ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 11/6/08 at 06:25 Reply With Quote

นิทานชาดก (เรื่องที่ 5) อปัณณกธรรมชาดก - พ่อค้าเกวียนกับคนโฉดเขลา


...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 4 ชื่อว่า "อปัณณกธรรมชาดก" (อ่านว่า อะปัณณะกะธรรมชาดก) จึงขออนุโมทนา "เว็บรักบ้านเกิด" ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

อปัณณกชาดก : ชาดกว่าด้วย "ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันความผิดพลาด"



สาเหตุที่ตรัสชาดก

......ณ พระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี วันหนึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐีและบริวารได้นำดอกไม้ธูปเทียน และสิ่งของควรแก่สมณะบริโภค ไปกราบถวายบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ณ เชตวันมหาวิหารตามปกติ ในวันนั้นมีสหายของท่านเศรษฐีอีก ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นสาวกของ อัญญเดียรถีย์ ตามไปด้วย

ครั้นฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว สหายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ๕๐๐ คนนั้น เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเปี่ยมล้น จึงละ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เลิกนับถือลัทธิอัญญเดียรถีย์ ประกาศตนเป็น พุทธมามกะ ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งตลอดไป นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา ต่างก็ตั้งใจไปวัด ให้ทาน รักษาศิล เจริญภาวนา มิได้ขาด

ต่อมา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจากเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี ไปประทับ ณ กรุงราชคฤห์ พวก อุบาสก สาวกเก่า อัญญเดียรถีย์ทั้ง ๕๐๐ คน ก็เลิกไปวัด หันกลับไปนับถืออัญญเดียรถีย์ตามเดิมอีก

ครั้นอีก ๗-๘ เดือนต่อมา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับไปยังเชตวันมหาวิหารตามเดิม อัญญเดียรถีย์ทั้ง ๕๐๐ คนนั้น ก็ตามอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปวัดอีก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนสติ ด้วยการตรัส อานิสงส์ ของการบูชา พระรัตนตรัย ว่ามีอานิสงส์มาก คือ

๑. ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง ย่อมไม่ไปอบาย คือ ไม่ไปเกิดในนรก เป็นต้น
๒. ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง ย่อมไปบังเกิดในเทวโลก ได้เสวยทิพยสมบัติอย่างแน่นอน

ฉะนั้น การที่อัญญเดียรถีย์ทั้ง ๕๐๐ คนนี้เป็นคนโลเลกลับกลอก รับไตรสรณคมน์แล้วละทิ้งเสีย ย่อมเป็นความผิดมหันต์ ไม่สมควรอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงระลึกชาติหนหลังของอัญญเดียรถีย์ทั้ง ๕๐๐ คนนี้ด้วย บุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสเป็นปริศนาธรรม ว่า

"แม้ในกาลก่อน มนุษย์ทั้งหลาย ถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่สรณะว่าเป็นสรณะ โดยการถือเอาด้วยการคาดคะเน โดยการถือเอาผิด ๆ จึงตกเป็นภักษาหารของยักษ์ในทางกันดาร ถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง ส่วนเหล่ามนุษย์ผู้ถือการยึดถือชอบธรรม คือ ยึดถือเหตุผล ยึดถือไม่ผิด ได้ถึงความสวัสดีในทางกันดาร"

ครั้นตรัสแล้วก็นิ่งเสีย อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงกราบทูลอาราธนา พระพุทธองค์ จึงตรัสเล่า "อปัณณกชาดก" มีความโดยย่อว่า


เนื้อความของชาดก

...... ครั้งหนึ่ง ในอดีตกาล ณ เมืองพาราณสี มีพ่อค้าใหญ่ ๒ คนเป็นเพื่อนกัน ต่างนำสินค้าบรรทุกเกวียนไปขายยังต่างถิ่นเมืองไกลเป็นประจำ แต่นิสัยใจคอของพ่อค้าทั้งสองคนนี้แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

พ่อค้าคนหนึ่งเป็นคนเจ้าอารมณ์ หูเบา เชื่อคนง่าย และขาดความสังเกต จึงมักตัดสินใจผิดพลาดเป็นประจำ ส่วนพ่อค้าอีกคนหนึ่งเป็นคนมีสติปัญญา มีความรู้ดี และช่างสังเกต ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่หูเบา ไม่เชื่อคนง่าย พ่อค้าช่างสังเกตนี้มีหลักธรรมประจำใจที่เรียกว่า "อปัณณกธรรม" แปลว่า ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดพลาด ๓ ประการ คือ

๑. อินทรียสังวร คือ การสำรวมอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สำผัส ได้นึกคิด จึงมีสติมั่นไม่ยินดี ยินร้าย ไม่ประมาทว่าสิ่งเหล่านั้นมีโทษเพียงเล็กน้อย มีความตื่นตัว รู้จักระแวงภัยจากวัตถุและอารมณ์น่าใคร่ และรู้จักระวังป้องกันภัยที่จะมาถึง เสมือนกระต่ายขุดโพรงอาศัยอยู่เพียงโพรงเดียว แต่ขุดปล่องเตรียมทางหนีไว้หลายทาง

๒. โภชเนมัตตัญญุตา คือ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
๓. ชาคริยานุโยค คือ การหมั่นประกอบความตื่น ไม่เห็นแก่นอน

พ่อค้าช่างสังเกตยังอบรมบริวารทั้ง ๕๐๐ คนของตน ให้ปฏิบัติตามอีกด้วย อยู่มาคราวหนึ่ง พ่อค้าทั้งสองคนต่างคิดจะเดินทางข้ามทะเลทรายซึ่งกันดารมาก ไปค้าขายยังเมืองเดียวกัน แต่ไม่อาจไปพร้อมกันได้ เพราะอาหาร น้ำ และหญ้าระหว่างทางจะขาดแคลนไม่พอเพียงสำหรับคนและโค

พ่อค้าหูเบาคิดว่าตนควรจะออกเดินทางไปก่อน ด้วยเหตุผลว่า

๑. หนทางที่ขรุขระจะราบเรียบสม่ำเสมอ เพราะคนชุดก่อนถากถางไว้แล้ว
๒. หญ้าเลี้ยงโคก็จะงอกขั้นใหม่ อ่อนกำลังดี
๓. พืชผักซึ่งคนชุดแรกเด็ดกินไป จะแตกยอดขึ้นมาใหม่ อ่อนกำลังน่ารับประทาน
๔. ในบริเวณไม่มีน้ำ คนชุกแรกก็จะต้องขุดบ่อน้ำเอาไว้แล้ว
๕. การตั้งราคาสินค้าเป็นการยาก ถ้าหากขายสินค้าตามที่คนชุดแรกตั้งไว้ย่อมสะดวกกว่า

พ่อค้าหูเบานำบริวาร ๕๐๐ คน พร้อมด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม บรรทุกสินค้าไปเต็มที่ เตรียมน้ำใส่ตุ่มใหญ่ๆ บรรทุกเกวียนไปด้วย กะให้พออาบกินตลอดระยะทางกันดาร ๖๐ โยชน์ เดินทางไปจนเข้าเขตทะเลทราย จนถึงเขตแดนยักษ์กินคน

พวกยักษ์กลุ่มหนึ่งประมาณ ๒๐ ตน จำแลงกายเป็นคนนั่งรถเทียมด้วยโคขาวปลอด ประดับประดาอย่างสวยงาม สวนทางมา โคลนติดล้อหนาเตอะเหมือนเพิ่งเดินทางฝ่าสายฝนที่ตกหนังมาใหม่ๆ แต่ละคนท่าทางแข็งกระด้างกำแหงหาญ ยืนบ้าง นั่งบ้างบนรถ เคี้ยวกินเหง้าบัวอย่างเอร็ดอร่อย แสดงว่าสองข้างทางที่พวกเขาผ่านมานั้น มีห้วยหนองคลองบึงเต็มไปหมด

ยักษ์แปลงนั้นแสร้งพูดหลอกพ่อค้าหูเบาให้ตายใจว่า หนทางที่ผ่านมานั้นฝนตกหนัก น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องขนตุ่มน้ำไปให้หนักเปล่า แล้วขับเกวียนผ่านไป พอลับตาก็กลับเป็นยักษ์กินคนย้อนติดตามหลังขบวนเกวียนของพ่อค้า

พ่อค้าหูเบาเห็นแก่ความสะดวกสบาย ไม่คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ สั่งบริวารให้เทน้ำในตุ่มทิ้งเสีย หวังจะได้น้ำบ่อหน้า แต่เดินทางไปตลอดวัน จะหาน้ำสักหยดก็ไม่พบ จึงรู้ว่าถูกหลอกเสียแล้ว

ครั้นตกเย็น ก็อ่อนเปลี้ยเพลียแรง หิวโหย อดทั้งข้าวและน้ำ ทั้งคนและโคก็สลบไสล กลายเป็นอาหารอันโอชะของยักษ์กินคน ในค่ำคืนนั้นเอง เหลือไว้แต่เกวียนบรรทุกสินค้า จอดอยู่กลางทะเลทรายอันเวิ้งว่างเท่านั้น




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 8/5/18 at 06:37 Reply With Quote


.


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved