ตามรอยพระพุทธบาท

นิทานชาดก (เรื่องที่ 30) ขทิรังคารชาดก - ชาดกว่าด้วย "ความเป็นผู้มีจิตใจมั่นคง"
kittinaja - 18/5/10 at 10:09

...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง

ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 30 มีชื่อว่า "ขทิรังคารชาดก" (อ่าน..ขะทิรังคาระชาดก) โดยพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น "เศรษฐี" จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

ขทิรังคารชาดก : ชาดกว่าด้วย "ความเป็นผู้มีจิตใจมั่นคง"



มูลเหตุที่ตรัสชาดก

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ใน "พระวิหารเชตวัน" ทรงปรารภทานของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงตรัสพระธรรมเทศนาดังนี้

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้าง "เชตวันมหาวิหาร" ถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังคงเอาใจใส่บำรุงพระภิกษุสงฆ์อย่างสม่ำเสมอ ทานทั้งหลายที่ท่านบริจาคนั้นมากมายจนมิอาจประมาณค่าได้

ณ ซุ้มประตูที่ ๔ ของเรือนท่าน มีเทวดามิจฉาทิฎฐิองค์หนึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ ทุกครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพุทธสาวกเสด็จผ่านเข้าไปในเรือน

เทวดาไม่พอใจเพราะต้องอุ้มลูกลงไปอยู่ที่พื้นดิน เนื่องจากมีคุณธรรมต่ำกว่า แต่เทวดาไม่กล้าจะไปบอกกับท่านเศรษฐีเอง

คืนหนึ่งจึงได้แผ่รัศมีปรากฏกายให้บุตรชายของท่านเศรษฐีเห็นพร้อมกับกล่าวว่าให้เลิกทำทานเสียเถิด เพราะสมบัติอาจหมดไปได้ บุตรชายเศรษฐีโกรธที่เทวดาดูหมิ่นพระรัตนตรัยและไล่เทวดาให้ออกไป

ท่านเศรษฐียังคงเลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัยและให้ทานอยู่เป็นนิตย์ จนกระทั่งช่วงหนึ่งท่านถึงความยากจนลงโดยลำดับ

เทวดาผู้มีมิจฉาทิฎฐิจึงเข้าไปในห้องเศรษฐี แล้วยุยงให้เลิกทำทาน แต่ถูกท่านเศรษฐีไล่ให้ออกจากบ้านของตน

เทวดาจึงได้คิดและสำนึกผิด ไปหาท้าวสักกเทวราชขอร้องให้ท่านพูดกับท่านเศรษฐีให้ แต่ท้าวสักกเทวราชตอบว่าไม่อาจทำได้ เพราะท่านได้กล่าวถ้อยคำอันไม่สมควร

แต่แนะให้ไปตามทรัพย์สมบัติของท่านเศรษฐีที่สูญหายไปกลับคืนมายังคลังให้หมด เป็นการทำคุณไถ่โทษ ท่านอาจยกโทษให้

เทวดามิจฉาทิฏฐิรับเทวโองการแล้ว ไปตามสมบัติจนเรียบร้อยแล้วจึงไปขอให้ท่านยกโทษให้ ท่านเศรษฐีกล่าวว่า ต้องให้พระบรมศาสดาอดโทษให้

รุ่งขึ้นจึงพาเทวดานั้นไปยังเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ เมื่อพระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“ดูก่อนคฤหบดี บุคคลผู้กระทำกรรมลามกในโลกนี้ เมื่อกรรมอันเป็นบาปนั้น ยังไม่ให้ผล บุคคลผู้นั้นยังได้รับความสุข ความเจริญอยู่ ต่อเมื่อใด กรรมอันเป็นบาปนั้นให้ผล ตนจึงได้รับผลแห่งบาปนั้น ”

เมื่อจบพระคาถา เทวดานั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล จากนั้นพระบรมศาสดาได้ตรัสยกย่องท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่าเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัยและมีความเห็นอันบริสุทธิ์ แล้วจึงตรัสเรื่อง "ขทิรังคารชาดก"



เนื้อความของชาดก

....ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี มีเศรษฐีหนุ่มคนหนึ่ง ได้สร้างศาลาบำเพ็ญทานขึ้น ๖ แห่ง นอกจากนั้นยังได้รักษาศีลห้าและอุโบสถศีลตามกาลอยู่เสมอ

ในครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งนั่งเข้านิโรธสมาบัติตลอด ๗ วัน จึงได้ออกบิณฑบาต เหาะผ่านมาเศรษฐีเห็นจึงรีบลุกขึ้นแสดงความเคารพ แล้วสั่งให้คนรับใช้ไปรับบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้ามา

พญามารเห็นการกระทำนั้น คิดต้องการขัดขวางการสร้างบุญบารมีครั้งนี้ให้ได้ จึงเนรมิตหลุมถ่านเพลิงลึกประมาณ ๘๐ ศอก มีถ่านไม้ตะเคียนลุกโชติช่วงราวกับเพลิงนรกคั่นอยู่ แต่ท่านเศรษฐีไม่สะดุ้งกลัวเลยแม้แต่น้อย นึกถึงคุณของพระรัตนตรัย แล้วกล่าวว่า

"..ข้าพเจ้าจะตกนรก มีเท้าขึ้นเบื้องบน มีศีรษะลงเบื้องล่างก็ตาม ข้าพเจ้าจักไม่ทำกรรมอันไม่ประเสริฐ ขอนิมนต์ท่านรับก้อนข้าวเถิด..."

(หมายความว่า ถึงอย่างไรไม่ยอมล้มเลิกการบำเพ็ญทานเด็ดขาด แม้ตนเองต้องตาย ขอถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา)

กล่าวจบเศรษฐีวิ่งไปบนหลุมถ่านเพลิงทันที ทันใดนั้นปรากฏดอกบัวใหญ่บานสะพรั่งดอกหนึ่ง ผุดขึ้นจากหลุมถ่านเพลิงรองรับเท้าทั้งสอง เศรษฐี เศรษฐีหนุ่มยืนอยู่บนดอกบัวนั้น พร้อมน้อมนำอาหารใส่ลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า

พระองค์ทรงรับอาหารนั้นแล้วกระทำอนุโมทนา แล้วทรงเหาะกลับไปยังป่าหิมพาน ท่ามกลางความตื่นตะลึงของมหาชนที่ได้ประสบเหตุการณ์ในครั้งนั้น

พญามารเมื่อพ่ายแพ้แล้วหายตัวกลับไปยังที่อยู่ของตน เศรษฐีซึ่งยืนอยู่บนดอกบัว จึงกล่าวธรรมถึงการบำเพ็ญทาน และรักษาศีล แก่มหาชนที่ชุมนุมเหล่านั้น และต่างพากันสร้างบุญกุศลไปจนตลอดชีวิต

เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า

พระปัจเจกพุทธเจ้า ในครั้งนั้น ได้ปรินิพพานแล้ว
ส่วน "เศรษฐี" ชาวเมืองพาราณสี ได้เป็นเรา..ตถาคตนั้นแล.


ข้อคิดจากชาดก

๑ . มิจฉาทิฏฐิมีทั้งในเทวดาและมนุษย์ ดังนั้น สมาชิกในครอบครัวเดียวกันควรต่างเอาใจใส่ เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน

๒ . การพักอาศัยอยู่กับผู้อื่นในฐานะใดก็ตาม อย่าได้นิ่งดูดาย ควรทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อเจ้าบ้าน แม้ช่วยได้เพียงเล็กน้อยก็ควรทำ

๔ .. ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

๕. ในการทำความดี ควรมีจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เพราะบุญเท่านั้นที่ติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ



ภาพ - wichradio.net
ข้อมูล - kalyanamitra.org


webmaster - 20/5/10 at 19:51

(Update 20-05-53)