ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 7/9/10 at 11:35 Reply With Quote

งานพิธีบวงสรวง ณ อาณาจักรสุวรรณภูมิ (เมืองโบราณคูบัว จ.ราชบุรี)


งานพิธีบวงสรวง ณ อาณาจักรสุวรรณภูมิ
(จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่มที่ ๑)


...ผู้เขียนได้เล่าเรื่องการจัด งานรวมภาควัดพระแท่นดงรัง จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๙ และ งานพิธีกาญจนาภิเษกวัดท่าซุง เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙ เป็นการจัดงานสองแห่งในคราวเดียว กัน จนได้รับผลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ตามที่ได้เล่าใน “ธัมมวิโมกข์” ไปแล้ว

โดยเฉพาะงานที่ วัดพระแท่นดงรัง รู้สึกปลื้มใจที่งานผ่านพ้นไปด้วยดี จนเป็นที่ ประทับใจของพระเถรานุเถระทั้งหลาย อันมี เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น ท่านถึง กับกล่าวว่าอยากจะให้พวกเราไปจัดงานที่นั่น กันทุกปี ขอน้อมรับด้วยความยินดี แต่คงจะไม่ มีโอกาสแล้ว เพราะการจัดงานไม่ใช่ของง่าย

ส่วนเรื่องการทำบุญนั้น งานกาญจนาภิเษก ได้ถวายท่านเจ้าอาวาสเพื่อบูรณะวัดท่าซุง และถวายส่วนองค์แด่พระสงฆ์ทุกรูป รวมเป็น เงิน ๒ แสนบาท ถ้าจะรวมเงินทำบุญที่ วัดพระแท่นดงรัง อีกเกือบ ๕ แสนบาท และรวม ค่าสิ่งของและค่าใช้จ่ายในการจัดงาน ๓ แสน บาทเศษ รวมจำนวนเงินทั้งสิ้นคงประมาณ ๑ ล้านบาทเศษ

สำหรับรูปภาพประกอบที่ได้นำมาลงนั้น เป็นฝีมือการถ่ายของ คุณจิรศักดิ์ ถิรวิริยพล และ คุณวัชรพล (บุ๋ม) ศรีขวัญ ได้ถ่ายเป็น ภาพสีสดสวยงดงาม แต่ที่ลงใน "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จำเป็น ต้องพิมพ์เป็นภาพขาวดำ เพื่อเป็นการประกอบ เรื่องเท่านั้น

สรุปการจัดกิจกรรมในเรื่องของ รอยพระพุทธบาท และ พระบรมธาตุเจดีย์ นับตั้งแต่...

ภาคเหนือ เมื่อปี ๒๕๓๖
ภาคใต้ เมื่อ ปี ๒๕๓๗
ภาคอีสาน และ
ภาคกลาง ในปี ๒๕๓๘
แล้วมาถึง งานรวมภาค เมื่อปี ๒๕๓๙

จนกระทั่งถึงเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงได้จัด งานพิธีตัดไม้ข่มนาม ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระธาตุจอมกิตติ จ.เชียงราย คือก่อนที่ เศรษฐกิจของประเทศจะพังพินาศลงเพียง ๖ เดือนเท่านั้น ด้วยพิษของ “ค่าเงินบาทลอยตัว” เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐

นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จึงทำให้ชีวิตของคนไทยหลายคนพลิกผันไป บางคนทนไม่ได้..จำต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือของตนเองในที่สุด นับว่าเป็นที่สลดใจมาก สภาพปัจจุบันนี้ความ เป็นอยู่ก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะรัฐบาลต้องเป็นหนี้ต่างชาติต่อไป จึงทำให้คนยากจนลงทุกที

เวลานี้คนไทยเป็นหนี้เฉลี่ยคนละเกือบ ๘ หมื่นบาทแล้ว นับเป็นชะตากรรมของคนไทย ทั้งประเทศ ตามที่ได้ทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่เมษายน ๒๕๔๐ ว่า ต่อไปดวงชะตาของประเทศไทยจะเหมือนกับตอนเสียกรุงให้แก่พม่า

ฉะนั้น การทำพิธีตัดไม้ข่มนาม จึงได้ไปทำพิธีกันต่อไป ณ อาณาจักรสุวรรณภูมิ อันเป็นสถานที่เคยเป็นเมืองหลวงของคนไทยมา ก่อน เช่น นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี เป็นต้น ผู้เขียนรอโอกาสนี้มานานหลายปีแล้ว เพราะเคยอ่านหนังสือ “พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ์” มานานแล้ว แต่ยังไม่มีจังหวะได้ไปสักที พอดีทาง วัดพุทธไชโย นิมนต์ไปร่วมงานพิธีเททอง จึงได้กำหนดแผนงานทันทีว่า จะนำบายศรีไปทำพิธีบวงสรวงสถานที่สำคัญ อันเป็นเส้นทางที่จะผ่านไปหัวหิน ดังนี้คือ...

๑. วัดพระประโทณ จ.นครปฐม

๒. ถ้ำฤาษี เขางู จ.ราชบุรี

๓. เมืองโบราณคูบัว จ.ราชบุรี

๔. วัดเพชรพลี จ.เพชรบุรี

ทั้งนี้ ได้นัดหมายกับญาติโยมเพียงไม่กี่คน เพราะตอนนั้นเศรษฐกิจเริ่มทรุดตัวลง จึงทำให้รู้สึกเกรงใจ ถือว่าใครรู้ข่าวก็เชิญไปร่วมงานกันได้ แต่ถ้าจะไปขอให้ทุกคนเตรียม เครื่องแต่งกายให้สวยงาม โดยเฉพาะเสื้อผ้า ที่จะสวมใส่ชิ้นใดชิ้นหนึ่งนั้น จะต้องมี “สีทอง” เป็นสัญลักษณ์ของสถานที่ที่จะต้องไป เพราะ คำว่า “สุวรรณภูมิ” แปลว่า “เมืองทอง”

การเดินทางในวันนั้น จึงได้นัดหมายไปพบกันที่ วัดพระประโทณจ.นครปฐม ใน ตอนเช้า วันเสาร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๐ (คือก่อนพายุ “ลินดา” เข้าเพียงไม่กี่วัน) แต่คณะ ผู้เขียนได้เดินทางออกจากวัดตั้งแต่วันศุกร์ที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๐ โดยแวะไปกราบไหว้และบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่สำคัญในระหว่างทาง เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และ วัดมหาธาตุสวนแตง จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น

ครั้นมาถึง จ.นครปฐม ในตอนบ่าย จึงได้แวะไปที่ วัดพระปฐมเจดีย์ วัดพระงาม วัดธรรมศาลา แล้วจึงมาค้างคืนที่ วัดพระประโทณ ในที่สุด หลังจากคณะเจ้าหน้าที่ได้ทาน อาหารเย็นแล้ว กลางคืนก็ได้จัดเตรียมสถานที่และจัดทำบายศรีพร้อมทั้งเครื่องสักการะต่างๆ จนได้เวลาพักผ่อนหลับนอนกัน โดยมี พระมหาธวัชชัย กัลยาโณ ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี

หลังจากหลับนอนด้วยความอ่อนเพลีย แล้วตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่น เพราะอากาศใน ยามเช้าช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและจิตใจแจ่มใส ทั้งได้ข้าวต้มและขนมเป็นอาหารเช้า จาก อ้อย และ พิเชษฐ์ (ร้านมะม่วงดอง) พร้อมทั้ง แว่น (บุญฑริกา) และเพื่อนๆ ในตัวเมืองนครปฐม แล้ว ก็ยิ่งช่วยเพิ่มพลังให้กลับคืนมาเร็วขึ้น

เวลา ๐๗.๐๐ น. เริ่มมีรถจากกรุงเทพฯ ทยอยเข้ามาในวัดพระประโทณ เห็นเป็นรถบัส ๒ คัน รถตู้และรถเก๋งอีกประมาณ ๑๐ กว่าคัน เดิมคิดว่าคนคงไม่มาก แต่เมื่อถึงวันงานจริงๆ ญาติโยมประมาณ ๒๕๐ คน

ครั้นเข้าห้องน้ำและทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว จึงได้ช่วยกันจัดแถวให้เป็นระเบียบ เพื่ออัญเชิญ รูปภาพหลวงพ่อ และ ท้าวมหาราช ทั้ง ๔ ไปเป็นประธานของงาน พร้อมทั้งเครื่อง สักการะต่างๆ อันมี พานบายศรี พานพุ่ม ฉัตร และผ้าห่มพระเจดีย์ เป็นต้น

ขบวนแถวทั้งหมดเริ่มเดินจากหน้าศาลาทรงไทยไปที่บริเวณพระประโทณเจดีย์ ระยะทางประมาณ ๒๐๐ เมตร มองเห็นยอดพระ เจดีย์แต่ไกล บ่งบอกถึงความเก่าและสำคัญไป ในอดีต ผู้คนที่เดินไปต่างก็เดินด้วยความเคารพ ทั้งชายและหญิงต่างก็แต่งกายสวยงามตามแบบ ฉบับของไทย ตามที่ได้นัดหมายไว้ทุกคน



ประวัติพระประโทณเจดีย์


(ภาพจาก thaitourzone.com)

เมื่อไปถึงบริเวณนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ได้ จัดเตรียมบายศรีและเครื่องสักการะไว้บนโต๊ะ พร้อมทั้งญาติโยมนั่งเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนจึง ได้เริ่มเล่าประวัติ วัดพระประโทณ ต่อไปว่า...

“ตามประวัติเล่าไว้ว่า วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่สำคัญมาก นัก โบราณคดีได้ศึกษาภาพถ่ายทางอากาศแล้วพบว่า เมืองโบราณที่นครปฐมนั้น อยู่ทางทิศตะวันออก ของพระปฐมเจดีย์ในปัจจุบัน คือตั้งอยู่ที่บริเวณ พระประโทณ อันมีพระประโทณเจดีย์เป็นศูนย์ กลางนั่นเอง

โดยเฉพาะที่บริเวณนี้ได้พบรูป กวางศิลาหมอบ ที่เป็นศิลปกรรมสมัยเดียวกันกับ พระเจ้าอโศก เมืองปาตลีบุตร และมีทรากอิฐหินโบราณลึกลงไปใต้ดินเป็นจำนวนมาก แต่ เดิมสถูปพระประโทณเป็นรูปลักษณะทรงโอคว่ำ ในสมัยอยุธยาตอนต้นได้สร้างเป็นพระปรางค์ เสริมขึ้นบนสถูปเดิมนั้น

จึงสันนิษฐานว่า คงจะเป็นพุทธสถานสมัยโบราณสืบเนื่องกันมา น่าจะเป็นวัดในชั้นดึกดำบรรพ์ร่วมสมัยเดียวกับ องค์พระปฐมเจดีย์ บริเวณโดยรอบพระประโทณเจดีย์นั้น แต่เดิมมี ต้นไม้ใบหญ้าขึ้นรกปกคลุมมากเต็มไปด้วยป่า ไผ่ มีไก่ป่าชุกชุม ดังจะอ่านได้จากคำรำพันของ นายมี (หมื่นพรหมสมพัตสร์) ใน นิราศพระแท่นดงรัง เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙ ว่า...

ถึงประโทณารามพราหมณ์เขาสร้าง
เป็นพระปรางค์แต่บุราณนานนักหนา
แต่ครั้งตวงพระธาตุพระศาสดา
พราหมณ์ศรัทธาสร้างสรรค์ไว้มั่นคง

บรรจุพระทะนานทองของวิเศษ
ที่น้อมเกศโมทนาอานิสงส์
จุดธูปเทียนอภิวันด้วยบรรจง
ถวายธงแพรผ้าแล้วลาจร

ดูสองข้างมรรคาล้วนป่าไผ่
คนตัดใช้ทุกกอตอสลอน
หนามแขนงแกว่งห้อยรอยเขารอน
บ้างเป็นท่อนแห้งหักทะลักทะลุย

ที่โคนไผ่ไก่ป่ามาซุ่มซุก
บ้างกกกุกเขี่ยดินกินลูกขุย
พอเห็นคนวนบินดินกระจุย
เป็นรอยคุ้ยรอบข้างหนทางจร ฯ


ตามตำนานได้เล่าสืบกันมาว่า "ตำบลพระประโทณ" เป็นที่อยู่ของพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง เรียกว่า “โทณพราหมณ์” ได้สร้างเรือนหินเป็น ที่เก็บรักษา ทะนานทอง ที่ใช้ตวงพระบรมธาตุ

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๑๑๓๓ ท้าวศรีสิทธิชัย พรหมเทพ ผู้สร้างเมืองนครชัยศรี ได้ทรงขอ ทะนานทองจากพราหมณ์ตระกูลนี้ เพื่อจะส่ง ไปแลกเปลี่ยนกับพระบรมสารีริกธาตุจากพระ เจ้ากรุงลังกา เป็นจำนวน ๑ ทะนาน

แต่ได้รับการปฏิเสธจากพราหมณ์ เพราะถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่เหลืออยู่อย่างเดียวจาก บรรพบุรุษของตน ท้าวศรีสิทธิชัยได้ทำสัญญา กับทางลังกาไปแล้ว และต้องการพระบรมสารีริกธาตุด้วย จึงยกรี้พลมาแย่งเอาทะนานทอง ไปจนได้ แล้วส่งไปลังกาเพื่อแลกกับพระบรม สารีริกธาตุตามสัญญา หลังจากนั้น ท้าวศรีสิทธิชัยจึงได้โปรด ให้สร้าง พระปฐมไสยาสน์ องค์หนึ่ง หรือจะ เป็นพระปฐมเจดีย์ไม่แน่ชัด แล้วนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้

เมื่อพุทธศักราชล่วงได้ ๑๑๙๙ พรรษา พระเจ้ากากะวรรดิศราช ผู้ครองเมืองละโว้ ชรอยจะสนพระทัยชอบพอกับตระกูล โทณพราหมณ์ ทรงทราบแต่ว่าพราหมณ์มีทะนานทองสำคัญ และเก็บไว้ในเรือนหิน แต่พระองค์ไม่ทรงทราบ ว่า “ท้าวศรีสิทธิชัย” กษัตริย์ผู้ร้าวรานมาทรง แย่งไปแล้ว จึงได้โปรดให้ก่อพระเจดีย์ล้อมเรือน หินที่บรรจุทะนานทองแล้วให้นามว่า “พระประโทณเจดีย์”

ตามตำนานได้เล่าสืบกันมาอีกว่า พระยาพาน สร้างพระปฐมเจดีย์เพื่อชำระบาปที่ฆ่าพ่อ และสร้างพระประโทณเจดีย์เพื่อชำระบาปที่ฆ่า ยายหอม ผู้เลี้ยงตนมาตั้งแต่เป็นทารก ดังนี้

เป็นอันว่า พระประโทณเจดีย์เป็นของ คู่มากับองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งถือว่าเป็นโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองมานาน ควรที่พวกเราชาว พุทธจะได้ภูมิใจว่า เมืองไทยยังมีสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระประโทณเจดีย์ เคยเป็นสถานที่บรรจุทะนานทองมาก่อน ใน พระไตรปิฎกเรียกว่า “ตุมพเจดีย์” คือเจดีย์ที่บรรจุทะนานทอง ตามที่ โทณพราหมณ์ เป็นผู้สร้างไว้ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ฉะนั้น สถานที่นี้จึงเป็นสถานที่เก่าแก่มาแต่อดีต ควรที่พวกเราจะได้มาร่วมกันฟื้นฟู เพื่อให้คนไทยได้สนใจกันยิ่งไปกว่านี้ เป็นการอนุรักษ์พุทธสถานแห่งนี้ให้ยั่งยืน ตามความ เชื่อถือของคนโบราณสืบไป

(ส่วนที่มีผู้สันนิษฐานว่า ทะนานทองที่ได้บรรจุไว้นั้น เป็นการนำมาสมัย พระโสณะ พระอุตตระ มาประกาศพระพุทธศาสนา ณ กรุงสุวรรณภูมิ เมื่อ พ.ศ.๒๓๕ ซึ่งมีตระกูล พราหมณ์ได้ติดตามมาด้วย พร้อมทั้งนำทะนาน ทองที่ตวงพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นสมบัติ ที่มีค่ามหาศาลมาก แล้วมาสร้างบ้านเรือนอยู่ใน ถิ่นนี้ ทั้งได้สร้างเรือนหินเป็นที่เก็บทะนานทอง ไว้ด้วย)

นี่เป็นความเห็นของคนสมัยนี้ ซึ่งไม่ ค่อยจะเชื่อว่าทะนานทองได้นำมาบรรจุไว้ตั้งแต่ สมัยพุทธกาล เพราะเข้าใจว่าอยู่ในเมืองแขก ทั้งที่ปัจจุบันนี้ไม่มีข่าวการพบ “ตุมพเจดีย์” เมืองกุสินารา ประเทศอินเดียเลย มีแต่หลัก ฐานการพบที่ เมืองกุสินารา ประเทศไทยนี่เอง (ชื่อเดิมเรียกว่า “โกสินราย”)

จึงมีแต่เรื่องของการเดากันเท่านั้น แล้ว ทำให้คนรุ่นหลังไม่เชื่อถือ มองข้ามความสำคัญของตนเองไปในที่สุด โดยเฉพาะคณะของ พระโสณะ ที่เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ เมืองไทยนั้น ตามพระไตรปิฎกบอกว่า คณะ ของท่านทั้งหมดเป็นชาวเมือง ปาตลีบุตร แล้ว จะเป็นไปได้อย่างไร ที่จะนำเอาทะนานทองของชาวเมือง กุสินารา มาด้วย อย่างนี้เรียกว่าเดา กันชนิดไม่ติดฝุ่นเลยก็ว่าได้

ผู้เขียนคงไม่ต้องวิเคราะห์ต่อไป คิดว่า ท่านผู้อ่านคงจะสันนิษฐานได้ว่า คงไม่มีใคร ที่จะให้ของรักของหวงแหนของตนแก่ชาวเมืองอื่น ประการสำคัญ ถ้าของมีค่าที่ถูกฝังไว้ใน พระเจดีย์มานานหลายร้อยปี ไม่มีใครที่จะบ้า เสี่ยงชีวิตคิดรื้อนำมาไว้ถึงที่เมืองไทยหรอก...

รวมความว่า ผู้เขียนได้ชี้แจงเรื่องราวไว้เพียงนี้ พอดีที่เจ้าหน้าที่ได้ขึ้นไปห่มผ้าบน พระเจดีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้เชิญชวน ทุกคนที่นั่งฟังอยู่ด้านหน้าพระเจดีย์นั้น ตั้งจิตขออาราธนาพระเดชพระคุณหลวงพ่อทำพิธีบวง สรวง เพื่อเป็นการสักการบูชาสถานที่นี้ อันเป็น สถานที่เคยบรรจุทะนานทองมาแต่ปางก่อน

อีกทั้งเป็นการพิสูจน์ความจริง เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณของสถานที่นี้ หวังจะ เทิดทูนให้ชาวไทยสมัยนี้ได้รู้คุณค่า แล้วแต่ ท่านจะทรงโปรดเมตตาประทานพร เพื่อเป็น สักขีพยาน และเป็นขวัญเป็นกำลังใจ พวกเรา จะได้กราบไหว้กันอย่างสนิทใจ มิฉะนั้นจะ เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยกันไปไม่มีที่สิ้นสุดว่า ความเชื่อถือของคนโบราณกับนักปราชญ์สมัยนี้ เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ว่าจะถูกต้องตรง กับความเป็นจริงหรือไม่

เพราะฉะนั้น ในขณะที่กระทำพิธีอยู่นั้น พลันก็ได้เห็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เวลานั้นประมาณ ๙.๐๐ น. ทุกคนเงยหน้าขึ้นไปก็จะเห็นพระอาทิตย์กำลังทรงกลดพอดี นับเป็นที่ ปลาบปลื้มใจแก่ผู้คนในขณะนั้นเป็นอย่างมาก

หลังจากเสร็จพิธีแล้ว พระครูประโทณ เจติยาภิบาล เจ้าอาวาส พร้อมกับพระภิกษุอีก ๔ รูป ก็ได้มารับจตุปัจจัยไทยทานไว้บูรณะ วัดพระประโทณเจดีย์สืบต่อไป ครั้นพระสงฆ์ให้ พรแล้ว จึงเป็นอันเสร็จพิธี ต่อจากนั้นจึงขอให้ ทุกคนเตรียมตัวเดินทางกันต่อไป โดยมีจุดหมายปลายทางเป็นแห่งที่ ๒ นั่นก็คือ.. เขางู จ.ราชบุรี

เมื่อพวกเราเดินทางมาถึง เขางู แล้ว จึงเดินขึ้นไปบนถ้ำ ระหว่างทางพบฝูงลิงมาก มายกำลังวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน ได้ทักทายกันพอสมควรแล้ว จึงรีบเดินขึ้นไปทันที มิฉะนั้นจะต้องสูญเสียอะไรกันบ้าง ไม่ว่ากระเป๋าถือ หรือสิ่งของบางอย่างที่อยู่ในมือ

ครั้นญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายขึ้น ไปนั่งแออัดภายในถ้ำ จนกระทั่งล้นออกไปถึง
ภายนอกถ้ำแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้รับจัดทำบายศรี (จำไม่ได้ว่าคณะไหน..ต้องขออภัยด้วยนะจ้ะ) และได้ห่มผ้าที่องค์พระพุทธรูปเสร็จแล้ว จึง ได้เล่าเรื่องราวกันต่อไปนี้...



ประวัติถ้ำฤาษีเขางู


(ภาพจาก culture.mcru.ac.th)

ณ ถ้ำแห่งนี้ที่พวกเราได้พากันมานั่ง อยู่นี้ เคยเป็นที่สำคัญมาก่อนคือ เป็นสถานที่ พระปุณณเถระ นำเสด็จสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับและบรรทม เมื่อเดือนอ้าย ขึ้น ๑๐ ค่ำ พุทธพรรษา ๒๒ (หลังตรัสรู้ ๒๒ ปี)

(คราวนั้น พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดประทานธรรมเทศนาแก่ชาวไทยเป็นเวลา ๘ วัน เมื่อเดือนอ้าย ขึ้น ๘ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ พุทธ พรรษา ๒๒ เริ่มที่ บ้านแม่กุน พริบพลี คือที่ บริเวณ วัดเพชรพลี จ.เพชรบุรี ในปัจจุบันนี้)

หลังจากประทับแรมในถ้ำคืนหนึ่งแล้ว ในตอนเช้าจึงมีผู้นำอาหารมาถวายมากมายทั้งชายและหญิง ตามความใน กเบื้องจาร ยังระบุชื่อไว้อีกด้วยว่า มีคนชื่อ “ผันทอง” ก็ได้นำ อาหารมาถวายในวันนั้นด้วย จะต้องเดินมาถึง ๓๕ นา จึงจะถึงสถานที่ประทับ ณ ถ้ำฤาษีเขางู แล้วพระองค์จึงได้ทรงแสดงธรรมเป็นคำไทยว่า

พระธรรมจากพระโอษฐ์โปรดคนไทย

“บุคคลใดที่ได้ฝังสินทรัพย์ในใต้แผ่น พื้นน้ำลึก เมื่อมีความต้องการจะนำมาใช้เกิดขึ้น ย่อมจะนำมาใช้ได้ เพื่อให้ตนได้พ้นร้าย จากราชภัย พ้นร้ายจากโจรภัย พ้นจากหนี้ พ้นจากยากเข็ญ แม้เช่นนั้นก็หาดีเท่ากับฝังไว้ ในพระเจดีย์ พระสงฆ์ พ่อแม่ และพี่น้องไม่..!

อันสินทรัพย์นี้ แม้จะมีคน นาค ยักษ์ หรือขโมย ลัก ฉ้อ บัง โกง ก็เอาไปไม่ได้ เพราะสินทรัพย์อันตนฝังไว้นั้น ผู้ให้ทุกสิ่งย่อมพอใจ ที่จะส่งผลให้มีรูปร่างงาม เสียงเพราะ แม้ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พุทธภูมิ ปัจเจกภูมิ ก็ยังตั้งความปรารถนาได้ทุกประการ

คนไทยทุกคนและ “ลวะ” (ไทยลว้า) ทำความดี ย่อมได้ดี มีความเห็นที่ดี ทำความชั่ว ย่อมได้ชั่ว คือ ฆ่าคน และเบียดเบียนคน ช้าง ม้า งัว ควาย ถือเอาของคนอื่น ผิดผัวเมียลูกท่าน กล่าวเท็จ เมาเหล้า น้ำหมักดอง อย่างนี้ชื่อว่า “ทำชั่ว” การไม่ทำอย่างนั้นชื่อว่า “ทำดี” เช่น ไม่ฆ่ากัน เป็นต้น ชื่อว่าดีแล...”

ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ด้วยการยกตัวอย่างเรื่อง “ทรัพย์ภายนอก” กับ “ทรัพย์ภายใน” แล้วทรงสอนการ รักษา ศีล ๕ ด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย เรื่องถ้ำเขางูนี้ สมเด็จพระบรมศาสดา ได้ทรงพยากรณ์ไว้กับ พระปุณณเถระ อีกว่า

“คูหาที่ตถาคตอาศัยนี้ ต่อไปจะมีชื่อว่า “ถ้ำฤาษี” จะมีคนเชื่อถือมาเคารพในวันข้างหน้า และ “พุทธเงา” ในถ้ำนี้ เมื่อคนทำเป็น “พุทธ นิมิต” ขึ้น...”


(ภาพจาก nectec.or.th)

ต่อมาพระปุณณเถระอาศัยพระพุทธฉาย (พุทธเงา) สลักองค์พระพุทธรูปองค์ใหญ่กลาง ภายในถ้ำ ในพุทธลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาทแสดงธรรม ยกพระหัตถ์ขวาวงเป็น “วงล้อธรรม” จึงนับว่าเป็น “พระพุทธรูปไทย” องค์แรกด้วย

ในสมัยนั้น พระเจ้าทับไทยทอง กษัตริย์ ผู้ครองกรุงสุวรรณภูมิ ได้ทรงช่วยพระปุณณะ สร้างอยู่ ๔ ปี จึงเสร็จ เมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ พุทธพรรษา ๔๔ (ก่อนปรินิพพาน ๑ ปี) โดยสลักจากผนังหินของถ้ำตามรอย “พุทธเงา” แล้วได้จารึก ลายสือไทย ไว้ที่ ฐานระหว่างพระบาททั้งคู่ว่า...


(ภาพจาก nectec.or.th)

“ชื่อ บุญ พระฤษี คุ้มครอง สมาธิ ณ เขางู พุทธพัสสา ๔๔”

* โปรดสังเกตด้วยคำว่า "พุทธพัสสา ๔๔" ได้ถูกมือดีลบออกไปแล้ว แต่รายงานจากนักวิชาการบอกว่า มีคนสกัดต่อเติมคำนี้เข้ามาเมื่อปี ๒๕๑๙ อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ http://www2.sac.or.th/databases/jaruk/th/main.php?p=ZGV0YWls&id=13 แต่ก็มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญได้โพสต์ความเห็นแก้ อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ http://muaychaiya.com/forum/index.php?action=profile;u=63;sa=showPosts



ประวัติพระปุณณเถระ

ท่านมีชื่อว่า “บุน” ตามคำไทย แต่ถ้าเขียนตามคำบาลีก็คือ “ปุณณะ” นั่นเอง ท่านเป็นลูกชายของ ขุนกล่อม และ แม่กุน ได้อาศัยอยู่ที่ พริบพลี ซึ่งมีชื่อตามในพระ ไตรปิฎกว่า “สุนาปรันตะ” หรือ “สวนปราน” หรือ “ปราณบุรี” สมัยนั้น “ปราณบุรี” อาจมีอาณาเขตกว้างขวางมาถึงพริบพลี มีต้นไม้ มากจนได้ชื่อว่า “สวน”

เมื่อพ่อค้า “บุน” ได้นำเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางไปค้าขายยังกรุงสาวัตถี แล้วได้ เข้าเฝ้าและฟังธรรมเทศนาจากองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเกิดมีความศรัทธาเลื่อมใส จนขอบวชกับพระพุทธองค์ โดยมี พระอานนท์ เป็นอุปัชฌายะ พระอุบาลี เป็นผู้ให้สรณะและ ศีล แล้วพระพุทธเจ้าจึงทรงประทานว่า “เอหิภิกขุ” แปลว่า “เธอจงเป็นภิกษุเถิด” ดังนี้ เมื่อขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ พุทธพรรษา ๑๙

พระปุณณเถระได้อุปสมบทอยู่ในสำนักของสมเด็จผู้มีพระภาคเจ้าถึง ๓ พรรษา จึงกราบทูลลากลับเมืองไทยคือ “สุนาปรันตพริบพลี” ในพุทธพรรษาที่ ๒๑ เพราะเหตุว่าปฏิบัติ กรรมฐานไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ เคยชินกับภูมิอากาศของประเทศอินเดีย ตามความในอรรถกถานั้น พระปุณณะคิดว่า ชนบทนี้ไม่เป็นที่สบายของเรา ควรกลับไปสู่บ้านเดิมของเราดีกว่า จึงได้เข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมศาสดา เพื่อขอประทานพระ โอวาท แล้วพระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอนว่า

“เธอไม่ควรเพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่น่าปรารถนา รักใคร่ชอบใจ เมื่อดับความเพลิดเพลินได้ ก็ดับทุกข์ได้”

พระปุณณะได้กราบทูลต่อไปว่า จะขอกลับไปสุนาปรันตะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ชาวสุนาปรันตะดุร้าย ถ้าเขาด่าว่าเธอ จะทำอย่างไร?”

“ข้าพระองค์คิดว่า ด่ายังดีกว่าทำร้าย ด้วยมือ พระพุทธเจ้าข้า”

“ถ้าทำร้ายด้วยมือ จะทำอย่างไร?”

“ยังดีกว่าใช้ก้อนดินทำร้าย”

“ถ้าเขาใช้ก้อนดินทำร้ายจะทำอย่างไร?”

“ยังดีกว่าใช้ท่อนไม้ทำร้าย”

“ถ้าเขาใช้ท่อนไม้ทำร้ายจะทำอย่างไร?”

“ยังดีกว่าฆ่าด้วยอาวุธที่คม”

“ถ้าเขาฆ่าด้วยอาวุธที่คมจะทำอย่างไร?”

“บุคคลบางคนยังต้องหาคนมาฆ่า แต่ นี่ดีที่ไม่ต้องหา ได้คนที่มาฆ่าให้ พระเจ้าข้า”

(ตามคำพูดที่ว่า “คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง คนโกงเมืองเพชร” ได้ร่ำลือมา ตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่ปัจจุบันนี้ ไม่มีคนโกง ไม่มีคนดุร้าย เพราะบ้านเมืองเจริญขึ้นแล้ว)

เมื่อกลับมาสุนาปรันตพริบพลีแล้ว ท่าน จึงได้เริ่มเผยแพร่พุทธศาสนา ในปีต่อมาจึงได้เดินทางกลับไปมคธอีก เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลเชิญเสด็จเมืองทองไทยลว้า



พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดคนไทย

ในพุทธพรรษาที่ ๒๒ นั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ได้เสด็จพร้อมกับพระอรหันต์ ๔๙๙ องค์ ระหว่างขบวนเสด็จมาทางอากาศ ได้มาถึงภูเขาชื่อว่า สัจจพันธ์ (สระบุรี) จึงเสด็จลงมา โปรดแสดงธรรมแก่ สัจจพันธฤาษี จนสำเร็จ เป็นพระอรหันต์องค์ที่ ๕๐๐ แล้วจึงตามขบวน เสด็จต่อไป พระสัจจพันธเถระ จึงเป็นพระภิกษุชาวไทยรูปที่ ๒ ที่ได้บวชกับพระพุทธองค์ จึงขอสรุปวันที่เสด็จมาเมืองไทยไว้ดังนี้ :-

เดือนอ้าย พุทธพรรษาที่ ๒๒ ขึ้น ๘ ค่ำ เสด็จถึง บ้านแม่กุน สุนาปรันตพริบพลี ประทับอยู่ ๒ วัน (ที่ถ้ำเขางู)

ขึ้น ๑๐ ค่ำ เสด็จผ่านเมืองทอง (แถวคูบัว) พบ พระเจ้าทับไทยทอง จึงเชิญให้ไปมคธ

ขึ้น ๑๑-๑๒ ค่ำ พระปุณณเถระนำเสด็จสู่ เกาะแก้ว (ภูเก็ต) ทรงแสดงธรรมโปรดคนชาวน้ำ (ชาวเล)

ขึ้น ๑๓ ค่ำ ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ เกาะแก้วพิสดาร

ขึ้น ๑๔ ค่ำ เสด็จกลับถึงบ้านแม่กุน

ขึ้น ๑๕ ค่ำ เสด็จไปส่ง พระสัจจพันธเถระ ณ สัจจพันธคีรี ตรัสให้อยู่สอนคน แถวนั้นให้มีศีลมีธรรม พระสัจจพันธ์จึงทูลขอ “รอยตีน” หรือ “รอยพระพุทธบาท” จากนั้น จึงเสด็จกลับพระเชตวัน ณ กรุงสาวัตถี

สมเด็จพระชินสีห์ประทับอยู่ในเมืองไทยถึง ๘ วัน ได้มอบหมายให้ภิกษุชาวไทยที่เป็นพระอรหันต์ ๒ รูปนี้ เพื่อช่วยกันประกาศ พระพุทธศาสนาสืบต่อไป

ในปีต่อมา (พุทธพรรษาที่ ๒๓) พระเจ้าทับไทยทอง จึงเสด็จไปพบ พระเจ้าพิมพิสาร ที่กรุงราชคฤห์ ด้วยการนำของ พระปุณณเถระ แล้วก็ได้สดับพระสัทธรรมเทศนา (อนุปุพพิกถา และธรรมจักร) ณ พระเวฬุวัน จนได้บรรลุ พระโสดาบันในที่สุด

เมื่อกลับมาเมืองทองแล้ว พระองค์ได้ร่วมกับพระเถระเผยแพร่พุทธศาสนาในหมู่ไทยลว้า แล้วจึงทรงเปลี่ยนชื่อ “เมืองทอง” เป็น “สุวรรณภูมิ” ตามภาษามคธ เมื่อพุทธพรรษาที่ ๒๔

ในปีนี้พระเจ้ากรุงสุวรรณภูมิได้โปรดให้สร้างวัดแห่งแรกในไทยชื่อว่า วัดปุณณาราม ที่หนองยาว (หรือหนองวัด ที่คูบัว) เพื่อให้พระปุณณเถระใช้เป็นที่สั่งสอนอบรมคนไทยให้ มีศีลธรรมต่อไป พระองค์ทรงร่วมกับพระปุณณะปลูกต้นโพธิ์ที่ตอนมาจากต้นที่พระพุทธเจ้านั่งโคนต้นตรัสรู้ (ได้รับพุทธานุญาตเมื่อคราวไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเวฬุวัน) ในบริเวณไม่ไกล จากวัดปุณณาราม เดี๋ยวนี้ชื่อว่า “บ้านโพธิ์งาม”

ต่อมาพระปุณณเถระได้นิพพาน เมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะโรง พุทธพรรษา ๔๔ เมื่อมีอายุได้ ๖๕ ปี นับโดยพรรษาได้ ๒๕ พรรษา (คือหลังจากแกะสลักองค์พระได้ ๖ เดือน) ในตอนนี้ตามความในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงพระภิกษุทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระ พุทธเจ้า แล้วกราบทูลถามถึงคติเป็นอย่างไร องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงตรัสพยากรณ์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ปุณณะเป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรม จึงได้ปรินิพพาน แล้ว” ดังนี้

มหาชนทั้งหลายจึงได้กระทำบูชาร่างของ พระมหาเถระตลอด ๗ วัน แล้วจึงประชุมเพลิง ด้วยไม้หอม แล้วเก็บอัฏฐิธาตุของท่านบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่ “เขางู” (เวลานี้ผุพังไปเกือบ หมดแล้ว)

เมื่อเล่าประวัติแต่เพียงสังเขปแล้ว จึงได้ทำพิธีบวงสรวงสักการบูชา ด้วยการปิดทอง สรงน้ำหอมที่องค์พระแล้ว หลังจากนั้นจึงเดินลงมาจากถ้ำ เพื่อนำปัจจัยไปถวายเจ้าอาวาส วัดราชสิงขร หรือ วัดราชพลี ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นแล้วจึงออกเดินทางเป็นจุดที่ ๓ ต่อไป



เมืองโบราณคูบัว


เมืองโบราณคูบัว จ.ราชบุรี (ภาพจาก webratchaburi.org)

ครั้นมาถึง วัดศรีสุวรรณภูมิ หรือว่า วัดโขงสุวรรณภูมิ ต.คูบัว จ.ราชบุรี ได้เวลาฉันเพลพอดี จึงให้ทุกคนพักทานอาหารกลางวันกันก่อน ซึ่ง คุณอธิก ลาภรัตนาภรณ์ และ เพื่อนที่อยู่ราชบุรี ได้ติดต่อร้านอาหารมาจากในเมือง เพื่อจัดเลี้ยงกันภายในวัด โดยผู้เขียนเป็นผู้ออกทุนร่วมจัดเลี้ยงด้วย

หลังจากทุกคนรับทานอาหารเสร็จแล้ว จึงได้มารวมกันที่หน้าซากพระเจดีย์โบราณองค์หนึ่ง ซึ่งมีฐานอิฐเดิมใหญ่มาก พวกเราจึงได้ บูชาด้วยดอกดาวเรือง แล้วช่วยกันจัดบายศรี และเครื่องสักการะไว้บนโต๊ะ โดยมีธงชาติและ ธงธรรมจักรอยู่รอบด้าน

การทำพิธีในสถานที่เมืองโบราณนี้ จึงเป็นการกราบไหว้พระเจดีย์ที่สำคัญ และเป็น การบูชาบรรพบุรุษของชาวไทยในอดีตกาลด้วย เพื่อขอให้ท่านช่วยบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป ด้วยการแต่งกายชุดไทยสวยงาม เป็น การย้อนยุคไปในสมัยที่ อาณาจักรสุวรรณภูมิ กำลังรุ่งเรือง ตามประวัติความเป็นมาที่ผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไปนี้...



ประวัติวัดศรีสุวรรณภูมิ


(ภาพจาก ratchburi.com)

ทำพิธีบวงสรวงบริเวณซากพระเจดีย์โบราณภายใน วัดศรีสุวรรณภูมิ จ.ราชบุรี

ตามความใน กเบื้องจาร ที่ขุดได้บริเวณเมืองโบราณคูบัวนี้ หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชกวี วัดโสมนัสวรวิหาร ได้อ่านพบคำจารึกเกี่ยวกับการสร้างวัดนี้ว่า...

“พระเจ้าตวันอธิราช กรุงสุวรรณภูมิ หวังความเจริญดีในเมืองทอง จึงโปรดให้ก่อสร้างพระเจดีย์มีขนาดสูง ๑๒ วา ฐานสูง ๕ วา แล้วให้สร้างพระอุโบสถ พร้อมกับสลัก พระพุทธรูปใหญ่มารแพ้ (ปางมารวิชัย) วาง เหนือแท่นเป็นที่บูชาสักการะ แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และ พระธาตุของพระอรหันต์ทั้ง ๕ องค์ คือ พระ โสณะ พระอุตตระ พระฌานียะ พระภูริยะ และ พระมูนียะ มาบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์

เพื่อให้คนนมัสการกราบไหว้บูชา เป็น บุญเพิ่มกุศลทุกเมื่อ เพิ่มผลนิพพาน สวรรค์ และมนุษย์สมบัติ แล้วให้ชื่อว่า “วัดศรีสุวรรณ ภูมิแดนไทยลว้าเมืองทอง” ปีพุทธกาล ๓๐๐ แล้วให้มีงานฉลองพระพุทธรูป พระอุโบสถและ พระเจดีย์ ๗ วัน เป็นพุทธบูชา แล้วให้สลัก ธรรมจักรและกวางหมอบ ตั้งไว้ด้านหน้าพระ พุทธรูปในพระอุโบสถให้เป็นของเมืองทอง...”

วัดนี้จึงเป็นวัดเก่าแก่มานานกว่า ๒ พันปี ที่มีชื่อต่อมาว่า วัดโขงสุวรรณภูมิทวาราม ยังอยู่ในบริเวณเมืองโบราณ คูบัว ในปัจจุบัน วัดเดิมสูญหายไปจนไม่ค่อยเหลืออะไรให้เห็น เพราะซากเดิมถูกขุดทำลายไปเหลือไว้ให้ดูไม่ กี่แห่ง ขณะนี้ทางวัดกำลังสร้างพระอุโบสถใหม่ ซึ่งพวกเราก็ได้ทำบุญกันหลังจากเสร็จพิธีแล้ว

เป็นอันว่า การเดินทางในครั้งนี้ พวกเราจึงได้มีโอกาสมาร่วมงานฉลองอายุพระพุทธศาสนาครบ ๒,๕๔๐ ปี ซึ่งในรัชสมัยพระเจ้าตวันอธิราช ครองอาณาจักรสุวรรณภูมิ พระองค์ก็ได้ทรงจัดงานฉลองอายุพระพุทธศาสนาครบเมื่อ พ.ศ.๓๐๐ พอดี ณ สถานที่แห่งนี้

งานของพวกเราในวาระนี้ จึงถือว่าเป็นงานย้อนรอยสู่อาณาจักรสุวรรณภูมิ หลังจาก ที่ได้ไปจัดงาน ณ อาณาจักรโยนกนครเชียงแสน และ อาณาจักรหริภุญชัย กันมาแล้ว เพื่อเป็นการทำพิธีฉลองชัย (พิธีตัดไม้ข่มนาม) ซึ่งต่อมาก็ได้ไปจัดงาน ณ อาณาจักรสุโขทัย ต่อไปนี้จะเริ่มพิธีบวงสรวง ขอให้ทุก คนน้อมจิตตามไปด้วยความเคารพ เมื่อจบแล้ว ใครจะอธิษฐานอย่างไรก็ได้ตามความปรารถนา

“อันปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้เฝ้าติดตามรอยพระศาสดามาหลายพุทธันดร ต่าง รับอาสามาเพื่อจรรโลงชาติ พระศาสนา และ พระมหากษัตริย์ ตามมโนปนิธานของพระเดช พระคุณหลวงพ่อ ทั้งได้พากันไปประกาศตน เป็นพุทธสาวกในที่ทุกสถาน หวังเข้าสู่แดนอมต มหานฤพานในอัตภาพนี้

เหล่าข้าพระองค์จึงขอประนมกรกราบกราน ขอพระยุคลบาทของพระองค์ผู้ทรงประ เสริฐ จงสถิตอยู่เหนือเศียรเกล้าของข้าพระ พุทธเจ้าทั้งหลาย ขออำนาจพระพุทธบารมี แห่งฉัพพรรณรังสีรัศมี ๖ ประการ ขององค์ สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดา

ขอฉัพพรรณรังสีพระพุทธบารมีแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้า ขอพระรัศมีแห่งพระธรรมทั้ง หลายอันบริสุทธิ์ผ่องใส ขอพระบารมีแห่งความหลุดพ้นจากกองทุกข์ของพระอริยสงฆ์ทั้งปวง อันมี พระปุณณเถรเจ้า เป็นต้น ตลอดจนถึง พระสมณทูตสายที่ ๙ ทั้ง ๕ องค์ ผู้ก่อตั้งวงศ์แห่งพระสงฆ์ไทย โดยมีสมเด็จพระสังฆ ราชองค์แรกของคนไทย คือ พระญาณจรณะ เป็นต้น ขออาราธนาพระคุณของครูบาอาจารย์ อันมีหลวงปู่ปาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน และหลวงพ่อพระราชกวี วัดโสมนัส เป็นที่สุด

ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมอัญเชิญพระบารมีแห่งพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย อันมีพระศรีอาริยเมตไตรย เป็นต้น จนกระทั่งท้าวมหา พรหมทั้งหลาย เหล่าทวยเทพยดาและนางอัปสร ทุกชั้นฟ้า ทั้งที่เป็นผู้อารักขาอาณาเขตนี้ และ พุทธสถานที่สำคัญทุกแห่ง ตลอดจนถึงเทพเจ้า ผู้รักษาทรัพย์ในดิน สินในน้ำ เทพเจ้าแห่งลม และฝน เป็นต้น อันมีท่านปู่ท่านย่าและท่านแม่ อีกทั้งท้าวมหาราชทั้ง ๔ เป็นที่สุด

เหล่าข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ตั้งมั่น อยู่ในศีลธรรม ขอกราบถวายบังคมทูลเชิญต่อ ดวงพระวิญญาณแห่งพ่อขุนเมืองไทยในอดีต นับตั้งแต่ยุคเมืองสรวง อันมีปู่ทวดสรวง ย่าทวด สาง ตราบเท่าถึงพระเจ้าตวันอธิราชบรมโพธิ สัตว์ และผู้ร่วมสร้างชาติไทยในอดีตทั้งหลาย

ขอพระพุทธรัศมีบารมีแห่งพระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า พระรัศมีแห่งพระธรรมและพระอริยสงฆ์ทั้งปวง ตลอดจนถึงรัศมีคุณธรรมของครูบาอาจารย์และพรหมเทพทั้งหลาย ขอได้เป็นเสมือนกำแพงแก้วทั้ง ๗ ชั้น ล้อม รอบขอบทั่วสกลกาย เพื่อปกป้องคุ้มครองลูก หลานไทยทั้งหญิงชาย ตลอดถึงพุทธศาสนิกชนผู้ตั้งมั่นในศีลธรรมทั่วไป

ขอชาติไทย จงเจริญวิวัฒน์ ไม่ตกเป็น ทาสของชาติใด ไปจนถึงยุคชาวศรีวิไล ขอให้ ผู้คิดคดทรยศ ทุจริตคิดมิชอบจงบรรลัย ด้วย ภัยแห่งตนเอง

ขอพระพุทธศาสนา จงเจริญรุ่งเรืองไป ทั่วหล้า อภิญญาสมาบัติจงปรากฏ ต่อปวงข้า โดยเร็วพลัน เหล่าอลัชชีจงถูกกำจัดออกไปสิ้น ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจงปลอดภัย

พระราชาพ่อขุนไทย ขอทรงไพโรจน์ ให้ตั้งมั่นในทศพิธราชธรรมทุกพระองค์ เหล่า มุขมนตรีที่ดีมีคุณธรรม จงปรากฏออกมาช่วย ชาติบ้านเมืองให้รุ่งเรืองต่อไป

เหล่ามนุษย์และอมนุษย์ทั้งหมด ขอจง ประสพสุข พ้นทุกข์ภัย จงไม่มีเวร ปราศจาก อุปัทวันตรายทุกเมื่อเถิด ขอปวงประชา จงให้ ทานด้วยศรัทธา มีความพอใจรักษาศีล จงเป็น ผู้ยินดียิ่งในภาวนา และจงกระทำให้แจ้งถึง สันติสุข คือพระนิพพานเถิด

ทั้งนี้ ด้วยพระพุทธานุภาพ พระธรรมา นุภาพ พระสังฆานุภาพ อานุภาพแห่งสิ่งศักดิ์ สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก และด้วยกระแสแห่ง เมตตาจิตของปวงข้าทั้งหลาย จงบังเกิดความ ร่มเย็นแก่ผู้ไม่ประมาทมัวเมาทั้งหลายเถิด

ขอภัยทั้งหลาย อันมีอัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ปฐพีภัย อุบัติภัย โจรภัย ทุพภิกขภัย โรคาภัย และสงครามมหาประลัยทั้งหลาย จง อย่าได้ทำอันตราย สรรพทุกข์ สรรพโศก และ สรรพโรค สรรพภัย สรรพพระเคราะห์เสนียดจัญไร จงพินาศหมดสิ้นไป

ขอลม แดด จงมีโดยชอบ ขอฝนจง ตกในกาล เพื่อความเจริญแก่คนและสัตว์ทั้ง หลาย พืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งปวง จงเจริญงอก งามเป็นอันดี แร่ธาตุธรรมชาติทั้งมวล จงปรากฏ ต่อคนดีโดยเร็วพลัน

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ..ด้วยอำนาจแห่งการตั้งสัจจะอธิษฐานของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถ้าหากไม่เกินวิสัย ขอให้มีผลเป็นไปตามความ ประสงค์จงทุกประการเทอญ...”

หลังจากหลวงพ่อบวงสรวงจบแล้ว จึงอาราธนาเจ้าอาวาสและพระสงฆ์รวม ๔ รูป เพื่อทำพิธีชักผ้าบังสุกุล เป็นการอุทิศกุศลผลบุญให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว นับตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบัน ณ อาณาจักรสุวรรณภูมินี้ แล้วจึง เริ่มพิธีอันสำคัญเป็นลำดับไป ซึ่งในขณะนั้น มีหลายคนเหลือบมองขึ้นไปบนท้องฟ้า จะเห็นรัศมีแห่งพระอาทิตย์กำลังทรงกลดอยู่พอดี



พิธีถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติแด่ "พระเจ้าตะวันอธิราช"

พระเจ้าตะวันอธิราชทรงเป็นพระโอรสของ พระเจ้าโลกกนลว้า และ พระนางก้านตาเทวี (ธิดาขุนอู่ทอง) พระองค์ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘/๘ ปีกุน พ.ศ.๒๒๒ ขณะที่ประสูติเป็นเวลาเที่ยงตรง ในเวลานั้น จึงได้รับการขนานพระนามว่า “ตวันทับฟ้า”

เมื่อขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาแล้ว จึงมีพระนามว่า พระเจ้าตวันอธิราช ทรงมีพระมเหสีคือ พระนางสิรินทิรา ต่อมาได้สิ้นพระชนม์แล้ว พระนางสิริงามตัวเทวี จึงได้ ขึ้นเป็นพระอัครมเหสี ทรงมีพระโอรส ๒ พระ องค์นามว่า เดือนเด่นฟ้า และ ดาวเด่นฟ้า

พระเจ้าตวันอธิราชทรงเป็นมหาราชที่ยิ่งใหญ่ของชาวไทยสมัยสุวรรณภูมิ เป็นผู้นำที่ ประเสริฐสุด มีพระราชโอรสและพระมเหสีกับ ข้าราชบริพารที่ดี สร้างความเจริญให้แก่บ้าน เมืองและพุทธศาสนาเป็นอันมาก พระองค์ขึ้น ครองราชย์เมื่อ พ.ศ.๒๔๕ แล้วเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ.๓๐๔ เมื่อมีพระชนมายุ ๘๒ พรรษา

พระองค์ทรงมีพระราชจริยาวัตรคล้ายกับรัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิบัติในพระราชกรณียกิจ อันเป็นประโยชน์สุขต่อคนไทย เสมือนพ่อกับ ลูกฉะนั้น อาณาจักรสุวรรณภูมิจึงมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล พุทธศาสนาแผ่ไปในนานา ประเทศ บ้านเมืองจึงร่มเย็นเป็นสุข ด้วยพระ บารมีของพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เจ้า

“..ชาติไทยดลคนไทยได้เป็นศักดิ์
ศาสน์ประจักษ์แก่ทวยไทยใสสดศรี
กษัตริย์ไทยได้เป็นสินวิญญาณมี
ไทยเป็นที่เด่นชัดสัจจริงไทย
ไทยเป็นไทยใจรู้ร่วมรวมเฉลิม
ไทยจึงเจิมอิสระซร้องฉลองใหญ่
ไทยชูไทยใจปลื้มโปรดสมโภชไชย
ไทยสูงใหญ่ชัดเจนยืนครึกครื้นเทอญ..”


ครั้นจบสิ้นเสียงแห่งบทกลอน พวกเราก็พากันไชโยเสียงสนั่นลั่นไปทั่ว แล้วร่วมกัน ร้องเพลงปลุกใจให้รักชาติรักความสามัคคีกัน เพื่อพิธีกรรม “ตัดไม้ข่มนาม” จะได้สมบูรณ์ แบบยิ่งขึ้น เป็นการรวมน้ำใจให้มีพลังมั่นคง เพื่อชาติบ้านเมืองจะได้ผ่านพ้นวิกฤติภัยต่างๆ




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 7/9/10 at 11:43 Reply With Quote


วชิระปราสาท วัดเพชรพลี จ.เพชรบุรี


(ภาพจาก lh4.ggpht.com)
สันนิษฐานว่า วัดเพชรพลี จ.เพชรบุรี คือบริเวณที่สร้างกุฏิ ๕๐๐ หลัง ถวายพระพุทธเจ้า


...หลังจากนั้นจึงพากันกราบลาเจ้าอาวาสและญาติโยมทั้งหลาย เพื่อเดินทางต่อไปยังจุดที่ ๔ ณ วัดเพชรพลี หรือ วัดพริบพลี จ.เพชรบุรี ผู้ที่รับทำบายศรีจึงต้องรีบจัดทำกันอย่างรีบเร่ง เพราะเป็นเวลาเย็นมากแล้ว สถานที่ทำพิธีบวง สรวงนี้ จะไปทำกันที่ “วชิระปราสาท” ซึ่งมีรูปแบบเป็นศาลาทรงไทย โดยมีพระเจดีย์ตั้งเด่นอยู่บนหลังคา

ถ้าจะแหงนดูยอดพระเจดีย์นั้น จะเห็นยอดรัตนรัดเกล้า ๙ ชั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงสายพระวิสูตรยกยอด เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ พ.ค. ๒๕๒๒ ส่วนภายใน “วชิระปราสาท” จะเต็ม ไปด้วยของเก่าแก่มีค่ามากมาย มีทั้งพระพุทธรูปปางต่างๆ เป็นจำนวนมาก

เมื่อพวกเราขึ้นไปนั่งรวมกันแล้ว เจ้าอาวาสจึงได้กดสวิทซ์ ซึ่งทุกคนต่างก็ไม่ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้น พลันก็ได้เหลือบเห็นเพดานด้านบนถูกเปิดออก พร้อมกับมีวัตถุสิ่งหนึ่งที่ถูกแอบซ่อนอยู่ภายใน กำลังเคลื่อนตัวลงมาช้าๆ จากช่องด้านบนเพดานนั้น ซึ่งมีลักษณะเป็น มณฑปน้อยๆ (คล้ายมณฑปครอบรอยพระพุทธ บาท จ.สระบุรี)

ถ้าดูจากภายนอกปราสาท จะเห็นมณฑปน้อยกำลังเคลื่อนออกมาจากฐานพระเจดีย์พอดี ลงมาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ อาศัยกำลังของลวดสลิงที่ถูกปล่อยจากมอเตอร์ โดยการ ซ่อนอุปกรณ์เหล่านี้ไว้ไม่ให้คนเห็น เราจะเห็นแต่ “มณฑปน้อย” ที่กำลังล่องลอยลงมาจากเพดาน นับว่าเป็นที่พิศวงจากผู้ชมในวันนั้นกันมากมาย บางคนถึงกับร้อง..โอ้โฮ! กันทีเดียว

ประมาณเวลาสักครู่หนึ่ง มณฑปน้อยก็ลอยลงมาปรากฏอยู่ข้างหน้าของพวกเรา ทุก คนต่างก็มองดูมณฑปเล็กๆ ๓ มณฑป ที่ ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑปน้อยนั้น พร้อมทั้งได้แสดงความเคารพกราบไหว้ เพราะภายใน มณฑปเล็กทั้ง ๓ นั้น จะเห็นผอบแก้วใสที่มีฝาครอบและพู่ห้อยทั้งสองข้าง ภายในเป็นที่ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุต่างๆ ดังนี้

๑. พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทันตธาตุ พระองค์นี้ ท่านพระครูพิศิษฐ์ศิลปาคม (อดีต เจ้าอาวาสวัดเพชรพลี) ได้เล่าว่าโยมปู่ของท่าน อยู่ที่บ้านท่าช่อง บริเวณกรุงวังฆะนน เมือง เพชรบุรีนั้น ประมาณ พ.ศ.๒๔๐๐ กว่า ได้ สร้างบ้านเรือนใหญ่ จึงขุดหลุมเสาเรือนได้พบ ผอบเคลือบดินเผาชิ้นหนึ่ง เมื่อเปิดออกก็ได้พบพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ จึงเก็บบูชาไว้ได้มอบแก่โยมบิดาๆ ก็ได้ มอบถวายแก่ท่าน ซึ่งท่านก็ได้เก็บรักษาบูชาไว้ จึงได้คงอยู่มาถึงกาลสมัยนี้ ถ้าจะดูรูปลักษณะ ของจริง จะเห็นเป็นเขี้ยวแก้วใส

๒. พระบรมสารีริกธาตุ “ฉัพพรรณ รังสี” คือเป็นพระบรมธาตุ ๖ สี ได้แก่ สีฟ้า แก่ สีเหลืองอร่าม สีแดงสด สีขาวผ่อง สีฟ้า ม่วงแดงหงสบาท สีประภัสสรเลื่อมพราวพราย แสงแดงเหลือง ซึ่งได้คัดเอาที่มีสีอย่างที่พระ บาลีระบุไว้ ที่อื่นนอกจากนี้ยังมีอีกมาก

๓. พระเสมหธาตุ (พระเสลดของพระพุทธองค์) มีประวัติเล่ากันว่า เป็นพระเสมห ธาตุแต่ครั้งที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสวย เนื้อสุกรอ่อน แล้วจึงทรงพระประชวรพระโรค ปักขันทิกาพาธ คือทรงอาเจียนเป็นพระโลหิต และเมือกเสมหะผสมกัน ได้ทรงบ้วนลงบนพื้น ฝุ่นดินลูกรังซึ่งมีแร่เหล็กประสมอยู่ จึงเป็นพลัง ร่วมประสานทั้งหมด ให้เป็นก้อนแข็งทึบคล้าย หินแดงสนิม พระสงฆ์สาวกได้เก็บไว้ และได้ มอบกันต่อๆ มา จนกระทั่งมาสถิตอยู่ ณ วัดนี้



ประวัติวัดพริบพลี

ก่อนที่ พระโสณะ จะนิพพาน ท่านได้แนะนำ พระนางสิริงามตัวเทวี พระมเหสีของ พระเจ้าตวันอธิราชว่า

“สมัยพุทธกาล พระปุณณะ ได้มาถึง สุนาปรันตะ เมืองพริบพลี (เพชรบุรี) ควรสร้าง เมืองไว้ที่นี่ เพื่อให้คนระลึกถึงพระปุณณะ ซึ่ง เป็นผู้นำเอาพระพุทธศาสนามาเผยแพร่..” แล้วพระโสณะก็ได้เล่าประวัติของสถานที่นี้ให้ฟังต่อไปว่า...

“เดิมที นายจุล ชื่อมคธว่า จุลปุณณะ ซึ่งเป็นน้องชาย พระปุณณะ ผู้อาราธนาพระพุทธเจ้ามาสู่สุนาปรันตะพริบพลี เมื่อพุทธพรรษา ๒๒ ลูกชายของนายจุลมีชื่อว่า “จอม” จน ถึง ๙ ชั่วคน จึงถึง ขุนสีเมืองฟ้า มีเมียชื่อว่า สีทองอ่อน (พ่อแม่ของพระนางสิริงามตัว)...”

ครั้นพระโสณะนิพพานไปแล้ว ๑๒ วัน พระนางสิริงามตัวเทวีก็ได้โปรดให้สร้างเมืองใหม่ ชื่อว่า เพชรพริบพลี และสร้างวัดชื่อว่า วัดพริบพลี ตรงที่ บ้านมกุน (บ้านพ่อแม่ของ พระปุณณะ) อันเป็นสถานที่ที่นายจุลเคยสร้าง ศาลาด้วยไม้หอม ๕๐๐ ห้อง ไว้เป็นที่พระ พุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวก ๕๐๐ องค์ เสด็จมาพักเมื่อคราวนั้นเป็นเวลา ๒ วัน

ครั้นสร้างวัดตามความประสงค์ของพระโสณะแล้ว จึงได้ทรงอาราธนา พระฌานียะ (คณะของพระโสณะที่ยังมีชีวิตอยู่) ไปกำหนด สีมาและนิมิตพระอุโบสถ และอยู่สอนธรรมะให้แก่ชาวเมืองทั้งหลาย แล้วให้มีการบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุสามเณรและแม่ชีไว้เป็นแบบอย่าง งานครั้งนี้ พระเจ้าเดือนเด่นฟ้า ทรงรับเป็นธุระช่วยพระมารดาในการสร้างเมืองและวัดพริบพลี โดยมี ขอมทองเมือง ผู้เป็นอา (น้องชายของพระมารดา) ซึ่งเป็นนายช่างใหญ่และเป็นศิลปินเอกของกรุงสุวรรณภูมิ

ดังจะเห็นว่าวัดวาอารามต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรี ยังมีปรากฏให้เห็นเด่นชัดในด้านศิลปะ ที่ยังคงความประณีตและสวยงามจนถึงทุกวันนี้ แม้กระทั่งการจัดสร้าง มณฑปน้อย ที่ล่องลอย ลงมา ณ วชิระปราสาท วัดพริบพลี เสมือนกับจำลองเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาล ตอนที่พระ พุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในวิมานลอยมาทางอากาศ พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๔๙๙ องค์ จากกรุง สาวัตถีมาโปรด สัจจพันธฤาษี ที่สระบุรีแล้ว วิมานทั้ง ๕๐๐ หลังก็ได้เคลื่อนจากนภากาศ เพื่อลงมาโปรด ชาวเพชรบุรี ฉะนั้น


มณฑปน้อย ณ วัดเพชรพลี จ.เพชรบุรี (ภาพจาก lh4.ggpht.com)

มณฑปน้อยลอยล่องลงมาจากเพดาน เสมือนกับจำลองเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาล
ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในวิมานลอยมาทางอากาศ พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๔๙๙ องค์


รวมความว่า วัดพริบพลีนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๗๒-๒๗๓ นับเป็นวัดแรกของเมืองเพชรพริบพลี (คำว่า “พริบ” เป็นคำไทยเดิมหมาย ถึง “เพชร” ส่วนคำว่า “พลี” ก็คือ “พลอย”) ความจริงเมืองนี้มีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล สร้างไว้โดย ขุนกุน ลูกชายคนที่ ๑๓ และ นางอุ่น ลูกสาวคนที่ ๔ ของ ขุน อินเขาเขียว และ นางกวักทองมา จนถึงยุคของ พ่อกล่อม และ แม่กุน บิดามารดาของพระปุณณะ และน้องชายชื่อว่า จุลปุณณะ

ต่อมา จอม บุตรชายของ “จุล” ก็ได้ เป็นผู้สร้างเมืองพริบพลีให้เป็นเมืองสมบูรณ์ขึ้น มีขุนปกครองอีก ๙ ชั่วคน จึงถึง ขุนสีเมือง ฟ้า พระบิดาของ พระนางสิริงามตัวเทวี เมือง นี้จึงเป็นที่เกิดของพระอัครมเหสีของ พระเจ้าตวันอธิราช และเป็นที่เกิดของ พระปุณณะ พระอรหันต์องค์แรกของเมืองไทย ที่ได้รับการ อุปสมบทด้วย “เอหิภิกขุ” จากพระพุทธเจ้า

ตามความในกเบื้องจารจารึกไว้ว่า ในบั้นปลายชีวิตของพระนางสิริงามตัวเทวี ก็ได้ เสด็จออกบวชเป็น แม่ชี มีชื่อว่า “สิริหัสสา” เมื่อเดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ พ.ศ.๓๐๐ โดยมี พระญาณจรณะ เป็นพระอุปัชฌาย์ (คงให้บวช แบบสามเณร)

เป็นที่น่าสังเกตว่า สมัยนั้น บวชชีมี “ชื่อ” หรือ “ฉายา” เป็นภาษาบาลีเหมือนพระภิกษุ และอาจเป็นธรรมเนียมกันมา ซึ่งกุลธิดาชาวราชบุรีและเพชรบุรี มักนิยมบวชก่อนเข้า พรรษา และนิยมบวชกันก่อนแต่งงานเหมือน ผู้ชาย เวลานี้เสื่อมไปมาก แต่ก็ยังมีเหลือให้ เห็นได้

ต่อมา แม่ชีสิริหัสสา ได้ล้มป่วยลงเป็น เวลา ๑ เดือน จึงสิ้นพระชนม์ในเพศแม่ชี เมื่อวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ.๓๒๔ มี พระชนมายุเข้า ๑๐๐ พรรษา พระเจ้าเดือน เด่นฟ้า จึงจัดงานพระราชทานเพลิงศพพระราชมารดาอย่างสมพระเกียรติ แล้วนำพระอัฏฐิธาตุ บรรจุไว้ในพระเจดีย์ ณ วัดพริบพลี

ครั้นเล่าประวัติจบแล้ว จึงจุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรี แล้วตั้งจิตขออาราธนาท่านผู้มีคุณ ทั้งหลาย อันมีท่านผู้เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา และผู้ที่รักษาบ้านเมืองทั้งหลาย เป็นต้น เพื่อ จะได้แผ่พระบารมีช่วยปกปักรักษาพวกเราชาว ไทย ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมและจารีตประเพณี อันดี ด้วยเครื่องแต่งกายสวยงามตามแบบชาว ไทยโบราณ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูวงศ์ตระกูล ของบรรพบุรุษไทยในอดีตทั้งหลาย

เมื่ออาราธนาพระเดชพระคุณหลวงพ่อทำ พิธีบวงสรวงจบแล้ว พวกเราก็กราบขอขมาโทษแล้วทำการถวายเครื่องสักการะ อันมีบายศรี ดอกไม้ ธูปเทียนทอง และของหอม เป็นต้น หลังจากชื่นชมพระบรมสารีริกธาตุและโบราณ วัตถุต่างๆ แล้ว ซึ่งจัดว่าเป็นพิพิธภัณฑสถาน แห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี พวกเราก็เดินลง มาข้างล่าง เพื่อชมสถานที่อื่นๆ ภายในวัด บ้างก็ยืนถ่ายรูปด้วยกัน จนได้เวลาอันสมควร จึงขอให้ทุกคนขึ้นรถ เพื่อเดินทางไปร่วมงาน พิธีเททอง ณ วัดพุทธไชโย กันต่อไป

จึงขอจบเรื่องราวการเดินทางไปทำพิธีบวงสรวงสักการบูชา ณ อาณาจักรสุวรรณภูมิ โดยย่อแต่เพียงแค่นี้ เพราะหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมแล้ว อีกไม่กี่วันต่อมา พายุลินดา ก็ได้เคลื่อนตัวเข้าถล่มเวียตนาม บ้านเรือนพัง เสียหายยับเยิน ผู้คนล้มตายไปหลายพันคน

แต่พอเข้ามาถึงเขตอาณาจักรสุวรรณภูมิเดิม ด้วยพระบารมีแห่งบรรพบุรุษไทย จึงทำให้พายุอ่อนกำลังลง แล้วพัดผ่านเลยเข้าไปรุนแรงต่อที่กลางทะเลอันดามัน นับเป็นที่อัศจรรย์มาก คุณอธิกได้ย้อนกลับไปพบท่านเจ้าอาวาสวัดโขงสุวรรณภูมิ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นสถานที่กระทำพิธี ท่านบอกว่าไม่น่าเชื่อว่ารอดพ้นไปได้อย่างไร...

มิน่าเล่า..ในวันที่ทำพิธีกรรมนี้ นับตั้งแต่ วัดพระประโทณ เป็นต้นมา พระอาทิตย์ทรงกลดตลอดทุกแห่ง การที่นำมาเล่าตรงๆ เช่นนี้ ขอท่านผู้อ่านอย่าคิดว่าเป็นการอวด แต่เป็นเพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าไม่ นำมาเล่าไว้ คนที่ไปเห็นด้วยกันก็จะต่อว่า ว่าทำไมไม่เล่าไปตามความเป็นจริง

สรุปแล้วก็ไม่ค่อยสบายใจเหมือนกัน ที่นำมาเล่าอย่างเปิดเผยเช่นนี้ แต่ผู้เขียนถือว่า ครูบาอาจารย์ท่านทำพิธีบวงสรวง เราเพียงแต่ จัดเตรียมสิ่งของไปให้ท่านเท่านั้น ผลจะเป็น ประการใด แล้วแต่ท่านจะเห็นสมควร จึงขอ ยุติไว้เพียงแค่นี้ก่อน ไว้ติดตามการย้อนรอยไปในอดีตกาล ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติ ศาสตร์อีกแห่งหนึ่งเช่นกัน นั่นก็คือ...จังหวัด ตาก

ซึ่งจะเป็นเรื่องเล่าจากการตามรอยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ นั่นก็คือ “เขื่อนภูมิพล” หรือ “เขื่อนยันฮี” ที่ผู้เขียนได้ให้คนคัดลอกจากเทปที่ท่านเล่าเอาไว้นานแล้ว อาจจะยังไม่เคยลงหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดมาก่อนก็ได้ จึงคิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่น้อย

เป็นอันว่า การเล่าเรื่องตั้งแต่พระแท่น ดงรัง กาญจนบุรี จนมาถึงเขางู ราชบุรี แล้วก็ มาถึงเพชรบุรี คงจะสิ้นสุดเพียงแค่นี้..สมัยปัจจุบันนี้ จากการที่ได้เผยแผ่งานตามรอยพระพุทธบาท เพื่อกราบไหว้สถานที่สำคัญทั่วประเทศ จะสังเกตได้จากคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้กันมาก ขอเชิญติดตามเรื่องราว "ตามรอยหลวงพี่ฯ" ได้จากที่นี่ http://forums.apinya.com/showthread.php?p=4072 ...สวัสดี

โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง การเดินทางไปจังหวัดตาก เมื่อปี ๒๕๔๐




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 12/9/10 at 10:25 Reply With Quote


(Update 12-09-53)


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved