|
|
|
posted on 4/4/15 at 10:56 |
|
เล่าเรื่องการเดินทาง "ตามรอยพระโพธิสัตว์..ทางภาคเหนือ" วันที่ 17 - 22 มิถุนายน 2557
เล่าเรื่องการเดินทาง "ตามรอยพระโพธิสัตว์..ทางภาคเหนือ"
ระหว่างวันที่ 17 - 22 มิถุนายน 2557
๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ (วัดท่าซุง - เถิน - ลี้)
..........คณะตามรอยเล็กๆ แม้ว่าจะมีจำนวนเพียงไม่กี่คน แต่ก็ยังโชคดีไม่แพ้คณะตามรอยฯเดิม รุ่นพี่ ที่พวกเรายังมีโอกาสได้รับใช้พระพุทธศาสนา
ในการแสวงหามหากุศลอันหาประมาณมิได้ โดยเฉพาะทริปนี้หลวงพี่ชัยวัฒน์ท่านตั้งใจไว้นานแล้วว่า จะต้องจัดการเดินทาง "ตามรอยพระโพธิสัตว์" กันสักครั้ง
ซึ่งพระเจดีย์รวม ๔ แห่งนี้ (บรรจุพระเกศาธาตุทั้ง ๔ แห่ง) เป็นที่ "เนื้อทรายทองพระโพธิสัตว์" เคยอาศัยบริเวรณสถานที่เหล่านี้มาก่อน คือ
เริ่มต้นจาก พระธาตุทรายนอน, พระธาตุทรายเหงา, พระธาตุหนองจันทน์ และ พระธาตุปูแจ แต่ครั้งนั้นสมัย ๑๐ กว่าปีก่อนยังไม่สามารถไปที่
"พระธาตุทรายเหงา" ให้ครบถ้วนได้ จึงรอเวลาอยู่นานหลายปี พอดีหลวงพี่ได้พบกับอาจารย์ใบบุญ แสงแก้ว (บ้านอยู่ที่ อ.งาว จ.ลำปาง)
บอกว่าตอนนี้สามารถเข้าไปถึงแล้ว หลวงพี่จึงวางแผนการเดินทางพร้อมกับหาซื้อรูปปั้น "ทรายทองพระโพธิสัตว์" ไปถวาย
เพื่อจะได้อานิสงส์ในการบูชาพระโพธิสัตว์ไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนัดหมายผู้ร่วมเดินทางทุกคนให้เตรียมตัวไว้พร้อม หลังจากทำพิธียกฉัตรทั้ง ๓ แห่งแล้ว พอกลับมาถึงวัดวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
วันรุ่งขึ้น ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ เราก็เดินทางขึ้นเหนือกันทันที ซึ่งมีรถของหลวงพี่ และรถคุณต่าย (จากชลบุรี) ติดตามไปด้วยอีก ๑ คัน
โดยมีเป้าหมายทั้งงานตามรอยพระพุทธบาทที่ยังค้างอยู่ และตามรอยพระโพธิสัตว์ และงานพิธีวางศิลาฤกษ์ สร้างวิหารสมเด็จองค์ปฐม ที่วัดศรีสุวรรณาราม
(วัดบ้านเป๊าะเก่า) อ.งาว จ.ลำปาง ตามที่อาจารย์ใบบุญ แสงแก้ว เป็นผู้นิมนต์หลวงพี่ไว้ เรียกว่าหลวงพี่เดินทางควบทั้งสองงานไปเลย
๑. วัดพระพุทธบาทแม่วะ ต.แม่วะ อ.เถิน จ.ลำปาง
ในตอนเช้าเดินทางผ่าน วัดพระพุทธบาทแม่วะ หลวงพี่พร้อมคณะได้ร่วมทำบุญสร้างโบสถ์ กับพระประธาน และปิดทองลูกนิมิต จำนวนเงิน ๓,๐๐๐ บาท พร้อมกับถวาย
"หนังสือตามรอย เล่ม ๑" ไว้ที่นี่
๒. รอยพระพุทธบาท ขุนห้วยแม่หว่าง บ้านแม่หว่าง ต. นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน
รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ค้างไว้นาน เพราะต้องเข้าไปในป่าลึก ตามที่เคยเล่าไปแล้วในกระทู้นี้ http://tamroiphrabuddhabat.com/xmb/viewthread.php?tid=879
จึงขอย้อนนำรูปภาพเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๔ มาเล่าย้อนอีกครั้งนะค่ะ
หลวงพี่ท่านนั่งรถผ่านได้มองเห็นพระเจดีย์ "ศรีวิชัยจอมคีรี" กำลังตั้งนั่งร้านอยู่รายรอบ
หลวงพี่จึงเข้าไปร่วมทำบุญกับพระกฤษณะที่อาศัยอยู่ที่วัดแห่งนี้
พระกฤษณะได้ให้ข้อมูลว่ามีรอยพระพุทธบาทอยู่ที่ "แม่หว่าง" (ขุนห้วยแม่หว่าง) ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมานานหลายปี ครั้งนี้เป็นโชคดีที่หลวงพี่นำพวกเราออกเดินทางกันมาอีกครั้ง เพื่อจะเก็บงานที่ค้างอยู่ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔
พวกเราขับรถจากวัดกันแต่เช้ามืดเลี้ยวเข้าทางเถินสู่อำเภอลี้ ก่อนถึงวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จะมองเห็นพระเจดีย์ "ศรีวิชัยจอมคีรี" แต่ไกล
หลวงพี่บอกให้ขับรถเข้าไปบนวัดที่อยู่บนเนินเขาน้อยๆ แล้วเข้าไปถามหา พระกฤษณะ ซึ่งเป็นลูกศิษย์สายหลวงปู่ครูบาชัยวงษา
นับเป็นความโชคดีจริงๆ ที่ท่านยังอยู่วัดนี้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยติดต่อกับท่านเลยมานานหลายปี หลวงพี่จึงขอให้ท่านนำทางไปที่รอยพระพุทธบาทขุนห้วยแม่หว่าง
ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในป่าหลังวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ท่านจึงได้นำรถกระบะของวัดแบบโฟร์วิลมาช่วยอีก ๑ คัน โดยมีพระที่วัดนั่งติดตามไปด้วยอีก ๒ - ๓ รูป
รถขับไปได้ครึ่งทาง รถของคุณต่ายจอดก่อน ขับไปอีกสักกิโลรถของหลวงพี่ก็จอด มารวมเป็นรถคันเดียว แล้วเดินทางต่อ ช่วงเดินทางมีฝนตกพร่ำๆ มาตลอด
จะเห็นว่าพอมาถึงจุดที่รถไปไม่ได้ ต้องเดินทางด้วยเท้ากันต่อประมาณครึ่งชั่วโมง ฝนก็ยังตกมาตลอด ช่วยกันถือเครื่องบูชาแล้วเดินทางกันไปเรื่อยๆ
ในภาพจะเห็นชาวบ้านเข้ามาทำไร่กันไปทั่ว ซึ่งอยู่ห่างไกลหมู่บ้านแต่ก็ยังอุตส่าห์เข้ามากัน สภาพป่าจึงเห็นอยู่เพียงแค่นี้ เดินทางไปก็ลำบาก
แต่ก็ดีใจเมื่อมองเห็นยอดพระเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาทแต่ไกล ซึ่งเป็นพระที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มมาสร้างมณฑปยอดพระเจดีย์ครอบไว้แต่ยังไม่ได้ฉลอง
เมื่อมาถึงรอยพระพุทธบาทกันหมดทุกคนแล้ว ต่างก็ช่วยกันทำความสะอาดสถานที่ และตกแต่งบายศรี ส่วนคุณต่ายขึ้นไปห่มผ้าบนยอดมณฑปพระเจดีย์
สภาพรอยพระพุทธบาทถูกทาสีทองไว้หมดแล้ว จึงมองไม่เห็นสภาพเดิมๆ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเหยียบไว้เป็นหลุมลึก เดิมน่าจะมีน้ำไหลผ่าน มองเห็นเป็นรอยนิ้วเท้า
แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการทำไว้ในรอยเกือกแก้วหรือไม่ ซึ่งได้เห็นรอยพระพุทธบาทเกือกแก้วที่ "ดอยถ้ำ" อ.ลี้ จ.ลำพูน ถูกแต่งเป็นนิ้วเท้าเช่นกัน
เวลานี้มองดูสภาพก็เงียบเหงา เพราะฉะนั้นรอยพระพุทธบาทถ้าทำถูกต้องจะเป็นสิริมงคลยิ่ง แต่ถ้าทำไม่ถูกก็มีผลตรงข้ามเช่นกัน
เมื่อตั้งเครื่องบูชาเสร็จก็เริ่มพิธีบวงสรวง กราบรอยพระพุทธบาท เสร็จแล้วหลวงพี่ทำบุญกับพระที่นำทางทุกรูป พร้อมกับเติมน้ำมันให้รถกระบะของวัดด้วย
รวมเงินประมาณ ๔,๐๐๐ บาท ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก แล้วเดินทางกลับ
การเดินทางกลับต้องนั่งรถของคันที่นำทางแล้วค่อยมาถึงรถของหลวงพี่ และรถของต่าย ที่จอดไว้ตามลำดับ ภูมิประเทศเป็นป่าเขา
ต้องอาศัยความชำนาญขับรถเลียบเชิงเขาหวาดเสียวมาก จากนั้นก็นำทางไปหาพระที่จะพาไปรอยพระพุทธบาทอีกแห่งหนึ่ง
๓. รอยพระพุทธบาท หลังวัดผาลาดเหนือ บ้านผาลาด ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน
พวกเราเดินทางกว่าจะออกมาจากป่ามาถึงจุดนี้ก็เกือบ ๖ โมงเย็นแล้ว พระกฤษณะได้นำมาถึงวัดผาลาดเหนือ
เพื่อพบเจ้าอาวาสให้ท่านนำไปที่รอยพระพุทธบาทที่อยู่หลังวัด เมื่อท่านพร้อมแล้วก็ขับรถเข้าไปในป่าข้างวัด แล้วลงจากรถเดินเท้าต่อเข้าไปในป่า
ตอนนี้ทุลักทุเลมากต้องรีบเดินเร่งกับเวลา หลวงพี่เจ้าอาวาสที่ท่านนำทางก็เดินนำหน้าพาไปอย่างรวดเร็ว พระอาทิตย์ช่วงเดือนมิถุนายนช่วยเป็นใจให้มืดช้า
พอมาถึงบริเวณสถานที่มองเห็นสภาพโดยทั่วไป มีการก่ออิฐล้อมรอยพระพุทธบาทเอาไว้ มีหลายรอยประมาณ ๔ รอย และมีรูปปั้นเทวดาล้อมไว้ทั้ง ๔ ทิศ
เจ้าอาวาสวัดผาลาดเหนือเล่าว่า เดิมมีชาวบ้านคนหนึ่งในหมู่บ้านนี้ได้ฝันเห็นพระพุทธเจ้าประทับยืนอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง จึงได้พยายามสืบหาจนพบว่า
มีรอยพระพุทธบาทอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งมีสภาพตรงตามความฝันทุกอย่าง อีกทั้งเป็นรอยพระพุทธบาทคู่เหมือนทรงประทับยืนอยู่
ส่วนด้านหลังรอยพระพุทธบาทมี พระพุทธชินราช หลวงปู่ปาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน และครูบาเจ้าศรีวิชัยมาประดิษฐานไว้ในเพิงหลังคาครอบ ท่านบอกว่า
ท่านอาจารย์สิงห์ วัดถ้ำป่าไผ่ อัญเชิญมาถวายไว้ที่นี่ นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นพญานาคอยู่ที่ข้าง "บ่อน้ำทิพย์"
พวกเราช่วยกันจัดเครื่องบูชาบวงสรวงด้วยเทปหลวงพ่อฯ โดยก่อนหน้านี้หลวงพี่ได้อธิษฐานแล้วว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจริง โดยการวัดไม้วาเสี่ยงทาย
พอเสร็จพิธีก็มืดค่ำพอดี จากนั้นหลวงพี่ถวายเงินเจ้าอาวาสที่นำทางจำนวนเงิน ๑,๐๐๐ บาท
วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ (ลี้ - ดอยเต่า - อมก๋อย)
๔. วัดพระพุทธบาทตะเมาะ ต.โป่งทุ่ง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่
หลวงพี่แวะเข้าไปเพื่อพบหลวงพี่นพดล เจ้าอาวาส แต่ท่านไม่อยู่ไปประเทศศรีลังกา จึงเข้าไปกราบรอยพระพุทธบาทที่หลวงพี่นพดลท่านยกมาจากในป่า
และสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ และรอยพระพุทธบาทที่อยู่ในมณฑปเก่าด้วย (ครุบาขาวปีเป็นผู้สร้าง) จากนั้นทำบุญใส่ตู้ตามอัธยาศัย รวมกันประมาณ ๕๐๐
บาท
๕. วัดพระธาตุจอมแจ้ง ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
หลังจากนั้นเดินทางผ่านดอยเต่าไปอมก๋อย ถึงวัดพระธาตุจอมแจ้ง เดิมชื่อ "ดอยนางนอน" (ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลกบอกว่า
พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานเส้นพระเกศาธาตุที่ดอยนางนอนแห่งนี้) เป็นพระเจดีย์องค์ไม่ใหญ่นัก บรรจุพระเกศาธาตุ และพระเสมหะธาตุของพระพุทธเจ้า
พวกเราช่วยกันห่มผ้าพระธาตุ ในขณะที่ฝนโปรยปรายลงมาเป็นละออง จากนั้นทำพิธีบวงสรวง สรงน้ำหอมและโปรยดอกไม้บูชาองค์พระเจดีย์
จากนั้นได้มาสทนากับเจ้าอาวาส ถวายหนังสือตามรอยเล่มเล็ก และตามรอยเล่มใหญ่ เล่ม ๑ พร้อมกับถวายเงินทำบุญกับเจ้าอาวาส ๒,๐๐๐ บาท
และได้สักการบูชาพระพุทธรูปเก่าแก่ (สิงห์หนึ่ง) ซึ่งเป็นพระรุ่นเก่าโบราณ ทางวัดต้องทำลูกกรงล้อมไว้เพื่อป้องกันขโมย
ประวัติความเป็นมาของเมืองตื๋น
เมืองตื๋นเป็นหนึ่งในเมืองโบราณที่สำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีประวัติความเป็นมาที่ซับซ้อนกันหลายยุคหลายสมัย แบ่งเป็น 4 ยุคดังนี้
1. ยุคแรก ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลายถึงยุคหริภุญไชย
2. ยุคที่สอง ยุคอาณาจักรล้านนา
3. ยุคที่สาม ยุคภายใต้การปกครองของพม่า
4. ยุคที่สี่ ยุคฟื้นฟูอาณาจักรล้านนา หรือยุครัตนโกสินทร์
ยุคแรก
ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สืบมาจนถึงยุคหริภุญไชย ประมาณพุทธศตรรษที่ 12 19 ตอนต้น บริเวณนี้( พื้นที่ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย
จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน ) เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเม็งค์และชาวละว้า ประกอบกับมีพื้นที่บริเวณราบลุ่มแม่น้ำในยุคหริภัญไชย
ซึ่งต่อมาได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆจนเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางการค้า และกลายเป็นเมืองหน้าด่านในที่สุด
ต่อมาจึงได้มีการแผ่ขยายพื้นที่ปกครองโดยการอพยพผู้คนจากนครหริภุญไชยเข้ามาอยู่อาศัย ปลูกบ้านสร้างเมืองเพื่อใช้เมืองตื๋นเป็นเมืองหน้าด่าน
และเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในการติดต่อซื้อขายสินค้าระหว่างอาณาจักรหริภุญไชยกับอาณาจักรพุกามทางตะวันตก เมืองตื๋นจึงได้รับอิทธิพลทางศาสนาพุทธ
ศิลปกรรมและวัฒนธรรมจากหริภุญไชย คือเริ่มมีการสร้าวัดและจัดสรรชุมชนที่อยู่อาศัยตามหุบเขาต่างๆ รอบพื้นที่รุ่มน้ำแม่ตื่น
ยุคที่สอง
ยุคอาณาจักรล้านนาเรืองอำนาจ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ( พ.ศ. 1984 - 2030 ) กษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์มังรายและในปี พ.ศ. 1984 พระองค์ได้ส่ง ทหารเอก 2
สองพี่น้องชื่อว่า พญาช้างเผือก , พญาเสิก พร้อมทหารและผู้คน จากเมืองเชียงใหม่เข้ามาปกครอง พัฒนาบ้านเมืองอีกครั้ง
เพื่อฟื้นฟูเมืองหน้าด่านในการรักษาปราการจากข้าศึก ตลอดจนเพื่อพัฒนาเป็นฐานที่มั่นในการขยายอาณาเขตในการติดต่อซื้อขาย
นอกจากนี้ในยุคอาณาจักรล้านนายังพบหลักฐานที่ สำคัญอีก คือ "ตำนานวัดพระธาตุจอมแจ้ง" ถูกบันทึกในคัมภีร์ใบลานเขียนด้วยตัวอักษรธรรมล้านนา และ
พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้นกว่ายุคแรก ได้แก่ องศ์พระบรมธาตุจอมแจ้ง และพระธาตุเจดีย์องค์ในของวัดสะฐาน
ตำนานวัดพระธาตุจอมแจ้ง
มีพญาสองพี่น้อง โดยผู้เป็นพี่มีชื่อว่า "พญาช้างเผือก" และน้องชื่อ "พญาเสิก" จากตำนานได้กล่าวว่า พญาสองพี่น้องได้อพยพลงมาจากเมืองเชียงใหม่
ลงมาปักหลักสร้างเมืองชื่อว่า เมืองตื๋นนันทบุรี ในปี จุลศุกราช 804 ปีจอ จัตวาศก พ.ศ. 1985 และได้พยาพยามขยายอาณาเขตบ้านเมืองให้กว้างขวางออกไป
ประกอบด้วย ฟ่อนฟ้า นาหงส์ สะหลง แม่ระมาด หินลาด อมวาบ นาไฮท่าก๋อง หนองแสง ดินแดง บ้าน ปอก บ้านหมาก ผาลาดและวังคำ ต่อมาจุลศักราช 894 ปีมะโรง จัตวาศก
พ.ศ. 2057 พญาช้างเผือก ผู้เป็นพี่ก็ได้สิ้นชีพ พญาเสิกผู้เป็นน้องได้ขึ้นเสวยเมืองแทน ถึงจุลศักราช 960 ปีจอ สัมฤทธิศก พ.ศ. 2141 พญาเสิกก็ได้สิ้นชีพ
ยุคที่สาม
ยุคภายใต้การปกครองของพม่า( พ.ศ. 2101 2347 ) พัฒนาการจากยุคที่สองถึงยุคที่สาม เป็นการกล่าวถึง ตำนานวัดพระธาตุจอมแจ้ง ฉบับเดิม หลังจากที่
พญาเสิกได้สิ้นชีพใน พ.ศ. 2141 และทายาทที่จะต้องสืบทอดราชสมบัติต่อจากพญาเสิกคือ บุตรของพญาช้างเผือก ชื่อ "พญาอาทิตราช" ( บุตรคนแรกของพญาช้างเผือก )
พญาอาทิตราชได้ก่อสร้างพระเจดีย์ธาตุเจ้าขึ้นที่ ดอยนางน้อง ( วัดจอมแจ้ง )ในปี พ.ศ. 2148 ต่อมาพญาอาทิตราชได้สิ้นชีพลงเมื่อปี พ.ศ. 2212 ทำให้พญาอุทุมราช
( บุตรคนที่สองของพญาช้างเผือก) ได้ขึ้นครองราชสมบัติ ถึงจุลศักราช 1113 หรือ พ.ศ. 2294
ปี พ.ศ. 2296 พญาอุทุมราชได้สิ้นชีพลง ทำให้พญาอนันตราชผู้เป็นบุตรของพญาเสิกได้ขึ้นครองราชย์แทน
ถึงจุลศักราช 1118 หรือ พ.ศ. 2297 พญาอนันตราชก็ได้เริ่มสร้างกำแพงรอบ "พระธาตุเจ้าดอยนางน้อง" ( วัดจอมแจ้ง) พร้อมทั้งได้นำพระเกศา พระพุทธเจ้า 1
เส้นมาบรรจุไว้ที่พระธาตุเจดีย์ วัดจอมแจ้งที่ดอยนางน้องเมื่อบรรจุพระธาตุเจ้าสำเร็จก็เกิดปาฏิหาริย์ คือมีดวงแก้วลอยออกจากพระธาตุเจ้าลอยไปทางดอยม่อนจอง
แล้วแวะไปหาพระธาตุเมืองสร้อย แล้วก็กลับมาที่พระธาตุเจ้าจอมแจ้งที่เดิม และใน พ.ศ. 2303 พญาอนันตราชก็ได้สร้างวิหารเสร็จ และได้ทำบุญฉลองใหญ่
ทำให้บ้านเมืองได้รับความเจริญรุ่งเรืองทั่วทุกพื้นที่เมืองตื๋นนันทบุรีตราบจนทั่วถึงทุกวันนี้
หลักฐานที่พบในตำนานวัดพระธาตุจอมแจ้ง
พบหลักฐานด้านโบราณสถานเหลืออยู่คือ ซุ้มประตูโขงและแนวกำแพงโบราณของวัดพระธาตุจอมแจ้ง รวมทั้งวัดสะฐาน
กับโครงสร้างพระวิหารของวัดพระธาตุจอมแจ้งพร้อมพระประธาน และพระพุทธรูปสำริด เป็นจำนวนมาก
ยุคที่สี่
สมัยฟื้นฟูอาณาจักรล้านนา ซึ่งอยู่ในยุครัตนโกสินทร์ เป็นยุคที่ล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามในฐานะรัฐประเทศราช
ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ต้องมีการส่งเครื่องบรรณาการไปถวายแด่พระเจ้ากรุงสยาม จึงมีการกำหนดขอบเขตของประเทศราชล้านนา โดยกำหนดเอา เมืองตื๋น
เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของล้านนา ในฐานะเมืองหน้าด่านด้านทิศใต้ของเมืองนครเชียงใหม่ โดยมีชื่อเรียกว่า เมืองตื๋นด่าน พญาอินทรย์ โดยที่ชื่อ
พญาอินทรีย์ เป็นราชทินนามของเจ้าเมืองตื๋นที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทรงโปรดประทานแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองในระดับชั้น พญา
การรวมรัฐประเทศราชล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม
หลังจากสิ้นสุดยุคประเทศราช ได้มีการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชการที่ 5 ( เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2440 ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทำการปฏิรูปการปกครอง โดยการผนวกรัฐประเทศราชล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และกำหนดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ในเขตล้านนาเดิมกำหนดเป็นมณฑลพายัพ มี 6
เมือง เมืองนครเชียงใหม่ มีพื้นที่ครอบคลุมถึงแม่ฮ่องสอนและเชียงราย โดยมีแขวง(อำเภอ)ต่างๆ ที่ขึ้นตรงต่อเมืองนครเชียงใหม่ 28 แขวง(อำเภอ) และมีแคว้น (
ตำบล )
การปฏิรูปการปกครอง
หลังจากที่ได้กำหนดการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลแล้ว ต่อมา รัชการที่ 5 ได้ลองผิดลองถูก เช่นการยุบรวมแขวงต่างๆเข้าด้วยกัน หรือตั้งเป็นแขวงใหม่
จนกระทั่งบ้านเมืองได้มีความเจริญก้าวหน้าในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการพัฒนาบ้านเมืองในด้าน ต่างๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และได้ทำการยกเลิกการบริหารรูปแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยยกเลิก มณฑล ให้เหลือเพียงจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
ขอบคุณที่มา - www.templethailand.org/ID50180301-วัดจอมแจ้ง.html
ตำนานพระเจ้าเลียบโลก
.......เมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในที่ต่างๆ ครั้งหนึ่งพระองค์เสด็จมาถึงดงไม้ตาลแล้วขึ้นประทับบนจอมดอยแห่งหนึ่ง
เรียกว่า "ดอยนางพี่" ได้ประทานพระเกศาธาตุ 1 เส้นให้พวกละว้าที่มาเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ต่อมาเรียกว่า "ดอยนางนอนจอมแจ้ง"
(เพราะเสด็จมาถึงที่นั่นตอนรุ่งเช้า บางแห่งเรียก ดอยนางน้อง) ต่อจากนั้นจึงเสด็จไปประทานพระเกศาธาตุอีก 1 เส้นที่ "ดอยนางพี่" (ภีก) เมืองเมย
(สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่ "สบเมย")
๖. วัดแสนทอง บ้านดง ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
หลังจากนั้นย้อนกลับมาที่วัดแสนทอง ๖ โมงเย็นพอดี จึงถ่ายรูปหมู่ที่หน้าวัดก่อนเข้าไปในวัด เพราะกลัวจะมืดเสียก่อน วัดนี้มีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน
สมัยโบราณ ประดิษฐานอยู่ชื่อว่า พระเจ้าแสนทอง (อยู่ในลำดับที่ ๒๘ ของหนังสือตามรอยเล่มเล็ก) เป็นการบังเอิญที่ประตูไม่ได้ปิดเอาไว้
ทำให้หลวงพี่สามารถเข้าไปกราบองค์พระได้อย่างใกล้ชิด ได้สรงน้ำหอม ปิดแผ่นทองคำเปลว และถวายดอกไม้โปรย เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว
พระเจ้าหน้าที่เดินมาพอดี จึงได้ถวายหนังสือตามรอยเล่มเล็ก พร้อมปัจจัย ๒,๐๐๐ บาท
พระเจ้าแสนทองไม่ปรากฎว่ามีการสร้างขึ้นเมื่อใด จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวอมก๋อยหลายท่าน อาทิ พ่อหนานคำปัน
อดีตเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดแสนทอง พ่อหนานศรีรัตน์ เล่าว่า เดิมพระเจ้าแสนทองเป็นพระพุทธรูปที่มาจากทางภาคกลาง แถบเมืองละโว้ ลพบุรี
พระนางจามเทวีผู้ครองนครลำพูนเป็นผู้นำขึ้นมาทางเหนือ ในสมัยก่อนการคมนาคมไม่สะดวก คนโบราณใช้วิธีการขนส่งสิ่งของโดยการใช้เรือ
ซึ่งเป็นการคมนาคมทางน้ำที่สะดวกมากที่สุด และไม่มีเครื่องยนต์จะใช้กำลังคนเป็นผู้ค้ำถ่อเรือ
ครั้งหนึ่งพระนางจามเทวีได้รับเชิญจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้มาครองหัวเมืองลำพูน ก่อนที่พระนางจะเสด็จมาถึงเมืองลำพูนนั้นได้มีเหล่าฤาษี ๕ ตน
ซึ่งต่างพากันดีใจ และได้ร่วมกันสร้างพระรอดมหาวันลำพูนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเกียรติและเฉลิมฉลองพระบารมีของพระนางจามเทวี ฤาษ๊ ๕ ตน
ต่างพากันรวมใจตั้งจิตอธิษฐานและร่วมใจสร้างพระรอดขึ้นมาทั้ง ๕ แบบพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก พิมพ์กลาง พิมพ์ต้อ พิมพ์ตื้น
แล้วนำไปถวายให้กับพระนางจามเทวี
จากนั้นต่อมาประมาณ ๔๕๐ ปี พวกชาวลัวะได้อพยพถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นจนหมดทิ้งไว้เพียงร่องรอยของวัดร้าง ซากปรักหักพังไว้ให้คนรุ่นหลังได้พบเห็น
จากนั้นผู้คนชาวไทยพื้นราบ (คนเมือง) จากบ้านมีดกา อำเภอดอยเต่า ได้อพยพเข้ามาอยู่แทนที่ในแถบที่ราบริมฝั่งน้ำแม่ตื่น
ในครั้งก่อนนั้น พระยาอินต๊ะมีตำแหน่งเป็นพ่อขุนเมืองอมก๋อย ปัจจุบันนี้เรียกว่า พ่อกำนัน พ่อกำนันอินต๊ะ
เป็นผู้มีความกว้างขวางมีอิทธิพลและได้รับการยอมรับว่าเป็นคหบดีของชาวอมก๋อย ท่านมีช้างเป็นสัตว์ที่ใช้เป็นพาหนะและใช้งาน
ครั้งหนึ่งพ่อกำนันอินต๊ะต้องการอยากจะย้ายพระเจ้าแสนทองไป เนื่องจากพ่อกำนันเกรงว่าทีวัดแสนทองนั้นจะไม่มีพระภิกษุอาศัยอยู่ดูแลรักษา
ในระหว่างที่ขนย้ายพระเจ้าแสนทองไปนั้น ระหว่างทางจะต้องข้ามน้ำแม่ตื่น ควาญช้างจะบังคับช้างเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล
ช้างก็ได้แต่วนเวียนไปมาจนไม่สามารถนำพระเจ้าแสนทองไปบ้านหลวงได้ พระยาอินต๊ะจึงได้สั่งให้นำพระเจ้าแสนทองกลับมาไว้ที่เดิม คือ ที่วัดแสนทอง
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าแสนทองอาจมองกาลไกลว่า อนาคตพื้นที่หมู่บ้านและวัดแสนทองแห่งนี้จะมีความเจริญรุ่งเรือง
มีความก้าวหน้าเจริญจนเป็นวัดประจำอำเภอในปัจจุบัน
เมื่อประมาณระยะเวลาไม่เกิน ๓๐ ปีที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งที่วัดแสนทองในตอนกลางคืนได้มีโจรผู้ร้ายเข้ามาขโมยพระเกศโมฬีของพระเจ้าแสนทอง
ซึ่งพระเกศโมฬีนั้นสามารถถอดออกได้ เมื่อโจรผู้ร้ายได้ถอดเอาพระเกศโมฬีได้แล้วก็ไม่สามารถออกจากพระวิหารได้
เพราะหลงทางหาทางออกไม่ได้จนต้องนำพระเกศไปเก็บไว้ที่เดิม จึงสามารถออกจากพระวิหารได้
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์จนเป็นที่ยอมรับของศรัทธาสาธุชนชาวอำเภออมก๋อย ดังนั้นพระเจ้าแสนทองจึงเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของอำเภออมก๋อยตลอดมา
เป็นพระพุทธรูปที่ให้ความคุ้มครอง เป็นที่พึ่งของประชาชน ดังคำขวัญของอำเภออมก๋อยที่ว่า
......."ดินแดนในหุบเขา ใต้ร่มเงาพระแสนทอง ดอยม่อนจองสูงสง่า สัตว์ป่าล้วนมากมี ประเพณีหลายเผ่าพันธุ์"
ขอขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจาก www.omkoiinfo.com
วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ (อมก๋อย - ลำพูน - ลำปาง)
๗. วัดพระธาตุทรายทอง บ.ทรายทอง ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน
จากเชียงใหม่ล่องลงมาถึงลำพูน เห็นข้างทางกำลังมีงานกัน นึกว่าพระธาตุเข้าเฝือก จึงแวะเข้าไปเพื่อที่จะทำบุญ
ปรากฏว่าเป็นการจัดงานฉลองพระธาตุทำบุญประจำปีพอดี ได้เข้าไปร่วมทำบุญกันตามอัธยาศัย รวมกันแล้วประมาณ ๒,๐๐๐ บาท ได้มีโอกาสห่มผ้าพระธาตุ หลวงพี่
และต่าย, พี่สำราญขึ้นไปห่มผ้า และมีที่สรงน้ำพระธาตุด้วย แต่ยังไม่อนุญาตให้มีการสรง เพราะจะมีพิธีการในตอนบ่าย ๒ โมง
ได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับเจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาสด้วย
๘. วัดประตูป่อง ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง
หลวงพี่ได้ข่าวว่าที่นี้ปรากฏ "เงาพระธาตุ" ขึ้นบนพระเจดีย์อีกแห่งหนึ่ง จึงมาดูเงาพระธาตุกันในสถานที่นี้ น้องตึ๋ง น้องเก็ต กับเจ โหน่ง
เหมียว มะยม หลวงพี่วิเชียร (เล็ก) ก็มาสมทบกันที่นี่พอดี ทำบุญกับพระที่มาเปิดวิหารกันตามอัธยาศัย ประมาณ ๑,๐๐๐ บาท
ตามข้อมูลที่หลวงพี่ทำไว้วัดที่มี "เงาพระธาตุ" ในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน ๕ แห่ง ดังนี้
๑. พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
๒. พระธาตุจอมปิง จ.ลำปาง
๓. พระธาตุวัดอักโขชัยคีรี จ.ลำปาง
๔. พระธาตุวัดประตูป่อง จ.ลำปาง
๕. วัดพระธาตุดอยน้อย จ.ลำปาง
๖. พระธาตุวัดปางมะโอ จ.เชียงใหม่
เงาพระธาตุ
บทความจาก..www.lampang.go.th/travel/weblp/page/page5.html
จังหวัดลำปาง ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งรถม้าและชามตราไก่ เพราะเป็นจังหวัดเดียวในไทยที่มีรถม้าวิ่งอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ลำปางยังขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของชาม(เซรามิก)ตราไก่ ซึ่งเราสามารถพบเห็นสัญลักษณ์เซรามิกรูปไก่ตามป้ายชื่อถนน บนสะพาน หรือตามตึกต่างๆ
ได้ทั่วไปในเมืองนอกจากรถม้าและชามตราไก่ที่เป็นสัญลักษณ์ของลำปางแล้ว เมืองนี้ยังน่าฉงนตรงที่เป็นเมืองที่มีเงาพระธาตุให้ชมกันอยู่หลายวัดทีเดียว
เงาพระธาตุหัวกลับอันเลื่องชื่อที่ วัดพระธาตุลำปางหลวง
เงาพระธาตุ หากมองกันตามหลักวิทยาศาสตร์ถือเป็นปรากฏการณ์หักเหของแสงในหลักการเดียวกลับกล้องรูเข็ม
แต่ที่ลำปางนี่แปลกตรงที่มีเงาพระธาตุปรากฏให้ชมกันหลากหลายรูปแบบทั้งเงาพระธาตุหัวกลับ หัวตั้งเงาพระธาตุซ้อนชั้น
ซึ่งเงาพระธาตุที่เด่นๆในเมืองรถม้ามีที่ไหนบ้าง ผู้จัดการท่องเที่ยวขอเชิญขึ้นเหนือไปทัศนากันได้
สถาปัตยกรรมแห่งวัดพระธาตุลำปางหลวง
เงาพระธาตุอันซีน วัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวง(ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา) ถือเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชาวลำปาง ทุกครั้งที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว"
ได้มาเยือนนครรถม้าแห่งนี้ก็จะต้องแวะไปสักการบูชาพระธาตุและพระพุทธรูปอื่นๆ ในวัดทุกคราไป
และก็ต้องอดไม่ได้ที่จะแวะเข้าไปส่องดูเงาพระธาตุที่ลอดผ่านรูผนังมาปรากฏบนผืนผ้าภายใน"วิหารพระพุทธ"
ที่ปรากฏเป็นเงาพระธาตุหัวตั้งให้ชมกันด้วยสีสันเหมือนจริงปัจจุบันภาพแม้เงาพระธาตุจะดูจืดจางลงไม่คมชัดเช่นเดิมเนื่องจาก
พฤติกรรมของมนุษย์บางจำพวกที่ซุกซนเห็นรูเป็นไม่ได้ ชอบเอานิ้วไปแหย่ไปจิ้มทำให้รูที่แสงส่องเข้ามากว้างขึ้น
ความคมชัดของเงาที่เกิดขึ้นก็น้อยลงตามไปด้วย ดังนั้น "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ขอความร่วมมือ ว่าให้ดูแต่ตามืออย่าต้อง ของจะได้ไม่เสียนะครับพี่น้อง
ไม่เพียงที่วิหารพระพุทธแล้ว "มณฑปพระพุทธบาท" ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งในวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่ปรากฏภาพเงาพระธาตุ หรือพระธาตุหัวกลับที่โด่งดังเลื่องชื่อ
จนได้รับการยกย่องจากททท.ให้เป็นหนึ่งใน Unseen Thailand เลยทีเดียว
เงาพระธาตุที่นี่ดูแล้วคมชัดสวยงามกว่าที่วิหารหลวง อาจจะเนื่องมาจากปริมาณคนที่เข้ามาดูมีน้อยกว่า
เพราะที่มณฑปพระพุทธบาทเข้าห้ามมิให้ผู้หญิงเข้า คนที่เข้าไปดูได้จึงมีแต่ผู้ชายเท่านั้น สำหรับ "องค์พระธาตุ" ที่ทำให้เกิดเงานั้น
เป็นองค์พระธาตุเจดีย์แบบล้านนาผสมเจดีย์ทรงลังกา ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น
เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองฉลุลาย หรือที่เรียกว่าทองจังโก ตามตำนานกล่าวว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
มณฑปพระเจ้าล้านทองในวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง
นอกจากเงาพระธาตุแล้ว ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงยังมีสิ่งน่าสนใจชวนชมอีกหลายจุด อาทิ"พระแก้ว"
จากวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามที่ประดิษฐานอยู่ในหอพระแก้ว หรือหากมีเวลามากหน่อยก็สามารถเดินเข้าออกตามวิหารต่างๆ เช่น "วิหารน้ำแต้ม"
เป็นวิหารโถงมีภาพจิตรกรรมเก่าแก่ของล้านนา"วิหารหลวง"เป็นที่ประดิษฐานมณฑปพระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปองค์สำคัญของวัดอีกทั้งมีวิหารต้นแก้ว วิหารละโว้
หอพระไตรปิฎก กุฏิประดิษฐาน อาคารพิพิธภัณฑ์และกุฏิสงฆ์ ให้ได้เที่ยวชมกันอีกด้วย
เงาพระธาตุที่วัดพระธาตุจอมปิง
เงาพระธาตุจอมปิง
วัดพระธาตุจอมปิง (บ้านจอมปิง ต.นาแก้ว อ.เกาะคา)
เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของการปรากฏเงาพระธาตุ โดยทางทิศตะวันตกของพระธาตุเจดีย์สีเหลืองทองมี "พระอุโบสถ"
อันเก่าแก่แบบสถาปัตยกรรมล้านนา ที่ภายในเกิดปรากฏการณ์ "เงาพระธาตุ" ที่หน้าต่างพระอุโบสถ
มีรูเล็กๆที่แสงสามารถลอดผ่านเข้ามาทำให้เกิดเงาพระธาตุพาดลงบนพื้น ตลอดเวลาที่มีแสงเล็ดลอดผ่านเข้ามาได้ ต่อมาทางวัดจึงได้นำเอากรอบผ้าขาวมาเป็นฉากรับภาพ
เพื่อให้สามารถมองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น
วัดพระธาตุดอยน้อย มีเงาพระธาตุปรากฏให้ชมถึง 5 เงาด้วยกัน
เมื่อ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" และผองเพื่อนเข้ามาภายในพระอุโบสถ คุณลุงที่เฝ้าพระอุโบสถก็ปิดประตูเพื่อให้ภายในห้องมืดลง
จากนั้นก็เป็นช่วงเวลาอันน่าอัศจรรย์ เงาพระธาตุที่วัดจอมปิงมีสีสันเหมือนจริง ปรากฏให้พวกเราเห็นกันถ้วนหน้า
เช่นเดียวกับที่วัดพระธาตุลำปางหลวงเลยทีเดียว เมื่อพวกเราชมเงาพระธาตุกันเสร็จแล้ว ก็ออกมาเดินดูภายในบริเวณวัด และไม่ลืมที่จะแวะไปยัง
"พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุจอมปิง" ที่ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ มากมายที่ขุดเจอในบริเวณวัด และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งกรมศิลปากรได้ตรวจสอบพบว่า
โบราณวัตถุที่พบคล้ายกับแหล่งโบราณคดีที่จังหวัดตาก กำแพงเพชร ลำพูน และนครสวรรค์
แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันของแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ โบราณวัตถุที่จัดแสดง อาทิ เศษภาชนะดินเผา ตะขอสำริด กำไลหิน กำไลสำริด ใบหอก ลูกปัด ต่างหู
เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดให้มีของสะสมของวัด ได้แก่ พระพุทธรูป กล้องสูบยาดินเผา ที่ใส่ดินปืนทำจากเขาสัตว์ ผ้ายันต์ ตะกรุด เชี่ยนหมาก
โดยจัดวางเรียงเป็นกลุ่ม พร้อมป้ายคำบรรยายวัตถุภาษาไทยในบางรายการ ด้วยอัศจรรย์เงาพระธาตุ 5 เงา ที่วัดพระธาตุดอยน้อย หลายคนอาจจะเกิดอาการงง ไม่คุ้นหู
เมื่อ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เอ่ยถึงวัดพระธาตุดอยน้อย(ต.ท่าผา อ.เกาะคา) เพราะไม่คุ้นหูนักท่องเที่ยวเท่าไหร่
่
แต่เชื่อมั้ยว่า ที่วัดแห่งนี้มีเงาพระธาตุให้ชมถึง 5 เงาเลยทีเดียว โดยเงาพระธาตุทั้ง 5 นั้น จะปรากฏภายใน "วิหารหลังเปียง"
ที่หากเดินตรงเข้าไปจากประตูทางเข้า ทางฝั่งขวาของวิหารได้ปรากฏเงาพระธาตุขึ้นในกรอบเดียวกันถึง 5 เงา โดยมีลักษณะเป็นเงาของพระธาตุหัวตั้งซ้อนกันเป็นชั้นๆ
4 เงา และเงาที่ด้านข้างเล็กๆ ส่วนบนอีก 1 เงา ส่วนทางฝั่งซ้ายก็ยังมีีเงาพระธาตุหัวตั้งปรากฏขึ้นอีก 1 เงาที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน
ซึ่งองค์พระธาตุองค์จริงที่ปรากฏในเงานั้น ตั้งอยู่ทางด้านหลังของวิหาร มีลักษณะเป็นองค์พระธาตุสีดำมีส่วนยอดเป็นสีทองเหลืองอร่าม
มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับองค์พระธาตุที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ภายในบรรจุอัฐิพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ชมเงาพระธาตุอย่างจุใจแล้ว ก็เดินตรงเข้าไปยังวิหารอีกหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ด้านหลังคือ "วิหารรอยพระพุทธบาท"
ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทที่ชาวบ้านพบที่ตรงเนินใกล้ทางรถไฟใกล้ๆวัด หากเดินลงบันไดหน้าวิหารหลังเปียงไปยังด้านล่างจะเจอกับ "อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย"
ที่สร้างเพื่อระลึกถึงคุณของครูบาศรีวิชัย ที่ได้สร้างวัดและช่วยเหลือมาโดยตลอด ใกล้ๆ กันมี "อุโบสถ" หลังเล็กๆ ภายในมีพระพุทธรูปเก่าแก่มากมาย
พระพุทธรูปบางองค์ต้องสร้างกรงครอบไว้เพื่อกันขโมย เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปทองสำริด ซึ่งด้านในเป็นทองคำ
ทางขึ้นสู่ตัววิหารหลังเปียง วิหารที่ปรากฏเงาพระธาตุถึง 5 เงาด้วยกัน
เงาพระธาตุวัดอักโขชัยคีรี
วัดอักโขชัยคีรี (ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 5051 อ.แจ้ห่ม) วัดนี้แม้จะไม่โด่งดังเท่ากับวัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดพระธาตุจอมปิง
แต่ก็เป็นวัดที่ปรากฏเงาพระธาตุเช่นกัน วัดอักโขชัยคีรีนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาริมถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม มีทางขึ้นเป็นบันไดนาคจำนวน 227 ขั้น
เท่ากับศีลของพระภิกษุสงฆ์ เมื่อขึ้นไปด้านบนจะเจอกับ "พระธาตุเจดีย์" ลักษณะเป็นศิลปะล้านนาปนเชียงแสน ซึ่งแต่เดิมน่าจะเป็นศิลปะหริภุญชัย
และได้บูรณะกันมาหลายครั้ง
ใกล้กันนั้นมี "พระวิหารพระยืน" ซึ่งเป็นที่ปรากฏเงาพระธาตุ เช่นเดียวกับที่วัดพระธาตุจอมปิง ซึ่ง "เงาพระธาตุ" หรือ "เงาพระเจดีย์"
นี้จะปรากฏให้เห็นชัดอยู่ในทิศทางด้านตะวันออกเสมอ ถึงแม้ว่าพระอาทิตย์จะเคลื่อนย้ายไปตามเวลาใดก็ตาม เงาของพระธาตุก็ยังคงปรากฏอยู่ที่ตำแหน่งเดิม
ไม่มีการเคลื่อนย้ายตามพระอาทิตย์แต่อย่างใด ชาวบ้านอำเภอแจ้ห่มและอำเภอใกล้เคียงจึงถือกันว่าเป็น "เงาพระธาตุศักดิ์สิทธิ์"
เงาพระธาตุที่ วัดประตูป่อง อ.เมือง
วิหารพระยืนแห่งนี้เป็นวิหารทรงสูงภายในประดิษฐาน "พระศากยมุณีคีรีอักโข" เป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ที่เก่าแก่
และเป็นที่เคารพนับถือของชาวแจ้ห่มเป็นอย่างมาก นอกจากพระพุทธรูปยืนแล้ว ยังมีพระพุทธรูปนอนปางไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ใน "วิหารพระนอน"
บริเวณหน้าอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาคำลือ และวัดอักโขชัยคีรีแห่งนี้ ยังมีพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่ง ซึ่งถือว่ามีครบทั้ง 3 พระอิริยาบถทั้งยืน นอน นั่ง
เลยเชียวหละ
และ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ขอแนะนำว่า หากมาเยือนวัดแห่งนี้ก็อย่าลืมมายังจุดชมวิว เพราะสามารถมองเห็นวิวมุมสูงของอำเภอแจ้ห่ม
ได้อย่างกว้างไกลสวยงามเลยทีเดียว หากใครมีโอกาสแวะเวียนไปยังเมืองรถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล แห่งนี้
ก็อย่าพลาดที่จะไปยลความอัศจรรย์ของปรากฏการณ์ "เงาพระธาตุ" ตามวัดต่างๆ อย่างเช่นที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้ไปยลมา
รับรองว่าเงาพระธาตุที่นี่ดูอัศจรรย์ใจไม่น้อยเลย...
<< กลับสู่สารบัญ
|
|
|
|
Posts: 2041 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 4/4/15 at 10:58 |
|
๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ (อ.งาว จ.ลำปาง - อ.สอง จ.แพร่)
ตามรอยพระโพธิสัตว์
๙. พระธาตุม่อนทรายนอน วัดม่อนทรายนอน ต.หลวงใต้ อ.งาว จ.ลำปาง
......หลวงพี่นัดพบกับคณะตามรอยเล็กๆ ที่เริ่มทยอยตามมาสมทบแถวลำปาง โดยเฉพาะรถของหลวงพี่วิเชียร (เล็ก) บรรทุกของและกวางมาด้วย หลังจากเดินทางมาถึง
"งาว" และเข้าที่พักกันแล้ว วันรุ่งขึ้นก็เดินทางไปเป็นสถานที่แรก สถานที่แห่งนี้ตามประวัติบอกว่าบรรจุ "พระเกศาธาตุ" และ "กระดูกแก้มขวา"
ของพระพุทธเจ้า
นับว่าเป็นสถานที่สำคัญจุดแรกที่ควรติดตามมากราบไหว้กัน หลังจากหลวงพี่ชัยวัฒน์และหลวงพี่วิเชียร (เล็ก) ฉันเช้าจากร้านอาหารข้างที่พักกันแล้ว
พวกเราก็เตรียมเดินทางไปสถานที่แห่งนี้เป็นแห่งแรก เป็นการตามรอยพระโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็น "เนื้อทรายทอง" เวลาประมาณ ๗.๔๐ น. ก็เข้าถึงจุดหมาย
เพราะมองเห็นยอดพระธาตุบนเนินเขาแต่ไกล ซึ่งอยู่ใกล้ตัวเมืองงาว
ตำนานธาตุเจ้าทรายนอนเมืองงาว / ตำนานทรายนอน (อักษรล้านนา)
a. นโม ตสฺสตฺถุ อหํ วนฺทามิ
z.
ดูราอานนทะ ผู้ใด ได้ไหว้นบครบอยำธาตุกู แลไม้ม่วงต้นนี้ แลบวกนาทรายนอนนี้ เสมอดั่งได้ไหว้นบครบอยำกู ตถาคต เม่ื่่อยังธรมานอยู่บัดนี้แล
(คำแปลยังมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น)
ที่มา - www.efeo.fr/lanna_manuscripts/node/46
เดิมหลวงพี่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะนำ "รูปปั้นกวางทอง" ไปถวายไว้ที่ไหนดี แต่พอขึ้นมาพบเจ้าอาวาสท่านบอกว่าถวายไว้ที่นี่ก็ได้
พร้อมกับเล่าให้ฟังว่าเมื่อสองสามวันก่อน มีชาวบ้านที่อยู่ข้างล่างเห็นดวงไฟลอยอยู่บริเวณนี้ ท่านก็ยังไม่ยอมเชื่อต้องไปถามอีกหลายๆ
คนเพื่อเป็นพยานจึงยอมเชื่อ นับเป็นเรื่องอัศจรรย์จริงๆ ที่เหตุการณ์ได้เกิดก่อนที่พวกเราจะมากันพอดี
ส่วนพวกเราได้ฟังต่างก็มองหน้ากัน พร้อมใจกันเอารถกระบะของหลวงพี่เล็ก (เป็นรถของคุณแหม่ม เยอรมันที่ฝากไว้) นำกวาง (เนื้อทราย) ลงมาทันที
พวกเราบางส่วนก็แยกไปประกอบบายศรี บางส่วนก็ทำความสะอาดพระเจดีย์โดยรอบ เพื่อที่ทำการบูชาพระเจดีย์ม่อนทรายนอนแห่งนี้ (บางแห่งเรียก ม่อนทะรายนอน)
หลวงพี่ได้เล่าเรื่องการเสวยพระชาติของพระพุทธเจ้าเป็น "เนื้อทราย" และถูกนายพรานตามล่า ซึ่งนับเป็นสถานที่ ๑ ที่มีประวัติความเป็นมาดังนี้..
ตำนานพระพุทธเจ้าเลียบโลก เสด็จประดิษฐานพระศาสนาในเมืองแพร่
......โพธิสัต โต ชาโต สุวัณณะมาสะระภะมิคคะ คุมภะ เทว เอกัง ปัพพัตตัง อะโหสิ ฯลฯ เมืองแพร่นี้ พระพุทธองค์พร้อมเหล่าพระสาวกผู้ติดตาม
ได้เสด็จมาถึงดอยลูกหนึ่งมีสัณฐานอันงดงาม เพื่อจะขึ้นไปเล็งดูสถานที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุและตั้งพระศาสนาในเมืองนี้
พระพุทธองค์จึงทรงวางบาตรของพระองค์ลงตั้งบนยอดดอยลูกหนึ่ง ซึ่งมีศิลาอันเกลี้ยงเกลางดงามรองรับอยู่ด้วยพุทธานุภาพ จึงปรากฏเป็น "รอยก้นบาตร"
ติดอยู่ที่ก้อนศิลานั้นมาตราบทุกวันนี้ ปัจจุบันนี้เรียกดอยลูกนั้นว่า ดอยภูกวาง(ดอยห้างบาตร) และดอยที่พระองค์ทรงขึ้นไปเล็งที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ
และพระศาสนานั้นจึงได้ชื่อว่า "ดอยเล็ง" มาตราบจนถึงทุกวันนี้
จากนั้นพระพุทธองค์จึงเสด็จไป "พระธาตุช่อแฮ" แล้วขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงดอยลูกหนึ่งชื่อว่า "ม่อนทะรายตาย" (พระธาตุปูแจ อ.ร้องกวาง จ.แพร่)
พระพุทธเจ้าพร้อมสาวกผู้ติดตามได้เข้าไปพักใต้ต้นรังต้นหนึ่ง ทรงแย้มพระโอษฐ์ออกมา พระอานนท์จึงถามว่าทรงแย้มพระโอษฐ์เพราะเหตุอันใด
พระพุทธเจ้าตรัสบอกแก่พระอานนท์ว่า
"ปางเมื่อพระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นเนื้อทรายทองได้มาปวดแจ (ปวดปัสสาวะ) แล้วตาย ณ สถานที่นี้
พระอานนท์จึงทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเล่าถึงตำนานให้ฟัง พระพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าบอกแก่พระอานนท์และพระเถระทั้ง ๓ และพญาอินทร์กับพญาอโศก ฟังว่า
เมื่อครั้งพระองค์เสวยพระชาติเป็น "เนื้อทรายทองโพธิสัตว์" อาศัยอยู่ระหว่างดอยที่หนึ่งไกลจากเมืองมัททะราชประมาณ ๒ พันวา
ได้อยู่กับพ่อแม่ที่นั้นโดยถือสัจจะธรรมอยู่ในใจ พอเกิดได้ ๑ ปีกับ ๓ เดือน พ่อแม่ทั้งสองก็ได้ถึงแก่ความตาย
ส่วนเนื้อทรายทองโพธิสัตว์ก็เป็นกำพร้าพ่อแม่อยู่ตัวเดียวในป่ากลางดอย
พอมาถึงฤดูเดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำเป็น วันอังคาร ปีรวายเส็ด(ปีจอ) เวลาใกล้เที่ยง เนื้อทรายทองโพธิสัตว์ก็นอนอยู่ใต้ต้นมะม่วง ต้นหนึ่ง (พระธาตุม่อนทรายนอน
ต้นม่วงก็ยังอยู่) เมื่อมะม่วงสุกตกลงมาเนื้อทรายโพธิสัตว์ก็กินมะม่วงอยู่ที่นั้น ตามความสุขสำราญของตน ในขณะนั้นก็เกิดปาฏิหาริย์กับเนื้อทรายทองคือ
ได้มีรัศมีสีทองแผ่ออกจากตัวกระจายเป็นแสงไปทั่วป่าทั้งหมด ประดุจดั่งแสงพระจันทร์ในวันเพ็ญนั้นแล
ซึ่งในขณะนั้นมีนายพรานฮ่อผู้หนึ่งเดินเข้าไปในป่านั้นเพื่อล่าสัตว์ ได้มองเห็นรัศมีสีทองของเนื้อทรายทองโพธิสัตว์ ก็คิดว่าเป็นรัศมีของเทวดา
ผู้รักษาป่าไม้จึงเกิดความกลัวตายขึ้นมา จึงวางสีนาด(ปืนยิงสัตว์) และคะแนง(กล่องสำหรับใส่ลูกสีนาด) ไว้ตรงนั้น
แล้วเข้าไปดูอย่างถี่ถ้วนจึงเห็นเป็นเนื้อทรายทอง จึงรีบวิ่งไล่ติดตามเพื่อจะเอาเนื้อทรายทองตัวนั้นให้ได้ ด้วยความลืมตนเพราะรีบร้อนอยากได้เนื้อทรายทอง
นายพรานฮ่อจึงจับเอาไปแต่สีนาดติดตามไปเท่านั้น จึงลืมคะแนงไว้ที่นั้น แล้วห้วยแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "ห้วยคะแนง" มาจนถึงปัจจุบันนี้
เนื้อทรายทองเมื่อเห็นนายพรานจึงวิ่งหนีไปตามสันเขาลูกหนึ่ง นายพรานฮ่อมันวิ่งไล่ไปทัน เห็นแสงของเนื้อทรายทองขึ้นมามาบเดียว (แสงเกิดขึ้นมาแว๊บเดียว)
ห้วยแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "แม่มาบ" มาจนถึงปัจจุบันนี้ นายพรานมันจึงรีบวิ่งตามเนื้อทรายแล้วสะเมียงตาดู (แลดู) สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า
"แม่สะเมียง" มาจนถึงปัจจุบันนี้
เนื้อทรายทองได้วิ่งหนีไปอย่างรวดเร็วในปากก็ยังคาบมะม่วงไว้ลูกหนึ่งไม่ทันได้คายทิ้ง เมื่อไปถึงดอยลูกหนิ่งจึงคายมะม่วงทิ้งไว้ตรงนั้น
ดอยลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า "ม่อนกวางคาย" มาจนตราบทุกวันนี้ แล้วก็ลงไปจากดอยด้านตะวันตกไปเห็นผาก้อนหนึ่งอยู่ในเงื้อมดอยลูกนั้น
ซึ่งมีต้นไม้ขึ้นเขียวชอุ่มเย็นร่มรื่น เนื้อทรายทองจึงหยุดนอนอยู่ที่เหนือผาก้อนนั้น ด้วยความหิวโหยอ่อนเพลียเป็นที่สุดมีความทุกข์ทรมานมาก
ซึ่งที่ผาก้อนนั้นมีเทวดาองค์หนึ่งชื่อนทีเทพบุตรรักษาอยู่ที่นั้นได้เกิดความสงสาร จึงเนรมิตบ่อน้ำให้เนื้อทรายทองโพธิสัตว์ได้ดื่มกินและนอนพักผ่อนตามสบาย
บริเวณที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "บวกทรายนอน" (หรือทะรายนอน) มาจนตราบทุกวันนี้ ส่วนนายพรานฮ่อก็ไม่ละความพยายามที่จะจับเนื้อทรายทองให้ได้
จึงไล่เนื้อทรายทองไปอีก จนไปถึงดอยลูกหนึ่งด้วยความเหนื่อยอ่อน จึงไปนอนเหงาอยู่บนดอยลูกนั้น สถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่า "ดอยทะรายเหงา"
มาจนถึงปัจจุบันนี้
เนื้อทรายทองจึงหนีต่อไปผ่านป่าไม้ดงหนาทึบตีบตัน จนเหนื่อยเมื่อยล้าหายใจไม่ค่อยออก เพราะคอตีบตันไปหมด สถานทีแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "เมืองตีบ"
มาจนถึงทุกวันนี้ เนื้อทรายทองโพธิสัตว์จึงกระเสือกกระสนวิ่งเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอากาศเทวดารักษาอยู่
เทวดาตนนั้นคิดว่าถ้าเราไม่ช่วยเหลือเนื้อทรายทองโพธิสัตว์คงตาย จึงเนรมิตกลับรอยเท้าของเนื้อทรายทองให้เหมือนว่าเนื้อทรายทองได้เดินออกจากถ้ำไปแล้ว
พอนายพรานตามมาถึงปากถ้ำเห็นรอยเท้าเนื้อทรายทองเดินออกไปจากถ้ำจึงวิ่งตามไป วันกับอีกหนึ่งคืน ก็ไม่เห็นเนื้อทรายทอง จึงวิ่งกลับมาที่ถ้ำแห่งนั้น
ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจึงถึงแก่ความตายใกล้ปากถ้ำ ถ้ำแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "ถ้ำผีเมืองตีบ" มาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนน้ำที่ไหลมาจากบวกทะรายนอนผ่านมาทางนี้จึงได้ชื่อว่า "น้ำแม่ตีบ" มาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนเนื้อทรายทองพอเวลาค่ำก็เดินออกมาจากถ้ำขึ้นไปสู่ดอยสูงทางทิศตะวันออก เดินเรื่อยมาได้มาหยุดพักผ่อนอยู่บนเนินเขาสูงชันมีหนองน้ำอุดมสมบูรณ์
และเนื้อทรายทองได้ไปยืนชันอยู่เป็นเวลาวันหนึ่ง สถานที่อันเนื้อทรายทองไปยืนชันอยู่นั้นจึงได้ชื่อว่า "ดอยชัน" มาตราบทุกวันนี้
แล้วเนื้อทรายทองจึงลงจากดอยชันเข้าไปสู่สระหนองแห่งหนึ่ง ซึ่งในที่นั้นมีเทวดาองค์หนึ่งรักษาอยู่ เทวดารู้ว่าเนื้อทรายทองต้องการดื่มน้ำ
จึงเอาไม้จันทร์แดงมาฝนใส่น้ำในหนองแห่งนั้น เนื้อทรายทอง จึงได้ดื่มกินน้ำแก่นจันทร์ตามความสำราญ หนองแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "หนองจันทร์"
(พระธาตุหนองจันทร์ อ.สอง จ.แพร่) มาจนตราบทุกวันนี้
เมื่อกินน้ำแล้วจึงมีกำลังขึ้นมาบ้าง จึงเดินไปตามป่าเขาร่างกายก็ซูบผอมมาหยุดพักที่ห้วยแห่งหนึ่งแห้งแล้งมากหาน้ำจะกินไม่ได้
ในใจก็กลัวนายพรานฮ่อจะติดตามมาฆ่า สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "แม่ยั้งฮ้อ" แล้วเพี้ยนมาเป็น "แม่ยางฮ้อ" จนตราบถึงทุกวันนี้
จากนั้นเนื้อทรายทองโพธิสัตว์ก็เดินต่อไป จนมาถึงห้วยแห่งหนึ่งมีน้ำใสเย็นสะอาด พระโพธิสัตว์จึงลงดื่มน้ำในห้วยแล้วนอนกลิ้งเกลือกไปมา
ทำให้ขนที่เป็นทองคำหลุดออกมาและรัศมีสีทองได้แผ่ไปเต็มลำน้ำแห่งนั้น น้ำสายนั้นจึงเรียกว่า "น้ำแม่คำ" มีมาจนถึงทุกวันนี้
พระโพธิสัตว์จึงเดินทางต่อไปด้วยความวิริยะ อุตสาหะ แม้ได้รับทุกข์เวทนาก็ไม่ย่อท้อ จนถึงแม่น้ำอีกสายหนึ่ง อยู่ริมบ้านวาลุการาม
เป็นหมู่บ้านอันกว้างขวางมากนัก (ปัจจุบันคือบ้านน้ำเลาบ้านไผ่) พระโพธิสัตว์เห็นรอยเท้าคนที่ไปทำไร่ทำสวนบนกองทราย
จึงเกิดความกลัวจึงวิ่งไปตามแม่น้ำสายนั้น คิดไปต่างๆนาๆ ว่าเราจะต้องตายเสีย ณ ที่นี้กระมัง แล้วจึงคิดคำนึงถึงสังขารว่า
ไม่มั่นคงย่อมมีเกิดแก่เจ็บตายเป็นของธรรมดา แม่น้ำสายนี้ต่อไปคนทั้งหลายจะเรียกชื่อว่า "แม่เทิก" (เติ๊ก) แม่ถางแล
ต่อจากนั้นก็ได้เดินขึ้นไปดอยม่อนน้อย แล้วไปพักอยู่ใต้ต้นรังต้นหนึ่งได้รับทุกข์เวทนาลำบากยิ่ง จักถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ก็ไม่ออกจึงมีความปวดแจ
(ปวดปัสสาวะ) เป็นทุกข์ทรมานอยู่ได้ ๓ วัน ๓ คืน จึงถึงแก่ความตายในร่มไม้รังต้นนั้นแล สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "ดอยม่อนทะรายตาย" (พระธาตุปูแจ
อ.ร้องกวาง จ.แพร่) มาจนตราบทุกวันนี้
จากนั้นพวกเทวดา อินทร์ พรหม ทั้งหลาย พามาฌาปนกิจศพของเนื้อทรายทองโพธิสัตว์ ณ ที่นั้นแล พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกแก่พระอานนท์ว่า
สถานที่เนื้อทรายทองมาตายอยู่นั้นก็คือใต้ร่มต้นรังต้นนี้แล พระอานนท์จึงกราบทูลว่า สถานที่นี้เป็นที่ประเสริฐยิ่งนักสมควรที่จะตั้งพระศาสนา
พระพุทธองค์จึงทรงยกพระหัตถ์เบื้องขวา ลูบพระเศียรได้พระเกศาธาตุมา ๑ เส้น ทรงประทานให้พระอานนท์
พระอานนท์ก็รับเอาด้วยมุมสังฆาฏิ แล้วยื่นต่อให้พระอินทร์ เมื่อพระอินทร์รับแล้วจึงเนรมิตผอบทองคำใหญ่ ๗ กำมือ
เอาเส้นพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าลงบรรจุข้างใน จากนั้นก็เนรมิตอุโมงค์ลึก ๗ วา เนรมิตปราสาทสูง ๗ ศอก
แล้วเอาโกศทองคำเข้าใส่ไว้ในปราสาทนำลงบรรจุไว้ในอุโมงค์นั้น แล้วก็เนรมิตขันคำใบใหญ่สูง ๓ ศอก ใส่เทียนเงิน ๔ คู่ ดอกไม้เงิน ดอกไม้คำ อย่างละ ๓
ดอกใส่ลงในขันคำใบนั้น แล้วจึงเนรมิตฆ้องทองคำใหญ่ ๒๐ กำมือ ระฆังทองคำใหญ่ ๔ ศอกคืบ เครื่องบูชานับไม่ถ้วนบรรจุลงไปเพื่อบูชาพระเกศาธาตุ
แล้วจึงปิดปากอุโมงค์ด้วยหินก้อนใหญ่
จากนั้นพระพุทธเจ้าอยากฉันน้ำ พระอินทร์จึงเนรมิตบ่อน้ำไว้ตรงทิศหรดี พระอานนท์จึงไปตักมาถวายแด่พระพุทธเจ้า
เมื่อพระพุทธองค์ทรงฉันแล้วจึงตรัสบอกกับพระอานนท์ว่า เมื่อพระตถาคตปรินิพพานไปแล้ว พระบรมสารีริกธาตุ "ส่วนตาตุ่ม" จะมาประดิษฐานอยู่ที่นี้
จากนั้นท้าวพญาและคนทั้งหลายจะพากันมาสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่นี้ และจะได้ชื่อว่า "พระธาตุปวดแจ" แล้วจะเพี้ยนมาเป็น "พระธาตุปูแจ"
มาจนตราบถึงทุกวันนี้ เพราะเหตุที่ปางเมื่อตถาคตเกิดเป็นเนื้อทรายทอง ถูกนายพรานฮ่อไล่ฆ่า ได้มาปวดแจตาย ณ ตรงนี้
เมื่อทรงพยากรณ์แล้วพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้ง ๔ รูปก็เสด็จต่อไปจนถึงแม่น้ำยม พระองค์ได้เสด็จข้ามแม่น้ำยม แล้วขึ้นไปยืนชันอยู่ที่นั้นชั่วขณะหนึ่ง
แล้วจึงทรงแย้มพระโอษฐ์ออกมา พระอานนท์จึงถามว่าเป็นเพราะเหตุอันใด จึงทรงแย้มพระโอษฐ์ออกมา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเมื่อตถาคตเป็นเนื้อทรายทองวันนั้น
ได้มายืนชันอยู่ที่นี้ได้วันหนึ่ง แล้วจึงได้ลงไปกินน้ำในสระหนองตรงนี้ พระอานนท์จึงทูลว่าสถานที่นี้ประเสริฐนักสมควรจักตั้งพระศาสนา
พระพุทธองค์จึงยื่นพระหัตถ์เบื้องขวาลูบพระเศียรได้พระเกศาธาตุมา ๑ เส้น ทรงประทานให้พระอานนท์ ท่านก็รับเอาด้วยผ้าสังฆาฏิแล้วก็ยื่นให้พระอินทร์
เมื่อพระอินทร์รับไปแล้วก็เนรมิตโกศทองคำใหญ่ ๓ กำมือประดับด้วยแก้ว ๗ ประการเอาพระเกศาธาตุลงบรรจุข้างใน
แล้วเนรมิตถ้ำไว้ใต้ยอดดอยแห่งนั้นแล้วเนรมิตหินก้อนหนึ่งมีสัณฐานเป็นดั่งรูปปลาช่อน มีน้ำไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา
จากนั้นพระอินทร์ก็เอาโกศทองคำตั้งไว้เหนือหลังศิลาแห่งนั้นบูชาด้วย เทียนเงิน เทียนทอง แล้วจุดประทีปบุชาไว้ดูรุ่งเรืองงามยิ่งนัก
จากนั้นจึงได้เนรมิตยนต์จักรรักษาพระเกศาธาตุไว้ในถ้ำแห่งนั้น
พระพุทธเจ้าจึงทำนายว่าต่อไปในภายภาคหน้าคนทั้งหลายจักเรียกว่า "ม่อนทะรายชัน" หรือ "ม่อนหนองจันทร์" และเมื่อพระตถาคตปรินิพพานไปแล้ว
ยังมีหมู่บ้านแห่งหนึ่งอยู่ใต้หนองจันทร์จักปรากฏชื่อว่า "บ้านนาเขียง-นาตอง" อยู่ไกล ๓,๐๐๐ วา พวกเทวดาผู้รักษาพระเกศาธาตุ และรักษาดอยทะรายชันแห่งนี้
จะไปดลบันดาลหัวใจของชาวบ้านนาเขียง-นาตอง ที่นั้นพากันมาสร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้ให้คนและเทวดาทั้งหลายบูชาตราบ ๕,๐๐๐ ปี และเจดีย์แห่งนั้นจะได้ชื่อว่า
"พระธาตุหนองจันทร์" ด้วยประการฉะนี้..
อานิสงส์การบูชาพระธาตุทั้ง ๔ แห่ง
.......บุคคลใดถือว่าเป็นคฤหัสถ์ หรือ บรรพชิตก็ตาม หรือท้าวพระยาเป็นใหญ่ ครองบ้านเมืองเสวยเมืองก็ดี เสนาอำมาตย์ พราหมณ์ คหบดี ไพร่ฟ้า ภิกษุสามเณร หรือ
ใครก็ตาม ได้มาก่อสร้างพระมหาธาตุก็ดี ได้สร้าง ศาลากำแพง บันไดนาคก็ดีลงจากม่อนธาตุ ด้านหนึ่งก็ดี ๒ ด้าน ๓ ด้านก็ดี หากจุติจากมนุษย์โลกนี้
ก็จักได้บังเกิดเป็นเทพบุตร เทวดา อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานสูงได้พันโยชน์ มีนางฟ้ามาทำความสะอาดเป็นบริวารได้แสนแปดหมื่นองค์
ส่วนบุคคลผู้ไดได้มาทำความสะอาด มีดายหญ้าเป็นต้น และได้นำเอาหินทรายมาก่อกอง เรียงราย ผายแผ่ หากจุติจากเมืองคนแล้ว จักนำตนให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นมายา
มีวิมานคำสูงได้พันหนึ่ง มีนางฟ้าก็ได้พันหนี่ง เป็นบริวารแน่แท้แล ส่วนบุคคลผู้ได้ได้มาสมโภชอบรม สระสรงน้ำพระธาตุที่นี้ก็ดีหรือได้เจริญเมตตา
ภาวนาในสถานที่นี้ก็ดี หายได้ตายทำลายขันธ์ไปแล้วก็จักได้เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต มีวิมานคำ ปราสาทสูงได้พันวา มีนางฟ้าก็ได้พันหนึ่งเป็นบริวารแท้แล
ส่วนบุคคลผู้ใดที่ได้ก่อสร้างยังพระธาตุ หรือได้สร้าง ศาลาบาตร กุฏิ บันไดนาค ขึ้นม่อนพระธาตุแล้ว แม้จะปรารถนาสิ่งใดๆ มีปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี
ปรารถนาเป็นพระอรหันต์ ปรารถนาเป็นจักรพรรดิ หรือปรารถนาเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ปรารถนาเป็นพ่อ เป็นแม่ ของพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า
ก็จักสมประสงค์ทุกประการ ส่วนท้าวพระยาผู้มาเป็นใหญ่ปกครองบ้านเมืองที่นี้ ต้องการให้มีอายุยืนนานก็ดี จงพากันมาเสริมสร้างยังพระธาตุ
แล้วก่อกำแพงสร้างวิหารเสียเถิด บ้านเมืองจักได้รุ่งเรือง มีอายุยั่งยืนแท้แล
หากท้าวพระยา ผู้ใดได้สักการบูชายังพระธาตุตถาคตแล้ว ก็เสมอเหมือนได้บูชาตถาคต เมื่อมีชนมายุอยู่เหมือนกันแล พระพุทธเจ้าก็นำเสด็จดำเนินไปโปรดเวไนยสัตว์
พร้อมทั้งเทวาและมนุษย์ทั้งหลาย ตั้งแต่ดอย "ทรายนอน" ตลอดถึง "ทรายเหงา" "ทรายยืนชัน" แล้วเสด็จถึง "ปูแจ" พร้อมด้วยอานนท์เถระ
จึงเสด็จกลับสู่เชตวันมหาวิหารด้วยอิทธิฤทธิ์ แล้วได้เทศนาพระธรรมโปรดเวไนยสัตว์ มีเทวดาและมนุษย์เป็นต้น บางพวกก็ได้ถึงโสดา สกิทาคามี อนาคามี และอรหัตผล
ตามบุญบารมีของตนนั้น แลฯ
เวลาประมาณ ๘.๓๐ น. ก็เริ่มพิธีบวงสรวง
จากนั้นก็มาเริ่มทำพิธีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยน้ำอบ ดอกไม้โปรย แผ่นทอง น้ำหอม
ต่างก็เอามารวมกันในกระป๋องที่จะชักรอกขึ้นไปสรงน้ำบนยอดพระเจดีย์ เวลา ๙ โมงก็เริ่มนำน้ำที่เตรียมไว้ ขึ้นไปรดที่พระเจดีย์เพื่อบูชาพระบรมธาตุ
เจ้าอาวาสตีกลองและระฆัง ต่างก็สวดอิติปิโสและคาถาเงินล้านไปในระหว่างที่สรงน้ำพระธาตุ
กลับมาบูชาพระโพธิสัตว์เนื้อทราย สรงน้ำปิดทอง ห่มผ้าพระเจดีย์ และถวายปัจจัยเครื่องไทยทานแก่เจ้าอาวาส ทำบุญทั้งหมด ๗,๐๐๐ บาท
เจ้าอาวาสนำไปที่ต้นมะม่วงบอกว่า นี่เป็นต้นที่แตกหน่อแทนต้นเดิม น่าจะเป็นต้นที่สืบต่อกันมานาน ตามคำอธิษฐานของเนื้อทรายพระโพธิสัตว์
ที่ยังปรากฏเป็นสักขีพยาน ณ สถานที่นี้มาแต่โบราณอย่างไม่มีวันตาย จากนั้นพวกเราจึงได้มีการรำถวายมือเป็น "พุทธบูชา" อีกด้วย
จากนั้นขับรถลงมาจากบนเขา แล้วย้อนมาตรงทางขึ้นบันได ซึ่งสามารถเดินขึ้นไปบนยอดเขานี้ได้ ตรงบริเวณนี้ทางวัดได้สร้างรูปปั้น "เนื้อทราย"
อยู่ตรงกลางอ่างน้ำ ตามประวัติที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็น "เนื้อทรายทอง" แล้วลงมาดื่มน้ำบริเวณนี้ ซึ่งยังมีน้ำไหลออกมาจากภูเขาเองตามธรรมชาติ
น้ำไม่เคยแห้งเลยจนถึงทุกวันนี้ หลวงพี่ได้อธิษฐานแล้วรดน้ำมนต์ให้กับทุกคน จากนั้นได้นำน้ำนี้กลับมาทำเป็นน้ำมนต์ เป็นหนึ่งใน
"น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วชมพูทวีป" ด้วย
๑๐. พระธาตุม่อนทรายเหงา ต.แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง
เมื่อขบวนรถออกมาจากวัดพระธาตุม่อนทรายนอนแล้ว ได้แวะไปรับอาหารเพลที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นคณะตามรอยเล็กๆ ก็เดินทางต่อมายังสถานที่นี้
ซึ่งสภาพถนนก็ยังพอใช้ได้ ไม่เหมือนสมัยก่อนจะต้องจอดรถไว้แล้วเดินเข้าไปในป่า สมัยนั้นยังไม่มีพระมาอยู่ประจำ
นับว่าสถานที่แห่งนี้เจริญยิ่งขึ้น หลังจากที่หลวงพี่ได้มาทำพิธีบวงสรวงไปแล้ว น้องชายของอาจารย์ใบบุญเป็นผู้ขับรถนำทางมาตลอด
ตั้งแต่พระธาตุม่อนทรายนอนแล้ว พอเข้ามาถึงก็ได้เวลาฉันเพลพอดี พวกเราฝ่ายผู้หญิงก็ช่วยกันทำบายศรีและเตรียมอาหารเพล ส่วนผู้ชายก็ขึ้นไปห่มผ้าพระเจดีย์
เริ่มพิธีประมาณเวลาเที่ยงกว่าๆ หลังจากเสร็จภารกิจเรื่องอาหารกลางวันกันแล้ว หลวงพี่เริ่มเล่าประวัติสถานที่นี้
และพระโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็นเนื้อทรายทอง ต่อจากที่เล่าจากวัดพระธาตุม่อนทรายนอน ประมาณเที่ยงครึ่งก็เริ่มพิธีบวงสรวง
จากนั้นบูชาด้วยน้ำสรงและโปรยดอกไม้รอบองค์พระธาตุ แล้วเปิดเพลงรำถวายเป็นการบูชาพระธาตุ
จากนั้นถวายปัจจัยและเครื่องไทยทานแก่พระที่ประจำอยู่ที่นี่ รวม ๕,๐๐๐ บาท แล้วออกเดินทางต่อไป
๑๑. วัดพระธาตุหนองจันทร์ บ้านลู ต.ห้วยหม้าย อ.สอง จ.แพร่
สถานที่นี้ตามประวัติเล่าว่า "พระเกศาธาตุ" อยู่ใต้รอยพระพุทธบาท ขบวนรถได้มาถึงที่แห่งนี้ เวลาบ่าย ๒ โมงโดยประมาณ นับเป็นแห่งที่ ๓ ในการ
"ตามรอยพระโพธิสัตว์" บายศรีได้จัดเตรียมไว้อีกหนึ่งชุด จากนั้นนำผ้าขึ้นไปห่มพระธาตุ จัดเตรียมโต๊ะตั้งบายศรีบวงสรวง
บ่าย ๒ โมงครึ่งเกือบบ่าย ๓ โมง หลวงพี่เริ่มพิธีบวงสรวงด้วยเทปเสียงของหลวงพ่อฯ จากนั้นบุชาด้วยน้ำอบไทย ปิดทองคำเปลวและโปรยดอกไม้
ด้านหลังมีรูปปั้นเนื้อทรายพระโพธิสัตว์ บูชาด้วยของหอมโปรยดอกไม้ หลวงพี่ได้ตีฆ้องบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย
๑๒. วัดศรีสุวรรณาราม (วัดบ้านเป๊าะเก่า) ต.บ้านโป่ง อ.งาว จ.ลำปาง
งานนี้หลวงพี่ได้รับกิจนิมนต์เป็นประธาน "วางศิลาฤกษ์" โดยมี คุณพรเทพ ตันธนะสฤษดิ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส เพื่อสร้างวิหารสมเด็จองค์ปฐม,
หลวงพ่อเงินไหลมาเทมา, และ หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่งมาถึงสถานที่นี้ เกิดรุ้งกินน้ำต้อนรับ "คณะตามรอยพระโพธิสัตว์" (เฉพาะทริปนี้)
คณะตามรอยเล็กๆ ได้รวบรวมปัจจัยมอบให้ไว้ ณ สถานที่นี้ เพื่อทำการก่อสร้างวิหารเป็นจำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท หลวงพี่นำคณะมาดูสถานที่ก่อน
วันพรุ่งนี้จึงจะเป็นวันทำพิธีวางศิลาฤกษ์
ปรากฎการณ์รุ้งกินน้ำเกิดขึ้นให้เห็นอีกครั้ง จึงถ่ายรูปกับคณะอาจารย์ใบบุญ แสงแก้ว ในขณะพวกเรามอบเงินร่วมบุญ ๕๐,๐๐๐ บาท
ซึ่งคณะอาจารย์ใบบุญให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมทั้งจัดเลี้ยงอาหารเย็นสำหรับพวกเรา อีกทั้งประสานงานในการจัดหาที่พักให้เป็นอย่างดี
ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ในขณะนั้นมีปรากฏการณ์พิเศษอีก คือมีลมพายุพัดหมุนเฉพาะบริเวณนี้ ในขณะที่อาจารย์ใบบุญนำคณะของหลวงพี่เข้าไปในวิหารหลังเก่า
หลังจากกราบพระประธานแล้ว ข้างนอกลมยังพัดอยู่อีก จนกระทั่งหลวงพี่เดินออกมายืนอยู่ที่บ่อน้ำเล็กๆ ในบริเวณนั้น
หลวงพี่เห็นว่าสถานที่นี้แม้จะเป็นวัดเก่ามานาน แต่เกิดน้ำท่วมเมื่อหลายปีก่อน จนชาวบ้านอพยพย้ายออกไปจากหมู่บ้านนี้ ปล่อยให้เป็นวัดร้างอยู่หลายปี
ยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ หลวงพี่จึงตักน้ำในบ่อน้ำทิพย์นี้ เพื่อนำมารวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วชมพูทวีป
ขอเล่าข้ามไปเลยว่า เย็นเมื่อวานพวกเราก็เข้าไปค้างในอำเภองาว เวลาประมาณ ๗ โมงเช้าของวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ ก็กลับเข้ามาในพิธีอีกครั้ง
ผู้จัดได้นำพระเนตรขององค์พระที่จะสร้างมาให้ชมกัน จากนั้นพระภิกษุที่มาร่วมงานฉันเช้า โดยมีหลวงพี่มนต์ชัย (เคยอยู่กับหลวงพี่วิรัช วัดธรรมยาน)
ได้รับกิจนิมนต์มาอยู่ประจำที่นี่ ส่วนหลวงพี่สมนึก, หลวงพี่ไพบูลย์ พร้อมพระวัดท่าซุง ๕ รูปเดินทางมาถึงตั้งแต่เมื่อวาน พระอาจารย์หนุนก็มาถึงแล้วเช่นกัน
บริเวณมณฑลพิธี ได้จัดเตรียมสำหรับพิธีวางศิลาฤกษ์เตรียมไว้เรียบร้อยหมดแล้ว มองดูสวยงามไปหมด
เพราะอาจารย์ใบบุญเป็นผู้ถนัดในการประดับผ้าและตกแต่งดอกไม้ พวกเราทุกคนให้ความสำคัญกับงานพิธีนี้ จึงพร้อมใจกันแต่งชุดไทยหลายหลากสี
เวลา ๘.๒๐ น.เจ้าภาพจุดธูปทียนบูชาพระรัตนตรัย ขอศีล พระให้ศีล
เวลา ๘.๓๐ น. หลวงพี่ชัยวัฒน์เริ่มพิธีบวงสรวงพร้อมอาจารย์หนุน บวงสรวงเสร็จ
พระอาจารย์นุนประพรมน้ำมนต์ให้แก่ญาติโยมที่ร่วมพิธี
เวลา ๘.๓๙ น. เริ่มพิธีวางศิลาฤกษ์
เวลา ๙.๑๐ น. ถวายพุ่มผ้าป่า ถวายสังฆทาน
เวลา ๙.๔๐ น. พระสงฆ์ให้พร และอุทิศส่วนกุศล เป็นอันเสร็จพิธี
คุณพรเทพ ตันธนะสฤษดิ์ เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
หลวงพี่ชัยวัฒน์จุดธูปเทียนที่โต๊ะบวงสรวง
ประธานฝ่ายสงฆ์และประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมพระสงฆ์และพุทธบริษัทร่วมกันวางแผ่นศิลาฤกษ์
หลังเสร็จพิธีแล้ว จึงถ่ายรูปภาพร่วมกันไว้เป็นที่ระลึก
จากนั้นเตรียมออกเดินทางต่อไปที่ "พระธาตุปูแจ" อ.ร้างกวาง จ.แพร่ เจ้าภาพคือ อาจารย์ใบบุญ แสงแก้ว ได้ถวายข้าวกล่องไว้ฉันเพล และมอบให้
"คณะตามรอยพระพุทธบาท" ติดรถไปทุกคัน จึงขอขอบคุณและอนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ
|
|
|
|
Posts: 2041 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 6/4/15 at 17:11 |
|
๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ (อ.สอง - อ.ร้างกวาง จ.แพร่)
๑๓. วัดพระธาตุปูแจ บ้านบุญเริง ต.บ้านเวียง อ.ร้องกวาง จ.แพร่
ขบวนรถเดินทางมาถึงที่พระธาตุปูแจ เวลา ๑๑.๒๐ น. ได้เวลาเพลพอดี ข้าวกล่องที่ให้มาจึงมีประโยชน์ นำลงมาจากรถจัดถวายพระและฆราวาสทันที
พอดีเจ้าอาวาสไม่อยู่มีพระเหลืออยุ่องค์เดียว จึงขออนุญาตท่านจัดสถานที่กันที่ศาลาข้างองค์พระธาตุ จากนั้นก็ทานกันจนเสร็จภารกิจ
คุณรุ่งและทีมงานประกอบบายศรี ผ้าทองนำมาลงชื่อ "คณะตามรอยพระพุทธบาท" และแต่ละคนก็เขียนชื่อของตนเองไว้บนผืนผ้าด้วย
นับว่าเป็นวิธีการทำบุญที่น่าปลื้มใจ การเดินทางคราวนี้จึงทำพิธีกรรมได้ครบถ้วน
คือมีโอกาสชักรอกนำถังน้ำหอมลอยด้วยดอกไม้ขึ้นไปสรงน้ำถึงบนยอดองค์พระธาตุ ณ พระธาตุม่อนทรายนอน ส่วนสถานที่สุดท้ายที่ "เนื้อทรายโพธิสัตว์"
วิ่งหนีมาสิ้นใจตายที่ใต้ต้นรัง พวกเราก็ได้มาทำพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ณ พระธาตุปูแจแห่งนี้ ฉะนั้นหลังจากเตรียมแห่ผ้าขึ้นธาตุ นับเป็นสถานที่ ๔ สุดท้ายในการ
"ตามรอยพระโพธิสัตว์" พวกเราตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก ผลบุญกุศลครั้งนี้นับว่าคงมีมาก และสมหวังดังใจที่รอคอยทริปนี้มานานแล้ว
คุณสำราญจัดสถานที่บวงสรวง เตรียมบวงสรวง "พระธาตุปูแจ" ซึ่งภายในบรรจุพระเกศาธาตุ และพระสารีริกธาตุส่วนตาตุ่ม หลวงพี่กล่าวคำบรรยายต่อว่า
พระโพธิสัตว์มาเสียชีวิตไว้ที่แห่งนี้ ด้วยความทรมานในการวิ่งหนี เพราะความกลัวต่อภัยอันเกิดจากนายพราน
จากนั้น เวลา ๑๓.๐๐ น. หลวงพี่ทำพิธีบวงสรวงสถานที่แห่งนี้ ด้วยเทปพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
ได้นำกระเป๋าถือก็ดี กระเป๋าสตางค์ก็ดี เข้าพิธีบวงสรวงในครั้งนี้ด้วย จากนั้นก็ทำพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ สวดอิติปิโส ๓ จบ ตามด้วยคาถาเงินล้าน
วนทำประทักษิณาวัตร ๓ รอบ แล้วนำผ้าห่มขึ้นบูชารอบพระเจดีย์ จากนั้นนำบายศรี เครื่องบูชาทั้งหลายถวายไว้ตรงศาลาข้างพระธาตุ หลวงพี่และหลวงพี่เล็ก
สรงน้ำหอม โปรยดอกไม้ กราบพระบรมธาตุ
เนื่องจากโบสถ์ตรงด้านหน้าของพระธาตุกำลังก่อสร้าง ประกอบกับพระที่เป็นช่างกำลังทำช่อฟ้าให้สวยงามอยู่พอดี หลวงพี่จึงได้ปิดทองที่ช่อฟ้า
และปิดทองลูกนิมิต ร่วมทำบุญสร้างโบสถ์รวมทั้งหมด ๑๕,๐๐๐ บาท โดยหลวงพี่ให้พระติดต่อฝากถวายกับเจ้าอาวาสทางโทรศัพท์ จากนั้นคณะของเราก็รำถวายพระพุทธเจ้า
มะยม น้องหนิง น้องรุ่ง และเจ๊มายิน ร่ายรำถวายพระธาตุปูแจ
เป็นอันว่า หลวงพี่ได้นำมากราบไหว้ครบถ้วนทุกแห่งแล้ว ท่านได้กล่าวสรุปในการตามรอยพระโพธิสัตว์ พร้อมกับไหว้ย้อนทั้ง ๔ แห่ง โดยมาทำพิธีรวมกัน ณ
สถานทีนี้ พร้อมทั้งอนุโมทนาบุญบารมีของพระพุทธเจ้า ที่ท่านได้อาศัยอยู่และสร้างพระบารมีไว้ ณ สถานที่ดังกล่าวทั้ง ๔ แห่ง จนได้บรรลุพระโพธิญาณในที่สุด
จึงร่วมกันอุทิศส่วนกุศล เป็นอันเสร็จพิธีในการ "ตามรอยพระโพธิสัตว์" ซึ่งในเวลาต่อมาก่อนเข้าพรรษาเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ หลวงพี่ก็ได้นำไป
"ตามรอยพระโพธิสัตว์" เป็นทริปที่ ๒ อีกที่ อ.เถิน จ.ลำปาง จะได้นำมาเล่าสู่กันฟังภายหลังนะคะ
หลังจากนั้นลงมาที่กำลังสร้างพระใหญ่ หลวงพี่เคยทำบุญมาเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ในขณะนี้พวกเราโชคดีอีกแล้ว มองเห็นช่างกำลังเทพระเมาลี (มวยผม)
ของพระพุทธเจ้าอยู่ จึงขอให้ช่างผสมปูนแล้วนำแบบมวยผมมาให้หลวงพี่หล่อ จากนั้นให้รางวัลกับช่าง ๒ คนเป็นเงิน ๘๐๐ บาท แล้วถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก
เมื่อเดินทางต่อ เกิดปรากฎการณ์ "รุ้งกินน้ำ" เห็นชัดมาก และยังเห็นเป็นแท่งด้วย
๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ (แพร่ - เพชรบูรณ์ - วัดท่าซุง)
๑๔. วัดธรรมยาน ต.นาเฉลียง อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์
งานพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ "สมเด็จองค์ปฐม" ภายในพระประธานในพระอุโบสถ และถวายผ้าป่า
เวลา ๘.๓๐ น. มาถึงวัดธรรมยานหน้าพระอุโบสถหล้งใหม่ที่กำลังก่อสร้างเสร็จไปแล้วประมาณ ๘๐ %
หลวงพี่ทักทายกับญาติโยม แสงชัยพร้อมครอบครัวถวายปัจจัยหลวงพี่ ญาติโยมทั้งหลายถวายปัจจัยด้วย
เวลา ๑๐.๐๐ น. เริ่มพิธีบวงสรวง เมื่อบวงสรวงเสร็จเริ่มพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หลวงพี่อนันต์ หลวงพี่วิรัช
และหลวงพี่ชัยวัฒน์เข้าพระอุโบสถ และเริ่มบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศที่กำหนดไว้ บรรจุสมเด็จองค์ปฐมก่อนถึงค่อยบรรจุองค์ปัจจุบัน
ขั้นตอนเป็นไปตามที่กำหนด
เวลา ๑๑.๐๐ น. เลยเวลาไปเล็กน้อยจึงเสร็จสิ้น และฉันเพล แล้วเดินทางต่อไป
๑๕. สำนักสงฆ์บ้านดงทิพย์ ต.ท่าอิบุญ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์
หลังจากฉันเพลแล้วเดินทางไปที่แห่งนี้ คุณสัมพันธ์ กันฟัก จากพิษณุโลกเป็นผู้แจ้งหลวงพี่ไว้นานแล้ว มาถึงก็บ่าย ๒ โมงพอดี
เป็นรอยพระพุทธบาทที่พระผู้ดูแลสำนักสงฆ์ยกมาจากในป่า มี ๒-๓ รอย อยู่ในศาลาเล็กๆ พวกเราช่วยกันทำความสะอาดรอยพระพุทธบาท จัดเตรียมสถานที่บวงสรวง
และเตรียมเครื่องบูชา พร้อมแล้วก็ทำพิธีบวงสรวง เสร็จแล้วบูชารอยพระพุทธบาทด้วยของหอมและดอกไม้โปรย
มีเรื่องแปลกก็คือ มีรอยคล้ายรอยพญานาค อยู่บนพื้นดิน เป็นรอยที่ยาวไม่น้อยประมาณ ๑๐-๑๕ เมตร ใช้ดอกไม้โปรยบูชาและสรงน้ำหอม
หลวงพี่ได้สอบถามพี่สาวคุณสัมพันธ์ ซึ่งได้ฝันก่อนหน้าที่จะมาว่าฝันเห็นพญานาค
๑๖. พระธาตุผาซ่อนแก้ว บ้านทางแดง ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
พวกเราได้เดินทางมาตามเส้นทางเขาค้อแล้ว แวะไปทำบุญสร้างพระพุทธรูป ๕ พระองค์ ปางสมาธิซ้อนกัน ๕ พระองค์ องค์พระยังสร้างเสร็จไม่สมบูรณ์
การก่อสร้างบนเขาที่มีความสูงมาก มองจากถนนระหว่างที่วิ่งเลียบเชิงเขา จะเห็นทิวทัศน์สวยงามมาก
เมื่อเข้าไปในพระเจดีย์ได้ทำบุญหลายอย่าง ดังนี้
- สร้างพระนลาฏติดที่พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
- สร้างเพชรประดับฉัตรและพระนลาฎ
- สร้างฉัตรถวายพระพุทธเจ้า
รวมทำบุญทั้งหมด ๑๕,๐๐๐ บาท
และได้บูชาพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในผอบแก้ว พร้อมกราบรอยพระพุทธบาท ๒ รอยในพระเจดีย์ (ทางวัดได้มาจาก สำนักป่ามุนีธรรม อ.ไทรโยค
จ.กาญจนบุรี) และนับเป็นอีกแห่งหนึ่งของรอยพระพุทธบาทที่พบใหม่ บูชาด้วยของหอม ดอกไม้โปรย แผ่นทอง น้ำหอม
เสร็จแล้วระหว่างเดินกลับได้ถ่ายรูปด้านหน้าบริเวณพระเจดีย์ และพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ อีกครั้ง ซึ่งเป็นมุมที่มองลอดซุ้มออกไปสวยงาม
สรุปการเดินทาง ๒ ทริป
ตั้งแต่วันที่ ๑๓ - ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๗
๑. สร้างพระพุทธรูปใหญ่ ๔ แห่ง
๒. กราบรอยพระพุทธบาท ๓ แห่ง
๓. สร้างฉัตรครอบรอยพระพุทธบาท ๓ แห่ง
๔. กราบรอยพระพุทธบาทพบใหม่ ๔ แห่ง
๕. กราบพระธาตุ ๖ แห่ง
๖. กราบพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๑ แห่ง
๗. กราบเงาพระธาตุ ๑ แห่ง
๘. วางศิลาฤกษ์สร้างวิหาร ๑ แห่ง
๙. บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสมเด็จองค์ปฐม และองค์ปัจจุบัน ๑ แห่ง
รวมเงินทำบุญจำนวน ๒๘๔,๘๐๐ บาท จึงขอเชิญทุกท่านได้อนุโมทนาร่วมกัน..สวัสดีค่ะ
<< กลับสู่สารบัญ
|
|
|
|
Posts: 2041 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 9/4/15 at 20:58 |
|
|
|
|
Posts: 2041 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
|
|
"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน
เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player
ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป
ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved
|
|
|
|