ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 26/6/08 at 07:42 Reply With Quote

ท่านพระเทพสุทธาจารย์ ระลึกชาติก่อนได้ 1 ชาติ


พระเทพสุทธาจารย์ระลึกชาติได้





.........ประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสัมปันโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์ฯ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (อยู่ริมถนนมิตรภาพ มีพระพุทธรูปสีขาวอยู่บนภูเขา) ในชาติก่อนท่านมีชื่อว่า "นายเล็ง" เมื่อปี พ.ศ. 2451 จึงได้กลับชาติมาเกิดใหม่กับ "นางเหรียญ" ผู้เป็นน้องสาวในชาติก่อน แล้วมีชื่อว่า “เด็กชายโชติ”

..........ตลอดเวลาที่เป็นเด็กอยู่นั้น ท่านมีความรู้สึกว่าเป็นพี่ชายของนางเหรียญอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ยอมเรียกนางเหรียญว่า “ แม่” และจำเหตุการณ์สถานที่ต่างๆ ได้หมด จนถึง พ.ศ. 2467 ท่านอายุได้ 16 ปี มารดานำไปฝากบวชเรียนกับ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ พ.ศ. 2471 ได้อุปสมบทโดยมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสสมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌายะ

..........ขณะบวชเรียนอยู่นั้นได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาดพยายามขอลาออกและไม่รับตำแหน่งใดๆ แต่ก็ถูกร้องขอจากพระเถระผู้ใหญ่ตลอดมา ท่านนิยมทางข้อวัตรปฏิบัติออกจาริกธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ทั้งในเขตลาว เขมร และพม่า เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสทั้งมวล


..........หลวงพ่อพระเทพสุทธาจารย์(โชติ คุณสมฺปนฺโน) ได้เล่าถึงเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของท่านว่า เมื่อชาติก่อนท่านมีชื่อว่า “เล็ง ” บิดาชื่อ “วา“ มารดาชื่อ “มา” เกิดที่จังหวัดสุรินทร์เช่นเดียวกับในชาติปัจจุบัน นายเล็งเป็นลูกคนโตของครอบครัวและมีน้องอีกหลายคน แต่น้องคนถัดจากนายเล็งเป็นผู้หญิงชื่อว่า “เหรียญ” ในบรรดาน้องๆด้วยกัน นางเหรียญจะคุ้นเคยสนิทสนมกับนายเล็งมากกว่าคนอื่น เพราะมีอัธยาศัยจิตใจต้องกัน จึงห่วงใยกัน มีการงานอะไรก็ช่วยกัน และจะไปไหนก็มักจะไปด้วยกัน ต่อมานายเล็งได้บวชเขาก็บวชอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๐ พรรษา และได้ศึกษาธรรมวินัยภาคภาษาเขมรจนแตกฉาน

ต่อมาลาสึก ขณะนั้นนางเหรียญน้องสาวมีบุตร-ธิดาแล้ว ๗-๘ คน เมื่อนายเล็งสึกจากพระมาก็มีภรรยาชื่อว่า “ปุ่ม” มีลูกสาวด้วยกัน ๓ คน ต่อมาเมื่อปีวอก พ.ศ.๒๔๕๑ นายเล็งอายุได้ ๕๕ ปี ก็เกิดเจ็บป่วยเริ่มตั้งแต่เดือน ๘ จนถึงเดือน ๑๑ ของปีนั้น ครั้นใกล้วันออกพรรษา อาการป่วยก็ทรุดหนัก และในวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๑๑ หรือวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๕๑ เวลาดึก นางเหรียญ ได้คลอดบุตรคนที่ ๑๑ ที่บ้านกระทม ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

ต่อมาวันรุ่งขึ้น เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ พวกญาติที่มาเยี่ยมนายเล็งซึ่งกำลังป่วยหนักได้ข่าวว่านางเหรียญ คลอดบุตรก็พากันไปเยี่ยม นายเล็งซึ่งกำลังป่วยหนัก ได้ทราบว่านางเหรียญคลอดบุตรก็อยากไปเยี่ยมบ้าง เพราะมีความห่วงใยน้องสาวของตนมาก แต่ก็ไม่มีกำลังจะไป แม้อยากจะถามก็ไม่มีเสียงพูด เพราะอ่อนเพลียเหลือเกิน แล้วทำใจให้เป็นสมาธินอนหลับไป

ทันใดนั้นก็รู้สึกมีอาการคล้ายกับว่าเคลิ้มสบายแล้วผลอยหลับไป ต่อมามีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ยังมานั่งร่วมวงคุยกับญาติมิตรที่มาเยี่ยมไข้ตน แต่ก็แปลก จะพูดจากับใครก็ไม่มีใครพูดด้วย ไม่มีใครหันมามอง คล้ายกับว่าพวกเขาไม่ได้เห็นไม่ได้ยิน นายเล็งพูด สักครู่ใหญ่ญาติคนหนึ่งมาคลำดูที่ปลายเท้านายเล็ง เพื่อจะได้ทราบว่าอาการเป็นอย่างไร ก็ปรากฏว่านายเล็งตายเสียแล้ว จึงร้องไห้กันใหญ่ แต่ตัวนายเล็งเองกับรู้สึกว่าเที่ยวปลอบคนนั้นคนนี้ว่าไม่ต้องร้องไห้เสียใจ เพราะนายเล็งไม่ได้เป็นอะไร สุขสบายดี จะพูดปลอบอย่างไรก็ไม่มีใครได้ยิน

ต่อมาพวกญาติได้ช่วยกันอาบน้ำศพ แต่งงานศพตามประเพณี ตลอดเวลาที่เขาตั้งงานศพ นายเล็งมีความรู้สึกว่าไม่ได้เสียใจอาลัยในร่างเก่าของนายเล็งที่ตายไปแล้ว มีความรู้สึกเฉยๆ คล้ายกับไม่ได้ยินดียินร้ายกับเสื้อผ้าที่ถอดทิ้งไปฉันนั้น แต่ที่รู้สึกแปลกก็คือมีความสามารถพิเศษ คือสามารถมองเห็นผู้คนที่กำลังเดินมางานศพ แม้ยังอยู่ไกลๆก็มองเห็นได้ยินอะไรนิดเดียวก็รู้ทันที แล้วเมื่อใดที่ได้ยินหรือได้เห็น ก็จะไปถึงที่นั่นเมื่อนั้นทันที ตัวไว หูไว ตาเร็วเป็นพิเศษ

นายเล็ง ได้คอยรับแขก คอยปลอบโยนแต่ไม่มีใครได้ยิน คอยช่วยเหลือรับสิ่งของที่คนอื่นถือมาช่วยงาน แต่ก็ไม่มีใครส่งให้ นายเล็งตายเมื่อ แรม ๓ ค่ำเดือน ๑๑ เวลา ๑๕ นาฬิกา ตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่ ๒ วัน ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๑๑ ก็นำไปฌาปนกิจ ในวันนำศพไปป่าช้า นางปุ่ม ภรรยานายเล็งและญาติคนอื่นๆเดินร้องเคียงข้างไปกับเกวียนลากศพ นายเล็งถึงแม้จะไม่มีใครเห็นตัว แต่คอยเป็นหัวหน้าเป็นเจ้าภาพในงานทำศพไปจนถึงวันฌาปนกิจ คอยปลอบโยนคนโน้นคนนี้แต่ไม่มีใครได้ยิน

เมื่อเผาศพแล้ว พวกญาติก็นำอัฐิไปตั้งทำพิธีทำบุญอีกครั้งหนึ่ง พิธีสิ้นสุดเมื่อประมาณเวลา ๒๐ นาฬิกา จากนั้นพวกญาติก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ส่วนนายเล็งเมื่อร่างถูกเผาแล้ว พิธีต่างๆสิ้นสุดแล้ว ก็คิดอยากจะไปเยี่ยมนางเหรียญ ซึ่งคลอดลูกกำลังอยู่ไฟ พอนึกเท่านั้นก็ปรากฏว่าไปถึงบ้านนางเหรียญทันที ตามปกติเมื่อเดินไปบ้านนางเหรียญจะต้องผ่านต้นไม้หลายชนิดตามรายทาง แต่แปลกใจไปคราวนี้ไม่ได้ผ่านอะไรเลย เมื่อถึงบ้านก็เห็นนางเหรียญกำลังนอนกกลูกน้อย เมื่อเห็นทารกนายเล็งก็รู้สึกชอบใจอยากเข้าไปกอดจูบให้สมใจ

ในขณะที่ นายเล็ง ยืนดูทารกอยู่นั้น นางเหรียญ ตื่นขึ้นลืมตาเห็นนายเล็งพอดี นายเล็งก็ยิ้มให้ แต่คราวนี้แปลกนางเหรียญกลับเห็นนายเล็งได้นางได้พูดว่า “คุณพี่ไปคนละทิศละทางแล้ว บ้านไหนสบายก็เชิญไปตามสบายเถอะ อย่ามารบกวนน้องเลย” นายเล็งรู้สึกละอายใจมาก เพราะเขาไม่ยินดีตอบรับ จึงตัดสินใจกลับ แต่ยังรู้สึกรักในทารกนั้นมากคิดว่าไหนๆก็จะกลับแล้ว ขอให้ดูทารกให้เต็มตาสักครั้งก็ยังดี จึงชะเง้อคอยเพ่งดูทารกจนพอใจแล้วจึงหันหลังกลับออกไป แต่พอกลับตัวเท่านั้นก็รู้สึกหมุนติ้วเหมือนลูกข่าง

ไม่ทราบว่ากี่รอบแล้วก็หมดความรู้สึกไปแค่นั้น มารู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อทารกนั้นพลิกคว่ำพลิกหงายได้ แต่ยังพูดจาไม่ได้ แต่เมื่อเห็นใครที่เคยรู้จักในชาติก่อนก็จำได้ อยากจะพูดกับเขา แต่ก็พูดไม่ได้ เพียงแต่ยกมือและพูดอ้อแอ้ได้เท่านั้น ต่อมาเมื่อพูดได้ก็บอกความจริง ว่าตนคือนาย “เล็ง” ไม่ใช่ชื่อ “โชติ” ดังชาติในชาติปัจจุบัน เป็นลูกของ “พ่อวา แม่มา” ไม่ใช่ “แม่เหรียญ พ่อแป๊ะ” ในชาติปัจจุบัน เมื่อมีคนมาถามว่าชื่ออะไร ก็ตอบว่า “ชื่อนายเล็ง” บ้านอยู่ที่ไหนก็ชี้ถูก มีภรรยาชื่ออะไร ก็ตอบว่า “ชื่อปุ่ม” มีลูกกี่คนก็ตอบว่า “สามคน” เป็นหญิงหรือชาย ก็ตอบว่า “หญิงทั้งหมด” เหล่านี้เป็นต้น

เป็นคำตอบคำถามง่ายๆได้ถูกหมด อีกทั้งนางเหรียญก็เคยเล่าให้ญาติๆฟังว่า เมื่อคืนวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๑๑ หลังจากฌาปนกิจศพของนายเล็งแล้วเมื่อคืนนั้นได้เห็นนายเล็งมาปรากฏตัว จึงทำให้คนเชื่อว่า เด็กชายโชติคือนายเล็งมาเกิด และก็เห็นด้วยเหตุนี้เด็กชายโชติจึงไม่เรียกนางเหรียญว่าแม่แต่เรียกว่าน้อง ส่วนยายก็เรียกว่าแม่ และลูกสาว ๓ คนในชาติก่อน จะเรียกเด็กชายโชติว่าพ่อ ถ้าเรียกว่าน้องเด็กชายโชติจะโกรธถึงกับด่าให้เลย เพิ่งจะมาเปลี่ยนมานับถือแบบชาติปัจจุบันเมื่อได้บวชแล้ว แต่ก็ยังพอใจให้ลูกทั้ง ๓ คนเรียกว่าพ่อในชาติปัจจุบัน

นายโชติ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ เมื่อพ.ศ.๒๔๖๗ ขณะอายุได้ ๑๖ ปี โดยมี พระอาจารย์ดุล อตุโล ซึ่งต่อมาเป็นพระรัตนากรวิสูทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์เป็นอุปัชฌาย์เมื่อครั้นอายุครบบวชก็อุปสมบทที่วัดนั้น เมื่อพ.ศ.๒๔๗๑ แล้วย้ายมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อศึกษาปริยัติธรรม และเมื่อสอบเปรียญธรรม ๕ ประโยคได้แล้ว ก็กลับไปอยู่ที่วัดบูรพารามจังหวัดสุรินทร์อีก ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นลำดับ

จนเป็นพระราชาคณะเป็น พระธรรมฐิติญาณ เจ้าคณะจังหวัด(ธรรมยุติ)สุรินทร์ ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่วัดสุทธจินดาเป็นเจ้าคณะจังหวัด(ธรรมยุติ)จังหวัดนครราชสีมา และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชสุทธาจารย์ แล้วต่อมาลาออกจากเจ้าคณะจังหวัดมาเป็นเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา องค์แรก จนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพคือ พระเทพสุทธาจารย์ ดังกล่าว ได้หันมาปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ อยู่ที่วัดวชิราลงกรณ์จนมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๗ พระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๘

ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ผู้วิจัย(รศ.ฟื้น ดอกบัว)สมัยที่บวชอยู่ เคยเห็นท่านหลายครั้ง ปฏิปทาของท่านน่าเลื่อมใสมาก พูดน้อยมักน้อย ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ฉันมื้อเดียวยินดีในสัลเลขปฏิบัติและปฏิบัติธุดงควัตรข้ออื่นๆอีก ในสมัยที่ท่านอยู่ในวัดวชิราลงกรณ์ กลางคืนท่านไปจำวัดที่ป่าช้าทุกคืน ไม่ได้จำวัดที่กุฏิเลย

ส่วนการจำอดีตชาติก็มีความพิเศษกว่ารายอื่นๆ คือรายอื่นๆ มักจะจำได้ในขณะที่ยังเป็นเด็ก พอใหญ่ขึ้นก็มักจะลืมเลือนมากขึ้นทุกที ผิดกับพระเดชพระคุณพระเทพสุทธาจารย์ท่านไม่เคยลืมเลือนอดีตชาติของท่านเลยจนมรณภาพ และเป็นที่สังเกตว่าในชาตินี้ท่านมีอะไรหลายอย่างที่ติดมา

จากชาติก่อนเช่นเมื่อบวชเป็นสามเณรเป็นพวกสามเณรท่องธรรมวินัยในภาคภาษาเขมรก็รู้สึกว่าเข้าใจและเมื่อนำมาอ่านก็ปรากฏว่าอ่านออก ลองยืมมาอ่านก็ปรากฏว่าอ่านออกหมด และอ่านจบเพียง ๑ ชั่วโมงเศษๆ ทำให้ท่านแปลกใจเพราะชาตินี้ก็ยังไม่เคยเรียน ทำไมจึงอ่านได้ ท่านยังพูดภาษาลาวได้คล่องโดยไม่เคยหัดพูด เพราะชาติก่อนท่านเคยได้ค้าขายไปตามหมูบ้านคนลาว ทำให้ท่านพูดลาวได้ นอกจากนี้ยังมีอุปนิสัยอยากบวช รักเพศสมณะยิ่งกว่าชีวิต อะไรที่เป็นสมณบริขารหรือกิริยาอาการของสมณะท่านชอบหมดและปฏิบัติตาม

การสืบชาติมาเกิดใหม่ของท่านก็เป็นกรณีพิเศษเช่นกัน คือรายอื่นๆ ส่วนใหญ่จะไปปฏิสนธิในครรภ์มารดา ส่วนท่านไปอาศัยในร่างอื่นทันที เป็นการเกิดในทางลัด กรณีพระเดชพระคุณพระเทพสุทธาจารย์ก็ไปคล้ายกับกรณีของ นายชาสพีระ ในประเทศอินเดีย

ต่อมาพระเดชพระคุณพระเทพสุทธาจารย์ได้พบกับ ท่านหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี ได้ข้อวัตรปฏิบัติธรรมจนกระทั่งมรณภาพ เมื่อ 24 มีนาคม 2517 ขอเชิญทุกท่านได้รับฟังเรื่องราวต่อไป ณ บัดนี้...

คติธรรมของท่าน

จงรู้จักสร้างความสงบ ในท่ามกลางแห่งความวุ่นวาย
จงรู้จักสร้างความสบาย ในท่ามกลางแห่งความทุกข์
จงรู้จักสร้างความสุข ในท่ามกลางแห่งความไม่สบาย

จงเป็นคนบอดตาใส จงเป็นคนใบ้เจรจ์สะดวก จงเป็นคนหนวกหูเทพย์



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2040
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved