ตามรอยพระพุทธบาท

การ์ตูน..พระเจ้าสิบชาติ (ทศชาติชาดก)
webmaster - 14/4/08 at 22:56

การ์ตูน พระมหาชนก (ความยาว 1.07 นาที) ทศชาติชาดก ทางช่อง 9





ตอนที่ ๑. พระเตมีย์ ผู้บำเพ็ญ เนกขัมมบารมี



เมื่อครั้น เตมียราชกุมาร เกรงการที่จะได้ครองราชสมบัติ เพราะทรงสลดพระหฤทัย ที่เห็นราชบุรษลงโทษโจร ตามพระราชดำรัสของพระราชา เช่น เฆี่ยนพันครั้งบ้าง เอาหอกแทงบ้าง เอาหลาวเสียบบ้าง จึงใช้วิธีแสร้งทำเป็นง่อยเปลี้ย หูหนวก เป็นใบ้ไม่พูดจากับใคร แม้จะถูกทดลองต่าง ๆ ก็อดกลั้นไว้ ไม่ยอมแสดงอาการพิรุธให้ปรากฏ ทั้งนี้เพื่อจะเลี่ยงการครองราชสมบัติ พระราชาปรึกษาพวกพรากมณ์ ก็ได้รับคำแนะนำใหนำราชกุมารไปฝังเสีย.

พระราชมารดาทรงคัดค้านไม่สำเร็จ ก็ทูลขอให้พระราชกุมาร ครองราชสัก ๗ วัน แต่พระราชกุมารก็ไม่ยอมพูด ต่อเมื่อ ๗ วันแล้ว สารถีนำราชกุมารขึ้นสู่รถ เพื่อจะฝังตามรับสั่งพระราชา ขณะที่ขุดหลุ่มอยู่ พระราชกุมารก็เสด็จลงจากรถ ตรัสปราศัยกับนายสารถี แจ้งความจริงให้ทราบว่า มีพระประสงค์จะออกบวช สารถีเลื่อมใสในคำสอน ขอออกบวชด้วย จึงตรัสให้นำรถ กลับไปคืนก่อน สารถีนำความไปเล่าถวายพระราชมารดา พระราชบิดาให้ทรงทราบ

ทั้งสองพระองค์ พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพาร จึงได้เสด็จออกไปหา เชิญให้พระราชกุมาร เสด็จกลับไปครองราชสมบัติ แต่พระราชกุมารกลับถวายหลักธรรม ให้ยินดีใน เนกขัมมะ คือการออกจากกาม พระชนกชนนีพร้อมด้วยบริวาร ทรงเลื่อมใสในคำสอน ก็เสด็จออกผนวชและบวชตาม. และได้มีพระราชาอื่นอีกเป็นอันมาก สดับพระราชโอวาทขอออกผนวชตาม



ตอนที่ ๒. พระมหาชนก



เรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญวิริยบารมี คือความพากเพียร ใจความสำคัญ คือพระมหาชนกราชกุมาร เดินทางไปทางทะเล เรือแตก คนทั้งหลายจมน้ำตายบ้าง เป็นเหยี่อของสัตว์น้ำบ้าง แต่ไม่ทรงละความอุตสาหะ ทรงว่ายน้ำ โดยกำหนดทิศทางแห่งกรุงมิถิลา ในที่สุดก็ได้รอดชีวิตกลับไป ถึงกรุงมิถิลาได้ครองราชสมบัติ. ชาดกเรื่องนี้เป็นที่มาแห่งภาษิตที่ว่า เป็นชายควรเพียรร่ำไป อย่างเบื่อหน่าย ( ความเพียร ) เสีย, เราเห็นตัวเองเป็นได้อย่างที่ปรารถนา, ขึ้นจากน้ำมาสู่บกได้.



ตอนที่ ๓ พระสุวรรณสาม



เรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญเมตตาบารมี คือการแผ่ไมตรีจิต คิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า มีเรื่องเล่าว่า สุวรรณสามเลี้ยงมารดาบิดาของตน ซึ่งเสียจักษุในป่า และเนื่องจากเป็นผู้มีเมตตาปรารถนาดี ต่อผู้อื่น หมู่เนื้อก็เดินตาม แวดล้อมไปในที่ต่าง ๆ วันหนึ่ง ถูกพระเจ้ากรุงพาราณสี ชื่อ ปิลยักษ์ ยิงเอาด้วยธนู ด้วยเข้าพระทัยผิด ภายหลังเมื่อทราบว่าเป็น มาณพผู้เลี้ยงมารดาบิดา ก็สลดพระทัย จึงไปจูงมารดาบิดาของสุวรรณสามมา

มารดาบิดาของสุวรรณสาม ก็ตั้งสัจจกิริยา อ้างคุณความดีของสุวรรณสาม ขอให้พิษของศรหมดไป สุวรรณสามก็ฟื้นคืนสติ และได้สอนพระราชา แสดงคติธรรมว่า ผู้ใดเลี้ยงมารดาบิดา โดยธรรม แม้เทวดาก็ย่อมรักษาผู้นั้น ย่อมมีคนสรรเสริญในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้วก็บันเทิงในสวรรค์ ต่อจากนั้น เมื่อพระราชาให้สั่งสอนต่อไปอีก ก็สอนให้ทรงปฏิบัติ ธรรมปฏิบัติชอบในบุคคลทั้งปวง



ตอนที่ ๔ พระเนมิราช



เรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญอธิษฐานบารมี คือความตั้งมั่นคง. มีเรื่องเล่าว่า เนมิราชกุมารได้ครองราชสืบสันตติวงศ์ ต่อจากพระราชบิดา ทรงบำเพ็ญคุณงามความดี เป็นที่รักของมหาชน และในที่สุด เมื่อทรงพระชรา ก็ทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส เสด็จออกผนวช เช่นเดียวกับที่พระราชบิดาของพระองค์ เคยทรงบำเพ็ญมา



ตอนที่ ๕ พระมโหสถ



เรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญปัญญาบารมี คือความทั่วถึงสิ่งที่ควรรู้. มีเรื่องเล่าว่า มโหสถบัณฑิต เป็นที่ปรึกษาหนุ่มของพระเจ้าวิเทหะ แห่งกรุงมิถิลา ท่านมีความฉลาดรู้ สามารถแนะนำในปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องรอบคอบ เอาชนะที่ปรึกษาอื่น ๆ ที่ริษยาใส่ความ ด้วยความดีไม่พยาบาทอาฆาต ครั้งหลังใช้อุบายป้องกันพระราชาจากราชศัตรู และจับราชศัตรูซึ่งเป็นกษัตริย์พระนครอื่นได้



ตอนที่ ๖ พระภูริทัต



เรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญบำเพ็ญศีลบารมี คือการรักษาศีล. มีเรื่องเล่าว่า ภูริฑัตตนาคราช ไปจำศีลอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา. ยอมอดทน ให้หมองูจับไปทรมารต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่สามารถจะทำลายหมองู ได้ด้วยฤทธิ์ มีใจมั่นต่อศีลของตน ในที่สุด ก็ได้อิสรภาพ.



ตอนที่ ๗ พระจันทกุมาร



เรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญขันติบารมี คือความอดทน มีเรื่องเล่าว่า จันทกุมารเป็นโอรส ของพระเจ้าเอกราช เคยช่วยประชาชน ให้พ้นจากคดี ซึ่งกัณฑหาลพราหมณ์ ราชปุโรหิตาจารย์ รับสินบนตัดสินไม่เป็นธรรม ประชาชนก็พากันเลื่อมใส เปล่งสาธุการ ทำให้กัณฑหาลพราหมณ์ ผูกอาฆาตในพระราชกุมาร เมื่อพระเจ้าเอกราชทรงราชสุบิน เห็นดาวดึงสเทวโลก เมื่อตื่นจากบรรทม ทรงใคร่จะทราบทางไปสู่เทวโลก ตรัสถาม กัณฑหาลพราหมณ์ จึงเป็นโอกาสให้พราหมณ์ แก้แค้นด้วยการกราบทูล แนะนำให้ตัดพระเศียร พระโอรส ธิดา เป็นต้นบูชายัญ.

พระเจ้าเอกราชเป็นคนเขลา ก็สั่งจับพระราชโอรส ๔ พระองค์ พระราชธิดา ๔ พระองค์ ไปที่พระลานหลวง เพื่อเตรียมประหารบูชายัญ นอกจากนั้นยังสั่งจับพระมเหสี ๔ พระองค์ และคนอื่น ๆ อีก เพื่อเตรียมการประหารเช่นกัน แม้ใครจะทัดทาน ขอร้องก็ไม่เป็นผล. ร้อนถึง ท้าวสักกะ ( พระอินทร์ ) ต้องมาข่มขู่และชี้แจงให้หายเข้าในผิดว่า วิธีนี้ไม่ใช่ทางไปสวรรค์ . มหาชนจึงรุมฆ่าพราหมณ์ปุโรหิตนั้น และ เนรเทศพระเจ้าเอกราช แล้วกราบทูลเชิญจันทกุมาร ขึ้นครองราชย์.



ตอนที่ ๘ พระนารทพรหม



เรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือการวางเฉย. มีเรื่องเล่าว่า พรหมนารทะ ช่วยเปลื้องพระเจ้าอังคติราชให้กลับจากความเห็นผิด มามีความเห็นชอบตามเดิม ( ความเห็นผิดนั้น เป็นไปในทางว่าสุขทุกข์เกิดเองไม่มีเหตุ คนเราเวียนว่ายตายเกิด หนักเข้าก็บริสุทธิ์ได้เอง ซึ่งเรียกว่าสังสารสุทธิ)



ตอนที่ ๙ พระวิฑูรบัณฑิต



เรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญสัจจบารมี คือความสัตย์. มีเรื่องเล่าว่า ถึงวิฑูรบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้ถวายคำแนะนำ ประจำราชสำนัก พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ เป็นผู้ที่พระราชา และประชาชนรักใคร่ เคารพนับถือมาก ครั้งหนึ่ง ปุณณกยักษ์มาท้าพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ เล่นสกา ถ้าตนแพ้ จักถวายมณีรัตนะอันวิเศษ ถ้าพระราชาแพ้ ก็จะพระราชทานทุกสิ่ง ที่ต้องการ เว้นแต่พระกายของพระองค์ ราชสมบัติ และพระมเหสี

ในที่สุดพระราชาแพ้ ปุณณกยักษ์จึงทูลขอตัววิฑูรบัณฑิต พระราชาจะไม่พระราชทาน ก็เกรงเสียสัตย์ พระองค์ตีราคาวิฑูรบัณฑิต ยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ทรงหน่วงเหนี่ยวด้วยประการต่าง ๆ แต่ก็ตกลงกันไป ไต่ถามให้วิฑูรบัณฑิตตัดสิน วิฑูรบัณฑิตก็ตัดสินให้รักษาสัตย์ คือตนเองยอมไปกับยักษ์ ความจริงยักษ์ต้องการเพียงเพื่อจะนำหัวใจของวิฑูรบัณฑิต ไปแลกกับธิดาพญานาค ซึ่งความจริงเป็นอุบาย ของภริยาพญานาคผู้ใคร่จะได้สดับธรรม ของวิฑูรบัณฑิต จึงตกลงกับสามีว่า ถ้าปุณณกยักษ์ต้องการธิดาของตน ก็ขอให้นำหัวใจ ของวิฑูรบัณฑิตมา.

แม้ยักษ์จะหาวิธีทำให้ตาย ก็ไม่ตาย วิฑูรบัณฑิตกลับแสดง สาธุนรธรรม ( ธรรมของคนดี ) ให้ยักษ์เลื่อมใส และ ได้แสดงธรรมแก่พญานาค ในที่สุดก็ได้กลับสู่กรุงอินทปัตถ์ มีการฉลองรับขวัญกัน เป็นการใหญ่.



ตอนที่ ๑๐ พระเวสสันดร




เรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญทานบารมี คือบริจากทาน มีเรื่องเล่าถึง พระเวสสันดรผู้ใจดีบริจากทุกอย่าง ที่มีคนขอ ครั้งหนึ่งประทานช้างเผือกคู่บ้านคู่เมือง แก่พราหมณ์ชาวกาลิงคะ ซึ่งมาขอช้างไปเพื่อให้หายฝนแล้ง แต่ประชาชนโกรธ ขอให้เนรเทศ พระราชบิดาจึงจำพระทัยเนรเทศ ซึ่งพระนางมัทรี พร้อมด้วยโอรส ธิดา ได้ตามเสด็จไปด้วย

เมื่อชูชกไปขอสองกุมาร ก็ประทานอีก ภายหลังพระเจ้าสญชัย พระราชบิดาทรงไถ่สองกุมาร แล้วเสด็จไปรับกลับกรุง ( เรื่องนี้แสดงการเสียสละส่วนน้อย เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ คือการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อันจะเป็นทาง ให้ได้บำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวม ได้ดียิ่ง มิใช่ เสียสละโดยไม่มีจุดมุ่งหมายหรือเหตุผล )