ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 13/7/08 at 16:42 Reply With Quote

เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก โดย ก.ษ.ป. ตอนที่ 1 (เรื่องที่ 1 - 20)


« ตอนที่ 2



โดย...ท่าน ก.ษ.ป.
ที่มา...จากหนังสือธัมมวิโมกข์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 75

ก่อนที่จะอ่านเรื่องราวต่อไป ผู้จัดทำอยากจะปรารภไว้ก่อนว่า เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎกนี้ รวบรวมและวิเคราะห์โดย ท่าน พล.อ.ท. ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์ (เจ้าของบ้านสายลม) ตั้งแต่สมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ เพราะท่านเห็นว่าผู้ที่สนใจศึกษาพระพุทธศาสนา (บางท่าน) อาจจะยังมีความข้องใจเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำสอนบางอย่างมีความเห็นเป็นเชิงลบ หมายถึงปฏิเสธเรื่องโลกนี้โลกหน้า หรือนรกสวรรค์ไม่มี เป็นต้น

คิดว่าผู้อ่านบางท่านที่ยังเคลือบแคลงสงสัย หรือยังไม่แน่ใจ หรือที่แน่ใจแล้ว ถ้าได้อ่านบทความเหล่านี้ ผู้จัดทำคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะเป็นเรื่องจากพระพุทธพจน์โดยตรง ยังไงๆ ก็ลองเข้ามาอ่านเถอะ มิฉะนั้น พวกเราคนหนึ่งที่อุตส่าห์ช่วยพิมพ์บทความนี้ คงไม่ยอมมานั่งเหน็ดเหนื่อยกันหรอก รับรองว่าเป็นประโยชน์แน่ๆ เราลองมาอ่านคำเริ่มต้นของท่านกันดีกว่านะ....



สารบัญ

(เลือก "คลิก" อ่านได้แต่ละตอน)


01.
ตั้งหลักดีดี
02. เทวดา
03. คุณ - โทษ และการออกจากกาม
04. พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร
05. ผลของทาน
06. ทำไมจึงเกิดมาเป็นคนจน
07. มิจฉาทิฐิ
08. ผู้ยังพระสัทธรรมให้อันตรธาน
09. พระสูตร
10. อุตตริมนุสสธรรม
11. พระพุทธเจ้าทำให้คนเกียจคร้าน จริงหรือ ?
12. ดิรัจฉานกถา ดิรัจฉานวิชา
13. ฐานะ – อฐานะ
14. ความเชื่อ
15. พระพุทธเจ้าระอาในฤทธิ์จริงหรือ..?
16. ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง
17. ภิกษุปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะควร
18. การเกิด-การตาย
19. หวังนิพพานก็เป็นกิเลส กับ ควรติเตียนแต่ไม่ควรติเตียน
20. พระวินัยที่มักเข้าใจกันผิด




ตั้งหลักดีดี


คนไทยมีนิสัยอย่างหนึ่ง คือจะทำอะไรก็ทำกันเลยไม่ต้องตั้งท่าตั้งทางหรือฝึกหัดกันก่อนละ เช่นอย่างจะเล่นเทนนิสก็คว้าไม้ลงหวดกันเลย ไม่ต้องฝึกท่าทีเบื้องต้นให้เสียเวลา

ในเรื่องพระพุทธศาสนาก็เช่นกันไม่ต้องศึกษาความรู้เบื้องต้นกันก่อน โดดเข้าจับเรื่อง..ตายแล้วไปไหน..วิญญาณมีหรือไม่..จับเรื่องนรก สวรรค์ นิพพานกันไปเลย

ในเมื่อขาดความรู้เบื้องต้น คือขาดหลักสำหรับยึดไว้แน่นๆ ความรู้ก็รวนเร ต่างคนต่างไม่รู้แต่เถียงกันได้เป็นตุเป็นตะเอาเป็นยุติไม่ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ต่างก็ยืนยันว่าความเข้าใจของตนเองนั้น คือพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแท้จริง หาว่าพระไตรปิฎกเป็นของเก๊ มีการแต่งเติมดังนี้ เป็นต้น ทั้งคนพูดและคนฟังต่างไม่ได้คิดว่า เมื่อพระไตรปิฎกเชื่อถือไม่ได้แล้วตัวเองไปเอาความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา “ที่ถูกต้องแท้จริง” นั้นมาจากไหนกัน มันก็ต้องสรุปได้ว่าเป็นการคิดเอาเองนั่นแหละ พูดตามภาษาชาวบ้านก็ว่า “ยกเมฆเอาเอง”

ตัวอย่างเห็นได้ชัดๆก็คือเรื่องที่พูดว่า สวรรค์น่ะที่จริงไม่มีหรอก ความจริงแล้วมีความสุขเมื่อไรนั่นคือสวรรค์ มีความทุกข์เมื่อไรนั่นคือนรก การพูดอย่างนี้ตามภาษาของพระไตรปิฎกแล้วท่านพูดว่า “ไม่คล้ายถ้อยคำของผู้มีปัญญา” ทั้งนี้เพราะมันเป็นความจริงไปไม่ได้ในทางหลักการ เพราะคนสามารถทำบาปได้ด้วยความสุข เช่น การตกปลา เป็นต้น สนุกตื่นเต้นดี

ถึงกลับมีการตั้งสมาคมตกปลา ใครตกได้ตัวโตที่สุดก็เอามาเล่าขานถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์กัน เห็นยิ้มแย้มกันทั่วหน้าเรียกว่ามีความสุขขึ้นสวรรค์ไปแล้ว (ตัวผู้มีความสุขเลยกลายเป็นเทวดาไปด้วย) ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าทำบาปแต่ขึ้นสวรรค์ ซึ่งไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลเลย แต่คำพูดอย่างนี้แหละ ที่ปัญญาชนเชื่อกันเป็นจำนวนมาก

คนที่พูดอย่างนี้ชอบอ้างตัวว่ารู้ศาสนาพุทธที่แท้จริงและกล่าวโทษว่า พระไตรปิฎกคลาดเคลื่อนหรือบิดเบือน (หรืออะไรก็แล้วแต่) ถ้าหากจะรู้กันให้จริงๆแล้ว ก็ควรศึกษาพระไตรปิฎกให้แจ่มแจ้งแทงตลอดเสียก่อน จึงค่อยออกความเห็นกันมีใครทำดังนั้นหรือเปล่า?

ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจไม่มีเวลาพอที่จะอ่านทำความเข้าใจ ดังนั้นจึงขอเสนอหลักสำคัญๆ ที่ควรระลึกเข้าไว้ (หากจะจำไว้เป็นหลักได้ก็ยิ่งดี)

ก. เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
๑. ทรงเป็นพระตถาคต สิ่งที่ไม่ทรงรู้นั้นไม่มี (เล่ม ๒๙ หน้า๓๘๑)
๒. บทธรรมที่ไม่ทรงเห็นนั้นไม่มี จึงทรงชื่อว่า พระสมันตุจักษุ (เล่ม ๓๑ หน้า๒๔๘)
๓. น้ำในมหาสมุทรยังอาจประมาณได้ด้วยมาตราชั่งตวงวัด แต่ใครๆ ไม่อาจประมาณพระสัพพัญญุตาญาณของพระองค์ได้เลย (เล่ม ๓๒ หน้า ๒๓)

ในเมื่อเป็นปุถุชนธรรมดา (หมายถึงพระภิกษุที่ยังไม่เป็นพระอริยะด้วย) เวลาจะพูดคัดค้านพระไตรปิฎกควรจะนึกไว้ในใจว่า เราเป็นใคร พระพุทธเจ้าเป็นใคร ปัญญาและความรู้ห่างกันแค่ไหน เราสามารถเข้าใจคำสอนของท่านได้ทั้งหมดหรือเปล่า



ข. เกี่ยวกับพระวาจา
๑. พระพุทธเจ้าทรงมีปกติตรัสอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใดตรัสอย่างนั้น (เล่ม ๑๐ หน้า ๒๐๒)

๒. พระพุทธเจ้าตรัสกับ สุนักขัตตะลิจฉวีบุตร ว่า “ตถาคตเคยกล่าววาจาเป็นที่สองไว้บ้างหรือ” (เล่ม ๑๑ หน้า๑๑) เรื่องมีว่า มีผู้ท้าพระพุทธเจ้าแสดงฤทธิ์แข่งกัน พระพุทธเจ้าทรงบอกสุนักขัตตะว่า ถึงวันเวลาจริงๆเขาไม่มาดอก สุนักขัตตะคาดคั้นเชิงให้แน่ๆนะ จึงทรงตอบด้วยประโยคข้างบน และก็ไม่ปรากฏว่าไม่มาจริงๆทั้งที่มีคนไปตามแล้วสามวาระ ใจความของคำตรัสมีว่า ตรัสอย่างไรแล้วจะไม่คลาดเคลื่อนจากที่ตรัสเลย

เรื่องนี้มีอีกแห่งหนึ่งตรัสว่า “ข้อที่เราพยากรณ์แล้วโดยส่วนเดียวจะเป็นสองได้อย่างไร” ( เล่ม ๒๒ หน้า๔๑๒)

๓. ตรัสว่า “เราไม่รู้ย่อมไม่กล่าว......” ( เล่ม ๒๔ หน้า ๓๐๓ )
( คือไม่กล่าวถึงความสิ้นสุดแห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นแลอันสัตว์ผู้ทำพึงได้เสวยในปัจจุบัน ในอัตภาพถัดไป หรือในอัตภาพต่อๆไป) คำว่า "รู้" คือรู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่คิดว่าเป็นเช่นนั้น หรือเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

๔. พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสว่า “ พระตถาคตเจ้า จะไม่ตรัสพระดำรัสที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเลย” ( เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๐)

๕. ตรัสว่า “พระพุทธพจน์ระหว่างตรัสรู้กับปรินิพพาน ย่อมเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น” (เล่มที่ ๒๕ หน้า ๒๙๙)

๖. “พระพุทธเจ้ามีพระวาจาไม่เป็นสอง มีพระวาจาไม่เปล่าประโยชน์ พระพุทธเจ้าไม่ตรัสคำไม่จริง” (เล่ม ๓๓ หน้า ๓๓๑)

๗. ตรัสกับพระราหุล “เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุลเธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น” (เล่ม ๑๓ หน้า๑๑๗)



ค. โทษของการไม่เชื่อพระวาจา และการกล่าวตู่
ด้วยเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ มีปกติกล่าววาจาที่เป็นจริงเสมอ ดังนั้นหากตรัสออกมาแล้วคนฟังไม่เชื่อ ก็จะมีโทษถึงลงนรก ทั้งนี้ไม่ใช้ว่าพระพุทธเจ้าทรงลงโทษ หากเป็นด้วยธรรมเพราะเท่ากับประณามว่าพระพุทธเจ้าทรงพูดมุสา

การกล่าวตู่ (คือพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส กลับเอามาพูดว่าตรัส หรือ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เอามาพูดว่าไม่ได้ตรัส) ก็มีโทษ ต้องรับกรรมคือลงนรกเหมือนกัน

สำหรับเรื่องนรกนี้ทรงเล่าไว้ในเล่ม ๑๔ หน้า ๒๘๖ เป็นต้นไป ถึงนายนิรยบาลจับสัตว์ไปฟ้องพระยายมราช และทรงเล่าถึงมหานรก แล้วตรัสสรุปในหน้า ๒๙๕ว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เรื่องนั้นเรามิได้ฟังต่อสมณะหรือ พราหมณ์อื่นๆแล้วจึงบอก ก็แลเราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งสิ้น” แสดงว่าได้ทรงไปเห็นมาแล้วด้วยพระองค์เอง

๑. “เธอกล่าวตู่เรา ขุดตนเองและประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยทิฎฐิอันลามก อันตนถือเอาชั่ว แล้วกรรมนั้นแหละจักมีแก่เธอ เพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน” (เล่ม ๑๒ หน้า ๒๑๖)

สำนวนตอนท้ายเป็นที่ทราบกันว่าหมายถึงตกนรก ตรัสอย่างนี้นุ่มนวลกว่า ตรัสว่ากล่าวตู่เราจะตกนรกซึ่งฟังแล้วคล้ายเป็นการขู่ตรงๆ

๒. เรื่องท่านโมคคัลลานะเห็นเปรต ภิกษุเอามาฟ้องหาว่าอวดอุตริมนุสสธรรม พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่าไม่อวด เห็นจริงๆ พระองค์ก็ทรงเคยเห็นแต่ไม่ได้เล่าให้ฟัง เพราะเล่าแล้วไม่เชื่อจะตกนรกเปล่าๆ

“ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกาลก่อนเราก็ได้เห็นสัตว์ แต่เราไม่พยากรณ์ ถ้าเราพยากรณ์สัตว์นั้นและคนอื่นไม่เชื่อเรา ข้อนั้นก็จะเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่คนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน” (เล่ม ๑ หน้า ๕๐๗) พึงสังเกตวลีสุดท้ายลงอย่างเดียวกัน

ที่นำเรื่องกล่าวตู่พระพุทธเจ้า จะลงนรกมาแสดงก็เพื่อชี้ว่าสมัยที่บันทึกพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานนั้น มีแต่พระอรหันต์ทั้งนั้น ย่อมไม่บิดเบือน ต่อเติม ดัดแปลง เพราะนอกจากจะเป็นมุสาวาทแล้ว ยังเป็นการกล่าวตู่ และไม่เคารพต่อพระพุทธเจ้าอีกด้วย ไม่มีใครเขาทำกัน ข้อที่ว่าแต่งเติม พระไตรปิฎก ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน หรือ เดาเอาเองโดยปราศจากหลักฐานเสียมากกว่า (เนื่องจากผู้พูดไม่สามารถเห็นสวรรค์-นรกได้)

“ภิกษุผู้ขีณาสพ เห็นธรรมในแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต

ภิกษุผู้ขีณาสพในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ในสมาธิ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การนอบน้อมอย่างยิ่งนี้แล ที่พระภิกษุผู้ขีณาสพประพฤติในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต” (เล่ม ๑๙ หน้า ๒๙๐-๒๙๑)

พระอรหันต์นอกจากเคารพนอบน้อมในพระพุทธเจ้าแล้ว ยังเคารพนอบน้อมในพระธรรมด้วย ดังนั้นในเวลาทำสังคายนา (แจง ๕๐๐,แจง๗๐๐) ซึ่งมีแต่พระอรหันต์นั้น กล่าวได้ว่าไม่มีทางทีเดียวที่จะมาแต่งเติมบิดเบือนซึ่งเป็นการไม่เคารพอ่อนน้อม จะมีก็แต่คนสมัยนี้ (ซึ่งเทียบความดีกับคนสมัยก่อนไม่ได้เลย) นั่นแหละที่เอาพระไตรปิฎกมาบิดเบือนตามความพอใจของตน มีผู้เล่าให้ฟังว่าพระบวชนานผู้หนึ่ง ตั้งก้อนหินเข้าไว้ สมมติว่านั่นแหละพระพุทธเจ้า (เท็จจริงอยู่กับผู้เล่า) อย่างนี้ การชี้ว่านักบวชผู้นั้นไม่มีความเคารพนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าซึ่งพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้ว่า

“ดูกร สารีบุตร ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา จักเคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดาชื่อว่าไม่เคารพในพระธรรมด้วย” (เล่ม ๒๓ หน้า๑๑๒)

นี่ก็ตรงกับที่ท่านตรัส ไม่เคารพพระพุทธเจ้าแล้วก็เลยเอาพระธรรมของท่านไปบิดเล่นได้ตามใจชอบ

พระพุทธศาสนาตามแบบที่นับถือกันในประเทศไทยนี้ ก็ทราบกันแล้วว่าเป็น หินยาน หรือเถรวาท ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจากที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ข้อนี้ก็ถือกันเคร่งมากทีเดียว เห็นได้จากที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ว่า หลังจากเสด็จสู่ปรินิพพานแล้วให้เลิกข้อบัญญัติเล็กน้อยเสียได้

ในภายหลังพระเถระถามพระอานนท์ว่า ได้ทูลถามไว้หรือเปล่าว่าข้อใดถือว่าเล็กน้อย ข้อใดไม่ถือว่าเล็กน้อย พระอานนท์ตอบว่าไม่ได้ทูลถามไว้เลยถูกปรับอาบัติซึ่งพระอานนท์ก็ยอมรับโดยดี ดังนั้นในลัทธิเถรวาทหรือหินยานนี้ ก็เลยไม่มีการล้มเลิกบัญญัติใดๆที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้เดิมทุกประการ

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีสิทธิ์ล้มเลิกข้อบัญญัติใด ท่านก็ยังไม่ยอมทำ แล้วเหตุใดคนประเภทนี้จึงจะไปแก้ไขดัดแปลงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ละ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้เห็นได้ว่าคำของผู้ที่กล่าวว่าพระไตรปิฎกมีการดัดแปลงแต่งเติมนั้นน่าจะเป็นคำที่ “ไม่คล้ายคำพูดของบุคคลผู้มีปัญญา” เสียมากกว่า



ง. การเชื่อถือในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
๑. คนเป็นจำนวนมากมีความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าได้ฟังคำสอนของพระองค์แล้วอย่าเพิ่งเชื่อ เมื่อตรึกตรองเหตุผลเห็นจริงแล้วจึงค่อยเชื่อ

ความเข้าใจเช่นนี้น่าจะไม่ถูก เพราะไม่มีที่ใดในพระไตรปิฎกบ่งถึงเรื่องเช่นนี้ไว้อย่างตรงตัว มักจะอ้างกาลามสูตร (เกสปุตตสูตร) ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “มาเถิดท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตาม.........” (เล่ม ๒๐ หน้า ๒๑๓) ทั้งหมดมี ๑๐ ข้อด้วยกัน ต่อจากนั้นก็ไปตีความกันเองว่า ให้คิดหาเหตุผลให้เข้าใจจึงค่อยเชื่อ ข้อนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ ในพระสูตรนี้ทรงเฉลยคำตอบไว้ว่า “เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ได้ด้วยตนเองว่า.........”

(ธรรมใดเป็นอกุศลให้ละเสีย ธรรมใดเป็นกุศลควรเข้าถึงธรรมนั้นอยู่)

ศัพท์ว่า “รู้ได้ด้วยตนเอง”ไม่ได้หมายความว่า ให้ตรึกตรองจนเห็นจริงเพราะการตรึกตรองก็อยู่ในข้อ “อย่าได้ยึดถือโดยตรึกตามอาการ” หรือไม่ก็ “โดยการคาดคะเน” “โดยเดาเอาเอง” ในกาลามสูตรไม่พ้นข้อเหล่านี้ไปได้ การตรึกตรองนั้นไม่ใช่ว่าจะเข้าใจพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้เสมอไป (เพราะปัญญาของเราห่างจากพระปัญญาของพระพุทธเจ้ามาก) พระองค์ตรัสไว้ว่า

“ธรรมที่เราได้บรรลุนี้แล ลึก เห็นได้โดยยาก รู้ตามได้โดยยาก เป็นธรรมสงบประณีต อันความตรึกหยั่งไม่ถึง....” (เล่ม ๑๒ หน้า ๒๖๖) อีกแห่งหนึ่ง

“ดูกร สารีบุตร ผู้ใดแลพึงว่าเรา ผู้รู้อยู่อย่างนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษ พอแก่ความเป็นพระอริยะของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ดูกรสารีบุตร ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรก...” (เรื่องนี้เกี่ยวกับสุนักขัตตะลิจฉวี ที่ทรงตักเตือนโดยดีแล้วไม่เชื่อ ต้องตักเตือนขั้นรุนแรงยิ่งขึ้น โดยไม่ระบุชื่อ) ข้อนี้ก็ยืนยันว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงนั้น ทรงได้มาจากญาณทัสสนะด้วย เป็นสิ่งที่จะตรึกตรองธรรมดาคิดไม่ออกมองไม่เห็น

ศัพท์ “รู้ได้ด้วยตนเอง” นั้น ในที่หลายแห่งบ่งว่าหมายถึง ญาณ เครื่องรู้ และญาณจะมีได้ก็ต้องทำสมาธิ ทำฌานเสียก่อน กล่าวคือ ปฏิบัติเสียก่อนจึงจะรู้ได้

“โดยที่แท้ อริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า...” (เล่ม ๑๖ หน้า๘๖)

“เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกตามอาการ และจากการทนต่อความเพ่งด้วยทิฏฐิ ท่านมุสิละ มีญาณเฉพาะตัว ท่านว่าเพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะดังนี้หรือ”(เล่ม ๑๖ หน้า ๑๒๗)

“ญาณเกิดแต่ผู้มีใจเป็นสมาธิเท่านั้น” (เล่ม ๒๐ หน้า๒๔๗)

ด้วยเหตุนี้ในพระไตรปิฎกจึงเน้นเรื่องให้ภิกษุทำสมาธิทำฌานอยู่โดยตลอด ในอริยมรรคมีองค์แปดข้อสุดท้าย สัมมาสมาธิ ก็อธิบายว่าหมายถึง ทำให้ได้ฌานหนึ่งถึงสี่ การที่จะรู้เห็นนรกสวรรค์ได้ ก็ต้องใช้สมาธิฌาน พระพุทธเจ้าทรงเล่าถึงภิกษุรูปหนึ่ง

“เธอได้เข้าสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่เทวโลกปรากฏได้” และ “ภิกษุได้เข้าสมาธิชนิดที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่พรหมโลกปรากฏได้” (เล่ม ๙ หน้า ๒๗๐ และ ๒๗๑)

ในเล่ม ๑๓ หน้า ๓๐๓ บ่งว่า ผู้บรรลุฌาน ๔ สามารถยืนด้วยกัน เจรจากัน สนทนากันกับเทวดาทั้งหลายได้ หลักฐานต่างๆเหล่านี้แสดงว่า พระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ผู้ที่จะเข้าใจและรู้เห็นได้จริงๆ ต้องเป็นผู้มีญาณ (ขอให้สังเกตว่าผู้กล่าวว่าเทวดาไม่มี สวรรค์ก็อยู่ในอก นรกก็อยู่ในใจนั้น เป็นพวกไม่มีฌาน ไม่มีญาณ)

๒. ตรงกันข้ามกับความเข้าใจในข้อต้นทีเดียว ที่ว่าตรึกตรองเห็นจริงแล้วจึงค่อยเชื่อนั้น พระพุทธเจ้าท่านบ่งว่าพระธรรมของท่านรู้ไม่ได้ด้วยความตรึก เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไร? ก็ต้องพิจารณาจากหลักฐานต่อไปอีก

“ดูกร สารีบุตร อริยสาวกผู้ใดมีศรัทธามั่นเลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต” (เล่ม ๑๙ หน้า๒๘๑)

คำตรัสนี้แปลออกมาในทางปฏิบัติได้ว่า ไม่ต้องคิดตรึกตรองให้เห็นจริงในคำสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อไปได้เลย (ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่าพระพุทธเจ้าตรัสไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง)

“ดูก่อน ภิกษุ บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เชื่อมั่นในเรา บุคลเหล่านั้นเป็นผู้สมบรูณ์ด้วยทิฏฐิ (เล่ม ๒๔ หน้า ๑๒๓)

สรุปแล้ว พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเชื่อไปได้เลย ปฏิบัติไปได้เลย โดยไม่ต้องพิจารณาหาเหตุผลความถูกต้องกันอีก (ปรากฏว่ามีหลายคนแล้วที่ไม่ยอมลงมือปฏิบัติ เพราะตนยังตรึกตรองเข้าใจไม่ตลอด บุคคลประเภทนี้คาดว่าจนกระทั่งตายก็ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ)

บางทีความเข้าใจที่ว่ายังไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้านั้น อาจมาจากเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงถามพระสารีบุตร (เล่ม ๑๙ หน้า ๒๗๕) แล้วท่านสารีบุตรทูลตอบว่า ไม่ถึงความเชื่อต่อพระพุทธเจ้า จึงได้เอาไปแปลว่าไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าก็ได้

“ดูกร สารีบุตร เธอเชื่อหรือว่าสัทธินทรีย์ที่บุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้วย่อมหยั่งลงสู่อมตะ....” โปรดสังเกตว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงถามว่าเชื่อท่านหรือไม่

ท่านพระสารีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ข้าพระองค์ไม่ถึงความเชื่อต่อผู้มีพระภาคว่า สัทธินทรีย์....ฯลฯ (อมตะนั้น ชนเหล่าใดยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่กระทำให้แจ้ง ไม่พิจารณาให้เห็นด้วยปัญญา ชนเหล่านั้นพึงถึงความเชื่อต่อชนเหล่าอื่นในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์....)

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อมตะนั้นข้าพระองค์รู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นด้วยปัญญา ข้าพระองค์จึงหมดความเคลือบแคลงสงสัยในอมตะนั้นว่าสัทธินทรีย์...”

พระพุทธเจ้าตรัส “ดีละๆ สารีบุตรด้วยว่าอมตะนั้น ชนเหล่าใดยังไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่กระทำให้แจ้ง ไม่พิจารณาเห็นแจ้งด้วยปัญญา ชนเหล่านั้นพึงถึงความเชื่อต่อชนเหล่าอื่นในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์...”

ผู้อ่านบางท่านสรุปความว่า พระพุทธเจ้าถามพระสารีบุตรว่าเชื่อท่านไหม พระสารีบุตรตอบว่าไม่เชื่อ แล้วพระพุทธเจ้าก็สาธุ เลยเป็นแบบอย่างว่าไม่เชื่อพระพุทธเจ้าก็ได้ ซึ่งความจริงใจความไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธศาสนาท่านสอนให้รู้จริงๆไม่ใช้ให้ไปเชื่อเฉยๆ พระธรรมบทนี้พระพุทธเจ้าเป็นผู้แสดง

ในชั้นแรกพระสารีบุตรยังไม่เห็นแจ้งด้วยปัญญาก็ต้องเชื่อตามที่พระพุทธเจ้าสอนไปก่อน (ถึงความเชื่อต่อพระพุทธเจ้า) ครั้นแจ่มแจ้ง ด้วยปัญญาแล้วก็เป็นอัน “ไม่ต้องเชื่อผู้ใดในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า” อีก (คือไม่ต้องถึงความเชื่อต่อพระพุทธเจ้า)
อย่างไรก็ดีในคำตอบของพระพุทธเจ้านั้น บ่งชัดทีเดียวว่าหากยังไม่แจ่มแจ้งด้วยปัญญา ก็ต้องเชื่อคนอื่นไปก่อน ไม่ใช้ตรองไม่เห็นจริงก็อย่าพึงเชื่อ (แน่นอน...ใช้สำหรับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น)

ถ้าจะให้ชัด ขอให้ดูจากเรื่องของสีหะเสนาบดีใน เล่ม ๒๒ หน้า ๒๗ เรื่องมีว่า สีหะเสนาบดีทูลขอทราบผลของทานที่จะพึงเห็นได้ในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าทรงตอบว่ามีดังนี้

๑. เป็นที่รักชอบใจของชนเป็นอันมาก
๒. สัตบุรุษย่อมคบหา
๓. กิตติศัพท์ย่อมขจร
๔. เข้าที่ประชุมใดๆก็องอาจไม่เก้อเขิน
๕. ตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

สีหะเสนาบดีทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลทานที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อผู้มีพระภาคในผลทานแห่งทาน ๔ ข้อนี้ก็หามิได้ แม้ข้าพระองค์เองก็ทราบดี คือข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก

สัตบุรุษย่อม...ฯลฯ ส่วนผลทานที่จะพึงเห็นเอง (ข้อที่๕)ที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอก ข้าพระองค์ว่าทายกผู้ทานบดี เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบ ก็แต่ว่าข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในข้อนี้”

ถ้าหากจะแปลคำ “เชื่อต่อพระผู้มีพระภาคก็หามิได้” ว่า “ไม่เชื่อ”แล้ว ก็จะแปลได้ความ ๔ ข้อที่พระพุทธเจ้าตรัส สีหะบดีก็รู้อยู่เองว่าเป็นดังนั้นจริง เพราะฉะนั้นจึงไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ส่วนข้อที่ ๕ นั้นไม่รู้เลยเชื่อพระพุทธเจ้า คือรู้ว่าจริงดังนั้นกลับไม่เชื่อ ครั้นไม่รู้กลับเชื่อ

ถ้าหากจะให้ความรับกันก็ต้องพูดว่า ๔ ข้อรู้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องพึ่งความรู้ตามที่พระพุทธเจ้าบอก หรือรับเชื่อไปก่อน ส่วนข้อที่ ๕ ตัวเองไม่รู้ก็ต้องรับเอาตามที่พระพุทธเจ้าตรัส

ในกรณีของท่านสารีบุตรก็เช่นกัน ท่านแจ้งด้วยปัญญาในอมตะแล้ว ก็เลยไม่ต้องถือตามที่พระพุทธเจ้าตรัส ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไร เราจะไม่เชื่อก็ได้

ด้วยเหตุนี้ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก (ซึ่งตรัสว่าไม่พึงเคลือบแคลงสงสัย) หากเราไม่เข้าใจก็ต้อง “ถึงความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค”ไปก่อนจนกว่าจะมีญาณทัสสนะรู้ได้ด้วยตนเองแล้ว จึงไม่ต้อง “ถึงความเชื่อต่อผู้มีพระภาค”

คนจำนวนหนึ่งอาจจะติดหล่มอยู่ เพราะนึกว่าจะต้องตรึกตรองให้เห็นจริงก่อนจึงจะเชื่อ ในขณะที่ความตรึกไม่สามารถจะเข้าใจญาณทัสสนะได้

การเชื่อถือในพระไตรปิฎกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะพระไตรปิฎกในส่วนพระวินัย และพระสูตร เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคำสอนใดเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ จากข้อธรรมชื่อ มหาประเทส ๔ (เล่ม ๒๑ หน้า ๑๙๕)
๑. ภิกษุอ้างว่ารับมาเฉพาะพระพักตร์

๒. ภิกษุกล่าวว่า สงฆ์อยู่ในอาวาสชื่อโน้น พร้อมทั้งเถระ พร้อมทั้งท่านที่เป็นประธาน ข้าพเจ้าได้สดับมาได้รับมาเฉพาะพระพักตร์

๓. ภิกษุกล่าวว่า ภิกษุผู้เป็นพระเถระมากด้วยกัน อยู่ในอาวาสชื่อโน้นเป็นพหูสูต ชำนาญในนิกายฯลฯ ข้าพเจ้าได้สดับมา รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้น

๔. ภิกษุกล่าวว่า ภิกษุผู้เป็นเถระรูปหนึ่งอยู่ในอาวาสชื่อโน้นเป็นพหูสูตร ชำนาญในนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ....

ทั้ง ๔ ประการนี้ “ไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้าน ถึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วพึงเทียบในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย ถ้าเทียบในพระสูตรสอบสวนในพระวินัยไม่ได้ ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า คำนี้ไม่ใช่คำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้

อย่างในกรณี สวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ เมื่อเทียบกับพระสูตรแล้วก็ลงไม่ได้ เพราะพระสูตรบ่งชัดว่า สวรรค์-นรกบุคคลตายแล้วจึงไป จึงเรียกว่าไม่ใช้คำสอนของพระพุทธเจ้า (แน่นอนผู้กล่าวดังนั้น หากหวังจะได้รับความเชื่อถือจากผู้คน ก็ต้องลบล้างพระไตรปิฎกเสียก่อน โดยกล่าวว่าพระไตรปิฎกบิดเบือน ทั้งๆที่ตนเองก็ไม่มีอะไรจะสนับสนุนคำพูดของตัวเองเป็นหลักฐานเลย)

๓. ข้อสนับสนุนเพิ่มเติม
“ดูกร อานนท์ ศาสดาในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อนุเคราะห์แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลอาศัยความเอ็นดู แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้นไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เหล่าสาวกชื่อว่าเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นข้าศึก มิใช่เรียกร้องด้วยความเป็นมิตร” (เล่ม ๑๔ หน้า๒๑๕)

คำสอนในพระไตรปิฎกมีอยู่ก็ไม่เอาใจใส่ ไม่ฟัง ไม่ปฏิบัติตาม กลับสร้างคำสอนของตัวเอง เช่นนี้ถือว่าเป็นการลบล้างคำสอนของพระศาสดา เรียกร้องด้วยความเป็นข้าศึก เช่นพระพุทธเจ้าทรงสอนให้หลุดพ้นด้วยมรรค๘ แต่เกจิอาจารย์ไม่เอ่ยถึงมรรค๘เลย เป็นต้น

“บุคคลใด เมื่อตถาคตบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่รู้ ไม่เห็น เราจะทำอะไรได้กับบุคลนั้น ผู้เป็นปุถุชนคนพาลบอด ไม่มีจักษุ ไม่รู้ ไม่เห็น” (เล่ม ๑๗ หน้า ๑๔๙)

“ดูกร กัสสป มรรคามีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ บุคคลปฏิบัติตามแล้วจักเห็นเองว่า พระสมณโคดมกล่าวตามกาล กล่าวจริง กล่าวอรรถ กล่าวธรรม กล่าววินัย” (เล่ม ๙ หน้า ๒๕๕)

“ธรรมทั้งหลายอันพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น ผู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ทรงบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เป็นธรรมอันพวกสาวกไม่ควรก้าวล่วงตลอดชีวิต” (เล่ม ๑๑ หน้า ๑๒๓)

อย่างไรก็ดีพระพุทธเจ้าไม่ได้เคี่ยวเข็ญให้ต้องทำตามพระธรรมคำสั่งสอนโดยเคร่งครัด เพราะตรัสว่า “ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางให้” (เล่ม ๑๔ หน้า ๗๒) ทั้งยังได้ตรัสล่วงหน้าไว้

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุในอนาคตกาล เมื่อเขากล่าวถึงพระสูตรที่ตถาคตกล่าวถึงแล้วอันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญตาธรรมอยู่ จักไม่ปรารถนาฟัง จักไม่ไปตั้งจิตเพื่อรู้ และจักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้นว่าควรเล่าเรียน ควรศึกษา

แต่ว่าเมื่อเขากล่าวพระสูตรอันนักปราชญ์ร้อยกรองไว้ มีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นของภายนอก เป็นสาวกภาษิตอยู่ จักปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้นว่าควรเรียนควรศึกษา” (เล่ม ๑๖ หน้า ๓๐๒)

ดังที่กล่าวแล้วพระพุทธเจ้าตรัสต้องไม่ผิดจากความจริง เวลานี้ภิกษุที่นิยมชมชื่นในสูตรของเว่ยหล่าง มากกว่าพระสูตรในพระไตรปิฎกก็ได้ข่าวว่ามีอยู่ไม่น้อย

ท่านปุสสเถระได้กล่าวไว้ในเล่ม ๒๖ หน้า ๓๙๖ ว่า

“ในกาลข้างหน้า ภิกษุเป็นอันมาก จักเป็นคนมักโกรธ มักผูกโกรธไว้ ลบหลู่คุณท่าน หัวดื้อ โอ้อวด ริษยา มีวาทะต่างๆ กัน จักเป็นผู้มีมานะในธรรมที่ยังรู้ไม่ทั่วถึง คิดว่าตื้นในธรรมที่ลึกซึ้ง

ในกาลข้างหน้า โทษเป็นอันมากจักเกิดในหมู่สัตว์โลก ก็เพราะภิกษุทั้งหลายผู้ไร้ปัญญาจักทำธรรมที่พระศาสดาแสดงแล้วนี้ให้เศร้าหมอง ทั้งพวกภิกษุที่มีคุณอันเลว โวหารจัด แกล้วกล้า มีกำลังมาก ปากกล้า ไม่ได้เล่าเรียนก็จักมีขึ้นในสังฆมณฑล”

ดูๆ แล้ว “ในกาลข้างหน้า” ของท่านเห็นจะกำลังเกิดอยู่จริงๆ เสียด้วย



จ. หลักที่ควรจำ
เพื่อมิให้เกิดอันตรายจากภิกษุ “ในกาลข้างหน้า” เหล่านั้นจึงควรจำหลักไว้ในใจว่า

๑. พระพุทธเจ้าตรัสแต่ความจริง ตรัสอย่างใดเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น เมื่เป็นความจริงก็ไม่มีทางค้าน ไม่มีทางแย้งได้ ถ้าแย้งได้ก็ไม่ใช้คำสอนของพระพุทธเจ้า

๒. นิกายเถรวาทของประเทศไทยยึดหลักการไม่เปลี่ยนแปลงจากของเดิมที่พระพุทธเจ้าตรัสหรือบัญญัติไว้ การดัดแปลงแต่งเติมพระไตรปิฎกย่อมไม่เป็นไปได้ เพราะผู้ทำสังคายนามีแต่พระอรหันต์มีความเคารพนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าและพระธรรม ไม่เหมือนสมัยนี้ อนึ่งหากไปดัดแปลงแต่งเติมเข้าก็ต้องขัดแย้งกับของเดิมให้จับได้บ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามี

๓.หลักในการพิสูจน์คำสอนว่าเป็นของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ คือเทียบกับพระสูตร สอบกับพระวินัย หากไม่ตรงก็ไม่ใช้คำสอนของพระพุทธเจ้า (ภิกษุบางองค์พูดว่า พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ หมายความว่าอย่างนั้นๆ ภิกษุเช่นนี้เชื่อถือไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไม่กำกวม ตรัสอย่างใดมีความหมายอย่างนั้น ไม่มีความหมายอย่างอื่น)

๔. พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเป็นความจริง ไม่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง จะเข้าใจถ่องแท้ต้องมีญาณรู้ได้ด้วยตัวเอง การมีญาณต้องมีการปฏิบัติด้านสมาธิ ในเมื่อยังไม่มีสมาธิ ไม่มีญาณ ก็เชื่อตามพระธรรมไปได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาตรึกตรองให้เข้าใจเสียก่อน

๕. ที่ไม่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นๆ ขอกล่าวในตอนนี้ก็คือ อริยมรรคมีองค์๘ ไม่มีในศาสนาอื่น พระอริยะ (โสดาบันถึงอรกันต์) ไม่มีในศาสนาอื่น นิพพานอันเป็นอมตะบรมสุขไม่มีในศาสนาอื่น หากศาสนาใดอ้างว่าศาสนาพุทธทำทางไว้ให้แก่ศาสนาเขา ถามคำเดียวว่าในคัมภีร์ของท่านมีมรรค ๘ หรือเปล่า ก็จะได้คำตอบ



หมายเหตุ
๑. ข้อโต้แย้งในเรื่องการทรงจำธรรมมีอยู่ แต่ผลจากการทรงจำธรรมไม่ได้ก็จะเป็นไปในทางที่ว่าขาดตกบกพร่องไปเสียมากกว่าเกินเข้ามา

อย่างไรก็ดีเรื่องการที่พระภิกษุต้องทรงจำพระธรรมไว้ให้คล่องปากขึ้นใจ นี้เป็นเพราะพระพุทธเจ้าทรงกำชับอยู่ตลอดเวลาต้องระลึกไว้ว่าบรรดาสาวกมีหน้าที่เผยแพร่ธรรมะ ดังนั้นจึงต้องคล่องแคล่วแตกฉานในการสอนและการตอบปัญหาธรรม ในการสอนและการตอบปัญหานี้จำเป็นต้องอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอะไรที่ไหน หากจำไม่ได้ ก็จะไม่สะดวกในการสอน

อีกอย่างหนึ่งพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ต้องคบคิดใคร่ครวญอยู่อย่างต่อเนื่อง หากจำไม่ได้ก็ย่อมไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปใคร่ครวญ ด้วยเหตุนี้พระภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้าจึงมีธรรมเนียมต้องทรงจำธรรมได้คล่องปากขึ้นใจ

เข้าใจว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพานไปแล้ว ๔๐๐ ปีเศษ ภิกษุทั้งหลายคงจะประพฤติย่อหย่อนในเรื่องการทรงจำพระธรรม พระอรหันต์ทั้งหลายจึงดำริบันทึกลงไว้ให้เป็นการถาวร ก่อนที่จะลืมเลือนไปหมด

เคยเห็นมีคนกล่าวว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ถ่ายทอดกันมาด้วยวาจา คำพูดเช่นนี้ความหมายไม่เหมือนกันกับพูดว่า พระสาวกมีปกติทรงจำพระธรรมไว้ได้อย่างคล่องปากขึ้นใจ

แต่คำที่เหลวไหลที่สุดก็คือ การพูดว่าสมัยพุทธกาลไม่มีตัวอักษรใช้ จึงต้องถ่ายทอดกันด้วยวาจา เพราะว่าในพระวินัย (เล่ม ๓ หน้า ๒๔๗) บ่งว่า “เรียนหนังสือ๑ เรียนวิชาท่องจำ๑ เรียนวิชาป้องกันเพื่อประสงค์คุ้มครองตัวหนึ่ง๑ ไม่ต้องอาบัติ” หรือ กวี๔ (เล่ม ๒๑ หน้า ๒๖๔ ) มี จินตกวี สถตกวี อรรถกวี ปฏิภานกวี เป็นต้น

๒. การใช้ภาษาในพระไตรปิฎก ปรากฏว่าจะกล่าวด้วยคำแน่นอนไม่กำกวม เช่น เมื่อพระพุทธเจ้าใช้พระอานนท์ไปเรียกพระภิกษุทั้งหลายมาเฝ้า หากจะเป็นอย่างเราๆก็จะพูดว่า “จงไปเรียกภิกษุทั้งหลายมาหาเรา”
แต่ในพระไตรปิฎกเขียนว่า “ดูกร อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเรียกภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นมาตามคำของเรา ว่าพระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย” (เล่ม ๗ หน้า ๑๕๑ ) ลักษณะเช่นนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎก แสดงให้เห็นความรัดกุม ไม่ผิดพลาด ไม่คลาดเคลื่อน

หากจะใช้คำอย่างหนึ่งให้มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง ก็จะมีบ่งไว้โดยชัดเจน เช่น
“เงื้อหอก คือฝ่ามือ ....” ( เล่ม ๒ หน้า ๖๘๗ )
“พระสมณตรัสลูกศรคือตัณหา...”( เล่ม ๑๔ หน้า ๕๗ )
“เปรียบเสมือนฟองไก่ที่ไม่เน่า...” (เล่ม ๑๓ หน้า ๒๘ )
“ภัยเพราะคลื่น ซึ่งเป็นชื่อของความคับใจ...” (เล่ม ๑๓ หน้า๑๗๒ )
“มีหลังคา คือกิเลส...” (เล่ม ๑๑ หน้า ๑๓๖ )
“นางนกต่อนี้เป็นชื่อของอวิชา...” (เล่ม ๑๒ หน้า ๑๙๔ )

ข้อนี้แสดงให้เห็นลักษณะการใช้คำที่ไม่กำกวม เข้าใจได้แน่นอน ไม่ผิด ดังนั้นหากใช้คำว่า สววรค์เพื่อหมายถึงความสุขที่เกิดในใจ หรือ นรกเพื่อหมายถึงความทุกข์ที่เกิดในใจ พระไตรปิฎกก็จะต้องกล่าวว่า “สวรรค์คือความสุขในใจ” หรือ “นรกคือความทุกข์ในใจ” แต่ท่านก็พูดแค่สวรรค์ นรก เฉยๆ ไม่มีคืออย่างนั้น คืออย่างนี้ต่อท้าย มิหนำซ้ำยังบ่งว่า เมื่อแตกกายตายไปแล้วจึงจะไปนรกไปสวรรค์อีกด้วย

พวกที่หาว่าการพูดถึงสวรรค์-นรกเป็นการหลอกหลวง ควรจะรู้คำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า
“พรหมจรรย์นี้ ภิกษุไม่อยู่ประพฤติเพื่อหลอกหลวงคน...” (เล่ม ๒๕ หน้า ๒๒๑ )

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 1/8/08 at 13:09 Reply With Quote


(Update 1 ส.ค. 51 ตอนที่ 2)


เทวดา


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 74

ใครทราบบ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงเทวดาไว้ว่าอย่างไร ?

จะรู้กันอย่างหลวมๆเสียละกระมังว่าพระพุทธศาสนากล่าวว่า “ทำดีขึ้นสวรรค์ ทำชั่วตกนรก” คงรู้กันแค่นี้เสียมากกว่า

ถ้าหากมีความรู้แค่นี้ ก็ควรอยู่หรอกที่จะมีความเห็นว่า เรื่องนรกสวรรค์เป็นคำพูดหลอกหลวง ให้คนไม่กล้าทำความทำความชั่ว ใครเชื่อก็โง่เง่าเต่าล้านปี

จะคิดต่อไปอีกสักนิดก็ไม่ได้ว่าถ้าศาสนาคือขู่ไม่ให้คนทำชั่วละก็ทางศาสนาเองจะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาบ้าง ใครจะทำชั่วทำดี ภิกษุในศาสนาไม่เห็นจะต้องเดือนร้อนไปด้วยนี่ อย่างเก่งพระท่านก็พึ่งชาวบ้านแค่ข้าววันละมื้อ (และคนทำชั่วก็ไม่ใช่ว่าจะทำทานไม่ได้) ถึงพระเองที่ไปเที่ยวบิณฑบาตรชาวบ้าน ก็ไม่ใช่ว่าพระจะสิ้นไร้ไม้ตอก

อย่าง พระพุทธเจ้า ท่านก็จะขึ้นครองราชย์สมบัติต่อไปอยู่แล้ว ท่านโมคคัลลาน์ ท่านสารีบุตร มีทรัพย์คนละ ๘๐ โกฎิ ต่างทิ้งหมด มาบิณฑบาตรกิน บางทีก็อด อีกหลายๆองค์ก็เช่นกัน

เพราะฉะนั้นเหตุผลที่จำเป็นต้องไปหลอกหลวงชาวบ้านก็ไม่มี พระพุทธเจ้าท่านตรัสอยู่แล้วว่า “เราเป็นแต่เพียงผู้บอก” ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจ เพราะเหตุนี้ท่านก็ไม่มีความจำเป็น จะต้องไปหลอกหลวงชาวบ้านอีกเหมือนกัน ท่านตรัสตามความเป็นจริงที่ท่านทรงทราบ สวรรค์มีก็บอกว่าสวรรค์มี เชื่อไม่เชื่อก็แล้วแต่

เรื่องของคนโง่ ที่คิดว่าตนฉลาดเช่นนี้น่าอ่อนใจจริงๆ ก็ลองคิดดูซิ เอามาค่อนขอดกันอยู่ได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงลำเอียงที่ตั้งพระสารีบุตรและพระโมคัลลาน์ เป็นพระอัครสาวกขวาซ้าย เขากล่าวว่าที่จริงควรตั้งพระปัญจวัคคีย์มากกว่าเพราะมีอาวุโส ก็เขาเหล่านั้นทำไมไม่คิดบ้างว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ตั้งแต่ท่านทั้งสองเดินเข้ามาทีแรกยังไม่ได้บวชด้วยซ้ำไปว่า ท่านทั้งสองเป็นคู่สาวก

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สหายสองคนนั้นคือโกลิตะและอุปติสสะ กำลังมานั้นจักเป็นคู่สาวกของเรา จักเป็นคู่เจริญชั้นเยี่ยมของเรา” (เล่ม ๔ หน้า ๑๒)

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต่างก็มีคู่สาวกอย่างนี้ทั้งนั้น ก็ทำไมพระพุทธเจ้าทรงทราบได้ตั้งแต่ยั้งไม่บวชล่ะว่าท่านทั้งสองจะเป็นคู่สาวก? ควรจะสงสัยตอนนี้ดีกว่า ไปหาว่าพระพุทธเจ้าลำเอียงหาเรื่องลงนรกเปล่าๆ (คงไม่เชื่ออีกแหละว่ามีนรก) เดี๋ยวจะออกนอกเรื่องไปกันใหญ่ ย้อนมาดูหลักฐานเรื่องเทวดากันก่อน (ไม่พูดถึงนรกละ) ในพระไตรปิฎก มีเรื่องเทวดานับไม่ถ้วนแห่ง แต่ขอนำมาแสดงเฉพาะที่พระพุทธเจ้าตรัสและที่เกี่ยวกับธรรมะเท่าที่พอจับเนื้อหากันได้เท่านั้น



๑. คติ ๕ (เล่ม ๑๑ หน้า ๒๒๔, เล่ม ๑๒ หน้า ๑๑๗, เล่ม ๒๓ หน้า ๔๒๔) ได้แก่

- กำเนิดสัตว์นรก
- กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน
- เปรตวิสัย
- มนุษย์
- เทวดา
สัตว์โลกเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในคติทั้ง ๕ นี้แหละ (ล่ม ๑๙ หน้า ๕๒๙)



๒. ภูมิ ๔ (เล่ม ๓๑ หน้า ๘๓)

- กามาวจรภูมิ นับแต่อเวจีมหานรก ขี้นไปจนถึงเทวดาชาวปรนิมมิตวสวัสดี
- รูปาวจรภูมิ นับแต่พรหมโลกไปถึงเทวดาชั้นอกนิฏฐ์
- อรูปาวจรภูมิ นับแต่เทวดาผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ ไปจนถึงเทวดาผู้เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญยตนภพ
- โลกุตรภูมิ มรรค ผล และนิพพาน ธาตุอันปัจจัยไม่ปรุงแต่งเป็นโลกุตตระ



๓. เทวดาชั้นต่างๆ (เล่ม ๑๔ หน้า ๑๙๒)

- จาตุมหาราชิกา
- ดาวดึงส์
- ยามา
- ดุสิต
- นิมานรดี
- ปรนิมมิตสวัสดี
( ต่อไปเป็นชั้นของพรหมจะไม่นำมาแสดงไว้ )



๔. เทวดาไม่แก่เหมือนมนุษย์ ไม่มีเส้นเอ็น (เล่ม ๒๗ หน้า ๒๙๗)




๕. อายุเทวดา (เล่ม ๒๓ หน้า ๒๒๘)

- เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกามีอายุ ๕๐๐ ปีทิพย์ ( ๑ วันเท่ากับ ๕๐ ปีมนุษย์)
- เทวดาชั้นดาวดึงส์มีอายุ ๑๐๐๐ ปีทิพย์ ( ๑ วันเท่ากับ ๑๐๐ ปีมนุษย์) เป็นต้น



๖. นิมิต ๕ ที่เทวดาจะจุติ ( ตาย )

- ดอกไม้เหี่ยวแห้ง
- ผ้าย่อมเศร้าหมอง
- เหงื่อไหลจากรักแร้
- ผิวพรรณเศร้าหมอง
- ไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน



๗. ผู้ไม่เลื่อมใสพระพุทธเจ้าหรือคนนับถือศาสนาอื่นก็เป็นเทวดาได้

“เทพบุตรผู้เป็นสาวกเดียรถีย์ต่างๆ” (เล่ม ๑๕ เล่ม ๙๔) เดียรถีย์ คือพวกที่อยู่นอกศาสนาพุทธ

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยมากยักษ์มิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเลย” (เล่ม ๑๑ หน้า ๑๗๔)

เป็นคำกราบทูลของท้าวมหาราช ทรงพระนามว่า เวสสุวัณ เป็นนายของเทวดาชั้นจาตุมหาราชทิศเหนือ เทวดาเหล่านี้เวลาออกทำงานแสดงรูปเป็นยักษ์ เทวดาที่มาจากศาสนาอื่นคงจะอยู่ในสวรรค์ชั้นต่ำสุด คือ จาตุมหาราชิกากันมากไม่ค่อยไปสูงกว่านี้ จึงเป็นพวกไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า

“เทวดาที่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ย่อมครอบงำเทวดาอื่นๆด้วยฐานะ ๑๐ คือ อายุ, วรรณะ, สุข, ยศ, ความเป็นใหญ่, รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, อันเป็นทิพย์”(เล่ม ๑๘ หน้า ๓๐๘)

สำหรับในตอนนี้จะขอชี้ให้เห็นเสียก่อนว่า หากจะหลอกกันในเรื่องนรกสวรรค์แล้ว เพียงแค่บอกว่ามีอยู่ก็พอแล้วไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดขนาดว่า แบ่งเป็นกี่ชั้นมีอายุเท่าใด ไม่มีเส้นเอ็น และอาการที่บ่งว่าเทวดาจะตายต่างๆเหล่านี้เลย รายละเอียดอย่างนี้แน่นแฟ้นเกินไป จนน่าจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะแต่งขึ้นมาสำหรับจะหลอกกัน

น้ำหนักที่ดียิ่งคือ หากจะหลอกก็หลอกเพื่อประโยชน์ของพระในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ควรจะหลอกว่า พวกนับถือศาสนาพุทธเท่านั้นจึงจะเป็นเทวดา ถ้าไม่นับถือจะตกนรก แต่ท่านก็แสดงให้เห็นว่าคนจากศาสนาอื่นก็มีที่เป็นเทวดาได้ แสดงว่าภาพนี้เป็นสภาพสากล ใครทำดีก็เป็นเทวดา(หลังจากตายแล้ว) พูดอีกนัยหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงกล่าวสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่จริงตามธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ผิดและสามารถพิสูจน์ได้ เพราะเทวดาเป็นทิพย์ จะดูก็ต้องดูกันด้วยตาทิพย์ตาธรรมดาดูไม่เห็นดอก ถึงแม้ท่านจะมาอยู่ใกล้ๆก็ตาม หากจะเห็นด้วยตาเนื้อธรรมดาก็ต้องเป็นเรื่องที่ เทวดานั้นทำให้เห็นด้วยฤทธิ์ของท่านให้เห็น

“ภิกษุใดรู้แจ้งมนุษย์โลก เทวโลก พร้อมทั้งพรหมโลก อันมีประเภทตั้งพันได้ในเวลาครู่เดียว ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในคุณคืออิทธิฤทธิ์ และในจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นย่อมเห็นเทพเจ้าได้ตามประสงค์” (เล่ม ๒๖ หน้า ๓๙๐ อนุรุทธเถรคาถา)

เล่ม ๑๓ หน้า ๓๐๓ บ่งว่า ผู้บรรลุ จตุตถฌาน(ฌาน๔) สามารถยืนด้วยกัน เจรจากัน สนทนากันกับเทวดาทั้งหลายได้

วิธีที่จะเห็นหรือพิสูจน์ว่าเทวดามีนั้นมีอยู่ ผู้ใดมีคุณสมบัติตามนั้นก็คงจะเห็นได้ ผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติแล้วประกาศออกมาอย่างหน้าตาเฉยว่าเทวดาไม่มีนั้น ไม่ควรจะมีคนเชื่อถือเลย แต่สิ่งประหลาดในโลกย่อมมีไม่มีที่สิ้นสุด เพราะปรากฏว่าชนจำนวนมากทีเดียวกลับเชื่อถือยกย่อง ในเมื่อมีผู้ฝึกได้ เห็นเทวดาได้เข้าจริงๆกลับหาว่าเขาอุปาทาน หรือสะกดจิตตัวเองไปเสียฉิบ เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้เองที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้ว่า ถ้าเขาชอบใจจะเชื่อของเขาอย่างนั้นก็อย่าไปพูดด้วยคนอย่างนี้ เขาไม่ฟังเหตุผลอะไรหรอก

คราวนี้ลองมาดูทางบทธรรมกันดูบ้าง



๘. กรรมสมควร ๔ ด้วยทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร (เล่ม ๒๑ หน้า๗๗)

- เลี้ยงตนให้เป็นสุข
- ป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากทรัพย์
- ทำพลี ๕ ประการ ญาติพลี, อติถิพลี, ปุพพเปตพลี, ราชพลี, เทวตาพลี
- ยังทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน
- หากใช้นอกจากนี้เรียกว่าไม่สมควรแก่เหตุ

พึงสังเกตที่ท่านตรัสว่า ทรัพย์อันหามาได้ “ด้วยความขยันหมั่นเพียร” (ในเล่ม ๒๔ หน้า ๑๓๙ ตรัสไว้อีก ว่าความเกียจคร้านเป็นอันตรายต่อโภคทรัพย์) แสดงว่าท่านให้ขยันหมั่นเพียร แต่ “ผู้มีปัญญาสูง” หลายท่านกลับกล่าวว่า เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้สันโดษ จึงเป็นการทำให้คนไทยเฉื่อยชาเกียจคร้าน ก็ในเมื่อท่านสอนให้ขยัน ท่านก็ย่อมไม่สอนให้เกียจคร้านเป็นธรรมดา แสดงว่าผู้กล่าวโทษความสันโดษนั้นไม่รู้ความหมายของคำว่าสันโดษ อย่างน้อยก็ไม่รู้ละว่าสันโดษเป็นองค์แห่งความเป็นภิกษุไม่ใช่ธรรมของฆราวาส และไม่ใช้ให้ภิกษุเกียจคร้าน เพราะภิกษุไม่ใช่ผู้ประกอบการงานแบบชาวบ้านอยู่แล้ว ประกอบแต่การงานอันประเสริฐ คือปฏิบัติเพื่อพระนิพพานเท่านั้น

โปรดสังเกตในข้อสามว่า ท่านตรัสว่า การทำเทวตาพลีเป็นการกระทำอันสมควร



๙. กุลบุตรที่เป็นผู้ปกครองหวังได้รับความเจริญส่วนเดียวไม่มีเสื่อมด้วยธรรม ๕ (เล่ม ๒๒ หน้า ๗๖) คือ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่นแก่

- มารดา บิดา
- บุตร ภรรยา ทาส กรรมกร และ คนใช้
- เพื่อนชาวนา คนที่มาร่วมงาน
- เทวดาผู้รับพลีกรรม
- สมณพราหมณ์

“เทวดาผู้ได้รับพลีกรรม ได้รับสักการะนับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยน้ำใจอันงามว่าขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้วพึงหวังได้ความเจริญส่วนเดียวไม่มีเสื่อม” (เล่ม ๒๒ หน้า ๗๗ )



๑๐. เล่ม ๕ หน้า ๘๗ พระพุทธเจ้าทรงตรัสพระคาถาแก่สุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์แคว้นมคธ

“บัณฑิตชาติอยู่ในประเทศใด เลี้ยงดูท่านผู้มีศีล ผู้สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ในประเทศนั้น และได้อุทิศทักษิณาแก่เหล่าเทพยดา ผู้สถิตย์ในสถานที่นั้น เทพยดาอันบัณฑิตชาติบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบ อันบัณฑิตชาตินับถือแล้วย่อมนับถือตอบซึ่งบัณฑิตชาตินั้น แต่นั้นย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตชาติ ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก ฉะนั้น คนที่เทพยดาอนุเคราะห์แล้วย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ”

เอาละซิ “เทพยดาผู้สถิตอยู่ในสถานที่นั้น” อาจจะเป็นอย่างที่เรียกว่า พระภูมิก็ได้ พวกชอบไปรื้อศาลพระภูมิเขาจะทำอย่างไงล่ะ จริงอยู่เทวดาก็มีวิมานของเทวดา แต่ศาลพระภูมิก็เป็นเรื่องของศรัทธาชาวบ้านเขาจะทำของเขาอย่างนั้น ที่สร้างถวายเป็นการแสดงความเคารพสักการะต่อเทวดา จะเรียกว่าเป็นการทำลายศรัทธาของชาวบ้านได้ไหม? แต่นั่นแหละ พระพุทธเจ้าว่าเทวดามี ท่านว่าเทวดาไม่มีจะไปทำยังไงกะท่านได้

ความจริงภิกษุในพระพุทธศาสนาก็สรรเสริญพระพุทธเจ้าอยู่ทุกวัน ว่าเป็นผู้ฝึกสอนคนที่ควรฝึกอย่างประเสริฐ ควรจะศึกษาลีลาของท่านไว้บ้าง เช่นอย่างไปพบพราหมณ์กำลังไว้ทิศ ๖ อยู่ ท่านก็ถามว่าทำอะไรนะ พอทราบแล้วท่านก็บอกว่า อ้อ... ทิศ ๖ ในศาสนาพุทธก็มีเหมือนกัน เป็นอย่างนี้ๆ หรือว่าไปได้ยินพราหมณ์ เขามีวิธีละบาปของเขาอย่างนั้นๆ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนั้นๆ (คือเปลื้อง ราคะ โมหะ โทสะ ) ไม่มีเลยที่ท่านจะตรัสว่าอย่างนั้นมันไม่ได้ความอะไรเลย เหลวไหลงมงายชัดๆทำอย่างที่ตถาคตสอนจึงจะถูก ซึ่งโดยหลักแล้วท่านก็ใช้การแสดงธรรมเป็นการสอน ไม่ตำหนิว่าที่เขาทำอยู่นั้นไม่ดี อย่างที่ตรัสไว้ว่า

“พึงรู้จักการยกยอและตำหนิ ครั้นรู้จักการยกยอและตำหนิแล้ว ไม่พึงยกยอและตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น” (เล่ม ๑๔ หน้า ๓๖๐) ตีความได้ว่า ยกบทธรรมที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆมาแสดงให้ฟัง



๑๑. อนุสสติ ๖ (เล่ม ๒๒ หน้า ๒๙๖)

- พุทธานุสสติ
- ธัมานุสสติ
- สังฆานุสสติ
- สีลานุสสติ
- จาคานุสสติ
- เทวตานุสสติ

และในเล่ม ๒๒ หน้า ๒๙๗ พระอรหันต์ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมเนืองๆ คือ

- ย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ
- ย่อมระลึกถึงพระธรรมเนืองๆ
- ย่อมระลึกถึงพระสงฆ์เนืองๆ
- ย่อมระลึกถึงศีลของตนเนืองๆ
- ย่อมเจริญเทวตานุสสติว่า เทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกา ฯลฯ มีอยู่ เทวดาเหล่าพรหมกายิกามีอยู่

เทวดาที่สูงเหล่ากว่าพรหมนั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด ศีลเช่นใด สุตะ เช่นใด ปัญญาเช่นใด จาคะเช่นใด เหล่านั้นของเรามีอยู่



๑๒. จะเห็นได้ว่าแม้ในหมวดธรรมะก็ยังมีกล่าวถึงเทวดาด้วย ไม่มีลักษณะเป็นเชิงขู่ผู้ไม่เชื่อ เป็นลักษณะแน่นแฟ้นจริงๆ

อย่างไรก็ดีมีบทธรรมอีกบทหนึ่งคือ เครื่องผูกพันใจ ๕ (เล่ม ๑๒ หน้า ๑๖๖ )

- ไม่ปราศจากกำหนัดในกาม
- ไม่ปราศจากกำหนัดในร่างกาย
- ไม่ปราศจากกำหนัดในรูป
- ประกอบความสุขในการนอน
- ปรารถนาเทพนิกายอันใดอันหนึ่ง

“ภิกษุ รูปใดรูปหนึ่ง ไม่ละตะปูตรึงใจ ๕ ประการเหล่านี้ ไม่ถอนเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการเหล่านี้ ภิกษุนั้นหนอจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้”

เห็นได้ว่าถึงจะมีเทวดาอยู่ ท่านก็ตรัสว่าหากหวังแค่เป็นเทวดาก็เจริญงอกงามไพบูลย์ไม่ได้ ตีความหมายว่าไปไม่ถึงพระนิพพาน จุดหมายปลายทางอยู่ที่นิพพานต่างหาก



๑๓. สรุป เทวดาเป็นสิ่งมีจริง มีหลักฐานแน่นแฟ้น สามารถพิสูจน์ได้หากมีฌาน ๔ เป็นอย่างน้อย

ภิกษุพวกหนึ่งกล่าวว่า เทวดาไม่มี ใครเชื่อว่ามี ก็เหลวไหลงมงาย การพูดเช่นนี้เท่ากับไม่ฟังคำตรัสของพระพุทธเจ้า เข้ากรณี “เรียกร้องพระศาสดาด้วยความเป็นปฏิปักษ์”

พิจารณาดูแล้วออกจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะว่าเมื่อพูดว่าเทวดาไม่มี กล่าวคือสวรรค์-นรกไม่มี ( ค้านธรรมข้อคติ ๕ ของพระพุทธเจ้า ) แล้วผลกระทบที่ตามมาก็คือ เมื่อคนตายไปแล้วก็ไม่ไปเกิดที่ไหน สูญหายไปเลย มหาอมตะนิพพานไม่มี ( เพราะอมตะแปลว่าไม่ตาย ) เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้นิพพานก็ไม่จริงอีก จะว่าไม่ได้ตรัสรู้อะไรเลยก็ได้ เพราะเรื่องคนเกิดคนตายนี้ก็รู้กันทั่วไปแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อคนตายแล้วสูญไป การทำทานอุทิศต่างๆก็ย่อมไม่เกิดผลใดๆแก่ใคร ( คำสอน ทาน-ศีล-ภาวนา ของพระพุทธเจ้าก็เลยไม่จริง คือ ใช้ไม่ได้ไปอีก ) และเมื่อไม่มีเทวดา อุปปาติกะ ก็ไม่มีไปด้วย

ความเข้าใจในลักษณะนี้ตรงกับลักษณะอย่างหนึ่งในพระไตรปิฎก ( เล่ม ๑๔ หน้า ๑๕๘ )

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฏฐิเป็นไฉน คือความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้วไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณะพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้าให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลกนี้ไม่มี นี้ มิจฉาทิฏฐิ”

ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดของอชิตเกสกัมพล ซึ่งเป็นเจ้าคณะคนหนึ่งในสมัยพุทธกาล และเมื่อเป็นคำสอนของลัทธิอื่น ก็ต้องไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแน่ละ

น่าอัศจรรย์ที่ความคิดนี้ถูกยกย่องว่าเป็นปราชญ์ ในสมัยที่ถือกันว่าเป็นสมัยปัญญาชนดังปัจจุบันนี้



หมายเหตุ

บางคนโต้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนให้บำเพ็ญตัวจนถึงพระนิพพานแล้ว ท่านย่อมไม่สอนเรื่องสวรรค์-นรกเป็นธรรมดา คำกล่าวนี้นอกจากจะตอบได้ว่า เนื่องจากสวรรค์-นรกมีอยู่ดังที่กล่าวในคติ ๕ แล้ว

ยังมีเรื่องที่ว่ามนุษย์ส่วนมากไม่สามารถทำตัวไปนิพพานได้ด้วยการเกิดเพียงชาติเดียว แม้พระอริยเจ้าชั้นพระโสดาบันก็ต้องมาเกิดอย่างมาก ๗ ชาติตายไปก็ไปเป็นเทวดากัน

พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พ้นนรกแล้ว แต่ปุถุชนไม่พ้น ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงต้องทรงสอนย้ำไว้ให้ทำตัวไปสวรรค์เข้าไว้ก่อน อย่าให้พลัดไปอบายเข้า เพราะยากนักที่จะไปให้ถึงพระนิพพานได้

“ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปแล้วย่อมถูกจองจำในเรือนจำคือนรก หรือในเรือนจำคือกำเนิดดิรัจฉาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นเรือนจำอื่นเพียงแห่งเดียว เป็นทุกข์ กระทำอันตรายแก่การบรรลุนิพพานซึ่งเป็นธรรมเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นมิได้อย่างนี้ เหมือนเรือนจำคือนรก หรือเรือนจำคือกำเนิดดิรัจฉานเลย” (เล่ม ๒๒ หน้า ๓๖๔-๓๖๕)

ที่ว่าเป็นอันตรายต่อการบรรลุนิพพานนั้น ต้องไปดูจาก เล่ม ๑๔ หน้า ๒๖๗ ซึ่งตรัสว่า

“คนพาลที่ไปสู่วินิบาต (มีนรกเป็นต้น) แล้วจะกลับมาเป็นมนุษย์อีกนั้นยากมาก เปรียบเหมือนปล่อยบ่วงๆ หนึ่งลอยไปในมหาสมุทร เต่าตาบอดตัวหนึ่งในมหาสมุทรที่ ๑๐๐ ปีจะโผล่หัวขึ้นมาเหนือน้ำครั้งหนึ่ง หากมาโผล่ในห่วงได้เมื่อใด นั่นแหละเท่ากับโอกาสที่คนพาลในวินิบาตจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ เพราะในตัวคนพาลนี้ ไม่มี ความประพฤติธรรม ความประพฤติสงบ การทำกุศล การทำบุญ มีแต่การกินกันเถอะ การเบียดเบียนคนอ่อนแอ”

ดังนั้น ท่านจึงพร่ำสอนว่า ไปสวรรค์อย่าไปลงนรกเข้า เพราะจะไปพระนิพพานได้ยาก เห็นไหมล่ะ..ว่าเรื่องสวรรค์-นรกนั้นเกี่ยวกับนิพพานด้วย ไม่ใช่ไม่เกี่ยว.

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 17/8/08 at 21:37 Reply With Quote


(Update 17 ส.ค. 51 ตอนที่ 3)


คุณ - โทษ และการออกจากกาม


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 35

เรื่องนี้เป็นเรื่อง "เจ้ามหานาม" ทรงสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า มีสาระสำคัญที่น่ารู้หลายเรื่อง (อธิบาย - "เจ้ามหานาม" คือ เจ้าผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะ)

โดยเฉพาะจะได้เห็นพระปัญญาในการโต้ตอบของพระพุทธเจ้าว่าฉาดฉานรัดกุมเพียงใด เป็นเรื่องที่เรียบเรียงจาก จูฬทุกขักขันทสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสติ ในพระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๑๒ หน้า ๑๔๓ -๑๕๐ (ข้อความในวงเล็บเป็นความเข้าใจของผู้เรียบเรียงเอง)

ณ นิโครธาราม เขคกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ เจ้าศากยะ ชื่อมหานาม เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลว่า

“ข้าพระองค์ก็เข้าใจข้อธรรมของพระองค์มานานแล้วว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต แต่แม้กระนั้นก็ยังมี โลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำจิตได้เป็นครั้งคราว จึงเกิดปัญหาว่ามีธรรมชื่ออะไร ในภายในที่ยังละไม่ได้ ทำให้ โลภะ โทสะ โมหะ ยังครอบงำจิตไว้ได้เป็นครั้งคราว”

พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า

“ถ้าหากละธรรมคือ โลภะ โทสะ โมหะ เสียได้เด็ดขาดแล้ว ป่านนี้คงไม่อยู่ครองเรือนบริโภคกามแล้วละ ถึงแม้จะมีปัญหาเล็งเห็นตามความเป็นจริง ว่ากามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามมีมากยิ่ง แต่อริยสาวกนั้น เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ยังไม่บรรลุปิติและสุข หรือ กุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เธอจะยังเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามไม่ได้ก่อน”

( หมายความว่า หากยังไม่บรรลุปิติและสุข เป็นอย่างน้อย ก็ยังละ โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ได้ )

ถึงพระองค์เองตอนเป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ตรัสรู้ เมื่อยังไม่บรรลุปิติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น ก็ยังพูดไม่ได้เลยว่าเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามอีก ต่อเมื่อได้บรรลุปิติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่า นั่นแหละจึงพูดได้ว่าเป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม

คำว่าปิติและสุข ย่อมหมายถึงปฐมฌานนั่นเอง เพราะองค์ของปฐมฌาน นั่นเอง เพราะองค์ของปฐมฌานมี ๕ คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา ซึ่งข้อนี้ก็อย่างที่หลวงพ่อท่านสอนว่าคนจะเป็นพระอรหันต์ได้ ต้องได้อย่างน้อยปฐมฌาน จึงจะมีกำลังพอที่จะตัดกิเลส ส่วนคำว่ากุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น ก็คือฌานที่ระดับสูงขึ้นไปนั่นเอง ฌานยิ่งสูงความสุขก็ยิ่งประณีตขึ้นตามลำดับ

ส่วนข้อที่ว่าเหตุใดต้องปฐมฌานจึงจะมีกำลังตัดกิเลสนั้น สันนิษฐานว่าเพราะ ปิติและสุขนี้เป็นความสุขเกินที่คนธรรมดาจะรู้สึกเกินขึ้นไปถึง เป็นตัวอย่างของความสุขในนิพพาน คิดดูตามธรรมดา จะให้ตัดทุกข์อย่างเดียวนั้นก็เห็นได้ยากสักหน่อย ต้องประกอบว่านี่สุขในนิพพานคืออย่างนี้ด้วย จึงจะเต็มใจตัดทุกข์ เพื่อไปหาสุข คือเกิดกำลังใจจะหาสุขนั้น

ต่อไปทรงกล่าวถึงกาม ในรายละเอียด คือ คุณของกาม โทษของกาม และวิธีออกจากกาม

คุณของกาม

ได้แก่ความสุข ความโสมนัส อาศัยกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ที่พึ่งรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม

โทษของกาม

- คนจะประกอบอาชีพไม่ว่าด้านใด จะต้องตรากตรำต่อความหนาว ความร้อน เหลือบยุง ลม แดด หรือตายด้วยความหิวกระหาย ถ้าขยันแต่ไม่สำเร็จผลก็เศร้าโศก ลำบากรำพันว่าความขยันของเราไม่ให้ผลหนอ ถ้าสำเร็จผลกลับเป็นทุกข์ ได้ทรัพย์มายังต้องคอยรักษาไม่ให้เป็นภัยต่างๆ แม้เป็นภัยไปก็เกิดความเศร้าโศกอีก นี่ก็เพราะกาม

- เกิดการวิวาทกันระหว่างคนทุกชั้น เช่น กษัตริย์กับกษัตริย์ อำมาตย์กับอำมาตย์ บิดากับบุตร พี่กับน้อง และวงศาคณาญาติ เป็นต้น เกิดการแก่งแย่งกัน ทำร้ายกันด้วยมือบ้าง อาวุธบ้าง บางทีก็ถึงตาย นี่ก็เพราะกามเป็นต้นเหตุ

- สงครามก็เกิดเพราะกามเป็นต้นเหตุ

- การปล้นตัดช่องย่องเบาก็เพราะกามเป็นต้นเหตุ ถูกจับได้ต้องถูกลงทัณฑ์ถึงตายบ้าง ทรมานต่างๆ บ้าง

- ฝูงชนประพฤติ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ตายไปเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี่ก็เพราะกาม

การออกจากกาม

พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสโดยตรง แต่ทรงเล่าถึงสมัยที่ทรงอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ มีพวกนิครนถ์จำนวนมากอยู่ที่ตำบลกาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ถือปฏิบัติการยืนห้ามนั่งต้องได้รับทุกข์เป็นอันมาก

เย็นวันหนึ่งพระพุทธเจ้าเข้าไปหา ถามเขาว่าทำไมจึงปฏิบัติอย่างนั้น ได้รับคำตอบว่า นิครนถ์นาฏบุตรรู้ธรรมทั้งปวง เห็นธรรมทั้งปวง มีญาณทัสสนะปรากฏอยู่ตลอดเวลาได้กล่าวกับนิครนถ์ทั้งหลายว่า

“ดูกร นิครนถ์ผู้เจริญ บาปกรรมที่พวกท่านทำแล้วในกาลก่อนมีอยู่ พวกท่านจงสลัดบาปกรรมนั้นเสีย ด้วยปฎิปทาประกอบด้วยการกระทำที่ทำได้ยากลำบาก การสำรวมกาย วาจา ใจ อย่างนี้เป็นการไม่กระทำบาปกรรมต่อไป ทั้งนี้เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะเพราะไม่ทำกรรมใหม่ เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ความสิ้นกรรมจึงมี เพราะสิ้นกรรมความสิ้นทุกข์จึงมี เพราะสิ้นทุกข์ความสิ้นเวทนาจึงมี เพราะสิ้นเวทนาจักเป็นพวกท่านสลัดทุกข์ได้หมด”

( สรุปว่าทรมานกายดัวยความทุกข์อย่างนี้จึงจะสลัดทุกข์ได้ )

พระพุทธเจ้าจึงได้กล่าวว่า

พระพุทธเจ้า -ท่านทราบหรือว่าได้มีกรรมอยู่ในกาลก่อน.... ไม่ใช่ไม่มี ?

นิครนถ์ -ไม่ทราบ

พระพุทธเจ้า -ท่านทราบหรือไม่ว่าได้ทำบาปกรรมไว้ในกาลก่อน.... ไม่ใช่ไม่ได้ทำ ?

นิครนถ์ –ไม่ทราบ

พระพุทธเจ้า -ท่านทราบหรือไม่ว่าได้ทำบาปกรรมเรื่องนั้นไว้บ้าง...?

นิครนถ์ –ไม่ทราบ

พระพุทธเจ้า -ท่านทราบหรือว่าทุกข์เท่านี้สลัดได้ หรือว่าทุกข์เท่านี้จะต้องสลัดเสีย หรือว่าสลัดทุกข์ เท่านี้ได้นับว่าสลัดทุกข์ทั้งหมดแล้ว... ?

นิครนถ์ – ไม่ทราบ

พระพุทธเจ้า -ท่านทราบการละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรมในปัจจุบันละหรือ... ?

นิครนถ์ –ไม่ทราบ

พระพุทธเจ้า -ในเมื่อท่านไม่ทราบอะไรเลยตามที่ถามมาแล้ว ก็เป็นอันว่า คนที่มาบวชในสำนักของท่าน ก็มีเฉพาะคนที่มีมารยาทเลวทราม มือเปื้อนโลหิต ทำกรรมชั่ว เป็นผู้เกิดสุดท้ายภายหลังในหมู่มนุษย์

นิครนถ์ -คนไม่ใช่จะประสบความสุขได้ด้วยความสุข แต่ประสบได้ด้วยความทุกข์ ถ้าหากคนประสบความสุขด้วยความสุขละก็ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ ก็คงประสบความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสารอยู่เป็นสุขกว่าท่านพระโคดม

พระพุทธเจ้า -ท่านทั้งหลายหุนหันไม่ทันพิจารณาจึงพูดเช่นนั้น เรื่องนั้นควรไล่เรียงเราดูในเรื่องสุขเรื่อง ทุกข์นั้นว่าใครเล่าหนอจะอยู่สบายดีกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ หรือ เราเอง... ?

นิครนถ์ -แน่ละพวกข้าพเจ้าหุนหันไม่ทันพิจารณา แต่เอาเถอะ หยุดไว้แค่นี้ จะต้องถามท่านพระโคดมดูบ้างว่า ใครเล่าหนอจะอยู่สบายกว่ากัน... ? พระเจ้าพิมพิสารหรือท่านพระโคดมเอง...?

พระพุทธเจ้า -ถ้าเช่นนั้นจะขอถามว่า พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ จะทรงสามารถไม่ทรงไหว พระกาย ไม่พูด เสวยความสุขอย่างเดียว ๗ วัน ๗ คืนได้ไหม...?

นิครนถ์ -ไม่ไหวละท่าน

พระพุทธเจ้า -ถ้างั้น ๖ วัน ๖ คืน ๕ วัน ๕ คืน ... หรือเพียงหนึ่ง วัน หนึ่งคืนได้ไหม ... ?

นิครนถ์ –ไม่ไหวละท่าน

พระพุทธเจ้า -เรานี่แหละสามารถไม่ไหวกาย ไม่พูด เสวยความสุขส่วนเดียว อยู่เพียง หนึ่งวัน หนึ่งคืน ๒ วัน ๒คืน ...๗ วัน ๗คืน เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะอยู่สบายกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ หรือเราเอง... ?

นิครนถ์ -ท่านพระโคดมซีอยู่สบายกว่า

( สรุปแล้วทรงสามารถเสวยสุขในฌานได้นาน เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า นอกจากเห็นทุกข์แล้วยังต้องสัมผัสสุขด้วยฌานด้วยจึงจะหลุดพ้นได้ ข้อนี้ตรงกับมรรค ๘ คือ สัมมาสมาธิ ซึ่งทรงขยายความได้แก่ฌาน ๔

ในพระไตรปิฎกกล่าวถึง พระสงฆ์พวกหนึ่งที่ยืนยันว่าท่านหลุดพ้นปัญญาอย่างเดียว คงจะเป็นท่านที่เรียกว่า สุกขวิปัสสโก นั่นแหละ

เรื่องนี้เป็นเหตุให้นักวิปัสสนาทั้งหลายกล่าวว่า ทำสมาธิทำฌาน ไม่ใช่ทางตรง ต้องวิปัสสนาจึงจะเป็นทางตรง... นี่ต้องนับว่าเก่งกว่าพระพุทธเจ้าเสียแล้ว

จริงอยู่ฌานไม่ได้เป็นเครื่องตัดกิเลส วิปัสสนาเป็นตัวตัดกิเลส แต่วิปัสสนาล้วนๆก็ไปไม่รอดต้องอาศัยฌานเป็นกำลัง ฌานยิ่งสูงวิปัสสนาก็สูงตามไปด้วย พวกวิปัสสนาล้วนมักไปทึกทักเอาเองว่า พวกทำฌานไม่ได้ทำวิปัสสนากันเลย

ความจริงเขาทำฌานกันเพื่อจะทำวิปัสสนาได้ดีต่างหาก พระพุทธเจ้าก็สอนไว้ในที่อื่นว่า

ฌานกับวิปัสสนาต้องปฏิบัติร่วมกัน หากวิปัสสนาไม่ดีฌานก็ดีไม่ได้เหมือนกัน

ในกรณีของท่านผู้ “หลุดพ้นด้วยปัญญาอย่างเดียว” นั้นน่าจะสันนิษฐานได้ว่าท่านไม่ได้ฝึกฌาน จึงไม่รู้ว่าฌานเป็นอย่างไร นั่งพิจารณาไปพิจารณามา คือทำวิปัสสนาใจจดจ่อมากขึ้นก็เป็นฌานขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องฝึก

เพราะฌานแปลว่าความเพ่ง อย่างน้อยท่านเหล่านั้นก็คงต้องถึงปฐมฌานแน่ๆ มิฉะนั้นก็ละ โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ได้อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรนี้

อย่างไรก็ดี เมื่อถือว่าปฎิปทาให้พ้นทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ก็ต้องถือวิธีมาตรฐานคือ ทำไปจนถึงฌาน ๔ คือ สัมมาสมาธิแล้วน้อมไปเข้าวิชชาสามอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ )

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 1/9/08 at 08:56 Reply With Quote


(Update 1 ก.ย. 51 ตอนที่ 4)


พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 43

บรรดาพุทธบริษัทประมาณ ๘๕ เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย เวลาถูกถามว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะตอบไม่ถูก ส่วนมากไปตอบว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” แล้วก็พอใจแค่นั้น

แต่ถ้าถูกถามซ้ำเข้าไปอีกว่า ศาสนาไหนไม่สอนแบบนี้บ้างละ ก็มักจะต้องอึ้ง

บางคนอาจจะตอบว่า... อริยสัจ ๔ แต่นี่ก็ไม่ใช้เรื่องตรงคำถาม เพราะอริยสัจ ๔ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ต่างหาก อาจเป็นด้วยเหตุทำนองนี้กระมังจึงสอนกันไปคนละทางสองทาง

ค้นกันดูให้ เจ๋งๆ สักทีเถอะว่าเราควรจะตอบอย่างไร...?

เรื่องแรก ที่ปรากฏคือเรื่องอันลือลั่นว่า... ท่านพระอัสสชิได้ระบุ “แก่นแท้” ของพระพุทธเจ้า

ขอเรียบเรียงย่อจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๔ หน้า ๖๗ พระวินัยปิฎก มหาวรรคภาค ๑ เรื่อง พระสารีบุตรและพระโมคัลลานะบรรพชา ...ความว่า

พระสารีบุตรกับพระโมคัลลานะ และบริวาร ๒๕๐ คน ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชก ท่านทั้งสองได้ตกลงกันไว้ว่า ผู้ใดบรรลุอมตธรรมก่อนก็ต้องบอกกับอีกคนหนึ่ง

เช้าวันหนึ่ง... ท่านอัสสชิเข้าไปบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ด้วยมารยาทอันงาม สารีบุตรปริพาชกเห็นเข้าก็เลื่อมใส คิดจะเข้าไปถามว่าใครเป็นศาสดาของท่านแต่เห็นว่าไม่เป็นเวลาอันสมควร

(สังเกตไว้ว่าท่านถือพระเป็นใหญ่ ไม่เหมือนคนสมัยนี้นึกอยากจะถามอะไรเวลาไหนก็ถามละ พระยังไม่ลงมารับแขกก็จะให้ไปตามบอกว่าตัวมีธุระสำคัญ)

ครั้นแล้วก็เดินตามไป ขากลับเห็นได้โอกาสเหมาะ แล้วจึงเข้าไปทักทายปราศรัย ว่า ผิวพรรณผ่องใสบริสุทธิ์ผุดผ่องดี “ท่านบวชอยู่กับใคร ? ใครเป็นอาจารย์ ? หรือชอบใจธรรมของใคร ?”

พระอัสสชิ - บวชอยู่กับท่านพระมหาสมณะที่ทรงผนวชจากศากยะตระกูล พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของท่าน

พระสารีบุตร – พระศาสดาของท่านสอนอย่างไร ? แนะนำอย่างไร ?

พระอัสสชิ - เราเป็นคนใหม่ บวชยังไม่นาน ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านกว้างขวาง แต่จักกล่าวใจความสำคัญแก่ท่านโดยย่อ

พระสารีบุตร – น้อยหรือมากนิมนต์กล่าวเถิด ข้าพเจ้าต้องการใจความอย่างเดียว

พระอัสสชิ - ธรรมเหล่าใดเกิดแก่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น เละความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณทรงสอนอย่างนี้

ท่านพระสารีบุตรก็เลยได้ดวงตาเห็นธรรม ไปเล่าให้ท่านพระโมคัลลานะฟังได้ดวงตาเห็นธรรมไปอีกคนหนึ่ง แล้วก็พาบริวาร ๒๕๐ คน ไปขอบวชกับพระพุทธเจ้า

( ธรรมข้อนี้ของท่านอัสสชิ มีผู้นำไปประโคมว่าเป็นแก่นที่ลึกซึ่งของพระพุทธศาสนา ทั้งๆที่ท่านพระอัสสชิก็บอกโต้งๆว่าท่านเพิ่งบวช และที่บอกมานี้ก็เป็นใจความ ไม่ได้บอกว่าเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ถ้าจะว่ากันตามที่ปฏิบัติกันในสมัยนั้นแล้วพูดกันคำไหนก็ใช้คำนั้น มาสมัยปัจจุบันเป็นสมัยมั่ว เลยเอาใจความมาบอกว่าเป็นแก่น ถ้าจะให้ดีคือไม่เกิดอันตรายแก่ตัวเองในการที่จะไปรับเอาความรู้ผิดๆเข้ามา ก็ควรจะตั้งเป็นกฎไว้เลยว่าเจอะใครมั่วแบบนี้แม้เพียงครั้งเดียว เลิกเชื่อถือกันเลย อย่างนี้ปลอดภัยดี )

เรื่องที่สอง ...เรื่องของท่านพระอัสสชิองค์เดียวกันนี้แหละ จาก พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๑๒ หน้า ๓๕๐ มูลปัณณาสก์ จุฬสัจจกสูตร

ที่เมืองเวสาลี สัจจกนิครนก์เดินยืดเส้นอยู่ในเมือง เห็นท่านพระอัสสชิเถระเดินอยู่จึงเข้าไปถามว่า

“ดูกร ท่านอัสสชิผู้เจริญ ก็พระสมณโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระสมณโคดมมีส่วนอย่างไรที่เป็นไปมากในพวกสาวก...?”

พระอัสสชิ - พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคมีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในพวกสาวก ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน”

(ในหน้า ๓๕๒ พระพุทธเจ้าทรงยืนยันกับสัจจกนิครนก์ตามที่ท่านพระอัสสชิเถระตอบ โดยอ้างพระพุทธพจน์ )

เปรียบเทียบดูว่าคำถามอย่างเดียวกัน ตอนบวชใหม่ท่านอัสสชิตอบแต่ใจความสำคัญ ตอนเป็นพระเถระแล้วตอบไปอีกอย่างหนึ่ง มีพระพุทธเจ้ายืนยัน ฉะนั้นจึงควรใช้คำนี้สำหรับตอบคำถามเวลามีคนถามว่า พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนาสอนว่าอย่างไร คำสอนอย่างนี้ ศาสนาอื่นไม่มี และเนื้อหาของคำตอบ ๒ อย่างของท่านอัสสชิแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

อันที่จริงแล้วที่ท่านอัสสชิตอบไปกับท่านสารีบุตรนั้น น่าจะมีความความประสงค์อย่างอื่น เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปถึงข้อที่ว่าเดิม ท่านสารีบุตรกับท่านโมคัลลานะท่านประพฤติพรหมจรรย์อยู่กับสญชัยปริพาชก

สญชัยปริพาชกนี้เรียกว่า...สญชัย เวลัฏฐบุตร สญชัยปริพาชกสอนอย่างไร ต้องดูตามที่... พระเจ้าอชาตศัตรูทูลกับพระพุทธเจ้า ( เล่ม ๙ หน้า ๖๕ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญผลสูตร )

ว่าได้ไปถามครูสญชัย เวลัฏฐบุตรว่า “ที่สอนๆมานี้ชี้ให้เห็นผลสามัญที่ได้ให้ชัดเจนได้หรือไม่ ครูสญชัย เวลัฏฐบุตรได้กล่าวคำนี้กับหม่อมฉันว่า”

“ถ้ามหาบพิตรตรัสถามอาตมาภาพว่าโลกหน้ามีอยู่หรือ

ถ้าอาตมาภาพมีความเห็นว่ามี ก็จะพึงทูลตอบว่ามี

ความเห็นอาตมาภาพว่าอย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามอาตมาภาพว่าโลกหน้าไม่มีหรือ...?

โลกหน้ามีด้วยไม่มีด้วยหรือ... ?

โลกหน้ามีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่หรือ... ?

สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นมีหรือ... ?

สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มีหรือ... ?

สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นมีด้วยไม่มีด้วยหรือ... ?

สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นมีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่หรือ... ?

ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่หรือ... ? ( และอีกหลายๆคำถาม )

ดังนี้ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูสญชัย เวลัฏญบุตรกลับตอบส่ายไป เปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วง ตอบขนุนกำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนกำมะลอ ตอบมะม่วงฉะนั้น หม่อมฉันมีความดำริว่า บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านี้ ครูสญชัย เวลัฏฐบุตร นี้โง่กว่าเขาทั้งหมด งมงายกว่าเขาทั้งหมด”

ดังนี้เห็นได้ว่าเมื่ออยู่กับครูสญชัยนั้น ท่านสารีบุตรกับท่านโมคัลลานะ ย่อมจับเรื่องจับราวจับเหตุจับผลไม่ได้เลย ครั้นมาพบท่านอัสสชิ ท่านอัสสชิบอกทำนองว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนมีเหตุผล ( ธรรมใดเกิดแต่เหตุฯลฯ) แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะให้ท่านพระสารีบุตรไปประพฤติพรหมจรรย์กับพระพุทธเจ้า

ผู้เรียบเรียงสันนิษฐานเอาเองว่า ท่านอัสสชิคงต้องการบอกว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างมีเหตุผล มากกว่าจะแสดงหลักหรือ “แก่นอันลึกซึ้ง” แก่ผู้ที่ยังไม่มีพื้นพอที่จะเข้าใจความลึกซึ่งได้ เช่นท่านสารีบุตรในขณะนั้น

ถ้าจะพูดถึงคำว่า “แก่น” แล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสถึงคำนี้ไว้ใน สอง พระสูตร

อันแรกคือ อุทุมพริกสูตร ที่หลวงพ่อ (พระราชพรหมยาน)เขียนหนังสือเป็นเล่มไว้แล้ว อยู่ท้ายหนังสือมงคล ๓๘ พระสูตรนี้อยู่ในเล่ม ๑๑ หน้า ๓๐ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ซึ่ง พระพุทธเจ้าทรงกล่าวกับนิโครธปริพาชกเรื่อง การหน่ายบาปด้วยตบะให้ถึงยอดถึงแก่น ว่า ถือมั่นตบะ ไม่ดีใจว่าตัวบริบูรณ์ในตบะนั้นแล้ว ไม่ยกตน

ไม่ข่มผู้อื่น ไม่เมา ไม่ลืมสติ ไม่ดีใจในลาภสักการะและสรรเสริญ

ไม่คิดว่าอาหารอย่างนี้ๆจึงจะควรแก่เรา ไม่คิดให้พระราชาสมณพราหมณ์มาสักการะ

ไม่รุกรานสมณหรือพราหมณ์อื่น ไม่ริษยาเมื่อสมณพราหมณ์ไปสักการะผู้อื่น

ไม่นั่ง(สมาธิ)ในที่คนเห็น ไม่เที่ยวคุยว่าเราก็ทำตบะนี้ ไม่ปกปิดโทษ

ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้ ผ่อนตามปริยายธรรมที่พระตถาคตหรือพระสาวกแสดงธรรมอยู่

ไม่มักโกรธและผูกโกรธ ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่โอ้อวด

ไม่มีมารยา ไม่กระด้าง ไม่ถือตัวจัด ไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไม่เป็นมิจฉาทิษฐิ ฯลฯ

เหล่านี้เป็นกิริยาที่ถึง ... สะเก็ด เท่านั้น

- สังวร๔ประการ

๑. ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ผู้อื่นฆ่าสัตว์ เมื่อผู้อื่นฆ่าสัตว์ไม่ดีใจ
๒. ไม่ถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ฯลฯ
๓. ไม่พูดเท็จ ฯลฯ
๔. ไม่เสพกามคุณ ฯลฯ

แล้วละนิวรณ์ ๕ มีพรหมวิหาร ๔ หาประมาณมิได้ เป็นกิริยาที่ถึง... เปลือก เท่านั้น

- ระลึกชาติได้เป็นกิริยาที่ถึง... กระพี้ เท่านั้น

- รู้การตายและเกิดของสัตว์ตามกรรมจึงเป็นกิริยาที่ถึง... ยอดถึงแก่น

ต้องระลึกว่าแทนที่ พระพุทธเจ้าจะใช้คำว่า... แก่น. ..ของพระพุทธศาสนา กลับใช้คำว่า... หน่ายบาปด้วยตบะ. ซึ่งเป็นคำที่พวกนั้นเข้าใจ

อีกพระสูตรหนึ่ง ในเรื่อง... แก่น ของพระพุทธศาสนาอยู่ใน มัชฌิมนิกาย มูลบัณฌาส์ก ชื่อ มหาสารปมสูตร เล่ม ๑๒ หน้า ๓๐๑

ที่ภูเขาคิชกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ หลังพระเทวทัตปลีกไปไม่นาน พระพุทธเจ้าทรงเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ภิกษุบวชเข้ามาแล้วประมาทมัวเมาในลาภสักการะ ก็เหมือนกับต้องการแก่นไม้แล้วไม่รู้จัก...

บวชมาแล้ว

- มีลาภสักการะและความสรรเสริญปรากฏ ก็ยินดียกตนข่มผู้อื่นว่าไม่มีลาภสักการะและสรรเสริญ อย่างนี้เรียกว่าคว้าเอา... กิ่งและใบ ของพรหมจรรย์ไป ถึงที่สุดแค่กิ่งและใบเท่านั้น

- ได้ลาภสักการะและสรรเสริญแล้วไม่มัวเมา มีศีลแล้วยกตนข่มผู้อื่นว่าเรามีศีลมีกัลยาณธรรม ภิกษุอื่นเป็นผู้ทุศีลมีบาปธรรม ชื่อว่าถือเอา... สะเก็ด ของพรหมจรรย์ไป ถึงที่สุดแค่สะเก็ดเท่านั้น

- ได้ลาภสักการะและสรรเสริญ มีศีลไม่มัวเมา ทำสมาธิได้สำเร็จแล้ว ยินดียกตนข่มผู้อื่น ชื่อว่าถือเอา... เปลือก แห่งพรหมจรรย์ไป ถึงที่สุดแค่เปลือกเท่านั้น

- ไม่มัวเมาในลาภสักการะและสรรเสริญ ในศีล ในสมาธิ ยังญานทัสสนะให้สำเร็จ ยกตนข่มผู้อื่น เรียกว่าถือเอา... กะพี้ แห่งพรหมจรรย์ไป ถึงที่สุดแค่กะพี้เท่านั้น

- ไม่มัวเมาในลาภสักการะและสรรเสริญ ในศีล ในสมาธิ ในญานทัสสนะ ยังสมยวิโมกข์ให้สำเร็จ ได้ชื่อว่า... ถากเอาแก่น ถือไปแต่สมยวิโมกข์ (ชั่วคราว)ก็ยังเสื่อมได้ ต้องอสมยวิโมกข์จึงจะไม่เสื่อม

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดังพรรณนามาฉะนี้ พรหมจรรย์นี้

จึงมิใช่มีลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นอานิสงส์

มิใช่มีความถึงพร้อมของศีลเป็นอานิสงส์

มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งสมาธิเป็นอานิสงส์

มิใช่มีญานทัสสนะเป็นอานิสงส์

แต่พรหมจรรย์นี้มี... เจโตวิมุติ อันไม่กำเริบ เป็นประโยชน์ เป็น... แก่น. ..เป็นที่สุด”

นี่เป็นเรื่องของ แก่น ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นผลของการปฏิบัติ ปฏิบัติจบได้พระอรหันต์จึงจะเป็นแก่นเป็นที่สุด

เทียบดูกันในอุทุมพริกสูตรแล้วจะเห็นว่า จุตุปปาตญานเป็นแก่น แต่นั่นเป็นการกล่าวให้ปริพาชกฟัง เพียงแค่ให้เห็นว่าที่ทรงสอนนั้นดีกว่าของปริพาชกเท่านั้น อาจจะไม่มีพระพุทธประสงค์จะให้ละเอียดจริงๆ อย่างที่ทรงแสดงกับพระภิกษุทั้งหลายนี้

ถ้าคำถามของพวก อัญญเดียร์ถีย์ปริพาชกมีมาว่า “บวชกับพระสมณโคดมเพื่อประโยชน์อะไร...?”

พระพุทธเจ้าทรงสั่ง (เล่ม ๑๙ หน้า ๓๐ เป็นต้นไป สังยุตตนิกายมหาวรรค อัญญติตถิยวรรคที่ ๕)

ให้ตอบเขาว่า

- เพื่อสำรอกราคะ ( วิราคสูตร )

- เพื่อละสังโยชน์ ( สังโยชน์สูตร )

- เพื่อถอนอนุสัย ( อนุสยสูตร )

- เพื่อกำหนดรู้สังสารวัฏอันยืดยาว ( อัทธานสูตร )

- เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผลแห่งวิชชาและวิมุติ ( วิชชาวิมุตติสูตร )

- เพื่อญานทัสสนะ ( ญานทัสสนะสูตร )

- เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน ( อนุปาทาปรินิพพานสูตร )

ทั้งหมดนี้แต่ละข้อ ถ้าถูกถามว่า มีทางอยู่หรือ...? มีข้อปฏิบัติหรือ... ?

ให้ตอบว่ามีทางมีข้อปฏิบัติ ทางและข้อปฏิบัตินั้นคือ...อริยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนกันหมด

อาจมีข้อสงสัยว่าทำไมจึงตอบไม่เหมือนกัน คำตอบอาจจะเป็นไปในทำนองที่ว่า จะตั้งอะไรเป็นหลักก็บรรลุผลเหมือนกัน เพราะแม้แต่ศีลท่านก็โยงไปถึงนิพพานได้ หรือจะอธิบายว่ามรรค ๘ อย่างเดียวปฏิบัติแล้วจะได้ผลเป็นสิ่งต่างๆเหล่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้โยงถึงกันหมดก็น่าจะได้

ในอีกแง่หนึ่ง เป็นแง่ลำดับการศึกษา การกระทำการปฏิบัติโดยลำดับ

คำถามนี้พราหมณ์ชื่อ.. .คณกะโมคัลลานะ ( ไม่ใช่พระโมคัลลานะ ที่มักเรียกกันว่า พระมหาโมคัลลานะ ) ทูลถามพระพุทธเจ้าที่ปราสาทของ... อุบาสิกาวิสาขา มิคารมารดา ว่าโดยปกติ ทำอะไรก็ต้องมีการศึกษาตามลำดับ กระทำโดยลำดับ ปฏิบัติโดยลำดับ

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์จะลำดับการ ศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ
ในพระธรรมวินัยนี้ให้ฟังได้ไหม...?”

( มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ คณกโมคัลลานสูตร เล่ม ๑๔ หน้า ๖๗ )

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“ตอบได้...เริ่มต้นย่อมแนะนำอย่างนี้ว่า ดูกร ภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาฏิโมกข์สังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด”

ต่อไปขอย่อความว่า เมื่อทำได้ดีแล้วก็จงฝึกให้ยิ่งขึ้นไปตามลำดับขั้นคือให้

- เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย (เช่นเห็นรูปด้วยตาก็อย่าติดใจ ให้สำรวม อย่าให้เกิดอภิชฌาและโทมนัสได้ )

- รู้จักประมาณในโภชนะ ( บริโภคเพียงเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ )

- ประกอบเนื่องๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่ ( ชำระจิตจากอาวรณียธรรมด้วยการนั่งและเดินจงกรมตลอดวัน ปฐมยามแห่งราตรี และมัจฉิมยามแห่งราตรี นอนเฉพาะมัชฌิมยาม ใครว่าบวชเป็นพระแล้วสบายลองดูสักพรรษาก็ได้ )

- เป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ( ทำความรู้ตัวในการก้าวไป ถอยกลับ ฯลฯ )

- พอใจในเสนาสนะอันสงัด กลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้วนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงจิตมั่นเฉพาะหน้าละอภิชฌาในโลก ฯลฯ ( นิวรณ์ ๕ )

- สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรม เข้าปฐมฌาน...เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

นี่เป็นคำที่พรำสอนพระภิกษุที่ยังไม่บรรลุอรหันต์มรรค

สำหรับภิกษุพวกที่เป็นอรหันต์ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว

“ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่สบาย ในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ ”

เห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนฝึกให้ได้ฌาน ๔

สมัยนี้มีคนเก่งกว่าพระพุทธเจ้า คือ ทำวิปัสสนาอย่างเดียว บอกว่าสมถะ ( ฝึกสมาธิเพื่อให้ได้ฌาน ๔ตามแบบพระพุทธเจ้า ) นั้นเป็นทางอ้อม ทั้งๆที่ฌาน ๔ ก็คือข้อ ๘ ในอริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมาสมาธิอยู่แล้ว

ผู้เรียบเรียงได้เลือกมาเล่าเพื่อจะได้เข้าใจกัน “เจ๋งๆ” ว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวก ท่านพูดไว้ชัดแจ๋วในพระไตรปิฎกควรถือไปตามนี้ว่าถูก ไม่ใช่ไปเชื่อตามตำราเบี้ยวๆที่คนไม่รู้จริงเขียนหรือเอามาสอน

เชื่อหรือไม่ว่าพระใหญ่ที่มีคนนับหน้าถือตาเป็นอันมากสอนผิดๆก็มี ตรงนี้ขอให้หยุดคิดกันก่อนว่าเป็นไปได้หรือ

ตอบว่าเป็นไปได้ เมื่อตอบดังนี้ก็ต้องอ้างหลักฐานประกอบตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า พูดอะไรต้องมีหลักฐาน

พระสุตตันปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เถรสูตร เล่ม ๑๒ หน้า ๑๑๓

“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ปฎิบัติเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เพื่อมิใช่สุข เพื่อความฉิบหายแก่ชนมาก เพื่อมิใช่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

- ภิกษุผู้เถระเป็นรัตตัญญู บวชนาน ๑

- เป็นผู้มีชื่อเสียง มียศ มีชนหมู่มากเป็นบริวาร ปรากฏแก่พวกคฤหัสถ์และบรรพชิต ๑

- เป็นผู้ได้จีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช บริขาร ๑

- เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ เป็นผู้ได้สดับมาก จำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยฐิทิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงฯ ๑

- เป็นมิจฉาทิฐิ มีความวิปริต เธอย่อมยังชนหมู่มากให้ห่างเหินจากสัทธรรม ให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม

ชนหมู่มากย่อมยึดถือทิฏฐานุคติของเธอ ว่าเธอเป็นภิกษุเถระรัตตัญญูบวชนานดังนี้บ้าง

มียศ มีชนหมู่มากปรากฏแก่คฤหัสถ์และบรรพชิตดังนี้บ้าง

เธอเป็นภิกษุผู้เถระได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัจบริขารดังนี้บ้าง

เธอเป็นภิกษุผู้เป็นพหูสูตร ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ ดังนี้บ้าง ๑

( คราวนี้ต้องมาไล่เรียงกันต่อไปอีกว่า “มิจฉาทิฐิ” น่ะอะไรกัน)

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มหาจัตตารีสกสูตร ในพระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๑๔ หน้า ๑๕๘

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน คีอ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้วไม่เป็นผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้วไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มีโลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีบิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ด้วยตนเองในโลกไม่มี นี้มิจฉาทิฐิ”

คิดดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าภิกษุที่นับถือกันว่าบวชนาน ปราดเปรื่องแทงตลอดในธรรมะ คนนับถือลือลั่น จะสามารถเป็นมิจฉาทิฐิ แล้วมีคนเชื่อถือคำสอนได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านทรงชี้ไว้แล้วเมื่อกว่า ๒๐๐๐ ปีว่ามี

ลองคิดๆดูแล้วดูท่าจะแพ้ท่าน คือ ภิกษุอย่างนั้น...มีจริงๆ ด้วย..!!

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 15/9/08 at 14:13 Reply With Quote


(Update 15 ก.ย. 51 ตอนที่ 5)


ผลของทาน


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๑๒๐

เรื่องของทานนี้ อย่าเห็นเป็นเรื่องน่าเบื่อ เป็นเรื่องที่ดี คีอ อ่านหลายๆ ครั้งก็จำได้ (ถ้าคล่องปากขึ้นใจได้ก็ยิ่งดี) เอาไปพูดต่อให้คนอื่นฟังได้

เมื่อจะพูดถึงทาน ก็ควรพูดถึงบุญกันก่อน

เล่ม ๒๕ หน้า ๒๐๙ “บุญ เป็นชื่อของความสุข”

เล่ม ๒๕ หน้า ๒๕ “การสั่งสมบุญ นำความสุขมาให้”

ท่านไม่ได้บอกว่าทำบุญแล้วก็ได้ผล คือร่ำรวยทันตาเห็น หรือว่าทำบุญแล้วจะได้เงินเดือนปีนั้น ๒ ขั้น

ผู้ที่บ่นว่าทำบุญแล้วไม่เห็น “ได้ดี” อะไรขึ้นมานั้น เป็นอันว่าบ่นผิดๆ เพราะทำบุญแล้วใจก็ ปิติ มีความสุข ได้ความสุขไปแล้วตามที่ท่านบอก

“การทำบุญ” นั้นต้องทราบว่าไม่ได้หมายถึงทำทานอย่างเดียว

เล่ม ๒๓ หน้า ๒๑๖ ท่านบอกไว้ว่า บุญกิริยาวัตถุ มี ๓ คือ

๑. บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วย ทาน

๒. บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วย ศีล

๓. บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วย ภาวนา

เรียกกันสั้นๆว่า ทาน-ศีล-ภาวนา ท่านที่เข้าใจว่าการทำบุญคือการทำทาน (อย่างเดียว)นั้นควรเข้าใจให้ถูก

การทำบุญด้วยการบริจาคทานนี้ต้องใช้เงินสิ่งของหรืออื่นๆ ซึ่งผู้ไม่เห็นการบริจาคทานว่าเป็นสิ่งที่ดีอาจเรียกว่าเป็น “การสิ้นเปลือง” ถึงกระนั้นคนทั้งหลายก็ยังชอบทำบุญด้วยวิธีนี้มากกว่าอีก ๒ อย่าง ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย อาจเป็นเพราะบริจาคทานนั้นทำง่ายกว่าอีก ๒ อย่างซึ่งต้องควบคุมตัวเองมากหน่อยก็เป็นได้

ในเมื่อ คนส่วนมากสนใจ จะทำแต่ทาน สิ่งสนใจที่ตามมาก็มีเป็นธรรมดา เช่น

สนใจว่าทำบุญด้วยเงินน้อย คงสู้ทำมากๆ ไม่ได้บ้าง

ทำทานสาธารณะจะดีกว่าทำกับพระ(ศาสนา) ละมั่ง อะไรพวกนี้เป็นต้น

คำตอบสำหรับปัญหาเช่นนี้ เข้าไปดูในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ดีกว่า

และมีพระสูตรที่คิดเทียบเป็นตัวเลขไว้ รู้สึกว่าจะทำให้เห็นจริงได้ง่าย

เล่ม ๒๓ หน้า ๓๖๑ พระพุทธเจ้าทรงเล่าถึงสมัยที่เสวยพระชาติเป็น เวลามพราหมณ์ ซึ่งได้ให้ทานดังนี้คือ

- ให้ถาดเต็มไปด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด

- ให้ถาดรูปิยะเต็มไปด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด

- ให้ถาดสัมฤทธิ์เต็มไปด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด

- ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก พร้อมเครื่องประดับที่เป็นทอง

- ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน พร้อมเครื่องประดับที่เป็นทอง

- ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว พร้อมภาชนะรองนม

- ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับแก้วมณีกุณฑล

- ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์และขนแกะ

- ให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ

- ให้ข้าว น้ำ ของบริโภค ลูบไล้ และที่นอนจำนวนมาก

ลองเทียบกับทานที่เราทำในปัจจุบัน (ให้ขอทานบาทเดียวยังแทบไม่อยากจะให้)ยกเอาเรื่องผ้าที่เข้าใจง่ายหน่อยมาสมมติว่ามีราคาเพียงหน่วยละ ๑ บาท

ผ้าที่บริจาคไปก็เป็นเงิน แปดแสนสี่หมื่นล้านบาท ( ๑ โกฏิ คิดโดยประมาณ ๑๐ ล้าน ) เข้าไปแล้ว หากรวมทั้งหมดทุกรายการจะเป็นเท่าใด?

ทานนี้จะไม่เรียกว่ามหาทานเห็นจะไม่ได้ แล้วก็เป็นทานที่ให้แก่สาธารณะด้วย

ถ้าคิดเป็นจำนวนคน กะให้ ๑ คนรับไป ๑ อย่าง เช่นคนหนึ่งรับช้างไป ๑ เชือก

จำนวนผู้รับทานก็จะมีถึง ๗ แสน ๕ หมื่น ๖ พัน คน

แต่ผลของทานทั้งหมดนี้พระพุทธเจ้าทรงเล่าว่า

“ดูกร คฤหบดี ทานที่บุคคลเชื้อเชิญ ท่านที่ถึงพร้อมด้วยทิฐิ ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่า ทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว”

ทรงอธิบายว่า มหาทานนั้นคนที่รับทานไม่มีใครเป็น พระทักขิเณยบุคคล เลย

คำว่า ท่านที่ถึงพร้อมด้วยทิฐิ และ พระทักขิเณยบุคคล นั้น หมายถึง ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป

เรื่องนี้ มีที่ยืนยันในแห่งอื่นอีก เล่ม ๒๖ หน้า ๑๘๔

อังกุรพานิชทำทานคือ ให้อาหารแก่ผู้คนวันละ ๖๐,๐๐๐ เล่มเกวียนเป็นนิตย์ ใช้พ่อครัว ๓,๐๐๐ คน มีมานพ ๖๐,๐๐๐ คนช่วยฝ่าฟืน หญิง ๑๖,๐๐๐ คนบดเครื่องเทศ อีก ๑๖,๐๐๐ คนถือทัพพีคอยรับใช้ ทำอย่างนี้อีกหลายปี เมื่อตายไปแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

อินทกมานพ ถวายอาหาร ๑ ทัพพี แก่ท่านพระอนุรุทธเถระ(ซึ่งเป็นพระอรหันต์)ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เหมือนกัน แต่รุ่งเรืองกว่าด้วยประการทั้งปวง

แต่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปบนดาวดึงส์ อินทกเทพบุตรยังนั่งอยู่ใกล้ๆพระพุทธเจ้า ส่วนอังกุรเทพบุตรต้องถอยห่างไป ๑ โยชน์(เพื่อหลีกทางให้เทวดาอื่นที่รุ่งเรืองมากกว่า?) พระพุทธเจ้าตรัสถามว่าทำไมจึงนั่งไกลนัก

( อย่าลืมเสียว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู อยากรู้อะไรก็รู้ได้ ทำไมจึงต้องถาม? ผู้เขียนตอบเอาเองว่าเพื่อใช้คำตอบของอังกุรเทพบุตรยืนยันเป็นพยานกับที่ทรงสอนไว้แล้ว)

อังกุรเทพบุตรทูลตอบว่า “จะทรงประสงค์อะไรด้วยทานของข้าพระองค์นั้น อันว่างเปล่าจากทักขิเณยบุคคล อินทกเทพบุตรนั้นให้ทาน นิดหน่อย รุ่งเรืองกว่าข้าพระองค์ในหมู่ดาว ฉะนั้น”

ยังมี “มาตรา” เปรียบเทียบ ผล การทำทานอีก ๒ แห่ง

เล่ม ๑๔ หน้า ๓๘๙ พระพุทธเจ้าทรงให้รายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องของ ปาฏิปุคคลิกทาน ไว้ว่า

- ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน หวังผลทักษิณาได้ ๑๐๐ เท่า

- ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล หวังผลทักษิณาได้ ๑,๐๐๐ เท่า

- ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล หวังผลทักษิณาได้ ๑๐๐,๐๐๐ เท่า

- ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม หวังผลทักษิณาได้ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิเท่า

- ให้ทานแก่ท่านผู้ปฎิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง หวังผลทักษิณาทาน นับไม่ได้

ในเรื่องของ เวลามพราหมณ์ พระพุทธเจ้าตรัสต่อมาอีก (แยกมาแสดงไว้ตรงนี้เพื่อแสดง มาตรา ให้เด่นชัด)

- ทานแก่พระสกิทาคามี ๑ องค์ มีผลมากกว่าทานแก่ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ ๑๐๐ องค์

- ทานแก่พระอนาคามี ๑ องค์ มีผลมากกว่าแก่ พระสกิทาคามี ๑๐๐ องค์

- ทานแก่พระอรหันต์ ๑ องค์ มีผลมากกว่าแก่ พระอนาคามี ๑๐๐ องค์

- ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ องค์ มีผลมากกว่าแก่ พระอรหันต์ ๑๐๐ องค์

- ทานแก่พระพุทธเจ้า ๑ องค์ มีผลมากกว่าแก่ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ องค์

- ทานแก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข มีผลมากกว่าถวายแก่พระพุทธเจ้า ๑ องค์(สังฆทาน)

- การสร้างวิหารทานถวายสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ มีผลมากกว่า สังฆทาน

- การมีจิตเลื่อมใสถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ มีผลมากกว่า การสร้างวิหารทาน

- การสมาทานสิกขาบท ( ศีล ๕) มีผลมากกว่า การสร้างวิหารทาน

- การเจริญเมตตาจิต มีผลมากกว่า การสมาทานสิกขาบท

- การเจริญอนิจจสัญญา มีผลมากกว่า การเจริญเมตตาจิต

( สามข้อท้ายนี้ลงท้ายว่า “โดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดของหอม”)
จากทั้งหมดนี้สรุปเป็นตัวเลขได้ว่า

- การให้ทานแก่ พระโสดาบัน (ทักขิเณยบุคคล) ๑ องค์ มีค่าเท่ากับให้ทานกับปุถุชนผู้ทุศีล (สาธารณะ) หนึ่งพันล้านคน เป็นอย่างต่ำ

สำหรับบางคนที่ปากกล้าขนาดกล่าวว่าทำทานกับขอทานยังได้ประโยชน์มากกว่าทำกับพระนั้น ควรถามตัวเองว่าในบรรดาขอทานนั้น มีทักขิเณยบุคคลบ้างไหม?

นี่พูดกันถึงว่าได้บุญน้อยได้บุญมาก แต่ถ้าทำกับขอทานก็โมทนา ทำเข้าไปเถอะ เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า การทำทานนั้นเลื่อมใสที่ใดก็ทำเข้าไปที่นั่น

- ท่านที่คารมจัดหาว่า “มาตรา” อย่างนี้มีไว้เพื่อให้ทำบุญกับพระเท่านั้นละซี ก็ขอให้ดูตอนปลายของมาตรา จะเห็นว่าการเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ การสมาทานสิกขาบท การเจริญเมตตาจิต และการเจริญอนิจจสัญญานั้น ล้วนมีผลมากกว่าการถวายทานแก่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่ต้องเสียเงินเสียทองแม้แต่สตางค์เดียว

- สำหรับผู้ที่เกรงว่าทำทานด้วยเงินน้อยๆ เห็นจะไม่ได้บุญ ก็ควรดูจาก เล่ม ๕ หน้า ๗๗ ความว่า

“ข้าวสุกเมล็ดเดียว” ถวายแก่พระภิกษุผู้เลิศด้วยคุณสมบัติ “สวรรค์เป็นอันปรารภแล้ว”

- สำหรับท่านที่แอนตี้การสร้างวัดว่า ไม่มีประโยชน์นั้นควรสังเกตว่า วิหารทานยังมีผลมากกว่าทานที่ถวายกับพระพุทธเจ้า

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็ทำให้นึกถึงท่านที่ชอบพูดว่า ท่านไม่สร้างวัดแต่จะสร้างคน คือนึกสงสัยอยู่ว่า

๑. สร้างคนนั้นสร้างอย่างไร เพราะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็มีอยู่เรียบร้อยแล้วในพระไตรปิฎก และ การสร้างคนก็หมายถึงทำให้จิตใจของเขาดี การทำให้จิตใจดีให้บริสุทธิ์นั้นแต่ละคนต้องทำเองมิใช่หรือ?

๒. สร้างวัดแล้วสร้างคนไม่ได้หรืออย่างไร (หากสร้างคนได้) สร้างวัดแล้วจะทำธรรมทานไม่ได้อย่างนั้นหรือ?

๓. การพูดทำนองนี้ มีหางเสียงในเชิงตำหนิการสร้างวัดว่าไม่ดีดอก แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสอยู่แล้วว่าวิหารทานมีผลมากกว่าทานที่ถวายแก่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ท่านผู้พูดดังกล่าวจะว่าอย่างไร?

จะไม่เป็นการตัดการทำวิหารทานของผู้อื่นไปหรือ?

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 9/12/08 at 22:32 Reply With Quote


(Update 9 ธ.ค. 51 ตอนที่ 6)


ทำไมจึงเกิดมาเป็นคนจน


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 120

สมัยนี้มีเหตุการณ์ชนิดที่ว่าขโมยถูกจับได้ ก็แก้ว่าเป็นเพราะความจน แล้วนักประพันธ์บางจำพวกเอาไปเขียนในลักษณะทำนองว่า “ ผมผิดด้วยหรือที่เกิดมาเป็นคนจน? ” คล้ายจะสนับสนุนว่าถ้าเกิดมาจนแล้วก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะขโมยได้ยังงั้นแหละ

ถ้ามาถามผู้เขียนว่า “ผมผิดด้วยหรือที่เกิดมาจน” ผู้เขียนก็จะตอบว่า “ผิดซิ ผิดมาตั้งแต่ชาติก่อนๆโน่นแน่ะ”

นี่ไม่ใช่คิดเอาเอง หากว่าตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้

เล่ม ๒๑ หน้า ๒๓๒
พระนางมัลลิกาเทวี (พระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล) ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า

อะไรเป็นเหตุให้หญิงบางคน ผิวพรรณทราม รูปชั่ว และจน หรือ รูปชั่วแต่รวย หรือผิวพรรณงามแต่จน หรือ ผิวพรรณงามและรวย

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า
“ดูกรพระนางมัลลิกา มาตุคาม บางคนในโลกนี้

เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อย ฉุนเฉียวกระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง แสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏ

เป็นผู้ไม่ให้ทานคือข้าวและน้ำ ยวดยาน ระเบียบเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟแก่สมณหรือพราหมณ์ และ

เป็นผู้มีใจริษยาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้และการบูชาของผู้อื่น กีดกัน ตัดรอน ผูกความริษยา

ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู ทั้งเป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์สมบัติ และต่ำศักดิ์”

สำหรับประการอื่นๆทรงอธิบาย (ขอย่อ) ว่า
- มีโทสะ แต่ทำทาน ไม่ริษยา ทำให้รูปชั่ว ไม่น่าดู มั่งคั่งและสูงศักดิ์
- มีโทสะ ไม่ทำทาน ไม่ริษยา ทำให้รูปชั่วไม่น่าดู ยากจนเข็ญใจแต่สูงศักดิ์
- ไม่มีโทสะ ไม่ให้ทาน และริษยา ทำให้รูปงามน่าดูน่าชม ผิวพรรณงามแต่เป็นคนเข็ญใจและต่ำศักดิ์
- ไม่มีโทสะ ให้ทาน ไม่ริษยา ทำให้รูปงามน่าดูน่าชม มีผิวพรรณงามมั่งคั่งและสูงศักดิ์

สรุปได้ว่า
ก. การมักโกรธ ทำให้ต่อไป (ชาติหน้าๆ) ทำให้รูปชั่ว ผิวชั่ว ไม่น่าดู
ข. ความตระหนี่ ทำให้ต่อไป เกิดเป็นคนยากจน
ค. ความริษยา ทำให้ต่อไป เกิดเป็นคนต่ำศักดิ์

ในปัจจุบันเห็นกันอยู่แล้วว่าสังคมทุกสังคม มีคนรูปชั่ว คนรูปงาม มีคนจน มีคนรวย มีคนต่ำศักดิ์ มีคนสูงศักดิ์ นี่ต้องเป็นผลมาจากกรรมในชาติก่อนๆ

แม้ในขณะนี้ คนมักโกรธ คนตระหนี่ คนขี้อิจฉา ก็มีให้เห็นอยู่ทุกๆวัน เขาเหล่านี้ต่อไปก็จะไปเกิดเป็นคนรูปชั่ว ผิวพรรณทราม คนจน และคนต่ำศักดิ์ในภายหน้า เป็นเรื่องของกรรมอย่าไปโทษ “ความไม่ยุติธรรมของสังคม” เลย

นี่ไม่ใช้เฉพาะแต่ในโลกนี้ แม้ในโลกสวรรค์ก็มีความเหลื่อมล้ำ

( ซึ่งไม่ได้เกิดจากความอยุติธรรมของผู้ใด หากเกิดแต่กรรมที่ตนเองทำหรือไม่ทำ )

เล่ม ๒๒ หน้า ๓๑
สุมนาราชเทวีทูลถามพระพุทธเจ้า ว่า
สาวก ๒ องค์ ที่มีศรัทธา มีศีล และมีปัญญาเท่าเทียมกัน คนหนึ่งเป็นผู้ให้ (ทาน) อีกคนหนึ่งไม่ให้ เมื่อตายไปเป็นเทวดาแล้ว จะมีข้อแตกต่างกันหรือไม่

พระพุทธเจ้าทรงตอบมีใจความว่า
สาวกที่ให้จะเป็นเทวดาที่ข่ม ( เหนือกว่า ) สาวกผู้ไม่ให้ด้วย อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นทิพย์

เทวดานั้นเมื่อหมดบุญลงมาเกิดเป็นมนุษย์ด้วยกัน ผู้ที่ให้ก็จะข่มผู้ที่ไม่ให้ด้วย อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยของมนุษย์

( คงจะเห็นได้จากความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในเวลานี้กันอยู่แล้ว และควรจะรู้เสียตอนนี้ว่าไม่ใช่เกิดจากความอยุติธรรมของสังคม )

หากทั้งสองออกบวชพร้อมกัน เมื่อเอ่ยปากขอ ผู้ให้จะได้มากกว่า และเมื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์ ผู้ให้จะได้รับ การปฏิบัติอันเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก

หากเป็นพระอรหันต์ด้วยกัน จะไม่มีความแตกต่างกันใน วิมุติ กับ วิสุทธิ

เล่ม ๑๕ หน้า ๔๕
“ คนเหล่าใดในโลก เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางคนอื่นผู้ให้อยู่

คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน หรือยมโลก

ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ก็เกิดในสกุลคนยากจน ซึ่งจะหาท่อนผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก

คนพาลเหล่านั้นต้องประสงค์สิ่งใด เขาย่อมไม่ได้สิ่งนั้นสมความปรารถนา นั่นเป็นผลในภพนี้ และภพหน้าก็ยังเป็นทุคติอีกด้วย”

เล่ม ๑๔ หน้า ๓๒๓
สุภมานพโตเทพบุตรทูลถามว่า

“ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏ มีอายุสั้น อายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดามาก มีศักดาน้อย มีโภคะมาก มีโภคะน้อย เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต”

พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า
“ดูกร มานพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้”

สุภมานพฯ ทูลขอให้จำแนกโดยพิสดาร จึงทรงอธิบายเป็นใจความว่า
- ถ้าทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์ ตายไปก็ตกนรก หากบังเอิญเกิดเป็นคนก็จะอายุสั้น
- มักโกรธ แค้นเคือง พยาบาทมาดร้ายฯ จะมีผิวพรรณทราม
- ริษยา มุ่งร้าย อิจฉาฯ จะมีศักดาน้อย
- ไม่ให้ทานฯ จะเคนมีโภคะน้อย
- กระด้าง เย่อหยิ่ง ไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพฯ จะเกิดในสกุลต่ำ

- ไม่เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ แล้วถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลฯ จะเกิดเป็นคนมีปัญญาทราม

ตามที่ยกมานี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้หลายครั้งในหลายแห่ง ถึงเหตุที่ทำให้เกิดมาเป็นคนยากจน และตรงกันทุกครั้งว่าเพราะชาติก่อนเป็นคนไม่ให้ทาน หรือตระหนี่

แต่ยังมีเหตุอื่นอีกบ้างที่ทำให้เกิดเป็นคนยากจน

เล่มที่ ๒๕ หน้า ๑๒๙
ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เหตุใด สุปปพุทธกุฏฐิ จึงเป็นคนขัดสน กำพร้า ยากไร้

พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า
เพราะสมัยก่อนสุปปพุทธกุฏฐิเคยเกิดเป็นลูกเศรษฐี

วันหนึ่งได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ตถรสิกขี กำลังเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนคร ครั้นแล้วเขาดำริว่า “ใครนี่เป็นโรคเรื้อนเที่ยวไปอยู่ เขาถ่มน้ำลายแล้วหลีกไปข้างเบื้องซ้าย” กรรมนี้ทำให้ตกนรกไปแสนปี เศษของกรรมยังเหลืออยู่ จึงเป็นคนขัดสน กำพร้ายากไร้

เห็นได้ว่า การปรามาสพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็มีเศษทำให้เกิดเป็นคนยากจนได้

อย่างไรก็ดี การเกิดเป็นคนจนไม่ได้หมายความว่าเป็นคนชั่ว จนแต่อาจจะดีก็ได้

เล่ม ๑๕ หน้า ๒๓๔
“ท่านอย่าถามถึงชาติ แต่จงถามถึงความประพฤติเถิด”

เล่ม ๒๕ หน้า ๓๒๒
“บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ ไม่ป็นพราหมณ์เพราะชาติ แต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม”

( ในที่นี้คงไม่หมายถึงวิบากของกรรม หากหมายถึงการกระทำของเขาในชาตินี้)

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 22/12/08 at 16:37 Reply With Quote


(Update 22 ธ.ค. 51 ตอนที่ 7)


มิจฉาทิฐิ


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๐๑

เรื่องมิจฉาทิฐิเคยเขียนไว้ในเรื่องอื่นๆหลายครั้งแล้ว คราวนี้จะเขียนให้ละเอียดอีกนิดหนึ่ง

เล่ม ๑๔ หน้า ๑๕๘
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน คือความเห็นดังนี้ว่า
ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้งไม่มีผล
สังเวยที่บวงสรวงแล้วไม่มีผล
ผลวิบากกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี

สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้า ให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่ง

ด้วยตนเองในโลกนี้ไม่มี นี้ มิจฉาทิฐิ ”

เอามาว่าละเอียดเป็นข้อๆไปจะเห็นว่า

- ทานที่ให้แล้วไม่มีผล บ่งถึงว่าไม่มีผลถึงชาติหน้า ชาติโน้น

- ยัญที่บูชาแล้ว, สังเวยที่บวงสรวงแล้วไม่มีผล บ่งถึงว่าไม่มีผลไปถึงเทวดาหรืออื่นๆที่มองไม่เห็น

- ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี บ่งถึงว่าตายแล้วสูญ ไม่ต้องรับวิบากกรรมใดๆ

- โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี บ่งถึงตายแล้วสูญ ยืนยันกับข้อข้างบน

- มารดาไม่มีบิดาไม่มี บ่งว่ามารดาบิดาไม่มีบุญคุณกับบุตร

- สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี บ่งว่าเทวดา (เป็นต้น)ไม่มี คำว่าอุปปาติกะ หรือ โอปปาติกะนี้ คือการกำเนิดชนิดหนึ่ง ซึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสกับพระสารีบุตรว่า ( เล่ม ๑๒ หน้า ๑๑๗ เรื่องกำเนิด ๔ ) ว่าโอปปาติกะกำเนิด ได้แก่ เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางพวก และเปรตบางพวก

- สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลกนี้ไม่มี บ่งว่า พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ด้วยตนเองไม่มี

สำหรับข้อนี้น่าสนใจที่ภิกษุดังระเบิดผู้หนึ่งเคยแสดงปาฐกว่า “คนมักจะพูดว่าพระพุทธเจ้ารู้เองหมด ไปคิดดูเถอะพระพุทธเจ้ารู้เอง โดยไม่มีใครสอนนี้ มันจะไม่น่าหัวอย่างไร”

ผู้ปาฐก อ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงเรียนจากอาฬารดาบส กับ อุทกดาบส และเห็นได้ชัดว่าเรียนจากนิครนถ์ ซึ่งพระไตรปิฎกไม่ยอมเขียนว่าเป็นลูกศิษย์ใครเพราะกลัวขายหน้า

ความจริงที่ผู้ปาฐกไม่ได้เอามาบรรยายก็คือว่า หลังจากและบำเพ็ญตามอย่างคนอื่นแล้วปรากฏว่าไม่พบทางหลุดพ้น จึงทรงปฏิบัติตามแนวทางของท่านเอง คราวนี้จึงตรัสรู้ทางหลุดพ้น

หากจะพูดว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะอาศัย การสอนของผู้อื่นก็ถามกันก่อนว่า

๑. พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะผลของการบำเพ็ญตบะอย่างเดียรถีย์ หรือเปล่า?
ตอบได้ว่าเปล่า เพราะต่อเมื่อเลิกบำเพ็ญตบะ จึงได้ตรัสรู้ ฉะนั้นที่องค์ปาฐกอ้างว่า เรียนจากเดียรถีย์นั้นจึงเป็นการอ้างที่ผิด

๒. พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เพราะอาศัยความรู้ที่ได้มาจากอุทกดาบสกับอาฬารดาบส หรือ ?

จริงอยู่พระพุทธเจ้าทรงเรียนอรูปฌาน ขั้นอากิญจัญญายตนะกับเนวสัญญานาสัญญายตนะจากดาบสทั้งสอง

แต่ตามประวัติการตรัสรู้นั้น พระพุทธเจ้าทรงใช้รูปฌานถึงฌาน ๔ แล้วน้อมไปวิชชาสามคือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาน จุตูปปาตญาน และอาสวักขยญาน(เล่ม ๑ หน้า ๕-๗) ไม่ได้แตะเข้าไปหาอากิญจัญจัญญายตนะฌานที่เรียนจากดาบสทั้งสองเลย

คำตอบของคำถามนี้จึงมีว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้อาศัยความรู้ที่เรียนมาจากดาบสทั้งสองเลย

ดังนั้นจากทั้งสองข้อนี้ เห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้เอง

ถ้าจะเหมาว่าการเรียนอะไรๆ จะใช้หรือไม่ใช้ ก็ถือว่าเรียนเป็นเหตุให้ตรัสรู้ละก้อ ไม่มีใครดอกที่ตรัสรู้เอง ตรงกับคำจำกัดความว่าเป็นมิจฉาทิฐิ

ความจริง “มิจฉาทิฐิ” ที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ตรงกับคำสอนของเจ้าคณะคนหนึ่งในหกคนในสมัยพุทธกาลคือคนที่ชื่อ อชิตเกสกัมพล ในสามัญผลสูตร ซึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรู เล่าถวายพระพุทธเจ้า ว่าไปถามถึงผลของการปฏิบัติตามคำสอนในลัทธิของเขาว่ามีให้เห็นประจักษ์ในปัจจุบันไหม

เล่ม ๙ หน้า ๖๑
“เมื่อหม่อมฉันกล่าวอย่างนี้ ครูอชิตเกสกัมพล ได้กล่าวคำนี้กับหม่อมฉันว่า ดูกร มหาบพิตร

ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี

โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มี สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี

สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ซึ่งการกระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง และสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งไม่มีในโลก คนเรานี้เป็นแต่ประชุมมหาภูตรูปทั้งสี่ เมื่อทำกาลกิริยา

ธาตุดินไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม

อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปในอากาศ คนทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ ๕ จะหามเขาไป

ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกมีสีดุจนกพิราบ การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด

ทานนี้คนเขลาบัญญัติไว้ คำของคนบางพวกพูดว่ามีผล ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ

เพราะกายสลายทั้งพาลทั้งบัณฑิต ย่อมขาดสูญพินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายย่อมไม่เกิด ดังนี้ ฯ.”

สรุปแล้ว คนตายแล้วสูญ สวรรค์นรกไม่มี ทำอะไรไม่มีผลในชาติหน้า พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เองก็ไม่มี

สมัยนี้คนจำนวนมากเชื่ออย่างนี้ จึงนับว่าเขาเหล่านั้นเป็นศิษย์ของ อชิตเกสกัมพล หาใช่ศิษย์ของพระสมณโคดมไม่

อันที่จริงแล้วผู้เขียนมีความคิดว่า ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้านั้นคงมีวิถีอย่างพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือลองเรียนทุกอย่าง ลองปฏิบัติทุกอย่าง ที่ผู้อื่นรู้อยู่ ทำอยู่อย่างเต็มที่แล้วก็ไม่ได้ตรัสรู้

เป็นการพิสูจน์ว่า วิชาเหล่านั้น การปฏิบัติเหล่านั้น ทำให้หลุดพ้นไม่ได้ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั่นแหละจึงจะหลุดพ้นได้ เป็นการหมดปัญญา ไม่มีผู้ใดจะมาแย้งได้ว่าวิธีของเขาหากปฏิบัติถึงที่สุดก็หลุดพ้นได้เหมือนกัน องค์ปาฐกผู้ดังระเบิดนั้นกลับมีความเห็นไปเสียอีกทางหนึ่งซึ่งพิสูจน์แล้วก็ไม่ควรเป็นความเห็นที่ถูก

โทษของมิจฉาทิฐิมีปรากฏใน

เล่ม ๑๘ หน้า ๓๓๗
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บุคคลผู้มีความเห็นผิดย่อมมีคติ ๒ คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน”

เล่ม ๒๐ หน้า ๖๙
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คติ ๒ อย่าง คือนรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง อันคนมิจฉาทิฐิพึงหวังได้”

เล่ม ๒๔ หน้า ๓๐๐
“แสดงว่าโทษของอกุศลกรรมบถ ( มีมิจฉาทิฐิอยู่ด้วยข้อหนึ่ง ) คือ นรกหรือสัตว์เดรัจฉาน”

หากคิดดูตามเหตุผลธรรมดาก็ย่อมเห็นได้ชัดว่า เมื่อเห็นว่าตายสูญเสียอย่างหนึ่ง ก็ไม่มีการเกรงกลัวต่อการทำชั่ว ซึ่งย่อมเป็นเหตุนำไปสู่นรกหรือสัตว์เดรัจฉาน

อย่างไรก็ดีเฉพาะความชั่วอย่างเดียว ก็คงไม่เป็นเหตุให้ลงนรกเช่น ไม่เชื่อว่ามีนรกสวรรค์แต่ทำความดีเพื่อความดี เพื่อความสบายใจเป็นต้น ในทำนองเดียวกันเป็นสัมมาทิฐิแต่ทำชั่วก็ไปนรก

ตัวอย่างในเรื่องนี้ดูได้จาก นันทิกาเปตวัตถุ เล่าให้พระเจ้าปิงคละฟัง ( เล่ม ๒๖ หน้า ๒๒๕ ) ว่า

“เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นบุรุษ อยู่ในเมืองสุรัฏฐ์ เป็นคนใจบาป เป็นมิจฉาทิฐิ เป็นคนทุศีล ตระหนี่ บริภาษสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ห้ามปรามมหาชนซึ่งพากันทำบุญให้ทาน ทำอันตรายต่อชนเหล่าอื่นผู้กำลังให้ทาน ได้ห้ามว่า ผลแห่งทานไม่มีผล ฯลฯ”

ความต่อไปมีว่า พอตายก็รู้ว่าจะตกนรกอยู่แสนโกฏิปี พอดีนางอุตตราลูกสาว ถวายน้ำหนึ่งขันกับขนมหวานรสอร่อยแก่ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ จึงเป็นแค่เปรต

จากตัวอย่างนี้เห็นได้ว่า เมื่อมิจฉาทิฐิเสียอย่างก็ดึงไปให้ทุศีล ตระหนี่และบริภาษสมณพราหมณ์ แถมพกด้วยการห้ามคนอื่นไม่ให้บริจาคทานเสียอีก.

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 1/1/09 at 08:07 Reply With Quote


(Update 1 ม.ค. 52 ตอนที่ 8)


ผู้ยังพระสัทธรรมให้อันตรธาน


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๙๖

สมัยนี้กล่าวกันว่าพระพุทธศาสนากำลังเสื่อมลง และผู้ที่จะทำให้เสื่อม (หรือกำลังทำให้เสื่อม) ก็คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา (ซึ่งว่าเวลานี้ภิกษุณีก็หมดไปแล้ว)

สำหรับอุบาสกและอุบาสิกานั้น ไม่พึงหลับตานึกไปว่าคือท่านที่แต่งตัวชุดขาวไปวัด รับศีลอุโบสถ ไม่ใช่อย่างนั้น

พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๑๙ หน้า ๔๔๗ ( มหานามสูตร)
พระเจ้ามหานามศากายราชได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าใด บุคคลจึงจะชื่อว่าอุบาสก”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

“ดูกร มหาบพิตร บุคคลผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล บุคคลจึงจะชื่อว่าเป็นอุบาสก”

บรรดาเราชาวไทยที่พูดออกมาว่า ข้าพเจ้านับถือพระพุทธศาสนา นั้นจึงต่างเป็น อุบาสก อุบาสิกา เพราะนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กันทั้งนั้นต่างมีส่วนในการทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมได้ ไม่ใช่เพ่งโทษไปที่พระภิกษุ และพวกนุ่งขาวห่มขาว ถ้าคิดดูดีๆแล้วพวกเรา อุบาสก อุบาสิกา นี่แหละตัวร้ายนักทีเดียว

ในพระสูตรดังกล่าว พระเจ้ามหานามะฯ ได้ทูลถามปัญหาละเอียดต่อไป เช่น

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าใด อุบาสกจึงจึงจะเชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล”

จะขอย่อคำตรัสตอบดังนี้ว่า อุบาสกเป็น

- ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ได้แก่ ผู้งดเว้นจากปาณาติบาต, จากอทินนาทาน, จากกาเมสุมิจฉาจาร, จากมุสาวาท, จากสุราเมรัย (คือมีศีล๕)

- ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ได้แก่ผู้เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต ว่าแม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม

- ผู้ถึงพร้อมด้วยราคะ ได้แก่ผู้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทินฯ...ยินดีในการสละฯ...ยินดีในการจำแนกทานฯ

- ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา คือประกอบดัวยปัญญาเป็นเหตุให้ถึง ( เห็น ) ความเกิดดับ เป็นอริยะ เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

ทีนี้ท่านอุบาสกก็ลองทดสอบด้วยตนเองกับแค่ ๔ ข้อนี้ก่อนก็ได้

๑. ศีล ๕
ใครมีบ้าง? ผู้ไม่มีศีล ๕ ก็คือศีลไม่บริบูรณ์ เมื่อไม่บริบูรณ์ก็หมายถึงเสื่อม คือเป็นผู้เสื่อมในพระพุทธศาสนา ถูกไหม?

๒. ศรัทธา
พระปัญญาของพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อกันหรอกหาว่าพระไตรปิฎกเชื่อถือไม่ได้ คลาดเคลื่อนแต่งเติม ไปเชื่อเอาภิกษุอะไรก็ไม่รู้ หาได้คิดไม่ว่าหากพระไตรปิฎกไม่ถูกต้องแล้ว ท่านจะหาคำสอนที่ถูกต้องของพระตถาคตได้จากไหน พระภิกษุที่ว่าพระไตรปิฎกนี่กวีเขารจนาขึ้น เชื่อถือไม่ได้ ต้องอย่างที่อาตมาสอนจึงจะเป็นพระพุทธศาสนาที่แท้จริง อย่างนี้เขาเอาหลักอะไรมายืนยัน มันก็เรื่องคิดเอาเองว่าอย่างนี้และถูก (คนอื่นผิด) นี่ก็เป็นการเสื่อมศรัทธาในพระปัญญาของพระพุทธเจ้า

๓. จาคะ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทำทานกับพระภิกษุ อริยะสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญที่ดี อุบาสกบางคนบอกว่าทำทานสาธารณะดีกว่า บางคนก็ขนาดหนักคือให้ขอทานดีกว่าพระ บางคนก็ตำหนิ (ภรรยาตำหนิสามีหรือสามีตำหนิภรรยา)ว่าทำบุญไปทำไมกัน ไม่เห็นได้อะไรขึ้นมา เป็นลักษณะของความตระหนี่

๔. ปัญญา
ให้เห็นความเกิดดับ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ความสิ้นทุกข์โดยชอบคือนิพพานนั่นแหละ สมัยนี้พากันกล่าวว่าการเข้านิพพานคือการเห็นแก่ตัว

นี่กล่าวอย่างย่อๆเพื่อชี้ว่าพวกที่ทำพระพุทธเจ้าเสื่อมที่สำคัญคืออุบาสก-อุบาสิกานี่แหละเป็นส่วนใหญ่อย่าไปมัวเพ่งโทษภิกษุท่านเลย (แน่นอนที่ทำให้เสื่อมก็มี อุบาสิกาบางท่านทำตัวน่าเกลียดมากทำตัวติดอยู่กับพระมากเกินพอดี เป็นโลกะวัชชะชาวโลกติเตียน ทำให้ศาสนาเสื่อม มัวหมองเกิดความรังเกลียดในพระ เลยพาลกันไม่มาเข้าวัดกัน) ควรปรับปรุงตัวเราเองให้ดีเสียก่อน

หากจะเอาหลักๆกันว่ามีอะไรที่ทำให้พระสัทธรรมอันตรธานแล้ว ในพระไตรปิฎกท่านก็มีบ่งไว้

๑. เล่ม ๒๐ หน้า ๒๒
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่.....(ย่อ)

- แสดง อธรรม ว่า ธรรม

- แสดง ธรรม ว่า อธรรม

- แสดง สิ่งที่มิใช่วินัย ว่า วินัย

- แสดง วินัย ว่า มิใช่วินัย

- แสดง พระดำรัสอันพระตถาคตมิได้ทรงภาษิต มิได้ตรัสไว้ ว่า พระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ ฯลฯ

- แสดง พระดำรัสอันพระตถาคตได้ทรงภาษิตไว้ตรัสไว้ ว่า พระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ฯลฯ

- แสดง กรรมอันพระตถาคตมิได้ทรงสั่งสม ว่า พระตถาคตทรงสั่งสม ฯลฯ

- แสดง กรรมอันพระตถาคตได้ทรงสั่งสม ว่า พระตถาคตมิได้ทรงสั่งสม ฯลฯ

- แสดง สิ่งอันพระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ ว่า พระตถาคตทรงบัญญัติไว้ ฯลฯ

- แสดง สิ่งอันพระตถาคตได้ทรงบัญญัติไว้ ว่า พระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติ ฯลฯ

ภิกษุเหล่านั้นเชื่อว่าเป็นผู้ปฎิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนัตถะ ใช่ประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งย่อมประสบบาปมิใช่บุญ และย่อมยังสัทธรรมนี้ให้อันตรธาน”

พวกไม่นับถือพระไตรปิฎก นับเข้าได้ในพระดำรัสหมวดนี้ เพราะคำสอนใดๆของเขาย่อมเป็นคำของเขาเอง (เพราะเขาก็ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆว่าอย่างไร) ผู้เขียนเคยอ่านพบคนชนิดนี้อ้างเอาว่าที่หนังสือพูดว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านทรงหมายความว่า....(เช่น พรหมท่านหมายความถึงการเสพกามขั้นสูง สวรรค์คือเมื่อจิตมีความสุข เป็นต้น) เป็นการอ้างพระพุทธเจ้าเอาตามใจ เข้าเกณฑ์เป็นผู้ทำให้พระสัทธรรมอันตรธานตามหมวดนี้ คือพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส เอามาอ้างว่าตรัส

ผู้อื่นที่ฟังไปไม่รู้จะเชื่ออย่างไร ทำให้เกิดความคลอนแคลนไม่มั่นใจว่าจะเอาอย่างไรแน่ (เกิดวิจิกิจฉา) พระสัทธรรมก็เลือนไปด้วยเหตุนี้

ใน เล่ม ๕ หน้า ๓๑๒ ท่านจำแนกภิกษุอย่างนี้ว่าเป็น อธรรมวาทีภิกษุ

๒. เล่ม ๒๐ หน้า ๗๙
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่ห้ามอรรถและธรรมโดยสูตร ซึ่งคนเรียนไว้ไม่ดีด้วยพยัญชนะปฏิรูปนั้น ชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อมิใช่สุขของชนมาก เพื่อความฉิบหาย เพื่อมิใช่ประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อนึ่งพวกนั้นยังจะประสบบาปเป็นอันมาก และทั้งชื่อว่าทำสัทธรรมนี้ให้อันตรธานไปอีกด้วย”

พูดง่ายๆตามประสาชาวบ้านว่าอ่านพระสูตรไม่รู้เรื่องแล้วเอาไปสอนผิดๆนั่นแหละ

ตัวอย่าง ภิกษุผู้หนึ่ง (ดังระเบิด) กล่าวว่า “พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้พระพุทธองค์ตรัสก็อย่าเพิ่งเชื่อ ให้ตรึกตรองเหตุผลเห็นจริงด้วยตนเองก่อนถึงค่อยเชื่อ” เรื่องนี้ให้ไปดูใน กาลามสูตร (ใจความเป็นอย่างนี้)

สามัญสำนึกทำให้พิจารณาได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบและปฏิบัติจนเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านจึงทรงสอนตามที่ท่านทรงค้นพบ แล้วธุระอะไรเราจะต้องเอามาตรึกตรองอีกล่ะ?

ถ้าเราตรึกตรองแล้วไม่เห็นตาม (ด้วยปัญญาอันเลวทราม) แล้วจะว่าพระพุทธเจ้าสอนผิด เลยไม่ทำตามหรือยังไง ตรงกันข้าม เล่ม ๑๙ หน้า ๒๘๑ (สัทธาสูตร)

“ดูกร สารีบุตร อริยสาวกผู้ใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในศาสนาของตถาคต”

ถ้าหากไปเปิดดูใน กาลามสูตร (เกสปุตตสูตร) ใน เล่ม ๒๐ หน้า ๒๑๓ จะพบพระสูตรนี้เล่าว่า ชาวกาลามะมาทูลถามว่า มีสมณะพราหมณ์ ๒ พวกมาสอน ต่างกล่าวว่าของตนถูก ของอีกฝ่ายหนึ่งผิด อยากจะทราบว่าใครพูดจริงใครพูดเท็จ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อย่ายึดถือ

- ตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา

- ตามถ้อยคำที่สืบๆกันมา

- โดยตื่นข่าวได้ยินอย่างนี้

- โดยอ้างตำรา

- โดยเดาเอาเอง

- โดยคาดคะเน

- โดยความตรึกตามอาการ

- โดยชอบใจว่าต้องกันกับ ทิฏฐิ ของตัว

- โดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้

- โดยความนับถือว่าสมณะเป็นครูของเขา

แล้วท่านก็สรุปว่า เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศลก็พึงละเสีย เป็นกุศลก็พึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่

ต่อไปท่านก็นำเข้าธรรมะว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฯลฯ

ท่านไม่ได้ตรัสตรงไหนเลยว่า แม้เราพูดก็อย่าพึงเชื่อ ให้ตรึกตรองเสียก่อนจึงค่อยเชื่อ เป็นการศึกษาสูตรผิดๆแล้วเอาไปสอน เป็นผลให้ผู้ฟังเอาปัญญาของตนไปทาบกับปัญญาของพระพุทธเจ้า ซึ่งตรัสว่าพระธรรมของท่านลุ่มลึกบัณฑิตจึงรู้ได้

ก็ถ้าคนฟังธรรมไม่ใช้บัณฑิต คิดเห็นตามพระธรรมตามเหตุผลของตนไม่ได้ ก็ไม่ให้เชื่ออย่างนั้นหรือ ?

ดังนี้จึงเป็นการทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญ

๓. เล่ม ๒๒ หน้า ๑๑๓
ภิกษุเพื่อความฉิบหายแก่ชนหมู่มาก

- เป็นรัตตัญญู บวชนาน

- มีชื่อเสียง มียศ มีบริวารมาก

- ได้ปัจจัย ๔ มาก

- เป็นพหูสูต ได้สดับมาก ประกาศพรหมจรรย์

- (แต่) เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเป็นวิปริต เธอย่อมยังชนหมู่มากให้เหินห่างจากสัทธรรม

คำว่ามิจฉาทิฏฐิแสดงใน เล่ม ๑๔ หน้า ๑๕๘
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฏฐิเป็นไฉน คือความเห็นดังนี้ว่าทานที่ให้ไปแล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้วไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มีผล โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลกนี้ไม่มี นี้มิจฉาทิฏฐิ”

แปลง่ายๆคือตายแล้วก็สูญ (ซึ่งทำให้ไม่มีวิบากกรรม ทำบุญทำทานจึงไม่มีผล ทั้งผู้ทำและผู้รับ) เทวดา พรหม (อุปปาติกะ) คือสวรรค์-นรกจริงๆไม่มี พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เองไม่มี

ภิกษุ “ดังระเบิด” ที่ว่ามาแล้วนั้นพูดเหมือนกันว่า ที่เขากล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เองนั้น “เป็นเรื่องที่น่าหัว” เพราะประวัติมีชัดๆว่าไปเรียนกับอาฬารดาบส กับ อุทกดาบส นี่ก็มาตรงกับข้อมิจฉาทิฏฐิ (ความจริงอาฬารดาบสกับอุทกดาบส สอนอริยสัจสี่กับพระพุทธเจ้าเสียเมื่อไหร่ล่ะ?)

ยังมีอีกพวกหนึ่งที่น่าจะผนวกเข้าไปในประเภทนี้คือ ประเภทที่กล่าวว่า
“พระพุทธเจ้าก็มนุษย์ธรรมดาเรานี่แหละ” ประกอบกับ “พระธรรมก็เป็นความจริงของโลกที่มีอยู่แล้ว”

ใจความคล้ายจะกล่าวว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้วิเศษมาจากไหนหรอก พระธรรมก็มีอยู่แล้วไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงคิดขึ้นเมื่อไหร่ล่ะ นี่คือการทำให้ศรัทธาและความเคารพในองค์พระพุทธเจ้าเสื่อมลงนั่นเอง พูดถูกอย่างเดียวคือมีอวัยวะเหมือนคนธรรมดา

แต่คนธรรมดาก็ต่างกันด้วยสมอง ต่างกันด้วยปัญญา แม้ร่างกายจะมีอะไรเท่ากัน แต่ความสามารถของร่างกายก็ไม่เท่ากัน ถ้าใครว่าเท่าก็ขอเชิญไปชกกับ เขาทราย แกแล็กซี่ ให้ผลออกมาเสมอกันหน่อยเถอะ

ผู้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าก็คนธรรมดานั้น ไม่ได้คิดไปว่าคุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถค้นพบความจริงของอมตะที่ว่ามีอยู่แล้วในธรรมชาตินั้นไม่ใช่เล็กน้อยทีเดียว บารมี ๑๐ ประการ

( ทานบารมี, ศีลบารมี, เนกขัมมบารมี, ปัญญาบารมี, วิริยะบารมี, ขันติบารมี, สัจจะบารมี, อธิษฐานบารมี, เมตตาบารมี, อุเบกขาบารมี )

ต้องเต็มเปี่ยมขั้นปรมัตถ์ และในการนี้ ต้องใช้เวลาสั่งสมตั้ง ๔ อสงไขยกับแสนกัป เป็นอย่างน้อย

แต่นั่นแหละเขานึกว่าตายแล้วสูญเสียอย่าง ข้อนี้เขาก็เข้าใจด้วยไม่ได้ จะเป็นกรณีใดก็ตามกล่าวอย่างนี้เท่ากับกล่าวว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้วิเศษกว่าคนธรรมดา ความศรัทธาในพระพุทธเจ้าก็เสื่อม เมื่อความศรัทธาในพระพุทธเจ้าเสื่อม ความศรัทธาในพระธรรมก็เสื่อม พระสัทธรรมย่างเข้าความอันตรธาน

๔. เล่ม ๒๑ หน้า ๑๗๓
ธรรม ๔ ประการ ทำให้เป็นไปเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม (ย่อ)

๑. เล่าเรียนพระสูตรอันเรียนกันมาผิดลำดับ ด้วยบท และพยัญชนะที่ตั้งไว้ผิด

๒. เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับคำสอนโดยเคารพ

๓. เป็นพหูสูตแล้วไม่บอกพระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ ( ทำให้มีรากขาดสูญ )

๔. ภิกษุเถระเป็นผู้มักมาก ย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการทอดธุระในวิเวก ไม่ปรารภความเพียรให้แจ้ง

ธรรมที่ยังไม่แจ้ง
โดยเฉพาะข้อ ๔ หากนับสมาธิเข้าในวิเวกได้ ก็มีพระภิกษุดังระเบิดองค์หนึ่งกล่าวมาแล้วว่า พระเข้าป่านั่งหลับตาไม่มีประโยชน์ ดังนี้ก็ไม่ต้องสงสัยละว่า พระสัทธรรมย่อมจะตรงไปหาความเสื่อมสูญ

๕. เล่ม ๒๒ หน้า ๑๘๐
ธรรมเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ๕

- ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ

- ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ

- ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ

- ไม่ใคร่ครวญธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ หรืออีกอย่างหนึ่ง

- ไม่เล่าเรียนธรรม

- ไม่แสดงธรรมตามที่ฟังมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร

- ไม่บอกธรรมตามที่ฟังมาได้เล่าเรียนแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร

- ไม่สาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เล่าเรียนมา แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร

- ไม่ตรึกตรอง ไม่เพ่งดูด้วยใจ ซึ่งธรรมที่ได้ฟังมาได้เล่าเรียนมา หรืออีกอย่างหนึ่ง

- เล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ไม่ดี

- เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน รับคำพร่ำสอนโดยไม่เคารพ

- เป็นพหูสูต ไม่บอกพระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ

- ภิกษุเถระเป็นผู้มักมาก

- สงฆ์เป็นผู้แตกกันย่อมด่ากัน

ขอชี้ตรงนี้นิดหนึ่งว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น มีปกติต้องท่องจำชนิดคล่องปากขึ้นใจ ต้องตรึกตรอง ต้องสอนผู้อื่น ดังนั้นหลังจากพุทธกาลเพียง ๔๐๐ ปี จึงไม่น่าลบเลือน

ส่วนในข้อท้ายสุดก็คงจะจำที่มีผู้ “ลาออก” จากคณะสงฆ์มาแล้ว พระเถระท่านไม่พยายามโต้ตอบ เพราะหากโต้ตอบก็จะเป็นเรื่องด่ากัน เป็นเหตุให้พระธรรมเสื่อมสูญ เจตนาดีนี้ทำให้เห็นว่าท่านไม่ทำอะไร

ขอสรุปด้วย ปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมอยู่ได้ไม่นาน เล่ม ๒๒ หน้า ๒๕๑

“ดูกร กิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้

เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา

เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม

เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์

เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา

เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในกันและกัน

ดูกร กิมพิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว”

คำตรัสนี้เห็นได้ว่ารวมที่กล่าวไว้ข้างต้นทั้งหมด อย่างย่อที่สุด

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 1/4/09 at 16:56 Reply With Quote



(Update 1 เม.ย. 52 ตอนที่ 9)


พระสูตร


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๐๙

เรื่องราวบางเรื่องคนเรารับเอาโดยไม่ข้องใจแต่อย่างใดเลย พระไตรปิฎก ก็เช่นกันรับกันโดยไม่ต้องสงสัยว่าเป็นหลักฐานอันถูกต้องของพระพุทธศาสนา

ในบรรดาปิฎกทั้งสามนั้น พระอภิธรรม มีบทในทางประวัติน้อยที่สุด เท่าที่พบก็มีแต่พระพุทธเจ้าใช้เทศน์โปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์แห่งเดียว พระวินัย ก็ไม่มีปัญหา เพราะพระภิกษุท่านใช้สวดปาฎิโมกข์ติดต่อกันมานานตั้งแต่สมัยพุทธกาล ที่มีปัญหามากที่สุดคือ พระสูตร

ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าทรงบ่งไว้ชัดเจนในธรรมชื่อ มหาปเทส ๔ ( เล่ม ๑๐ หน้า ๑๒๑ หรือ เล่ม ๒๑ หน้า ๑๙๕) ท่านกำหนดไว้ว่า

วิธีพิสูจน์ว่าเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่นั้น ให้เอาไปสอบดูกับพระสูตร เทียบเคียงดูกับพระวินัย หากลงกันไม่ได้ก็ไม่ใช้คำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนี้

ก็ยังมีผู้ไม่เชื่อถือในพระสูตร บ้างกล่าวว่า พระสูตรนี้มาแต่งกันขึ้นภายหลังย่อมมีการคลาดเคลื่อนแต่งเติมบ้างกล่าวว่าสมัยพุทธกาลไม่มีตัวหนังสือจะใช้ก็เลยถ่ายทอดต่อๆกันมาด้วยปากทำให้เกิดความเลอะเลือ นได้

ความเข้าใจในข้อที่ว่าพระสูตรเป็นเรื่องที่มาแต่งขึ้นในภายหลังนั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะหลักฐานบ่งว่ามีใช้อยู่แล้วตั้งแต่สมัยพระพุทธกาล

เล่ม ๕ หน้า ๓๐
พระพุทธเจ้าตรัสกับพระโสณะว่า

“ดูกรภิกษุ เธอจงกล่าวธรรมตามถนัด ท่านพระโสณะกราบทูลสนองพระพุทธบัญชาว่า อย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า แล้วได้สวดพระสูตรทั้งหลายอันมีอยู่ในอัฎฐวรรคจนหมดสิ้นโดยสรภัญญะฯ”

เล่ม ๑๙ หน้า ๔๖๑
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกรธรรมทินนะ เพราะฉะนั้นแหละ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า พระสูตรเหล่าใดที่พระตถาคตตรัสไว้ดีแล้ว อันลึกซึ้ง มีความอันลึกเป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยความว่าง เราจะเข้าถึงพระสูตรเหล่านั้นตลอดกาลเป็นนิตย์อยู่”

ความเข้าใจว่าสมัยพุทธกาลไม่มีตัวหนังสือใช้ ก็เป็นความเข้าใจที่ผิด มีบ่งชัดในพระวินัย

เล่ม ๓ หน้า ๒๔๗
“เรียนหนังสือ ๑ เรียนวิชาท่องจำ ๑ เรียนวิชาป้องกันเพื่อประสงค์คุ้มครองตัว ๑ ไม่ต้องอาบัติ”

ขอให้สังเกตว่าวิชาท่องจำก็มีเรียนด้วย ในสมัยปัจจุบันมักไม่พึ่งความทรงจำ ติดขัดอะไรก็ค้นหาตามห้องสมุด ดังนั้นการทรงจำพระไตรปิฎกไว้ได้จึงเป็นสิ่งที่ออกจะเหลื่อเชื่อทีเดียว

ความไม่เชื่อถืออีกประการหนึ่ง เกิดจากนึกว่าพระไตรปิฎกมีแต่เรื่องสัตว์พูดได้ ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องเชื่อถือไม่ได้

อันที่จริงแล้วในสมัยนี้ นกแก้วนกขุนทองพูดได้(ตามที่สอน)ก็มีอยู่ สมัยนมนานกาเลก่อนพุทธกาลจะมีสัตว์พูดได้จริงๆบ้างก็ไม่แน่เหมือนกัน อย่างไรก็ดีถึงจะมีสัตว์พูดได้ก็เป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่พูดได้ทุกตัว เช่นตัวอย่างในชาดก

เล่ม ๒๗ หน้า๒๐๙
“แร้งพูดภาษามนุษย์ได้ เราไม่เคยได้ยินหรือเห็นมาก่อน”

หน้า ๓๔๒
“เรามีความกลัวไม่น้อย เพราะได้ฟังเจ้าพูดภาษามนุษย์ได้”

ดังนี้เป็นต้น

อย่างไรก็ดีเรื่องในชาดกไม่ใช้การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นการเล่าถึงพระชาติที่ทรงเกิดมาเพื่อบำเพ็ญบารมี คำว่าบารมีนี้ถ้าเข้าใจไปว่าอำนาจวาสนาก็เห็นจะยุ่ง ท่านผู้รู้บอกว่าหมายถึงกำลังใจละก็จะเข้าใจดี

ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าจะต้องบำเพ็ญบารมี (สะสมกำลังใจให้เข้มขึ้น) จึงได้ขนาดเสียก่อน จึงจะมีคุณสมบัติเป็นพระพุทธเจ้าได้

บารมีที่ต้องบำเพ็ญมี ๑๐ ประการคือ

ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, และ อุเบกขาบารมี

ขั้นกำลังใจแบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ ขั้นธรรมดา ขั้นกลาง (อุปบารมี) และขั้นสูงสุด (ปรมัตถบารมี)

ยกตัวอย่าง ทานบารมี ต้องสละได้ทุกอย่างจนหมดตัวจึงจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ตอนเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรนั้นทรงบริจาคลูกเมียได้โดยไม่ข้องพระทัยเลย จัดเป็นปรมัตถบารมี

(ใครจะว่าเป็นการเห็นแก่ตัวอะไรก็ตามใจเข้า นี่พูดกันถึงกำลังใจ การบริจาคลูกเมียนั้นยังยากกว่าการบริจาคตัวเองเสียอีก ดูตัวอย่างจากแม่ยอมตายเพื่อปกป้องลูกแล้วจะเข้าใจได้ง่ายดี )

สรุปแล้ว ชาดก เป็นเรื่องของการยกตัวอย่างจากของจริง ไม่ใช้แสดงธรรมโดยตรง

คราวนี้มาเข้าเรื่องพระสูตรกัน

๑. พระสูตร คืออะไร?

ดูตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ของพระราชวรมุนี หน้า ๓๔๘

“สูตร พระธรรมเทศนา หรือธรรมกถาเรื่องหนึ่งๆในพระสุตตันตปิฎก แสดงเจือด้วย บุคลาธิษฐาน ถ้าพูดว่าพระสูตรมักหมายถึงพระสุตตันตปิฎกทั้งหมด”

คำว่าบุคลาธิษฐาน ในหน้า ๑๓๘ คือมีบุคคลเป็นที่ตั้ง เทศนายกบุคคลขึ้นตั้งคือวิธีแสดงธรรมโดยยกบุคลขึ้นอ้าง คู่กับธรรมาธิษฐาน คำนี้สงสัยว่าจะบัญญัติกันในสมัยหลัง นึกไม่ออกว่าเคยเห็นในพระไตรปิฎก และน่าจะผิดหลักการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าทรงมีหลักการแสดงธรรมไม่ให้กระทบตนหรือกระทบผู้อื่น ดังนั้น จึงเข้าใจว่าหมายถึง พูดถึงบุคคลเป็นสำนวน เช่นที่เรียกว่า มารก็คือกิเลส เป็นต้น

เรื่องเช่นนี้ก็ขัดกับพระไตรปิฎก เพราะมักเป็นการสันนิษฐานเอาเองของคนสมัยหลัง แต่ในพระไตรปิฎกหากกล่าวถึงอะไรก็ไม่ตรงกับความหมายแท้ๆ ท่านจะอธิบายกำกับไว้แจ่มแจ้ง ไม่ปล่อยให้ตีความกันเอาเอง เช่น

เล่ม ๑๑ หน้า ๑๓๖ “มีหลังคา คือ กิเลส”
เล่ม ๑๒ หน้า ๒๒๕ “ผู้มีลิ่ม คือ อวิชชา”
เล่ม ๒ หน้า ๖๘๗ “เงื้อหอก คือ ฝ่ามือ”

ดังนี้เป็นต้น

การสันนิษฐานเอาเองนี้ มีส่วนทำให้เกิดความไม่มั่นคงในพระไตรปิฎก คือ พระไตรปิฎกพูดอย่างนี้เอาไปแปลเป็นอย่างโน้น พอสองคนแปลไม่เหมือนกันก็เกิดปัญหาว่าใครตีความถูกใครตีความผิดกันแน่ ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าจะไม่ตรัสกำกวมเลย ตรัสอย่างใดเป็นอย่างนั้น

ขอยกตัวอย่างการสันนิษฐานผิดๆในเรื่องบุคลาธิษฐาน คือเรื่องธิดาพระยามาร พระพุทธเจ้าตรัสถึงธิดาพระยามารมายั่วยวนให้พราหมณ์มาคันธิยาฟัง เรื่องนี้คนสมัยหลังสันนิษฐานว่าเป็นบุคลานิษฐาน คือตรัสถึงมารธิดานั้น ก็เปรียบถึงว่ามีกิเลสมารบกวนแล้วทรงชำนะกิเลสนั้น

นี่เป็นการสันนิษฐานที่ผิด เพราะว่า

๑. เรื่องมารธิดานี้เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ไม่มีอาสวะแล้ว(เล่ม ๑๕ หน้า ๑๓๗)ซึ่งในพระธัมมปทัฏฐานกถาแปล ภาค ๖ บ่งว่ามารบกวนในขณะเสวยวิมุติสุขที่ควงไม้อัชปาลนิโครธ ในสัปดาห์ที่ ๕ หลังจากตรัสรู้ (พระยามารเศร้าโศกว่าพระพุทธเจ้าหลุดพ้นจากบ่วงของตนไปเสียแล้ว ลูกสาวจึงรับอาสาแก้มือ)

ผู้สันนิษฐานว่า กิเลสมารบกวน ลืมไปว่าพระอรหันต์นั้นยังไงๆก็ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นให้ต่อสู้อีก

๒. ความต่อมา เมื่อพราหมณ์มาคันธิยาบอกยกลูกสาวให้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตอบว่า ธิดามารทั้งสามเปรียบดังแท่งทอง ไม่แปดเปื้อนด้วยของโสโครก ก็ยังไม่ทำให้เกิดความพอพระทัยในเมถุน เหตุใดจึงจะพอใจในธิดาของพราหมณ์ที่เต็มไปด้วยซากศพคืออาการ ๓๒ เล่า

ข้อนี้แสดงว่าธิดาพระยามารเป็นตัวตนจริงๆ ไม่ใช้สมมติเป็นบุคคลขึ้นแทนกิเลส เพราะกิเลสนั้นจะเปรียบเป็นแท่งทองไม่ได้

การสันนิษฐานผิดเช่นนี้แหละ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำความคลอนแคลนให้เกิดขึ้นในบรรดาพุทธศาสนิกชน

กลับมาเข้าเรื่องพระสูตรกันใหม่ในพจนานุกรมฉบับดังกล่าว

หน้า ๗๗ “พระสุตตันตปิฎก ประมวลพุทธพจน์ หมวดพระสูตร คือพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่างๆที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาสตลอดจน บทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราว ทั้งหมดที่เป็นชิ้นเดิมในพระพุทธศาสนา”

“สุตฺตํ” ปทานุกรมฉบับกรมพระจันทบุรีนฤนาท หน้า ๘๔๓ แปลว่า สูตร, รักษาไว้ซึ่งเนื้อความด้วยดี เส้นด้าย สายบรรทัด”

จะเห็นได้ว่าพระสูตร หรือ พระสุตตันตปิฎกนี้นอกจากพระธรรมแล้วยังมีบทประพันธ์ (เช่น อุทานและ คาถา? ) มีเรื่องเล่า และเรื่องราวอีก น่าจะสรุปได้ว่าเป็นจดหมายเหตุอย่างละเอียดของเหตุการณ์สำคัญๆในครั้งพระพุทธกาลก็น่าจะถูก

สำหรับเรื่องเล่าและเรื่องราว เห็นจะได้แก่เรื่องประเภทที่ท่านมหาโมคัลลานะ ท่านอนุรุทธ ท่านควัมปติเป็นต้น ได้ไปถามเทวดาหลายองค์ว่าทำบุญอะไรจึงได้มีวิมานสวยงามอย่างนี้ หรือถามเปรตต่างๆว่าทำกรรมอะไรมาจึงต้องมารับวิบากอย่างนี้

หรือที่พระอรหันต์ต่างๆท่านเล่าประวัติของท่านเองไว้ว่า ได้ทำบุญอะไรไว้จึงได้เป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ เป็นต้น

เรื่องเหล่านี้มีอยู่ในพระสุตตันตปิฎก

๒. พระสูตรเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าพระสูตรนั้นมีให้ท่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ปัญหาจึงมีว่า ต้นแบบของพระสูตรสำหรับท่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

ข้อนี้ไม่มีกล่าวไว้โดยตรงในพระไตรปิฎก ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีสืบสาวหาร่องรอยเอาเอง

ร่องรอยแห่งหนึ่งในหลายแห่งดูได้จาก

เล่ม ๒๕ หน้า ๑๙๑ คือ ทัพพสูตรที่๒

“สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแลพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับพระผู้มีพระภาคแล้ว

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระทัพพมัลลบุตรเหาะขึ้นไปสู่เวหาสน์ นั่งขัดสมาธิ เข้าสมาบัติ มีเตโชธาตุเป็นอารมณ์อยู่ในอากาศกลางหาว ออกแล้ว ปรินิพพาน เมื่อสรีระถูกไฟเผาไหม้อยู่ เถ้าไม่ปรากฏ เหมือนเถ้าแห่งเนยใสหรือน้ำมันถูกไฟเผาไหม้อยู่ ไม่ปรากฏเลยเขม่าก็ไม่ปรากฏฉะนั้น

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้วได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า คติของพระขีณาสพทั้งหลาย....ฯลฯ”

นี่เป็นหนึ่งในหลายพระสูตรที่ลงท้ายด้วยคำ “ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว....” แต่พระสูตรนี้ชัดและสั้นดี

จากพระสูตรข้างบนนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ตรัส แล้วพระพุทธเจ้าจะทรงเป็นผู้ฟังไปด้วย (คือทรงทราบเนื้อความ)เห็นจะไม่ถูก ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่าต้องมีผู้เอาเรื่องมาร้อยกรอง เสร็จแล้วจึงถวายต่อพระพุทธเจ้าเพื่อทรงทราบ (คงจะเพื่อตรวจอนุมัติไปในตัวด้วย) อย่างนี้เข้ารูปเรื่องมากกว่า ผู้ทำหน้าที่ร้อยกรองขึ้นเป็นพระสูตร เห็นจะได้แก่ “พระธรรมสังคีติถาจารย์” (เล่ม ๘ หน้า ๑๔๗ , เล่ม ๑๐ หน้า ๑๒๕ และเล่ม ๒๖ หน้า ๑๙๕) หรือ “พระธรรมสังคาหถาจารย์ (เล่ม ๒๕ หน้า ๑๘๐) ที่มาปรากฏตอนทำสังคายนาก็เป็นได้

นอกจากพระสูตรจะเกิดจากเรื่องของพระพุทธเจ้าโดยตรงแล้ว อาจเกิดจากผู้อื่นอีกก็ได้ เช่น เทวดาชื่อ ตายนเทวบุตร ได้กล่าวภาษิตในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้หลายข้อ เช่น

“ก็กรรมใดทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็นความดีทำแล้วประเสริฐกว่า หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดีย่อมบาดมือ ฉันใด ความเป็นสมณะอันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปเพื่อเกิดในนรกฉันนั้น”

พระพุทธเจ้าทรงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังแล้วตรัสว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงศึกษา จงเล่าเรียน จงทรงจำ ตายนคาถาไว้ฯลฯ”

เรื่องนี้เลยเป็นพระสูตร ชื่อ ตายนสูตรที่๘ ใน เล่ม ๑๕ หน้า ๖๘

บางเรื่องก็ไม่มีพระพุทธเจ้าเข้าไปเกี่ยวเลยแต่ก็เป็นพระสูตรได้ เช่น

อานันทสูตร ใน เล่ม ๒๒ หน้า ๓๗๔

ท่านพระอานนท์ ถามท่านพระสารีบุตรว่า ทราบไหม ทำอย่างไรฟังธรรมแล้วจะไม่ลืม

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านพระอานนท์เฉลยไปก็แล้วกัน ท่านพระอานนท์ก็เฉลย

นิพพานสูตร ใน เล่ม ๒๓ หน้า ๓๘๓

ท่านพระอุทายี ถามท่านพระสารีบุตรว่า นิพพานนี้ไม่มีเวทนาจะเป็นสุขอย่างไร

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า นิพพานไม่มีเวทนานั่นและเป็นสุข แล้วอธิบายสุขในฌานต่างๆว่าเป็นความสุขในนิพพานโดยปริยาย

ที่เป็นพระสูตรได้นี้สันนิษฐานว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ภิกษุมักจะนำความมากราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบไว้เสมอ (ที่ฟ้องก็มาก) นอกจากทูลเพื่อทรงทราบก็อาจเป็นการทูลถามไปในตัวด้วยว่าที่ตอบไปนั้นถูกหรือไม่ ถ้าผิดก็คงจะทรงท้วง ถ้าถูกคงสาธุ และหลังจากนั้นพระพุทธเจ้าคงจะทรงกำหนดให้ใช้เป็นพระสูตร เพราะหากไม่ตรัส คงไม่มีผู้ใดกล้ากำหนดให้ใช้เป็นพระสูตร

ในเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรวจและกำหนดให้เป็นพระสูตร (สันนิษฐานจากร่องรอย ) ในนิกายเถรวาทที่เคารพพระพุทธเจ้าชนิดไม่ย่อมทำการเปลี่ยนแปลงใดๆจากของเดิม ปัญหาการแต่งเติมบรรจุเรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสและทรงบัญญัติ จึงไม่น่าจะเป็นไปได้

สำหรับในสมัยหลัง การปรับปรุงพระไตรปิฎกจะทำกันได้ก็แต่ในการทำ การสังคายนาใหญ่ซึ่งประกอบด้วยพระอรหันต์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นองค์อุปถัมภก การตกแต่งดัดแปลงพระไตรปิฎกจึงทำไม่ได้ เพราะผิดศีลข้อมุสาวาท เป็นอธรรมวาที และกล่าวตู่พระพุทธเจ้า ล้วนมีโทษทั้งนั้น ส่วนเอกชนนั้นไม่มีโอกาสทำอะไรได้

อย่างไรก็ดี มีบางพระสูตรที่แสดงไว้ชัดเจนว่าเป็นเวลาภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพานแล้ว เช่น การปฏิบัติต่อพระสรีระของพระพุทธเจ้าเป็นต้น ในกรณีนี้ไม่มีร่องรอยให้สันนิษฐานได้ ได้แต่เดาเอาว่าคงจะผ่านความเห็นของพระเถระที่มีผู้นับถือเป็นส่วนมาก แต่เรื่องนั้นๆก็เป็นเชิงบันทึกเหตุการณ์เสียเป็นส่วนมาก เช่นการทำสังคายนาในครั้งต่อๆมาเป็นต้น

หากผู้ใดไม่นับถือพระสูตรที่เกิดขึ้นภายหลังที่พระพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพาน ก็คงจะไม่เกิดความเสียหาย หรือคลอนแคลนในพระธรรมคำสั่งสอนแต่ประการใด

แต่เรื่องในพระสูตรที่ไม่ค่อยจะย่อมเชื่อกันมากที่สุด เห็นจะได้แก่เรื่องสวรรค์-นรกนี่แหละ ในเรื่องนี้มีพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่ามี และทรงเห็นมาด้วยพระองค์เอง

เล่ม ๒๐ หน้า ๑๕๙

“ก็มหานรกนั้นมี ๔ มุม ๔ ประตู จัดแบ่งเป็นห้องๆมีกำแพงเหล็กล้อมรอบครอบด้วยฝาเหล็กแดง มีพื้นแล้วด้วยเหล็กไฟลุกโชน ประกอบด้วยเปลวแผ่ไปไกลร้อยโยชน์โดยรอบตั้งอยู่ทุกเมื่อ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เรามิได้ฟังข้อความนั้นต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆแล้วจึงกล่าวอย่างนี้ แต่ว่าเราได้รู้มาเอง เห็นมาเอง ทราบมาเอง จึงได้กล่าวดังนี้”

ดังนั้นคำถามที่ว่าพระสูตรเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงตอบได้ค่อนข้างแน่นอนว่า หลังเหตุการณ์ที่ดำเนินไปแต่ละครั้ง จะมีผู้นำเรื่องราวนั้นๆมาร้อยกรองแล้วถวายพระพุทธเจ้าทรงตรวจ แล้วก็สันนิษฐานว่าคงจะทรงกำหนดให้ใช้เป็นพระสูตรเพื่อทรงจำกันต่อไป (ท่องให้คล่องปากขึ้นใจ) หลังจากนั้นก็คัดลอกต่อๆกันเพื่อท่องจำให้เหมือนกันๆ

๓. เมื่อมีตัวอักษรสำหรับใช้บันทึกได้ ทำไมจึงต้องท่องจำให้คล่องปากขึ้นใจอีก?

ตอบได้ง่ายๆว่าเพราะพระพุทธเจ้าทรงกำชับไว้เสมอๆ ให้ทรงจำเป็นกิจอย่างหนึ่งของภิกษุที่ต้องทำเป็นธรรมดา

เล่ม ๑๑ หน้า ๓๒๘

“เธอได้สดับแล้วมาก ทรงไว้แล้ว คล่องปาก ตามเพ่ง ด้วยใจ”

เล่ม ๑๒ หน้า ๑๘๗

“เธอทั้งหลาย จงทรงจำข้อนั้นไว้เถิด”

เล่ม ๗ หน้า ๒๔๕

“ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทย์ ปรารถนาจะโจทย์ผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราเป็นพหูสูต ทรงสุตะ เป็นที่สั่งสมสุตะหรือหนอ ธรรมเหล่านั้นใดไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริสุทธิ์สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้นเป็นธรรมอันเราสดับมาก ทรงไว้คล่องปากขึ้นใจแทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่”

ตัวอย่าง เช่นนี้สามารถอ้างได้ไม่ต่ำกว่า ๒๐ แห่ง

สำหรับความสามารถในความจำนั้น

เล่ม ๑๒ หน้า ๑๓๐ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“สาวกบริษัท ๔ ของเรา เป็นผู้มีสติอันยิ่ง มีคติอันยิ่ง มีปัญหาทรงจำอันยิ่ง ประกอบด้วยปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง (ฉันนั้น) พวกเธอพึงถามปัญหาอิงสติปัฏฐาน ๔ กะเรา เราถูกถามปัญหาแล้วพึงพยากรณ์แก่พวกเธอ พวกเธอพึงทรงจำคำที่เราพยากรณ์แล้ว โดยเป็นคำพยากรณ์มิได้สอบถามเราให้ยิ่งกว่า ๒ ครั้ง”

พึงสังเกตว่าทรงตรัสรวมไปถึงบริษัท ๔ ด้วย ไม่ใช่เฉพาะภิกษุอย่างเดียว

ถ้าหากจะถามต่อไปว่าทำไมจึงทรงกำชับให้ทรงจำ ก็ต้องใช้คำตอบหลักๆว่าเป็นสิ่งมีประโยชน์ เพราะพระพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงทำอะไรที่ไม่มีประโยชน์

ผู้เขียนลองใช้ความคิดมองหาประโยชน์เหล่านั้นพอจะได้ออกมาบ้างว่า

ก. เป็นเพราะพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้นลึกซึ้ง ฟังทีเดียวอาจไม่เข้าใจลึกซึ้งพอ ต้องตรึกตรองอยู่เรื่อยๆ อย่างที่ทรงสอนให้ท่านธรรมทินนะเข้าถึงพระสูตรอยู่เป็นนิตย์ ที่นำมาแสดงไว้ในตอนต้น หากจำไว้ขึ้นใจย่อมเป็นการสะดวกที่จะนำมาตรึกตรอง

ข. พระสาวกมีหน้าที่เผยแพร่พระศาสนาด้วย หากไม่สามารถจำไว้คล่องปากขึ้นใจ ย่อมไม่ทำให้เกิดความเลื่อมใส อย่างน้อยหากหอบเป็นตำราติดตัวไป กว่าจะค้นหาตอนที่ต้องการได้ ผู้ฟังก็คงจะกลับบ้านกันหมดแล้ว

ค. เป็นการป้องกันตนเองไม่ให้ทำผิดในการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า หากพูดไปตามความเข้าใจของตัวเอง

การใช้วิธีอ้างพระสูตร พูดให้ฟังจากความจำจะไม่มีทางพลาดได้

ง. หากไม่ทรงจำแล้วจะฟังพระธรรมเทศนาไม่แจ่มแจ้ง

เล่ม ๒๓ หน้า ๓๑๐

ท่านพระปุณณิยะ ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า อะไรเป็นปัจจัยให้บางครั้งฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้าแจ่มแจ้ง บางครั้งก็ไม่แจ่มแจ้ง

พระพุทธเจ้า ทรงตอบว่า

- ภิกษุมีศรัทธาแต่ ไม่เข้าไปหา ก็ไม่แจ่มแจ้ง เข้าไปหาก็แจ่มแจ้ง

- เข้าไปหาแต่ ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ ก็ไม่แจ่มแจ้ง ฯลฯ

- เข้าไปนั่งใกล้แต่ ไม่สอบถาม ก็ไม่แจ่มแจ้ง ฯลฯ

- สอบถามแต่ ไม่ตั้งใจฟัง ก็ไม่แจ่มแจ้ง ฯลฯ

- ตั้งใจฟังแต่ ไม่ทรงจำไว้ ก็ไม่แจ่มแจ้ง ฯลฯ

- ทรงจำไว้แต่ ไม่พิจารณาเนื้อความ ก็ไม่แจ่มแจ้ง ฯลฯ

- พิจารณาเนื้อความแต่ ไม่รู้อรรถรู้ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็ไม่แจ่มแจ้ง ฯลฯ

ยกตัวอย่างจากข้อสุดท้ายนี้ ขอถามว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม?

คำตอบมีอยู่ใน เล่ม ๑๖ หน้า ๑๗

“ภิกษุชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อภิกษุนั้น ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคายกำหนัด เพื่อความดับชราและมรณะ”

ประโยชน์คงจะมีมากกว่านี้ แต่เกินสติปัญญาของผู้เขียนจึงคิดไม่ออก แต่สรุปแล้วเมื่อมีการท่องจำกันคล่องปากขึ้นใจเป็นปกติกันทุกคน (หรือส่วนมาก) ศาสนาพุทธจึงสืบทอดมาโดยอัตโนมัติ.

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 16/4/09 at 10:21 Reply With Quote


(Update 16 เม.ย. 52 ตอนที่ 10)


อุตตริมนุสสธรรม


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๐๐

ในสมัยนี้บางคนเข้าใจว่า อุตตริมนุสสธรรม คือความวิปลาสไปจากปกติ เช่นเอาไปพูดกันว่า “มนุษย์อุตตริ” เป็นต้น

ความจริง อุตตริมนุสสธรรม เป็นความรู้ ความเห็นอย่างสามารถ ยากที่ผู้อื่นจะมี ดังพระปฐมบัญญัติ

เล่ม ๑ หน้า ๓๘๓ ดังนี้

“อนึ่งภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมอันเป็นความรู้ ความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า......”

คราวนี้ที่ว่าอุตตริมนุสสธรรมได้แก่อะไรนั้น มีบทภาชนีย์ (เล่ม๑ หน้า ๓๙๗)

ที่ชื่อว่าอุตตริมนุสสธรรม ได้แก่

๑. ญาณ
๒. วิโมกข์
๓. สมาธิ
๔. สมาบัติ
๕. ญานทัสสนะ
๖. มรรคภาวนา
๗. การทำให้แจ้งซึ่งผล
๘. การละกิเลส
๙. ความเปิดจิต
๑๐. ความยินดียิ่งในเรือนอันว่าง

นี่เลยไม่รู้เรื่องหนักเข้าไปใหญ่ ท่านจึงมีอธิบายต่อไปว่า (อย่างย่อ)

- ที่ชื่อว่า ฌาน ได้แก่ ฌาน ๑ ถึง ๔

- ที่ชื่อว่า วิโมกข์ ได้แก่ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ มีอธิบายต่อไปใน

เล่ม ๓๑ หน้า ๒๕๔ ว่า สุญญตวิโมกข์ คือ ไม่ทำความยึดมั่นในนามรูป

อนิมิตตวิโมกข์ คือ ไม่ทำกำหนดเครื่องหมายในนามรูป

อัปปณิหิตวิโมกข์ คือ ไม่ทำความปรารถนาในนามรูป

- ที่ชื่อว่า สมาธิ ได้แก่ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ

- ที่ชื่อว่า สมาบัติ ได้แก่ สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ

- ที่ชื่อว่า ณานทัสสนะ ได้แก่ วิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสสติญาน จุตูปปาตญาน และอาสวักขยญาน

- ที่ชื่อว่า มรรคภาวนา ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘

- ที่ชื่อว่า การทำให้แจ้งซึ่งผล ได้แก่ การทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผลไปจนถึงอรหัตผล

- ที่ชื่อว่า การละกิเลส ได้แก่ การละราคะ การละโทสะ การละโมหะ

- ที่ชื่อว่า ความเปิดจิต ได้แก่ ความเปิดจิตจากราคะ ความเปิดจิตจากโทสะ ความเปิดจิตจากโมหะ

- ที่ชื่อว่า ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า ได้แก่ ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยปฐมฌาน ถึง จตุตถฌาน

ส่วนมากคนจะเพ่งจับผิดอยู่ใน ๒ ข้อ คือ ญาณ (การระลึกชาติเป็นต้น) กับ การทำให้แจ้งซึ่งผล (เป็นโสดาบันฯลฯ) ข้ออื่นๆไม่พูดถึงกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะ มรรคภาวนา ถ้าจะเคร่ง(จับผิด)กันจริงๆ หากภิกษุองค์ไหนพูดว่ามรรค ๘ มีอย่างนั้น ก็จะเป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรม หากจะพูดก็ต้องพูดว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘....(เป็นดังนั้นๆ)”ไม่ใช่พูดจากความรู้ของตน

ความจริงพระบัญญัติข้ออวดอุตตริมนุสสธรรมนี้ พิจารณาดูแล้ว จุดสำคัญอยู่ที่ว่ามีการอวดเพื่อต้องการลาภผลสักการะหรือไม่เท่านั้น มิฉะนั้นการสอนธรรมต่างๆก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ทีเดียว หากไม่มีความประสงค์จะอวดก็ไม่ปรับอาบัติ

เล่ม ๑ หน้า ๔๙๔ อนาปัตติวาร

“ภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ ๑ ภิกษุไม่ประสงค์จะกล่าวอวด ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนา ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติ”

ดังนั้นจะกล่าวโทษภิกษุใดว่าอวดอุตตริมนุสสธรรมหรื่อไม่นั้น ไม่ใช่ว่าตนได้ยินแล้วกล่าวตำหนิไปเลย ต้องดูเสียก่อนว่าเข้ากรณี อนาปัตติวารหรือไม่

เล่ม ๑ หน้า ๔๙๙ เรื่องทำไม่ยาก

ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายได้พากันถามภิกษุนั้นว่าอุตตริมนุสสธรรมของคุณมีหรือไม่

ภิกษุนั้นตอบว่า ดูกร อาวุโสทั้งหลาย การทำพระอรหัตผลให้แจ้งไม่ใช่ของทำได้ยาก แล้วมีความรังเกียจว่าเฉพาะท่านที่เป็นพระสาวกของพระผู้มีพระภาคเท่านั้นจึงควรพูดอย่างนั้น ส่วนเราสิหาได้เป็นสาวกของพระองค์ไม่ เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ดูกร ภิกษุ เธอคิดอย่างไร”

ภิกษุ ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มีความประสงค์จะพูดอวดพระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธเจ้า “ดูกร ภิกษุ ภิกษุผู้ไม่มีความประสงค์จะพูดอวด ไม่ต้องอาบัติ”

เรื่องกล่าวโทษว่าพูดอวดอุตตริมนุสสธรรมก็ฟ้องกันมาเสียหนักในสมัยพุทธกาล

เรื่องที่รู้กันดีเรื่องที่ท่านมหาโมคคัลลานะกล่าวว่าเห็นเปรต ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียนว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะอวดอุตตริมนุสสธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะ พูดจริง โมคคัลลานะไม่ต้องอาบัติ”

เล่ม ๑ หน้า ๕๑๗ เรื่องพระโสภิตะอรหันต์

“ครั้งนั้น ท่านพระโสภิตะ เรียกภิกษุมากล่าวว่า ดูกร อาวุโสทั้งหลาย เราระลึกชาติได้ห้าร้อยกัป ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนท่านพระโสภิตะจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เราระลึกชาติได้ห้าร้อยกัป ท่านพระโสภิตะกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าๆ ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชาตินี้ของโสภิตะมีอยู่ แต่มีชาติเดียวเท่านั้นแล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โสภิตะ พูดจริง โสภิตะไม่ต้องอาบัติ”

คำว่า พูดจริง ในสองตัวอย่างนี้ ตามตัวอักษรไม่ตรงกับใน อนาปัตติวาร ที่ว่าไม่ต้องอาบัติ เอาความได้ว่าพูดตามความเป็นจริงโดยไม่ประสงค์กล่าวอวด เพราะท่านก็เป็นพระอรหันต์แล้วทั้งสององค์ ย่อมไม่ต้องการยกตัว

เล่ม ๑๙ หน้า ๒๗๙

“สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ก็สมัยนั้น ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะได้พยากรณ์อรหัตผลว่า เรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว.....กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ภิกษุไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะเห็นอำนาจประโยชน์อะไรหนอจึงพยากรณ์อรหัตผลว่า เรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว.....กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าเพราะ อินทรีย์ ๓ ประการ คือ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๓ ประการนี้แล อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุบิณโฑลภารทวาชะจึงพยากรณ์อรหัตผลได้ว่าเรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว....กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”

ตามเรื่องนี้เห็นได้ว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงตำหนิหรือปรับอาบัติ ทั้งนี้ก็คงจะเข้าในหัวข้อไม่ประสงค์จะกล่าวอวด หากเป็นการสอน

เล่ม ๑๙ หน้า ๓๕๐

ภิกษุถามว่า “ท่านพระอนุรุทธ บรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา เพราะได้เจริญได้กระทำให้มาก ซึ่งธรรมเหล่าไหน”

ท่านพระอนุรุทธตอบว่า “ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย เราบรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔”

เมื่อประกอบกับเรื่องข้างบนแล้ว น่าจะเห็นได้ว่า ภิกษุท่านถามถึงอุตตริมนุสสธรรมกันเป็นปกติเพื่อเป็นการศึกษา การสั่งสอน หากไม่สามารถพูดในเรื่องเหล่านี้เสียเลย เพราะหาว่าอวดอุตตริมนุสสธรรมแล้ว ภิกษุบวชทีหลัง (หรืออุบาสกอุบาสิกาก็ดี) ย่อมไม่มีทางจะเรียนอะไรได้

ที่ยกมาแสดงนี้เพื่อเป็นการเตือนสติ นักเพ่งโทษทั้งหลายว่า จะเพ่งโทษก็พิจารณาให้ดีเสียก่อน ข้อสำคัญดูตัวเองเสียก่อนว่า พ้นคำตำหนิดีพร้อมแล้วหรือ จึงได้เพ่งโทษใครต่อใคร.


◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 30/4/09 at 09:00 Reply With Quote


(Update 30 เม.ย. 52 ตอนที่ 11)

พระพุทธเจ้าทำให้คนเกียจคร้าน? จริงหรือ


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๐๑

ผู้เขียนเคยได้ยินคำพูดว่าการที่พระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษนั้น ทำให้คนเกียจคร้านเฉื่อยชา ที่เคยเห็นในเลกเชอร์ตามมหาวิทยาลัยซึ่งอ้างการค้นคว้าระดับปริญญาโทก็มี แต่ก็เป็นการกล่าวลอยๆไม่อธิบายละเอียดว่า สันโดษนั้นเป็นอย่างไร จึงได้ทำให้คนไทยเฉื่อยชา เกียจคร้าน

เรามาลองศึกษากันดูว่าเป็นจริงดังกล่าวหรือไม่

เล่ม ๑๑ หน้า ๑๖๔

ทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ ประการ
๑. เที่ยวกลางคืน
๒. ดื่มน้ำเมา
๓. ดูมหรสพ
๔. การพนัน
๕. คบคนชั่วเป็นมิตร
๖. ประกอบเนืองๆซึ่งความเกียจคร้าน
ธรรมหมวดนี้ท่านก็บ่งว่า ความเกียจคร้านเป็นโทษ

เล่ม ๒๑ หน้า ๗๗

กรรมสมควร ๔ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตน หามาด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรมได้มาแล้วโดยธรรม
๑. ใช้เลี้ยงตน
๒. ป้องกันอันตรายต่อทรัพย์
๓. ทำพลี ๕ ประการ
๔. ยังทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน
ธรรมข้อนี้บ่งถึง การหาโภคทรัพย์ด้วยความขยันหมั่นเพียร

เล่ม ๒๓ หน้า ๒๙๖

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมชีวิตาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรในโลกนี้รู้ทางเจริญแห่งโภคะ และรู้ทางเสื่อมแห่งโภคะแล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่ารายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ฯลฯ”

ธรรมนี้ถึงแม้จะไม่ถึงความขยันหมั่นเพียรโดยตรง แต่ปฏิบัติแล้วยังไม่มีทางจะยากจน

เล่ม ๒๔ หน้า ๑๓๙

คำตรัสของพระพุทธเจ้า
“ความเกียจคร้าน ความไม่ขยันหมั่นเพียร เป็นอันตรายต่อโภคสมบัติ ฯ”
“ความไม่เกียจคร้าน ความขยันหมั่นเพียร เป็นอาหารของโภคสมบัติ ฯ”
นี่ท่านก็ตรัสไว้ตรงๆ ถึงอันตรายของความเกียจคร้าน และคุณของความขยันหมั่นเพียร

เล่ม ๒๕ หน้า๔๓

คาถาธรรมบท
“บุคคลหนุ่มมีกำลัง ไม่ลุกขึ้นในกาลเป็นที่ลุกขึ้น เข้าถึงความเป็นคนเกียจคร้านมีความดำริอันจมเสียแล้ว ชื่อว่าเป็นคนเกียจคร้าน คนเกียจคร้านย่อมไม่ประสบทางแห่งปัญญา”
โดยเฉพาะสำหรับภิกษุแล้วก็ยิ่งเน้นความเพียร

เล่ม ๑๖ หน้า ๒๘

“กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา สมควรแท้เพื่อปรารภความเพียรในธรรมอันเรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ ทำให้ตื้น เปิดเผย ประกาศตัดสมณะขี้ริ้วด้วยความตั้งใจว่า หนัง เอ็น กระดูก จงเหลืออยู่ เนื้อเลือดในสรีระของเราจงเหือดแห้งไปก็ตามที อัฐิผลใดที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ยังไม่รู้อัฐผลนั้นจักไม่หยุดความเพียร ดังนี้”

พระพุทธเจ้าตรัสโทษของความเกียจคร้าน คุณของความขยันหมั่นเพียรไว้อย่างนี้ “นักปราชญ์” ไม่ยักเอาไปเขียนว่าพระพุทธศาสนานั้นสอนให้ขยัน ไพล่ไปทำเสียอีกอย่าง คือพูดว่า สอนสันโดษทำให้ขี้เกียจ

เรามาดูกันก็ได้ว่ายังไงจึงจะเรียกว่า สันโดษ

เล่ม ๙ หน้า ๘๐

สามัญผลสูตร พระพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรู
“ดูกรมหาบพิตร อย่างไรภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ดูกรมหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิสาภาคใดๆก็ถือไปได้เอง

ดูกรมหาบพิตร นกมีปีกจะบินไปทางทิสาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเองเป็นภาระบินไปได้ฉันนั้น ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิสาภาคใดๆก็ถือไปได้เอง

ดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ”

ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ บ่งถึงการพึ่งตัวเองได้ เพราะมีของอยู่แล้ว ไม่เห็นมีอะไรบ่งให้เกียจคร้านเฉื่อยชา การพึ่งตัวเองนั้นไม่ดีดอกหรือ?

สำหรับที่เกี่ยวกับฆราวาสแล้วเห็นมีสอนอยู่เรื่องเดียวคือ“ให้สันโดษด้วยภรรยาตน”เป็นคำเตือนในที่ต่างๆ นี่แสดงถึงจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความรวนเร กล่าวคือไม่ได้ศึกษาจริง ไม่รู้จริงแล้วเอาไปพูดเอาไปเขียน และทำให้ผู้อื่นหลงตามไปด้วย

ยังมีอีกคำหนึ่งคือ “มักน้อย”

ในฐานะภิกษุนั้นจำเป็นอยู่เองที่จะต้องมักน้อย คือได้มาเท่าไร อย่างไร ก็พอใจอย่างนั้น เพราะจะได้เป็นการรบกวนผู้อื่นแต่น้อย เช่นอย่างเขาใส่บาตรด้วยข้าวช้อนเดียว จะไม่มักน้อย บอกว่าเท่านี้ไม่พอกินโยมน่ะไม่ได้

สำหรับคฤหัสถ์ไม่เห็นว่ามีสอนว่าให้มักน้อย มีแต่สอนว่าโลภคือกิเลส หากจะเอาอย่างพระท่านก็ต้องประกอบการงานโดยธรรมด้วยความขยันหมั่นเพียร เต็มเรี่ยวเต็มแรงได้ผลแค่ใดพอใจแค่นั้น เห็นจะอยู่ในเกณฑ์มักน้อยได้ ไม่ใช้นึกว่าแค่นี้ก็พอกินแล้วในขณะที่ยังมีเวลาและเรี่ยวแรงทำได้อีก นั่นเป็นเกียจคร้านไม่ใช่มักน้อย

หากท่านเห็นว่ามักน้อยไม่ดี ท่านก็ต้องเห็นว่ามักมากเป็นการดีละซี

ขอปิดท้ายด้วยธรรมจาก เล่ม ๒๓ หน้า ๒๕๗

“ธรรม ๔ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่กุลบุตร”
๑.อุฏฐานสัมปทา เลี้ยงชีวิตด้วยความหมั่นประกอบการงาน
๒.อารักขสัมปทา รักษาคุ้มครองโภคทรัพย์ที่ได้มาโดยธรรม
๓.กัลยาณมิตตตา สนทนากับผู้ถึงพร้อมและศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
๔.สมชีวิตตา เลี้ยงชีพพอเหมาะแก่ตน ไม่ฟูมฟายนัก ไม่ฝืดเคืองนัก

ท่านก็ตรัสไว้ชัดๆว่าให้เลี้ยงชีวิตด้วยการหมั่นประกอบการงาน เอาไปพูดกันเสียได้ว่าพุทธศาสนาสอนให้คนขี้เกียจ


◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 18/5/09 at 09:25 Reply With Quote


(Update 18 พ.ค. 52 ตอนที่ 12)

ดิรัจฉานกถา ดิรัจฉานวิชา


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๑๔

คำว่า ดิรัจฉานกถา ก็ดี ดิรัจฉานวิชา ก็ดี คงจะทราบกันอยู่แล้วว่า หมายถึง การพูดหรือวิชาที่ไม่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ ไม่ได้หมายความว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นของเลวสำหรับชาวบ้าน พูดง่ายๆไม่ใช่กิจของภิกษุที่จะทำอย่างนั้น

ท่าน สุชีพ ปัญญานุภาพ บ่งไว้ในพระไตรปิฏกสำหรับประชาชน หน้า ๒๙๑ ว่า ดิรัจฉาน คือ ขวาง ไม่เข้ากับความเป็นสมณะ

อะไรบ้างที่เป็นดิรัจฉานกถานั้นท่านมีบ่งไว้ใน เล่ม ๒ หน้า ๗๒๗

“โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์เข้าบ้านในเวลาวิกาลแล้ว นั่งในที่ชุมนุมกล่าวดิรัจฉานกถา มีเรื่องต่างๆคือ
- เรื่องพระราชา
- เรื่องโจร
- เรื่องมหาอำมาตย์
- เรื่องขุนพล
- เรื่องรบ
- เรื่องข้าว
- เรื่องน้ำ
- เรื่องผ้า
- เรื่องที่นอน
- เรื่องดอกไม้
- เรื่องของหอม
- เรื่องญาติ
- เรื่องยาน
- เรื่องบ้าน
- เรื่องนิคม
- เรื่องนคร
- เรื่องชนบท
- เรื่องสตรี
- เรื่องสุรา
- เรื่องตรอก
- เรื่องท่าน้ำ
- เรื่องเบ็ดเตล็ด
- เรื่องโลก
- เรื่องทะเล
- เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว
- เรื่องความเจริญและความเสื่อม
ด้วยประการนั้นๆ”

ดูเหมือนว่าภิกษุจะพูดอะไรๆนอกจากธรรมแล้วก็เป็นดิรัจฉานกถาทั้งนั้น

ในสมัยนี้มีภิกษุไปเรียนมหาวิทยาลัย เรียนนิติศาสตร์บ้าง เรียนเศรษฐศาสตร์บ้าง เรียนรัฐศาสตร์บ้าง วิชาเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมือง เกี่ยวกับความเจริญและความเสื่อม ไม่ใช้ธรรม ดังนั้นจึงจัดได้ว่าไม่ได้เรียน ว่าด้วยความพ้นทุกข์

มีคำอธิบายว่าคนสมัยนี้มีความรู้มาก หากภิกษุผู้สอนศาสนาไม่มีความรู้ทัดเทียม เขาก็จะพูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ความจริงแล้วผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นการแก้ตัวหาโอกาสเรียนเอาวิทยฐานะ แล้วสึกจากพระมาทำงานเสียมากกว่า มีตัวอย่างภิกษุไปเรียนปริญญาโทต่างประเทศแล้วไม่ยักเป็นพระอรหันต์ กลับสึกออกมาทำงานเสียฉิบ

เป็นไปไม่ได้ดอกที่เรียนนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ แล้วตนเองจะเป็นพระอรหันต์ หรือสอนให้คนอื่นเป็นพระอรหันต์ แม้แต่ให้รู้ธรรมก็ไม่ได้เสียแล้ว เพราะวิชาเหล่านั้นไม่ใช่ธรรมสำหรับความพ้นทุกข์ ภิกษุไม่จำเป็นต้องมีความรู้ศาสตร์สมัยใหม่จึงจะสอนธรรมได้ เหตุที่สอนธรรมให้คนสมัยใหม่ไม่เข้าใจไม่ได้ น่าจะเกิดจากผู้สอนไม่แจ่มเจ้งแทงตลอดในธรรมเสียมากกว่า เพราะเมื่อตัวเองไม่แจ่มแจ้งแล้วจะสอนให้คนอื่นแจ่มแจ้งได้อย่างไร

การรู้ธรรมไม่ใช่เป็นการจำหัวข้อธรรมต่างๆได้ว่ามีอะไรบ้าง หากจะต้องสามารถโยงเข้าไปหาความพ้นทุกข์ได้ด้วย

พึงระลึกว่าสมัยพุทธกาล คนมีความรู้ไม่มากอย่างคนสมัยนี้ แต่ภิกษุก็เป็นพระอรหันต์กันนับไม่ถ้วน คนธรรมดาก็เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี กันมากมาย แม้เป็นพระอรหันต์ก็ยังมี เช่นท่านพาหิยะทารุจิริยะ ท่านผู้นี้ฟังพระพุทธเจ้าสอนเพียงว่า “เห็นรูปก็สักแต่ว่ารูป ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าเสียง....ฯลฯ” เท่านี้ท่านก็เอาไปตรึกตรองแจ่มแจ้งเป็นพระอรหันต์ (ไม่ทันบวชก็ตายก่อน) ไม่เห็นจะต้องมีความรู้ขั้นปริญญาโท ปริญญาเอก นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์อะไร

ผู้สอน ที่ตัวเองก็ยังไม่แจ่มแจ้งนั้นสอนผู้อื่นให้แจ่มแจ้งไม่ได้ดอก
เล่ม ๑๒ หน้า ๖๙

“ดูกรจุนทะ ผู้ที่ตนเองจมอยู่ในเปือกตมอันลึก แล้วจักยกขึ้น ซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีมิได้

ผู้ที่ไม่ฝึกตน ไม่แนะนำตน ไม่ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้” อย่างไรก็ดี การพูดดิรัจฉานกถานี้ไม่มีพระบัญญัติว่าอาบัติ หากถือเป็นศีลที่เว้นขาด ประเภทมัชฌิมศีล

เล่ม ๙ หน้า ๗๕
“ภิกษุเว้นขาดจากดิรัจฉานกถา เช่น......(เหมือนที่ยกแสดงมาแล้ว)

มาถึงเรื่องดิรัจฉานวิชา

ดิรัจฉานวิชานี้ ไม่เนื่องกันกับ ดิรัจฉานกถา มีเรื่องของตัวเป็นต่างหากและปรับอาบัติปาจิตตีย์ (แม้จะเป็นสิกขาบทสำหรับภิกษุณีในจิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๙ ห้าเรียนดิรัจฉานวิชา สิกขาบทที่ ๑๐ ห้ามสอนดิรัจฉานวิชา ก็ถือว่าภิกษุไม่ควรปฏิบัติเช่นกัน)

นอกจากนั้นมีปรากฏใน เล่ม ๗ หน้า ๕๖

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนดิรัจฉานวิชา รูปใดเรียนต้องอาบัติทุกกฎ”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนดิรัจฉานวิชา รูปใดสอนต้องอาบัติทุกกฎ”

ปัญหาอาจมีว่า ดิรัจฉานวิชาได้แก่อะไรบ้าง? บางคนถึงกับกล่าวว่าการแสดงฤทธิ์ หรือ ทำฤทธิ์ได้นี้เป็นดิรัจฉานวิชาส่งไปเลย ความจริงแล้วมีบ่งไว้ชัดไม่กำกวม

ถึงแม้จะปรับอาบัติไว้เฉพาะการเรียนการสอน ก็ไม่ได้หมายความว่า การใช้ดิรัจฉานวิชาจะทำได้ทุกอย่าง เพราะมีปรากฏใน เล่ม ๙ หน้า ๗๖ ว่าอยู่ในประเภท มหาศีล ขอย่อดังนี้

มหาศีล ภิกษุเว้นขาดจาก การเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา คือ
๑. ก. ทาย
- อวัยวะ
- อุปบาต
- ลักษณะ
- นิมิต
- ฝัน

ข. ทำพิธี
- บูชาไฟ
- เบิกแว่นเวียนเทียน
- ซัดแกลบบูชาไฟ
- ซัดรำบูชาไฟ
- ซัดข้าวสารบูชา
- เสกเป่าบูชาไฟ
- เติมเนยบูชาไฟ
- เติมน้ำมันบูชาไฟ
- เสกเป่าบูชาไฟ

ค. ทำพลีกรรมด้วยโลหิต

ง. เป็นหมอดู
- อวัยวะ
- ลักษณะบ้าน
- ลักษณะที่นา

จ. เป็นหมอ
- ปลุกเสก
- หมอผี
- หมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน
- หมองู
- หมอยาพิษ
- หมอแมลงป่อง
- หมอรักษาแผลหนูกัด
- หมอทายเสียงนก
- หมอทายเสียงกา
- หมอทายอายุ
- หมอเสกกันลูกศร
- หมอทายเสียงสัตว์

๒. ทายลักษณะ
- แก้วมณี
- ผ้า
- ไม้พลอง
- ศาสตรา
- ดาบ
- ศร
- ธนู
- อาวุธ
- กุมาร
- กุมารี
- ทาส
- ทาสี
- ช้าง
- ม้า
- โคอสุภะ
- โค
- แพะ
- แกะ
- ไก่
- นกกระทา
- เหี้ย
- ตุ่น
- เต่า
- มฤค

๓. ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า
- พระราชาจักยกออก
- พระราชาจักไม่ยกออก
- พระราชาภายในจักยกเข้าประชิด
- พระราชาภายนอกจักถอย
- พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด
- พระราชาภายในจักถอย
- พระราชาภายในจักมีชัย
- พระราชาภายนอกจักปราชัย
- พระราชาภายนอกจักมีชัย
- พระราชาภายในจักปราชัย
- พระราชาองค์นี้จักมีชัย
- พระราชาองค์นี้จักปราชัย

๔. พยากรณ์ ว่า
- จักมีจันทรคราส
- จักมีสุริยคราส
- จักมีนักษัตรคราส
- ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง
- ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง
- ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง
- ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง
- จักมีดาวหาง
- จักมีแผ่นดินไหว
- จักมีฟ้าร้อง
- ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น
- ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก
- ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักมัวหมอง
- ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจะกระจ่าง
- จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้
- สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้
- นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้
- ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจะมีผลเป็นอย่างนี้
- ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจะมีผลเป็นอย่างนี้
- ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้
- ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้
- มีอุกาบาตรจะมีผลเป็นอย่างนี้
- มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้
- แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้
- ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้
- ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้
- ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผลเป็นอย่างนี้
- ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้

๕. พยากรณ์ว่า
- จักมีฝนดี
- จักมีฝนแล้ง
- จักมีภิกษาหาได้ง่าย
- จักมีภิกษาหาได้ยาก
- จักมีความเกษม
- จักมีภัย
- จักเกิดโรค
- จักมีความสำราญหาโรคมิได้

๖. ก. ให้ฤกษ์
- อาวาหมงคล
- วิวาหมงคล
- เรียงหมอน
- หย่าร้าง
- เก็บทรัพย์
- จ่ายทรัพย์
- โชคดี
- เคราะห์ร้าย

ข. ให้ยาผดุงครรภ์

ค. ร่ายมนต์
- ให้ลิ้นกระด้าง
- ให้คางแข็ง
- ให้มือสั่น
- ไม่ให้หูได้ยิน


ง. เป็นหมอทรง
- กระจก
- หญิงสาว
- เจ้า

จ. บวงสรวง
- พระอาทิตย์
- ท้าวมหาพรหม

ฉ. ร่ายมนต์พ่นไฟ

ช. ทำพิธีเชิญขวัญ

๗. ก. ทำพิธี
- บนบาน
- แก้บน
- ร่ายมนต์ขับผี
- สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน
- ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย
- ทำชายให้เป็นกะเทย
- ปลูกเรือน
- บวงสรวงพื้นที่
- พ่นน้ำมนต์
- รดน้ำมนต์
- บูชาไฟ

ข. ปรุงยา
- สำรอก
- ถ่าย
- ถ่ายโทษเบื้องบน
- ถ่ายโทษเบื้องล่าง
- แก้ปวดศรีษะ
- หุงน้ำมันหยอดหู
- ยาตา
- ยานัตถุ์
- ยาทากัด
- ยาทาสมาน
- ป้ายยาตา
- ทำการผ่าตัด
- ทำการผ่าตัด
- รักษาเด็ก
- ใส่ยา
- ชะแผล

ท่านระบุไว้แค่นี้ ซึ่งเห็นได้ว่ามีพวกพิธีพราหมณ์, หมอดู, ดาราศาสตร์, แพทย์ศาสตร์ ฯลฯ

ถึงแม้รายการดังกล่าวจะเป็นดิรัจฉานวิชา ก็มีโอกาสใช้ได้และใช้ไม่ได้ เพราะที่ท่านตรัสไว้เฉพาะกรณีการเลี้ยงชีพ


เล่ม ๙ หน้า ๗๖
“ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา เช่น อย่างสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชาเห็นปานนี้คือ.......”

ดังนั้น เคล็ดสำคัญจึงอยู่ที่การประกอบเป็นอาชีพ ทำให้เกิดความเข้าใจว่าหากทำเพื่อสงเคราะห์ก็น่าจะไม่เป็นอะไร มีตัวอย่างพอจะอ้างได้ เช่น การทำพิธีรดน้ำมนต์ ก็เคยปรากฏว่าพระพุทธเจ้าทรงให้ท่านพระอานนท์ทำน้ำมนต์ไปพรมบ้านที่มีโรคระบาด เพื่อกำจัดโรคระบาดนั้น

เรื่องการรักษาโรคและการทำยาก็ทรงอนุญาตไว้หลายอย่าง เวลาที่ภิกษุต้องการยามารักษาโรคเอาเอง เช่นใน

เล่ม ๕ หน้า ๓๙ ทรงอนุญาต
- รากไม้ที่เป็นเภสัช คือ ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด ข่า แฝก แห้วหมู
- หินบดและลูกหิน (แสดงว่าให้ทำยาเองได้)
- น้ำฝาดที่เป็นเภสัช คือ น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดบุกมัน น้ำฝาดกระดอมหรือขี้กา น้ำฝาดบอระเพ็ดหรือพญามือเหล็ก น้ำฝาดกฐินพิมาน

หน้า ๔๐
- ใบไม้ที่เป็นเภสัช คือ ใบสะเดา ใบบุกมัน ใบกระดอมหรือขี้กา ใบกะเพราหรือแมงลัก ใบฝ้าย
- ผลไม้ที่เป็นเภสัช คือ ลูกพิลังกาสา ดีปลี พริก สมอไทย สมอภิเภก มะขามป้อม ผลแห่งโกศ
- ยางไม้ที่เป็นเภสัช คือ ยางอันไหลจากต้นพิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากก้านและใบจากต้นพิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบแห่งต้นพิงคุหรือเจือของอื่นด้วย ยางอันไหลออกจากยอดไม้ตกะ ยางอันไหลออกจากใบของแห่งต้นตกะ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบหรือไหลออกจากก้านแห่งต้นตกะ กำยาน

หน้า ๔๑
- เกลือที่เป็นเภสัช คือ เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโป่ง เกลือหุง

หน้า ๔๒
- เภสัชชนิดผงสำหรับภิกษุที่เป็นฝี พุพอง สิว ฝีดาษ หรืออีสุกอีใส กลิ่นตัวแรง คือ โคมัย ดินเหนียว กากน้ำย้อม
- เนื้อดิบ เลือดสด เมื่อถูกผีเข้า

หน้า ๔๓
- ยาตา ที่ปรุงด้วยเครื่องปรุงต่างๆ
- ยาตา ที่เกิดในกระแสน้ำหรดาลกลีบทอง เขม่าไฟ

หน้า ๔๕
- การนัตถุ์ และ กล้องสำหรับนัตถุ์
- การสูดควันและกล่องสูดควัน ( สองข้อนี้ทำให้นึกถึงที่มีผู้ตำหนิพระที่ใช้ยานัตถุ์และบุหรี่ ซึ่งอาจเป็นโอสถก็ได้ )

หน้า ๔๗
- การระบายโลหิตออก

หน้า ๔๘
- การระบายโลหิตออก
- ปรุงน้ำมันทาเท้า

หน้า ๔๙
- ผ่าตัดฝี
- ยามหาวิกัฏ ๔ อย่าง คือ คูต มูตร เถ้า ดิน แก้งูกัด
- น้ำเจือคูถ แก้ยาพิษ
- น้ำละลายจากดินรอยไถซึ่งติดผาล
- น้ำด่างอามิส แก้พรรดึก

หน้า ๕๐
- ยาผลสมอดองน้ำมูตรโค แก้โรคผอมเหลือง
- ลูบไล้ด้วยของหอม แก้โรคผิงหนัง

หน้า ๕๖
- ยาดองโลณโสจิรกะ แก้โรคลมในท้องให้หายขาด

รายการต่างๆนี้คัดมาเป็นความรู้เรื่องยาด้วย จะเห็นว่าหลายรายการตรงกับในเดรัจฉานวิชา เช่น การผ่าตัดเป็นต้น

ดังนั้นจึงเป็นการยืนยันว่า ภิกษุเว้นขาดจากการหาเลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชา และ การกระทำอันเดียวกันนั้นหากทำด้วยการสงเคราะห์หรือจำเป็น ไม่มีค่าตอบแทนก็น่าจะว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง

นี่ไม่ใช่จะสนับสนุนว่าการกระทำในสิ่งที่เรียกว่าดิรัจฉานวิชานั้นจะเป็นการดีสำหรับภิกษุ แต่จะชี้ว่า หากท่านไม่ได้ทำเลี้ยงชีพ ก็อย่าไปแคะไค้หาความผิดกับท่านเลย....


◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 1/6/09 at 16:34 Reply With Quote


(Update 1 มิ.ย. 52 ตอนที่ 13)

ฐานะ – อฐานะ


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๐๒

ใน เล่ม ๓๑ หน้า ๓๙๑ ได้แสดง “ตถาคตพละ ๑๐” ไว้คือ

ข้อ ๑. “ย่อมทราบ ฐานะ และ อฐานะ ตามความเป็นจริง”

ข้อนี้หมายถึงว่า อะไรเป็นไปอย่างนั่นเองและอะไรไม่เป็นไปอย่างนั้น หรือจะว่า อะไรเป็นไปได้อะไรเป็นไปไม่ได้ก็พอจะใกล้เคียง ทั้งนี้สภาพความเป็นจริงเขาเป็นของเขาอย่างนั้น ไม่ต้องเอาเหตุผลมาคิดกันละว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ฐานะ และ อฐานะ นี้ตรัสไว้หลายแห่ง จะรวบรวมมาแสดงไว้เท่าที่หาได้ ดังนี้

เล่ม ๑ หน้า ๑๔
“ภิกษุที่ทรงคุณธรรมอย่างต่ำเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า”

เล่ม๑๒ หน้า ๓๐๙
“ข้อที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจาก อสมยวิมุติ นั้นมิใช่ ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้”

เล่ม ๑๕ หน้า ๖๒
“สมณะทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ไม่เป็นข้าศึกในโลก พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของสมณะทั้งหลายย่อมไม่เสื่อม”

ข้อที่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์ไม่มีการเสื่อมนั้น มีผู้ใช้หลักอนิจจังเข้าประกอบ เลยมีความเห็นว่าต้องเสื่อมได้ มิฉะนั้นก็ไม่ใช้อนิจจัง ใครเห็นว่าเสื่อมต้องจัดเป็นผู้มีสัญญาวิปลาส ท่านผู้นั้นท่านลืมเรื่อง ฐานะ- อฐานะ ไป พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่เสื่อมก็ย่อมไม่เสื่อม

เล่ม ๒๕ หน้า ๔๓๘
“ถึงฝั่ง คือนิพพานแล้ว เป็นผู้คงที่ ย่อมไม่กลับมาหากิเลสทั้งหลายอีก”

เล่ม ๑ หน้า ๒๖๔
“องค์กำเนิดของพระอรหันต์ พึงเป็นอวัยวะใช้การได้ด้วยความกำหนัดใด ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส”

เล่ม ๕ หน้า ๑๙๗
“ข้อนี้น้ำอสุจิของพระอรหันต์จะพึงเคลื่อนนั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส”

“ดูกร จุนทะ ผู้ที่ตนเองจมอยู่ในเปือกตมอันลึกแล้ว จักยกซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้ ผู้ที่ไม่ฝึกตน ไม่แนะนำตน ไม่ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่มีไม่ได้”

เล่มที่ ๑๙ หน้า ๔๘๕
“อริยสัจอย่างอื่นๆ มิใช่ฐานะ ที่มีได้”

เล่ม ๒๐ หน้า ๗
“จักทำนิพพานให้แจ้งด้วยจิตที่ตั้งไว้ผิด ข้อนี้มิใช่ฐานะ ที่จะมีได้”

เล่ม ๒๐ หน้า ๓๔ ( ย่อ )
มิใช่โอกาส มิใช่ฐานะที่...
๑. ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ จะ
- ยึดถือสังขารว่าเป็นสภาพเที่ยง
- ยึดถือสังขารโดยความสุข
- ยึดถือสังขารโดยความเป็นตัวตน
- พึงฆ่ามารดา
- พึงฆ่าพระอรหันต์
- พึงเป็นผู้มีจิตประทุษร้าย ยังพระโลหิตของพระตถาคตทั้งหลายให้ห้อขึ้น
- พึงทำลายสงฆ์ให้แตกกัน
- พึงถือศาสดาอื่น

๒. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์จะพึงเสด็จขึ้นพร้อมกันในโลกธาตุเดียวกัน

๓. พระเจ้าจักรพรรดิ ๒ พระองค์จะพึงเสด็จอุบัติขึ้นพร้อมกันในโลกธาตุเดียวกัน

๔. สตรีจะพึงเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

๕. สตรีจะพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

๖. สตรีจะพึงเป็นท้าวสักกะ เป็นมาร เป็นพรหม

๗. มีวิบากอันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ แห่งกาย, วจี, มโนทุจริต

๘. มีวิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจ แห่งกาย, วจี, มโนสุจริต

๙. บุคคลผู้มีความเพียบพร้อมด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เมื่อแตกกายตายไปจะพึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะความเพียบพร้อมด้วย กาย วจี มโนทุจริต เป็นปัจจัย

๑๐. บุคคลผู้มีความเพียบพร้อมด้วย กาย วจี มโนสุจริต เมื่อแตกกายตายไปจะพึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความเพียบพร้อมด้วย กาย วจี มโนสุจริต เป็นเหตุเป็นปัจจัย

เล่ม ๒๑ หน้า ๒๐๗
“อสัตบุรุษจะพึงรู้อสัตบุรุษ จะพึงรู้สัตบุรุษ ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ที่จะพึงเป็นไปได้

สัตบุรุษจะพึงรู้สัตบุรุษ จะพึงรู้อสัตบุรุษ เป็นฐานะ เป็นโอกาส ที่จะมีได้”

เล่ม ๓๐ หน้า ๒๙๔
“ความเกิดขึ้นแห่งนิพพานใดๆย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มีย่อมปรากฏอยู่โดยแท้ นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา”

เล่ม ๒๒ หน้า ๑๕
“ข้อที่ภิกษุผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ไม่มีความประพฤติเสมอในเพื่อนพรหมจรรย์ จักบำเพ็ญธรรมคืออภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์ แล้วจักบำเพ็ญธรรมของพระเสขะให้บริบูรณ์นั้น ไม่ใช่ฐานะ ที่จะมีได้”

ต่อไปนี้เป็นสิ่งไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ (ย่อ)
- ไม่บำเพ็ญธรรมของพระเสขะให้บริบูรณ์ แล้วจักรักษาศีลให้บริบูรณ์
- ไม่รักษาศีลให้บริบูรณ์ แล้วจักอบรมสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์
- ไม่อบรมสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์ แล้วจักเจริญสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์

เล่ม ๒๒ หน้า ๔๓๐
ข้อไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ (ย่อ)
- มีมิตรลามก มีสหายลามก มีเพื่อนฝูงลามก เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้มิตรลามก และประพฤติตามมิตรลามกเหล่านั้นอยู่ จักบำเพ็ญธรรมคืออภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์
- ไม่บำเพ็ญธรรม คืออภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์ แล้วจักบำเพ็ญเสขะธรรมให้บริบูรณ์
- ไม่บำเพ็ญเสขะธรรมให้บริบูรณ์ แล้วจักบำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์
- ไม่บำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ แล้วจักละ กามราคะ รูปราคะ หรือ อรูปราคะ

เล่ม ๒๒ หน้า ๔๕๒
ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
- เห็นสังขารใดๆ โดยความเป็นของเที่ยง จักเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่สมควร
- ไม่ประกอบด้วยขันติที่สมควร แล้วจักก้าวลงสู่ความเห็นชอบและความแน่นอน
- ไม่ก้าวลงสู่ความเห็นชอบและความแน่นอน แล้วจักกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล หรืออรหัตผล
( เห็นสังขารใดๆโดยความเป็นสุข เห็นธรรมใดๆโดยธรรมเป็นอัตตา ก็เช่นกัน )

เล่ม ๒๓ หน้า ๔๕๓
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่สมควร ข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะ ที่จะมีได้”

เล่ม ๒๓ หน้า ๑๑๒
“ดีแล้ว ดูกร สารีบุตร ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดาจักเคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดาชื่อว่าไม่เคารพในธรรมด้วย”

เล่ม ๒๔ หน้า ๑๖๔
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใด ด่าบริภาษ เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายกล่าวโทษพระอริยะ ภิกษุนั้นจะไม่พึงถึงความฉิบหาย ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ความฉิบหาย ๑๐ อย่างเป็นไฉน คือ ภิกษุนั้น

- ไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ๑
- เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว ๑
- สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว ๑
- เป็นผู้เข้าใจว่าตนได้บรรลุในสัทธรรมทั้งหลาย ๑
- เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ๑
- ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง ๑
- ย่อมถูกโรคอย่างหนัก ๑
- ถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน ๑
- เป็นผู้หลงใหลทำการละ ๑
- เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑”

เล่ม ๒๑ หน้า ๑๖๔
“ข้อที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยปฏิสัมภิทาญาณ พึงถึงความจำนนโดยอรรถหรือโดยพยัญชนะนี้ ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส”

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 16/6/09 at 16:29 Reply With Quote


(Update 16 มิ.ย. 52 ตอนที่ 14)

ความเชื่อ


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๔

เรามักได้ยินกันบ่อยๆถึง กาลามสูตร ซึ่งมีเรื่องว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่าอย่าเชื่อเพราะฟังต่อๆกันมาเป็นต้น สมควรจะได้ลองศึกษากันให้ถี่ถ้วนสักคราวหนึ่ง พระสูตรนี้ใน พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๒๐ หน้า๒๑๒ (อังคุตตรนิกายตักนิบาตร) ให้ชื่อว่าเกสปุตตสูตร มีความที่จะเรียบเรียงตามลำดับให้อ่านกันง่ายๆต่อไปนี้

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปในชนบทของแคว้นโกศลพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ไปถึงนิคมของพวก กาลามะ ชื่อ เกสปุตต พวกชาวกาลามโคตรไปเฝ้า กราบทูลว่า

“มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดแต่คำสอนของพวกตน ( ว่าดี ) แล้วกระทบกระเทียบดูหมิ่นคำสอนของผู้อื่นว่าไม่ดีไม่น่าเชื่อ แล้วก็มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งพูดแต่คำสอนของพวกตน ( ว่าดี ) แล้วกระทบกระเทียบดูหมิ่นคำสอนของผู้อื่นว่าไม่ดีไม่น่าเชื่อ จึงสงสัยว่าในสมณพราหมณ์เหล่านั้นน่ะใครพูดจริงพูดเท็จ”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“ก็ควรอยู่ที่จะสงสัย ถ้าเช่นนั้นมาเถิดท่านทั้งหลาย

- อย่าได้ยึดถือ ตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา
- อย่าได้ยึดถือ ตามถ้อยคำสืบๆกันมา
- อย่าได้ยึดถือ โดยตื่นข่าวว่าได้ยินอย่างนี้
- อย่าได้ยึดถือ โดยอ้างตำรา
- อย่าได้ยึดถือ โดยเดาเอาเอง
- อย่าได้ยึดถือ โดยคาดคะเน
- อย่าได้ยึดถือ โดยตรึกตามอาการ
- อย่าได้ยึดถือ โดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว
- อย่าได้ยึดถือ โดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
- อย่าได้ยึดถือ โดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

“เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้สมบรูณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย”

ข้ออภิปรายของผู้เรียบเรียง

เมื่อนักปราชญ์ได้ยก ๑๐ ข้อตาม กาลามสูตร หรือ เกสปุตตสูตร นี้ไปสรรเสริญ แล้วต่างก็สรุปว่า

“ต้องตรึกตรองให้เห็นจริงตามเหตุผลก่อนจึงค่อยเชื่อ นี่เป็นฤาษีแปลงสาส์นชัดๆ เพราะ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบอกอย่างนั้น ท่านทรงบอกว่าเมื่อรู้ด้วยตนเอง ว่าถ้าปฏิบัติแล้วเป็นอกุศลมีโทษถูกติเตียน ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์แล้วก็ อย่าไปทำเข้า”

เรื่อง อย่ายึดถือตาม....นี้ไม่ใช่มีแต่ใน เกสปุตตสูตร แห่งเดียวในแห่งอื่นยังมีอีก คือใน เล่ม ๒๑ หน้า ๑๘๒ (อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มหาวรรค ) เรื่องมีว่า

ณ ภูฏาคาม ศาลาป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ภัททิยลิจฉวีเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลว่า

“ได้ยินมาว่า พระสมณโคดมทรงมีมายา ย่อมทรงรู้มายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มานับถือคนเหล่านั้น ชื่อว่ากล่าวตามที่พระพุทธเจ้าตรัสหรือ หรือว่าหาความเอาด้วยคำไม่จริง”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“ดูกรภัททิยะ ท่านจงมาเถิด ท่านทั้งหลาย

- อย่าได้ถือ โดยตามกันมา
- อย่าได้ถือ โดยสืบต่อกันมา
- อย่าได้ถือ โดยตื่นข่าว
- อย่าได้ถือ โดยอ้างตำรา
- อย่าได้ถือ โดยนึกเดาเอาเอง
- อย่าได้ถือ โดยตรึกตามอาการ
- อย่าได้ถือ โดยชอบใจว่าถูกกับลัทธิของตน
- อย่าได้ถือ โดยเชื่อว่าสมณะเป็นครูของเขา”

(หายไป ๒ ข้อคือ อย่าได้ถือโดยคาดคะเน ซึ่งก็เดาเอาเองนั่นแหละ และ อย่าได้ถือว่าผู้สมควรจะเชื่อได้ อาจพิมพ์ตกไปก็ได้)

“ดูกรภัททิยะ เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล”ฯลฯ (เช่นเดียวกับใน เกสปุตตสูตร )

แล้วทรงถามต่อไปเหมือนกับใน เกสปุตตสูตร ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้เอามาเขียนไว้เพื่อเขียนเสียคราวเดียว
พระพุทธเจ้า - “ความโลภในคน เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์...?

ภัททิยะ - “มิใช่ประโยชน์”

พระพุทธเจ้า - “คนถูกความโลภเข้าครอบงำแล้วฆ่าสัตว์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ชวนคนอื่นให้ทำ อย่างนั้นก็ได้ อย่างนี้ไม่ใช่ประโยชน์ แต่เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานหรือ...?”

ภัททิยะ - “อย่างนั้นพระเจ้าข้า”

( ทรงถามถึง โทสะ และ โมหะ และ ความแข่งดี ในลักษณะเดียวกัน)

พระพุทธเจ้า - “ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศล หรืออกุศล...?”

ภัททิยะ - “อกุศล พระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า - “มีโทษ หรือไม่มีโทษ…?”

ภัททิยะ - “มีโทษ”

พระพุทธเจ้า - “วิญญูชน ติเตียนหรือสรรเสริญ…?”

ภัททิยะ - “ติเตียน”

พระพุทธเจ้า - “ทำให้บริบรูณ์แล้ว เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ หรือ...?”

ภัททิยะ - “เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์พระเจ้าข้า”

( ต่อไปทรงไล่เรียงอีก ได้ความว่าถ้าไม่โลภ ไม่หลง ไม่แข่งดี ก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม )

พระพุทธเจ้า - “ดูกรภัททิยะ คนเหล่าใดเป็นคนสงบ เป็นสัตบุรุษ คนเหล่านั้นย่อมชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงมา

จงปราบปรามความโลภเสีย เมื่อปราบปรามความโลภได้จักไม่กระทำ กรรมอันเกิดแก่ความโลภด้วย กาย วาจา ใจ

จงปราบปรามความโกรธเสียเถิด เมื่อท่านปรามปรามความโกรธได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดจากความโกรธด้วย กาย วาจา ใจ

จงปราบปรามความหลงเสียเถิด เมื่อปราบปรามความหลงได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความหลงด้วย กาย วาจา ใจ

จงปราบปรามความแข่งดีเสียเถิด เมื่อปราบปรามความแข่งดีได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความแข่งดีด้วย กาย วาจา ใจ”

ภัททิยะลิจฉวี ฟังแล้วประกาศตนเป็นอุบาสกตลอดชีวิต

พระพุทธเจ้า - “ดูกรภัททิยะ ก็เราได้กล่าวชักชวนท่านอย่างนี้ว่า ดูกรภัททิยะ ขอท่านจงมาเป็นสาวกของเราเถิด เราจักเป็นศาสดาของท่าน ดังนี้หรือ...?”

ภัททิยะ - “มิใช่เช่นนั้นพระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า - “ดูกรภัททิยะ สมณพราหมณ์พวกหนื่งกล่าวตู่เรา ผู้มีปรกติกล่าวอย่างนี้ มีปรกติบอกอย่างนี้ ด้วยคำอันไม่แน่นอน เป็นคำเปล่า คำเท็จ คำไม่จริง ว่า พระสมณโคดม มีมายา รู้จักมายาเครื่องกลับใจสาวก ของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มานับถือ”

ภัททิยะ - “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มายาเครื่องกลับใจนี้ดีนัก งามนัก”

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ควรสังเกตจดจำไว้

คือพระพุทธเจ้ามีปรกติ กล่าวอย่างนี้ มีปรกติบอกอย่างนี้

กล่าวอย่างนี้ บอกอย่างนี้ อย่างไร

ก็อย่างที่ตรัสไว้ “คนเหล่าใด เป็นคนรักสงบ เป็นคนรักสงบเป็นสัตบุรุษ”

อย่างที่ว่านั่นแหละ คือไม่ทรงกล่าวว่า พระองค์ทรงสอนอย่างนี้ แต่ตรัสว่าใครๆที่เป็นคนสงบเป็นสัตบุรุษจะชักชวนสาวกอย่างนี้ ตรงกับลักษณะของการแสดงธรรมที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนว่า ให้แสดงแต่ธรรม อย่าเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง คือให้แสดงแต่เนื้อความของธรรมเท่านั้น

เมื่อทรงแสดงธรรมจนภัททิยะประกาศตนเป็นอุบาสกแล้ว เพื่อความหมดจดจึงทรงถามเพื่อเป็นการตอบคำถามว่า พระองค์ทรงใช้มายาชักชวนสาวกของเดียรถีย์มาเป็นสาวกของพระองค์นั้น ก็เห็นด้วยตนเองว่าไม่จริงเลย

หากเป็นเราๆถูกถามเท่านี้ คงจะตอบอย่างคนปัญญาทรามว่า ไม่จริงเลย ฉันไม่เคยไปชวนใครสักที เขามาเป็นสาวกฉันเองต่างหาก แล้วลองย้อนนึกไปดูอีกที ว่าวิธี (ปัญญา)ของพระพุทธเจ้า ท่านแนบเนียนรัดกุมแค่ไหน

คราวนี้กลับมาเข้าตามหัวเรื่อง คือเรื่อง ความเชื่อ บ่งเจาะจงลงไปถึง ความเชื่อในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หากเราถือตาม เกสปุตตสูตร หรือมหาวรรค ว่าอย่ายึดถือตาม ๑๐ ข้อนั้น แล้วทำอาการอย่างที่ใครๆชอบเอามาอ้างกันว่า แม้คำสอนของพระองค์ก็อย่าเชื่อ ต้องตรึกตรองให้เห็นจริงก่อนถึงค่อยเชื่อ ก็จะเห็นได้ว่า

- เชื่อพระพุทธเจ้าสอนก็ไม่ได้ เพราะ เป็นการถือว่าผู้พูดควรเชื่อได้ หรือถือว่า สมณะเป็นครูของเรา

- เชื่อตามพระไตรปิฎกก็ไม่ได้ เพราะ เป็นการอ้างตำรา เป็นการเชื่อตามที่เล่าต่อๆกันมา

- จะตรึกตรองตามเหตุผลก็ไม่ได้อีก เพราะ เป็นตามตรึกตามอาการ เป็นการคาดคะเน หรือไม่ก็เป็นการเดาเอาเอง

( ปัญหามีว่าถ้าอย่างนั้น จะเชื่อคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ ด้วยอาการอย่างไร จะคิดเอาเองก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ได้เองไปอีก )

มาดูกันในอีกด้านหนึ่ง

เล่ม ๑๖ หน้า ๑๔๕

“บุคคล เมื่อไม่รู้ไม่เห็นชรา มรณะตามจริง พึงแสวงหาครู เพื่อความรู้ในชรา มรณะตามจริง”

นี่ท่านไม่ได้ให้ใช้เหตุผลอย่างเดียว ให้ไปหาครู ( เข้ากรณีถือว่าผู้นี้เป็นครูของตน )แล้วต้องเชื่อตามที่ครูบอก

เล่ม ๑๙ หน้า ๒๘๑ สัทธาสูตร

“ดูกร สารีบุตร อริยสาวกผู้ใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงแคลือบแคลงสงสัย ในตถาคตหรือศาสนาของตถาคต”

นี่ท่านก็ให้เชื่อไปเลย ( เข้ากรณี ถือว่าสมณะเป็นครูของเรา )

เล่ม ๑๙ หน้า ๒๗๕ ปุพพโกฏฐกสูตร

ทรงถามท่านพระสารีบุตรว่า

“เชื่อหรือไม่ว่าสัทธินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะมีอมตะเป็นเบื้องหน้ามีอมตะเป็นที่สุด”

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ข้าพระองค์ไม่ถึงความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคว่า... ฯลฯ”

พระพุทธเจ้า - “ดีละๆสารีบุตร ด้วยว่าอมตะนั้น ชนเหล่าใดยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่กระทำให้แจ้ง ไม่พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญาเหล่านั้น พึงถึงความเชื่อต่อชนเหล่าอื่น ในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด”

ตามที่ยกมานี้นอกจากจะทรงสอนไม่ให้เคลือบแคลงในศาสนา ( คำสอน ) ของพระองค์แล้ว ยังทรงชี้ชัดว่าใช้ปัญญาตรองแล้วไม่เห็น ก็ต้องเชื่อคนอื่นที่เขารู้ อันนี้ย่อมเป็นการไม่ตรงกันกับใน เกสปุตตสูตร (ที่เรียกกันว่า กาลามสูตร )

หลักมีว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คือ ธรรม ๒ ข้อนี้จะแย้งกันไม่ได้ ดังนั้นที่เกิดขัดกันขึ้น ก็ต้องเป็นความผิดของเราผู้อ่านตำราคือพระไตรปิฎก

สำหรับฝ่ายนิยมเชิดชู กาลามสูตร ว่า ต้องตรึกตรองให้เห็นจริงก่อนจึงค่อยเชื่อนั้น เห็นทีจะลืมไปว่า หลักนี้ใช้ไม่ได้กับทุกกรณี เพราะว่า พระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ทรงได้มาด้วยญาณทัสสนะ ไม่ใช่ด้วยการตรึกตรองธรรมดา คิดตรึกตรองอย่างไงก็คิดไม่ออก ต้องมีญาณจึงเห็นจริงได้ นอกจากนั้นสมองคนก็ฉลาดไม่เท่ากัน คนโง่ก็มีมาก เมื่อคนโง่คิดไม่ออกแล้วจะไม่ให้เขาเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ( ซึ่งคนอื่นเห็นจริงมาแล้ว) ดังนั้นหรือ?

เห็นได้ว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสกับท่านสารีบุตรถูก คือไม่รู้ก็ต้องเชื่อคนที่เขารู้ไปก่อน อย่างที่พระสารีบุตรทูลตอบว่า “ไม่ถึงความเชื่อของพระผู้มีพระภาคว่า...”

นั้น ไม่ได้หมายความว่า พระสารีบุตรไม่เชื่อพระพุทธเจ้า โดยปกติพระพุทธเจ้าสอนอะไรก็ต้องเชื่อไปก่อนเพราะไม่มีผิดละ แต่พอไปปฏิบัติรู้แจ้งเห็นจริงก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อไปก่อนอีกแล้ว รู้เองเสียแล้วว่าเป็นอย่างนั้นเป็นจริงๆ

เหตุใด กาลามสูตรจึงขัดกับที่พระพุทธเจ้าท่านสอนพระสารีบุตร

ตอบว่า เพราะเราอ่านตำราคือกาลามสูตรมา ไม่พิจารณาไตร่ตรองแล้วยกมาทั้ง ๑๐ ข้อ เอามาอ้างว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เชื่อตามนั้น

( ซึ่งผู้เรียบเรียงได้ถามมาแล้วว่า ไม่เชื่อตามนั้นแล้วจะเชื่อตามอะไร )

ความจริงหากสังเกตดูให้ดีก็จะเห็นว่าใน กาลามสูตร ( เกสปุตตสูตร) ก็ดี ในมหาวรรค ก็ดี มีเหตุการณ์นำหน้ามาก่อนว่า ผู้ถามเกิดความสงสัยขึ้น พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่าถ้าอย่างนั้นอย่ายึดเอาตาม ๑๐ ข้อนั่นซิ

ให้ใช้ กุศล-อกุศล เป็นหลัก (ไม่ใช่ให้ใช้เหตุผล)

อะไรเป็นอกุศลก็อย่าไปทำเข้า ดังนั้นที่เอามาแปลงสารว่าอย่าเชื่อตาม ๑๐ ข้อ ให้ใช้เหตุผลจึงผิด และมาค้านกับที่ท่านตรัสกับท่านสารีบุตร ว่าไม่รู้ก็ให้เชื่อคนที่รู้ไปก่อน

ความจริงคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นท่านตรัสว่า อย่าเคลือบแคลง ดังนั้นผู้ไม่รู้จริงจึงเชื่อไปก่อนได้อย่างไม่ต้องสงสัย ต่อเมื่อปฏิบัติจนเห็นผล เกิดความเข้าใจเสียเองแล้วความไม่เข้าใจก็หมดไป ไม่ต้องเชื่อคนอื่นไปก่อน

เรื่องนี้ควรจะเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ชอบนึกว่าตัวเองเก่งกว่าพระพุทธเจ้า ทั้งๆที่ยังไม่ได้ปฏิบัติจริงๆให้เกิดญาณอันเป็นเครื่องรู้เลย

เล่ม ๒๗ หน้า ๙๒ ( ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก ติสุโกปมชาดก )

“บุคคลเหล่าใดยังไม่รู้ธรรมทั้งหลาย ด้วยญาณทั้งปวง บุคคลเหล่านั้นแล ย่อมสงสัยในธรรมทั้งหลาย”

เล่ม ๑๖ หน้า ๑๒๗ ( สังยุตตนิกาย นิทานวรรคโกสัมพีสูตร )

“เว้นจากความเชื่อความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ และจากการทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ท่านมุสิละมีญาณเฉพาะตัวท่าน ว่าเพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะดังนี้หรือ”

ความข้อหลังนี้ก็มีคล้ายๆใน กาลามสูตร แต่ท่านไม่ได้บอกว่ารู้ด้วยการตรึกตรอง ท่านบอกว่ารู้ด้วยญาณ นี่ก็ตรงกับที่ว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้มาจากญาณทัสสนะ การจะรู้ได้จึงต้องมีญาณ การที่จะมีญาณได้จะต้องฝึก ต้องปฏิบัติก่อน ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

เล่ม ๙ หน้า ๒๕๕ ( ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค มหาสีหนาทสูตร )

“ดูกร กัสสป บรรดามีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ บุคคลปฏิบัติตามแล้วจะเห็นเอง ว่าพระสมณโคดมกล่าวตามกาล กล่าวจริง กล่าวอรรถ กล่าววินัย”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านผู้อ่านพระไตรปิฎกแล้วไม่ได้ลงมือปฏิบัติจนมีญาณ เวลาจะเอาไปพูดว่า พระไตรปิฎกคลาดเคลื่อนมีการแต่งเติม เทวดา นรก สวรรค์ เป็นเรื่องงมงาย ควรจะสังวรไว้บ้าง เพราะเมื่อพูดไปโดยไม่มีญาณ นั่นก็คือตรึกตามอาการ ( มองตาเปล่าไม่เห็นเทวดา นรก สวรรค์ ) หรือคาดคะเนเอา เดาเอา อย่างใน กาลามสูตร นั่นแหละ

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 3/7/09 at 09:45 Reply With Quote


(Update 3 ก.ค. 52 ตอนที่ 15)


พระพุทธเจ้าระอาในฤทธิ์จริงหรือ..?


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๐๐

นักศึกษาสายหนึ่งไม่นิยมหรือแอนตี้เรื่องฤทธิ์ โดยอ้างพระสูตรว่า ทรงเกลียดระอา (อ้างถูกเสียด้วย) อิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์แล้ว ก็เลยลงเอยว่า

ความเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์เป็นการผิด

พระทำปาฏิหาริย์เป็นอาบัติ

ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ก็แล้วกัน

เล่ม ๑ หน้า ๓๓๗ เรื่อง เมืองพาราณสี

“ก็โดยสมัยนั้นแล สกุลอุปัฏฐากของท่านพระปิสินทวัจฉะ ในเมืองพาราณสีถูกพวกโจรปล้น และเด็ก ๒ คนถูกพวกโจรนำตัวไป ครั้งนั้นท่านพระปิสินทวัจฉะ นำเด็ก ๒ คนนั้นมาด้วยฤทธิ์แล้วให้อยู่ในปราสาท ชาวบ้านเห็นเด็ก ๒ คนนั้น แล้วต่างพากันเลื่อมใสอย่างยิ่งว่า นี้เป็นฤทธานุภาพของพระปิสินทวัจฉะ ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียน โพทนาว่า ไฉนท่านพระปิสินทวัจฉะจึงได้นำเด็กที่ถูกโจรนำไปแล้วคืนมาเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ไม่เป็นอาบัติ เพราะวิจัยแห่งฤทธิ์ ของภิกษุผู้มีฤทธิ์”

เรื่องนี้อยู่ในทุติยปาราชิกกันกัณฑ์ คือ ลักขโมย เจตนาของพระที่ฟ้องก็คงจะหาว่า การไปช่วยเด็กเป็นการขโมยนั่นแหละ พระพุทธเจ้าไม่ทรงปรับอาบัติ ทั้งการขโมยและการแสดงฤทธิ์

เล่ม ๕ หน้า ๒

เรื่องมีว่า ท่านพระสาคตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค มีชาวตำบลแปดหมื่นไปขอเฝ้า พระสาคตะก็ดำลงไปในแผ่นหินทูลพระพุทธเจ้า แล้วถือตั่งดำโผล่ขึ้นมาจากหินปูลาดอาสนะ พอพระพุทธเจ้าเสด็จออกชาวบ้านไม่สนใจ ไปสนใจแต่พระสาคตะ จึงตรัสว่า “ดูกร สาคตะ เธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ให้ยิ่งขึ้นไปอีก”

ท่านพระสาคตะก็แสดง ( มีเหาะเป็นต้น ) เสร็จแล้วมาซบศีรษะที่พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก”

ชาวบ้านพูดสรรเสริญว่า พระสาวกยังมีฤทธิ์มากขนาดนี้ พระศาสดาต้องอัศจรรย์แน่

เล่ม ๑๙ หน้า ๓๑๘

“ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่างคือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ”

เล่ม ๑๑ หน้า ๓๐๕

“ธรรม ๖ อย่างซึ่งควรทำให้แจ้ง คืออภิญญา ๖ ฯลฯ” (ข้อแรกของอภิญญา ๖ คือ บรรลุอิทธิวิธี )

เล่ม ๓๓ หน้า ๒๒๐

“พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรพระโคตรมี คนพาลเล่าใดสงสัยในการตรัสรู้ธรรมของสตรีทั้งหลาย ท่านจงแสดงอิทธิฤทธิ์ เพื่อละซึ่งทิฐิของคนพาลเหล่านั้น”

เล่ม ๓๓ หน้า ๒๓๙

“ดูกร อุบลวรรณา ผู้ทำตามคำสอนของเรา ท่านจงแสดงฤทธิ์ตัดความสงสัยแห่งบริษัท ๔ ในวันนี้เถิด”

สรุปแล้วในเรื่องฤทธิ์นี้

- ทรงตรัสว่าเป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์
- ทรงสอนว่าให้ทำให้แจ้ง
- ทรงสั่งให้ผู้อื่นแสดง เพื่อความเลื่อมใสแต่ตัดความสงสัย
- ทรงแสดงเองนับครั้งไม่ถ้วน
- ธรรมที่ปฏิบัติแล้วมีอิทธิฤทธิ์มีอยู่ เช่นอิทธิบาท ๔ เป็นต้น

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า เป็นการขัดกันกับข้อที่ว่า ทรงเกลียด ระอาในอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ ที่ผู้เขียนวงเล็บไว้ว่าเขาอ้างมาถูก แต่ความจริงแล้วถูกไม่หมดจึงได้ขัดกัน

พระพุทธเจ้าทรงตอบคำทูลขอของพราหมณ์เกวัฏฏ์ที่ทูลขอให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อความเลื่อมใส

พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า อิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์มีวิชาชื่อ มณิกา และ คันธารี ที่ใช้แสดงได้เหมือนกัน ท่านจึงเกลียดและระอาในปาฏิหาริย์ทั้งสอง

ข้อนี้ ต้องจับให้ได้ว่าที่ทรงตอบว่าเกลียดและระอานั้น เป็นเพราะมีวิชาอื่นก็แสดงได้ พูดง่ายๆไม่เหมาะแก่การแสดง เพราะแสดงออกมาก็มีผู้ค้านในที่นั้นว่าตัวเองทำได้ (โดยใช้วิชาทั้งสอง )

หากอ่านต่อไปจะพบว่า ทรงใช้อนุศาสนียปาฏิหาริย์ แต่ในอนุศาสนียปาฏิหาริย์ก็แสดงรายละเอียด

ได้ว่า มีอิทธิวิธี ( คืออภิญญาหก ) อยู่ด้วยทั้งหมดอีกนั้นแหละ

พระพุทธเจ้าตรัสว่าเกลียดและระอา ปาฏิหาริย์ทั้งสองก็เพื่อจะปฏิเสธกับเกวัฏฏ์เท่านั้นแหละว่าไม่แสดง แต่ในครั้งนี้ยกตัวอย่างมาประกอบให้ละเอียดขึ้น...

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 25/7/09 at 15:54 Reply With Quote


(Update 25 ก.ค. 52 ตอนที่ 16)

ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๐๐

“ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง” นี้เป็นบาทต้นของโคลงสี่ในหนังสือสุภาษิตโลกนิติ บาทต่อๆไปจำไม่ได้เสียแล้ว น่ากลัวว่าครูไม่ได้กำหนดให้ท่องเมื่อตอนยังเด็ก

อย่างไรก็ดีเป็นที่รู้กันว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ในความเข้าใจของคนทั่วไปต่างรับกันไปว่า “อะไรๆก็ไม่เที่ยง” คือทุกอย่างไม่เที่ยง

หนักๆเข้าเลยนึกไปว่าถ้าอย่างนั้นพระอรหันต์ก็ไม่เที่ยงละซิ เป็นแล้วอาจเสื่อมได้เหมือนกัน นิพพานก็ไม่เที่ยง พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่เที่ยง เตลิดไปกันใหญ่ (มีปรากฏเป็นปัญหาถามในช่องธรรมะในหนังสือพิมพ์)

ต่อไปหากเตลิดหนักไปถึงกับว่าอายุคนเรานี้ก็ไม่เที่ยง วันนี้อายุ ๓๐ พรุ่งนี้อายุอาจ ๓ ขวบก็ได้ ของมันไม่เที่ยง ยังงี้ก็สวัสดีล่ะ

ผู้เขียนลองเปิดดูที่จดไว้ไม่เห็นพบว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ตรงไหนเลยว่าทุกอย่างไม่เที่ยง ตรงกันข้ามไปเจอะเอาที่ตรัสว่าเที่ยงเข้าตั้งหลายอย่าง

เอากันให้แน่ๆก็เห็นมีแต่ “อนิจจสัญญา” เท่านั้นแหละที่ตรัสไว้ ความหมายกว้างๆว่า คิดถึงอนิจจังความไม่เที่ยงนั้นคือคิดถึงอย่างไร

เล่ม ๑๗ หน้า ๑๖๔ (ฉบับหลวง)
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อนิจจสัญญาอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงครอบงำกามราคะทั้งปวงได้ฯลฯ ถอนขึ้นซึ่งอัสสิมานะได้ทั้งหมด อนิจจสัญญาอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ว่า รูป ดังนี้ ความเกิดแห่งรูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้... สัญญาดังนี้... สังขารดังนี้... วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ย่อมครอบงำกามราคะทั้งปวงได้ ฯลฯ ถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะได้หมด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำกามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำรูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำอวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะได้หมดฯ”

ทีนี้ก็เห็นได้ว่าที่ว่าเป็นอนิจจังนั้น ไม่ใช่ว่าอะไรๆก็อนิจจังไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง หากเป็นอะไรๆที่เกี่ยวกับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือร่างกายของตน (หรือของใคร) เท่านั้น

อนิจจังเป็นข้อต้นของ ไตรลักษณ์ ข้อต่อไปเป็น ทุกขัง ต่อไปเป็น อนัตตา ดังที่ตรัสสอนปัญจวคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เล่ม ๑๗ หน้า ๗๒ ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูป เที่ยงหรือไม่เที่ยง

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า” (ตอนนี้คืออนิจจัง)

พระพุทธเจ้า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่าฯ

ภิกษุเหล่านั้น เป็นทุกข์พระเจ้าข้า (ตอนนี้คือทุกขัง)

พระพุทธเจ้า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็น

สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเราฯ

ภิกษุเหล่านั้น ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า (ตอนนี้คืออนัตตา)

ถัดจากนี้ก็ทรงไล่ไปถึง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในลักษณะเดียวกัน และให้เห็นว่าขันธ์ ๕ นี้ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ ก็เช่นกัน ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ทรงสรุปว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัส อนัตตลักขณสูตร นี้จบลงแล้ว ภิกษุปัญจวคีย์ต่างก็มีใจยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ ภิกษุปัญจวคีย์ก็มีจิตหลุดพ้นอาสวะ เพราะไม่ถือมั่นฯ”

ภิกษุทั้ง ๕ ฟังคำสอนแค่นี้ท่านก็เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว เราท่านซึ่งฟังคำสอนอย่างเดียวกันในพระสูตรนี้ล่ะ น่ากลัวจะมัวแต่ไปมีปัญหาว่า ไอ้โน่นก็ไม่เที่ยง ไอ้นี่ก็ไม่เที่ยง เบี้ยบ้ายรายทางอยู่นั่นแหละ ขันธ์ ๕ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่คิดเอาเสียเลยถึงได้ยังไม่ไปไหน

นี่แหละ อนิจจังที่พระพุทธเจ้าสอนไม่ใช่ว่าทุกสิ่งเป็นอนิจจังไปเสียหมด
(เป็นความจริงที่ว่าหลายสิ่งหลายอย่าง เอามาเทียบเข้าอนิจจังได้ เช่นใบไม้ผลิตกลายเป็นใบไม้อ่อน กลายเป็นใบไม้แก่ กลายเป็นใบไม้ร่วง แต่ลงท้ายก็ต้องเอามาเปรียบกับขันธ์ ๕ ร่างกายมนุษย์ว่าเป็นอนิจจังอย่างนั้นแหละ)

ทีนี้ตัวอย่างของสิ่งที่ตรัสว่าเที่ยงบ้าง
เล่ม ๑๑ หน้า ๕๙
“ส่วนสัตว์นั้นย่อมท่องเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้”(คงบ่งถึงนิพพาน)

เล่ม ๒๒ หน้า๓๖๗
“หากว่าเขาเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบ คงที่อยู่ในนิพพาน ฯลฯ”

เล่ม ๒๖ หน้า ๕๑๓ สุเมธาเกรีคาถา
“นิพพานนี้ไม่แก่ ไม่ตาย”

เล่ม ๓๐ หน้า ๒๙๔
“ความเกิดขึ้นแห่งนิพพานใดย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มีย่อมปรากฏอยู่โดยแท้ นิพพาน เป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา”

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 3/8/09 at 08:48 Reply With Quote


(Update 3 ส.ค. 52 ตอนที่ 17)

ภิกษุปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะควร


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๗๖

ผู้เขียนไม่ได้เป็นภิกษุ แต่เมื่อได้เห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ถึงการกระทำต่างๆที่เห็นว่าไม่ควรแก่สมณะ จึงมาเกิดความคิดว่า บางทีภิกษุท่านจะตั้งใจปฏิบัติ แค่ไม่ให้ผิดศีลผิดวินัยเท่านั้นดอกกระมัง อาจไม่ได้เอาใจใส่ว่า พระพุทธเจ้าท่านตั้งพระทัยว่า จะให้พระภิกษุในศาสนาของท่านทำอย่างไร อย่างใดควรปฏิบัติ อย่างไรไม่ควรปฏิบัติ ดังนั้นจึงค้นพระไตรปิฎกหาข้อความสำคัญมาเสนอไว้เพื่อทราบ

๑. ความมุ่งหมายของพระธรรม

เล่ม ๑ หน้า ๒๙

แสดงไว้ว่า พระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ทรงแสดงไว้เพื่อ

- ความคลายกำหนัด

- ความพราก

- ความไม่ถือมั่น

- เป็นที่สำรอกแห่งราคะ

- เป็นที่สร่างแห่งความเมา

- เป็นที่ดับสูญแห่งความกระหาย

- เป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย

- เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ

- เป็นที่สิ้นตัณหา

- ความดับทุกข์

- นิพพาน

จะสรุปว่า คลายกำหนัด ตัดตัณหา พาตัวไปสู่พระนิพพานก็ได้ ถือไว้เป็นแม่บท จะประพฤติตัวอย่างใดถามตัวเองก่อน ว่า อยู่ในพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าหรือไม่

ตัวอย่าง การยกป้ายเดินไปกับชาวบ้าน ให้ย้ายสนามม้าไปไว้นอกเมืองนั้น เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัดของท่าน เพื่อพระนิพพานหรือไม่ คิดเสียก่อน

เล่ม ๗ หน้า ๒๖๒

ทรงกล่าวถึงธรรมที่ไม่ใช่เพื่อคลายกำหนัด ความพราก(มิใช่ประกอบ) ไม่สะสม มักน้อย สันโดษ ความสงัด ความเพียร ความเลี้ยงง่าย ว่า

“ดูกร โคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า นั่นมิใช่ธรรม มิใช่วินัย นั่นไม่ใช่สัตถุศาสน์”

คำว่า สันโดษ มีบ่งไว้ชัดใน เล่ม ๙ หน้า ๘๐

“ดูกร มหาบพิตร อย่างไรภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ดูกรมหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทิศาภาคใดๆก็ถือไปได้เอง

ดูกร มหาบพิตร นกมีปีกจะบินไปทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไปได้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆก็ถือไปได้เอง

ดูกร มหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ”

เห็นได้ชัดว่า “สันโดษ” มีความหมายไปในทางที่พึ่งตัวเอง ไม่ใช่เฉื่อยชาเกียจคร้าน

ความมักน้อยต้องเป็นข้อปฏิบัติของภิกษุ เพราะภิกษุอยู่ได้ด้วยอาศัยชาวบ้าน เขาถวายอย่างใดก็ต้องพอใจ(จริงๆ)แค่นั้น ไม่มักมากเกินกว่าที่ได้รับ ซึ่งทำให้ใจเป็นทุกข์ ทำให้ชาวบ้านเสื่อมความเลื่อมใส

การเลี้ยงง่ายก็เช่นเดียวกัน ชาวบ้านถวายอย่างใดฉันอย่างนั้นหากไม่ผิดพระวินัย ปกติชาวบ้านทำกินอย่างไร เขาก็จะแบ่งจากที่ทำกินมาถวายพระที่บิณฑบาต ได้ยินว่าภิกษุบางเหล่า ไม่ยอมรับอาหารเนื้อ จะฉันเจ เช่นนี้ไม่เรียกว่าเลี้ยงง่าย เพราะทำให้ชาวบ้านต้องไปทำอาหารเจแยกต่างหากอีก เป็นการทำความลำบากแกเขา พระพุทธเจ้าทรงห้ามแต่เนื้อที่ตนเป็นเหตุโดยตรงให้เขาฆ่าเท่านั้น เนื้อที่เขาแขวนขายอยู่แล้วในตลาด ภิกษุไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

๒. ไม่ควรก้าวล่วงพระธรรมตลอดชีวิต

เล่ม ๑๑ หน้า ๑๒๓

“ธรรมทั้งหลาย อันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ทรงบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เป็นธรรมอันพวกสาวกไม่ควรก้าวล่วงตลอดชีวิต”

ปัญหาเรื่องพระธรรมอย่างไหน จึงจะเป็นเรื่องพระธรรมที่ถูกต้อง ไม่ควรละเมิดนั้น ไม่ควรจะมี เพราะธรรมข้อมหาประเทศ ๔ ที่ใช้พิสูจน์พระธรรมวินัยบ่งอยู่แล้วว่า ให้สอบสวนกับพระสูตร เทียบกับพระวินัย ถ้าไม่ลงกันก็ไม่ใช่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแน่นอน

(เล่ม ๑๐ หน้า ๑๒๑)

สำหรับผู้ที่กล่าวว่าพระไตรปิฎกคลาดเคลื่อน เชื่อถือไม่ได้นั้น ก็แปลว่าท่านผู้พูดได้ทิ้งพระสูตร และพระวินัยไปเสียแล้ว คำสอนของท่านคือคำสอนที่ท่านตรัสรู้ขึ้นมาเอง โดยไม่เอาตามแบบใคร น่ากลัวจะต้องแปลว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้า ทีตรัสรู้ได้เองเสียแล้วกระมัง

๓. ความกระด้างแห่งจิต ๕ อย่าง

เล่ม ๑๑ หน้า ๒๓๐

- เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา

- เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระธรรม

- เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์

- เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในสิกขา

- มีจิตโกรธ ขัดเคือง มีโทสะ ในสหพรหมจารีทั้งหลาย

“พระสงฆ์” คงจะทราบแล้วว่า คือ คู่บุรุษ ๔ บุคคล ๔ พระโสดาบันถึงพระอรหันต์ (เล่ม ๑๐ หน้า ๙๘)

การเคลือบแคลงสงสัย แสดงว่าไม่ศรัทธา

เล่ม ๒๒ หน้า ๕ แสดงไว้ว่า

“เมื่อศรัทธาเสื่อมหายไป อัสสัทฺธิยะ (ความไม่เชื่อ) ย่อมกลุ้มรุม การถึงอกุศลย่อมมี”

๔. สมณะอนุเคราะห์กุลบุตร

- ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว

- ให้ดำรงอยู่ในความดี

- อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม

- ให้ได้ฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง (พระธรรมที่ไม่เคยฟัง)

- ทำสิ่งที่เคยฟังแล้ให้แจ่มแจ้ง

- บอกทางสวรรค์ให้

๕. ตนเองไม่พ้นทุกข์ ย่อมไม่สามารถทำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ได้

พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพื่อตรัสรู้สำหรับจะช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์ ภิกษุทั้งหลายที่บวชในพระพุทธศาสนา ก็เพื่อทำตนให้พ้นทุกข์ และเพื่อเป็นกำลังของพระศาสนา ช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ดังนั้น ตนเองก็ต้องทำตัวเองให้หลุดพ้นเสียก่อน หน้าที่อื่นนอกจากนี้ไม่มี

เล่ม ๑๒ หน้า ๖๙

“ดูกร จุนทะ ผู้ที่ตนเองจมอยู่ในเปลือกตมอันลึกแล้ว จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่น ที่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้”

“ผู้ที่ไม่ฝึกตน ไม่แนะนำตน ไม่ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้”

เล่ม ๑๕ หน้า ๓๐๔

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบวชแล้วในธรรมวินัย อันเรากล่าวแล้วชอบอย่างนี้ พึงหมั่นเพียร พยายามเพื่อบรรลุมรรคผลที่ยังไม่บรรลุ เพื่อได้มรรคผลที่ยังไม่ได้ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลอันตนยังมิได้ทำให้แจ้ง ข้อนี้จะพึงงดงามในธรรมวินัยโดยแท้”

สำหรับเรื่องความหมั่นเพียรนี้ ใน เล่ม ๑๖ หน้า ๒๘ บ่งว่า

“กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา สมควรแท้เพื่อปรารภความเพียร ในธรรมอันเรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ ทำให้ตื้น เปิดเผย ประกาศตัดสมณะขี้ริ้ว ด้วยความตั้งใจว่า หนัง เอ็น และกระดูกจงเหลืออยู่ เนื้อเลือดในสรีระของเรา จะเหือดแห้งไปก็ตามที อิฐผลใดที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ยังไม่บรรลุอิฐผลนั้นจักไม่หยุดความเพียรดังนี้”

ท่านจะทำอะไรก็ควรถามตัวเองก่อนว่า บรรลุแล้วหรือยัง

๖. ภิกษุไม่บริบูรณ์ด้วยองค์

เล่ม ๒๓ หน้า ๒๘๗

ได้แก่ภิกษุมีศรัทธา แต่

- ไม่มีศีล

- ไม่เป็นพหูสูต

- ไม่เป็นธรรมกถึก

- ไม่เข้าสู่บริษัท

- ไม่แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท

- ไม่ได้ตามปรารถนาด้วยฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

- ไม่ได้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้

สำหรับสัมมาสมาธินั้น บ่งไว้ใน เล่ม ๑๔ หน้า ๓๘๔ ว่า ได้แก่ การสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมเข้าถึงปฐมฌานไปจนถึงจตุฌาน ( ฌาน ๑ ถึง ๔ )

เล่ม ๑๔ หน้า ๔๓๐ แสดงไว้ว่า

- ไม่บำเพ็ญสัมมาสมาธิ ให้บริบูรณ์แล้วจะละสังโยชน์นั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

- ไม่ละสังโยชน์ แล้วจักกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ในข้อสุดท้ายกล่าวว่า “ไม่ได้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้” นั่นก็คือการเป็นพระอรหันต์นั่นเอง หมายความว่าหากไม่เป็นพระอรหันต์ ก็เรียกว่าไม่สมบูรณ์ด้วยองค์ ตรงกับข้อ ๑. ที่แสดงไว้ว่าพระธรรมทรงแสดงไว้เพื่อพระนิพพาน

มีข้อที่น่าสังเกตข้อหนึ่งคือ สัมมาสมาธินั้นอยู่ในอริยสัจ ๔ ( เป็นข้อสุดท้ายของอริยมรรคมีองค์ ๘) หมายถึง ต้องทำสมาธิให้ได้ฌาน ๑ - ๔ เพราะไม่ได้ฌาน ๑ – ๔ ก็ละสังโยชน์ไม่ได้ และละสังโยชน์ไม่ได้ก็เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ช่วยให้มนุษย์พ้นทุกข์ไม่ได้

น่าประหลาดที่ภิกษุชื่อเสียงลือลั่นผู้หนึ่ง กล่าวว่า พระหลับตาไม่มีประโยชน์ ซึ่งแปลความหมายได้ว่าตำหนิพระที่ทำสมาธิ ทำฌานตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าไม่มีประโยชน์ ( เพราะคงไม่มีพระที่ไหน มานั่งหลับตาเล่นเฉยๆ)

การพูดดังกล่าวแสดงชัดว่า ไม่มีความเคารพในพระธรรม เมื่อไม่เคารพธรรมก็ย่อมเชื่อว่า ไม่เคารพพระพุทธเจ้าที่ทรงเป็นผู้ตรัสธรรมนั้นด้วย

เล่ม ๒๓ หน้า ๓๘๔ บ่งไว้ทีเดียวว่า

“ภิกษุทำปฐมฌานไม่ได้ เปรียบเหมือนโคโง่”

ทั้งนี้เพราะว่า บุคคลจะมีกำลังตัดกิเลสได้นั้น ต้องได้ปฐมฌานก่อน

เล่ม ๒๓ หน้า ๓๙๐

“เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายเพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง......เนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง”

เล่ม ๒๔ หน้า ๓๖๒

“ธรรมอย่างเอกอันเป็นที่หลุดพ้นแห่งจิต ที่ยังไม่หลุดพ้นคือปฐมฌาน....จุตตฌาน”

ภิกษุประหลาดองค์เดียวกันนั่นแหละ กล่าวว่าการเข้าสู่พระนิพพานนั้น เป็นการเห็นแก่ตัว สู้ปฏิบัติอย่างพระโพธิสัตว์ช่วยผู้คนไม่ได้ การพูดเช่นนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นความจริง ๒ – ๓ ประการคือ

- เขาบริภาษเอาพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายเข้าแล้วว่าเห็นแก่ตัว

- เขาไม่ทันคิดว่าพระโพธิสัตว์ ก็คือผู้แสวงหาพระโพธิญาณ เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเข้าสู่ปรินิพพาน เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆที่เขากล่าวว่าเห็นแก่ตัวนั้นแหละ

- เขาไม่บ่งว่าพระโพธิสัตว์ช่วยมนุษย์อย่างไร แต่ความจริงมีอยู่ว่าจะช่วยให้พ้นทุกข์นั้นไม่ได้แน่ละ ตราบใดที่ยังไม่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเสียก่อน

- เมื่อเขาไม่มีความเคารพต่อพระพุทธเจ้า และพระธรรม ก็แสดงว่าเขาไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เพราะพระอริยเจ้าชั้นต้นคือพระโสดาบันนั้น มีสิ่งบ่งได้ด้วยประการ ๔ (ธรรมทาส) คือ เคารพเลื่อมใสอย่างไม่คลอนแคลนในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ และประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว เมื่อเขาไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธเจ้าเห็นจริงแล้ว ก็น่าคิดว่าคำสอนของเขาควรรับฟังหรือไม่

สรุปแล้ว หน้าที่ก่อนอย่างอื่นของภิกษุที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ก็คือการทำตัวให้เป็นพระอรหันต์ หากว่าไม่พยายามทำตัวเป็นพระอรหันต์ มัวไปยกป้ายเดินขบวน มัวไปศึกษาศาสนาอื่นๆ วิชาอื่นๆ ให้ได้ปริญญาสูงๆ โดยไม่เป็นประโยชน์แก่ทำตัวให้เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องเรียกว่าปฏิบัติไม่ดี

ควรนึกถึงถ้อยคำของตายนเทพบุตรที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งให้พระภิกษุจำไว้ ตามที่ปรากฏใน

เล่ม ๑๕ หน้า ๖๙

“ความเป็นสมณะอันบุคคลปฏิบัติไม่ได้ ย่อมฉุดเข้าไปเพื่อเกิดในนรก”

อย่างน้อยที่สุดทำตัวให้เป็นพระโสดาบันก่อน ก็ยังดี เพราะตั้งแต่ระดับนี้ขึ้นไป ท่านกล่าวว่าเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ชาวบ้านได้อานิสงส์มากมายเมื่อบริจาคทานกับท่าน ถือเป็นการสงเคราะห์อย่างดีแก่กุลบุตร

อ้างมาแค่นี้ก็ควรจะเป็นเครื่องเตือนใจได้เพียงพอแล้ว สมัยพุทธกาลท่านก็สอนตามที่พระไตรปิฎกบันทึกมา เป็นอรหันต์กันนับไม่ถ้วน ไม่เห็นต้องไปเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก กันที่ไหน จะอ้างว่าผู้ที่จะสอนคนสมัยนี้ ต้องมีความรู้พอๆกันผู้ฟังนั้น ฟังไม่ขึ้น

ความจริงมีอยู่ว่า ท่านไม่ได้ศึกษาจนเป็นพระอรหันต์ต่างหาก จึงไม่สามารถสอนให้ผู้ฟังเข้าใจได้ เพราะตัวท่านเองก็ไม่แจ่มแจ้งแทงตลอดเหมือนกัน ถึงจะจบปริญญาโทปริญญาเอกมาก็ยังไม่สามารถสอนได้อยู่ดีแหละ.


◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 17/8/09 at 14:55 Reply With Quote


(Update 17 ส.ค. 52 ตอนที่ 18)

การเกิด-การตาย


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๗๓

มนุษย์ในสมัยวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน มักทะนงตนว่ามีความรู้ความสามารถอย่างที่คนโบราณเทียบไม่ได้ มนุษย์ประเภทนี้ เวลาอ่านพระไตรปิฎกหรือว่าไม่ได้อ่าน แต่ได้ยินว่าพระไตรปิฎกกล่าวว่ามีสวรรค์-นรกเท่านั้น ก็พากันลงความเห็นปรามาสไปทีเดียวว่า การเชื่อเรื่องอย่างนั้นเป็นความโง่เง่าเต่าตุน ลักษณะอย่างนี้ต้องเรียกว่าเอาปัญญาของปุถุชนไปวัดกับปัญญาของพระพุทธเจ้า (บังอาจ?)

พูดกันตามพระไตรปิฎกฉบับหลวงแล้ว ท่านกล่าวไว้ใน

เล่ม ๓๑ หน้า ๓๒๒

“ปัญญาของปุถุชนนั้นไกลแสนไกลกับปัญญาของพระอรหันต์”

ก็ขนาดพระอรหันต์ ปุถุชนยังเทียบไม่ได้ขี้ไซร้ แล้วยังกล้าเอาไปเทียบกับพระปัญญาของพระพุทธเจ้าอีกแน่ะ พระพุทธเจ้านั้นท่านทรงเป็นสัพพัญญู อะไรที่จะไม่ทรงรู้นั้นไม่มี

เล่ม ๒๙ หน้า ๓๔๑

ได้พรรณนาถึงพระตถาคตไว้ว่า

“สิ่งที่ไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงทราบ ไม่ทรงทำให้แจ้ง ไม่ทรงถูกต้องด้วยปัญญา ย่อมไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น”

ขอเปรียบเทียบให้ปุถุชนเห็นถนัดสักหน่อยโดยใช้ขนาดของจักรวาลเป็นเครื่องเทียบดู

เล่ม ๒๐ หน้า ๒๑๖

ท่านกล่าวไว้ว่า

“จักรวาลคือโอกาสที่ พระจันทร์ พระอาทิตย์โคจร”

ผู้เขียนเข้าใจว่านี่คือ ระบบสุริยจักวาล แต่ถ้าผู้อ่านเลือกจะเข้าใจว่า เป็นโลก ที่เราอยู่นี้ก็แล้วแต่ เพราะนับว่าใหญ่พออยู่แล้ว

ท่านกล่าวต่อไปว่า

โลกธาตุอย่างเล็กประกอบด้วย ๑,๐๐๐ จักรวาล

โลกธาตุอย่างกลางประกอบด้วย ๑,๐๐๐,๐๐๐ จักรวาล

โลกธาตุอย่างใหญ่ประกอบด้วย แสนโกฏิ จักรวาล

( ๑โกฏิ ประมาณ ๑,๐๐๐ ล้าน หลวงพ่อพระราชพรหมยานเคยพูดไว้ แต่ในปัจจุบัน เขียนกันไว้ว่า ๑โกฏิ ประมาณ ๑๐ ล้าน )

อย่างเก่งปุถุชนก็รู้จักแค่โลกๆเดียว กับพระจันทร์ ๑ ดวง ( ที่เคยไปมาแล้ว )และพระอาทิตย์อีก ๑ ดวง

ในเมื่อคิดอ่านจะเทียบกับพระพุทธเจ้า

เล่ม ๓๓ หน้า ๓๒๑

“ชนเหล่าใดไม่รู้สัตตนิกาย โอกาสและจักรวาลอันไม่มีที่สิ้นสุดในอสงไขยโกฏิได้ ชนเหล่านั้นก็ไม่สามารถจะรู้พระพุทธญาณอันไม่มีที่เปรียบได้”

ท่านคิดดูก็แล้วกันว่า พระปัญญาของพระพุทธเจ้านั้นขนาดไหน และของปุถุชนขนาดไหน อย่างน้อยก็ต่างกัน อสงไขยโกฏิ เท่า เข้าไปแล้ว

ข้อที่น่าสังเกตเสียแต่ตอนนี้ (ซึ่งหลายท่านคงจะไม่สังเกต) ก็คือท่านทราบกันมากว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้วในเรื่องจักรวาล และยังทราบอีกว่าจักรวาลนั้นมีจำนวนมากอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่มนุษย์วิทยาศาสตร์เพิ่งมารู้กันเมื่อไม่ถึง ๑๐๐ ปี มานี่เอง

ความรู้ด้านอวกาศที่กล่าวมาเพื่อเป็นมาตราเทียบปัญญานี้ บางทีจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวไปสักหน่อย จึงขอยกเรื่องใกล้ๆตัวมาเปรียบเทียบ คือความรู้เรื่อง การเกิด-การตาย ซึ่งจะเห็นได้ง่ายกว่า

มนุษย์มีความรู้แต่ว่า ผัวเมียอยู่ด้วยกันมีลูก ออกลูกมา ลูกก็เป็นเด็กแล้วก็โตขึ้น แล้วก็แก่ตายไป อย่างเก่งก็รู้ว่าในครรภ์นั้น เด็กมีระยะการเติบโตอย่างไร เท่านั้นเอง ส่วนที่ว่าเกิดมาจากไหน และตายแล้วไปไหนนั้นยัง งง งวย กันอยู่จนบัดนี้

แต่ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นั้น มีละเอียดกว่านี้มากทีเดียว คือ

๑. เริ่มต้นของมนุษย์

ท่านตรัสไว้ว่าไม่มีทางรู้ได้ การตรัสอย่างนี้ต่างกับพูดว่าไม่รู้ เพราะเป็นการรู้ว่าไม่มีทางสืบสาวสำหรับคนธรรมดา

เล่ม ๑๗ หน้า ๑๕๗

“สงสารนี้มีเบื้องต้นเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น”

ท่านผู้อ่านจะต้องไม่ลงความเห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงทราบ เพราะหากมีพระประสงค์จะทราบก็ทรงทราบได้ (พระสัพพัญญุตาญาณ)

ท่านจะต้องระลึกไว้ว่า พระพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงทำอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ และได้ตรัสไว้แล้วว่า เรื่องของโลกก็เป็นหนึ่งใน อจินไตย ซึ่งไม่ควรคิด และหากใครคิดเข้าก็ “พึงมีส่วนแบ่งความบ้า”

สมมติว่ารู้ได้จริงๆก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา เป็นการสักแต่ว่ารู้ไปเฉยๆเท่านั้น

เล่ม ๒๕ หน้า ๑๗๔

บ่งว่า “หากเอากระดูกของคนผู้หนึ่งที่เคยเกิดมาแล้ว มากองรวมกันเข้าก็จะเป็นภูเขาสูงกว่าภูเขา เวปุลละ”

ในเล่มอื่นมีกล่าวว่า หากรวบรวมน้ำตาที่เคยไหลเพราะการร้องไห้มาแล้วของคนๆหนึ่งในทุกชาติมารวมกันเข้า จะมีปริมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก

ข้อนี้สำหรับคนทั่วไปย่อมจะสงสัย ว่าเป็นไปได้เทียวหรือ แต่หลักฐานอ้างอิงจากแง่อื่นก็ยังมีอีกเช่น

เล่ม ๖ หน้า ๒๐๔ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า

“ถือเสียว่าสาวกองค์หนึ่งมีอายุ ๑๐๐ ปี แล้วให้สาวกนั้นระลึกชาติถอยหลังไปได้ วันละหนึ่งแสนกัป ให้ระลึกไปจนตายก็ยังไม่หมดชาติที่ท่านเกิดมา”

หนึ่งกัปก็นานนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เทียบเป็นตัวเลข เอาเลขหนึ่งตั้งเติมศูนย์อีก ๖๐ ศูนย์ เป็นจำนวนปีก็ยังไม่ถึง ๑ กัป

ระลึกชาติวันละหนึ่งแสนกัปเป็นเวลา ๑๐๐ ปี ยังระลึกได้ไม่หมดเท่าที่เกิดมา เช่นนี้ก็พอจะเชื่อได้ลางๆแล้วกระมัง ที่ว่าน้ำตาที่เคยร้องไห้มานั้น คงจะมากกว่าน้ำในมหาสมุทร

นี่เป็นความรู้ข้อที่หนึ่งที่มนุษย์ (ยุค) วิทยาศาสตร์ไม่รู้ แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้

( พระพุทธวิสัยมีอยู่ว่าไม่ตรัสคำไม่จริง และตรัสอย่างใดเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น)

๒. เรื่องวิธีเกิดต่างๆ

มนุษย์รู้จักแค่ ๓อย่าง พระพุทธเจ้าตรัสว่ามี ๔ อย่าง จาก ( เล่ม ๑๒ หน้า ๑๑๗) คือ

อัณฑชะกำเนิด ได้แก่การชำแรกเปลือกแห่งฟองเกิด (ไข่ )

ชลาพุชะกำเนิด ได้แก่ชำแรกไส้เกิด ( มดลูก )

สังเสทชะกำเนิด ได้แก่การเกิดในปลาเน่า ซากศพเน่า ขนมบูด ในน้ำครำ ในเถ้าไคล (คงจะเป็นพวก ตัวหนอนต่างๆซึ่งที่แรกเป็นจุดนิดเดียว แล้วขยายตัวโตเต็มที่ภายในไม่ถึงนาที)

โอปปาติกะกำเนิด ได้แก่ เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางพวก และเปรตบางพวก

สามประการแรกมนุษย์วิทยาศาสตร์รู้จัก ประการที่ ๔ นี้ไม่รู้จัก แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านประทานความรู้ไว้ว่า ต้องฝึกจิตให้ได้ฌาน ๔ เสียก่อนจึงจะรู้ได้

การฝึกจิตนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต ที่มนุษย์วิทยาศาสตร์พัฒนาไปไม่ถึง แต่สมัยพุทธกาลคนพัฒนากันมาแล้ว ข้อนี้จะต้องรอดูกันต่อไป

( สำหรับผู้มีความศรัทธาคือเชื่อพระปัญญาของพระพุทธเจ้า จะเชื่อคำตรัสนี้จนกว่าจะรู้ได้ด้วยตนเอง)

๓. การเกิดของคน

การเกิดของคนนั้นอยู่ในพวก ชลาพุชะกำเนิด คือชำแรกไส้ หรือเกิดในมดลูก

๓.๑ มนุษย์วิทยาศาสตร์รับเอาง่ายๆว่า ผัวเมียอยู่ด้วยกันย่อมมีลูกเป็นธรรมดา ทำให้เด็กวิทยาศาสตร์มีความคิดว่า ตัวเองเกิดมาเพราะความสนุกของพ่อแม่

พระพุทธเจ้าประทานความรู้ไว้ใน เล่ม ๑๒ หน้า ๓๙๘ ว่า ต้องมีปัจจัย ๓ ประการประชุมพร้อมกันจึงจะมีการเกิดได้ ปัจจัยทั้งสาม คือ

มารดา บิดาอยู่ร่วมกัน

มารดามีระดู

ทารกที่จะมาเกิดก็ปรากฏด้วย

หากไม่ครบปัจจัย ๓ การเกิดก็ไม่มี

คำว่า “ทารกที่จะมาเกิด” นี้เห็นได้ว่ามาปรากฏก่อนที่จะมาเกิด ดังนั้นปัญหาจึงมีว่า ทารกที่จะมาเกิดนี้คืออะไร

กลับไปดูใน เล่ม ๔ หน้า ๑๕๓ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

“จิตดวงแรกใดเกิดแล้วในอุทรมารดา วิญญาณดวงแรกปรากฏแล้ว อาศัยจิตดวงแรก วิญญาณดวงแรกนั่นแหละเป็นความเกิดของสัตว์”

เล่ม ๑ หน้า ๓๔๘ จำกัดความ “กายมนุษย์” ไว้ว่า

“ได้แก่จิตแรกเกิดขึ้น คือ ปฐมวิญญาณปรากฏขึ้นในท้องแห่งมารดา ตราบเท่าถึงการเป็นตาย อัตภาพในระหว่างนี้ชื่อว่า กายมนุษย์”

เล่ม ๑๐ หน้า ๒๙๕ บ่งว่า

“กายนี้ประกอบด้วย อายุ ไออุ่น และ วิญญาณ”

เมื่อพิจารณาประกอบกันแล้ว สรุป ได้ว่า จิตเป็นตัวมาเกิด เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ การเกิดของวิญญาณคือการเกิดของมนุษย์ ดังนั้นธรรมะจึงบ่งว่าคนเราเกิดมาเพราะมีปัจจัยมากระทำ

อนึ่งการที่จิตมาเกิดนี้ ยังมีรายละเอียดลงไปอีกสำหรับการเกิดทั้ง ๔ ประเภท เรียกว่า “ความได้อัตภาพ ๔” มีปรากฏใน เล่ม ๒๑ หน้า ๑๘๖ ว่า

ก. ได้ตามสัญเจตนาของตนเป็นไป ไม่ใช่ของผู้อื่น

ข. ได้ตามสัญเจตนาของผู้อื่นเป็นไป ไม่ใช่ของตน

ค. ได้ตามสัญเจตนาของตนด้วย ของผู้อื่นด้วย

ง. ได้ตามสัญเจตนาของตนก็มิใช่ ของผู้อื่นก็มิใช่

สำหรับข้อ ง. นี้ พระพุทธเจ้าทรงอธิบายต่อ ท่านสารีบุตรว่า เช่นเทวดาทั้งหลายที่เข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ นั้นแหละ

เด็กวิทยาศาสตร์ที่ว่าตัวเกิดมา เพราะความสนุกของพ่อแม่นั้น เมื่อดูจากที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วก็เห็นได้ว่าไม่ถูก เพราะนั่นเป็นปัจจัยเดียวในข้อ “บิดามารดาอยู่ร่วมกัน”

ความจริงเด็กก็ต้องรับผิดชอบในฐานะเป็น “ทารกที่จะมาบังเกิดปรากฏ” ด้วยอีกปัจจัยหนึ่ง

๓.๒ ในขณะกำลังเกิดและอยู่ในครรภ์

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เล่ม ๑๑ หน้า ๙๒ ว่าการก้าวลงสู่ครรภ์นั้นมี ๔ อย่าง

ก. ไม่รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์ ไม่รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์ ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์

ข. รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์ ไม่รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์ ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์

ค. รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์ รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์ ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์

ง. รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์ รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์ รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์

รายละเอียดในเรื่องนี้ยากที่จะรู้จริงได้ด้วยความรู้ธรรมดา ส่วนมากจะอยู่ในกรณี ก. กันทั้งนั้น ในข้ออื่นๆคงจะมีน้อยเต็มที

ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงพระอรหันต์ ที่พูดว่าตัวท่านรู้สึกว่าเป็นทุกข์ตั้งแต่อยู่ในท้องทีเดียว

ส่วนตัวอย่างสมัยวิทยาศาสตร์ก็มีเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า เด็กไทยอายุ ๑๒ เข้าเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา และปรากฏว่า แม่ของเด็กพูดกับลูกของตนอยู่เรื่อยๆขณะที่อยู่ในท้อง เรื่องนี้อาจแสดงว่าเด็กรู้สึกตัวอยู่ในครรภ์ จึงสามารถรับความรู้และพัฒนาสมองตั้งแต่ยังไม่เกิดก็เป็นได้

ควรถือว่าน่าเป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าตรัส แต่เราไม่มีปัญญาจะรู้เท่านั้นเอง

๓.๓ ระหว่างการเกิดเป็นตัว

เล่ม ๒๐ หน้า ๒๐๐

“เพราะถือมั่นธาตุ ๖ สัตว์จึงลงสู่ครรภ์ เมื่อมีการลงสู่ครรภ์จึงมีนามรูป”

เล่ม ๒๘ หน้า ๕๕

“เมื่อมารดามีระดู ความก้าวลงแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ก็ย่อมมี เพราะสัตว์เกิดในครรภ์นั้น มารดาจึงแพ้ท้อง”

เล่ม ๑๕ หน้า ๒๔๘

“รูปนี้เป็นกลละก่อน จากกลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเป็นเปสิ จากเปสิเป็นฆนะ จากฆนะเป็น ๕ ปุ่ม (ปัญจสาขา) ต่อจากนั้นมี ผม ขน และเล็บ เกิดขึ้น”

มนุษย์วิทยาศาสตร์น่าจะไม่ทราบสภาพการเป็นกลละ อัพพุทะ เปสิ และฆนะ คงมารู้เอาตอนปัญจสาขา คือ หัว แขน และขาเท่านั้น

๔. หลังการเกิด

เรื่องภายหลังการเกิด เป็นเรื่องที่ทราบกันดี มีการเจริญเติบโตและการแก่ การเจ็บ ไม่จำเป็นต้องพูดอีก ส่วนที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นส่วนมากเป็นการปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ เป็นเรื่องของธรรมะทั้งสิ้น

๕. การตาย

สำหรับการตายนี้ จากที่อ้างมาข้างต้น ก็ควรสรุปได้ว่าเมื่อวิญญาณดับคนก็ตาย

เล่ม ๑๗ หน้า ๑๕๒

“ท่านจงดูรูปอันบุคคลทิ้งแล้ว อายุ ไออุ่นและวิญญาณ ย่อมละกายนี้เมื่อใด เมื่อนั้นกายนี้อันเขาทอดทิ้งแล้ว ย่อมเป็นเหยื่อแก่สัตว์”

ในตอนเกิด จิตเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ เมื่อตายวิญญาณดับลง จิตก็จะไปเกิดอีกตามกรรมที่ทำไว้ เห็นได้ว่าจิตกับวิญญาณเป็นคนละเรื่องกัน

หากจะพูดว่าวิญญาณนี่แหละเป็นตัวเวียนตายเวียนเกิด ก็ต้องเรียกว่าพูดผิด เพราะตัวเวียนตายเวียนเกิดในวัฏสงสารก็คือ จิต ต่างหาก

๖. ภายหลังการตาย

เมื่อคน (และสัตว์)ตายแล้วก็ไปเกิดตามกรรมที่ทำไว้ และไปสู่คติใดคติหนึ่งใน ๕ คติ (จิตไปเกิดในคติทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง)

คติ ๕ มีปรากฏในหลายแห่ง เช่น

เล่ม ๑๑ หน้า ๒๒๔ เล่ม ๑๒ หน้า๑๑๗ เล่ม ๒๓ หน้า ๔๒๔ เป็นต้น บ่งว่ามี

นิริยะ ( กำเนิดสัตว์นรก)

ติรัจฉานโยนิ ( กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน)

ปิตติวิสัย (เปรต)

มนุสสะ ( มนุษย์)

เทวะ ( เทวดารวมไปถึงพรหมด้วย )

สัตว์ทั้งหลายเมื่อตายลงไปก็เวียนเกิดกันอยู่ในคติทั้ง ๕ นี้แหละ

เล่ม ๒๐ หน้า ๔๕ ท่านบ่งรายละเอียดไว้ซึ่งสรุปว่า

มนุษย์ เมื่อตายแล้วจะเกิดเป็นมนุษย์อีก หรือเทวดามีน้อย ส่วนมากไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต หรือสัตว์เดรัจฉาน

เทวดา เมื่อตายแล้วจะเกิดเป็นเทวดา หรือมนุษย์มีน้อย ส่วนมากไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต หรือสัตว์เดรัจฉาน

สัตว์นรก เปรต และสัตว์เดรัจฉาน เมื่อตายแล้วจะเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดามีน้อย ส่วนมากไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต หรือสัตว์เดรัจฉาน

ในบรรดาคติทั้ง ๕ นั้น มนุษย์วิทยาศาสตร์มองเห็นอยู่แล้ว ๒ อย่างคือ มนุษย์กับสัตว์เดรัจฉาน อย่างอื่นมองไม่เห็นเลยไม่เชื่อ ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าท่านก็ประทานความรู้ไว้แล้วว่า หากฝึกจิตไปถึง ฌาน ๔ และน้อมเข้าไปใน จุตูปปาตญาณ ก็จะเห็นการตายการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย

บรรดาพระสาวกที่มีฤทธานุภาพ ต่างก็สามารถเป็นพยานในคติทั้ง ๕ นี้ได้ว่ามีดังนั้นจริง มีการไปเยี่ยมเทวดา ถามว่าทำกรรมอะไรมาจึงได้วิมานสวย หรือถามเปรตว่าทำกรรมอะไรมาจึงได้มาเป็นเปรต เป็นต้น

สำหรับนรกนั้นไม่ค่อยได้ไปเยี่ยมถามกัน เพราะพูดกันว่าหากพระอรหันต์ลงไปที่นรกแล้วไฟนรกจะดับ ทำให้เป็นการวุ่นวายต่อปกติของที่นั่น

นอกจากที่กล่าวไว้มากมายหลายแห่งนับไม่ถ้วน หลักฐานที่รู้กันเป็นส่วนมากก็คือ

เล่ม ๑๔ หน้า ๓๑๗

เป็นเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมบนสวรรค์ คือประทับที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์แสดงว่ามีเทวโลก มีเทวดา เรื่องพรหมโลก ก็มีเรื่องเสด็จไปแสดงฤทธิ์กับพระพรหม (อาจรู้จักกันว่าผกาพรหมบ้าง พกาพรหมบ้าง)

เรื่องเปรตที่รู้จักกันดีก็คือเรื่อง พระลักษณะ ได้ฟังท่านโมคัลลานะ บอกว่าเห็นเปรต เลยฟ้องพระพุทธเจ้าว่า ท่านโมคัลลานะอวดอุตริมนุสธรรม พระพุทธเจ้าทรงตอบว่าที่ท่านโมคัลลานะเห็นเปรตนั้นเป็นความจริง พระองค์เคยเห็นแต่ไม่ได้เล่า เพราะอาจเกิดโทษแก่ผู้อื่น

เล่ม ๑๖ หน้า ๒๘๙

“หากว่าเราพยากรณ์สัตว์นั้นไซร้ คนอื่นๆก็จะไม่พึงเชื่อถือเรา ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้ไม่เชื่อเรา”

สำนวนนี้ผู้อ่านพระไตรปิฎกจะเข้าใจได้ทันทีว่า หากพระพุทธเจ้าทรงเล่าออกไปว่าเห็นเปรต ถ้าคนฟังไม่เชื่อก็จะตกนรก ( คงในฐานปรามาสว่าพระพุทธเจ้าพูดโกหก )

หลักฐานเกี่ยวกับนรกมีปรากฏใน เล่ม ๒๐ หน้า ๑๕๘-๑๕๙ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ก็มหานรกนั้นมี ๔ มุม ๔ ประตู จัดแบ่งออกเป็นห้องๆ มีกำแพงเหล็กล้อมรอบครอบด้วยฝาเหล็กแดง มีพื้นแล้วด้วยเหล็กไฟลุกโชน ประกอบด้วยเปลว แผ่ไปไกลร้อยโยชน์ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เรามิได้ฟังข้อความนั้นต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆแล้วจึงกล่าวอย่างนี้ แต่ว่าเราได้รู้มาเอง เห็นมาเอง ทราบมาเอง จึงได้กล่าวดังนั้น”

โดยสรุปคติ ๕ นี้ ท่านไม่ได้ตรัสไว้ลอยๆมีหลักฐานอื่นประกอบว่ามีอยู่จริง เราทั้งหลายเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในคติ ๕ นี้ทั้งนั้น

ขอแวะกล่าวสักนิดหนึ่งถึงพวกไม่เชื่อสวรรค์-นรก ที่พูดอย่างเย้ยๆว่า

ถ้าเทวดามีจริงแล้ว ทำไมสุคติของเทวดาจึงเป็นมนุษย์ล่ะ?

คำกล่าวนี้ย่อมแสดงความโง่ หรือความไม่มีสติปัญญาของผู้พูด

โง่ คือไม่รู้ในคติ ๕

ไม่มีปัญญา คือไม่คิดบ้างว่าเมื่อกินบุญในฐานะเทวดาหมดไป จนเกิดเป็นเทวดาไม่ได้อีกแล้ว ก็จะต้องไปเกิดในคติใดคติหนึ่งใน ๔ คติที่เหลื่ออยู่ และในบรรดา ๔ คตินั้น มนุษย์ดีกว่าเพื่อน

พวกที่โง่และไม่มีสติปัญญาเช่นนี้แหละที่มักไม่เชื่อคำสอนอื่นๆของพระพุทธเจ้า

๗. สรุป

มนุษย์วิทยาศาสตร์รู้แค่การเกิดการตายของชาตินี้เท่านั้น แต่พระพุทธเจ้าทรงทราบละเอียดตั้งแต่ก่อนเกิด ขณะกำลังเกิด อาการที่เกิด และหลังจากตายไปแล้ว ศัพท์สมัยนี้ต้องพูดว่าได้ประทานความรู้ เรื่องการเกิดการตายแบบครบวงจรไว้ให้ (แต่คนก็ไม่ปรารถนาจะฟัง มิหนำซ้ำหาว่าความคิดเช่นนั้นเป็นการงมงายเสียอีก)

๘. ข้อคิด

มีคำถามว่าเมื่อจิตเป็นตัวปัจจัยทำให้เกิดอยู่เรื่อยไปในคติทั้ง ๕ เพราะมีตัณหาเป็นแรงส่งให้เกิด (สมุทัย ในอริยสัจ ๔) ดังนี้แล้ว หากหมดตัณหาไม่มีแรงส่งให้จิตนั้นไปเกิด จะเกิดอะไรขึ้นกับจิตนั้น

ตอบได้ตรงๆว่า จิตนั้นก็ไม่เป็นปัจจัยให้มีการเกิดเป็นนิพพาน ท่านจึงตรัสถึงนิพพานว่าเป็นนิพพานที่ไม่เกิด เมื่อไม่เกิดก็ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นภาวะที่ปัจจัยทำอะไรไม่ได้

( คือจิตเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณไม่มีทางเกิดอีก เพราะไม่มีเชื้อจึงดับไปเหมือนดวงประทีปที่หมดเชื้อ)

โดยนัยนี้จิตจึงมีความสุข ( นิรามิสสุข ) ได้ชั่วนิรันดร์เป็นอมตะ

เล่ม ๒๐ หน้า ๒๖๗

“จิตของท่านที่ประกอบด้วยวิมุติ อันเป็นที่สิ้นตัณหาย่อมหลุดพ้นจากสังขารธรรม เพราะวิญญาณดับสนิทเหมือนความดับไปแห่งดวงประทีปฉะนั้น”

เล่ม ๒๕ หน้า ๒๓๐

“ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้วมีอยู่”

หลักฐานมีครบถ้วนอยู่แล้วในพระไตรปิฎก ไม่ทราบไปเอาจากไหนมาพูดกันว่านิพพานแล้วสูญ หากนิพพานแล้วสูญข้อความต่อไปนี้คงไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก

เล่ม ๒๕ หน้า ๔๒๙

“นามรูปมีความสาบสูญไปเป็นธรรมดา นิพพานมีความไม่สาบสูญไปเป็นธรรมดา เป็นสุข”

เล่ม ๒๕ หน้า ๑๗๕

“อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสองย่อมไม่มีในอายตนะนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่าเป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”

เล่ม ๑๒ หน้า ๔๘๘

“นิพพาน อันผู้บรรลุพึงรู้แจ้งได้ เป็น อนิทัสสนะ (ไม่เห็นได้ด้วยจักษุวิญญาณ) เป็น อนันตะ (ไม่มีที่สุดหรือหายไปจากความเกิดขึ้นและความเสื่อม) มีรัศมีในที่ทั้งปวง”

ยังอ้างได้อีกหลายแห่ง แต่แค่ ๓ แห่งนี้ ก็น่าจะเป็นการพอเพียงแล้ว


◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 28/9/09 at 15:32 Reply With Quote


(Update 28 ก.ย. 52 ตอนที่ 19)

หวังนิพพานก็เป็นกิเลส กับ ควรติเตียนแต่ไม่ควรติเตียน


โดย ก.ษ.ป.
จากธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๐๐



หวังนิพพานก็เป็นกิเลส


คนบางคนเห็นว่าอะไรๆก็เป็นกิเลสหมด พอพูดถึงนิพพานก็บอกว่าต้องการนิพพานก็เป็นกิเลส เอากะแกซี ปัญหานี้แก้ไขยาก เคยเจอมาแล้วจริงๆแก้เขาไม่ออกด้วย

เมื่อแก้ไม่ออก นานๆว่างๆก็ต้องเอามาใคร่ครวญเสียทีหนึ่ง ไปๆมาๆก็มาสงสัยว่ากิเลสนี่อะไรกันแน่ แยกกับตัณหายังไง ก็ยังแยกไม่ค่อยจะออก เลยต้องมาค้นเรื่องกิเลสกันอีก

เล่ม ๑๗ หน้า ๒๑๐ ( ภวเนตติสูตร)

“ท่านพระราธะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่ากิเลสเครื่องนำไปในภพฯดังนี้ กิเลสเครื่องนำไปในภพเป็นไฉน ความดับกิเลสเครื่องนำในภพเป็นไฉน

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกร ราธะ ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิน ความทะยานอยาก ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งอยู่อาศัยแห่งจิตในรูปนี้ เรากล่าวว่ากิเลสเครื่องนำไปในภพ

เพราะความดับสนิทแห่งกิเลสเหล่านั้นเรากล่าวว่า เป็นธรรมที่ดับสนิทแห่งกิเลสเครื่องนำไปในภพฯลฯ” (ตรัสอย่างเดียวกันในเรื่องเวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ...

คำจำกัดความนี้เห็นจะกว้างขวางพอที่จะคลุมกิเลสที่แตกเป็นข้อย่อย เช่น

“กิเลสเครื่องกังวล” มี ราคะ โทสะ โมหะ

“กิเลสเครื่องฟูขึ้น” ๗ อย่าง ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฐิ กิเลส กรรม เป็นต้นได้

การปฏิบัติเพื่อพระนิพพานคือการตัดเครื่องนำไปในภพ หรือการตัดกิเลสนั่นเอง หากการตัดกิเลสเป็นกิเลสด้วยแล้ว ก็ต้องเรียกว่าพูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว

ถ้าไปพบคนลักษณะนี้เข้าควรรีบเดินหนีโดยด่วน .... เดินหนีโดยด่วน.



ควรติเตียนแต่ไม่ควรติเตียน


เล่ม ๑๘ หน้า ๑๔๒

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เหมือนถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุณีใคร่ครวญให้ตระหนักแน่ก่อนแล้วติเตียนผู้ควรติเตียน ๑ ......”

เล่ม ๑๕ หน้า ๑๑ ( ตรัสตอบเทวดา)

“ภิกษุยั้งวิตกในใจได้ เหมือนเต่าหดอวัยวะทั้งหลายไว้ในกระดองของตน อันตัณหานิสัย และทิฐินิสัย ไม่พัวพันแล้ว ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ปรินิพพานแล้ว ไม่พึงติเตียนใครๆ”

เล่ม ๑๘ หน้า ๒๑๒

“ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นในมโนวิตก อันตัณหา มานะ และ ทิฐิ ไม่อิงอาศัย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ดับกิเลสได้แล้ว ไม่ติเตียนผู้ใดผู้หนึ่ง เหมือนเต่าหดคอและขาอยู่ในกระดองของตนฉะนั้น”

เล่ม ๒๕ หน้า ๔๖๖

“ภิกษุผู้อันอุปัชฌายะเป็นต้น ตักเตือนแล้วด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติยินดี รับคำตักเตือนนั้น พึงทำลายตะปูคือความโกรธในสพรหมจารี พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศลไม่ให้ล่วงเวลา ไม่พึงคิดในการกล่าวติเตียนผู้อื่น...

จากที่หลายแห่งนี้ ดูจะทำให้รู้สึกขัดกันว่าแห่งหนึ่งบ่งให้รู้จักตำหนิคนที่ควรตำหนิ อีกแห่งหนึ่งไม่พึงตำหนิใครๆ ดูจะเป็นการค้านกันอยู่ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น คำตอบดูจะมีอยู่ใน

เล่ม ๑๔ หน้า ๓๖๒

“ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้จักการยกยอและตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรมมเท่านั้น”

สรุปแล้วเมื่อควรตำหนิก็ตำหนิได้ แต่อย่าพูดตำหนิเจาะจงไปตรงๆให้ใช้วิธีแสดงธรรมเป็กลางๆไป

ตัวอย่างตามที่ยกมามีใน เล่ม ๑๔ หน้า ๓๖๒ นั่นเอง

“เมื่อกล่าว่า ชนเหล่าใด ประกอบเนืองๆซึ่งความเพียร เครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง”

“กล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิดดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น”

เรื่องนี้ยกมาแสดงเพื่อสนับสนุนข้อที่ว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้นไม่มีการขัดกัน ขอให้อ่านตำราดีๆ ก็แล้วกัน


◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((((((โปรดติดตามตอนต่อไป))))))))))




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 17/10/09 at 13:48 Reply With Quote


(Update 17 ต.ค. 52 ตอนที่ 20)

พระวินัยที่มักเข้าใจกันผิด


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๘๑
พุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้พระวินัยแล้วกล่าวโทษพระภิกษุผิดๆเพราะความไม่รู้ของตนเอง เช่น หากใคร(ภิกษุ) พูดถึงเรื่องอันเป็น อุตริมนุสสธรรม เข้าก็หาว่าพูดอย่างนั้นเป็น ปาราชิก ไม่ใช่พระเสียแล้ว หรือเข้าใจว่าเวลาเข้าพรรษาละก้อพระจะไปค้างที่ไหนไม่ได้เอาเสียเลย

การกล่าวร้ายต่อภิกษุที่ท่านไม่ได้ทำผิดนั้นมีโทษ โดยเฉพาะถ้าหากท่านเป็นพระอริยะ มีพระอรหันต์องค์หนึ่ง (จำได้เลาๆว่าจะเป็นท่านอัมพปาลี) เล่าประวัติในอดีตชาติของท่านว่า ด้วยโทสะจึงได้กล่าวคำผรุสวาทต่อภิกษุณีองค์หนึ่งว่าเป็นหญิงแพศยา ปรากฏว่าภิกษุณีนั้นเป็นพระอรหันต์ ในชาติต่อๆมา ท่านได้เกิดมาแล้วเป็นหญิงแพศยาเสียเอง ๑๐,๐๐๐ ชาติ กรรมนั้นก็ยังไม่หมด

หรือสุปปพุทธกุฏฐิ ชายยากจนเป็นโรคเรื้อน พระพุทธเจ้าทรงเล่าประวัติว่า สมัยหนึ่งมีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเป็นโรคเรื้อน เดินผ่านมาแล้ว สุปปพุทธกุฏฐิ ถ่มน้ำลายหลีกไปด้วยความดูถูก ผลของกรรมนั้นจึงทำให้ตนเองเป็นโรคเรื้อนเป็นต้น

เมื่อการไม่รู้หรือไม่เข้าใจในพระวินัย อาจเป็นเหตุให้ผู้ไม่รู้ไม่เข้าใจไปตำหนิพระเข้าอย่างผิดๆ จึงขอนำพระวินัยที่มักเข้าใจกันผิดๆมาแสดงไว้บ้าง

๑. การอวดอุตตริมนุสสธรรม

คำว่า อุตตริมนุสสธรรม มักจะเข้าใจกันว่าเป็นอะไรที่แผลงๆพิสดารผิดมนุษย์ ความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น หากเป็นคุณธรรมอันประเสริฐยากที่มนุษย์ธรรมดาจะมีได้

ตันเรื่องของพระบัญญัติอันเกี่ยวกับอุตตริมนุสสธรรมนี้มีว่า ที่วัชชีชนบทเกิดอัตคัดอาหารขึ้น ภิกษุต่างๆจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี (เล่ม ๑ หน้า ๓๙๐) แล้วตกลงว่าให้ใช้วิธีกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกัน แก่พวกคฤหัสถ์ ว่า ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมฌาน รูปโน้นได้ทุติฌาน รูปโน้นได้ตติยฌาน รูปโน้นได้จตุตถฌาน รูปโน้นเป็นพระโสดาบัน รูปโน้นเป็นพระสกิทาคามี รูปโน้นเป็นพระอนาคามี รูปโน้นเป็นพระอรหันต์ รูปโน้นได้วิชชาสาม รูปโน้นได้อภิญญาหก จึงได้มีประชาชนนำโภชนะดีๆมาถวาย ด้วยเห็นว่าเป็นลาภของเขา

พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงก็ตรัสถามว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย คุณวิเศษของพวกเธอมีจริงหรือ”

ภิกษุทูลตอบว่า “ไม่มีจริงพระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้องเล่า”

จากนั้นจึงตรัสถึงโจร ๕ จำพวก ซึ่งเทียบมาหาภิกษุแล้วก็ได้แก่

๑. ภิกษุที่อยากมีผู้ติดตามมากๆ มีคฤหัสถ์และบรรพชิต สักการะ เคารพนับถือ บูชา ได้ปัจจัย ๔ มาก

๒. ภิกษุที่เล่าเรียนธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว และยกตนขึ้น

๓. ภิกษุที่ตามกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ อันหามูลมิได้

๔. ภิกษุที่เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลายด้วยครุภัณฑ์ ครุบริวารของสงฆ์

๕. ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ ไม่เป็นจริง (พวกนี้ทรงจัดไว้เป็นยอดมหาโจร เพราะฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นด้วยอาการแห่งคนขโมย)

ส่วนมากมักจะเพ่งกันแค่ข้อ ๕ อีก ๔ ข้อแรกไม่ได้เอาใจใส่กันเลย

จากนั้นจึงทรงบัญญัติสิกขาบท เล่ม ๑ หน้า ๓๙๓

พระปฐมบัญญัติ

“อนึ่งภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมอันเป็นความรู้ความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้นอันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาก็ตาม ไม่ถือเอาก็ตามเป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้นได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้นได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆเป็นเท็จไปเปล่าๆ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้”

แปลเป็นภาษาง่ายๆว่า ไปพูดว่ามีอุตตริมนุสสธรรมเข้า โดยที่ตัวไม่มีคุณสมบัตินั้นจริง จะมีคนเชื่อก็ตามไม่เชื่อก็ตาม หรือในภายหลังจะไปชี้แจงให้ทราบว่าที่ตนได้พูดไปนั้นไม่จริงหรอก อย่างนี้ก็อาบัติปาราชิกทั้งนั้น

พระบัญญัตินี้มีข้อยกเว้นไม่ต้องอาบัติเหมือนกัน

เล่ม ๑ หน้า ๓๙๔

“มีพระอนุบัญญัติยกเว้นว่าไม่อาบัติปาราชิก หากสำคัญว่าได้บรรลุ”

เล่ม ๑ หน้า ๔๙๔ อนาปัตติวาร

“ภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ ๑, ภิกษุวิกลจริต ๑, ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน๑, ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนา ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติ”

(ภิกษุอาทิกัมมิกะ คือ ภิกษุผู้เป็นต้นเหตุ ให้ทรงบัญญัติพระวินัยข้อนั้นๆ)

จะขอยกตัวอย่างประกอบสัก ๒-๓ เรื่อง

เล่ม ๑ หน้า ๔๙๙ เรื่อง “ทำไม่ยาก”

ความว่าภิกษุอาพาธรูปหนึ่งกล่าวกับภิกษุอื่นว่า การทำพระอรหัตผลให้แจ้งไม่ใช่ของยาก พูดไปแล้วก็สงสัยว่าจะปาราชิกเสียแล้วกระมัง จึงไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า

“ดูก่อนภิกษุ เธอคิดอย่างไร”

ภิกษุ “ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มีความประสงค์จะพูดอวดพระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า “ภิกษุผู้ไม่มีความประสงค์จะพูดอวดไม่ต้องอาบัติ”

เล่ม ๑ หน้า ๕๐๗

ท่านโมคคัลลานะเล่าว่าเห็นเปรต ภิกษุฟ้องว่าท่านโมคคัลลานะอวดอุตตริมนุสสธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อก่อนนี้พระองค์ก็ทรงเคยเห็นแต่ไม่ได้ทรงพยากรณ์(พูด) เพราะเกรงผู้ไม่เชื่อจะมีโทษชั่วกาลนาน(ตกนรก?) สำหรับเรื่องนี้ทรงตัดสินว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะพูดจริง โมคคัลลานะไม่ต้องอาบัติ”

เล่ม ๑ หน้า ๕๑๗

ท่านพระโสภิตะเรียกพระภิกษุมากล่าวว่า

“ดูกร อาวุโสทั้งหลาย เราละลึกชาติได้ ๕๐๐ กัลป์

ภิกษุไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่าท่านพระโสภิตะกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชาตินี้ของโสภิตะมีอยู่ แต่มีชาติเดียวเท่านั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย โสภิตะพูดจริง โสภิตะไม่ต้องอาบัติ”

เล่ม ๑๙ หน้า ๒๗๙

ที่โฆสิตารามใกล้เมืองโกสัมพี

“ก็สมัยนั้นท่านบิลโฑลภารทวาชะได้พยากรณ์อรหัตผลว่า เรารู้ชัดว่าชาตินี้สิ้นแล้ว... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”

ภิกษุทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะเห็นอำนาจประโยชน์อะไรหนอจึงพยากรณ์อรหัตผลว่า...... พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๓ ประการ อันตนเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว (คือสตินทรีย์ ๑, สมาธินทรีย์ ๑, ปัญญินทรีย์ ๑)ภิกษุบิณโฑลภารทวาชะจึงพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า...”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อินทรีย์ ๓ ประการนี้มีอะไรเป็นที่สุด, มีความสิ้นเป็นที่สุด, มีความสิ้นอะไรเป็นที่สุด มีความสิ้นแห่งชาติ ชรา และมรณะเป็นที่สุด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบิณโฑลภารทวาชะ เห็นว่าความสิ้นแห่งชาติ ชรา และมรณะ ดังนี้แล จึงพยากรณ์อรหัตผลว่า เรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”

ในตัวอย่างหลังนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตำหนิว่า ท่านบิณโฑลภารทวาชะอวดอุตตริมนุสสธรรม

จะเห็นได้ว่าการกล่าวว่าตนเองมีอุตตริมนุสสธรรมนั้น ในเมื่อพูดจริงไม่เป็นการตั้งใจอวด และพูดเพราะเห็นอำนาจประโยชน์แล้ว พระพุทธเจ้าไม่ทรงปรับเป็นอาบัติ

แต่แม้จะมีอุตตริมนุสสธรรมจริงๆ หากเอาไปใช้เพื่อหาสักการะลาภผล ท่านก็ทรงปรับเป็นอาบัติปาจิตตีย์ไม่ใช่ปาราชิก

เล่ม ๒ หน้า ๓๖๙

ต้นเรื่องมีว่าเกิดอัตคัดที่วัชชีชนบท ภิกษุกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้คนนำสักการะมาถวายมาก

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า (หน้า ๓๗๒) “ดูกรภิกษุ คุณวิเศษของพวกเธอนั่นมีจริงหรือ”

ภิกษุ “มีจริงพระพุทธเจ้าข้า”

ทรงตำหนิว่า “การกระทำของเธอนั้นไม่เป็นความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว”

(ขอให้สังเกตว่าไม่ทรงตำหนิว่าเป็นมหาโจร เหมือนกรณีไม่มีคุณสมบัติจริง)

จากนั้นจึงทรงมีพระบัญญัติ

พระบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุใดบอกอุตตริมนุสสธรรมแก่อนุปสัมบันเป็นปาจิตตีย์ เพราะมีจริงๆ

พระบัญญัตินี้ทรงใช้คำว่า “บอก” ไม่ใช่ “อวด”

ส่วนคำว่า อนุปสัมบัน นั้น มีคำอธิบายท้ายเล่มว่า คือคนที่ไม่ใช่ภิกษุภิกษุณี

มีข้อสังเกตว่าถ้าหากบอกกับ อุปสัมบัน ก็ย่อมไม่เป็น อาบัติปาจิตตีย์ (บ่งในอนาบัตติวาร เล่ม ๒ หน้า ๔๑๑)

ด้วยเหตุนี้จึงควรระวังไว้ว่า ไม่ควรถือเอาว่าพระองค์ใดกล่าวว่าตนมีอุตตริมนุสสธรรมอย่างนั้นอย่างนี้แล้วต้องปาราชิกหมด เพราะหากท่านมีจริงจะอาบัติแค่ปาจิตตีย์เท่านั้น

อาบัติปาจิตตีย์ เป็นอย่างไรนั้นยกตัวอย่างให้เห็นได้

เล่ม ๒ หน้า ๔๔๐

มีพระบัญญัติว่า “ ภิกษุปูที่นอนหรือให้ปูที่นอน เสร็จแล้วไปเสียโดยไม่เก็บหรือไม่ให้คนเก็บให้ เป็นปาจิตตีย์”

เล่ม ๒ หน้า ๖๐๐

มีพระบัญญัติว่า “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะจี้ด้วยนิ้วมือ”

เล่ม ๒ หน้า ๖๑๐

“อนึ่งภิกษุหลอนซึ่งพระภิกษุ เป็นปาจิตตีย์”

๒. เรื่องพระจับเงินไม่ได้

ดูเหมือนว่าพุทธศาสนิกชนจะเพ่งกันเฉพาะว่าพระที่จับเงินนั้นผิด พระที่ไม่ยอมจับเงินเป็นพระที่น่านับถือ ความเข้าใจผิดเพราะว่าเมื่อรับเงินแล้ว จะจับหรือไม่จับก็ผิดเท่ากันนั่นแหละ

เล่ม ๒ หน้า ๑๓๒

พระบัญญัติ

อนึ่งภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองเงิน หรือยินดี ทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

(นิสสัคคิยปาจิตตีย์ คือ แสดงอาบัติ แล้วสละแก่สงฆ์)

หากจะแก้ว่าไม่ได้รับเงิน รับแต่จตุปัจจัยที่เขาปวารณา ความจริงก็มีอยู่ว่าเขาถวายเป็นเงินอยู่ดีมัคคทายกรับไว้แทน เก็บไว้ให้ ก็ตรงกับกรณี “ให้รับ” ซึ่งผิดเหมือนกัน ก็ถ้าเขาถวายจตุปัจจัยไว้เป็นตัวเงินแล้ว พระรับเองด้วยมืออย่างนี้ก็มีค่าเท่าๆกัน คือผิดด้วยกันนั่นแหละ

จะถามต่อไปอีกสักนิดก็ได้ว่า เวลาเบิกจากมัคทายกนั้นเบิกมาเป็นเงินหรือเบิกมาเป็นจตุปัจจัยกันแน่

อีกคำถามหนึ่ง คือ พระบัญัญัติท่านบ่งให้สละแก่สงฆ์ หากมีผู้ถวายเงินและทองแก่สงฆ์โดยตรง แล้วพระท่านรับไว้ด้วยมือแทนสงฆ์ละ จะผิดไหม?

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการที่มาเพ่งจับผิด พระว่าจะสัมผัสกับเงินหรือไม่ พระองค์ไหนไม่ยอมสัมผัสเงิน(ให้ผู้อื่นรับแทนหรือให้ใส่ไว้ในยาม) จึงจะเป็นพระที่เคร่งนั้นไม่ใช่ความเห็นที่ถูกเลยทีเดียว ควรจะดูกันที่ว่า

พระองค์นั้นยินดีในเงินและทองหรือเปล่ามากกว่า

๓. เรื่องเข้าพรรษาแล้วพระไปค้างที่อื่นไม่ได้

มีคนเป็นจำนวนมากทีเดียวที่เข้าใจว่าระหว่างเข้าพรรษา พระจะไปไหนไม่ได้

เล่ม ๔ หน้า ๒๖๕

เล่าถึงอุบาสกชื่อ อุเทน สร้างวิหารอุทิศต่อสงฆ์ไว้ในโกศลชนบท ได้ส่งทูตไปอาราธนาภิกษุทั้งหลาย แต่ภิกษุทั้งหลายตอบว่า

“ท่านอุบาสก พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่าภิกษุจำพรรษาไม่อยู่ให้ตลอด ๓ เดือนต้น หรือ ๓ เดือนหลังไม่พึงหลีกไปสู่จาริก”

อุบาสกเพ่งโทษ ติเตียน ภิกษุจึงกราบทูลเรื่องแด่พระผู้มีพระภาค ใน หน้า ๒๖๖ มีบ่งว่า

“ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมกถา เพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น แล้วรับสั่งกับพระภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล ๗ จำพวกส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไปด้วย สัตตาหะกรณียะ ได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งทูตมา เราไม่อนุญาตบุคคล ๗ จำพวกคือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล ๗ จำพวกนี้ส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไปด้วย สัตตาหะกรณียะ ได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งมาพึงกลับใน ๗ วัน”

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า เมื่อมีสภาพถูกต้องตามที่ทรงอนุญาตไว้ พระก็ไปจากวัดได้ไม่เกิน ๗ วัน อย่าไปหาว่า พระท่านแหกพรรษา จะบาปเสียเปล่าๆ

๔. เรื่องพระรับสิ่งของจากมือสตรีโดยตรงไม่ได้

เคยเห็นมีภาพในหนังสือพิมพ์ แสดงให้เห็นพระรับของประเคนจากมือสตรีโดยตรง คือไม่ได้ทอดผ้ารับ แล้วตำหนิในทำนองว่า เป็นความประพฤติเลวทรามของพระ

เท่าที่ได้อ่านมาในพระไตรปิฎกนั้นไม่เห็นมีข้อบัญญัติว่า จะรับของประเคนจากสตรีต้องทอดผ้ารับ

เข้าใจว่าจะเป็นมารยาทที่พระคิดอ่านทำกันเอง เพราะว่าคนเรานั้นมักชอบจับผิดผู้อื่น การรับประเคนโดยตรงมีโอกาสที่มือจะกระทบกันได้โดยไม่จงใจ ถ้าทอดผ้าเสียจะได้เห็นกันชัดๆว่านี่ไม่ได้มีการกระทบกระทั่งกัน

อันที่จริงแล้วการกระทบกระทั่ง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดหรืออาบัติอะไรเลย ไม่ควรถือเป็นเรื่องใหญ่โต ในเมื่อการกระทบกระทั่งนั้นเป็นไปโดยไม่เจตนา ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า พระผู้นั้นมีจิตกำหนัดหรือไม่

เล่ม ๑ หน้า ๕๙๘

พระบัญญัติ

อนึ่งภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถืงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม คือจับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม เป็นสังฆาทิเสสฯ

(สังฆาทิเสส – อาบัติหนักรองลงมาจากปาราชิก)

การสัมผัสด้วยความกำหนัดนี้ จะทำได้ก็ต้องอยู่ในที่ลับไม่มีใครเห็น แต่ในระหว่างการทำบุญประเคนของต่อหน้าธารกำนัลจำนวนเป็นร้อยเป็นพันนั้น ไม่มีโอกาสที่จะเป็นดังนั้นได้ ยิ่งคนประเคนของมีจำนวนมากจะรีบประเคนแล้วหลีกออกไป พระท่านก็รับประเคนอย่างรีบๆจากคนที่มารุมประเคน หากมัวทอดผ้าอยู่ก็คงจะช้า รีบรับเสียให้เสร็จ

ดังนี้ จึงไม่ควรถือเป็นเรื่องใหญ่โตว่าเป็นความประพฤติเลวทราม

ที่ปรากฏบ่อยกว่า แต่ไม่ค่อยเห็นว่าร้ายแรงเหมือนพระรับประเคนตรงจากมือหญิง (ซึ่งไม่อาบัติ)ก็คือพระเกี้ยวผู้หญิง เล่ม ๑ หน้า ๖๒๓

พระปฐมบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้วมีจิตแปรปรวนแล้ว พูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบ เหมือนชายหนุ่มพูดเคาะหญิงสาว ด้วยวาจาพาดพิงเมถุน เป็นสังฆาทิเสสฯ

หากเป็นการพูดเคาะไม่พาดพิงเมถุนโดยตรง(ตัวอย่าง หน้า ๖๔๐-๖๔๓) ก็เป็นอาบัติทุกฏ

๕. เรื่องกะเทย

สมัยนี้น่าจะพูดได้ว่าเห่อกะเทยกัน อยากจะพูดว่าส่งเสริมกะเทยว่าเป็นของดี น่าภาคภูมิใจ แต่ในทางพระพุทธศาสนาแล้วต้องจัดกะเทยเป็นผู้อาภัพทีเดียว

เล่ม ๔ หน้า ๑๗๒

กล่าวถึงกะเทยแท้คือมีอวัยวะทั้งเพศหญิงและเพศชายอยู่ในตัว ท่านเรียกว่า อุภโตพยัญชนก

“ก็โดยสมัยนั้นแล อุภโตพยัญชนกคนหนึ่งได้บวชในสำนักพระภิกษุ เธอเสพเมถุนในธรรมในสตรีทั้งหลายด้วยปุริสนิมิตของตนบ้าง ให้บุรุษอื่นเสพเมถุนธรรมในอิตถีนิมิตของตนบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คืออุภโตพยัญชนก ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย”

กะเทยอีกประเภทหนึ่งคือ บัณเฑาะก์ ซึ่งในท้ายเล่มอธิบายว่าคือ กะเทยขันที คนที่ถูกตอน กะเทยบัณเฑาะก์นี้น่าจะไม่ใช่กะเทยอุภโตพยัญชนก และไม่ใช่คนที่ถูกตอนอย่างเดียว อาจเป็นผู้ชายที่ใจเป็นหญิงคือชอบผู้ชายด้วยกันเองอย่างที่เรียกว่าเกย์อะไรนั่น

เล่ม ๔ หน้า ๑๖๘

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ บัณเฑาะก์ ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย”

โดยสรุปแล้ว กะเทยคือคนพิการประเภทหนึ่งและคนพิการนั้นพระพุทธเจ้าไม่ทรงให้บวช ดังนั้นคนที่ปกติดีอยู่แล้ว ก็ไม่น่าทำตัวให้เป็นคนพิการ คือเป็นกะเทย

ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระราชวรมุนี พ.ศ. ๒๕๒๗

บัณเฑาะก์ กะเทย คนไม่ปรากฏเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ได้แก่กะเทยโดยกำเนิด ๑,ชายผู้ถูกตอนที่เรียกว่าขันที๑, ชายมีราคะกล้าประพฤตินอกจารีตในทางเสพกามและยั่วยวนชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น๑

เป็นอันว่าเกย์ทั้งหลายก็เป็น บัณเฑาะก์ บวชไม่ได้


◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((((((โปรดติดตามตอนต่อไป))))))))))




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved