ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 3/3/09 at 08:18 Reply With Quote

ภาพข่าว..การเดินทางไปเซี่ยงไฮ้ – ผู่ถัวซาน – หางโจว – จิ่วหัวซาน วันที่ 19-25 ก.พ. 2552


การเดินทางไปนมัสการภูเขาศักดิ์สิทธิ์ 2 ใน 4 แห่งของประเทศจีน

เซี่ยงไฮ้ – ผู่ถัวซาน – หางโจว – จิ่วหัวซาน


ระหว่างวันที่ 19 – 25 กุมภาพันธ์ 2552


คลิก..เพื่อขยายภาพ


วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 กรุงเทพฯ - เซี่ยงไฮ้ - หนิงปอ

- คณะผู้ร่วมเดินทางจำนวนประมาณ 34 คน ออกเดินทางโดยสายการบิน CHINA EASTHERN AIRLINE เที่ยวบินที่ MU542 ถึงสนามบินนานาชาติผู่ตง ของเมืองเซี่ยงไฮ้ เดินทางต่อไปเมืองหนิงปอ เมืองชายฝั่งตะวันออกของจีน (ตามแผนที่)

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 หนิงปอ-ผู่ถัวซาน-หางโจว

- วันนี้คลื่นลมแรง อากาศหนาวเย็น ต้องไปนั่งเรืออีกแห่งหนึ่งสู่ เกาะผู่ถัวซาน (ประมาณ 3 ชม.) เดินทางไปนมัสการเจ้าแม่กวนอิมปางสมาธิ ณ วัดผู่จี้ วัดที่สำคัญที่สุดบนเกาะผู่ถัวซาน

- ศาล "เจ้าแม่กวนอิมไม่ยอมไป" นมัสการ รอยเท้าเจ้าแม่กวนอิม ริมชายทะเล , หนานไห่กวนอิม ( รูปหล่อยืนเจ้าแม่กวนอิมชายทะเล) แล้วนั่งเรือเร็วกลับเมืองหนิงปอ (ประมาณ 1 ชม.) หลังจากนั้นเดินทางสู่เมืองหางโจว

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 หางโจว-จิ่วหัวซาน

- ชม วัดหลิงอิ่น ซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน สร้างเมื่อ ค.ศ. 326 โดยพระชาวอินเดีย ภายในวัดมีโบราณวัตถุล้ำค่า คือ "องค์เหวยถัว" ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าพิทักษ์พุทธศาสนาแกะสลัก ด้วยการบูรหอมทั้งต้น เป็นฝีมือของช่างในสมัยราชวงค์ซ่งใต้ และยังเป็นวัดที่พระอรหันต์ "จี้กง" เคยบวชเรียน

บริเวณด้านหลังวัดเป็นเขาเฟยไหลมีความสูง 209 เมตร มีถ้ำจี้กงซึ่งภายในมีเตียงหินที่ยื่นลงมาจากเพดานถ้ำ เรียกว่า "เตียงจี้กง" ด้านหลังของเตียงจี้กงเป็นถ้ำอีก ชั้นหนึ่งที่มีรอยฝ่ามือจี้กงประทับอยู่บนผนัง นอกจากนี้ยังมีการ แกะสลักรูปพระพุทธเจ้าพระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าต่างๆ ที่สลัก บนหินอยู่รอบเนินเขาภายในวัด

- จากนั้นนั่งรถชมความงามของตัวเมืองหางโจวซึ่งตั้งอยู่บริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบซีหู ผ่านชมเจดีย์เหลยฟง ที่ในนิยายจีนเรื่องนางพญางูขาวกล่าวว่าเจดีย์นี้เป็นที่หลวงจีนฟาไห่ใช้คุมขังนางพญางูขาว แล้วออกเดินทางไปยังเขาจิ่วหัวซาน

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 จิ่วหัวซาน

- นั่งกระเช้าลอยฟ้าสู่ วิหารไป่ซุ้ยกง เพื่อกราบสักการะร่างจริงของพระภิกษุอู๋เสีย (พระภิกษุที่มาจำพรรษาในสมัยปลายราชวงศ์หมิง) ที่ไม่เน่าไม่เปื่อย พระภิกษุอู๋เสีย เกิดในสมัยจักรพรรดิหว้านหลี่ ออกบวชเมื่ออายุ 14 ปี แล้วเดินทางมาปฏิบัติธรรมที่เขาจิ่วหัวซาน จนกระทั่งอายุ 126 ปี จึงมรณภาพ ท่านได้ใช้เวลา 38 ปีก่อนมรณะ เขียนทั้งอัตชีวประวัติและพระไตรปิฎกฝ่ายมหายานจำนวน 81 เล่มด้วยเลือดของท่านเอง เสร็จแล้วจึงนั่งสมาธิมรณภาพโดยสังขารไม่เน่าเปื่อย

- ต่อมาในสมัยจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง ได้เกิดไฟไหม้ที่วัดแห่งนี้ เมื่อไฟไหม้ลามมาถึงวิหารที่ประดิษฐานร่างของท่าน ปรากฏว่าร่างของท่านค่อย ๆ ยกมือขึ้นทั้ง 2 ข้างแล้วไฟก็ดับลงเองอย่างปาฏิหาริย์ ตั้งแต่นั้นมาร่างของท่านจึงอยู่ในท่ายกมือมาจนถึงปัจจุบัน

- วิหารโย้วเซินเตี้ยน กราบสักการะร่างจริงของพระโพธิสัตว์ตี้จั้งหวัง (ผู้อธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้าองค์สุดท้าย) ซึ่งท่านเคยจุติเป็นเจ้าชายในประเทศเกาหลี (ตรงกับสมัยราชวงศ์ถังของจีน) หลังจากออกบวชแล้ว ท่านได้มาอยู่ปฏิบัติธรรมที่ภูเขาจิ่วหัวซานจนกระทั่งมรณภาพ

- นั่งกระเช้าลอยฟ้าขึ้นสู่ วิหารกู่ไป้จิงไถ ณ ยอดเขาจิ่วหัวซาน เพื่อกราบสักการะรอยพระบาทพระโพธิสัตว์ ตี้จั้งหวาง (พระพุทธเจ้าองค์สุดท้าย) ผู้ทรงอธิษฐานไว้ว่า ตราบใดที่ยังโปรดสัตว์โลกไม่หมด พระองค์ก็จะไม่เสด็จเข้าสู่พระนิพพาน แนะนำท่านชมยอดเทียนไถที่สูงสุดของเขาจิ่วหัวซาน ซึ่งเชื่อกันว่าเคยเป็นสถานที่พระโพธิสัตว์ "ตี้จั้งหวาง" มักจะมานั่งฝึกสมาธิอยู่เสมอ

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 จิ่วหัวซาน-อู่ซี-เซี่ยงไฮ้

- เดินทางกลับสู่เมืองเซี่ยงไฮ้ ระหว่างผ่าน "เมืองอู๋ซี" ได้แวะนมัสการพระพุทธรูปปางคันธราช "หลิงซานต้าฝอ" ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปยืนที่หล่อด้วยโลหะที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้ชมน้ำพุประกอบการบรรเลงเสียงเพลงสวดมนต์ พร้อมกับที่ดอกบัวกลางสระน้ำบานออกโดยบังเอิญพอดี ปรากฏว่ามี "พระพุทธรูปปางประสูติ" ประทับยืนอยู่กลางดอกบัว ถือว่าโชคดีมากจริงๆ ไม่งั้นต้องเสียเวลารออีกหลายชั่วโมง

- จากนั้นเดินทางสู่เมืองเซี่ยงไฮ้ ชมหาดไว่ทัน หรือ หาดเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหวงผู่ ถ่ายรูปคู่กับ หอคอยไข่มุกบูรพา ซึ่งเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในเอเซีย( สูง 468 เมตร) และเป็นหอคอยที่สูงอันดับ 3 ของโลก และเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเซี่ยงไฮ้

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 เซี่ยงไฮ้-กรุงเทพฯ

- นมัสการขอพร "พระหยกขาว" ที่หลวงจีนฮุ่ยเกิน(ค.ศ.1882)ได้เดินทางไปประเทศอินเดีย ระหว่างเดินทางกลับได้ผ่านประเทศพม่า ได้ทีคนจีนที่อยู่ในประเทศพม่าได้ถวายพระพุทธรูปหยกให้ 5 องค์ ท่านได้นำมาประดิษฐานยังเมืองเซี่ยงไฮ้ 2 องค์และได้สร้างวัดขึ้นเรียกว่า “วัดพระหยกขาว” ( วัดอวี้ฝอซื่อ ) องค์หนึ่งเป็นปางปรินิพพาน อีกองค์ประทับนั่ง ซึ่งสลักจากหยกขาว สูง 2 เมตร หนักถึง 1 ตัน และมีการประดับเพชรพลอยด้วย แล้วเดินทางถึงกรุงเทพฯ
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 โดยสวัสดิภาพ ฯ




วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 กรุงเทพฯ-เซี่ยงไฮ้-หนิงปอ





วันที่ 19 ก.พ. 2552 ตามกำหนดการเดินทาง พวกเราต้องไปพบกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 06.00 น. เพื่อเดินทางไปนครเซียงไฮ้ ด้วยจำนวนทั้งหมดประมาณ 34 คน

ทั้งนี้ นับเป็นปีที่ 4 ของคณะเจ้าหน้าที่ "วิหารสมเด็จองค์ปฐม" และเจ้าหน้าที่ "มณฑปพระศรีอาริย์" เพื่อเดินทางไปไหว้พระกันปีละครั้ง โดยไปประเทศต่างๆ มาแล้ว ดังนี้

- ปีแรก พ.ศ.2549 เดินทางไปสิบสองปันนา
- ปีที่ 2 พ.ศ.2550 เดินทางไปพม่า (ย่างกุ้ง, สิเรียม, หงสาวดี, พระธาตุอินทร์แขวน)
- ปีที่ 3 พ.ศ.2551 เดินทางไปประเทศศรีลังกา
- ปีที่ 4 พ.ศ.2552 เดินทางไปประเทศจีน โปรแกรมปีหน้าไปหลวงพระบาง



วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 หนิงปอ-ผู่ถัวซาน-หางโจว


เช้าวันนี้ปรากฏว่ามีคลื่นลมแรง เรือที่จะโดยสารไปเกาะผู่ถัวซานงดการเดินทาง พวกเราถึงกับผิดหวัง แต่ไกด์สาวชาวจีน "น้ำฝน" รับอาสาจะพาไปให้ได้ โดยนำพวกเราไปลงเรืออีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรือลำใหญ่ สามารถบรรทุกรถบัสปรับอากาศของพวกเราไปได้ เพื่อไปขึ้นอีกเกาะๆ หนึ่ง

คุณเจี๊ยบ จาก 99 ทัวร์ บอกว่าเคยนำคนไทยมาที่นี่ ถ้าเจอพายุลมแรงก็ต้องกลับทันที พวกเราถือว่าโชคดีมาก เมื่อไปถึงเกาะแห่งนี้แล้ว รถบัสของเราได้วิ่งไปลงเรืออีกเป็นครั้งที่ 2 ใช้เวลาประมาณ 25 นาทีก็ถึงเกาผู่ถัวซานแล้ว


ถึงแม้จะเสียไปประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็ตาม แต่คุ้มค่าหายเหนื่อย พวกเราสามารถไปถึงจนได้ตามความตั้งใจเดิม เวลาขากลับก็กลับเร็วกว่าเดิม เพราะมีเรือโดยสารวิ่งตรงไปที่หนิงปอเลย ใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น


ในตอนนี้มีไกด์สาวท้องถิ่นมารอต้อนรับ พาพวกเราเดินชมไปตามสถานที่ต่าง ๆ คือนำไปนมัสการเจ้าแม่กวนอิมปางสมาธิ ณ วัดผู่จี้ เป็นวัดที่สำคัญที่สุดบนเกาะผู่ถัวซาน จากนั้นก็ได้เวลารับประทานอาหารกลางวัน หลวงพี่ชัยวัฒน์และหลวงพ่อสุรพงษ์ฉันเพลที่ร้านอาหารใกล้ๆ แถวนั้น อาหารกลางวันมื้อนี้เป็น "อาหารเจ" ทั้งหมด


หลังจากนั้นก็เดินช๊อปปิงย่อยอาหารร้านค้าแถวนั้น พวกเราได้ถวายรองเท้าใหม่แบบกันหนาวให้หลวงพ่อและหลวงพี่ทั้งสองรูป ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นพอสมควร


ร้านค้าส่วนใหญ่ขายสิ่งของบูชา เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน บางร้านก็ขายของแกะสลัก ย่าม ลูกประคำ เสื้อผ้าเครื่องใช้ของนักบวชจีน เป็นต้น


ภายในบริเวณนี้มีสระน้ำกว้างใหญ่ พวกเราได้ไปถ่ายรูปที่บนสะพาน ส่วนภาพที่เห็นเป็นร้านค้าต่างๆ มากมาย


หลังจากนั้นก็เดินไปนมัสการ "เจ้าแม่กวนอิมไม่ยอมไป" และนมัสการ รอยเท้าเจ้าแม่กวนอิม ริมชายทะเล , และเดินขึ้นเขาไปกราบไหว้รูปหล่อยืนเจ้าแม่กวนอิมชายทะเล (หนานไห่กวนอิม )


คำว่า "เจ้าแม่กวนอิมไม่ยอมไป" ไกด์ท้องถิ่นเล่า เดิมรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมองค์นี้อยู่ไกลมากที่ภูเขา "อู่ไถซาน" พวกชาวญี่ปุ่นได้ขนลงเรือเพื่อนำไปที่ประเทศญี่ปุ่น แต่พอวิ่งมาถึงตรงบริเวณนี้ เรือไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ แม้จะพยายามหลายครั้งก็ตาม ครั้งสุดท้ายพอเรือจะออก ปรากฏว่ามีดอกบัวเหล็กผุดขวางขึ้นเต็มไปหมด


ด้วยเหตุนี้ พวกญี่ปุ่นรู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ จึงได้อัญเชิญขึ้นมาไว้บนเกาะนี้ พอดีมีพ่อและลูกชายได้ถวายที่ดินบริเวณนี้ ชาวบ้านจึงสร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐาน ต่อมาจึงได้ชื่อว่า "เจ้าแม่กวนอิมไม่ยอมไป" พ่อและลูกชายก็ได้ออกบวชดูแลรักษาสถานที่นี้เป็นต้นมา


เมื่อพวกเราได้ทราบประวัติดังนี้แล้ว จึงได้ร่วมกันเจริญพระพุทธคุณและสวดคาถาเงินล้าน พร้อมได้ถวายเครื่องสักการบูชาต่างๆ มีผ้าสไบทอง ดอกไม้ ธูปเทียน แผ่นทอง เป็นต้น อีกทั้งได้รวมกันถวายปัจจัยเป็นเงินจีน 1,206 หยวน และเป็นเงินไทย 420 บาท


หลังจากได้มอบสิ่งของให้พระเจ้าหน้าที่ของจีนแล้ว จึงได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ทั้งนี้ หลวงพี่ชัยวัฒน์ได้เคยมาแล้ว ครั้งนั้นท่านได้ถวายเพชรเจียระไน (ที่หน้าผาก) ไว้แล้วเมื่อปี 2547


สำหรับภูเขาศักดิ์สิทธิ์ในประเทศจีนมี 4 แห่ง ดังนี้ คือ ภูเขาง้อไบ้, อู่ไถซาน, จิ่วหัวซาน และ เกาะผู่ถัวซาน สถานที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ "ก้อนหินรอยเท้า" (เจ้าแม่กวนอิม) ที่อยู่ริมชายทะเล


ส่วนสถานที่นี้เมื่อปี 2547 หลวงพี่ชัยวัฒน์เล่าว่า ท่านเคยมากราบไหว้ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ได้สันนิษฐานว่า รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมเพิ่งจะมาอยู่เกาะนี้ ส่วนรอยเท้าบนหินคงจะมีนานแล้ว อาจจะเป็นรอยเท้าของบุคคลสำคัญกว่านั้นก็เป็นได้ จากนั้นท่านก็เดินทางกลับ ปรากฏว่ามีพระอาทิตย์ทรงกลดวงใหญ่ในเวลากลางวัน ท่านบอกว่าสวยงามอร่ามตามาก


ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงต้องกลับมาอีกครั้งพร้อมคณะผู้ร่วมเดินทางมากมาย ซึ่งความจริงกว่าจะเดินทางมาได้ ผู้ช่วยจัดการเดินทางคือ คุณอภิญญา (ติ๋ม) ต้องประสานงานกับหลายๆ คน บางครั้งก็ต้องอธิษฐานขอให้ท่านช่วยหาคนให้ครบตามจำนวน แต่เมื่อทุกคนได้มาถึงแล้ว ต่างก็ปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด


นี่แหละตามที่ยืนถ่ายภาพร่วมกันบนเนินเขาสูง ณ หนานไห่กวนอิม ( รูปหล่อยืนเจ้าแม่กวนอิมชายทะเล) ซึ่งกว่าจะรวบรวมมากันได้ทุลักทุเลพอสมควร แต่เมื่อได้พบหน้ากันแล้ว เหมือนกับญาติมิตรกันมาในอดีต คุยกันได้อย่างสนุกสนานเป็นกันเอง


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 6/3/09 at 09:17 Reply With Quote


วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 หางโจว-จิ่วหัวซาน



เช้าวันนี้ พวกเราได้ชมวัดหลิงอิ่น ซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน สร้างเมื่อ ค.ศ. 326 โดยพระชาวอินเดีย ภายในวัดมีโบราณวัตถุล้ำค่า คือ "องค์เหวยถัว" ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าพิทักษ์พุทธศาสนาแกะสลัก ด้วยการบูรหอมทั้งต้น เป็นฝีมือของช่างในสมัยราชวงค์ซ่งใต้ และยังเป็นวัดที่พระอรหันต์ "จี้กง" เคยบวชเรียน








ในตอนขากลับ พวกเราได้นมัสการ “องค์ไฉ่ซิ้งเอี้ย” (เทพเจ้าโชคลาภ) และพระเจดีย์เก่าแก่ ได้ถวายสร้อยมุก น้ำหอม แผ่นทองคำเปลว และขอโชคลาภกลับบ้านกันเต็มอิ่ม


ได้แวะถ่ายภาพ ที่ ทะเลสาปซีหู ต้นกำเนิดตำนานเรื่อง "นางพญางูขาว" กับชายคนรักชื่อ "โข้เซียน" ทะเลสาบแห่งนี้ ที่ได้รับสมญานามจากนักท่องเที่ยวว่า พฤกษชาติในนครินทร์

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 จิ่วหัวซาน


จิ่วหัวซาน ( 九华山 ) หรือ ภูเก้าวิจิตร แห่งมณฑลอันฮุย จิ่วหัวซาน 1 ใน 4 พุทธบรรพต ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของจีน ตามความเชื่อของชาวจีนท่านคือ พระโพธิสัตว์แห่งความหวัง (ตี้จังหวัง)

จิ่วหัวซาน อยู่ในเขตอำเภอ ซิงหยาง มณฑลอันฮุย เป็นหุบเขาที่มีความงดงามและมีความสำคัญในด้านพุทธศานา จิ่วหัวซานมีแม่น้ำ 5 สายไหลผ่าน มีขุนเขาที่สวยงามมากมายถึง 99 ยอดเขา มี ยอดเขาเหลียนหวาเทียนจู้ เป็นยอดที่สวยงาม และสูงที่สุด สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,392 เมตร บนยอดเขาเป็นที่ ตั้งของ วัดตี้จ้างหวาง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยต้นราชวงศ์ถัง โดย เจ้าชายตี้จ้าง ซึ่งเป็นเจ้าชายจากเมืองซินหลอ (เกาหลี)


เช้านี้ หมอกลงมาก สักพักฝนก็โปรยลงมา จนคุณเจี๊ยบเจ้าหน้าที่ทัวร์ได้จัดหาเสื้อฝนมาให้ เพื่อเดินทางโดยการนั่งกระเช้าลอยฟ้าสู่ วิหารไป่ซุ้ยกง เพื่อกราบสักการะร่างจริงของ พระภิกษุอู๋เสีย (พระภิกษุที่มาจำพรรษาในสมัยปลายราชวงศ์หมิง) ที่ไม่เน่าไม่เปื่อย






พระภิกษุอู๋เสีย เกิดในสมัยจักรพรรดิหว้านหลี่ ออกบวชเมื่ออายุ 14 ปี แล้วเดินทางมาปฏิบัติธรรมที่เขาจิ่วหัวซาน จนกระทั่งอายุ 126 ปี จึงมรณภาพ ท่านได้ใช้เวลา 38 ปีก่อนมรณะ เขียนทั้งอัตชีวประวัติและพระไตรปิฎกฝ่ายมหายานจำนวน 81 เล่มด้วยเลือดของท่านเอง เสร็จแล้วจึงนั่งสมาธิมรณภาพโดยสังขารไม่เน่าเปื่อย

ต่อมาในสมัยจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง ได้เกิดไฟไหม้ที่วัดแห่งนี้ เมื่อไฟไหม้ลามมาถึงวิหารที่ประดิษฐานร่างของท่าน ปรากฏว่าร่างของท่านค่อย ๆ ยกมือขึ้นทั้ง 2 ข้างแล้วไฟก็ดับลงเองอย่างปาฏิหาริย์ ตั้งแต่นั้นมาร่างของท่านจึงอยู่ในท่ายกมือมาจนถึงปัจจุบัน

ในขณะที่พวกเราเข้าไปในวิหารนั้น มีชาวจีนมากราบไหว้กันแน่นไปหมด แต่ก็เดินเบียดเข้าไปข้างในได้ เห็นข้างผนังมีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ นับเป็นจำนวนร้อย จึงได้ทำบุญคนละ 300 หยวน เพื่อเขียนชื่อเป็นภาษาจีนบรรจุไว้ในนั้น มีพวกเราหลายคนได้ร่วมทำบุญตรงนี้กับพระหลวงจีน ประมาณ 1,500 หยวน พร้อมกับร่วมซื้อเทียนดอกบัวกันอีกด้วย แล้วจุดไฟในดอกบัวสว่างไสว แล้วนำไปถวายไว้บนโต๊ะเครื่องบูชาด้านหน้า เพื่อถวายบูชาร่างของหลวงจีนอู๋เสีย


วิหารโย้วเซินเตี้ยน กราบสักการะร่างจริงของพระโพธิสัตว์ตี้จั้งหวัง (ผู้อธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้าองค์สุดท้าย) ซึ่งท่านเคยจุติเป็นเจ้าชายในประเทศเกาหลี (ตรงกับสมัยราชวงศ์ถังของจีน) หลังจากออกบวชแล้ว ท่านได้มาอยู่ปฏิบัติธรรมที่ภูเขาจิ่วหัวซานจนกระทั่งมรณภาพ

วัดตี้จ้างหวาง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยต้นราชวงศ์ถัง โดย เจ้าชายตี้จ้าง ซึ่งเป็นเจ้าชายจากเมืองซินหลอ (เกาหลี) ตามประวัติ กล่าวว่า เจ้าชายตี้จ้าง มีลักษณะคล้ายกับพระพุทธองค์ คือ ได้รับการทำนายว่าถ้าครองราชสมบัติจะเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ แต่ถ้า ออกบวชจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เจ้าชายตี้จางได้ออกบวช และได้บรรลุโมษธรรมสามารถก้าวหลุดพ้นจากวัฎฏสงสาร

แต่ท่านไม่ยอมก้าวผ่านไป ท่านยอมเสียสละอยู่เพื่อสั่งสอนให้สัตว์โลกได้หลุดพ้นไปพร้อมกับท่านจึงได้รับการขนานนามว่า เป็น "พระเมตไตรยะ หรือ พระโพธิสัตว์แห่งความหวัง( ตี้จ้างหวาง )" พระตี้จังได้มาเป็นเจ้าอาวาส และแสดงธรรมอยู่ที่วัดแห่งนี้ ภายในวัดได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาตลอด ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ ถัง ซ่ง หยวน หมิง ชิง จนมีการขยายบริเวณขึ้นอีกมามาย จนมีวัดมากกว่า 300 แห่ง

ภายในวัดตี้จ้างหวางจะแตกต่างจากวัดอื่นๆ ซึ่งจะมีวิหารจตุโลกบาล วิหารใหญ่ วิหารคัมภีร์ แต่วัดแห่งนี้มีเจดีย์บรรจุร่างของพระตี้จัง เป็นประธานของวัด เป็นเจดีย์เล็กๆ 7 ชั้น สูง 17 เมตร ตั้งอยู่บนแท่นหินหยกสีขาว (หินอ่อนชนิดหนึ่ง) มีบันไดทางขึ้น 81 ขั้น ล้อมรอบด้วยโซ่เหล็ก


พวกเราฝ่าอากาศหนาวเย็นเดินบันไดขึ้นไปบนเขา แล้วได้ร่วมทำบุญประมาณ 1,500 หยวน พร้อมทั้งสวดมนต์และถวายเครื่องสักการบูชาต่างๆ มีสร้อยไข่มุก ดอกไม้ ธูปเทียน แผ่นทอง เป็นต้น




จากนั้นรถได้วิ่งต่อไปที่สถานีกระเช้าไฟฟ้า แล้วนั่งกระเช้าลอยฟ้าขึ้นสู่วิหารกู่ไป้จิงไถ ณ ยอดเขาจิ่วหัวซาน เพื่อกราบสักการะรอยพระบาทพระโพธิสัตว์ ตี้จั้งหวาง (พระพุทธเจ้าองค์สุดท้าย) ผู้ทรงอธิษฐานไว้ว่า ตราบใดที่ยังโปรดสัตว์โลกไม่หมด พระองค์ก็จะไม่เสด็จเข้าสู่พระนิพพาน แต่พวกเราไม่ได้ขึ้นไปบนยอดเทียนไถที่สูงสุดของเขาจิ่วหัวซาน ซึ่งเชื่อกันว่าเคยเป็นสถานที่พระโพธิสัตว์ "ตี้จั้งหวาง" มักจะมานั่งฝึกสมาธิอยู่เสมอ แต่พวกเราไม่ได้เดินขึ้นไป เพราะสภาพอากาศไม่อำนวย


พวกเราขึ้นมาบนนี้ต่างก็มีความประทับใจ เพราะตอนบ่ายไม่ค่อยมีชาวจีนขึ้นมามาก ทำให้พวกเราได้ทำพิธีกันอย่างเต็มที่ โดยร่วมกันทำบุญประมาณ 800 หยวน แล้วพร้อมกันสวดมนต์และถวายเทียนดอกบัว เพื่อสักการบูชารอยพระบาทพระโพธิสัตว์ "ตี้จั้งหวาง" (พระพุทธเจ้าองค์สุดท้าย) ซึ่งเป็นที่ปลาบปลื้มใจแก่ทุกคนที่ได้มาสักการบูชาในครั้งนี้

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 จิ่วหัวซาน-อู่ซี-เซี่ยงไฮ้


ขณะที่ฝนตกปรอย ๆ พร้อมกับการมาถึงของคณะผู้ร่วมเดินทาง ถือว่ามาถึงจังหวะโชคดีมาก เพราะการแสดงเริ่มขึ้นพอดี ในขณะที่พวกเราได้เดินเข้าไปถึงบริเวณการแสดงน้ำพุประกอบการบรรเลงเสียงพระสวดมนต์ พร้อมกับที่ดอกบัวกลางสระน้ำบานออกพอดี

เมื่อแหงนหน้ามองขึ้นไป ปรากฏพระพุทธรูป "ปางประสูติ" ประทับยืนอยู่กลางดอกบัว ซึ่งกลีบดอกบัวก็ค่อยๆ แย้มออกมาให้เห็น พร้อมกับน้ำพุโดยรอบพุ่งเข้าหากันอย่างสวยงาม บางจุดมีน้ำที่จะนำไปดื่มเพื่อเป็นสิริมงคลได้ด้วย

ซึ่งวัดหลิงซานนี้ เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปรางค์ประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศจีน สูง 88 เมตร หนัก 700 ตันเลยทีเดียว ส่วนด้านหลังเป็นภูเขาที่มีการปรับทิวทัศน์แล้ว วัดแห่งนี้เป็นวัดที่กว้างมาก มีอายุกว่า 1,000 ปีแล้ว และชาวจีนให้ความนับถือเป็นอย่างมาก


พวกเราได้ยืนถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก โดยมีภาพเบื้องหลังเป็นแบรคกราวนด์ และเดินต่อมาจะพบรอยพระพุทธบาทจำลอง แกะสลักลงบนหินห่อน ซึ่งได้บูชาสักการะด้วยเครื่องหอม และแผ่นทอง เป็นต้น แล้วจึงเดินทางเข้าสู่นครเซี่ยงไฮ้ต่อไป



วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 เซี่ยงไฮ้-กรุงเทพฯ




เช้าวันนี้ เป็นวันสุดท้ายของการเดินทาง หัวหน้าทัวร์ได้นำไปนมัสการ พระพุทธรูปหยกขาว ที่หลวงพ่อฮุ่ยเกิน อัญเชิญมาจากประเทศพม่าในปี ค.ศ. 1882 (พ.ศ.2425) ได้ทำบุญใส่ตู้กันตามอัธยาศัย ประมาณ 100 หยวน


จากนั้นได้เดินต่อไป เพื่อนมัสการพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ วัดพระหยกขาว (ยู่โฝ่สือ) ซึ่งแกะด้วยหยกขาวทั้งองค์เพื่อเป็นสิริมงคล และยังมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ และพระปางสมาธิอีกองค์สูง 6 ฟุต ตกแต่งด้วยอัญมณีต่างๆ หนัก 1,000 กิโลกรัม วัดแห่งนี้มีความสำคัญในด้านวัฒนธรรมที่สุดในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะของคนเซี่ยงไฮ้เป็นอย่างยิ่ง





วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 กรุงเทพฯ


ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสวัสดิภาพ ในเวลา 01.00 น. ได้ร่วมกันทำบุญรวมทั้งสิ้น 5,406 หยวน เงินไทย 420 บาท จึงขออนุโมทนผู้ร่วมเดินทางครั้งนี้ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย...


praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved