ตามรอยพระพุทธบาท

นิทานชาดก (เรื่องที่ 33) กุรุงคมิคชาดก - ชาดกว่าด้วย "การร่วมมือกัน"
webmaster - 15/11/10 at 14:45

...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง

ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 33 มีชื่อว่า "กุรุงคมิคชาดก" (อ่าน..กุรุงคะมิคะชาดก) เป็นเรื่องของความสามัคคี โดยพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น "พญากวาง" จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

.....This story is a fable about "Buddha" While still a Bodhisat. He has to perform the prestige of each nation. Is a true story that occurred.

Then spoke told these deeds. Which in many Tripitaka on. At this will be cartoon chapters No.33 called "Gurungkamika Jataka" The come into the Buddha "Deer Paya"

กุรุงคมิคชาดก : ชาดกว่าด้วย "การร่วมมือกัน"



มูลเหตุที่ตรัสชาดก

.....พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ความย่อมีอยู่ว่า ในครั้งนั้น พระศาสดาทรงสดับว่า พระเทวทัตพยายามจะปลงพระชนม์พระองค์ จึงตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตพยายามจะปลงชีวิตของเรา มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็พยายามเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า....



เนื้อความของชาดก

.....ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นกวาง อาศัยอยู่ที่ละเมาะแห่งหนึ่ง ไม่ไกลสระแห่งหนึ่งในป่า

ไม่ไกลสระนั้น มีนกชื่อ "สตปัตตะ" จับอยู่ที่ยอดไม้ต้นหนึ่ง ก็ที่สระมีเต่าอาศัยอยู่ สัตว์ทั้งสามนั้นเป็นสหายกัน ต่างอยู่กันด้วยความรัก.

ครั้งนั้น พรานเนื้อคนหนึ่งท่องเที่ยวไปในป่า พบรอยเท้าพระโพธิสัตว์ที่ท่าลงน้ำดื่ม จึงดักบ่วงมีเกลี่ยวแข็งแรงราวกับโซ่เหล็ก แล้วกลับไป.

พระโพธิสัตว์มาดื่มน้ำ ติดที่บ่วงแต่ยามต้น จึงร้องให้รู้ว่าติดบ่วงเข้าแล้ว. นกสตปัตตะได้ยินเสียงพระโพธิสัตว์ จึงลงจากยอดไม้ เต่าก็ขึ้นจากน้ำ ปรึกษากันว่าจะควรทำอย่างไรดี.

นกสตปัตตะจึงบอกเต่าว่า สหายท่านมีฟันจงแทะบ่วงนี้เถิด เราจะไปคอยกันไม่ให้พรานมาได้ ด้วยความพยายามที่เราทั้งสองทำอย่างนี้ สหายของเราจักรอดชีวิต

เมื่อจะประกาศเนื้อความนี้ จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-

"ดูก่อน...เต่า เราขอเตือน ท่านจงกัดบ่วงอันมีเกลียวแข็งด้วยฟัน เราจักทำอุบายไม่ให้นายพรานมาถึงเร็วได้"

เต่าจึงเริ่มแทะเชือกหนัง นกสตปัตตะก็จับคอยอยู่บนต้นไม้ ไม่ไกลจากบ้านที่นายพรานอยู่ นายพรานถือหอกออกแต่เช้าตรู่ นกรู้ว่านายพรานออกก็โฉบปรบปีก เอาปากจิกนายพรานผู้จะออกทางประตูหน้า.

นายพรานคิดว่า เราถูกนกกาฬกัณณีตีเข้าให้แล้ว จึงกลับไปนอนเสียหน่อยหนึ่ง แล้วลุกขึ้นถือหอกไปอีก. นกรู้ว่า นายพรานนี้ออกไปทางประตูหน้า บัดนี้ คงจะออกไปทางประตูหลัง จึงไปจับที่เรือนด้านหลัง

ฝ่ายนายพรานคิดว่า เมื่อเราออกทางประตูหน้าก็พบนกกาฬกัณณี บัดนี้เราจะออกทางประตูหลัง จึงออกไปทางประตูหลัง นกก็โฉบลงเอาปากจิกอีก.

นายพรานคิดว่า เราถูกนกกาฬกัณณีตีอีก บัดนี้ นกนี้คงไม่ให้เราออก นอนรอจนอรุณขึ้น จึงถือหอกออกไป ในเวลาอรุณขึ้น นกรีบไปบอกแก่พระโพธิสัตว์ว่า พรานกำลังเดินมา.

ในขณะนั้น เต่ากัดเชือกขาดยังเหลืออีกเกลียวเดียว. แต่ฟันของเต่าชักจะเรรวนจวนจะร่วง ปากก็ฟูมไปด้วยเลือด. พระโพธิสัตว์เห็นบุตรนายพรานถือหอก เดินมาด้วยความเร็วดุจฟ้าแลบ จึงกัดเกลียวนั้นขาดเข้าป่าไป

นกจับอยู่บนยอดไม้ แต่เต่าคงนอนอยู่ในที่นั้นเอง เพราะบอบช้ำมาก. พรานเห็นเต่า จึงจับใส่กระสอบแขวนไว้ที่ตอไม้ต้นหนึ่ง.

พระโพธิสัตว์กลับมาดูรู้ว่า เต่าถูกจับไปจึงคิดว่า เราจักให้ช่วยชีวิตสหาย จึงทำเป็นคล้ายจะหมดกำลังแสดงตนให้พรานเห็น.

พรานคิดว่า เนื้อนี้คงหมดแรง เราจักฆ่ามันเสียแล้วถือหอกติดตามไป. พระโพธิสัตว์ไปได้ไม่ไกลไม่ใกล้นัก ล่อพรานเข้าป่าไป

ครั้นรู้ว่า พรานไปไกลแล้ว จึงเหยียบรอยเท้าลวงไว้ แล้วไปเสียทางอื่นด้วยความเร็วราวกะลมพัด เอาเขายกกระสอบขึ้นแล้วทิ้งลงบนพื้นดิน ขวิดฉีกขาดนำเต่าออกมาได้. แม้นกสตปัตตะก็ลงจากต้นไม้.

พระโพธิสัตว์ เมื่อจะให้โอวาทแก่สัตว์ทั้งสอง จึงกล่าวว่า เราได้ชีวิตก็เพราะอาศัยพวกท่าน กิจที่ควรทำแก่สหาย พวกท่านก็ได้ทำแก่เราแล้ว

บัดนี้ พรานคงจะมาจับท่านอีก เพราะฉะนั้น สหายสตปัตตะ ท่านจงพาลูกเล็กๆ ของท่านไปอยู่ที่อื่นเสียเถิด สหายเต่า แม้ท่านก็จงลงน้ำไปเถิด สัตว์ทั้งสองได้ทำตาม.

พระศาสดาตรัสรู้แล้ว ตรัสคาถาที่ ๒ ว่า :-

"เต่าก็ลงน้ำไป กวางก็เข้าป่าไป นกสตปัตตะไปถึงต้นไม้แล้ว ก็พาลูกๆ ไปอยู่ในที่ห่างไกล"

แม้พรานมายังที่นั้น ไม่เห็นใครๆ หยิบกระสอบที่ขาดขึ้นแล้วก็เสียใจ กลับเรือนของตน สัตว์ทั้งสามสหายก็มิได้ตัดความสนิทสนมกันจนตลอดชีวิต แล้วต่างก็ไปกันตามยถากรรม.

.......พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
นายพรานในครั้งนั้น ได้เป็น เทวทัต ในครั้งนี้
นกสตปัตตะได้เป็น สารีบุตร
เต่าได้เป็น โมคคัลลานะ
ส่วนกวาง คือ เราตถาคต นี้แล.


ที่มา - 84000.org

ข้อคิดจากชาดก

.....๑. จงอย่าเป็นคนเห็นแก่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นสิ่งใดที่รู้สึกว่าเป็นลาภลอยได้มาง่ายๆ อย่าไปฉวยเอา เพราะจะถูกล่อลวงด้วยลูกไม้ต่างๆ โดยง่าย โบราณจึงพูดเตือนสติไว้เสมอๆ ว่า

"ถ้ามีใครชี้แนะว่า สิ่งใดจะทำให้รวยเร็ว ๆ เก่งเร็วๆ มีชื่อเสียงเร็วๆ โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง ให้ตั้งข้อสังเกตไว้เลยว่านั่นคือ ลูกไม้ "

.....๒. หมั่นสั่งสมบุญมากๆ ถ้ามากเต็มที่จริงๆ แล้ว ใครก็ทำอันตรายไม่ได้ ใส่ความไม่ได้ บุญของเราที่มีอยู่จะตามเตือนสติไม่ให้หลงลูกไม้ใคร จนเกิดโลภ โกรธ หลง เห็นแก่ได้ เห็นแก่เกียรติยศ

.....๓. จากชาดกเรื่องนี้จึงทำให้รู้ว่า คำว่า "ลูกไม้" ได้กลายมาเป็นสำนวนไทย หมายถึง เล่ห์เหลี่ยม ชั้นเชิง



ที่มา - kalyanamitra.org