ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 4/8/08 at 23:20 Reply With Quote

การระลึกชาติของ คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร





สารบัญ...
ประวัติคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ
พบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ชีวิตทางโลกและทางธรรม
พบหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
บรรลุธรรม
ติดตามหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
การปฏิบัติและเผยแพร่ธรรม
อาการป่วย
มรณกรรม
ประมวลคำสอนของ คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ
สมเด็จพระสังฆราชทรงสนทนาธรรมกับคุณแม่
คุณแม่ชีแก้วทำนายหลวงปู่เขียน ฐิตสีโลก



ประวัติคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ


ตามประวัติได้บันทึกไว้มีนามเดิมว่า ตาไป่ เสียงล้ำ (ตาไป่ มีความหมายว่า “ผู้คนมองมาเป็นสายตาเดียวกัน” ) ได้ถือกำเนิดเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ตรงกับวันศุกร์ เดือน 11 แรม 12 ค่ำ ที่บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร (เดิมเป็น อ.มุกดาหาร จ.นครพนม) บิดาชื่อ ขุนธรรมรังสี (ซ้น เสียงล้ำ) มารดาชื่อ ด่อน เสียงล้ำ

คุณแม่ชีแก้วเป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 5 คน มีพี่ชาย 3 คน พี่สาว 1 คน ออกบวชชีเมื่อ ปี พ.ศ. 2480 หลวงพ่อกา เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ วัดหนองน่อง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

คุณแม่ชีแก้วกำพร้าแม่เมื่ออายุประมาณ 5 ขวบ คุณพ่อของท่านได้ภรรยาใหม่ เป็นหญิงม่ายมีลูกหญิงติดมา 1 คน เมื่อมาอยู่กับคุณพ่อของท่านก็มีลูกชาย 1 คน แต่ถึงแก่กรรมไปเสียแต่ยังเด็ก หลังจากคุณพ่อของท่านถึงแก่กรรม คุณแม่ชีแก้วได้อยู่กับครอบครัวใหม่ของคุณพ่อท่าน มีความสุขตามสมควร ไม่มีปัญหาใด ๆ เพราะท่านเป็นคนขยัน และพูดน้อย

เมื่อยังเด็กคุณแม่ชีแก้วระลึกชาติได้ โดยเล่าว่า เคยเกิดเป็น แม่ไก่ลาย มีลูกหลายตัว เจ้าของเอาข้าวเปลือกมาหว่านให้ลูกไก่ ท่านเตือนลูก ๆ ว่าอย่ากิน เพราะเมื่อกินอิ่มแล้วเขาจะมาเอาไปฆ่า ลูกตัวหนึ่งอ้างว่ามันหิว ต้องกินก่อน ลูกไก่ 2 ตัวในจำนวนนั้น ในชาตินี้ได้มาเกิดเป็นพระ คือ ท่านอาจารย์....และ ท่านอาจารย์.....

พี่ชายคนโตคือ ลุงตี๋ และพี่สาวคือ ป้าป่อน ไม่ค่อยรักใคร่เอ็นดูท่าน ส่วนพี่ชายอีก 2 คน คือ ลูกอ้อม และลุงอิน รักใคร่เอ็นดูท่านมาก เอาใจใส่ดูแลท่านมาโดยตลอด แม้เมื่อท่านไปบวชชีแล้วไปปฏิบัติธรรมที่ภูเก้า ก็ติดตามไปเยี่ยมและดูแลท่านสม่ำเสมอ




พบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


ประมาณปี พ.ศ. 2460 หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภุริทัตโต พร้อมคณะพระกรรมฐาน อันได้แก่ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่ฝั่น อาจาโร พร้อมด้วยภิกษุสามเณรจำนวนกว่า 60 รูป ได้เดินทางมาถึงบ้านห้วยทราย คุณแม่ชีแก้วได้กราบนมัสการหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรกที่บ้านห้วยทรายนี้

ในขณะนั้นคุณแม่ชีแก้วมีอายุ 16 ปี ท่านเป็นคนขยันขันแข็ง อยากจะปลุกหม่อนเลี้ยงไหม จึงได้จับจองที่และถากถางป่าเตรียมจะปลูกหม่อน หลวงปู่มั่นได้เห็นพื้นที่บริเวณป่าที่คุณแม่ชีแก้วจับจองและได้ถากถางเพิ่งแล้วเสร็จ เห็นว่าเหมาะที่จะสร้างเป็นที่พำนักสงฆ์ จึงได้ขอที่ตรงนั้นจากคุณแม่ชีแก้ว ท่านก็ตกลงยกถวายหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นได้ให้พรเป็นคำกลอนมีใจความว่า “ชาตินี้คุณแม่จะไม่มีวันอดอยาก” วัดแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า “วัดหนองน่อง” (น่อง เป็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นยาเบื่อ นำมาต้มเคี่ยวให้ข้นแล้วนำไปติดปลายลูกดอก เมื่อยิงถูกสัตว์จะสลบทันที) อยู่ห่างจากสำนักชีไปทางทิศใต้ ประมาณ 1 กิโลเมตร

ต้นตระกูลของคุณแม่ชีแก้วเป็นชนชาวภูไท ที่มีนิสัยรักสงบ รักความยุติธรรม ภาคภูมิใจในความเป็นไท รักญาติพี่น้อง และที่สำคัญยิงคือมีความกตัญญู ดังนั้น ชาวบ้านในละแวกนั้นจึงนับถือผีบรรพบุรุษเป็นที่พึ่ง เมื่อหลวงปู่มั่นได้มาอยู่ที่วัดหนองน่อง ท่านได้เทศน์อบอรมญาติโยมในบ้านห้วยทรายและชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงที่มากราบนมัสการหลวงปู่และทำบุญที่วัดนี้เสมอๆ จนชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เลิกนับถือผีมานับถือพระ และสอนลูกหลานให้ไหว้พระสวดมนต์แผ่เมตตาก่อนนอน

ครอบครัวของคุณแม่ชีแก้วเป็นผู้อุปัฏฐากดูแลวัดหนองน่อง ท่านจึงได้ติดตามคุณพ่อคุณแม่ไปทำบุญที่วัดเสมอ ๆ หลวงปู่มั่นได้ให้คุณแม่ชีแก้ว รับไตรสรณคมน์ในปีแรก ที่หลวงปู่มั่นได้มาอยู่ที่วัดหนองน่องนั่นเอง การรับไตรสรณคมน์ คือ การน้อมใจระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์) และยึดถือเป็นหลักแห่งความประพฤติปฎิบัติ หรือเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิต

การภาวนานั้นหลวงปู่นั้นสอนให้กำหนด "พุทโธ ธัมโม สังโฆ" พร้อมลมหายใจ หลวงปู่มั่นได้ถามคุณแม่ชีแก้วว่า คำไหนลงลึกที่สุด คุณแม่ตอบว่า "พุทโธ" ลงถึงท้อง หลวงปู่ว่าถ้าเช่นนั้นให้ภาวนาแต่คำว่า “พุทโธ” คำเดียวก็พอ และบอกว่าให้ภาวนาในคืนวันนั้นเลย คุณแม่ก็รับปาก

เมื่อคุณแม่ชีแก้วรับประทานอาหารเย็นเสร็จแล้วก็เข็นฝ้าย (กรอด้าย) ใจจริงอยากจะทำให้ได้ฝ้ายหลาย ๆ หลอด ก็นึกได้ว่าได้รับปากกับหลวงปู่ว่าจะภาวนา จึงหยุดเข็นฝ้าย (กรอด้าย) รีบเข้านั่งภาวนาในที่นอน ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 21.00 น. คุณแม่ชีแก้วนั่งภาวนากำหนดบริกรรม “พุทโธ” ไม่นานนัก จิตของท่านก็สงบและปรากฏนิมิตขึ้น เห็นตนเองแก่ลง ๆ และตายในที่สุด แล้วก็มีหนอนชอนไชอยู่ตามอวัยวะ 32 กินร่างของท่านจนหมด เกิดความสลดสังเวชมาก รู้สึกเหมือนตัวท่านออกจากร่าง แล้วมองไปที่ศพ

ในขณะนั้นหลวงปู่มั่นก็เดินมา คุณแม่ชีแก้วจึงก้มกราบและนิมนต์หลวงปู่มั่นของความเมตตาให้มาติกาบังสุกุลให้ จากนั้นหลวงปู่มั่นได้ใช้ไม้เท้าชี้ลงไปที่ร่างของคุณแม่ชีแล้ว ก็เกิดไฟลุกไหม้จนเป็นเถ้า คุณแม่ก็คิดว่า เราตายแล้วจะได้ไปเกิดที่ไหน พ่อแม่ก็ตายหมดแล้ว เช้านี้ ใครจะนึ่งข้าวใส่บาตรครูบาอาจารย์แทนเรา

เมื่อคิดอย่างนั้นจิตก็ถอนออกมา ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 04.00 น. ลืมตาขึ้นมาก็เห็นว่าตนเองกำลังนั่งอยู่ จับเนื้อตัวแขนขาตนเอง ก็รู้ว่าตนยังไม่ตาย คุณแม่ชีแก้วเข้าใจว่าตนเองนอนหลับฝันไป และที่ตื่นนั้นก็อาจเป็นเพราะแม่เลี้ยงมาตะโกนปลุกให้ลุกขึ้นมานึ่งข้าวจึงตื่นก็เป็นได้

รุ่งเช้าเมื่อหลวงปู่มั่นมาบิณฑบาต คุณแม่ชีแก้วก็มาใส่บาตร แล้วหลวงปู่มั่นได้บอกให้คุณแม่ชีแก้วตามไปที่วัดด้วย แต่คุณแม่ไม่ไป เพราะอายท่านที่ไม่ได้ภาวนาตามที่รับปากไว้ มัวแต่นอนหลับฝันเพลินไป หลวงปู่มั่นฉันข้าวเสร็จแล้ว เก็บข้าวก้นบาตรไว้ให้คุณแม่ แต่เรียกหาไม่พบ จึงให้คนไปตามมา เมื่อคุณแม่ชีแก้วมาถึง ก็ก้มกราบ แล้วก้มหน้าเพราะอายที่ไม่ได้ภาวนา หลวงปู่ก็ให้กินข้าวก้นบาตรต่อหน้าท่าน คุณแม่ชีแก้วก็ยิ่งอาย เพราะเข้าใจว่าถูกทำโทษ

หลวงปู่มั่นท่านสอบถามเรื่องภาวนา คุณแม่ก็กราบเรียนว่ามัวแต่นั่งหลับจนฝันไป เมื่อเล่าจบ หลวงปู่มั่นก็เรียกพระในวัดให้มาที่ศาลา แล้วให้คุณแม่ชีแก้วเล่าอีกรอบ คุณแม่ชีแก้วก็เข้าใจว่าหลวงปู่มั่น ประจานต่อหน้าพระมาก ๆ เพื่อให้เข็ดหลาบ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของคุณแม่ เพราะแท้ที่จริง เป็นการส่งเสริมการภาวนาของคุณแม่ ต่อแต่นั้นมาคุณแม่ชีแก้วก็ปฏิบัติภาวนามาเรื่อย ๆ

ต่อมาหลวงปู่มั่น มีความประสงค์จะพาคณะพระสงฆ์เดินทางไปธุดงค์ถิ่นอื่นต่อ ๆ ไป ก่อนจากไปหลวงปู่มั่นได้ปรารภกับคุณแม่ชีแก้วว่า หากคุณแม่เป็นผู้ชายก็จะให้บวชเณรและติดตามไปด้วย แต่นี่คุณแม่เป็นผู้หญิงจะลำบาก และสั่งว่าให้หยุดภาวนา ตั้งแต่นี้ต่อไปให้ใช้กรรมไปตามประสาโลก เมื่อได้พบครูบาอาจารย์แล้วจึงค่อยภาวนา

(หลวงตาพระมหาบัวได้สันนิษฐานว่า ที่หลวงปู่มั่นให้คุณแม่ชีแก้วหยุดภาวนานั้น อาจเป็นเพราะคุณแม่ชีแก้วมีจิตที่โลดโผน ถ้ามีผู้แนะนำที่ดี ก็จะไปได้ดี แต่ถ้าไม่มีผู้แนะนำอาจทำให้เสียคนได้)



<<< กลับสู่สารบัญ

ชีวิตทางโลกและทางธรรม


ในปี พ.ศ. 2461 เมื่อคุณแม่ชีแก้วมีอายุ 17 ปี ได้แต่งงานกับคนหมู่บ้านเดียวกัน ชื่อ นายบุญมา เสียงล้ำ อายุอ่อนกว่าคุณแม่ 1 ปี คุณแม่ชีแก้วอยู่กันกับสามีมาราว 10 ปี ก็ยังไม่มีบุตร คุณแม่เกรงจะไม่มีคนดูแลเมื่อแก่เฒ่า จึงไปขอเด็กหญิงแรกเกิดมาเลี้ยง ตั้งชื่อว่า “แก้ว” เมื่อเด็กหญิงแก้วอายุประมาณ 8-9 ขวบ คุณแม่ชีแก้วเห็นว่าลูกพอจะช่วยเหลือตัวเองได้ และหุงหาอาหารเป็น คุณแม่จึงได้ขออนุญาตสามีไปบวชชี สามีไม่ยินยอม

คุณแม่อ้อนวอนอยู่หลายครั้งหลายครา ตลอดเวลา 2 ปี ก็เป็นผล ก็เผอิญมีญาติผู้ใหญ่มาเยี่ยม จึงได้ช่วยพูดให้ คุณแม่จึงได้บวชสมประสงค์ แต่มีข้อแม่ว่าให้บวชได้เพียงพรรษาเดียว โดยมี หลวงพ่อกา (ปู่ของท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก วัดป่านาคำน้อย อ.นายูง จ.อุดรธานี) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชให้ท่านที่วัดหนองน่อง บ้านห้วยทรายในขณะนั้นคุณแม่ชีแก้วมีอายุประมาณ 36-37 ปี

คุณแม่ชีแก้วจะต้องสึกเมื่อออกพรรษา แต่หลังออกพรรษาแล้ว 1 วัน คุณแม่ก็ยังไม่สึก นุ่งผ้าดำทับผ้าขาวไว้ แล้วกลับบ้านทำความสะอาดบ้าน หุงหาอาหารไว้พร้อมสรรพ เมื่อได้จังหวะก็เตรียมลงจากเรือนจะกลับวัด สามีชวนกินอาหารคุณแม่ก็ปฏิเสธ สามีจะคว้าข้อมือ คุณแม่ก็วิ่งหนีลงเรือนไป สามีวิ่งตาม ก็พอดีพี่ชายของคุณแม่มาห้ามไว้ สามีคุณแม่โกรธมาก ประกาศตัดขาดแยกทางกัน คุณแม่ก็ออกจากบ้านตั้งแต่วันนั้นแล้วไปพักอยู่บ้านพี่ชายของท่าน

คุณแม่ชีแก้ว ได้ไปอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์คำพัน ที่วัดภูเก้าเป็นเวลา 8 ปี ได้พบเห็นเกิดความรู้ ความเห็นแปลก ๆ ต่าง ๆ นานา อย่างที่ไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อน เช่น เมื่อภาวนาแล้วเห็นวัวหรือควาย มาขอให้คุณแม่กินหนังนอก หนังใน (หัวใจ) เขาจะได้หมดกรรม และจะได้เกิดเป็นคน รุ่งเช้าคุณแม่ฝากคนไปซื้อหัวใจวัวควายที่ถูกฆ่าเมื่อเช้านี้ แต่ไม่ทัน คนฆ่าเอาไปกินเสียก่อน บางครั้งเมื่อนั่งภาวนาก็มีผีมารบกวน ต้องสวดมนต์แผ่เมตตาบทกรณียเมตตสูตร จึงได้หายไป

ความเป็นอยู่ที่ภูเก้านี้ ลำบากมากกันดาร น้ำ ต้องตักน้ำใส่กระบอกมาใช้ ในช่วงนี้พี่ชายของคุณแม่ก็ได้มาเยี่ยม เห็นว่าน้องสาวลำบากมาก ก็ชวนให้กลับบ้านห้วยทราย คุณแม่ชีแก้ว จึงตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้าจะได้อยู่ที่ภูเก้านี้ ขอให้พบแหล่งน้ำ เมื่อท่านนั่งสมาธิภาวนา จึงได้เห็นแอ่งน้ำถึง 11 แอ่ง อยู่บริเวณลานหิน ด้านล่างมีเถาวัลย์และหญ้าปกคลุมอยู่เป็นหย่อมๆ แอ่งน้ำเหล่านี้ เดิมเป็นที่อาบน้ำของพระปัจเจกพระพุทธเจ้ามาก่อน

คุณแม่จึงให้คณะแม่ชีและชาวบ้านช่วยกันรื้อหญ้า และเถาวัลย์ที่ปกคลุมอยู่ ออกไป แล้วขุดลอกดินขึ้นจากหลุมหิน บางหลุมลึกถึง 14-15 ศอก ความกว้างประมาณ 4-5 ศอก เมื่อขุดลอกแล้วมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค ทำให้ปัญหาเรื่องน้ำหมดไป แต่ก็มีปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น ปัญหาเรื่องส้วม และปัญหาเรื่องระเบิด ที่ภูเก้านี้ไม่ได้สร้างส้วม ต้องไปปลดทุกข์ที่หน้าผา ลิงก็พากันมาแอบดูหัวเราะกิ๊ก ๆ กั๊ก ๆ และในช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กลางคืนเครื่องบินมาทิ้งระเบิด พระเณรก็หนีลงภูไปอยู่ที่ราบ หลบลูกระเบิดกันหมด จนเงียบเสียงเครื่องบินจึงกลับมา แต่คุณแม่ท่านไม่หนี นั่งภาวนาอยู่เช่นนั้น

ในเวลาต่อมาพระอาจารย์คำพันลาสิกขา คุณแม่ชีแก้ว จึงต้องพาคณะแม่ชี ลงมาหาที่อยู่ใหม่ที่บ้านห้วยทราย ก็คือที่ดินตรงที่เป็นสำนักแม่ชีในปัจจุบันนี้ เดิมเป็นที่ดินของมหาภูบาล มงคลเกตุ ครึ่งหนึ่ง และของนายกะตุด ผิวขำอีกครึ่งหนึ่ง คุณแม่ชีแก้วได้ตั้งเป็นสำนักแม่ชี ในปี พ.ศ. 2488 ในระยะแรกนั้นลำบากมากอัตคัดขาดแคลนไปหมด ต้องใช้กระบอกไม้ไผ่บ้านลำใหญ่เป็นกระโถน ถังตักน้ำก็แตกรั่ว ไม่มีรองเท้าต้องตัดกาบหมากมาใช้ มีดพร้าจอบเสียมก็ไม่มี มีแต่มีดเล็กๆ ไว้ใช้ส่วนตัว

ความทุกข์กายนี้ก็พอทนได้ แต่ความทุกข์ใจ เพราะขาดครูบาอาจารย์นี้เป็นเรื่องทุกใหญ่ เพราะขาดผู้ใช้ทางนั่นเอง คุณแม่ชีแก้วจึงได้แยกตัวไปเสาะหาครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นหลายองค์ ได้แก่ หลงปู่กงมา จิรปุญโญ หลวงปู่ฝั่น อาจาโร อยู่หลายปี แล้วจึงกลับมาเป็นหลักให้แก่คณะแม่ชีรุ่นหลัง

สมัยที่คุณแม่ไปปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่กงมานั้น ปฏิบัติอย่างไร ภาวนาอย่างไร จิตก็ไม่ยอมลง เพราะถือความรู้ตัวเองมากจนเกินไป “นิพพานก็รู้แล้วทางไปก็รู้แล้ว ประตูนิพพานก็รู้แล้ว ญาท่านมั่นท่านก็สอนไว้ทุกอย่าง” ที่นี้พอภาวนา ใจก็ไม่ยอมลงให้หลวงปู่กงมา ทำอย่างไรจิตใจก็ไม่อ่อนไม่ลง จิตไม่รวมแข็งกระด้างอยู่อย่างนั้น ก็ได้แต่นึกด่าตัวเองอยู่ในจ่า “อีทิฐิ อีมานะ อีหยาบอีดื้อ อีหม้อนรกอเวจี”

นั่งภาวนาก็ด่า เดินจงกรมก็ด่า ปวดท้องบิดก็ปวดฝนก็ตกกระหน่ำ เดินจงกรมตากฝนตลอดคืน จนค่อนสว่าง จึงทบทวนตรวจดูตนเองว่าเป็นอย่างไร จึงแข็งกระด้างหนักหนาจิตใจดวงนี้ มาคิดได้ว่า กิจของตนก็ประกอบอยู่แล้ว ข้าวปลาอาหารก็อาศัยอยู่กับครูบาอาจารย์ มันดื้อ มันอวด มันประจานตัวเอง ไม่ยอมลงแก่ใคร ๆ อยู่นี่ เพราะมาถือว่าตนรู้ถือผู้รู้นี้หรือ

ทีนี้ก็เลยตั้งจิตอธิษฐานขออโหสิกรรมพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ไหว้พระ สวดมนต์ เจริญเมตตา จิตจึงลั่นครึบ ตกวูบลงภายใน สงบนิ่งอยู่สักพัก แสงสว่างภายในจากจุดน้อย ๆ ก็สว่างมากขึ้น กว้างขึ้น ขยายกว้างจนสว่างหมด แต่ก่อนมันไม่สว่าง ไม่ชัดเจนหรุบหรู่อยู่ พอจิตยอมแล้วก็สว่างแจ้งใส ใจก็ชัดเจน พิจารณาอะไรมันก็ควร จิตอ่อน จิตเบา จิตควรแก่การงาน มีธรรมะอบรมอยู่ในใจ พิจารณาธรรมะอันใด ก็ชัดเจนหมด

เมื่อออกจากทางจงกรมแล้ว เปลี่ยนเสื้อผ้า ทำกิจการงานอะไรก็สบายรู้ตลอดไป จนหลวงปู่กงมากลับจากบิณฑบาต กิริยาของท่านเปลี่ยนไป ดูยิ้มแย้มแจ่มใส จัดแจงแบ่งปันอาหารบิณฑบาตด้วยองค์ท่านเอง แบ่งให้พระเณรแบ่งให้แม่ชี กิริยาใด ๆ ก็ดูนุ่มนวลอ่อนละมุนละไม ซึ่งผิดกับเมื่อครั้งก่อน ๆ กิริยาของท่านบูดบึ้ง มึนตึง ไม่ควรว่าก็ว่า ไม่ควรด่าก็ด่า คำด่าก็เป็นคำเดียวกันกับที่คุณแม่นึกด่าตัวเองอยู่ภายในใจนั่นเอง และมักจะยกย่องคนนั้นคนนี้ แม่ชีรูปนั้นรูปนี้ว่าดี อันนั้นก็ดี อันนี้ก็ถูก

ภายหลังฉันจังหันเสร็จแล้ว หลวงปู่ก็ประกาศดัง ๆ คับศาลาว่า “แม่แก้วเอ๋ย..ถูกทางของเธอแล้ว ตั้งใจไปเถิด” พอพูดจบก็ลงจากศาลาไป ถึงเวลาบ่าย หลวงปู่ออกจากที่พักผ่อนแล้ว คุณแม่ก็จัดแต่งขัน 5 ขัน 8 ไปขอขมาคารวะ แต่ท่านให้คารวะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก่อน จากนั้นท่านก็รับการขอขมาคารวะจากคุณแม่เป็นลำดับสุดท้าย และท่านได้เล่าความฝันอันเป็นอุบายธรรมภาวนาให้คุณแม่ฟังว่า “เมื่อคืนนี้อาตมาฝันว่า ควายอีตู้ มาชนหมู ของอาตมา”

สำนักชีบ้านห้วยทราย นับว่าเป็นสำนักชีที่เป็นเอกเทศ ไม่ได้พึ่งพาอาศัยพระภิกษุสงฆ์* แม่ชีทุกคนต่างก็ตั้งใจภาวนาปฏิบัติธรรมด้วยความสงบสุข คุณแม่ชีแก้ว ท่านได้เดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่นเป็นครั้งคราว การเดินทางไปนั้น มีคณะแม่ชีติดตาม 3-4 องค์ แต่ละครั้งต้องเดินเท้าขึ้นภูพานไปเป็นเวลา 11-12 วัน จึงจะถึง วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร ทุกครั้งที่ไปเยี่ยม หลวงปู่มั่นก็จะให้คุณแม่ชีแก้วพักอยู่นาน ๆ และท่านได้เมตตาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติภาวนาแก่คุณแม่ครั้งละนาน ๆ ซึ่งเป็นประดยชน์ต่อการปฏิบัติของคุณแม่ในระยะต่อมาเป็นอย่างมาก

ในปี พ.ศ. 2492 หลวงปู่มั่นท่านเริ่มมีอาการอาพาธ และเมื่ออาการของท่านทรุดหนักเป็นลำดับ หลวงปู่มั่นจึงให้นำท่านไปพักที่ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ด้วยเมตตาธรรมของท่านเกรงว่าเมื่อท่านมรณภาพลงแล้ว จะมีเหตุขัดข้องหลายประการ ผู้คนประชาชนก็จะมามาก หนทางไปมาไม่สะดวก ตลาดก็ไม่มี เกรงว่าจะเป็นเหตุให้สัตว์ตายในงานนี้จำนวนมาก เขาจะฆ่าสัตว์ทำอาหาร สำหรับเลี้ยงแขกที่มาในงาน ถ้ามรณรภาพที่วัดป่าสุทธาวาส ก็มีตลาดเขาทำกันอยู่แล้ว

ดังนั้นคณะศิษย์ มีหลวงปู่เทศก์ เทศรังสี เป็นผู้นำ ได้นำหลวงปู่มั่นไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร เมื่อหลวงปู่มั่น ละสังขาร คุณแม่ชีแก้วพร้อมด้วยคณะแม่ชีและชาวบ้านห้วยทรายได้เดินทางไปร่วมงานถวายเพลิงหลวงปู่มั่นที่วัดป่าสุทธาวาสด้วย



<<< กลับสู่สารบัญ

พบหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน


ในปี พ.ศ. 2493 หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เดินทางธุดงค์นำพระสงฆ์สามเณร ได้แก่ หลวงปู่สิงห์ทอง หลวงปู่เพียร หลวงบุญเพ็ง หลวงปู่ลี สามเณรภูบาลฯ ไปจำพรรษาที่บ้านห้วยทราย ก่อนที่หลวงตาพระมหาบัว จะไปอยู่ที่วัดบ้านห้วยทรายนี้ ขณะที่คุณแม่ชีแก้วนั่งภาวนาได้เกิดนิมิตเห็นว่ามีเดือนตกลงมาที่วัดป่าบ้านห้วยทราย จากนั้นดวงดาวที่ล้อมรอบก็ตกลงมาด้วย

คุณแม่ชีแก้วก็พยากรณ์ว่า จะมีครูบาอาจารย์องค์สำคัญและพระสงฆ์ไม่ต่ำกว่า 10 รูปมาที่บ้านห้วยทราย ต่อมาไม่นานหลวงตาพระมหาบัวก็ได้เดินทางมาที่บ้านห้วยทรายจริง ๆ ดังนิมิตของท่าน ทำให้ท่านเกิดความปีติยินดีมาก เพราะจะได้พบพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนท่าน ดังที่หลวงปู่มั่นได้บอกไว้ ในเวลานั้นนับได้ว่าเป็นมงคลกาลอีกสมัยหนึ่ง ของชาวบ้านห้วยทราย

การจำพรรษาที่บ้านห้วยทรายนี้ ท่านหลวงตาพระมหาบัวและสามเณรภูบาล ได้ไปจำพรรษาอยู่ในถ้ำบนภูเขา ห่างจากบ้านห้วยทรายไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร ส่วนพระภิกษุท่านอื่น ๆ ก็จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวิเวกวัฒนารามบ้านห้วยทรายนั่นเอง

เมื่อคุณแม่ชีแก้วได้รับคำเตือนจากหลวงปู่มั่นเกี่ยวกับการภาวนาแล้ว ท่านก็ภาวนาด้วยความระมัดระวัง แต่ก็มีลักษณะเป็นนิมิตออกรู้ ออกเห็นภายนอก ลักษณะส่งจิตออกนอก จนกระทั่งคุณแม่ได้พบหลวงตาพระมหาบัว ซึ่งก็เป็นไปดังคำพยากรณ์ของหลวงปู่มั่น และคุณแม่ก็มั่นใจว่าได้พบครูบาอาจารย์องค์สำคัญแล้ว ท่านจึงได้เร่งทำความเพียรขึ้นมาอีกครั้ง

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงคุณแม่ชีแก้ว ในหนังสือหยดน้ำบนใบบัว ว่า “พอวันพระหนึ่ง ๆ พวกเขาจะไป ไปพร้อมกันไปละ ไปทั้งวัดเขาเลยแหละ พวกแม่ชีขาวหลั่งไหลกันไป ขึ้นบนภูเขาหาเรา ตอนบ่าย 4 โมงเย็นเขาก็ไป ตอนจวน 6 โมงเย็นเขาก็กลับลงมา พอไปถึงแกก็เล่าให้ฟัง ขึ้นต้นก็น่าฟังเลยนะ พอแกขึ้นต้นก็น่าฟังทันที”
“นี่ก็ไม่ได้ภาวนา เพิ่งเริ่มมาภาวนานี่แหละ** ท่านมั่นไม่ให้ภาวนา ” แกว่าอย่างนั้น “ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา”

เราก็สะดุดใจกิ๊ก มันต้องมีอันหนึ่งแน่นอน ลงหลวงปู่มั่นห้ามไม่ให้ภาวนานี้ต้องมีอันหนึ่งแน่นอน จากนั้นแกก็เล่าภาวนาให้ฟังนี้ โถ ไม่ใช่เล่น ๆ พิสดารเกินคาดเกินหมาย เราก็จับได้เลยทันที “อ๋ออันนี้เองที่ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา” พอไปอยู่กับเรา...ไปหาเราก็ภาวนาพูดตั้งแต่เรื่องความรู้ความเห็น ไปโปรดเปรตโปรดผีอะไรต่ออะไร นรกสวรรค์ แกไปหมด รู้หมด แกรู้

ทีนี้เวลาภาวนา มันก็เพลินแต่ชมสิ่งเหล่านี้ ครั้นไปหาเรานานเข้า ๆ เราก็ค่อยห้ามเข้าหักเข้ามาเป็นลำดับลำดา ห้ามไม่ให้ออก ต่อไปห้ามไม่ให้ออกเด็ดขาด นี่แหละเอากันตอนนี้ ทีแรกให้ออกได้ ให้ออกก็ได้ไม่ออกก็ได้ ได้ไหมเอาไปภาวนาดู?” ครั้นต่อมา “ไม่ให้ออก” ต่อมาตัดเลยเด็ดขาด “ห้ามไม่ให้ออกเป็นอันขาด” นั่นเอาขนาดนั้นนะทีนี้ ให้แกรู้ภายใน อันนั้นเป็นรู้ภายนอก ไม่ใช่รู้เรื่องแก้กิเลส จะให้แกเข้ามารู้ภายในเพื่อจะแก้กิเลส แกไม่ยอมเข้า เถียงกัน แกก็ว่าแกรู้ แกก็เถียงกันกับเรานี่แหละ ตอนมันสำคัญนะ

พอมาเถียงกับอาจารย์อาจารย์ก็ไล่ลงภูเขา ร้องไห้ลงภูเขาเลย ”ไป...จะไปที่ไหน...ไป สถานที่นี่ไม่มีบัณฑิตนักปราชญ์ มีแต่คนพาลนะ ใครเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ให้ไป ลงไป...” ไล่ลงเดี๋ยวนั้น ร้องไห้ลงไปเลย เราก็เฉย น้ำตานี้ ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร เราเอาตรงนั้น ไล่ไป “อย่าขึ้นมานะ แต่นี้ต่อห้าม” ตัดเด็ดขาดกันเลย ไปได้ 4-5 วัน โผล่ขึ้นมาอีก
“...ขึ้นมาทำอะไร !!!...”
เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน” แกว่า
มันอะไรกัน นักปราชญ์ใหญ่

เราว่าอย่างนั้นนะ ว่านักปราชญ์ใหญ่แกว่า “ เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อนๆ” แกจึงเล่าให้ฟังคือไปมันหมดหวัง แกก็หวังจะพึ่ง ก็พูดเปิดอกเสียเลย แกหวังว่า “จะพึ้งอาจารย์องค์นี้ ชีวิตจิตใจมอบไว้หมดแล้วไม่มีอะไร แล้วก็ถูกท่านไล่ลงจากภูเขา เราจะพึ่งที่ไหน? แล้วเหตุที่ท่านไล่ ท่านก็มีเหตุผลของท่านว่า เราไม่ฟังคำท่าน ท่านไล่นี่ ถ้าหากว่า เราจะถือว่าท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ แล้วทำไมจึงไม่ฟังคำของท่าน เพราะเราอวดดี แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร ทีนี้ก็เลยเอาคำของท่านมาสอนมาปฏิบัติมันจะเป็นยังไง? เอาว่าซิ มันจะจมก็จมไปซิ”

คราวนี้แกเอาคำของเราไปสอนบังคับไม่ให้ออกอย่างว่านั่นแหละ แต่ก่อนมีแต่ออก ๆ ห้ามขนาดถึงว่าไล่ลงภูเขา แกไม่ยอมเข้า มีแต่ออกรู้อย่างเดียวพอไปหมดท่าหมดทางหมดทีพึ่งที่เกาะแล้ว ก็มาเห็นโทษตัวเอง

“ถ้าว่าเราถือท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ทำไมไม่ฟังคำท่าน ฟังคำท่านซิ ทำลงไปแล้วเป็นยังไงให้รู้ซิ”

เลยทำตามนั้น พอทำตามนั้นมันก็เปิดโล่งภายในซิ ทีนี้จ้าขึ้นเลยเชียวนี่ก็สรุปความเอาเลย นี่แลหะที่กลับขึ้นมา กลับขึ้นมาเพราะเหตุนี้ ทีนี้ได้รู้อย่างนั้น ๆ ละทีนี้ รู้ตามที่เราสอนนะ

“เออ เอาละ ทีนี้ขยำลงไปนะตรงนี้ ทีนี้อย่าออก อย่ายุ่ง ยุ่งมานานแล้วไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร เหมือนเราดูดินฟ้าอากาศ ดูสิ่งเหล่านั้นน่ะ ดูสิ่งเหลานั้นน่ะ ดูเปรตดูผีดูเทวบุตรเทวดา มันก็เหมือนตาเนื้อเราดู สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร ถอนกิเลสตัวเดียวก็ไม่ได้ นี่ตรงนี้ ตรงถอนกิเลส” เราก็ว่าอย่างนี้ “เอ้า ดูตรงนี้นะ” แกก็ขยำใหญ่เลย เอาใหญ่เลย ลงใจไม่นานนะก็ผ่านไป แกบอกแกผ่านมานานนะ...พ.ศ.2494 เราไปจำพรรษาที่ห้วยทราย ในราวสัก 2495 ละมัง แกก็ผ่าน...” (บรรลุธรรม)

นอกจากนี้ หลวงตายังได้เล่าถึงคุณแม่ชีแก้วว่ามีความรู้พิสดาร รู้เห็นแม่นยำมาก เช่น เมื่อหลวงตาออกจากวัด คุณแม่ชีแก้วก็จะทราบว่าหลวงตาไปแล้วเพราะจะรู้สึกเย็นๆ ทั้ง ๆ ที่หลวงตาไม่ได้บอกใครล่วงหน้า หรือเมื่อหลวงตากลับมาที่วัดคุณแม่ชีแก้วก็จะทราบล่วงหน้าเช่นกันด้วยรู้สึกถึงกระแสความอบอุ่นคุณแม่ชีแก้วก็จะจัดเตรียมหุงข้าว เตรียมหมาก ให้แม่ชีนำมาถวาย ไม่มีพลาดสักครั้ง จึงทำให้หลวงตาแปลกใจมาก

และอีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือเมื่อ หลวงปู่มั่น มรณภาพ คุณแม่ชีแก้วก็ทราบก่อนที่จะมีการประกาศข่าวมรณภาพของหลวงปู่มั่นทางวิทยุ เพราะเมื่อคุณแม่ชีแก้วเข้าที่ภาวนา หลวงปู่มั่นก็มาเร่งให้คุณแม่ชีแก้วไปวัดป่าบ้านหนองผือ เพราะท่านอาพาธหนักและจวนจะมรณภาพแล้ว จนถึงวันที่หลวงปู่มั่นมรณภาพ คุณแม่ชีแก้วก็ทราบในนิมิตภาวนาของท่าน

ตลอดเวลา 4 ปีที่หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน จำพรรษาอยู่ที่บ้านห้วยทรายนั้น ชาวบ้านห้วยทรายให้ความเคารพนักและเทิดทูนหลวงตาเป็นที่สุดอย่างหาที่เปรียบมิได้ และเมื่อหลวงตาไปสร้างวัดป่าบ้านตาด อยู่ที่บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ชาวบ้านห้วยทรายก็เดินทางไปกราบนมัสการหลวงตาอยู่เสมอไม่เคยขาด



<<< กลับสู่สารบัญ

บรรลุธรรม


ในวันศุกร์ แรม 5 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันที่ 1 พ.ย. 2495 ขณะนั้นคุณแม่ชีแก้วมีอายุ 51 ปี เป็นเวลาที่คุณแม่ท่านเดินจงกรมตลอดคืนจนรู้สึกเหนื่อยจึงได้นั่งพักที่แคร่ใต้ต้นพะยอมแล้วเอนตัวลงนอนคิดว่าจะพักสักครู่แล้วจงจะไปนึ่งข้าว ก็รู้สึกว่ามีเสียงครืนเหมือนฟ้าผ่าแคร่ที่นอนอยู่หักลง และมีเสียงผุดขึ้นมาเป็นคำกลอน พอจับใจความได้ว่า “สิ้นชาติแล้ว” คุณแม่น้ำตาไหลพรากด้วยความตื้นตันใจ

ในเรื่องนี้หลวงตาได้เคยกล่าวว่า “ผู้เฒ่าแม่แก้วอัฐิเป็นพระธาตุแล้ว ผู้เฒ่านี้ถ้าพูดตามหลักความจริง ก็ผ่าน (สิ้นกิเลส) มาหลายปีแล้วนี่นะ ถ้าจำไม่ผิดเราว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2495 โน่น นานเท่าไร”




ติดตามหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน


ในปี พ.ศ. 2498 หลวงตาพระมหาบัว ได้ปรารภถึงโยมมารดาของท่าน หลวงตามีความประสงค์จะให้โยมมารดาของท่านบวช ก็ขอให้คุณแม่ชีแก้วเดินทางไปอุดรธานีพร้อมกับคณะพระสงฆ์ 4-5 รูป เช่น หลวงปู่สิงห์ทอง หลวงปู่เพียร หลวงปู่บุญเพ็ง หลวงปู่ลี เพราะเห็นว่า คุณแม่ชีแก้วเป็นผู้ที่เหมาะสมจะอบรมถ่ายทอดความรู้ธรรมะให้แก่มารดาของท่านได้ดี

อีกทั้งเพราะเป็นหญิงด้วยกัน คุณแม่พร้อมคณะแม่ชี ได้แก่ แม่ชีน้อมและแม่ชีบุญ จึงได้เดินทางไปจังหวัดอุดรธานีตามความประสงค์ของท่านหลวงตาพระมหาบัว คุณแม่ได้แนะนำภาคปฏิบัติภาวนา จนโยมมารดาของหลวงตามีความเลื่อมใสศรัทธาและได้ออกบวชตาม

หลวงตาพระมหาบัวได้ให้โยมมารดาของท่านบวชเป็นชีแล้ว ก็ได้พาคณะสงฆ์และแม่ชีไปจำพรรษาที่วัดสถานีทดลองเกษตร จ.จันทบุรี เป็นเวลา 1 พรรษา ซึ่งที่ดินที่สร้างวัดนี้ เป็นของพี่สาวของหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท ถวายให้

ต่อมา โยมมารดาของท่านหลวงตาพระมหาบัวอยากกลับภูมิลำเนาเดิม เพราะความเป็นอยู่ที่จันทบุรีนั้นลำบากมาก ด้วยท่านไม่คุ้นเคยกับอาหารการกิน และท่านก็ชรามากแล้ว เห็นสมควรกลับภูมิลำเนาเดิม เพื่อให้ลูกหลานได้มีโอกาสดูแลพยาบาลในช่วงปัจฉิมวัยของท่าน หลวงตาพระมหาบัวจึงได้พาคณะกลับมาสร้างวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ในปี พ.ศ. 2499

คุณแม่ชีแก้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดกับโยมมารดาของท่านหลวงตาพระมหาบัวจนถึงปี พ.ศ. 2510 คุณแม่ชีแก้วจึงได้กราบลาท่านหลวงตาพระมหาบัวกลับภูมิลำเนาบ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร และไม่บำเพ็ญเพียรภาวนาอบรมสั่งสอนชาวบ้านตลอดมา มีสานุศิษย์ทั้งใกล้ และไกล มากราบคุณแม่ชีแก้วด้วยความเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก



<<< กลับสู่สารบัญ

การปฏิบัติและเผยแพร่ธรรม


หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้กล่าวถึงคุณแม่ชีแก้วว่า “ผู้เฒ่าแม่แก้วไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ การปฏิบัติธรรมอย่างนี้นับเป็นตัวอย่างของชาวพุทธ ที่ชาวพุทธทั้งหลายจะได้สำนึกในความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มั่งคง และเป็นเอก นับว่าผู้เฒ่าผู้นี้ประสบสิ่งที่ไม่รู้จักเสื่อมคลาย เป็นผู้ปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ถึงที่สุดแล้ว”

คุณแม่ชีแก้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรมรักษาศีลอุโบสถอย่างเคร่งครัด มีความเป็นอยู่เรียบง่าย สงบ บริสุทธิ์ กิจวัตรของท่านนั้น เป็นไปเพื่อธรรมโดยแท้ เริ่มจากตื่นนอนในช่วงเวลาประมาณ 03.00 นาฬิกา หลังจากนั้นจะทำวัตรเช้า และภาวนาจนถึงเวลาประมาณ 05.00 นาฬิกา ก็จะเข้าครัวนึ่งข้าว ทำกับข้าวจัดให้แม่ชีที่มีอายุน้อยที่สุด นำไปถวายพระที่วัดห้วยทรายซึ่งมีอยู่ราว 3-4 รูป

วัดห้วยทรายอยู่ห่างจากสำนักชีของคุณแม่ประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งมีหมู่บ้านห้วยทรายคั่นอยู่ระหว่างกลาง แล้วรับอาหารที่เหลือจากพระนำมารับประทาน และแบ่งให้ชาวบ้านไปรับประทานด้วย จากนั้นก็เริ่มเดินจงกรม เมื่อเหนื่อยจึงเปลี่ยนเป็นนั่งภาวนาแล้วท่องบทสวดมนต์ (ได้แก่ บททำวัตรเช้า-เย็น บทสวดเจ็ดตำนาน) ตอนบ่ายก็เริ่มเดินจงกรมอีกรอบ จนถึงเวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา จึงหยุด เพื่อปัดกวาดบริเวณวัดแล้วตักน้ำ หาบน้ำจากบ่อใส่ตุ่มเพื่อเตรียมไว้ใช้ จากนั้นได้เดินป่า หาเห็ด หาหน่อไม้ ตลอดจนพืชผักต่าง ๆ สำหรับประกอบอาหารตอนเย็นขึ้นศาลาไหว้พระสวดมนต์

การสวดมนต์นี้ เมื่อคุณแม่ชีแก้วท่านชรามากต่างก็แยกกันสวดมนต์ ยกเว้นวันพระให้ลงทำวัตรที่ศาลา ทุกคนร่วมกับหญิงชาวบ้านที่มารักษาศีลอุโบสถ จุดเทียนเดินจงกรมจนถึงเวลาประมาณ 20.00 หรือ 21.00 นาฬิกา แล้วนั่งภายาถึงเวลาประมาณ 22.00 น. จึงนอนพักผ่อนคุณแม่ชีแก้วและคณะแม่ชีบ้านห้วยทรายปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตร

นอกจากนี้ สำนักชีบ้านห้วยทรายยังมีระเบียบข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด เพื่อให้แม่ชีทุกคนเป็นที่เคร่งครัดในศีลอันบริสุทธิ์งดงามควรแก่การกราบไหว้บูชาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา

คุณแม่ชีแก้ว มีอุปนิสัยเป็นคนพูดน้อย แต่คำพูดของท่านจะให้ข้อคิดหรือคติธรรมเสมอ ท่านมีคามอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นปกติ เมื่อมีญาติโยมมากราบท่านและพูดว่า “มากราบไหว้ด้วยความนอบน้อมต่ออุบาสิก แม่ชีแม่ขาวผู้สุปฏิปันโน ปฏิบัติดี ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ปฏิบัติตรง” คุณแม่ก็จะชิงพูดตัดบทว่า “การมาของโยมเป็นบุญเป็นกุศลพอควรอยู่แล้ว คุณแม่ก็ขอให้เป็นบุญเป็นกุศลด้วยเถิด แต่อย่าได้เอาการเป็นอยู่ของแม่ชีเฒ่า ๆ อยู่บ้านนอกคอกนา ไปเทียบเท่ากับพระสังฆคุณผู้ประเสริฐนั้นเลย”

การสอนศิษย์ของคุณแม่ชีแก้วท่าน จะเน้นเรื่องศีล ความมีระเบียบวินัยความสามัคคี ความสำรวมระวัง เมตตาจิตและความเคารพซึ่งกันและกัน ตลอดจนให้มักน้อย สันโดษ ให้สะสม ถ้ามีใครทำผิด ท่านก็เตือน บางครั้งก็ทำเป็นกิริยาเหมือนโกรธ พอผู้ผิดยอมลงให้ ทีนี้ท่านก็เมตตาชี้โทษถูกผิด หรือเพื่อให้สำนึกตัวได้ แต่ท่านจะพยายามไม่ให้เสียน้ำใจทั้งสองฝ่าย

คุณแม่ชีแก้วจะย้ำสอนเสมอว่า “พวกเราเป็นแม่ขาวนางชีมีครูบาอาจารย์ แม้อยู่ใกล้ท่านก็เหมือนอยู่ไกล เพราะโอกาสใกล้ชิดมีน้อย เราไปวัดตอนเช้าก็ได้เห็นท่าน ไปวันพระก็ได้เห็นท่าน ได้ฟังธรรมจากท่าน เป็นอย่างนี้อย่าได้น้อยใจ เพราะต่างคนต่างก็รักษามิให้เป็นช้าศึกต่อกันไป เราก็รักษาตัวเองครูบาอาจารย์ ท่านก็รักษาจิตใจของท่าน ท่านรักเราด้วยธรรม เมตตาเราด้วยธรรมนะ”



<<< กลับสู่สารบัญ

อาการป่วย


ในปี พ.ศ. 2520 ขณะนั้นคุณแม่ชีแก้วมีอายุ 76 ปี ท่านได้ล้มป่วยด้วยวัณโรค เบาหวาน และมะเร็งที่ปอด มีอาการรุนแรงมากถึงขั้นไอเป็นเลือด และอาเจียนเป็นเลือดครั้งละครึ่งกระโถน ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพร้อมมิตรกรุงเทพฯ มีคุณหมอเจริญและคุณหมอบุญเลี่ยม วัฒนสุชาติ เป็นผู้นำไปรักษาเป็นเวลาประมาณ 10 กว่าวัน ในระหว่างนั้นมีพระอาจารย์หลายท่านมาเยี่ยม เช่น พระอาจารย์สิงห์ทอง พระอาจารย์สุวัจน์ พระอาจารย์ทุย เป็นต้น เมื่อคุณแม่มีอาการทุเลาลงก็ได้กลับไปรักษาต่อที่บ้านห้วยทราย โดยมีคุณหมอเพ็ญศรี มกรานนท์ เป็นผู้ดูแล

คุณหมอเพ็ญศรี มกรานนท์ เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพฯ และเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงตาพระมหาบัวได้ทราบเรื่องราวของคุณแม่ชีแก้ว ทางด้านปฏิปทาและจิตภาวนาของคุณแม่จากหลวงตาพระมหาบัว เคยได้กราบเคารพ และมีความเลื่อมใสศรัทธาท่านมาก เมื่อคุณหมอเพ็ญศรีได้ทราบข่าวอาการป่วยของคุณแม่ชีแก้ว

คุณหมอรู้สึกเป็นห่วงท่านมาก จึงได้ตัดสินใจมาอยู่ดูแลรักษาคุณแม่ เพราะทราบว่าที่ อ.คำชะอี นั้น ไม่มีโรงพยาบาล มีเพียงสถานีอนามัยเล็ก ๆ และคุณหมอก็เป็นนักปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้อยู่ใกล้ชิดคุณแม่และรับธรรมจากท่านได้เต็มที่ ในขณะนั้นคุณหมอเพ็ญศรีได้ลาออกจากราชการอยู่ก่อนแล้ว จึงมีความสะดวกที่จะดูแลคุณแม่ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถในทุก ๆ ด้าน และด้วยคามเคารพเลื่อมใสศรัทธาและเสียสละ คุณหมอเพ็ญศรีได้อยู่เฝ้าปรนนิบัติดูแลรักษาคุณแม่ชีแก้วจวบจนวาระสุดท้ายของคุณแม่เป็นเวลาถึง 14 ปี




มรณกรรม


ใน ปี พ.ศ. 2534 ขณะนั้นคุณแม่ชีแก้วมีอายุได้ 90 ปี ด้วยธาตุขันธ์ในวัยชราและอาการป่วยที่รุมเร้า ท่านป่วยหนักในช่วง 3 ปีสุดท้าย และในที่สุดคุณแม่ชีแก้วก็จากไปด้วยอาการสงบ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2534 เวลา 09.25 น. ที่สำนักชีบ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร สิริรวมอายุได้ 90 ปี 54 ปีในเพศแม่ชี นับเป็นความสูญเสียบุคคลสำคัญของผู้ปฏิบัติธรรมในฝ่ายสาวิกาอย่างน่าเยดายยิ่ง

ตลอดเวลา 54 ปี ในเพศแม่ชีที่คุณแม่ชีแก้วบวชชีนั้น ท่านได้บำเพ็ญเพียรภาวนา ปฏิบัติธรรมโดยสม่ำเสมอ มิเคยประพฤติผิดในคลองชีเพศเลยด้วยอานิสงส์แห่งกาบำเพ็ญเพียรภาวนา การปฏิบัติอันแน่วแน่ของคุณแม่นี้ ทำให้คุณแม่ได้รับความเคารพ เลื่อมใสศรัทธา สาธุชนทั่วไปเป็นจำนวนมากได้มากเคารพ เลื่อมใสศรัทธา สาธุชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก ได้มาเคารพกราบไหว้ไม่ขาดสาย เมื่อคุณแม่ชีแก้วจากเราไปแล้วก็ยังคงเหลือแต่คุณงามความดีของท่าน และแนวปฏิบัติที่ท่านเพียรพยายามรักษาไว้ คงอยู่เป็นอนุสรณ์แก่พุทธศาสนิกชนสืบไป



<<< กลับสู่สารบัญ

ประมวลคำสอนของ คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ


คำพูดคำสอนของคุณแม่โดยมากแล้วท่านจะพูดเป็นภาษาภูไท ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของภาษา อีกทั้งท่านมักพูดเป็นคำคล้องจอง สุภาษิต คำผญาจึงยากแก่การฟังและแปลความ แต่ด้วยความพยายามของคณะศิษยานุศิษย์ผู้เคยอยู่รับใช้ใกล้ชิด ก็พอประมวลคำสอนของคุณแม่ได้ดังนี้

- โลกอันนี้เป็นเอกนาโถ หาทุกข์ก็ได้ หาสุขก็ได้ หาประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ หานรก หาสวรรค์ หามรรค หาผล หานิพพาน หาอะไรก็ได้หมดโลกนี้โลกหาได้

- เกิดเป็นคนต้องมีความอดความทน มีความอุตสาหะพากเพียร ให้เล่าเรียนตายเกิด ตายเกิดอยู่นี้แหละ

- ผู้ได้เกิดได้ตายทุกคน แสนทุกข์แสนยาก แสนลำบากหัวใจจิตใจนี้

- ความเกิดความตายมันมีอยู่ทุกหมู่สัตว์ ไม่ว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาเจ้าข้อยข้าทั้งหลายก็มีตายกับเกิด เด็กน้อยผู้ใหญ่ตายไปเสมอกัน

- ให้เชื่ออยู่ในความตาย จะตายเช้าตายเย็นเรามิรู้จัก ความตายได้เวลาของเรา เขาก็มาเอาไป น้อยใหญ่เสมอหน้า

- ให้พากันตั้งใจภาวนา ทำสมาธิอย่าเกียจคร้าน เอาขันธ์ห้าเป็นขันบูชาเอาหัวใจเป็นเทียนได้ส่องทาง ให้พบเห็นทางพ้นทุกข์ เกิดเป็นคนให้ตั้งอยู่ในศิลอย่าได้หมิ่นต่อธรรม

- ทุกข์ยากแท้ ทุกข์ตั้งเกิด ทุกข์จนสุดท้ายตายแล้วก็ยังทุกข์อยู่

- อย่าได้กินแล้วนอนคือหมูคือหมาเด้อลูกแม่เด้อ ลูกเอ๋ยให้ฟังความแม่ให้แน่ความหน่าย ให้อายความเกิด ให้เปิดความสุข ให้เปิดความสุข อย่าเมานั่งจุกนั่งเจ่า อย่าเฝ้าแต่กองขี้เถ้าของตน

- อย่าให้เสียทีบวชเป็นชีแล้วนี่ ให้เป็นชีแท้ ๆ อย่าเอาแห้ (หินกรวด) มาปนอย่าได้เป็นแม่ขาวแม่ชิว (เหม็นเขียว) แม่หลิ่วตาเข้าบ้าน อย่าได้เป็น แม่ขี้คร้าน ขี้ความ ขี้ขอ แม่มิพอความอยาก แม่มิยากความตาย แม่มิอาจความเว้า แม่มิเล่าความธรรม ลูกแม่ทุกคนอย่าได้เป็นอย่างนี้

- ลูกเอ๋ยหากพอใจมาเป็นลูกแม่ แม่เว้าเห้อฟัง (ให้เชื่อฟัง) แม่จ่มเห้อ (บ่นให้) ว่าแม่สอน แม่คอนเห้อ (ให้) ลูกแม่หาบ แม่ก้มขาบ (กราบ) เห้อลูกแม่ตามเด้อลูกเด้อ

- เกิดแล้วตายเล่าเกิดเก่าตายตาม เชื้อนามหน่อพระ (พุทธ) เจ้า อย่าเน่าเล่นเหม็นโห (หึ่ง) ตายให้แท้ ตายให้จริง ตายทิ้งวางขันธ์ ตายเห้อ (ให้) ทันธรรมตายนำ (ตาม) พระ (พุทธ) เจ้า ตายแล้วเข้าพระนิพพาน

- รีบตั้งใจภาวนาได๊ (นะ) ครั้นมิตั้งใจภาวนา บาด (เวลา) แม่ตายจะบ่ไห้ (ร้องไห้) หว้าม ๆ (เสียใจ) อยู่ จะได้แต่ขายเพิ่นอายโต๋ (ตัวเอง)

- อย่าอ้างกาลอ้างเวลา อย่าไปอ้างว่ายามมื้อเช้าน้ำหลาย สายมาอ้างว่าแดดฮ้อน (ร้อน) ดึกออนซอน (ยามดึกสงัด) อ้างว่านอนบ่พอตา ซ้ำแจ้ง (สว่าง) มาคิดหาแต่ทางไป

- อย่าไปฟังแต่ความของกิเลสตัวขี้เกียจขี้คร้าน อย่าไปเว้า (พูด) ต้านความธรรมนักปราชญ์ คนขี้ขลาดเป็นแต่อ้างธรรมคำของโต๋ (ตน) โหมิโง โต๋มิติงคลำคิงแต่หม่องนอน (เหมือนคนตาย)

- ให้ภาวนาดูกองทุกข์ เกิดมาแล้วมันมีแต่ทุกข์ อยากก็ทุกข์ไม่อยากก็ทุกข์ อิ่มก็ทุกข์ไม่อิ่มก็ทุกข์ นั่ง นอน กิน ถ่ายก็ทุกข์อยู่ทุกเมื่อ ทุกข์ไจ้ ๆ บ่ไล่มื้อถิ่มวัน (ทุกข์ตลอดไม่ว่างเว้น)

- ทุกค่ำเช้าให้ตั้งต่อแต่ภาวนา วันคืนคิดถึงบุญสมสร้าง

- อย่าได้ไปอวดชาวบ้านกล่าวสามหาว ตัวขี้ฮ้าย (ขี้เหร่) (ให้) หลบอยู่คือกบ เห็นคนมาจะโตหลุบลงน้ำ (กระโดดลงน้ำ) ตัวเป็นคนโง่อย่าอวดโต๋ (ตน) ฉลาด

- อย่าเป็นคนหลัก หลอกอวดตัวดี ถ้าผู้ได๋อวดว่าตัวเป็นคนดี เป็นคนหลัก เป็นคนฉลาด คนนั้นเป็นคนใบ้ใจเบาผิดวินัย แต่คนดีนั้นใบ้ใจนั้นตั้งอยู่ในธรรม

- ให้ตั้งเจอรักษา กาย วาจา ใจ ให้รักษามารยาทให้เรียบร้อย อย่าเป็นคนพูดมากเอายากใส่แต่ตัว อย่าเป็นคนลืมโต๋ โห้ลืนเพิ่น เว้าเห้อระวังโต๋โหเห้อ ระวังคอ ถ้ามิรักษาคำเว้าผิดกะมิฮู้จักโต๋ ว่าแต่โต๋เว้าแม่นเว้าถืก (ให้สำรวมระวัง กาย วาจา ใจ)

- เวลาเขาด่าเฮาอย่าด่าตอบ เวลาเชาซังเฮาอย่าซังตอบ เวลาเขาฮ้ายเฮาอย่าฮ้ายตอบ เวลาเขานินทาเฮา เฮาอย่าเว้าพื้นคืนขี้ฝอย

- คนจริงนิ่งเป็นใบ้ คนพูดได้นั่นไม่จริง

- นกฮ้อในฮั้นว่าดี ชะนีฮ้องในฮั้นว่าโม้น หลวมพุ้นหลวมพี้ หาบ่อนเอามิได้

- เฮียนให้สุด ขุดให้เถิง เบิ่งให้ฮู้ ดุให้เป็น เห็นได้แนวในดวงแก้วทั้งสาม

- มิเฮ็ดมิเป็น มิเห็นมิฮู้

- โตบุญนั่นตัวดำก้นก่าน โตบาปนั่นหัวโล้นห่มเหลือง (สอนแม่ชีไม่ให้ใกล้พระสงฆ์)

- ศีลอยู่ที่ละ พระรอยู่ที่ใจ

- ฮักกันแล้วกูมึงอย่าได้ว่า แม่นสิซัง (เกลียด) ท่อฟ้าความฮ้ายอย่าได้จา (พูด)

- คนเฮานี้คือกันทั้งโลก เกิดแล้วบ่อกลับปิ้นต่าว ตายเสี่ยงคู่ชู่คน

- เก้าทานสิบทาน บ่ท่อทานสังฆะเจ้า

- ค่อยคิดค่อยแก้ ค่อยแกค่อยดึง ค่อยขุดค่อยขน ค่อยค้นค่อยค้ำ ค่อยทำค่อยสร้าง ค่อยถางค่อยหว่าน ค่อยงั้นค่อยแง้น แม้นหากสิได้ก้อนคำ

- ใจอยากหยุ่ง ควายหลายโตจึงจ่อง โตหนึ่งข่องง่าคอง โตสอง ข่องง่าขาม โตสามข่องง่าหมี้ โตสี่ข่องง่าหว่า โตห้าข่องง่าบก โตหกข่องง่าแต้ ไผสิมาช่วยแก้ควายข่อยจังสิไป

- สุกอยู่ตนบ่ปานฝานหัวบ่ม เพิ่นบ่มให้กะบ่ปานบ่มเอง

- เฒ่าหูหวาย เฒ่าดายดอก เฒ่าหยอกหลาน เฒ่าหาญป่า เฒ่าจ่าแห เฒ่าแวะโห้แวะสวน เฒ่าแดดเฒ่าลม เฒ่าสมสินสร้าง เฒ่าอ้างตำรา เฒ่าศีล ภาวนาเข้าวัด

- รักษาศีลเอาไว้ใจเที่ยงภาวนา สลึงเดียวกะบ่ได้หา สูเจ้าอย่าขึ้คร้านสมถะวิปัสสนาพร้อม เป็นการไกลกิเลส ละให้หลุดลงให้เสี่ยง ผลเที่ยงแม่นนิพพาน



<<< กลับสู่สารบัญ



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 27/8/08 at 15:05 Reply With Quote



ประวัติที่ปรากฏในที่ต่าง ๆ


สมเด็จพระสังฆราชทรงสนทนาธรรมกับคุณแม่*


เมื่อประมาณ พ.ศ. 2509-2510 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระสาสนโสภณ” ได้ไปที่วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และพำนักอยู่หลายวัน ในตอนนั้นคุณแม่ชีและคณะแม่ชียังอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ท่านได้สนทนาธรรมกับคุณแม่ โดยมีองค์หลวงตาและคณะแม่ชี ร่วมรับฟังด้วย ใจความการสนทนาธรรม มีดังต่อไปนี้

พระสาสนโสภณ : ................(เทปตอนนี้ความไม่ชัดเจน)

คุณแม่ : เร่งความเพียรจนตัวเองไม่รู้สึก..............ไม่รู้เลย ไม่รู้เรา ไม่รู้จิต เวลามันจะเป็นขึ้นมา รู้ขึ้นมา ๆ อะไรก็รู้หมด รู้ขึ้นมา ๆ รู้ขึ้นมารวมลงที่ใจหมด รู้เข้ามา ๆ แล้วตกวูบลงไปที่รู้ แล้วก็มีแต่รู้ตัวเดียวเท่านั้น รู้มาก รู้น้อยมันก็รู้หมดเลย มีมากมีน้อยมันก็รู้หมดเลย........มันเป็นอย่านั้น ไม่รู้ว่ามันจะเป็นอะไร. (หัวเราะ)...

พระสาสนโสภณ : ขึ้นอยู่กับทำสิ่งนั้น......................................

คุณแม่ : ก็ช่วงนั้นพระอาจารย์ไปเที่ยวธุดงค์ ท่านยังไม่กลับ การภาวนาไม่เป็นเหมือนอย่างเก่า รู้สึกอัศจรรย์ใจ มันเป็นอย่างไรใจนี่น่ะ ภาวนาไม่เป็นอย่างเก่านี้ แต่ก่อนแล้วพอภาวนาลงไปรู้สึกว่ามันมีอะไรขึ้นมา เมื่อท่านอาจารย์กลับมา ท่านถามว่าเป็นอย่างไรสมาธิภาวนา ถ้าภาวนาไม่มีอะไร อาตมาจะหนีท่านว่าอย่างนั้น.... ก็เลยเล่าเรื่องให้ท่านฟัง เหมือนกับเล่าให้พระเดชพระคุณฟังนี่แหละ ท่านก็ตอบปัญหาให้หมด อันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นอย่างนี้.........

ท่านจึงบอกว่า เอ้า! ให้พิจารณาดุว่าใจเรามันเป็นอย่างไร มันออกไปอย่างไรก็ต้องรู้......ก็เลยมานั่งภาวนา มานั่งภาวนา ภาวนาไปไม่รู้สึกอะไร มีแต่ผู้รู้ผุดขึ้นมาในใจแล้วมีเสียงพูดแจ๋ว ๆ บอกท่านหมดเลย ท่านบอกว่า ท่านเองก็พูดขึ้นมาเหมือนกัน.... “พระอนุรุทธขึ้นเต็มดวง สว่างไสว ใจคอพระอนุรุธแจ้งเต็มดวงใสสว่าง เหมือนพระจันทร์สว่างไสวเต็มดวง....” หมดเท่านั้นแหละ ไม่รู้จักถูกจักผิด ขออภัยอย่าโกรธเลย พระเดชพระคุณ ข้าน้อยก็ไม่รู้อะไร แล้วแต่พระเดชพระคุณ......ขออภัย พระเดชพระคุณ ขอนิมนต์

พระสาสนโสภณ : ยังต้องการจะฟัง

คุณแม่ : รู้หมดทุกสิ่งทุกประการ ธาตุสี่ ขันธ์ห้า ดิน น้ำ ลม ไฟ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความโกรธ ความโลภ ความหลงทั้งหลาย มันก็เป็นอยู่ตามสภาพของมัน แล้วก็ลองพิจารณาให้มันเป็นอย่างเก่ามันก็ไม่เป็น เกิดมาแล้วก็ดับ ถ้าเกิดก็เกิดเป็นชาติใหม่ เป็นอย่างนี้ล่ะ ไม่ใช่ชาติเก่า ตายแล้วเกิดชาติใหม่ ไม่ใช่เป็นชาติเก่า จักถูกหรือผิดก็ไม่รู้ ขอเล่าถวายเพียงเท่านี้ ขออภัยถ้ามันผิดไป ผิดถูกก็ขออภัย

พระสาสนโสภณ : คิดอย่างไรกับชาติเก่าชาติใหม่

คุณแม่ : โอ๊ย! ชาติเก่าชาติใหม่นี้ เมื่อเทียบกับตัวเรา เหมือนพวกเรานอนหลับ นอนหลับไปสนิทไม่รู้สึกตัว เวลาตื่นขึ้นมาแล้วก็รู้สึกตัว ยังเป็นตัวคนผู้เก่า เป็นคนผู้เก่า เขาก็ว่า อ้าว! สิ่งของชนิดนี้ก็ลืมไปแล้ว ของชนิดนี้ก็เสื่อมไปแล้ว เขาเมาเหล้าเขาก็หลงหมด หลงตัวนี้อะไรก็วางทิ้งไว้........ คนเราเอาอะไรไปคือจะเป็นอย่างนั้น ก็ ไม่รู้ มันถูกก็ไม่รู้ คือจะเป็นอย่างนั้น

พระสาสนโสภณ : เป็นคนเดียวกันแต่ว่าเปลี่ยนสังขาร ใช่ไหม

คุณแม่ : สังขารก็สังขารอันเก่า กายก็กายอันเก่า ยังเปลี่ยนแต่ผู้รู้เท่านั้น.....ยังอยู่แต่ผู้รู้เท่านั้น เป็นอย่างนี้ ขออภัยด้วยเถิด แล้วพวกเรามีสิ่งของอะไร.... อะไรก็มีหมดทุกสิ่งทุกประการ สิ่งนั้นก็ได้เก็บ สิ่งนี้ก็ได้รักษาไว้ พยายามรักษาไว้ แล้วของสิ่งนั้นมันก็ดับไปหมด ไม่มีอะไรมาปกปักรักษา มันก็อยู่เรื่อย ๆ เปื่อย ๆ คนเราไม่มีอะไร คนจน ๆ นี่เอง

พระสาสนโสภณ : หมายถึงว่าที่รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้นสำหรับแม่แก้ว ใช่ไหม

คุณแม่ : ใช่ เจ้าค่ะ

พระสาสนโสภณ : ท่านอาจารย์ไม่ต้องจัดอะไรมากหรอก



<<< กลับสู่สารบัญ


คุณแม่ชีแก้วทำนายหลวงปู่เขียน ฐิตสีโลก

ในสมัยที่หลวงปู่เขียนออกฝึกหัดปฏิบัติอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านเล่าว่ามีแม่ชีอยู่คนหนึ่งชื่อ แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ซึ่งแม่ชีผู้นี้ท่านพระอาจารย์มั่น กล่าวว่าเป็นผู้ที่มีธรรมะ เป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ได้ทำนายท่านไว้ว่า

“ท่านมหาบวชมาแล้ว ชาตินี้เป็นชาติที่ 3 และจะอยู่ในเพศบรรพชิตนี้ตลอดไป จะไม่สึกชาติที่บวชครั้งแรกนั้น ท่านมหาบวชเป็นสามเณรอายุได้ 17 ปี ก็สึก ชาติต่อมาก็บวชเป็นสามเณรอีก อายุได้ 19 ปีย่างเข้า 20 ปี แต่ยังไม่ได้บวชเป็นพระก็สึกอีก ชาตินี้เป็นชาติที่ 3 และได้บวชเป็นพระอีกทั้งจะอยู่ต่อไปได้ตลอดจะไม่ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส จะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ตลอดไป”

หลวงปู่ก็พูดว่า “ถ้าหากอาตมาอยากจะสึกจะทำอย่างไร คือ อยากสึกมาก ๆ อดไม่อยู่แล้วก็สึกไป”

คุณแม่ก็กล่าวว่า “ไม่เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ว่าท่านมหาจะอยากสึกอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับชาตินี้แล้ว ท่านมหาจะต้องอยู่ในเพศพรหมจรรย์นี้ตลอดไปไม่สึกแน่นอน”

หลวงปู่กล่าวว่า ก็ได้แต่รับฟังไว้คอยสังเกตดูตัวเองอยู่ตลอดมา

ที่มา...คัดลอกจากหนังสือ (ฐิติสลานุสรณ์ หน้า 27)
โดยพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี





(ภาพจาก doisaengdham.com)

และในหนังสือประวัติ หลวงปู่จาม ยังเล่ากันอีกว่า แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ คงจะมีส่วนสำคัญในการให้คำปรึกษา เพราะการปฏิบัติเจริญจิตภาวนาของแม่ชีแก้วนั้นเจริญก้าวหน้ารวดเร็ว รู้จักนรกสวรรค์ได้อย่างดี ญาณทัศนะที่ล้ำลึกเป็นสิ่งที่เชื่อมั่นได้ และสิ่งที่ปรากฏประจักษ์ในคุณธรรมของ แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ที่ได้ละสังขารไปแล้ว กระดูกอังคารของท่านกลายสภาพเป็นสิ่งสดใสเสมือนแก้วไปแล้ว ท่านผู้รู้ได้โปรดพิจารณา

<<< กลับสู่สารบัญ



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2040
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved