ตามรอยพระพุทธบาท

การสร้างสมเด็จองค์ปฐม (ทรงเครื่องพระนิพพาน) ณ วัดสิริเขตคีรี (ตอนที่ 7)
nuntikarn - 9/7/08 at 23:28

« l 1 l 2 | | 3 | 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l »


งานมหาพิธีบวงสรวง ๘ ทิศ

พบกันฉบับนี้คงใกล้จะถึงตอนสุดท้าย ในเรื่อง งานพิธีทอดกฐิน ปีที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ณ วัดพระร่วงผดุงธรรม ซึ่งจะเป็นการทำ พิธีบวงสรวงใหญ่ เพื่อสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และรอยพระพุทธบาททั้งชมพูทวีป ดังมีรายละเอียดนี้


ทอดกฐิน (ปีที่ ๓)

เมื่อวันที่ ๑๗ - ๒๐ พ.ย. ๒๕๔๕

๑. วัดจันทโรภาส ต.วังไม้ขอน อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
๒. วัดป่าข่อย (หลวงปู่จัน) อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
๓. พุทธอุทยานพระร่วงผดุงธรรม อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
๔. วัดดอยป่าตาล ต.เถินบุรี อ.เถิน จ.ลำปาง
๕. วัดพระบาทนาเกลือ ต.เถินบุรี อ.เถิน จ.ลำปาง

สำหรับงานพิธีทอดกฐิน ปีที่ ๓ นี้ ได้จัดงานเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้เพื่อให้ญาติโยมทั้งหลายได้บุญได้กุศลกันอย่างเต็มที่ โดยจะมีการทอดกฐินอีกเช่นเคย ซึ่งตรงกับ วันลอยกระทง พอดีนับเป็นปีที่ ๓ และปีต่อมาก็ไม่ได้ ตรงกับ “วันลอยกระทง” อีกแล้ว

นับว่าโชคดีที่มีโอกาสได้ ลอยกระทงสวรรค์ เพื่อบูชา พระจุฬามณี ติดต่อกัน ๓ ถึง ๔ ปี ต่อไปนี้คงจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว เพราะถือว่าจัดงานย้อนประวัติศาสตร์กันเพียง แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว โดยเฉพาะ งานปีที่ ๓ ถือว่าเป็น “มหาพิธีบวงสรวง” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองสมโภชทั่วทั้งจักรวาลกันเลย

โดยเฉพาะสถานที่นี้ มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทั้งข้างล่างและข้างบนพระจุฬามณี คือใต้ฐานพระและบนยอดฉัตทั้ง ๕ ยอด และที่บรรจุไว้ภายในพระเจดีย์องค์เล็ก ๆ โดยรอบพระจุฬามณี จากเจ้าภาพทั้งหมด ๒๐๐ กว่ากอง ที่จะได้อัญเชิญขึ้นไป อันมี ท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เป็นประธาน

งานนี้จึงมีเจ้าภาพรับจัดทำบายศรีทั้ง ๘ ทิศ ที่จะจัดทำขึ้นอย่างสวยงามและปราณีต เพื่อสักการบูชาให้สมพระเกียรติคุณขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุก ๆ พระองค์ อันมี สมเด็จองค์ปฐม ทรงเป็นประธาน โดยมีพระจุฬามณีแห่งนี้เป็นศูนย์กลาง

ซึ่งบังเอิญเขตนี้อยู่ระหว่าง สี่แยกอินโดจีน พอดี ที่จะได้สักการบูชารอยพระพุทธบาท และพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมด้วย เครื่องพุทธบริขาร ของพระพุทธเจ้าทั่วทั้งจักรวาล (รวมทั้งหมดประมาณ ๑,๐๐๐ แห่ง ซึ่งจะมีหนังสือคู่มือแจกให้ด้วย ว่าอยู่แห่งหนตำบลใดบ้าง)

ในงานพิธีนี้ จึงขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันอธิษฐาน เพื่ออัญเชิญเทพยดานางฟ้าทั้งหลาย ทั้งแสนโกฏิจักรวาลมาร่วมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ เพื่อเป็นสักขีพยานในการอธิษฐาน หากว่าผู้ใดปรารถนาหรือจะลา “พุทธภูมิ” หรือตั้งใจจะไปพระนิพพานในชาตินี้เลย ณ ดินแดนแห่งเมืองพระร่วงวาจาสิทธิ์นี้ ขอให้พลันสัมฤทธิ์ผลตามที่ปรารถนานั้น จงทุกประการเทอญ ฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือคู่มือ “พระบาทและพระธาตุ ณ ชมพูทวีป” เล่มนี้ ผู้เขียน และ “คณะตามรอยพระพุทธบาท” ได้ใช้เวลา ๑๐ ปีเต็มในการสำรวจ นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ – ปี ๒๕๔๕ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล อินโดนีเซีย จีน สิบสองปันนา พม่า ลาว เขมร เวียดนาม ศรีลังกา และเกาหลีใต้ เป็นต้น

ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า “รอยพระพุทธบาท” และ “พระมหาธาตุเจดีย์” อันเป็นที่บรรจุ “พระเกศาธาตุ” และ “พระบรมสารีริกธาตุ” ส่วนต่าง ๆ ทั้งพระวรกาย รวมทั้ง “เครื่องพุทธบริขาร” ของพระพุทธเจ้านั้นว่าประดิษฐานอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งได้รวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อความสะดวกแก่การค้นคว้า อีกทั้งยังมี “คำนมัสการลายลักษณ์พระบาท” และ “คำ ไหว้พระบรมสารีริกธาตุ” ฉบับโบราณไว้ด้วย

ฉะนั้น วันสำคัญที่รอกันมานานคือ วันอังคารที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕ นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของพวกเรา ในนาม “คณะศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน” ทั่วทุกภาคของประเทศ จะได้เดินทางมารวมกันเป็นกรณีพิเศษ ณ อาณาจักรศรีสัชนาลัย อันเป็นดินแดนของ “พระร่วงวาจาสิทธิ์” เพื่อกระทำพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ คือพิธีบวงสรวงใหญ่ หรือที่เรียกว่า “มหาพิธีบวงสรวง” เป็นการเฉลิมฉลองสมโภชด้วยบายศรีทั้ง ๘ ทิศ

คือเป็นพิธีการบวงสรวงรวม “ชมพูทวีป” หรือทั้ง “จักรวาล” ก็ว่าได้ ซึ่งมีความแตกต่างกว่าการทำพิธี ณ วัดพระแท่นดงรัง จังหวัด กาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นั่นเป็นแค่ “รวมภาค” เท่านั้น แต่ที่ไม่น่าเชื่อก็คือว่าตรงกับ “วันอังคาร” เหมือนกัน อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานนั่นเอง ถือว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลย

คิดว่าคงเสมือนกับกาลเวลามาถึง คนที่เคยร่วมบุญกันมาแต่ชาติปางก่อน จะต้องมีนัดกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะได้ทำพิธีบูชาให้สมพระเกียรติคุณของพระพุทธองค์ โดยมี สมเด็จองค์ปฐม “ปางประทับรอยพระพุทธบาท” ทรงเป็นประธานของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และมี พระจุฬามณี เป็นใจกลางของพระเจดีย์ทั้งสกลชมพูทวีป อีกทั้งยังมี รอยพระพุทธบาท ณ สถานที่นี้ เป็นศูนย์กลางของรอยพระพุทธบาททั้งปวงในโลกนี้ ซึ่งใครยังไหว้ไม่ครบก็ถือว่าได้ครบถ้วนในครั้งนี้

ทั้งนี้ เพื่อขออัญเชิญพรหมเทวดาทั้งหลาย ที่พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาใน อาณาเขตต่าง ๆ ได้โปรดเสด็จมาเป็นสักขีพยาน ทั้งหมื่นโลกธาตุ และแสนโกฏิจักรวาล อันเป็น “มหาสันนิบาตสโมสร” อีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งคงจะมีเพียงครั้งเดียวหลังกึ่ง พุทธกาลนี้

เพื่อเป็นการอธิษฐานตั้งความปรารถนาอย่างเป็นทางการ ต่อพระพักตร์ขององค์สมเด็จ พระศาสดาจารย์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เจ้า และเหล่าพระอริยสงฆ์ ตลอดถึงพระครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อันมีหลวงพ่อพระราชพรหมยาน เป็นที่สุด รวมทั้งพระมหากษัตราธิราชเจ้าทั้งปวง ที่จะเสด็จมาประชุมพร้อมกัน ณ สถานที่นี้ เพื่ออำนวยอวยพรให้เหล่าปวงข้าพระพุทธเจ้า จะได้กระทำการตั้งสัตยาธิษฐาน ให้สำเร็จตามความมุ่งมาดปรารถนา จงทุกประการนั้นเทอญ ฯ

สำหรับเจ้าภาพผู้จัดทำบายศรีทั้ง ๘ ทิศนั้น ซึ่งได้มอบหมายกันไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้แก่.
๑. ภาคเหนือ โยมน้อย เชียงราย และคณะภาคเหนือ
๒. ภาคใต้ โยมอ้อย (ธนนันท์) พัทลุง และคณะหาดใหญ่ จ.สงขลา
๓. ภาคอีสาน คุณหมอสุรพงศ์ (อู๊ด) และคณะจังหวัดอุบลราชธานี
๔. ภาคตะวันตก คุณหมอนพพร - คุณหมอเตือนใจ กาญจนบุรี และคณะอุตรดิตถ์
๕. ภาคตะวันออก โยมศุภาพร, แม่ชีเล็ก วัดท่าซุง พร้อม คณะคุณอรทัย สระบุรี
๖. ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ คณะท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
๗. ภาคตะวันตกเฉียงใต้ คุณชาญชัย, คุณกฤษฎา และคณะนครสวรรค์
๘. ภาคตะวันออกเฉียงใต้ คณะอู่วารี และ คุณแดง (พรรณรัตน์)

สำหรับเรื่องสถานที่นั้นทาง พระวันชัย และคณะท่าชัยก็ได้เร่งการก่อสร้าง ศาลาพระ ราชพรหมยาน เพื่อให้เสร็จทันได้ใช้งานนี้เลย บริเวณโดยรอบก็มีการเทพื้นกันอย่างเร่งด่วน ช่างต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน โดยเฉพาะห้องน้ำหลายสิบห้องภายในศาลา จะต้องเร่งทำกันอย่างเต็มที่ทั้งกลางวันและกลางคืนเช่นกัน

ฉะนั้น คนที่เคยมาที่นี่ทุกปี ต่างก็รู้สึกแปลกใจที่เข้ามาภายในวัด ที่มองไม่เห็น “ศาลา ๗ วัน” ที่หลังคามุงด้วยแฝก แต่ก่อนเคยใช้เป็นสถานที่ถวายผ้ากฐิน และเคยนอนที่พื้นซึ่งปูด้วยฟางข้าวมาแล้วถึง ๒ ปี แต่เมื่อสังเกตอีกทีจึงรู้ได้ว่า ศาลาหลังใหญ่ที่เห็นเบื้องหน้านี้ คงจะสร้างแทนที่ศาลาหลังคามุงแฝกนั่นเอง คนที่มาในงานนี้ที่ได้เห็นแล้ว ต่างพูดกันว่าสร้างได้รวดเร็วเหมือนกับเนรมิตกันเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการคิดค้นวิธีการทำกระเบื้องโมเสคหลังคา ได้มีการปรึกษาหารือกับทาง โรงงานเซรามิคคอตโต สระบุรี กว่าจะสำเร็จออกมาเป็นสีแก้วสีกระจกได้ ก็ต้องผ่านกรรมวิธีขั้นตอนกันหลายครั้ง เมื่อนำมาติดพระจุฬามณีและมณฑปทั้งสองหลังแล้ว จึงแลดูสะอาดสวยงามและโดดเด่นมากทีเดียว ยิ่งเวลาต้องกับแสงพระอาทิตย์ในเวลากลางวัน หรือกระทบกับแสงไฟในเวลากลางคืน จะมองดูระยิบระยับงามตาเหลือเกิน

ส่วนการตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม ได้มีการประดับโคมไฟโคมแขวนไว้ตลอดทางขึ้นพระ จุฬามณีและบริเวณภายในวัดโดยรอบ พร้อมทั้งจัดพวงดอกไม้ประดับไว้ตามต้นไม้และบันไดทางขึ้นพระจุฬามณี ที่มณฑปพระร่วงเจ้ากับพระแม่เจ้าก็สวยงามเช่นกัน อีกทั้งมีการจัดดอกบัวและดอกไม้หลายหลากสีบูชาไว้รอบรอย พระพุทธบาทของ “สมเด็จองค์ปฐม” โดยการช่วยเหลือจาก “คณะครูและนักเรียน” แถวนั้น

แล้วก็บน ศาลาพระราชพรหมยาน ซึ่งชั้นบนจะสร้างเป็นพระอุโบสถ ได้จัดทำเป็นเวทีชั่วคราวมีการละเล่นรื่นเริงในตอนกลางคืน ส่วน บริเวณที่จะสร้างพระอุโบสถทำเป็นเวทีชั่วคราว ด้านหลังมีฉากกั้นเวทีสีฟ้าวาดรูปไว้คล้ายวิมาน แล้วก็มีท่านปู่ท่านย่าประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ โดยมีตัวอักษรสีแดงเขียนไว้ที่ฉากหลังนี้ว่า “นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง”

ขณะเดียวกันนั้นได้มองเห็นพญาหงส์ อยู่ท่ามกลางพญานาคทั้งสอง ที่ได้ประดิษฐ์ไว้อย่างสวยหรู เพื่อไว้สำหรับชักรอกอัญเชิญยอดฉัตร และพระเจดีย์องค์เล็กขึ้นไปบนพระจุฬามณี จากลานพระอุโบสถมองขึ้นไปจะเห็น พระจุฬามณีสวยเด่น แต่ถ้ามองจากพระจุฬามณี ลงมาที่เวทีกลางแจ้งนี้ก็จะอลังการทีเดียว

โดยเฉพาะเจดีย์องค์เล็กสีเงินแวววาว ที่ได้เตรียมไว้สำหรับบรรดาเจ้าภาพแต่ละคณะ มีจำนวน ประมาณ ๒๔๕ องค์ ซึ่งได้นัดให้เจ้าภาพทั้งหลาย เตรียมพระบรมสารีริกธาตุกันมาเอง ส่วนใครที่ยังไม่มี คุณเปา ก็ได้เตรียมไว้ให้แล้วเช่นกัน แต่มีบางคนกลับมาเล่าให้ฟังภาย หลังตรงกันหลายคน เช่น คณะบ้านฉาง จ.ระยอง เล่าให้ฟังว่า

ตนเองมีพระบรมสารีริกธาตุอยู่แล้วเพียง ๑๖ องค์เท่านั้น จึงอยากจะเก็บเอาไว้บูชาที่บ้าน เมื่อคิดอยากจะหาพระบรมสารีริกธาตุ ไปบรรจุที่วัดพระร่วง ฯ ปรากฏว่าได้เปิดผอบพบว่า มีพระ บรมธาตุเพิ่มมาอีก จึงได้นำส่วนที่เพิ่มมาบรรจุไว้สมตามความปรารถนา นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ได้นำมาเล่าสู่กันฟัง

สำหรับกระทงสวรรค์ปีนี้ก็จัดทำสวยงามเป็นพิเศษ คือมีทั้งกระทงเงิน - กระทงทอง โดย คณะท่าชัย และกระทงแก้วจาก คณะหนูเล็ก อีกทั้งโคมลอยจาก อ.ชาญยุทธ ชนบดีเฉลิมรุ่ง และ คุณสุพัฒน์ - อ.นฤมล ว่านเครือ จากเชียงใหม่ก็สั่งทำผ้าตุง ๘ ทิศเป็นพิเศษด้วย ส่วนการแต่งกายคงไม่ต้องห่วง เพราะนัดกันไว้นานแล้ว จึงรอวันเวลาที่จะมาถึงนี่แหละ บางคนเห็นบอกว่าเตรียมกันไว้หลายชุด

เรื่องสถานที่พักก็คงจะเหมือนเดิม เพราะเคยจัดกันมาแล้ว อาหารการกินก็ต้องเตรียมมาก กว่าเดิม เพราะปีนี้ทราบว่าคนจะมากันทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะที่จอดรถ จะต้องเกรดกันล่วงหน้า แต่ที่นี่มักจะมีคนบ่นเรื่อง “ยุง” ทั้งที่เจ้าหน้าที่ได้มาทำการพ่นสารเคมีไล่ไปก่อน ล่วงหน้าแล้ว แต่พอถึงวันงานมันก็กลับมาอีก



อุทัยธานี - สุโขทัย

รวมความว่า ผู้เขียนคงจะไม่เล่ารายละเอียดมากนัก เพราะการเตรียมงานใหญ่ เกี่ยวกับเรื่องการจัดสถานที่ คงจะเป็นภาระหนักสำหรับทางวัดพระร่วง ฯ แต่ภาระใหญ่ทางผู้เขียนจะต้องเตรียมจัดงานพิธีการต่าง ๆ และต่อไปนี้ก็เป็นภาระของเจ้าภาพทั้งหลาย ที่จะต้องเตรียมตัวเดินทางไปร่วมงานพิธีนี้กัน

โดยเฉพาะคณะผู้เขียนและเจ้าหน้าที่ จะต้องเดินทางก่อนงาน ๒ วัน คือเริ่มออกเดินทางจากวัดตั้งแต่ วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พ.ย. ๒๕๔๕ ในตอนเช้าของวันนั้น มีฝนโปรยลงมาเล็กน้อยภายในบริเวณวัด แต่เมื่อออกมาถึงด้านนอกวัด ดูเหมือนว่าจะมีฝนตกลงมาหนักมากจนน้ำเจิ่งนองไปทั่ว

แล้วก็เจอฝนตกลงมาตลอดการเดินทาง จนกระทั่งถึง วัดจันทโรภาส อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ต้องวิ่งหลบฝนเข้ามาในศาลา เพื่อร่วมกันทอดกฐินสร้างศาลาการเปรียญ หลังจากถวายผ้ากฐินและพระพุทธรูป ๑ องค์ พร้อมจำนวนเงิน ๕๘,๑๔๐ บาท จึงได้ฉันภัตตาหารเพล และญาติโยมรับประทานอาหารกลางวัน โดยท่านเจ้าอาวาสคือ หลวงน้าภักดี และชาวบ้านทั้งหลายเป็นผู้จัดเลี้ยงต้อนรับ

ต่อจากนั้นได้เดินทางไปกราบ หลวงปู่จัน อายุ ๑๐๔ ปี ณ วัดป่าข่อย ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท หลวงปู่จันจึงเป็นพระเถระที่มีอายุยืนยาวมาตั้งแต่สมัย ท่านเสด็จกรมหลวงชุมพรฯ พวกเราดีใจที่ได้ไปกราบนมัสการท่าน จึงได้ร่วมกันทำบุญสร้างซุ้มประตู วัดเกาะหิน ที่ท่านไปสร้างไว้ จำนวนเงิน ๒,๐๐๐ บาท

ในเวลา ๑๓.๓๐ น. จึงได้เดินทางถึงวัดพระร่วงฯ ซึ่งได้นัดไว้กับ คุณบรรจง สุกใส พร้อมคณะ เพื่อถวายสมเด็จองค์ปฐมขนาดหน้าตัก ๔ ศอก พร้อมทั้งรูปเหมือนท่านพ่อ หมอชีวกโกมารภัจ, หลวงปู่ปาน, หลวงพ่อ และหลวงปู่วงศ์ พร้อมทั้งสิ่งของอื่น ๆ อีก

ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า ในปีนี้มีการสร้างพระพุทธรูป และรูปเหมือนครูบาอาจารย์มากมาย รวมทั้งพระประธานที่จะประดิษฐานในพระอุโบสถหลังใหม่อีกด้วย นั่นก็คือ สมเด็จองค์ปฐม “ทรงเครื่องพระนิพพาน” ที่ได้ทำพิธีเททองไปก่อนแล้วเมื่อ วันวิสาขบูชา วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๕

ในขณะที่ทำพิธีเททอง สายรุ้งได้เกิดปรากฏขึ้นสองชั้น พอเททองเสร็จแสงรุ้งก็หายไปทันที มีบางคนมาเล่าให้ฟังภายหลังว่า คนที่ไปร่วมงานที่ บ้านช่างเนียร ได้เห็นกันทุกคน แต่ตนเองเห็น พญาครุฑ บินอยู่ในระหว่างสายรุ้งสองสาย ครั้นกลับมาที่วัดหลังจากเสร็จพิธีแล้ว เพื่อจะมาเวียนเทียนที่หน้าพระอุโบสถ ก็ยังเห็นแสงรุ้งขึ้นเหนือท้องฟ้า ในเวลาเย็นสวยงามอร่ามตามาก

การสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ได้มีการออกแบบอย่างงดงามวิจิตร มีพระพุทธลักษณะคล้ายกับ วัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา ขนาดหน้าตัก ๔ ศอก แต่มีลวดลายเครื่องประดับอย่างอลังการ จะมีการปิดทองประดับเพชรทั้งองค์ รวมทั้งพระนลาฏฝังด้วยเพชรแท้ มีซุ้มคล้ายเรือนแก้วอยู่ข้างฝาผนัง พร้อมกับ พระอัครสาวกทั้งสอง “ทรงเครื่องพระนิพพาน” เช่นกัน ซึ่งได้กระทำพิธีเททองไป เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๖

ส่วน พระปัจเจกพุทธเจ้า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ และรูปเหมือน หลวงปู่ปาน และ หลวงพ่อ ในรูปลักษณะยืนรวม ๗ องค์ ก็ได้จัดงานพิธีเททองไปเมื่อ วันอาสาฬหบูชา วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ขณะที่ทำพิธีเททองที่บ้านช่างเนียร สายรุ้งก็มีปรากฏขึ้นอีกเหมือนกับครั้งก่อน เป็นเรื่องที่แปลกมาก

ต่อมาเมื่อช่างแต่งองค์พระเสร็จหมดแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ปิดทอง จึงได้อัญเชิญไปไว้ที่ วัดพระร่วงฯ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ด้วยขบวนรถทั้งหมดประมาณ ๑๐ กว่าคัน มี การประดับผ้าและปักธงชาติและธงธรรมจักร ไว้ที่รถทุกคัน พร้อมทั้งจัดทำบายศรีมาด้วย

ขบวนรถทั้งหมดนำโดย พระวันชัย และญาติโยมจากท่าชัยและพิษณุโลก ได้นำรถกระบะของตนเองมาช่วยกันบรรทุก โดยมี สมเด็จองค์ปฐม “ทรงเครื่องพระนิพพาน” นำขบวนแล้วต่อด้วย สมเด็จองค์ปฐม หน้าตัก ๔ ศอก และ พระปัจเจกพุทธเจ้า รูปเหมือน หลวงปู่ - หลวงพ่อ และ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้อัญเชิญมาจากบ้านช่างเนียร แล้วเลี้ยวเข้ามาที่หน้าวิหาร ๑๐๐ เมตร ก่อนที่จะอัญเชิญกลับไปที่ศรีสัชนาลัยในเวลาต่อมา โดยมีรถบายศรีนำหน้าขบวนไป

เมื่อขบวนรถเคลื่อนไปตามลำดับ จะมองเห็นเป็นแถวยาวสวยงามมาก สร้างความปลื้มปีติให้แก่ผู้พบเห็นในระหว่างทาง ต่างพากันยกมืออนุโมทนาสาธุตลอดทางที่ผ่านไป จนกระทั่งถึงวัดในเวลาเย็น จึงได้อัญเชิญขึ้นประทับไว้ในพลับพลาที่เตรียมไว้ด้านหน้า ศาลาพระราชพรหมยาน โดยมีฉากหลังวาดเป็นภาพแสงสีรัศมีที่พระเศียรของ สมเด็จองค์ปฐม “ทรงเครื่องพระนิพพาน” เมื่อได้มองดูภาพรวมทั้งหมดแล้ว จะสวยงามมากทีเดียว

ส่วนพระพุทธรูปหน้าตัก ๓๐ นิ้ว และ ๔๐ นิ้ว ก็ได้มีเจ้าภาพในปีนี้อีกหลายคนเช่น โยมนิพัทธา (น้อย) คณะคุณลัดดา เล็งเลิศผล, โยมอรุณ (นวดแผนโบราณ) และ โยมเล็ก (เยาวลักษณ์) พร้อมคณะ ส่วน คุณหมออิสริย์ (เอ๋) ถวายเครื่องปรับอากาศอีก ๓ - ๔ เครื่อง พร้อมทั้งส่งช่างมาติดตั้งให้เสร็จเรียบร้อยด้วย สำหรับสมเด็จองค์ปฐม ๔ ศอก รูปปั้นท่านพ่อหมอโกมารภัจ, หลวงปู่ - หลวงพ่อ และหลวงปู่วงศ์ ได้อัญเชิญไว้เป็นพระประธานในศาลาพระราชพรหมยาน

งานนี้จึงมีนัดกับ คุณบรรจง สุกใส พร้อมกับ คณะคุณพิชิต ไม้พุ่ม ผู้จัดการโรงงานเซรามิคคอตโต ได้มาทำพิธีถวายพระพุทธรูป และรูปเหมือนดังกล่าวแล้ว หลังจาก เสร็จพิธีแล้ว ปรากฏว่าฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก จนไม่สามารถจะจัดเตรียมสถานที่ได้ ทั้งที่ตั้งใจเดินทางมาล่วงหน้า

ในขณะนั้น ท่านวันชัยกำลังจะให้รถบรรทุกน้ำมาประมาณ ๔๐ คัน เพื่อมาล้างพื้นภายในบริเวณงาน เพราะว่าการก่อสร้างทำให้มีฝุ่นละอองมาก ครั้นฝนตกลงมาก่อนจึงไม่ต้องเสียเงินค่ารถขนน้ำมาล้าง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นคล้ายกับตอนที่จัดงาน ณ วัดพระแท่นดงรัง จ.กาญจนบุรี

คือก่อนวันงานสองวันก็ได้นัดกับทาง คุณหมอนพพร กลั่นสุภา ว่าให้เตรียมรถ บรรทุกน้ำมาล้างพื้นภายในวัด แต่ฝนก็ได้ตกลงมาเสียก่อน แล้วพัดพาเอาเศษขยะต่าง ๆ ออกไป จึงไม่ต้องเสียเวลามาล้างกันเอง คิดว่าเทวดาอารักษ์ท่านคงสงเคราะห์ให้เสร็จทุกอย่าง

จนกระทั่งเวลาบ่าย ๔ โมงเย็น ฝนเริ่มซาลง จึงออกมาเตรียมจัดสถานที่ต่อไป เมื่อเดินขึ้นไปถึงชั้นสองของศาลาที่จะสร้างโบสถ์ มองไปทางพระจุฬามณี ปรากฏว่ามีคนเห็นแสงสีรุ้งขึ้นถึง ๓ ครั้ง

คืนนั้นพวกเราก็พักค้างคืนที่นี่ พวกที่จัดเตรียมกระทงหรือดอกไม้ประดับตามที่ ต่าง ๆ ก็นั่งทำกันจนดึก ๆ ดื่น ๆ โดยเฉพาะพญาหงส์และพญานาคที่จะชักรอกขึ้นไป ได้ประดับด้วยวัสดุที่แวววาวสวยงาม พร้อมทั้งทดสอบด้วยการชักรอกขึ้นไปด้วย ส่วนร้านอาหารและร้านขายของพื้นเมือง ต่างก็เข้ามาจัดเตรียมที่ของตนเอง ภายในศาลาปฏิบัติธรรม คณะท่านวันชัย ก็ได้ช่วยกันบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ไว้ประมาณ ๕,๐๐๐ ขวด (ขวดพลาสติกบริจาคโดย คุณสุชัย ชินบุตรานนท์)

งานพิธีปีที่ ๓ นี้จึงจัดเตรียมก่อนล่วงหน้ากันหลายวัน จนถึงวันจันทร์ที่ ๑๘ พ.ย. ๔๕ ก่อนถึงงานเพียงวันเดียว ถึงแม้จะยังมีฝนตกลงมาบ้างเล็กน้อย แต่ก็ต้องตัดสินใจเตรียมจัดสถานที่กันตั้งแต่เช้า คือต้องเดินหน้าลุยลูกเดียว เพราะไม่มีเวลาอีกแล้ว พอดีฝนก็หยุดตก จึงช่วยจัดสถานที่กันได้อย่างเต็มที่ ในช่วงเย็นมีคนเริ่มทยอยเดินทางมาถึงที่วัดกันแล้ว ทางร้านอาหารก็ได้จัดเลี้ยงกันทันที

ในตอนหัวค่ำ จึงได้มอบสิ่งของที่ระลึก ให้กับผู้มาร่วมงานกฐินที่มาถึงก่อน ซึ่งเป็น น้ำศักดิ์สิทธิ์ และ หนังสือรวมพระธาตุ และพระบาททั่วชมพูทวีป (พิมพ์ ๕,๐๐๐ เล่ม จากเงินในกองกฐิน) อีกทั้งยังมีผู้ที่มอบ พระผง “ทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ” ให้อีกด้วย (จำชื่อผู้บริจาคไม่ได้) ส่วน รอยพระพุทธบาท องค์ใหญ่และองค์เล็ก ท่านวันชัย และ พระมหาเพิ่มทรัพย์ เป็นผู้จัดทำ

ในค่ำคืนนี้ ก็มีคณะเจ้าภาพทำบายศรีทั้ง ๘ ทิศ ต่างก็ทำกันอย่างขะมักเขม้น ภายในศาลาพระราชพรหมยาน ฝ่ายช่างเครื่องขยายเสียง อันมี พระมงคลเวทย์ พระบุญชู พระทนงศักดิ์ พระอิสเรศ และ คุณลือชัย ได้เดินทางมาช่วย รวมทั้งไฟประดับเวทีด้วย ส่วนไฟประดับเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ มีช่างมาจากสุพรรณบุรี ทำให้มองเห็นสว่างไสวไปทั่ว

ส่วนภายในวัด ก็มีการประดับธงชาติและธงศาสนา เต้นท์ปะรำพิธีอำนวยการก็มีการผูกผ้าหลายหลากสี มองดูธงที่ปักไว้ และธงราวที่ปลิวไสวไปจนถึงยอดพระจุฬามณี เห็นมีไม้นั่งร้านตั้งเตรียมไว้ รอการทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทุกอย่างดูเหมือนจะเสร็จสรรพรอรับงานพิธีในวันรุ่งขึ้น ซึ่งในคืนนั้นมีผู้คนเดินทางทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ จนถึงสว่าง และมีหลายคนที่มาเล่าให้ฟังว่า ถ้ามองจากถนน ในระหว่างที่จะเข้ามาภายในวัด จะเห็นแสงไฟที่ประดับไว้ สว่างไสวงดงามอร่ามตามาก


สมศรี - 10/7/08 at 13:43

พิธีบวงสรวงในตอนเช้า

วันอังคารที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ อันเป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ตรงกับ วันลอยกระทง ผู้ที่เดินทางมาถึงแล้ว ต่างก็ทานอาหารเช้ากัน รวมทั้งพระภิกษุสามเณร อีกหลายสิบรูป ก่อนที่จะร่วมพิธีบวงสรวงในตอนเช้าเวลา ๐๙.๐๐ น. ที่ด้านหน้าศาลาพระราชพรหมยาน หลวงพี่โอ พร้อมพระภิกษุ และญาติโยมจากวัดท่าซุงก็เดินทางมาถึงเช่นกัน

เริ่มทำพิธีบวงสรวง

ตอนก่อนเวลาสักเล็กน้อย ท่านพระครูปลัดอนันต์ ได้เดินทางมาถึงพร้อมกับเดินไปกราบพระที่พระจุฬามณี แล้วได้ทำพิธีบวงสรวงทันที ต่อจากนั้นจึงไปนั่งรับแขกที่ปะรำพิธีอำนวยการ ญาติโยมเข้ามาร่วมทำบุญกันมากมายกว่าปีก่อน ๆ แต่ละคนทั้งหญิงและชายต่างก็แต่งกายแบบไทย ๆ อยู่ในชุดสวยงามหลายหลากสี

ในวันนี้จึงมีบรรยากาศแบบประเพณีโบราณจริง ๆ ทุกคนมีสีหน้าแช่มชื่น แล้วก็ทักทายกันด้วยอัธยาศัยไมตรีจิต เพราะส่วนใหญ่รู้จักกันมาก่อนแล้ว ซึ่งเดินทางมาทั้งทางเชียงใหม่เชียงราย ทางด้านตะวันออกก็มีคณะตาพระยา คณะบ้านฉาง ระยอง ภาคใต้ก็มีคณะสุราษฎร์ หาดใหญ่ ภูเก็ต ชุมพร เป็นต้น โดยเฉพาะ ท่านวิชา วัดถ้ำสำเภาทอง และ ท่านพิมล วัดชลธีฯ เป็นผู้นำคณะชาวชุมพรมาด้วย ทั้งนี้ถ้าเอ่ยไม่หมดต้องขออภัยด้วยนะ นี่ยกเป็นตัวอย่างเท่านั้น ส่วนภาคกลางและภาคอื่น ๆ ก็มีอีกมากมาย

ในเวลานั้นต่างก็เดินชมบริเวณสถานที่ บ้างไปกราบรอยพระพุทธบาทข้างพระจุฬามณี บ้างก็เข้าไปกราบ สมเด็จองค์ปฐม “ปางประทับรอยพระพุทธบาท” ซึ่งได้ปิดทองเสร็จแล้ว อย่างสมบูรณ์ (พระอาจินต์ และ คณะคุณวิชชุดา เป็นผู้จัดทำผ้าห่มสไบทองถวายด้วย) บ้างก็ไปกราบ พระร่วงเจ้า และ พระแม่เจ้า ซึ่งได้ปิดทองประดับเพชรอย่างสวยงามเช่นกัน แต่ก็มองไม่ถนัดเพราะมีผ้าแพรปิดบังอยู่ ต้องรอพิธีเปิดเสียก่อนจึงจะเห็นได้ชัดเจน

บ้างก็เดินดูร้านค้าต่าง ๆ มีทั้งผ้าไหม ผ้าแพร และทองรูปพรรณ อันเป็นสัญลักษณ์งานช่างศิลปกรรมเมืองศรีสัชนาลัย เป็นต้น ภายในบริเวณวัดจึงดูแคบไปถนัดตา ถ้าจะหันมองออกไปทางด้านนอก จะเห็นรถจอดกันเต็มไปหมดทุกที่ ทั้งรถใหญ่และรถเล็ก เจ้าหน้าที่ต้องทำงานกันหนักมาก

ส่วนพานผ้ากฐินในปีนี้ก็ได้ประดิษฐ์ให้สวยงาม เป็นพิเศษกว่าปีก่อน ๆ จึงมีคณะเจ้าภาพ ทยอยเข้าไปถวายกันเรื่อย ๆ แล้วก็ได้ออกมาสรงน้ำพระบรมธาตุที่จะบรรจุ พระภิกษุสงฆ์หลายองค์เช่น หลวงพี่โอ ท่านอาจินต์ ท่านสมศักดิ์ วัดทุ่งหลวง อาจารย์สิงห์ ท่านมหาปรีชา ท่านมหาธวัชชัย ท่านองอาจ และที่มาจาก วัดหนองโรง และอีกหลาย ๆ องค์ที่ไม่ ได้เอ่ยนามขออภัยด้วย ต่างก็ช่วยกันรับผ้ากฐิน เพื่อเจริญศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย

คณะเจ้าภาพจึงมีความปีติใจ ต่างก็ร่วมกันทำบุญสร้างวัดแห่งนี้ มีหลายคนต่างแปลกใจที่ได้เห็นวัดนี้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีอะไรเลย เวลาผ่านไปเพียงแค่ ๒ - ๓ ปีเท่านั้น จึงฉุกคิดว่าเรามาสร้างในดินแดนพระร่วงวาจาสิทธิ์นี่เอง คงจะต้องรวดเร็วเหมือนกับท่าน เพราะตามประวัติในสมัยพระร่วงนั้น ท่านสร้างบ้านสร้างเมืองเพียงแค่ ๔ เดือนเท่านั้น

โดยเฉพาะต้นมะขาม แค่ท่านโยนเมล็ดไปแค่นั้น พลันก็โตขึ้นมาในทันที นี่คงจะสำเร็จด้วยฤทธิ์ของท่าน จึงมีสมญานามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์” นั่นเอง พวกเราที่ได้มาร่วมกันสร้างไว้ ณ ที่แห่งนี้ คงจะเพียบพร้อมไปด้วยบุญฤทธิ์และอิทธิฤทธิ์เช่นกันนะ

เมื่อเจ้าภาพเข้าไปถวายผ้ากฐิน จนกระทั่งเวลาเพลก็ยังไม่เสร็จ จึงได้ยุติไว้ก่อน เพื่อจัดเตรียมถวายภัตตาหารเพลในศาลานี้ ซึ่งทาง คณะท่าชัย ได้จัดเตรียมอาหารไว้ในพานโตกเป็นชุด ๆ มีพระภิกษุสามเณรนั่งฉันเพลบนอาสนสงฆ์ และภายในเต้นท์ด้านหลังศาลา รวมแล้วประมาณ ๑๐๐ กว่ารูป

เวลาฉันอาหารในศาลาคงจะร้อนไปสักหน่อย ท่านอาจินต์ เลยบริจาคพัดลมเพดาน ๑๐ ตัว ขออนุโมทนาด้วย แต่ก็ยังไม่พอเพราะศาลากว้างใหญ่ เพิ่งจะสร้างให้ทันงานนี้ ถึงจะยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่ก็พอใช้เป็นที่ถวายกฐิน กลางคืนก็พอนอนกันได้ แล้วก็เป็นที่ทำบายศรีกันตลอดทั้งคืน

สำหรับงานบวงสรวงครั้งนี้ ถือว่าเป็น “งานมหกรรมบายศรี” กันจริง ๆ เพราะเป็นการรวมตัวของ “คณะศิษย์วัดท่าซุง” กันทั่วทุกทิศ ผู้ที่มีความสามารถในการทำบายศรี ต่างก็มาแสดงฝีมือกันอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ถ้าเราจะย้อนกลับไปเมื่อประมาณ ๒๐ - ๓๐ ปีก่อน จะมีคนทำบายศรีเป็นเพียงแค่ไม่กี่คน

คณะแรกที่ทำบายศรีให้หลวงพ่อก็มี คณะกองทุน หัวหน้าคณะคือ โยมชอ (คุณอันชัญ ศุทธรัตน์) ต่อมาก็ได้มอบหมายให้ โยมศุภาพร (คุณธรรมบดี) เป็นผู้จัดทำตลอดมา แล้วก็มีผู้สนใจมาเรียนทำบายศรีสืบต่ออีกหลายคณะ จนเป็นที่แพร่หลายในรูปแบบฉบับของ “บายศรีวัดท่าซุง” จนถึงปัจจุบันนี้

ในงานพิธีบวงสรวง ๘ ทิศ ผู้เขียนจึงได้ประสานงานกัน โดยเฉพาะก่อนงานนั้น คณะหมออู๊ด ถึงกับไปดูงานประกวดทำบายศรีทางภาคอีสานมาแล้ว ฉะนั้นภาคอีสานจึงมีลักษณะเป็นพญานาคเลื้อยพันบายศรีขึ้นไป และเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก ก่อนที่จะทำพิธีบายศรี ๘ ทิศ ในเวลาเย็นจะมีคนเห็นงูเลื้อยออกมาที่พระจุฬามณีด้วย

งานพิธีเหล่านี้ จึงถือว่าเป็นการรวมตัว เพื่อรักษาศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านทุกภาคของประเทศ ซึ่งจะหาโอกาสได้ชมกันแบบนี้ได้ยากมาก ภายในศาลาพระราชพรหมยานในคืนนั้น จึงมีแต่คนที่ช่วยกันทำบายศรีเต็มไปหมด บางคนทำของตนเสร็จแล้ว ยังได้เข้าไปช่วยคณะอื่นอีกด้วย

จนทำเสร็จทันในวันรุ่งขึ้น แล้วนำขึ้นไปวางไว้บนโต๊ะบายศรีรอบ ๆ พระจุฬามณีทันที ญาติโยมที่เดินทางมาแล้ว จึงมีโอกาสได้เดินชมบายศรีทั่วทุกภาคทั้ง ๘ ทิศของพระจุฬามณีนี้ ซึ่งต่างก็มีศิลปะในการจัดทำได้อย่างปราณีต จึงมีความสวยงาม ไปตามแต่ละภาค ที่ได้ร่วมกันคิดกันทำนั้น



พิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ครั้นถึงเวลาเช้าก็มีการทอดกฐิน และสรงน้ำพระธาตุ จนถึงเวลาฉันภัตตาหารเพล เสร็จแล้วท่านพระครูปลัดอนันต์ก็ขึ้นพักผ่อน เพื่อรอเวลาทำพิธีในภาคบ่าย ระหว่างนี้ก็มีคนเข้าไปถวายผ้ากฐินกันเรื่อย ๆ จนถึงเวลาอันสมควร ผู้จัดจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ที่สรงน้ำแล้วขึ้นไปบนลานพระอุโบสถ เพื่อทำพิธีบรรจุไว้ในยอดฉัตรต่อไป

โดยมี ท่านพระครูปลัดอนันต์ เป็นประธาน และ หลวงพี่โอ หลวงพ่อพระมหาอำนวย ท่านอาจินต์ ท่านวันชัย พร้อมเพื่อนพระภิกษุสามเณรที่มาร่วมพิธีอีกมากมาย ส่วนพระภิกษุที่ได้รับกิจนิมนต์สวดชยันโต อันมี ท่านมหาปรีชา และ ท่านองอาจ เป็นต้น ต่างก็ขึ้นนั่งบนอาสนสงฆ์เป็นที่เรียบร้อยภายในปะรำพิธี ซึ่งมียอดฉัตรทั้ง ๕ ยอด โดยเฉพาะ “ลูกแก้ว” ที่ปลียอดนั้นงดงามระยิบระยับวางอยู่ในพานทองบนโต๊ะหมู่บูชา

ส่วนทางด้านตรงข้ามก็มีปะรำพิธี พระเจดีย์องค์เล็ก ๆ ๒๔๕ องค์ วางเรียงรายอยู่เช่นกัน โดยมี “พญาหงส์” และ “พญานาค” ที่จะชักรอกอัญเชิญขึ้นสู่ยอดพระจุฬามณี พร้อมกับญาติโยมทั้งหลายก็นั่งอยู่ภายในเต้นท์โดยรอบ บ้างก็นั่งอยู่ข้างล่างอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ชาวบ้านถิ่นนี้ต่างก็มาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก

นับว่าใกล้จะถึงเวลาอันสำคัญแล้ว แต่ทว่ายังไม่ทันได้เริ่ม ปรากฏว่ามีโยมคนหนึ่ง นำสร้อยหรือแหวนจำไม่ได้แน่นอน เข้ามาถวายท่านพระครูปลัดอนันต์ เพื่อบรรจุเป็นพุทธบูชาไว้ในยอดฉัตร คราวนี้เองคนโน้นก็เข้ามาคนนี้ก็เข้ามา จนกระทั่งต้องยืนเข้าแถวรอคิวเต็มไปหมด ต่างเข้ามาถวายเครื่องประดับที่มีค่าของตนเอง ผลจากความศรัทธาที่บังเกิดขึ้นเองโดยฉับพลันในขณะนั้นเอง

ทั้งนี้ ไม่มีใครบังคับ..ไม่มีใครใช้ให้มา มันเกิดมีความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยที่เปี่ยมล้นอยู่ในจิตใจ โดยเฉพาะผอบพระบรมสารีริกธาตุที่เป็น ผอบทองคำประดับเพชร สวยสดงดงามวิจิตรตระการตา จึงได้ถอดบูชากันมากมาย แล้วช่วยกันบรรจุไว้ในยอดฉัตรจนเต็มล้นทั้ง ๕ ยอด

นับว่าทุกท่านได้เสียสละสิ่งของอันเป็นที่รักที่หวงแหน และมีค่ายิ่งไว้ ณ สถานที่นี้ เพื่อเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ทั้ง ๆ ที่ ภายใต้องค์พระพุทธรูปในพระจุฬามณี ก็ได้มีการบรรจุทรัพย์สินมีค่ายิ่งไว้มากมาย ตั้งแต่เริ่มวางศิลาฤกษ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ สถานที่แห่งนี้จึงมีเครื่องประดับที่ได้ถอดถวายบูชาไว้ นับตั้งแต่เบื้องล่างจนถึงยอดบนสุด

พระจุฬามณีแห่งนี้ จึงน่าจะเป็นสถานที่แห่งหนึ่ง ที่ได้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุมากที่สุดนับล้านองค์ พร้อมกับทรัพย์สินมีค่ามากมายที่ได้ถวายไว้ ทุกคนจึงมีความปลาบปลื้มใจ นั่งรออยู่ในปะรำพิธี จนกระทั่งผู้ที่เดินเข้ามาถวายเป็นคนสุดท้าย พิธีการที่สำคัญจะเริ่มขึ้น ณ บัดนี้แล้ว

ท่ามกลางอากาศที่ใสบริสุทธิ์ในยามบ่าย ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ ต่างก็พร้อมแล้ว ที่จะได้ทำพิธียกฉัตร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ที่รับผิดชอบการชักรอกพญาหงส์กับพญานาค ต่างก็ได้มาทดสอบกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งในเวลาตอนดึกและตอนเช้ามืด

เจ้าภาพทุกคณะต่างก็เตรียมพร้อม นั่งอมยิ้มอยู่ภายในปะรำพิธี แต่ที่ยิ้มไม่ค่อยออกก็คือ เจ้าหน้าที่คนที่จะต้องปีนขึ้นไปบนนั่งร้านยอดพระจุฬามณีนี่สิ พวกเรานั่งแหงนดูยังรู้สึกเสียว ๆ แทนเพราะสูงเหมือนกัน แต่ทุกคนก็เต็มใจช่วยกันอย่างเต็มที่ โดยไม่เห็นแก่ความยากลำบาก เมื่อทุกฝ่ายพร้อมกันแล้ว ผู้เขียนจึงได้กล่าวถวายรายงานท่านประธานว่า

“...กราบนมัสการท่านพระเถรานุเถระทั้งหลาย อันมี ท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เป็นประธาน กระผมขอกราบเรียนรายงานผลการดำเนินงาน ณ สถานที่แห่งนี้ ซึ่งจะ ขอสรุปแต่เพียงโดยย่อว่า

เดิมทีสถานที่แห่งนี้เป็นที่พักอาศัยของ ท่านวันชัย ซึ่งอยู่แบบง่าย ๆ มาสิบกว่าปี ไฟฟ้าก็ไม่มี เพราะอยู่ห่างไกลหมู่บ้าน ต่อมาหลังจากทำ งานพิธีฉลองชัย ที่สุโขทัยเมื่อปี ๒๕๔๑ ลูกศิษย์หลวงพ่อที่อยู่แถวนี้เริ่มรู้จักกัน จึงได้เข้ามารวมตัวปฏิบัติธรรมกันเรื่อย ๆ

ในตอนนั้น อ.สันต์ ภู่กร ขณะยังมีชีวิตอยู่ จึงได้ชักชวนคณะศิษย์ของพระเดชพระคุณ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน จ.พิษณุโลก และคณะศิษย์บ้านท่าชัย ช่วยกันสร้างศาลาปฏิบัติธรรมหลังหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นหนี้อยู่ ฉะนั้นผมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมาช่วยงานด้านนี้ เมื่อปี ๒๕๔๒ เป็นต้นมา

ครั้นเมื่อได้ชำระหนี้หมดแล้ว คนเริ่มมาปฏิบัติธรรมกันมากยิ่งขึ้น จากอำเภอต่าง ๆ ใน จังหวัดสุโขทัย โดยเฉพาะจากสวรรคโลก และศรีสำโรงมากันเป็นประจำ จึงได้เริ่มสร้างพระจุฬามณีและมณฑป พระร่วงโรจนฤทธิ์ กับ พระนางวิสุทธิเทวี เพื่อเป็นการรำลึกถึงท่าน สมัยที่เป็น พระเจ้าพรหมมหาราช กับ พระนางปทุมเทวี ซึ่งพวกเราอาจจะเคยเกิดร่วมสมัยกับท่าน ทั้งสองครั้งก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มารวมตัวกันในครั้งนี้ เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานไว้เป็นที่เคารพกราบไหว้บูชา โดยเริ่มงานเมื่อปี ๒๕๔๓ เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปี ๒๕๔๔ คือเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่สร้างใกล้จะเสร็จ กรมศาสนาก็ได้อนุมัติให้เป็นวัด จึงเริ่มสร้างศาลาพระราชพรหมยานต่อทันที โดยมีพระอุโบสถอยู่ชั้นบน งบประมาณ ๙ ล้านบาท จากจุดเดิมที่สร้างศาลาหลังคามุงแฝก ซึ่งใช้รับกฐินเป็นปีแรกและปีที่สอง

การก่อสร้างได้ดำเนินงานมาตลอด ๓- ๔ ปี ใช้จ่ายไปแล้วเกือบ ๑๑ ล้านบาท ซึ่งกำลังจะหมดงบพอดี คิดว่าเงินกฐินปีนี้คงจะมีพอสร้างพระอุโบสถ หากไม่พอจะต้องเป็นหนี้ต่อไป จนกว่าจะชำระหนี้หมดใน งานฝังลูกนิมิต เวลานี้ทางสำนักจึงมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ มีทั้งไฟฟ้า น้ำประปาพร้อม สมกับเป็นเมืองของ พระร่วงวาจาสิทธิ์ ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในเขตของ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเขารังแร้ง

ในตอนนี้ก็ได้หล่อองค์พระประธานในพระอุโบสถเสร็จแล้ว พร้อมทั้งพระปัจเจกพุทธ เจ้า หลวงปู่ปาน หลวงพ่อ และท้าวมหาราชทั้งสี่ เพื่อประดิษฐานในมณฑปทั้งสี่ทิศของพระอุโบสถ ทั้งหมดสร้างเป็นลักษณะประทับยืน ตามความนิยมของคนสมัยนั้น

ที่มักจะสร้างพระพุทธรูปยืนในลักษณะต่าง ๆ เช่น ปางลีลา เป็นต้น ตามที่สร้างไว้ ณ พุทธมณฑล เพราะคำว่า “ลีลา” ก็หมายถึงเสด็จพระดำเนิน เป็นความหมายว่า คนสุโขทัยสมัยนั้น ประสงค์จะดำเนินรอยตามพระศาสดา และพร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า เพื่อนำพาให้ชาติเจริญ

บัดนี้ นับเป็นอุดมมงคลที่คณะศิษย์ของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อมาพร้อมกัน ณ ที่นี้แล้ว ซึ่งมีครบทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ จึงขอกราบอาราธนา ท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธ ญาโณ ได้เป็นประธานในการอัญเชิญยอดฉัตร ขึ้นประดิษฐานบนพระจุฬามณี และทำพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถเป็นลำดับไป

ต่อจากนั้นเจ้าภาพกฐินทุกคณะ จะได้อัญเชิญพระเจดีย์องค์เล็ก จำนวน ๒๔๕ องค์ ขึ้นประดิษฐานบนระเบียงรอบพระจุฬามณี โดยมี คณะกองทุน และ คณะพิษณุโลก เป็นผู้อัญเชิญขึ้นนำไปก่อน

หลังจากนั้นก็จะได้ทำพิธีเปิด พระบรมราชานุสาวรีย์พระร่วงเจ้ากับพระแม่เจ้า โดยท่าน ประธานมูลนิธิหลวงพ่อปานและหลวงพ่อ คือ นาวาตรีประชา สิกวานิช พร้อมกับประธานศูนย์สงเคราะห์ คือ คุณเดือนฉาย คอมันตร์ รวมทั้งท่านเจ้าภาพทั้งหลายที่มาร่วมงาน โดยเฉพาะฝ่ายจัดเลี้ยงอาหารทุกปี คือ คณะสัมมาปฏิบัติ กับ คณะท่าชัย และที่ช่วยพิมพ์ซองกฐินให้ทั้งสามปี คือ คุณเกวลิน ชำนาญช่าง จากพิษณุโลก

ส่วน เฮียฮงกับภรรยา และ เจ๊จรรยา ก็ช่วยทำแผ่นทองให้ทั้ง ๒ ปี และในปีนี้มีการ ประดับด้วยกระเบื้องโมเสคสีมุก โดย คุณพิชิต ไม้พุ่ม พร้อมเจ้าหน้าที่ โรงงานเซรามิคคอตโต สระบุรี เป็นผู้คิดค้นทำเป็นครั้งแรก แล้วยังได้บริจาคกระเบื้องปูพื้นศาลาให้ด้วย อันมี คุณบรรจง สุกใส เป็นผู้ประสานงาน มีมูลค่านับล้านบาทเศษ และคุณสัมพันธ์ กันฟัก จากพิษณุโลก เป็นผู้ทำฉัตรพระจุฬามณีและอื่น ๆ อีกด้วย

แล้วก็ยังมีผู้อุปถัมภ์ และที่ช่วยเหลืองานอีกมากมาย โดยเฉพาะผู้ที่รับเป็นเจ้าภาพตลอด ๓ ปี ๒๐๐ กว่ากองทั่วทุกภาคของประเทศ และในปีนี้แถมยังมีการจองเสาพระอุโบสถอีกด้วย เริ่มต้นจาก คณะคุณสมพงษ์ สัจพจน์ ซึ่งน้องสาวคือ คุณสุนทรี บอกว่าปีนี้ถูกลอตเตอรี่เลขท้ายสองตัว ๑๐๐ กว่าใบ เลยขอจองเป็นเจ้าภาพทอดกฐินปี ๒๕๔๖ ต่อไปอีก ก็ดีเหมือนกันเพราะปีต่อไปคงไม่มีซองกฐินแจกอีกแล้ว

ความสำเร็จของงานแต่ละครั้ง ก็เนื่องมาจากบรรดาญาติโยม ที่เป็นลูกหลานของหลวงพ่อ ทั้งหลาย รวมทั้งพระภิกษุสามเณรทุกรูป ที่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นพระอาวุโสและมีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสก็หลายรูป จึงคิดว่าผลบุญจากความดีที่ได้กระทำร่วมกัน อันเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์สุขต่อตนเองและผู้อื่น ด้วยความรักความสามัคคีนั้น ถือเป็นการวางรากฐานพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองในที่นี้ หลังจากที่ได้ทรุดโทรมไปนานนับพันปี

บัดนี้ ก็ได้กลับมาเจริญในสมัยรัตนโกสินทร์ พระประธานในพระอุโบสถ จึงมีพระพักตร์แบบสุโขทัย และมีทรงเครื่องแบบรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นความหมายว่า พวกเราได้มาเกิดร่วมสมัยกัน คือระหว่างกรุงสุโขทัยกับกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วร่วมกันสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ไว้เป็นอนุสรณ์ ซึ่งจะปิดทองประดับเพชรอย่างสวยงาม หลังจากที่อัญเชิญขึ้นไปไว้ในพระอุโบสถแล้ว

ส่วนหลังคาพระอุโบสถ คงจะเหมือนกับพระจุฬามณีและมณฑปพระร่วงเจ้า การที่ใช้สีขาวนี้ก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงสมัย พระพุทธโฆษาจารย์ สร้างวัดเขารังแร้ง เมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ที่ท่านมุงหลังคากุฏิวิหารด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว ด้วยกรรมวิธีสมัยนั้น ตามที่พระร่วงได้นำช่างมาจากประเทศจีน ที่เรียกกันว่า “สังคโลก” นั่นเอง

ฉะนั้น การที่ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างเป็นวัด แต่ต้องกลับมาทำให้เป็นวัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ คิดว่าท่านเจ้าของและผู้อารักขาวัดเดิม คงปรารถนาจะให้สร้าง พวกเราจึงได้ร่วมบุญกุศลกันครบถ้วน คือมีอานิสงส์สร้างวัดทั้งวัดกันเลย

สุดท้ายนี้ กระผมในนามคณะเจ้าภาพจัดงาน อันมี ท่านวันชัย เป็นต้น พร้อมด้วย คณะศิษย์ท่าชัย และอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสุโขทัย คณะสัมมาปฏิบัติ พิษณุโลก และตลอดถึงคณะศิษย์ที่เดินทางมาทุกภาคของประเทศ ขอกราบขอบพระคุณ ท่านพระครูปลัดอนันต์ ที่ได้เมตตามาอนุเคราะห์ในครั้งนี้ด้วยเป็นอย่างสูง

ต่อไปนี้ ก่อนที่จะถึงพิธีต่าง ๆ เหล่านี้ ทายกจะได้เรียนเชิญประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ในการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยและสมาทานศีล เพื่อจะได้เริ่มกระทำพิธีอันเป็นมหามงคลสืบต่อไป...”

นี่ก็เป็นคำกล่าวถวายรายงาน จากนั้นในเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. คุณอันชัญ ศุทธรัตน์ จึงเป็นตัวแทนคณะศิษย์ จุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชาแล้ว คุณทนงฤทธิ์ จึงได้นำกราบพระและรับศีล จนเสร็จพิธีเบื้องต้น แล้วประธานในพิธีจึงเดินไปที่ลานข้างหน้า เพื่อเตรียมทำพิธียกฉัตร โดยมีพระภิกษุติดตามไปด้วยอีก ๒ - ๓ รูป

แต่ก่อนที่จะทำพิธี ท่านพระครูปลัดอนันต์ ได้เจิมที่ แผ่นศิลาฤกษ์ สร้างพระอุโบสถก่อน พร้อมทั้ง หลวงพี่โอ และ ท่านอาจินต์ จากนั้น คุณละไม คุณซ้ง และ คุณเหรียง ซึ่งเป็นผู้ถือพานยอดฉัตรทั้ง ๕ ยอด ก็ได้ส่งมอบให้ พระวันชัย และช่างผู้ควบคุมเครื่องชักรอก

ครั้นเตรียมการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทุกคนต่างก็แหงนมองขึ้นไปบนพระจุฬามณี พร้อมทั้งพนมมือไปด้วย เมื่อได้ยินเสียงวิทยุแจ้งมาจากข้างบนว่าพร้อมแล้ว จึงได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์แล้ว พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ ประธานในพิธีขณะที่ยืนพนมมือ พร้อมทั้งพระภิกษุสามเณรและญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย จึงได้อัญเชิญยอดฉัตรขึ้นไปบนพระจุฬามณีทันที

โดยมีพระสงฆ์ที่อยู่ในปะรำพิธี เจริญชัยมงคลคาถา เสียงปี่พาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ มหาชัย พร้อมกับเสียงฆ้องและกลองดังระรัวไปทั่วบริเวณนั้น อีกทั้งเสียงพลุก็ดังลั่นขึ้นสู่ท้อง ฟ้า เป็นการบอกเหตุแห่งกาลเวลาที่เป็นมหากุศล ทุกคนต่างมีความปีติยินดี มีหลายคนกลับมาเล่าให้ฟังภายหลังว่า ขณะนั้นน้ำตามันไหลรินออกมาเองด้วยความปลื้มใจ

ทั้งนี้ เพราะอะไร..เพราะพญาหงส์ทอง ได้บินล่องขึ้นสู่ท้องฟ้า มีหลายคนแปลกใจบอกว่าไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ที่ปีกทั้งสองของพญาหงส์ทองขยับบินได้ โดยการบินขึ้นไปช้า ๆ ท่าม กลางนภากาศที่แจ่มใส พญาหงส์ทองที่สวยงามระยิบระยับเมื่อต้องกับแสงพระอาทิตย์ พร้อมกับพญานาคราชทั้งสองก็ได้เป็นยานพาหนะ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระเจดีย์สีเงิน ทยอยขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยเริ่มจากคณะศิษย์อาวุโสก่อน คือ คณะกองทุน และ คณะสัมมาปฏิบัติ

แล้วคณะเจ้าภาพทั้งหมด ต่างก็ช่วยกันชักรอกพระเจดีย์องค์เล็กของตนขึ้นไปเรื่อย ๆ หลังจากอัญเชิญยอดฉัตรขึ้นไปครบ ๕ ยอดแล้ว ในขณะนั้น ท่านพระครูปลัดอนันต์ พร้อมกับพระสงฆ์ ๓ - ๔ รูป คือ หลวงพี่โอ ผู้เขียน ท่านอาจินต์ และท่านวันชัย เป็นต้น จึงได้ลงไปในหลุมกลางพระอุโบสถ เพื่อทำพิธีวางศิลาฤกษ์ต่อไป โดยที่ผู้เขียนได้อ่านคำที่จารึกไว้ในแผ่นศิลานี้ก่อนว่า

“...วัดนี้มีชื่อว่า วัดพระร่วงผดุงธรรม ข้าพเจ้าทั้งหลายในนามคณะศิษย์พระราชพรหม ยานมหาเถระ (พระมหาวีระ ถาวโร) วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี นำโดย พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ, พระครูสมุห์พิชิต ฐิตวีโร, พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต, พระอาจารย์อาจินต์ ธมฺมจิตฺโต, พระธรรมธรวันชัย ฐานวโร

ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดพระร่วงผดุงธรรม แห่งนี้ไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการสืบต่ออายุพระศาสนา เพื่อประโยชน์สุขต่อมหาชน ทั้งหลาย และเพื่อมรรคผลนิพพานของข้าพเจ้าทั้งหลาย ผู้ได้ร่วมสร้างในชาติปัจจุบันนี้เทอญ วันอังคารที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแม”

เมื่อได้กล่าวถ้อยคำดังนี้แล้ว ประธานพร้อมกับพระสงฆ์จึงได้ช่วยกันตอกไม้มงคลทั้ง ๙ แล้วก็แผ่นวางศิลาฤกษ์หรือศิลาจารึกทันที แล้วท่านพระครูปลัดอนันต์ก็เข้ามานั่งในปะรำพิธี ได้ชักชวนญาติโยมร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างพระอุโบสถ มีหลายท่านที่รับจองเป็นเจ้าภาพช่อฟ้า หน้าต่าง ซุ้มประตู เสาโบสถ์ จนครบถ้วน บางคนมาไม่ทันก็ขอจองกระเบื้องหลังคา บ้างก็ขอเป็น เจ้าภาพสร้างทั้งหลังไปเลย

งานพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์

เมื่อตอนที่แล้วได้เล่าเรื่องงานพิธีทอดกฐิน และงานพิธีอัญเชิญยอดฉัตรขึ้นสู่พระจุฬามณี ซึ่งมีผู้มาร่วมงานหลายพันคน ต่างก็เฝ้ามองดูพญาหงส์ทองโผผินบินขึ้นสู่พระจุฬามณีด้วยความประทับใจ แล้วได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างพระอุโบสถ

โดยประธานในพิธีคือ ท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ หลังจากนั้นท่านเจ้าอาวาสวัดท่าซุงได้กลับมานั่งในปะรำพิธีตามเดิม แล้วได้ชักชวนให้ญาติโยมทั้งหลายเป็นเจ้าภาพสร้างพระอุโบสถกัน ต่างรับจองเป็นเจ้าภาพเสา, ประตู, หน้าต่าง, และลูกนิมิตกันมากมาย

ทั้งนี้เนื่องมาจาก คุณโยมชอ (อันชัญ) พร้อม คณะกองทุน ได้เข้ามาถวายปัจจัยเป็นค่า ลูกนิมิตหลุมกลาง และยังมี คณะคุณสมพงษ์ สัจพจน์ ก็ได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างเสาโบสถ์มาก่อนเหมือนกัน

ซึ่งเรื่องสร้างลูกนิมิตนี้ มีเรื่องเล่าในภายหลังว่า มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งมาจากประเทศ บาห์เรน ชื่อ โยมกุหลาบ ได้มาร่วมงานพิธีนี้ด้วย ก่อนที่จะเริ่มทำบุญลูกนิมิตนี้ ได้มองเห็นก้อน เมฆบนท้องฟ้าเป็นก้อนกลม ๆ นับได้ ๙ ก้อน จึงรู้สึกแปลกใจแต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด

เมื่อมาเล่าให้ผู้เขียนฟัง จึงได้บอกว่าก้อนเมฆ ๙ ก้อน ซึ่งตรงกับจำนวนลูกนิมิตรอบพระอุโบสถทั้ง ๘ ทิศพอดี รวมทั้งหลุมกลางอีกเป็น ๙ เรื่องนี้คงเป็นนิมิตหมายบอกเหตุเอาไว้ก่อน เพราะตอนหลังก็มีคนทำบุญลูกนิมิต จริง ๆ จนครบทั้ง ๙ ลูก แล้วคนที่ไม่ได้ก็ต้องหาสิ่งอื่นต่อไป จึงเริ่มไปถึงช่อฟ้า, หน้าต่าง, ประตู

ครั้นทำพิธีวางศิลาฤกษ์เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จึงยกพื้นซีเมนต์สำเร็จรูปปิดหลุมทันที เพื่อว่าในเวลากลางคืนจะได้เป็นพื้นจัดการแสดงหน้าเวทีกันได้ ส่วนเจ้าภาพพระเจดีย์องค์เล็กทั้ง ๒๔๕ องค์ ก็ยังอัญเชิญขึ้นไปไม่หมด ผู้เขียนเห็นว่าเวลาจะไม่พอ จึงได้อาราธนา ท่านพระครูปลัดอนันต์ พร้อมพระสงฆ์ทั้งหลาย ลงไปร่วมพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระร่วงเจ้า กับ พระแม่เจ้า ที่อยู่ด้านล่าง

ในตอนนี้ ข้างบนลานพระอุโบสถ ก็ยังมีการชักรอกพญานาคอัญเชิญพระเจดีย์ขึ้นไป ส่วนที่เสร็จแล้วต่างทยอยเดินลงมาที่ข้างล่างด้านหน้าพระมณฑป โดยมี น.ต.ประชา สิกวานิช และ คุณเดือนฉาย คอมันตร์ เป็นประธาน ในการเปิดผ้าแพรสีชมพูที่มณฑปทั้งสอง

ถ้าจะแหงนหน้ามองขึ้นไปบนพระจุฬามณี คิดว่าอีกไม่นานคงจะรื้อไม้นั่งร้าน พวกเราคงจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนและสวยงามกว่านี้แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เวลาอันเป็นอุดมมงคลก็มาถึงอีกแล้ว หลังจากทำพิธียกยอดฉัตร และอัญเชิญพระเจดีย์องค์เล็กขึ้นไปบนพระจุฬามณี ในตอนนี้พวกเราที่มาร่วมพิธีกัน นับเป็นจำนวนพันคน

ก็จะได้ทำพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระร่วงโรจนฤทธิ์ และ พระนางวิสุทธิทวีอัครมเหสี พร้อมทั้งประธานในพิธีฝ่ายฆราวาสทั้งสองท่าน จะได้อัญเชิญ พระคฑา และ พระสังข์ ขึ้นไปประดิษฐานไว้ในพระหัตถ์ของท่านทั้งสองอีกด้วย

เมื่อประธานทั้งสองท่านพร้อมแล้ว จึงได้เริ่มพิธีกดปุ่มเปิดผ้าแพรออกพร้อมกัน ทุกคนจ้องมองไปที่พระร่วงและพระมเหสี ที่ประดิษฐานอยู่ภายในได้อย่างชัดเจน หลังจากที่ถูกปิดบังไว้ด้วยผ้าแพรสีชมพูมานาน ปรากฏว่าแสงสีทองสะท้อนตัดกับแสงเพชรพลอยที่ระยิบระยับจับตา ทุกคนบอกว่าสวยงามอร่ามตาเหลือเกิน

พร้อมกันนั้น คุณโยมประชา ก็ได้อัญเชิญ พระคฑา ขึ้นไปประดิษฐานในพระหัตถ์ของพระร่วงเจ้า ส่วน คุณโยมเดือนฉาย ก็เช่นกัน ได้อัญเชิญ พระสังข์ เข้าไปประดิษฐานไว้ ในพระหัตถ์ของพระแม่เจ้า

เพื่อให้ลูกหลานทั้งหลายได้กราบไหว้บูชา ในขณะที่น้อมศีรษะเพื่อให้ท่านพ่อและท่านแม่ได้โปรดประทานพร ด้วยพระคฑาและพระสังข์ที่อยู่ในพระหัตถ์ เหมือนกับจะทรงแตะด้วย พระคฑา และหลั่งน้ำจาก พระสังข์ เพื่ออำนวยอวยพรให้พบกับหนทางที่ดี และความสำเร็จสมความปรารถนาตามที่ ได้เข้ามากราบไหว้อธิษฐานกัน

ต่อจากนั้น คุณพลอย กับ คุณปุ๋ย ซึ่งอยู่ในชุดไทยเช่นกัน ก็ได้ถือพานเครื่องสักการะเข้าไปมอบให้ เพื่อประธานฝ่ายสุภาพบุรุษ และประธานฝ่ายสุภาพสตรี ได้เป็นตัวแทนเข้าไปถวายแด่พระบรมรูปทั้งสองพระองค์ แต่ก่อนที่จะเริ่มพิธีนี้ ผู้เขียนได้เชิญ คุณแสงเดือน พร้อมพันธุ์ ออกมากล่าว “คำฉันท์” เทิดพระเกียรติแด่พระร่วงเจ้าและพระมเหสีก่อน โดยขอให้ทุกคนลุกขึ้นยืนเพื่อถวายความเคารพ.

« l 1 l 2 | | 3 | 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l »