ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 17/2/10 at 14:30 Reply With Quote

การเดินทางไป "หลวงพระบาง" วันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2553 (ตอนที่ 1)


ดอยนันทกังรีอยู่ที่ไหน..?


หลังจากการเดินทางไปประเทศจีน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2552 หลวงพี่ได้บอกว่าปีหน้า 2553 จะพาพวกเราเดินทางไปประเทศลาวเป็นรายการต่อไป ฉะนั้น ก่อนที่จะเล่าเรื่องการเดินทางไป "หลวงพระบาง" ในปี 2553 นี้ ผู้เขียนอยากจะขอเล่าย้อนการเดินทางในตอนแรกของหลวงพี่ชัยวัฒน์ก่อนในครั้งแรก เมื่อปี 2541 ซึ่งเป็นการสำรวจสถานที่สำคัญในประเทศลาวของท่าน ตาม "ตำนานพระธาตุพนม" ที่ได้เล่าไว้ ซึ่งหลวงพี่ได้เล่าไว้ใน หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม 1 ดังนี้ว่า...

ตามประวัติเล่าว่า หลังจากองค์สมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จมาทางอากาศ ประทับแรมที่ ภูกำพร้า (พระธาตุพนม) ตอนเช้าจึงเสด็จไปที่ พระธาตุอิงรัง (สุวรรณเขต) แล้วไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตบอง จากนั้นพระพุทธองค์เสด็จต่อไปประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ พระธาตุเชิงชุม (สกลนคร), พระพุทธบาทบัวบก, บัวบาน (อุดรธานี) สุดท้ายเสด็จไปสู่ ดอยนันทกังรี ซึ่งเป็นที่อยู่ของนางนันทยักษ์ แต่ก่อนมีพญานาคตัวหนึ่ง 7 เศียร ชื่อว่า "ศรีสัตตนาค" ได้เข้ามาทูลขอให้พระศาสดาทรงย่ำรอยพระบาทไว้

เมื่อผู้อ่านได้เห็นคำว่า “ดอยนันทกังรี” ก็คงจะงง เพราะชื่อนี้ในปัจจุบันนี้ไม่มีใครกล่าวถึงแล้ว แม้ผู้เขียนเองก็สืบหาจ้าละหวั่น จนไป ถึงประเทศลาวโน่น จึงได้คำตอบว่า คือ เมืองหลวงพระบาง นั่นเอง และผู้เขียนก็ได้ไปสำรวจมาแล้ว พบว่าหลวงพระบางมีรอยพระพุทธบาท ถึง ๓ แห่งด้วยกัน เรามาฟังเรื่องราวจากตำนาน กันต่อไปว่า

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคก็เสด็จย่ำพระบาทไว้ ณ ที่นั้น ทรงก้าวพระบาทข้ามตีนดอย ข้างขวา แล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ จึงกราบทูลถาม พระศาสดาจึงตรัสว่า

“..เราเห็นนาค ๗ หัวเป็นนิมิต ต่อไป ภายหน้านี้ จักบังเกิดเป็นเมืองมีนามว่า “เมืองศรีสัตตนาค” และที่พญานาคได้ให้ความสวัสดี แก่ พระยาจันทบุรี (เจ้าผู้นครเวียงจันทน์สมัยนั้น) จักร้างเสื่อมสูญไป...”

ตรัสดังนี้แล้ว จึงเสด็จลงไปไว้รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายที่แผ่นหินอันจมอยู่ในกลาง แม่น้ำ ซึ่งคนทั้งหลายไม่สามารถจะมองเห็นได้ แล้วจึงเสด็จไปบนดอยนันทกังรี อธิษฐานให้ เป็นรอยพระบาททับหงอนนาคไว้ ซึ่งพญาศรีสัตตนาคได้สมมุติดอยนันทกังรีให้เป็นหงอน แห่งตน เพื่อมิให้ท้าวพญาในเมืองนั้นทำยุทธกรรมกัน จักแพ้พระพุทธศาสนาบ้านเมืองแล้ว พระศาสดาก็เสด็จกลับสู่ กรุงสาวัตถี

เป็นอันว่า เส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาตามที่พระอรหันต์บันทึกไว้ใน ตำนาน พระธาตุพนม จะสรุปได้ว่าพระองค์เสด็จจากกรุงสาวัตถีมาสู่ เวียงจันทน์ ก่อนแล้วจึงเสด็จ มาทางภาคอีสานของไทย ก่อนที่จะกลับก็ได้เสด็จ ไปประทับรอยพระพุทธบาทที่หลวงพระบาง



การเดินทางไปประเทศลาว

เริ่มต้นที่เวียงจันทน์



หลวงพี่ชัยวัฒน์และคณะฯ พักค้างที่วัดพระโพธิสาราช เมื่อวันที่ ๒๔ มิ.ย. ๔๑


แต่กว่าที่จะสืบหาได้ครบถ้วน ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ จนถึงปี ๒๕๔๑ จึงได้เดินทางไปกราบไหว้ครบถ้วนตาม ตามตำนาน เว้นไว้แต่ทางประเทศลาว จนกระ ทั่งมีแสงสว่างพุ่งจากลาวมาบรรจบกับไทยใน เวลาเย็น ขณะทำพิธีที่ วัดพระพุทธบาทบัวบก เมื่อวันที่ ๑๔ มิ.ย. ๔๑ เพราะฉะนั้นอีก ๗ วัน ต่อมาปริศนาทั้งหมดก็ได้ไปเฉลยกันถึงประเทศ ลาวดังที่จะเล่าต่อไปนี้

วันที่ ๒๔ มิ.ย. ๔๑ ผู้เขียนพร้อมกับคณะ อีกประมาณ ๖ คน ก็ได้เดินทางข้ามไปฝั่งลาว ทางด้านหนองคาย หลังจากไปทำพิธีบวงสรวง กราบไหว้ พระบรมธาตุเขี้ยวฝาง ณ วัดพระธาตุ บุ (โพนจิกเวียงงัว) อ.เมือง จ.หนองคาย แล้ว ได้ร่วมทำบุญทุกอย่างแก่เจ้าอาวาส ๑,๐๕๐ บาท

เมื่อข้ามไปทางฝั่งลาวแล้ว รถตู้ที่เช่าไว้ก็มารับ โดยการประสานงานจากทัวร์ที่หนองคาย ไกด์สตรีก็ได้นำไปที่ พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ ซึ่งวันนั้นมิได้ตรงกับวันหยุด แต่ปรากฏว่าเขาปิด ไม่ให้เข้า สอบถามได้ความว่าเจ้าหน้าที่ไปประชุม

พวกเราจึงไปกราบสถานที่อื่นแทน เช่น พระพุทธบาทพรสวรรค์ และ พระพุทธบาทโพน ฆ้อง เมืองทุละคม เวียงจันทน์ เป็นพระบาท เบื้องซ้าย แล้วกลับมาค้างคืนอยู่ที่ วัดพระโพธิสาราช ซึ่งเป็นพระนามของเจ้านครเวียงจันทน์ ผู้เป็นพระราชบิดาของ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้สร้างพระเจดีย์ “ศรีสองรัก” ร่วมกับ พระมหาจักรพรรดิ์ แห่งกรุงศรีอยุธยานั่นเอง



ไปหลวงพระบางโดยมิได้คาดฝัน



ทิวทัศน์ระหว่างเดินทางไปหลวงพระบาง เมื่อวันที่ ๒๔ มิ.ย. ๔๑


ในตอนเช้า วันที่ ๒๕ มิ.ย. ๔๑ ผู้เขียนตื่นขึ้นมาเวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. ออกมายืนหน้า วัด มองเห็นวัดๆ หนึ่ง อยู่ตรงกันข้ามกับถนน ชื่อว่า วัดพระไชยเชษฐาธิราช เรียกว่า “วัดพ่อ” กับ “วัดลูก” อยู่ใกล้กัน จึงเดินเข้าไปในบริเวณวัด เห็นพระหลวงตาองค์หนึ่ง กำลังจะไปบิณฑบาต

เมื่อเข้าไปทักทายท่านแล้ว ได้ทราบว่าท่านเป็นชาวเมืองหลวงพระบาง จึงถามว่าที่นั่นมีรอยพระพุทธบาทไหม ท่านตอบว่ามี.. เขาเรียกว่า พระบาทพูสี (ภูศรี) ได้เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

ผู้เขียนจึงเดินกลับไปยังวัดพระโพธิสาราช ชักชวนคณะเดินทางต่อไปยังหลวงพระบาง ส่วนที่พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ไว้ค่อยกลับมาไหว้ภายหลัง แต่ก็ฉงนใจเหมือนกันว่า ทำไมถึงยังเข้าไปไหว้ไม่ได้ คนอื่นเขามากัน เขาก็ได้เข้าไป พอพวกเราไปบ้าง ก็ได้แต่ยืนมองอยู่ด้านนอกเท่านั้น

ครั้นเมื่อฉันเช้าแล้ว เวลา ๐๘.๓๐ น. จึงได้ปรึกษากัน ตัดสินใจออกเดินทางต่อไปโดย รถตู้ถึงหลวงพระบางเวลา ๑๗.๐๐ น. ระยะทาง ๓๘๗ ก.ม. แม้จะเป็นทางลาดยาง แต่เป็นทางขึ้นเขาสูงชัน สลับซับซ้อน ต้องวิ่งเลี้ยวไปเลี้ยวมาตลอดเส้นทาง (ยิ่งกว่าทางไปแม่ฮ่องสอนอีก)

การเดินทางไปครั้งนี้ มีเจ้าอาวาสวัดพระโพธิสาราช ชื่อ “อาจารย์กิ” ร่วมเดินทางไปด้วย มองดูทิวทัศน์ระหว่างทาง สวยงามตามธรรมชาติ บรรยากาศก็ร่มรื่น อากาศคลึ้มเย็นสบาย มีฝนปรอยๆ ลงมาเป็นระยะๆ ทุกคนมีความสุขใจ ไม่มีความอ่อนเพลียแต่อย่างใด


รอยพระพุทธบาท ณ วัดพระบาทใต้ อยู่ริมแม่น้ำคาน พวกเรากำลังยืนคุยอยู่ริมแม่น้ำแห่งนี้

ฉะนั้น เมื่อไปถึงหลวงพระบาง จึงตรงไปที่ วัดพระบาทใต้ ซึ่งตามประวัติที่ได้เล่าไปแล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ในแม่น้ำ ซึ่งคนทั้งหลายจะมองไม่เห็น เพราะฉะนั้น ทางวัดจึงได้สร้างพระพุทธบาทจำลองไว้ บนลานหินริม “แม่น้ำคาน” พอถึงกลางพรรษาน้ำจะท่วมรอยพระบาทนี้เช่นกัน (ไม่แน่ใจว่าเป็น "แม่น้ำคาน" หรือ "แม่น้ำโขง")

ส่วนพื้นน้ำบริเวณหน้ารอยพระบาทเรียกว่า หนองยอก แปลว่า “วังน้ำวน” และวันที่ไป เห็นน้ำวนจริงๆ คิดว่าน่าจะเป็นที่อาศัยของพญานาคที่เรียกว่า “เมืองบาดาล” ก็ได้

ท่านเจ้าอาวาสวัดพระบาทใต้ ได้เล่าให้ฟังพร้อมกับชี้มือไปข้างหน้า พวกเรามองตามไป ยังฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำคาน มองเห็นทิวเขาอยู่ เบื้องหน้า แล้วมีทางลงมาที่แม่น้ำซึ่งอยู่ตรงข้าม กับที่พวกเรายืนอยู่ ขณะนั้นลมพัดเย็นสบายๆ ท่านได้กล่าวว่า สมัยนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จ บิณฑบาตที่ด้านโน้น แล้วข้ามมายังฝั่งนี้ มีพญานาคชื่อว่า “ใจจำนง” เป็นผู้รักษารอยพระบาท

เมื่อถึงเวลาใกล้ค่ำ พวกเราก็ทำบุญแล้วลาท่านมาค้างคืนที่ วัดปากคาน อยู่ริมแม่น้ำคาน เช่นกัน แต่อยู่ใกล้ตลาด พอที่ฆราวาสจะไปหาอาหารรับประทานในเวลาเย็นได้


ในตอนเช้า จึงนั่งเรือหางยาวไปที่ ถ้ำติ่ง ล่องเรือไปตามแม่น้ำโขง ประมาณ ๒๐ นาที ซึ่งสถานที่นี้ สมเด็จพระเทพ ฯ เคยเสด็จมาที่ถ้ำนี้ ถ้ำจะอยู่ริมแม่น้ำโขง (ปากแม่น้ำคาน) ซึ่งมีแม่น้ำคานไหลมาบรรจบ ภายในมีพระพุทธรูปยืน ปางเปิดโลก อยู่ประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าองค์ แต่เดิมเคยมี มากกว่านี้ คงจะถูกขโมยไปบ้างเป็นธรรมดา


ภาพถ่ายปากถ้ำติ่ง เมื่อปี 2541 จะเห็นปากถ้ำเหมือนกำแพงวัด ภายในจะมีพระพุทธรูปมากมาย

คนที่เฝ้าเล่าว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เคยเสด็จมาที่นี่ ดังจะเห็นได้ว่า ชาวลาวมีความศรัทธาพระพุทธรูปยืน “ปางเปิดโลก” จึงได้นำมาถวายไว้ในถ้ำมากมายหลายสมัย และพวกเรา ก็มีโอกาสได้สร้างพระพุทธรูปยืน “ปางเปิดโลก” เช่นเดียวกับชาวลาวเหมือนกัน นั่นก็คือที่วัดพระ พุทธบาทบัวบก จ.อุดรธานี ตามที่เล่าไปแล้วนั้น

สำหรับ “ถ้ำติ่ง” นี้ ยังมีทางไปถ้ำใหญ่อีก คนเฝ้าบอกว่าภายในถ้ำใหญ่ ลึกไปไกลเกือบ ๕๐ เมตร เป็นถ้ำกว้างมาก จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นถ้ำที่ใช้ขัง นางสิบสอง ไว้ในสมัยที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็น พระรุทธเสน ตามที่เล่าไว้ ในฉบับที่แล้วเช่นกัน ณ วัดพระพุทธบาทบัวบก

เพราะฉะนั้น เมื่อเล่าถึงเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นทางหลวงพระบาง ประเทศลาว จึงมีลำแสงพุ่ง ขึ้นบนท้องฟ้าทางด้านลาวดังกล่าวแล้ว ปริศนา ในวันนั้น จึงได้มาเฉลยในครั้งนี้ คือ ผู้เขียนได้มี โอกาสเดินทางมาถึงสถานที่นี้ โดยที่มิได้คาดคิด มาก่อน

เดิมคิดว่าจะมาค้างเวียงจันทน์เพียง ๑ วัน เท่านั้น แต่ก็มีเหตุให้เข้าไปใน พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ไม่ได้ ทำให้คิดว่านั่นเป็นเมืองหลวงใหม่ เราจะต้องเดินทางมาที่เมืองหลวงเก่าก่อน จึงจะสมควร บายศรีที่เตรียมไว้จึงต้อง มาไหว้สถานที่นี้ก่อน

และเมื่อมาถึงหลวงพระบางแล้ว ครั้นเดิน ทางกลับมาจากถ้ำติ่งแล้ว ซึ่งชาวบ้านบอกว่า เลย ถ้ำติ่งไปหน่อย จะมีรอยพระพุทธบาทอยู่บนเขา แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่มีเวลา จึงยังไม่มีโอกาสได้ ไปเห็น เพราะทราบมาจากตำนานพระธาตุพนม ว่า เมืองหลวงพระบางมีรอยพระพุทธบาท ๓ แห่ง

นี่เป็นอันว่าเราทราบ ๒ แห่งแล้ว ยังเหลือ อีกหนึ่งแห่ง จึงได้เดินทางกลับมายังตัวเมือง ซึ่ง ทางลาวยังอนุรักษ์บ้านเมืองไว้แบบโบราณ ชาวเมืองหลวงพระบาง โดยเฉพาะสตรีก็ยังนุ่งผ้าถุง แบบเดิม ไม่มีใครนุ่งกางเกง เมืองหลวงพระบาง จึงได้รับการยกย่องเป็น “มรดกโลก” อีกแห่งหนึ่ง บ้านเมืองก็ยังสงบเงียบไม่วุ่นวายเหมือน กับในเวียงจันทน์



มองเห็นยอด "พระธาตุพูสี" (พระธาตุจอมศรี) อยู่บนเขาใจกลางเมืองหลวงพระบาง

ก่อนจะเข้ามาในตัวเมือง มองเห็นพระเจดีย์สีทอง ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขาน้อยๆ แต่ไกล ซึ่งอยู่ใจกลางตัวเมือง ได้จอดรถไว้แล้ว เดินขึ้นบันได มองเห็นป้าย วัดสีพระพุทธบาท (พระบาทพูสี) ถ้าขึ้นอีกทางหนึ่ง จะตรงไปทาง พระธาตุพูสี ซึ่งอยู่สูงกว่ารอยพระพุทธบาท

พระบาทแห่งนี้ บางทีเรียกว่า “พระบาทเหนือ” ซึ่งอยู่บนภูเขาใจกลางเมืองหลวงพระบาง ส่วน “พระบาทใต้” อยู่ในแม่น้ำคานเบื้องล่าง ถ้าจะวิเคราะห์ตามหลักภูมิศาสตร์แล้ว จะเห็น ว่าพระพุทธเจ้า ทรงวางเขตแดนพระพุทธศาสนา ไว้ครบ ทั้งหัวเมืองและท้ายเมือง เพราะเป็น เมืองที่พระองค์เคยเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน แล้ว ได้เสวยราชย์ในเมืองนี้

ฉะนั้น ตามตำนานที่กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่ ดอยนันทกังรี นั้น ตามที่ผู้เขียน ได้ติดตามหามานาน เมื่อขึ้นมาถึงรอยพระพุทธ บาทพูสีแล้ว ได้เห็นก้อนหินบริเวณนี้ มีลักษณะริ้วรอยหยัก ๆ เหมือนกับหงอนไก่


รอยพระพุทธบาทอยู่ภายในมณฑปเล็กๆ ที่สร้างครอบไว้เข้าไปกราบได้ทีละคน

ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาททับหงอนนาคไว้ ซึ่ง พญาศรีสัตตนาค ได้สมมุติ ดอยนันทกังรี ให้เป็นหงอน แห่งตน ข้อนี้มีหลักฐานสอดคล้องกันมาก จึง สร้างความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ไม่นึกว่าจะมา ได้ครบถ้วนตามตำนาน ข้อข้องใจที่ว่า เราจะไม่ สามารถสืบหา บัดนี้ก็ได้มาถึงแล้ว ดอยนันทกังรี ก็คือ หลวงพระบาง นั่นเอง

สำหรับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ก็เป็นรอยพระบาทเบื้องซ้าย เช่นเดียวกันกับรอยพระบาทใต้ แต่ส้นพระบาทกดลึกลงไปมากกว่าปลายพระบาท จึงได้ทำพิธีบวงสรวงบายศรี ในระหว่างนี้ มีละอองฝนปรอยขณะทำพิธีหลายหน

ในขณะนั้น ได้พบกับเจ้าอาวาส จึงได้ร่วมทำบุญสร้างวิหารด้วย แล้วเดินขึ้นเขาต่อไปอีก จึงจะถึง พระธาตุเจดีย์พูสี (พระธาตุจอมศรี) ตามที่ได้มองเห็นเมื่อตอนอยู่ข้างล่าง ครั้นได้กราบไหว้สักการบูชาแล้ว จึงเดินทางลงมาจากยอดเขา แล้วไปเที่ยว วัดเชียงทอง แล้วเดินทางกลับถึงเวียงจันทน์ มาค้างคืนที่วัดพระโพธิสาราชตามเคย



เป็นอันว่า หลังจากการเดินทางไปหลวงพระบางโดยมิได้คาดฝันในครั้งนั้น วันที่ ๒๕ มิ.ย. ๔๑ ระยะเวลาได้ล่วงเลยมาเกือบ 12 ปี พวกเราจึงได้มีโอกาสไปกราบไหว้อีกครั้งหนึ่ง โดยหลวงพี่ได้กำหนดการเดินทางไปหลวงพระบาง ในวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2553 ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว

< < < โปรดติดตามตอนต่อไป การเดินทางไปหลวงพระบาง วันที่ 5 – 7 กุมภาพันธ์ 2553 > > >



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 19/2/10 at 08:05 Reply With Quote


วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 กรุงเทพฯ – หลวงพระบาง


- คณะผู้ร่วมเดินทางจำนวนประมาณ 21 คน ออกเดินทางโดยสายการบิน โดยสายการบินลาว เที่ยวบินที่ QV 643 เดินทางถึงสนามบินหลวงพระบางผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง และเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองหลวงพระบาง เวลา 12.30 น. ซึ่งจะสังเกตได้ว่าในตอนบ่ายวันนี้ อากาศไม่ร้อนอย่างที่คิด แดดร่มลงไปเป็นที่อัศจรรย์ใจของทุกคน ต่างก็เดินชมสถานที่สำคัญด้วยความเป็นสุข


- เวลา 13.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน ณ ภัตตาคาร โดยที่หลวงพ่อ และหลวงพี่ได้ฉันเพลเรียบร้อยแล้ว บนเครื่อง





- หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หลวงพระบาง พระราชวังเก่า หรือชาวเมืองหลวงพระบางเรียกว่าหอคำ เป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิต ที่ในอดีตเคยเป็นพระราชวังหลวงที่พำนักของเจ้ามหาชีวิต(พระมหากษัตริย์) ตั้งอยู่ตรงข้ามกับบันไดทางขึ้นพูสี แต่เดิมเคยเป็นพระราชวังหลวงที่เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2447 ในสมัยพระเจ้าสักกะริน และมาแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2452

- ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ลักษณะอาคารเป็นชั้นเดี่ยวยกพื้นสูง สถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส แต่เป็นการผสมผสานระหว่างฝรั่งเศสและลาว ด้านนอกอาคารเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์และเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ประทับอยู่ที่นี่จนสิ้นพระชนม์

- ภายหลังเปลี่ยนระบอบการปกครองในประเทศลาวเมื่อ พ.ศ. 2518 รัฐบาลลาวได้ใช้พระราชวังหลวงนี้เป็นหอพิพิธภัณฑ์ และเปิดทำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ปัจจุบันพระราชวังหลวงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองที่พอเดินเข้าไปจะเห็นทิวต้นตาล 2 ข้าง นำสายตาไปสู่อาคารพระราชวัง ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสผสมลาว ซึ่งหลายๆ คนเปรียบเปรยพระราชวังหลังนี้ว่าเป็น “ฝรั่งสวมชฎา” ใครที่เข้าไปในหอพิพิธภัณฑ์ฯแล้วเพื่อความเป็นสิริมงคล ควรที่จะไปสักการะ “พระบาง” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง ที่อยู่ในห้องทางขวามือ







- วัดใหม่สุวันนะพูมาราม วัดที่สำคัญวัดหนึ่งของหลวงพระบางอยู่ติดกับ พิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2337 สมัยพระเจ้าอนุรุทธราช และใน พ.ศ. 2437 สมัยพระเจ้าสักริน ได้อัญเชิญพระบางมาประดิษฐาน และประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยาต่อหน้าองค์พระบาง วัดที่เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชบุญทัน นับเป็นสังฆราชองค์สุดท้ายของลาว และภายในพระอุโบสถยังเคยใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบาง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของหลวงพระบางประดิษฐานอยู่ จนถึงปีพ.ศ.2437 จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานในหอพระบางภายในพระราชวัง



- พวกเราต้องนั่งรถสกายแลปกันไปตามที่ต่าง ๆ เพราะรัฐบาลลาว ต้องการที่จะอนุรักษ์ให้เป็นมรดกโลก



- วัดเชียงทอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองหลวงพระบาง ใกล้บริเวณที่แม่น้ำคานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง มีถนนเล็กๆชื่อถนนโพธิสารราช ริมน้ำโขงคั่นอยู่ วัดเชียงทองสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2102 –2103 สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ในบรรดาวัดวาอารามทั้งหมดต้องยกให้วัดเชียงทองเป็นวัดที่สำคัญและสวยงามที่สุด และได้รับการมาเยี่ยมเยือนจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด

"นักโบราณคดียกย่องว่าวัดเชียงทองเป็นดั่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว" วัดเชียงทองสร้างขึ้นก่อนหน้าที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจะย้ายเมืองหลวงไปยังนครเวียงจันทน์ไม่นานนัก และยังได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้ามหาชาติศรีสว่างวงศ์ และเจ้ามหาชาติศรีสว่างวัฒนา กษัตริย์สองพระองค์สุดท้ายของประเทศลาว



- โรงเมี้ยนโกศ หรือโรงเก็บราชรถพระโกศของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2505 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ลักษณะเป็นโถงกว้าง ผนังด้านหน้าตั้งแต่หน้าบันลงมาจนถึงพื้นสามารถถอดออกได้เพื่อให้สามารถเคลื่อนราชรถออกมาได้

- กลางโรงเมี้ยนโกศเป็นที่ตั้งราชรถไม้แกะสลักปิดทองคำเปลวรอบคัน มีพระโกศสามองค์ตรงกลางเป็นองค์ใหญ่ของเจ้าสว่างศรีวัฒนา ด้านหลังเป็นของพระราชมารดา ส่วนด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา โรงเก็บราชรถนี้ออกแบบโดยเจ้ามณีวงศ์ และใช้ช่างชาวหลวงพระบางชื่อ เพียตัน นับว่าเป็นช่างฝีมือดีประจำพระองค์ มีความชำนาญทั้งด้านงานเขียนและงานแกะสลัก





- พระประธาน หรือชาวลาวเรียกว่าพระองค์หลวง ภายในพระอุโบสถเป็นสีทองงดงามอร่ามตาด้านข้างพระองค์หลวงมีพระบางจำลอง และผนังด้านหลังของพระอุโบสถเป็นภาพที่เกิดจากการใช้กระจกสีตัด ติดต่อกันเป็นรูปต้นทองขนาดใหญ่ ซึ่งเคยมีในเมืองหลวงพระบางลักษณะคล้ายต้นโพธิ์ ด้านข้างต้นทองเป็นรูปสัตว์ในวรรคดียามใดที่แสงแดดสดส่องสะท้อนดูงดงาม





- วิหารพระม่าน ผนังวิหารด้านนอกมีลักษณะคล้ายกับวิหารองค์แรก ภายในวิหารนี้ประดิษฐาน พระม่าน ในช่วงวันขึ้นปีใหม่จะมีการอันเชิญมาให้ประชาชนสรงน้ำและกราบไหว้เป็นประจำทุกปี ผนังด้านหลังวิหารทาด้วยสีชมพูประดับด้วยกระจกสีแสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คน สร้างขึ้นใน พ.ศ.2493 เพื่อเฉลิมฉลองที่โลกก้าวสู่ยุคกึ่งพระพุทธกาล



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 19/2/10 at 14:25 Reply With Quote


- พระธาตุนี้มองเห็นได้แต่ไกลแทบจะทุกมุมเมืองของหลวงพระบาง ตัวพระธาตุเป็นทรงดอกบัวสี่เหลี่ยมทาสีทอง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยอดประดับด้วยเศวตฉัตรทองสำริดเจ็ดชั้น สูงประมาณ 21 เมตร มีทางขึ้นสองทาง เส้นทางที่นิยมใช้กันเป็นประจำคือ บันไดทางด้านหน้าทิศตะวันตก ตรงข้ามกับประตูพิพิธภัณฑ์พระราชวัง มีทั้งสิ้น 328 ขั้น เป็นบันไดที่ไม่ลาดชันนัก

- สำหรับชาวลาวที่มาแสวงบุญ และนักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก เป็นทางบันไดชันขึ้นมาจากทางแม่น้ำคาน ผ่านวัดถ้ำพูสี เมื่อขึ้นถึงด้านบนพระธาตุสามารถมองเห็นเมืองหลวงพระบางได้รอบด้าน โดยเฉพาะช่วงเย็นพระธาตุพูสีเป็นอีกสถานที่ ที่สามารถชมพระอาทิตย์ตก และตลอดทางขึ้นร่มรื่นไปด้วยต้นจำปา (ดอกไม้ประจำชาติลาว) หรือที่บ้านเราเรียกว่าต้นลั่นทม




- ระยะทางจากวัดเชียงของ พวกเราก็นั่งรถสกายแลป ตลอดการเดินทาง ซึ่งไม่นานนัก ก็มาถึงทางถึงพระธาตุพูสี และคณะของพวกเรานั้น ก็ไม่มีใครแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยออกมาให้เห็น ทุกคนต่างยิ้มแย้มแจ่มใส ยิ่งจะได้มากราบรอยพระพุทธบาท และพระธาตุ พูสี ถึงกับมีคำกล่าวว่า ถ้าไปเที่ยวหลวงพระบางแล้ว ไม่ได้ขึ้นพระธาตุพูสีถือว่า ไปไม่ถึงหลวงพระบาง

- และก่อนที่จะถึงพระธาตุนั้น หลวงพี่ชัยวัฒน์ ก็พาพวกคณะเรา มากราบรอยพระพุทธบาท ซึ่งมีความสำคัญมาก พระบาทแห่งนี้ บางทีเรียกว่า “พระบาทเหนือ” ซึ่งอยู่บนภูเขาใจกลางเมืองหลวงพระบาง แต่คุ้มค่าหายเหนื่อย พวกเราสามารถไปถึงจนได้ตามความตั้งใจ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ มีอุปสรรคมาก ตั้งแต่การรวมตัว การจองตั๋ว การติดต่อประสานงาน มีปัญหามาโดยตลอด แต่ก็สามารถผ่านมาได้ด้วยดี โดยการประสานงาน ของพี่ติ่ม (คุณอภิญญา นาคสวัสดิ์)


- หลวงพี่ได้เล่าประวัติ รอยพระพุทธบาท ถึงความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ ให้พวกคณะเราได้ฟังกัน ทำให้คณะของเรานั้น ยิ่งมีความปราบปลื้มปิติเป็นยิ่งนัก





- เมื่อพวกเราได้ทราบประวัติดังนี้แล้ว จึงได้ร่วมกันเจริญพระพุทธคุณและสวดคาถาเงินล้าน พร้อมได้ถวายเครื่องสักการบูชาต่างๆ มีบายศรี ฉัตร ผ้าสไบทอง ดอกไม้ ธูปเทียน แผ่นทอง เป็นต้น




- ภาพถ่ายหลวงพี่ชัยวัฒน์ ถ่ายเห็นพระธาตุ สีทองอร่าม และแม่น้ำโขง สามารถมองเห็นวิวของหลวงพระบางได้ สวยงามมาก



- หลังจากกราบไหว้บูชารอยพระพุทธบาทแล้ว พวกเราต้องเดินขึ้นบันไดกันต่อไป ตามทางที่ผ่านมีพระพุทธรูป ปางต่าง ๆ ตลอดเส้นทาง





- คณะของพวกเราสามารถขึ้นมาสู่ยอดเขา ที่ประดิษฐาน พระธาตุพูสี ยังไม่ทันตั้งตัว พวกเราก็ปราบปลื้มใจเมื่อเห็น หลวงพี่ชัยวัฒน์ เป็นผู้นำไปห่มผ้า พร้อมด้วย เฮียท้ง พี่สำราญ และไกด์ของพวกเรา คือ คุณประยงค์ ซึ่งดูแลคณะของพวกเราดีมาก


- หลวงพ่อได้โมทนา กับการถวายผ้าองค์พระธาตุพูสี ตลอดเวลาที่ หลวงพี่ชัยวัฒน์ ไปห่มผ้า หลังจากนั้น หลวงพี่ ก็ได้นำบูชาพระรัตนตรัย และขอขมา ได้เวลาค่ำพระอาทิตย์ตกดิน พอดี มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ขึ้นไปรอถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกกันมากมาย


- จะเห็นได้ว่า หลังจากห่มผ้าแล้ว องค์พระธาตุสวยงามมาก สีทองอร่าม เข้ากับแสงของพระอาทิตย์ตกดินพอดี พวกเราอิ่มอกอิ่มใจกันพอสมใจ จึงได้เดินทางกลับ


- ภาพถ่ายที่ทีมงานได้ถ่ายบนเครื่องบิน จะสามารถมองเห็นองค์พระธาตุพูสี สีทองอร่ามเป็นประกาย อย่างชัดเจน สวยงาม


((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 24/2/10 at 12:56 Reply With Quote


วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553


เช้านี้เราจะไปตักบาตรข้าวเหนียว ธรรมเนียมตักบาตรของชาวหลวงพระบาง ที่เป็นส่วนหนึ่งของการที่ทำให้เมืองนี้เป็น "มรดกโลก"

ฟ้าเริ่มสาง สว่างขึ้นทุกทีแล้ว เห็นพระเดินมาลิบๆเป็นทิวแถว ก็ลุกขึ้นเตรียมตัวกันได้เลย พระสงฆ์เป็นร้อย ๆ รูป กับชาวหลวงพระบาง เป็นภาพยามเช้าที่มีชีวิตชีวาของหลวงพระบางโดยสะท้อนถึงวิถีชีวิตของสังคมอันสงบสุข


ธรรมเนียมปฏิบัติของการตักบาตรที่หลวงพระบางคือ ผู้หญิงต้องนั่งคุกเข่า ห้ามยืน ส่วนผู้ชายนี่จะนั่งหรือยืนก็ได้


ตอนแรกๆ ที่พระยังเพิ่งเดินมา ก็เว้นระห่างดีอยู่หรอก ยังพอจกข้าวเหนียวลงบาตรได้ทัน แต่ซักพักพระเริ่มเดินเร็วขึ้น ทีนี้ล่ะ จกกันมันมือไปเลย ใส่รูปเว้นรูปก็มี เพราะจกไม่ทัน .. แต่หลังๆก็เริ่มชินและรู้เทคนิคแล้วก็เลยทำให้จกได้เร็วขึ้น




ตักบาตรเสร็จ เราจะปั้นข้าวเหนียวเล็กๆ วางไว้ตามกำแพง หรือตามที่ต่างๆ เป็นธรรมเนียมว่า ทำบุญแล้วต้องทำทานด้วย ถ้าไปหลวงพระบางแล้วไม่ต้องแปลกใจ จะได้พบเจอก้อนข้าวเหนียวน้อยอยู่ทั่วไปตามวัดวา ตามถนน และตามที่ต่างๆ




ภาพที่เห็น เป็นภาพที่สวยงามมาก หลวงพี่ฯ ได้บอกให้คณะของพวกเราดู สวยงามจริง ๆ เลยนำภาพมาให้ได้ชมกัน และหลังจากนั้นก็ถ่ายภาพ เป็นที่ระลึก พอสมควร


หลังจากใส่บาตรข้าวเหนียวกันเรียบร้อยแล้ว คณะพวกเราก็แวะไปยังวัดแสน นำอาหารแห้งมาจากประเทศไทย ไปถวาย อาทิเช่น อาหารแห้ง ปลาแห้ง ข้าวสาร และอื่น ๆ อีกมากมาย



((( โปรดติดตามตอนที่ 2 คลิกที่นี่ » )))



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 21/3/10 at 15:42 Reply With Quote


(( Update 21/03/53))



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved