ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 21/4/15 at 11:02 Reply With Quote

เล่าเรื่องการเดินทางไปประเทศพม่าตอนใต้ (ทวาย) วันที่ 3 – 7 กรกฎาคม 2557


เล่าเรื่องการเดินทางไปประเทศพม่าตอนใต้ (ทวาย)

ระหว่างวันที่ 3 - 7 กรกฎาคม 2557


๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ (วัดท่าซุง - สุพรรณบุรี - กาญจนบุรี)


๑. วัดอูยา ต.ดอนกำยาน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

........หลวงพี่ชัยวัฒน์ อชิโต ได้นำ "คณะตามรอยเล็กๆ" ไปเที่ยวเมืองทวาย ประเทศเมียนมาร์ ทั้งนี้ เนื่องมาจากก่อนหน้านี้ท่านได้นำคณะไปไหว้ "พระธาตุโบอ่อง" อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี แล้วได้พบกับเจ้าของแพ ทำให้หลวงพี่รู้ว่าสามารถเดินทางไปทวายได้ทางเมืองกาญจน์ โดยคุณพ่อของเจ้าของแพให้ข้อมูลบอกว่าเคยไปมาแล้ว ต่อมาหลวงพี่ก็วางแผนการเดินทางให้พวกเราได้ไปไหว้พระ การไปไหว้พระธาตุโบอ่องครั้งนั้นจึงมีประโยชน์ใหญ่ ทำให้มีการจัดทริปการเดินทางไปก่อนเข้าพรรษา ถึงแม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับการเดินทางที่ย่างเข้าฤดูฝนก็ตาม แต่ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ ทำให้พวกเรายอม..พร้อมที่จะต่อสู้กับอุปสรรคทุกรูปแบบ

.........การเดินทางครั้งนี้ก็เหมือนกับทุกๆ ครั้ง ที่หลวงพี่จะเป็นผู้ติดต่อหาทัวร์เอง โดยการสืบถามราคาจนแน่ใจว่าทัวร์ไหนดี ท่านจะเลือกตัดสินใจและต่อรองราคาให้ถูกที่สุด พร้อมกับวางแผนเส้นทางว่าสถานที่สำคัญตรงไหนที่ควรจะไป เพราะว่าจะให้ทัวร์จัดเองก็จะเป็นแค่ภายในเมือง ส่วนสถานที่สำคัญๆ แห่งอื่นที่อยู่ไกลก็จะไม่สามารถไปได้ โดยเฉพาะพี่ติ๋ม (อภิญญา นาคสวัสดิ์) น้องสาวหลวงพี่และพวกเราดีใจกันสุดๆ ที่หลวงพี่จะนำไปไหว้ "พระเจดีย์ซานดอว์เซน" บ้านกเลงอ่อง ซึ่งอยู่ไกลออกไปจากทวายประมาณ ๗๐ ก.ม. สถานที่นี้ได้ยินหลวงพี่เล่าไว้นานแล้วว่า เป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ บรรจุไว้องค์ ละ ๓ เส้น ความฝันของพวกเรากำลังจะเป็นจริงแล้ว



ก่อนการเดินทางหลวงพี่ได้มอบหมายให้ คุณกัญญาวีร์ (หมี) ลิมเรืองรอง เป็นผู้ประสานงานกับหัวหน้าทัวร์ เช่น ทำหนังสือเดินทาง และหาที่จอดรถบริเวณนั้น พร้อมกับหาสถานที่พักก่อนการเดินทาง เป็นต้น จนถึงวันเดินทางหลวงพี่นัดกับ คุณเจ และ คุณต่าย ให้มาเจอกันที่ "วัดอูยา" อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี


ทั้งนี้ เพื่อร่วมสร้างพระใหญ่ "หลวงพ่อโสธรสันติสุข" ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๘ เมตร ความสูง ๒๔ เมตร เป็นทองสัมฤทธิ์ ใช้ทองเหลืองประมาณ ๒๕๐ ตัน หรือประมาณ ๒๕,๐๐๐ กิโล งบประมาณ ๙๐ ล้านบาท พวกเราได้ร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาส ๕,๐๐๐ บาท เจ้าอาวาสนิมนต์หลวงพี่ฉันเพลที่นี่ เพราะมีเจ้าภาพมาเลี้ยงอาหารเนื่องในงานฌาปนกิจศพพอดี พวกเราก็เลยเป็นลูกศิษย์ ทานอาหารกลางวันกันที่นี่เสียเลย ท่านเจ้าอาวาสได้มอบพระให้เป็นที่ระลึกคนละ ๑ องค์




๒. รอยพระพุทธบาทหินดาด บ้านพุบอน ต.เลาขวัญ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี


ต่อจากนั้น ออกเดินทางมาที่ รอยพระพุทธบาทหินดาด บ้านพุบอน เพราะช่วงเดือนกรกฎาคมจะเข้าหน้าฝน หลวงพี่มาตรวจงานที่ให้มอบหมายให้ช่างเทปูนรอบรอยพระพุทธบาท, สร้างแท่นพระโพธิสัตว์ และทราบว่ามีเจ้าภาพจะสร้างสะพานเล็กๆ ข้ามลำธาร เพื่อสะดวกในการไปกราบรอยพระพุทธบาท



รอยหอยสังข์โพธิสัตว์ และ รอยพระพุทธบาท คนอายุ ๗๐ กว่าปี ที่เคยเห็นสภาพเดิมๆ สมัยก่อนเล่าว่า
แต่ก่อนเคยเห็นเป็นรอยนิ้วทั้งห้าชัดเจนมาก และพื้นรอยพระพุทธบาทก็เป็นหินที่ขาวนวลตามธรรมชาติ



ต่อจากนั้นจึงได้มาพักค้างคืนตามที่นัดหมายไว้ คณะตามรอยพระพุทธบาท (รวมทั้งสิ้น ๓๒ คน) ได้ทยอยเดินทางกันมาถึงสถานที่พัก อยู่ห่างจากด่านบ้านพุน้ำร้อน ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ซึ่งคุณหมีได้เดินทางไปนัดหมายกับเจ้าของให้เช่าที่จอดรถไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว เพราะเห็นว่าการเดินทางไปทวาย หนทางไกลและถนนก็ยังมีสภาพเป็นลูกรังในบางช่วง


ด้วยเหตุนี้ เวลา ๑๙.๐๐ น. หลวงพี่ท่านนัดประชุมเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจกัน และจัดแบ่งเครื่องบูชาไว้แต่ละแห่งๆ พร้อมกับรวบรวมเงินที่ทำบุญไว้ทุกแห่ง โดยหัวหน้าทัวร์ได้นำเงินจ๊าดมาให้แลกด้วย พร้อมกับบอกว่าได้จัดรถตู้ไว้บริการ ๓ คัน สรุปว่าได้แบ่งเครื่องบูชาโดยจัดไว้เป็นชุดๆ รวมจำนวน ๑๑ แห่ง พร้อมเครื่องไทยทานที่จะถวายพระ และเงินทำบุญครบถ้วนทุกแห่ง หลังจากนั้นก็วางแผนการเดินทางตาม "โปรแกรมการเดินทาง" ที่บริษัททัวร์นำมาแจกให้ทุกคน ดังนี้


ช่วยกันจัดผ้าห่มพระเจดีย์ และผ้าสไบห่มพระพุทธรูป พร้อมฉัตร พุ่มเงินพุ่มทอง ระฆังเล็ก เทียนพรรษา เป็นต้น





คลีปวีดีโอ...ตามรอยพระพุทธบาท เมืองทวาย พม่า


คณะตามรอยพระพุทธบาท (เตรียมงานก่อนไปทวาย) วันที่ 3 ก.ค 2557
คณะตามรอยพระพุทธบาท (เข้าสู่เมืองทวาย) วันที่ 4 ก.ค 2557
คณะตามรอยพระพุทธบาท (เมืองทวาย) วันที่ 5 ก.ค 2557
คณะตามรอยพระพุทธบาท (เมืองทวาย) วันที่ 6 ก.ค 2557

บันทึกภาพวีดีโอ - คุณปัณณวิชญ์ (ตึ๋ง) ภูไตรรัตน์
บันทึกภาพนิ่ง - คุณวัชรพล (ปุ๋ม) ศรีขวัญ


โปรแกรม การเดินทางไหว้พระที่สำคัญ ของเมืองทวายพระพุทธรูป - พระเจดีย์ - รอยพระพุทธบาท

........ตรีทวายทัวร์ ขอนำท่านออกค้นหาเส้นทางการท่องเที่ยวแห่งใหม่ในเขตตะนาวศรี ณ เมืองทวาย หรือ ดะแว (Dawei) เมืองที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพเพียง 330 กิโลเมตร และเป็นเมืองชายหาดที่อยู่ใกล้เชียงใหม่มากที่สุด เปิดประสบการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวไปกับเรายังดินแดนแห่งทะเลอันดามัน ที่ซ่อนเร้นความงามแห่งเทือกเขาตะนาวศรีมานานนับศตวรรษ นับแต่ยุคบุกเบิกสมัยอาณานิคมอังกฤษ ที่เคยเป็นสถานที่ตากอากาศขึ้นชื่อของพม่า

แม้แต่นักเขียนอิตาลีคนหนึ่งยังอยากมีลมหายใจสุดท้ายอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้ ทวายกำลังอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนถ่ายสู่โลกสมัยใหม่ ตึกรามบ้านช่องผุดขึ้นมากมายเพราะเมืองหลวงของเขตตะนาวศรีแห่งนี้ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกในพม่า การพัฒนาที่กำลังรุดไปข้างหน้านั้นได้ ทำให้ชาวทวายที่เคยเข้ามาทำงานอยู่ในเมืองไทยต่างทยอยเดินทางกลับบ้านกันมากขึ้น

ก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เราขอพาท่านออกค้นหาเสน่ห์ของเมืองทวาย เมืองที่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและความงดงามของชายหาดที่ขาวสะอาด บริสุทธิ์ พร้อมสัมผัสกลิ่นไอความเป็นเมืองเก่าแก่ในยุคอาณานิคมอังกฤษ และศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของชาวพม่าที่มีต่อพระพุทธศาสนา ผ่านสถาปัตยกรรมอันงดงามของวัดวาอาราม และการกราบไหว้ขอพรของชาวเมืองทวาย

เมืองทวาย ซึ่งเคยเป็นเมืองไทยในอดีต ก่อนจะเสียให้พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๓๖ มะริด ทวาย และตะนาวศรี (ตามประวัติศาสตร์อันที่จริงเมืองทั้ง ๓ นี้เสียให้พม่าในปี ๒๓๓๖ ก่อนที่จะเสียให้อังกฤษในปี ๒๓๖๖ หรืออีก ๓๐ ปีต่อมา และเสียให้อังกฤษอย่างถาวรจากผลของ สนธิสัญญาที่ทำกับอังกฤษในปี ๒๔๑๑ ในสมัยรัชการที่ ๔)

เดิมทีทั้ง ๓ เมืองตกเป็นของสยามในสมัยอยุธยาตอนปลายสมัย พระเจ้าอลองพญาตีเอาไปเป็นของพม่า แต่ปี ๒๓๓๔ ทั้งสามเมืองก็มาขอขึ้นกับสยามอีกครั้ง และพม่าก็ตีเอาไปอย่างถาวรในปี พ.ศ.๒๓๓๖ จนอังกฤษเข้ามาปกครองพม่าในปี พ.ศ.๒๓๖๖ ก็ครองทั้งสามเมือง จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๑๑ สยามและอังกฤษ แบ่งดินแดนกันโดยขอทั้ง ๓ เมืองนี้ไปอยู่ด้วยกับอังกฤษ และสุดท้ายจนพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษทั้ง ๓ เมืองนี้ จึงต้องตกไปเป็นของพม่าด้วย แต่ก็มีคนไทยที่ติดอยู่ในดินแดนนี้จำนวนมาก เรียกว่า "ไทยพลัดถิ่น"


วันที่ 3 กรกฎาคม 2557 : คณะพักค้างคืน ที่ การันตี รีสอร์ท ต.บ้านเก่า อ.ไทรโยค จ. กาญจนบุรี

วันแรก 4 กรกฎาคม 2557 : ด่านบ้านพุน้าร้อน – ตัวเมืองทวาย – พระเจดีย์ซานดอว์เซน – วัดเจดีย์หลวงชเวต่องจา

6.00 น. รับประทานอาหารเช้า พร้อมกัน ที่ ร้านอาหารใน การันตี รีสอร์ท (ข้าวต้ม ปาท่องโก๋ พร้อมด้วย ชา กาแฟ)

07:30 น. คณะพร้อมที่ด่านบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ทำเอกสารผ่านแดนชั่วคราว โดยใช้เพียงบัตรประชาชน หลังจากตรวจ เอกสารผ่านแดนแล้ว นำท่านขึ้นรถตู้ท้องถิ่นขนาด 6-8 ที่นั่ง กว้างขวาง นั่งสบาย เดินทางสู่เมืองทวาย เมืองท่าปากแม่น้ำแห่งรัฐตะนาวศรีซึ่งจะเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญอีกแห่งในอนาคต นั่งรถเลาะเลียบไปตามแม่น้ำ ตะนาวศรี หรือ ‘ตะนิ้นตายี’ ในภาษาพม่า ซึ่งมีสายแร่ทองคำและจะเห็นชาวบ้านร่อนทองกันอยู่ในน้ำ ขับผ่านไซต์งานของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ที่กำลังก่อสร้างถนนจากท่าเรือทวายถึงชายแดนไทยซึ่งถนนเส้นนี้จะเป็นเส้นทาง เศรษฐกิจสายใหม่ในอนาคต สัมผัสธรรมชาติสวยงามตลอดสองข้างทางสู่ประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลกตะวันตก และตะวันออก ณ ทวาย หรือ ดะเเว (Dawei)

11:30 น. พักรับประทานอาหารที่หมู่บ้านต่าวโตงโลง หรือหมู่บ้านภูเขาสามลูก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางสู่เมืองทวาย หลังจากรับประทานอาหารแล้วนำท่านเดินทางต่อไปยังเมืองทวาย

12:30 น. เดินทางสู่ พระเจดีย์ซานดอว์เซน (Zan Daw Shen) บ้านกเลงอ่อง เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนภูเขาที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม อยู่ห่างจากตัวเมืองทวายประมาณ 70 กิโลเมตร การเดินทางไปวัดนี้ใช้ถนนสายเอเชียเส้น AH 112 (เส้นทวาย – ย่างกุ้ง) จะวิ่งผ่านแม่น้ำกเลงอ่อง ซึ่งไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ณ เมือง Kanbauk เมืองที่อยู่ด้านทิศเหนือของทวายประมาณ 80 กิโลเมตร และบริษัท ปตท. ใช้เป็นจุดวางท่อก๊าซธรรมชาติตามโครงการยาดานาในอ่าวเมาะตะมะ (ณ บริเวณวัดแห่งนี้สามารถรับสัญญาณโทรศัพท์ของเครือข่าย AIS ได้เพราะอยู่ใกล้จุดรับสัญญาณโทรศัพท์ของบริษัท ปตท.)

จากนั้นนำท่านไปสักการะ วัดชินตะแว ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 วัดที่คนทวายนิยมสักการะมากที่สุด ตามตำนานกล่าวว่า "วัดชินตะแว" แห่งนี้มีเทวดามาช่วยก่อสร้างในเวลาดึก วัดชินตะแวอยู่ห่างจากทวายประมาณ 8 กิโลเมตร

19:00 น. นำท่านเดินทางไปสักการะ วัดพระเจดีย์ ฉ่วย (ชเว) ด่อง จา (Shwe Taung Sar Zedi) ซึ่งเป็นวัดเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดใน เมืองทวายและเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพม่าอีกแห่งหนึ่งในเมืองทวาย ณ วัดแห่งนี้ท่านจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวพม่า ที่นิยมมาไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเวลาตอนเย็น

20:00 น. บริการอาหารค่ำ ณ ร้านอาหารไทย Carnival ก่อนนำท่านเข้าพักที่โรงแรม Zayar Htet San ซึ่งเป็นโรงแรมที่เปิดใหม่ ที่สะอาด สะดวก และปลอดภัย

วันที่สอง 5 กรกฎาคม 2557 : ไหว้พระชมเมือง – วัดเหม่วยิท – หาดมอมะกัน

07:00 น. บริการอาหารเช้า ณ ห้องอาหารของโรงแรม

08:00 น. นำท่านไปไหว้พระชมเมืองในทวาย โดยเริ่มจาก วัดพระพุทธไสยาสน์ ฉ่วยตาเลยอง (Shwethalyaung Daw Mu) อยู่ห่างจากตัวเมืองทวายประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นวัดที่ประดิษฐานพระนอน โลกะ ตระภู มีความยาวถึง 74 เมตร สูง 21 เมตร ซึ่งครั้งหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากนั้นไปไหว้พระขอพรที่ วัดพระเจดีย์ชินโมทีพญา ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดที่ประดิษฐานรูปหล่อพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ล่วงไปแล้ว

พระพุทธรูปดังกล่าวหล่อมาจากพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูก) ของพระพุทธเจ้า แล้วลอยตามน้ำทะเลมาจากศรีลังกา ก่อนมาเกยตื้นอยู่ที่คลองซอวะ แล้ว "แม่ชีเหม่ เอตี่" กับชาวบ้านแห่งหมู่บ้านชินโมทีมาพบเข้า จึงนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดแห่งนี้ ส่วนพระพุทธรูปองค์อื่นๆ นั้นก็ไปประดิษฐานไว้ที่ วัดชินมอ, วัดเชเป่งคิ้ว และวัดชินโออ๊อ อย่างละ 1 องค์ วัดชินโมทีอยู่ห่างจากตัวเมืองทวาย ประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1438 และถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่อีกแห่งในเมืองทวาย

10:00 น. พาคณะไปสักการะพระเจดีย์วัดเชเป่งคิ้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่วัดที่ประดิษฐานรูปหล่อพระพุทธเจ้าที่ลอยมาจากศรีลังกา ในครั้งหนึ่งนั้นเกิดไฟไหม้ใหญ่ในชุมชนละแวกวัดเชเป่งคิ้ว ทุกบ้านได้รับความเสียหาย เว้นแต่ วัดเชเป่งคิ้ววัดเดียวที่รอดพ้นจากไฟไหม้หนนั้น สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ชาวเมืองทวายเป็นอย่างยิ่ง ก่อนพักรับประทานอาหารเที่ยง พาคณะไปไหว้พระขอพรที่วัดยัดตองมู หรือวัดพระยืน

ตามด้วยวัดพระเจดีย์ชินโออ๊อ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลัง วัดชเวต่องจา หรือวัดพระเจดีย์หลวง วัดเจดีย์ชินโออ๊อเป็นหนึ่งในสี่วัดที่ประดิษฐานรูปหล่อพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ล่วงไปแล้ว และมาเกยตื้นอยู่ที่ทวายแห่งนี้ จากนั้นพาคณะไปสักการะวัดชานเจดีย์ ซึ่งเป็นวัดไทยที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ณ วัดแห่งนี้ท่านจะเห็นสถาปัตยกรรมของเจดีย์แบบสุโขทัย ซึ่งแตกต่างจากวัดอื่นๆ ในเมืองทวาย

11: 30 น. พักรับประทานอาหารเที่ยง ณ ร้านอาหาร Aung Pyi Phyo ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยขึ้นชื่ออีกร้านในเมืองทวาย

12:30น. นำท่านไปสักการะขอพร ณ รอยพระพุทธบาทนาปูแล ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน BAWA ใกล้หาดนาปูแล (Nabule Beach) จากนั้นนำคณะเดินทางต่อไปยัง วัดพระเจดีย์เหม่วยิท เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเกาะ ต้องเดินข้ามสะพานไปประมาณ 150 เมตร ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน กาน หนี่ (Kaan Ni) อยู่ห่างจากตัวเมืองทวายประมาณ 26 กม. พระเจดีย์องค์นี้ประดิษฐาน "พระเกศาธาตุ" ของพระพุทธเจ้า

17:00 น. เดินทางสู่ "หาดมอมะกัน" เพื่อชมพระอาทิตย์ตกดินและ รับประทานอาหารซีฟู้ดริมทะเล ณ ร้าน Silver Sea Restaurant หาดมอมะกันมีชายหาดยาวประมาณ 8 กิโลเมตร และเป็นชายหาดที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งในประเทศพม่า

วันที่สาม กรกฎาคม 2557 : เมืองทวาย – ตลาด 100 ปี – ด่านบ้านพุน้าร้อน

06:00 น. บริการอาหารเช้า ณ ห้องอาหารของโรงแรม
07:00 น. พาคณะไปชมตลาด 100 ปี (Municipal Market) เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของชาวทวายและบรรยากาศของตลาด ที่ยังคงความเป็นอดีตไว้อย่างมาก ตลอดแนวของตลาดนั้นจะเห็นอาคารบ้านเรือนแบบเก่าๆ เรียงรายกันไป และมีสินค้าพื้นเมืองให้เลือกซื้อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้ง, เครื่องสำอาง, ผ้าโสร่งหรือลองยี รวมถึงชมรถม้า ที่ยังคงใช้อยู่และหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน ภาพวิถีชีวิตเหล่านี้คงจะหมดไปในอีกไม่นานเพราะการพัฒนาที่มาพร้อมกับสิ่งอานวยความสะดวกสมัยใหม่ เช่น รถยนต์และมอเตอร์ไซด์ที่กำลังเข้ามาแทนยานพาหนะแบบเก่ามากขึ้น

09:00 น. เช็คเอ้าท์ออกจากโรงแรมเพื่อเดินทางกลับสู่ด่านพุน้ำร้อน
11:30 น. พักรับประทานอาหารเที่ยงที่หมู่บ้านต่าวโตงโลง
15:00 น. ถึงด่านพุน้าร้อน นำท่านผ่านพิธีการผ่านแดนออกจากพม่า เข้าสู่ประเทศไทย ผ่านการตรวจคนเข้าเมือง


วันที่ ๔ กรกฏาคม ๒๕๕๗ (กาญจนบุรี - ทวาย)


เวลา ๐๖.๐๐ น. รับประทานอาหารเช้า ณ ร้านอาหารในที่พัก เตรียมพร้อมเพื่อเดินทางไปที่ด่านบ้านพุน้ำร้อน


เวลา ๐๗.๓๐ น. ถึงด่านบ้านพุน้ำร้อน เตรียมขนของขึ้นรถตู้ (พม่า) ทั้ง ๓ คัน ทางทัวร์มีรถกระะบะช่วยขนของเพิ่มอีก ๑ คัน




เวลา ๐๙.๐๐ น.ขบวนรถก็เริ่มออกเดินทางมีทั้งหมด ๕ คัน ผ่านเทือกเขาตะนาวศรีและค่ายคนงานของบริษัท "อิตัลไทย" เส้นทางจะลัดเลาะไปกับแม่น้ำตะนาวศรี จนมาถึง "หมู่บ้านช้างเผือก" ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางไปเมืองทวาย เวลา ๑๑.๐๐ น. พักฉันอาหารเพล และญาติโยมรับประทานอาหารกลางวัน เป็นร้านอาหารพื้นเมือง ช่วงนี้จะเห็นสภาพถนนเป็นลูกรัง ด้านล่างมองลงไปเป็นแม่น้ำตะนาวศรี (มีสีขุ่น) แต่โชคดีที่ฝนตกก่อนล่วงหน้า จึงทำให้เดินทางสบายๆ ไม่มีฝุ่นรบกวนแต่ประการใด ตอนหลังกลับมาแล้วทราบข่าวว่าฝนตกหนักจนถนนพังไปหลายแห่ง


เวลา ๑๒.๐๐ น. เริ่มออกเดินทางกันต่อไป จุดแรกเป้าหมายอยู่ที่ "พระเจดีย์ซานดอร์เซน" บ้านกเลงอ่อง ต้องใช้เวลามากกว่าปกติ เพราะคนขับบอกไม่อยากขับรถเร็วเกินไป จนกระทั่งเวลา ๑๖.๐๐ น. ถึงเป้าหมายที่ต้องการ

๓. พระเจดีย์ซานดอร์เซน (SanDawShin) บ้านกเลงอ่อง เมืองทวาย ประเทศพม่า



ภาพถ่ายทางอากาศ : จะเห็นหลังคาบันไดทางขึ้นไปจนถึงบนยอดเขาสูง นี่คือภาพเดิมได้เมื่อปี ๒๕๔๕
ปัจจุบันภาพนี้ไม่มีแล้ว หลวงพี่ได้ไปครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๓ และท่านก็ได้มาเป็นครั้งที่ ๒ ปี ๒๕๕๗



(แผนที่บอกระยะทางระหว่างเมืองทวายไปบ้านกเลงอ่อง)

ประวัติ "พระเจดีย์กเลงอ่องซู่ตองบีซานดอว์เซน"
สมัยพระพุทธกกุสันโธ

......ตามเนื้อเรื่องได้เล่าย้อนไปถึงตอนสมัยพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ผ่านไปแล้ว 3 พระองค์ คือ พระพุทธกกุสันโธ, พระพุทธโกนาคม, พระพุทธกัสสป สมัยที่ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ อุบัติขึ้นในโลก พระองค์ได้เสด็จสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลาย จนกระทั่งเสด็จโปรดมาถึงอาณาเขตนี้ สมัยนั้น "เมืองกเลงอ่อง" มีชื่อว่า "เมืองเวเม่ตะกร้าตอง" มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองทรงพระนามว่า "พระเจ้าเคมา" ซึ่งเป็นหน่อเนื้อพระโพธิสัตว์ เพราะสมัยต่อมาเจ้าเมืองพระองค์นี้ ได้กลับมาเกิดเป็นสมเด็จพระสมณโคดมพุทธเจ้า

สมเด็จพระพุทธกกุสันโธทรงเห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต ณ อาณาจักรแห่งนี้ พระองค์จึงได้ทรงประทาน "พระเกศาธาตุ 3 องค์" เพื่ออนุเคราะห์พระเจ้าเคมาและชาวเมืองทั้งหลาย จะได้สร้างเป็นพุทธสถานไว้เป็นที่กราบไหว้ เพื่อสั่งสมบุญบารมีให้เป็นเนื้อนาบุญสืบต่อไป พระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระโอวาทและสงเคราะห์พระเจ้าแผ่นดินแล้วจึงเสด็จกลับ ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงปรินิพพานไปตามกาลเวลา


หลวงพี่เดินทางไปเมื่อปี ๒๕๕๓ สภาพรถสองแถวพื้นบ้านมีคนนั่งขึ้นไปบนหลังคา ผ่านด่านของเจ้าหน้าที่พม่าไปได้

สมัยพระพุทธโกนาคม

......ครั้นสมัยต่อมาผ่านไปหนึ่งพุทธันดร พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "พระโกนาคม" ได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ได้เสด็จมาที่ "เมืองกเลงอ่อง" อีกเช่นกัน พระองค์ท่านได้ประทานพระเกศาธาตุ 3 องค์ ไว้กับมหาเศรษฐี 2 ท่าน มีชื่อว่า "ตุ๊มานะ" และ "ตุ๊บอกา" เมืองกเลอ่องสมัยนั้นมีชื่อว่า "เมืองกิริเวปลา" หลังจากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับไปยังแว่นแคว้นของพระองค์ต่อไป


(รถวิ่งเข้ามาถึงเชิงเขา จะเห็นซุ้มประตูทางเดินขึ้นไป โดยมีบางคนสมัครใจเดินขึ้น ส่วนที่เหลือนั่งรถสองแถวขึ้นไป)

สมัยพระพุทธกัสสป

......จนถึงกาลสมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "พระพุทธกัสสป" พระองค์เสด็จโปรดชาวโลกทั้งหลาย จนได้เสด็จมาถึงเมืองกเลงอ่อง ในสมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระโอรสองค์หนึ่ง มีนามว่า "โบ๊เดสาระ" พระราชบุตรองค์นี้ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาได้ออกบวชเป็นพระฤาษี พระพุทธกัสสปจึงได้ทรงประทานพระเกศาธาตุไว้กับพระฤาษี 3 องค์ (พระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุสมัยพระพุทธกัสสปชื่อว่า "พระเจดีย์มเหตะระ" ชื่อเดิม "พระเจดีย์กเลงอ่อง")


(ทางพม่าเขาดีกว่าบ้านเรา แม้ทางเดินขึ้นบันไดก็มุงหลังคาไว้ไม่ให้เดือดร้อน
บันไดนับร้อยขั้น จะมีชาวบ้านมาบูชากันมากมายในงานประจำปี)

สมัยพระสมณโคดม

......กาลเวลาผ่านไปอีกหนึ่งพุทธันดร พระเจดีย์แห่งนี้ได้ล่วงมาแล้วถึง 3 พุทธันดร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานส่วนสำคัญสูงสุดบนพระเศียรของพระพุทธเจ้ามาแล้วถึง 3 พระองค์ ซึ่งไม่มีสถานที่ใดที่ประเสริฐเลิศเช่นนี้ สมัยนั้นเมืองกเลงอ่อง มีชื่อว่า "เมืองเวตาวันน่าต๊องโก" ครั้นถึงสมัยพุทธกาลนี้พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "พระสมณโคดม" ได้อุบัติขึ้นในโลกแห่ง "ภัทรกัป" นี้ พระพุทธองค์ได้เสด็จมา ณ สถานที่นี้ตามพุทธประเพณีอีกเช่นกัน

ซึ่งเมืองกเลงอ่องสมัยพระพุทธเจ้า "พระสมณโคดม" นั้นมีชื่อว่า "เมืองวิมิต๊ะ" สมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จโปรดมาถึงดินแดนแห่งนี้ เสมือนได้ย้อนกลับมาบ้านเก่าเมืองเดิมของพระองค์ เพราะว่าสมัยพระพุทธกกุสันโธอุบัติขึ้นในโลก พระโพธิ์สัตว์ได้บังเกิดเป็น "พระเจ้าเคมา" เป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินนี้มาแล้ว ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้ทรงประทานพระเกศาธาตุไว้ 3 พระองค์

องค์ที่ 1 ประทานไว้กับมหาเศรษฐีชาวเมืองนี้มีชื่อว่า "ต๋าป้าต้าเกวงปะติ๊" ต่อมาได้ออกบวชเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า
องค์ที่ 2 พระพุทธองค์ได้ประทานพระเกศาธาตุองค์นี้ไว้กับเทพบุตรองค์หนึ่ง มีชื่อว่า "ดูลักก๊ะ"
องค์ที่ 3 พระพุทธองค์ได้ประทานพระเกศาธาตุองค์นี้ไว้กับยักษ์ตนหนึ่ง มีชื่อ "โกงบายะคะ"

ในตอนนั้น องค์สมเด็จพระสมณโคดมได้ตรัสพยากรณ์ไว้กับบุคคลทั้ง 3 โดยตรัสกับพญายักษ์ก่อนว่า เมื่อได้พระเกศาธาตุของพระองค์แล้ว ในขณะที่ตถาคตยังไม่ปรินิพพาน ท่านจะได้เกิดเป็นมนุษย์แล้วได้เป็นกษัตริย์ มีชื่อ "พระเจ้าพานมะยาสะ" อยู่จังหวัดตะโท (ปัจจุบันคือ เมืองสะเทิม ในแผนที่พม่าเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "ThaTon" ผู้เขียนชอบอ่านว่า "ท่าตอน" อยู่เสมอ)

แล้วได้ตรัสกับเทวดาต่อไปว่า ถ้าตถาคตเข้านิพพานไปได้ 1 ปี เทพบุตรที่ชื่อ "ดูลักก๊ะ" นี้จะกลับมาเกิดเป็นลูกของกษัตริย์ที่เคยเกิดเป็นยักษ์ เทพบุตรดูลักก๊ะได้เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองนี้ มีชื่อว่า "พระเจ้านุระดี" และได้ตั้งชื่อพระเจดีย์นี้ว่า "กเลงอ่อง"

สมัยพระเจ้านุระดี

......ต่อมาพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้านุระดี (ที่เคยเป็นเทพบุตรองค์นี้) ได้ปรึกษากับพระสงฆ์เป็นจำนวนมากว่า มีพระเกศาธาตุ 3 องค์ จะนำไปบรรจุไว้ที่ยอดพระเจดีย์ มีชาวบ้านนำสิ่งของมีค่ามาถวายรวมไว้อย่างมากมาย ขณะที่กำลังบรรจุพระเกศาธาตุและของมีค่านั้น ปรากฎว่าได้มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น คือมี "แสงฉัพพรรณรังสี" ปรากฏให้เห็นด้วย

และเวลามีงานทำบุญประจำปีทุก "เดือนมีนาคม" จะมีแสงฉัพพรรณรังสีมาปรากฏให้เห็นทุกปี วัตถุสิ่งของมีค่าต่างๆ เช่น แก้วแหวนเงินทองของมีค่า และเพชรนิลจินดาที่มีผู้ถวายเป็นพุทธบูชาบรรจุไว้นั้น มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้นจำนวน 33 กิโลกรัม กับ 2 ขีด

สมัยต่อมาได้มีพระอริยสงฆ์ผู้มีฤทธิ์จำนวน 5 รูป ได้เหาะมาทางอากาศแล้วลงมากราบไหว้บูชาพระเจดีย์กเลงอ่อง ท่านเหาะมาจาก "เมืองกานดายะไต" กราบไหว้บูชาแล้วท่านก็ได้เหาะไป "เมืองตะโท" (สะเทิม) ท่านได้ไปสั่งสอนธรรมะอยู่ 1 ปี แล้วก็เหาะกลับไปเมืองกานดายะไต ท่านเหาะมาที่เมืองกเลงอ่อง เมื่อเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 22 เหาะมาที่เมืองตะโท (สะเทิม) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 22 แล้วก็เหาะกลับวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 23


รายชื่อพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงฤทธิ์ทั้ง 5 รูป มีดังนี้

1. พระอเชนตอบีต๊ะ มะเท
2. พระอเชนเนียนะ มะเท
3. พระอเชนวิสายะ มะเท
4. พระอเชนโกติต๊ะ มะเท
5. พระอเชนไต๋ต๊ะ มะเท



คำแปล "ซานดอว์เซน" แปลว่า พระเกศาธาตุ
คำแปล "ซู่ตองบี" แปลว่า ขออะไรได้ทุกอย่าง
คำแปล "ต่อง" แปลว่า ภูเขา
คำแปล "มะเท" แปลว่า พระอริยสงฆ์


รวมคำแห่งความหมาย "พระเจดีย์กเลงอ่องซู่ตองบีซานดอว์เซน"
แปลว่า "พระเกศาธาตุบนภูเขากเลงอ่อง จะขออะไรก็ได้สมหวังทุกอย่าง"



......ขอย้อนกลับมาในปี ๒๕๕๗ พวกเราดีใจแหงนมองไปจากรถ เห็นยอดพระเจดีย์บนเขาแต่ไกล เพราะทราบกันดีว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ องค์ละ ๓ เส้น การเดินทางวันแรกจึงได้เลือกสถานที่นี้ก่อน เพราะเป็นสถานที่ไกลกว่าแห่งอื่น


นับเวลาดูก็แล้วกันว่านั่งรถนานกี่ชั่วโมงกว่าจะถึงที่นี่ รถตู้ทั้งหมดวิ่งขึ้นบนยอดเขา แล้วเข้ามาจอดหน้าซุ้มประตูบันไดพระธาตุ (เสียดายที่ไม่เห็นภาพระหว่างรถวิ่งขึ้นเขาที่สูงชัน จะเห็นรถเกรดกำลังปรับถนน คิดว่าพระเจดีย์แห่งนี้คงจะเจริญจนเป็นที่รู้จักของชาวไทยต่อไป)


คณะจัดทำบายศรีมา ๒ ชุด จากวิหารองค์ปฐมและน้องรุ่งนำมาบูชาสถานที่นี้ ซึ่งถือว่ามาได้ยาก แต่ก็มีเหตุให้ตื่นเต้นก่อนล่วงหน้า นั่นก็คือว่าเครื่องบูชาทั้งหมดอยู่ในรถกระบะ ซึ่งได้วิ่งล่วงหน้ามาก่อนรถตู้ทั้ง ๓ คัน แล้วก็ไม่ทราบว่าไปรออยู่ที่ไหน เพราะหลวงพี่ไม่ได้แวะเข้าไปในตัวเมืองทวาย


เมื่อมีสัญญาณโทรศัพท์คุณวัตรได้แจ้งว่า ตอนนี้เขาไปรออยู่ที่โรงแรม เมื่อรู้ว่าพวกเราไม่ได้แวะเข้าไป เขาจึงนัดให้ไปเจอกันที่บ้านกเลงอ่องเลย ด้วยเหตุนี้เมื่อได้เห็นรถกระบะวิ่งมาเจอกัน พวกเราทุกคนถึงกับโล่งใจ เพราะถ้าไปไหว้แล้วไม่มีเครื่องบูชา คิดว่าเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง


เมื่อขนวัตถุสิ่งของลงจากรถจนครบถ้วนแล้วพี่สำราญจึงจัดตั้งเครื่องบูชา ซึ่งเตรียมมาจากเมืองไทยมากมาย มีของ คุณก๊วยเจ๋ง - คุณหลี, คุณติ๋ว, และของเจ๊มายิน โดยพวกเราทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าภาพ หลวงพี่ได้สนทนากับเจ้าหน้าที่ของวัด ผ่่านไกด์ของเราที่นำทางมา



หลังจากเตรียมเครื่องบวงสรวงเสร็จแล้ว หลวงพี่เริ่มทำพิธีบวงสรวงด้วยเทปหลวงพ่อ ตามด้วยการสวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน กล่าวคำถวายเครื่องบูชา เสร็จแล้วสรงน้ำ ปิดแผ่นทอง โปรยดอกไม้ ที่นี่เราได้ทำบุญกันเยอะมาก ร่วมทำบุญตามรายการ ดังนี้


๑. บูรณะพระธาตุ ๑๐,๕๐๐ บาท กับอีก ๙๐๐,๐๐๐ จ๊าด
๒. ร่วมสร้างฉัตรใหม่ ๗,๐๐๐ บาท
๓. ร่วมทำบุญค่ากระแสไฟฟ้า ๖,๗๐๐ บาท
๔. ทำบุญการดูแลสถานที่ ๑,๗๓๐ บาท
๕. ถวายเครื่องไทยทานให้แก่เจ้าอาวาส



หลวงพี่พร้อมคณะตามรอยเล็กๆ ได้มอบเงินไทย, จ๊าด มอบให้คณะกรรมการวัด พร้อมบอกว่าทางวัดเพิ่งจะบูรณะปิดทองและซ่อมฉัตรใหม่ เพิ่งจะเก็บนั่งร้านออกไปไม่นาน พวกเราทุกคนได้ฟังแล้วดีใจมาก ต่างก็ควักเงินออกมาทำบุญ ถ้าจะนับเป็นเงินพม่าก็นับล้านจ๊าด วันหลังๆ ไปทำบุญที่อื่นปรากฏว่า พวกเราทำบุญกับที่นี้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์




ทางคณะกรรมการวัดได้มอบใบอนุโมทนาบัตรใส่กรอบไม้ให้เป็นอย่างดี นับว่าการเดินทางครั้งนี้พวกเราโชคดีที่ได้บุญเพิ่มจากการบูรณปฏิสังขรณ์อีกด้วย ถือว่าได้บูชา "พระเกศาธาตุ" ของพระพุทธเจ้าทั้งองค์ปัจจุบันและในอดีตทั้ง ๓ พระองค์กันอย่างเต็มที่ เงินที่แลกมาได้ถวายไว้ที่นี่เกือบทั้งหมดก็ว่าได้


การเดินทางมาถึงที่นี่ วันนี้อากาศบนยอดเขาเป็นใจ มองเห็นทิวทัศน์ได้โดยรอบ ส่วนด้านข้างจะเห็นยอดฉัตรเก่าที่ถูกเปลี่ยนมาแล้วหลายยุคหลายสมัย ทางพม่าเขาอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี แม้แต่ฉัตรเก่าก็ยังสร้างเอาไว้บูชา นับว่าสุดยอดแห่งการบูชาจริงๆ



เนื่องด้วยพวกเรามีเวลาจำกัด ไม่มีเวลาที่จะห่มผ้าองค์พระธาตุได้ จึงจำเป็นต้องมอบไว้ให้คณะกรรมการช่วยห่มให้พวกเราภายหลัง จากนั้นก็ลาบรรดาชาวบ้านทุกคน แล้วออกเดินทางกลับเข้ามาที่เมืองทวาย เพราะยังมีสถานที่สำคัญที่จะต้องแวะกราบไหว้ตามกำหนดการต่อไป



๔. วัดชินตะแว (Shin Dhat Wei) เมืองทวาย ประเทศพม่า


จุดที่สอง อยู่ห่างจากเมืองทวายประมาณ ๘ กิโลเมตร คนทวายนิยมมาสักการะมากที่สุด ตามตำนานกล่าวว่า วัดชินตะแวมีเทวดามาช่วยก่อสร้างในเวลาดึก มีพระพุทธรูปสำคัญประดิษฐานอยู่ที่นี่ ข้อสังเกต..จะต้องทำลูกกรงรักษาไว้เพื่อป้องกันขโมย ถึงแม้จะห่างจากตัวเมืองไม่ไกล แต่พวกเราเดินทางมาจากบ้านกเลงอ่อง รู้สึกว่ายังอีกไกลกว่าจะมาถึงที่นี่



เมื่อกลับจากบ้านกเลงอ่องถึงที่วัดนี้ ๒ ทุ่มพอดี มองเห็นเขาประดับไฟกลางคืนบูชาพระเจดีย์สวยงามมาก ตามประวัติว่าเทวดามาช่วยสร้างในตอนดึก มิน่าล่ะ..พวกเราถึงจะต้องมาบูชาในยามค่ำคืนด้วย ทุกคนต่างก็ต้องรีบลงจากรถเพื่อบูขาพระเจดีย์ เตรียมเครื่องบูชาแล้วบวงสรวงด้วยเทปหลวงพ่อ จากนั้นกล่าวคำถวายเครื่องสักการบูชา หลวงพี่สรงน้ำหอม ปิดทอง และร่วมทำบุญทุกอย่าง ๒๖๐,๐๐๐ จ๊าด





๕. วัดพระเจดีย์ชเวต่องจา (Shwe Taung Sar Zedi) เมืองทวาย ประเทศพม่า


สถานที่นี้นับเป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองทวาย เป็นที่เคารพสักการะอีกแห่งหนึ่งของชาวเมืองทวาย ที่นิยมมากราบไหว้ขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเวลาตอนเย็น ชาวทวายเรียกกันทั่วไปว่า "พยาจี" (Hpayagyi) หรือพระเจดีย์ใหญ่ ในเวลาเย็นชาวทวายจะมาไหว้กันเป็นจำนวนมากทุกวัน โดยใช้เวลาคนละ ๑-๒ ชั่วโมง บ้างก็สวดมนต์และนั่งสมาธิ โดยทางวัดจะมีประคำแขวนเอาไว้ มองดูผู้คนต่างทยอยกันมาเรื่อยๆ จนถึง ๒๒.๐๐ น. ทั่วบริเวณจึงสว่างไสวดูมีชีวิตชีวา การเดินทางมาจากวัดชินตะแวใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก็มาถึง


ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้านรุติ (Naruti) กษัตริย์ปกครองเมือง Auang Thawaddy ทรงบรรจุพระสารีริกธาตุไว้ที่พระเจดีย์องค์นี้เมื่อ พ.ศ. ๑๒๕๐ (ค.ศ.๗๐๗) องค์พระเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบมอญขนาดใหญ่ ต่อมามีการซ่อมแซมใหญ่หลายครั้ง และมีการทำนุบำรุงมาโดยตลอด จะเป็นประเพณีพอครบ ๔ ปีก็จะมีการบูรณะ ส่วนใหญ่จะปิดทององค์พระเจดีย์ใหม่ ส่วนฉัตรนานๆ จะเปลี่ยนใหม่สักครั้ง


การถวายฉัตรเชื่อกันว่าจะได้กุศลมาก ชีวิตจะร่มเย็นเป็นสุขเหมือนกับฉัตรที่มากางกั้น ประสบความสำเร็จ ชาวพม่าจึงนิยมทำฉัตรขนาดเล็กด้วยกระดาษสีต่างๆ พร้อมดอกไม้ไปถวายเป็นเครื่องบูชา ถ้าขอพรให้ร่ำรวยต้องใช้ฉัตรสีเงินหรือสีทอง ถ้าขอพรให้ชีวิตมีความสุขก็ใช้ฉัตรสีขาว แต่ถ้าขอพรทั่วไปใช้ฉัตรสีแดงหรือสีเหลือง เวลาไปไหว้องค์พระเจดีย์จึงมักได้ยินคำว่า "ซานตาบาเซ" (ขอให้มีความสุข) หรือ "อ่องมิ่งบาเซ" (ขอให้ประสบผลสำเร็จ) จากคนที่มาขอพรใกล้เคียงเสมอ


สำหรับทางคณะมาถึงก็เป็นเวลาค่ำพอดีเหมือนกัน จำต้องรีบเร่งกันจัดเตรียมเครื่องบูชา แล้วทำพิธีบวงสรวง หลวงพี่กล่าวคำถวายเครื่องบูชา แล้วเข้าไปบูชาในวิหารเลย และออกมาเดินรอบพระเจดีย์หนึ่งรอบ ทุกคนกราบพระพุทธรูปประจำวันเกิดที่อยู่รายรอบพระเจดีย์ แล้วร่วมทำบุญทุกอย่าง ๒๐๐,๐๐๐ จ๊าด จากซองที่เตรียมไว้ก่อนเดินทาง ชาวพม่านิยมไหว้พระพุทธรูปประจำวัน ซึ่งทำเป็นซุ้มประดิษฐานไว้รอบองค์พระเจดีย์ตามทิศทั้งแปด ใครเกิดวันไหนก็ไหว้ขอพรพระประจำวันนั้น พระพุทธรูปประจำวันไม่ได้แสดงปางต่างๆ เหมือนกับบ้านเรา


เป็นอันว่า การเดินทางวันแรกไปได้ครบทั้ง ๓ แห่ง แต่ก็ใช้เวลานานจนถึงค่ำ กว่าจะทานอาหารเย็นถึงที่พักก็เป็นเวลาดึกแล้ว นับว่าจะต้องใช้ความอดทนกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสภาพถนนหนทางที่ย่ำแย่ และไปช่วงจะย่างเข้าหน้าฝน ทำให้ทุกคนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากันไปตามๆ กัน ถึงแม้จะต้องแต่งชุดไทยกันเต็มที่ เพื่อหวังจะบูชาคุณพระรัตนตรัยให้สมกับความสำคัญของสถานที่


วันนี้จึงถือว่าเป็นข้อทดสอบกำลังใจของทุกคน ว่าใครจะผ่านขั้นตอนเหล่านี้ได้ ถึงแม้คนขับรถตู้บางคนจะมีปัญหาแต่ส่วนใหญ่ก็นิสัยดี หัวหน้าทัวร์คือ "คุณวัตร" และทีมงานตรีทวายทัวร์ ต่างก็ให้ความสะดวกทุกอย่าง แต่ก็นั่นแหละ..การเดินทางย่อมหนทางไกล พวกเราถึงที่พักก็ยังต้องเตรียมบายศรี, ของบูชา และเครื่องไทยทาน ไว้วันพรุ่งนี้ ที่จะต้องนำมาเล่าในตอนต่อไป...สวัสดีค่ะ




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 26/4/15 at 11:00 Reply With Quote


วันที่ ๕ กรกฏาคม ๒๕๕๗ (วันที่สอง - ทวาย)


๖. วัดพระเจดีย์ ซินโมที (ShinMokti) เมืองทวาย ประเทศพม่า

ประวัติพระพุทธรูปลอยน้ำ

......สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ครองเมืองปาฏลีบุตร ได้ส่งพระราชโอรสคือ พระมหินทเถระ ไปประกาศพระศาสนาที่ลังกาทวีป ในเวลานั้น พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นเจ้าผู้ครองนครอนุราธปุระ พระองค์ได้สร้างพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ในจำนวนพระพุทธรูปหลายองค์ มีอภินิหารเกิดขึ้นกับพระพุทธรูป ๔ องค์ คือ เกิดมีรัศมีขึ้นและองค์พระก็กระพริบตาได้ด้วย

พระราชาทรงปีติมาก จึงอยากจะนำพระพุทธรูปไปบูชาที่พระราชวัง แต่พระมหินทเถระทูลแนะนำว่า ไม่ควรนำไปบูชาเป็นส่วนพระองค์ อยากให้พระพุทธรูปได้ไปตามที่ท่านปรารถนาจะไป พระราชาจึงทรงตกลงและตั้งจิตอธิษฐาน ลอยพระพุทธรูปลงสู่มหาสมุทรอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗ ที่ท่าเรือชมพูโกละ พระพุทธปฏิมากรได้แสดงอภินิหารอีก มีรัศมีสว่างและกระพริบตา แล้วได้ลอยไปในมหาสมุทรอินเดียอย่างรวดเร็ว

องค์ที่ ๑ ลอยเข้าทางปากอ่าวเบงกอลไปที่ เมืองพะสิม (Pathein)
องค์ที่ ๒ ลอยไปถึงชายทะเล แหลมไจ้คามี (Kyai-Kami) เมืองเมาะละแหม่ง
องค์ที่ ๓ ลอยไปที่เมืองไจ้โท (Kyai-kto)
องค์ที่ ๔ ลอยมาเมืองทวาย



......ส่วนประวัติที่วัดชินโมทีเล่าว่า พระพุทธรูปดังกล่าวหล่อมาจากปูน ผสมกับชิ้นส่วนของไม้ศรีมหาโพธิ์ ต้นที่พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่จนตรัสรู้ กล่าวกันว่ามี ๔ องค์ แล้วมีผู้นำมาประดิษฐานบนแพลอยตามน้ำทะเลมาจากศรีลังกา และมีองค์หนึ่งมาเกยตื้นอยู่ที่คลองซอวะ แล้วมีแม่ชีสูงอายุชื่อว่า "แม่ชีเหม่ เอตี่" กับชาวบ้านแห่งหมู่บ้านชินโมทีมาพบเข้า จึงอธิษฐานขออัญเชิญมาประดิษฐาน ก็สามารถเอาเชือกผูกแพลากขึ้นมาได้มาไว้ ณ วัดแห่งนี้

วัดชินโมทีอยู่ห่างจากตัวเมืองทวายประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. ๑๔๓๘ (พ.ศ. ๑๙๘๑) และว่ากันว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองทวาย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระพุทธรูปองค์นี้ได้ถูกบรรจุไว้ในพระเจดีย์ชินมอทีจนถึงทุกวันนี้ (ที่เห็นด้านนอกเป็นองค์จำลอง)



วัดนี้มีประวัติผูกพันกับชาวเมืองทวายเช่นกัน พื้นที่ตั้งขององค์พระเจดีย์ วัด รวมทั้งหมู่บ้านทับซ้อนบนชุมชนโบราณอายุกว่าพันปี ทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับเมืองโบราณ Mokti ด้วย ภายในวัดจึงมีเสาสูงบนหัวเสาทำเป็นรูปหงส์ หันหน้าไปทางเมืองหงสาวดี อันเป็นสัญลักษณ์ว่าในอดีตชาวมอญเป็นผู้สร้าง

......ตามหนังสือ "เที่ยวเมืองทวาย" โดย อ.สุภางค์ จันทวานิช พร้อมด้วยคณะ ได้รวบรวมแหล่งเมืองโบราณที่อยู่ในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำทวาย พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยหินใหม่ (๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว) มีผู้ปกครองสืบทอดต่อกันมา มีหลักฐานให้เห็นว่าเมืองเหล่านี้ มีการติดต่อกับเมืองท่าต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่น ยะไข่ ลังกา อินเดีย ชวา และไทย เมืองโบราณที่อยู่ใกล้กับเมืองทวายมี ๒ เมือง คือ เมืองสาคร (Thagara) และ เมืองมอที (Mokti) เมืองโบราณเหล่านี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเมี้ยวทอง ซึ่งแปลว่า "เมืองเก่า" ห่างจากเมืองทวายไปตอนเหนือราว ๑๑ กิโลเมตรเศษ

ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาที่นี่ก่อน แล้วอีกพันปีต่อมาเจ้าชาย Maung-Nua จากเมืองภูมิเทวนคร ออกบวชเป็นฤาษีในสำนักของฤาษีองค์หนึ่งที่ภูเขา Yet-kan-taung ได้ชื่อใหม่ว่า "โควินนันทะ" ท่านได้รับเลี้ยงเด็กชายหญิง ๒ คน ซึ่งเป็นลูกของเทพนักโกมะ (Nakoma-นักปลา) ชื่อ ชินซาน (Shin Zan) และ ชินซอ (Shin Zaw) วันหนึ่งพระอรหันต์เดินทางผ่านมาและที่เชิงเขานั้น กับได้มอบพระเกศาธาตุให้กับเด็กทั้งสอง คนละ ๑ องค์

ส่วนทางเมืองภูมิเทวนครนั้น เมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์ลง พระเจ้าธมันตราช (Thermandouraha) ได้ครองเมืองต่อมาได้ทรงสร้างเมืองสาครขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๒๙๗ เนื่องจากพระองค์ไม่มีโอรส จึงได้รับชินซานและชินซอเป็นบุตรบุญธรรม

พ.ศ. ๑๓๓๗ ชินซานได้ครองเมืองสืบต่อมา และได้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุขึ้นที่เมืองสาคร ส่วนชินซอสร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุที่ตนเองได้รับเช่นกันที่ "ชินตะเว" (Shin-dhat-wei) น่าจะแปลว่า "วัดพระธาตุ" ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันออกราว ๓ กิโลเมตร

เชื้อสายของชินซานครองเมืองต่อมาถึงราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เจ้าชายจากเมืองตากมาครองเมืองนี้ต่ออีกหลายพระองค์ จากนั้นพระเจ้า Banna Do จากอาณาจักรมอญและเชื้อสายครองเมืองต่อมา จนถึงราว พ.ศ. ๑๖๑๓ จากนั้นเมืองนี้อาจถูกตกอยู่ภายใต้การอารักขาของอาณาจักรพุกาม

เมืองสาครตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่ โบราณสถานที่สำคัญในตัวเมืองคือ พระเจดีย์ Shingalon ที่บรรจุพระเกศาธาตุตามตำนานตั้งอยู่บนเนินสูง มองเห็นได้แต่ไกล องค์พระเจดีย์คงถูกบูรณะมาหลายครั้ง ท้ายที่สุดมีลักษณะเป็นแบบเจดีย์มอญ บนลานรอบองค์เจดีย์มีรูปปฏิมากรรมหลายรูปที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานการสร้างเมือง เช่น รูปฤาษีโควินนันทะ, ชินซาน และ ชินซอ รวมทั้งชิ้นส่วนโบราณสถานที่เป็นศิลาแลงหลายชิ้น



เมื่อมีประวัติความเป็นมาดังนี้แล้ว จึงทราบว่า "พระเจดีย์ชินกาลอง" ตกสำรวจอีกแล้วเช่นกัน เอาละ..ไม่เป็นไรคะ ตอนนี้ช่วยกันจัดเตรียมเครื่องบูชา เพราะถือว่าเป็น "พระพุทธรูปลอยน้ำ" หนึ่งในสี่ของพม่า (เหมือนกับหลวงพ่อโสธร, หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นต้น) จึงทำพิธีบวงสรวงด้วยเทปเสียงหลวงพ่อ แล้วสวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน บูชาด้วยของหอมและดอกไม้โปรย หลวงพี่บูชาเสร็จแล้ว อุทิศส่วนกุศล แล้วทุกคนบูชากันตามอัธยาศัย




หลวงพี่ออกมากราบพระเจดีย์และปิดทอง พร้อมสรงน้ำปรุง ทำบุญที่วัดนี้ทั้งหมด ๒๐๐,๐๐๐ จ๊าด บริเวณด้านนอกมีต้นศรีมหาโพธิ์สูงใหญ่ หลวงพี่บูชาต้นศรีมหาโพธิ์ที่มีอายุหลายร้อยปี จากนั้นออกเดินทางต่อที่วัดพระนอนใหญ่





๗. วัดพระพุทธไสยาสน์ ชเวตาเลยอง (Shwe thalyaung) เมืองทวาย ประเทศพม่า


พระนอนไสยาสน์นี้เป็นวัดพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในทวาย และใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของประเทศพม่า ห่างจากตัวเมืองทวาย ๖ กิโลเมตร เป็นวัดที่ประดิษฐานพระนอน "โลกะสรภู" มีความยาว ๗๔ เมตร สูง ๒๑ เมตร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นวัดที่มีคนไทยเข้าไปทำบุญจำนวนมาก สังเกตได้จากเงินที่มาทำบุญในตู้รับบริจาค คำว่า "ชเว" แปลว่า "ทอง" บางแห่งเรียก "ฉ่วยตาเลยอง" (ชาวทวายเรียกว่า "เนียวเดอะมู") อยู่ในอาคารโถงขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Saung Nan Byin ตามเส้นทางไปเมืองมะริด

ด้านในยังมีเจดีย์ขนาดใหญ่มีรูปร่างลักษณะแบบพม่า แต่ไม่ทราบรายละเอียดมาก รอบๆ เจดีย์มีรูปปั้นสัตว์แปลกๆ คล้ายสัตว์ในตำนาน บริเวณหน้าพระพุทธรูปพระนอนมีพื้นที่สำหรับกราบไหว้พระและนั่งสมาธิเป็นพื้นกระเบื้อง มีหลังคาด้านบน รองรับคนที่มาทำบุญได้น่าจะไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ คน


หลังจากจัดเตรียมเครื่องบูชาที่นำมาเรียบร้อยแล้ว จึงเปิดเทปบวงสรวงหลวงพ่อ สวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน จากนั้นหลวงพี่สรงน้ำหอมและปิดทอง ทุกคนบูชาตามอัธยาศัย แล้วถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ร่วมกันทำบุญจากเงินกองกลางจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ จ๊าด



๘. รอยเท้ากระบือพระโพธิสัตว์ (Big Buffalo's Footprint) บ้านนาปูแล หมู่บ้านบาวา (Bawa) เมืองทวาย ประเทศพม่า



รถตู้ ๓ คันเดินทางออกมานอกตัวเมือง โดยมุ่งตรงไปที่ "รอยพระพุทธบาทนาปูแล" หมู่บ้านบาวา ในระหว่างทางได้แวะที่ตลาดเพื่อฉันเพล ช่วงฉันเพลจึงได้ประกอบบายศรีอีกหนึ่งพาน สถานที่แห่งนี้ถือว่ามาเป็นครั้งแรก อยู่ห่างจาก "รอยพระพุทธบาทนาปูแล" ประมาณ ๑ กิโลเมตร

.

ชาวบ้านให้ความสำคัญกับรอยพระโพธิสัตว์มาก เพราะเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นกระบือ จึงได้สร้างวิหารครอบรอยเท้ากระบือที่อยู่บนหิน โดยปั้นรูปพญานาคล้อมไว้ และปั้นรูปกระบือไว้ด้านหน้า ก้อนหินก้อนนี้ใหญ่มาก สร้างวิหารครอบก้อนหินทั้งก้อนเลย และสร้างพระยืนไว้ ณ สถานที่นี้ด้วย


นับเป็นเรื่องแปลกที่เรามาเจอรถติดหล่มอยู่คันหนึ่ง พวกโชเฟอร์รถตู้ของเราก็มีน้ำใจไปช่วยกันลากขึ้นมาได้ ปรากฏว่าเป็นคณะนักบุญชาวพม่ามาจากเมืองย่างกุ้ง มีผู้ชายคนหนึ่งถ่ายวีดีโอและสามารถพูดไทยได้ จึงทราบว่าตรงนี้มีรอยพระโพธิสัตว์อยู่


ในช่วงที่พวกเรากำลังทำพิธีกันอยู่นั้นก็เสร็จพอดี ชาวพม่ากลุ่มนี้จึงอยากจะนิมนต์หลวงพี่ไปร่วมงานฉลองพระหยกที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นทางผ่านของเราพอดี พวกเขาจะชวนพวกเราไปร่วมถวายพระพุทธรูปหยกในงานนี้ด้วย แต่หลวงพี่ก็ยังไม่รับปาก เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีเวลาพอหรือไม่




ตอนนี้ได้ขึ้นไปไหว้รอยพระโพธิสัตว์กัน ความจริงพวกเราได้เตรียมเครื่องบูชามาโดยเฉพาะที่แล้ว แต่เมื่อได้พบสถานที่สำคัญเพิ่มเติม จึงจำเป็นต้องแบ่งครึ่งจากที่จัดไว้เพื่อบูชาที่รอยพระพุทธบาท แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าจริงๆ เมื่อบวงสรวงด้วยเทปเสียงหลวงพ่อแล้ว จึงพากันสวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน จากนั้นหลวงพี่ปิดทองที่รอยเท้าพระโพธิสัตว์ สรงน้ำหอม และโปรยดอกไม้ ทุกคนทำบุญตามอัธยาศัย ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ จ๊าด



๙. รอยพระพุทธบาทนาปูแล (Nabule Setdawya) หมู่บ้านบาวา ใกล้หาดนาปูแล เมืองทวาย ประเทศพม่า

.

ประวัติ รอยพระพุทธบาทนาปูแล

.......ตามประวัติเล่าว่า พระอรหันต์ควัมปติ และ พระเจ้ายะขะเทวะ ผู้ปกครองเมืองนี้ได้ช่วยกันอธิษฐานจิตน้อมระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้บนก้อนหินใหญ่ในพรรษาที่ ๑๑ และมีชื่อเรียกว่า “พระบาทสปาทะ” จะเห็นเฉพาะส่วนรอยพระพุทธบาทเท่านั้น และได้สร้างรอยพระพุทธบาทให้มีลวดลายเหมือนจำลอง ทำไว้เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีที่ผ่านมา

ด้านหลังรอยพระพุทธบาทนี้ จะมีพระพุทธรูปอยู่ ๓ องค์ ซึ่งจะมีความแปลกตรงที่ว่าพระพทุธรูป องค์ที่ ๒ ซึ่งปกติน่าจะอยู่ตรงกลาง แต่ปรากฏว่าองค์พระจะอยู่เยื้องไปทางองค์ที่ ๑ เล่ากันว่าเพิ่งมาเป็นเช่นนี้เมื่อ ๕๐ ปีมานี้เอง

ด้านนอกวิหารทางขวามือ จะมีระฆังโบราณใบใหญ่ที่มีการจารึกประวัติเอาไว้รอบตัวระฆังว่า ได้สร้างถวาย “พระบาทสปาทะ” คนถวายอยู่แถวนี้ มีเจ้าผู้ปกครองคือ เจ้าพระยานันทปัญญา มีพระสงฆ์มาร่วมในพิธีด้วย แต่ช่วงที่สร้างเป็นชาวมอญ สร้างในปี พ.ศ. ๒๓๗๑




สถานที่นี้ถือว่าเป็น "รอยพระพุทธบาท เบื้องซ้าย" ที่มีอยู่ในเมืองทวาย ตามภาพที่เห็นจะเป็นพญานาคล้อมรอบรอยพระพุทธบาทเช่นกัน หลวงพี่มาเป็นครั้งที่ ๒ แล้ว ครั้งนี้เป็นการเดินทางโดยรถยนต์ เพราะแต่ละครั้งส่วนใหญ่หลวงพี่จะต้องนั่งเครื่องบินไปลงที่ย่างกุ้งก่อน



รอยพระพุทธบาท เบื้องขวา อยู่ภายในมณฑปแห่งนี้ เมืองทวาย (ตกสำรวจ)


แต่เมื่อได้เข้าไปค้นหาในเว็บไซด์ priabroy.com/tag/รอยพระพุทธบาท/ ปรากฏว่ามีผู้พบ "รอยพระพุทธบาท เบื้องขวา" อีกหนึ่งแห่งของเมืองทวาย จึงขออนุญาตนำมาลงให้ทราบก่อน แล้วหลวงพีคงจะหาโอกาสไปกันภายหลังอีกครั้งหนึ่ง



เป็นอันว่า เมืองทวายจากเดิมที่คิดว่ามีรอยพระพุทธบาทแห่งเดียว ตอนนี้ต้องเพิ่มเป็น ๒ แห่ง คือมีทั้งรอยเบื้องขวาและเบื้องซ้าย นับว่าโชคดีจริงๆ แต่รอยเบื้องขวานี้ยังไม่ทราบที่อยู่แน่นอน คงจะนำมาเล่ากันภายหลังนะคะ



จากนั้นพวกเราก็นำเครื่องบูชาที่จัดเตรียมไว้บูชารอยพระพุทธบาทแห่งนี้ แล้วบวงสรวงด้วยเสียงของหลวงพ่อ สวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน นำกระเป๋ามาบูชารอยพระพุทธบาทด้วย เพื่อความคล่องตัว และถวายปัจจัยทำบุญบำรุงรักษารอยพระพุทธบาทแห่งนี้ จำนวนเงิน ๓๓๐,๐๐๐ จ๊าด


เจ้าหน้าที่ของวัดได้นำไปชมด้านหลังรอยพระพุทธบาท จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน และมีอยู่องค์หนึ่งที่มีการเคลื่อนที่ออกมาจากจุดที่ตั้งเดิม (ขยับเข้ามาชิดกับกำแพงมากขึ้น)

.

นอกจากพระพุทธรูปแล้วยังมีพระเจดีย์อีกองค์หนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อครอบรอยพระพุทธบาทไว้ก็มีการเคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน หลังจากสร้างมาได้ ๔๐-๕๐ ปีแล้ว (ต้องถือว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ใจไม่น้อยที่สามารถเคลื่อนที่ได้เอง)




ก่อนจะกลับพอดีเจ๊มายินนำขนมสำหรับเด็กมาด้วย จึงช่วยกันจัดแถวให้เด็กๆ เข้ามารับขนมกัน หลังจากที่ได้กราบไหว้รอยพระพุทธบาทของเมืองทวายแล้ว จึงย้อนกลับมาทางเดิม ใกล้ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ชาวย่างกุ้งนิมนต์ไว้นั้น ได้มีผู้ชายขี่รถมอเตอร์ไซด์มาดักรอ แล้วขับนำรถตู้เลี้ยวเข้าไปใน "วัดเดอะคีนาหย่า" ปรากฏว่าเป็นวัดที่ชาวพม่านิมนต์ไว้ที่รอยพระโพธิสัตว์นั่นเอง


ทางเจ้าอาวาสก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อรู้ว่าคนไทยมาเที่ยวถึงที่นี่ พวกเราจึงได้ถวายเงินร่วมสร้างไปจำนวนหนึ่ง ประมาณ ๒,๐๐๐ บาท เป็นการถวายเพื่อร่วมสร้าง "พระพุทธรูปหยก" เจ้าภาพชาวย่างกุ้งบอกว่า ค่าแกะสลักราคาเกือบ ๓ ล้านบาท ได้อัญเชิญมาจากย่างกุ้งเพื่อถวายไว้ที่ว้ดแห่งนี้


การที่พวกเขาเดินทางมาวันนี้ ก็เพื่อต้องการจะมาร่วมงานพิธีฉลองสมโภช "พระหยก" ในวันพรุ่งนี้ พร้อมกันนี้ทางวัดได้จัดโต๊ะอาหารและผลไม้ เพื่อให้พวกเราได้นั่งทานกัน แต่ก็เข้าไปทานกันเล็กน้อยเพื่อไม่ให้เขาเสียน้ำใจ พร้อมกับขอโทษที่จะต้องรีบเดินทางกลับ



หลังจากเดินทางขึ้นรถตู้กลับมาแล้ว พวกเราหลายคนได้ปรารภกันว่า เหตุการณ์ครั้งนี้..น่าจะถือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด เหมือนกับเทวดาอารักษ์ช่วยดลจิตดลใจ หรือบุญวาสนาที่ได้เคยร่วมบุญกับพวกเขามาก่อน จึงทำให้พวกเราได้ร่วมสร้าง "พระหยก" ในครั้งนี้ด้วย


เพราะว่าพวกเราโดยเฉพาะหลวงพี่เคยสร้างพระมานับไม่ถ้วน มีทั้งพระที่ทำด้วยปูน, โลหะ, ไม้ แต่ก็ยังขาดพระหยกที่ท่านยังไม่เคยทำ ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่มีเรื่องเหลือเชื่อเกิดขึ้นระหว่างเดินทาง นั่นก็คือรถของพวกเขาไปติดหล่มอยู่แถวนั้น (ไม่ทราบว่ามีใครบันดาลหรือไม่) จะถือว่าเป็นการบังเอิญก็ได้ ที่ทำให้พวกเราโชคดีที่ได้ทำบุญใหญ่เป็นกรณีพิเศษ ตามภาพจะเห็นว่าพวกเขามีน้ำใจจริงๆ แม้พวกเราจะปฏิเสธไปแล้ว แต่ก็ยังอุตส่าห์จูงมือไปทานอาหารที่จัดเตรียมไว้



๑๐. วัดพระเจดีย์เหม่วยิท (Myaw Yit) หมู่บ้านกานหนี่ (Kaan Ni) เมืองทวาย ประเทศพม่า


วัดนี้เป็นวัดที่อยู่บนเกาะชื่อว่า เกาะลอยเซปิ่น (Se Pin) ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ห่างจากชายฝั่งประมาณ ๒๐๐ เมตร คล้ายเกาะลอยที่ศรีราชา จ. ชลบุรี ห่างจากตัวเมืองทวาย ๒๖ กิโลเมตร ขับไปตามถนนเลียบชายฝั่งทะเล ผ่านป่าโกงกางและหาด San Maria Bay ซึ่งมีความยาวราว ๗ กิโลเมตร เข้าเยี่ยมชม "วัดพระเจดีย์เหม่วยิท" ซึ่งประดิษฐาน "พระเกศาธาตุ" ของพระพุทธเจ้าไว้ มีสะพานเดินข้ามไปยาว ๑๕๐ เมตร


เกาะเซปินเป็นเกาะเล็กๆ ไม่มีชายหาดล้อมรอบ เมื่อน้ำทะเลลงสามารถเดินข้ามไปที่ตัวเกาะได้เหมือนกันแต่ก็ลำบากมาก เพราะทั้งชายฝั่งและตัวเกาะไม่มีหาดทรายเชื่อมต่อกัน แต่เป็นก้อนหินขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างทอดตัวเชื่อมกันเท่านั้น


มีเรื่องเล่าว่ามีกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จทางเรือประพาสทะเลไปตามเกาะแก่งต่างๆ ผ่านมายังหาดมอมะกัน สตรีฝ่ายในที่ติดตามมาเห็นว่าหาดนี้สวยงามมาก จึงขออนุญาตลงเล่นน้ำที่นี่ พระราชาทรงอนุญาตแล้วให้นำเรือมาจอดรอที่เกาะเล็กนี้

การเสด็จประพาสคงกินเวลานานมากอยู่ หลายคนคงอยากกลับเต็มที เมื่อเรือต้องจอดรอ มหาดเล็กคนหนึ่งถึงกับบ่นว่าอยากกลับบ้าน เท่านั้นเองก็เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อกษัตริย์ทรงโกรธจัดสั่งให้มหาดเล็กผู้นั้นรออยู่ที่เกาะนี้ ส่วนพระองค์กับคนทั้งหมดออกเรือกลับบ้านเมือง เรื่องไม่รู้ว่าลงเอยอย่างไร ตำนานนี้เป็นคำอธิบายของหาดมอมะกันด้วย


บนเกาะแห่งนี้มีสิ่งก่อสร้างมากมาย ศาลาโถงใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ มีภาพวาดเรื่องมหาดเล็กถูกทิ้งไว้บนเกาะด้วย หลังศาลาใหญ่เป็นศาลาโถงมีพระพุทธรูป พระสีวลี และพระอุปคุต ผู้ดูแลจะนำอาหารและน้ำพร้อมทั้งเครื่องบูชามาถวายสักการะทุกเช้า ตามก้อนหินเล็กน้อยโดยรอบ มีเจดีย์ขนาดเล็กสร้างไว้ทุกก้อน ชาวทวายชอบไปเที่ยวกันมาก แม้จะเดินทางมาถึงค่อนข้างยากก็ตาม เนื่องจากเป็นสถานที่งดงามและทิวทัศน์โดยรอบดูแปลกตา ทั้งยังได้ไหว้พระขอพรอีกด้วย


นอกจากนี้ยังมี วัดเหม่วจี อีกแห่งหนึ่งเป็นวัดที่อยู่ไม่ไกลจากบริเวณก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ตั้งอยู่ตรงหาดนาปูเล (Nabule Beach) และที่แห่งนี้เป็นจุดชมวิวทะเลอันดามันที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งในเมืองทวาย ชายหาดที่นาปูเลสวยงาม หาดทรายขาว น้ำทะเลใส และในเวลาเย็นเหมาะกับการชมพระอาทิตย์ตกดินยิ่งนัก


พวกเราเตรียมเครื่องบูชาสำหรับสถานที่นี้ และบวงสรวงด้วยเทปเสียงของหลวงพ่อ สวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน ปิดทองพระเจดีย์ และปิดทองฉัตรเก่าที่เคยอยู่บนยอดพระเจดีย์แห่งนี้ จากนั้นก็ร่วมทำบุญเป็นเงิน ๓๑๐,๕๐๐ จ๊าด

พระเจดีย์ชินมอ Shin Mor (ตกสำรวจ)

.

......ขณะที่ผู้เขียนค้นหาข้อมูลในเว็บไซด์ บังเอิญไปพบชื่อพระเจดีย์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการสร้างอยู่บนเกาะริมชายทะเลเมืองทวายเช่นกัน มีชื่อและรูปร่างลักษณะธรรมชาติคล้ายกันมาก นั่นก็คือ "พระเจดีย์ชินมอ" (Shin Mor) บอกว่า เป็นวัดที่ตั้งอยู่ที่แหลม "ชิน มอว์ ตอง" ตั้งอยู่ติดทะเล ห่างจากตัวเมืองทวาย ๔๐ ไมล์หรือประมาณ ๖๔ กิโลเมตร

.

......ตามตำนานกล่าวว่าวัดนี้สร้างโดยพญานาคองค์หนึ่ง และเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก หากใครก็ตามที่มาขอพรที่วัดแห่งนี้ และรักษาศีลอย่างมั่นคงภายใน ๗ วัน คำอธิษฐานนั้นจะสมดังความปรารถนา ณ วัดพระเจดีย์ชินมอแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระทันตธาตุ (ฟันกราม) ของพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน
ขอย้อนกลับมาเล่าตรงจุดที่พวกเรากำลังไหว้ "พระเจดีย์เหม่วยิท" กันอยู่ต่อไป







รวมความว่าถ้ามีโอกาสไปทวาย คงจะต้องไปตามไหว้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเสร็จพิธีแล้วมารับประทานอาหารที่ร้านซีฟูดชื่อ Silver Sea Restaurant หาดมอมะกัน (Maungmagan Beach) ชายหาดยาวประมาณ ๘ กิโลเมตร เป็นชายหาดที่มีชื่ออีกแห่งหนึ่งในพม่า พวกเรามาถึงก็ใกล้จะมืดค่ำแล้ว แต่ก็ยังสัมผัสบรรยากาศในยามเย็นได้



วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ (วันที่สาม ทวาย - กาญจนบุรี)




(ตอนเช้าวันที่ ๖ ก่อนการเดินทาง เกิดปรากฏการณ์แสงรุ้งขึ้นแต่เช้า มองเห็นได้จากหน้าต่างที่ห้องพัก)


๑๑. วัดซานเจดีย์ เมืองทวาย ประเทศพม่า


วัดนี้เป็นวัดไทยสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย จะเห็นสถาปัตยกรรมแบบไทย แตกต่างจากวัดอื่นในเมืองทวาย และภายในพระอุโบสถก็จะมีพระพุทธรูปแบบศิลปะไทยด้วยเช่นกัน ชาวพม่าเรียกวัดนี้ว่า “วัดเจดีย์แปดเหลี่ยม” หรือ “พญาชิตเมี่ยว”


หลวงพี่และคณะถวายเครื่องบูชาสำหรับที่นี่ บวงสรวงเปิดเทปเสียงหลวงพ่อ สวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน ร่วมทำบุญเป็นจำนวนเงิน ๒๐๐,๐๐๐ จ๊าด




๑๒. วัดยัคตองมู หรือ วัดพระยืน เมืองทวาย ประเทศพม่า



วัดพระยืนในเมืองทวาย เป็นวัดที่มีพื้นที่ไม่เยอะมาก ตั้งอยู่ติดริมถนนในเมืองทวาย เวลาเดินเที่ยวเมืองทวายนักท่องเที่ยวจะสังเกตเห็นมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ห่มผ้าสีเหลืองตั้งตระหง่านอยู่ในท่ายืน ด้านบนของเศียรพระจะมีฉัตรขนาดใหญ่ครอบ ด้านล่างของฐานพระเป็นรูปกลีบบัวทองเหลืองรองรับอยู่ ด้านหลังขององค์พระพุทธรูปมีเจดีย์แต่ขนาดไม่ใหญ่มาก


ด้านซ้ายขององค์พระพุทธรูปมีศาลาสำหรับพุทธศาสนิกชนเข้าไปกราบไหว้องค์พระพุทธรูปจำนวนมาก มีองค์พระพุทธรูปหลายปาง สร้างมาจากทองเหลืองและหยกขาวหลายองค์ นอกจากนี้บริเวณภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ให้ได้กราบไหว้อีกหลายจุด เวลานักท่องเที่ยวจะเข้าไปกราบพระ ทางวัดจะมีเจ้าหน้าที่ปูพรมรองพื้นด้านล่าง เพราะถ้าเป็นช่วงเวลากลางวันจะร้อนมากเพราะเป็นพื้นปูน เวลาจะเดินเข้าไปให้ถอดรองเท้าก่อนเข้าเขตวัด เพราะที่นี่เขายึดถือประเพณีพม่าอันดีงามไว้


พวกเราได้นำบายศรีมากราบไหว้ สวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน เสร็จแล้วร่วมทำบุญ ๒๐๐,๐๐๐ จ๊าด สำหรับหลวงพี่เคยมาที่นี่แล้ว เพราะเป็นพระยืนสูงใหญ่ที่มีชื่อเสียงในเมืองทวายเช่นกัน จากนั้นออกเดินทางต่อไป ซึ่งเหลืออีกไม่กี่แห่งก็หมดรายการแล้ว


๑๓. วัดพระเจดีย์ซินโออ๊อ เมืองทวาย ประเทศพม่า



คำว่า ‘โออ๊อ’ หมายถึง "นกกาเหว่า" ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังวัดฉ่วยต่องจา (วัดพระเจดีย์หลวง) และหลังวัดยัคตองมู วัดเจดีย์ชินโออ๊อเป็น ๑ ใน ๙ วัดที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองทวาย ร่วมทำบุญ ๒๖๐,๐๐๐ จ๊าด










๑๔. พระเจดีย์วัดเชเปงคิ้ว (วัดเชเป่งคยุ) เมืองทวาย ประเทศพม่า



ตามประวัติกล่าวว่า เป็นหนึ่งในวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปลอยน้ำ ตามตำนานบอกว่าลอยมาจากศรีลังกา มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเกิดไฟไหม้ใหญ่ในชุมชนละแวกวัดเซเปงคิ้ว และทุกบ้านได้รับความเสียหายเว้นแต่วัดเซเปงคิ้ววัดเดียวที่รอดพ้นจากไฟไหม้หนนั้น สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ชาวเมืองทวายเป็นอย่างยิ่ง และที่วัดแห่งนี้ยังมีจุดอธิษฐานขอพรด้วย







พวกเราช่วยกันจัดเครื่องบูชาเป็นชุดสุดท้ายแล้ว จากนั้นเปิดเทปบวงสรวงหลวงพ่อ พร้อมสวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน หลวงพี่และคณะได้มอบเงินพิเศษให้ไกด์และคนขับรถทุกคัน และคุณวัตรหัวหน้าทัวร์ได้ทำบุญร่วมกับหลวงพี่ด้วย จากนั้นหลวงพี่นำกล่าวคำขอพรตรงจุดอธิษฐาน และร่วมทำบุญกับวัด ๕๐๐,๐๐๐ จ๊าด จากนั้นก็เดินทางกลับมาถึง "ด่านบ้านพุน้ำร้อน" ในตอนเย็น ต้องเข้าพักค้างคืน ณ สถานที่เดิมอีกคืนหนึ่ง..และยังมีแถมต่อในบ้านเราอีกหน่อยหนึ่งค่ะ




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 28/4/15 at 19:32 Reply With Quote


๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ (กาญจนบุรี - วัดท่าซุง)


๑๕. รอยพระพุทธบาท บ้านหนองสองตอน ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี



หลังกลับมาจากทวายแล้ว พวกเราก็กลับมาค้างคืน ณ ที่พักเดิม รุ่งเช้าทานอาหารเช้ากันแล้ว ยังมีเวลาเหลือหลวงพี่จึงได้พามาแวะกราบรอยพระพุทธบาทที่นี่ ท่านเคยมาเมื่อปี ๒๕๕๔ รอยพระพุทธบาทจะอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้าน


พวกเราจึงต้องแวะไปหาคุณป้าที่เคยนำทาง ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดเนินพระงาม จากนั้นก็นำเข้าไปป่าหลังบ้าน เมื่อเข้าไปปรากฎว่ามีพระมาพักอาศัยอยู่ ๑ รูป จึงช่วยกันทำความสะอาดรอยพระพุทธบาท ปิดทอง สรงน้ำหอม และสวดอิติปิโส คาถาเงินล้าน แล้วทำบุญรวม ๒.๐๐๐ บาท




๑๖. รอยพระพุทธบาท สำนักสงฆ์พระพุทธธรรมแก่งเซียนรัตนะ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี



เจ้าอาวาสที่นี่นิมนต์หลวงพี่เอาไว้ เลยแวะมาที่นี่ ท่านอาจารย์ดินเคยแวะมาที่แห่งนี้และชี้จุดต่างๆ ว่าเป็นรอยพระพุทธบาท, รอยตากผ้า, รอยนั่ง แต่ยังไม่ชัดเจนนัก เลยไม่ได้ถ่ายอย่างละเอียด ร่วมกันทำบุญที่นี่ ๓,๐๐๐ บาท





๑๗. วัดเสาหงส์ ต.หนองกุ้ม อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี


ร่วมสร้างเจดีย์พระธาตุพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี เป็นช่วงที่พระกำลังฉันเพลพอดี ทำบุญกับเจ้าอาวาสตรงที่ท่านฉันเลย ร่วมทำบุญสร้างพระธาตุรวม ๒,๐๐๐ บาท




๑๘. สำนักปฎิบัติธรรมพุทธมงคลป่าชุมชนเขาพ่อปู่ ต.หนองประดู่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี


หลวงพี่เคยแวะที่นี่แล้ว เป็นสำนักของปู่ฤาษี จุดประสงค์ครั้งนี้ต้องการนำหินเหล็กไหลไปทำน้ำมนต์ และทราบว่าท่านกำลังสร้างพระใหญ่บนเขา จึงร่วมกันทำบุญ ๕,๐๐๐ บาท




สรุป "ตามรอยพระพุทธบาท" ตั้งแต่วันที่ ๓ – ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗

ในประเทศไทย

๑. ร่วมสร้างพระพุทธรูปแบบทองเหลือง หน้าตัก ๑๘ เมตร
๒. ร่วมสร้างพระพุทธรูปแบบปูน หน้าตัก ๑๘ เมตร
๓. ร่วมสร้างเจดีย์พระธาตุพุทธชยันตี
๔. นมัสการรอยพระพุทธบาท ๓ แห่ง

ในประเทศพม่า

๑. นมัสการพระเจดีย์ ๗ แห่ง
๒. นมัสการรอยเท้ากระบือพระโพธิสัตว์ ๑ แห่ง
๓. ร่วมสร้าง "พระพุทธรูปหยก" หน้าตัก ๓๐ นิ้ว ๑ องค์
๔. นมัสการพระยืน และ พระนอน รวม ๒ แห่ง
๕. นมัสการพระพุทธรูปลอยน้ำ ๒ แห่ง

รวมเงินทำบุญ ในประเทศ ๑๕,๐๐๐ บาท
รวมเงินทำบุญ ต่างประเทศ ๒๗,๙๐๐ บาท และ ๓,๖๓๐,๕๐๐ จ๊าด ( ๑,๐๐๐ จ๊าด - ๓๐ บาท)




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 30/4/15 at 16:02 Reply With Quote


.


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved