ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 27/9/10 at 14:26 Reply With Quote

ตามรอยพระพุทธบาท "ภาคอีสาน" (ครั้งที่ 3) 23-25 ต.ค.2541




การเดินทางไปภาคอีสาน (ครั้งที่ ๓)

เมื่อวันที่ ๒๓ - ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

(จาก หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม ๑)



(คลิกชมคลิปวีดีโอ ภาคอีสาน Part B และ Part C ได้ที่นี่)

ก่อนที่จะเล่าเรื่องการเดินทาง เนื่องจากมีผู้ร่วมเดินทางไปกันเป็นจำนวนมาก จึงขอนำเสียงบันทึกเทปที่เปิดให้ฟัง ขณะนั่งไปบนรถของแต่ละคณะ โดยได้แจกไว้กับรถทุกคัน เพื่อความสะดวกปลอดภัยให้เป็นระเบียบเรียบร้อยต่อไปว่า...

“...การเดินทางในครั้งนี้ เพราะเหตุใด..จึงต้องมีการเดินทางอีก ทั้งๆ ที่เพิ่งจะเดินทางไป ครั้งที่แล้ว เมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๔ มิ.ย. ๒๕๔๑ และ วันที่ ๒๐ - ๓๐ มิ.ย. ๒๕๔๑ แต่ก็ต้องมีเหตุ อย่างหนึ่งอย่างใด.. ที่จะไปเฉลยกันข้างหน้า ก่อนอื่นในวันเดินทางช่วยอ่านให้ฟังกันในรถ ด้วย เพื่อจะได้รับทราบโดยทั่วถึงกัน

เมื่อแจกกำหนดการไปแล้ว ก็ต้องถือว่าทุกคนจะต้องรู้แล้ว ถ้ายังสงสัย แล้วกลับมาถามอีก หรือไม่ปฏิบัติตามที่ได้แจ้งไว้นี้ ก็ถือว่าท่าน ไม่ให้ความร่วมมือ ไปก็เหมือนกับไม่ได้ไป แต่ กลับมาสร้างความหนักใจให้แก่ผู้จัด ตลอดถึง ผู้ร่วมเดินทางทุกคน

แต่ถ้าท่านปฏิบัติตามกฎระเบียบ และเป็น ผู้รักษาเวลาได้เป็นอย่างดี ก็ถือว่าท่านจะไปกี่ ร้อยคน ก็เหมือนกับไปเพียงคนเดียว เพราะใจของเราตรงกันเป็นหนึ่งเดียว อาตมายินดีเสียสละความยากลำบากทุกอย่าง ที่จะนำท่านไปพบกับสิ่งที่ประเสริฐสุด ที่หาไม่ได้อีกแล้วในโลก ตลอดถึงชีวิตนี้ที่จะได้พบเห็นกัน

ถ้าท่านรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วม เดินทางทุกคน ระหว่างที่นั่งรถไปคันเดียวกัน หรือจะต้องพักในสถานที่เดียวกัน จะต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน และจะต้องกินข้าวหม้อเดียวกัน เป็นต้น แล้วท่านจะสมหวังทุกอย่างที่ได้เสียสละเวลา เสียสละทุนทรัพย์ทุกอย่าง เพื่อการตามรอยพระพุทธบาทในครั้งนี้ ซึ่งอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของภาคอีสาน เพราะถือว่าได้นำ ท่านไปพบกับสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้ว

เพราะฉะนั้น ความสำคัญจะอยู่ที่สถานที่อย่างเดียวไม่ได้ จะต้องสำคัญที่ความประพฤติ ของผู้ที่เดินทางร่วมกันด้วย ทุกคนจะต้องเป็นคน มีศีล ๕ เป็นพื้น แต่ก็ต้องหนักใจในคราวที่แล้ว ได้ข่าวแว่วๆ ว่า มีบางคนนำสุราเข้าไปดื่มในวัด บ้าง กลางคืนก็ออกไปเที่ยวกันบ้าง เป็นต้น (เตือนคนขับรถ) จึงขอให้พวกเราช่วยกันสอด ส่องด้วย ถ้าพบเห็นก็ช่วยกันตักเตือนปลาตัวที่เน่าด้วย เพราะจะทำให้เหม็นกันไปหมดทั้งข้อง

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณและอนุโมทนา ที่พวกเราให้ความร่วมมือกันทุกคน โดยเฉพาะพนักงานขับรถตู้ทุกคัน ที่จะให้ความ สะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารทุกคน

สำหรับกำหนดการเดินทาง ทุกคนไม่ต้องหนักใจว่า จะมีการวิ่งซิกแซ็กไปโน่นไปนี่ให้เสีย เวลา เพราะผู้จัดจะรักษาเวลาให้ตรงกับแผนการณ์ที่วางไว้ หากท่านไม่ปฏิบัติตามที่วางไว้อย่างนี้ ก็จะถึงที่พักในตอนดึกกันแน่นอน ดังเช่นคราวที่ แล้ว เพราะรถวิ่งไม่ติดตามกันไป บางคันก็ขับไป เรื่อยๆ ตามอารมณ์ ผลที่สุดต้องนอนดึกกันทุกคน

ฉะนั้น กำหนดการในวันแรก เราจะไปกัน ๓ แห่ง โดย จุดแรก จะต้องเดินบันไดขึ้นเขากัน ผู้ที่จัดทำบายศรี คือ คณะหนู-เล็ก หลังจากนั้น ร่วมทำบุญสร้างพระนอน ๙ ศอก ที่ค้างอยู่ โดยจะนำพระเนตร ๑ คู่ไปถวายด้วย เสร็จแล้วทางวัดจะจัดเลี้ยงอาหารกลางวัน ซึ่งจะต้องทำบุญกันเป็นพิเศษ ส่วนวัดไหนไม่ได้จัดเลี้ยงต้อนรับ เราก็ทำบุญตามธรรมดา จึงขอให้ดูปริมาณการต้อนรับเป็นสำคัญด้วย

ต่อจากนั้นจะเดินทางไป จุดที่ ๒ ซึ่งจะ ต้องเดินขึ้นบันไดไปอีกเช่นกัน แต่ต่ำกว่าจุดแรก เล็กน้อย สำหรับสถานที่นี้ (พระพุทธบาทไพศาลี) เคยไปเมื่อครั้งที่แล้ว แต่มีรถบางคันจะต้องรีบกลับ จึงไม่สามารถจะเดินทางไปร่วมได้ อาตมาจึงขอนำมากราบไหว้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะนำ รอยพระพุทธบาท (จำลอง) ไปถวาย โดยมี คณะลูกสัมพเกษีเป็นผู้จัดสร้าง ซึ่งพวกเราจะร่วมสมทบทุนกันก็ได้ จุดนี้ คณะอู่วารี เป็นผู้ทำบายศรี

เมื่อเสร็จจากจุดนี้แล้ว เราก็เดินทางต่อไปยัง จุดที่ ๓ (อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์) คงจะต้องเดินขึ้นเขาอีกเช่นเคย แต่ก็ไม่สูงเกินไปนัก ยังไม่มีบันได เพราะเป็นธรรมชาติอยู่ ซึ่งยากนักที่จะได้พบเห็น ถ้าทุกคนตั้งจิตอธิษฐานให้ดีก็ จะสามารถพาตนขึ้นไปพบเป็นผลสำเร็จได้

ทั้งนี้ อยู่ที่ท่านจะมีความอุตสาหะแค่ไหน แต่ถ้าสังขารไม่ไหว ระหว่างนั่งรถไปพยายามพัก ผ่อนให้เต็มที่ ถึงอย่างไรก็ตาม คณะเจ้าหน้าที่ จะอำนวยความสะดวกให้แก่ท่านผู้สูงอายุ และผู้ที่มีร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง จะช่วยประคองให้ในระหว่างทางด้วย

การเตรียมดอกไม้ธูปเทียน และทองคำเปลว จะนำไปบูชากันได้เต็มที่ เสร็จแล้วจะเดินทางไปทานอาหารเย็นและค้างคืนที่เพชรบูรณ์ กลางคืนก็มีการชำระหนี้สงฆ์กันตามประเพณี สำหรับสถานที่พักนั้น ที่ตรงไหนสะดวก สบาย จะให้โอกาสแก่ผู้สูงอายุก่อน ใครชอบ เห็นแก่ตัว คือเลือกที่พัก เลือกอาหาร หรือเลือกห้องส้วมก็ตาม ทีหลังไม่ต้องไปด้วยกัน ใครรู้ช่วยจดชื่อมาให้ด้วยนะ

วันที่สองของการเดินทาง เวลา ๐๖.๐๐ น. ทานอาหารเช้าแล้ว ก่อนออกเดินทางขอให้มารับข้าวกล่องไปด้วย แล้วทานอาหารกลางวันกันบนรถ จนถึง จุดที่ ๔ (พระพุทธบาท อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น) คณะหนู-เล็ก เป็นผู้จัดทำบายศรี แล้วไป จุดที่ ๕ (พระธาตุขามแก่น จ.ขอนแก่น) คณะอู่วารี ทำบายศรี และเดินทางต่อไป จุดที่ ๖ (เขื่อนอุบลรัตน์) คณะแม่ชีเล็ก เป็นผู้ทำบายศรี จุดนี้จะเป็นสถานที่พักค้างคืน และทานอาหารเย็นที่นี่

วันที่สามของการเดินทาง เวลา ๐๖.๐๐ น. ทานอาหารเช้าแล้วจึงออกเดินทางไป จุดที่ ๗ (ชัยภูมิ) ซึ่งมี คณะหนู-เล็ก เป็นผู้ทำบายศรี ทานอาหารกลางวันที่นี่ หลังจากทอดผ้าป่าเสร็จ แล้ว จึงเดินทางต่อไป จุดที่ ๘ (อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ) ซึ่งจะต้องตั้งบายศรี ๔ พาน โดยมีผู้ จัดทำบายศรีทุกคณะมาร่วมกันทำเป็นชุดสุดท้าย

เมื่อทำพิธีบวงสรวงทั้ง ๔ ทิศแล้ว จึงเดินทางกลับ เพราะถือว่าเป็นจุดสุดท้าย และปิดท้ายงานทางภาคอีสานทั้งหมด จึงหวังว่าทุก ท่านคงจะพกพาบุญกุศลกลับมาอย่างเต็มที่ เพราะสถานที่แต่ละแห่ง..จะเลิศ..จะประเสริฐไม่เหมือนกัน จะแตกต่างกันโดยลักษณะ โดยรูปพรรณสัณฐานอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

ฉะนั้น ผู้ที่มีขวดเปล่าอย่าทิ้ง ขอให้นำติดตัวไปด้วย อาจจะมีของดีกลับมาบ้านบ้าง ประการสำคัญ ควรอธิษฐาน ๓ ประการ คือ “โรค” “ลาภ” “เลิศ” คือขอให้โรคภัยมลายสิ้นทั้งอินทรีย์ ขอให้ลาภผลเพิ่มพูนทวี และขอให้ได้ของดีเลิศประเสริฐ นั่นก็คือ “พระนิพพาน”



รอยพระพุทธบาท ถ้ำเขาภูคา อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์


ทั้งหมดนี้เป็นเสียงเทปที่อัดไว้เปิดฟังกันบนรถ อาจจะฟังดูกระด้างสักหน่อย แต่เพื่อความพร้อมเพรียงไว้เป็นระเบียบ ซึ่งท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย แต่เพื่อช่วยให้ผู้เขียนสบายใจ จึงต้องลงกันให้ละเอียดว่ากว่าจะเตรียมงานแต่ละงานนั้น มันยากหรือมันง่าย

โดยเฉพาะการไปแต่ละสถานที่ ถ้าไม่มีผู้ประสานงานอยู่ในพื้นที่ พวกเราคงไม่สามารถจะจัดงานให้สำเร็จได้ ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณความดีที่ลูกหลานหลวงพ่อทุกคนแต่ละจังหวัด ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ไม่ว่าที่พักและอาหารการกิน ฉะนั้น การจัดงานภาคอีสานครั้งที่ ๓ นี้ เมื่อมี การประสานงานกันเรียบร้อยแล้ว ก็มีการชี้แจง แผนงานให้ผู้ร่วมเดินทางทุกคนรับทราบดังกล่าวมาแล้วนี้

.....เริ่มต้นของเช้าวันที่ ๒๓ ต.ค. ๔๑ พวกเรานัดพบกันที่หน้าร้านครัวชัยนาท จำนวนรถตู้, รถเก๋ง, รถกระบะ รวม ๓๐ คัน เมื่อพร้อมกันแล้ว จึงออกเดินทางไปตาคลีที่ “ถ้ำเขาภูคา” ระหว่างนั้นมีละอองฝนลงมาเล็กน้อย

...ครั้นถึงวัดแล้ว จึงได้ไปรวมกันที่ศาลา การเปรียญ แล้วช่วยกันนำสิ่งของที่จะถวาย เมื่อ ได้ทราบจากเจ้าอาวาสว่า จะทอดกฐินวันที่ ๒๕ นี้ พวกเราจึงถวายผ้าไตรจีวรไว้ทอดกฐิน แล้ว ได้ถวาย พระเนตร ซึ่งทำด้วยนิลแท้จากเมือง กาญจน์โดย คุณบอลลูน เป็นผู้จัดทำ มี คุณรัตนา เจ้าของโรงงานทำร่มลีโอเป็นเจ้าภาพ พร้อมด้วยคณะศิษย์ทั้งหลายร่วมกันสมทบทุน

...ต่อจากนั้น จึงได้ขึ้นไปบนถ้ำ ซึ่งเจ้าอาวาสได้สร้าง พระพุทธรูปนอน ๙ ศอก ค้างไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้ขอรับทำพระเนตรมาถวาย เมื่อทำเสร็จแล้วจึงได้นำมาถวายในครั้งนี้

....สำหรับถ้ำเขาภูคานี้ ผู้เขียนเคยเดินทางมาทอดผ้าป่าตั้งแต่สมัยยังเป็นฆราวาสอยู่ เมื่อปี ๒๕๑๙ เนื่องจากเคยเป็นสถานที่ปฏิบัติ ธรรมของ หลวงปู่สงฆ์ และ หลวงปู่บุดดา มาก่อน ปัจจุบันนี้ทางวัดจึงได้ปั้นรูปของท่านไว้ ตรงที่หลวงปู่ทั้งสองเคยนั่งกรรมฐาน

เมื่อเข้าไปเดินชมภายในถ้ำแล้ว จึงเดินขึ้นบันไดไปบนเขา จะเห็นพระพุทธรูปครึ่งองค์ประดิษฐานอยู่ พระนามว่า “พระพุทธเกศแก้วจุฬามณี” แล้วออกเดินทางไปอีกก็ถึงที่หมาย คือมณฑปที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ เป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาเหยียบไปบนก้อนหิน มีสภาพเดิมๆ เหมือนเหยียบไปบนก้อนโคลน



…เจ้าอาวาสเล่าว่า เขาลูกนี้ในปลายสมัย รัชกาลที่ ๕ ทรงดำริจะสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ - นครสวรรค์ แต่ระเบิดเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ ความทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงเห็นเป็นเรื่องแปลก จึงสั่งให้ยุติไม่ให้ทำ ลายเขาลูกนี้ แล้วพระราชทานนามว่า “เขาภูคา” แปลว่า “ภูเขาอันเป็นโภคสมบัติของแผ่นดิน”

…สถานที่นี้เป็นที่สงัดและวิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา จึงเป็นที่จาริกของพระธุดงค์ สมัยก่อน เช่น หลวงปู่โต, หลวงปู่มั่น, หลวง ปู่ฝั้น, หลวงปู่สงฆ์, หลวงปู่บุดดา, หลวงปู่ สิม, หลวงพ่อโอภาสี, หลวงพ่อเดิม เป็นต้น

…ก่อนที่จะพบรอยพระพุทธบาท ชาวบ้านจะเห็นแสงสว่างขึ้นบริเวณนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไร จึงได้ถามพระธุดงค์องค์หนึ่ง ท่านว่าสงสัยจะมีรอยพระพุทธบาท ต่อมาได้มีพระธุดงค์มาจากสุพรรณบุรี ได้ทราบเรื่องและให้ชาวบ้านชี้ ตำแหน่งที่เห็นแสงสว่าง แล้วออกค้นหาแต่ก็ไม่พบ

ขณะกำลังจะเลิก จึงได้ไปนั่งพักตรงหินก้อนใหญ่ มีต้นไผ่รวกขึ้นอยู่ตรงกลางและก็มีดินอยู่เต็ม เมื่อมองดูเห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จึงให้โยมโกยดินและกอไผ่ออก เห็นเป็นรอยเท้า ๕ นิ้ว เลยแน่ใจว่าเป็นรอยพระพุทธบาท ตามที่พระธุดงค์องค์เดิมบอกไว้ เรื่องก็มีเท่านี้

หลังจากนั้น พวกเราก็จัดบายศรีร่วมกันทำพิธีบวงสรวง ได้สรงน้ำหอมและโปรยดอกไม้แล้ว จึงได้ถวายเงินทำบุญวัดนี้ จำนวนเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท แล้วจึงได้ฉันเพล ญาติโยมก็รับทานอาหารกลางวัน โดยทางวัดเป็นผู้จัดเลี้ยง

เพิ่มเติม : หลังจากผู้เขียนได้เล่าเรื่องลงใน "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" แล้ว ในขณะที่กำลังเรียบเรียงลงเวปไซด์นี้ ผู้เขียนได้พบข้อมูลในเวปไซด์ http://thumkhaophukatemple.blogspot.com/2008/10/blog-post_8677.html จึงขอนำข้อมูลเพิ่มเติมอีก ดังนี้

.......ขณะที่สร้าง "พระเกศแก้วจุฬามณี" นั้นเป็นเวลาหลายครั้งหลายคืน ชาวบ้านที่มาช่วยกันขนปูนทรายก็ได้เห็นว่ามี "แสงรัศมีสีเขียวนวล" พุ่งขึ้นมาจากด้านหลังของพระเกศแก้วหรือทางทิศเหนือ

วันหนึ่งขณะที่หลวงพ่อพลอย เตชพโล สร้างพระเกศแก้ว ได้มีพระเพื่อนของหลวงพ่อพลอย ได้เดินทางปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาบนยอดเขาภูคา ท่านเดินไปเห็นมีอ่างน้ำขนาดเล็กๆ ซึ่งมีดอกบัวสีม่วงขึ้นอยู่ในอ่าง จึงได้ปักกลดอยู่บริเวณนั้น จึงนิมิตเห็นภาพคล้ายรอยพระพุทธบาท

จึงมาขอแรงชาวบ้านมาขุดและล้างทำความสะอาดโกยดินออกหมดเห็นรอยเท้ามี 5 นิ้ว จึงแน่ในว่าต้องเป็น "รอยพระพุทธบาท" ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยลักษะนั้นทรงเหยียบที่ใดแม้โรยฝุ่นขาวก็จะไม่ปรากฏรอยให้เห็น แต่ถ้าประสงค์จะให้ปรากฏรอยแม้หินผาหรือแผ่นเหล็กก็จะอธิษฐานให้ปรากฏได้ ใหญ่เล็กตามปราถนา

ด้วยเหตุนี้หลังจากนั้นหลวงพ่อพลอยได้ถ่ายภาพรอยพระพุทธบาทที่พบไปให้กรมศิลปากรพิสูจน์ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่แท้จริงหรือไม่ ปรากฏว่าเป็นรอยพระพุทธบาทถูกต้องตามพุทธลักษณะ จึงขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกแผ่นดินว่าเป็น "รอยพระพุทธบาทหินเป็นตามธรรมชาติ"



…ครั้นอิ่มหนำสำราญบานใจ แล้วจึงได้กราบลาเจ้าอาวาสและญาติโยมทั้งหลาย เพื่อเดินทางต่อไป ณ รอยพระพุทธบาทไพศาลี จ.นครสวรรค์ โดย คณะลูกสัมพเกษี ได้นำ รอยพระพุทธบาทจำลองไปถวาย พร้อมกับเงินทำบุญของพวกเราอีก ๑๐,๕๐๐ บาท

...การเดินทางมาคราวนี้ เป็นการมาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำคนที่มิได้มาคราวที่แล้ว มากราบไหว้ให้ครบถ้วน แล้วก็นำบายศรีมาบูชาอีกเช่นเคย เสร็จพิธีแล้วจึงเดินทางต่อไป ที่เขาเหล็ก เพื่อขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาท ซึ่งผู้เขียนได้เดินทางมาคราวที่แล้ว แล้วมีพระ อาทิตย์ทรงกลด จึงต้องนำคณะมาอีกครั้งหนึ่ง

...แต่มาครั้งนี้มีคนมากเกือบ ๓๐๐ คน จึงต้องให้รถขึ้นไปส่งบ้าง และที่เดินขึ้นก็มีหลาย คน กว่าจะเสร็จพิธีก็มืดค่ำพอดี ต้องเดินคลำ ทางลงมา แต่อาศัยเจ้าหน้าที่ช่วยกันประคอง จึงทำให้กราบไหว้ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

…ฉะนั้น กว่าจะเดินทางไปถึงที่พัก คือ ที่ วัดเพชรวนาราม จ.เพชรบูรณ์ เวลาเกือบ ๓ ทุ่มไปแล้ว โดยมีคณะศิษย์หลวงพ่อรอ ต้อนรับอยู่นานแล้ว คือ คุณพิทยา - สุวภา นิยมไทย พร้อมทั้งชาวเพชรบูรณ์มี คุณสุจิต เป็นผู้ประสานงาน ร่วมกันติดต่อที่พัก และจัด เลี้ยงอาหารค่ำ และอาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น พร้อม ทั้งแจกข้าวกล่องเป็นอาหารกลางวันในรถอีกด้วย

ตอนกลางคืนก็ได้พบกับ พระปลัดวิรัช โอภาโส ซึ่งย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่บ้านท่านอยู่ที่เพชรบูรณ์ น้องสาวคือ คุณมธุรส ได้ส่งข่าวให้ทราบ ท่านก็มารออยู่ตั้งแต่ตอนเย็นแล้ว



…วันรุ่งขึ้น ก่อนที่จะออกเดินทางต่อไป ก็ได้ทำบุญกับท่านเจ้าอาวาสวัดนี้ จำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อร่วมทอดกฐินกับวัดที่ท่านอุปถัมภ์อยู่ ๒ วัด แล้วจึงเดินทางต่อไป ณ รอยพระพุทธบาทหินลาด อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ได้ทำบายศรีบวงสรวงแล้ว จึงถวายเงินเพื่อสร้างศาลา ๒๔,๑๐๐ บาท

...วันนี้เป็นวันที่ ๒๔ ต.ค. ๔๑ นับเป็นวัน ที่สองของการเดินทาง จุดต่อไปก็เดินทางย้อนกลับไปที่ วัดพระธาตุขามแก่น จ.ขอนแก่น ได้เล่าประวัติตามที่เคยลงธัมมวิโมกข์ไปแล้ว ว่าเป็นสถานที่บรรจุ พระอังคารธาตุ (กระดูกผสมเถ้าถ่าน) ของพระพุทธเจ้า ได้ถวายเงินทำบุญไว้ที่นี่ เพื่อร่วมสร้างซุ้มประตูของวัด เป็นเงิน ๑๐,๗๐๐ บาท
…พวกเราก็ได้จัดทำพิธีสักการบูชาด้วย บายศรีดอกไม้ ของหอมทั้งหลาย และผ้าห่มพระเจดีย์ พร้อมทั้งฟ้อนรำถวายอีกด้วย เพื่ออธิษฐานขอท่านช่วยเรื่องอาณาเขตประเทศนี้ แล้วจึงออกเดินทางไปที่วัดพระบาทภูพานคำ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

…ถึงเวลาประมาณ ๕ โมงเย็นเศษ จึงเดิน ขึ้นบันได ๑,๐๐๐ กว่าขั้น จึงจะถึงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งเรามองเห็นข้างล่างแต่ไกล แต่กว่าจะขึ้นมาถึงก็หมดแรงกัน ไปหลายคน เพราะมีท่านผู้สูงวัยหลายท่านที่ ร่วมเดินทางไปด้วย ส่วนใหญ่เป็น “คณะถาวร” และ “คณะกองทุน” ก็มีคุณโยมประดับวงศ์ และ โยมปราโมทย์ เป็นต้น ซึ่งทุกคนมีความอดทนสูง สามารถพิชิตความสูงไว้ได้ด้วยชัยชนะ



…ในขณะนั้น เป็นเวลาพระอาทิตย์ใกล้ จะตกดินแล้ว บางคนจึงได้เห็นภาพสวยงาม ตามธรรมชาติ ลมพัดเย็นสบาย อากาศสดชื่น เพราะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มองไปข้าง หน้าจะเห็นทิวทัศน์สวยงาม คือท้องน้ำและ ขุนเขาไกลสุดสายตา เหลียวกลับมาบางคนกำลังทยอยกันขึ้นมา แต่ก็น่าเสียดายที่พระอาทิตย์ลับขอบ ฟ้าไปแล้ว จึงย้อนกลับเข้าไปในศาลา ซึ่งเป็นฐานของพระประธานองค์ใหญ่ แล้วจึงเดินกลับ ลงมาทางบันไดเดิม

...สักครู่หนึ่งก็จะเป็นทางแยกไปกราบรอยพระพุทธบาท จะเห็นมณฑปครอบแต่ไกล ชั้นบนภายในจะเป็นพระบาทจำลอง ซึ่งสร้างคร่อมรอยพระพุทธบาทจริงไว้ (ปัจจุบันปี ๒๕๕๓ ทางวัดได้บูรณะใหม่ให้คงเหลือแต่รอยพระพุทธบาทจริงแล้ว)

…พวกเราจึงไม่รอช้า ต่างก็พากันมุดเข้าไปใต้ถุน เพื่อกราบไหว้ของจริงกัน โดยมีเจ้าหน้าที่จัดเตรียมบายศรีรออยู่แล้ว ครั้นทำพิธีบวงสรวงเสร็จ จึงกลับลงมาทานอาหารเย็น และพักค้างคืนที่วัดพระบาทภูพานคำ โดยมี คุณชุมพล เวสสบุตร เป็นผู้ประสานงานไว้ล่วงหน้า แต่ในวันเดินทางไม่อยู่ เพราะต้องไปต่างประเทศ

ในเวลากลางคืนก็มีการถวายผ้ากฐิน เพราะวันนั้นเป็นวันที่ทางวัดมีงานทอดกฐินพอดี โดยมี “ชาวบ้านพระบาท” เป็นเจ้าภาพก่อนการเดินทางผู้เขียนได้ขอให้เจ้าอาวาสอย่าเพิ่งทำพิธีกรานกฐิน เพื่อรอพวกเราจะได้อานิสงส์กฐินทานไปด้วย ซึ่งหลังจากการถวายผ้ากฐิน พร้อมกับเงินร่วมสร้างห้องสุขาและกำแพงเป็นเงิน ๕๔,๕๐๐ บาท แล้วท่านก็ได้ทำพิธีกราน ผ้ากฐินในคืนนั้นเลย



…สำหรับเครื่องกฐินนั้น “คณะลูกสัมพเกษี” คือ คุณหลี และ คุณก๊วยเจ๋ง เป็นผู้จัดนำมา โดยมี คุณแมว (รัศมี) และสามีร่วมเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีทั้งผ้าไตรจีวร ผ้าขาว สีย้อมผ้า บาตร กลด มุ้ง อาสนะ ย่าม ไฟ ฉาย มากมายหลายอย่าง รวมมูลค่าที่นำไป ถวายครั้งนี้ทุกแห่งทั้ง ๓ วัน นับเป็นเงินหลายแสนบาททีเดียว จึงขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง

.....ต่อจากนั้น เจ้าอาวาสก็เล่าประวัติโดยย่อว่า ในสมัยก่อนแถบนี้เป็นถิ่นทุรกันดารมาก เป็นที่สัญจรมาพักแรมของพระธุดงค์ทั้งหลาย จากเทือกเขาดงพญาเย็นมาถึงภูพานคำ แล้วเดินธุดงค์ต่อเรื่อยไปจนถึงฝั่งลาว ในเวลานั้น มีพระอาจารย์บุญพร้อมคณะ ได้เดินทางมาหยุดพักที่นี่ แล้วได้แสวงหาน้ำดื่มและน้ำใช้มาบริโภค ได้แลเห็นเป็นแอ่งน้ำแห่งหนึ่ง แต่มีต้นไม้เกิดขึ้นและมีน้ำซึมออก มาเรื่อยๆ มีสัตว์ป่ามาอาศัยกินน้ำตรงนั้น

....เมื่อท่านได้เห็นดังนั้น จึงให้ลูกศิษย์โกยเอาดินออก เลยได้เห็นเป็นรอยเท้าคนใหญ่ มาก จึงสันนิษฐานว่าจะต้องเป็นรอยพระพุทธ บาท ชาวบ้านรู้ข่าวก็พากันขึ้นมากราบไหว้บูชา ท่านเลยเอาไม้มาทำเสาแล้วมุงหลังคาครอบไว้ และในปีนั้นเองก็ได้มีแสงสว่างเกิดขึ้นในตอน กลางคืน มีลักษณะเหมือนมีคนจุดไฟ บริเวณ นั้นจะสว่างจ้าอยู่ตลอด ๗ วัน

ต่อมาทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็มาสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ แล้วจัดหาผ้าป่ามาทอดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนงานที่ตายตอนสร้างเขื่อน (ตายกันมากทั้งตกน้ำและถูกหินทับ) จึงได้สร้างมณฑปครอบรอยพระบาทไว้ ทำให้เห็น รอยพระบาททั้งของจริงและจำลอง รู้สึกว่าผู้สร้างสถานที่นี้จัดทำได้ดีมาก คือไม่สร้างทับของจริง ทำให้คนที่มาภายหลังสามารถกราบ ไหว้ได้อย่างสนิทใจ



…ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ ต.ค. ๔๑ ผู้เขียนก็ได้เดินขึ้นไปกราบรอยพระบาทอีกครั้งหนึ่ง แล้วลงมาฉันเช้าเพื่อออกเดินทางล่องลงมาทางจังหวัดชัยภูมิ โดยมีการนัดไว้กับ คุณพึงพิศ, คุณเย็นจิตร, คุณนิยม คิดบรรจง พร้อมทั้งคณะชาวชัยภูมิ ผู้เป็นศิษยานุศิษย์ ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อมานานแล้ว

…ขบวนรถได้วิ่งเรียงตามหมายเลขทั้ง ๓๐ คัน จนเข้ามาถึง วัดพระบาทภูแฝด ในเวลา ๑๐.๐๐ น. จึงได้เข้าไปทำพิธีบวงสรวงภายใน พระมณฑป พร้อมทั้งเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ ในขณะที่เดินทางผ่านชัยภูมิ เวลา นั้นยังไม่รู้จักสถานที่นี้ แต่มีพระอาทิตย์ทรง กลดตลอดเวลา จึงคิดว่าน่าจะเป็นนิมิตหมาย ที่ดี เพราะคำว่า “ชัยภูมิ” แปลว่า “ผืนแผ่นดินที่มีชัยชนะ” ชื่อจังหวัดนี้จึงเป็นมงคลมาก
…เนื่องจากจังหวัดนี้ เป็นที่รองรับฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์มา แล้ว และยังมีอีกแห่งที่เราจะไป อ.เทพสถิต ซึ่งเป็น พระพุทธบาท ๔ รอยเช่นกับสถานที่นี้ แต่มี ลักษณะแตกต่างกันไป และบริเวณรอยพระ พุทธบาทภูแฝดนี้ มีบ่อน้ำทิพย์อยู่ใกล้ๆ เห็น พวกเราหลายคนตักน้ำขึ้นมาอธิษฐานดื่มกัน

เมื่อร่วมกันทำพิธีบูชาสักการะ แล้วจึง ได้ฉันเพล และญาติโยมทานอาหารกลางวัน โดยมีทางวัดและ คณะคุณพึงพิศ ร่วมกันจัด เลี้ยงอาหาร ซึ่งเตรียมไว้มากมาย พร้อมทั้ง ตั้งองค์ผ้าป่าไว้รอพวกเราอีกด้วย




หลังจากทานอาหารเสร็จแล้ว จึงร่วม กันทอดผ้าป่าเป็นเงิน ๕๑,๖๓๐ บาท ครั้น รับพรจากพระสงฆ์แล้ว ได้ขอบคุณและอำลา ชาวชัยภูมิทั้งหลาย แล้วจึงเดินทางกลับมาทาง อ.เทพสถิต ถึง วัดพระพุทธบาทเขายายหอม ตอนบ่าย ๒ โมงเศษๆ มองเห็นพระมณฑป ครอบรอยพระพุทธบาทที่ หลวงพ่อคูณ สร้างไว้สวยงามมาก

...พวกเราต่างก็ลงจากรถ แล้วแยกย้าย กันเดินชมสถานที่ ส่วนผู้จัดทำบายศรี ต่าง ก็นำบายศรีของตนไปตั้งไว้ทั้ง ๔ แห่ง เพราะบริเวณนี้จะมีรอยพระพุทธบาทที่มีลักษณะไม่ เหมือนที่อื่นที่เคยพบมา คือเป็นบ่อน้ำใสๆ แต่ถ้าดูให้ดีที่ขอบบ่อจะมีรูปร่างเหมือนเท้าคน

…แต่ละบ่อจะมีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน บางคนไม่ทันสังเกตก็คิดว่าเป็นบ่อน้ำธรรมดา เมื่อได้อธิบายชี้ชัดทุกคนจึงเข้าใจว่า เป็นรอย พระพุทธบาทเกือกแก้วลอยน้ำ แต่ละรอยก็จะ มีบ่อน้ำทิพย์รูปทรงกลมอยู่ข้างๆ บ่อน้ำที่มีรูป ทรงเป็นรอยพระพุทธบาทเหมือนกับเรือสำเภา ทุกรอย

...ในระหว่างนี้ เจ้าอาวาสได้เล่าประวัติ ให้ฟังว่า รอยพระบาทได้ถูกพบมานานแล้ว โดยคนป่าคนดงที่มาล่าเนื้อ เห็นรอยพระบาท ก็ไม่รู้คิดว่าเป็น “รอยคนใหญ่” ก็บอกต่อๆ กันไป ได้มีคนเคยไปนมัสการที่พระพุทธบาท สระบุรีมาเห็นเข้า เขาบอกว่าเป็นรอยเท้าของ ผู้มีบุญ จึงคิดว่าเป็นรอยพระพุทธบาท ชาวบ้านรู้ดังนั้นก็คิดว่า รอยพระบาทนี้ ถ้าพบเห็นที่ไหนก็จะสร้างความเจริญให้กับ ที่นั่น ทางราชการก็จะมาดูแล ทำให้ไม่มีสัตว์ ให้ล่า ไม่มีที่ทำมาหากิน จึงคิดทำลายรอย พระบาท โดยเอาไฟเผาบ้าง เอาขวานถากบ้าง

...สมัยนั้น ได้มีคนชื่อ “ขำ” ตอนเป็น เด็กอายุ ๗ ขวบ ได้ตามบิดามาเที่ยวป่า ถูก ห้ามไม่ให้บอกใคร โยมขำเก็บเป็นความลับ อยู่นานถึงอายุ ๖๐ ปี จึงบอกหลวงพ่อคูณ ต่อมาก็เกิดมีปาฏิหาริย์ คือมีแสงสว่างในวัน พระกลางเดือนหลายครั้ง แล้วก็ลอยวนไปวน มาในบริเวณนี้ เรื่องราวก็มีแค่นี้แหละ

ท่านเจ้าอาวาสซึ่งสนิทสนมกับหลวงพ่อคูณเป็นอย่างดี ได้เล่าเรื่องนี้ให้พวกเราฟังบน ศาลา เพื่อรอเวลาจนกว่าแดดจะร่ม แล้วท่าน ก็เดินพาชมตามจุดต่างๆ นอกจากจะมีรอย พระบาทแล้ว ยังก้อนหินที่มีลักษณะเหมือน แท่นบรรทม, แท่นธรรมมาสน์, และแท่นที่ ฉันภัตตาหาร เป็นต้น

รวมความว่า จังหวัดชัยภูมิมีรอยพระพุทธบาท ๔ รอย ตั้ง ๒ แห่ง นับว่ามีความสำคัญไม่แพ้วัดพระพุทธบาท ๔ รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ แต่นั่นเป็นทางภาคเหนือ ส่วนภาคอีสานตอนกลาง ก็คือจังหวัดชัยภูมินี่แหละ ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน



…ด้วยเหตุนี้ จึงได้จัดตั้งพานบายศรีไว้ทั้ง ๔ รอย เพื่อได้ทำพิธีสมโภชพร้อมกันทีเดียว เป็นการเปิดเผยให้รู้กันทั่วไป คือทั้งรอยในพระ มณฑป และรอยข้างนอกอีก ๓ รอย ซึ่งแม้ แต่แม่ชีที่อยู่ในวัดได้พูดว่า อยู่ที่นี่มานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่ารอยข้างนอกก็เป็นรอยพระบาท คิด ว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ธรรมดา จึงรู้สึกดีใจมาก
...เพราะฉะนั้น หลังจากพิธีบวงสรวงแล้ว พวกเราจึงเฉลิมฉลองด้วยการร้องรำทำเพลงกัน อย่างสนุกสนาน เนื่องจากเป็นสถานที่สุดท้ายของการเดินทางในครั้งนี้ พวกเราได้รับความสะดวก คล่องตัวและปลอดภัยทุกประการ หลังจากนี้ก็จะต้องแยกย้ายกันกลับ แล้วก็เป็นเวลาค่ำมืดพอดี

...แต่ทุกคนก็ไม่ลืมที่จะนำน้ำทิพย์ทั้ง ๔ แห่ง ใส่ขวดเพื่อนำติดตัวกลับไปเป็นที่ระลึกด้วย ใน ขณะนั้นโชเฟอร์รถตู้ได้มาขอให้ไปพรมน้ำมนต์ ที่รถ จึงเอาน้ำจากบ่อน้ำทิพย์รวมกันทั้ง ๔ รอย นั้น พรมให้กับรถตู้คันนั้น ส่วนรถคันอื่นๆ ก็ขอบ้าง จึงต้องเดินพรมกันทั่วไปเกือบทุกคัน ในระหว่างนั้น พลันสายตาเหลือบไปเห็น แสงสีเขียวเป็นดวงไฟ วิ่งหายลับไปกับยอดไม้ชั่ว แวบเดียวเท่านั้น เลยไม่ทันได้บอกใคร เพราะ หลังจากนั้น รถทุกคันก็วิ่งกลับออกไป

...จึงเป็นอันว่า การเดินทางในครั้งนี้ ก็ได้มา สรุปกันที่วัดพระบาทเขายายหอม ซึ่งได้ถวายเงิน เจ้าอาวาสจำนวน ๓๖,๑๐๐ บาทเพื่อสร้างศาลา พร้อมทั้งถวาย พระวันชัย ติดมุ้งลวดในศาลาที่ วัดพระร่วงอีก ๕๑,๑๐๐ บาท การทำบุญครั้งนี้ ถ้าจะนับตั้งแต่วันเดินทางรวม ๙ วัด เป็นกฐิน ๔ วัด เป็นผ้าป่า ๕ วัด รวมทั้งสิ้น ๓๔๘,๗๓๐ บาท

สรุปความว่า ภาคอีสานทั้งหมด ก็ได้เดินทางไปทำพิธีบวงสรวงครบถ้วน นับตั้งแต่ครั้งแรก จนถึงครั้งสุดท้าย แต่ก็ยังมีปลีกย่อยอีกบ้าง ที่เดินทางไปกราบไหว้เป็นการส่วนตัว เช่น พระธาตุนารายณ์เจงเวง, พระธาตุดุม จ.สกลนคร (บรรจุกระดุมพระพุทธเจ้า) พระธาตุเรณูนคร, และ พระธาตุท่าอุเทน และยังมีอีกหลายแห่งดังนี้

เมื่อวันที่ ๑๙ มิ.ย. ๒๕๔๐ ได้เดินทางไปไหว้สถานที่ดังนี้ คือ พระบรมธาตุผาเกิ้ง จ.ชัยภูมิ, พระธาตุยาคู (เมืองฟ้าแดดสูงยาง) จ.กาฬสินธุ์ แล้วไปพักที่ วัดป่าภูน้อย (พระจเด็ด)

วันที่ ๒๐ มิ.ย. ๔๐ ไปร่วมสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ จ.มุกดาหาร (หลวงปู่ศรี มหาวีโร), วัด ภูจ้อก้อ กราบอัฐิธาตุหลวงปู่หล้า, พระพุทธไสยาสน์ภูค่าว แล้วมาพักค้างคืนที่ วัดป่าสักกวัน จ.กาฬสินธุ์ ทำพิธีบวงสรวงกับ “คณะหมออู๊ด”

วันที่ ๒๑ มิ.ย. ๔๐ ออกเดินทางไปพร้อม คณะสู่ วัดพระธาตุดอนแก้ว อ.กุมภวาปี จ.อุดร ธานี (สร้างสมัยเดียวกับพระธาตุพนม) แล้วไปที่ วัดศรีสุทโธ (คำชะโนด) เป็นเขตของ พญาศรีสุทโธนาคราช อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี

ต่อจากนั้นก็ไปไหว้พระเจดีย์ที่ วัดบ้านธาตุ อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี แล้วไปที่บ้านหนองแวง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี มีพระเจดีย์เก่าแก่ ณ วัดศรีธาตุปมัญชา (ป่าแมว) เห็นรุ้งขึ้น ๒ ชั้น ใน เวลาเย็น..สวยงามมาก..ขึ้นอยู่นานทีเดียว.. สวัสดี


praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 22/1/11 at 14:04 Reply With Quote


โปรดติดตามตอนต่อไป..

การเดินทางไปภาคอีสาน (ครั้งพิเศษ)
เมื่อวันที่ ๒๗ - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved