ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 3/2/11 at 17:16 Reply With Quote

เล่าเรื่องไป "เมืองลาว" มกราคม ปี 2554 (ตอนที่ 3 จบ)






๒๙ พระธาตุปูปอ(ภูปอ) ต.ดงเจน อ.ภูกามยาว จ.พะเยา

ผู้เขียนได้เดินทางต่อไปถึง วัดพระธาตุปูปอ (ภูปอ) เพราะได้รับข้อมูลไว้นานแล้วแจ้งว่า มีรอยพระพุทธบาทบนเขา แต่เมื่อมาถึงเจ้าอาวาสท่านบอกว่า ชาวบ้านที่นี่เขาเรียกว่า "นาแปลงน้อย" ชื่อนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึง "รอยตากผ้าจีวรของพระพุทธเจ้า" ตามที่เคยเห็นที่วัดพระบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน จะเห็นเป็นรอยคล้ายคันนา คือเป็นตาสี่เหลี่ยมคล้ายจีวรของพระนั่นแหละ



(พระธาตุเจดีย์ปูปอ หรือภูปอ)



(ผู้เขียนได้ขึ้นไปช่วยคุณสำราญห่มผ้ารอบองค์พระธาตุด้วย)



(สรงน้ำหอม และปิดทององค์พระธาตุ)



(ร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาส ๕๐๐ บาท และถวายหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม ๑ ด้วย)

แต่ก่อนที่จะขึ้นไปค้นหากันบนเขา พวกเราได้ขึ้นไปห่มผ้าสไบทอง เพื่อบูชาพระเกศาธาตุที่บรรจุไว้ ณ สถานที่นี้กันก่อน จากนั้นได้เดินขึ้นบันไดไปบนเขาหลังวัด ท่ามกลางอากาศอบอ้าวพอสมควร แต่ก็ต้องทำเวลาเพื่อเดินกลับลงมาให้ทันฉันเพล



(เดินไปบนเขาประมาณ ๑๕ นาที)



(ใบไม้แห้งร่วงหล่นเต็มไปหมด แต่ก็เห็นศาลาหลังเล็กๆ อยู่กลางป่า)



(ช่วยกันทำความสะอาดพอนั่งได้แล้ว จะมองเห็นพระเจดีย์เก่าๆ อยู่ห่างออกไปด้วย)

ตามข้อมูลที่แจ้งว่า มีรอยพระพุทธบาทบนเขาเป็นนาแปลงน้อยนี้ ปรากฏว่าไม่พบอะไรเลย เห็นแต่มีก้อนหินวางไว้เป็นขอบเขต โดยมีใบไม้แห้งเกลื่อน คงจะกั้นที่เป็นนาแปลงน้อยนี้ ไกลออกไปหน่อยมีพระเจดีย์องค์เล็กตั้งอยู่บนกองหิน มีแต่ศาลาสำหรับนั่งกราบไหว้บูชาเท่านั้น จึงได้นั่งสวดมนต์ไหว้พระตามปกติ แล้วนำพวงมาลัยมาคล้องพระเจดีย์ อุทิศส่วนกุศลแล้วเดินกลับลงมาฉันเพลที่กุฏิเจ้าอาวาส

๓๐ วัดพระธาตุมุงเมือง ต.เจริญราษฏร์ อ.แม่ใจ จ.พะเยา

วัดพระธาตุแห่งนี้ เมื่อหลายปีก่อนผู้เขียนได้เคยมาครั้งหนึ่งแล้ว ตอนนั้นได้ปรารภกับพระที่นี่ว่า ถ้าหากมีการบูรณะพระเจดีย์เมื่อไรให้บอกด้วย ปีที่แล้วมีการสร้างใหม่ทางวัดได้นิมนต์ แต่ผู้เขียนไม่ได้สามารถมาได้
ในครั้งนั้นได้โอนเงินผ่านธนาคารถวายไปก่อน เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท วันนี้จึงได้ถือโอกาสกลับมาอีกครั้งใน พอดีได้พบท่านเจ้าอาวาสด้วย จึงร่วมทำบุญสร้างพระธาตุเจดีย์ อุโบสถสมเด็จองค์ปฐม และศาลาปฏิบัติธรรม รวมเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท



(พระเจดีย์ที่จะสร้างใหม่ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถหลังนี้ จะมองเห็นกำลังตั้งเสาฐานรากพระเจดีย์)



(พระอุโบสถหลังนี้ภายในประดิษฐาน "สมเด็จองค์ปฐม")


๓๑ วัดพระธาตุปูแจ บ.บุญเริง ต.บ้านเวียง อ.ร้องกว้าง จ.แพร่

รวมความว่าผู้เขียนได้เดินทางล่องลงมา หลังจากได้เคลียงานที่ค้างอยู่ครบถ้วนแล้ว รถได้วิ่งจากพะเยา - อุตรดิตถ์ - แพร่ พอมาถึง อ.ร้องกวาง ก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองแพร่ ระหว่างที่รถติดไฟแดง เห็นป้ายสร้างพระพุทธรูปที่สี่แยกพอดี พอไฟเขียวขึ้นมาผู้เขียนจึงตัดสินใจบอกให้ตรงไปทางวัดพระธาตุปูแจทันที เพราะเหตุเขาเขียนไว้ว่าสร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๙.๙๙ เมตร สูง ๑๓ เมตร จึงหวังที่จะได้ร่วมสร้างพระใหญ่ นับเป็นองค์ที่ ๓ โดยบังเอิญในการเดินทางครั้งนี้

ตำนานพระธาตุปูแจ

ในสมัยที่พระโพธิ์สัตว์เสวยพระชาติเป็น "เนื้อทรายทอง" ได้ถูกนายพรานติดตามรอยเป็นเวลานาน เมื่อเดินทางมาถึงเขาลูกนี้เกิดอาการบาดเจ็บ ขัดเบา (อาการของโรคปัสสาวะไม่ออก) ได้รับทุกข์ทรมานอยู่เป็นเวลานาน 3 วัน จึงถึงแก่ความตาย การเกิดขัดเบา (อาการของโรคปัสสาวะไม่ออก) ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า "ปวดแจ"

เมื่อพระโพธิ์สัตว์ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้เสด็จมาเผยแพร่ธรรมให้ประชาชนถึง "ดอยม่วงคำ" (อำเภอเมืองพะเยา) เสด็จตามรอยทางเดิมถึงเขาลูกนี้ ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ซึ่งเสด็จตามจึงทูลถามว่า มีอะไรเกิดขึ้นที่นี่ ก็ทรงตรัสเล่าถึงความหลังให้ฟังโดยตลอด

พระอานนท์ก็ทูลขอว่าแห่งนี้ควรเป็นที่สักการะแห่งพุทธศาสนิกชนทั้งหลายในกาลภายหน้าสืบไป พระพุทธเจ้าจึงประทานพระเกศาเส้นหนึ่งให้แก่พระอานนท์ ณ บัดนั้นพระอินทร์ก็เนรมิตรผอบมารองรับบรรจุพระเกศาไว้ นำไปประดิษฐ์ในอุโมงค์เขาลูกนี้ และต่อมาได้สร้าง "พระธาตุปูแจ" ไว้ให้ประชาชนได้กราบไว้สักการะบูชา

(ที่มา - th.wikipedia.org)

หมายเหตุ : ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติม คำว่า "ปวดแจ" นานมาภายหลังอาจจะเรียกเพี้ยนไปว่า "ปูแจ" ก็เป็นได้ ส่วนที่นายพรานติดตามเนื้อทรายทองนั้น ตำนานบางแห่งบอกว่า "กวางทอง" เดิมได้อาศัยอยู่ที่ อ.งาว จ.ลำปาง ปัจจุบันได้แก่ "พระธาตุทรายนอน" ซึ่งเป็นที่อยู่หลับนอนของพระโพธิสัตว์มาก่อน

ตอนหลังได้ไปหากินในป่าถูกนายพรานไล่ล่า ปัจจุบันเรียกว่า "พระธาตุทรายเหงา" ต.แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง แล้วหนีล่องลงมาหลบซ่อนอยู่ที่ "พระธาตุหนองจันทร์" ปัจจุบันอยู่ที่ อ.สอง จ.แพร่ แล้วไปตายอยู่ที่ "พระธาตุปูแจ" อ.ร้องกวาง จ.แพร่ สถานที่ดังกล่าวทุกแห่งนี้ ภายหลังพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทาน "พระเกศาธาตุ" ไว้ทั้งสิ้น

ในชีวิตนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามเส้นทางเสด็จของพระโพธิสัตว์ครบถ้วนมาแล้ว หากผู้ใดที่ประสงค์จะสร้างบุญบารมี โดยใช้เส้นทางนี้เพื่อกราบไหว้สถานที่สำคัญ โดยเฉพาะเป็น "พระเกศาธาตุ" ทั้ง ๔ แห่งดังกล่าว นับว่าคุ้มค้าในการเกิดเป็นอย่างยิ่ง ท่านจะประสงค์สิ่งใดก็จะได้สมความปรารถนา โดยเฉพาะผู้ที่ประสงค์จะบำเพ็ญบารมี "พุทธภูมิ" ชีวิตนี้ควรจะไปเป็นอย่างยิ่ง



(จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือไม่ ทางการจึงใช้คำว่า "ร้องกวาง" ตั้งเป็นอำเภอ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดประมาณ ๒๐ ก.ม.)



(ตอนนี้เป็นเวลาเย็นแล้ว ต้องรีบวิ่งรถขึ้นไปบนเขา เพื่อกราบไหว้พระธาตุปูแจก่อน ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุตาตุ่มข้างขวา (กระดูกข้อเท้า) อีกทั้งบริเวณนี้เคยเป็นที่ "กวางทองโพธิสัตว์" ได้หนีนายพรานมานอนตายอยู่ที่นี่ด้วย)



(ทิวทัศน์ในยามเย็น ณ สถานที่นี้ ผู้เขียนไม่ได้มานานแล้ว เจ้าอาวาสองค์ก่อนก็มรณภาพไปแล้ว)



(องค์พระธาตุและพระวิหารเดิมอยู่บนเนินเขาด้านนี้ ถ้ามองออกไปที่ด้านหน้า จะเห็นโครงสร้างองค์พระอยู่แต่ไกล)



(โครงเหล็กที่ผูกเป็นองค์พระพุทธรูปใหญ่ รอที่จะทำพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ ๑๕ ม.ค. นี้)



(พวกเราได้ขับรถลงมาจากยอดเขาพระธาตุ หลังจากที่ได้ทำบุญร่วมสร้างองค์พระ
พร้อมกับบูรณะพระวิหารด้านนี้ กับเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันนี้ เป็นเงิน ๕,๕๐๐ บาท)



(หลังจากจอดรถไว้ด้านข้างถนนแล้ว จึงเดินเข้าไปในมณฑลพิธีด้านหน้าองค์พระ ได้กางเต้นท์และตั้งเก้าอี้ไว้มากมาย)



(พบว่าทางวัดกำลังจัดเตรียมเครื่องบายศรีไว้บนโต๊ะใหญ่ บริเวณนี้มีทั้งเจ้าหน้าที่จัดงานและพระภิกษุหลายรูป)



(ดอกไม้บายศรีมีหลากหลายรูปแบบสวยงามตามประเพณี คุณบุ๋ม..วัชรพลได้ถ่ายภาพมาให้ชมทุกแบบ)



(ในระหว่างนี้ ผู้เขียนได้พบปะพูดคุยกับพระอาจารย์รูปหนึ่งที่ได้รับกิจนิมนต์มาร่วมงานด้วย)



(เมื่อทราบว่าท่านมาจากสุพรรณบุรี และรู้จักกับเจ้าอาวาสมาก่อน ผู้เขียนจึงถวายหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม ๑
พร้อมกับฝากถวายเจ้าอาวาสวัดนี้ด้วย เพราะเห็นท่านกำลังยุ่งอยู่กับการจัดเตรียมงาน)



(อีกทั้งได้ทราบว่าพระพุทธรูปองค์เล็กสีขาวนี้ คือ องค์ต้นแบบจำลองที่จะสร้างเป็นองค์ใหญ่
โดยมีช่างรับเหมาค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน ๕ ล้านบาท)



(โดยเฉพาะการที่พวกเราเดินทางมาถึงวันนี้ ถือว่าเป็นการบังเอิญจริงๆ แล้วก็โชคดีเป็นอย่างยิ่ง
เพราะวันพรุ่งนี้เขาจะมีงานพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างองค์พระ และที่เห็นภาพนี้คือ โครงเหล็กส่วนพระเกศ
ผู้เขียนจึงถือโอกาสเข้าไปปิดทองและสรงน้ำหอมเป็นปฐมฤกษ์ก่อนเลย)




๑๕ มกราคม ๒๕๕๔ (พิษณุโลก - พิจิตร)

๓๒ พระมหาธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์ สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง เขาสมอแคลง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก (พบใหม่)

วันนี้ยังมีเวลาที่จะเดินทางต่อไป ก่อนที่จะไปร่วมงานบรรจุพระเนตร พระพุทธไสยาสน์ วัดสุขุมาราม จ.พิจิตร จึงได้ขึ้นไปบนเขาสมอแคลง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ทั้งนี้ได้เคยไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาทบนเขาสมอแคลงหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เคยขึ้นไปบนเขาเลย



(ป้ายประวัติการสร้าง "พระมหาธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์ ณ สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง บนยอดเขาสมอแคลง)



(ทิวทัศน์ด้านล่าง คือพระพุทธรูปใหญ่ วัดคลองเรือ เมื่อมองลงไปจากบนลานพระธาตุแห่งนี้)

ครั้งนี้ได้นำรถขึ้นไปบนถึงบริเวณ สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง เข้าไปกราบไหว้พระเจดีย์ที่บรรจุพระนลาฏ (กระดูกส่วนที่เป็นหน้าผาก) ของพระพุทธเจ้า ลักษณะการสร้างเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิน (ดอกบัวตูม) ด้านฐานพระมหาธาตุเจดีย์ มีพระพุทธลีลามหาธรรมราชาลิไท ประดิษฐานทั้ง ๔ ด้าน จากนั้นได้ทำบุญหยอดตู้ต่างๆ เป็นเงิน ๕๐๐ บาท พร้อมกับสรงน้ำพระธาตุและปิดทองพระเจดีย์



(พระมหาธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์)



(ด้านฐานพระมหาธาตุเจดีย์ มีพระพุทธลีลามหาธรรมราชาลิไท ประดิษฐานทั้ง ๔ ด้าน)

ในขณะที่เข้าไปในวัดได้พบพระรูปหนึ่งภายในวัด ท่านเป็นพระมหา (จำชื่อไม่ได้) ท่านรับอาสานำไปชมเกือบทุกแห่งบนยอดเขานี้ ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จากนั้นท่านก็พาไปกราบพระเจดีย์เก่าแก่บนยอดเขา และพาไปดูศาลเจ้าต่างๆ ในเขาสมอแคลง


ผู้เขียนได้ทำบุญที่ศาลเจ้าด้วยการชื้อ "โรงศพ" ให้เป็นทานแก่คนยากไร้ ๓๐๐ บาท และต่อมาวันที่ 14 ก.พ. 54 ก็ได้ถวายโรงศพให้แก่ พระอาจารย์หย่งศรี วัดเขาพลวงทอง จ.เพชรบูรณ์ อีก 6 โรง (ลายเทพพนม มีหมอนและที่นอนภายในโรงด้วย) เพื่อสำรองไว้สำหรับชาวบ้านแถวนั้น ซึ่งผู้เขียนได้ถวายเป็นประจำทุกปี



(ป้ายประวัติบนยอดเขาตามที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "เจดีย์ยอดด้วน" คงจะเก่าแก่มานาน)



(ผู้เขียนได้ขึ้นไปสรงน้ำหอมและปิดทองแล้ว จึงมานั่งพักเหนื่อยให้ถ่ายรูป)



(ยังมีเรื่องที่แปลกมากนั่นก็คือ บนยอดเขานี้มีสระน้ำธรรมชาติ น้ำไม่แห้งอีกด้วย


๓๓ วัดราชคีรีหิรัญยาราม(พระแม่กวนอิมหยกขาว) เขาสมอแคลง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก

ตามที่ทราบกันบ้างแล้วว่า บนยอดเขาสมอแคลงมีทั้งวัด สำนักสงฆ์ และศาลเจ้าอยู่หลายแห่ง วัดเจ้าแม่กวนอิมนี้ก็สร้างได้ใหญ่โตมโหฬาร แต่ก็ยังค้างอยู่ด้วยปัญหาอะไรก็ไม่ทราบได้ ก่อนจะกลับจึงได้ทำบุญใส่ตู้สร้างวิหารให้กับหลวงพ่อหยกขาวรวม ๒๐๐ บาท



(ผู้เขียนได้เข้าไปกราบไหว้พระประธานในศาลเจ้า พร้อมทั้งทำบุญค่าโรงศพคนยากไร้)



(ป้ายเชิญชวนร่วมสร้างวิหารหลวงพ่อหยกขาว)



(สถานที่กำลังก่อสร้างพระวิหารหลวงพ่อหยกขาว)


๓๔. วัดคลองเรือ ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก



(ครั้นเมื่อลงจากยอดเขาแล้ว จึงได้เข้าไปเที่ยวชม "วัดคลองเรือ" ที่อยู่ตรงข้ามกับเขาสมอแคลง)



(หลังจากได้กราบไหว้พระพุทธรูปองค์ใหญ่ และพระเจดีย์วัดคลองเรือแล้ว จึงออกเดินทางไปพักค้างคืน)


๓๕ วัดห้วยเรียงกลาง ต.วังตะกู อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร

ผู้เขียนได้เดินทางมาพักที่วัดนี้ พร้อมกับคณะตาพระยาที่เดินทางมาร่วมสมทบด้วย ผู้เขียนได้ร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาส ๒,๐๐๐ บาท



๑๖ มกราคม ๒๕๕๔ (พิจิตร - อุทัยธานี)

๓๖. พระพุทธไสยาสน์ วัดสุขุมาราม ต.วังตะกู อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร

วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ที่ลูกศิษย์หลวงพ่อเกือบทั่วประเทศ ได้เดินทางมาร่วมงานพิธีบรรจุพระเนตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปนอนยาว ๒๕ วา (๕๐ เมตร) เป็นพระที่สร้างขึ้นใหม่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนล่าง พอถึงเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. จึงได้ทำพิธีติดพระเนตรและบรรจุพระเครื่องไว้ใต้ฐานพระ ผู้เขียนได้นำเงินที่ญาติโยมใส่ย่าม ถวายแด่ท่านพระครูปลัดสุวัฒนสมาธิคุณ เพื่อเป็นพุทธบูชา ๒ ครั้ง ประมาณหมื่นกว่าบาท และถวายพระเจ้าหน้าที่ที่มาจัดงานเกือบ ๑๐ รูป ๆ ละ ๕๐๐ บาทอีกด้วย



(วิหารพระพุทธไสยาสน์ ด้านข้างปรับถนนโดยรอบ มีห้องน้ำสะอาดอยู่ด้านหลัง)



(ด้านหน้าโต๊ะวางบายศรีจัดทำอย่างสวยงามและประณีต โดยคณะอาจารย์ รร.พระสุธรรมยานเถระวิทยา)



(ด้านข้างโต๊ะบายศรีประดับผ้าเป็นชั้นๆ โดยมีรูปปั้นท้าวมหาราชประจำทิศทั้งสี่ของโต๊ะบวงสรวง)



(ดวงพระเนตรก็เช่นเดียวกัน ได้จัดเตรียมตั้งไว้พร้อมด้วยเครื่องบูชาอย่างสวยงาม)



(เมื่อถึงเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. จึงเริ่มพิธีอัญเชิญพระเนตร)



(บุษบกอัญเชิญพระเนตรกำลังถูกดึงขึ้นไปบนองค์พระ)



(โดยมีช่างใส่ขุดขาวคอยรอรับอยู่)



(จากนั้นได้ติดพระเนตรข้างขวาก่อน)



(ท่ามกลางคลื่นมหาชนอย่างล้นหลาม ที่คอยถือด้ายสายสิญจน์พร้อมกับสวดอิติปิโสไปด้วย)



(ผลสุดท้ายงานพิธีบรรจุดวงพระเนตรก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี)



(ทุกคนที่มาร่วมงาน ต่างก็ปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง)



(ฝ่าพระบาททั้งคู่ของพระนอน จะทำพิธีหล่อในวันเสาร์ ๕ ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ วัดท่าซุง)




สรุปพระพุทธรูปลอยน้ำมี ๓ ประเทศ

เป็นอันว่า พวกเราได้มีโอกาสกราบไหว้สถานที่สำคัญทั่วชมพูทวีป โดยเฉพาะ "พระพุทธรูป" ที่สำคัญอันมีประวัติเกี่ยวกับการลอยน้ำมานั้น พอจะสรุปได้ว่ามีทั้งหมด ๓ ประเทศ ประดิษฐานอยู่แถบเมืองชายฝั่งทั้งสิ้น ดังนี้คือ

๑. ประเทศไทย ได้แก่

- หลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา
- หลวงพ่อวัดไร่ขิง จ.นครปฐม
- หลวงพ่อวัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม
- หลวงพ่อวัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี
- หลวงพ่อวัดบางพลี จ.สมุทรปราการ

๒. ประเทศพม่า ได้แก่

- พระพุทธรูปไจ้ปอลอ เมืองไจ้โท
- พระพุทธรูปไจ้มุทธอร์ เมืองพะสิม
- พระพุทธรูปไจ้คามี เมืองเมาะละแหม่ง
- พระพุทธรูปชีมุที เมืองทวาย

๓. ประเทศลาว ได้แก่

- พระสิงคำ วัดสิงห์คำ เมืองล่า
- พระสัมฤทธิ์ วัดสีคูณเมือง เมืองขวา
- พระฆ้อง วัดโอกาสไชยาราม เมืองงอย
- พระหิน ยังจมอยู่ในน้ำ "วังควาย" ดอนน้ำนัว
- พระนัก ยังจมอยู่ในแม่น้ำอู ที่บ้านสบวัน


สรุปการเดินทาง ตั้งแต่วันที่ ๕ - ๑๖ มกราคม ๒๕๕๔

๑ บูชาพระธาตุเจดีย์ ๑๒ แห่ง
๒ ร่วมสร้างพระธาตุเจดีย์ ๔ แห่ง
๓ กราบพระพุทธรูปสำคัญ ๗ แห่ง
๔ ร่วมสร้างพระพุทธรูปใหญ่ ๓ แห่ง
๕ วัดที่เข้าไปทำบุญ ๖ แห่ง
๖ รอยพระพุทธบาท ๔ แห่ง
๗ รอยประทับนั่ง ๑ แห่ง

รวมทั้งหมด ๓๗ แห่ง

(หมายเหตุ :
วัดพระแก้ว เชียงของ และ พระธาตุปูปอ (ภูปอ) มีพระบาทและพระธาตุในสถานที่เดียวกัน)

รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๔๑,๘๕๐ บาท
รวมเงินทำบุญทั้งหมด ๔๑,๑๕๐ บาท
เป็นเงินกีบที่ทำบุญทั้งหมด ๒๓๕,๐๐๐ กีบ


รวมความว่า การทำบุญทั้งหมดเป็นเงินที่ญาติโยมใส่ย่ามไว้หลายวาระ ซึ่งไม่นับรวม เครื่องไทยทาน และ ผ้าทองอีก ๑ ม้วน ของคุณหลีกับก๋วยเจ๋ง พร้อมกับเครื่องบูชามีฉัตร พานพุ่ม เป็นต้น ของคุณหมี และคณะชัยภูมิ และเงินทำบุญจากในย่ามอีกหมื่นกว่าบาทที่ถวายไว้ที่พระนอนด้วย จึงขออนุโมทนาทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย..สวัสดี.


kittinaja
Super Administrator
*********
Posts: 192
Registered: 10/2/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved