแต่ข้อมูลทางด้าน “นักประวัติศาสตร์” กันบ้าง ว่าเขาก็มีแง่คิดที่แตกต่างไปจากความเชื่อถือในทางพระพุทธศาสนาอย่างไรกันบ้าง ?

ความเชื่อเรื่อง “นาค” ในอุษาคเนย์

ในบรรดาชุมชนบ้านเมืองทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสองฝั่งลำน้ำโขงตั้งแต่ตอนใต้มณฑลยูนนานของจีนลงมาจนถึงปากแม่น้ำโขงล้วนเลื่อมใสลัทธิบูชานาค เพราะเชื่อกันว่านาคเป็นผู้บันดาลให้เกิดธรรมชาติ เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง ในขณะเดียวกันก็อาจบันดาลให้เกิดภัยพิบัติถึงขั้นบ้านเมืองล่มสลายได้

นอกจากนี้ยังนับถือ "นาค" เป็นบรรพบุรุษด้วย เหตุนี้เองผู้คนในอุษาคเนย์จึงมีนิทานปรัมปราเกี่ยวกับนาคมากมายหลายสำนวนนับไม่ถ้วน โดยนาคที่ปรากฏในตำนานนิทานต่างๆ สามารถแยกแยะได้อย่างน้อย ๓ ลักษณะ คือ เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนดั้งเดิม เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแห่งดินและน้ำ และเป็นลัทธิทางศาสนา (2)*

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(2)* โปรดดู ศรีศักร วัลลิโภดม, แอ่งอารยธรรมอีสาน : แฉหลักฐานโบราณคดีพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย, กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๓๘.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

น่าสังเกตว่าคำ “นาค” นั้นอาจไม่ใช่คำของคนในดินแดนอุษาคเนย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอว่า “นาค” หรือ Naga อยู่ในภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป (3)* มีรากเดิมจากคำว่า “นอค” (Nog) (4)* แปลว่าเปลือยหรือแก้ผ้า ตรงกับ Naked ในภาษาอังกฤษ ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ สังคมอุษาคเนย์รับคำนี้มา เพื่อใช้หมายถึงงูหรือพญางูผู้มีฤทธิ์ โดยจินตนาการต่อไปว่าพญางูมีถิ่นที่อยู่ใต้ดินเรียก “บาดาล”

จิตร ภูมิศักดิ์ เคยเขียนอธิบายเรื่องความหมายของชื่อนาคไว้ในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอมฯ (5)* สรุปความว่า “พวกนาค” เป็นชนส่วนน้อยทางตะวันออกสุดของอินเดียติดพรมแดนพม่า ณ บริเวณเทือกเขานาค เดิมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอัสสัม แต่ชาวนาคได้ต่อสู้จนรัฐบาลอินเดียยินยอมให้จัดตั้งขึ้นเป็น “รัฐนาค” (Nagaland) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗

แต่เดิมชาวนาคมีประเพณีล่าหัวมนุษย์ ชาวอารยันในครั้งโบราณจึงเหยียดหยามดูถูกพวกนาคมาก ถือว่าเป็นมิลักขะ (คนป่าเถื่อน) คำเรียกนาคก็สันนิษฐานว่ามาจากภาษาอัสสัม เขียนว่า nāga ออกเสียงว่า “นอค” แปลว่า เปลือย หรือ แก้ผ้า หรือสันนิษฐานในอีกทางหนึ่งว่าเป็นคำที่มาจากภาษาฮินดูสตานี คือ นัค (nag) แปลว่า คนชาวเขา

จิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานต่อไปว่าเรื่องนี้อาจเกี่ยวกับตำนานในพุทธศาสนาที่ห้ามนาคมิให้บวช โดยเล่ากันว่า พญานาคเคยปลอมเข้ามาบวชแต่ภายหลังถูกจับได้จึงถูกขับให้ลาสิกขา พญานาคจึงร้องขอต่อพระพุทธเจ้าว่า ต่อไปภายหน้า แม้นาคจะบวชไม่ได้ก็ขอให้ผู้ที่กำลังเตรียมตัวบวชมีชื่อเรียกว่า “นาค” จนกลายเป็นต้นกำเนิดของประเพณีการทำขวัญนาค

การขานนาค การบวชนาค และในพิธีการบวชที่มีระเบียบว่าพระคู่สวดจะสอบผู้บวชด้วยคำถามหนึ่งว่า “มนุสโส สิ?” (เจ้าเป็นคนหรือเปล่า?) เป็นไปได้ว่าในครั้งอดีต สังคมอินเดียกระทั่งในศาสนาพุทธเองก็ยังมีอคติไม่ยอมรับชนชาวนาค จึงไม่ยอมให้เข้าบวชในพุทธศาสนา

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(3)* ตระกูลภาษาอินเดีย-ยุโรป เป็นภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในอินเดียตอนกลางและในทวีปยุโรปส่วนมาก เดิมเรียกว่า “อารยัน” แบ่งย่อยออกเป็นตระกูลภาษาอารยันตะวันออก ได้แก่ ภาษาอารยันแห่งอินเดียกลาง (มัธยมประเทศ) กับ ภาษาอิหร่าน และภาษาอารยันตะวันตก ได้แก่ ภาษากรีก อิตาลิก เยอรมันนิก เคลติก และสลาวิก คำอารยันสืบมาจากคำ “อริยะ” (สันนิษฐานว่า “อิหร่าน” ก็เป็นคำเดียวกันแต่เสียงเพี้ยนไปเท่านั้น)

ในภาษาสันสกฤตโบราณปรากฏมีในคัมภีร์พระเวท ใช้เรียกเป็นชื่อชนชาติและคำยกย่องพราหมณ์ที่นับถือบูชาทวยเทพในพระเวท และเพื่อให้แตกต่างจากชาวอื่นที่ยังเพาะปลูกไม่เป็น ไม่เจริญ และยังอนารยะ ที่เปลี่ยนมาเรียกอินโด-ยุโรปเพราะเห็นว่าครอบคลุมภาษาส่วนมากในยุโรป หากเรียกเพียงอารยันจะทำให้เข้าใจผิดไปได้;
ดูเพิ่มเติมที่ เสฐียรโกเศศ, นิรุกติศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ ๓ คลังวิทยา: กรุงเทพฯ, ๒๕๒๒.

(4)* เปรียบเทียบกับคำอื่นที่ใกล้เคียงได้ที่ http://www.etymonline.com/index.php?term=naked

(5)* โปรดดู จิตร ภูมิศักดิ์, ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติมข้อเท็จจริง ว่าด้วยชนชาติขอม, กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, ๒๕๔๐.


-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องนี้ อาจเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับตำนานสำคัญของสังคมในเขตลุ่มน้ำโขง เช่น “ตำนานอุรังคธาตุ” (ตำนานพระธาตุพนม) โดยในตอนต้นของตำนานมีกล่าวข้อความว่า

“เมืองสุวรรณภูมินี้เป็นที่อยู่แห่งนาคทั้งหลาย มี "สุวรรณนาค" เป็นเค้า แลผีเสื้อน้ำเสื้อบกยักษ์ทั้งมวล”

นักวิชาการจำนวนมากตีความว่า ในด้านหนึ่ง “ตำนานอุรังคธาตุ” เป็นการเล่าถึงการอพยพโยกย้ายของผู้คนจาก “หนองแส” (6)* ลงมาตามลำน้ำอูที่อยู่ในดินแดนลาว ถึงการอพยพโยกย้ายของผู้คนจาก “หนองแส” ลงมาตามลำน้ำอูที่อยู่ในดินแดนลาว
แล้วกระจายกันตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณต่างๆ ตั้งแต่ลุ่มน้ำปิงในภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบันจนถึงสองฝั่งแม่น้ำโขง รวมทั้งแม่น้ำมูลกับแม่น้ำชีในภาคอีสาน โดยผูกเป็นเรื่องการหนีภัยของเหล่านาคน้อยใหญ่ไปตามถิ่นต่างๆ ใน “ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ” ก็เล่าเรื่องนาคในทำนองนี้เช่นเดียวกัน

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(6)* สันนิษฐานว่าคือ ทะเลสาบที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกลองมโหระทึกที่เก่าแก่มาก จากนั้นจึงแพร่หลายไปสู่แหล่งต่างๆ เช่น แถบมณฑลกวางสีอันเป็นถิ่นของชาวจ้วง และตอนเหนือของเวียดนามที่เรียก “วัฒนธรรมดองซอน” รวมทั้งแพร่กระจายมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิที่ตั้งรัฐไทยในปัจจุบัน
จากหลักฐานเรื่องกลองมโหระทึกประกอบกับเรื่อง "นาค" ในตำนานทั้งสอง อาจช่วยสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า "หนองแส" เป็นแหล่งที่อยู่ของมนุษย์ในดึกดำบรรพ์แล้วจึงค่อยเคลื่อนย้ายไปสู่ดินแดนใกล้เคียง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------

นอกจาก “ตำนานอุรังคธาตุ” อาจเกี่ยวข้องกับตำนานการโยกย้ายของกลุ่มคนแล้ว ยังเกี่ยวกับตอนที่ "นาค" หรือกลุ่มคนที่อพยพลงมาปรับตัวรับศาสนาพุทธ “ตำนานอุรังคธาตุ” พยายามลดความสำคัญของนาคลงเป็นเพียงผู้ที่ถูกปราบ ยอมต่อพระศาสดา มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ถึงขนาดที่เหล่านาคทูลขอรอยพระบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้สักการะบูชา

และกลายเป็นผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาต่อมา ดังเห็นเป็นรูปนาคหรือช่อฟ้าประดับในส่วนต่างๆ ของวัดมากมาย ตำนานเรื่องพระพุทธเจ้าปราบนาคยังมีอีกหลายเรื่อง เช่นในนิทาน พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา หรือในพม่าเองก็ปรากฏนิทานในทำนองพระพุทธเจ้าปราบนาคด้วยเช่นเดียวกัน

ในวิทยานิพน์ของ พิเชษฐ สายพันธ์ เรื่อง “นาคาคติ อีสานลุ่มน้ำโขง : ชีวิตทางวัฒนธรรมจากพิธีกรรมร่วมสมัย” (7)* เสนอว่า สัญลักษณ์นาคเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันมั่งคั่ง ที่ปรากฏในเกือบทุกแง่มุมของชีวิตชาวลุ่มน้ำโขง และสามารถจัดนาคออกได้ ๕ ประเภทความหมาย ดังนี้

๑) นาคผู้เป็นสัญลักษณ์ของน้ำ
๒) นาคในฐานะเจ้าที่เจ้าทาง
๓) นาคผู้ให้กำเนิดและผู้ทำลายเมือง
๔) นาคในฐานะผีบรรพบุรุษตามระบบการสืบสายตระกูลทางแม่ (มาตุพงศ์)
๕) นาคผู้สะสมธรรมเพื่อบรรลุพุทธิภาวะ


ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามามีอิทธิพลในอีสาน ผู้คนในแถบนี้อาจมีความคิดเรื่องการเคารพต่อแผ่นดินและผืนน้ำ โดยมีนาคเป็นสัญลักษณ์แห่งความเคารพดังกล่าว ในตำนาน "สุวรรณโคมคำ" และ "อุรังคนิทาน" ต่างก็กล่าวว่า แม่น้ำโขงเกิดขึ้นจากการคุ้ยควักของพญานาคที่หนีจาก "หนองแส" ซึ่งทำให้เกิดแม่น้ำสายอื่นอีกหลายสายคือ ปิง งึม มูล ฯลฯ นาคจึงอยู่ในฐานะของผู้ให้กำเนิดแม่น้ำ หนอง คลอง บึง รวมทั้งน้ำฝนดังที่กล่าวไว้ในนิทานเรื่อง “ขุนทึง” เช่นเดียวกับในนิทานเรื่อง “พญาคันคาก” ที่เล่าว่า

พญาแถนกับพญาคันคากโกรธเคืองกัน เพราะเห็นว่าพญาคันคากมีอำนาจบารมีมากกว่าตนทั้งที่อยู่แค่เมืองมนุษย์ พญาแถนจึงสั่งให้บรรดาพญานาคห้ามเล่นน้ำ ชาวบ้านเกิดเดือดร้อนเพราะขาดน้ำฝนทำนาจึงคิดวิธีร้องขอบอกกล่าวแก่พญาแถน ซึ่งได้กลายเป็นต้นเค้าหนึ่งของประเพณีบุญบั้งไฟที่ปฏิบัติสืบมาจนกระทั่งในปัจจุบัน

ส่วนคติที่ถือว่านาคเป็นเจ้าแห่งผืนดิน คตินี้มีแพร่หลายทั่วไปในเขตวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง เช่น คติเรื่องนาคประจำอยู่ทิศต่างๆ หากจะปลูกเรือนต้องบอกกล่าวบูชาให้ถูกต้อง ฯลฯ หรือเรื่อง "พระพุทธเจ้าปราบนาค" ดังที่มีเล่าในตำนานท้องถิ่นทั่วไป ย่อมแสดงให้เห็นเค้าความเชื่อเรื่องนาค ในฐานะเจ้าที่หรือผู้เป็นใหญ่บนผืนดินได้เป็นอย่างดี การเคารพนาคจึงหมายถึงการเคารพต่อแผ่นดินและผืนน้ำโดยมีนาคเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแห่งน้ำและเจ้าแห่งผืนดิน อันจะนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขและความอุดมสมบูรณ์ในสังคมแบบเกษตรกรรม

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(7)* โปรดดู พิเชษฐ สายพันธ์, “นาคาคติ อีสานลุ่มน้ำโขง: ชีวิตทางวัฒนธรรมจากพิธีกรรมร่วมสมัย,” วิทยานิพนธ์สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๙.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

นอกจากนี้นาคยังมีบทบาททั้งในฐานะผู้สร้างและผู้ทำลายเมืองของมนุษย์ด้วย ดังปรากฏชัดเจนในนิทานหรือตำนานท้องถิ่นอีสานซึ่งมีอยู่มากมายหลายเรื่องหลายสำนวน และมักมีโครงเรื่องไปในทางเดียวกัน คือ กล่าวถึงกำเนิดของเมืองที่เกิดจากการบันดาลของพญานาค และในตอนท้าย เมืองเหล่านั้นก็ถูกทำลายลงด้วยอิทธิฤทธิ์ของพญานาคเช่นเดียวกัน

ตำนานเหล่านี้ ได้แก่ ตำนานสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวติกุมาร อุรังคนิทาน หรือตำนานพระธาตุพนม (ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น) ตำนานเมืองหนองหานหลวง ในพงศาวดารเมืองสกลนคร และนิทานเรื่อง "ผาแดง-นางไอ่" เป็นต้น ในแง่นี้ "นาค" จึงเป็นสัญลักษณ์ที่มีพลังและมีความเป็นอันตราย เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างขั้วของการสร้างสรรค์-ให้กำเนิดกับขั้วของการทำลายล้าง-ความตาย-หายนะ ทั้งนี้เพราะนาคสามารถบันดาลให้เกิดสิ่งที่มีผลดีหรือผลร้ายต่อสังคมได้

ถึงแม้รูปพญานาคมากมายที่ถูกปั้นเขียนขึ้นจะไม่เคยระบุเพศให้เรารู้ว่าตัวนาคนั้นเป็นหญิงหรือชาย แต่ในกรณีของผ้าทอลายนาคนั้นอาจเกี่ยวข้องกับเพศหญิง ทั้งในฐานะที่ผู้หญิงเป็นผู้ทอผ้าและโดยเฉพาะหลักฐานว่าเพศชายไม่นิยมหรือไม่มีผ้าทอลายนาคซึ่งตรงข้ามกับเพศหญิงที่นิยมหรือมีผ้าลายนาคเป็นของตน

นักวิชาการบางส่วนที่ศึกษาเรื่องผ้าและวัฒนธรรมการทอผ้าจึงเสนอว่า นาคและผ้าทอลายนาคเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับระบบการสืบสายตระกูลทางแม่ (มาตุพงศ์) โดยอ้างหลักฐานสนับสนุนจากงานศึกษาชาติพันธุ์วิทยา นอกจากนี้ ในตำนานรุ่นเก่า (ก่อนได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา) จำนวนหนึ่ง นาคในตำนานเหล่านี้มักเป็นหญิงและเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดมนุษย์ เช่นในนิทานเรื่อง “ขุนทึง” ที่มีแม่เป็นนาค

เมื่อสัญลักษณ์นาคผู้ทรงฤทธิ์โยงใยอยู่กับความเป็นแม่ ก็ย่อมสะท้อนถึงบทบาทและอำนาจของเพศแม่ที่มีอยู่ในสังคมนั้นด้วย อย่างไรก็ดีในตำนานยุคหลังที่เริ่มมีเรื่องราวไปในทำนองพุทธประวัติ เช่น ในตำนานอุรังคธาตุ หรือในนิทานวัดศรีโคมคำ กลายเป็นเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จปราบและเทศนาสั่งสอนพญานาค

กระทั่งนาคขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระพุทธบาทไว้เพื่อบูชา องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้ากลายเป็นผู้พิชิตและปราบพญานาคให้สิ้นฤทธิ์ เกิดเป็นผู้เลื่อมใสและปวารณาตนเป็นผู้ปกปักรักษาพระพุทธศาสนา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาสามารถเอาชนะความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่น หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ "นาค" ในฐานะสัญลักษณ์แทนกลุ่มคนดั้งเดิมที่ดิบ ป่า เถื่อน ดอย ได้เจริญขึ้นก็เพราะพระพุทธศาสนา

การสะสมบารมีของพญานาคจึงเป็นภาวะหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตที่ดีขึ้นตามอุดมคติแบบพุทธ ดังเช่นที่พระสมณโคดม ก่อนจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เคยเสวยชาติเป็นพญานาคด้วย การเปลี่ยนโครงเรื่องให้นาคกลายเป็นผู้ถูกปราบและกลายเป็นผู้เลื่อมใสรับใช้พระศาสนา จึงน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการเสื่อมคลายของระบบการนับถือญาติฝ่ายแม่ และเริ่มให้ความสำคัญต่อบทบาทและอำนาจของฝ่ายชายมากขึ้น.

ที่มา - เอกสารประกอบการแสดงทางวัฒนธรรมครั้งที่ ๒๒ การแสดงลิเกเรื่อง "พระทอง - นางนาค ณ หอประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) วันศุกร์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘ เวลา ๑๗.๓๐ - ๑๙.๐๐ น. โดย กลุ่มละครมะขามป้อม

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »