ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 30/4/08 at 15:36 Reply With Quote

ผู้ปฏิบัติหน้าที่พระสังฆราชให้พร "วันวิสาขบูชา ปี 2558" (ฟังหลวงพ่อเทศน์วันวิสาขบูชา)






ผู้ปฏิบัติหน้าที่พระสังฆราช ให้พร "วันวิสาขบูชา ปี 2558"


สมเด็จวัดปากน้ำ มอบธรรมโอวาทวิสาขบูชา 58 ชวนชาวพุทธปฏิบัติธรรม รักษาศีล 5 ถวายพระราชกุศลแด่ในหลวง-ราชินี เป็นพุทธบูชา“

........วันนี้(29 พ.ค.) สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มอบธรรมโอวาท เนื่องในวันวิสาขบูชาประจำปี 2558 ความว่า วันสำคัญของพี่น้องชาวไทยและนานาอารยประเทศได้มาถึงอีกวาระหนึ่งแล้ว คือ วันวิสาขบูชาปีนี้ ตรงกับวันที่ 1 มิถุนายน 2558 วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลกเพราะเป็นวันที่เกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราโดยตรง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติจากพระครรภ์พระพุทธมารดา ตรัสรู้อริยสัจธรรมเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า และดับขันธปรินิพพาน ในวันวิสาขบูชานี้ 3 วาระ 3 กาล 3 สมัย มาบรรจบครบอยู่ในวันเดียวกัน

ดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงได้อนุโมทนาสาธุการ ประกาศให้วันนี้เป็นวันสำคัญสากลของโลก เนื่องในวันวิสาขบูชานี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เชิญชวนประชาชนนุ่งขาวห่มขาวพร้อมกันทั่วทั้งสังฆมณฑล ให้พร้อมใจกันปฏิบัติธรรมรักษาศีล เจริญภาวนาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐทั้งเป็นการบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประการสำคัญ

เหตุการณ์ประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานเพื่อปฏิบัติคุณงามความดีต่อๆไป เหตุการณ์ตรัสรู้สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานเพื่อการตั้งใจสร้างความรู้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และตั้งใจประกอบสัมมาอาชีวะ เหตุการณ์ปรินิพพานสามารถนำมาเป็นบรรทัดฐาน เพื่อการทำคุณงามความดีฝากไว้ในโลกนี้ อาตมภาพ ขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมทำคุณงามความดี ตามโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดมุสา ไม่ดื่มสุราเมรัย อันเป็นคุณธรรมที่สูงส่ง

ถ้าหากว่าทุกคนมีศีล 5 ด้วยกัน อยู่สุขสบายเจริญรุ่งเรือง ดังคำสอนของครูบาเจ้าชัยวงศา วัดพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ที่ได้สอนศิษยานุศิษย์ของท่านไว้ในเรื่องศีล 5 ว่าศีลข้อที่ 1 เป็นหลักประกันชีวิต ศีลข้อที่ 2 เป็นหลักประกันทรัพย์สิน ศีลข้อที่ 3เป็นหลักประกันครอบครัว ศีลข้อที่ 4 เป็นหลักประกันสังคม และศีลข้อที่ 5เป็นหลักประกันสุขภาพ ถ้าทุกคนมีศีล 5 ก็สบายชื่อว่าเป็นการทำคุณงามความดีฝากไว้ในโลกประการหนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายจงมีความสุขกาย มีความสุขใจ มีสุขภาพพลานามัย ไร้โรคาพาธคิดสิ่งใดในทางที่ชอบ ขอให้สมประสงค์ความปรารถนาสิ่งนั้นและขอจงเข้าถึงอัปปมาทธรรมอันสำคัญทุกประการ เทอญฯ “

อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/education/324621



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 5/5/09 at 14:48 Reply With Quote


.


คลิปวีดีโอ หลวงพ่อแสดงพระธรรมเทศนา วันวิสาขบูชา เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2534





เพลง "ปาเจรา"









เพลงวันวิสาขบูชา


คำร้อง ประเทือง ไตรทิพย์ ขับร้อง พูลศรี เจริญพงษ์

ทำนองและเรียบเรียง สมาน กาญจนผลิน


เพ็ญเดือนหาวิสาขปุณณมี
เป็นวันที่สำคัญทีสุดพุทธศาสนา
องค์สมเด็จพระบรมศาสดา
ประสูติ ณ สุมพินียนาอุทยาน

และตรัสรู้พระอนุตตรสัมมา
สัมโพธิญาณใต้ร่มโพธิ์เนรัญชลาธาร
อีกทั้งดับขันธปรินิพพาน
ณ สถานกุสินารานคร

สามกาลพร้อมกันวิสาขเป็นอัศจรรย์
ชาวพุทธเพรียงกันประนมการ
ตั้งจิตมั่นสร้างสรรค์ค์บุญวัน
เป็นอนุสรณ์ในวันวิสาชบูชา



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 7/5/09 at 06:53 Reply With Quote


สมเด็จพระสังฆราช ทรงประทานพระโอวาท" วันวิสาขบูชา 2556"


.......“สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาท เนื่องในวันวิสาขบูชา 2556 ขอให้ชาวพุทธปฏิบัติธรรมให้รู้จริง ช่วยนำสันติสุขสู่ตนเองและสังคม

.......วันนี้ (16 พฤษภาคม 2556) สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาท เนื่องในวันวิสาขบูชา 2556 ความว่า วันวิสาขบูชา กล่าวได้ว่าเป็นวันเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบความจริงของโลกและชีวิต ที่เรียกรวม ๆ ว่า ธรรมอันเป็นที่มาของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนานั้น เมื่อกล่าวโดยย่อ ย่อมสอนให้ละความชั่ว ให้ประพฤติความดี และให้ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง และยังมีหลักที่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ควรจะศึกษาให้รู้ไว้อีก คือ หลักธรรม หลักอริยสัจสี่ เหล่านี้เป็นข้อใหญ่ใจความ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของพระพุทธศาสนา

ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น บริสุทธิ์ บริบูรณ์ด้วยพยัญชนะ คือ ถ้อยคำด้วยอรรถ คือ เนื้อหาไม่จำเป็นจะต้องตัดต้องเพิ่ม หรือต้องชำระแก้ไข แม้พระพุทธศาสนาจะได้ล่วงเลยมาเป็นเวลานับพันปีแล้ว ถ้อยคำที่ทรงแสดงนั้น ยังคงสืบหาความหมายของธรรมได้เสมอหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน คือผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงควรศึกษาปฏิบัติให้เกิดความรู้ธรรมความเห็นธรรม ถ้ายังขาดความรู้ธรรมความเห็นธรรม ก็ชื่อว่า เป็นพุทธศาสนิกชนเพียงครึ่งเดียว

ฉะนั้น เนื่องในวันวิสาขบูชา 2556 จึงใคร่เชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พากันศึกษาปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ให้เกิดเป็นความรู้ธรรมความเห็นธรรมขึ้น เพื่อจะได้เป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์และนำสันติสุขมาสู่ตนและสังคมโดยถ้วนทั่วขออำนวยพร"


ที่มา - hilight.kapook.com




จบบริบูรณ์ "แสตมป์จตุภาค" ฉลองวิสาขบูชาโลกปี 2553




แสตมป์ "วิสาขบูชา" ปี 2553

.....ไปรษณีย์ไทยร่วมใจพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ฉลองเทศกาลวันเพ็ญเดือน 6 ปีนี้ ด้วยการออกแสตมป์พุทธประวัติภาคสุดท้าย ชุดปรินิพพาน ในวันวิสาขบูชา 28 พ.ค. เป็นดวงแนวนอน ภาพสถูปปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา หนึ่งใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธทั่วโลก พร้อมภาพพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (นอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา) ที่ประดิษฐานอยู่ภายใน แสตมป์ชุดนี้นับเป็นชุดสุดท้ายในจำนวน 4 ชุด ของแสตมป์เรื่องราวพุทธประวัติ ได้แก่ ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ซึ่งออกติดต่อกันในโอกาสวันวิสาขบูชาเป็นปีที่ 4



แสตมป์ "วิสาขบูชา" ปี 2553



แสตมป์ "วิสาขบูชา" ปี 2552



แสตมป์ "วิสาขบูชา" ปี 2551



แสตมป์ "วิสาขบูชา" ปี 2550



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 8/5/11 at 05:06 Reply With Quote


ประวัติ "วันวิสาขบูชา" แหล่โดย..ชินกร ไกรลาส



ประวัติความเป็นมาของ "วันวิสาขบูชา" ในประเทศไทย

ส่งมาจาก "คุณอภิมุข"


........วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้ง "กรุงสุโขทัย" เป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่างมาจาก "ลังกา" กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่

........สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกา มีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมาก เพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

........ใน "หนังสือนางนพมาศ" ได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า

........" เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน

..........พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ต ลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

.........ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณร บริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "

..........ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา

..........จนมาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๖๐) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่

..........โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๖๐ และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน

..........ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

..........การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๘ พฤษภาคม รวม ๗ วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง

...........ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ตามศรัทธาตลอดเวลา ๗ วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม ๒,๕๐๐ รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๔ พฤษภาคม รวม ๓ วัน

..........มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ ๒,๕๐๐ รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ ๒๐๐,๐๐๐ คน เป็นเวลา ๓ วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย..."



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 13/5/14 at 04:22 Reply With Quote






วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ


วันวิสาขบูชาถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้

และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดวันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน

การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา

การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา จะแบ่งออกเป็น 3 พิธี ได้แก่

1. พิธีหลวง คือ พระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบในวันวิสาขบูชา
2. พิธีราษฎร์ คือ พิธีของประชาชนทั่วไป
3. พิธีของพระสงฆ์ คือ พิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจ


กิจกรรมในวันวิสาขบูชา

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่

1. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร
2. จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
4. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
5. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
6. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา
7. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ
8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์


หลักธรรมที่สำคัญที่ควรนำมาปฏิบัติ

ในวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรยึดมั่นในหลักธรรม ซึ่งหลักธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่

1. ความกตัญญู

คือ การรู้คุณคน เป็นคุณธรรมที่คู่กับความกตเวที ซึ่งหมายถึงการตอบแทนคุณที่มีผู้ทำไว้ ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ เป็นเครื่องหมายของคนดี ทำให้ครอบครัวและสังคมมีความสุข ซึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้ง บิดามารดาและลูก ครูอาจารย์กับศิษย์ นายจ้างกับลูกจ้าง ฯลฯ

ในพระพุทธศาสนา เปรียบพระพุทธเจ้าเสมือนกับบุพการี ผู้ชี้ให้เห็นทางหลุดพ้นแห่งความทุกข์ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงควรตอบแทนด้วยความกตัญญูกตเวทีด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และดำรงพระพุทธศาสนาให้อยู่สืบไป

2. อริยสัจ 4

คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา ได้แก่

ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต สภาวะที่ทนได้ยาก ซึ่งทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ การเกิด การแก่ และการตาย ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ส่วนทุกข์จร คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การพลัดพลาดจากสิ่งที่เป็นที่รัก หรือ ความยากจน เป็นต้น

สมุทัย คือ ต้นเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของการเกิดทุกข์ และสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดจาก "ตัณหา" อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นสภาพที่ความทุกข์หมดไป เพราะสามารถดับกิเลส ตัณหา อุปาทานออกไปได้

มรรค คือ หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ เป็นการปฎิบัติเพื่อแก้ปัญหา มี 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ

3. ความไม่ประมาท

คือการมีสติตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ล้วนต้องใช้สติ เพราะสติคือการระลึกได้ การระลึกได้อยู่เสมอจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ซึ่งความประมาทนั้นจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมา ดังนั้นในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยความมีสติ

วันวิสาขบูชา นับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน เป็นวันที่มีการทำพิธีพุทธบูชา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์

อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทั้ง 3 ประการ ที่มาบังเกิดในวันเดียวกัน และนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในการดำรงชีวิตค่ะ


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 31/5/15 at 05:36 Reply With Quote


.


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved