ตามรอยพระพุทธบาท

นิทานชาดก (เรื่องที่ 24) มฆเทวชาดก - ชาดกว่าด้วย "ออกบวชเพราะผมหงอก"
webmaster - 20/8/09 at 06:22

นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง

ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 24 มีชื่อว่า "มฆเทวชาดก" (อ่าน..มะฆะเทวะชาดก) โดยพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น "พระเจ้ามฆเทวราช" จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

มฆเทวชาดก : ชาดกว่าด้วย "ออกบวชเพราะผมหงอก"



มูลเหตุที่ตรัสชาดก

.....ครั้งหนึ่ง ในสมัยพุทธกาล ณ เชตวันมหาวิหาร พระภิกษุกลุ่มหนึ่งนั่งประชุมสนทนากันที่ธรรมสภา ปรารภถึงการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา

ว่าพระองค์ทรงเป็นถึงมกุฎราชกุมารแห่งศากยวงศ์อันยิ่งใหญ่ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องบำรุงบำเรอความสุขอันประณีตวิเศษ อย่างที่มิอาจจะหาผู้ใดมาเทียบเทียมได้ ถึงกับมีผู้กล่าวเปรียบเทียบว่า แม้แต่เทวดายังต้องอิจฉา

แต่เมื่อพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะเท่านั้นก็ทรงได้สติ เห็นภัยใน วัฏสงสาร หมดอาลัยในโลกียสุข ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติที่กำลังจะมาถึง

เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ เพื่อบรรลุพระสัมมาสัพโพธิญาณ นำชาวโลกทั้งปวงไปสู่ความพ้นทุกข์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมายังธรรมสภา

ครั้นทรงทราบเรื่องที่พระภิกษกลุ่มนั้นสนทนาแล้ว จึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสนุสติญาณ แล้วตรัสว่า

“ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้นที่ตถาคตเห็นเทวทูตทั้งสี่ แล้วได้สติ เห็นภัยในวัฏสงสาร ตัดสินใจออกบรรพชา

แม้ในกาลก่อนเพียงแค่ได้เห็นผมหงอกเส้นแรกเกิดขึ้นเท่านั้น ตถาคตก็ได้สติ ตัดสินใจออกบรรพชามาแล้ว ”


บรรดาพระภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงเล่าเรื่องราวในอดีตชาติให้ฟัง ด้วยพระมหากรุณาที่จะอนุเคราะห์ภิกษุเหล่านั้นให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป จึงตรัสเล่า "มฆเทวชาดก" ดังนี้


.......ในอดีตกาลเนิ่นนานมาแล้ว ตั้งแต่ยุคต้นกัป ในครั้งนั้นสิ่งแวดล้อมทั่วๆ ยังไม่เป็นพิษ

พื้นโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารนานาชนิด พืชชนิดใดที่ใช้รับประทานได้ จะออกช่อออกผลดกระย้าเต็มต้น และมีรสโอชายิ่งนัก

......พืชชนิดใดที่ให้ดอกให้กลิ่นก็จะผลิดดอกออกช่อสีสันงดงาม ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่ว ผืนดินไม่สกปรกเน่าเหม็น แต่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ

อันเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ทั้งหลาย ทั้งยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย น้ำก็ใสเต็มเปี่ยมไปทุกลำธาร สะพรั่งพร้อมด้วยปทุมชาติและมัจฉานานาพันธุ์แหวกว่ายไปมา

ส่วนบนท้องนภาศนั้นเล่า ผีเสื้อและเหล่าสกุณชาติต่างๆ ก็เริงร่าอยู่ด้วยความสุข ในสภาพเช่นนี้มนุษย์ไม่ต่างอะไรกับเทพยดาบนพื้นพิภพ มีแต่ความเอื้ออารี ความรัก ความเมตตา กรุณา ความปรารถนาดีต่อกัน

อายุของมนุษย์ทั้งหลายจึงยืนยาวถึง ๒๕๒,๐๐๐ ปี ความทุกข์ที่ชาวโลกยุคนั้นรู้จักมีเพียงปวดอุจจาระ ปัสสาวะ และความตายเท่านั้น

ในครั้งนั้น มีพระราชาอยู่พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้ามฆเทวะ ทรงปกครองกรุงมิถิลา ในแคว้นวิเทหรัฐ โดยทศพิธราชธรรม บ้านเมืองเปี่ยมด้วยความสุขตลอดมา

พระเจ้ามฆเทวะเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่รักและเคารพของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินยิ่งนัก แคว้นวิเทหะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร

พระองค์เองก็อุดมไปด้วยศฤงคารสมบัติ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องบำรุงบำเรอความสุขอันสรรแล้วสำหรับกษัตริยาธิราช แต่พระองค์มิได้หลงเพลิดเพลินอยู่แต่ความสุขความสบายที่ได้รับ

พระองค์ทรงระลึกอยู่เสมอว่า ความตายจะต้องมาเยือนพระองค์สักวันหนึ่งอย่างแน่นนอน

วันหนึ่ง ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ตามลำพัง ณ พระราชอุทยาน ทอดพระเนตรสายน้ำที่ไหลล่องไปตามลำธาร เห็นมวลบุปผชาติทั้งหลาย

บ้างยังตูมเต่ง บ้างเบ่งบานราวกับดรุณีในวัยสะคราญ บ้างแห้งเหี่ยวร่วงโรยไปตามกาลเวลา ดุจผู้ชราที่ละสังขารทิ้งไว้ อีกทั้งใบไม้ทั้งหลายก็เช่นกัน พระองค์ทรงเห็นความจริงในธรรมชาติเหล่านั้น จึงรำพังขึ้นว่า

"ชีวิตของคนเรานี้ เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมา ได้ประกอบกิจการงานแห่งตนใน มัชฌิมวัย แล้วก็ตายไปในวัยชรา เวลาแห่งชีวิตเหมือนสายน้ำที่ไหลไป ย่อมไม่ไหลกลับมาอีก

หากเราปล่อยชีวิตให้ผ่านไปวันหนึ่งๆ โดยไม่หาสาระประโยชน์ที่แท้จริงแล้วไซร้ วันหนึ่งเราจักต้องตายไปอย่างไร้ค่า ไม่ต่างอะไรกับดอกไม้ใบไม้ที่ร่วงหล่นจากต้นแล้ว.."


คิดดังนั้น พระองค์จึงรีบสั่งให้กัลบก (ช่างตัดผม) ประจำพระองค์มาเฝ้า แล้วตรัสแก่กัลบกว่า

“ นายช่างเอ๋ย.. บัดนี้เรามีอายุถึงแสนกว่าปีแล้ว อีกไม่นานเราคงจะชรา หากวันใดที่ท่านพบผมหงอกบนศีรษะเราเราละก็ จงบอกแก่เราด้วยเถิด ”

กัลบกรับคำ แล้วคอยสังเกตดูเส้นพระเกศาทุกครั้งที่ตบแต่งพระเกศาให้พระราชา


ต่อมาอีกนานนับปี กัลบกผู้นั้นสังเกตเห็นพระเกศาเส้นหนึ่งหงอกแซมอยู่ในระหว่างพระเกศาที่ดำสนิทของพระองค์ จึงกราบทูลให้ทราบ พระเจ้ามฆเทวะให้กัลยถถอนพระเกศาเส้นนั้นให้

เมื่อกัลบกใช้แหนบทองคำถอนพระเกศาเส้นที่หงอกถวายแก่พระเจ้ามฆเทวะแล้ว พระองค์ทรงวางเส้นพระเกศานั้นไว้เหนือฝ่าพระหัตถ์อันสั่นเทา ทรงเพ่งพิศอยู่ แล้วดำริว่า

“ บัดนี้ ชีวิตเราล่วงเลยมาแล้ว เหลืออยู่อีกเพียง ๘๔ , ๐๐๐ ปีเท่านั้นก็คงจะต้องตาย ผมหงอกเส้นนี้ เปรียบเสมือนเทวทูตที่พญามัจจุราชส่งมาเตือนเราว่าย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว และจะต้องตายไปในไม่ช้า

อนิจจา..นี่เราหลงอยู่ในโลกียสุขจนกระทั่งผมหงอกเชียวหรือ .. เสียดายเหลือเกินที่เราปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ค่า จนความตายใกล้เข้ามาแล้วจึงได้คิด เวลาที่ผ่านไปคือวัยและชีวิตที่ผ่านไปด้วย ”


พระเจ้ามฆเทวะทรงครุ่นคิดด้วยความเสียดายเวลาที่ล่วงจนพระพักตร์เศร้าหมอง พระหัตถ์และพระบาทเยียบเย็น พระเสโทไหลชุ่มพระวรการ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยว่า “ เราจะออกบวชวันนี้แหละ ”

พระเจ้ามฆเทวะมีรับสั่งให้ประชุมอำมาตย์ข้าราชบริพาร แจ้งการตัดสินพระทัยเสด็จออกบรรพชา โดยแสดงเส้นพระเกศานั้นต่อที่ประชุม แล้วตรัสว่า

“ ผมหงอกบนศีรษะของเราได้เกิดขึ้นนำเอาวัยหนุ่มของเราไปแล้ว เหมือนกับเทวทูตมาบอกว่า ถึงเวลาที่เราควรจะบรรพชาได้แล้ว ”

จากนั้น พระเจ้ามฆเทวะได้พระราชทานบำเหน็จรางวัลให้แก่กัลบกผู้นั้น แล้วมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสปกครองแทนพระองค์สืบไป

พระองค์ไปผนวชเป็นฤาษี ณ พระราชอุทยานมฆเทวอัมพวัน กรุงมิถิลา แคว้นวิเทหรัฐนั้น ทรงจำเริญพรหมวิหารสี่ตลอด ๘๔,๐๐๐ ปี เมื่อเสด็จสวรรคตแล้วได้ไปบังเกิดในพรหมโลก

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่า "มฆเทวชาดก" จบลง ก็ทรงแสดงอริยสัจ ๔ ประกอบโดยอเนกปริยายลุ่มลึกไปตามลำดับ

พระภิกษุทั้งหลายก็ส่งกระแสใจไปตามพระธรรมเทศนานั้น ประคองใจให้สงบนิ่งสู่พระธรรมกายในตนไปตามลำดับ ได้บรรลุพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ตามกำลังบุญบารมีของตน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า...
"กัลบก" ในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์
"พระราชโอรส" ได้มาเป็น พระราหุล
"พระเจ้ามฆเทวะ" ได้มาเป็นพระองค์เอง


ข้อคิดจากชาดก

๑. กาลเวลา ไม่เพียงแต่ผ่านไปเท่านั้น แต่ยังได้กลืนชีวิตของมนุษย์ไปด้วย

๒. เครื่องสำอาง สิ่งย้อมผ้า เครื่องประดับประดาทั้งหลาย ที่นำมาอำพรางความเสื่อมไปของสังขาร ย่อมทำให้ผู้ใช้หลง ประมาท และมัวเมาในความมีชีวิต

เพราะสิ่งเหล่านี้ จะไปปิดบังเทวทูต คือ ความแก่ ที่มาเตือนให้รู้ว่า ถึงเวลาที่จะเร่งทำความดีเพื่อเตรียมตัวตายให้พร้อมไว้ได้แล้ว

๓. ลักษณะของผู้มีสติไม่ประมาท อีกทั้งยังมีปัญญาเพราะเห็น "มรณานุสติ" คือการระลึกถึงความตายที่จะมาถึง ซึ่งกาลเวลาสมัยนั้น คนมีอายุยืนมากเป็นหมื่นๆ ปี

ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีอายุขัยสั้นไม่ถึง 100 ปี แต่ยังหลงมัวเมากับชีวิต ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องตาย

๔. ทำความดีก่อนที่จะสายเกินไป ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ คือการออกบวช หรือถือศีล ๘ ก็ได้ ชื่อว่า "เนกขัมมบารมี"



ที่มา - kalyanamitra.org