ตามรอยพระพุทธบาท

นิทานชาดก (เรื่องที่ 20) สัมโมทมานชาดก - ชาดกว่าด้วย "โทษของการแตกสามัคคี"
webmaster - 17/3/09 at 14:12

...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง

ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 20 ชื่อว่า "สัมโมทมานชาดก" (อ่านว่า สัมโมทะมานะชาดก) จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

สัมโมทมานชาดก : ชาดกว่าด้วย "โทษของการแตกสามัคคี"


มูลเหตุที่ตรัสชาดก

....กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นดินแดนของพระญาติฝ่ายพระราชบิดา และกรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นดินแดนของพระญาติฝ่ายพระราชมารดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีแม่น้ำใหญ่สายหนึ่งไหลผ่านและถือเป็นเส้นแบ่งเขตแดน

ชาวเมืองทั้งสองต่างอาศัยน้ำจากแม่น้ำสายนี้ทำการเกษตรกรรมเลี้ยงชีพด้วยความผาสุกตลอดมา

ต่อมาในฤดูแล้งครั้งหนึ่ง น้ำในแม่น้ำได้งวดลงไปมากผิดปกติ ประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นต่างฝ่ายจึงพยายามหาวิธีกักเก็บน้ำเข้านาของตนให้มากที่สุด จนเกิดการทะเลาะวิวาทด่าทอซึ่งกันและกัน แล้วเลยลามปามถากถางไปถึงราชตระกูลของฝ่ายตรงข้าม

เรื่องราวจึงขยายตัวลุกลามไปจนถึงขั้นมีการจับอาวุธเข้าต่อสู้ ความขัดแย้งได้ทวีขึ้นถึงขั้นมีการกะเกณฑ์ผู้คน จนในที่สุดกษัตริย์ของทั้งสองพระนครถึงกับยกทัพมาประชิดชายแดน เตรียมพร้อมที่จะทำสงครามกัน

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่าเหตุร้ายกำลังจะเกิดขึ้นกับพระญาติทั้งสองฝ่าย จึงเสด็จมายังชายแดนเพื่อจะทรงระงับศึก

พระพุทธองค์ทรงซักถามถึงสาเหตุที่เกิดความขัดแย้งครั้งนี้พระประญาติทั้งสองฝ่ายต่างทูลถึงสาเหตุ เมื่อพระองค์ทรงฟังแล้วจึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสเล่าชาดกดังนี้

พระศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ในนิโครธาราม ทรงปรารภการทะเลาะกันแห่งพระญาติ จึงตรัสพระธรรมเทศนา นี้ดังนี้.

การทะเลาะแห่งพระญาตินั้น จักมีแจ้งใน "กุณาลชาดก" ก็ในกาลนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระญาติทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า มหาบพิตรทั้งหลาย ชื่อ ว่าการทะเลาะกันและกันแห่งพระญาติทั้งหลาย ไม่สมควร

จริงอยู่ ในกาลก่อนในเวลาสามัคคีกัน แม้สัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายก็ครอบงำปัจจามิตร ถึงความสวัสดี ในกาลใดถึงการวิวาทกัน

ในกาลนั้นก็ถึงความพินาศใหญ่หลวง ผู้อันราชตระกูลแห่งพระญาติทั้งหลายทูลอ้อนวอนแล้ว จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้



เนื้อหาสาระชาดก

......ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกกระจาบมีนกกระจาบหลายพันเป็นบริวารอยู่ในป่า

ในกาลนั้นพรานล่านกกระจาบคนหนึ่ง ไปยังที่อยู่ของนกกระจาบเหล่านั้น ทำเสียงร้องเหมือนนกกระจาบ รู้ว่านกกระจาบเหล่านั้นประชุมกันแล้ว จึงทอดตาข่ายไปข้างบนนกกระจาบเหล่านั้น

แล้วกดที่ชายรอบ ๆ กระทำให้นกกระจาบทั้งหมดมารวมกัน แล้วบรรจุเต็มกระเช้าไปเรือน ขายนกกระจาบเหล่านั้นเลี้ยงชีพด้วยมูลค่านั้น

อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์กล่าวกะนกกระจาบเหล่านั้นว่า นายพรานนกนี้ทำพวกญาติของเราทั้งหลายให้ถึงความพินาศ เรารู้อุบายอย่างหนึ่ง อันเป็นเหตุให้นายพรานนกนั้นไม่อาจจับพวกเรา

นับแต่บัดนี้ไป เมื่อนายพรานนกนี้ทอดข่ายลงเบื้องบนพวกเรา ท่านทั้งหลายแต่ละตัว จงสอดหัวเข้าในตาของตาข่ายตาหนึ่ง ๆ พากันยกตาข่ายขึ้นแล้วพาบินไปยังที่ที่ต้องการ แล้วพาดลงบนพุ่มไม้มีหนาม

เมื่อเป็นอย่างนั้น พวกเราจักหนีไปทางส่วนเบื้องล่าง นกกระจาบเหล่านั้นทั้งหมดพากันรับคำแล้ว

ในวันที่ ๒ เมื่อพรานนกทอดข่ายลงเบื้องบน ก็พากันยกข่ายขึ้นโดยนัยที่พระโพธิสัตว์กล่าวแล้ว นั่นแหละ แล้วพาดลงบนพุ่มไม้มีหนามแห่งหนึ่ง ส่วนตนเองหนีไปทางเบื้องล่าง

เมื่อพรานนกมัวปลดข่ายจากพุ่มไม้อยู่นั่นแหละ ก็เป็นเวลาพลบคํ่า นายพรานนกนั้นจึงได้เป็นผู้มีมือเปล่ากลับไป แม้นับแต่วันรุ่งขึ้น นกกระจาบเหล่านั้นก็กระทำอย่างนั้นนั่นแหละ

ฝ่ายนายพรานนกนั้นเมื่อปลดเฉพาะข่ายอยู่ จนกระทั่งพระอาทิตย์อัสดง ไม่ได้อะไร ๆ เป็นผู้มีมือเปล่าไปบ้าน ลำดับนั้น ภรรยาของเขาโกรธพูดว่า

ท่านกลับมามือเปล่าทุกวัน ๆ เห็นจะมีที่ที่ท่านจะต้องเลี้ยงดูข้างนอกแห่งอื่นเป็นแน่ นายพรานนกกล่าวว่า

นางผู้เจริญ..เราไม่มีที่ที่จะเลี้ยงดูแห่งอื่น ก็อนึ่งนกกระจาบเหล่านั้นมันพร้อมเพรียงกันเที่ยวไป พอเราเหวี่ยงลง พากันเอาข่ายไปพาดบนพุ่มไม้มีหนาม

แต่พวกมันจะไม่ร่าเริงอยู่ได้ตลอดกาลทั้งปวงดอก เจ้าอย่าเสียใจ เมื่อใดพวกมันถึงการวิวาทกัน เมื่อนั้นเราจักพาเอาพวกมันทั้งหมดมา ทำหน้าของเธอให้ชื่นบานเถิด นายพรานนกปลอบโยนภรรยาด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้.

โดยล่วงไป ๒ - ๓ วัน นกกระจาบตัวหนึ่งเมื่อจะลงยังพื้นที่หากิน ก็ไม่ได้กำหนดให้ดี จึงได้เหยียบหัวของนกกระจาบตัวอื่น นกกระจาบตัวที่ถูกเหยียบหัวโกรธว่า

ใครเหยียบหัวเรา เมื่อนกกระจาบตัวนั้นแม้จะพูดว่า เราไม่ได้กำหนดจึงได้เหยียบ ท่านอย่าโกรธเลย นกกระจาบตัวที่ถูกเหยียบก็ยังโกรธอยู่นั่นแหละ

นกกระจาบ เหล่านั้นเมื่อพากันกล่าวอยู่ซํ้า ๆ ซาก ๆ จึงกระทำการทะเลาะกันว่า เห็นจะมีแต่ท่านเท่านั้นกระมังที่ยกข่ายขึ้นได้ เมื่อนกกระจาบเหล่านั้นทะเลาะกัน

พระโพธิสัตว์คิดว่า ขึ้นชื่อว่าการทะเลาะกันย่อมไม่มีความปลอดภัย บัดนี้แหละ นกกระจาบเหล่านั้นจักไม่ยกข่าย แต่นั้นจักพากันถึงความพินาศใหญ่หลวง

นายพรานนกจักได้โอกาส เราไม่อาจอยู่ในที่นี้ พระโพธิสัตว์นั้นจึงพาบริษัทของตนไปอยู่ที่อื่น

ฝ่ายนายพรานนก พอล่วงไป ๒ - ๓ วัน ก็มาแล้วร้องเหมือนเสียงนกกระจาบ ซัดข่ายไปเบื้องบนของนกกระจาบเหล่านั้นผู้มาประชุมกัน

ลำดับนั้น นกกระจาบตัวหนึ่งพูดว่า เขาว่า เมื่อท่านยกข่ายขึ้นเท่านั้น ขนบนหัวจึงร่วง บัดนี้ ท่านจงยกขึ้น

นกกระจาบอีกตัวหนึ่งพูดว่า ข่าวว่า เมื่อท่านมัวแต่ยกข่ายขึ้น จนขนปีกทั้งสองข้างร่วงไป บัดนี้ท่านจงยกขึ้น ดังนั้น เมื่อนกกระจาบเหล่านั้นมัวแต่พูดว่า

ท่านจงยกขึ้น ท่านจงขึ้น นายพรานนกมารวบเอาข่าย ให้นกกระจาบเหล่านั้นทั้งหมดมารวมกันแล้วใส่เต็มกระเช้า ได้ไปเรือน ทำให้ภรรยาร่าเริงใจ.


พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตรทั้งหลาย ชื่อว่าความทะเลาะแห่งพระญาติทั้งหลายไม่ควรอย่างนี้ เพราะความทะเลาะเป็นมูลเหตุแห่งความพินาศถ่ายเดียว แล้วทรงประชุมชาดกว่า

นกกระจาบตัวที่ไม่เป็นบัณฑิตในครั้งนั้น ได้เป็น "พระเทวทัต"
ส่วนนกกระจาบตัวที่เป็นบัณฑิตในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ดังนี้แล.


ข้อคิดจากชาดก

๑ . คนพาล มักโกรธง่าย และผูกเวร ดังนั้น เราควรป้องกันการทะเลาะวิวาทเสียแต่ต้นมือด้วยการระมัดระวังตัว มีสติ ไม่ทำสิ่งใดให้กระทบกระเทือนบุคคลอื่น

การฝึกสมาธิแผ่เมตตาเป็นประจำทำให้เป็นคนโกรธได้ยาก “ ผู้ที่ฆ่าความโกรธได้ ย่อมนอนหลับเป็นสุข ”

๒ . การคบบัณฑิตย่อมทำให้ห่างไกลจากภัยพาล ดังเช่นนกกระจาบที่เชื่อฟังจ่าฝูง

๓ . เมื่อมีการทะเลาะวิวาทกัน ควรวางตัวเป็นกลาง และหาทางไกล่เกลี่ยยุติเรื่องบาดหมางนั้นเสีย



ที่มา - kalyanamitra.org


webmaster - 27/5/18 at 10:30

.