ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 1/4/08 at 22:40 Reply With Quote

จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม 1 (ตอนที่ 3 - งานหลวงพ่อมรณภาพครบ 3 ปี 2538)


◄ll ตอนที่ 1 ภาคเหนือ-ภาคใต้ ปี 2536-2537
◄ll ตอนที่ 2 ภาคอีสาน ปี 2538
◄ll ตอนที่ 4 งานรวมภาค ปี 2539



สารบัญ

01.
วัดพระพุทธฉาย จ.สระบุรี
02. วัดพระพุทธบาทราชวรวิหาร จ.สระบุรี
03. เล่าเรื่อง "หลวงพ่อธุดงค์"

04. งานครบรอบ ๓ ปี พระเดชพระคุณหลวงพ่อมรณภาพ
05. ประวัติหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
06. ราชพรหมยานบูชา
07. คำสดุดีเทิดพระคุณ




วัดพระพุทธฉาย อ.เมือง จ.สระบุรี


เมื่อกลับจากงานตามรอยพระพุทธบาท “ภาคอีสาน”แล้วก็ทราบข่าวการพบรอยพระพุทธบาทใหม่ที่ วัดพระพุทธฉายอำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี จึงมีการจัดงานตามรอยพระบาท ทาง“ภาคกลาง”กันต่อไปในปีเดียวกันเลย

เมื่อไปประสานงานกับทางวัดแล้ว จึง ได้มีการกำหนดงานกันในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๘ อันเป็นเดือนที่พบรอยพระ บาทเมื่อปี ๒๕๓๗ จึงจัดงานเป็นกรณีพิเศษ เพื่อสมโภชรอยพระพุทธบาท เนื่องในวโรกาสครบรอบ ๑ ปีพอดีที่ได้ค้นพบ

ครั้นถึงกำหนดเวลาการเดินทาง ทุกคณะจึงนัดหมายไปพบกันที่ วัดพระพุทธฉาย ในตอนเช้า ซึ่งทางวัดได้กางเต้นท์ไว้ต้อนรับด้วยการจัดเลี้ยงข้าวต้มเป็นอาหารเช้า พร้อมกับ น้ำชากาแฟและขนมปังจาก “คณะของคุณอธิก”

สำหรับ คณะผู้ดำเนินงานได้ไปค้างคืนที่วัด เพื่อเตรียมจัดงานและสถานที่ ในขณะ ที่รถเริ่มทยอยกันเข้ามาจอด ส่วนใหญ่ทุกคนลง มาจากรถด้วยชุดขาว ส่วนผู้ที่จะต้องแต่งกาย ย้อนยุค สมัยกรุงศรีอยุธยาต่างก็ไปเปลี่ยนชุดกันในศาลา หลังจากทานอาหารเช้าแล้ว

เมื่อออกมาแล้วจึงพบขบวนชุดสมมุติกันสมัย พระเจ้าทรงธรรมกับพระมเหสี ๓ พระองค์ พระราชธิดา ๘ องค์ พร้อมด้วยชุดฝ่ายในพระราชสำนัก ตามติดด้วยเหล่าทหารมหาดเล็กทั้งหลายผู้อัญเชิญธง ทั้งหมดได้จัดเป็นขบวนกองเกียรติยศอัญเชิญเครื่องสักการบูชา

ครั้นขบวนเดินถึงทางเข้าประตูวัด พบกับป้าย “ยินดีต้อนรับ...คณะศิษย์หลวงพ่อพระ ราชพรหมยาน” แล้วก็เดินเลี้ยวซ้ายขึ้นเนินเขา ไปยังรอยพระพุทธบาทที่อยู่บนยอดเขา โดยมี วงกลองยาวนำขบวน ที่เรียกว่า“ขบวนพระ”อันมีรถอัญเชิญพระพุทธรูป ๕ องค์ คือ พระพุทธชินราช, พระพุทธรูปยืน (ปางเปิดโลก), พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน, สุโขทัย, และอู่ทอง

เมื่อหัวขบวนขึ้นไปเกือบถึงยอดเขา ซึ่งมีธงชาติและธงธรรมจักรโบกสะบัดนำหน้าขบวนเหลียวมองกลับลงมายังเห็น “ขบวนหลวง”ตามหลัง “ขบวนพระ”อยู่ จะเห็นผู้แต่งกายชุด “ชาววัง” มีหลายหลากสีที่ประดับด้วยเครื่องเพชรนิลจินดาสวยงามระยิบ ระยับ ซึ่งมีทหารมหาดเล็กเดินถือธงช่อช้างโบกสะบัดอยู่ทั้งสอง ข้างขบวน ตามติดด้วย “ขบวนทวยราษฎร์”ที่แต่งกายด้วยชุดขาวงามสะอาดตา เป็นขบวนยาวเหยียดไปถึงเบื้องล่างสุดสายตา

ถ้าหากมองดูขบวนแถวโดยภาพรวมทั้งหมดที่ปรากฏกับสายตาในขณะนั้น จะเห็นภาพ ขบวนพระเป็นสีเหลือง ขบวนหลวงเป็นสีสด งดงามหลายหลากสี ส่วนขบวนทวยราษฎร์เป็นสีขาว ขบวนแถวทั้งหมดเดินขึ้นมาตามถนนบน เขา ซึ่งถูกห้อมล้อมด้วยต้นไม้ใบหญ้าอันเขียว ขจีอยู่ทั้งสองข้างทาง

ทุกคนจึงเดินด้วยความสงบ เดินด้วย ความเคารพ เพื่อเป็นการให้เกียรติต่อสถานที่ที่ พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาประทานรอยพระพุทธบาทไว้ จึงทำให้ไม่เหน็ดเหนื่อยมากนัก เพราะจิตใจถูกหล่อเลี้ยงไว้ด้วยธรรมปีติ บางคนจะ รู้สึกเหมือนตัวเบาๆ เดินขึ้นไปแบบสบายๆ

หลังจากขบวนทั้งหมดขึ้นมาถึงบนเขาแล้ว มองเห็นพระมณฑปครอบรอยพระบาทอัน เก่าแก่มานาน บัดนี้ได้ซ่อมแซมให้คงอยู่ในสภาพเดิม ซึ่งได้ถูกประดับตกแต่งด้วยผ้าสีสวยงาม เมื่อได้ช่วยกันจัดสิ่งของที่อัญเชิญมาไว้ตามที่สมควรแล้ว จึงได้กล่าวอารัมภบทต่อไปว่า...

สำหรับสถานที่นี้นอกจากจะมี พระพุทธฉายเป็นสำคัญแล้ว ปรากฏว่ามีการค้นพบ รอยพระพุทธบาทเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ โดยทางวัดได้งบประมาณจากกรมศิลปากร เพื่อ ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระมณฑป ๕ ยอด ซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาประมาณเกือบ ๓๐๐ ปี แล้ว นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๒๔๖ ถึง พ.ศ.๒๒๕๑ อันเป็นรัชสมัย พระเจ้าเสือครองกรุงศรีอยุธยา ในขณะนั้น พระองค์ได้ทรงปฏิสังขรณ์ พระมณฑป ทรงโปรดฯ ให้เปลี่ยนจากพระ มณฑปยอดเดียว ซึ่งสร้างในรัชสมัย พระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๖๓ - ๒๑๗๑) มาเป็นพระ มณฑป ๕ ยอด ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

สาเหตุที่พระมณฑปซึ่งมีอายุเกือบ ๓๐๐ ปี อันเป็นพระมณฑปที่สร้างในสมัยเดียวกับ พระมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท จ.สระบุรี ยังคงสภาพเดิมอยู่ได้นั้น ก็เป็นเพราะอำนาจ ความศักดิ์สิทธิ์แห่งรอยพระพุทธบาทเป็นแน่แท้ มิเช่นนั้นแล้วคงตั้งอยู่ไม่ได้แน่ เพราะเหตุว่ามีพายุฝนมาหลายครั้งหลายหนด้วยกัน จนสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นภายหลัง ยังถูกพายุฝนพัดพังพินาศจนหมดสิ้น คงเหลือยู่แต่พระมณฑป หลังนี้เท่านั้นเป็นที่อัศจรรย์

เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๗ ช่างได้ เข้ามาดำเนินการซ่อมแซม เพื่อรักษารูปแบบไว้ให้คงสภาพเดิม การซ่อมแซมดำเนินมาถึงเดือนสิงหาคม ช่างได้เคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาท จำลองออกไป เพื่อจะทำการซ่อมแซมพื้น ขณะ ที่เคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทจำลองออกไป และทำการทุบพื้นซีเมนต์เก่า ก็พบว่าภายใต้ พื้นปูนซีเมนต์เก่านั้น มีทรายหยาบๆ อยู่เป็น จำนวนมาก เมื่อคุ้ยทรายออกแล้ว จึงปรากฏ เห็น “รอยพระพุทธบาท” อย่างเด่นชัด

เรื่องนี้จึงเป็นที่น่าฉงนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะตามประวัติแล้ว จังหวัดสระบุรีมีพุทธ สถานที่สำคัญ ๒ แห่ง ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่นับถือทั้งชาวไทยและชาวจีนกันมานาน แล้วว่า ถ้ามาจังหวัดสระบุรีแล้ว จะต้องไปกราบไหว้ รอยพระพุทธบาท และพระพุทธฉาย

แต่เมื่อมาพบรอยพระพุทธบาทที่ “พระพุทธฉาย” อีก จึงนับเป็นที่อัศจรรย์เป็นอย่าง ยิ่ง ย่อมทำความสับสนให้แก่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะไปย้อน ถามผู้เฒ่าผู้แก่แถวนี้ ต่างก็ไม่รู้เรื่องกันมาก่อนว่ามีรอยพระพุทธบาทจริงๆ ซ่อนอยู่ใต้รอยพระ พุทธบาทจำลอง เพียงแต่ได้ยินคำพูดของปู่ย่าตายายบอกไว้ว่า “พระบาทซ้าย...พระฉายขวา”

คงหมายถึงที่รอยพระพุทธบาทเดิมเป็นเป็นข้างซ้าย และรอยพระพุทธบาทที่พระฉายเป็นข้างขวา ซึ่งบังเอิญรอยที่พบใหม่นี้ ก็เป็นรอยพระพุทธบาทข้างขวาตรงกับคำที่กล่าวไว้

แต่คนที่กล่าวไว้ก็ยังไม่เคยพบ และประชาชนส่วนใหญ่ มักจะไม่ค่อยสนใจที่จะ ขึ้นไปกราบนมัสการบนยอดเขา พอกราบไหว้ พระพุทธฉายแล้วก็มักจะพากันกลับไป เพราะ ส่วนใหญ่ก็ไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่วัดพระพุทธบาทกันมาแล้ว

โดยเฉพาะ “ผู้เขียน” เองนั้น เมื่อมา พบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้แล้ว รู้สึกมีความ ประทับใจมาก และคิดว่าทุกท่านที่ได้ไปเห็น มาแล้ว คงจะชื่นอกชื่นใจพอสมควร ส่วนที่ จะวิเคราะห์ว่าที่ใดเป็นที่จริงกันแน่ ผู้เขียนว่า ไม่ควรคิดให้เสียเวลา เพราะเรามากราบรอย พระพุทธบาทนั้น ถือเอาเป็น พุทธานุสสติกรรมฐานเป็นสำคัญ จึงขอนำ ตำนานพระพุทธฉาย โดยผู้เรียบเรียงคือ พระศรีสุทัสสมุนีวัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ อัน มีใจความโดยย่อดังนี้



ตำนานพระพุทธฉาย


ในขณะที่พระศาสดาประทับยังพระวิหารบุพพารามในกรุงสาวัตถีนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า “ปิณโฑละ”ได้เกิดศรัทธาทูล ขอบรรพชาอุปสมบทแล้ว พระพุทธองค์จึงทรง มอบให้ พระมหาโมคคัลลาน์เป็นผู้ฝึกสอน จนกว่าจะได้สำเร็จมรรคผล แล้วพระมหาเถระ ก็ได้พาพระปิณโฑละนั้น ไปสู่สถานที่อันวิเวก ต่างๆ หลายแห่ง แต่พระปิณโฑละนั้นก็หาสำเร็จฌานและมรรคผลตามที่ประสงค์ไม่

อยู่มาวันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลาน์จึง ได้พิจารณา ชะรอยว่าอุปนิสัยของเธอนั้น จะ นิยมชมชอบปัจจันตชนบท จึงได้พาพระปิณ โฑละนั้นสู่สุวรรณภูมิประเทศ โดยเหาะมาถึง ภูเขาฆาฏกะ แล้วลงจากภูเขาไปที่บ้านของ“พรานฆาฏกะ”เพื่อสงเคราะห์นายพรานผู้มี ความดุร้าย

หลังจากนั้นไม่นาน พระปิณโฑละก็ได้ สำเร็จพระอรหันต์บนยอดเขาฆาฏกะแล้ว พระ มหาโมคคัลลาน์เห็นว่าควรที่จะทรมานให้นาย พรานฆาฎกะมีความเลื่อมใสในบวรพระพุทธ ศาสนา แล้วจักได้พาญาติพี่น้องและบริวาร พลอยเลื่อมใสไปด้วย แต่มิใช่วิสัยที่เราจะช่วย ได้ เพราะอุปนิสัยของพรานนี้เกี่ยวข้องกับ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรที่เราไป กราบทูลพระพุทธองค์จึงจะดีกว่า

ดังนี้แล้ว พระเถระทั้งสองจึงได้พากัน มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ บุพพาราม แล้วกราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบทุกประการ พระองค์จึงได้ตรัสว่า ในวันพรุ่งนี้ ตถาคตจะ ไปสู่สถานของพรานฆาฏกะโดยลำพัง เพื่อจะยังประโยชน์และความสุขให้เกิดแก่ประชา ชน เป็นจำนวนมาก

ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคก็เสด็จออกจากบุพพารามโดยทางนภากาศ พร้อมด้วยพระรัศมี ๖ ประการ ยังสัตว์ป่า และพนาสณฑ์ให้ได้รื่นรมย์ชมพระบารมี ด้วย พระรัศมีที่ส่องสว่างไปทั่วภูเขาฆาฏกะ ยังทุก สรรพสัตว์ในราวป่าพากันงุนงงหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่อาจที่จะเคลื่อนไหว เหมือนกับมีใครมามัด ตรึงไว้กับที่ เพราะทุกตัวตนมัวแต่ชื่นชมความ สวยสดงดงามของพระพุทธองค์

เมื่อมาใกล้ถึงบ้านพรานฆาฏกะ พระองค์จึงได้ทรงลดพระรัศมีมีอาการดุจพระภิกษุ สามัญเดินลัดป่ามาโดยลำพัง ขณะนั้น พรานกำลังนั่งพักร้อนอยู่กลางลานบ้าน พอเหลือบเห็นพระบรมศาสดาก็นึกเคืองขุ่นคิดในใจว่า เมื่อวานนี้มาสองคนแล้วกลับไป วันนี้ยังจะมาใหม่อีกหนึ่งคน ชรอยว่าคนเหล่านี้จะมีกลอุบายคิดมาทำร้ายเราให้ถึงซึ่งความฉิบหาย

ครั้งนั้น พระศาสดาทำทีเป็นขอที่พัก อาศัย แต่นายพรานก็ไม่ให้บอกว่า เมื่อวานนี้ มีคนแบบเดียวกับท่านมาขออาศัยสองคน แล้วได้ก่อความวุ่นวายให้เกิดขึ้นจนนอนไม่หลับ ในที่สุดก็ต้องขับไล่ให้ออกไปจากที่นี่ ถ้าท่านจะพักก็ไปพักที่เชิงเขาใกล้บ้านข้าพเจ้าก็แล้วกัน

เมื่อนายพรานเปิดโอกาสให้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงเสด็จเข้าประทับอยู่ ณ เชิงเขาฆาฏกะ พระองค์ประสงค์จะทรมานให้ พรานทิ้งพยศ จึงได้ทรงบันดาลให้ฝนตกในบริเวณนั้นตลอด ๓ วัน จนน้ำท่วมสถานที่ และบ้านเรือนของนายพรานและชาวบ้านนั้น

แต่ส่วนที่ประทับนั้น พระองค์ทรงบัน ดาลให้มีหน้าผายื่นเงื้อมออกมาคล้ายกับพัง พานพญานาคกางกั้นน้ำฝนไว้ มิให้ไหลมาต้อง พระวรกายของพระองค์ เมื่อฝนหยุดตกแล้ว นายพรานและชาวบ้านต่างพากันลุยน้ำมายัง เชิงเขา เพื่อเก็บสิ่งของที่ไหลมาตามน้ำ

ครั้นได้เห็นภาพเงื้อมเขาที่เพิ่งจะยื่น ออกมากางกั้นก็แปลกใจ แต่ก็ยังคิดว่าพระผู้มีพระภาคเป็นคนชั่วร้ายทำให้ฝนตก ทำให้ ภูเขาวิปริตผิดเพี้ยนไป จึงพากันขับไล่ให้ออก ไปจากหมู่บ้านทันที แต่องค์สมเด็จพระชินสีห์ ขอต่อรองอยู่อีก ๑ ราตรี

เมื่อถึงราตรีวันนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงอธิษฐานให้หมู่เทพยดาและพระพรหมทั้งหลาย เข้ามาเฝ้า จนกระทั่งบริเวณนั้นออกไปประมาณ ๑ โยชน์โดยรอบ เต็มไปด้วยเทพเจ้าผู้มีศักดา อานุภาพ ยังรัศมีของตนให้โอภาสรุ่งเรืองสุก ใสยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ในกลางวัน ยังบริเวณ ภูเขาฆาฏกะนั้นให้สว่างไสวไปทั่ว

ในคืนนั้น นายพรานและบริวารก็เกิด ความสะดุ้งกลัวว่าไฟป่าจะเกิดมีขึ้น ต่างพากันตระเตรียมที่อพยพจะหลบหนี พอถึงเวลารุ่งสว่างจึงได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วทูลถาม พระองค์จึงได้ทรงเล่าถึง ความที่เหล่าเทพยดาทั้งหลายมาเข้าเฝ้า แสง สว่างที่กระจายไปทั่วภูเขาฆาฏกะ คือรัศมีของ ทวยเทพเหล่านั้น

นายพรานพร้อมด้วยชาวบ้านที่เป็นบริวารได้ยินดังนั้น จึงพากันสรรเสริญในความ ยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วพากันทูล ถามถึงเพศและภาวะของพระองค์ สมเด็จพระ บรมศาสดาจึงตรัสเล่าประวัติพร้อมกับทรง แสดงโทษของการฆ่าสัตว์ว่า

“สัพเพ ตะสันติ ทัณฑัสสะ สัพเพสัง ชีวิตัง ปิยัง อัตตานัง อุปะมัง กัตวา นะ หะเนยยัง นะ ฆาฏะเย”

“สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมสะดุ้งกลัว ต่ออาชญา ชีวิตย่อมเป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งสิ้น บุคคลทำตนให้เป็นอุปมาดังนี้แล้ว ไม่ ควรเบียดเบียนและไม่ควรฆ่า” ดังนี้

สรุปความว่า..คนและสัตว์ทั้งหลายรัก ในชีวิตของตน ย่อมสะดุ้งกลัวต่อการถูกทำร้าย ถ้าเราคิดได้ดังนี้แล้ว ไม่ควรทำเช่นนั้นแล

นายพรานและบริวารได้ฟังพระพุทโธ วาทดังนี้แล้วก็เกิดความเลื่อมใส โดยเฉพาะพรานฆาฏกะได้ทูลขอออกบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล พระฆาฏกะจึงได้เปล่งอุทาน วาจาดังนี้ว่า

“แต่ก่อนนี้ เราเข้าใจผิดมานาน ได้ กระทำการฆ่าสัตว์เสียเป็นอันมาก บัดนี้เรารู้ พระสัทธรรมแล้ว เราไม่กระทำเช่นนั้นอีกต่อไป เราได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงแล้ว เราอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ..”

กล่าวดังนี้แล้ว จึงได้เสวยวิมุตติสุข อยู่ในสมาบัติตลอด ๓ วัน และก่อนที่สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาจะเสด็จกลับ จึงได้ทรง ฉายพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ปรากฏอยู่ ณ เงื้อมผานั้น ซึ่งปรากฏอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ ที่เรียกกันว่า “พระพุทธฉาย” นั่นเอง

ครั้นพระพุทธองค์เสด็จกลับมาถึงพระวิหารบุพพารามแล้ว ได้สดับว่าพระภิกษุทั้งหลาย พากันสนทนาถึงเรื่องพระฆาฏกะว่า ได้เคยกระทำบาปหยาบช้ายากที่จะหนีบาปให้พ้นไปได้พระบรมศาสดาจึงประทานพระพุทธฎีกาว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระฆาฏกะนั้น แม้จะได้ทำบาปไว้เพราะความเขลาในตอนต้น แต่ภายหลังได้ทำกุศลจนได้เป็นพระอรหันต์ จัดว่าเป็นผู้พ้นจากความเกิดแก่เจ็บตายแล้ว” แล้วได้ตรัสเป็นพุทธภาษิตว่า

“บุคคลใดทำกรรมเป็นบาปไว้ แล้วละเสียได้ด้วยกุศล บุคคลนั้นย่อมยังโลกนี้ ให้สว่างดุจพระจันทร์ ที่แย้มออกจากกลีบเมฆ ยังโลกให้สว่าง ฉะนั้น”

เมื่อกล่าวประวัติแต่โดยย่อดังนี้แล้ว พระสงฆ์จึงจุดธูปเทียนรอบรอยพระพุทธบาท ซึ่งได้จัดวางไว้ระหว่างฉัตรเงินฉัตรทองและบายศรีทั้ง ๓ ต้น แล้วเสียงพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้ดังก้องไปทั้งพระมณฑป ส่วนญาติโยมทั้งหลายที่นั่งสงบเงียบอยู่ภายนอก ต่างก็ตั้งจิต อธิษฐานไปตามกระแสเสียง

เมื่อหลวงพ่อทำพิธีบวงสรวงสักการะแล้ว จึงทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกตุมาลาของพุทธรูปยืน (ปางเปิดโลก) ที่ได้ นำไปถวาย พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา แล้ว อัญเชิญเข้าไปประดิษฐานในมณฑปทั้ง ๕ องค์ แทนพระพุทธรูปองค์เดิมที่หายไปนานแล้ว

ต่อจากนั้น ผู้แต่งกายสมมุติเป็นพระเจ้าทรงธรรม พระมเหสี พระราชธิดา และผู้แต่งกายสมัยอยุธยาเข้าประตูมณฑปที่ประดับ ด้วยผ้าแพรสีขาว แล้วก็ได้เข้าไปวางเครื่อง สักการบูชา อันมีเครื่องทองน้อย พุ่มเงินพุ่มทอง และต้นไม้เงินต้นไม้ทอง เป็นต้น แล้ว จึงโปรยข้าวตอกดอกไม้และสรงด้วยน้ำหอม

ต่อไปได้เปิดโอกาสให้ญาติโยมทั้งหลาย ได้เข้าไปกราบไหว้บูชา แล้วออกมาทอดผ้าป่า เพื่อบูรณะวัดพระพุทธฉายกัน พร้อมทั้งมอบรูปภาพรอยพระพุทธบาทไว้เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ได้ร่วมบำเพ็ญกุศล ส่วนเงินที่รวบรวมได้ในครั้งนั้น เป็นเงินทั้งสิ้น ๒๒๒,๔๐๖ บาท

แต่ก่อนที่จะรับพรจากพระสงฆ์ ท่านเจ้าอาวาสคือท่านพระมหาประดิษฐ์ ได้กล่าวสัมโมทนียกถาว่า

“เมื่อคราวที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ เดินทางมาทอดกฐินที่วัดพระพุทธฉายนั้น ท่านได้ขึ้นไปบนยอดเขา เพื่อกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เพิ่งค้นพบใหม่ พร้อม ทั้งได้กล่าวว่า รอยพระพุทธบาทแห่งนี้เก่าแก่มากนะ อาจจะเก่าแก่กว่าที่สระบุรีเสียอีก...”

เมื่อท่านเจ้าอาวาสได้กล่าวจบแล้ว พระสงฆ์จึงให้พร พวกเรากราบพระพร้อมกันแล้ว จึงเป็นการ ฟ้อนรำสมโภชกันต่อไป หลังจากพิธีกรรมต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว พวกเราก็เดิน กันลงมาจากยอดเขา พระสงฆ์ทุกองค์ฉันเพล แล้วก็กราบลาท่านเจ้าอาวาสเดินทางต่อไปยังวัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี

◄ll กลับสู่ด้านบน



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 9/4/08 at 17:16 Reply With Quote



วัดพระพุทธบาทราชวรวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ปี 2538



เชิญชมคลิปวีดีโอ สระบุรี ปี 2538 คลิกที่นี่


เมื่อขบวนรถบัส ๑๒ คัน และขบวนรถเล็กอีกหลายสิบคัน ได้วิ่งเข้ามาจอดภายใน บริเวณวัด ก็ได้รับการต้อนรับจากคณะศิษย์ของหลวงพ่อ จ.สระบุรี อันมี คณะอู่วารี เป็นต้น เชื้อเชิญให้เข้าไปดื่มน้ำกันก่อน แล้วจึงค่อยมาจัดขบวนแห่ที่หน้าวัด นำโดยวงดุริยางค์ของคณะนักเรียน โรงเรียนพิบูลย์วิทยาลัย ลพบุรี ซึ่งมี อ.สำอางค์ ดวงศรีแก้ว เป็นผู้ประสานงาน

ขบวนแรกเป็น “ขบวนพระ”อันมีเสลี่ยงสมเด็จองค์ปฐมเป็นประธาน ติดตามด้วย ขบวนหลวง อันเป็นขบวนของผู้แต่งกายสมมุติเป็น พระเจ้าทรงธรรม พร้อมด้วยข้าราชบริพารทั้ง หลาย ส่วนขบวนที่ ๒ นำขบวนด้วยกลองยาว ตามด้วยเสลี่ยงบายศรีและเสลี่ยงพุ่มผ้าป่า ผู้ร่วมขบวนแต่งกายด้วยชุดขาวเช่นเคย

หัวขบวนมีผู้ถือป้าย “คณะศิษย์พระราชพรหมยาน”ได้เดินนำไปตามถนนนอกวัด แล้วเลี้ยวกลับเข้าทางบันไดนาคพระมณฑป ครั้นแหงนดูขึ้นไปเห็นไม้นั่งร้านกำลังตั้งอยู่รายรอบ แสดงว่าทางวัดกำลังบูรณะอยู่พอดี ขณะที่เดินเข้าประตูอยู่นั้น เสียงประทัดดังขึ้นอย่างสนั่นหวั่นไหว ได้ยินโฆษกของวัดประกาศว่า เป็นการจุดต้อนรับ เพื่อบอกกล่าวต่อเทพเจ้าทั้งหลายให้อนุโมทนา เขาว่าอย่างนั้นนะ

ขบวนพระสงฆ์ขึ้นไปข้างบนพระมณฑปแล้ว มองลงมาข้างล่างเห็น “ขบวนหลวง”กำลังเดินขึ้นมาพอดี บางคนถึงกับบอกว่าการสมมุติเหตุการณ์เช่นนี้ เหมือนกับของจริงเสียนี่กระไร เพราะธงทิวที่ปลิวไสวคล้ายกับพัดเข้าไปอยู่ในอดีตกาลนานมาแล้ว นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี การจำลองภาพอดีตอย่างนี้ มิได้มาทำเหมือนเล่นละครกัน แต่เพื่อผลบางอย่างในเรื่องพิธีกรรม อาจจะทำให้สถาบันทั้ง ๓ ของชาติมั่นคงตลอดไปก็ได้

ถ้าท่านผู้อ่านยังจำได้ถึงตอนที่ผู้เขียนได้เล่าเรื่องการเดินทางไปที่ วัดพระธาตุจอมกิตติ จ.เชียงราย เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๔๐ นั้น ก็เพื่อเป็นพิธีการ ตัดไม้ข่มนาม โดยท่าน พ่อขุนผาเมือง ได้เคยมาบอกหลวงพ่อว่า การที่จะอธิษฐานเรื่องของประเทศชาตินั้น จะต้องมีพระมหากษัตริย์เดินนำประทักษิณรอบองค์พระธาตุ แล้วจึงจะมีผล

แต่สมัยปัจจุบันนี้ ถ้าจะกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาร่วมพิธีนั้นคงจะเป็นเรื่องยาก จึงจำเป็นต้องสมมุติเหตุการณ์กันเช่นนี้ ซึ่งจะมีผลเป็นประการใด ก็ไม่อาจจะทราบได้ นอกจากสังเกต ในขณะทำพิธีจะมีสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์พิเศษหลายลักษณะ ซึ่งมีผู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ มาเล่าให้ฟังกันหลายคน แม้ผู้เขียนเองก็ได้เห็นมาหลายครั้งเช่นกัน

การที่นำมาเล่าให้ฟังนั้น มิได้มีเจตนา จะนำมาอวดอ้าง แต่เพื่อชี้แจงให้เข้าใจว่า ถ้า ทำพิธีกรรมได้ถูกต้องแล้ว ท่านจะรับรองผลให้ทุกครั้ง ดังที่มีผู้พบเห็นเป็นพยานหลายร้อย คนแล้ว อีกประการหนึ่ง ของศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมืองเริ่มปรากฏขึ้น เพื่อเป็นเนื้อนาบุญให้ ผู้หวังสร้างกุศล หลังจากครูบาอาจารย์สิ้นไป แล้ว จะได้รับผลแห่งบุญบารมีเต็มครบถ้วน อย่างรวดเร็ว

ดังจะเห็นได้ว่า ในขณะที่จัดกิจกรรม เช่นนี้ โดยหลักการแล้วถือว่าเป็นกิจกรรมภาย นอก ซึ่งมองดูแล้วไม่ค่อยจะเหมาะสม ผู้เขียน เองก็ไม่เต็มใจที่จะทำเท่าไรนัก แต่เมื่อทำไปแล้ว ท่านรับรองผลให้เห็นเป็นอัศจรรย์จะเรียกว่า “ฟ้าเป็นพยาน” ก็ได้ จึงทำให้เบาใจไปได้บ้าง โดยเฉพาะการเดินทางไปแต่ละภาคแต่ละครั้ง มักจะประสบกับการที่จะต้องไปบูรณะพอดี



มณฑปครอบพระพุทธบาทกำลังบูรณะพอดี


นับว่าได้มีโอกาสไปบูรณปฏิสังขรณ์ทุกแห่ง นับตั้งแต่ครั้งแรกพอดีที่ภาคเหนือ ขณะกำลังบูรณะพระวิหารครอบ รอยพระพุทธบาท ๔ รอยจ.เชียงใหม่ ที่ท่าน ครูบาเจ้าศรีวิชัย สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๒

ปีต่อมาก็เดินทางไปภาคใต้ ก็ได้ไปซ่อมพระมหาธาตุจ.นครศรีธรรมราช แล้วไปถึงภาคอีสานในปี ๒๕๓๘ ก็บังเอิญต้องไปบูรณะ พระธาตุพนม จ.นครพนม หลังจากนั้นจึงได้มาปฏิสังขรณ์พระมณฑป วัดพระพุทธบาท จังหวัด สระบุรี จึงถือว่าเป็นจังหวะพอดีอีกเช่นเคย

เพราะฉะนั้น การเดินทางออกไปไม่ไร้ผล เนื่องจากบางแห่งก็เป็นการตามรอยของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ที่ท่านเคยนำคณะศิษย์ไปกันมาก่อนแล้ว การนำลูกหลานของหลวงพ่อรุ่นหลัง ถือว่าเป็นการสืบสานงานของ ท่านต่อไป เพราะส่วนใหญ่เป็นสถานที่สำคัญ ทั้งนั้น เช่น วัดพระธาตุจอมทอง วัดพระธาตุหริภุญชัย และ วัดจามเทวี เป็นต้น

อีกประการหนึ่ง เป็นความต้องการที่จะกราบรอยพระพุทธบาทให้ครบทั้ง ๔ ทิศตามที่พระพุทธองค์ได้เคยเสด็จมาณกรุงสุวรรณภูมิ เพื่อฝากพระพุทธศาสนาไว้ในดินแดนแห่งนี้ให้ครบถ้วน ๕ พันปี จึงได้ไปประกอบพิธีกรรมเพื่อผลบุญอันมหาศาล พร้อมทั้งช่วยกันอธิษฐานขอให้สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ได้คงอยู่คู่เมืองไทยตลอดไป

ขอวกกลับมาเล่าเรื่องต่อไปว่า เมื่อพวกเราเดินขึ้นมาถึงพระมณฑปแล้ว ต่างก็นั่งราย ล้อมบริเวณนั้น คงจะแออัดยัดเยียดพอสมควร ส่วนพระสงฆ์ต่างแยกย้ายกันไปนั่งในวิหารบ้าง นั่งในพระมณฑปบ้าง ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่กำลัง จัดเตรียมที่โต๊ะบายศรีและโต๊ะหมู่บูชา ครั้น เสร็จแล้วจึงนั่งฟังเรื่องราว ที่ได้ค้นคว้ามาจาก พงศาวดารต่างๆ กันต่อไป...

ll กลับสู่ด้านบน



ประวัติการสร้างพระมณฑป


วัดพระพุทธบาทแห่งนี้ เป็นพุทธสถานที่เก่าแก่มานาน เป็นที่เคารพสักการะจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์ไทยทรงทะนุบำรุงเป็นลำดับมา โดยนับตั้งแต่พระเจ้าอู่ทอง ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาที่ ตำบลหนองโสน แล้ว พระองค์ทรงระลึกถึงรอยพระพุทธบาทขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ณ ยอดเขาสุวรรณ บรรพตนั้น ว่าเป็นปูชนียสถานอันสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่สักการบูชาของเทพยดาและมนุษย์

อันจะให้เกิดบุญญานิสงส์หาประมาณมิได้ จึงทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงมณฑปพระพุทธบาท ให้ลงรักปิดทองงามเรืองรองอร่ามและสร้างศาลา โรงธรรมและศาลารายรอบบริเวณ ให้เป็นที่พัก อาศัยของคนทั้งหลายที่ไปมานมัสการ

ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าเล่าต่อไปว่า ครั้นการสร้างซ่อมแปลงเสร็จแล้ว พระองค์จึงเสด็จพร้อมด้วยโยธาทวยหาญ ทั้งพระสนมนาฏราชบริพาร ขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทแล้ว เสด็จประทับแรม ณ พลับพลาค่าย หลวงใกล้บริเวณพระพุทธบาท ให้มีมหกรรม ฉลองการปฏิสังขรณ์ต่างๆ ที่พระองค์ได้ทรงให้ซ่อมแปลงพระพุทธบาทในครั้งนี้ ทรงบริจาคบำเพ็ญทานการพระราชกุศลสิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก แล้วจึงเสด็จกลับยังพระนคร



สมัยพระเจ้าทรงธรรม


ต่อมาพระราชบุตรและพระราชนัดดา เชื้อพระราชวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีได้ครองราชสมบัติเป็นลำดับไปหลายพระองค์จนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ หลังจากพระองค์สวรรคตแล้ว บรรดาข้าราชการทั้ง ปวงจึงยก พระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเป็นพระราช นัดดาของพระสุธรรมราชา ขึ้นครองราชย์

พระเจ้าทรงธรรมองค์นี้ แต่เดิมเป็นพระภิกษุ เรียกในพระราชพงศาวดารว่า พระศรีสิน บวชอยู่ วัดระฆัง รู้พระไตรปิฎก ได้เลื่อน สมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมอนันตปรีชา

ต่อมา จมื่นศรีเสาวรักษ์ บุตรเลี้ยง และศิษย์โยมได้สมคบกันสำเร็จโทษ เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์แล้วอัญเชิญ พระพิมลธรรมฯ ขึ้นเสวยราชย์ เมื่อ พ.ศ.๒๑๖๓ ในคำให้การของชาวกรุงเก่ากล่าวว่า ได้ถวายพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าติโลกนาถเพราะพระองค์ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม อาณาราษฎรทั้งปวงจึงเรียกว่า พระเจ้าทรงธรรมอันมหาประเสริฐ ดังนี้

สมเด็จพระเจ้าติโลกนาถมีพระมเหสี ๒ พระองค์ คือ พระนางจันทชายา และ พระนางขัตติยเทวี พระนางจันทชายาทรงมีพระราชธิดา ๔ พระองค์ มีพระนามตามลำดับดังนี้ว่า ปทุมาเทวี สุริยา จันทาเทวี และ ศิริกัลยา ส่วนพระนางขัตติยเทวีทรงมีพระราชธิดา ๔ พระองค์เช่นกัน คือ อุบลเทวี นภาเทวี อรบุตรี และ ขนิษฐาเทวี

พระเจ้าติโลกนาถหรือ “พระเจ้าทรง ธรรม” นั้น ทรงรอบรู้พระไตรปิฎกมาก ทรง มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่ง กว่าพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ ทรงสมาทานศีล ๕ เป็นนิจ ทรงสมาทานอุโบสถศีลเดือน ละ ๔ ครั้ง ทั้งทรงพระอุตสาหะบอกพระไตร ปิฎกแก่ภิกษุและสามเณร ทรงเล่าเรียนพระ กรรมฐาน ชำนาญทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ

พระองค์ทรงแต่ง มหาเวสสันดรชาดก มาแต่เมื่อครั้งนั้น แล้วจึงทรงแต่งกาพย์โคลง ฉันท์และคำพากย์ต่างๆ ทั้งสวดประสานเสียง โอดคร่ำครวญต่างๆ ก็มีมาแต่ครั้งนั้น พระองค์ ก็แต่งเป็นศัพท์เป็นแสงเป็นคำหลวงและพระราชนิพนธ์ก็มีมาแต่ครั้งนั้น อีกทั้งพระองค์ยังได้ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดทรุดโทรม ให้อยู่ในสภาพที่ปกติขึ้นเป็นอันมาก

แม้กิจการบ้านเมืองทั้งปวง ก็เอาเป็น พระราชธุระ วินิจฉัยโดยราชธรรมเที่ยงตรง คดี ที่ถึงประหารชีวิต ทรงลดหย่อนผ่อนให้เบาลง เพียงจองจำพอสมควร คดีที่ควรจะรับพระราช อาญาหนัก ก็ให้รับแต่อาญาที่เบา คดีที่เบาก็ ทรงพระราชทานอภัยโทษเสียทีเดียว

อันบรรดาพระมหากษัตริย์ทั้งปวงแต่ก่อนมา เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาททุกปีมิได้ขาด แต่พระเจ้าติโลกนาถนั้น ทรงเห็นว่าลำบากแก่ข้าราชบริพารนัก พระองค์นี้ทรงพระเมตตากับอาณาประชาราษฎร์ยิ่งนัก นานๆ จึงจะเสด็จครั้งหนึ่ง

อันพสกนิกรเมื่อครั้งนั้น ได้อยู่เย็นเป็นสุขทั้งเมืองกรุงและทั้งขอบขัณฑเสมาทั้งสิ้น อันเครื่องอุปโภคที่มีในพระราชฐาน อันที่พระองค์จักทรงนั้น พระองค์บูชาพระรัตนตรัยก่อนแล้ว จึงไถ่เอาตามมูลค่าแล้วจึ่งทรง ส่วนเรือพระที่นั่ง ที่ทรงนั้น พระองค์เชิญเสด็จพระขึ้นทรงก่อน แล้วพระองค์จึ่งทรง

คราวนั้นมีพวกพ่อค้าญี่ปุ่นบรรทุกสินค้าเข้ามาขายในพระนครศรีอยุธยาลำหนึ่ง อำมาตย์คนหนึ่งเป็นคนทุจริต แอบอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้ซื้อของต่างๆ ครั้นพวกพ่อค้าญี่ปุ่นขายให้แล้ว อำมาตย์ผู้นั้นก็เอาเงินทองแดงให้ แก่พ่อค้าญี่ปุ่น พ่อค้านั้นรับเงินทองแดงไว้โดย ไม่ทันพิจารณา

ครั้นอำมาตย์นั้นไปแล้ว พ่อค้าญี่ปุ่น จึงเอาเงินออกมาดูเห็นเป็นเงินทองแดงทั้งนั้นก็ โกรธ ว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไม่ตั้งอยู่ในธรรม ใช้เงินทองแดง จึงให้คนใช้มีฝีมือ ๔ คน ซ่อน อาวุธลอบเข้าไปในพระราชวัง

ในขณะที่พระเจ้าติโลกนาถเสด็จออก บอกพระปริยัติธรรมแก่พระสงฆ์อยู่ที่หน้าพระ จักรวรรดิพิมานชัย ญี่ปุ่นมันล่วงเข้าไปได้จน ถึงพระองค์ แล้วจะชักอาวุธออกทำร้าย แต่ด้วยบุญญาภินิหารแห่งพระองค์ บันดาลให้ญี่ปุ่น ทั้ง ๔ คนนั้นชักอาวุธไม่ออก ข้าราชการซึ่ง เฝ้าอยู่เห็นพิรุธก็พากันจับค้นได้อาวุธทั้ง ๔ คน

เมื่อพระเจ้าทรงธรรมทรงรับสั่งถามจน ได้ความแล้ว จึงรับสั่งให้อำมาตย์ทุจริตนั้นมา สอบสวน จนได้ความเป็นสัตย์ว่า เอาเงินทอง แดงไปซื้อสิ่งของของชาวญี่ปุ่นจริง จึงพระราช ทานเงินดีให้ไปแก่นายสำเภา แล้วให้ปล่อยพวก ญี่ปุ่นเสียมิได้เอาโทษ

ต่อมาพระองค์ทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างวัด สำหรับพระสงฆ์เล่าเรียนพระปริยัติ ธรรมขึ้นอีก ๒ วัดคือวัดพุทไธสวรรย์และวัดธรรมิกราช แล้วทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ตราบเท่าสวรรคต เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๗๑ รวมอยู่ในสิริราชสมบัติ ๘ ปี

สำหรับประวัติการสร้างพระมณฑปตาม ที่เล่าไว้แล้วว่า มีการสร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้นานแล้ว ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเสียอีก เมื่อทรงวางรากฐานบ้านเมืองแล้ว จึงมาปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาท และคงจะได้รับการทำนุบำรุงจากพระมหากษัตริย์เป็นลำดับมา

แต่ระหว่างก่อนถึงรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ปรากฏว่าพระมณฑปพังไปหมดแล้ว พระพุทธบาทคงเป็นสภาพป่าไป โดยไม่มีใครรู้จักแต่ในหนังสือคำให้การขุนโขลนเล่าว่า

ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียทีแก่ พระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ พระองค์จึงให้กวาดเอาไพร่พล กับ พระนเรศวร และพระเจ้าพี่นาง นั้นไปแต่นั้นมาหามีผู้ใดรักษาพระพุทธบาทไม่ พระ พุทธบาทก็ลี้ลับอยู่ช้านาน

ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระภิกษุสงฆ์ไทยคณะหนึ่งเดินทางไปเมืองลังกา เพื่อจะไปบูชารอยพระพุทธบาทที่ เขาสุมนกูฏ พระสงฆ์ลังกาถามว่า รอยพระพุทธ บาทที่มีอยู่ ๕ แห่งนั้น รอยหนึ่งอยู่ที่ เขาสุวรรณบรรพต ซึ่งอยู่ในประเทศไทย คนไทย ไม่ไปบูชารอยพระพุทธบาทที่นั่นดอกหรือ จึง ต้องออกมาบูชาถึงลังกาทวีป..?

พระภิกษุสงฆ์พวกนั้นจึงกลับนำความ มาทูลพระเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงโปรดให้มีตรา สั่งหัวเมืองต่างๆ เที่ยวตรวจค้นดูตามภูเขาว่า จะมีรอยพระพุทธบาทอยู่แห่งใดหรือไม่

พอดีกับในครั้งนั้น ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีสืบได้ความจากพรานบุญ ว่าได้ไปไล่เนื้อในป่าริมเชิงเขา ยิงถูกเนื้อตัวหนึ่งบาดเจ็บแล้วหนีขึ้นไปบนไหล่เขาเข้าไปในพุ่มไม้ แต่ พอสักครู่หนึ่ง ก็เห็นเนื้อตัวนั้นวิ่งออกจากพุ่ม ไม้ไปเป็นปกติดังเก่า

พรานบุญก็นึกประหลาดใจ จึงขึ้นไป ดูบนไหล่เขา เห็นมีรอยอยู่ในศิลาเหมือนรูปเท้า คน และมีน้ำขังอยู่แต่พอเนื้อและนกกินได้ ก็สำคัญว่าเนื้อตัวนั้นคงหายจากบาดเจ็บเพราะกินน้ำนั้น จึงลองตักน้ำนั้นมากินและทาตัว ก็ปรากฏว่ากลากเกลื้อนที่เป็นอยู่มานานก็หายไปหมด จึงบอกให้ทางการทราบ

เมื่อผู้ว่าราชการแจ้งเรื่องมาทางพระราชสำนัก เพื่อกราบทูลเรื่องนี้แล้ว พระองค์จึงเสด็จออกไปทอดพระเนตร เห็นรอยนั้นแล้ว ก็ทรงแน่พระทัยว่าเป็นรอยพระพุทธบาท จึงทรงโสมนัสศรัทธายิ่งนัก ด้วยเห็นว่าเป็นพุทธสถานที่เนื่องชิดติดต่อถึงพระพุทธองค์ อันประเสริฐกว่าพระพุทธรูปหรือพระสถูปเจดีย์ ซึ่ง เป็นของสร้างกันขึ้นโดยสมมุติ

ครั้นกลับมายังกรุงศรีอยุธยา จึงทรงเริ่มงานสถาปนายกที่พระพุทธบาทขึ้นเป็นพระมหาเจดียสถาน โปรดให้สร้างมณฑปยอดเดียว สวม ณ รอยพระบาท กำหนดเป็นพุทธเจดีย์ และสร้างปูชนียวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูป พระอุโบสถ พระวิหาร เป็นต้น และทรงพระราชอุทิศที่ดินโยชน์หนึ่งโดยรอบรอยพระพุทธ บาทถวายเป็นพุทธบูชา

และทรงสร้างพระตำหนักที่ ท่าเจ้าสนุก ริมลำน้ำป่าสักอีกแห่งหนึ่ง กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่างฝรั่ง ชาวฮอลันดา ส่องกล้องทำถนน ตั้งแต่ท่าเรือขึ้นไปจนถึงเชิงเขา เพื่อให้ประชาชนเดินทางไปนมัสการได้โดยสะดวก

ต่อมาสมัยพระเจ้าปราสาททองระหว่าง พ.ศ.๒๑๗๒ ถึง พ.ศ.๒๑๙๙ โปรดให้ตกแต่งภูมิประเทศบริเวณพระพุทธบาท เช่นที่ เป็นที่ประพาส แล้วสร้างพระตำหนักที่ประทับเพิ่มขึ้นขนานนามว่า พระตำหนักธารเกษม ตกแต่งพระตำหนักที่ ท่าเจ้าสนุก โดยแปลงเป็นก่ออิฐถือปูน แล้วให้ขุดบ่อน้ำ ทำศาลารายตามริมทางขึ้นพระบาท เพื่อประชาชน จะได้พักอาศัยในระหว่างทาง และได้มีน้ำดื่ม ดับความกระหายอีกด้วย

ครั้นถึงสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ.๒๑๙๙ ถึง พ.ศ.๒๒๓๑ โปรดให้สร้างถนนเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน ตั้งแต่เมืองลพบุรีไปจนถึงเขาสุวรรณบรรพต และให้สร้างอ่างแก้วและก่อกำแพงกั้นน้ำตาม ไหล่เขา ชักน้ำฝนให้ไหลลงสู่อ่างแก้ว เพื่อให้ ประชาชนได้บริโภค เพราะในหน้าแล้งบริเวณนี้ กันดารน้ำมาก จึงเป็นการบรรเทาความทุกข์ ให้กับราษฎรที่ไปชุมนุมแสวงบุญ

เมื่อมาถึงรัชสมัย พระเจ้าเสือ ระหว่าง พ.ศ.๒๒๔๖ ถึง พ.ศ.๒๒๕๑ ทรงโปรดให้ เปลี่ยนยอดพระมณฑป จากเดิมยอดเดียวมา เป็น ๕ ยอด

ในคำให้การชาวกรุงเก่าเล่าว่า ในสมัย พระเจ้าบรมโกศ ระหว่าง พ.ศ.๒๒๗๕ ถึง พ.ศ.๒๓๐๑ มณฑปพระพุทธบาทนั้นให้ลงรัก ปิดทอง ข้างในมณฑปให้แผ่เงินปูเต็มตลอด ส่วนที่รอยพระพุทธบาทนั้น ให้บุทองคำเป็น ลายบัวหงายประดับรอย แล้วให้เอาทองคำมา จำลองเป็นรอยพระพุทธบาท ประดับด้วยพลอย แดงปิดไว้บนรอยพระพุทธบาทนั้น ซึ่งพระพุทธ บาททองคำจำลองนี้ ปัจจุบันนี้เก็บไว้ในพิพิธ ภัณฑสถานพระพุทธบาท สำหรับทองคำที่นำ มาทำนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๐ ทรงเกณฑ์คนไป ร่อนทองที่บางสะพาน

ในรัชสมัย พระเจ้าเอกทัศ นั้น เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๙ กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าล้อมไว้ พวก จีนบ้านคลองสวนพลู อาสาสู้ศึก ต่อมาได้ คบคิดกันประมาณ ๓๐๐ คน คุมกันขึ้นไปยังพระพุทธบาท แล้วเอาไฟสุมลอกเอาทองคำที่ หุ้มพระมณฑปน้อย และแผ่นเงินที่ปูลาดพื้น พระมณฑป เอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้วเผาพระมณฑปเสีย

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๓๓๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้ สมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จขึ้นไป อำนวยการสร้างพระมณฑปพระพุทธบาทขึ้นใหม่ของเดิมครั้งกรุงศรีอยุธยาทำเป็น ๕ ยอด เห็น ไม่งาม จึงให้แก้เป็นยอดเดียว

สมัย สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ ทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑปใหม่ เพราะมีเหตุไฟ ที่เทียนบูชาไหม้ม่านทอง แล้วเลยไปไหม้พระมณฑปน้อยทั้งองค์ จึงโปรดให้สร้างพระมณฑปน้อยขึ้นใหม่ โดยปิดทองที่ผนังมณฑปและล่อง ชาดไว้เหมือนของเดิม

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้างเครื่องบนพระมณฑปใหญ่ และสร้างพระมณฑปน้อย เปลี่ยนของที่ทำครั้งก่อนให้งดงามมั่นคงกว่าเก่า และเปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑปเป็นเสื่อเงิน

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทถึง ๔ ครั้ง ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหาร หลวง และให้ซ่อมผนังภายในพระมณฑป ให้เขียนเป็นลายทอง และบันไดนาคทางขึ้นพระมณฑปนั้นเดิมมีเพียง ๒ ช่องทาง โปรดให้สร้างขึ้นใหม่อีก ๑ ทาง จึงเป็น ๓ ทาง และ ในตอนปลายรัชกาลที่ ๕ เครื่องบนของพระ มณฑปองค์ใหญ่ชำรุดมาก จึงต้องรื้อของเดิม แล้วทำใหม่ทั้งหมด และโปรดให้สร้าง พระจุลมงกุฎ เพื่อประดับเหนือพุ่มข้าวบิณฑ์ยอดพระ มณฑป แต่ยังไม่ทันได้ยกก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จพระ ราชดำเนินไปยกยอด พระจุลมงกุฎ แล้วให้สร้างเครื่องสูงประดิษฐานในพระมณฑป อุทิศเป็นพุทธบูชา ปัจจุบันเครื่องสูงนี้ นำไป เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานพระพุทธบาท

เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕ ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนยอดพระมณฑปใหญ่ ซึ่งของเดิมนั้น สร้างด้วยไม้ ให้เปลี่ยนเป็นคอนกรีตทั้งหมดและโปรดให้ซ่อมวิหารอื่นๆ อีกเช่น ซ่อมวิหาร หลวงเพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑสถาน รวบรวมบริขารและเครื่องสักการบูชาต่างๆ จัดแสดง และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชมและศึกษาหา ความรู้อีกด้วย

ต่อมา สมเด็จพระพุฒาจารย์(นวม) วัดอนงคาราม ได้จัดการซ่อมแซมครั้งหลังสุด โดยขยายยอดพระมณฑปให้สูงขึ้นไปอีก เครื่อง บนและเสาลงรักปิดทอง ครั้นถึงวันที่ ๙ มี.ค. พ.ศ.๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธียกจุลมงกุฎสถิตเหนือยอดพระมณฑปนั้น

เป็นอันว่า สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี อันเป็นปัจจุบันสมัยนี้ พระมณฑปที่เคยรุ่งเรืองมา ต้องกลับทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ทั้งนี้ ตลอดกาลทุกยุคทุกสมัย ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์ ภายใต้เอกอัครศาสนูปถัมภก ของอดีตพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าตลอดมาตาม ที่ได้ลำดับมาแล้วนั้น

บัดนี้ กาลเวลาได้ล่วงเลยจนมาถึงกึ่งพุทธกาล โบราณพุทธสถานแห่งนี้ ที่มีความสวยสดงดงาม ดูเด่นเป็นสง่า เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ ที่คงไว้ในด้านศิลปกรรมที่ วิจิตรบรรจงยิ่ง ก็ต้องทรุดโทรมลงไปตามกฎของธรรมชาติ ถึงอย่างไรก็ตามบางกาลบางสมัยในอดีต พวกเราอาจจะเคยร่วมสร้างหรือมิได้ร่วมสร้างก็ตาม แต่มาในชาตินี้ถือว่าเป็นบุญ ที่ได้ทันในวาระที่กำลังซ่อมแซมอยู่พอดี จึงขอนำเรื่องดีๆ มาเล่าสู่กันฟังต่อไป.

ll กลับสู่ด้านบน




หลวงพ่อธุดงค์


สำหรับที่ พระพุทธฉายและ พระพุทธบาทนี้เป็นสถานที่ที่หลวงพ่อเคยธุดงค์มากับ หลวงพ่อปานโดยท่านได้เล่าไว้ในหนังสือประวัติหลวงพ่อปานตอนไปนมัสการพระพุทธบาทว่า

“...นอกจากมีรอยพระพุทธที่ไม่ปลอมซ่อนอยู่ใต้รอยพระพุทธบาทเทียม ที่ท่านสร้างคลุมของเก่าไว้แล้ว ยังมีพระบรมสารีริกธาตุที่พระอรหันต์ท่านนำมาบรรจุไว้อีก ๓ องค์ หลังจากหลวงพ่อปานอธิษฐานแล้ว ก็ปรากฏเป็นดวงดาวดวงใหญ่ ประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐๐ เซ็นต์กว่า ใหญ่เหลือเกินขึ้นมาจากยอดเขาที่พระพุทธบาท มี ๓ ดวงด้วยกัน มีแสง สว่างมาก

ดวงดาวดวงนั้นตั้งอยู่ที่ยอดเขานานประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วก็ลอยวนรอบเขา ๓ รอบ แล้วมาตั้งอยู่ที่พระพุทธบาทนานประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วค่อยๆ เลื่อนไปที่เดิมอย่างช้าๆ เมื่อคณะธุดงค์ทั้งห้ามีหลวงพ่อปานเป็นประมุข นมัสการพระพุทธบาทและอยู่ในบริเวณนั้นรวม ๓ วันแล้ว แต่ละท่านก็ออกเดินทางไปพระพุทธฉาย หลวงพ่อปานท่านก็บอกให้ทดสอบ เรื่องพระพุทธฉายว่า พระพุทธเจ้ามาฉายไว้ จริงหรือเปล่า มีใครเป็นต้นเหตุให้พระพุทธ เจ้ามาฉาย

คณะ ๔ ลิงหน้าพลับพลาต่างก็ตรวจตามความสามารถ ผลงานที่เขียนไว้ตรงกันคือ เห็นแถวบริเวณพระพุทธฉายเป็นเขตใกล้ทะเล มีคน ๒ คน คนหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว หน้ามนๆ อีกคนหนึ่งผิวดำ สันทัดคน ร่าง เล็กกว่าคนก่อน เป็นหัวหน้าสร้างที่พักด้วยไม้ เหลือง เสร็จแล้วนิมนต์พระพุทธเจ้ามาพร้อม ด้วยพระสาวกไม่กี่รูป เมื่อพระองค์ทรงเทศน์จบแล้วจะกลับ เขาสองคนขอให้พระองค์ทรงทำของที่ระลึก ท่านเลยเนรมิตรูปท่านกับพระอัครสาวกทั้งสองไว้เพื่อให้เขาบูชา

เมื่อยามค่ำปรากฏการพิสูจน์ก็มีขึ้น แต่ผลที่ปรากฏไม่ใช่ดวงดาว แต่ปรากฏเป็นรูป พระพุทธเจ้าอย่างพระสงฆ์ สวยบอกไม่ถูก มีรัศมีช่วงโชติพุ่งออกจากพระวรกาย สวยงามมาก ดูเหมือนคล้ายเอานีออนไปประดับ แต่สวยกว่าแสงไฟฟ้ามาก มีพระโมคคัลลาน์พระสารีบุตร นั่งองค์ละข้าง ลืมตาดูสบาย ดูแล้วเกิดธรรมปีติ

พอรุ่งสางท้องฟ้ามีสีทองปรากฏ คณะธุดงค์ก็ออกบิณฑบาตตามปกติ ไม่ได้ไปไกล เพราะเห็นมีต้นไม้ใหญ่มีสาขางามสะพรั่ง ต่างก็มั่นหมายไว้ตั้งแต่ตอนมาถึงว่า ต้นนี้แหละ เป็นโรงผลิตอาหารในวันพรุ่งนี้ อยู่ห่างจากที่ปักกลดไม่ถึง ๒๐ วา ต่างก็เอาบาตรไปแขวนตามเคย เมื่อได้อาหารมาแล้วก็ฉันกันหมดบาตร ความจริงได้มาประมาณ ๓ ทัพพีเท่านั้นเอง”

ครั้นเล่า“ประวัติการสร้างพระมณฑป”จบและแถมด้วย“หลวงพ่อธุดงค์”แล้ว ตัวแทนกษัตริย์จึงออกไปจุดธูปเทียนที่โต๊ะบวงสรวง และโต๊ะหมู่บูชาที่ตั้งอยู่หน้าพระมณฑป ส่วนพระสงฆ์ที่นั่งรออยู่ข้างในก็ได้จุดเทียนรอบรอยพระพุทธบาทเช่นกัน แล้วจึงเปิดเทปบวงสรวงและกล่าวคำนมัสการรอยพระพุทธบาท ดังนี้

“ข้าพเจ้าวันทาสักการะ พระพุทธผู้พ้นจากภพสาม เป็นธงชัยไตรโลกอันเรืองนาม เพราะเหตุข้ามจากภพหลบพ้นภัย เป็นที่พึ่ง อย่างประเสริฐเลิศลบ ของไตรภพพื้นสุธาสัตว์ อาศัย ผู้ประเสริฐสุดแสนในแดนไตร ตัดกิเลส ได้โดยสกล ปลุกประชาหาที่สุดมิได้ ให้ตื่นใจ ได้ประจักษ์ลุมรรคผล

พระบาทใดพระสุคตทศพล แสดงไว้ใน ตำบลต่างๆ กัน ห้าสถานนามขนานมีดังนี้ บน ยอดคีรีศรีขเรศร์นามเขตขัณฑ์ สุวรรณมาลิก แจ้งแหล่งสำคัญ อีกสุวรรณบรรพตกำหนดนามยอดภูเขาสุมนาซึ่งปรากฏ โดยกำหนดชื่อมีเป็น ที่สาม ที่โยนกประเทศบ่งเขตคาม ที่ห้านาม นัมมทาคงคาลัย ข้าพเจ้าขอไหว้รอยพระบาท พระโลกนาถนามแจ้งตำแหน่งไข ตามที่กล่าว มานี้แต่ที่ไกล ด้วยน้อมใจวันทาสาธุการ...”

ต่อจากนั้นจึงเป็นการฟ้อนรำบวงสรวง ชุดระบำลพบุรีแล้วตัวแทนกษัตริย์นำเครื่องสักการะเข้าไปบูชาที่รอยพระพุทธบาทภายในพระมณฑป พร้อมกับโปรยข้าวตอกดอกไม้ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ตีฆ้องลั่นกลองชัย แล้วจึงเปิดโอกาสให้ญาติโยมทั้งหลายเข้าไป กราบนมัสการรอยพระพุทธบาทต่อไป

เมื่อเสร็จพิธีสักการบูชาแล้ว จึงเป็นพิธีการทอดผ้าป่า ซึ่งมีพระสงฆ์วัดพระพุทธบาท มานั่งรออยู่ในวิหารข้างพระมณฑปนานแล้ว อันมีท่านเจ้าคุณ พระราชรัตนสุธี เจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดสระบุรี เป็นประธาน โดยได้รับเงินทำบุญ รวมทั้งสิ้น ๑๑๐,๕๑๐ บาท

สำหรับการประเคนเครื่องไทยทาน ก็มีผู้แต่งกายสมมุติเป็น พระเจ้าทรงธรรมพระมเหสีทั้ง ๓ พระองค์ และพระราชธิดา ๘ พระองค์ พร้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าราชบริพาร ต่างก็เข้าไปถวายปัจจัยไทยทานแด่พระสงฆ์ แล้วท่านเจ้าอาวาสจึงกล่าวสัมโทนียกถาว่า

ท่านรู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ที่บรรดาลูกหลานหลวงพ่อต่างก็เดินทางกันมา มากมาย ไม่นึกว่าหลังจากหลวงพ่อสิ้นไปแล้ว พวกเราก็ยังรวมตัวกันได้เช่นนี้ นับว่าทุกคนยังมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในวิหารหลังนี้ แต่เดิมก็เคยเป็นสถานที่ พระเจ้าทรงธรรมบำเพ็ญพระราชกุศลมาแล้ว เช่นเดียวกับที่พวกเรามาสมมุติจัดทำกันอยู่นี้

ครั้นท่านกล่าวจบแล้ว จึงอุทิศส่วนกุศล พระสงฆ์ให้พรแล้วจึงกราบลาท่าน หลังจากนั้น พวกเราก็เริ่มทยอยลงมาทางบันไดนาค เพื่อมาชมการแสดงชุด รำกระบี่กระบอง เป็นการรำสมโภช แล้วจึงจุดพลุขึ้นท้องฟ้า เป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งถือว่าได้ทำครบถ้วนทั้งสองแห่งในวันเดียวกันนี้ หลังจากนั้นต่างก็เดินทางกลับ.

<<ll กลับสู่ด้านบน



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 28/8/10 at 10:41 Reply With Quote



งานพิธีบำเพ็ญกุศลครบรอบ ๓ ปี

พระเดชพระคุณหลวงพ่อมรณภาพ




เชิญชมคลิปวีดีโอ งานหลวงพ่อมรณภาพ ครบรอบ ๓ ปี

ก่อนที่จะติดตามรอยพระพุทธบาทไปที่วัดพระแท่นดงรังจ.กาญจนบุรี ยังมีงานสำคัญ อีกงานหนึ่งที่ยังมิได้เล่า..นั่นก็คือ งานครบรอบ ๓ ปี ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อมรณภาพซึ่งทางวัดได้จัดงานตรงกับวันที่ ๒๘-๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๘ คือหลังจากงานที่จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๘ แล้วนั่นเอง

โดยก่อนที่จะเดินทางกลับจากวัดพระพุทธบาทสระบุรีในวันนั้น ก็แจ้งให้ญาติโยมทั้งหลายทราบว่า งานต่อไปจะเป็นงานครบรอบ ๓ ปีที่วัดท่าซุง และวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๙ จะเป็นงานรวมภาคที่วัดพระแท่นดงรัง หลังจากนั้นทุกคนต่างก็แยกย้ายกันกลับ แต่ในขณะนั้นบางคณะยังยืนถ่ายรูปตรงบันไดนาคทางขึ้นพระมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท ทุกคนหันหน้าไปทางทิศตะวันตก พอดีเป็นเวลาเย็นประมาณ ๑๗.๓๐ น. มองไม่เห็นพระอาทิตย์แล้ว เพราะเมฆฝนเริ่มตั้งเค้ามา

แต่ในขณะที่ยืนให้ช่างกล้องถ่ายภาพนั้น สายตาของทุกคนเหลือบขึ้นมองท้องฟ้าเห็น ปรากฏการณ์พิเศษ คือมีแสงสว่างเป็นลำพุ่ง กระจายหลังก้อนเมฆก้อนหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะ เหมือนคนนอนหงายคล้ายมีหมอนหนุนอีกด้วย ดังที่นำรูปภาพมาเป็นตัวอย่างนี้

ลักษณะของแสงสว่างที่พุ่งขึ้นมานี้ มองดูแล้วไม่ใช่แสงของพระอาทิตย์ เพราะขณะนั้นมองไม่เห็นพระอาทิตย์แล้ว แต่ท้องฟ้าก็ยังพอสว่าง ไม่มืดเสียทีเดียว แสงสว่างกระจายหลังก้อนเมฆสักครู่ ก็มีแสงเป็นสีหลายสีค่อยๆ เคลื่อนตามขึ้นมาช้าๆ หลังก้อนเมฆก้อนนั้นอีก สีที่เห็นเป็นเหมือนสีรุ้ง สวยสว่างงดงามตามาก



ถ้ามองจากภาพสีจะเห็นแสงหลายหลากสีชัดเจนสีเหล่านี้จะเคลื่อนอย่างช้าๆ ตามลักษณะของก้อนเมฆ คือก้อนเมฆตรงศีรษะโค้งลงมาตามส่วนลำตัว แต่ที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งคือ ก้อนเมฆโค้งลักษณะไหน แสงสีรุ้งนี้ก็จะโค้ง ตามก้อนเมฆได้ ถ้าสังเกตตามภาพนี้แล้ว จะเห็นมีช่องว่างที่ลำตัวเป็นสีขาว นั่นคือแสงสีรุ้งดังกล่าวนั้น (ขณะที่ถ่ายภาพนี้ แสงยังขึ้นไม่เต็มที่ ต่อมาจะค่อยๆ ขึ้นให้เห็นชัดเจน)

ในขณะนั้น มีคณะรถบัสเห็นกันหลายคน ส่วนผู้ที่มากับรถตู้หรือรถส่วนตัว จะไม่ทันได้เห็น เพราะออกรถกันไปเสียก่อน ส่วน พวกที่มากับรถบัสยังต้องรอคนให้ครบ จึงจะ ออกรถได้ เลยทำให้ได้เห็นเหตุการณ์เหล่านี้ คือแสงหกสีนี้ค่อยๆ เคลื่อนขึ้นเหนือก้อนเมฆ เปล่งแสงสวยสดงดงามมาก แล้วจึงเลือนหาย ไปในที่สุด รวมเวลาประมาณเกือบครึ่งชั่วโมง

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือว่า ก้อนเมฆก้อนนี้ มีลักษณะเหมือนคนนอนหลับ หรือคนนอนตาย เพราะบังเอิญพวกเราต่างก็นัดกันไว้ว่า งานต่อไป จะต้องมา งานครบรอบ ๓ ปีที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อมรณภาพ และในปีถัดไป พ.ศ.๒๕๓๙จะต้องไปงานที่วัดพระแท่นดงรังซึ่งมีประวัติเกี่ยวพันกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

สำหรับเรื่องราวเหล่านี้ จะเป็นปรากฏการณ์พิเศษอย่างไรก็ไม่ทราบได้ เพราะทุกคนที่พบเห็นเป็นพยานหลายร้อยคน ไม่เฉพาะคณะของพวกเราเท่านั้น ยังมีคนที่ขายของอยู่หน้า วัดพระพุทธบาท เช่นผู้หญิงที่ขายนกสำหรับ ปล่อย เป็นต้น

เมื่อได้เห็นเป็นเหมือนเช่นพวกเราแล้วก็ได้เล่าให้ฟังว่า ตนเองได้เห็นเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ แล้ว โดยเมื่อประมาณ ๓๐ กว่าปีก่อน ก็เคยมีเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ตอนนั้นทางวัดกำลังจัดงานที่สำคัญเช่นกัน เธอผู้นั้นเล่าไปด้วยความปลื้มใจ

สำหรับพวกเราก็ประทับใจเหมือนกัน แต่ก็ต้องรีบกลับเพราะฝนเริ่มจะตกมาแล้ว จึงขอเล่าไว้เพียงแค่นี้ ยังมีผู้ที่เห็นอย่างอื่นอีก หลายลักษณะ จะไม่ขอนำมาเล่าในที่นี้ เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีคนเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าไม่มั่นใจ ก็ถือว่านำมาเล่าเป็นเรื่องสนุกก็แล้วกัน

ครั้นถึงกำหนดงานครบรอบ ๓ ปีพอดี ที่พวกเรารอคอย ต่างก็มารวมกันที่วัดท่าซุง ในวันเสาร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๘ อันเป็น เวลาที่วัดกำลังประสบชะตากรรมอย่างหนักที่สุด คือ อุทกภัย ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ในพื้นที่บาง แห่งของวัด น้ำได้ท่วมสูงถึง ๓ เมตรทีเดียว ทำลายสถิติที่วัดเคยถูกน้ำท่วมมาก่อนแล้วในปี ๒๕๒๓ อย่างสิ้นเชิง ถือว่าทำสถิติใหม่ก็ว่าได้

ผลเสียหายได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่น กำแพงข้างศาลานวราชด้านทิศเหนือ และต้นไม้หลายร้อยหลายพันต้น ทั้งที่เพิ่งปลูกใหม่และ ที่ปลูกไว้นานแล้ว อย่างเช่น ต้นกล้วย และ ต้นมะม่วง หน้าวิหารสมเด็จองค์ปฐม เป็นต้น

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ด้วยกำลังใจที่มีความเคารพนับถือและศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อของลูกหลานและคณะศิษย์ทั้งหลาย ต่างก็มุ่งมั่นที่จะมาร่วมงานพิธีอันสำคัญในครั้งนี้ให้ได้ เพราะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันจัดขบวน อัญเชิญ ฐานแก้ว และ ผ้าห่มทองคำ ซึ่งเริ่มสร้างมาตั้งแต่หลวงพ่อมรณภาพ นับเป็นเวลา ๓ ปี จึงจะแล้วเสร็จ จึงต้องจัดงานในปีนี้เป็นกรณีพิเศษ


ครั้นถึงวันเสาร์ที่ ๒๘ ต.ค. ๒๕๓๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. ทุกคนต่างก็มีนัดกันไว้ว่า จะต้องมาร่วมขบวนอัญเชิญ ฐานแก้ว และ ผ้าห่มทองคำมาเพื่อประดิษฐานเป็นที่รองรับสรีระศพของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ แม้จะ ต้องลุยน้ำเข้ามาทางหน้าวิหาร ๑๐๐ เมตรก็ตาม พวกเราต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันอัญเชิญมาได้ เป็นผลสำเร็จเรียบร้อยทุกประการ

ในระหว่างนั้น ก็ได้เกิดปรากฏการณ์พิเศษ คือมีผู้ที่เห็นเหตุการณ์ได้เล่าให้ฟัง บางคนก็บันทึกภาพวีดีโอไว้ได้ทัน เมื่อนำมาเปิดให้ดูปรากฏเห็นเป็นลำแสงสีรุ้งหลายหลากสีพาดโค้งบนท้องฟ้าเหนือมณฑปหลวงปู่ปานด้านทิศตะวันตกของวิหาร ๑๐๐ เมตร มีลักษณะเป็นแสงสีสวยสดงดงามมาก จึงเป็นที่น่าแปลกใจ ว่าทำไมถึงเกิดขึ้นระหว่างที่อัญเชิญ “ฐานแก้ว” เข้าไปในวิหาร ๑๐๐ เมตรพอดี

เรื่องนี้คงไม่เป็นที่สงสัย สำหรับคนที่เข้าใจ เพราะหลายท่านคงจะจำได้ คราวงานพิธีถวายพระราชทานเพลิงศพ พระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดสามพระยา ในขณะที่จะทำพิธีที่วัดเทพศิรินทร์ อยู่นั้น มีหลายคนที่มองขึ้นไปบนท้องฟ้า เห็นแสงหลายหลากสีปรากฏขึ้นสวยงามมาก คล้ายกับปรากฏการณ์ที่วัดพระพุทธบาทสระบุรี และทั้งที่เวลานั้นมิใช่เป็นเวลาฝนตก เพราะอากาศยังแจ่มใสเป็นปกติ แสงสายรุ้งนี้ ขึ้นอยู่สักครู่หนึ่ง ก็หายลับไปกับตา

คราวนี้กลับมาว่าต่อถึงเรื่องงานครบรอบ ๓ ปีที่วัดท่าซุง หลังจากอัญเชิญ“ฐานแก้ว”เข้าไปแล้ว พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เย็น เมื่อเจ้าภาพถวายไทยทานแล้ว จึงเป็นพิธีถวายเครื่องสักการะแด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ อันมีตัวแทนฝ่ายคณะสงฆ์และตัวแทนฝ่ายฆราวาส ต่อจากนั้น ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ก็ได้กล่าว ถึงประวัติของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ดังนี้.

ll กลับสู่ด้านบน




ประวัติหลวงพ่อพระราชพรหมยาน





พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยานเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เดิมชื่อสังเวียน เป็นบุตรคนที่ ๓ ของ นายควงและ นางสมบุญ สังข์สุวรรณ เกิดที่ตำบลสาลี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เมื่ออายุ ๖ ขวบ ได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียน ประชาบาล วัดบางนมโคอ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา จนจบชั้นประถมปีที่ ๔

เมื่ออายุ ๑๕ ปี จึงเข้ามาอยู่กับท่าน ยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อ.ตลิ่งชัน จ.ธนบุรี ใน สมัยนั้น และได้ศึกษาวิชาการแพทย์แผนโบราณ ครั้นถึงอายุ ๑๙ ปี เข้าเป็นเภสัชกรทหารเรือ สังกัดกรมการแพทย์ทหารเรือ พออายุครบบวชอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ วัดบางนมโคโดยมี พระครูรัตนาภิรมย์เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อปาน และ หลวงพ่อเล็กเป็นพระคู่สวด



คำสั่งพระอุปัชฌาย์


ในตอนนี้ อยากจะขอแทรกเรื่องนี้ไว้สักนิดว่า ท่านที่อ่านหนังสือ ประวัติหลวงพ่อปาน แล้วคงจะจำได้ที่หลวงพ่อท่านได้เล่าถึง ตอนที่อุปสมบทแล้ว พระอุปัชฌาย์ท่านพูดว่า

“สามองค์นี้ไม่สึก สององค์นี้.. (หลวงพ่อลิงเล็กและหลวงพ่อลิงขาว) พอครบ ๑๐ พรรษาต้องเข้าป่า เมื่อเข้าป่าแล้วห้ามออกมา ยุ่งกับชาวบ้านจนกว่าจะตาย เพราะจะพาพระ และชาวบ้านที่อวดรู้ตกนรก จงไปตามทางของ เธอ ท่านปานช่วยสอนวิชาเข้าป่าให้หนักหน่อย

ส่วนท่านองค์นี้.. (หมายถึงฉัน) จงเข้า ป่าไปกับเขา แต่ห้ามอยู่ในป่าเป็นวัตร เพราะ เธอมีบริวารมาก ต้องอยู่สอนบริวารจนตาย พอครบ ๒๐ พรรษา จงออกจากสำนักเดิม..เจ้า จะได้ดี.. จงไปตามทางของเธอ...”

การที่นำคำของท่านมาย้ำเตือนใจกันอีกครั้ง ก็เผื่อลูกศิษย์ของหลวงพ่อบางคน อาจ จะลืมไปว่า คำสั่งของครูบาอาจารย์นั้น ถือ เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าชีวิต ไม่มีใครเขากล้า ขัดคำสั่งครูบาอาจารย์กัน หลวงพ่อและเพื่อน ของท่านทั้งหมด ก็ปฏิบัติไปตามคำบัญชานั้น ทุกประการคือ...

ต่อมาพระเดชพระคุณหลวงพ่อก็ต้อง มารอลูกหลานอยู่ที่วัดท่าซุง ส่วนเพื่อนของ ท่านอีก ๒ องค์ หลวงพ่อก็ไม่เคยบอกว่าออกมาอยู่ในบ้านในเมือง หรือในที่ชุมนุมชน นอก จากจะมาโปรดคนที่เนื่องถึงกันในอดีตบ้างเป็น บางครั้ง ส่วนใหญ่หลวงพ่อจะบอกว่าท่านอยู่ ในป่า เพราะพระอภิญญาท่านจะไปที่ไหนก็ได้ เนื่องจากท่านมีหน้าที่ช่วยสอนพระที่ธุดงค์อยู่ในป่า ก็อาจจะพบท่านได้ในบางครั้ง

ต่อไปตามประวัติได้เล่าว่า หลังจากที่ หลวงพ่ออยู่กับ หลวงปู่ปานจนท่านมรณภาพ แล้วปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็เข้ามาจำพรรษาที่ วัดช่างเหล็ก เพื่อเรียนบาลี ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ วัดอนงคาราม
และ วัดประยุรวงศาวาส ตามลำดับ ในตอนนี้ ท่านได้เคยเล่าให้ฟังว่า ใน สมัยที่ท่านอยู่กับหลวงปู่ปาน ท่านฝึกพระกรรม ฐานจนได้ถึงสมาบัติ ๘ เรียกว่าออกมาจาก วัดบางนมโค ท่านได้เสาไว้ ๘ ต้น

ครั้นเมื่อออกจากวัดนี้แล้ว ใคร่ที่จะ แสวงหาความรู้เพิ่มเติม จึงได้ออกไปพบผู้ที่ เป็นครูบาอาจารย์อีกหลายท่าน ดังที่เล่าไว้ใน หนังสือประวัติหลวงพ่อปาน คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม และ หลวงพ่อวัดปากน้ำ
เป็นต้น

แต่ก่อนที่หลวงพ่อจะได้พบครูบาอาจารย์ที่รู้จริงนั้น ก็ต้องพบของปลอมบ้างเป็นธรรมดาเพราะบางท่านก็สอนนิพพานสูญ บางท่านก็สอนจนความดีที่มีอยู่เสื่อมสูญไปเลย

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้ยินมาเอง ท่านบอกว่า เพราะการพบอาจารย์ที่ไม่ได้จริง จึงสอน ให้เราผิดทาง จากที่เคยอยู่กับหลวงพ่อปาน เราได้ถึงสมาบัติ ๘ คือเสา ๘ ต้น ท่านบอกว่า เขาสอนให้เราจนเหลือแค่เสาต้นเดียว คือเหลือแค่ ปฐมฌาน เท่านั้น หลวงพ่อท่านย้ำอีกนะ ว่าเป็น “ปฐมฌานอย่างหยาบ” อีกด้วยนะ

เรื่องนี้จึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ นับว่าเป็นอุทาหรณ์สอนใจสำหรับพวกเราที่เป็นศิษย์ภายหลัง คือหลังจากครูบาอาจารย์สิ้นไปแล้ว เราก็อยากจะหาผู้ที่จะสอนเราเช่นนี้อีก ดังที่ หลวงพ่อเคยมีประสบการณ์มาแล้ว ท่านจึงได้นำมาเล่าไว้เป็นตัวอย่าง และมิใช่เป็นเรื่องเสียหาย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวท่านเอง เช่นนั้น จึงได้นำมาเล่าเพื่อเป็นการตักเตือน ลูกศิษย์ไว้ด้วยความหวังดี มิใช่ถือเป็นการหวง ลูกศิษย์แต่อย่างใด

ฉะนั้น เพราะเป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วด้วยดี จึงทำให้ได้พบครูบาอาจารย์ที่ดีที่แท้จริง เมื่อหลวงพ่อเป็นนักเทศน์และได้เป็น เปรียญธรรม ๔ ประโยคแล้ว เห็นว่ามีความ รู้เรื่องนี้พอสมควรแล้ว จึงต้องกลับมาเป็นเจ้า อาวาสที่ วัดบางนมโค โดยการอาราธนาของ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวัด

ครั้นครบ ๒๐ พรรษา ตามคำบัญชาของพระอุปัชฌาย์ว่า ออกไปอยู่ที่อื่นแล้วจึง จะได้ดี ท่านก็มีอันจะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นอีก หลายวัดที่จังหวัดชัยนาท แล้วก็ได้ดี..คือ “การเข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์” จริงตามคำพยากรณ์ของพระอุปัชฌายะทุกประการ

จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๕๑๑ เจ้าอาวาสองค์เก่าได้นิมนต์มาบูรณะวัดท่าซุง อีกทั้งท่าน ก็ได้ทราบว่า ในอดีตวัดนี้ได้เคยบูรณะมาถึง ๓ วาระแล้ว ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายในการเกิด ทั้งที่รู้ว่าจะมีอุปสรรค ก็จำเป็นต้องตัดสินใจมา ท่านจึงได้เริ่มทำการปฏิสังขรณ์ฝั่งโบสถ์เก่า โดยเริ่มงานเมื่อ วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๑๑ และสร้างขยายพื้นที่ใหม่ฝั่งตรงข้าม จนกระทั่ง มีความเจริญสวยสดงดงามดังที่เห็นในปัจจุบันนี้

ครั้นเมื่อถึงปี พ.ศ.๒๕๒๗ ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะ ชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ “พระสุธรรม ยานเถระ” ต่อมา พ.ศ.๒๕๓๒ ท่านก็ได้รับพระ ราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นราชที่“พระราชพรหมยาน ไพศาลภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี”

เมื่อถึงปี ๒๕๓๕ หลังจากวันรับกฐิน เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคมแล้วท่านก็ป่วยมาตลอด จนกระทั่งถึงวันที่ ๒๘ จึงได้นำท่านส่งโรง พยาบาลศิริราช แล้วท่านก็ได้มรณภาพไปใน ที่สุด เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๕ เวลา ๑๖.๑๐ น.

จากเรื่องข่าวการมรณภาพนี้ เป็นเวลา เดียวกับที่มีข่าวจากผลการประชุมของ มหาเถรสมาคมว่าจะมีการขอพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาชั้นเทพซึ่งจะมีพระราชทินนามว่า “พระเทพพรหมยาน”


แต่ก็ต้องมายับยั้ง เนื่องจากการจากไป อย่างไม่มีวันกลับ ในขณะที่ท่านมีอายุ ๗๖ ปี มีพรรษาได้ ๕๕ พรรษา เป็นพระอรหันต์ มาได้เกือบ ๓๐ ปี รวมเวลาที่ท่านมาสงเคราะห์ลูกหลานและพุทธบริษัททั้งหลายอยู่ ณ ที่นี้ เป็นเวลานานถึง ๒๔ ปี ฉะนั้น จึงนับเป็นบุญ วาสนาของพวกเราทุกคน และที่ได้มาภายหลัง ก็ตาม สมกับถ้อยคำที่ท่านเคยพูดไว้ในประวัติ หลวงพ่อปานว่า

“ผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมาดีแล้ว ย่อมได้พบกับครูบาอาจารย์ที่ดีด้วยเช่นกัน...”

เป็นอันว่า งานครบรอบ ๓ ปีนี้จึงมี งานพิธีเป็นกรณีพิเศษ ทั้งเป็นการจัดงานเพื่อสมโภช “ฐานแก้ว”ที่วางอยู่บนบุษบก อันเป็นที่ประดิษฐานร่างกายของท่านที่เป็นอมตะ คือยังไม่ตาย ด้วยการที่ท่านอธิษฐานทิ้งร่างไว้ ไม่ให้เน่าเปื่อย โดยที่มิได้ฉีดยา “ฟอร์มาลีน” เข้าไปแต่อย่างใด

เพราะฉะนั้น คำที่ท่านเล่าไว้ในตอนใกล้จะมรณภาพว่า ท่านขอพรแด่องค์สมเด็จพระ ผู้มีพระภาคเจ้าไว้ว่า เมื่อตายแล้ว ๗ วัน ขอให้เป็นอย่างนั้น ๑๕ วันให้เป็นอย่างนี้ แต่ท่านก็มิได้บอกรายละเอียดว่าท่านขอไว้อย่างไร

ครั้นถึงกาลมรณภาพของท่าน จึงได้ จัดงานบำเพ็ญกุศล ณ ศาลา ๑๒ ไร่ วันเวลา ได้ผ่านพ้นไปจนครบ ๗ วัน พวกเราทุกคน เห็นสภาพศพของท่านแล้ว เหมือนกับคนนอน หลับ ไม่เห็นมีทีท่าว่าจะเน่าเปื่อย จนข่าวนี้ถึงกับเล่าลือไปในจังหวัดอุทัยธานีว่าหลวงพ่อฟื้น แล้ว ต่างก็พากันมาที่วัดนับร้อยคน

หากเป็นเพราะว่า หลวงพ่อเคยตายแล้วฟื้นมาหลายครั้งแล้ว พวกเราจึงมีความหวังว่า ครั้งนี้หลวงพ่ออาจจะฟื้นคืนกลับมาเล่าให้ฟังกันอีก มีบางคนถึงกับย้ายมานอนที่ศาลา ๑๒ ไร่กันเลย รอเวลาผ่านไปจนถึง ๑๕ วัน ร่าง ของหลวงพ่อยังคงนอนสงบเงียบอยู่ในหีบศพ ไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาอีก ความหวังของทุกคน เริ่มเลือนลาง แล้วร่างของท่านก็เริ่มแห้งลง จีวรที่ห่อหุ้มชุ่มไปด้วยน้ำที่มีกลิ่นคล้ายเหงื่อ เท่านั้น ไม่มีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลออกมาจากทวารทั้งหลาย อันมีตา หู จมูก ปาก เป็นต้น

เวลาผ่านไปเป็นเดือนจนถึงกำหนดทำบุญครบ ๑๐๐ วัน จึงทำให้นึกถึงคำของท่าน ที่ได้เล่าไว้ก่อนตายว่าได้ขอพรแด่องค์สมเด็จฯ ไว้ ครั้นท่านสิ้นไปแล้วจึงได้คำตอบว่า ท่าน คงขอพรไว้ให้ร่างคงสภาพเดิมไม่เน่าเปื่อยไป จนครบ ๗ วัน ถึง ๑๕ วัน ให้เหมือนกับคน นอนหลับไป นับเป็นที่อัศจรรย์ใจจริงๆ

เพราะฉะนั้น งานนี้จึงได้มีพิธีกล่าวคำสดุดีเทิดพระคุณของท่าน โดยศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ได้กล่าวนำเป็นบทกลอน โดยมีผู้ร้องตาม ก้องพระวิหาร เสียงร้องพ้องกับเสียงสะอื้น ตื้นอุรา เหมือนนกกาที่ขาดพ่อแม่เหลียวแลดูบทประพันธ์ที่ประทับใจในครั้งนั้นมีว่าดังนี้

ll กลับสู่ด้านบน




ราชพรหมยานบูชา



พระเอยพระพ่อเจ้า จอมใจ ลูกเอย
พระจากเหล่าลูกไป ก่อนแล้ว
ลูกเหลือหักอาลัย สลัดโศก
ระลึกพระคุณพ่อแก้ว จากแล้วสามปี

มีธูปบุปผมาศพร้อม เทียนถวาย
ประณตหัตถ์ระยอบกาย กราบไหว้
วจีมุ่งมโนหมาย บูชิต พระพ่อ
พระราชพรหมยานไท้ ท่านผู้เพ็ญบุญ



ผองคุณพระท่วมท้น ดวงใจ
ลูกตระหนักพระคุณใน พ่อแก้ว
จักเอื้อนเอ่ยคำไข มิจบ
นับพระคุณฤาแล้ว ยิ่งพ้นประมาณ

ประสานกรจรดเกล้า อัญชลี
ด้วยมนัสกตเวที เปี่ยมร้อย
ลูกถวายสัตย์วจี สนองบาท พ่อนา
จักประพฤติตามถ้อย ที่ให้สัญญา

จะรักษาคำสอนบวรสวัสดิ์
จะปฏิบัติกายใจให้ผ่องศรี
จะเทิดทูนคุณงามและความดี
จะเพิ่มพูนสามัคคีมีเมตตา
จะทรงอภิญญาจารวัตร
จะปกป้องสมบัติพระศาสนา
จะสืบทอดสาธารณะปฏิปทา
จะยังประโยชน์ปวงประชาสืบไป

ขอพระไตรรัตน์ผู้ เพ็ญคุณ
ขอพระโปรดการุณย์ แก่ข้า
ขอพระประทานพรหนุน สำเร็จ ประสงค์นา
ขอพระเพิ่มพละห้า แก่ข้าโดยธรรม์

สัญญาวาระนี้ ถวายสนอง พระคุณเอย
ลูกจักทำตามลอง แบบถ้วน
ขอพ่อจุ่งคุ้มครอง กายจิต ลูกนา
ให้อยู่ในดีล้วน ตราบเข้านิพพาน ฯ

ครั้นสิ้นเสียงร้องพรรณนาเทิดพระคุณความดีของท่านแล้ว ทุกคนก็กราบพร้อมกัน ๓ ครั้ง พร้อมกับได้นำเอาเครื่องบูชาของตนที่ถือ ไว้ในมือ ลุกเดินออกมาข้างหน้าบุษบก แล้ว วางไว้บนโต๊ะที่จัดเตรียมไว้ จิตใจต่างก็มีความ อาลัยรักและคิดถึงท่านอย่างมิรู้ลืม แล้วกลับ มานั่งฟัง “ผู้เขียน” กล่าวคำสดุดีต่อไปอีกว่า

ll กลับสู่ด้านบน




คำสดุดีเทิดพระคุณ


“ตามที่ได้ทราบกันแล้วว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อของเรา ท่านเคยปรารถนาพุทธภูมิ มาก่อน นับตั้งแต่สมัย สมเด็จองค์ปฐมฯเป็นต้นมา เมื่อเห็นว่าองค์สมเด็จพระพุทธบิดาเป็น พระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงเป็นอัจฉริยมนุษย์ที่เลิศประเสริฐกว่าใครในโลก ทรงมีพระรูปพระโฉมงดงามสมพระพุทธลักษณะมหาบุรุษ พระพุทธองค์ทรงประดับประดาด้วยฉัพพรรณ รังสีรัศมี ๖ ประการ พวยพุ่งออกมาจากพระวรกาย เมื่อเสด็จไปที่ใดจะมีเหล่าพระสาวก ทั้งหลายแวดล้อมเป็นบริวาร

ด้วยเหตุนี้เอง หลวงพ่อจึงได้บำเพ็ญพระบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ประเภทวิริยาธิกะ ต้องใช้ “ความเพียร” ตลอด ๑๖ อสงไขยกำไรแสนกัป นับชาติไม่ถ้วน ซึ่งกำลังจะเต็ม ครบถ้วนในชาตินี้

แต่ด้วยน้ำใจอันเสียสละของท่าน จึง ได้อธิษฐานลงมาเพื่อขอลาจากพุทธภูมิ หวังที่จะช่วยสืบสานต่ออายุพระพุทธศาสนา ในระยะเวลากึ่งพุทธกาล ณ บัดนี้ พระพุทธศาสนาได้ รุ่งเรืองอีกวาระหนึ่ง ท่านได้ทำให้ชาวพุทธทั้ง หลายได้รู้จักคำว่า “พระสุปฏิปันโน” “การถวายสังฆทาน”และ “ชำระหนี้สงฆ์” เป็นต้น

ทั้งได้ยืนยันด้วยตัวของท่านเองว่า “นรกสวรรค์ มีจริง นิพพานไม่สูญ” ดังที่เขาสอนกัน พร้อม กับวางหลักสูตรไว้เพื่อปฏิบัติ ซึ่งจะสามารถพิสูจน์จากวิชา “มโนมยิทธิ” นี้ได้

นอกจากจะสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรและญาติโยมพุทธบริษัทในด้านธรรมะ ทั้งใน ประเทศและต่างประเทศแล้ว ในทางโลก ท่าน ก็ได้สร้างสาธารณประโยชน์นานัปการ เช่น สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน ขุดบ่อน้ำ ตั้ง ธนาคารข้าว สงเคราะห์คนยากจนในถิ่นทุรกันดาร และเยี่ยมเยียนทหารตำรวจชายแดน

ท่านได้ปฏิบัติศาสนกิจอันเป็นประโยชน์ต่อชาวโลกมานานนับสิบปี จนถึงวาระสุดท้าย ของสังขาร ท่านก็ได้จากลูกหลานอันเป็นที่รัก ยิ่งทั้งหลาย ไปสู่ดินแดนที่เป็นเอกันตบรมสุข

เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตของท่าน ทั้งในชาติปัจจุบันนี้ หรือที่จะย้อนกลับไปถึงใน อดีตชาติ ท่านก็ได้สร้างชาติสร้างแผ่นดิน หวังให้ชาวไทยที่เป็นลูกหลานทั้งหลายได้อยู่อย่าง สงบสุข ไม่เป็นข้าทาสของชาติใด ได้สละเลือด เนื้อและชีวิตเพื่ออุทิศให้ นับตั้งแต่สมัยโยนก บุรีศรีเชียงแสน มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์นี้

ครั้นมาถึงชาติปัจจุบัน อันเป็นชาติสุด ท้ายนี้ พระพรหมโพธิสัตว์พระองค์หนึ่ง ผู้ ประทับนั่งอยู่เหนือบัลลังก์ในวิมานแก้ว อันสถิตแล้วอยู่ในพรหมโลก เมื่อเห็นว่าพระพุทธ ศาสนาในระยะนี้ จำต้องมีพระโพธิสัตว์ลงมา ช่วยกอบกู้สถานการณ์

พระองค์จึงได้รับอาสา พร้อมทั้งกับได้รับการอาราธนาจาก ท้าวผกาพรหมจุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์อีก เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา และหวังที่จะลาพระโพธิญาณ ปรารถนาช่วยนำบรรดาลูกหลานทั้งหลายในอดีต ที่ได้เคยร่วมทัพจับศึกและบำเพ็ญบารมีติดตามกัน มานานนับ ๑๖ อสงไขย กำไรแสนกัป ให้ได้ พบหนทางอันเป็นแดนอมตมหานฤพาน

พระพรหมโพธิสัตว์พระองค์นี้ เป็นผู้ ที่ได้สร้างสมอบรมบารมีมาดีแล้ว จนกระทั่งจวนจะเต็มครบถ้วนทั้ง ๓๐ ทัศ จัดอยู่ในระดับ ปรมัตถบารมี หวังที่จะบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพิชิต มาร ในอนาคตกาลพระองค์หนึ่ง จนได้รับพระพุทธพยากรณ์ในสำนักพระพุทธเจ้ามาแล้ว หลายพระองค์ อันปรากฏอยู่ในบันทึกพิเศษของท่านตอนหนึ่งว่า

“ถ้าเธอยังไม่ละพุทธภูมิ จะได้เป็นพระพุทธเจ้า มีนามว่า “พระพุทธอริยมุนี” ต่อจากพระศรีอาริย์ไปเป็นองค์ที่ ๒๐ แต่สงสัย ว่าจะคลายตัวเสียตั้งแต่พระสมณโคดม

ถ้าคลายตัวตอนนั้น ก็จะเป็นกำลังใหญ่ของลูกหลาน ให้เข้าถึงธรรมได้อย่างแน่นแฟ้น คือ “พระโสดาบัน” เป็นต้น ทั่วกันทุกคน เพราะผลที่ตนบรรลุ...”

ผลสุดท้ายการลาพุทธภูมิก็เกิดขึ้นจริงๆ แล้วท่านก็เร่งรัดปฏิบัติตน จนสามารถจบกิจในพุทธศาสนา ตามที่ท่านบันทึกไว้เมื่อ วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๐๖ ว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มาแจ้งว่า

“...เจ้าเจริญธรรมให้แจ้ง ถึงไม่รัก..ใน ฐานะที่ควรรัก ไม่เกลียด..ไม่โกรธ..ในฐานะที่ควรโกรธ ไม่ขัดเคือง.... ในฐานะที่ขัดเคือง อย่างนี้ชื่อว่า.. ได้อริยผลบริบูรณ์แล้ว เจ้าเป็น “พระขีนาสพ” ตั้งแต่เวลา ๔ นาฬิกา..วันนี้ ซึ่งตรงกับกลางเดือน ๙ พอดี...”

ท่านจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะในที่สุด สมความปรารถนาที่ได้อธิษฐานลงมา การออกบวช ของท่านในชาตินี้ จึงถือว่าได้เลือกทางเดินเป็นพระอริยสาวกอย่างแน่นอน ด้วยการกำจัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน

แต่ถึงจะหมดภาระสำหรับตนเองแล้ว ท่านก็ยังต้องมีภารกิจสำหรับลูกหลานที่ติดตาม กันมา ที่เรียกว่า “เป็นผู้ที่เคยช่วยสนับสนุน พระโพธิญาณกันมาในกาลก่อน” จึงมีข้อแม้ว่า จะต้องอยู่เพื่อทำกิจของพระโพธิญาณต่อไปอีก ๑๒ ปี ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๕๑๕ หนังสือประวัติหลวงพ่อปาน ก็ปรากฏออกมาพร้อมกับอาการ ป่วยหนักของท่าน เมื่อจะขอลาเข้าสู่แดนพระ นิพพาน ท่านปู่พระอินทร์ ก็มายับยั้งว่า

“ก่อนลงมาเกิด คุณตั้งใจจะมาช่วย บรรดาลูกหลาน อย่างน้อยก็ไปสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ เวลานี้คนของคุณก็ยังมาไม่หมด คน ของโยมก็ยังไม่ครบ แล้วยังมีคนของสมเด็จ องค์ปัจจุบัน และของหลวงพ่อปานอีก...”

หลวงพ่อท่านก็บอกว่า ก็รอมาตั้งนานแล้ว ทำไมถึงยังไม่มาอีกล่ะ นับตั้งแต่นั้นมา การหลั่งไหลมาตาม “ใบสั่ง” ก็เกิดขึ้นอย่างมากมายดังที่เห็นในปัจจุบันนี้ (แต่ก่อนมรณภาพ พระศรีอาริย์มาแถมฝากไว้อีกไม่มาก ประมาณ ๓ แสนคน เวลานี้มีคนมาเล่าให้ฟังหลายรายว่า หลวงพ่อไปเข้าฝันให้มาวัด ทั้งที่ไม่เคยรู้จักวัด และไม่รู้จักหลวงพ่อมาก่อน)

ครั้งนั้นจึงมีการต่อสัญญาอีก ๑๐ ปี เพื่อใช้หนี้ลูกหลานที่ติดตามกันมา จนถึงเวลา ครบ ๑๐ ปีตามสัญญา ท่านก็ต้องมาตายชั่ว คราวในปี พ.ศ.๒๕๒๓ เพื่อตัดตอนก่อนที่จะ ครบในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ซึ่งมีการยืดเวลาไปอีก ๑๐ ปี ถึงปี พ.ศ.๒๕๓๕ ท่านก็ได้ทำกิจพระศาสนาครบถ้วนตามมโนปณิธาน จนถึงวาระ สุดท้ายของสังขาร

เป็นอันว่า หน่อเนื้อพระบรมพงศ์โพธิสัตว์พระองค์นี้ ที่ได้จุติลงมาเพื่อปฏิบัติภารกิจ พระศาสนา หวังที่จะได้สนองคุณองค์สมเด็จ พระบรมศาสดา ท่านจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความ กตัญญูเป็นเลิศ ในระหว่างที่ทรงชีวิตอยู่ ท่าน ก็มีความเคารพต่อบิดามารดา ดังที่ท่านเล่าไว้ ในเทปชุดสุดท้ายเรื่อง “โปรดโยมบนสวรรค์” เป็นต้น

ส่วนครูบาอาจารย์นั้น หลวงพ่อท่านมความเคารพหลวงปู่ปานเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็น ป้ายที่ซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ ซึ่งเป็นการ สร้างวัดครั้งแรก ท่านก็ยังตั้งชื่อไว้ว่า “ศูนย์ศิษย์หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค”

เพราะการสร้างคุณประโยชน์ต่อชาวโลกเป็นอันมาก ท่านจึงเป็นที่รักและเคารพของ เหล่ามนุษย์และเทวา โดยเฉพาะเหล่าเทพเจ้า ทั้งหลายต่างขนานนามท่านว่า“พ่อปู่” ทั้งองค์สมเด็จพระบรมครูทรงตรัสเรียกหน่อเนื้อพุท ธางกูรพระองค์นี้ ตามที่พวกเราได้ทราบกันดี แล้วว่า “ท่านสัมพเกษีพรหม”นั่นเอง...”

ครั้นจบการกล่าวคำ“สดุดีเทิดพระคุณหลวงพ่อ”ดังนี้แล้ว ชุดฟ้อนรำ“สัมพเกษีพรหม”ก็ได้ร่ายรำออกมาในชุดสวยงาม ฟ้อนรำไปตามเสียงเพลง “สัมพเกษีจุติกาล”จึงทำให้ผู้ชมบางท่าน ถึงกับน้ำตาไหลลงมาอาบ แก้ม เพราะมีผู้แต่งกายสมมุติเป็น “สัมพเกษี พรหม”ร่ายรำออกมานั่งอยู่ตรงบัลลังก์ ซึ่งได้ จัดเตรียมไว้หน้าบุษบกของหลวงพ่อ

ผู้ร้องได้ขับร้องไปตามทำนองเพลงไทยเดิม ได้เอื้อนเอ่ยบรรยายความไปตามประวัติ ผสมผสานกับการบรรเลงของปี่พาทย์ สร้างความประทับใจไปกับการฟ้อนรำ จบแล้วจึง เป็นการฟ้อนรำชุดที่หลวงพ่อเคยโปรดปรานมากที่สุด นั่นก็คือชุด“พุทธานุภาพ”ทั้งหมด เป็นการแสดงของคณะ “นกยูง”จากหาดใหญ่ ซึ่งเคยเป็นศิษย์เก่า ร.ร.พระสุธรรมยานฯ

หลังจากการฟ้อนรำจบลงแล้วท่านพระครูปลัดอนันต์ จึงได้กล่าวอนุโมทนากถาแด่ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ที่ได้อุตส่าห์ร่วมแรงร่วมใจกันสมทบทุนสร้าง “ฐานแก้ว”และ “ผ้าห่มทองคำ”เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรองรับ สรีระศพของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ต้องใช้ งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ ๑๑ ล้านบาท ทั้งนี้ ด้วยความสามัคคีและความกตัญญูที่มีต่อท่านการจัดสร้างและการจัดงานครบรอบ ๓ ปี ในครั้งนี้ จึงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี




อนึ่ง การอัญเชิญมานั้น ก็ได้จัดขบวนแห่อย่างสมเกียรติยศ ถึงแม้จะยากลำบากเพียง ใด จากกระแสน้ำที่ยังท่วมท้นอยู่ พวกเราก็ สามารถอัญเชิญมาสู่พระวิหารแก้วได้เป็นผล สำเร็จ นับว่าลูกศิษย์หลวงพ่อทุกคน ต่างมีความรักและเคารพท่านอย่างจริงใจ แม้ท่านจะจากไปแล้ว พวกเราก็ยังมาร่วมแรงร่วมใจ กันด้วยความมีน้ำใจที่ดีต่อกัน

ท่านก็ได้กล่าวเนื้อความอีกหลายประการ นับเป็นที่ปลาบปลื้มปีติยินดีแก่ผู้รับฟัง ในวันนั้นอย่างมากมาย จึงเป็นการสร้างขวัญ สร้างกำลังใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีตลอดไป เพราะท่านมีภาระหน้าที่แทนหลวงพ่อต่อไป เพื่อรักษาสมบัติของพระศาสนาที่หลวงพ่อสร้างไว้ โดยมีพวกเราเหล่าพุทธบริษัท ต่างก็ได้ช่วยกันบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธา ร่วมกันบูรณะ ปฏิสังขรณ์ให้วัดมีสภาพสวยสดงดงามต่อไป

ต่อมาเวลา ๒๑.๐๐ น. พระสงฆ์สวด พระอภิธรรม เมื่อเจ้าภาพถวายผ้าบังสุกุลแล้ว จึงถวายไทยทาน เสร็จแล้วถวายพระกุศลแด่ หลวงพ่อฯ พระสงฆ์ให้พรเป็นเสร็จพิธี

ก่อนที่จะจบเรื่องของท่าน ผู้เขียนขอนำคำบันทึกส่วนองค์ของท่านมาไว้เป็นอนุสรณ์ ในตอนสุดท้าย เหมาะสำหรับท่านที่มีความ ประสงค์จะทรงอารมณ์สูงสุด ท่านได้บันทึกไว้ว่า

“....สมเด็จพระพุทธกัสสปทรงสอนพระกรรมฐาน และให้องค์ภาวนาว่า “สิตมหา นิพพานัง” ว่ารวมญาณเห็นแจ่มแจ้งหมดทุกญาณ เป็นบทภาวนาสุดท้าย

ก่อนภาวนา ให้เจริญวิปัสสนาของสมเด็จพระสมณโคดมก่อน “โลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง” เมื่อแจ่มใสแล้วให้ภาวนา “สิตมหา นิพพานัง”จะแจ่มแจ้งทุกอย่าง

ถ้าประสงค์จะใช้ญาณให้ภาวนาเลย เราจะตายกับอรหัตมรรค เราจะตายอยู่กับความดี เราจะไม่ทำความชั่ว เราจะตายอยู่กับนิพพาน เราจะตายกับความดี เราจะตายไม่ทำความชั่ว

คำนี้สมเด็จประทาน เวลา ๒๐.๐๐ น. เศษ เมื่อเจริญวิปัสสนาร่วม “สิตมหานิพพานัง”(เราสำเร็จวันนี้) คืนนี้ได้จบกิจแล้ว ควรเจริญ เพื่อความเป็นสุขต่อไป” (จากบันทึกหน้า ๓๗)

<< กลับสู่ด้านบน



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved