ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 31/8/09 at 08:47 Reply With Quote

ประวัติพุทธสาวก เรื่อง พระองคุลิมาลเถระ


พระองคุลิมาลเถระ


พระองคุลิมาลเถระนี้ ท่านมีอภินิหารได้บำเพ็ญมาแล้ว แทบเบื้องบาทมูลแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อน เมื่อยังสั่งสมซึ่งพระบารมีอันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพานอยู่ในภพนั้นๆ แล้ว และสังสรณการเวียนว่ายเสวยสุขสมบัติอยู่ในเทวดาและมนุษย์สิ้นกาลช้านาน ครั้นมาในสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าแห่งเรานี้ ท่านก็ได้มาถือซึ่งปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางพราหมณีผู้เป็นภรรยาแห่งปุโรหิตของพระเจ้าโกศลราช เมื่อจะออกจากครรภ์มารดานั้นบังเกิดมหัศจรรย์ บังเกิดบันดาลเครื่องสรรพศาสตราวุธมีอยู่ในพระนครนั้น ก็เปล่งออกเป็นเปลวยิ่งนัก ประการหนึ่ง เครื่องสรรพศาสตราวุธของพระเจ้าโกศลราชนั้นก็บังเกิดมหัศจรรย์ลุกรุ่งเรืองเป็นเปลวเพลิง

ฝ่ายปุโรหิตพฤฒาจารย์ออกจากเรือนแล้วก็เล็งแลดูซึ่งฤกษ์บน ก็เห็นฤกษ์โจรนั้นบังเกิดมีปรากฏในอากาศประหลาดยิ่งนัก ครั้นรุ่งเช้าเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโกศลราช กราบทูลถามว่า

“ข้าแต่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภาร พระองค์เสด็จบรรทมเป็นสุขสำราญพระหฤทัยหรือประการใด”

พระเจ้าโกศลราชจึงตรัสว่า “ดูกร อาจารย์ ความสุขสำราญนี้จะมีมาแต่ไหน พระแสงอันเป็นมงคล บัดนี้บังเกิดเป็นโกลาหลลุกเป็นเปลวเพลิง เรามาสำคัญว่าน่าจะมีเหตุอันตรายแก่ราชสมบัติและชีวิต เราเร่งรำพึงคิดประหนึ่งว่าอกจะแยกแตกคราก คืนนี้เราเสวยทุกข์ลำบากด้วยมิได้บรรทม เราทรงพระปรารมภ์ยิ่งนัก อาจารย์พิจารณาดูให้รู้ดีและร้าย กาลบัดนี้ ปุโรหิต”

ท่านปุโรหิตนั้นก็กราบทูลว่า “มหาราช ข้าแต่บรมบพิตรผู้ประเสริฐ ศาสตราวุธทั้งปวงซึ่งบังเกิดเป็นเปลวเพลิงรุ่งเรืองไปทั้งนี้ ก็อาศัยดวยอัตภาพแห่งกุมารแห่งข้าพระองค์อันบังเกิด ขอพระองค์อย่าได้สะดุ้งตกพระทัยกลัวเลย”

ครั้นพระเจ้าโกศลราชได้ฟังดังนั้น จึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า “ดูกรอาจารย์ เหตุมหัศจรรย์บังเกิดอย่างนี้จะดีหรือร้ายเป็นประการใด”

ปุโรหิตจึงกราบทูลว่า “ขอพระราชทานบุตรแห่งเกล้ากระหม่อมฉันนี้จะบังเกิดเป็นโจร”

จึงมีพระโองการตรัสว่า “บุตรของท่านนี้จะเป็นโจรประทุษร้ายแก่บ้านเมืองหรือ”

ปุโรหิตจึงกราบทูลว่า “ขอพระราชทาน กุมารบุตรข้าพระพุทธเจ้านั้นจะบังเกิดประทุษร้ายแก่พระนครนั้นหามิได้ แต่ทว่าใจนั้นหยาบช้านัก ไปภายหน้าจะไล่ฆ่าซึ่งหมู่มหาชนเสียเป็นอันมากยิ่งนัก ขอพระองค์อย่าได้ละไว้ให้เนิ่นช้าเลย จงจับกุมารนั้นมาประหารชีวิตเสียให้จงได้ในกาลบัดนี้”

พระเจ้าโกศลราชจึงตรัสว่า “ดูกรอาจารย์ เราจะฆ่ากุมารเสียบัดนี้ก็ยังไม่ควรก่อน ท่านจงดูแลรักษาไว้ก่อนเถิด ปุโรหิต”

ฝ่ายปุโรหิตรับพระราชโองการแล้วก็อำลามาสู่เรือนของตน แล้วก็บำรุงเลี้ยงดูรักษากุมารผู้เป็นบุตรไว้ และได้ตั้งชื่อว่า อหิงสกกุมาร อาศัยเหตุสภาวะเมื่อกุมารกำเนิดจากครรภ์มารดาเครื่องศาสตราวุธแต่บรรดาที่มีอยู่ในพระนครนั้นเป็นมหัศจรรย์ลุกรุ่งเรืองเป็นเปลวเพลิง และจะเบียดเบียนแก่ราชสมบัตินั้นหามิได้ เหตุดังนั้นแหละ บิดามารดาจึงให้ชื่อว่า อหิงสกะ ซึ่งแปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียน

อหิงสกะนั้นเติบโตแล้ว ทรงกำลังเท่าช้างสาร ๗ เชือก เพราะกำลังแห่งบุรพกรรม อหิงสกะนั้นมีบุรพกรรมดังนี้

ในคราวที่โลกว่างจากพระพุทธเจ้า เขาบังเกิดเป็นชาวนา ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปียกน้ำฝน มีจีวรชุ่ม ถูกความหนาวเบียดเบียน เข้าไปยังพื้นที่นาของตน เกิดความโสมนัสว่า บุญเขตปรากฏแก่เราแล้ว จึงได้ก่อไฟถวาย ด้วยกำลังแห่งกรรมนั้น เขาจึงเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยกำลังแรงและกำลังเชาวน์ ในที่ที่เกิดแล้วๆ ในอัตภาพสุดท้ายนี้ จึงทรงกำลังเท่าช้างสาร ๗ เชือก

อหิงสกะนั้นเมื่อเจริญวัย ซึ่งควรจะให้อยู่ประจำในสำนักศึกษา บิดามารดาทั้ง ๒ ก็ส่งอหิงสกะไปสู่เมืองตักกสิลา สำนักทิศาปาโมกข์อาจารย์ อันเป็นสถานที่สูงด้วยการศึกษาในคุณวิทยาและธรรมจริยาเป็นพิเศษ โดยหวังจะให้เป็นคุณบุญเขตบ่มนิสัยอหิงสกกุมาร

อาศัยที่อหิงสกะ มีปรีชาญาณแหลมหลักเผ่านักปราชญ์ จึงมีปัญญาสามารถล้นเหลือเหนือศิษย์ทั้งหลายในสรรพวิชาการ ทั้งเป็นที่รักใคร่ของครูอาจารย์ผู้ให้การศึกษา ด้วยมีจรรยาคารวะอ่อนน้อมพร้อมที่จะรับปฏิบัติในโอวาททุกประการ ข้อนี้เป็นเหตุให้บรรดาศิษย์พากันคิดริษยายุยงอาจารย์ด้วยอุบายนานา เพื่อจะให้เกลียดชังอหิงสกะ

บรรดามานพทั้งหลายพากันปรึกษาหารือกันว่า มาเราจะชวนกันทำลายอหิงสกกุมารนี้เสียเถิด มานพทั้งหลายจึงปรึกษากันสืบไปเล่าว่า และถ้าเราจะหยิบโทษว่าเจ้าอหิงสกกุมารนี้ว่ามีปัญญาชั่วอย่างนี้ก็มิอาจที่จะว่าได้ ด้วยอหิงสกกุมารนี้มีปัญญาไวยิ่งนัก และถ้าเราจะกล่าวโทษว่าเจ้าอหิงสกกุมารนี้มีข้อวัตรปฏิบัติชั่วอย่างนี้ก็ไม่อาจจะว่าได้ ด้วยข้อวัตรปฏิบัติเขาดียิ่งนัก

ประการหนึ่ง ถ้าเราจะว่าอหิงสกกุมารนี้มีชาติอันต่ำช้า ถ้าจะว่าดังนี้ก็ว่ามิได้ เจ้าอหิงสกกุมารมีชาติอันบริบูรณ์ เราจะคิดเป็นประการใดดีจึงจะทำลายอหิงสกกุมารเสียให้จงได้ เราจะแยกออกเป็น ๓ พวก ปรึกษากันแล้วก็แยกออกเป็น ๓ พวก มานพบางจำพวกก็เข้าไปสู่สำนักพระอาจารย์ ถวายนมัสการแล้วก็นั่งอยู่แห่งหนึ่ง อาจารย์จึงว่า “ท่านมาประชุมกันอยู่ในสถานที่นี้ด้วยเหตุประการใด”

มานพทั้งปวงจึงกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าทั้งปวงได้ฟังกิตติศัพท์อันหนึ่งปรากฏในสำนักพระอาจารย์ อาจารย์ถามว่าสิ่งอันใด ท่านจงบอกแก่เราให้แจ้งก่อน”

มานพทั้งหลายก็บอกว่า “ข้าแต่พระอาจารย์ บัดนี้เจ้าอหิงสกกุมารจะคิดประทุษร้ายแก่พระอาจารย์”

ท่านอาจารย์จึงได้ตะคอกขู่รุกรานว่าแก่มานพทั้งหลายด้วยถ้อยคำว่า “ดูกรมานพคนชั่วปากร้าย ท่านจะมาแกล้งทำลายลูกของเรา เสียด้วยน้ำใจอิจฉา ท่านจงเร่งไปให้พ้นเสียจากเราเถิด มานพพวกอื่นอันเป็นคำรบ ๒ คำรบ ๓ นั้น ก็ชวนกันมากล่าวถ้อยคำยุยงแก่อาจารย์เห็นปานประหนึ่งว่ามานพอันกล่าวก่อนนั้น ฝ่ายอาจารย์นั้นก็มิได้เชื่อถ้อยคำมานพทั้งหลาย มานพทั้งหลายก็กล่าวแก่อาจารย์ว่า

“ถ้าอาจารย์ไม่ได้เชื่อถ้อยคำแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายนี้ ขอพระอาจารย์จงพิจารณาดูดีและร้ายไปข้างหน้า อาจารย์ก็คงจะรู้” ท่านอาจารย์นั้นไม่เชื่อคำของมานพเหล่านั้น ๒ – ๓ วาระ

ในที่สุดด้วยอำนาจโมหะความเขลาจิต ทำให้อาจารย์หลงเข้าใจผิด กลับเป็นไปตามคำศิษย์ยุยง ก็จินตนารำพึงในใจว่า ถ้าเราจะฆ่าอหิงสกกุมาร บัดนี้ ก็จะเป็นที่เรื่องลือปรากฏออกไปว่าทิศาปาโมกข์อาจารย์ย่อมคิดอ่านยกโทษแก่มานพอันมาร่ำเรียนศิลปศาสตร์ แล้วก็มากระทำย่ำยีตีด่าฆ่าให้ถึงแก่ความตาย ครั้นว่าคนเขาจะรู้ระคายเข้าดังนั้นก็จะบังเกิดความกลัว จะไม่มีใครที่จะมาร่ำเรียนศิลปศาสตร์สืบไป เราก็จะบังเกิดฉิบหายบรรลัยเสียจากลาภสักการะ และเจ้าอหิงสกกุมารนี้มีกำลังมาก ใครๆ ไม่อาจฆ่าได้ เราจักฆ่าเขาด้วยอุบาย จึงคิดอุบายล่อลวงเพื่อจะให้มหาชนทั้งหลายทำลายล้างชีวิตของอหิงสกกุมารผู้นี้เสียให้ได้

ครั้นรุ่งเช้าท่านทิศาปาโมกข์อาจารย์ จึงเรียกอหิงสกกุมารมาและได้กล่าวกะอหิงสกกุมารผู้เรียนศิลปะแล้ว มาลาเพื่อจะไปเมืองของตนว่า

“ดูกร อหิงสกะผู้เป็นศิษย์ที่สามารถ เราใคร่จะประสาทพระเวทชื่อ “วิษณุมนต์” อันจะทำให้เจ้าเรืองฤทธิ์มีความสามารถเก่งกว่าใครๆ ซึ่งศัตรูใดๆ ในทศทิศไม่สามารถต่อต้านได้ แต่ต้องให้นิ้วมนุษย์มีจำนวนถ้วนหนึ่งพันของคนหนึ่งพันคนมาจัดเป็นเครื่องกำนนคำนับครูบูชาเทพเจ้าผู้ประเสริฐให้"

อหิงสกะได้ฟังดังนั้นก็ตกใจ จึงเคารพนอบน้อมแล้วกล่าวว่า

“ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขอรับ เมตตาที่ประทานไว้ในระหว่างเกล้า ข้าพเจ้านี้สิบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ไม่ฆ่าสัตว์ ข้อนี้เป็นเหตุขัดข้อง ยากที่ศิษย์จะปฏิบัติตามประสงค์ได้”

ทิศาปาโมกข์อาจารย์จึงกล่าวว่า

“ดูกร อหิงสกะ เครื่องประกอบนั้นยังไม่ได้ครบ ก็จะไม่สำเร็จศิลปศาสตร์วิชา ท่านจงฟังคำเรา จงเร่งไปหามาให้จงได้ เราจึงจะประสาทวิษณุมนต์นั้นให้สำเร็จ”

อาจารย์ก็ปราศรัยนานาประการชักนำอหิงสกะให้เกิดความกล้าหาญในปาณาติบาต สามารถจะทำตามอุบายที่แนะนำได้ทุกประการ

ดังนั้น อหิงสกะก็จับอาวุธทั้งหลายผูกพันให้มั่นกับตน แล้วก็อำลาอาจารย์ไปสู่ป่าชาลินวัน ในแคว้นของพระเจ้าโกศล อยู่ในระหว่างเขาใกล้หนทางใหญ่ แสวงหานิ้วมนุษย์เพื่อจะเอาไปเป็นเครื่องกำนนตั้งต้นฆ่าคนที่เข้าป่า แล้วตัดเอานิ้วมารวมเข้าไว้เป็นก่ายกอง โดยมุ่งจะเอาไปเป็นของเครื่องบูชาเรียนวิษณุมนต์ เพื่อจะได้มีอานุภาพเหนือคน อันเป็นสิ่งที่ตนปรารถนา

ครั้นกาลล่วงมา นิ้วนั้นโทรมลงไปยากที่จะกำหนดจำนวนให้ถ้วนถึงได้ อหิงสกะก็เริ่มฆ่าคนใหม่ ตัดเอานิ้วมาแล้วใช้เชือกมัดประหนึ่งพวงมาลัยคล้องคอไว้ เพื่อจะให้ได้ถึงจำนวนพัน เขาจึงได้สมัญญาว่า องคุลิมาล ปรากฎเป็นโจรที่กล้าหาญร้ายกาจ มีสำเนียงน่ากลัวยิ่งกว่าสิงหนาทในไพรสณฑ์ มหาชนสะทกสะท้านหวาดกลัว เพียงได้ยินชื่อว่า “องคุลิมาล” เท่านั้นก็ขนพองสยองเกล้า

ตั้งแต่นั้นมาองคุลิมาลโจรก็กระทำกรรมอันหยาบช้าฆ่าคนเสียเป็นอันมาก เมื่อเขาฆ่าพวกมนุษย์อยู่อย่างนี้ หนทางก็ไม่มีคนใช้เดินทาง เขาไม่ได้คนในหนทางจึงไปยังหมู่บ้าน ในเวลาเที่ยงคืนเงียบสงัดแล้วในกาลใด องคุลิมาลโจรก็เข้าไปสู่บ้าน จึงยกเท้าถีบทำลายบานประตูเข้าไปทางหน้าต่าง เข้าไปฆ่าคนที่กำลังนอนหลับแล้วนับไปว่า ๑ และ ๒ ละ ฯ คนทั้งหลายรู้เข้าก็พากันหลีกออกไปจากบ้าน บ้านทั้งหลายก็ร้าง นิคมและชนบทก็เหมือนกัน ประเทศนั้นได้ถูกเขาทำให้อยู่กันไม่ได้ด้วยประการฉะนี้ องคุลิมาลได้รวบรวมนิ้วมือได้พันนิ้ว หย่อนอยู่หนึ่งนิ้ว

ลำดับนั้น คนทั้งหลายได้กราบทูลถึงอันตรายเพราะโจรนั้นแด่พระเจ้าโกศล พระเจ้าโกศลนั้นเมื่อได้สดับถึงความเดือดร้อนก็ตกพระทัย ประหลาดใจว่า ไฉนองคุลิมาลโจรจึงร้ายกาจมีอำนาจเป็นที่ครั่นคร้ามแก่บรรดาประชาชนทั้งหลาย หากปล่อยไว้ก็จะอุกอาจเข้ามาเบียดเบียน ชาวพระนครให้เดือดร้อน ควรจะจัดการกำจัดเสีย ทรงดำริแล้วมีรับสั่งให้จัดทัพทหารหาญ พระองค์จักเสด็จทรงบัญชาการในงานนี้

ฝ่ายปุโรหิตผู้เป็นบิดาได้สดับพระราชโองการให้ตระเตรียมทัพทหารออกไปจับองคุลิมาลก็ตกใจ จึงคิดว่าองคุลิมาลโจรจะเป็นใครมาจากไหนไม่ได้ นอกจากอหิงสกะบุตรของเรา ด้วยได้ทราบข่าวจากสำนักศึกษา เมืองตักกสิลานั้น อหิงสกะเป็นคนโฉดถูกขับออกจากสำนักแล้ว ต่อนั้นก็ไม่ได้ข่าววี่แววว่าจะอยู่ในถิ่นใด

วันนั้นปุโรหิตผู้เป็นบิดาจึงบอกนางพราหมณีชื่อว่ามันตานีผู้เป็นมารดาขององคุลิมาลว่า

“โภติ ดูกรนางพราหมณี เราได้ยินข่าวเขาลือมาว่า โจรที่บังเกิดฆ่าคนเสียเป็นอันมาก โจรนั้นไม่ใช่อื่น คืออหิงสกกุมาร เป็นบุตรของเรา บัดนี้พระราชาจักต้องเสด็จออกไปจับตัวในครั้งนี้ ดูกรนางพราหมณี เราจะคิดอ่านเป็นประการใด”

ภรรยาจึงว่า “ไปเถิดนาย ท่านจงไปพาบุตรของเรามา”

ปุโรหิตจึงว่า “เราไม่อาจไป เพราะคน ๔ จำพวกวางใจไม่ได้ คน ๔ จำพวกนั้น คือ โจร ๑ เพื่อนเก่า ๑ พระราชา ๑ หญิง ๑ ใครๆ ไม่ควรวางใจว่า โจรนี้เป็นเพื่อนเก่าของเรา สหายนี้เป็นสหายเก่าของเรา พระราชาองค์นี้นับถือบูชาเรา หญิงนี้อยู่ในอำนาจของเราแล้ว เราไปไม่ได้”

ก็แต่ว่าธรรมดาใจของมารดาย่อมอ่อนต่อบุตร มารดานั้นมีน้ำใจอ่อนตัวสั่นขวัญหายกลัวว่าลูกนั้นจะตาย จึงปรึกษาปุโรหิตผู้เป็นสามีว่า “ข้าพเจ้าจะไปนำบุตรของเรามา” แล้วก็ออกไปจากกรุงสาวัตถี

ในวันนั้น สมเด็จพระทศพลพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร เวลาใกล้จะรุ่ง ได้ทรงพิจารณาด้วยอำนาจพระพุทธญาณ ก็ได้ทรงเล็งเห็นองคุลิมาล จึงทรงดำริว่า เมื่อเราไปความสวัสดีก็จักมีแก่เขา เขาอยู่ในป่าที่ไม่มีบ้าน ได้ฟังคาถาเพียง ๔ บท แล้วก็จักบรรพชาในสำนักของเรา จักสำเร็จอภิญญา ๖ ประการ ถ้าเราไม่ไป เขาก็จักทำร้ายมารดา แล้วจักเป็นผู้ที่ใครๆ ช่วยให้เขาพ้นจากนรกไม่ได้ เราจักสงเคราะห์เขา

ทรงดำริดังนี้แล้ว เช้าขึ้นจึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ได้อาหารพอประมาณพอมื้อหนึ่งแล้วพระองค์ก็กระทำภัตตกิจ ครั้นกระทำภัตตกิจฉันจังหันสำเร็จแล้ว พระองค์ก็เสด็จออกจากพระเชตวันมหาวิหาร ทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ทรงดำเนินไปด้วยพระบาทสิ้นหนทาง ๓๐ โยชน์ เฉพาะเจาะจงองคุลิมาล ในระหว่างทางแม้คนเลี้ยงโค คนเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ชาวนา คนเดินทาง ได้เห็นพระพุทธองค์เสด็จเดินตรงไปตามทางที่โจรองคุลิมาลอยู่ ก็พากันกราบทูลว่า

“ข้าแต่สมณะ ขอพระองค์อย่าไปทางนี้ เพราะว่าทางนี้มีโจรผู้ชื่อว่า องคุลิมาล โจรนั้นเป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนด้วยโลหิต ฆ่าคนไม่เลือก ไม่มีเมตตาใคร มันทำบ้านไม่ให้เป็นบ้าน ทำนิคมไม่ให้เป็นนิคม ทำชนบทไม่ให้เป็นชนบท มันฆ่าคนแล้วร้อยนิ้วมือเป็นพวงดอกไม้คล้องคอไว้ ข้าแต่สมณะ บุรุษตั้ง ๑๐ หรือ ๒๐ หรือ ๓๐ ก็ดี ๔๐ ก็ดี เดินทางไปทางนั้นเป็นหมู่ๆ ก็ยังตกอยู่ในอำนาจแห่งโจรพวงนิ้วมือ”

เมื่อคนทั้งหลายกล่าวอย่างนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงนิ่งเสีย แล้วทรงเดินต่อไป

ก็ในขณะนั้น พอดีองคุลิมาลได้เห็นมารดาของเขา ครั้นเขาเห็นมารดาแต่ไกล จึงเงื้อดาบวิ่งเข้าไปหมายใจว่า แม้มารดาเราก็จักฆ่า ทำนิ้วที่หย่อนให้ครบเต็มพันในวันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระองค์ในระหว่างคนทั้งสองนั้น องคุลิมาลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงคิดว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยการฆ่ามารดาแล้วถือเอานิ้วมือ มารดาเราจงมีชีวิตอยู่เถิด ถ้ากระไรเราพึงปลงชีวิตพระสมณะนี้แล้วถือเอานิ้วมือ จึงเงื้อดาบติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไปข้างหลังๆ

ครั้งนั้นองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงแสดงอิทธาภิสังขาร โดยประการที่องคุลิมาลแม้จะวิ่งจนสุดแรง ก็ไม่อาจทันพระองค์ ทั้งที่พระองค์เสด็จไปโดยพระอิริยาบถปกติได้ เขาถอยความเร็วลง หายใจครืดๆ เหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้งสองข้าง ไม่อาจแม้จะยกเท้าขึ้น จึงยืนเหมือนตอไม้ กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “หยุดเถิด หยุดเถิด สมณะ”

พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เสด็จดำเนินอยู่ จึงตรัสว่า “เราหยุดแล้ว องคุลิมาล เธอแหละจงหยุด”


praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 7/9/09 at 08:23 Reply With Quote


(Update 7 ก.ย. 52)

เขาคิดว่า พระสมณศากยบุตรเหล่านี้มีปกติพูดคำสัจจริง สมณะนี้ทั้งๆ ที่เดินไปก็พูดว่า เราหยุดแล้ว องคุลิมาล เธอนั่นแหละจงหยุด ก็เราเป็นผู้หยุดแล้ว สมณะนี้มีความประสงค์อย่างไร เราจักถามให้รู้ความประสงค์นั้น จึงได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

“ดูก่อนสมณะ ท่านสิกำลังเดินอยู่ กลับกล่าวว่า เราหยุดแล้ว ส่วนข้าพเจ้าหยุดแล้ว ท่านกลับกล่าวว่าไม่หยุด ดูก่อนสมณะ ข้าพเจ้าขอถามความนี้กะท่าน ท่านกำลังเดินอยู่ เพราะเหตุไร จึงกล่าวว่าหยุดแล้ว ส่วนข้าพเจ้าสิ หยุดแล้ว ท่านกลับกล่าวว่าไม่หยุด”

เมื่อองคุลิมาลกล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสว่า

“อหิงสกะ ตถาคตกล่าวแต่คำจริงเป็นปกติ ที่ตถาคตกล่าวว่า เราหยุดแล้ว คือหยุดฆ่า หยุดเบียดเบียน หยุดแสวงหาในทางผิด หยุดดำเนินไปในทางทุจริตสิ้นทุกประการ อหิงสกะ เธอสิ มีสันดานพาลแรงร้ายไม่หยุดยั้ง วิ่งตามเราจนสิ้นกำลังแล้วยังไม่คิดหยุด มือถืออาวุธเขม้นหมายประหาร แต่ปากสิเปิดขานว่า หยุดแล้ว น่าขวยแก่ใจ เท็จต่อตัวแล้วมาเท็จต่อเราอีกเล่า อหิงสกะ”

ครั้นได้ฟังพระพุทธฎีกาตรัสเพียงเท่านั้น ก็พลันสำนึกรู้ผิดได้ คิดละอายแก่ใจในบาปกรรมที่ทำมา องคุลิมาลเกิดความปีติโสมนัสว่า พระสมณะนี้ คือพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เพราะเคยได้ฟังเกียรติศัพท์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประกาศคุณตามความเป็นจริง ผู้ทรงทำชาวโลกทั้งสิ้นให้เอิบอาบอยู่ดุจน้ำมันเอิบอาบอยู่บนพื้นน้ำฉะนั้น และเพราะเหตุสมบัติและญาณถึงความแก่กล้าแล้ว จึงคิดว่าการบันลือสีหนาทใหญ่นี้ การกระหึ่มใหญ่นี้จักไม่มีแก่ผู้อื่น การกระหึ่มนี้เห็นจะเป็นของพระสมณโคดม เราเป็นผู้อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณใหญ่ทรงเห็นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาที่นี้ เพื่อกระทำการสงเคราะห์เรา ช่วยเปลื้องปลดให้เราพ้นจากมหันตโทษอบายทุกข์เที่ยงแท้แล้ว จึงได้กล่าวว่า

“พระองค์เป็นสมณะที่ชาวโลกกับทั้งเทวโลกบูชาด้วยเครื่องบูชามากมาย ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพิ่งจะเสด็จมาถึงป่าใหญ่ เพื่อโปรดข้าพระองค์โดยกาลนานหนอ ข้าพระองค์ได้สดับพระคาถาซึ่งประกอบด้วยเหตุผลของพระองค์แล้ว จักละเลิกบาปกรรมตั้งพันเสีย”

ครั้นองคุลิมาลโจรกราบทูลดังนี้แล้ว ก็โยนดาบและอาวุธทั้งหมดทิ้งลงในหนองน้ำ บ่อน้ำและเหว ได้ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระสุคตเจ้า แล้วทูลขอบรรพชากะพระพุทธเจ้า ณ ที่นั้นเอง

เมื่อจะทรงพระกรุณาประทานบรรพชาให้แก่องคุลิมาลโจรวันนั้น พระองค์ก็พิจารณาดูอุปนิสัยปัจจัยวาสนาแห่งองคุลิมาลโจร อันปรากฏมีแต่ในบุพพชาติปางก่อน ก็ทราบว่าองคุลิมาลโจรนี้ได้บำเพ็ญบารมีไว้ คือได้ถวายเครื่องบริขาร ๘ ปราการแก่พระภิกษุสงฆ์อันทรงศีลบริสุทธิ์และประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ องคุลิมาลได้บำเพ็ญไว้แต่ในกาลก่อน ครั้นพระองค์ทราบดังนี้แล้ว จึงเหยียดออกซึ่งพระหัตถ์ ตรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด” เท่านี้ความเป็นภิกษุได้มีแก่องคุลิมาลโจรนั้นในขณะนั้นทีเดียว

พระเถระได้การบรรพชาและอุปสมบทโดยความเป็นเอหิภิกขุอย่างนี้แล้ว กระทำวิปัสสนาญาณได้บรรลุพระอรหัตแล้ว เสวยวิมุตติสุขอยู่เกิดความปีติโสมนัสจึงกล่าวโดยอุทานว่า

“ผู้ใดประมาทแล้วในตอนต้น ภายหลังเขาไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำให้โลกนี้ให้สว่างไสวเหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอกฉะนั้น บาปกรรมที่ทำไว้แล้วอันผู้ใดปิดกั้นไว้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก ฉะนั้น ภิกษุใดแล แม้จะยังหนุ่มประกอบด้วยความขวนขวายในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสวเหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอกฉะนั้น”

พระเถระเกิดปีติโสมนัสอย่างนี้ อยู่ด้วยวิมุตติสุข ในกาลใดเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน ในกาลนั้น ก้อนดินแม้คนอื่นขว้างมา ก็ตกลงที่ร่างกายของพระเถระ ท่อนไม้แม้ที่คนอื่นปามา ก็ตกลงที่ร่างกายของพระเถระนั้นเหมือนกัน พระเถระนั้นมีบาตรแตกเข้าไปยังพระวิหารเข้าเฝ้าพระศาสดา พระศาสดาทรงโอวาทพระเถระว่า

“เธอจงอดกลั้นเถิดพราหมณ์ เธอจงอดกลั้นเถิดพราหมณ์ เธอจงเสวยวิบากกรรม ที่จะทำให้ไหม้ในนรกหลายพันปีนั้น เฉพาะในปัจจุบันเถิดพราหมณ์”

ลำดับนั้น พระเถระจึงเข้าไปตั้งเมตตาจิตในสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่เจาะจง แล้วได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ว่า

“ก็ผู้เป็นข้าศึกต่อเรา จงฟังธรรมกถาที่เราได้ฟังแล้วในสำนักของพระศาสดา ขอจงประกอบด้วยความขวนขวายในพระพุทธศาสนา ขอจงคบหากับมนุษย์ผู้เป็นสัตบุรุษผู้ถือมั่นแต่ธรรมอย่างเดียว ก็ผู้เป็นข้าศึกต่อเรา ขอเชิญฟังธรรมของท่านผู้กล่าวสรรเสริญความอดทน ผู้มีปกติสรรเสริญความไม่โกรธ ตามเวลาอันควร และขอจงปฏิบัติตามธรรมอันสมควรแก่ธรรมนั้นเถิด ขออย่าเบียดเบียนเราและประชาชนหรือว่าสัตว์อื่นใดเลย พึงบรรลุความสงบอย่างเยี่ยม และพึงรักษาสัตว์ทั้งปวง ให้เป็นเหมือนบุตรที่รักเถิด

ก็ชาวนาที่ต้องการน้ำย่อมไขน้ำไป ช่างศรย่อมดัดลูกศร ช่างไม้ย่อมถากไม้ บัณฑิตย่อมฝึกตน คนบางพวกย่อมฝึกช้างและม้าเป็นต้น ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยขอบ้าง ด้วยแส้บ้าง ส่วนเราเป็นผู้อันพระศาสดาผู้คงที่ทรงฝึกแล้ว โดยไม่ได้ทรงใช้อาชญาและศาสตรา เมื่อก่อนเรามีชื่อว่า อหิงสกะ ผู้ไม่เบียดเบียน แต่เบียดเบียนผู้อื่นอยู่

วันนี้เราเป็นผู้มีชื่อเสียงไม่เบียดเบียนใคร แต่ก่อนเราเป็นโจรลือชาทั่วไปว่าองคุลิมาล แต่บัดนี้องคุลิมาลได้มาพบพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งเข้าแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพน้อยใหญ่ขึ้นได้แล้ว เราได้ทำกรรมเช่นนั้นอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติเป็นอันมาก แต่บัดนี้เราบริโภคโภชนะโดยไม่เป็นหนี้ คนพาลผู้มีปัญญาทรามย่อมประกอบตามความประมาท ส่วนนักปราชญ์ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์อันประเสริฐสุดฉะนั้น

ท่านทั้งหลายอย่าประกอบตามความประมาท อย่าประกอบความสนิทสนมด้วยความยินดีในกาม เพราะว่าผู้ไม่ประมาทเพ่งพินิจอยู่ ย่อมถึงความสุขอันไพบูลย์ การที่เรามาสู่สำนักของพระศาสดา เป็นการมาดีแล้วมิใช่ว่าเป็นการมาไม่ดี การที่เราคิดจะมาบวชในสำนักของพระศาสดานี้ ก็ไม่ใช่เป็นความคิดที่เลวเลย เพราะเป็นการเข้าถึงธรรมอันประเสริฐ ในธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาทรงจำแนกดีแล้ว

การที่เรามาสู่สำนักของพระศาสดานี้เป็นการมาดีแล้ว ไม่ใช่เป็นการมาไม่ดี การที่เราคิดจะมาบวชในสำนักของพระศาสดานี้ ก็ไม่ใช่เป็นความคิดที่เลวเลย เราได้บรรลุวิชชาสามตามลำดับ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว แต่ก่อนเราอยู่ในป่า โคนไม้ ภูเขา หรือในถ้ำทุกแห่ง มีใจหวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ เราผู้อันพระศาสดาทรงอนุเคราะห์แล้ว ไม่ไปในบ่วงมาร จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นสุข เมื่อก่อนเรามีเชื้อชาติเป็นพราหมณ์ มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ทั้งสองฝ่าย

บัดนี้เราเป็นโอรสของพระสุคตผู้ศาสดา ผู้เป็นพระธรรมราชา เราเป็นผู้ปราศจากตัณหาแล้ว ไม่ถือมั่น คุ้มครองทวาร สำรวมดีแล้ว เราตัดรากเหง้าของทุกข์ได้แล้ว บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว เรามีความคุ้นเคยกับพระศาสดา ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพเสียแล้ว”


praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved