posted on 7/3/08 at 02:30 |
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 13/3/08 at 23:56 |
|
เรื่องเบื้องต้น
บุพพกรรมของบุคคลทั้งสอง
...บุพพกรรมของ พระเจ้ามิลินท์ และ พระนาคเสน กล่าวคือ เมื่อครั้งศาสนาของ สมเด็จพระพุทธกัสสป โน้น
มีพระราชา พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าวิชิตาวี เสวยราชย์อยู่ใน สาคลนครราชธานี
พระองค์ทรงอนุเคราะห์มหาชนด้วย สังคหวัตถุ ๔ สร้างมหาวิหารลงไว้ที่ริมแม่น้ำคงคา ถวายพระเถระทั้งหลายที่ทรงคุณธรรมต่าง ๆ กัน มีทรงพระไตรปิฎก เป็นต้น
ทั้งทรงบํารุงด้วยปัจจัย ๔
เมื่อพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดเป็น พระอินทร์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยอานิสงส์ นั้นและ
มหาวิหารที่ท้าวเธอทรงสร้างไว้ ถึงพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ดี ก็มีพระภิกษุอาศัยอยู่เป็นอันมาก
ในพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น พระภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยข้อวัตรเป็นอันดี เช้าขึ้นก็ได้ถือเอาไม้กวาดด้ามยาว
แล้วนึกถึงพระพุทธคุณ แล้วจึงพากันกวาดบริเวณพระเจดีย์ กวาดเอาหยากเยื่อไปรวมเป็นกองไว้ มีพระภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลองค์หนึ่ง เรียกสามเณรองค์หนึ่งว่า
...จงมานี่สามเณรจงหอบเอาหยากเยื่อไปเททิ้งเสีย ...
สามเณรนั้นก็เฉยอยู่ เหมือนไม่ได้ยินพระภิกษุองค์นั้นเรียกสามเณรองค์นั้นถึง ๓ ครั้ง เห็นสามเณรนั่งนิ่งเฉยอยู่
เหมือนไม่ได้ยิน ก็คิดว่า สามเณรองค์นี้หัวดื้อ จึงไปตีด้วยด้ามไม้กวาดสามเณร ก็ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด แล้วหอบเอาหยากเยื่อไปทิ้งด้วยความกลัว
เมื่อหอบเอาหยากเยื่อไปทิ้งนั้นได้ปรารถนาว่า
... ด้วยผลบุญที่เราหอบหยากเยื่อมาทิ้งนี้หากเรายังไม่ถึงนิพพานเพียงใด เราจะเกิดในภพใด ๆ ก็ตาม
ขอให้เรามีเดชเหมือนกับดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงวันฉะนั้นเถิด...
สามเณรตั้งความปรารถนาดังนี้แล้ว ก็เดินไปอาบน้ำที่แม่น้ำคงคา ดําผุดดําว่ายเล่นตามสบายใจเมื่อสบายใจแล้วก็
ได้เห็นละลอกคลื่นในแม่น้ำนี้มากมายนักหนา ก็ยินดีปรีดาจะใคร่มีปัญญาเฉลียดฉลาดไม่รู้สุดรู้สิ้น
ดุจลูกคลื่นในแม่น้ำนั้นและได้คิดว่าอาจารย์ได้ใช้ให้เราหอบเอาหยากเยื่อมาทิ้งนี้ ไม่ใช่เป็นกรรมของเรา ทั้งไม่ใช่เป็นกรรมของอาจารย์
แต่เป็นการอนุเคราะห์เราให้ได้บุญเท่านั้น ครั้นคิดดังนี้แล้วจึงปรารถนาขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า
ข้าพเจ้ายังไม่ถึงนิพพานตราบใด ไม่ว่าข้าพเจ้าจะไปเกิดในชาติใดๆ ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาไม่รู้จักสิ้นสุดเหมือนกับลูกคลื่นในแม่น้ำคงคานี้เถิด
ส่วนพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์นั้น เมื่อเอาไม้กวาดไปเก็บไว้ที่โรงเก็บไม้กวาดแล้ว ก็ลงไปที่ท่าน้ำคงคาเพื่อจะอาบน้ำก็ได้ยินเสียงสามเณรตั้งความปรารถนา
จึงคิดว่าความปรารถนาของสามเณรนี้เป็นความปรารถนาใหญ่ จะสําเร็จได้เพราะอาศัยพระพุทธคุณ
คิดดังนี้แล้ว จึงหัวเราะขึ้นด้วยความดีใจว่า สามเณรนี้ถึงเป็นผู้ที่เราใช้ก็ยังปรารถนาอย่างนี้ ความปรารถนาของสามเณรนี้ จักสําเร็จเป็นแน่แท้
คิดดังนี้แล้ว จึงตั้งความปรารถนาว่า
ข้าพเจ้ายังไม่สําเร็จนิพพานตราบใด ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาหาที่สุดมิได้ เหมือนกับฝั่งแม่น้ำคงคานี้ ให้เป็นผู้สามารถแก้ไขปัญหาปฏิภาณทั้งปวง
ที่สามเณรไต่ถามได้สิ้น
ให้สามารถชี้แจงเหตุผลต้นปลายได้เหมือนกับบุรุษที่ม้วนกลุ่มด้าย สางด้ายอันยุ่ง ให้รู้ได้ว่า ข้างต้นข้างปลายฉะนั้น ด้วยอํานาจบุญที่ข้าพเจ้าได้กวาดวัด
และใช้สามเณรให้นําหยากเยื่อมาเททิ้งนี้เถิด
เมื่อบุคคลทั้งสองนั้น ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในเทพยดาและมนุษย์ ก็ล่วงมาถึง ๑ พุทธันดร พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย
ผู้เป็นที่พึ่งของโลกได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า
ความเกิดขึ้นแห่งพระเถระทั้งหลาย มี พระโมคคลีบุตรติสสะเถระ และ พระอุปคุตตเถระ เป็นต้น จักปรากฏฉันใด
ความเกิดขึ้นแห่งบุคคลทั้งสองนั้น ก็จะปรากฏฉันนั้น เมื่อเราปรินิพพานล่วงไปได้ ๕๐๐ ปีแล้ว บุคคลทั้งสองนั้นจักเกิดขึ้น ธรรมวินัยอันใด
อันเป็นของสุขุมที่เราได้แสดงไว้ ธรรมวินัยอันนั้น บุคคลทั้งสองนั้นจักแก้ไขให้หมดฟั่นเฝือ ด้วยการไต่ถามปัญหากันดังนี้
ต่อมาสามเณรนั้น ก็ได้มาเกิดเป็น พระเจ้ามิลินท์ ในสาคลนคร อันมีในชมพูทวีป พระเจ้ามิลินท์นั้นเป็นบัณฑิต
เป็นผู้ฉลาดมีความคิดดี สามารถรู้เหตุการณ์อันเป็น อดีต อนาคต ปัจจุบัน ได้ เป็นผู้ใคร่ครวญในเหตุการณ์ถี่ถ้วนทุกประการ เป็นผู้ได้ศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ
ไว้เป็นอันมากถึง ๑๘ ศาสตร์ด้วยกัน รวมเป็น ๑๙ กับทั้งพุทธศาสตร์
ศิลปะศาสตร์ ๑๘ ประการคือ
๑. รู้จักภาษาสัตว์ มีเสียงนกร้องเป็นต้นว่าร้ายดีประการใดได้สิ้น
๒. รู้จักกําเนิดเขาและไม้เป็นต้นว่าชื่อนั้นๆ
๓. คัมภีร์เลข
๔. คัมภีร์ช่าง
๕. คัมภีร์นิติศาสตร์ รู้ที่จะเป็นครูสั่งสอนท้าวพระยาทั้งปวง
๖. คัมภีร์พาณิชยศาสตร์ รู้ที่จะเลี้ยงฝูงชนให้เป็นสิริมงคล
๗. พลศาสตร์ รู้นับนักขัตฤกษ์ รู้ตําราดวงดาว
๘. คันธัพพศาสตร์ รู้เพลงขับร้องและดนตรี
๙. เวชชศาสตร์ รู้คัมภีร์แพทย์
๑๐. ธนูศาสตร์ รู้ศิลปะการยิงธนู
๑๑. ประวัติศาสตร์
๑๒. ดาราศาสตร์ รู้วิธีทํานายดวงชะตาของคน
๑๓. มายาศาสตร์ รู้ว่านี่เป็นแก้ว นี่มิใช่แก้ว เป็นต้น
๑๔. เหตุศาสตร์ ผลศาสตร์รู้จักเหตุรู้จักผลจะบังเกิด
๑๕. ภูมิศาสตร์ รู้จักที่จะเลี้ยงโคกระบือ รู้การที่จะหว่านพืชลงในนาไร่ให้เกิดผล
๑๖. ยุทธศาสตร์ รู้คัมภีร์พิชัยสงคราม
๑๗. ลัทธิศาสตร์ รู้คัมภีร์โลกโวหาร
๑๘. ฉันทศาสตร์ รู้จักคัมภีร์ผูกบทกลอนกาพย์โคลง
พระเจ้ามิลินท์นั้น มีถ้อยคําหาผู้ต่อสู้ได้ยาก ปรากฏยิ่งกว่าพวกเดียรถีย์ทั้งปวงไม่มีใครเสมอเหมือนในทางสติปัญญา ทั้งประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ คือ
๑. มีเรี่ยวแรงมาก
๒. มีปัญญามาก
๓. มีพระราชทรัพย์มาก
อยู่มาคราวหนึ่ง พระเจ้ามิลินท์ได้เสด็จออกจากพระนครด้วยพลนิกรเป็นอันมาก หยุดพักนอกพระนครแล้ว ตรัสแก่พวกอํามาตย์ว่า
เวลายังเหลืออยู่มาก เราจะทําอะไรดี เราจะกลับเข้าเมืองก็ยังวันอยู่ สมณพราหมณ์เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ที่ยืนยันว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ใดหนอ อาจสนทนากับเราได้ อาจตัดความสงสัยของเราได้
เมื่อตรัสอย่างนี้ พวกโยนกข้าหลวงทั้ง ๕๐๐ก็กราบทูลขึ้นว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า บัณฑิตที่จะพอสนทนากับพระองค์ได้นั้นมีอยู่ คือครูทั้ง ๖ อันได้แก่ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล
นิคัณฐนาฏบุตร สญชัยเวฬัฏฐบุตร อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ พระเจ้าข้า
ครูทั้ง ๖ นั้น เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะเป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียงปรากฏ มียศบริวารมีผู้คนนับถือมาก ขอมหาราชเจ้าจงเสด็จไปไต่ถามปัญหา
ต่อคณาจารย์เหล่านั้นเถิดคณาจารย์เหล่านั้นจะตัดความสงสัยของพระองค์ได้ พระเจ้าข้า
พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาครูทั้ง ๖
ลําดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ก็ห้อมล้อมด้วยข้าหลวงโยนกทั้ง ๕๐๐ ขึ้นทรงราชรถเสด็จไปหา ปูรณกัสสป
ทรงปราศรัยแล้วประทับนั่งลงตรัสถามว่า
ท่านกัสสป...อะไรรักษาโลกไว้ ?
ปูรณกัสสปตอบว่า ขอถวายพระพรแผ่นดินรักษาโลกไว้
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า ถ้าแผ่นดินรักษาโลกไว้ เหตุไรผู้ทําบาปจึงล่วงเลยแผ่นดินลงไปถึงอเวจีนรกล่ะ?
เมื่อตรัสอย่างนี้ ปูรณกัสสปก็ไม่อาจโต้ตอบได้ ได้แต่นั่งนิ่งกลืนน้ำลายอยู่เท่านั้น
ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์จึงทรงดําริว่าชมพูทวีปว่างเปล่าเสียแล้ว ชมพูทวีปไม่มีประชน์เสียแล้ว เพราะไม่มี
สมณพราหมณ์เจ้าหมู่เจ้าคณะ คณาจารย์ ผู้อวดอ้างตนว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะสามารถตัดความสงสัยของเราได้ ทรงดําริอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จไปหา
มักขลิโคสาล ตรัสถามว่า
ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีอยู่หรือ?
มักขลิโคสาลตอบว่า
ขอถวายพระพร ไม่มี..คือพวกใดเคยเป็นกษัตริย์ หรือพราหมณ์ เวศย์ ศูทร จัณฑาล คนเทหยากเยื่ออยู่ในโลกนี้เวลาไปถึงโลกหน้าก็จะเกิดเป็นกษัตริย์ พราหมณ์เ
วศย์ ศูทร จัณฑาล คนเทหยากเยื่ออีก การทําบุญไม่มีประโยชน์อะไร
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสอีกว่า
ถ้าอย่างนั้น พวกใดที่มีมือด้วนเท้าด้วนในโลกนี้ พวกนั้นไปเกิดในโลกหน้า ก็จะต้องมีมือด้วนเท้าด้วนอีกน่ะซี
มักขลิโคสาลตอบว่า อย่างนั้น มหาบพิตร คือผู้ใดได้รับโทษถูกตัดมือเท้าในโลกนี้ เวลาผู้นั้นไปเกิดในโลกหน้า ก็จะถูกตัดมือตัดเท้าอีก
พระเจ้ามิลินทร์ตรัสว่า โยมไม่เชื่อ
มักขลิโคสาลก็นิ่ง พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสต่อไปว่า
นี่แน่ะ มักขลิโคสาล ข้าพเจ้าถามท่านว่าผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีอยู่หรือ ท่านก็แก้เสียอย่างนี้ ท่านเป็นคนโง่เขลาพวกใดทํากรรมที่จะให้เกิดไว้อย่างใด
ๆ พวกนั้นก็ต้องไปเกิดด้วยกรรมอย่างนั้น ๆ
ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสแก่พวกอํามาตย์ขึ้นว่า
นี่แน่ะ ท่านทั้งหลาย เวลานี้ก็ค่ำแล้วเราจะไปหาสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ใด ๆ อีก ผู้ใดจะอาจสนทนากับเราได้ อาจตัดความสงสัยของเราได้
ตรัสอย่างนี้หลายหน แต่พวกอํามาตย์ก็พากันนิ่งอยู่ ไม่รู้ว่าจะกราบทูลอย่างไร ท้าวเธอก็เสด็จกลับเข้าสู่พระนคร
ต่อนั้นไปพระองค์ก็ได้ไปเที่ยวไต่ถามสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ ในที่นั้น ๆ ไม่เลือกหน้า
พวกใดแก้ปัญหาของท้าวเธอไม่ได้พวกนั้นก็หนี ไปพวกที่ไม่หนีก็สู้ทนนิ่งอยู่ แต่โดยมากได้พากันหนีไปสู่ป่าหิมพานต์
เมืองสาคลนครจึงเป็นเหมือนกับว่างจากสมณพราหมณ์อยู่ถึง ๑๒ ปี
พระอรหันต์ขึ้นไปเชิญมหาเสนะเทพบุตร
ในคราวนั้น มีพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ อาศัยอยู่ที่ ถ้ำรักขิตเลณะ ในภูเขาหิมพานต์ ได้ทราบประวัติการณ์ของพระเจ้ามิลินท์แล้ว
จึงได้ขึ้นไปประชุมกันที่ยอดภูเขายุคันธร ถามกันขึ้นว่า
มีพระภิกษุองค์ใด สามารถโต้ตอบกับพระเจ้ามิลินท์ ตัดความสงสัยของพระองค์ได้
ถามกันอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง พระอรหันต์ทั้ง ๑๐๐โกฏิก็นิ่งอยู่ ลําดับนั้น พระอัสสคุตตะ ผู้เป็นหัวหน้าจึงกล่าวขึ้นว่า
ดูก่อนท่านทั้งหลาย มหาเสนะเทพบุตรที่อยู่ในเกตุมดีวิมาน ทางด้านตะวันออกแห่งเวชยันตวิมานของพระอินทร์มีอยู่
มหาเสนะเทพบุตร นั้นแหละ อาจโต้ตอบกับพระเจ้ามิลินท์ได้อาจตัดความสงสัยของพระองค์ได้
พระอรหันต์ทั้ง ๑๐๐ โกฏิ จึงได้พร้อมกันขึ้นไปหาพระอินทร์ที่ดาวดึงสเทวโลก พระอินทร์จึงเสด็จออกมาต้อนรับกราบไหว้แล้วถามว่า
ข้าแต่ท่านทั้งหลาย มีพระภิกษุสงฆ์มาเป็นอันมาก โยมนี้เป็นเหมือนกับคนวัดสําหรับรับใช้ พระภิกษุสงฆ์จะให้โยมทําอะไร ขอได้โปรดบอกเถิด
พระอัสสคุตต์จึงถวายพระพรว่า
เวลานี้มหาราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า มิลินท์ อยู่ในชมพูทวีป เป็นผู้ได้เรียนศาสตร์ต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ฉลาดเจรจา
ไม่มีใครสู้ได้ ได้เที่ยวเบียดเบียนพระภิกษุสงฆ์ ด้วยการถามปัญหาตามลัทธิเดียรถีย์ ขอถวายพระพร
พระอินทร์จึงตรัสว่า
.... อ้อ...พระราชาองค์นั้น ได้จุติไปจากดาวดึงส์นี้เอง
.... อย่างนั้นหรือ..มหาบพิตร ?
.... อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่จะโต้ตอบกับพระเจ้ามิลินท์ได้นั้น มีแต่มหาเสนะเทพบุตรเท่านั้น โยมจะไปอ้อนวอนเขาให้ลงไปเกิดในมนุษยโลก
ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ก็พาพระภิกษุสงฆ์เสด็จไปที่เกตุมดีวิมาน ทรงเข้าไปสวมกอดมหาเสนะเทพบุตรแล้ว จึงตรัสขึ้นว่า นี่แน่ะ...มหาเสนะผู้หาทุกข์มิได้
บัดนี้พระภิกษุสงฆ์ขอให้เจ้าลงไปเกิดในมนุษยโลก
มหาเสนะเทพบุตรจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ไม่ต้องการลงไปเกิดในมนุษยโลก เพราะมนุษยโลกเดือดร้อนด้วยการงานมาก ข้าพระองค์จะขึ้นไปเกิดในเทวโลกชั้นสูง ๆ ต่อขึ้นไป
แล้วจะเข้านิพพานจากเทวโลกชั้นสูงนั้น พระเจ้าข้า
พระอัสสคุตตเถระจึงกล่าวขึ้นว่า
นี่แน่ะ ท่านผู้หาทุกข์มิได้ พวกเราได้พิจารณาดูตลอดมนุษยโลกเทวโลกแล้วไม่เห็นมีผู้อื่นนอกจากท่าน ที่จะสามารถทําลายถ้อยคําของพระเจ้ามิลินท์ได้
สามารถเชิดชูพุทธศาสนาไว้ได้ พระภิกษุสงฆ์จึงได้ขึ้นมาอ้อนวอนท่าน ขอท่านจงลงไปเกิดในมนุษยโลก ยกย่องพระพุทธศาสนาไว้เถิด
เมื่อพระภิกษุสงฆ์อ้อนวอนอย่างนี้แล้ว มหาเสนะเทพบุตรจึงกราบทูลพระอินทร์ว่า
ถ้าอย่างนั้นขอพระองค์จงประทานพรแก่ข้าพระองค์ ให้ข้าพระองค์ทําลายล้างถ้อยคําของพระเจ้ามิลินท์ได้ สามารถเชิดชูพระพุทธศาสนาไว้ได้เถิด พระเจ้าข้า
ครั้นกราบทูลดังนี้แล้วก็ร่าเริงดีใจ มีใจฟูขึ้น ถวายปฏิญญาแก่พระภิกษุสงฆ์ว่าข้าพเจ้าจะลงไปเกิดในมนุษยโลก
แล้วก็รับพรจากพระอินทร์ ลําดับนั้น พระภิกษุสงฆ์ก็ถวายพระพรลา กลับลงมาสู่ถ้ำรักขิตเลณะในภูเขาหิมพานต์อีก
พระโรหนเถระได้รับมอบธุระ
เพื่อให้นาคเสนกุมารได้บรรพชา
เมื่อมาถึงแล้วพระอัสสคุตตเถระจึงถามพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นว่า
ดูก่อนท่านทั้งหลายภิกษุที่ไม่ได้มาในที่ประชุมสงฆ์นี้มีอยู่หรือ ?
มีพระภิกษุองค์หนึ่งตอบว่า มีอยู่ขอรับ คือพระโรหนเถระท่านไปเข้านิโรธสมาบัติ อยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ได้ ๗
วันแล้วพวกเราควรจะใช้ทูตไปหา
พอดีในขณะนั้น พระโรหนเถระ ก็ออกจากนิโรธสมาบัติ นึกรู้ความประสงค์พระอรหันต์ทั้งหลายว่าต้องการพบเรา
จึงได้หายวับจาก ภูเขาหิมพานต์ มาปรากฏที่ ถ้ำรักขิตเลณะ ต่อหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ
ครั้งนั้นพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิจึงกล่าวขึ้นว่า
นี่แน่ะ ท่านโรหนะ เมื่อพระศาสนากําลังถูกกระทบกระเทือน เหตุไรท่านจึงไม่รู้จักช่วยเหลือไม่เหลียวแลกิจเหมือนสงฆ์ ?
พระโรหนะจึงตอบว่า เป็นเพราะข้าพเจ้ามิได้กําหนดจิตไว้
พระสงฆ์จึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้น พวกเราจะลงทัณฑกรรทท่าน เพราะเหตุที่ท่านไม่ได้ใส่ใจในกิจของพระศาสนา
พระโรหนะจึงถามอีกว่า จะลงทัณฑกรรมข้าพเจ้าอย่างไร ?
พระสงฆ์ตอบว่า
นี่แน่ะ ท่านโรหนะ มีบ้านพราหมณ์ตำบลหนึ่งชื่อว่าชังคละ ข้างป่าหิมพานต์ มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่าโสนุตระ
อยู่ในบ้านนั้น เขามีบุตรชื่อว่านาคเสนกุมาร ท่านงพยายามไปบิณบาตรที่ตระกูลนั้น ให้กุมารออกบรรพชาให้ได้
เมื่อนาคเสนกุมารได้บรรพชาแล้วท่านจึงจะพ้นจากทัณฑณกรรมนั้น..."
◄ll กลับสู่ด้านบน
((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป วันที่ 21 มี.ค. 51 )))))))))
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 20/3/08 at 22:21 |
|
(Update 21 มี.ค. 51)
ตอนที่ ๒
มหาเสนะเทพบุตรจุติจากเทวโลก
...ฝ่ายมหาเสนะเทพบุตร ก็ได้จุติจากเทวโลกลงมาถือกําเนิดในครรภ์ของนางพราหมณี ในขณะนั้นก็มีอัศจรรย์ ๓ ประการปรากฏขึ้น คือ
1. บรรดาอาวุธทั้งหลายได้รุ่งเรืองเป็นแสงสว่าง
2. ฝนตกใหญ่นอกฤดูกาล
3. เมฆใหญ่ตั้งขึ้น
( ตอนนี้ใน ฉบับพิสดาร กล่าวว่า อัศจรรย์ทั้งนี้ด้วยบารมีของมหาเสนะเทพบุตรที่ได้กระทํามาบอกเหตุที่เกิดมานี้ว่า
จะได้ทํานุบํารุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองไปถ้วน ๕๐๐๐ พระวัสสา )
จาก ฉบับ ส. ธรรมภักดี ได้บรรยายต่อไปว่า ลําดับนั้น พระโรหนเถระก็ไปเที่ยวบิณฑบาตที่ตระกูลนั้น เริ่มแต่วันนั้นไปตลอด ๗ ปี กับ ๑๐
เดือน แต่ไม่ได้อะไรเลย เพียงแต่การยกมือไหว้หรือการแสดงความเคารพก็ไม่ได้ ได้แต่การด่าว่าเท่านั้น
เมื่อล่วงมาจาก ๗ ปีนั้น จึงได้เพียงคําไต่ถามเท่านั้นคืออยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพราหมณ์นั้นกลับมาจากดูการงานนอกบ้าน
ก็ได้พบพระเถระเดินสวนมา จึงถามว่า
นี่แน่ะบรรพชิตท่านได้ไปที่บ้านเรือนของเราหรือ?
พระเถระตอบว่า ได้ไป
พราหมณ์จึงถามต่อไปว่า ท่านได้อะไรบ้างหรือ?
ตอบว่า ได้
พราหมณ์นั้นก็นึกโกรธ จึงรีบไปถามพวกบ้านว่า พวกท่านได้ให้อะไรแก่บรรพชิตนั้นหรือ?
เมื่อพวกบ้านตอบว่า ไม่ได้ให้อะไรเลย พราหมณ์ก็นิ่งอยู่ เวลารุ่งขึ้นวันที่สองพราหมณ์นั้นจึงไปยืนอยู่ที่ประตูบ้านด้วยคิดว่าวันนี้แหละบรรพชิตนั้นมา
เราจักปรับโทษมุสาวาทให้ได้ พอพระเถระไปถึง พราหมณ์นั้นก็กล่าวขึ้นว่า
นี่แน่ะ บรรพชิต เมื่อวานนี้ท่านไม่ได้วัตถุสิ่งใดไปจากบ้านเรือนของเราเลย ทําไมจึงบอกว่าได้ การกล่าวมุสาวาทเช่นนี้
สมควรแก่ท่านแล้วหรือ?
พระโรหนะจึงตอบว่า
นี่แน่ะ พราหมณ์ เราเข้ามาสู่บ้านเรือนของท่านตลอด ๗ ปีกับ ๑๐ เดือนแล้วยังไม่เคยได้อะไรเลย พึ่งได้คําถามของท่านเมื่อวานนี้เพียงคําเดียวเท่านั้น
เราจึงตอบว่าได้
เมื่อพราหมณ์ได้ฟังดังนี้ก็ดีใจ จึงคิดว่า พระองค์นี้เพียงแต่ได้คําปราศรัยคําเดียวเท่านั้น ก็ยังบอกในที่ประชุมชนว่าได้
ถ้าได้ลาภอย่างใดอย่างหนึ่งไปจะไม่สรรเสริญหรือ นี่เพียงแต่ได้คําถามคําเดียวเท่านั้นก็ยังสรรเสริญ
เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว จึงสั่งพวกบ้านว่าพวกท่านจงเอาข้าวของเราถวายบรรพชิตนี้วันละ ๑ ทัพพีทุกวันไป ต่อนั้นพราหมณ์ก็เลื่อมใสต่ออิริยาบถ
และความสงบเสงี่ยมของพระเถระยิ่งขึ้นเป็นลําดับไปจึงขอนิมนต์ว่า
ขอท่านจงมาฉันอาหารประจํา ที่บ้านเรือนของข้าพเจ้าทุกเช้าไป
พระเถระก็รับด้วยอาการนิ่งอยู่พราหมณ์ก็ได้ถวายอาหารคาวหวาน อันเป็นส่วนของตนแก่พระเถระทุกเช้าไป พระเถระฉันแล้วเวลาจะกลับ
ก็กล่าวพระพุทธพจน์วันละเล็กละน้อยทุกวันไป
คราวนี้จะย้อนกล่าวถึงนางพราหมณีนั้นอีก กล่าวคือ นางพราหมณีนั้นล่วงมา ๑๐ เดือน ก็คลอดบุตรให้ชื่อว่า นาคเสน
นาคเสนกุมารศึกษาไตรเพท
เมื่อนาคเสนกุมารเติบโตขึ้นอายุได้ ๗ ขวบ มารดาบิดาก็ให้ศึกษาไตรเพททั้ง ๓ กับศิลปะศาสตร์อื่น ๆ สําหรับตระกูลพราหมณ์ร่ำรียนสืบ ๆ กันมา
นาคเสนกุมารรับว่าจะเรียนเอาให้ได้
ส่วนว่าโสนุตตรพราหมณ์ผู้เป็นบิดา จึงให้เชิญพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์มาที่เรือนแล้ว ก็ให้ทรัพย์ประมาณ ๑ พันกหาปณะเป็นค่าจ้าง
ฝ่ายนาคเสนกุมารฟังพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกวิชาเพียงครั้งเดียว ก็สามารถจําได้จบครบทุกประการ จึงได้มีวาจาถามว่า
ข้าแต่บิดา คําสอนสําหรับสกุลพราหมณ์สิ้นสุดเท่านี้หรือ.. หรือว่ายังมีอีกประการใดเล่า?
พราหมณ์ผู้เป็นบิดาจึงตอบว่า
นี่แน่ะนาคเสน คําสอนสําหรับพราหมณ์มาแต่ก่อนเก่านั้น ก็จบเพียงแค่นี้
เมื่อนาคเสนร่ำรียนศึกษาจากสํานักพราหมณาจารย์แล้ว ก็ให้ทรัพย์ค่าจ้างบอกวิชาแล้ว ได้รับเอาซึ่งกําใบลานที่อาจารย์ให้เป็นกําใบลานหนังสือพราหมณ์
สําหรับที่จะได้ดูและอ่านการไตรเพ และศิลปะศาสตร์ทุกสิ่งอัน
อยู่มาวันหนึ่ง นาคเสนกุมารจึงลงจากปราสาท ไปยืนพิจารณาเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดแห่งไตรเพททั้ง ๓ กับศิลปศาสตร์ทั้งปวง
อยู่ที่ศาลาข้างประตูทุกวันไปจนตลอดถึง ๓ วันเมื่อไม่เห็นมีแก่นสารอันใด จึงเกิดความไม่สบายใจว่าสิ่งเหล่านี้เปล่าทั้งนั้นไม่มีสาระประโยชน์อันใดเลย
พระโรหนะไปนํานาคเสนกุมาร เพื่อจะให้บรรพชา ในคราวนั้น พระโรหนเถระ
นั่งอยู่ที่วัตตนิยเสนาสนะวิหาร ได้ทราบความคิดของนาคเสนกุมาร จึงหายวับไปปรากฏขึ้นข้างหน้านาคเสนกุมารทันที พอนาคเสนกุมารได้แลเห็น
ก็เกิดความร่าเริงดีใจว่าบรรพชิตองค์นี้คงรู้จักสิ่งที่เป็นสาระเป็นแน่จึงถามขึ้นว่า
ผู้มีศีรษะโล้นนุ่งเหลืองเช่นนี้เป็นอะไร?
พระเถระตอบว่า เป็นบรรพชิต
เหตุไรจึงได้ชื่อว่าบรรพชิต?
เหตุว่าเว้นเสียซึ่งบาป เว้นเสียซึ่งโทษจึงได้ชื่อว่าบรรพชิต
ท่านรู้จักศิลปศาสตร์บ้างหรือ?
รู้จัก
ศิลปศาสตร์อันใดที่สูงสุดในโลกมีอยู่ท่านจะบอกศิลปศาสตร์อันนั้นให้แก่กระผมได้หรือ?
อาจบอกได้..พ่อหนู!
เหตุใดผมและหนวดของท่านจึงไม่เหมือนคนอื่น?
นี่แน่ะ พ่อหนู บรรพชิตทั้งหลายเห็นความกังวล ๑๖ ประการ จึงได้โกนผมโกนหนวดเสีย
ความกังวล ๑๖ ประการนั้นคือ
1. กังวลด้วยอาภรณ์คือเครื่องประดับ
2. กังวลด้วยช่างทอง
3. กังวลด้วยการขัดสี
4. กังวลด้วยการเก็บเครื่องประดับ
5. กังวลด้วยการฟอกผมสระผม
6. กังวลด้วยดอกไม้
7. กังวลด้วยของหอม
8. กังวลด้วยเครื่องอบ
9. กังวลด้วยสมอ
10. กังวลด้วยมะขามป้อม
11. กังวลด้วยดินเหนียว ( สมอ มะขาม ป้อม ดิน ทั้ง ๓ ประการนี้ ทําเป็นยาสระผม )
12. กังวลด้วยเข็มปักผม
13. กังวลด้วยผ้าผูกผม
14. กังวลด้วยหวี
15. กังวลด้วยช่างตัดผม
16. กังวลด้วยการอาบน้ำชําระผมรวมเป็น ๑๖ ประการด้วยกัน
ในเส้นผมแต่ละเส้นย่อมมีหมู่หนอนอาศัยอยู่ที่รากผม ทําให้รากผมเศร้าหมองคนทั้งหลายได้เห็นผมเศร้าหมอง ก็เศร้าใจเสียใจ ไม่สบายใจ
เมื่อมัวแต่ยุ่งอยู่กับผมด้วยเครื่องกังวล ๑๖ อย่างนี้ ศิลปะศาสตร์ที่สุขุมยิ่งก็เสียไป เพราะฉะนั้นแหละ บรรพชิตทั้งหลายจึงต้องโกนผมโกนหนวดทิ้งเสีย
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อนี้น่าอัศจรรย์เพราะเมื่อคนทั้งหลายกังวลอยู่กับเครื่องกังวล ๑๖ ประการอย่างนี้
ศิลปะศาสตร์ที่สุขุมยิ่ง ต้องไม่ปรากฏเป็นแน่ ข้อนี้กระผมเชื่อ แต่ขอถามอีกทีว่า เหตุไรผ้านุ่งผ้าห่มของท่านจึงไม่เหมือนกับคนอื่น ๆ?
อ๋อ..การที่ผ้านุ่งผ้าห่มของเราไม่เหมือนคนอื่น ๆ นั้นเพราะว่าผ้านุ่งผ้าห่มอย่างพวกคฤหัสถ์ทําให้เกิดความกําหนัดยินดีใน สังขารร่างกายได้ง่าย
ทําให้มีภัยอันตรายบังเกิดขึ้น เครื่องนุ่งห่มของเราจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจสอนศิลปะศาสตร์ที่ละเอียดยิ่ง ให้แก่กระผมได้หรือ?
ได้...พ่อหนู!
ถ้าได้ขอได้โปรดสอนให้เดี๋ยวนี้เถิด
เออ...พ่อหนู เวลานี้เรายังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในละแวกบ้าน ยังสอนให้ไม่ได้หรอก
ลําดับนั้น นาคเสนกุมารจึงรับเอาบาตรของพระโรหนเถระ แล้วนิมนต์ให้ขึ้นไปฉันที่เรือน เมื่อฉันแล้วจึงกล่าวว่า
ขอท่านจงบอกศิลปะศาสตร์ที่ละเอียดให้แก่กระผมเดี๋ยวนี้เถิด
โอ....พ่อหนู! ตราบใดที่พ่อหนูยังมีกังวลอยู่ ตราบนั้นเรายังสอนให้ไม่ได้ ต่อเมื่อพ่อหนูขออนุญาตมารดาบิดาแล้ว ถือเพศอย่างเรา
คือโกนผมนุ่งเหลืองห่มเหลืองเหมือนเรา เราจึงจะสอนให้ได้"
นาคเสนกุมารจึงไปขออนุญาตต่อมารดาบิดา เมื่อมารดาบิดาไม่อนุญาต จึงนอนอดอาหาร ต่อเมื่อมารดาบิดาอนุญาต จึงบอกพระเถระว่า
กระผมจักถือเพศอย่างท่าน ขอท่านจงสอนศิลปะศาสตร์ที่ละเอียดให้แก่กระผม
พระโรหนเถระจึงพานาคเสนกุมารกลับไปที่วัตตนิยเสนาสนะวิหาร ค้างอยู่คืนหนึ่ง รุ่งเช้าจึงพาไปหาพระอรหันต์ ๑๐๐โกฏิ ที่อยู่ที่ถ้ำรักขิตเลณะ
((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป วันที่ 28 มี.ค. 51 )))))))))
Update 28 มีนาคม 2551
นาคเสนกุมารบรรพชา
ในคราวนั้น พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิก็ได้ให้นาคเสนกุมารบรรพชาอยู่ที่ถ้ำรักขิตเลณะ นาคเสนกุมารบรรพชาแล้ว จึงกล่าวต่อพระโรหนเถระว่า
กระผมได้ถือเพศเหมือนท่านแล้ว ขอท่านจงสอนศิลปะศาสตร์ที่ละเอียดยิ่งให้กระผมเถิด
พระโรหนเถระจึงคิดว่า เราจะสอนอะไรก่อนดีหนอ นาคเสนนี้มีปัญญาดี เราควรจะสอนอภิธรรมปิฎกก่อน
ครั้นคิดแล้วจึงบอกว่าม นาคเสน...เธอจงตั้งใจเรียนศิลปะศาสตร์ที่ละเอียดยิ่งของเรา
กล่าวอย่างนี้แล้ว ก็เริ่มแสดงอภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์ คือ
คัมภีร์อภิธรรมสังคิณี ว่า กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา เป็นต้น และ คัมภีร์วิภังค์ ธาตุกถา
ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมกะ ปัฏฐาน เป็นลําดับไป
นาคเสนสามเณรก็สามารถจําได้สิ้นเชิง พอมาถึงตอนนี้ ฉบับพิสดาร พรรณนาว่า ในขณะที่ฟังเพียงครั้งเดียว
จึงได้กล่าวว่าขอได้โปรดบอกเพียงเท่านี้ก่อนเถิด เมื่อกระผมท่องจําได้แม่นยําแล้ว จึงค่อยบอกให้มากกว่านี้อีก
ต่อมา "นาคเสนสามเณร" ก็ได้นําความรู้ที่เรียนมาพิจารณา เช่น ในบทว่า กุสลา ธัมมา ได้แก่อะไร อกุสลา ธัมมา
ได้แก่อะไร อัพยากตา ธัมมา ได้แก่อะไร ดังนี้เป็นต้น
ท่านได้พิจารณาเพียงครั้งเดียว ก็คิดเห็นเป็นกรรมฐานว่า มีความหมายอย่างนั้น ๆ ด้วยปัญญาบารมีที่ได้บําเพ็ญไว้
มาแต่ชาติก่อนโน้น
เมื่อคิดพิจารณาธรรมะอย่างถ้วนถี่แล้ว นาคเสนสามเณร จึงได้เข้าไปกราบนมัสการพระอรหันต์ทั้งหลาย พร้อมกับ
กล่าวว่า
กระผมจะขอแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ตามที่ได้เรียนมาจากพระอุปัชฌาย์ โดยขออธิบายความหมายให้ขยาย
ออกไปขอรับ
พระอรหันต์ทั้งหลาย ได้ฟังดังนั้นก็ดีใจ จึงอนุญาตให้สามเณรแสดงได้ตามความประสงค์ สามเณรได้วิสัชนาอยู่
ประมาณ ๗ เดือนจึงจบ ในขณะนั้น เหตุอัศจรรย์ต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นคือแผ่นดินใหญ่ก็เกิดหวั่นไหว เทพยดานางฟ้าทั้งหลาย
ก็แสดงความชื่นชมยินดี พรหมทั้งหลายก็ตบมือสาธุการ
ทุกท่านต่างก็ร้องซ้องสาธุการ สรรเสริญปัญญาบารมีของสามเณร ได้โปรยปรายผงจันทน์ทิพย์ และ ดอกไม้ทิพย์
บ้างก็เลื่อนลอย บ้างก็ปรอย ๆ เป็นฝอยฝนตกลงมา หอมฟุ้งขจรขจายไปทั่วบริเวณนั้น
พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ก็ให้สาธุการแสดงความชื่นชมยินดีว่า แต่นี้ไปศาสนาขององค์สมเด็จพระจอมไตร จะรุ่งเรือง
วัฒนาถาวรตลอดไป
นาคเสนอุปสมบท
เมื่ออยู่นานมาจนกระทั่ง นาคเสนสามเณร มีอายุครบอุปสมบทแล้ว พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ก็ให้อุปสมบทเป็น
พระภิกษุสงฆ์ ในพระพุทธศาสนา
ในเวลาเช้า พระนาคเสนครองบาตรจีวร จะเข้าไปบิณฑบาตก็นึกขึ้นว่า พระอุปัชฌาย์ของเราเห็นจะเปล่าจาก
คุณธรรม อื่น ๆ คงรู้แต่อภิธรรมเท่านี้ อย่างอื่นคงไม่รู้
ขณะนั้น พระโรหนเถระ จึงออกมากล่าวขี้นว่า
นี่แน่ะ นาคเสน การนึกของเธอไม่สมควรเลย เหตุไรเธอจึงนึกดูถูกเราอย่างนี้?
ฝ่ายพระนาคเสนก็นึกอัศจรรย์ใจว่า พระอุปัชฌาย์ของเราเป็นบัณฑิตแท้ เพียงแต่เรานึกในใจก็รู้ เราจักต้องขอโทษ
ครั้นคิดแล้ว จึงกล่าวขึ้นว่า
ขอจงอดโทษให้กระผมด้วยเถิด กระผมจะไม่นึกอย่างนี้ อีกจะไม่ทําอย่างนี้อีก
นาคเสน เรายังอดโทษให้ไม่ได้ ต่อเมื่อเธอทําให้ พระเจ้ามิลินท์ ผู้เสวยราชย์อยู่ในสาคลนครเลื่อมใสได้
ด้วยการแก้ปัญหานั้นแหละ เราจึงจะอดโทษให้
ท่านขอรับ อย่าว่าแต่พระเจ้ามิลินท์เพียงองค์เดียวเลย ต่อให้พระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น เรียงตัวกันมาถามปัญหา
กระผมก็จะทําให้เลื่อมใสได้สิ้น ขอท่านจงได้อดโทษให้กระผมเถิด
เมื่ออ้อนวอนอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่เป็นผล จึงถามว่า
ในพรรษานี้ ท่านจะให้กระผมอยู่ที่สํานักนี้ หรือว่าจะให้กระผมไปอยู่ในสํานักผู้ใดขอรับ?
พระโรหนเถระ จึงบอกว่า
เธอจงไปหา พระอัสสคุตตเถระ ถามถึงความสุขของท่าน และบอกความทุกข์สุขของเราแทนเรา แล้วอยู่ใน
สํานักของท่านเถิด
ลําดับนั้น พระนาคเสนจึงอําลาพระอุปัชฌาย์ ออกเดินทางไปหาพระอัสสคุตตเถระ กราบไหว้แล้วก็ถามถึงทุกข์สุข
ตามคําสั่งของพระอุปัชฌาย์ แล้วขออาศัยอยู่
พระอัสสคุตตเถระ จึงถามว่า
เธอชื่ออะไร?"
กระผมชื่อนาคเสนขอรับ
พระอัสสคุตต์ ใคร่จะลองปัญญาจึงถามว่า
ก็ตัวเราล่ะชื่ออะไร?
พระอุปัชฌาย์ของกระผม รู้จักชื่อของท่านแล้วขอรับ
อุปัชฌาย์ของเธอชื่ออะไร?
อุปัชฌาย์ของกระผมท่านรู้อยู่แล้ว
ดีละ ๆ นาคเสน
พระอัสสคุตต์ จึงรู้ว่าพระภิกษุองค์นี้มีปัญญา จึงคิดว่าพระนาคเสนนี้ปรารถนาจะเรียนพระไตรปิฎก เราได้สําเร็จ
มรรคผลก็จริงแหล่ แต่ทว่าฝ่ายพระไตรปิฎกรู้เป็นเพียงกลาง ๆ ก็อย่าเลยเราจะกระทํากิริยาไม่เจรจาด้วย ทําทีเหมือน
จะลงพรหมทัณฑ์ด้วยภิกษุรูปนี้
ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงได้ลงพรหมทัณฑ์ คือไม่พูดกับพระนาคเสนถึง ๓ เดือน แต่พระนาคเสนก็ปรนนิบัติได้ปัดกวาด
บริเวณและตักน้ำใช้น้ำฉันไว้ถวายตลอดทั้ง ๓ เดือน ส่วนพระอัสสคุตต์จึงกวาดบริเวณด้วยตนเอง และล้างหน้าด้วยน้ำอื่น
พระนาคเสนแสดงธรรมเป็นครั้งแรก
พระอัสสคุตต์นั้นมีอุบาสิกาคนหนึ่ง เป็นผู้อุปัฏฐากมาประมาณ ๓๐ พรรษาแล้ว เมื่อล่วง ๓ เดือนนั้นไปแล้ว
อุบาสิกานั้น จึงออกไปถามพระเถระว่า
ในพรรษานี้มีภิกษุอื่นมาอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าบ้างหรือ?
พระเถระก็ตอบว่า
มี คือพระนาคเสน
อุบาสิกานั้นจึงกล่าวว่า
ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้เช้าขอพระผู้เป็นเจ้ากับพระนาคเสน จงเข้าไปฉันภัตตาหารเช้าที่บ้านของโยมด้วย
พระเถระก็รับด้วยอาการนิ่งอยู่
พระอัสสคุตตเถระมิได้สนทนากับพระนาคเสน จนตลอดถึงวันปวารณาออกพรรษา เช้าวันนั้นพระเถระจําต้อง
เจรจากับพระนาคเสน จึงกล่าวว่าอุบาสิกาเขามานิมนต์ให้ไปฉันภัตตาหารเช้าด้วยกัน แล้วจึงพาพระนาคเสนเข้าไป
ฉันที่บ้านของอุบาสิกานั้น ครั้นฉันแล้ว จึงบอกให้พระนาคเสนอนุโมทนา ส่วนตัวท่านเองขอกลับไปก่อน ฝ่ายอุบาสิกานั้น
จึงกล่าวต่อพระนาคเสนว่า
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมแก่แล้ว ขอท่านจงอนุโมทนาด้วยคาถาที่ลึกซึ้งเถิด
พระนาคเสนก็อนุโมทนาด้วยคาถาอันลึกซึ้ง เมื่อจบคําอนุโมทนาลง อุบาสิกานั้นก็ได้สําเร็จพระโสดาปัตติผล
ในขณะนั้น พระอัสสคุตตเถระกําลังนั่งอยู่ที่โรงกลมกว้างใหญ่ในวิหาร ได้ทราบความเป็นไปด้วยทิพจักขุญาณ
จึงให้สาธุการว่า
สาธุ..สาธุ..นาคเสน! ในที่ประชุมชนทั้งสอง คือมนุษย์และเทวดา เธอได้ทําลายให้คลายจาก
ความสงสัยด้วยลูกศรเพียงลูกเดียว กล่าวคือได้แสดงธรรมเพียงครั้งเดียว ก็ทําให้ผู้รับฟังบรรลุมรรคผล
ได้ สาธุ..เราขอชม สติปัญญาของเธอนี้ประเสริฐนักหนา
ในเวลาเดียวกันนั้น เหล่าเทพยดานางฟ้าอีกหลายพัน ต่างก็ได้ตบมือสาธุการ ผงจันทน์ทิพย์ในสวรรค์ ก็โปรยปราย
ลงมาดังสายฝน ขณะเมื่อจบลงแห่งพระสัทธรรมเทศนานั้น
ฝ่ายพระนาคเสนก็กลับไปกราบพระอัสสคุตตเถระแล้วนั่งอยู่ พระอัสสคุตตเถระจึงกล่าวว่า
ตัวเธอมาอยู่ที่นี่นานแล้ว จงไปขอเรียนพระพุทธวจนะจาก พระธรรมรักขิต ผู้อยู่ในอโศการามด้านทิศอุดร
แห่งเมืองปาตลีบุตรนครเถิด
พระนาคเสนจึงเรียนถามว่า
ท่านขอรับ เมืองปาตลีบุตรอยู่ไกลจากนี้สักเท่าใด?
ไกลจากนี้ประมาณ ๑๐๐ โยชน์
เมืองปาตลีบุตรอยู่ไกลมาก อาหารในระหว่างทางก็จะหาได้ยาก กระผมจะไปได้อย่างไรขอรับ?
เธอจงไปเถิด ในระหว่างทางเธอจะได้อาหารล้วนแต่ข้าวสาลีไม่มีเมล็ดหัก พร้อมทั้งกับข้าวอีกเป็นอันมาก
พระนาคเสนจึงกราบลาพระอัสสคุตต์ แล้วออกเดินทางไปตามลําดับ
◄ll กลับสู่สารบัญ
((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป วันที่ 4 เมษายน 51 )))))))))
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 4/4/08 at 06:21 |
|
Update 4 เมษายน 2551
ตอนที่ ๓
พระนาคเสน ไปศึกษาพระไตรปิฎกกับ พระธรรมรักขิต
...ในคราวนั้น มีเศรษฐีชาวเมืองปาตลีบุตร คนหนึ่ง ได้เดินทางมาค้าขายตามชนบททั้งหลาย ครั้นขายของแล้วก็บรรทุกสินค้าใหญ่น้อย ลงในเกวียน ๕๐๐ เล่ม
ออกเดินทางกลับเมืองปาตลีบุตร ได้เห็นพระนาคเสนออกเดินทางไป จึงให้หยุดเกวียนไว้ แล้วเข้าไปกราบนมัสการไต่ถามว่า
" พระคุณเจ้า จะไปไหนขอรับ ? "
พระนาค เสนตอบว่า
" อาตมา จะไปเมืองปาตลีบุตร "
เศรษฐี ได้ฟังดังนั้นก็ดีใจจึงกล่าวว่า
" ถ้าอย่างนั้นนิมนต์ไปกับโยมเถิดจะสะดวกดี "
" ดีแล้ว คหบดี "
ลําดับนั้น เศรษฐีจึงจัดอาหารถวาย เวลาฉันเสร็จแล้ว เศรษฐี จึงถามว่า
" พระคุณเจ้า ชื่ออะไรขอรับ ? "
"อาตมา ชื่อนาคเสน"
" ท่านรู้พระพุทธวจนะหรือ ? "
" อาตมา รู้เฉพาะอภิธรรม "
" เป็นลาภอันดีของโยมแล้ว โยมก็ได้เรียนอภิธรรม ท่านก็รู้อภิธรรม ขอท่านจงแสดงอภิธรรม ให้โยมฟังสักหน่อย"
เมื่อพระนาคเสนแสดงอภิธรรมจบลง เศรษฐีก็ได้สําเร็จพระโสดาบัน แล้วพากันออกเดินทางต่อไป ครั้นไปถึงที่ใกล้เมืองปาตลีบุตร เศรษฐีจึงกล่าวว่า
"ข้าแต่พระนาคเสน ทางนั้นเป็นทางไปสู่อโศการาม พระผู้เป็นเจ้าจงไปทางนี้เถิด แต่ทว่าอย่าเพิ่งไปก่อน ขอนิมนต์ให้พรแก่โยมสักอย่างหนึ่งเถิด"
พระนาคเสน ตอบว่า
" อาตมา เป็นบรรพชิต จักให้พรอะไรได้ "
" พรใดที่สมควรแก่สมณะ ขอท่านจงให้พรนั้น "
" ถ้ากระนั้นโยมจงรับเอาพร คือการกุศล อย่าประมาทลืมตนในการกุศล พรอันนี้มีผลโดยสุจริต "
ขณะนั้นเศรษฐีจึงถวายผ้ากัมพล พร้อมกับบอกว่า
" ขอท่านจงกรุณารับผ้ากัมพลอันยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ของโยมนั้นไปนุ่งห่มเถิด "
พระนาคเสนจึงรับเอาผ้านั้นไว้ ส่วนว่าเศรษฐีถวายนมัสการแล้ว จึงกราบลามาสู่ปาตลีบุตรนคร
ส่วนพระนาคเสนก็ออกเดินทางไปสู่สํานัก พระธรรมรักขิต ที่อโศการาม กราบไหว้แล้วจึงเรียนว่า
" ขอท่านได้โปรดสอนพระพุทธวจนะ ให้กระผมด้วยเถิดขอรับ "
ศึกษาร่วมกับภิกษุชาวลังกา
ในคราวนั้น ยังมีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า พระติสสทัตตะ ได้เรียนพระพุทธวจนะเป็นภาษาสิงหล ในเมืองลังกาจบแล้ว
ปรารถนาจะเรียนพระพุทธวจนะอันเป็นภาษามคธ จึงโดยสารสําเภามาสู่สํานักพระธรรมรักขิตนี้ เมื่อกราบไหว้แล้วจึง กล่าวว่า
" กระผมมาจากที่ไกล ขอท่านจง บอกพระพุทธวจนะให้แก่กระผมด้วยเถิด "
ลําดับนั้น พระธรรมรักขิตจึงบอกพระนาคเสนว่า
" เธอกับพระติสสทัตตะควรเรียนพระพุทธวจนะด้วยกัน จะได้เป็นเพื่อนสาธยายด้วยกัน อย่าร้อนใจไปเลย "
พระนาคเสน จึงกล่าวว่า
" กระผมมิอาจที่จะเรียนพระพุทธวจนะ พร้อมกันด้วยคําภาษาสิงหลได้ ด้วยพระติสสทัตตะนี้เจรจาเป็นภาษาสิงหล"
เป็นคําถามว่า เหตุไฉนเมื่อพระอาจารย์ว่าจะให้พระติสสทัตตะกับพระนาคเสน เรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน
พระนาคเสนนั้นว่าไม่เรียนพร้อมกัน ด้วยพระติสสทัตตะกล่าวคําภาษาสิงหล ( อันเป็นภาษาของชาวลังกา )
แก้ความนั้นว่า พระนาคเสนเข้าใจว่า อาจารย์คงจะบอกพระพุทธวจนะ เป็นคําภาษาสิงหล ด้วยภาษาสิงหลนี้เป็น คําวิเศษ
กลัวว่าชาวประเทศสาคลราชธานีจะไม่เข้าใจ พระนาคเสนนั้นตั้งใจจะเรียนพระพุทธวจนะ ที่จะให้เข้าใจของชาว สาคลนคร มีพระเจ้ามิลินท์เป็นประธาน
พระธรรมรักขิตจึงบอกขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า
" เธอจงเรียนพร้อมกับพระติสสทัตตะ เพราะพระติสสทัตตะเป็นบัณฑิต ไม่ใช่ผู้ไม่รู้จักภาษา "
พระนาคเสนจึงคิดได้ว่าอาจารย์ คงไม่บอกเป็นภาษาสิงหลดอก อาจจะบอกเป็นภาษามคธ เราผิดเสียแล้ว จะต้อง ขอโทษพระติสสทัตตะ
เมื่อพระนาคเสนคิดได้อย่างนั้น จึงกราบขอโทษ แล้วเริ่มเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน โดยเรียนอยู่ ๓ เดือนก็จบพระไตรปิฎก ซักซ้อมอีก ๓ เดือนก็ชํานาญ
พระนาคเสนสําเร็จ พระอรหันต์
ฝ่ายพระธรรมรักขิต เห็นพระนาคเสนยังเป็นปุถุชนอยู่ จึงมีเถรวาจาเป็นทางจะให้รู้โดยคําอุปมาว่า
"นี่แน่ะ..นาคเสน ธรรมดาว่านายโคบาลได้แต่เลี้ยงโค ไม่ได้รู้รสแห่งนมโค มีแต่ผู้อื่นได้ดื่มรสแห่งนมโคฉันใด ปุถุชนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส
ถึงแม้จะทรงพระไตรปิฎก ก็มิได้รู้รสแห่งสามัญผล คือมรรคผลอันควรแก่สมณะ เปรียบเหมือนกับนายโคบาล ที่รับจ้างเลี้ยงโคและรีดนมโคขาย
แต่มิได้เคยลิ้มชิมรสแห่งนมโคฉันนั้น"
พระนาคเสน ได้ฟังคําเช่นนั้นก็เข้าใจ จึงมีวาจาว่า
" คําสั่งสอนของท่านเท่านี้พอแล้วขอรับ "
ท่านกล่าวเพียงเท่านี้แล้ว ก็ลามาสู่อาวาส ต่อมาก็ได้พยายามเจริญสมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าก็ได้สําเร็จพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ
ในเวลากลางคืน อันเป็นวันที่พระธรรมขิตให้นัยนั้นเอง
ในขณะที่พระนาคเสน สําเร็จพระอรหันต์นั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ แผ่นดินอันใหญ่นี้ก็บันลือลั่นหวั่นไหว ทั้งมหาสมุทรสาคร ก็ตีฟองนองละลอก
ยอดภูเขาก็โอนอ่อนโยกคลอนไปมา เทวดาอินทร์พรหมทั้งหลาย ก็ตบมือสาธุการ ห่าฝนทิพย จุณจันทน์และดอกไม้ทิพย์ ก็ตกลงมาบูชาในกาลนั้น
พระอรหันต์ให้ทูตไปตาม พระนาคเสน
เมื่อพระนาคเสนได้สําเร็จพระอรหันต์แล้ว พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิก็ไปประชุมกันที่ถ้ำรักขิตเลณะ ในภูเขาหิมพานต์ แล้วส่งทูตไปตามพระนาคเสน
เมื่อพระนาคเสนทราบแล้ว ก็หายวับจากอโศการาม มาปรากฏข้างหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ที่ถ้ำรักขิตเลณะ ในภูเขาหิมพานต์ กราบไหว้พระอรหันต์ทั้งหลาย
แล้วจึงถามว่า
"เพราะเหตุไรขอรับ จึงให้ทูตไปตามกระผมมา ? "
พระอรหันต์ผู้เป็นหัวหน้าตอบว่า
" เป็นเพราะ มิลินทราชา เบียดเบียนพวกเราด้วยการไต่ถามปัญหา เธอจงไปทรมานมิลินทราชานั้นเถิด "
พระนาคเสนจึงเรียนว่า
" อย่าว่าแต่มิลินทราชาเลย บรรดาพระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ที่มีปัญหาเหมือนมิลินทราชานี้ จะซักถามปัญหาตื้นลึกประการใด กระผมจะแก้ให้สิ้นสงสัย
ให้มีพระทัยยินดีด้วยการแก้ปัญหา ขอพระเถรเจ้าทั้งหลายจงไปสู่สาคลนคร ด้วยความไม่สะดุ้งกลัวเถิด "
พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปถามปัญหาพระอายุบาล
ในคราวนั้น ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่งมีชื่อว่า พระอายุบาล ท่านเป็นผู้ชํานาญในนิกายทั้ง ๕ ( ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย
สังยุตตนิกาย อังคุตตนิกาย ขุททกนิกาย ) ได้อาศัยอยู่ที่อสงไขยบริเวณ
ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ทรงดําริว่า ราตรีนี้ดีมาก เราควรจะไปหาสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ใดดีหนอ ใครหนอจะสามารถสนทนากับเราได้
ใครหนอจะสามารถตัดความสงสัยของเราได้ ทรงดําริแล้วก็โปรดมีพระราชโองการ ตรัสถามพวกราชบริพารโยนกทั้ง ๕๐๐ ก็กราบทูลว่า
" มีพระเถระอยู่องค์หนึ่งชื่อว่า พระอายุบาล ท่านเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีการแสดงธรรมวิจิตร มีปฏิภาณดี
ชํานาญในนิกายทั้ง ๕ อยู่ที่อสงไขยบริเวณ ขอมหาราชเจ้าจงเสด็จไปถามปัญหาต่อพระอายุบาลเถิด พระเจ้าข้า"
"ถ้าอย่างนั้นขอจงไปแจ้งให้พระผู้เป็นเจ้าทราบก่อน"
ลําดับนั้น เนมิตติยอํามาตย์ จึงใช้ให้คนไปแจ้งแก่พระอายุบาลว่า พระเจ้ามิลินท์จะเสด็จมาหาพระอายุบาล ตอบว่า เชิญเสด็จมาเถิด
ต่อจากนั้นพระเจ้ามิลินท์ พร้อมกับหมู่โยนกเสนา ๕๐๐ ก็เสด็จขึ้นรถไปที่อสงไขยบริเวณ เมื่อไปถึงจึงตรัสสั่งให้หยุดรถทรงไว้ เสด็จไปด้วยพระบาทเปล่า
เข้าสู่สํานักพระอายุบาล นมัสการแล้ว กระทําปฏิสันถารโอภาปราศรัยกันไปมา จึงมีพระราชดํารัสตรัสถามว่า
" ข้าแต่พระอายุบาล บรรพชามีประโยชน์อย่างไร อะไรเป็นประโยชน์เยี่ยมของท่าน ? "
พระอายุบาล ตอบว่า
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภาร การบรรพชามีประโยชน์ เพื่อจะได้ประพฤติธรรม ประพฤติความสงบ อันจะทําให้เกิดประโยชน์สุขแก่เทพยดา และ
มนุษย์ทั้งหลาย"
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คฤหัสถ์ผู้ประพฤติธรรม ประพฤติความสงบ จะมีคุณวิเศษบ้างหรือไม่ ? "
จํานวนคฤหัสถ์ผู้ได้มรรคผล
"ขอถวายพระพร คฤหัสถ์ที่ประกอบไปด้วย ความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย ทรงศีล ๕ หรือศีล ๘ ไว้มั่นคง ให้ทานและภาวนาอุตส่าห์ฟังธรรม
ก็จัดว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์เป็นผลแก่ตนเอง
ดังตัวอย่าง เมื่อครั้งองค์สมเด็จพระทศพลยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้เสด็จไปยังเมืองพาราณสี โปรดประทานธรรมเทศนา
พระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ในป่าอิสิปตนมิคทายวัน
ครั้นจบลงแล้วพรหมทั้ง ๑๘ โกฏิ ได้สําเร็จมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา พรหมทั้งหลายล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น จะได้อุปสมบทบรรพชาหามิได้
ในคราวที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เวสสันดรชาดก ขทิรังคชาดก ราหุโลวาทสูตร และทรงแสดงธรรมที่ประตูเมืองสังกัสสนคร มีผู้สําเร็จมรรคผลประมาณ
๒๐ โกฏิ คนทั้งหลายนั้น กับเทพยดาและ พรหมทุกชั้น ล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น ไม่ใช่บรรพชิตเลย"
( โปรดติดตามตอนต่อไป วันที่ 11 เมษายน 51 )
Update 11 เมษายน 2551
กรรมของพระที่ถือธุดงค์
เมื่อพระอายุบาลแก้ไขดังนี้ พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า ข้าแต่ท่านอายุบาล ถ้าอย่างนั้นบรรพชาก็ไม่มีประโยชน์อะไร พวกสมณะทั้งหลาย
ที่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ที่ได้บรรพชารักษาธุดงค์ต่าง ๆ ทําให้ลําบากกายใจนั้น ล้วนเป็นด้วยผลแห่งบาปกรรม ในปางก่อนทั้งนั้น
นี่แน่ะ ท่านอายุบาล พวกพระที่ถือ เอกา ฉันจังหันหนเดียว แต่ชาติก่อนเป็นโจร เที่ยวปล้นชาวบ้าน ไปแย่งชิงอาหารเขา
ครั้นชาตินี้เล่า ผลกรรมนั้นดลจิตให้ฉันหนเดียว ดูบรรพชานี้ไม่มีผล ถึงจะรักษาศีล รักษาตบะ รักษาพรหมจรรย์ ก็ไม่มีผลอันใด
ประการหนึ่งเล่า พวกที่ถือธุดงค์ อัพโพกาส คืออยู่ในกลางแจ้งนั้น เมื่อชาติก่อนต้องได้เป็นพวกปล้นบ้านเผาเรือน
มาชาตินี้จึงไม่มีที่กินที่อยู่ ส่วนพวกถือ เนสัชชิกธุดงค์ คือถือไม่นอนเป็นกิจวัตร ได้แต่เดิน ยืน นั่ง เท่านั้น
พวกนั้นต้องเป็นโจรปล้นคนเดินทางไว้เมื่อชาติก่อน จับคนเดินทางได้แล้วก็ผูกมัดให้นั่งจับเจ่าอยู่เท่านั้น
โยมคิดดู ซึ่งธุดงค์นี้ไม่มีผล จะเป็นศีล จะเป็นตบะ จะเป็นพรหมจรรย์ก็หามิได้ ก็จะบรรพชารักษาธุดงค์ไปเพื่ออะไร ปฏิบัติในเพศคฤหัสถ์
ก็ได้มรรคผลเหมือนกัน เป็นคฤหัสถ์อยู่มิดีกว่าหรือ พระผู้เป็นเจ้า ?
เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้ พระอายุบาลก็ขี้คร้าน ที่จะตอบจึงนั่งนิ่งไป มิได้ถวายพระพรโต้ตอบ ต่อข้อปัญหานั้น พวกโยนก ๕๐๐ จึงกราบทูลขึ้นว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า พระภิกษุองค์นี้ เป็นนักปราชญ์ ได้สดับเล่าเรียนมาก แต่ไม่แกล้วกล้าที่จะวิสัชนา จึงมิได้โต้ตอบต่อคําถามของพระองค์
พระเจ้ามิลินท์ได้ฟังคําข้าราชบริพารทูลเฉลยก็หาสนใจไม่ ทอดพระเนตรดูแต่พระอายุบาล เห็นพระอายุบาลนิ่งอยู่ก็ทรงพระสรวล ( หัวเราะ )
พร้อมกับตบพระหัตถ์ตรัสเย้ยว่า
ชมพูทวีปว่างเปล่าเสียแล้ว ไม่มีสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะ คณาจารย์ใดๆ อาจสนทนากับเราได้ อาจแก้ความสงสัยของเราได้เลย
เห็นทีจะสิ้นสุดครั้งนี้แล้วหนอ...
ฝ่ายหมู่โยนกได้ฟัง ก็มิได้ตอบคําสนองพระราชโองการ ส่วนพระอายุบาลได้เห็นอาการของพระเจ้ามิลินท์ อย่างนั้น
จึงคิดว่าเราเป็นสมณะไม่สมควรทะเลาะโต้เถียงกับใคร ที่จริงปัญหานี้จะวิสัชนาให้ฟังอีกก็ได้ แต่เป็นเพราะ พระราชาถามปัญหาที่ไม่ควรถาม คิดอย่างนี้แล้ว
จึงเก็บอาสนะลุกไปเสีย
หลังจากพระเจ้ามิลินท์เสด็จเข้าสู่พระนครแล้ว จึงทรงดําริว่า จะต้องมีภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งอาจสนทนากับเราได้อย่างไม่สงสัย
จึงตรัสถามเนมิตติยอํามาตย์ขึ้นอีกว่า นี่แน่ะ..เนมิตติยะ ภิกษุผู้จะโต้ตอบกับเราได้ ยังมีอยู่อีกหรือไม่ ?
กิตติศัพท์ของ พระนาคเสน
ในคราวนั้น พระนาคเสนผู้ห้อมล้อมด้วยหมู่สมณะ ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏ มียศบริวาร ชํานาญในพระไตรปิฎก สําเร็จไตรเพท
มีความรู้แตกฉาน มีอาคมพร้อม สําเร็จปฏิสัมภิทาญาณ ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม ในศาสนาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา อันประกอบด้วยองค์ ๙ ถึงแล้วซึ่งบารมีญาณ
เป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งปวง เหมือนกับ พญาเขาสิเนรุราช องอาจดั่งราชสีห์ มีใจสงบระงับเป็นอันดี มีปรีชาญาณล้ำเลิศ ย่ำยีเสียซึ่งถ้อยคํา
อันเป็นปฏิปักษ์แก่พระพุทธศาสนา ได้อย่างเด็ดขาด
เป็นผู้ฉลาดในอุบายแนะนํา ชํานาญในอรรถธรรมทั้งปวง ไม่มีผู้ต่อสู้ ไม่มีผู้กั้นกางได้ ไม่มีผู้ล่วงเกินได้ ละเสียซึ่งสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งปวง
กระทําซึ่งแสงสว่างให้เกิด กําจัดเสียซึ่งความมืด
เป็นผู้มีถ้อยคําประเสริฐ แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ ล่วงลุถึงซึ่งบารมีญาณ มีปรีชาญาณเปรียบดัง ลูกคลื่นในท้องมหาสมุทร
เป็นผู้สูงสุดกว่าหมู่คณะทั้งหลาย ล่วงรู้ลัทธิของหมู่คณะที่ไม่ดีทั้งหลาย ย่ำยี่เสียซึ่งลัทธิเดียรถีย์ทั้งปวง
เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลมแกล้วกล้าสามารถ มากไปด้วยความสุขกายสบายใจ เป็นผู้ทําสงฆ์ให้งดงาม เป็นพระอรหันต์ผู้ล้ำเลิศ
เป็นที่สักการบูชาของพุทธบริษัททั้งสี่
เป็นผู้ที่จะแสดงบาลี อรรถกถา อันทําให้เกิดความเลื่อมใสแก่บัณฑิตทั้งหลาย ผู้มีความรู้ ผู้ประกาศคําสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรเจ้า
อันประกอบด้วยองค์ ๙ ผู้จะเชิดชูซึ่งแก้วอันประเสริฐในพระพุทธศาสนาให้ปรากฏ
เป็นผู้จะยกขึ้นซึ่งเครื่องบูชาพระธรรม ผู้จะตั้งขึ้นซึ่งยอดพระธรรม ผู้จะยกขึ้นซึ่งธงชัยคือพระธรรมผู้จะเป่าสังข์คือพระธรรม
ผู้จะตีกลองคือพระธรรมให้นฤนาท ผู้จะดีดกระจับปี่ สีซอ โทน รํามะนา ดนตรี อันได้แก่อริยสัจ ๔
เป็นผู้ที่จะบันลือเสียงดังพญาช้าง พญาอุสุภราช พญาราชสีห์ ผู้จะทำให้โลก เอิบอิ่มด้วยห่าฝนอันใหญ่ คือพระธรรมให้พิลึกกึกก้อง
เรืองรองดังสายฟ้าด้วยญาณปรีชา
พระนาคเสนไปถึง อสงไขยบริเวณ
เมื่อพระนาคเสนได้กราบลาพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิแล้ว ก็ได้จาริกไปตามคามนิคมชนบท เทศน์โปรดประชาชนทั้งหลายโดยลําดับ ก็บรรลุถึงซึ่งสาคลนคร
อันเป็นที่ประทับของพระเจ้ามิลินท์ ผู้เป็นปิ่นแห่งโยนก
พระผู้เป็นเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในอสงไขยบริเวณ อันเป็นที่อยู่แห่งพระอายุบาล ในกาลนั้น เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
พระนาคเสนเถระผู้เป็นพหูสูต มีการแสดงธรรมประเสริฐ มีสติปัญญาสุขุมคัมภีรภาพ แกล้วกล้าสามารถในที่ประชุมชน ฉลาดในเหตุผลทั้งปวง
มีปฏิภาณว่องไวหาผู้เปรียบมิได้ ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกอันประเสริฐ มีหมู่พระภิกษุสงฆ์ล้วนแต่ทรง พระไตรปิฎกห้อมล้อมเป็นบริวาร ได้ไปถึง อสงไขยบริเวณ
แล้วพักอยู่ในที่นั้น
พระนาคเสนเถระนั้น ห้อมล้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรม เที่ยงตรงดั่งตาชั่ง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด เหมือนกับพญาไกรสรราชสีห์ ในป่าใหญ่ฉะนั้น
พระนาคเสนนั้น เป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง มีความฉลาดรอบคอบ ในสิ่งที่ควรและไม่ควรทั้งปวง เป็นผู้ประกาศซึ่งอรรถธรรมอันล้ำเลิศ มีคุณธรรมปรากฏ
ไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น เป็นพหูสูตทรงพระไตรปิฎก ไม่มีผู้เสมอเหมือนดังนี้
พระเจ้ามิลินท์ ได้ยินชื่อ ทรงตกพระทัยกลัว
ในคราวนั้น เทวมันติยอํามาตย์ ก็ได้ฟังข่าวเล่าลือ ซึ่งเกียรติคุณของพระนาคเสนดังแสดงมา จึงกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า
ขอได้โปรดก่อนเถิดมหาราชเจ้า บัดนี้มีข่าวเล่าลือว่า มีพระภิกษุองค์หนึ่งชื่อว่า นาคเสน เป็นผู้แสดงธรรมอันวิเศษ มีสติปัญญาเฉียบแหลม
แกล้วกล้าสามารถในที่ทั้งปวง
เป็นผู้สดับเล่าเรียนมาก มีถ้อยคําไพเราะเสนาะโสต มีปฏิภาณดี แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ ถึงซึ่งบารมีญาณ ไม่มีเทพยดาอินทร์พรหม
ผู้ใดผู้หนึ่งจะสู้ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนุษย์ พระเจ้าข้า
เมื่อพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงสดับคําว่า พระนาคเสน เท่านี้ ก็ตกพระทัยกลัว มีพระโลมาลุกชันขึ้นทันที พระบาทท้าวเธอ
จึงตรัสถามเทวมันติยอํามาตย์ว่า เวลานี้พระนาคเสนอยู่ที่ไหน เราใคร่เห็น ขอให้พระนาคเสนทราบ ?
เทวมันติยอํามาตย์ จึงใช้ให้ทูตไปแจ้งแก่พระนาคเสนว่า พระเจ้ามิลินท์มีพระราชประสงค์จะพบเห็น เมื่อทูตไปแจ้งแก่พระเถระแล้ว พระเถระจึงตอบว่า
ถ้าอย่างนั้นขอจงเสด็จมาเถิด
พระ เจ้ามิลินท์ เสด็จไปหา พระนาคเสน
ลําดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ก็ห้อมล้อมด้วยข้าราชบริพารชาวโยนก ๕๐๐ เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง
พรั่งพร้อมด้วยพลนิกายเป็นอันมากเสด็จไปหาพระนาคเสนที่อสงไขยบริเวณ คราวนั้น พระนาคเสนกับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ ได้นั่งพักอยู่ที่โรงกลมกว้างใหญ่
พอพระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นแต่ไกล จึงตรัสถามขึ้นว่า
บริวารเป็นอันมากนั้นของใคร ?
เทวมันติยะทูลตอบว่า
บริวารเป็นอันมากนั้น เป็นบริวารของ พระนาคเสน พระเจ้าข้า
พอพระเจ้ามิลินท์ได้แลเห็น พระนาคเสนแต่ที่ไกลเท่านั้น ก็เกิดความสะดุ้งกลัว หวาดหวั่นในพระทัย มีพระโลมชาติชูชัน ( ขนลุก )
เสียแล้ว
คราวนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงสะดุ้งตกพระทัยยิ่งนักหนา อุปมาดังพญาช้าง ถูกห้อมล้อมด้วยดาบและขอ และเหมือนกับนาคถูกครุฑห้อมล้อมไว้
เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกที่ถูกงูเหลือมล้อมไว้ เหมือนกับหมี ถูกฝูงกระบือป่าห้อมล้อม เหมือนกับคนถูกพญานาคไล่ติดตาม
เหมือนกับหมู่เนื้อถูกเสือเหลืองไล่ติดตาม เหมือนกับงูมาพบหมองู เหมือนกับหนูมาพบพบแมว
เหมือนกับปีศาจมาพบหมอผี เหมือนกับพระจันทรเทพบุตรตกอยู่ในปากราหู เหมือนกับนกอยู่ในกรง เหมือนกับปลาอยู่ในลอบในไซ
เหมือนกับบุรุษที่ตกเข้าไปในป่าสัตว์ร้าย เหมือนกับยักษ์ทําผิดต่อท้าวเวสสุวัณ เหมือนกับเทพบุตรผู้จะสิ้นอายุ รู้ว่าตัวจะจุติ สุดที่จะกลัวตัวสั่นฉันใด
พระเจ้ามิลินท์ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสนแต่ไกล ให้รู้สึกหวาดกลัวอยู่ในพระทัยฉันนั้น
แต่พระบาทท้าวเธอทรงนึกว่า อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งดูถูกเราได้เลย จึงได้ทรงแข็งพระทัย ตรัสขึ้นว่า
นี่แน่ะ..เทวมันติยะ เธออย่าได้บอกพระนาคเสนให้แก่เราเลยว่าเป็นองค์ใด เราจะให้รู้จักพระนาคเสนเอง
เทวมันติยอํามาตย์จึงกราบทูลว่า ขอให้โปรดทรงทราบเองเถิดพระเจ้าข้า
ในคราวนั้น พระนาคเสนเถระได้นั่งอยู่ในท่ามกลางของพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ คือนั่งอยู่ข้างหน้าของพระภิกษุ ๔ หมื่นองค์ ที่มีพรรษาอ่อนกว่า
แต่นั่งอยู่ข้างหลังของพระภิกษุผู้แก่กว่าอีก ๔ หมื่นองค์
ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ก็ทอดพระเนตร ดูไปทั้งข้างหน้า ข้างหลัง ท่ามกลางของภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ก็ได้เห็นพระนาคเสนนั่งอยู่ ในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์
มีกิริยาองอาจดังราชสีห์ จึงทรงทราบว่าองค์นั้นแหละเป็นพระนาคเสน จึงตรัสถามขึ้นว่า
เทวมันติยะ องค์นั่งในท่ามกลางนั้นหรือ..เป็นพระนาคเสน ?
เทวมันติยะกราบทูลว่า
ถูกแล้วพระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบพระนาคเสนได้ดีแล้ว
พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงดีพระทัยว่า เรารู้จักพระนาคเสนด้วยตนเอง แต่พอพระบาทท้าวเธอ แลเห็นพระนาคเสนเท่านั้น ก็เกิดความกลัว ความหวาดหวั่น
มีพระโลมชาติชูชัน
เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวไว้ว่า
พระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสน ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณธรรม ผู้ได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอันดีแล้ว จึงตรัสขึ้นว่า เราได้พบเห็นสมณพราหมณ์ และ
บัณฑิตมาเป็นอันมาก ได้สนทนากับคนทั้งหลาย มาเป็นอันมากแล้ว ไม่เคยมีความสะดุ้งกลัวเหมือนในวันนี้เลย วันนี้ความปราชัยพ่ายแพ้
จักต้องมีแก่เราเป็นแน่ไม่สงสัย ชัยชนะจักมีแก่พระนาคเสนแน่เพราะจิตใจของเราไม่ตั้งอยู่เป็นปกติเหมือนแต่ก่อนเลยดังนี้
◄ll กลับสู่ด้านบน
จบเรื่องเบื้องต้น
************************
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 17/4/08 at 17:02 |
|
( Update 17 เม.ย. 51)
ตอนที่ ๔
...สําหรับในตอนนี้ จะเป็นตอนเริ่มเข้าเรื่อง การถามปัญหากัน ก่อนที่จะเริ่มปัญหาแรก
ขอนํา " พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้ามิลินท์ " ( เรียบเรียงโดย วศิน อินทสระ ) มาให้ทราบไว้ดังนี้
พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย
...พระพุทธศาสนา เจริญเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง สมัยพระเจ้ามิลินท์ หรือ พระเจ้าเมนันเดอร์ ซึ่งเป็นกษัตริย์เชื้อ สายกรีก
ที่มาปกครองอินเดียอยู่ระยะหนึ่ง ขอเล่าความย้อนต้นไปสักเล็กน้อยว่า
เมื่อ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ยกทัพเข้ารุกรานอินเดีย และเลิกทัพกลับไปนั้น แคว้นที่ทรงตีได้แล้ว
ก็โปรดให้แม่ทัพนายกองของพระองค์ปกครองดูแล ทิ้งกองทหารกรีกไว้บางส่วน ฝรั่งชาติกรีกเหล่านี้ได้ตั้งเป็นอาณาจักรอิสระขึ้น
เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคตแล้ว อาณาจักรที่มีกําลังมาก คือ อาณาจักรซีเรีย และ อาณาจักรบากเตรีย (
ปัจจุบันคือ เตอรกี และ อัฟกานิสถาน )
ครั้นถึง พ.ศ.๓๙๒ พระเจ้าเมนันเดอร์ หรือที่เรียกในคัมภีร์บาลีว่า พระเจ้ามิลินท์ ยกกองทัพตีเมืองต่าง ๆ
แผ่พระราชอํานาจลงมาถึงตอนเหนือ พระองค์เดิมทีมิได้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทรงขัดขวางการขยายตัวของพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป
เนื่องจากทรงแตกฉานวิชาไตรเพท ( ของพราหมณ์ ) และ ศาสนาปรัชญาต่าง ๆ รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย พระองค์จึงประกาศโต้วาที กับนักบวชในลัทธิศาสนาต่าง ๆ
ในเรื่องศาสนาและปรัชญาปรากฏ ว่าไม่มีใครสู้พระองค์ได้
พระเจ้ามิลินท์แห่งวงศ์โยนก ในเวลานั้น ชาวเมืองเรียกว่า " ชาวโยนก " แต่ชาว อินเดียเรียก " ยะวะนะ "
หมายถึงพวกไอโอเนีย ( แคว้นไอโอเนียอยู่ทางตะวันตกของเอเซียไมเนอร์ ) เมืองสาคลนคร ตั้งอยู่ ในแคว้นคันธาระ ( ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย
ปัจจุบันคือ แคชเมียร์ ) ดังนี้
มิลินทปัญหา วรรคที่ ๑
ปัญหาที่ ๑ ถามชื่อ
ครั้งนั้น พระเจ้ามิลินท์ได้เสด็จไปหาพระนาคเสนแล้ว ทรงปราศรัยพอให้เกิดความร่าเริงยินดี แล้วก็ประทับนั่ง ฝ่ายพระนาคเสนก็แสดงความชื่นชมยินดี
ทําให้เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ามิลินท์
ลําดับนั้น พระองค์จึงตรัสถามปัญหาข้อแรกต่อพระนาคเสนขึ้นว่า
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมประสงค์จะสนทนาด้วย "
พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่า
" เชิญสนทนาเถิด มหาบพิตร อาตมภาพใคร่จะฟัง "
" โยมสนทนาแล้ว ขอผู้เป็นเจ้าจงฟังเถิด "
" อาตมภาพฟังอยู่แล้ว มหาบพิตรเชิญเจรจาเถิด "
" พระผู้เป็นเจ้าได้ฟังว่าอย่างไร? "
" ก็มหาบพิตรเจรจาว่าอย่างไร? "
" โยมจะถามพระผู้เป็นเจ้า "
" จงถามเถิด มหาบพิตร "
" โยมถามแล้ว "
" อาตมภาพก็แก้แล้ว "
" พระผู้เป็นเจ้าแก้ว่าอย่างไร? "
" ก็มหาบพิตรถามว่าอย่างไร? "
เมื่อพระเถระตอบอย่างนี้แล้ว พวกโยนกเสนาทั้ง ๕๐๐ ก็เปล่งเสียงสาธุการถวายพระ นาคเสน แล้วกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า " ข้าแต่มหาราชเจ้า
คราวนี้ขอพระองค์จงตรัสถามปัญหาต่อไปเถิด พระเจ้าข้า "
เริ่มมีปัญหาเพราะชื่อ
ในกาลครั้งนั้น พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสถาม ปัญหาต่อพระนาคเสนยิ่งขึ้นไปว่า " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ธรรมดาผู้จะสนทนากัน เมื่อไม่รู้จักนามและโคตรของกัน
และกันเสียก่อน เรื่องสนทนาก็จะไม่มีขึ้น เรื่องที่พูดกันก็จักไม่มั่นคง เพราะฉะนั้น โยมจึงขอถามพระผู้เป็นเจ้าว่า พระผู้เป็นเจ้า ชื่ออะไร? "
พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร เพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งหลายเรียกอาตมภาพว่า นาคเสน ส่วน มารดาบิดาเรียกอาตมภาพว่า นาคเสนก็มี วีรเสนก็มี
สุรเสนก็มี สีหเสนก็มี ก็แต่ว่าชื่อที่เพื่อนพรหมจารี เรียกอาตมภาพว่า " นาคเสน " นี้ เพียงเป็นแต่ชื่อบัญญัติขึ้น เพื่อให้เข้าใจกันได้เท่านั้น
ไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตนผู้ใดจะอยู่ในชื่อนั้น "
ลําดับนั้น พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า " ขอให้ชาวโยนกทั้ง ๕๐๐ นี้ และพระภิกษุสงฆ์ ๘ หมื่นองค์นี้ จงฟังถ้อยคําของข้าพเจ้าเถิด
พระนาคเสนนี้กล่าวว่า เพื่อนพรหมจรรย์ เรียกอาตมภาพว่า " นาคเสน " ก็แต่ว่าไม่มี สัตว์บุคคลตัวตนอันใดอยู่ในคําว่า " นาคเสน " นั้น ดังนี้
ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขาอยู่แล้ว บุคคลเหล่าใดถวายบาตร จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และ วัตถุที่เก็บเภสัชไปแล้ว
บุญกุศลก็ต้องไม่มี แก่บุคคลเหล่านั้นน่ะซิ
ผู้ใดผู้หนึ่งคิดว่า จะฆ่าพระผู้เป็นเจ้า โทษปาณาติบาต ก็เป็นอันไม่มีน่ะซิ ถ้าบุคคล ตัวตนเราเขาไม่มีอยู่แล้ว ก็ใครเล่าจะถวายจีวร อาหาร ที่อยู่ ยา
และที่ใส่ยา แก่พระผู้เป็นเจ้า ใครเล่า จะบริโภคสิ่งเหล่านั้น ใครเล่า รักษาศีล ใครเล่า รู้ไปในพระไตรปิฎก ใครเล่า เจริญภาวนา ใครเล่า..กระทําให้แจ้งซึ่ง
มรรค ผล นิพพาน
ใครเล่า กระทําปาณาติบาต ใครเล่า กระทําอทินนาทาน ใครเล่า ประพฤติกาเมสุ มิจฉาจาร ใครเล่า กล่าวมุสาวาท ใครเล่า ดื่ม สุราเมรัย ใครเล่า
กระทําอนันตริยกรรมทั้ง ๕ เพราะฉะนั้น ถ้าสัตว์บุคคลตัวตนไม่มี แล้ว กุศลก็ต้องไม่มี อกุศลก็ต้องไม่มี ผู้ทําหรือผู้ให้ทําซึ่งกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องไม่มี
ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องไม่มี
ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดฆ่าพระผู้เป็นเจ้า โทษปาณาติบาต ก็ไม่มีแก่ผู้นั้น เมื่อถืออย่างนั้น ก็เป็นอันว่า อาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี
อุปัชฌาย์ของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี อุปสมบทของ พระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี
คําใดที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า พวกเพื่อนพรหมจรรย์ เรียกอาตมภาพว่า " นาคเสน " อะไรเป็นนาคเสนในคํานั้น เมื่อโยมถามพระ ผู้เป็นเจ้าอยู่อย่างนี้
พระผู้เป็นได้ยินเสียง ถามอยู่หรือไม่? "
ถามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร อาตมภาพได้ยินเสียง ถามอยู่ "
" ถ้าพระผู้เป็นเจ้าได้ยินเสียงถามอยู่ คําว่า " นาคเสน " ก็มีอยู่ในชื่อนั้นน่ะซิ "
" ไม่มี มหาบพิตร "
" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้นโยมขอ ถามต่อไปว่า ผมของพระผู้เป็นเจ้าหรือ...เป็น นาคเสน? "
" ไม่ใช่ มหาบพิตร "
" ขนหรือ...เป็นนาคเสน? "
" ไม่ใช่ "
" เล็บหรือ...เป็นนาคเสน? "
" ไม่ใช่ "
" ฟันหรือ...เป็นนาคเสน? "
" ไม่ใช่ "
" หนังหรือ...เป็นนาคเสน? "
" ไม่ใช่ "
" เนื้อหรือ...เป็นนาคเสน? "
" ไม่ใช่ "
" เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ
มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร สมองศีรษะ เหล่านี้อย่างใด อย่างหนึ่งหรือ...เป็นนาคเสน? "
" ไม่ใช่ มหาบพิตร "
" ถ้าอย่างนั้น รูป หรือเวทนา หรือสัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ..เป็น นาคเสน? "
" ไม่ใช่ มหาบพิตร "
" ถ้าอย่างนั้น จักขุธาตุ และ รูปธาตุ โสตธาตุ และ สัททธาตุ ฆานธาตุ และ คันธธาตุ ชิวหาธาตุ และ รสธาตุ กายธาตุ และ โผฏฐัพพธาตุ
มโนธาตุ เหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ..เป็น นาคเสน? "
" ไม่ใช่ มหาบพิตร "
" ถ้าอย่างนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหรือ...เป็นนาคเสน? "
" ไม่ใช่ มหาบพิตร "
" ถ้าอย่างนั้น สิ่งที่นอกจาก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหรือ..เป็นนาคเสน? "
" ไม่ใช่ มหาบพิตร "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อโยมถามพระผู้เป็นเจ้าอยู่ ก็ไม่ได้ความว่าอะไรเป็นนาคเสน เป็นอันว่า พระผู้เป็นเจ้าพูดเหลาะแหละ
พูดมุสาวาท "
พระนาคเสน กล่าวแก้ด้วยราชรถ
เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้แล้ว พระ นาคเสนองค์อรหันต์ ผู้สําเร็จปฏิสัมภิทาญาณ ผู้ได้อบรมเมตตามาแล้ว จึงนิ่งพิจารณา
ซึ่งวาระจิตของพระเจ้ามิลินท์อยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจึงกล่าวขึ้นว่า
" มหาบพิตรเป็นผู้มีความสุขมาแต่กําเนิด มหาบพิตรได้เสด็จออกจากพระนครในเวลา ร้อนเที่ยงวันอย่างนี้ มาหาอาตมภาพได้เสด็จ มาด้วยพระบาท
ก้อนกรวดเห็นจะถูกพระบาท ให้ทรงเจ็บปวด พระกายของพระองค์ เห็นจะทรงลําบาก พระหฤทัยของพระองค์ เห็นจะเร่าร้อน ความรู้สึกทางพระวรกายของพระองค์
เห็นจะประกอบกับทุกข์เป็นแน่ เพราะเหตุไร อาตมภาพจึงว่าอย่างนี้ เพราะเหตุว่า มหาบพิตรมีพระหฤทัย ดุร้าย ได้ตรัสพระวาจาดุร้าย มหาบพิตรคง
ได้เสวยทุกขเวทนาแรงกล้า อาตมาจึงขอถามว่า มหาบพิตรเสด็จมา ด้วยพระบาท หรือด้วย ราชพาหนะอย่างไร? "
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสตอบว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้มาด้วยเท้า โยมมาด้วยรถต่างหาก "
พระนาคเสนเถระ จึงกล่าวประกาศขึ้นว่า
" ขอพวกโยนกทั้ง ๕๐๐ กับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์นี้ จงฟังถ้อยคําของข้าพเจ้า คือ พระเจ้ามิลินท์นี้ได้ตรัสบอกว่า เสด็จมาด้วยรถ
ข้าพเจ้าจะขอถามพระเจ้ามิลินท์ต่อไป " กล่าวดังนี้แล้ว จึงถามว่า
" มหาบพิตรตรัสว่า เสด็จมาด้วยรถ จริงหรือ? "
พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า
" เออ...ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมว่ามาด้วย รถจริง "
พระเถระจึงซักถามต่อไปว่า
" ถ้ามหาบพิตรเสด็จมาด้วยรถจริงแล้ว ขอจงตรัสบอกอาตมภาพเถิดว่า งอนรถหรือ.. เป็นรถ? "
" ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า "
" ถ้าอย่างนั้น เพลารถหรือ...เป็นรถ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในเพลาหรือ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น ล้อรถหรือ...เป็นรถ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในล้อรถหรือ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น ไม้ค้ำรถหรือ...เป็นรถ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น กงรถหรือ...เป็นรถ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น เชือกหรือ...เป็นรถ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในเชือกหรือ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น คันปฏักหรือ...เป็นรถ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในคันปฏักหรือ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น แอกรถหรือ...เป็นรถ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในแอกหรือ? "
" ไม่ใช่ "
" ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่เล็งเห็นว่า สิ่งใดเป็นรถเลย เป็นอันว่ารถไม่มี เป็นอันว่า มหาบพิตรตรัสเหลาะแหละเหลวไหล
มหาบพิตรเป็นพระราชาผู้เลิศในชมพูทวีปนี้ เหตุไรมหาบพิตรจึงตรัสเหลาะแหละเหลวไหล อย่างนี้? "
เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้แล้ว พวก โยนกข้าราชบริพารทั้ง ๕๐๐ นั้น ก็พากัน เปล่งเสียงสาธุการขึ้นแก่พระนาคเสนเถระแล้ว กราบทูลพระเจ้ามิลินท์ขึ้นว่า
" ขอมหาราชเจ้าจงทรงแก้ไขไปเถิด พระเจ้าข้า "
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้พูด เหลาะแหละเหลวไหล การที่เรียกว่ารถนี้ เพราะอาศัยเครื่องประกอบรถทั้งปวง คือ งอนรถ เพลารถ ล้อรถ
ไม้ค้ำรถ กงรถ เชือกขับรถ เหล็กปฏัก ตลอดถึงแอกรถ มีอยู่พร้อม จึงเรียกว่ารถได้ "
พระเถระจึงกล่าวว่า
" ถูกแล้ว มหาบพิตร ข้อที่อาตมภาพได้ชื่อว่า " นาคเสน " ก็เพราะอาศัยเครื่องประ กอบด้วยอวัยวะทุกอย่าง คือ อาการ ๓๒ มี ผม
ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น อันจําแนกแจกออกไปเป็นขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งปวง
ข้อนี้ถูกตามถ้อยคําของ นางปฏาจารา ภิกษุณี ผู้เป็นพระอรหันต์ กล่าวขึ้นในที่เฉพาะ พระพักตร์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
" อันที่เรียกว่ารถ เพราะประกอบด้วย เครื่องรถทั้งปวงฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ ก็สมมุติเรียกกันว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาฉันนั้น "
ดังนี้ ขอถวายพระพร "
พระเจ้ามิลินท์ทรงฟังแก้ปัญหาจบลง น้ำพระทัยของพระบาทท้าวเธอปรีดาปราโมทย์ ออกพระโอษฐ์ตรัสซ้องสาธุการว่า
" สาธุ..พระผู้เป็นเจ้าช่างแก้ปัญหาได้อย่าง น่าอัศจรรย์ กล่าวปัญหาเปรียบเทียบอุปมา ด้วยปฏิภาณอันวิจิตรยิ่ง ให้คนทั้งหลายคิด เห็นกระจ่างแจ้ง
ถูกต้องดีแท้ ถ้าพระพุทธองค์ ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็จะต้องทรงสาธุการเป็นแน่ "
ปัญหาที่ ๒ ถามพรรษา
ครั้งนั้นพระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามอรรถปัญหาสืบไปว่า " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ามี พรรษาเท่าไร? "
พระนาคเสนตอบว่า " อาตมภาพมีพรรษาได้ ๗ พรรษาแล้ว "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คําว่า " ๗ พรรษา " นั้น นับตัวพระผู้เป็นเจ้าด้วยหรือ...หรือว่านับแต่ปีเท่านั้น? "
อุปมาเงาในแก้วน้ำ
ก็ในคราวนั้น เงาของพระเจ้ามิลินท์ผู้ทรง ประดับด้วยเครื่องประดับ ทั้งปวงนั้น ได้ปรากฏ ลงไปที่พระเต้าแก้ว อันเต็มไปด้วยน้ำ พระ นาคเสนได้เห็นแล้ว
จึงถามขึ้นว่า
" มหาบพิตรเป็นพระราชา หรือว่าเงาที่ ปรากฏอยู่ในพระเต้าแก้วนี้ เป็นพระราชา? "
" ข้าแต่พระนาคเสน เงาไม่ใช่พระราชา โยมต่างหากเป็นพระราชา แต่เงาก็มีอยู่เพราะอาศัยโยม "
" เงาที่มีขึ้นเพราะอาศัยพระองค์ฉันใด การนับพรรษาว่า ๗ เพราะอาศัยอาตมาก็มีขึ้นฉันนั้น ขอถวายพระพร "
" น่าอัศจรรย์ พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้า ได้แก้ปัญหาปฏิภาณอันวิจิตรยิ่งถูกต้องดีแล้ว "
ปัญหาที่ ๓ ถามลองปัญญา
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามขึ้นอีกว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน บรรพชามีประโยชน์อย่างไร อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุด ในการบรรพชาของพระผู้เป็นเจ้า? "
พระเถระตอบว่า
" บรรพชาของอาตมภาพนั้น เป็นประโยชน์เพื่อการดับทุกข์ให้สิ้นไป แล้วมิให้ทุกข์อื่นบังเกิด ขึ้นได้ อีกประการหนึ่ง
บรรพชาย่อมให้สําเร็จประโยชน์ แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย "
สนทนาอย่างบัณฑิตหรืออย่างโจร
พระเจ้ากรุงสาคลนคร ได้ทรงฟังพระนาคเสนเฉลยปัญหา ได้กระจ่างแจ้ง ก็มิได้มีทางที่จะซักไซร้ จึงหันเหถามปัญหาอื่นอีกว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าจะ สนทนากับโยมต่อไปได้หรือไม่? "
พระนาคเสนตอบว่า
" ถ้ามหาบพิตรจะสนทนาตามเยี่ยงอย่าง บัณฑิต อาตมภาพก็จะสนทนากับมหาบพิตรได้ ถ้ามหาบพิตรจะสนทนาตามเยี่ยงอย่าง ของพระราชา
อาตมาก็จะสนทนาด้วยไม่ได้ "
" บัณฑิตทั้งหลายสนทนากันอย่างไร? "
" อ๋อ...ธรรมดาว่าบัณฑิตที่สนทนากัน ย่อมเจรจาข่มขี่กันได้ แก้ตัวได้ รับได้ ปฏิเสธ ได้ ผูกได้ แก้ได้ บัณฑิตทั้งหลายไม่โกรธ
บัณฑิตทั้งหลายสนทนากันอย่างนี้แหละ มหาบพิตร "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระราชาทั้งหลาย สนทนากันอย่างไร?"
" ขอถวายพระพร พระราชาทั้งหลาย ทรงรับสั่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปแล้ว ผู้ใดไม่ทําตาม ก็ทรงรับสั่งให้ลงโทษผู้นั้นทันที พระ
ราชาทั้งหลายสนทนากันอย่างนี้แหละ มหาบพิตร "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมจะสนทนาตาม เยี่ยงอย่างบัณฑิต จักไม่สนทนาตามเยี่ยง อย่างของพระราชา ขอพระผู้เป็นเจ้า จงเบา
ใจเถิด พระผู้เป็นเจ้าสนทนากับภิกษุณี หรือ สามเณร อุบาสก คนรักษาอารามฉันใด ขอ จงสนทนากับโยมฉันนั้น อย่ากลัวเลย "
" ดีแล้ว มหาบพิตร "
พระเถระแสดงความยินดีอย่างนี้แล้ว พระราชาจึงตรัสต่อไปว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน โยมจักถามพระ ผู้เป็นเจ้า "
" เชิญถามเถิด มหาบพิตร "
" โยมถามแล้ว พระผู้เป็นเจ้า "
" อาตมภาพแก้แล้ว มหาบพิตร "
" พระผู้เป็นเจ้าแก้ว่าอย่างไร? "
" ก็มหาบพิตรตรัสถามว่าอย่างไร? "
( พระเจ้ามิลินท์ไต่ถามปัญหาเช่นนี้ หวังจะลอง ปัญญาพระนาคเสนว่า จะเขลา หรือ ฉลาด ยั่งยืนอยู่ไม่ครั่นคร้ามหรือประการใด เท่านั้น )
ในวันแรกนี้ พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถาม ปัญหา ๓ ข้อ คือ ถามชื่อ ๑ ถามพรรษา ๑ ถามเพื่อทดลองสติปัญญาของพระเถระ ๑
นิมนต์พระนาคเสนไปในวัง
ลําดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงดําริว่า พระภิกษุองค์นี้เป็นบัณฑิต สามารถสนทนา กับเราได้ สิ่งที่เราควรถาม มีอยู่มาก สิ่งที่เรายังไม่ได้ถาม
ก็มีอยู่เป็นอันมาก แต่เวลา นี้ดวงสุริยะกําลังจะสิ้นแสงแล้ว พรุ่งนี้เถิด เราจึงจะสนทนากันในวัง
ครั้นทรงดําริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่ง เทวมันติยอํามาตย์ว่า " นี่แน่ะ เทวมันติยะ จงอาราธนาพระผู้ เป็นเจ้าว่า พรุ่งนี้จักมีการสนทนากันในวัง "
ตรัสสั่งดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ ขึ้นทรงม้าพระที่นั่ง แล้วทรงพึมพํา ไปว่า " นาคเสน...นาคเสน... " ดังนี้
ฝ่ายเทวมันติยอํามาตย์ก็อาราธนา พระนาคเสนว่า " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระราชาตรัสสั่ง ว่า พรุ่งนี้จักมีการสนทนากันในพระราชวัง "
พระเถระก็แสดงความยินดีตอบว่า " ดีแล้ว "
พอล่วงราตรีวันนั้น เนมิตติยอํามาตย์ อันตกายอํามาตย์ มังกุรอํามาตย์ สัพพทินน อำมาตย์ ก็พร้อมกันเข้าทูลถามพระเจ้ามิลินท์ว่า " ข้าแต่มหาราชเจ้า
จะโปรดให้พระนาคเสนเข้ามาได้หรือยัง พระเจ้าข้า? "
พระราชาตรัสตอบว่า " ให้เข้ามาได้แล้ว "
" จะโปรดให้เข้ามากับพระภิกษุสักเท่าไร พระเจ้าข้า? "
" ต้องการมากับภิกษุเท่าใด ก็จงมากับ ภิกษุเท่านั้น "
สัพพทินนอํามาตย์ได้กราบทูลขึ้น เป็นครั้งที่ ๒ ว่า " ข้าแต่มหาราชเจ้า จะโปรดให้พระนาคเสน มากับพระภิกษุสัก ๑๐ รูป จะได้หรือไม่? "
พระองค์ตรัสตอบว่า " พระนาคเสนต้องการจะมากับพระภิกษุ เท่าใด ก็จงมากับพระภิกษุเท่านั้นเถิด "
จึงทูลถามขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๓ ว่า
" จะโปรดให้พระนาคเสนมากับพระภิกษุ สัก ๑๐ รูป ได้หรือไม่? "
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า
" เราพูดอย่างไม่ให้สงสัยแล้วว่า พระ นาคเสนต้องการจะมากับพระภิกษุเท่าใด จงมากับพระภิกษุเท่านั้น เราได้สั่งเป็นคํา ขาดลงไปแล้ว
เราไม่มีอาหารพอจะถวาย พระภิกษุทั้งหลายหรือ? "
เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว สัพพทินนอํามาตย์ ก็เก้อ ลําดับนั้น อํามาตย์ทั้ง ๔ จึงพากัน ออกไปหาพระนาคเสน กราบเรียนให้ทราบว่า
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้ามิลินท์ตรัส สั่งว่า พระผู้เป็นเจ้าต้องการจะเข้าไปในพระ ราชวังกับพระภิกษุเท่าใด ก็ขอให้เข้าไปได้
เท่านั้นไม่มีกําหนด "
ปัญหาที่ ๔ ปัญหาของอันตกายอํามาตย์
เช้าวันหนึ่ง พระนาคเสนก็นุ่งสบงทรง จีวรมือสะพายบาตร แล้วเข้าไปสู่สาคลนคร กับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ เวลาเดินมาตาม ทางนั้น อันตกายอํามาตย์ถามขึ้นว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน ท่านได้บอกไว้ว่า เราชื่อ " นาคเสน " ดังนี้ แต่กล่าวว่าไม่มีสิ่งใด เป็นนาคเสน ข้อนี้ข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่? "
พระเถระจึงถามว่า " เธอเข้าใจว่า มีอะไรเป็นนาคเสน อยู่ ในคําว่า " นาคเสน " อย่างนั้นหรือ? "
" ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ลมหายใจอันเข้าไป และออกมา นี้แหละ..เป็นนาคเสน "
" ถ้าลมนั้นออกไปแล้วไม่กลับเข้ามา ผู้นั้น จะเป็นอยู่ได้หรือ? "
" เป็นอยู่ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "
อุปมาพวกเป่าสังข์
" ถ้าอย่างนั้น เราขอถามว่า ธรรมดาพวก เป่าสังข์ ย่อมพากันเป่าสังข์ ลมของพวกเขา กลับเข้าไปอีกหรือไม่? "
" ไม่กลับ พระผู้เป็นเจ้า "
" ก็ถ้าอย่างนั้น เพราะเหตุไรพวกนั้นจึง ไม่ตาย พวกช่างทองก็พากันเป่ากล้อง ประสานทอง ลมของเขากลับเข้าไปอีกหรือ ไม่? "
" ไม่กลับเข้าไปอีก พระผู้เป็นเจ้า "
" พวกเป่าปี่ก็พากันเป่าปี่ ลมของพวกเขา กลับเข้าไปอีกหรือไม่? "
" ไม่กลับ พระผู้เป็นเจ้า "
" ถ้าอย่างนั้น เหตุไรพวกนั้นจึงไม่ตาย? "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าไม่อาจ สนทนากับท่านได้แล้ว ขอท่านจงไขข้อความ นี้ให้ข้าพเจ้าเข้าใจด้วยเถิด "
พระเถระจึงแก้ไขว่า
" อันลมหายใจออกหายใจเข้านั้น ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่มีชีวิต (คือคนและสัตว์) แต่เป็น
กายสังขาร (คือเป็นเครื่องช่วยให้ชีวิตทรงอยู่) ต่างหาก "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า กายสังขารตั้งอยู่ในอะไร? "
" กายสังขารตั้งอยู่ใน " ขันธ์ " (คือร่างกาย)
ครั้นได้ฟังดังนั้น ก็มีจิตเลื่อมใสศรัทธาใน พระพุทธศาสนา อันตกายอํามาตย์จึงได้ ประกาศตนเป็นอุบาสก ขอนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
ดังนี้
ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องบรรพชา
ครั้งนั้น พระนาคเสนเถระ ก็ได้เข้าไป สู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้ามิลินท์ ขึ้นสู่ ปราสาทแล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาจัดไว้
พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงเลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์ด้วย พระองค์เอง เสร็จแล้วจึงถวายผ้าไตรจีวร
ครั้นพระนาคเสนครองไตรจีวรแล้ว พระ เจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า
" ขอให้พระผู้เป็นเจ้านาคเสน จงนั่ง อยู่ที่นี้กับพระภิกษุ ๑๐ รูป พระภิกษุผู้เฒ่า ผู้แก่นอกนั้น ขอนิมนต์กลับไปก่อน "
เมื่อพระนาคเสนฉันภัตตาหารเช้าเสร็จ แล้ว พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน เราจะสนทนา กันด้วยสิ่งใดดี? "
" ขอถวายพระพร เราต้องการด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขอจงสนทนาด้วยสิ่งที่เป็น ประโยชน์เถิด "
" ข้าแต่พระนาคเสน บรรพชามีประโยชน์ อย่างไร อะไรเป็นประโยชน์สูงสุดของพระ ผู้เป็นเจ้า? "
" ขอถวายพระพร บรรพชานี้เพื่อจะให้พ้น จากความทุกข์ คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มี การเวียนว่ายตายเกิดอีก การเข้าสู่พระนิพพาน
เป็นประโยชน์อย่างสูงสุดของอาตมา "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุคคลทั้งหลาย บรรพชา เพื่อทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพานทั้งนั้น หรือ? "
เหตุของผู้บวช
" ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราช สมภาร คนทั้งหลายไม่ใช่บวชเพื่อพระ นิพพานด้วยกันทั้งสิ้น คือบางพวกก็บวช หนีราชภัย ( พระราชาเบียดเบียนใช้สอย )
บางพวกก็บวชหนีโจรภัย บางพวกก็บวชเพื่อ คล้อยตามพระราชา บางพวกก็บวชเพื่อหนี หนี้สิน บางพวกก็บวชเพื่อยศศักดิ์ บาง พวกก็บวชเพื่อเลี้ยงชีวิต
บางพวกก็บวชด้วย ความกลัวภัย
บุคคลเหล่าใดบวชโดยชอบ บุคคล เหล่านั้นชื่อว่า บวชเพื่อพระนิพพาน ขอ ถวายพระพร "
พระเจ้ามิลินท์ทรงซักถามต่อไปว่า
" ก็พระผู้เป็นเจ้าเล่า บวชเพื่อพระนิพพาน หรือ? "
พระเถระตอบว่า
" อาตมภาพบวชแต่ยังเป็นเด็ก ยังไม่รู้ เรื่องว่าบวชเพื่อพระนิพพานนี้ ก็แต่ว่าอาตมาคิดว่า
พระสมณะที่เป็นศากบุตรพุทธชิโนรสเหล่านี้เป็นบัณฑิต จักต้องให้อาตมภาพศึกษา อาตมภาพได้รับการศึกษาแล้ว จึงรู้เห็นว่าบวช เพื่อพระนิพพานนี้ "
" พระผู้เป็นเจ้า แก้ถูกต้องดีแล้ว "
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป
*******************************
Update 27 เม.ย. 51
ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องปฏิสนธิ ( เกิด )
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า " ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ที่ตายไปแล้ว จะไม่กลับมาเกิดอีกมีหรือไม่ ? "
พระนาคเสนตอบว่า " คนบางจําพวกก็กลับมาเกิดอีก บาง จําพวกก็ไม่กลับมาเกิดอีก "
" ใครกลับมาเกิดอีก ใครไม่กลับมาเกิด อีก ?"
"ผู้มีกิเลส ยังกลับมาเกิดอีก ส่วนผู้ไม่ มีกิเลส ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก"
" ก็พระผู้เป็นเจ้าเล่า จะกลับมาเกิดอีก หรือไม่ ? "
" ถ้าอาตมภาพยังมีอุปาทาน คือการยึด ถืออยู่ ก็จักกลับมาเกิด ถ้าอาตมภาพไม่มี การยึดถือแล้ว ก็จักไม่กลับมาเกิดอีก
"
" ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า "
ปัญหาที่ ๗ ถามเรื่องมนสิการ ( การกําหนดจิต )
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า " ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดไม่เกิดอีก ผู้นั้นย่อมไม่เกิดอีกด้วย โยนิโสมนสิการ (
คือการกําหนดจิตด้วยอุบายที่ชอบธรรม ) ไม่ใช่หรือ ? "
พระเถระตอบว่า " ขอถวายพระพร บุคคลไม่เกิดอีกด้วย โยนิโสมนสิการ คือด้วย ปัญญา และด้วย
กุศลธรรม
อื่น ๆ "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยนิโสมนสิการ กับ ปัญญา เป็นอันเดียวกันหรืออย่างไร ? "
" ไม่ใช่อย่างเดียวกัน คือ โยนิโสมนสิการ ก็อย่างหนึ่ง ปัญญา ก็อย่างหนึ่ง แพะ แกะ
สัตว์เลี้ยง กระบือ อูฐ โค ลา เหล่าใดมี มนสิการ แต่ปัญญาย่อมไม่มีแก่สัตว์เหล่านั้น ขอถวายพระพร"
"ชอบแล้ว พระนาคเสน"
ปัญหาที่ ๘ ถามลักษณะมนสิการ
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามต่อไปว่า " ข้าแต่พระนาคเสน มนสิการ มีลักษณะอย่างไร ปัญญา
มีลักษณะอย่างไร ? "
พระนาคเสนตอบว่า " มหาราชะ มนสิการ มีความ อุตสาหะ เป็นลักษณะ และมีการ
ถือไว้ เป็นลักษณะ ส่วน ปัญญา มีการ ตัด เป็นลักษณะ "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มนสิการ มีการ ถือไว้เป็นลักษณะอย่างไร ปัญญามีการตัด
เป็นลักษณะอย่างไร ขอจงอุปมาให้แจ้งด้วย ? "
อุปมาคนเกี่ยวข้าว
" มหาบพิตรทรงรู้จักวิธีเกี่ยวข้าวบ้างไหม ? "
" อ๋อ...รู้จัก พระผู้เป็นเจ้า "
" วิธีเกี่ยวข้าวนั้นคืออย่างไร ? "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คือคนจับกอข้าวด้วยมือข้างซ้าย แล้วเอาเคียวตัดให้ขาดด้วย มือข้างขวา "
" มหาราชะ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด คือ พระโยคาวจรถือไว้ซึ่ง มนสิการ คือกิเลสอัน มีในใจของตนแล้ว ก็ตัดด้วย
ปัญญา ฉันนั้น มนสิการ มีลักษณะถือไว้ ปัญญา มีลักษณะตัด อย่างนี้แหละ ขอถวายพระพร "
"ถูกดีแล้ว พระนาคเสน"
อธิบาย
คําว่า มนสิการ มีลักษณะ ถือไว้ หมายถึงการกําหนดจิตพิจารณา ขันธ์ ๕ คือร่างกายว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ส่วน
ปัญญา มีลักษณะ ตัด หมาย ถึงยอมรับนับถือกฎธรรมดาว่า ร่างกายมี สภาพเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ไม่ยึดถือว่า "มันเป็นเราเป็นของเรา" ดังนี้
ปัญหาที่ ๙ ถามลักษณะศีล
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้ กล่าวไว้ในข้อก่อน ( ปัญหาที่ ๗ ) ว่า บุคคล
ไม่เกิดอีกด้วยได้กระทำ กุศลธรรมเหล่าอื่น ไว้ โยมยังไม่เข้าใจ จึงขอถามว่า ธรรมเหล่า ไหน...เป็นกุศลธรรมเหล่านั้น ? "
พระเถระตอบว่า " มหาราชะ ศีล ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เหล่านี้แหละ เป็นกุศลธรรมเหล่านั้น "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ศีล มีลักษณะ อย่างไร ? "
" มหาราชะ ศีล มีการ เป็นที่ตั้ง เป็น ลักษณะ คือศีลเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งปวง
อันได้แก่ อินทรีย์ พละ
โพชฌงค์ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ กุศลธรรมทั้งปวงของผู้ตั้งอยู่ในศีลแล้วไม่เสื่อม "
" ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดอุปมา "
อุปมา ๕ อย่าง
" มหาราชะ อันต้นไม้ใบหญ้าทั้งสิ้น ได้ อาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดินแล้ว จึง เจริญงอกงามขึ้นฉันใด พระโยคาวจรได้ อาศัยศีล
ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงทําให้เกิด อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ขึ้นได้ฉันนั้น "
" โปรดอุปมาให้ยิ่งขึ้นไป "
" มหาราชะ การงานทั้งสิ้นที่ทําบนบก ต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงทําได้ฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล
จึง ทําให้เกิดอินทรีย์ ๕ ขึ้นได้ฉันนั้น "
" โปรดอุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก "
" มหาราชะ บุรุษที่เป็นนักกระโดดโลดเต้น ประสงค์จะแสดงศิลปะ ก็ให้คนถากพื้นดิน ให้ปราศจากก้อนหินก้อนกรวด ทําให้สม่ำเสมอดีแล้ว
จึงแสดงศิลปะบนพื้นดิน นั้นได้ฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีลตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงทําให้เกิดอินทรีย์ ๕ ขึ้นได้ฉันนั้น "
" นิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นกว่านี้ "
" มหาราชะ นายช่างประสงค์จะสร้างเมือง ให้ปราบพื้นที่จนหมดเสี้ยนหนามหลักตอ ทําพื้นที่ให้สม่ำสมอดีแล้ว จึงกะถนนต่าง ๆ มีถนน ๔
แพร่ง ๓ แพร่ง เป็นต้น ไว้ภายในกําแพง แล้วจึงสร้างเมืองลงฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงทําให้เกิดอินทรีย์ ๕ ขึ้นได้ฉันนั้น
"
" ขอจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นกว่านี้อีก "
" มหาราชะ พลรบผู้เข้าสู่สงคราม ตั้งมั่น อยู่ในพื้นที่อันเสมอดี กระทําพื้นที่ให้เสมอดีแล้ว จึงกระทําสงคราม
ก็จักได้ชัยชนะใหญ่ ในไม่ช้าฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีล ตั้ง อยู่ในศีลแล้ว จึงทําให้เกิดอินทรีย์ ๕ ให้เกิดได้ฉันนั้น " ข้อนี้
สมกับที่สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาตรัสไว้ว่า
" ภิกษุผู้มีความเพียรรู้จักรักษาตัว มีปัญญาตั้งอยู่ในศีลแล้ว ทําจิตและปัญญาให้ เกิดขึ้น ย่อมสะสางซึ่งความรุงรังอันนี้ได้
ศีลนี้เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เหมือนกับพื้นธรณี อันเป็นที่อาศัยแห่งสัตว์ทั้งหลาย ศีลนี้เป็นรากเหง้าในการทํากุศลให้เจริญ ขึ้น
ศีลนี้เป็นหัวหน้าในศาสนาขององค์ สมเด็จพระชินสีห์ทั้งปวง" กองศีลอันดี ได้แก่ พระปาฏิโมกข์ ขอถวายพระพร "
" ชอบแล้ว พระนาคเสน "
ตอนที่ ๕
ปัญหาที่ ๑๐ ถามลักษณะศรัทธา
" ข้าแต่พระนาคเสน ศรัทธา มีลักษณะ อย่างไร ? "
" มหาราชะ ศรัทธามีความผ่องใส เป็น ลักษณะ และ มีการแล่นไป เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร
"
ศรัทธามีความผ่องใส
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่ว่าศรัทธามีความผ่องใส เป็นลักษณะนั้น เป็นประการใด ? "
" มหาราชะ ศรัทธา เมื่อเกิดขึ้นก็ข่ม นิวรณ์ ไว้ ทําจิตให้ปราศจากนิวรณ์ ทําจิตให้ผ่องใส
ไม่ขุ่นมัว อย่างนี้แหละ เรียกว่า มีความผ่องใส เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร "
" ขอนิมนต์อุปมาด้วย พระผู้เป็นเจ้า "
อุปมาพระเจ้าจักรพรรดิ
" มหาราชะ พระเจ้าจักรพรรดิเสด็จพระราชดําเนินทางไกล พร้อมด้วยจตุรงคเสนา ต้องข้ามแม่น้ำน้อยไป น้ำในแม่น้ำน้อยนั้น ย่อมขุ่นไปด้วยช้าง ม้า รถ
พลเดินเท้า เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จข้ามไปแล้ว ได้ตรัสสั่งพวกอํามาตย์ว่า
" จงนําน้ำดื่มมา เราจะดื่มน้ำ " แก้วมณีสําหรับทําน้ำให้ใส ของ พระเจ้าจักรพรรดินั้นมีอยู่
พวกอํามาตย์รับพระราชโองการแล้ว ก็นําแก้วมณีนั้น ไปกดลงในน้ำ พอวางแก้วมณี นั้นลงไปในน้ำ สาหร่าย จอก แหนทั้งหลาย ก็หายไป โคลนตมก็จมลงไป
น้ำก็ใสไม่ขุ่นมัว พวกอํามาตย์ก็ตักน้ำนั้นไปถวายพระเจ้า
จักรพรรดิกราบทูลว่า " เชิญเสวยเถิด พระเจ้าข้า "
น้ำที่ไม่ขุ่นมัวฉันใด ก็ควรเห็นจิตฉันนั้น พวกอํามาตย์ฉันใด ก็ควรเห็นพระโยคาวจร ฉันนั้น
สาหร่าย จอก แหน โคลนตมนั้นฉันใด ก็ควรเห็นกิเลสฉันนั้น แก้วมณีอันทําน้ำให้ใส ฉันใด ก็ควรเห็นศรัทธาฉันนั้น
ฉะนั้น พอวางแก้วมณีอันทําน้ำให้ใส ลงไปในน้ำ สาหร่ายจอกแหนก็หายไป โคลนตม ก็จมลงไป น้ำก็ใสไม่ขุ่นมัวฉันใด เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นก็ข่มนิวรณ์ไว้ ทําให้
จิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัวจาก ความพอใจในรูป
สวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ การไม่ชอบใจ ฟุ้งซ่าน ง่วง และสงสัยฉันนั้น อย่างนี้แหละเรียกว่า ศรัทธา มีความผ่องใส
เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร "
ศรัทธามีการแล่นไป
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อว่า ศรัทธามีการแล่นไป เป็นลักษณะนั้น คืออย่างไร ? "
" ขอถวายพระพร พระโยคาวจรเลื่อมใส ในปฏิปทาของพระอริยเจ้าแล้ว จิตของพระ โยคาวจรเหล่านั้นก็แล่นไปในโสดาปัตติผล สกิทาคามีผล
อนาคามีผล อรหัตผล เป็น ลําดับไป แล้วพระโยคาวจรนั้นก็กระทําความ เพียรเพื่อให้ถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อให้บรรลุ ธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
เพื่อกระทําให้แจ้งซึ่งธรรม ที่ยังไม่ได้กระทําให้แจ้ง อย่างนี้แหละ มหาบพิตร เรียกว่า ศรัทธามีการแล่นไป เป็นลักษณะ"
" นิมนต์อุปมาให้แจ้งด้วย "
อุปมาบุรุษผู้ข้ามแม่น้ำ
" มหาราชะ เมฆใหญ่ตกลงบนภูเขาแล้ว ก็มีน้ำไหลลงไปสู่ที่ต่ำ ทําซอกเขาระแหง ห้วยให้เต็มแล้ว ก็ล้นไหลไปสู่แม่น้ำเซาะ ฝั่งทั้งสองไป
เมื่อฝูงคนมาถึงไม่รู้ที่ตื้นที่ลึก แห่งแม่น้ำนั้นก็กลัว จึงยืนอยู่ริมฝั่งอันกว้าง
ลําดับนั้น ก็มีบุรุษคนหนึ่งมาถึง เขาเป็นผู้มีกําลังเรี่ยวแรงมาก ได้เหน็บชายผ้านุ่งให้แน่น แล้วกระโดดลงไปในน้ำว่ายข้ามน้ำไป
มหาชนได้เห็นบุรุษนั้นข้ามน้ำไปได้ ก็พากันว่ายข้ามตามฉันใด
พระโยคาวจรได้เห็นปฏิปทาของพระ อริยะเหล่าอื่นแล้ว ก็มีจิตแล่นไปในโสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตผล แล้วก็
กระทําความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ไม่ยังถึง เพื่อ บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทําให้แจ้งซึ่ง ธรรมที่ยังไม่ได้ทําให้แจ้งฉันนั้น อย่างนี้แหละ เรียกว่า
ศรัทธามีการแล่นไป เป็นลักษณะ
ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระชินสีห์ตรัสไว้ว่า " บุคคลย่อมข้ามห้วงน้ำได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามมหาสมุทรได้ด้วยความไม่ประมาท
ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ย่อมบริสุทธิ์ ได้ด้วยปัญญา " ดังนี้ ขอถวายพระพร "
" ชอบแล้ว พระนาคเสน "
อธิบาย
บุคคลมีศรัทธาต่อสิ่งใด เมื่อระลึกถึงสิ่งนั้น หรือบุคคลนั้น จิตใจย่อมผ่องใส และ จิตใจของเขาย่อมแล่นไปยังสิ่งนั้น หรือ บุคคลนั้นเสมอ ๆ
ผู้ศรัทธาในพระนิพพาน หรือผู้ถึง นิพพานแล้ว จิตย่อมแล่นไปในนิพพานเนือง ๆ มีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่เสมอ ย่อมทําความ เพียรเพื่อบรรลุพระนิพพานนั้น
ปัญหาที่ ๑๑ ถามลักษณะวิริยะ
" ข้าแต่พระนาคเสน วิริยะ คือความเพียร มีลักษณะอย่างไร ? "
" มหาราชะ ความเพียร มีการ ค้ำจุนไว้ เป็นลักษณะ กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งสิ้น อันความเพียรค้ำจุนไว้แล้วย่อมไม่เสื่อม
"
" ขอนิมนต์อุปมาก่อน "
อุปมาเรือนที่จะล้ม
" ขอถวายพระพร เมื่อเรือนจะล้ม บุคคลค้ำไว้ด้วยไม้อื่น เรือนที่ถูกค้ำไว้นั้น ก็ไม่ล้มฉันใด ความเพียรก็มีการค้ำจุนไว้
เป็นลักษณะ กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งสิ้น ก็ไม่เสื่อมฉันนั้น "
" ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก "
อุปมาพวกเสนา
"มหาราชะ พวกเสนาจํานวนน้อย ต้อง พ่ายแพ้แก่เสนาหมู่มาก หากพระราชาทรง กําชับไปให้ดี ทั้งเพิ่มกองหนุนส่งไปให้ เสนาจํานวนน้อยกับกองหนุนนั้น ต้องชนะ
เสนาหมู่มากได้ฉันใด ความเพียรก็มีการค้ำจุนไว้เป็นลักษณะ กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งสิ้น อันความเพียรอุดหนุนแล้ว ก็ไม่เสื่อมฉันนั้น "
ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระทรงธรรม์ตรัสไว้ว่า " อริยสาวกผู้มีความเพียรเป็นกําลัง ย่อม ละอกุศล เจริญกุศลได้ ละสิ่งที่มีโทษ เจริญสิ่งที่ไม่มีโทษได้
ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม " ดังนี้ ขอถวายพระพร "
" พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว "
อธิบาย
การทําความเพียรนั้น คือไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ถ้าหย่อนเกินไป ก็จะเอียง ไปทางเกียจคร้าน ถ้าตึงเกินไปก็จะฟุ้งซ่าน จึงควรทําความเพียรแต่พอดี
ปัญหาที่ ๑๒ ถามลักษณะสติ
" ข้าแต่พระนาคเสน สติ มีลักษณะ อย่างไร ? "
" มหาราชะ สติ มีลักษณะ ๒ ประการคือ
๑. มีการเตือน เป็นลักษณะ
๒. มีการถือไว้ เป็นลักษณะ ขอถวาย พระพร "
สติมีการเตือน
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อว่า สติมีการเตือน เป็นลักษณะนั้น คืออย่างไร ? "
" ขอถวายพระพร สติเมื่อเกิดขึ้น ก็เตือนให้รู้จักสิ่งที่เป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เลวดี ดําขาว ว่า
เหล่านี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้เป็น สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้เป็นอิทธิบาท ๔ เหล่านี้เป็นอินทรีย์ ๕ เหล่านี้เป็นพละ ๕ เหล่านี้เป็นโพชฌงค์ ๗
เหล่านี้เป็นอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ อันนี้เป็นสมถะ อันนี้ เป็นวิปัสสนา อันนี้เป็นวิชชา อันนี้เป็นวิมุตติ เหล่านี้เป็นเจตสิกธรรม ดังนี้
ลําดับนั้น พระโยคาวจรก็เกี่ยวข้อง ธรรมที่ควรเกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องธรรมที่ ไม่ควรเกี่ยวข้อง คบหาธรรมที่ควรคบหา ไม่คบหาธรรมที่ไม่ควรคบหา
อย่างนี้แหละ มหาบพิตร เรียกว่า
สติมีการเตือน เป็น ลักษณะ "
" ขอได้โปรดอุปมาด้วย "
อุปมานายคลังของพระราชา
" มหาราชะ นายคลังของพระราชา ย่อมทูลเตือนพระเจ้าจักรพรรดิ ให้ทรงระลึกถึง ราชสมบัติในเวลาเช้าเย็นว่า " ข้าแต่สมมุติเทพ
ช้างของพระองค์มีเท่านี้ ม้ามีเท่านี้ รถมีเท่านี้ พลเดินเท้ามีเท่านี้ เงินมีเท่านี้ ทองมีเท่านี้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่เจ้าของมีเท่านี้
ขอพระองค์จงทรง ระลึกเถิด พระเจ้าข้า "
ข้อนี้มีอุปมาฉันใด สติเมื่อเกิดขึ้น ก็ เตือนให้ระลึกถึงธรรมที่เป็นกุศล อกุศล มี โทษไม่มีโทษ เลวดี ดําขาว ว่าเหล่านี้เป็น สติปัฏฐาน ๔
เหล่านี้เป็นสัมมัปปธาน ๔ ฯ ล ฯ ลําดับนั้น พระโยคาวจรก็เกี่ยวข้องกับ ธรรมที่ควรเกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องกับธรรมที่ ไม่ควรเกี่ยวข้อง คบกับธรรมที่ควรคบ
ไม่ คบกับธรรมที่ไม่ควรคบ อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่า สติมีการเตือน เป็นลักษณะ "
" ชอบแล้ว พระนาคเสน "
สติมีการถือไว้
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามต่อไปว่า " ข้าแต่พระนาคเสน ข้อว่า สติมีการถือไว้เป็นลักษณะนั้น เป็นประการใด ? "
" มหาราชะ สติเมื่อเกิดขึ้น ก็ชักชวน ให้ถือเอาซึ่งคติแห่งธรรมทั้งหลายว่า ธรรมเหล่านี้มีประโยชน์
ธรรมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ลําดับนั้น พระโยคาวจรก็ละธรรมอัน ไม่มีประโยชน์เสีย ถือเอาธรรมที่มีประโยชน์
ละธรรมที่ไม่มีอุปการะเสีย ถือเอาแต่ธรรมที่มีอุปการะ อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่า
สติมีการถือเอาไว้ เป็นลักษณะ "
" ขอนิมนต์อุปมาให้ทราบด้วย "
อุปมานายประตูของพระราชา
" มหาราชะ นายประตูของพระราชาย่อม ต้องรู้จักผู้ที่มีประโยชน์ และไม่มีประโยชน์ แก่พระราชา ผู้ที่มีอุปการะ หรือไม่มีอุปการะ
แก่พระราชา เป็นต้น ลําดับนั้น นายประตูก็กําจัดพวกที่ไม่มี ประโยชน์เสีย รับให้เข้าไปเฉพาะพวกที่มี ประโยชน์ กําจัดพวกที่ไม่มีอุปการะเสีย ให้
เข้าไปแต่พวกที่มีอุปการะฉันใด
สติเมื่อเกิดขึ้น ก็ชักชวนให้ถือเอาคติแห่งธรรมทั้งหลายฉันนั้น ว่าธรรมเหล่านี้มี ประโยชน์ ธรรมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ธรรม
เหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ลําดับนั้น พระโยคาวจรก็กําจัดธรรมอัน ไม่มีประโยชน์เสีย ถือเอาแต่ธรรมที่มีประโยชน์ ละธรรมอันไม่มีอุปการะเสีย
ถือเอาแต่ธรรม อันมีอุปการะ อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่า สติมีการถือไว้ เป็นลักษณะ
ข้อนี้สมกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า " สติ จะ โข อะหัง ภิกขเว สัพพัตถิกัง วทามิ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า
สติประกอบด้วยประโยชน์ทั้งปวง" ดังนี้ ขอถวายพระพร "
" ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว "
ฎีกามิลินท์
อธิบายคําว่า ซึ่งคติแห่งธรรมทั้งหลาย ได้แก่ถึงซึ่งความสําเร็จผลที่ต้องการ และไม่ต้องการแห่งธรรมทั้งหลาย อันเป็นกุศลและ อกุศล
ส่วนคําว่า "ดําขาว" มีความหมายว่า ดํานั้นได้แก่สิ่งที่ไม่ดี ส่วนขาวนั้นได้แก่สิ่งที่ดี
ปัญหาที่ ๑๓ ถามลักษณะสมาธิ
" ข้าแต่พระนาคเสน สมาธิ มีลักษณะ อย่างไร ? "
" มหาราชะ สมาธิมีการเป็น หัวหน้า เป็น ลักษณะ กุศลธรรมทั้งหลาย มีสมาธิเป็นหัวหน้า น้อมไปในสมาธิ
โน้มไปในสมาธิ เงื้อมไปในสมาธิ ขอถวายพระพร "
" ขอนิมนต์อุปมา พระผู้เป็นเจ้ า"
อุปมากลอนแห่งเรือนยอด
" ขอถวายพระพร เช่นเดียวกับกลอน แห่งเรือนยอดทั้งหลาย ย่อมไปรวมอยู่ที่ยอด น้อมไปที่ยอด โน้มไปที่ยอด เงื้อมไปที่ยอดฉันใด
กุศลธรรมทั้งหลาย ก็มีสมาธิเป็นหัวหน้า น้อมไปในสมาธิ โน้มไปในสมาธิ เงื้อมไปใน สมาธิฉันนั้น "
" นิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก "
อุปมาพระราชา
" มหาราชะ เวลาพระราชาเสด็จออก สงคราม พร้อมด้วยจตุรงคเสนานั้น เสนา ทั้งหลาย เสนาบดีทั้งหลาย ช้าง ม้า รถ พลเดินเท้าทั้งหลาย
ก็มีพระราชาเป็นหัวหน้า น้อมไปในพระราชา โน้มไปในพระราชา เงื้อมไปในพระราชา ห้อมล้อมพระราชาฉันใด กุศลธรรมทั้งหลาย ก็มีสมาธิเป็นหัวหน้า น้อมไปในสมาธิ
โน้มไปในสมาธิ เงื้อมไปใน สมาธิฉันนั้น อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่า สมาธิ มีความเป็น หัวหน้า เป็นลักษณะ
ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระมหามุนีตรัสไว้ว่า " สมาธิ ภิกขเว ภาเวถะ สมาธิโก ภิกขุ ยถาภูตัง ปชานาติ.. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงอบรมสมาธิ ภิกษุผู้ได้สมาธิ ย่อมรู้ตามความเป็นจริง" ดังนี้ ขอถวายพระพร "
" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "
◄ll กลับสู่สารบัญ
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 3/5/08 at 07:13 |
|
ปัญหาที่ ๑๔ ถามลักษณะปัญญา
"ข้าแต่พระนาคเสน ปัญญา มีลักษณะอย่างไร ? "
"มหาราชะ ปัญญา มีการ ตัด เป็นลักษณะ ตามที่อาตมภาพได้ถวายวิสัชนาไว้แล้ว อีกประการหนึ่ง ปัญญา มีการ
ทำให้สว่าง เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ปัญญามีการทำให้สว่าง เป็นลักษณะอย่างไร? "
"มหาราชะ ปัญหาเมื่อเกิดขึ้น ก็กำจัดเครื่องทำให้มืดคือ อวิชชา ทำให้เกิดความสว่างคือ วิชชา
ทำให้เกิดความแจ่มแจ้ง คือ ญาณ ทำให้อริยสัจปรากฏ ลำดับนั้น พระโยคาวจรก็เห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขอถวายพระพร"
"ขอพระคุณเจ้าได้โปรดอุปมา"
อุปมาผู้ส่องประทีป
"มหาราชะ เปรียบปานบุรุษส่องประทีปเข้าไปในเรือนที่มืด แสงประทีปย่อมกำจัดความมืด ทำให้เกิดความสว่าง
ทำให้รูปทั้งหลายปรากฏฉันใด ปัญญาเมื่อเกิดขึ้น ก็กำจัดความมืดคือ อวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่างคือ วิชชา ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งคือ ญาณ
ทำให้อริยสัจทั้งหลายปรากฏ ลำดับนั้น พระโยคาวจรก็เห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉันนั้น อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่า ปัญญา มีการ
ทำให้สว่าง เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร"
"ถูกแล้ว พระนาคเสน"
ฎีกามิลินท์
อธิบายคำว่า ปัญญาอันชอบ ได้แก่ปัญญาอันเกิดจากวิปัสสนาญาณ
ปัญหาที่ ๑๕ ถามหน้าที่แห่งธรรมต่างๆ กัน
"ข้าแต่พระนาคเสน ธรรมเหล่านี้มีอยู่ต่าง ๆ กัน แต่ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกันหรือ? "
"อย่างนั้น มหาบพิตร ธรรมเหล่านี้มีอยู่ต่าง ๆ กัน แต่ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน คือฆ่ากิเลสเหมือนกัน
ขอถวายพระพร"
"ขอนิมนต์อุปมาด้วย"
อุปมาเสนาต่าง ๆ
"มหาราชะ เสนามีหน้าที่ต่าง ๆ กันคือ เสนาช้าง เสนาม้า เสนารถ เสนาพลเดินเท้า เสนาเหล่านั้น
ย่อมให้ความสำเร็จสงครามอย่างเดียวกัน ย่อมชนะเสนาฝ่ายอื่นในสงครามอย่างเดียวกัน ฉันใด ธรรมเหล่านี้ ถึงมีอยู่ต่าง ๆ กัน ก็ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน
คือฆ่า กิเลสอย่างเดียวกัน ขอถวายพระพร"
"พระผู้เป็นเจ้าวิสชนาสมควรแล้ว"
จบวรรคที่ ๑
สรุปความ
คำว่า "ธรรมเหล่านี้" หมายถึงธรรมที่กล่าวมาแล้วขั้นต้น คือ
มนสิการ มีลักษณะ ถือไว้
กุศลธรรมอื่น ๆ ได้แก่ ศีล และ อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มีลักษณะดังนี้
ศีล มีลักษณะ เป็นที่ตั้ง
ศรัทธา มีลักษณะ ผ่องใส และ แล่นไป
วิริยะ มีลักษณะ ค้ำจุนไว้
สติ มีลักษณะ เตือน และ ถือไว้
สมาธิ มีลักษณะเป็น หัวหน้า
ปัญญา มีลักษณะ ตัด และ ทำให้สว่าง
จึงขอลำดับความสัมพันธ์ขอธรรมเหล่านี้ว่า มีหน้าที่ต่างกันอย่างไรบ้าง
พระโยคาวจรหวังที่จะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์นั้น จะต้องประกอบไปด้วยธรรมเหล่านี้คือ
๑. มนสิการ คือคิดไว้เสมอว่า ชีวิตนี้จะต้องตายเป็นธรรมดา
๒. ศีล จะรักษาให้บริสุทธิ์ไว้เสมอ
๓. ศรัทธา มีความเลื่อมใสในคุณพระพุทธ พระธรรม และ พระอริยสงฆ์ หวังปฏิบัติตนเพื่อความพ้นทุกข์ คือพระนิพพานต่อไป
๔. วิริยะ ทำความเพียรแต่พอดี
๕. สติ นึกเตือนตนเองไว้เสมอว่า เราจะต้องตาย จะมีศีลบริสุทธิ์ จะเคารพในพระรัตนตรัย และมีนิพพานเป็นอารมณ์
๖. สมาธิ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก หรือภาวนาตาม อัธยาศัย
๗. ปัญญา พิจารณา สักกายทิฏฐิ ไม่ยึดถือว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา แล้วตัด อวิชชา เราไม่มี ฉันทะ คือความพอใจ และ
ราคะ คือความยินดีในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก เราต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน
ธรรมเหล่านี้จึงมีหน้าที่ต่าง ๆ กันแต่มุ่งประโยชน์อย่างเดียวกัน คือฆ่ากิเลสให้เป็น สมุจเฉทปหาน ตามที่ท่านได้อุปมาไว้ฉันใด เสนาช้า ม้า รถ
พลเดินเท้า เสนาเหล่านั้น ย่อมช่วยกันทำสงคราม เพื่อที่จะมีชัยชนะต่อข้าศึกศัตรู ก็มีอุปมาฉันนั้น
รวมความว่า ปัญหาทั้งหมดที่ผ่านมานี้เป็นปัญหาที่พระเจ้ามิลินท์ถามพระนาคเสนถึง วิธีปฏิบัติที่จะไม่เกิดอีก ว่าจะต้องประกอบด้วยธรรมอะไรบ้าง
หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจ ตามที่ได้สรุปความมาให้ทราบนี้.
ll กลับสู่ด้านบน
Update 3 พฤษภาคม 51
ตอนที่ ๖
วรรคที่ ๒ ปัญหาที่ ๑ ถามความสืบต่อแห่งธรรม
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ พระบาทท้าวเธอได้ตรัสถามปัญหาต่อไปว่า " ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดเกิดก็เป็นผู้นั้น
หรือว่ากลายเป็นผู้อื่น ? "
พระเถระถวายพระพรตอบว่า " ไม่ใช่ผู้นั้น และไม่ใช่ผู้อื่น "
" โยมยังสงสัยขอนิมนต์อุปมาก่อน "
" ขอถวายพระพร มหาบพิตรเข้าพระทัย ว่าอย่างไร...คือมหาบพิตรเข้าพระทัยว่า เมื่อมหาบพิตรยังเป็นเด็กอ่อน
ยังนอนหงายอยู่ที่พระอู่นั้นบัดนี้ มหาบพิตรเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็คือเด็กอ่อนนั้น...อย่างนั้นหรือ? "
" ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า คือเด็กอ่อนนั้นเป็น ผู้หนึ่งต่างหาก มาบัดนี้โยมซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหาก "
" มหาราชะ เมื่อเป็นอย่างนั้น มารดาก็จักนับว่าไม่มี บิดาก็จักนับว่าไม่มี อาจารย์ก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีศีลก็จักนับว่าไม่มี
ผู้มีศิลปะก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีปัญญา ก็จักนับว่าไม่มี
ทั้งนี้เพราะอะไร...เพราะว่ามารดาของ ผู้ยังเป็น กลละ อยู่ เป็นผู้หนึ่งต่างหาก มารดา ของผู้เป็น อัพพุทะ
คือผู้กลายจากกลละ อันได้แก่กลายจากน้ำใส ๆ เล็ก ๆ มาเป็นน้ำ คล้ายกับน้ำล้างเนื้อ ก็ผู้หนึ่งต่างหาก เมื่อผู้นั้นกลายเป็นก้อนเนื้อ
มารดาก็ผู้หนึ่งต่างหาก เมื่อผู้นั้นกลายเป็นแท่งเนื้อ มารดาก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหาก เมื่อผู้นั้นยังเล็กอยู่ มารดาก็เป็นผู้หนึ่งอีกต่างหาก
เมื่อผู้นั้นโตขึ้น มารดาก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหาก อย่างนั้น หรือ... ผู้ศึกษาศิลปะ ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้สําเร็จการศึกษาแล้ว ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก
ผู้ทําบาปกรรมก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้มีมือ ด้วนเท้าด้วน ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก อย่างนั้น หรือ? "
" ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้เป็นเจ้า ในเมื่อโยมกล่าว อย่างนี้ ส่วนพระผู้เป็นเจ้าจะกล่าวว่าอย่างไร? "
" ขอถวายพระพร เมื่อก่อนอาตมายังเป็นเด็กอ่อนอยู่ บัดนี้ ได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อวัยวะทั้งปวงนั้น
รวมเข้าเป็นอันเดียวกัน เพราะอาศัยกายอันนี้แหละ "
" ขอได้โปรดอุปมาด้วย "
" มหาราชะ เปรียบเสมือนว่า บุรุษคนหนึ่ง จุดประทีปไว้ ประทีปนั้นจะสว่างอยู่ตลอดคืน หรือไม่? "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ประทีปนั้นต้องสว่าง อยู่ตลอดคืน "
" มหาราชะ เปลวประทีปในยามต้นก็คือ เปลวประทีปในยามกลางอย่างนั้นหรือ ? "
" ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า "
" เปลวประทีปในยามกลาง ก็คือเปลวประทีปในยามปลายอย่างนั้นหรือ? "
" ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า "
" มหาราชะ เปลวประทีปในยามต้น ก็เป็นอย่างหนึ่ง เปลวประทีปในยามกลาง ก็เป็นอย่างหนึ่ง เปลวประทีปในยามปลาย ก็เป็น อย่างหนึ่ง
อย่างนั้นหรือ ? "
" ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้เป็นเจ้า คือเปลวประทีป นั้นได้สว่างอยู่ตลอดคืน ก็เพราะอาศัยประทีป ดวงเดียวกันนั้นแหละ "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ ธรรมสันตติ ความสืบต่อแห่งธรรม ย่อมสืบ ต่อกัน เมื่อสิ่งหนึ่งเกิด
สิ่งหนึ่งดับ ย่อมติดต่อ กันไม่ก่อนไม่หลัง เพราะฉะนั้น จะว่าผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าผู้ อื่นก็ไม่ใช่ ย่อมถึงซึ่งการจัดเข้าในวิญญาณ ดวงหลัง ขอถวายพระพร "
" ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก "
" มหาราชะ ในเวลาที่คนทั้งหลายรีดนม นมสดก็กลายเป็นนมส้ม เปลี่ยนจากนมส้ม ก็กลายเป็นนมข้น เมื่อเปลี่ยนจากนมข้น
ก็กลายเป็นเปรียง ผู้ใดกล่าวว่า นมสดนั้นแหละคือนมส้ม นมส้มนั้นแหละคือนมข้น นมข้นนั้นแหละคือ เปรียง จะว่าผู้นั้นกล่าวถูกต้องดีหรืออย่างไร? "
" ไม่ถูก พระผู้เป็นเจ้า คือเปรียงนั้น ก็อาศัยนมสดเดิมนั้นแหละ "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ธรรมสันตติ คือความสืบต่อแห่งธรรม ก็ย่อมสืบ ต่อกันไป อย่างหนึ่งเกิด อย่างหนึ่งดับ สืบต่อ
กันไปไม่ก่อนไม่หลัง เพราะฉะนั้น จะว่าผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าผู้อื่นก็ไม่ใช่ ว่าได้แต่เพียงว่า ถึงซึ่งการสงเคราะห์ เข้าในวิญญาณดวงหลังเท่านั้น
ขอถวายพระพร "
" พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขนี้สมควรแล้ว "
สรุปความ
ปัญหานี้พระเจ้ามิลินท์เข้าใจว่า คนที่เกิดมาแล้ว จากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ ท่านเข้าใจว่า เป็นคนละคนกัน
พระนาคเสนจึงชี้แจงว่า ความจริงก็เป็น คนเดียวกัน แต่ที่ท่านตอบว่า จะเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะเป็นผู้อื่นก็ไม่ใช่นั้น ก็เพราะอาศัย สันตติ
ความสืบต่อกัน เปรียบเหมือนเปลวไฟและ นมสดที่เปลี่ยนไป เมื่อเปลี่ยนไปแล้ว จะว่าเป็นของเดิมก็ ไม่ได้ จะว่าเป็นของอื่นก็ไม่ได้ แต่ต้องอาศัย
ความสืบต่อกันไป เหมือนกับร่างกายที่เกิดมา ก็อาศัยอวัยวะเดิมแล้วค่อยเปลี่ยนแปลง เติบ โตขึ้นมาจนกว่าจะแก่เฒ่าไป ก็ชื่อว่าเป็นบุคคล เดียวกันนั่นเอง
ปัญหาที่ ๒ ถามความรู้สึกของผู้ไม่เกิดอีก
" ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลใดไม่เกิดอีก บุคคลนั้นรู้หรือไม่ว่า เราจักไม่เกิดอีก ? "
" มหาราชะ ผู้ใดจะไม่เกิดอีก ผู้นั้นก็รู้ว่าเราจักไม่เกิดอีก "
" ข้าแต่พระคุณเจ้า ผู้นั้นรู้ได้อย่างไร? "
" ขอถวายพระพร เหตุปัจจัยอันใดที่ทํา ให้ถือกําเนิด ผู้นั้นก็รู้ว่าเราจะไม่เกิด เพราะ ความดับไปแห่งเหตุปัจจัยอันนั้นแล้ว "
" ขอนิมนต์อุปมาด้วย "
" มหาราชะเปรียบเหมือนชาวนาไถนาแล้ว หว่านข้าวแล้ว ได้ข้าวไว้เต็มยุ้งแล้ว ต่อมาภายหลังเขาก็ไม่ไถไม่หว่านอีกเขามีแต่
บริโภคหรือขายซึ่งข้าวนั้น หรือทําอย่างใด อย่างหนึ่งตามเหตุปัจจัยที่มีมา ชาวนานั้นรู้หรือไม่ว่า ยุ้งข้าวของเราจักไม่เต็ม? "
" รู้ซิ พระผู้เป็นเจ้า "
" รู้อย่างไรล่ะ? "
" อ๋อ..รู้เพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทําให้ยุ้ง ข้าวเต็ม "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ผู้นั้นก็ รู้ว่าเราจักไม่เกิดอีกเพราะหมดเหตุปัจจัยที่จะทําให้ถือกําเนิดแล้ว "
" ถูกแล้ว พระนาคเสน "
อธิบาย
คําว่า "หมดเหตุปัจจัย" หมายความว่า เป็นผู้หมดกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ที่จะทําให้เกิดอีก
ปัญหาที่ ๓ ถามที่ดับปัญญา
" ข้าแต่พระนาคเสน ญาณ เกิดแก่ผู้ใด ปัญญา เกิดแก่ผู้นั้นหรือ? "
" เกิด...มหาราชะ คือ ญาณ เกิดแก่ผู้ใด ปัญญา ก็เกิดแก่ผู้นั้น "
" ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งใดเป็นญาณ สิ่งนั้นหรือเป็นปัญญา? "
" ถูกแล้ว..มหาราชะ คือสิ่งใดเป็นญาณ ก็สิ่งนั้นแหละเป็นปัญญา "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ญาณได้เกิดแก่ผู้ใด ปัญญานั้นได้เกิดแก่ผู้นั้น ผู้นั้นหลงหรือไม่หลง? "
" มหาราชะ ผู้มีปัญญาหลงในบางสิ่งบาง อย่าง ไม่หลงในบางสิ่งบางอย่าง "
" หลงในสิ่งไหน ไม่หลงในสิ่งไหน? "
" ขอถวายพระพร หลงในศิลปะที่ไม่ ชํานาญก็มี ในทิศที่ไม่เคยไปก็มี ในชื่อหรือ สถานที่ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มี "
" อ๋อ...แล้วไม่หลงในอะไร ผู้เป็นเจ้า? "
" ไม่หลงในสิ่งที่ตนรู้แล้วว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ก็โมหะ คือความหลงของผู้นั้นไปอยู่ที่ไหนล่ะ? "
" มหาราชะ พอ ญาณ เกิดแล้ว โมหะ คือความหลงก็ดับไปในญาณนั้นเอง "
" ขอนิมนต์อุปมาเถิด "
อุปมาผู้จุดประทีป
" ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง จุดประทีปเข้าไปในเรือนที่มืด ในขณะนั้น ความมืดก็ดับไป แสงสว่างก็ปรากฏขึ้นฉันใด
เมื่อ ญาณ เกิดขึ้นแล้ว โมหะ ก็ดับไปในที่นั้น ฉันนั้นแหละ "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ก็ปัญญานั้นเล่า... ไปอยู่ที่ไหน? "
" มหาราชะ ปัญญา ทําหน้าที่ของตนแล้ว ก็ดับไปในที่นั้นเอง สิ่งใดที่ทําด้วยปัญญานั้น ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา สิ่งนั้นไม่ดับ "
" ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า ปัญญาทําหน้าที่ของตนแล้ว ก็ดับไป
แต่สิ่งใดที่ทําด้วยปัญญานั้นว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งนั้นไม่ดับ ดังนี้ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาด้วย "
อุปมาการเขียนเลข
" มหาราชะ เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้ใดผู้หนึ่งอยากดูตัวเลขในกลางคืนจัดแจงให้จุด ประทีปขึ้นเขียนเลข เมื่อเขียนเลขแล้วก็ให้
ดับประทีป เมื่อประทีปดับแล้วเลขก็ยังไม่หายไปข้อนี้มีอุปมาฉันใด ปัญญาทําหน้าที่ของตนแล้วดับไป แต่ สิ่งที่รู้ด้วยปัญญาว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น
มิได้ดับไปฉันนั้น "
" ขอพระผู้เป็นเจ้าอุปมาให้ยิ่งขึ้น "
อุปมาโอ่งน้ำ
" ขอถวายพระพร เปรียบประดุจพวกมนุษย์ ในชนบทตะวันออก จัดตั้งโอ่งน้ำไว้ ๕ โอ่งข้างประตูเพื่อดับไฟที่จะไหม้เรือน
เมื่อไฟไหม้เรือนแล้ว โอ่งน้ำ ๕ โอ่งนั้น เขาก็นําไปเก็บไว้ในละแวกบ้าน ไฟก็ดับไปชาวบ้านคิดหรือไม่ว่า เราจักต้องทําสิ่งที่จําเป็น
ด้วยโอ่งน้ำเหล่านั้นอีก? "
" ไม่คิด ผู้เป็นเจ้า เพราะไม่มีความจําเป็น กับโอ่งน้ำเหล่านั้นอีกแล้ว ด้วยว่าไฟก็ดับแล้ว เขาจึงนําไปเก็บไว้อย่างนั้น "
" มหาราชะ ควรเห็น อินทรีย์ ๕ มีศรัทธา เป็นต้นว่า เปรียบเหมือนกับโอ่งน้ำทั้ง ๕
พระโยคาวจรเปรียบเหมือนชาวบ้าน กิเลสเปรียบ เหมือนไฟ กิเลสดับไปด้วยอินทรีย์ ๕ เปรียบเหมือนกับ ไฟดับไปด้วยน้ำทั้ง ๕ โอ่งนั้น กิเลสที่ดับ
ไปแล้วย่อมไม่เกิดขึ้นอีกฉันใด เมื่อปัญญาทําหน้าที่ของตนแล้วก็ดับไป แต่สิ่งที่รู้ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น มิได้ดับไปฉันนั้น
" ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก "
อุปมารากยา
" มหาราชะ เปรียบปานประหนึ่งว่าแพทย์ ผู้ถือเอารากยา ๕ รากไปหาคนไข้ บดรากยาทั้ง ๕ นั้น แล้วละลายน้ำให้คนไข้ดื่ม
โรคนั้นก็หายไปด้วยรากยาทั้ง ๕ รากนั้น แพทย์นั้นคิดหรือไม่ว่าเราจักต้องทํากิจที่ควรทําด้วยรากยาเหล่านั้นอีก? "
" ไม่คิด พระผู้เป็นเจ้า "
" มหาราชะ รากยาทั้ง ๕ นั้น เหมือนอินทรีย์ ๕ มีศรัทธาเป็นต้น แพทย์นั้นเหมือน พระโยคาวจร
ความเจ็บไข้เหมือนกิเลส บุรุษผู้เจ็บไข้เหมือนปุถุชน ไข้หายไปด้วยยาทั้ง ๕ รากนั้นแล้ว ผู้เจ็บไข้นั้น ก็หายโรคฉันใด เมื่อกิเลสออกไปด้วยอินทรีย์ ๕ แล้ว
กิเลสก็ไม่เกิดอีก อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่าปัญญาทําหน้าที่ของตนแล้วดับไป แต่สิ่ง ที่รู้ด้วยปัญญาว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น
หามิได้ดับไปฉันนั้น "
" นิมนต์อุปมาให้ยิ่งกว่านี้อีก "
อุปมาผู้ถือลูกธนู
" มหาราชะ เหมือนกับบุรุษผู้จะเข้าสู่สงคราม ถือเอาลูกธนู ๕ ลูก แล้วเข้าสู่สงคราม เพื่อต่อสู้กับข้าศึก เขาเข้าสู่สงคราม
แล้วก็ยิงลูกธนูไป ข้าศึกก็แตกพ่ายไป บุรุษนั้นคิดหรือไม่ว่า เราจักต้องทํากิจด้วยลูกธนู เหล่านั้นอีก? "
" ไม่คิด พระผู้เป็นเจ้า "
" มหาราชะ ควรเห็น อินทรีย์ ๕ เหมือนลูกธนูทั้ง ๕พระโยคาวจรเหมือนกับผู้เข้าสู่
สงคราม กิเลสเหมือนกับข้าศึก กิเลสแตกหัก ไปเหมือนกับข้าศึกพ่ายแพ้ กิเลสดับไปแล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกอย่างนี้ แหละ มหาบพิตร ชื่อว่าปัญญาทําหน้าที่ของ
ตนแล้วดับไป แต่สิ่งที่รู้ด้วยปัญญาว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นหามิได้ดับไป ขอ ถวายพระพร "
" แก้ดีแล้ว พระนาคเสน "
ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องปรินิพพาน
" ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดจะไม่เกิดอีก ผู้นั้นยังได้เสวยทุกขเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่? "
" ขอถวายพระพรได้เสวยก็มีไม่ได้เสวยก็มี "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่ว่าได้เสวยก็มี ไม่ได้เสวยก็มีนั้น คือเสวยอะไร ไม่ได้เสวย อะไร? "
" ขอถวายพระพร ได้เสวยเวทนาทางกาย ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ "
" ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่าได้เสวยเวทนา ทางกาย แต่ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจนั้น คือ อย่างไร? "
" ขอถวายพระพร คือเหตุปัจจัยอันใด ที่จะให้เกิดทุกขเวทนาทางกายยังมีอยู่ ผู้นั้นก็ยังได้เสวยทุกขเวทนาทางกายอยู่
เหตุปัจจัยอันใดที่จะให้เกิดทุกขเวทนาทางใจดับไปแล้ว ผู้นั้นก็ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาทางใจ ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระจอมไตรตรัสไว้ว่า
"ผู้นั้นได้เสวยเวทนาทางกายอย่าง เดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ"
" ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ไม่ได้เสวยทุกข เวทนาแล้วนั้น เหตุไรจึงยังไม่ปรินิพพาน? "
" ขอถวายพระพร ความยินดีหรือยินร้าย ไม่มีแก่พระอรหันต์เลย พระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมไม่ทําสิ่งที่ยังไม่แก่ไม่สุกให้ตกไปมีแต่
รอการแก่การสุกอยู่เท่านั้น ข้อนี้สมกับ พระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นเสนาบดีในทางธรรมได้กล่าวไว้ว่า[/color]
"เราไม่ยินดีต่อมรณะ เราไม่ยินดีต่อชีวิต เรารอแต่เวลาอยู่ เหมือนกับลูกจ้างรอ เวลารับค่าจ้างเท่านั้น เราไม่ยินดีต่อมรณะ ไม่ยินดีต่อชีวิต
เราผู้มีสติสัมปชัญญะ รอแต่เวลาอยู่เท่านั้น"
" ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูก ต้องดีแล้ว "
สรุปความ
ในข้อนี้มีความหมายว่า พระอรหันต์ยัง ต้องมีความทุกข์ทางกาย เช่น หนาวร้อน หิว กระหายปวดอุจจาระปัสสาวะการป่วยไข้ไม่สบาย ความแก่ และความตาย เป็นต้น
แต่จิตใจของท่านไม่กระวนกระวายไม่ เป็นทุกข์ไปด้วย ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา พระนาคเสนจึงตอบว่า
" ผู้ที่ไม่เกิดอีก จึงได้เสวยเวทนาแต่ ทางกาย ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ "ดังนี้
ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องสุขเวทนา
" ข้าแต่พระนาคเสน สุขเวทนา เป็นกุศล หรืออกุศล หรืออัพยากฤต? " ( อัพยากฤต
หมายถึง ธรรมที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล คือเป็นนิพพาน )
" ขอถวายพระพรเป็นกุศลก็มีอกุศลก็มี อัพยากฤตก็มี "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเป็นกุศลก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเป็นทุกข์ก็ไม่เป็นกุศล คํากล่าวว่า" สุขเป็นทั้งกุศล เป็นทั้งทุกข์
"ก็ไม่ควร "
อุปมาก้อนเหล็กแดงและหิมะ
" ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะทรงเข้า พระทัยความข้อนี้อย่างไร...คือถ้ามีก้อนเหล็ก
แดงวางอยู่ที่มือข้างหนึ่งของบุรุษคนหนึ่ง และมีก้อนหิมะเย็นวางอยู่ที่มืออีกข้างหนึ่ง มือทั้งสองข้างจะถูกเผาเหมือนกันหรือ... มหาบพิตร? "
" ถูกเผาเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้า "
" ถ้าอย่างนั้น มือทั้งสองข้างนั้น จะร้อน เหมือนกันหรือ? "
" ไม่ร้อนเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้า "
" ถ้าอย่างนั้น มือทั้งสองข้างนั้น จะเย็น เหมือนกันหรือ? "
" ไม่เย็นเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้า "
" ขอมหาบพิตรจงทราบว่ามหาบพิตร ถูกกล่าวข่มขี่แล้ว คือ ถ้าก้อนเหล็กแดง อัน
ร้อนเป็นของเผา ก็จะต้องเผามือทั้งสองข้าง แต่มือทั้งสองข้างนั้นไม่ร้อน เพราะฉะนั้น ถ้อยคําของมหาบพิตรจึงใช้ไม่ได้ ถ้าของที่เย็นเป็นของเผา
มือทั้งสองข้าง ก็จะต้องถูกเผา แต่มือทั้งสองข้างไม่เย็นเหมือน กัน เพราะฉะนั้น คําของมหาบพิตรจึงใช้ไม่ได้
ขอถวายพระพร เหตุไรจึงว่ามือทั้งสองข้างถูกเผา แต่มือทั้งสองข้างนั้นไม่ร้อนเหมือนกันไม่เย็นเหมือนกันข้างหนึ่งร้อนอีกข้าง หนึ่งเย็น เพราะฉะนั้น
คําที่มหาบพิตรตรัสว่ามือทั้งสองข้างถูกเผานั้นจึงใช้ไม่ได้ "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมไม่อาจโต้ตอบ กับพระผู้เป็นเจ้าได้แล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจง แก้ไขไปเถิด "
ลําดับนั้น พระเถระจึงทําให้พระเจ้า มิลินท์ทรงเข้าพระทัยได้ด้วยคาถาอันประกอบ ด้วย อภิธรรม ว่า
" มหาราชะ โสมนัสเวทนา ( ความรู้สึก ยินดี ) อันอาศัยการครองเรือน ( กามคุณ ๕ ) มีอยู่ ๖อาศัยการถือบวชมีอยู่ ๖
โทมนัสเวทนา ( ความรู้สึกยินร้าย )อันอาศัยการครองเรือนมีอยู่ ๖ อาศัยการถือบวช มีอยู่ ๖
อุเบกขาเวทนา ( ความรู้สึกวางเฉย )อันอาศัยการครองเรือนมีอยู่ ๖ อาศัยการถือบวช มีอยู่ ๖
เวทนาทั้ง ๓๖ อย่างนี้ แยกเป็นเวทนาที่ เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน รวมเข้าด้วย กันเป็น เวทนา ๑๐๘ ขอถวายพระพร "
" พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขถูกต้องดีแล้ว "
สรุปความ
พระเจ้ามิลินท์ไม่ทรงเห็นด้วยกับพระนาคเสนที่ว่า สุขเวทนาเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี แต่พระองค์ทรงเห็นว่า ถ้าสุขเวทนาเป็นกุศล
ควรให้ผลแต่สุข ไม่ควร ให้ทุกข์ด้วย
แต่พระนาคเสนยังคงยืนยันตามเดิม โดยยกตัวอย่างมาซักถาม เพื่อลวงให้พระราชา ตอบผิด จะสังเกตได้ว่าการตอบคําถาม ท่าน จะไม่ค้านหรือตําหนิโดยตรง
เป็นแต่ใช้อุบาย เพื่อรักษาน้ำใจเท่านั้น อันนี้เป็นหลักในการ สนทนาธรรมของท่าน
ในฎีกามิลินท์ท่านอธิบายว่า ความจริง นั้นมีอยู่ว่า ถึงสุขเวทนาที่เป็นกุศล ก็เป็นทุกข์ได้ เพราะเป็นทุกข์สังขาร และเป็นทุกข์แปรปรวน ถึงทุกข์อันได้แก่
โทมนัส คือ ความไม่ชอบใจ ที่อาศัยการถือบวชนั้น ก็เป็น กุศลได้ เพราะเป็นของไม่มีโทษ
แต่พระเถระคิดว่า เมื่อเราตั้งปัญหาว่า ด้วย " ก้อนเหล็กแดงกับก้อนหิมะ " ถามพระราชาพระราชาก็จะแก้ผิดเราจักชี้โทษว่าแก้ผิด เมื่อพระราชาไม่อาจแก้ได้
ก็จะขอ ให้เราแก้ เราจึงจะทําให้พระราชาเข้าใจตามความจริงได้
เมื่อพระเถระถามว่ามือทั้งสองข้างนั้น ถูกเผาเหมือนกันหรือพระราชาก็จะต้องตอบผิดว่า ถูกเผาเหมือนกัน เพราะได้ทรงสดับมาว่า ของเย็นของร้อนจัดเป็น "
เตโชธาตุ "
ทั้งทรงเข้าพระทัยว่า ก้อนหิมะเย็นเป็น ของกัดอย่างร้ายแรง เมื่อทรงเข้าพระทัยผิด อย่างนี้ ก็ตรัสตอบว่า มือทั้งสองข้างถูกเผา เหมือนกัน
เมื่อพระเถระซักถามต่อไปว่า ถ้ามือทั้ง สองข้างถูกเผา ก็จะต้องร้อนเหมือนกัน หรือ จะต้องเย็นเหมือนกันใช่ไหมพระเจ้ามิลินท์ ตรัสว่า" ไม่ใช่
"ดังนี้
แล้วพระนาคเสนจึงเอาประเด็นนี้เป็นความผิด เพื่อชี้โทษที่ทรงเห็นผิดในข้อนี้ เมื่อพระราชาอับจนต่อปัญหาที่ยกตัวอย่างมานี้ จึงเปิดโอกาสให้ชี้แจงได้
เป็นการยอมรับฟัง ความเห็นของพระเถระว่า
" บุรุษผู้หนึ่งจับก้อนเหล็กแดงด้วยมือข้างหนึ่ง และจับก้อนหิมะด้วยมืออีกข้างหนึ่ง ซึ่งสิ่งของทั้งสองอย่างนี้ ถึงแม้จะมีสภาพตรง กันข้าม
แต่ก็ให้ความรู้สึกทั้งร้อนและเย็นแก่ ผู้จับเหมือนกันฉันใด
สุขเวทนา อันมีใน เวทนา ๑๐๘ ก็ ย่อมให้ความรู้สึกทั้งที่เป็น กุศล อกุศล และ
อัพยากฤต เช่นกันฉันนั้น
โปรดติดตามอ่านต่อไป
*************************
Update 1 มิถุนายน 51
ตอนที่ ๗
ปัญหาที่ ๖ ถามการถือกําเนิดแห่งนามรูป
ข้าแต่พระนาคเสน อะไรปฏิสนธิ คือถือกําเนิด ?
มหาราชะ นามรูป ถือกําเนิด
นามรูปนี้หรือ...ถือกําเนิด ?
มหาราชะ นามรูปนี้ไม่ได้ถือกําเนิด แต่ ว่าบุคคลทํากรรมดีหรือชั่วด้วยนามรูปนี้ นามรูปอื่นก็ถือกําเนิดด้วยกรรมนั้น
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้านามรูปนี้ไม่ได้ถือกําเนิด ผู้นั้นก็จักพ้นบาปกรรมทั้งหลายไม่ใช่ หรือ ?
ขอถวายพระพร ถ้าผู้นั้นไม่เกิดแล้ว ก็พ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย แต่ถ้ายังเกิดอยู่ก็หาพ้นไม่
ขอนิมนต์ได้โปรดอุปมาด้วย
อุปมาด้วยผลมะม่วง
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง ไปขโมยผลมะม่วงของเขามา แต่เจ้าของมะม่วงนั้นจับได้ จึงนําไปถวายพระราชา กราบทูลว่า
บุรุษผู้นี้ขโมยมะม่วงของข้าพระองค์
บุรุษนั้นจะต้องกราบทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทพ ข้าพระองค์มิได้ขโมยมะม่วงของบุรุษนี้ มะม่วงที่บุรุษนี้ปลูกไว้เป็นมะม่วงอื่น ส่วน
มะม่วงที่ข้าพระองค์นําไปนั้น เป็นมะม่วงอื่น อีกต่างหาก ข้าพระองค์ไม่ควรได้รับโทษ ดังนี้
อาตมภาพจึงขอถามมหาบพิตรว่า บุรุษผู้นั้นควรจะได้รับโทษหรืออย่างไร ?
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุรุษนั้นควรได้รับโทษ
เพราะอะไรล่ะ มหาบพิตร ?
เพราะว่า บุรุษนั้นรับว่าไปเอาผลมะม่วงมาแล้ว แต่บอกว่าเอาผลมะม่วงลูกก่อนไป ถึงกระนั้นก็ควรได้รับโทษด้วยผลมะม่วงลูกหลัง
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ บุคคลทํากรรมดีหรือชั่วอันใดไว้ด้วยนามรูปนี้
แล้วนามรูปอื่นก็ถือกําเนิดสืบต่อกันด้วยกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นไปจากบาปกรรม ขอถวายพระพร
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป
อุปมาด้วยไฟไหม้
ขอถวายพระพร มีบุรุษคนหนึ่งก่อไฟ ไว้ในฤดูหนาว แล้วทิ้งไว้มิได้ดับไฟ ได้ไปเสียที่อื่น ไฟนั้นได้ไหม้นาของผู้อื่น เจ้าของนาจึง
จับบุรุษนั้นไปถวายพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทพ บุรุษนี้เผานาของข้าพระองค์
บุรุษนั้นจะต้องทูลให้การว่า ข้าพระองค์ ไม่ได้เผานาของผู้นี้ ไฟนั้นถึงข้าพระองค์ไม่ได้ดับ แต่ไฟที่ไหม้นาของผู้นี้ก็เป็นไฟอื่นต่างหาก
ข้าพระองค์ไม่มีโทษ ดังนี้
อาตมภาพขอถามมหาบพิตรว่า บุรุษนั้น จะมีโทษหรือไม่ ?
ต้องมีโทษซิ พระผู้เป็นเจ้า
เพราะเหตุไร มหาบพิตร ?
อ๋อ...เพราะเหตุว่า ถึงบุรุษนั้นจะหมาย เอาไฟก่อนก็ตาม แต่ก็ควรได้รับโทษด้วยไฟ หลัง
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ บุคคลทํากรรมดีหรือชั่วอันใดไว้ด้วยนามรูปนี้ แล้วนามรูปอื่นก็ถือกําเนิดด้วยกรรมนั้น เพราะ
ฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก
อุปมาด้วยประทีป
ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าบุรุษคนหนึ่ง ถือเอาประทีปเข้าไปที่เรือนโรงแล้ว กินข้าว ประทีปก็ลุกลามไปไหม้หญ้า
หญ้าก็ลุกลามไปไหม้เรือน เรือนก็ลุกลามไปไหม้หมู่บ้าน
ชาวบ้านจึงพากันจับบุรุษนั้น แล้วถามว่า เหตุไฉนเจ้าจึงเผาบ้าน บุรุษนั้นจึงตอบว่า เรานั่งกินข้าวอยู่ด้วยประทีปอื่นต่างหาก ส่วน
ไฟที่ไหม้บ้านเป็นไฟอื่นอีกต่างหาก
เมื่อโต้เถียงกันอย่างนี้ เขาพากันมาเฝ้า มหาบพิตร กราบทูลว่า มหาราชเจ้าจะรักษา ประโยชน์ของใครไว้ พระเจ้าข้า มหาบพิตร จะตรัสตอบว่าอย่างไร ?
โยมจะตอบว่า จะรักษาประโยชน์ของ ชาวบ้านไว้
เพราะอะไร มหาบพิตร ?
เพราะว่า ถึงบุรุษนั้นจะกล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่ว่าไฟนั้นเกิดมาจากประทีปดวงก่อน นั้นเอง
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถึง นามรูปอันมีในที่สุดแห่งความตายเป็นนามรูปอื่น ส่วนนามรูปที่ถือกําเนิดเป็นนามรูปอื่นก็
ตาม แต่ว่านามรูปนั้นเกิดจากนามรูปเดิม เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก
อุปมาเรื่องหมั้นเด็กหญิง
ขอถวายพระพร เปรียบปานบุรุษผู้หนึ่ง หมั้นเด็กหญิงที่ยังเล็ก ๆ เอาไว้ ให้ของหมั้น แล้วกลับไป
ต่อมาภายหลังเด็กหญิงคนนั้นก็เติบโตขึ้น มีบุรุษอีกคนหนึ่งมาให้ของหมั้นแล้วแต่งงาน บุรุษที่หมั้นไว้ก่อนจึงมาต่อว่า บุรุษนั้นว่า
เหตุใดเจ้าจึงนําภรรยาของเราไป
บุรุษนั้นก็ตอบว่า เราไม่ได้นําภรรยาของเจ้าไป เด็กหญิงเล็ก ๆ คนนั้น ที่เจ้าขอไว้แล้วให้ของหมั้นไว้นั้น เป็นคนหนึ่งต่างหาก เด็กหญิงที่เติบโตแล้ว
ที่เราสู่ขอแล้วนี้ เป็นคนหนึ่งอีกต่างหาก
เมื่อบุรุษทั้งสองนั้นโต้เถียงกันมาเฝ้ามหาบพิตร พระองค์จะทรงวินิจฉัยให้หญิงนั้น แก่ใคร ?
อ๋อ...ต้องให้แก่บุรุษคนก่อนนะซิ พระผู้เป็นเจ้า
เพราะเหตุใด มหาบพิตร ?
เพราะเหตุว่า ถึงบุรุษนั้นจะกล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่เด็กสาวคนนั้นก็เติบโตต่อมาจาก เด็กหญิงเล็ก ๆ นั้นเอง
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ ถึงนามรูปอันมีต่อไปจนกระทั่งตายเป็นนามรูปอื่น ส่วนนามรูปที่ถือกําเนิดเป็นนามรูปอื่นก็ตาม
แต่นามรูปนั้นก็เกิดมาจากนามรูปเดิมนั่นเอง เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาป กรรม
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งกว่านี้อีก
อุปมาด้วยนมสด
ขอถวายพระพร เช่นเดียวกับบุรุษผู้หนึ่ง ไปซื้อนมสดจากมือนายโคบาล แล้วฝากนายโคบาลนั้นไว้ ด้วยคิดว่า พรุ่งนี้เช้าจึงจะมา
รับเอาไป ต่อมานมสดนั้น ก็กลายเป็นนมส้ม
เมื่อบุรุษนั้นมาก็บอกนายโคบาลว่า จงให้หม้อนมสดนั้นแก่เรา นายโคบาลนั้นก็ส่งหม้อนมส้มให้ ฝ่ายผู้ซื้อก็กล่าวว่า เราไม่ได้ซื้อนมส้มจากเจ้า
เจ้าจงให้นมสดแก่เรา นาย โคบาลก็ตอบว่า นมสดนั้นแหละกลายเป็น นมส้ม
ลําดับนั้น คนทั้งสองได้โต้เถียงกันไม่ตกลง จึงพากันมาเฝ้ามหาบพิตร พระองค์ จะทรงวินิจฉัยให้คนไหนชนะ ?
โยมต้องวินิจฉัยให้นายโคบาลชนะ
เพราะอะไร มหาบพิตร ?
เพราะถึงบุรุษนั้นกล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่นมส้มนั้นก็เกิดมาจากนมสดนั่นเอง
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงนามรูปที่มีต่อมา จนกระทั่งเวลาตายเป็นนามรูปอื่น ส่วนนามรูปที่ถือกําเนิดเป็นนามรูปอื่นก็ตาม
แต่ก็เกิดมาจากนามรูปเดิมนั่นแหละ เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม ขอถวาย พระพร
พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว
อธิบาย
คําว่า นามรูป ในที่นี้ท่านหมายถึง จิต และ กาย ส่วนคําว่า
นามรูปนี้ เป็น นามรูปอื่น ท่านหมายความว่า บุคคลที่ยังเกิดอยู่นั้น เพราะผลกรรมของตน ( นามรูปนี้ )
ที่กระทําไว้แต่ชาติก่อน ถ้าเป็นกรรมชั่วให้ผล ถึงจะเกิดอีกกี่ชาติ ( นามรูปอื่น ) ก็หาพ้นจากบาปกรรมที่ตนทําไว้แต่เดิมไม่ จนกว่าจะไม่เกิดอีกถึงจะพ้นจาก
ผลกรรมเหล่านั้น
ฎีกามิลินท์ อธิบายคําว่า นามรูปอื่น หมายถึงนามรูปในอนาคต ที่มีอยู่ในสุคติ และทุคติ
ที่เกิดสืบต่อไปด้วยนามรูปปัจจุบัน
ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาลึก ผู้ศึกษาควรใคร่ครวญด้วยปัญญาของตนเองด้วยเนื้อความอันใดดีกว่าเนื้อความที่เรากล่าวแล้ว ก็ควรถือเอาเนื้อความอันนั้น
ปัญหาที่ ๗ ถามการเกิดอีกแห่งพระนาคเสน
ข้าแต่พระนาคเสน ก็พระผู้เป็นเจ้าล่ะ จะเกิดอีกหรือไม่ ?
อย่าเลยมหาบพิตร พระองค์จะต้องพระประสงค์อันใด ด้วยคําถามนี้ เพราะอาตมภาพได้กล่าว ไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า
ถ้าอาตมภาพยังมีอุปาทาน คือความยึดถืออยู่ ก็จักเกิดอีก ถ้าไม่มีความยึดถือแล้ว ก็จักไม่เกิดอีก
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกับบุรุษผู้หนึ่ง ได้กระทําความดีไว้ต่อพระราชา พระ ราชาก็ทรงโปรดปรานเขา ได้พระราชทานทรัพย์
และยศแก่เขา เขาก็ได้รับความสุขในทาง กามคุณ ๕ ด้วยได้รับพระราชทานทรัพย์ และยศนั้น
ถ้าบุรุษนั้นบอกแก่มหาชนว่า พระราชาไม่ได้พระราชทานสิ่งใดแก่เรา มหาบพิตรจะ ทรงวินิจฉัยว่า บุรุษนั้นพูดถูกหรือไม่ ?
ไม่ถูก พระผู้เป็นเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร จะ ประโยชน์อันใดด้วยคําถามนี้ เพราะอาตมภาพ ได้บอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ถ้าอาตมภาพ
ยังมีความยึดมั่นอยู่ ก็จักเกิดอีก ถ้าไม่มีความยึดมั่นแล้ว ก็จักไม่เกิดอีก ขอถวายพระพร
ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า
อธิบาย
ฎีกามิลินท์ กล่าวว่า ปัญหาข้อที่ ๗ นี้เคยถามมาก่อนแล้วข้างต้นโน้น แต่ที่ถามอีก ก็เพราะอยากจะฟังคําอุปมา
ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องนามรูป
ข้าแต่พระนาคเสน คําว่า นามรูป ที่พระ ผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้แล้วนั้นอะไรเป็นนามรูป ?
รูปใดเป็นรูปหยาบ รูปนั้นแหละเป็น รูป ส่วนสิ่งใดเป็นของละเอียด คือ จิตและเจตสิก สิ่งนั้นเรียกว่า
นาม
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เหตุใดจึงถือกําเนิดแต่นาม ส่วนรูปไม่ถือกําเนิดล่ะ ?
ขอถวายพระพร สิ่งเหล่านั้นอาศัยกันและกัน ย่อมเกิดด้วยกัน
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
ขอถวายพระพร ถ้าแม่ไก่ไม่มีกลละ ( น้ำใส ๆ เล็ก ๆ ) ไข่ก็ไม่มี กลละกับไข่ทั้งสองนี้อาศัยกัน เกิดร่วมกันไปฉันใด
ข้อนี้ก็มีอุปมาฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถ้านามไม่มี รูปก็เกิดไม่ได้ นามกับรูป ทั้งสองนี้อาศัยกัน เกิดด้วยกัน นาม กับ
รูป ทั้งสองนี้ เวียนวนมาในวัฏสงสารสิ้นกาลนานนักหนาแล้ว
สมควรแล้ว พระผู้เป็นเจ้า
ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องกาลนานยืดยาว
ข้าแต่พระนาคเสน คําที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า สิ้นกาลนานนักหนาแล้วนั้น คําว่า นาน
นั้น หมายถึงอะไร ?
ขอถวายพระพร หมายถึง กาล อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สังขารทั้งหลายมีอยู่ นานทั้งนั้นหรือ ?
ขอถวายพระพร บางอย่างก็มี บางอย่างก็ไม่มี
อะไรมี..อะไรไม่มี ?
ขอถวายพระพร สังขารที่ล่วงลับดับ สลายไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ไม่มีส่วนสิ่ง ที่เป็นผลกรรม และสิ่งที่เป็นผลกรรมให้เกิด
ต่อไปนั้นยังมีอยู่นาน สัตว์เหล่าใดตายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นไปเกิดในที่อื่น สัตว์เหล่านั้นยังมีอยู่นาน ส่วนพระอริยบุคคลที่ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานแล้ว
ไม่มีอยู่อีก เพราะปรินิพพานแล้ว ขอถวายพระพร
ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า
จบวรรคที่ ๒
*********************
◄ll กลับสู่ด้านบน
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป
******************************************
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 14/6/08 at 07:15 |
|
Update 14 มิ.ย. 51
วรรคที่ ๓
ปัญหาที่ ๑ ถามมูลเหตุแห่งกาลทั้ง ๓
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ข้าแต่พระนาคเสน อะไรเป็นมูล แห่งกาลนาน อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ?
พระเถระตอบว่า ขอถวายพระพร อวิชชา เป็นมูลแห่งกาลนาน อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เพราะว่า
อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร
สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป
นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ
สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน
อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ
ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ
ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ( ตั้งแต่ อวิชชา มาถึง
อุปายาส รวม เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท )
เป็นอันว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ปุริมโกฏิ คือ
ที่สุดเบื้องต้นแห่งกาลนานย่อมไม่ปรากฏ
พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขถูกต้องดีแล้ว
ปัญหาที่ ๒ ถามที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสาร
คําที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า ปุริมโกฏิ ไม่ปรากฏนั้น โยมยังสงสัยอยู่ อะไรเป็น ปุริมโกฏิ
กาลนานอันอันเป็นอดีตนั้นหรือเป็น ปุริมโกฏิ ?
มหาราชะ ปุริมโกฏินั้นแหละ เป็นกาลนานอันเป็นอดีต
ข้าแต่พระนาคเสน เพราะเหตุไร ปุริมโกฏิจึงไม่ปรากฏ ?
ขอถวายพระพร ปุริมโกฏิบางอย่างก็ปรากฏ บางอย่างก็ไม่ปรากฏ
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อย่างไหนปรากฏ อย่างไหนไม่ปรากฏ ?
ขอถวายพระพร สิ่งทั้งปวงที่ไม่เคยมีเบื้องต้นปรากฏเลย ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา อันนี้แหละ เรียกว่า ปุริมโกฏิ
คือที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏ อีกประการหนึ่ง สิ่งที่ไม่เคยมีมามีขึ้น มีขึ้นแล้วกลับหายไป อันนี้แหละเรียกว่า ปุริมโกฏิ
คือที่สุดเบื้องต้นปรากฏ
ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่า ที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏนั้น จะเปรียบเหมือนด้วยสิ่งใด ขอนิมนต์อุปมา
อุปมาด้วยพืช
ขอถวายพระพร พืชเล็ก ๆ ที่อาศัยแผ่นดินแล้ว เกิดมีใบ มีดอก มีผล ถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ ไปตาม
ลําดับผล ก็เกิดจากพืชนั้น ลําดับนั้น ต้นของพืชนั้นก็มีใบ ดอก ผล ถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ไปตาม ลําดับ ที่สุดแห่งการสืบต่อแห่งพืชนี้มีอยู่ หรือไม่
?
ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือที่สุดเบื้องต้นแห่งกาลนานไม่ปรากฏ
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป
อุปมาด้วยแม่ไก่
มหาราชะ ไข่ออกจากแม่ไก่ แม่ไก่ออกมาจากไข่ ไข่ก็ออกมาจากไก่อีก ที่สุด แห่งการสืบต่อแห่งไก่นี้มีอยู่หรือไม่ ?
ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ที่สุดเบื้องต้นแห่งกาลนานไม่ปรากฏ
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก
อุปมาด้วยกงรถ
พระนาคเสนจึงขีดเป็นกงรถลงที่พื้นดิน แล้วถามพระเจ้ามิลินท์ว่า ที่สุดแห่งกงรถนี้มี อยู่หรือไม่ ?
ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร สมเด็จ พระธรรมสามิสรตรัสไว้ว่า กงจักรเหล่านี้ ได้แก่ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย
มโน
ขอถวายพระพร จักขุวิญญาณ ย่อมเกิดเพราะอาศัย จักขุ กับ รูป เมื่อสิ่งทั้ง ๓ นั้นรวมกันก็เป็น
ผัสสะ
ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา
เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา
ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน
อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด กรรม
จักขุ ก็เกิดจาก กรรม อีก ที่สุดแห่งการสืบต่ออันนี้มีอยู่หรือไม่ ?
ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยเสียงกับหู
จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ มโนกับธรรมะ
เมื่อสิ่งทั้ง ๓ รวมกันเข้าก็เป็น ผัสสะ แล้วทําให้เกิด เวทนา ตัณหา อุปาทาน กรรม แล้ว โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย
มโน ก็เกิดจากกรรมนั้นอีก ที่สุดแห่งการสืบต่อนี้ มีอยู่หรือไม่ ?
ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ขอถวายพระพร
ชอบแล้ว พระนาคเสน
ฏีกามิลินท์
อธิบายคำว่า เขียนกงรถที่พื้นดิน ได้แก่เขียนกงรถลงไปที่พื้นดิน เวียนรอบแล้วรอบเล่า ๆ แล้วจึงได้ถามปัญหาขึ้นอย่างนั้น
ปัญหาที่ ๓ ถามความปรากฏแห่งที่สุดเบื้องต้น
ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า ที่สุดเบื้องต้นบางอย่างปรากฏ บางอย่างไม่ปรากฏ จึงขอถามว่า อย่างไหนปรากฏ
อย่างไหนไม่ปรากฏ ?
ขอถวายพระพระ สิ่งทั้งปวงที่ไม่เคยมีเบื้องต้นปรากฏมาเมื่อก่อนนั้นแหละ เรียกว่า ที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏ
สิ่งใดไม่เคยมีแต่มีขึ้น ครั้นมีขึ้นแล้วก็หายไป อันนี้แหละ เรียกว่า ที่สุดเบื้องต้นปรากฏ
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สิ่งใดไม่เคยมีมา มีขึ้น มีขึ้นแล้วหายไป ที่สุดเบื้องต้นอันขาดไปเป็น ๒ ฝ่าย
ก็ได้ความแล้วไม่ใช่หรือ ?
ขอถวายพระพร ถ้าที่สุดเบื้องต้นตัดออกไปเป็น ๒ ฝ่ายแล้วก็ได้ความ
พระผู้เป็นเจ้าอาจให้โยมเข้าได้เป็น ๒ ฝ่ายหรือไม่ ?
ขอถวายพระพร อาจให้เข้าพระทัยได้
โยมไม่ได้ถามข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าอาจให้โยมเข้าใจได้โดยที่สุดหรือไม่ ?
อาจ ขอถวายพระพร
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
พระเถระก็ได้ยกเอาต้นไม้ขึ้นอุปมา ดังที่ว่ามาแล้วนั้น
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ดีแล้ว
ฎีกามิลินท์
พืชย่อมเกิดเป็นต้นไม้แล้วมีใบ ดอก ผล เป็นลำดับไปฉันใด กองแห่งทุกข์ทั้งสิ้นก็เกิดต่อกัน ไม่ปรากฏเบื้องต้นว่า เกิดมาแต่ครั้งไหนฉันนั้น ได้ใจความว่า
รูปนามของสรรพสัตว์ทั้งหลายนี้ ไม่ปรากฏว่าเบื้องต้นเกิดมาแต่เมื่อไร เพราะเกิดต่อ ๆ กันมาเป็นลำดับ
ปัญหาที่ ๔ ถามถึงความเกิดขึ้นแห่งสังขาร
ข้าแต่พระนาคเสน สังขารบางอย่างเกิดขึ้นมีอยู่หรือ ?
ขอถวายพระพร มีอยู่
ได้แก่สังขารเหล่าไหน ?
มหาราชะ เมื่อ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน มีอยู่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ
ก็มีอยู่
เวทนาอันเกิดเพราะ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส ก็มีอยู่ เมื่อมีเวทนา ก็มีตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ
โสกปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสขึ้น เป็นอันว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นมีขึ้นอย่างนี้ เมื่อจักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ไม่มี วิญญาณ ๖
สัมผัส ๖ เวทนา ๖ นั้นก็ไม่มี เมื่อไม่มีเวทนา ก็ไม่มีตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นอันว่า ความดับไปแห่ง
กองทุกข์ทั้งสิ้นมีขึ้นอย่างนี้ ขอถวายพระพร
พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว
สรุปความ
ปัญหานี้ท่านถามต่อเนื่องมาจากปัญหาที่แล้ว คือ กงรถ ที่เป็นวงกลม หรือเรียกว่า กงจักร นั่นเอง ได้แก่ ตา หู จมูก
ลิ้น กาย ใจ รวม เรียกว่า อายตนะภายใน ๖ ส่วน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รวมเรียกว่า อายตนะ ภายนอก ๖
ทั้งหมดรวมเรียกว่า สฬายตนะ หรือที่เรียกกันว่า ทวาร อันเป็นทางเข้าของ อารมณ์ต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตาเห็นรูป
เรียกว่าจักขุวิญญาณ ( ประสาทรับรู้ทางตา ) ส่วนอวัยวะอื่นก็ทําหน้าที่กันเป็นคู่ ๆ จะไม่นํามา กล่าวย้อนอีก
รวมความว่า เมื่อ ๓ อย่างคือ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ มา กระทบกันจึงเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัย
คือเป็นเหตุให้เกิด เวทนา ได้แก่อารมณ์ที่ พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ไม่สนใจบ้าง เป็นต้น
เวทนา ทําให้เกิด ตัณหา อุปาทานกรรม กล่าวรวม ๆ คือกระทําไปด้วยความหลงผิด ส่งผลให้เกิด สฬายตนะ
อีกให้สืบ ต่อหมุนเวียนอย่างนี้เป็นวัฏจักร เรียกว่า ปุริมโกฏิ คือหาเบื้องต้นไม่ได้ หาเบื้องปลาย ไม่พบ สิ้นกาลนานนักหนา อันเป็นอดีต
อนาคต และปัจจุบัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะมี อวิชชา เป็น มูลเหตุ
อุปมาเหมือนกับเมล็ดพืชกับต้นไม้ เหมือนไข่กับแม่ไก่ และเหมือนกงรถนี้ เป็นอันว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์มีขึ้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นการตอบคําถาม
ของพระเจ้ามิลินท์ที่ถามว่า สังขารเหล่าไหนที่เกิดมีขึ้น ?
แล้วพระนาคเสนท่านก็แก้ต่อไปว่า สฬายตนะ ไม่มี วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ก็ไม่มี ตัณหา อุปาทาน กรรม ทุกข์ต่าง
ๆ ก็ไม่มี รวมความว่า ความดับไปแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นมีขึ้นอย่างนี้ ดังที่ได้สรุปให้เชื่อมโยงกัน ทั้งหมดนี้ ส่วนปัญหาที่ ๕ เป็นข้อต่อไป จะเป็น
คําถามที่ตรงกันข้ามกับข้อที่ ๔ มีว่าอย่างนี้
ปัญหาที่ ๕ ถามถึงความมีขึ้นแห่งสังขารที่ไม่มี
ข้าแต่พระนาคเสน สังขารบางอย่างไม่มี แต่มีขึ้น มีบ้างหรือไม่ ? [/color]
ขอถวายพระพร ไม่มี สังขารที่มีอยู่ เท่านั้นมีขึ้น เช่นพระราชมณเฑียรที่มหาบพิตร ประทับนั่งอยู่นี้ เมื่อก่อนไม่มี แต่มีขึ้น
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ในข้อนี้ได้ความว่า สังขารทุกอย่างที่ไม่มี แต่มีขึ้น...ไม่มี มีขึ้นเฉพาะที่มีอยู่เท่านั้น
อุปมาพระราชมณเฑียร
ขอถวายพระพร ไม้ที่นํามาทําพระราชมณเฑียรนี้ ได้เกิดอยู่แล้วในป่า ดินเหนียวนี้ได้มีที่แผ่นดิน
แต่มามีขึ้นในที่นี้ด้วยความพยายามของสตรีและบุรุษทั้งหลาย เป็นอันว่า พระราชมณเฑียรนี้มีขึ้นด้วย อาการอย่างนี้ฉันใด สังขารบางอย่างที่ไม่มี
แล้วมีขึ้น..ไม่มี มีขึ้นเฉพาะสังขารที่มีอยู่เท่านั้น ฉันนั้น
ขอนิมนต์อุปมาอีก
อุปมาด้วยต้นไม้
ขอถวายพระพร พืชเล็ก ๆ เกิดอยู่ใน แผ่นดิน พืชเหล่านั้นย่อมมีใบ ดอก ผล ตาม ลําดับ พืชที่เกิดเป็นลําต้นเหล่านั้นไม่มีอยู่ แต่
มีขึ้นหามิได้
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เป็นอันว่า ต้นไม้เหล่านั้น เป็นของมีอยู่แล้ว จึงมีขึ้นได้อย่างนั้นนะ
ขอถวายพระพร อย่างนั้นแหละ คือสังขารบางอย่างที่ไม่เคยมี แต่มีขึ้น..เป็นอันไม่มี มีขึ้นเฉพาะแต่ที่มีอยู่เท่านั้น
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้น
อุปมาด้วยช่างหม้อ
ขอถวายพระพร ช่างหม้อขุดเอาดินจากแผ่นดิน แล้วมาทําเป็นภาชนะต่าง ๆ ขึ้น ภาชนะเหล่านั้นยังไม่เคยมี แต่มีขึ้น จึงว่ามี
ขึ้นเฉพาะของที่มีอยู่เท่านั้นฉันใด สังขารบางอย่างที่ไม่มี แต่มีขึ้น..เป็นอันไม่มี มีขึ้นเฉพาะ แต่ที่มีอยู่เท่านั้น ฉันนั้น
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป
อุปมาด้วยพิณ
ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า เมื่อก่อนใบพิณไม่มี หนังขึ้นพิณก็ไม่มี รางพิณก็ไม่มี คันพิณก็ไม่มี ลูกบิดก็ไม่มี สายพิณก็ไม่มี
นมพิณก็ไม่มี ความพยายามอันเกิดจากกระทําของบุรุษก็ไม่มี แต่มีเสียงขึ้นอย่างนั้น หรือ ?
ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร เพราะใบพิณมี หนังขึ้นพิณก็มี รางพิณก็มี คันพิณก็มี ที่รองพิณก็มี สายพิณก็มี นมพิณก็มี ความพยายาม
อันเกิดจากการกระทําของบุรุษก็มี จึงมีเสียง ขึ้นอย่างนั้นหรือ ?
อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ สังขารบางอย่างไม่มี แต่มีขึ้น...เป็นอันไม่มี มีขึ้นเฉพาะแต่ที่มีอยู่เท่านั้น
ขอนิมนต์อุปมายิ่งขึ้นไปอีก
อุปมาด้วยไฟ
ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าแม่ไม้สีไฟไม่มี ลูกไม้สีไฟก็ไม่มี เชือกที่ผูกไม้สีไฟก็ไม่มี ไม้ที่จะหนุนขึ้นไว้ก็ไม่มี
ปุ๋ยหรือฝอยในแม่ไม้สีไฟก็ไม่มี ความพยายามอันเกิดจาก การกระทําของบุรุษก็ไม่มี แต่มีไฟขึ้นอย่าง นั้นหรือ ?
ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้ป็นเจ้า
ขอถวายพระพร เพราะเหตุที่แม่ไม้สีไฟก็มี ลูกไม้สีไฟก็มี เชือกรัดแม่ไม้สีไฟก็มี ไม้สําหรับหนุนแม่ไม้สีไฟให้สูงขึ้นก็มี
ปุ๋ยหรือฝอยในแม่ไม้สีไฟก็มี ความพยายามอันเกิดจากการกระทําของบุรุษก็มี ไฟนั้นจึงมีขึ้นได้อย่างนั้นหรือ ?
อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือสังขารบางอย่างไม่มี แต่มีขึ้น..เป็นอันไม่มี มีขึ้นเฉพาะแต่ที่มีอยู่แล้วเท่านั้น
ขอให้อุปมายิ่งขึ้นไปกว่านี้
อุปมาด้วยแก้วมณี
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนแก้วมณีไม่มี แสงแดดก็ไม่มี ขี้โคแห้งก็ไม่มี แต่ไฟเกิดขึ้นได้อย่างนั้นหรือ ?
ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร ก็เหตุที่แก้วมณีก็มี แสงแดดก็มี ขี้โคแห้งก็มี ไฟจึงมีขึ้นอย่างนั้น หรือ ?
อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือสังขารบางอย่างที่ไม่เคยมี แต่มีขึ้น..ย่อมไม่มี
มีขึ้นแต่เฉพาะที่มีอยู่แล้วเท่านั้น
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งไปกว่านี้อีก
อุปมาด้วยกระจกเงา
ขอถวายพระพร เปรียบเช่นกับกระจกเงาไม่มี แสงสว่างก็ไม่มี หน้าคนที่จะส่องก็ไม่มี แต่มีหน้าคนเกิดขึ้นที่กระจกเงานั้นอย่างนั้น
?
ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร เพราะเหตุที่กระจกเงาก็มีอยู่ แสงสว่างก็มีอยู่ หน้าคนที่ส่องกระจกนั้นก็มีอยู่ เงาหน้าคนจึง
ปรากฎที่กระจกอย่างนั้นหรือ ?
อย่างนั้น พระพุทธเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนี่แหละ มหาบพิตร คือ สังขารบางอย่างที่ยังไม่เคยมี แต่มีขึ้น..ย่อมไม่มีขึ้น มีขึ้นเฉพาะที่เคยมีอยู่แล้วเท่านั้น
ขอถวายพระพร
ผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป
*********************************
Update 23 มิ.ย. 51
ตอนที่ ๘
ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องผู้ถึงเวทย์
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ข้าแต่พระนาคเสน เวทคู คือผู้ถึงเวทย์มีอยู่หรือ ?
พระเถระจึงย้อนถามว่า มหาบพิตร ในข้อนี้ใครชื่อว่าเวทคู ?
พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อัพภันตรชีพ สิ่งที่เป็นอยู่ในภายในนี้ ย่อมเห็นรูปด้วยตา
ได้ยินเสียงด้วยหู สูดดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องสัมผัสด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ นี้แหละชื่อว่า เวทคู
โยมจะเปรียบให้พระผู้เป็นเจ้าฟัง เหมือนหนึ่งว่าเราทั้งสองนั่งอยู่ที่ปราสาทแห่งนี้ ปรารถนาจะแลดูออกไปทางช่องหน้าต่างใด ๆ
ก็แลดูออกไปทางช่องหน้าต่างนั้น ๆ จะเป็นทางตะวันออก หรือทางตะวันตก ทางเหนือ ทางใต้ ก็ได้ตามประสงค์ฉันใด
อัพภันตรชีพ คือสิ่งที่เป็นอยู่ ในภายในร่างกายนี้ ต้องการจะดูออกไปทางทวารใด ๆ ก็ออกดูไปทางทวารนั้น ๆ แล้วก็ได้เห็นรูปด้วยตา
ได้ฟังด้วยหู ได้สูดดมกลิ่นด้วยจมูก ได้รู้รสด้วยลิ้น ได้ถูกสัมผัสด้วยกาย ได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ฉันนั้น
พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่า อาตมภาพจะกล่าวให้ยิ่งขึ้นไป คือเราทั้งสองอยู่ที่ปราสาทนี้ ต้องการจะแลออกไปทางช่องหน้าต่างใด ๆ
จะเป็นทางตะวันออก หรือทางตะวันตก ทางเหนือ ทางใต้ ก็ได้เห็นรูปต่างๆ ฉันใด
บุคคลต้องได้เห็นรูปด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็น อัพภันตรชีพ อย่างนั้นหรือ ?
ต้องได้ฟังเสียงด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ ?
ต้องได้สูดกลิ่นด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ ?
ต้องได้รู้รสด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ ?
ต้องถูกต้องสัมผัสด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ ?
ต้องรู้ธรรมารมณ์ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ ?
ไม่ใช่ฉันนั้น พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร คำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังขอมหาบพิตร ย่อมไม่สมควรแก่กัน เหมือนอย่างว่าเราทั้งสอง
นั่งอยู่ที่ปราสาทแห่งนี้ เมื่อเปิดช่องหน้าต่างเหล่านี้ไว้ แล้วแลออกไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ ก็ต้องเห็นรูปได้ดีฉันใด
อัพภันตรชีพนั้น เมื่อเปิดจักขุทวารหันหน้าออกไปภายนอก ทางอากาศอันกว้างใหญ่ ก็เห็นรูปได้ดี เมื่อเปิดหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้
แล้วหันหน้าออกไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ ต้องเห็นรูปได้ดีฉันนั้น อย่างนั้นหรือ ?
ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร คําหลังกับคําก่อน หรือคําก่อนกับคําหลังของมหาบพิตร ย่อมไม่สมควรแก่กัน เหมือนอย่างว่า
มียาจกเข้ามารับพระราชทานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากมหาบพิตรแล้ว ออกไปยืนอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอก มหาบพิตรทรงรู้หรือไม่ ?
อ๋อ...รู้ซิ พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร ผู้ที่ได้รับพระราชทานแล้วเข้าไปภายใน ยืนอยู่ตรงพระพักตร์ของมหาบพิตร พระองค์รู้หรือว่าผู้นี้เข้ามาในภายใน
มายืนอยู่ข้างหน้าเรา ?
รู้ พระผู้เป็นเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ อัพภันตรชีพ นั้น เมื่อวางรสไว้ที่ลิ้น ก็รู้ว่าเป็น รสเปรี้ยว หรือรสเค็ม
รสขม รถเผ็ด รสฝาด รสหวานหรือไม่ ?
รู้ พระผู้เป็นเจ้า
เมื่อรสเหล่านั้นไม่เข้าไปภายใน อัพภันตรชีพ นั้น รู้หรือไม่ว่าเป็นรสเปรี้ยว รสเค็ม รสขม
รสเผ็ด รสฝาด
รสหวาน ?
ไม่รู้ พระผู้เป็นเจ้า
นี่แหละ มหาบพิตร จึงว่าคําหลังกับคําก่อน หรือคําก่อนกับคําหลังของมหาบพิตร ไม่สมควรแก่กัน ไม่สมกัน
เหมือนกับมีบุรุษผู้หนึ่งให้บรรทุกน้ำผึ้งตั้ง ๑๐๐ หม้อ มาเทลงในรางน้ำผึ้ง แล้วมัดปากบุรุษนั้นไว้ จึงเอาทิ้งลงไปในรางน้ำผึ้ง
บุรุษนั้นจะรู้จักรสน้ำผึ้งหรือไม่ ?
ไม่รู้ พระผู้เป็นเจ้า
เพราะอะไรล่ะ มหาบพิตร ?
เพราะน้ำผึ้งไม่เข้าไปในปากของเขา
ขอถวายพระพร ด้วยเหตุนี้แหละ จึงว่าคําหลังกับคําต้น หรือคําต้นกับคําหลังของมหาบพิตร ไม่สมควรแก่กัน เข้ากันไม่ได้
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมไม่อาจสนทนา กับพระผู้เป็นเจ้าในข้อนี้ได้แล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงข้อนี้ให้โยมเข้าใจเถิด
ลําดับนั้น พระเถระจึงแสดงให้พระเจ้ามิลินท์เข้าพระทัย ด้วยถ้อยคําอันเกี่ยวกับ อภิธรรม ว่า
ขอถวายพระพร จักขุวิญญาณ ย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัย ตา กับ รูป แล้วจึงมี เวทนา สัญญา
เจตนา ผัสสะ มนสิการ อันเกี่ยวข้องกับจักขุวิญญาณนั้น เกิดขึ้นตามปัจจัย
ถึง โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ก็เกิดขึ้นได้เพราะอาศัย หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ
ใจกับธรรมารมณ์ แล้วจึงเกิด เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ เหมือนกัน เป็นอันว่าผู้ชื่อว่า เวทคู ไม่มีในข้อนี้ ขอถวายพระพร
พระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ ได้ฟังชัดก็โสมนัสปรีดา มีพระราชดํารัสตรัสสรรเสริญว่า
พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้ สมควรแล้ว
อธิบาย
คําว่า เวทคู แปลว่า ผู้ถึงเวทย์ ท่านหมายความว่า เป็นผู้ถึงซึ่งความรู้ คือผู้รับรู้สิ่งต่าง ๆ
พระเจ้ามิลินท์เข้าใจว่า เวทคู นั้น เป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นของมีชีวิตอยู่ภายใน อันเรียกว่า อัพภันตรชีพ
ว่าเป็นผู้เห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู หรือดมกลิ่นด้วยจมูก เป็นต้น ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด
ส่วนที่ถูกนั้น พระนาคเสนท่านกล่าวว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน หรือ อัพภันตรชีพ คือสิ่งที่เป็นอยู่ในภายในเป็นเวทคูเลย
การที่รู้อารมณ์ต่าง ๆ นั้น ได้แก่ วิญญาณอันเกิด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ
ต่างหากดังนี้
คือข้อนี้ท่านมุ่งแสดงเป็นปรมัตถ์ ( คือ เรื่องของจิตและเจตสิก) ไม่ได้มุ่งแสดงเป็น สมมุติ ( คือธรรมะทั่วไป ) ถ้าว่าเป็นสมมุติ
เวทคู นั้นก็มีตัวตน ดังนี้
ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความเกี่ยวกันแห่งจักขุวิญญาณกับมโนวิญญาณ
ข้าแต่พระนาคเสน จักขุวิญญาณ เกิดในที่ใด มโนวิญญาณ ก็ตามไปเกิดในที่นั้นหรือ ?
อย่างนั้น มหาบพิตร
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า จักขุวิญญาณเกิดก่อน มโนวิญญาณเกิดทีหลัง หรืออย่างไร ?
ขอถวายพระพร จักขุวิญญาญเกิดก่อน มโนวิญญาณเกิดทีหลัง
ข้าแต่พระนาคเสน ก็จักขุวิญญาณบังคับมโนวิญญาณไว้หรือว่า เราจักเกิดในที่ใดเจ้าจงเกิดในที่นั้น หรือ
มโนวิญญาณสั่งจักขุวิญญาณไว้ว่า เจ้าจักเกิดในที่ใด เราก็จักเกิดในที่นั้น อย่างนั้นหรือ
ไม่ใช่อย่างนั้น มหาบพิตร วิญญาณทั้งสองนั้นพูดจากันไม่ได้
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น ไฉนจึงว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็ เกิดในที่นั้น
ขอถวายพระพร ที่ว่าอย่างนั้น เพราะ เป็นของลุ่ม ๑ เป็นประตู ๑ เป็นที่สะสมมา ๑ เป็นสิ่งที่เคยประพฤติมา ๑
เพราะเป็นของลุ่ม
ข้าแต่พระนาคเสน จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นของลุ่ม นั้นคืออย่างไร
ขอนิมนต์อุปมาด้วย ?
ขอถวายพระพร เมื่อฝนตกลงมา มหาบพิตรทรงเข้าพระทัยว่า น้ำจะไปทางไหน ?
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่ลุ่มมีอยู่ทางใด น้ำก็ต้องไปทางนั้น
ขอถวายพระพร เมื่อฝนตกลงมาอีก น้ำจะไหลไปทางไหน ?
ข้าแต่พระนาคเสน น้ำก่อนไปทางใด น้ำใหม่ก็ต้องไปทางนั้น
ขอถวายพระพร น้ำก่อนสั่งน้ำหลังไว้ หรือว่าเราไปทางใด เจ้าจงไปทางนั้น หรือว่า น้ำหลังสั่งน้ำก่อนไว้ว่า เจ้าจักไปทางใด
เราก็จักไปทางนั้น ?
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า น้ำทั้งสองนั้นพูดจากันไม่ได้ แต่น้ำนั้นไหลไปได้ เพราะทางนั้นเป็นทางลุ่ม เป็นทางต่ำต่างหาก
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะที่นั้นเป็นที่ลุ่ม
เป็นที่ต่ำ จักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณไว้ว่า เราเกิดในที่ใดเจ้าจงเกิดในที่นั้น มโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณไว้เหมือนกัน
วิญญาณทั้งสองนั้นไม่มีการพูดจากัน แต่ว่าเกิดในที่นั้นในสิ่งนั้น เพราะที่นั้นสิ่งนั้น เป็นเหมือนที่ลุ่มที่ต่ำฉะนั้น
เพราะเป็นประตู
ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นประตู นั้นอย่างไร
ขอได้โปรดอุปมาด้วย ?
ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าหัวเมืองชายแดนของพระราชา มีป้อมค่ายคูประตูหอรบแน่นหนาแข็งแรง แต่มีประตูเข้าออกเพียงประตูเดียว
มีผู้อยากจะออกไปจากพระนครนั้น จะออกไปทางไหน ?
ออกไปทางประตูซิ พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร ยังมีบุรุษอีกคนหนึ่งอยากจะออกไป เขาจะออกไปทางไหน ?
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุรุษคนก่อนออก ไปทางประตูใด บุรุษคนหลังก็ต้องออกไปทางประตูนั้นแหละ
ขอถวายพระพร บุรุษคนก่อนสั่งบุรุษคนหลังไว้หรือว่า เราออกทางประตูใด เจ้าจงออกทางประตูนั้น
หรือบุรุษคนหลังสั่งบุรุษคนก่อนไว้ว่า เจ้าออกทางประตูใด เราก็จักออกทางประตูนั้น ?
ข้าแต่พระนาคเสน บุรุษทั้งสองนั้น ไม่ได้บอกกันไว้เลย แต่เขาออกไปทางเดียวกัน เพราะทางนั้นเป็นประตู
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะที่นั้น เป็นประตู
ไม่ใช่จักขุวิญญาณสั่งมโนวิญญาณไว้ หรือมโนวิญญาณสั่งจักขุวิญญาณไว้ ทั้งสองนั้นไม่มีการพูดจากัน แต่เกิดขึ้นในที่แห่งเดียวกัน เพราะที่นั้นเป็นประตู
เพราะเป็นที่สะสมมา
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะ เป็นที่สะสมมานั้นคืออย่างไร
ขออุปมาให้แจ้งด้วย ?
ขอถวายพระพร เกวียนเล่มแรกไปก่อนแล้ว มหาบพิตรจะเข้าพระทัยว่า เกวียนเล่มที่ ๒ จะไปทางไหน ?
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เกวียนเล่มแรกไปทางใด เกวียนเล่มหลังก็ต้องไปทางนั้น
ขอถวายพระพร เกวียนเล่มก่อนสั่ง เกวียนเล่มหลังไว้หรือว่า เราไปทางใดเจ้าจงไปทางนั้น
หรือว่าเกวียนเล่มหลังสั่งเกวียนเล่มก่อนไว้ว่า เจ้าจักไปทางใด เราก็จักไปทางนั้น ?
ไม่ได้สั่งไว้เลย ผู้เป็นเจ้า เพราะเกวียนทั้งสองนั้นไม่มีการพูดกัน แต่ไปทางเดียวกัน เพราะทางนั้นเป็นทางที่สะสมมาแล้ว
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร จักขุวิญญาณกับมโนวิญญาณไม่ได้สั่งกันไว้เลย แต่เกิดในที่แห่งเดียวกันเพราะเป็นที่สะสมมาแล้ว
เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติมา
ข้าแต่พระนาคเสน ข้อว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น
เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติมานั้นคืออย่างไร ขอจงอุปมาให้ทราบด้วย ?
ขอถวายพระพร ผู้ที่เริ่มเรียนศิลปะ ในการนับด้วยนิ้วมือ หรือนับตามลําดับ หรือขีดเป็นรอยขีด หรือหัดยิงธนู ทีแรกก็ช้าก่อน
ต่อมาภายหลังก็ไวขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติแล้ว คือได้กระทำมาเสมอฉันใด
จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น จักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณไว้เลยว่า เราเกิดในที่ใดเจ้าจงเกิดในที่นั้น
มโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณไว้เลยว่า เจ้าจะเกิดในที่ใด เราก็จะเกิดในที่นั้น เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติมาแล้ว ฉันนั้น
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า วิญญาณทั้งสองนั้น ไม่มีการพูดจากันเลย แต่เกิดในที่แห่งเดียวกัน เพราะได้เคยประพฤติมา ถึง
โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็เหมือนกัน อย่างนั้นหรือ ?
อย่างนั้น มหาบพิตร เป็นอันเหมือนกันหมด
พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว
อธิบาย
ข้อนี้ได้ใจความว่า วิญญาณทั้ง ๕ คือ ความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ย่อมเกิดในที่แห่งเดียวกับ มโนวิญญาณ
คือความรู้สึกทางใจด้วย ยกตัวอย่างเช่น ตาเห็นรูปได้ชื่อว่า จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นก่อนแล้ว มโนวิญญาณ จึงเกิดทีหลัง
ทําให้รู้และเข้าใจได้ว่ารูปที่เห็นนั้นเป็นคน สัตว์ วัตถุสิ่งของ มีลักษณะเป็นประการใด
เพราะถ้าไม่มี มโนวิญญาณ เข้าร่วมด้วย ก็เหมือนกับคนนั่งใจลอยเหม่อมองไปข้างหน้า เมื่อไปถามว่าเห็นอะไรไหม
เขาก็ตอบว่าเห็นแต่ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งใด เพราะไม่ได้ตั้งใจดูอย่างนี้เป็นต้น ถึงจะเป็นการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสถูกต้อง ก็มีสภาพเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นเพราะอาศัย จักขุวิญญาณ หรือ โสตวิญญาณ หรือ ฆานวิญญาณ หรือ ชิวหาวิญญาณ
หรือ กายวิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามเกิดขึ้นก่อนแล้ว มโนวิญญาณ จึงจะเกิดทีหลังดังนี้
ปัญหาที่ ๘ ถามลักษณะผัสสะ
ข้าแต่พระนาคเสน จักขุวิญญาณ เกิดในที่ใด เวทนา ก็เกิดในที่นั้นหรือ ?
อย่างนั้น มหาบพิตร คือ จักขุวิญญาณ เกิดในที่ใด เวทนา ก็เกิดในที่นั้น ถึง สัญญา
เจตนา ผัสสะ มนสิการ วิตก วิจาร ก็เกิดในในที่นั้น ธรรมทั้งหลายมี ผัสสะ เป็นต้น ก็เกิดในที่นั้น ขอถวายพระพร
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผัสสะ มีลักษณะอย่างไร ?
ขอถวายพระพร ผัสสะ มีการ กระทบกัน เป็นลักษณะ
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกับแพะ ๒ ตัวชนกันอยู่ จักขุ เหมือนกับแพะตัวหนึ่ง รูป
เหมือนกับแพะอีกตัวหนึ่ง ผัสสะ เหมือนกับการชนกันแห่งแพะทั้งสองนั้น
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป
ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า มือทั้งสองที่ตบกัน จักขุ เหมือนมือข้างหนึ่ง รูป
เหมือนมืออีกข้างหนึ่ง ผัสสะ เหมือนการกระทบกันแห่งมือทั้งสอง
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก
ขอถวายพระพร เปรียบประดุจบุรุษเป่าปี่ ๒ เลาขึ้นพร้อมกัน จักขุ เหมือนปี่เลาหนึ่ง รูป
เหมือนปี่อีกเลาหนึ่ง ผัสสะ เหมือนการรวมกันแห่งเสียงปี่ทั้งสองเลานั้น
ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า
ปัญหาที่ ๙ ถามถึงลักษณะเวทนา
ข้าแต่พระนาคเสน เวทนา มีลักษณะอย่างไร ?
ขอถวายพระพร เวทนา มีการทําให้รู้สึก เป็นลักษณะอีกอย่างหนึ่งว่า มีการ
เสวย เป็นลักษณะ
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่ามีบุรุษผู้หนึ่ง ทําความดีความชอบต่อพระราชา เมื่อพระราชาทรงพอพระทัยแล้ว ก็ทรงพระราชทานทรัพย์ ยศ
บริวาร ให้แก่บุรุษนั้น บุรุษนั้นก็เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ แล้วเขาก็คิดว่าเราได้ทําความดีต่อพระราชาไว้แล้ว เราจึงได้เสวยความสุขอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง เหมือนกับบุรุษคนหนึ่งทําบุญกุศลไว้แล้ว ได้ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์ เขาก็มีความสุขด้วยทิพยสมบัติ แล้วเขาก็นึกได้ว่า
เพราะเราได้ทําบุญกุศลไว้ในกาลก่อน เราจึงได้เสวยความสุขอย่างนี้ อย่างนี้แหละ มหาบพิตร เรียกว่า เวทนา มีการ
ทําให้รู้สึก เป็นลักษณะ หรือมีการ เสวย เป็นลักษณะ
พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาสมควรแล้ว
ปัญหาที่ ๑๐ ถามลักษณะสัญญา
ข้าแต่พระนาคเสน สัญญา มีลักษณะอย่างไร ?
ขอถวายพระพร สัญญา มีการ จํา เป็นลักษณะ
จําอะไร ?
จําสีเขียว สีแดง สีขาว ขอถวายพระพร
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
ขอถวายพระพร เหมือนอย่างเจ้าพนักงานคลังของพระราชา ได้เข้าไปที่คลังแล้ว เห็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ของพระราชา อันมีสีสันต่าง ๆ กัน
คือสีเขียวก็มี เหลืองก็มี แดงก็มี ขาวก็มี เลื่อมก็มี ก็จําไว้ได้เป็นอย่าง ๆ ไปฉันใด สัญญา ก็มีการจําเป็นลักษณะฉันนั้น
ถูกแล้ว พระนาคเสน
ปัญหาที่ ๑๑ ถามลักษณะเจตนา
ข้าแต่พระนาคเสน เจตนา มีลักษณะอย่างไร ?
ขอถวายพระพร เจตนา มีความจงใจเป็นลักษณะ อีกอย่างหนึ่งว่า เจตนา มีการ
ประชุมแห่งการตกแต่ง เป็นลักษณะ
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้หนึ่ง ตกแต่งยาพิษขึ้นแล้ว ก็ดื่มเองด้วย ให้ผู้อื่นดื่มด้วย เขาก็เป็นทุกข
์ผู้อื่นก็เป็นทุกข์ฉันใด บางคนจงใจทำชั่วแล้วได้ไปเกิดใน อบาย ทุคติ วินิบาต นรก พวกใดทำตามบุรุษนั้น พวกนั้นก็ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เหมือนกันฉันนั้น
อีกประการหนึ่ง บุรุษหนึ่งตกแต่งเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ให้มีรสอันเดียวกัน แล้วก็ดื่มเองบ้าง ให้ผู้อื่นดื่มบ้าง เขาก็เป็นสุข
ผู้อื่นก็เป็นสุขฉันใด บางคนจงใจทําความดีแล้วได้ขึ้นไปเกิดในสวรรค์ พวกใดทําตามบุรุษนั้น พวกนั้นก็ได้ขึ้นไปเกิดในสวรรค์เหมือนกันฉันนั้น
อย่างนี้แหละ มหาบพิตร เรียกว่า เจตนา มีการ จงใจ เป็นลักษณะ อีกอย่างหนึ่งว่า มีการ ปรุงแต่ง
เป็นลักษณะ
พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว
ปัญหาที่ ๑๒ ถามลักษณะวิญญาณ
ข้าแต่พระนาคเสน วิญญาณ มีลักษณะอย่างไร ?
ขอถวายพระพร วิญญาณ มีการ รู้ เป็นลักษณะ
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
ขอถวายพระพร เปรียบประดุจบุรุษผู้รักษาพระนคร นั่งอยู่ที่ถนน ๔ แพร่งกลางพระนคร ต้องได้เห็นบุรุษผู้มาจากทางทิศตะวันออก
ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ฉันใด
บุคคลเห็นรูป หรือฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส นึกถึงสิ่งใดด้วยใจ ก็รู้จักสิ่งนั้นได้ด้วย วิญญาณ ฉันนั้น วิญญาณมีการ
รู้ เป็นลักษณะ อย่างนี้แหละ มหาบพิตร
ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน
ปัญหาที่ ๑๓ ถามลักษณะวิตก
ข้าแต่พระนาคเสน วิตก มีลักษณะอย่างไร ?
ขอถวายพระพร วิตก มีการ ประกบแน่น เป็นลักษณะ
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
ขอถวายพระพร ช่างไม้ย่อมเข้าไม้ในที่ต่อแล้วโบกด้วยปูนหรือทาด้วยสีให้สนิทฉันใด วิตก ก็มีการประกบแน่น
มีการแนบแน่นเป็นลักษณะฉันนั้น
ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน
ปัญหาที่ ๑๔ ถามลักษณะวิจาร
ข้าแต่พระนาคเสน วิจาร มีลักษณะอย่างไร ?
ขอถวายพระพร วิจาร มีการ ลูบคลําไปตามวิตก เป็นลักษณะ
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า กังสดาลอันบุคคลเคาะด้วยสันดาบ ก็มีเสียงดังเป็นกังวานต่อ ๆ กันไปฉันใด วิตก
ก็เหมือนกับการเคาะฉันนั้น ส่วน วิจาร เหมือนกับเสียงดังครวญครางไป
สมควรแล้ว พระนาคเสน
จบวรรคที่ ๓
◄ll กลับสู่ด้านบน
**โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป**
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 16/7/08 at 10:17 |
|
Update 16 กรกฎาคม 2551
วรรคที่ ๔
ปัญหาที่ ๑ ถามลักษณะมนสิการ
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ข้าแต่พระนาคเสน มนสิการ มีลักษณะ อย่างไร ?
พระเถระตอบว่า ขอถวายพระพร มนสิการ มีการ นึก เป็นลักษณะ
ถูกแล้ว พระนาคเสน
ปัญหาที่ ๒ ถามลักษณะ สิ่งที่มีภาวะอย่างเดียวกัน
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าอาจ แยกธรรมที่รวมเป็นอันเดียวกันเหล่านี้ ให้รู้ว่าต่างกันว่า
อันนี้เป็น ผัสสะ อันนี้เป็น เวทนา อันนี้เป็น สัญญา อันนี้เป็น เจตนา อันนี้เป็น วิญญาณ อันนี้เป็น วิตก
อันนี้เป็น วิจาร ได้ หรือไม่ ?
ไม่อาจ ขอถวายพระพร
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนพ่อครัวของพระราชา เมื่อจะตกแต่งเครื่องเสวย ก็ใส่เครื่องปรุงต่าง ๆ คือ นมส้ม เกลือ ขิง ผักชี พริก
และสิ่งอื่น ๆ ลงไป ถ้าพระราชา ตรัสสั่งว่า เจ้าจงแยกเอารสนมส้มมาให้เรา จงแยกเอารสเกลือ รสขิง รสผักชี รสหวาน รสเปรี้ยว มาให้เราทีละอย่าง ๆ
พ่อครัวนั้นอาจแยกเอารสที่รวมกันอยู่ เหล่านั้นมาถวายพระราชาว่า นี้เป็นรสเปรี้ยว นี้เป็นรสเค็ม นี้เป็นรสขม นี้เป็นรสเผ็ด นี้ เป็นรสฝาด ได้หรือไม่ ?
ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ก็แต่ว่าเขาอาจรู้ได้ ตามลักษณะของรสแต่ละรส
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ วิตก วิจาร รวมกันเข้าแล้ว
อาตมภาพก็ไม่อาจแยกออกให้รู้ได้แต่ละอย่าง ก็แต่ว่าอาจให้เข้าใจได้ ตามลักษณะแห่งธรรมเป็นอย่าง ๆ
ขอถวายพระพร เกลือ เป็นของจะต้องรู้ด้วย ตา ใช่ไหม ?
ใช่ พระผู้เป็นเจ้า
ขอมหาบพิตรจงจําคํานี้ไว้ให้ดีนะ
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น เกลือ เป็นของรู้ด้วย ลิ้น อย่างนั้นหรือ ?
อย่างนั้น มหาบพิตร
ถ้าบุคคลรู้จักเกลือทั้งหมดด้วยลิ้น เหตุไฉนจึงบรรทุกเกลือมาด้วยเกวียน ควรบรรทุกมาเฉพาะความเค็มเท่านั้นไม่ใช่หรือ ?
ไม่อาจบรรทุกมาแต่ความเค็มเท่านั้นได้ เพราะว่าของเหล่านี้เป็นของรวมกัน ส่วนความเค็มบุคคลอาจชั่งได้ด้วยตาชั่งหรือไม่
มหาบพิตร ?
อาจชั่งได้ พระผู้เป็นเจ้า
มหาบพิตร จงจําคํานี้ไว้ให้ดีว่า บุคคลอาจชั่งความเค็มได้ด้วยตาชั่ง
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าว่า บุคคลไม่อาจชั่งความเค็มได้ด้วยตาชั่งอย่างนั้นหรือ ?
อย่างนั้น มหาบพิตร
ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน
สรุปความ
วิญญาณทั้ง ๕ ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ คือความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะต้องมี มโนวิญญาณ
คือความ รู้สึกทางใจเข้าร่วมด้วย จึงจะสําเร็จประโยชน์ ในการเห็น การฟัง การดม การลิ้มรส และ การสัมผัส เป็นต้น
เมื่อวิญญาณทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นก่อน เช่น จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณ ก็เกิดในที่นั้น เพราะอาศัย จักขุ
กับ รูป ธรรมทั้งหลายมี ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ วิตก วิจาร มนสิการ ได้เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกัน แต่มีลักษณะต่างกัน ดังนี้
ผัสสะ มีลักษณะ กระทบกัน เช่น จักขุ กับ รูป เรียกว่า จักขุวิญญาณ เป็นต้น
เวทนา มีลักษณะ เสวยอารมณ์ คือ ทําให้รู้สึกมีความสุข มีความทุกข์ หรือ รู้สึก เฉย ๆ เป็นต้น
สัญญา มีลักษณะ จํา เช่นเมื่อตาเห็น รูปก็จําได้ว่า มีสีสันวรรณะเป็นประการใด
เจตนา มีลักษณะ จงใจ หรือ ประชุมแห่งการตกแต่ง หมายถึงมุ่งกระทํา ความดีหรือความชั่วด้วยความจงใจ
วิญญาณ อันนี้ไม่ใช่วิญญาณที่มาถือ กําเนิดในครรภ์ แต่ในที่นี้ท่านหมายถึง รู้ ในฎีกามิลินท์ท่านหมายถึง ประสาท เหมือนกัน
วิตก มีลักษณะ ประกบแน่น หมายถึงการที่จิตตรึกอารมณ์
วิจาร มีลักษณะ ลูบคลําไปตามวิตก คือจิตเคล้าอารมณ์ หรือจิตตรอง หรือ พิจารณาอารมณ์ที่ตรึกนั้น
วิตก กับ วิจาร ท่านอธิบายมีความหมายคล้ายกัน คือ วิตก เหมือนกับคนเคาะ ระฆัง เมื่อมีเสียงดังกังวานครวญครางขึ้น ท่านเรียกว่า
วิจาร ได้แก่อารมณ์คิดพิจารณา นั่นเอง
มนสิการ มีลักษณะ นึก ในข้อนี้ท่านไม่ได้ยกอุปมา เพราะได้เคยอุปมาให้พระเจ้า มิลินท์ได้ทราบไว้แล้ว
รวมความว่า การที่จะเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรสสัมผัสได้นั้น ไม่ใช่ อัพ ภันตรชีพ ( สิ่งที่เป็นอยู่ในภายในกายนี้ ) เป็น เวทคู
คือเป็นผู้รับรู้ แต่การที่จะมีความรู้สึกได้เพราะอาศัย วิญญาณ ต่างหาก และวิญญาณทั้ง ๕ นี้ย่อม ไหลไปสู่ มโนวิญญาณ
เหมือนกับน้ำไหลไปสู่ที่ลุ่มฉะนั้น
แต่ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นด้วยกัน อันมี ผัสสะ เป็นต้นนั้น ท่านไม่สามารถจะแยก ออกมาได้ว่า อันนี้เป็นผัสสะ อันนี้เป็นเวทนา
หรืออันนี้เป็นสัญญา เปรียบเหมือนเครื่อง แกงที่ผสมกันหมดแล้ว รสชาติของมันปรากฏอยู่ตามลักษณะของมัน แต่จะแยกออกมาไม่ได้
คําเปรียบเทียบของพระนาคเสนเรื่องนี้เหมาะสมมาก คือเมื่อเครื่องแกงผสมเป็นน้ำแกงแล้ว เมื่อเราตักออกมาช้อนหนึ่งชิมดู ย่อมมีรสเครื่องแกงทุกอย่างผสมอยู่
แต่จะแยกออกมาหาได้ไม่ แต่เราพอบอกได้ว่า ความเผ็ดเป็นรสของพริก ความเค็มเป็นรสของเกลือ ความเปรี้ยวเป็นรสของน้ำส้มหรือมะนาว และความหวานเป็นรสของน้ำตาล
เป็นต้น
อนึ่ง เหมือนกับการบรรทุกเกลือ แต่ จะไม่บรรทุกความเค็มมาด้วย หรือจะชั่ง เฉพาะเกลือ แต่ไม่ชั่งความเค็มด้วยนั้น ไม่สามารถจะกระทําได้ เพราะของเหล่านี้
เป็นของรวมกันฉันใด ธรรมทั้งหลายอันมี ผัสสะ เป็นต้น ได้ปรากฏชัดตามลักษณะของตน แต่จะแยกออกมาแต่ละอย่าง ๆ มิได้เช่นกัน
ตอนที่ ๙
ปัญหาที่ ๓ ถามการเกิดแห่งอายตนะ ๕
ข้าแต่พระนาคเสน อายตนะ ๕ ( ตา หู จมูก ลิ้น กาย ) เกิดด้วยกรรมต่างๆ กัน หรือเกิดด้วยกรรมอย่างเดียวกัน
ขอถวายพระพร อายตนะ ๕ นั้น เกิด ด้วยกรรมต่าง ๆ กัน ที่เกิดด้วยกรรมอันเดียว กันไม่มี
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
ขอถวายพระพร พืชต่าง ๆ ๕ ชนิด ที่บุคคลหว่านลงไปในนาแห่งเดียวกัน ผล แห่งพืช ๕ ชนิดนั้น ก็เกิดต่าง ๆ กันฉันใด อายตนะ ๕
เหล่านี้ ก็เกิดด้วยกรรมต่างกัน ฉันนั้น ที่เกิดด้วยกรรมอย่างเดียวกันไม่มี
พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว
ปัญหาที่ ๔ ถามเหตุต่าง ๆ กันแห่งกรรม
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ข้าแต่พระนาคเสน เพราะเหตุใด มนุษย์ ทั้งหลายจึงไม่เสมอกัน คือมนุษย์ทั้งหลายมี อายุน้อยก็มี
มีอายุยืนยาวก็มี อาพาธมากก็มี อาพาธน้อยก็มี ผิวพรรณวรรณะไม่ดีก็มี ผิวพรรณวรรณะดีก็มี มีศักดิ์น้อยก็มี มีศักดิ์ใหญ่ก็มี มีโภคทรัพย์น้อยก็มี
มีโภคทรัพย์มากก็มี มีตระกูลต่ำก็มี มีตระกูลสูงก็มี ไม่มีปัญญาก็มี มีปัญญาก็มี ?
พระเถระจึงย้อนถามว่า ขอถวายพระพร เหตุใดต้นไม้ทั้งหลาย จึงไม่เสมอกันสิ้น ต้นที่มีรสเปรี้ยวก็มี มีรส ขมก็มี มีรสเผ็ดก็มี
มีรสฝาดก็มี มีรสหวานก็มี ?
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะความต่างกันแห่งพืช
ขอถวายพระพร ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือมนุษย์ทั้งหลายไม่เสมอกันหมด เพราะกรรมต่างกัน
ข้อนี้สมด้วยพระพุทธฎีกาของสมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมต่างกัน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมทําให้เกิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง
มีกรรมเป็นที่อาศัยกรรม ย่อมจําแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลวดีต่างกัน
ดังนี้ ขอถวายพระพร
พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว
ปัญหาที่ ๕ ถามถึงสาเหตุที่ควรให้รีบทําเสียก่อน
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้แก่โยมว่า ทําอย่างไรทุกข์นี้จึงจะดับไป
และทุกข์อื่นจึงจะไม่เกิดขึ้น ก็ควรรีบทําอย่างนั้น แต่โยมเห็นว่า ประโยชน์อะไรกับการรีบ พยายามทําอย่างนั้น ต่อเมื่อถึงเวลา จึงควร ทําไม่ใช่หรือ ?
พระเถระตอบว่า ขอถวายพระพร เมื่อถึงเวลาแล้ว ความพยายามก็จะไม่ทําสิ่งนั้นให้สําเร็จไป ความรีบพยายามนั้นแหละ จะทําสิ่งนั้นให้
สําเร็จไป
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
อุปมาการขุดน้ำ
ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าใจความข้อนี้อย่างไร.. คือเมื่อใดมหาบพิตรอยากเสวยน้ำ
เมื่อนั้นมหาบพิตรจึงจะให้ขุดที่มีน้ำให้ขุดสระโบกขรณี ให้ขุดเหมืองน้ำว่า เราจักดื่มน้ำอย่างนั้นหรือ ?
ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามไม่สําเร็จประโยชน์ ความรีบพยายามไว้ก่อนนั้นแหละ
จึงจะสําเร็จประโยชน์
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป
อุปมาการไถนา
ขอถวายพระพร เมื่อใดมหาบพิตรหิว เมื่อนั้นหรือ...มหาบพิตรจึงจักให้ไถนา ปลูกข้าวสาลี หว่านพืช ขนข้าวมา หรือปลูกข้าวเหนียว
ด้วยรับสั่งว่า เราจักกินข้าว ?
ทําอย่างนั้นไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามไม่สําเร็จประโยชน์ ความรีบพยายามไว้ก่อนนั้นแหละ จึงจะ
สําเร็จประโยชน์
ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก
อุปมาการทําสงคราม
ขอถวายพระพร เมื่อใดสงครามมาติดบ้านเมือง เมื่อนั้นหรือ...มหาบพิตรจึงจะให้ขุดคู สร้างกําแพง สร้างเขื่อน สร้างป้อม
ขนเสบียงอาหารมาไว้ ให้ฝึกหัดช้าง ม้า รถ ธนู ดาบ ?
ทําอย่างนั้นไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามไม่สําเร็จประโยชน์ ความรีบพยายามไว้ก่อนนั้นแหละ
จึงจะสําเร็จประโยชน์ ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระบรมโลก นาถศาสดาจารย์ ตรัสประทานไว้ว่า
บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบทําสิ่งนั้น ผู้มีความคิด มีความรู้ มีความบากบั่น ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างพ่อค้าเกวียน
คือพ่อค้าเกวียนทิ้งทางเก่า อันเป็นทางเสมอ กว้างใหญ่ดี แล้วขับเกวียนไปในทางใหม่ ที่เป็นทางไม่เสมอดี เวลาเพลาเกวียนหักแล้วก็ซบเซาฉันใด
บุคคลผู้โง่เขลาหลีกออกจากธรรมะ ไม่ประพฤติตามธรรม จวนจะใกล้ตายก็จะ ต้องซบเซา เหมือนพ่อค้าเกวียนที่มีเพลาเกวียนหักไปแล้วฉะนั้น
ดังนี้ ขอถวายพระพร
พระผู้เป็นเจ้ากล่าวสมควรแล้ว
ปัญหาที่ ๖ ถามถึงความร้อนแห่งไฟนรก
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า ไฟนรกร้อนมากกว่าไฟปกติ ก้อนหินน้อย ๆ ทิ้งลงไปในไฟปกติ
ไฟเผาอยู่ตลอด วันก็ไม่ย่อยยับ ส่วนก้อนหินโตเท่าปราสาท ทิ้งลงไปในไฟนรก ก็ย่อยยับไปในขณะเดียว ดังนี้ คํานี้โยมไม่เชื่อ
ถึงคําที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า พวกสัตว์นรกอยู่ในนรกได้ตั้งพัน ๆ ปีก็ไม่ย่อยยับ ป ดังนี้ คํานี้โยมก็ไม่เชื่อ
พระเถระตอบว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้า พระทัยอย่างไร...คือพวกนกยูง ไก่ป่า มังกร จระเข้ เต่า ย่อมกินก้อนหินแข็ง ๆ ก้อน
กรวดแข็ง ๆ จริงหรือ ?
เออ..โยมได้ยินว่าจริงนะ พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร ก้อนหินก้อนกรวดเหล่านั้น เข้าไปอยู่ภายในท้องของสัตว์เหล่านั้นแล้ว แหลกย่อยยับไปหรือไม่ ?
แหลกย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร ก็สัตว์ที่อยู่ในท้อง ของสัตว์เหล่านั้น แหลกย่อยยับไปไหม ?
ไม่แหลกย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า
เพราะอะไร มหาบพิตร ?
โยมเข้าใจว่า เพราะกรรมคุ้มครองไว้
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พวกสัตว์นรกถึงจะถูกไฟไหม้อยู่ในนรก ตั้งหลายพันปีก็ไม่ย่อยยับไป เพราะกรรมคุ้มครองไว้
พวกสัตว์นรกเหล่านั้น เกิดอยู่ในนรก เจริญอยู่ในนรก ตายอยู่ในนรก ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระชินสีห์ตรัสไว้ว่า
บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นตราบใด สัตว์ นรกก็ยังไม่ตายตราบนั้น
ขอนิมนต์อุปมาด้วย
อุปมาด้วยราชสีห์
ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้า พระทัยความข้อนี้อย่างไร...คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลืองตัวเมีย ย่อมเคี้ยวกินของแข็ง ๆ
เคี้ยวกินกระดูก เคี้ยวกินเนื้อมีอยู่ หรือ ?
มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร กระดูกที่เข้าไปอยู่ใน ท้องของสัตว์เหล่านั้นแหลกย่อยไปไหม ?
แหลกย่อยไป พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร ลูกในท้องของสัตว์ เหล่านั้นแหลกย่อยยับไปไหม ?
ไม่แหลก พระผู้เป็นเจ้า
เพราะอะไร มหาบพิตร ?
โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะกรรมรักษาไว้ แต่ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป
อุปมาด้วยนกหัวขวาน
ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้า พระทัยความข้อนี้อย่างไร...คือ นกหัวขวาน นกยูง ย่อมเคี้ยวกินไม้อันแข็งมีอยู่หรือ ?
มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า
ไม้อันแข็งเหล่านั้น เข้าไปอยู่ในท้องของ นกหัวขวาน นกยูงเหล่านั้นแล้ว ย่อยยับไป หรือไม่ ?
ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร ลูกนกหัวขวานที่อยู่ในท้อง ย่อยยับไปหรือไม่ ?
ไม่ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า
เพราะอะไร มหาบพิตร ?
โยมเข้าใจว่า เพราะกรรมรักษาไว้ ขอ นิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก
อุปมาด้วยสตรี
ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้า พระทัยความข้อนี้อย่างไร..คือ นางโยนก นาง กษัตริย์ นางพราหมณ์ นางคฤหบดี ที่มีความสุขมาแต่กําเนิด
ได้เคี้ยวกินของแข็ง ขนม ผลไม้ เนื้อ ปลาต่าง ๆ หรือไม่ ?
เคี้ยวกิน พระผู้เป็นเจ้า
ของเหล่านั้นตกเข้าไปอยู่ในท้องของ หญิงเหล่านั้นแล้ว ย่อยยับไปหรือไม่ ?
ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า
ก็ลูกในท้องของหญิงเหล่านั้น ย่อยยับ ไปหรือไม่ ?
ไม่ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า
เพราะอะไร มหาบพิตร ?
โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะกรรมคุ้มครองไว้
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ พวกสัตว์นรกถึงจะถูกไฟไหม้ในนรกตั้งหลายพันปี ก็ไม่ย่อยยับไป สัตว์นรกเหล่านั้น เกิด
อยู่ในนรก เจริญอยู่ในนรก ตายอยู่ในนรก ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระทศพลตรัสไว้ว่า บาปกรรมที่เขาทําไว้ยังไม่สิ้นตราบใด เขาก็ยังไม่ตายตราบนั้น
สมควรแล้ว พระผู้เป็นเจ้า
ปัญหาที่ ๗ ถามถึงเรื่องเครื่องรองแผ่นดิน
ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า แผ่นดินใหญ่นี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่ บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ ดังนี้ คํานี้โยม
ไม่เชื่อ
พระเถระเมื่อจะวิสัชนาแก้ไข จึงได้เอาธัมกรก คือกระบอกกรองน้ำตักน้ำขึ้นมาแล้ว ก็เอามือปิดปากธัมกรกไว้ เพื่อมิให้น้ำไหลลงไปได้
ถือไว้ให้พระเจ้ามิลินท์ทอดพระเนตรแล้ว พร้อมกับถวายพระพรว่า
มหาบพิตรจงทรงสังเกตดูธัมกรกนี้เถิด ลมทรงไว้ซึ่งน้ำในกระบอกนี้ฉันใด ถึงน้ำที่ รองแผ่นดิน ลมก็รับไว้ฉันนั้น
ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า
ปัญหาที่ ๘ ถามถึงเรื่องนิโรธนิพพาน
ข้าแต่พระนาคเสน นิโรธ คือ นิพพาน หรือ ?
ถูกแล้ว มหาบพิตร
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อย่างไรจึงว่า นิโรธคือนิพพาน ?
ขอถวายพระพร อันว่าพาลปุถุชน ทั้งหลาย ย่อมเพลิดเพลินยินดีใน อายตนะ ภายในภายนอก ( ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส )
จึงถูกกระแสตัณหาพัดไป จึงไม่พ้น จากการเกิด แก่ตาย โศกร่ำไร ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และคับแค้นใจ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับคําสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ย่อมไม่เพลิดเพลินยินดีใน อายตนะภายในภายนอก
เมื่อไม่เพลิดเพลินยินดี ตัณหาก็ดับไป เมื่อตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ เมื่ออุปาทานดับ ภพก็ดับ เมื่อภพดับ ชาติก็ดับ เมื่อชาติ คือ การเกิดดับ ความโศก
ความร่ำไร ความไม่ สบายกาย ไม่สบายใจ และความคับแค้นใจก็ดับ เป็นอันว่า ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ อย่างนี้แหละ มหาบพิตร
จึงว่า นิโรธ คือ นิพพาน
ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า
ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องการได้นิพพาน
ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลทั้งหลายได้ นิพพานเหมือนกันหมดหรือ ?
ขอถวายพระพร ไม่ได้นิพพานเหมือนกันหมด
เหตุไฉนจึงไม่ได้ ?
ขอถวายพระพร ผู้ใดปฏิบัติดี รู้ยิ่ง ซึ่งธรรมที่ควรรู้ รอบรู้ธรรมที่ควรรอบรู้ ละธรรมที่ควรละ อบรมธรรมที่ควรอบรม
กระทําให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทําให้แจ้ง ผู้นั้น ก็ได้นิพพาน
ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า
ปัญหาที่ ๑๐ ถามเรื่องรู้จักความสุขในนิพพาน
ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพาน รู้หรือไม่ว่านิพพานเป็นสุข ?
ขอถวายพระพร..รู้ คือผู้ยังไม่ได้นิพพาน ก็รู้ว่านิพพานเป็นสุข
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพาน ทำไมจึงรู้ว่านิพพานเป็นสุข ?
ขอถวายพระพร พวกใดไม่ถูกตัดมือตัดเท้า พวกนั้นรู้หรือไม่ว่า การตัดมือตัดเท้า เป็นทุกข์ ?
อ๋อ...รู้ซิ พระผู้เป็นเจ้า
เหตุไฉนจึงรู้ล่ะ ?
รู้ด้วยเขาได้ยินเสียงผู้ถูกตัดมือตัดเท้า ร้องไห้ครวญคราง
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พวกที่ยังไม่ได้นิพพาน ก็รู้ได้ว่านิพพานเป็นสุข เพราะได้ยินเสียงพวกได้นิพพาน
ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า
จบวรรคที่ ๔
◄ll กลับสู่ด้านบน
((( โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป )))
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 1/9/08 at 10:14 |
|
Update 1 กันยายน 2551
วรรคที่ ๕
ปัญหาที่ ๑ ถามเรื่องความมี และความไม่มีแห่งพระพุทธเจ้า
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า "ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้ เห็นพระพุทธเจ้าหรือ ? "
พระเถระตอบว่า "ไม่ได้เห็น ขอถวายพระพร"
"ถ้าอย่างนั้น อาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้า ได้เห็นหรือ ? "
"ขอถวายพระพร อาจารย์ก็ไม่ได้เห็น"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่มี"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้เห็น โอหานที คือสะดือทะเลหรือไม่ ? "
"ไม่ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า"
"ถ้าอย่างนั้น พระราชบิดาของพระองค์ ได้เห็นหรือไม่ ? "
"ไม่ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า"
"ถ้าอย่างนั้นสะดือทะเลก็ไม่มี"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถึงโยมและพระราช บิดาของโยม ไม่ได้เห็นสะดือทะเลก็จริงแหล่ แต่ทว่าสะดือทะเลมีอยู่เป็นแน่"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึง อาตมาและอาจารย์ของอาตมา ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าก็จริง แต่พระพุทธเจ้ามีอยู่แน่
ขอถวายพระพร"
"พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว"
ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องความยิ่งใหญ่แห่งพระพุทธเจ้า
"ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าหรือ ? "
"ขอถวายพระพร จริง"
"พระผู้เป็นเจ้ารู้ได้อย่างไรว่า พระพุทธเจ้า ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เพราะพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เห็น ? "
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร...คือพวกที่ไม่ได้เห็นมหาสมุทร รู้หรือไม่ว่ามหาสมุทรอันกว้างใหญ่
มีน้ำลึกประมาณไม่ได้ หยั่งถึงพื้นได้ยาก เป็นที่ไหลไปรวมอยู่แห่งแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ
ความพร่องหรือความเต็มแห่งมหาสมุทรนั้นไม่ปรากฏ แม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ ก็ไหลไปสู่มหาสมุทรเนืองๆ ? "
"รู้ พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาพบิตร คือ อาตมภาพได้เห็นพระสาวกทั้งหลายผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้สําเร็จนิพพานมีอยู่ จึงรู้ว่าพระ
พุทธเจ้าเป็นผู้เยี่ยมไม่มีใครเทียมถึง"
"พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว"
ปัญหาที่ ๓
ถามเรื่องการรู้ความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า
"ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าอาจรู้หรือไม่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เยี่ยมไม่มีใครยิ่งกว่า ? "
"อาจรู้ ขอถวายพระพร"
"อาจรู้ได้อย่างไร ? "
"ขอถวายพระพร เมื่อก่อนมีอาจารย์เลของค์หนึ่ง ชื่อว่า พระติสสเถระ มีชื่อเสียง โด่งดังอยู่หลายปี แต่ถึงมรณภาพไปแล้ว
อาจารย์เลของค์นั้น ทําไมชื่อจึงยังปรากฏอยู่ ? "
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อาจารย์เลของค์นั้น ยังปรากฏอยู่ เป็นด้วยเลขที่ท่านบอกไว้"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ใด เห็นธรรม ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าได้เห็นพระพุทธเจ้า
เพราะธรรมเป็นของที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้"
"สมควรแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องการเห็นธรรม
"ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นธรรมะแล้วหรือ ? "
"ขอถวายพระพร ธรรมะอันพระพุทธเจ้าทรงแนะนําสั่งสอนสาวก อันพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว พระสาวกควรปฏิบัติตามจน
ตลอดชีวิต"
"แก้ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
ฎีกามิลินท์
เพราะเหตุไร..พระนาคเสนจึงไม่ตอบว่า อาตมภาพได้เห็นธรรมะแล้ว ?
แก้ว่า...เพราะเหตุว่าพระเจ้ามิลินท์รู้แน่ แล้วว่า พระเถระได้เห็นธรรมะแล้ว แต่อยากจะฟังคําตอบอันวิจิตร จึงตรัสถามเพื่อผู้ที่ยังไม่รู้
พระเถระทราบพระอัธยาศัยของพระเจ้ามิลินท์แล้ว จึงได้ตอบอย่างนั้น
ปัญหาที่ ๕
ถามถึงความไม่ก้าวย่างไปแห่งผู้จะเกิด
"ข้าแต่พระนาคเสนผู้ประเสริฐ ผู้ที่จะไปเกิดใหม่นั้นไม่ได้ก้าวย่างไปด้วย แต่ถือกําเนิดได้ด้วยอย่างนั้นหรือ ? "
"อย่างนั้น มหาบพิตร"
"ถ้าอย่างนั้นขอนิมนต์อุปมา"
"ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าบุรุษผู้หนึ่งเอาประทีปมาต่อประทีป ประทีปจะก้าวไปจากประทีปเก่าหรือไม่ ? "
"ไม่ก้าวไป พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร"
"ขอนิมนต์อุปมาอีก"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรคงจําได้ว่า ในเวลาที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ มีพระชันษาได้ ๑๐ ได้รับวิชาเลขและวิชาการต่าง ๆ
ในสํานักอาจารย์หรือ ? "
"ได้รับ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร วิชาเลขและศิลปะต่าง ๆ นั้น ก้าวย่างไปจากอาจารย์หรือไม่ ? "
"ไม่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ผู้ที่จะไปเกิดใหม่นั้น ไม่ได้ก้าวย่างไปเลย แต่ถือกําเนิดได้"
"ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๖
ถามถึงผู้สําเร็จเวทย์
"ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลผู้ถึงเวทย์มีอยู่หรือไม่ ? "
"ขอถวายพระพร เมื่อว่าตามปรมัตถ์แล้ว...ไม่มี"
"ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๗
ถามถึงการก้าวไปแห่งสภาพ
"ข้าแต่พระนาคเสน สภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ก้าวไปจากกายนี้สู่กายอื่นมีอยู่หรือ ? "
"ขอถวายพระพร ไม่มีเลย"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าสภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ก้าวจากกายนี้ไปสู่กายอื่นไม่มี
บุคคลก็จะพ้นจากบาปกรรมทั้งหลายมิใช่หรือ"
"ขอถวายพระพร ถ้าเขาไม่เกิดอีก ก็จะ พ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย แต่เพราะเขายังเกิด อยู่ เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย"
"ขอนิมนต์อุปมาด้วย"
"ขอถวายพระพร เปรียบเช่นเดียวกับ บุรุษคนหนึ่ง ขโมยมะม่วงที่ผู้อื่นปลูกไว้ เขา ควรจักต้องได้รับโทษหรือไม่ ? "
"ควรได้รับโทษ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร มะม่วงที่บุรุษนั้นขโมยไป ไม่ใช่มะม่วงลูกที่บุรุษนั้นปลูกไว้ เหตุใดผู้ขโมยจึงควรได้รับโทษ ? "
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มะม่วงเหล่านั้นอาศัยมะม่วงลูกที่บุรุษนั้นปลูกไว้ จึงเกิดเป็นลำต้นขึ้น เพราะฉะนั้น
ผู้ขโมยจึงควรได้รับโทษ"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ บุคคลย่อมทํากรรมดีหรือชั่วไว้ด้วย นามรูปนี้ แล้ว นามรูปอื่น
ก็เกิดขึ้นด้วยกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม"
"แก้ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๘
ถามถึงที่อยู่แห่งผลกรรม
"ข้าแต่พระนาคเสน กรรมดีและกรรม ชั่ว ที่บุคคลทําด้วยนามรูปนี้ไปอยู่ที่ไหน ? "
ขอถวายพระพร ติดตามผู้ทําไปเหมือน กับเงาตามตัว"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อาจชี้กรรมเหล่านั้น ได้หรือไม่ว่า กรรมเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ? "
"ขอถวายพระพร ไม่อาจชี้ได้"
"ขอนิมนต์อุปมาด้วย"
"ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนต้นไม้ ที่ยังไม่มีผล มหาบพิตรอาจชี้ได้หรือไม่ว่า ผลอยู่ที่ไหน ? "
ปัญหาที่ ๙
ถามถึงความรู้สึกของผู้จะเกิดอีก
"ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดจะเกิด ผู้นั้นรู้หรือว่า เราจะเกิด ? "
"ขอถวายพระพร รู้""
"ขอนิมนต์อุปมาด้วย"
"ขอถวายพระพร เหมือนอย่างชาวนา หว่านพืชลงที่แผ่นดินแล้ว เมื่อฝนตกดีเขา รู้หรือว่า พืชจักงอกงามขึ้น ? "
"รู้ พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ใดจะเกิด ผู้นั้นก็รู้ว่า เราจักเกิด"
"ชอบแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๑๐
ถามเรื่องที่อยู่ของ พระพุทธเจ้าที่ปรินิพพาน
"ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ? "
"ขอถวายพระพร มีจริง"
"พระผู้เป็นเจ้าอาจชี้ได้หรือไม่ว่า พระ พุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ? "
"ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ด้วยการดับขันธ์แล้ว ไม่อาจชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน"
"ขอนิมนต์อุปมาด้วย"
"ขอถวายพระพร เปลวไฟที่ดับไปแล้ว มหาบพิตรอาจชี้ได้หรือไม่ว่า เปลวไฟนั้นไปอยู่ที่ไหน ? "
"ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า เพราะเปลวไฟนั้น ถึงซึ่งความไม่มีบัญญัติแล้ว"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ไม่มีใครอาจชี้ได้ว่าไปอยู่ที่ไหน อาจชี้ได้เพียง
พระธรรมกาย ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น"
"พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้สมควรแล้ว"
จบวรรคที่ ๕
******************************
อธิบาย
คําว่า "พระธรรมกาย" ในหนังสือ ทิพยอํานาจ อดีตพระอริยคุณาธาร เส็ง ปุสโส ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ แต่ขอนํามาโดยย่อว่า
"...ในปกรณ์ของฝ่ายเถรวาท ท่านโบราณาจารย์แบ่งพระกายของพระพุทธเจ้าเป็น ๓ ภาค ดังนี้คือ
๑. พระรูปกาย เป็นพระกายซึ่งกําเนิดจากพระพุทธบิดาและพระพุทธมารดา ที่เป็นมนุษย์ธรรมดาประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔
๒. พระนามกาย ได้แก่กายชั้นใน นามกายเป็นของมีทั่วไปแม้แต่สามัญมนุษย์ แต่ดีเลวกว่ากันด้วยอํานาจกุศลที่ตนทําไว้ก่อน
ส่วนพระนามกายของพระพุทธเจ้า ท่านดีวิเศษกว่าของสามัญมนุษย์ ด้วยอํานาจพระบุญญาบารมี ที่ทรงบําเพ็ญมาเป็นเวลาหลายอสงไขยกัป
๓. พระธรรมกาย ได้แก่พระกายอันบริสุทธิ์ ไม่สาธารณะทั่วไปแก่เทวาและมนุษย์ หมายถึงจิตที่พ้นจากกิเลสแล้ว เป็นจิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง
พระธรรมกายนี้เป็นพระพุทธเจ้าที่จริงแท้ เป็นพระกายที่พ้นเกิดแก่เจ็บตาย เป็นพระกายที่เที่ยงแท้ถาวรไม่สูญสลาย แต่ท่านมิได้บอกให้แจ้งชัดว่า
พระธรรมกายนี้มีรูปพรรณสัณฐานเช่นไรหรือไม่
อนึ่ง ความเชื่อว่าพระอรหันต์นิพพาน แล้วยังมีอยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระอรหันต์แท้ ไม่สลายไปตามกาย คือความเป็นพระอรหันต์ ไม่สูญ ตัวอย่างเช่น
พระยมกะ เมื่อยังไม่บรรลุอรหัตผลได้ แสดงความเห็นว่า พระอรหันต์ตายแล้วสูญ ได้ถูก พระสารีบุตร สอบสวน เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้ว
จึงเห็นตามความจริงว่า
"สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมเป็นไปตามปัจจัยคือสลายไป ส่วนพระอรหันต์มิใช่สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งจึงไม่สลายไป แปลว่า ไม่ตาย"
ความเป็นพระอรหันต์นี้ ท่านก็จัดเป็น อินทรีย์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า "อัญญินทรีย์" พระผู้มีพระภาคเจ้าคงหมายเอาอินทรีย์นี้เอง บัญญัติเรียกว่า
"วิสุทธิเทพ" เป็นสภาพที่คล้ายคลึง "วิสุทธาพรหม" ในสุทธาวาสชั้นสูง (พรหมอนาคามี ชั้นที่ ๑๒-๑๖ เป็นแต่ บริสุทธิ์ยิ่งกว่าเท่านั้น)
อินทรีย์ของพระอรหันต์ประณีตสุขุม แม้แต่ตาทิพย์ของเทวดาสามัญก็มองไม่เห็น มนุษย์สามัญซึ่งมีตาหยาบ ๆ จะเห็นได้อย่างไร อินทรีย์ของพระอรหันต์นั้นแหละ
เรียกว่า "อินทรีย์แก้ว" คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของท่านเป็นแก้ว คือใสบริสุทธิ์ดุจแก้วมณีโชติ ผู้บรรลุถึงภูมิแก้วแล้ว ย่อมสามารถ พบเห็น
"พระแก้ว" คือพระอรหันต์ที่นิพพานแล้วได้
"
การที่ยกเอาบทความนี้มาให้อ่านกัน ก็เพราะอาจจะมีนักปราชญ์บางท่านเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
เหมือนกับเปลวไฟที่ดับไปฉะนั้น ก็เลยเหมาเอาว่า "พระนิพพานสูญ" ไปเลย
ตามที่พระนาคเสนท่านอุปมาเช่นนั้น ท่านคงหมายถึงดับไปเฉพาะ "พระรูปกาย" เท่านั้น แต่จิตใจอันใสบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ ที่เรียกว่า
"พระธรรมกาย" มิได้ดับสูญ ไปด้วยแต่อย่างใด
อดีตพระอริยคุณาธาร ซึ่งเป็นศิษย์สาย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จึงให้ทัศนะเป็นข้อสรุป ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ นับเป็นเวลา ๔๐ ปี
เศษแล้วว่า
"...ความรู้เรื่องนี้ เป็นความรู้ลึกลับในพระธรรมวินัย ผู้สนใจพึงศึกษาค้นคว้าต่อไป ถ้ายังรู้ไม่ถึงอย่าพึงค้าน อย่าพึงโมทนา เป็นแต่จดจําเอาไว้
เมื่อใดตนเองได้ศึกษาค้นคว้าแล้ว ได้ความรู้ได้เหตุผลที่ถูกต้องดีกว่า เมื่อนั้นจึงค้าน ถ้าได้เหตุผลลงกันจึงอนุโมทนา ถ้ารู้ไม่ถึงแล้ว
ด่วนวิพากษ์วิจารณ์ติเตียนผู้พูด เรื่องเช่นนี้ จะเป็นไปเพื่อบอดตาบอดญาณ ตนเองยิ่งจะซ้ำร้ายใหญ่ ดังนี้... "
◄ll กลับสู่ด้านบน
((( โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป )))
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 17/9/08 at 19:41 |
|
Update 17 ก.ย. 51
ตอนที่ ๑๐ วรรคที่ ๖
ปัญหาที่ ๑ ถามถึงความรักร่างกายแห่งบรรพชิต
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า "ข้าแต่พระนาคเสน ร่างกายเป็นที่รักของ บรรพชิตทั้งหลายหรือ? "
พระเถระตอบว่า "ขอถวายพระพร ร่างกายไม่ได้เป็นที่รัก ของบรรพชิตทั้งหลาย"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น ทําไม บรรพชิตจึงยังอาบน้ำชําระกาย ถือว่ากาย ของเราอยู่? "
"ขอถวายพระพร ผู้เข้าสู่สงครามเคยถูก บาดเจ็บบ้างหรือไม่? "
"อ๋อ . . . เคยซิ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร แผลที่ถูกอาวุธนั้น ฉาบ ทาด้วยเครื่องฉาบทา ทาด้วยน้ำมัน พันด้วย ผ้าเนื้อละเอียดแลหรือ? "
"ถูกแล้วพระผู้เป็นเจ้า ต้องทําอย่างนั้น"
"ขอถวายพระพร บาดแผลนั้นเป็นที่รัก ของผู้นั้นหรือ? "
"ไม่ได้เป็นที่รักของผู้นั้นเลย แต่ว่าเขาทำอย่างนั้น เพื่อให้เนื้อตรงนั้นงอกขึ้นเป็นปกติ"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ร่างกาย ไม่ได้เป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลาย แต่ บรรพชิตทั้งหลายรักษาร่างกายนี้ไว้ เพื่อ
อนุเคราะห์พรหมจรรย์ อันว่าร่างกายนี้เปรียบ เหมือนกับแผล บรรพชิตรักษาร่างกายนี้ไว้ เหมือนกับบุคคลรักษาแผล
ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระทศพลตรัสไว้ว่า"
"กายนี้มีทวาร ๙ เป็นแผลใหญ่ อัน หนังสดปกปิดไว้ คายของโสโครกออกโดยรอบ ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น"
"ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
อธิบาย
คําว่า "ทวาร ๙" ได้แก่ (ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑)
ปัญหาที่ ๒ ถามถึงเหตุที่ไม่ทรงบัญญัติ สิกขาบทไว้ล่วงหน้า
"ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าเป็น พระสัพพัญญู คือทรงรู้ทุกสิ่ง เป็นสัพพทัสสาวี คือทรงเห็นทุกอย่างจริงหรือ? "
"ขอถวายพระพร จริง"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าจริง . . .เหตุไฉนจึง ทรงบัญญัติสิกขาบทไปตามลําดับเหตุการณ์ แก่สาวกทั้งหลาย
ทําไมจึงไม่ทรงบัญญัติไว้ ก่อน? "
"ขอถวายพระพร แพทย์ที่รู้จักยาทั้งหมด ในแผ่นดินนี้มีอยู่หรือ? "
"มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร ก็แพทย์นั้นให้คนไข้กิน ยาแต่เมื่อยังไม่เป็นไข้ หรือเมื่อเป็นไข้แล้วจึง ให้กินยา? "
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อเป็นไข้แล้วจึง ให้กินยา เมื่อยังไม่เป็นไข้ก็ยังไม่ให้กินยา"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือพระพุทธเจ้าเป็น ผู้รู้ทุกสิ่งเห็นทุกอย่างจริง แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลา ก็ยังไม่บัญญัติสิกขาบท
ต่อเมื่อถึงเวลาจึง บัญญัติสิกขาบท สิกขาบทที่ทรงบัญญัตินั้น พระสาวกไม่ควรล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต"
"ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๓ ถามถึงลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ของพระพุทธมารดาบิดา
"ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าประกอบ ด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ และประดับด้วย อนุพยัญชนะ ๘๐ มีสีพระกายดังทองคํา มี
พระรัศมีสว่างรอบพระองค์ด้านละ ๑ วาเป็น นิจจริงหรือ? "
"ขอถวายพระพร จริง"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระมารดาบิดา ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ กับประดับด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ
มีสีพระกายดังทองคํามีพระรัศมีข้างละ ๑ วา หรือไม่? "
"ขอถวายพระพร พระมารดาบิดาไม่ เป็นอย่างนั้น"
"ข้าแต่พระนาคเสน เมื่อพระมารดาบิดา ไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าจะเป็นอย่างนั้น ได้หรือ เพราะธรรมดาบุตรย่อมคล้ายกับมารดา
หรือคล้ายกับข้างบิดา? "
"ขอถวายพระพร ดอกปทุม หรือดอก อุบล ดอกโกมุท ดอกปุณฑริก มีอยู่หรือ? "
"มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า เพราะดอกบัวเหล่า นั้นเกิดอยู่ในน้ำ เกิดอยู่ในดิน แช่อยู่ในน้ำ"
"ขอถวายพระพร ดอกบัวเหล่านั้นมีสี กลิ่น รส เหมือนดินกับน้ำหรือไม่? "
"ไม่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ถ้าอย่างนั้น ดอกบัวเหล่านั้น มีสี กลิ่น รส เหมือนกับโคลนกับตมหรือไม่? "
"ไม่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร"
"พระผู้เป็นเจ้าเข้าใจแก้ เป็นอันแก้ถูกต้องดีแล้ว"
ปัญหาที่ ๔ ถามถึงความเป็นพรหมจารีของพระพุทธเจ้า
"ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าเป็นพรหมจารี คือเป็นผู้ประพฤติเหมือนกับ พรหมจริงหรือไม่? "
"ขอถวายพระพร จริง"
"ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็เป็นศิษย์ของ พรหมน่ะซิ"
"ขอถวายพระพร ช้างทรงของมหาบพิตร มีอยู่หรือ? "
"มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ช้างทรงของมหาบพิตรนั้น มีเสียงร้อง เหมือนเสียงนกกระเรียนในบางคราวหรือไม่? "
"อ๋อ . . .บางคราวก็มีเสียงร้องเหมือนเสียง นกกระเรียน พระผู้เป็นเจ้า"
"ถ้าอย่างนั้น ช้างของมหาบพิตรก็เป็นศิษย์ ของนกกระเรียนน่ะซิ"
"ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระพุทธเจ้าประพฤติเหมือนพรหมจริง แต่ไม่ได้ เป็นศิษย์ของพรหม"
"ขอถวายพระพร พรหมนั้นได้ตรัสรู้ด้วย ตนเองหรือไม่? "
"ไม่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ถ้าอย่างนั้น พรหมก็ต้องเป็นศิษย์ของ พระพุทธเจ้า"
"ถูกแล้ว พระนาคเสน"
ปัญหาที่ ๕ ถามถึงการอุปสมบท ไม่อุปสมบท
"ข้าแต่พระนาคเสน การอุปสมบทดี หรือ . . .หรือว่าไม่อุปสมบทดี? "
"ขอถวายพระพร อุปสมบทดี"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อุปสมบทของพระ พุทธเจ้ามีอยู่หรือ? "
"ถวายพระพร พระพุทธเจ้าเป็นผู้ได้ อุปสมบทแล้ว"
เมื่อพระนาคเสนกล่าวอย่างนี้แล้ว พระ เจ้ามิลินท์จึงตรัสประกาศขึ้นว่า "ขอพวกโยนกทั้ง ๕๐๐ จงฟังถ้อยคําของเรา
คือพระนาคเสนกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้อุปสมบทแล้ว เป็นอุปสัมบัน คือเป็นผู้ที่บวชแล้ว ถ้าพระสมณโคดมเป็นอุปสัมบัน ใครเป็น อุปัชฌาย์ ใครเป็นอาจารย์
มีสงฆ์มานั่งหัตถบาสเท่าใด? "
"ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าไม่มี อุปัชฌาย์ ไม่มีอาจารย์ ได้อุปสมบทเอง ตรัสรู้ เอง ที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ พระองค์ได้เป็นผู้
อุปสัมบันพร้อมด้วยพระสัพพัญญุตญาณ"
"ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอุปัชฌาย์อาจารย์ ของพระสมณโคดมไม่มี โยมก็เข้าใจว่า พระ สมณโคดมเป็นอนุปสัมบัน คือผู้ที่ยังไม่ได้บวช
เพราะเหตุไร . .พระพุทธเจ้าจึงไม่มีอุปัชฌาย์ ไม่ มีอาจารย์? "
"เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามขึ้นอย่างนี้ พระนาคเสนองค์อรหันต์ ผู้สําเร็จปฏิสัมภิทา จึงย้อนถามไปว่า มหาบพิตร ทรงเสวยแล้วหรือ?
"
"โยมกินแล้ว ผู้เป็นเจ้า"
"ใครเป็นครูเป็นอาจารย์บอกให้เสวยล่ะ"
"ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า"
"ถ้าอย่างนั้น มหาบพิตรก็เสวยไม่ได้? "
"ได้ . . .ไม่ใช่โยมกินไม่ได้ ถึงไม่มีครูบา อาจารย์สั่งสอน โยมก็กินได้ ด้วยเคยกินมา ในวัฏสงสารนับไม่ถ้วน"
"ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นขอให้มหาบพิตรเข้าพระทัยเถิดว่า พระพุทธเจ้าได้อุปสมบทแล้วที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ เพราะ
พระองค์ได้ทรงบําเพ็ญพระบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว
พระองค์อุปสมบทเอง ไม่มีอุปัชฌาย์อาจารย์ ได้อุปสมบทพร้อมกับได้พระสัพพัญญุตญาณ เหมือนกับมหาบพิตรผู้เสวยโดยไม่ ต้องมีอาจารย์ เพราะเคยเสวยมาในวัฏสงสาร
อันไม่ปรากฏเบื้องต้น
อัศจรรย์วันอุปสมบท
ในเวลาที่พระพุทธองค์ได้เป็นอุปสัมบัน ที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ ด้วยอํานาจพระบารมีนั้น อัศจรรย์ต่าง ๆ ก็ปรากฏขึ้นในโลก คือ
คนตาบอดแต่กําเนิดก็กลับเป็นคนตาดี ๑ คนหูหนวกก็ได้ยินเสียง ๑ คนง่อยเปลี้ยก็เดิน ได้ ๑ คนใบ้ก็พูดได้ ๑ คนหลังค่อมก็ยืดตรง เป็นปกติได้ ๑
คนกําลังหิวข้าวก็ได้กินข้าว ๑ คนกระหายน้ำก็ได้ดื่มน้ำ ๑
ผู้ที่อาฆาตต่อกันก็นึกเมตตากัน ๑ ทุกข์ ในแดนเปรตก็หายไป ๑ ยาพิษก็กลับเป็น เหมือนยาทิพย์ ๑ หญิงมีครรภ์แก่ก็คลอดได้ สบาย ๑
สําเภาที่ไปต่างประเทศก็กลับมาถึงท่า ของตน ๑ กลิ่นเหม็นก็กลายเป็นกลิ่นหอม ๑
ไฟในอเวจีมหานรกก็ดับ ๑ น้ำเค็มในมหาสมุทรก็กลายเป็นน้ำหวาน ๑ ภูเขา ทั้งหลายก็เปล่งเสียงสะท้าน ๑ น้ำในมหานที ทั้งหลายก็หยุดไหล ๑ ผงจันทน์ทิพย์ดอก
มณฑาทิพย์ก็ตกลงมาจากสวรรค์ ๑ เทพยดา นางฟ้าทั้งหลาย ก็โปรยดอกไม้ทิพย์ลงมา ๑ พรหมทั้งหลายก็ตบมือสาธุการ ๑
ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าผู้มีสีพระกายดังทองคํา ก็ได้อุปสมบทเองที่ภาย ต้ไม้ศรีมหาโพธิ อันเป็นเหมือนปราสาทแก้ว
จึงได้มีสิ่งอัศจรรย์ปรากฏขึ้นอย่างนี้ ด้วยอานุภาพแห่งการอุปสมบทของพระพระพุทธเจ้านั้น ได้บันดาลให้พระยาเขาสิเนรุ ราชหมุนครวญคราง เหมือนกับกงรถกงเกวียน
ฉะนั้น
พวกเทวดาในอากาศพร้อมกับบริวาร ก็มีใจเบิกบานยินดี ได้โปรยดอกไม้ทิพย์ลง มาบูชา จันทรเทพบุตรก็หยุดมณฑลรถไว้ที่ อากาศ
โปรยดอกไม้แก้วลงมาบูชาไม่ขาดสาย เหมือนกับนมสดที่ไหลหลั่งลงมาจากอากาศ ฉะนั้น การอุปสมบทของพระตถาคตเจ้าย่อม ปรากฏอย่างนี้"
"ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาด้วย"
อุปมาช้างพระที่นั่ง
"ขอถวายพระพร เมื่อมหาบพิตรขึ้น ประทับนั่งบนคอช้างพระที่นั่ง มีผู้ใดผู้หนึ่งนั่งบนคอของพระองค์บ้างหรือไม่? "
"ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า หากใครขึ้นนั่งบนคอของโยม ผู้นั้นจะต้องหัวขาด"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ไม่มีผู้อื่นจัดการอุปสมบทให้พระพุทธเจ้า ถ้าผู้ใดจัดการอุปสมบทให้พระพุทธเจ้า
ศีรษะของผู้นั้นต้องหลุดไปจากคอทันที เมื่อกี้นี้มหาบพิตรถามอาตมภาพว่า พระ พุทธเจ้าอุปสมบทด้วยสงฆ์นั่งหัตถบาสเท่าไร อย่างนั้นหรือ? "
"อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าไม่ได้ อุปสมบทด้วยสงฆ์ มีแต่ มรรค กับ ผล เท่านั้นที่เป็นสงฆ์
ข้อนี้สมกับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "พระอริยบุคคล ๔ เหล่า คือผู้ตั้งอยู่ใน มรรค ๔ ผล ๔ ผู้มั่นอยู่ในปัญญาและศีล เป็นสงฆ์ผู้ตรงแท้
แต่บุคคลบางเหล่าต้อง อุปสมบทด้วยสงฆ์"
"น่าอัศจรรย์ พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้า ได้แก้ปัญหาอันละเอียดยิ่ง อันไม่มีส่วนเปรียบ ได้แล้ว ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า
อุปสมบทเป็นของดีหรือ? "
"ขอถวายพระพร อุปสมบทเป็นของดี"
"ข้าแต่พระนาคเสน การอุปสมบทของพระพุทธเจ้ามีอยู่หรือไม่มี? "
"ขอถวายพระพร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อุปสมบทด้วยความเป็นพระสัพพัญญูที่ ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิแล้วไม่มีผู้ให้อุปสมบท
แก่พระพุทธเจ้า เหมือนกับพระพุทธเจ้าทรง ให้อุปสมบทแก่สาวกเลย"
"แก้ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๖ ถามถึงความต่างกันแห่งน้ำตา
"ข้าแต่พระนาคเสน บุรุษคนหนึ่งร้องไห้ เพราะบิดามารดาตาย อีกคนหนึ่งน้ำตาไหล เพราะความชอบใจธรรมะ น้ำตาของคน ทั้งสองนั้น
น้ำตาของใครเป็นเภสัช น้ำตา ของใครไม่เป็นเภสัช?
"ขอถวายพระพร น้ำตาของคนที่ร้องไห้ด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นน้ำตาร้อน ส่วน น้ำตาของผู้ฟังธรรมนั้น มีน้ำตาไหลด้วยปีติ
ยินดีเป็นน้ำตาเย็น เป็นอันว่า น้ำตาเย็นเป็น เภสัช น้ำตาร้อนไม่เป็นเภสัช"
"ถูกดีแล้ว พระนาคเสน"
ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความต่างกันแห่งผู้เสวยรส
"ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ปราศจากราคะ กับ ผู้ไม่ปราศจากราคะ ต่างกันอย่างไร? "
"ขอถวายพระพร ผู้หนึ่งยังมีความยึดถือ อีกผู้หนึ่งไม่มีความยึดถือ"
"ยึดถืออะไร . . .ไม่ยึดถืออะไร? "
"ขอถวายพระพร คือผู้หนึ่งยังมีความต้องการ อีกผู้หนึ่งไม่มีความต้องการ"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ปราศจากราคะ กับ ผู้ไม่ปราศจากราคะ ก็ยังต้องการของเคี้ยวของกินที่ดีงามอยู่เหมือนกัน
ไม่มีใคร ต้องการสิ่งที่ไม่ดีงาม โยมเห็นมีแต่ต้องการ สิ่งที่ดีงามเหมือนกันหมด"
"ขอถวายพระพร ผู้ปราศจากราคะ ยัง รับรสอาหาร ยังกินอาหารอยู่เหมือนกันก็จริงแหล่ แต่ทว่าไม่ยินดีในรสอาหาร
ส่วนผู้ไม่ ปราศจากราคะ ยังยินดีในรสอาหารอยู่ ไม่ใช่ ไม่ยินดีในรสอาหาร"
"เข้าใจแก้ พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๘ ถามที่ตั้งแห่งปัญญา
"ข้าแต่พระนาคเสน ปัญญาอยู่ที่ไหน? "
"ขอถวายพระพร ปัญญาไม่ได้อยู่ที่ไหน"
"ถ้าอย่างนั้นปัญญาก็ไม่มี"
"ขอถวายพระพร ลมอยู่ที่ไหน? "
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่อยู่แห่งลมไม่มี"
"ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นลมก็ไม่มี"
"ฉลาดแก้ พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องงสาร
"ข้าแต่พระนาคเสน คําว่า สงสาร ได้แก่อะไร? "
"ขอถวายพระพร สัตว์โลกเกิดในโลกนี้ ก็ตายในโลกนี้ ตายจากโลกนี้แล้วก็ไปเกิดใน โลกอื่น เกิดในโลกนั้นก็ตายในโลกนั้น ตาย
จากโลกนั้นแล้วก็เกิดในโลกอื่น การเวียนตาย เวียนเกิดอย่างนี้แหละ เรียกว่า "สงสาร""
"ขอนิมนต์อุปมาด้วย"
"ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า บุรุษ คนหนึ่งกินมะม่วงสุก แล้วปลูกเมล็ดไว้ เมล็ดมะม่วงนั้น ก็เกิดเป็นต้นมะม่วงใหญ่ขึ้น
จนกระทั่งมีผลมะม่วง บุรุษนั้นก็กินมะม่วง สุกจากมะม่วงต้นนั้น แล้วปลูกเมล็ดมะม่วง ไว้อีก เมล็ดมะม่วงนั้นก็เกิดเป็นต้น มะม่วงใหญ่โตขึ้นจนมีผล
ต้นแก่ก็ตายไป ที่สุด เบื้องต้นแห่งต้นมะม่วงเหล่านั้น ย่อมไม่ ปรากฏว่ามีมาเมื่อไร ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การเวียนตายเวียนเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ก็ไม่
ปรากฏเบื้องต้นฉะนั้น"
"แก้ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๑๐ ถามถึงเหตุที่ให้ระลึกถึงสิ่งที่ล่วงแล้วได้
"ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลระลึกถึงสิ่งที่ ล่วงไปนานแล้วได้ด้วยอะไร? "
"ได้ด้วย สติ ขอถวายพระพร"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สิ่งที่ล่วงไปนานแล้วนั้น บุคคลระลึกได้ด้วย จิต ต่างหาก ไม่ใช่ ระลึกได้ด้วยสติ"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรทําสิ่งใด สิ่งหนึ่งไว้แล้ว ระลึกไม่ได้มีอยู่หรือไม่? "
"มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร ในเวลานั้นพระองค์ไม่มี จิตหรือ? "
"จิตมี แต่เวลานั้นสติไม่มี"
"ถ้าอย่างนั้น ขอมหาบพิตรจงเข้าพระทัยเถิดว่า บุคคลระลึกได้ด้วย สติ ไม่ใช่ระลึก ได้ด้วย จิต"
"ถูกดีแล้ว พระนาคเสน"
ปัญหาที่ ๑๑ ถามถึงผู้มีสติ
"ข้าแต่พระนาคเสน สติทั้งหลายย่อมเกิด แก่ผู้รู้ยิ่งจําพวกเดียว หรือว่าเกิดแก่กุฏุมพี ด้วย? "
"ขอถวายพระพร เกิดแก่ผู้รู้ยิ่งด้วย เกิดแก่กุฏุมพีด้วย"
"แต่โยมมีความเห็นว่าไม่ใช่อย่างนั้น สติทั้งหลายเกิดแก่ผู้รู้ยิ่งจําพวกเดียว ไม่ได้เกิดแก่กุฏุมพีเลย"
"ขอถวายพระพร ถ้ากุฏุมพีไม่มีสติ สิ่งที่ ควรทําในเรื่องศิลปะ การงาน วิชาการ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ต้องไม่มี พวกอาจารย์ก็ต้อง
ไม่มีประโยชน์ แต่เพราะกุฏุมพีมีสติ จึงมี สิ่งที่ควรทําในเรื่องศิลปะ การงาน วิชาการ พวกอาจารย์จึงมีประโยชน์"
"กล่าวถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
จบวรรคที่ ๖
◄ll กลับสู่ด้านบน
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 27/9/08 at 10:37 |
|
(Update 30 มี.ค. 52)
วรรคที่ ๗
ปัญหาที่ ๑ ถามอาการแห่งสติ
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า"ข้าแต่พระนาคเสน สติ เกิดขึ้นด้วย อาการเท่าใด ?"
พระนาคเสนตอบว่า"ขอถวายพระพร สติ เกิดขึ้นด้วยอาการ ๑๗ อย่าง คือ เกิดขึ้นด้วยการรู้ยิ่ง ๑ ด้วยทรัพย์ ๑ ด้วยวิญญาณอันยิ่ง ๑ ด้วย
วิญญาณเกื้อกูล ๑ ด้วยวิญญาณไม่เกื้อกูล ๑ ด้วยนิมิตที่เหมือนกัน ๑ ด้วยนิมิตที่แปลกกัน ๑
ด้วยการรู้ยิ่งกถา ๑ ด้วยลักษณะ ๑ ด้วยการระลึก ๑ ด้วยการหัดคิด ๑ ด้วยการนับตามลําดับ ๑ ด้วยการจํา ๑ ด้วยการภาวนา ๑ ด้วยการจดไว้ ๑ ด้วยการเก็บไว้ ๑
ด้วยการเคยได้พบเห็น ๑
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อว่า สติเกิดขึ้นด้วยการรู้ยิ่งนั้น คืออย่างไร ?"
"ขอถวายพระพร สติเกิดขึ้นด้วยการรู้ ยิ่งนั้น เช่นกับผู้ที่ระลึกชาติได้ และสติของ พระอานนท์ อันฟังพระสูตรครั้งเดียวจําไว้ได้ และสติของ
นางขุชชุตตราอุบาสิกา ฟังพระ สัทธรรมเทศนาครั้งเดียวก็จําได้ แล้วมาแสดง ให้ผู้อื่นฟังได้ถ้วนถี่"
"ข้อว่า สติเกิดขึ้นด้วยทรัพย์นั้น คืออย่างไร ?"
"ขอถวายพระพร คือคนขี้หลงขี้ลืมย่อมมีอยู่ เวลาเห็นคนเหล่าอื่นเก็บทรัพย์ของเขาไว้ ก็นึกถึงทรัพย์ของตนได้ จึงเรียกว่าสติเกิดขึ้น ด้วยทรัพย์"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยวิญญาณอันยิ่งนั้น คืออย่างไร ?"
"ขอถวายพระพร เหมือนอย่างพระราชา ผู้ได้รับอภิเษกใหม่ หรือผู้ได้สําเร็จโสดาปัตติผล ย่อมมีความรู้สึกดีใจอย่างยิ่ง ความดีใจนั้น ทําให้เกิดสติ
นึกถึงสิ่งต่าง ๆ ได้"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยวิญญาณเกื้อกูลนั้น คืออย่างไร ?"
"ขอถวายพระพร บุคคลได้รับความสุขในที่ใด ก็ระลึกได้ว่า ตนได้รับความสุขในที่นั้น"
"ข้อว่า สติเกิดขึ้นด้วยวิญญาณอันไม่เกื้อกูลนั้น คืออย่างไร ?"
"ขอถวายพระพร บุคคลได้รับความทุกข์ในที่ใด ก็ระลึกได้ว่า เราได้รับความทุกข์ในที่นั้น"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยนิมิตที่เหมือนกันนั้น คืออย่างไร ?"
"ขอถวายพระพร คือบุคคลได้เห็นผู้ เหมือนกันกับมารดาบิดา พี่ชาย พี่สาว หรืออูฐ โค ลา ของตนแล้ว ก็ระลึกถึงมารดาบิดา พี่ชาย พี่สาว อูฐ โค ลา
ของตนได้"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยนิมิตที่แปลกกันนั้น คืออย่างไร ?"
"ขอถวายพระพร คือเมื่อได้รู้เห็น สี กลิ่น รส สัมผัส ของผู้ที่แปลกกัน หรือสิ่งที่แปลกกัน ก็ระลึกได้ถึงสิ่งนั้น ๆ บุคคลนั้น ๆ เช่น เห็นคนขาว
ก็นึกได้ถึงคนดําเป็นตัวอย่าง
"ข้อว่า สติเกิดขึ้นด้วยการรู้ยิ่งซึ่งกถานั้น คืออย่างไร ?"
"ขอถวายพระพร ได้แก่ผู้ขี้หลงขี้ลืม เวลาที่มีผู้อื่นตักเตือนก็นึกได้"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยลักษณะนั้น คือ อย่างไร ?"
"คือเกิดขึ้นด้วยได้รู้เห็นลักษณะแห่งคนหรือสัตว์นั้น ๆ เช่น ได้เห็นโคของผู้อื่นที่มี ลักษณะเหมือนโคของตัว ก็นึกถึงโคของตัวได้"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยการระลึกนั้น คืออย่างไร ?"
"คือคนขี้หลงขี้ลืมมีผู้เตือนให้ระลึกแล้วๆ เล่า ๆ ก็ระลึกได้"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยการหัดคิดนั้น คืออย่างไร ?"
"คือผู้ได้เรียนหนังสือแล้วย่อมรู้ได้ว่า อักษรตัวนี้ควรไว้ในระหว่างอักษรตัวนี้ ส่วนอักษรตัวนี้ควรไว้ติดกันกับอักษรตัวนี้"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยการนับนั้น คืออย่างไร ?"
"คือธรรมดาผู้นับย่อมระลึกถึงสิ่งต่างๆได้มาก เพราะเมื่อนับดูก็ย่อมนึกได้ถึงสิ่งนั้นๆ"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยการจํานั้น คืออย่างไร ?"
"คือผู้จําดีก็นึกถึงสิ่งต่าง ๆ ได้"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยการภาวนานั้น คืออย่างไร ?"
"คือผู้ได้อบรมปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ย่อมระลึกชาติหนหลังได้"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยการจดไว้นั้น คืออย่างไร ?"
"คือเมื่อได้อ่านดูสิ่งที่ตนจดไว้ก็นึกได้"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยการเก็บไว้นั้น คืออย่างไร ?"
"คือได้เห็นของที่ตนเก็บไว้แล้วจึงนึกได้"
"ข้อว่า สติเกิดด้วยการเคยพบเห็นนั้น คืออย่างไร ?"
"คือระลึกได้ด้วยได้เคยพบเห็นมาก่อน อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่า สติเกิดด้วย อาการ ๑๗ อย่างนี้"
"ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน"
ปัญหาที่ ๒
ถามเรื่องทําบาปทําบุญ
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า "ข้าแต่พระนาคเสน คําว่า ผู้ใดทําบาปกรรมตั้ง ๑๐๐ ปี แต่เวลาจะตายได้สติ นึกถึง พระพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียว ก็ได้ไปเกิดใน
สวรรค์ ดังนี้ ข้อนี้โยมไม่เชื่อ อีกคําหนึ่งว่า ทําปาณาติบาตเพียงครั้งเดียว ก็ไปเกิดในนรกได้ ข้อนี้โยมก็ไม่เชื่อ"
พระนาคเสนตอบว่า "ขอถวายพระพร ก้อนหินเล็ก ๆ ทิ้งลงไปในน้ำ จะลอยขึ้นบนน้ำได้ไหม ?"
"ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า"
"ก้อนหินตั้ง ๑๐๐ เล่มเกวียน เขาขนลงบรรทุกเรือ เรือจะลอยอยู่บนน้ำได้ไหม ?"
"ได้ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร บุญกุศลเปรียบเหมือนเรือ เพราะธรรมดาเรือของพวกพ่อค้า มีภาระหนักหาประมาณมิได้ บรรทุกของหนักเกิน ไปก็จมลงในน้ำฉันใด
คนที่ทําบาปทีละน้อย ๆ จนบาปมากขึ้น ก็จมลงไปในนรกได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่วิดน้ำเรือทําให้เรือเบา ก็จะข้ามฟากไปถึงท่า คือนิพพานได้ฉันนั้น
ขอถวายพระพร"
"ถูกดีแท้ พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๓
ถามเรื่องการดับทุกข์ใน ๓ กาล
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า "ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าพยายามละทุกข์ที่เป็นอดีตหรืออย่างไร ?"
พระนาคเสนตอบว่า "หามิได้ ขอถวายพระพร"
"ถ้าอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้าพยายามละทุกข์อนาคตอย่างนั้นหรือ ?"
"หามิได้ ขอถวายพระพร"
"ถ้าอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้าพยายามละทุกข์ปัจจุบันอย่างนั้นหรือ ?"
"หามิได้ ขอถวายพระพร"
"ถ้ามิได้พยายามละทุกข์ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันแล้ว พยายามเพื่ออะไร ?"
"ขอถวายพระพร พยายามเพื่อให้ทุกข์ที่มีอยู่ดับไป และเพื่อไม่ให้ทุกข์ใหม่เกิดขึ้น"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ทุกข์อนาคตมีอยู่ หรือ ?"
"มี มหาบพิตร"
"ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลเหล่าใด พยายามเพื่อละสิ่งที่ยังไม่มี บุคคลเหล่านั้น เป็นบัณฑิตเกินไปเสียแล้ว"
อุปมาป้องกันภัยจากข้าศึก
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรเคยมีอริราชศัตรูหรือไม่ ?"
"เคยมี พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร เมื่อมีอริราชศัตรูที่จะมาจู่โจมบ้านเมืองเกิดขึ้น มหาบพิตรจึงโปรดให้ ขุดคู สร้างกําแพง สร้างประตูเมือง สร้างป้อม
ขนเสบียงอาหารเข้ามาไว้ในพระนครเวลานั้นหรือ ?"
"หามิได้ ต้องเตรียมไว้ก่อน"
"พระองค์ทรงให้ฝึกหัดช้าง ม้า รถ ธนู ดาบ หอก เวลานั้นหรือ ?"
"หามิได้ ต้องฝึกหัดไว้ก่อน"
"ขอถวายพระพร ที่ทําดังนั้นเพื่ออะไร ?"
"ทําไว้เพื่อป้องกันภัยอนาคตน่ะซิ"
"ขอถวายพระพร ภัยอนาคตมีอยู่หรือ ?"
"มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร พวกใดตกแต่งบ้านเมือง ไว้เพื่อละภัยอนาคต พวกนั้นก็เป็นบัณฑิตเกินไปน่ะซิ"
"ขอนิมนต์อุปมาด้วย"
อุปมาป้องกันความกระหายน้ำ
"ขอถวายพระพร เมื่อใดมหาบพิตร อยากเสวยน้ำ เมื่อนั้นมหาบพิตรจึงโปรดให้ ขุดบ่อน้ำ ขุดสระโบกขรณี ขุดเหมือง ขุดบ่อ อย่างนั้นหรือ ?"
"ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า สิ่งเหล่านั้น ต้องทําไว้ก่อนทั้งนั้น"
"ขอถวายพระพร ทําไว้เพื่ออะไร ?"
"ทําไว้เพื่อละความกระหายน้ำน่ะซิ"
"ขอถวายพระพร ความกระหายน้ำอนาคต มีอยู่หรือ ?"
"มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร พวกที่ตระเตรียมการณ์ไว้เพื่อละความกระหายน้ำ อันยังไม่มีอยู่นั้น ก็เป็นบัณฑิตเกินไปน่ะซิ"
"ขอนิมนต์อุปมาอีก"
อุปมาป้องกันความหิว
"ขอถวายพระพร เมื่อมหาบพิตรทรงหิว พระกระยาหาร จึงโปรดให้ไถนา หว่านข้าว ปลูกข้าวอย่างนั้นหรือ ?"
"ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ต้องให้ทําไว้ก่อนทั้งนั้น"
"ขอถวายพระพร ทําไว้เพื่ออะไร ?"
"ทําไว้เพื่อป้องกันความหิวอนาคตน่ะซิ"
"ขอถวายพระพร ความหิวอนาคตมีอยู่หรือ ?"
"มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรที่โปรดให้ทําสิ่งนั้น ๆ ไว้ เพื่อป้องกันความหิวอันยังไม่มีอยู่ ก็เป็นบัณฑิตเกินไปน่ะซิ"
"พระผู้เป็นเจ้ากล่าวสมควรแล้ว"
ข้อวินิจฉัย
ปัญหานี้สลับซับซ้อนในข้อที่ว่า ทําไมพระนาคเสนจึงปฏิเสธว่า มิได้พยายามละทุกข์ ที่เป็น อดีต อนาคต และปัจจุบัน แต่ท่านรับ
ว่า พยายามเพื่อให้ทุกข์ที่มีอยู่ดับไป และเพื่อไม่ให้ทุกข์ใหม่เกิดขึ้น
ปัญหาต่อไปพระเจ้ามิลินท์ถามว่า ทุกข์ อนาคต (ที่ยังไม่มาถึง) มีอยู่หรือ ? ต้นฉบับ ส.ธรรมภักดี ตอบว่า "มี" แต่ฉบับพิสดารกลับตอบว่า "ไม่มี"
แล้วพระองค์ทรงตรัสเย้ยพระนาคเสนว่าฉลาดเกินไป ที่พยายามละสิ่งที่ยังไม่มีอยู่ในเวลานี้
พระนาคเสนจึงย้อนกลับ โดยยกอุปมาภัยของข้าศึก และภัยจากความหิวในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการเตรียมพร้อมไว้ก่อน จากการเปรียบเทียบพอจะวินิจฉัยได้ว่า
"ภัยในอนาคต" ก็เหมือน "ทุกข์ในอนาคต" อันได้แก่ ความแก่ เจ็บ และตาย เป็นต้น ที่จะมีมาในอนาคต จึงเป็นไปได้ว่า "ความ ทุกข์ในอนาคต" น่าจะมีอยู่
อีกทั้งหลักฐานจากคําบาลี พระนาคเสนถามว่า "อัตถิ ปน มหาราช อนาคตภยัง" แปลว่า "ภัยอนาคตมีอยู่หรือไม่ ?" พระเจ้า
มิลินทร์ตรัสตอบว่า "อัตถิ ภันเต" ซึ่งหมายความว่า "มี" ดังนี้
ตอนที่ ๑๑
ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องความไกลแห่งพรหมโลก
"ข้าแต่พระนาคเสน พรหมโลกไกลจากโลกนี้สักเท่าไร ?"
"ขอถวายพระพร พรหมโลกไกลจากโลกนี้มาก ถ้ามีผู้ทิ้งก้อนศิลาโตเท่าปราสาทลงมาจากพรหมโลก ก้อนศิลานั้นจะตกลงมาได้ วันละ ๔๘,๐๐๐ โยชน์ ต้องตกลงมาถึง ๔
เดือน จึงจะถึงพื้นดิน"
"ข้าแต่พระนาคเสน มีคํากล่าวว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ผู้มีอํานาจทางจิต หายวับจากชมพูทวีปนี้ ขึ้นไปปรากฏในพรหมโลกได้เร็วพลัน
เหมือนกันกับบุรุษผู้มีกําลังคู้แขนเหยียดแขนฉะนั้น ดังนี้โยมไม่เชื่อ เพราะถึงเร็วอย่างนั้น ก็จักไปได้เพียงหลายร้อยโยชน์เท่านั้น"
"ขอถวายพระพร ชาติภูมิ (ถิ่นกําเนิด) ของมหาบพิตรอยู่ที่ไหน ?"
"อยู่ที่เกาะอลสัณฑะ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร เกาะอลสัณฑะไกล จากที่นี้สักเท่าไร ?"
"ไกลประมาณ ๒๐๐ โยชน์"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรเคยกระทําสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้ในที่นั้น แล้วเคยนึกถึงมีอยู่หรือ ?"
"มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรนึกไปถึงที่ไกลประมาณ ๒๐๐ โยชน์ ได้โดยเร็วพลัน ไม่ใช่หรือ ?"
"ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
อธิบาย
ในอรรถกถาสังยุตตนิกาย ท่านกล่าวไว้ว่า ก้อนศิลาขนาดใหญ่ถูกทิ้งให้ตกลงมาจากพรหมโลกชั้นต่ำ ก้อนศิลานั้นตกลงมาวันคืนหนึ่ง เป็นระยะ ๔๘,๐๐๐ โยชน์
จึงจะถึง พื้นดินเป็นเวลา ๔ เดือน เพราะเหตุนั้น ระยะทางระหว่างพรหมโลกชั้น พรหมปาริสัชชา ถึงพื้นดิน บัณฑิต ผู้ทราบนัย พึงทราบว่าเป็น ๕,๗๖๐,๐๐๐
โยชน์ ดังนี้
ปัญหาที่ ๕
ถามถึงความไปเกิดในพรหมโลกและเมืองกัสมิระ
"ข้าแต่พระนาคเสน ถ้ามีคน ๒ คน ตายจากที่นี้แล้วไปเกิดในที่ต่างกัน คือคนหนึ่งขึ้นไปเกิดในพรหมโลก อีกคนหนึ่งไป
เกิดในเมืองกัสมิระ คนสองคนนี้ คนไหนจะไปช้าไปเร็วกว่ากัน ?"
"ขอถวายพระพร เท่ากัน"
"ขอนิมนต์อุปมาด้วย"
"ขอถวายพระพร ชาติภูมิของมหาบพิตร อยู่ที่ไหน ?"
"อยู่ที่กาลสิรคาม"
"ขอถวายพระพร กาลสิรคามอยู่ไกลจากที่นี้สักเท่าไร ?"
"ประมาณ ๒๐๐ โยชน์ พระผู้เป็นเจ้า"
"เมืองกัสมิระไกลจากที่นี้สักเท่าไร ?"
"ประมาณ ๑๒ โยชน์ พระผู้เป็นเจ้า"
"เชิญมหาบพิตรนึกถึงกาลสิรคามดูซิ"
"โยมนึกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
"เชิญมหาบพิตรนึกถึงเมืองกัสมิระดูซิ"
"โยมนึกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร ทางไหนนึกถึงช้าเร็ว กว่ากันอย่างไร ?"
"เท่ากัน พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ที่ ขึ้นไปเกิดในพรหมโลก กับผู้ที่ไปเกิดในเมืองกัสมิระ เร็วเท่ากัน ไปถึงพร้อมกัน"
"ขอนิมนต์อุปมาอีก"
อุปมาด้วยเงาของนก
"ขอถวายพระพร ถ้ามีนก ๒ ตัว บิน มาจับต้นไม้พร้อมกัน ตัวหนึ่งจับต่ำ ตัวหนึ่งจับสูง เงาของนกตัวไหนจะถึงพื้นดินก่อนกัน"
"ถึงพร้อมกัน พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร"
"ขอนิมนต์อุปมาอีก"
อุปมาด้วยการแลดู
"ขอถวายพระพร ขอได้โปรดแลดูอาตมา"
"โยมแลดูแล้ว"
"ขอได้โปรดแหงนดู ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์"
"โยมแหงนดูแล้ว"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรแลดูอาตมา กับแลดูดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ อันอยู่ไกลถึง ๔๒,๐๐๐ โยชน์ ข้างไหนจะเร็วช้ากว่ากัน ?"
"เท่ากัน พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ที่ขึ้นไปเกิดในพรหมโลก กับผู้ที่ไปเกิดในเมืองกัสมิระ ไปถึงพร้อมกัน"
"แก้เก่งมาก พระนาคเสน"
ปัญหาที่ ๖
ถามถึงวรรณะสัณฐานของผู้ไปเกิดในโลกอื่น
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามอีกว่า "ข้าแต่พระนาคเสน โยมจักถามถึงเหตุอันยิ่งขึ้นไป คือผู้ไปสู่โลกอื่น ไปด้วยสีเขียว แดง เหลือง ขาว แสด เลื่อม
อย่างไร..หรือ ไปด้วยเพศช้าง ม้า รถ อย่างไร ?"
"ขอถวายพระพร ข้อนี้พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎกพุทธวจนะ"
พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า "ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าพระสมณโคดม ไม่บัญญัติไว้ว่า ผู้ไปเกิดในโลกอื่น ในระหว่างทางนั้นต้องมีสีเขียว หรือสีเหลือง แดง ขาว
แสด เลื่อม อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะว่าพระสมณโคดมทรงรู้จักทุกสิ่งได้หรือ... คําของ คุณาชีวก ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่กล่าวไว้ว่า ผู้ไปสู่โลกอื่นไม่มี
ก็ต้องเป็นของจริง ผู้ใดกล่าวว่า โลกนี้ไม่มี โลกอื่นไม่มี ผู้ไปเกิดในโลกอื่นไม่มี ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่ากล่าวถูก ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต"
พระนาคเสนตอบว่า "ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตรจงตั้ง พระทัยฟังถ้อยคําของอาตมภาพ"
"โยมตั้งใจฟังอยู่แล้ว"
"ขอถวายพระพร ถ้อยคําของอาตมภาพ ที่พ้นออกไปจากปาก ไปถึงพระกรรณของมหาบพิตรนั้น ในระหว่างที่ยังไปไม่ถึงนั้น
เสียงของอาตมภาพมีสีอย่างไร มีทรวดทรง อย่างไร ?"
"เห็นไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร ถ้ามหาบพิตรว่าเห็นไม่ได้ เสียงของอาตมภาพก็ไม่ไปถึงพระกรรณของมหาบพิตร มหาบพิตรก็ตรัสคําเหลาะแหละน่ะซิ"
"โยมไม่ได้พูดเหลาะแหละ ถึงถ้อยคําของพระผู้เป็นเจ้าไม่ปรากฏสีเขียว หรือสีเหลืองในระหว่างทางก็จริง แต่ถ้อยคําของพระผู้เป็นเจ้า ก็มาถึงโยมจริง"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงผู้ไปเกิดในโลกอื่นนั้น จะไม่ปรากฏสีเขียว หรือสีเหลืองในระหว่างทางก็จริง แต่ผู้ไปเกิดในโลกอื่นนั้นก็มีอยู่
เหมือนกับถ้อยคําของอาตมา"
"น่าอัศจรรย์ พระนาคเสน ขอพระผู้เป็นเจ้าจงเสวยราชสมบัติใหญ่ในชมพูทวีปทั้งสิ้นนี้เถิด เพราะขันธ์ ๕ นี้ไม่ได้ไปสู่โลกอื่น ขันธ์ ๕ ไม่มีอะไรตกแต่ง
เกิดขึ้นเอง สงสารก็ไม่มี"
อุปมาด้วยการทํานา
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรเคยโปรดให้ทํานาหรือไม่ ?"
"อ๋อ...เคยให้ทํา"
"ขอถวายพระพร ข้าวสาลีที่ปลูกลงในพื้นดินย่อมมีรวงงอกขึ้น เมื่อรวงข้าวสาลีงอกขึ้น จะว่างอกขึ้นเองหรืออย่างไร ?"
"ข้าแต่พระนาคเสน ข้าวสาลีที่ปลูกลงในพื้นดินย่อมมีรวงงอกขึ้น จะว่างอกขึ้นเอง ไม่มีผู้ใดกระทําไม่ได้"
"ขอถวายพระพร ถ้าข้าวสาลีที่ปลูกลงในพื้นดิน ยังไม่มีรวงงอกขึ้น เมื่อรวงยังไม่งอกขึ้น จะว่าไม่มีผู้ปลูก จะว่าข้าวสาลีไม่มีจะได้หรือไม่ ?"
"ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถ้าขันธ์ ๕ นี้ไปเกิดเอง คนตาบอดก็จะเกิดเป็นคนตาบอดอีก คนใบ้ก็จะเกิดเป็นคนใบ้อีก บุญก็ไม่มีประโยชน์อันใด ถ้าขันธ์ ๕
ไม่มีสิ่งใดตกแต่ง เป็นของเกิดขึ้นเอง ขันธ์ ๕ ก็จะ ต้องไปนรกด้วยอกุศลกรรม"
"ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้น"
อุปมาด้วยการจุดประทีป
"ขอถวายพระพร เหมือนอย่างมีผู้เอาประทีปมาจุดต่อกัน เปลวประทีปดวงเก่า ก้าวไปสู่ประทีปดวงใหม่หรืออย่างไร ประทีปทั้งสองนั้น
มีขึ้นเองไม่มีผู้กระทําอย่างนั้นหรือ ?"
"ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ขันธ์ ๕ นี้ไม่ได้ไปสู่โลกอื่น ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีสิ่งใดทําให้เกิดขึ้น"
"ข้าแต่พระนาคเสน เวทนาขันธ์ ไปสู่โลกอื่นหรือ ?"
"ขอถวายพระพร ถ้าเวทนาขันธ์ไปสู่โลกอื่น ผู้ที่ไปเกิดในโลกอื่น ก็คือเวทนาขันธ์อย่าง นั้นซิ ?"
"ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร เพราะเหตุนั้นแหละ มหาบพิตรจงเข้าพระทัยเถิดว่า เวทนาขันธ์ ในอัตภาพนี้ไม่ได้ไปสู่โลกอื่น"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สัญญาขันธ์ ไปสู่ โลกอื่นหรือ ?"
"ขอถวายพระพร ถ้าสัญญาขันธ์ไปสู่โลกอื่น ผู้มีมือด้วนเท้าด้วนในอัตภาพนี้ ไปสู่โลกอื่นแล้ว ก็จะต้องมีมือด้วนเท้าด้วนอีกหรืออย่างไร ?"
"ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า"
"เพราะเหตุนั้นแหละ มหาบพิตรจงเข้า พระทัยเถิดว่า สัญญาขันธ์ในอัตภาพนี้ ไม่ได้ไปสู่โลกอื่น"
"ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก"
อุปมาด้วยกระจก
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรมีกระจกส่องพระพักตร์หรือไม่ ?"
"มี พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรจงทรงหยิบ เอากระจกมาวางไว้ตรงพระพักตร์มหาบพิตร"
"โยมหยิบมาตั้งไว้แล้ว"
"ขอถวายพระพร ดวงพระเนตร พระกรรณ พระนาสิก พระทนต์ ของมหาบพิตร ปรากฏอยู่ในกระจกนี้เอง หรือว่ามหาบพิตรทรงกระทําให้ปรากฏ ?"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ดวงตา หู จมูก ฟัน ของโยมปรากฏอยู่ในวงกระจกนี้ ด้วยโยมกระทําขึ้น"
"ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นเป็นอันว่า มหาบพิตรได้ควักเอาพระเนตร ตัดเอาพระกรรณ พระนาสิก และถอนเอาพระทนต์ของมหาบพิตร เข้าไปไว้ในกระจกแล้ว
มหาบพิตรก็เป็นคนตาบอด ไม่มีพระนาสิกและพระทนต์ อย่างนั้นซิ ?"
"ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า เงาปรากฏในกระจก เพราะอาศัยโยมกระทําขึ้น ไม่ใช่ว่าเพราะโยมไม่ได้กระทําขึ้น"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ไม่ใช่ว่าขันธ์ ๕ นี้ไปสู่โลกอื่น ทั้งไม่ใช่ว่าขันธ์ ๕ ไม่มีสิ่งกระทําเป็นของเกิดขึ้นเอง
สัตว์ถือกําเนิดในครรภ์มารดาด้วยกุศลกรรม อกุศลกรรม ที่ตนกระทําไว้ เพราะอาศัยขันธ์ ๕ นี้แหละ จึงเหมือนเงาปรากฏในกระจก เพราะอาศัยการกระทําของมหาบพิตร
ฉะนั้น"
"ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน"
ปัญหาที่ ๗
ถามเรื่องถือกําเนิดในครรภ์มารดา
"ข้าแต่พระนาคเสน เมื่อสัตว์จะเข้าถือกําเนิดในท้องมารดา เข้าไปทางทวารไหน ?"
"ขอถวายพระพร ไม่ปรากฏว่าเข้าไปทาง ทวารไหน"
"ขอนิมนต์อุปมาด้วย"
"ขอถวายพระพร หีบแก้วของมหาบพิตร มีอยู่หรือ ?"
"มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร ขอจงนึกเข้าไปในหีบแก้วดูซิ"
"โยมนึกเข้าไปแล้ว"
"ขอถวายพระพร จิตของมหาบพิตรที่ นึกเข้าไปในหีบแก้วนั้น เข้าไปทางไหน ?"
"ข้าแต่พระนาคเสน จิตของโยมไม่ปรากฏว่านึกเข้าไปทางไหน"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร สัตว์ที่ข้าไปถือกําเนิดในท้องมารดา ก็ไม่ปรากฏว่าเข้าไปทางไหนฉะนั้น"
"ข้าแต่พระนาคเสน การที่พระผู้เป็นเจ้า แก้ปัญหาปฏิภาณอันวิจิตรยิ่งนี้ได้เป็นอัศจรรย์นักหนา ถ้าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
คงจะประทานอนุโมทนาสาธุการเป็นแน่แท้"
ปัญหาที่ ๘
ถามเรื่องโพชฌงค์ ๗
"ข้าแต่พระนาคเสน โพชฌงค์ มีเท่าไร ?"
"ขอถวายพระพร มี ๗ ประการ"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุคคลตรัสรู้ด้วย โพชฌงค์เท่าไร ?"
"ขอถวายพระพร บุคคลตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์ข้อเดียว"
"คือข้อไหน พระผู้เป็นเจ้า ?"
"ขอถวายพระพร คือข้อ ธัมมวิจยสัม โพชฌงค์" (ใคร่ครวญธรรมะ)
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ไว้ทําไม ?"
"ขอถวายพระพร พระองค์จะเข้าพระทัย ความข้อนี้อย่างไร...คือดาบที่บุคคลสวมไว้ในฝัก บุคคลไม่ได้ชักออกจากฝัก อาจตัดสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ขาดได้หรือ ?"
"ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ บุคคลปราศจาก ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ แล้ว ตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์ ๖ ไม่ได้"
"ถูกแล้ว พระนาคเสน"
อธิบาย
โพชฌงค์ คือองค์เป็นเครื่องตรัสรู้มี ๗ ประการ ดังนี้
๑. สติ ระลึกนึกไว้เสมอ
๒. ธัมมวิจยะ ใคร่ครวญธรรมะที่เราจะปฏิบัติ
๓. วิริยะ มีความเพียรต่อสู้กับอุปสรรค
๔. ปีติ สร้างความอิ่มเอิบใจให้ปรากฏกับจิต
๕. ปัสสัทธิ ความสงบ คือสงบจากนิวรณ์ หรือสงบจากกิเลส
๖. สมาธิ มีความตั้งใจมั่น
๗. อุเบกขา ทรงอารมณ์เดียวเข้าไว้ ไม่ยอมรับทราบอารมณ์อื่นเข้ามาสนใจ
ปัญหาที่ ๙
ถามถึงความมากกว่ากัน แห่งบาปและบุญ
"ข้าแต่พระนาคเสน บุญและบาปข้างไหน มากกว่ากัน ?"
"ขอถวายพระพร บุญมากกว่าบาป บาปน้อยกว่า"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ทําไมจึงว่าบุญมากกว่า บาปน้อยกว่า ?"
"ขอถวายพระพร บุคคลทําบาปแล้ว ย่อมร้อนใจในภายหลังว่า เราได้ทําบาปไว้แล้ว เพราะเหตุนั้นบาปก็ไม่ได้มากขึ้น
ส่วนบุญเมื่อบุคคลทําเข้าแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีแต่เกิดปราโมทย์ ปีติ ใจสงบ มีความสุข จิตเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น บุญจึงมากขึ้น
ดังมีบุรุษผู้มีมือมีเท้าขาดแล้ว ได้บูชาพระด้วยดอกบัวเพียงกําเดียว ก็จักได้เสวยผลถึง ๙๑ กัป ด้วยเหตุนี้แหละ จึงว่าบุญมากกว่า ขอถวายพระพร"
"ชอบแล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๑๐
ถามถึงการทําบาปแห่งผู้รู้กับผู้ไม่รู้
"ข้าแต่พระนาคเสน สมมุติว่ามีคน ๒ คน คนหนึ่งรู้จักบาป อีกคนหนึ่งไม่รู้จัก แต่กระทําบาปด้วยกันทั้งสองคน ข้างไหนจะได้บาปมากกว่ากัน ?"
"ขอถวายพระพร ข้างไม่รู้จักได้บาปมากกว่า"
"ข้าแต่พระนาคเสน ราชบุตรของโยม หรือราชมหาอํามาตย์คนใดรู้ แต่ทําผิดลงไป โยมลงโทษแก่ผู้นั้นเป็นทวีคูณ"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร..คือสมมุติว่ามีคน ๒ คน จับก้อนเหล็กแดงเหมือนกัน คนหนึ่งรู้ว่าเป็นก้อนเหล็กแดง
อีกคนหนึ่งไม่รู้ คนไหนจะจับแรงกว่ากัน ?"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คนไม่รู้จับแรงกว่า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ไม่ รู้บาปได้บาปมากกว่า"
"ชอบแล้ว พระนาคเสน"
ปัญหาที่ ๑๑
ถามถึงผู้ที่ไปอุตตรกุรุทวีปและสวรรค์
"ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ไปสู่อุตตรกุรุทวีป หรือพรหมโลก หรือไปทวีปอื่นด้วยกายนี้มีอยู่ หรือ ?"
"ขอถวายพระพร มีอยู่"
"ข้อนี้คืออย่างไร พระผู้เป็นเจ้า ?"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรเคยกระโดดที่แผ่นดินนี้ได้คืบหรือศอก ?"
"อ๋อ...โยมเคยกระโดดได้ ๘ ศอก"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรกระโดด อย่างไร...จึงได้ถึง ๘ ศอก ?"
"พอโยมคิดว่าจะกระโดด กายของโยมก็เบา โยมจึงกระโดดได้ถึง ๘ ศอก"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือภิกษุผู้มีฤทธิ์ มีอํานาจทางจิตภาวนา อธิษฐานจิต แล้ว ก็เหาะไปสู่เวหาสได้"
"ถูกแล้ว พระนาคเสน"
ปัญหาที่ ๑๒
ถามเรื่องกระดูกยาว
"ข้าแต่พระนาคเสน มีคํากล่าวว่า มีกระดูกยาวตั้ง ๑๐๐ โยชน์ โยมไม่เชื่อ เพราะต้นไม้ที่สูงตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ก็ยังไม่มี กระดูกที่ไหนจักยาวตั้ง ๑๐๐
โยชน์"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรเคยได้ทรงสดับหรือไม่ว่า ปลาในมหาสมุทรตัวยาวตั้ง ๕๐๐ โยชน์มีอยู่ ?"
"เคยฟัง พระผู้เป็นเจ้า"
"ถ้าอย่างนั้น กระดูกของปลาที่มีตัวยาวตั้ง ๕๐๐ โยชน์ จักยาวตั้ง ๑๐๐ โยชน์มิใช่หรือ ?"
"ใช่แล้ว พระผู้เป็นเจ้า"
ปัญหาที่ ๑๓
ถามเรื่องเกี่ยวกับลมหายใจ
"ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลอาจทําลมหายใจให้ดับได้หรือ ?"
"ขอถวายพระพร ได้"
"ได้อย่างไร...พระผู้เป็นเจ้า ?"
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรเคยได้ยินเสียงคนนอนกรนบ้างหรือ ?"
"อ๋อ...เคยซิ พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร เวลาเขาพลิกกายเสียงกรนเงียบไปไหม ?"
"เงียบไป พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร เสียงกรนนั้นเป็นเสียงของผู้ไม่ได้อบรมกาย ไม่ได้อบรมศีล ไม่ได้อบรมจิต แต่เมื่อพลิกตัวก็ยังหายไป ส่วนลมหายใจของผู้ได้อบรมกาย อบรมศีล
อบรมจิต เข้าจตุตถฌาน จะไม่ดับหรือ... มหาบพิตร ?"
"ชอบแล้ว พระนาคเสน"
อธิบาย
คําว่า "จตุตถฌาน" ได้แก่ ฌาน ๔ ที่มีลักษณะดับความรู้สึกจากลมหายใจในขณะนั้น ซึ่งเป็นอาการทั่วไปของผู้ที่เข้าฌาน ๔
มิใช่ว่าลมหายใจจะดับสิ้นไป ดังนี้
| |