|
|
|
posted on 16/6/09 at 08:13 |
|
ภาพข่าว..การเดินทางไป ภาคอีสาน-ภาคกลาง วันที่ 1-10 มิ.ย. 2552 (ตอนที่ 1)
ตามรอยพระพุทธบาท ภาคอีสาน - ภาคกลาง
ระหว่างวันที่ 1 10 มิถุนายน 2552
(พิจิตร, อุดรธานี, หนองคาย, สกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร, ขอนแก่น,
ยโสธร, อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, ปราจีนบุรี, นครนายก, สระบุรี)
ตามที่ได้เล่าผ่านไปแล้วว่า หลวงพี่ชัยวัฒน์ได้จัด งานทำบุญครบรอบวันเกิด 60 ปีของท่าน ณ วิหารสมเด็จองค์ปฐม วัดท่าซุง เมื่อวันที่ 29 พ.ค.
แล้วท่านได้เดินทางไปทำบุญอายุต่อที่ นครปฐม และ กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 30 - 31 พ.ค. ได้ร่วมบูรณะ "พระปฐมเจดีย์"
และร่วมหล่อพระพุทธรูปใหญ่ หน้าตัก 10 วาเศษ และได้ร่วมสร้างพระพุทธรูปใหญ่อีกหลายแห่ง ตามที่ท่านได้ตั้งจิตปรารถนาแล้ว จึงได้เดินทางกลับวัด
ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 1 มิ.ย. 52 ท่านจึงได้เดินทางขึ้นไปทางภาคอีสานต่อไป โดยตั้งใจจะไปทำบุญสร้างพระองค์ใหญ่ๆ อีก
ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้บ้าง และที่ได้เดินทางผ่านไปพบโดยบังเอิญบ้าง นับว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง
หลวงพี่ชัยวัฒน์บอกว่า ปัจจัยที่นำไปทำบุญตามสถานที่ต่างๆ นี้ ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่ญาติโยมใส่ย่าม นับตั้งแต่วันวิสาขบูชาและในวันเกิดของท่าน ฉะนั้น
พวกเราจึงถือว่าโชคดี จะได้มีส่วนร่วมในบุญกุศลทั้งหลาย ที่ท่านได้นำไปทำบุญตามสถานที่ต่างๆ ควรที่จะได้ร่วมอนุโมทนาด้วยกันนะค่ะ
วัดท่าซุง - วัดสุขุมาราม จ.พิจิตร - อุดรธานี
วันที่ 1 มิถุนายน 2552
1. วัดสุขุมาราม ต.วังตะกู อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร
ก่อนที่จะเล่าเรื่องการเดินทางของท่านทางภาคอีสาน ระหว่างการเดินทางนั้น ท่านได้แวะให้ช่างภาพของเรา คือ คุณวัชรพล (ปุ๋ม) ถ่ายภาพ พระนอน 50 เมตร ณ
วัดสุขุมาราม ต.วังตะกู อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ปรากฏว่าช่างได้ทำองค์พระไปคืบหน้ามาก
โดยเฉพาะหลังจากที่หลวงพ่ออนันต์จัดงานพิธีเทพระเศียร เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 52 ผ่านไปแล้ว ในตอนนี้จะเห็นว่าช่างกำลังเตรียมจะติดมวยผม (พระเมาฬี) อยู่
ใครที่ได้ร่วมทำบุญไปแล้ว หรือจะทำบุญต่อไปก็โมทนาร่วมกันนะค่ะ นี่คือความคืบหน้าที่ "ทีมงาน" ถ่ายภาพมาให้ชมกัน
จะเห็นว่าวิหารครอบองค์พระนอนนั้น ได้มีการสร้างโครงเหล็ก เตรียมที่จะมุงหลังคาได้แล้ว
ส่วนองค์พระได้หล่อเสร็จสมบูรณ์เต็มองค์แล้ว เหลือแต่ตบแต่งผิวให้เรียบเท่านั้น
ร่วมบูรณะ "มณฑปครอบพระพุทธบาท" โดยบังเอิญ
และร่วมสร้างพระพุทธรูปใหญ่ จังหวัดอุดรธานี
วันที่ 2 มิถุนายน 2552
2. วัดพระบาทภูพานคำ ต.พระบาท อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
ร่วมสร้าง มณฑปครอบรอยพระพุทธบาท 9,000 บาท
สร้างศาลาหลังใหม่ 500 บาท
ถวายหนังสือตามรอยฯ เล่ม 1 - 4 จำนวน 1 ชุด
พระอาทิตย์ทรงกลด เต็มวง
นมัสการ พระพุทธรูปหน้าตักกว้าง 18 เมตร
ตอนเช้าของวันที่ 2 มิ.ย. เดิมอาจารย์แก้วแนะนำให้ไปเข้าทางหนองบัวลำภู แต่พอถึงเวลากลับเปลี่ยนแผนกระทันหัน
เหมือนกับมีสิ่งที่บันดาลใจให้เดินทางเลียบไปตามถนนสายเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อชมทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รถได้วิ่งผ่านสามลมที่เย็นสบาย
มองไปเห็นท้องน้ำกว้างใหญ่ จนกระทั่งรถวิ่งขึ้นไปบนยอดเขาถึง วัดพระบาทภูพานคำ ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์อ่างเก็บน้ำได้จากบนยอดเขาแห่งนี้
แต่ก่อนจะขึ้นไปถึง หลวงพี่ได้แวะเข้าไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทก่อน เพราะจำได้ว่าหลวงพี่ชัยวัฒน์เคยนำ "คณะตามรอยพระพุทธบาท" มาเมื่อปี 2541
ในตอนนั้น มณฑปครอบพระพุทธบาทได้สร้างไว้นานแล้ว แต่ในตอนนี้ หลังจากกาลเวลาผ่านไปนานนับสิบปี ทางวัดกำลังตั้งไม้นั่งร้านบูรณะอยู่พอดี
พวกเรามองหน้าแล้วก็ยิ้มด้วยความดีใจ เพราะไม่ทราบมาก่อนเลย นี่เป็นการมาพบกันโดยบังเอิญจริงๆ
เดิมภายในมณฑป ทางวัดสร้างพระพุทธบาทจำลองเอาไว้ ส่วนรอยจริงสามารถเดินลงบันไดมากราบไหว้ข้างล่าง คือ สถานที่แห่งนี้มีทั้ง "รอยจริง" และ
"รอยจำลอง" แต่เวลานี้เท่าที่เห็น ทางวัดได้ทุบพื้นด้านบน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน "รอยจำลอง" ออกไปแล้ว คงเหลือแต่ "รอยจริง"
ที่อยู่ด้านล่างเท่านั้น
หลังจากที่พวกเราได้เข้าไปทำความสะอาดและสรงน้ำรอยพระพุทธบาทกันแล้ว จึงได้ออกมาเดินสำรวจโดยรอบ พบว่ากำลังที่จะบูรณะครั้งใหญ่ จึงได้ยืนถ่ายรูปร่วมกัน
ในระหว่างนี้ ได้แหงนหน้าขึ้นไปมองบนท้องฟ้า เห็นพระอาทิตย์ทรงกลดเจิดจ้าอร่ามตา
พวกเราดีใจเป็นอย่างมาก จึงได้รวบรวมปัจจัยไปถวายท่านเจ้าอาวาส เพื่อร่วมสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท เป็นจำนวนเงิน 9,000 บาท
พร้อมทั้งร่วมสร้างศาลาหลังใหญ่กับท่านอีก 500 บาท ถวายถวาย "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม 1-4 อีก 1 ชุด หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านยังจำหลวงพี่ได้ว่า
เคยนำคณะรถตู้มาพักค้างคืนที่นี่ จำนวน 30 กว่าคัน
หลังจากได้ทำบุญสร้างวิหารทาน อันเป็นทานที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะมณฑปครอบพระพุทธบาท เปรียบเสมือน "พระคันธกุฎี" ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
นับว่ามีอานิสงส์ประเสริฐเลิศกว่า "วิหารทาน" ตามปกติ มิฉะนั้น ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย คงจะไม่สร้างบารมีเพื่อหวังพระโพธิญาณ
ด้วยการสร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทไว้มากมายหลายแห่ง เช่น วัดพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, วัดพระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นต้น
ก่อนที่จะกลับลงมาจากยอดเขา ณ วัดพระบาทภูพานคำ พวกเราก็ได้ยืนถ่ายรูปตรงบันไดทางขึ้นสู่ พระพุทธรูปองค์ใหญ่หน้าตัก 18 เมตร
จะเห็นว่าพระอาทิตย์ยังทรงกลดอยู่เบื้องบนพระเศียร เหตุการณ์ขณะพระอาทิตย์ทรงกลดอยู่นี้ เจ้าอาวาสวัดพระบาทภูพานคำท่านได้ออกมายืนดูเช่นกัน
3. วัดเขาช่องชาด บ้านหนองบัวเงิน ต.อูบมุง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
ร่วมสร้างพระใหญ่ หน้าตัก 38 ศอก (19 เมตร) กับเจ้าอาวาส 6,800 บาท
ทำบุญพระภิกษุและแม่ชีที่ช่วยงาน 7 รูป รวม 1,500 บาท
คณะทีมงานออกเดินทางจาก "เขื่อนอุบลรัตน์" ต่อไปทาง วัดเขาช่องชาด อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี โดยไม่ต้องย้อนกลับทางเดิม อาศัยตั้งเครื่องนำทาง
GPS ไว้ด้วย ช่วยให้ลัดตัดทางเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่ไปถึงนี้ รถบรรทุกสิบล้อกำลังขนดินขึ้นไปถมบริเวณที่สร้างองค์พระ
สำหรับสถานที่แห่งนี้ เรามีเป้าหมายอยู่แล้วว่า คณะอาจารย์แก้ว (วัดพุทธโมกข์) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง แต่เมื่อได้ติดต่อทางโทรศัพท์ ปรากฏว่า อ.แก้ว
กำลังเข้าปริวาสอยู่ที่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี แต่เมื่อได้พบกับเจ้าอาวาส ท่านได้เล่าว่าทางหน่วยราชการจังหวัดอุดรธานี อันมี ผู้ว่าราชการจังหวัด
และนายอำเภอ ได้พยายามจัดหาทุนมาร่วมสร้างด้วย
พระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้ ไม่มีการทำแบบพิมพ์ไว้ก่อน (แบบพิมพ์องค์พระ มีใหญ่สุดแค่ 15 เมตร เท่านั้น ตามที่หลวงพี่เคยเล่าไปแล้วว่า
ท่านได้เป็นผู้ร่วมทุนกับ อ.แก้ว เป็นเงิน 1 ล้านบาทเศษ แล้วได้นำแบบพิมพ์ไปเทเป็นองค์แรก ณ วัดหัวถนน อ.สะเดา จ.สงขลา)
แต่นี่เมื่อทำใหญ่ไปถึง 19 เมตร จึง ต้องมาปั้นกันสดๆ อย่างที่เห็นนี้แหละ โดยวิธีสร้างพระองค์เล็กๆ (สีขาว) ตามที่เห็นในภาพ เพื่อเป็นต้นแบบไว้ก่อน
จากนั้นก็ใช้สเกลขยายอัตราส่วนออกมาให้ใหญ่กว่าเดิม จะเอากี่เท่าก็ได้แล้วแต่ทุนทรัพย์ เมื่อเทียบกับพระเศียรที่วางอยู่
เราก็จะรู้ว่าองค์พระนั้นใหญ่ขนาดไหน (เห็นว่าพระเศียรนี้ เป็นพระเศียรขององค์พระหน้าตัก 15 เมตร ของเราเองละค่ะ)
หลังจากนั่งพักคุยกันศาลาแล้ว พวกเราจึงได้ไปร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาส วัดเขาช่องชาด เป็นจำนวนเงิน 6,800 บาท
พร้อมทั้งทำบุญกับพระภิกษุและแม่ชีที่กำลังทำงานอีก 7 รูป รวม 1,500 บาท รวมเป็นเงิน 8,300 บาท
เมื่อได้ทำบุญสร้างพระใหญ่ 19 เมตร (หลังจากไปทำบุญที่เมืองกาญจน์ หน้าตัก 21 เมตรกันมาแล้ว) เป็นอันว่าหลวงพี่ได้สร้างพระใหญ่สมเจตนาอีกหลายแห่ง
จากนั้นก็ได้ถ่ายภาพร่วมกัน จะเห็นว่าองค์พระได้มีการผูกเหล็กไว้แล้ว
และในวันที่ 7 มิ.ย. ก่อนที่พวกเราไปถึงแค่ 4-5 วันเท่านั้น เขาจะมีการใช้รถเครนยกองค์พระขึ้นบนแท่น แล้วหันกลับหลังมาทางพวกเราที่ยืนนี้แหละ
จากนั้นก็จะยกพระเศียรขึ้นไปต่อกับองค์พระ หลังจากกลับมาแล้ว เห็นว่าช่างได้ทำการยกโครงเหล็กองค์พระเสร็จเรียบร้อยแล้ว
เดิมก็เป็นห่วงกลัวว่าเหล็กที่ผูกไว้จะเคลื่อนออกไปให้เสียรูปทรง นี่เป็นฝีมือของช่างคนไทยแท้ๆ นะ เมื่อสำเร็จลุล่วงด้วยดีก็ขออนุโมทนาทุกท่านด้วยค่ะ
4. วัดพระพุทธบาทบัวขาว ต.อูบมุง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
กราบบูชา ด้วยดอกไม้ สรงน้ำหอม ปิดทอง และผ้าสไบทอง
รถได้ออกวิ่งต่อไปโดยไม่มีการย้อน เครื่อง GPS ได้บอกให้ตัดลัดทางไปตามถนน ร.พ.ช (ไม่ได้วิ่งตามถนนสายหลัก) สักพักหนึ่งก็ถึงโดยไม่คาดฝัน
ทำเอาโชเฟอร์ของเรา คือ คุณปุ๋ม และ คุณสำราญ ต่างก็ยิ้มด้วยความดีใจ คือไม่ต้องขับรถกันนานเกินก็มาถึง วัดพระพุทธบาทบัวขาว
ซึ่งพวกเราเคยมานับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยครั้งแรกมาเมื่อปี 2549
ภาพที่เห็นคือ "ดอกบัว" เป็นสัญลักษณ์ของวัด เดิมมีชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ในสระดอกบัวนี้เดิมทีมีรอยพระพุทธบาทอยู่
ส่วนภาพที่เห็นอีกภาพหนึ่งเป็นหลุมลึกลงไปอยู่ข้างรอยพระพุทธบาทภายในศาลา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น "บ่อน้ำทิพย์" แต่เวลานี้น้ำเหือดแห้งไปหมดแล้ว
หลวงพี่เคยบอกไว้แล้วว่า การบูชารอยพระพุทธบาท หากทำถูกก็จะเกิดเป็นสิริมงคล แต่ถ้าทำผิดสิ่งที่เคยศักดิ์สิทธิ์ก็จะเสื่อมสลายไปเช่นกัน
สำหรับสถานที่แห่งนี้ มีรอยพระพุทธบาทอยู่หลายแห่ง บางแห่งก็มีการสร้างศาลาครอบไว้ (ทางวัดสร้างศาลาทับไว้อีกรอยหนึ่ง จะมองเห็นเหลือแค่ครึ่งเดียว)
เป็นพระสายธรรมยุติ (หลวงปู่ขาว อนาลโย) พวกเราได้กราบไหว้บูชาด้วยการสรงน้ำหอม ปิดทอง และบูชาด้วยผ้าห่มสีทองเสร็จแล้ว จึงออกเดินทางต่อไป
((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))
|
|
|
|
Posts: 2043 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 18/6/09 at 07:44 |
|
(Update 18/06/52)
วันที่ 3 มิถุนายน 2552
5. วัดพระพุทธบาทบัวบาน ต.พาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
มอบหนังสือตามรอยฯ เล่ม 1 ให้แก่โยมอุปฐากที่นี่
สำหรับการเดินทางในวันนี้ เดิมทีตั้งใจจะไปทำบุญร่วมสร้างพระใหญ่กับพระอาจารย์ทอง ณ วัดป่าโนนวิเวก บ้านเทื่อม อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
แต่เมื่อเดินทางออกจาก อ.หนองวัวซอ รถวิ่งลัดตัดมาทาง อ.กุดจับ ไม่นานก็ถึง อ.บ้านผือ แทนที่จะเลี้ยวไปทางบ้านเทื่อม กลับเลี้ยวผิดไปทางตลาดบ้านผือ
จึงต้องเลยตามเลย...ไว้ค่อยกลับมาใหม่ก็แล้วกัน
ตอนเช้าวันที่ 3 มิ.ย. จึงวางแผนเดินทางไปไหว้ "พระพุทธบาทบัวบาน" กันดีกว่า เส้นทางเดียวกับไป "พระพุทธบาทบัวบก" นั่นแหละ แต่เครื่อง GPS
กลับนำไปทางลัดอีก ลัดเลาะไปตามหมู่บ้าน ไม่ได้ไปทางถนนหลัก ไม่นานก็ถึงแล้วละ
ในขณะที่ไปถึงนั้น มีทายกคนหนึ่งช่วยนำทางไปให้ หลวงพี่ชัยวัฒน์ท่านเคยไปครั้งหนึ่งแต่นานมากแล้ว คุณลุงขี่รถเครื่องนำหน้าไปถึงมณฑปครอบพระพุทธบาท
ซึ่งมีสภาพเก่าแก่มากแล้ว โดยกรมศิลปากรอนุรักษ์ไว้ บริเวณโดยรอบจะเห็นหินเสมาเก่าแก่มาแต่โบราณ
พวกเราได้ช่วยกันห่มผ้าสไบทองโดยรอบ แล้วเข้าไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทด้านใน ต้องเข้าไปทีละคน ภายในคับแคบมาก เป็นรอยที่ถูกตกแต่งไว้นานแล้ว
มองคล้ายกับรอยพระพุทธบาทบัวบกนั่นแหละ ใครไม่เข้าใจอาจจะนึกว่าเป็น "รอยพระพุทธบาทจำลอง"
แต่ความจริงก็เป็นรอยจริงนะ รอยเดิมอาจจะไม่ชัดเจน จึงมีการเสริมสร้างภายหลัง ตามประวัติเดิม สถานที่นี้เป็นที่อาศัยของพญานาคสองพี่น้อง
ผู้พี่ที่อารักขาอยู่ ณ ที่นี้มีชื่อว่า พญาพุทโธปาปนาคราช ส่วนพญานาคผู้น้องมีชื่อว่า พญามิลินทนาคราช เป็นผู้อารักขา
"รอยพระพุทธบาทบัวบก"
ตามประวัติเล่าว่า หลังจากที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเสด็จทรมานจนพญานาคสิ้นพยศแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงประทานรอยพระพุทธไว้ทั้งสองแห่ง
ให้แก่พญานาคสองพี่น้อง มีชื่อว่า "พระพุทธบาทบัวบก" และ "พระพุทธบาทบัวบาน"
หลังจากกราบไหว้บูชาเสร็จ จึงได้มอบหนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม 1 ให้แก่คุณลุงแล้ว จึงถ่ายภาพร่วมกัน ก่อนจากกัน คุณลุงบอกว่า
ยังมีรอยพระพุทธบาทอีกหนึ่ง ชื่อว่า พระพุทธบาทหนองด้วง เมื่อพวกเราสอบถามเส้นกันแล้ว จึงร่ำลาคุณลุงออกเดินทางต่อไป
6. พระพุทธบาทหนองด้วง บ้านโคกก่อง ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
ร่วมทำบุญสร้างพระเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาท 4,000 บาท
ถวายปัจจัยให้พระภิกษุที่เฝ้าอยู่ที่นี้อีก 100 บาท
รถได้วิ่งไปตามเส้นทางภายในหมู่บ้าน บางแห่งก็ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ แต่พวกเราก็พยายามเดินทางไปให้ถึง แม้จะยากลำบากเพียงใดก็ตาม
จนกระทั่งมองเห็นหลังคาสีแดงครอบรอยพระพุทธบาทแต่ไกล จึงได้เข้าไปกราบไหว้บูชา ปรากฏว่ารอยพระพุทธบาทได้ถูกตบแต่งเป็น "รอยจำลอง" ไปหมดสิ้นแล้วเช่นกัน
ในขณะนั้น มีพระที่เฝ้าอยู่มาเล่าให้ฟังว่า ขณะนี้ช่างกำลังก่อสร้างศาลา และเตรียมที่จะสร้างพระเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้
โดยมีเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทบัวบก เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง สถานที่แห่งนี้ยังไม่เป็นวัด มีแต่ศาลาครอบพระพุทธบาทเอาไว้เท่านั้น
พวกเราได้ฟังดังนั้นก็ดีใจ จึงได้รวบรวมปัจจัยทำบุญ 4,000 บาท โดยฝากไว้ให้กับพระรูปนี้ พร้อมกับถวายส่วนองค์ท่านอีก 100 บาท แล้วออกเดินทางต่อไป
วันนี้พวกเราได้เตรียมเสบียงอาหารกลางวันไปด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเดินทางไปร่วมทำบุญสร้างพระนอน 20 เมตร ณ วัดป่าภูก้อน อ.นายูง จ.อุดรธานี
7. วัดวันทนียวิหาร บ้านเมืองพาน ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
ร่วมทำบุญสร้างวิหาร ศาลาการเปรียญ 900 บาท
แวะพักฉันเพลที่นี่
ในระหว่างเดินทาง เห็น วัดวันทนียวิหาร กำลังสร้างศาลาการเปรียญอยู่ หลวงพี่จึงบอกให้แวะเข้าไปทำบุญเป็นเงิน 900 บาท ขณะนั้นคุณสำราญไปสำรวจ
เห็นศาลาหลังเล็กว่างอยู่ข้างวัดริมทุ่งนา อากาศเย็นสบาย จึงจัดให้หลวงพี่แวะฉันเพลกันที่นี่เลย
พระอุโบสถและพระเจดีย์สีทอง ที่เจ้าอาวาสเพิ่งจะสร้างเสร็จผ่านไปไม่นาน ยังมีสภาพสวยสดงดงามอยู่ หลังจากนั้นจึงออกเดินทางต่อไปที่วัดป่าภูก้อน อ.นายูง
จ.อุดรธานี
((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))
|
|
|
|
Posts: 2043 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 19/6/09 at 07:59 |
|
(Update 19/06/52)
8. วัดป่าภูก้อน บ้านนาคำ ต.บ้านก้อง อ.นายูง จ.อุดรธานี
ร่วมสร้าง "พระพุทธรูปหินอ่อน" แกะสลัก "ปางปรินิพพาน" ความยาว 20 เมตร
รวมทั้งหมด 42 ก้อนๆ ละ 1 ล้านบาท รวม 42 ล้านบาท ค่าแกะสลักอีก 20 ล้านบาท
พบกับผู้ดำเนินการสร้าง คือ คุณปิยวรรณ วีรวรรณ
ร่วมทำบุญสร้างพระพุทธรูปหินอ่อน และ พระวิหารครอบ 4,960 บาท
แบบองค์พระพุทธรูปหินอ่อนขาวคาร์ราร่า (นำเข้าจากอิตาลี) "ปางปรินิพพาน" จำลอง
แบบแปลนพระวิหารครอบพระพุทธรูป "ปางปรินิพพาน"
สำหรับสถานที่แห่งนี้ คุณสำราญเป็นผู้นำมา เนื่องจากได้เห็นโบว์ชัวชักชวนสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งสร้างอยู่บนยอดเขาสูง
ส่วนพระเจดีย์ก็สร้างอีกยอดเขาหนึ่งใกล้ๆ กัน รถวิ่งเลี้ยวขวาไปทางสร้างองค์พระก่อน พบกับช่างแกะสลักที่เดินทางมาจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย
บอกว่าใช้เวลาทำงานอยู่ที่นี่ถึง 3 ปี ตอนนี้เสร็จแล้วเตรียมที่จะกลับกัน ช่างบอกว่าใช้ก้อนหินอ่อน จำนวน 42 ก้อน ประกอบกันเป็นองค์พระ
ทำเหมือนปิรามิดนั่นแหละ
พวกเราถือว่าไปได้จังหวะดีมาก เพราะถ้าช่างกำลังทำงานอยู่ เราจะไม่สามารถขึ้นไปชมองค์พระได้ อีกทั้งฝุ่นละอองที่เขาขัด จะทำให้หายใจไม่สะดวก
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม การเดินเข้าไปชมองค์พระก็ลำบาก เพราะเขากำลังก่อสร้างพระวิหารครอบ ทำให้มีไม้นั่งร้านเกะกะเต็มไปหมด ถึงอย่างไรก็ตาม
ทีมงานถ่ายรูปก็สามารถนำมาให้ชมกันได้ โดยเฉพาะการแกะสลักและการขัดผิวองค์พระ เขาทำได้ละเอียดงดงาม ผ้าจีวรก็มีลวดลายพริ้วละเอียดอ่อนจริงๆ
พวกเราเกิดศรัทธาอยากจะร่วมบุญ จึงได้ถามเจ้าหน้าที่แถวนั้น เขาบอกว่าต้องไปทำบุญกับเจ้าหน้าที่อยู่ใกล้องค์พระเจดีย์ นับว่าไม่ยาก
เพราะเรามองเห็นป้ายตอนที่ขึ้นมาแล้ว จึงขับรถลงไปที่ทางเลี้ยวไปพระเจดีย์ บริเวณวัดแห่งนี้มีพื้นที่นับพันไร่ เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ได้เป็นอย่างดี
เป็นพระสายธรรมยุติ (สายหลวงปู่มั่น)
เมื่อจอดรถไว้แล้ว จึงเดินไปที่พิพิธภัณฑ์แสดงรูปภาพขั้นตอนการจัดสร้างองค์พระ ได้พบกับโยมผู้หญิงท่านหนึ่ง เป็นภรรยาของคุณโอฬาร วีรวรรณ
ประธานการก่อสร้าง คุณโยมได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะขั้นตอนที่จะหาก้อนหินมาทำพระเศียร เดิมจะต้องใช้ก้อนหิน 2 ก้อนต่อกัน
แต่เจ้าภาพผู้สร้างคนนี้อยากจะให้เป็นหินก้อนเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ จึงได้เดินทางไปที่เหมืองแร่ ณ ประเทศอิตาลี พบว่าไม่มีก้อนหินตามขนาดที่ต้องการนี้เลย มีแต่ก็อยู่บนยอดเขาสูง ช่างไม่สามารถจะตัดลงมาได้
คุณโยมท่านนี้เล่าต่อไป จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานกับพระอาจารย์เจ้าอาวาสวัดป่าภูก้อน พร้อมกับยืนจ้องมองขึ้นไปบนหน้าผาว่า ถ้าหากเทวดาผู้อารักขาสถานที่นี้
อยากจะมีส่วนร่วมบุญกุศลในครั้งนี้ น่าจะช่วยนำหินก้อนนี้ลงมาให้
ครั้นได้ตั้งกระแสจิตส่งไปเช่นนี้ ฉับพลันนั้นเอง ก้อนหินที่อยู่เบื้องบนก็หล่นลงมาทันทีทันใด นับเป็นที่อัศจรรย์ใจต่อผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นมากมาย
หลังจากนั้นก็ขนส่งลงมาทางเรือ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจึงจะถึงเมืองไทย แล้วก็นำมาแกะสลักดังที่เห็นอยู่ในเวลานี้ และยังมีปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์อีก
ในขณะที่รถเครนยกก้อนหินส่วนพระเศียรมาต่อกับคอองค์พระ เกิดมีแสงพุ่งลงมาตรงส่วนนั้นอีกด้วย ซึ่งพวกเราได้เห็นรูปภาพแล้ว ต่างก็ยอมรับถึงอภินิหารแห่ง
"พุทธบารมี" นี้อย่างเต็มล้นหัวใจทีเดียว
แน่นนอนละ..ความตั้งใจของพวกเราได้สัมฤทธิ์ผลแล้ว เมื่อได้มีส่วนร่วมในการสร้างองค์พระและพระวิหารในครั้งนี้ จึงได้ร่วมทำบุญเป็นเงิน 4,960 บาท
เดิมทำแค่ 4,000 บาท แต่เมื่อได้ฟังเจ้าของโครงการเล่าให้ฟังด้วยตัวเองเช่นนี้ จึงได้ทำเพิ่มเติมไปอีกจนได้
9. วัดพระพุทธบาทผาจ่อง ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย
บูชา สรงน้ำหอม ปิดทองคำเปลว รอยพระพุทธบาท ถวายพวงมาลัย ห่มผ้า
เมื่อได้ทำบุญสร้างพระครบถ้วนตามที่ตั้งใจกันแล้ว หลวงพี่ก็เดินทางย้อนกลับมาตามเส้นทางเลียบแม่น้ำโขง พวกเราตื่นเต้นเมื่อได้เห็นฝั่งลาว
ไม่นึกว่าการเดินทางเที่ยวนี้ จะต้องมาไกลถึงสุดชายแดน รถได้วิ่งไปถึง วัดพระพุทธบาทผาจ่อง ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย
สำหรับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ถือว่าโชคดีแก่ผู้ที่กราบไหว้ภายหลัง คือได้เห็นร่องรอยสภาพเดิมๆ โดยไม่มีการตบแต่งใดๆ ทั้งสิ้น
ยังมีสภาพที่เห็นเป็นธรรมชาติจริงๆ ไม่เหมือนที่บ้านผือ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธบาทบัวบก หรือพระพุทธบาทบัวบาน พระพุทธบาทหนองด้วง
ที่พวกเราเพิ่งกราบไหว้ผ่านไปไม่นานนี่เอง มีสภาพที่ถูกเสริมแต่งทั้งสิ้น เว้นไว้แต่ "รอยพระพุทธบาทหลังเต่า" ที่อยู่ในป่าลึกเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ที่ยังมีสภาพเป็นธรรมชาติอยู่เดิม หวังว่าคงไม่มีใครอุตริคิดไปตบแต่งอีกนะ
เป็นอันว่า สถานที่แห่งนี้หลวงพี่เคยมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ต้องแวะกราบไหว้ เพราะมีผู้ร่วมคณะบางคนยังไม่เคยไหว้ หลังจากกราบไหว้บูชาเสร็จแล้ว
จึงออกเดินทางต่อไป ในขณะที่รถวิ่งไปตามลำน้ำโขง หลวงพี่ชัยวัฒน์บอกว่า สาเหตุที่บริเวณ อ.สังคม, อ.ศรีเชียงใหม่, และ อ.โพนพิสัย มี
"บั้งไฟพญานาค" เกิดขึ้นในวันออกพรรษา เพราะว่ามีรอยพระพุทธบาทอยู่ในบริเวณนี้นั่นเอง
พญานาคผู้อารักขาได้ทำการสักการบูชาพระพุทธเจ้า ในขณะที่ลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นการรับเสด็จ ที่เรียกว่า "วันเปิดโลก" นั่นเอง ในตอนนี้
สัตว์โลกทุกภพทุกภูมิมองเห็นกันหมด แม้แต่มดดำมดแดงต่างก็ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้ากันทั้งสิ้น
10. วัดพระบาท (โคกซวก หรือ เวิ่นกุ่ม) ต.พระบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
บูชา สรงน้ำหอม ปิดทองคำเปลว รอยพระพุทธบาท ถวายพวงมาลัย
หลวงพี่เล่าต่อไปอีกว่า บริเวณลำน้ำโขงที่มีรอยพระพุทธบาท นับตั้งแต่ อ.สังคม ลงมาถึง อ.ศรีเชียงใหม่ ก็ยังมีรอยพระพุทธบาทแห่งนี้อีก
ที่มีพญานาคเป็นผู้อารักขา ซึ่งวัดพระบาทแห่งนี้ อยู่ใกล้กับวัดหินหมากเป้ง หลวงปู่เทศก์เป็นผู้สร้างไว้ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่
ส่วนด้านล่างริมแม่น้ำโขงยังมีถ้ำอีกด้วย เรียกกันว่า "ถ้ำพระ" (บริเวณนี้ตามสถิติพบว่ามี "บั้งไฟพญานาค" ขึ้นทุกปีเช่นกัน)
พวกเราได้ฟังหลวงพี่เล่า นับว่าท่านมีเหตุผล เพราะแนวเขตแม่น้ำโขง มีรอยพระพุทธบาทตลอด ไปจนถึง อ.โพนพิสัย โดยเฉพาะบริเวณนั้น หลวงพี่บอกว่ามี
รอยพระพุทธโพนฉัน อยู่ฝั่งลาวตรงข้ามกับ บ้านโพนเพล อ.โพนพิสัย มีพญานาคชื่อว่า "พญาสุขหัตถีนาคราช"
เป็นผู้แผ่พังพานกางกั้นเป็นเศวตฉัตรถวาย พร้อมกับทูลขอรอยพระพุทธบาทไว้ สมัยที่พระพุทธองค์เสด็จมาฉันเพลแถวนั้น จึงได้เรียกว่า "โพนฉัน - โพนเพล" ไงล่ะ
นับว่าหลวงพี่เป็นผู้ที่ไขปริศนาเรื่อง "บั้งไฟพญานาค" นี้ได้เป็นอย่างดี ว่าทำไมจึงมีเฉพาะวันออกพรรษาเท่านั้น
อ๋อ..ที่แท้เป็นพญานาคราชผู้อารักขารอยพระพุทธบาทตามลุ่มน้ำโขงนี่เอง ท่านได้บูชาในฐานะที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์นั่นเอง
ท่านคงจะบูชามาตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาลกระมัง เรื่องพญานาคนี่ คงจะยังไม่จบนะค่ะ เพราะจะต้องเจอ...กันอีกต่อไป (ไม่เจอตัวนะค่ะ
เจอแค่..รอย..เท่านั้นเอง..ฮิฮิ)
((( โปรดติดตามตอนที่ 2 คลิกที่นี่ » )))
|
|
|
|
Posts: 2043 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
|
|
"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน
เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player
ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป
ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved
|
|
|
|