ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 7/5/08 at 14:32 Reply With Quote

(ตอนที่ 3) รูปภาพโครงกระดูก "ศพจริงๆ" ถ้าไม่มั่นใจก็อย่าเพิ่ง..."Click"


<< ตอนที่ 2

(Update 14 พ.ค. 51)

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก
เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
กายคตาสติสูตร ตอนที่ 2


การพิจารณา "กายคตาสติ" เป็น "อสุภะ" นี้ ได้ลงต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เริ่มจากศพตายขึ้นอืดพองเขียวน้ำเหลืองไหล แล้วก็เน่าแห้งจนเหลือแต่โครงกระดูก ภาพแรกนี้จะเห็นว่ามีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาจจะเป็นพ่อแม่และลูกก็ได้นะ ภาพเหล่านี้อาจจะมีไม่ครบถ้วน แต่ก็เอามาเป็นเพียงตัวอย่าง เพื่อประกอบในการใช้ปัญญาพิจารณาเท่านั้น
เริ่มต้นหมวดนี้ได้นำภาพการผ่าหัวเข่า โดยเริ่มพิจารณาจากผิวหนังลงไปในเนื้อ แล้วจะเห็นกระดูกเป็นแกนหลักของร่างกาย ภาพนี้ให้เห็นขณะที่ยังไม่ตาย ภาพต่อไปก็จะเข้าถึง "โครงกระดูก" จากคนที่ตายแล้วจริงๆ



หมวดพิจารณาโครงกระดูก


(อธิบาย - สภาพศพที่เห็นนี้ มีการขุดพบซากศพได้จากประเทศอื่น แล้วนำมาเผยแพร่ มองดูคล้ายกับมนุษย์หมาป่าและศพของนางเงือก เหมือนกับเรื่องเล่าสมัยยุคโบราณ ต่อไปก็จะนำคำสอนของพระพุทธเจ้า อาจจะนำมาโดยสังเขปเท่านั้น จึงขอให้ใช้ปัญญาพิจารณากันเอาเองนะ)


ข้อความจากพระไตรปิฎก (ต่อจากตอนที่แล้ว)
[๓๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างอยู่ด้วยกระดูก มีทั้งเนื้อและเลือด เส้นเอ็นผูกรัดไว้...เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูก ไม่มีเนื้อ มีแต่เลือดเปรอะ เปื้อนอยู่ เส้นเอ็นยังผูกรัดไว้...เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว แต่เส้นเอ็นยังผูกรัดอยู่...

(อธิบาย - ภาพนี้มีปริศนา อาจจะทำให้คิดได้ว่า คงที่เดินไปเดินมา หรือนั่งท่านี้ ถ้าเรามองให้ทะลุเนื้อหนังลงไป ก็จะเห็นเป็นโครงกระดูกนั่งอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นหนุ่มงามหรือสาวสวยก็เป็นได้ ส่วนภาพต่อมาก็จะเห็นเป็นสัจจะธรรมจริงๆ หากเห็นภาพหญิงชายที่หลงรักกันเช่นนี้ เราก็มองทะลุปรุโปร่งเข้าไป จะเห็นว่าโครงกระดูกทั้งสองนี้กอดจูบกันแค่นั้นเองนะ)


เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นท่อนกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นเครื่องผูกรัดแล้ว กระจัดกระจายไปทั่วทิศต่างๆ คือ กระดูกมืออยู่ทางหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าขาอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสันหลังอยู่ทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางหนึ่ง กระดูกคออยู่ทางหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางหนึ่ง กระดูกฟันอยู่ทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางหนึ่ง


จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้ เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ ฯ


(ขณะที่ปลงสังขารอยู่นี้ มีภาพตลกๆ มาดูเล่นด้วย ได้ประโยชน์แล้วไม่ซีเรียสด้วยนะ)

[๓๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นแต่กระดูก สีขาวเปรียบดังสีสังข์...เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้าเป็นท่อน กระดูกเรี่ยราดเป็นกองๆ มีอายุเกินปีหนึ่ง...เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นแต่กระดูกผุเป็นจุณ จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้


เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ ฯ



หลวงพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร)

เทศน์เรื่อง "สรุปกายานุปัสสนา" ชุด B


สรุปกายานุปัสสนาฯ ชุด B (คำเทศน์ตอนนี้ จะไม่ตรงกับคำสอนข้างล่าง)





คำสอนหลวงพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร)

อัฏฐิกะอสุภะกรรมฐาน (หนังสือ "คู่มือปฏิบัติกรรมฐาน" วัดท่าซุง)


"...อัฏฐิกะอสุภะนี้ ท่านให้เอากระดูกของซากศพเท่าที่พึงหาได้ จะเป็นกระดูกที่มี เนื้อ เลือด เส้น เอ็น รัดรึงอยู่ก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกล้วนก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกบางส่วนของร่างกาย มีเพียงส่วนน้อยหรือท่อนเดียวก็ตาม เอามาเป็นวัตถุพิจารณา เวลาพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่าดังนี้ " อัฏฐิกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับ "อุคคหนิมิต" ในอัฏฐิกะอสุภะนี้ จะมีรูปเป็นกระดูกเคลื่อนไหวไปมา สำหรับ "ปฏิภาคนิมิต" นั้นจะมีสภาพเป็นกระดูกวางเฉยเป็นปกติ

การพิจารณา
การเจริญอสุภกรรมฐาน ต้องหนักไปในทางพิจารณา เพราะถ้าใช้แต่การเพ่งจำภาพเฉยๆ จะกลายเป็นกสิณไป ในขณะที่เพ่งจำภาพนั้น ท่านให้พิจารณาพร้อมๆ กันไปด้วย โดยพิจารณาตามความรู้สึกที่แท้จริงว่า อสุภ คือซากศพนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียนไม่มีอะไรเป็นที่น่ารักน่าปรารถนาเลย ร่างกายคนและสัตว์ทั้งสิ้น มีสภาพน่าสะอิดสะเอียนอย่างนี้

แล้วน้อมภาพนั้นเข้าไปเทียบเคียงกับคนที่มีชีวิตอยู่ โดยคิดแสวงหาความเป็นจริงว่าร่างที่เพริศพริ้งแพรวพราวไปด้วยทรวดทรง และตระการตาไปด้วยเครื่องประดับนั้นความจริงไม่มีอะไรสวยงามเลยภายใต้หนังกำพร้ามีแต่ความโสโครก น่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียนเลอะเทอะโสมมไปด้วยกลิ่นคาวที่เหม็นคลุ้งไปทั่วบริเวณร่างกาย ไม่มีส่วนใดที่จะหาว่าสะอาดน่ารักแม้แต่น้อยหนึ่งก็หาไม่ได้

เมื่อเทียบกับร่างของผู้อื่นแล้วก็เอามาเทียบกับตนเองพิจารณาให้เห็นชัดว่า เราเองก็เป็นซากศพเคลื่อนที่ เป็นผีเน่าเดินได้ดี ๆ นั่นเอง ซากศพนี้มีสภาพเช่นใดเราเองก็มีสภาพเช่นนั้นที่ยังมองไม่ชัดเพราะหนังกำพร้าหุ้มห่อไว้ แต่ทว่าสภาพที่เลอะเทอะน่าเกลียดโสโครกนี้ใ ช่ว่าจะพ้นการพิจารณาใคร่ครวญของท่านผู้มีปัญญาก็หาไม่

ความจริงสิ่งโสโครกที่ปรากฏภายในก็หลั่งไหลออกมาปรากฏทุกวันคืน เช่น อุจจาระปัสสาวะ เลือด เสลด น้ำหนอง เหงื่อไคล สิ่งเหล่านี้เมื่อหลั่งไหลออกมาจากร่างกายเราเองผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ปรารถนาจะแตะต้องเพราะรังเกียจว่าเป็นสิ่งสกปรกโสโครกความจริงสิ่งเหล่านั้นมีอยู่ในกายขอ งเราเอง

ฉะนั้น อสุภ คือ "สิ่งที่น่าเกลียดนี้" มีอยู่ในร่างกายของเราครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว เราก็คือส้วมเคลื่อนที่หรือป่าช้าที่บรรจุซากศพเคลื่อนที่นั่นเอง ที่ยังไม่ปรากฏแก่ตาชาวโลก ก็เพราะหนังกำพร้ายังหุ้มไว้ ถ้าหนังกำพร้าขาดเมื่อไร เมื่อนั้นแหละความศิวิไลซ์ก็จะสิ้นซากเมื่อนั้น

สภาพที่แท้จริงจะปรากฏเช่น ซากศพที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ จงพยายามพิจารณาให้เห็นชัดเจนตามความเป็นจริงก่อนพิจารณาต้องเพ่งรูปให้อารมณ์จิตมีสมาธิสมบูรณ์บริบูรณ์เสียก่อน เมื่อพิจารณาเห็นว่าตนของตนเองไม่สวยไม่งามแล้วก็เห็นคนอื่นว่าไม่สวยไม่งามได้ง่ายการเห็นตนเองเป็นความเห็นที่เกิดได้ยากแต่ถ้าพยายามฝึกฝนเสมอ ๆ แล้ว อารมณ์จะเคยชิน

จะเห็นว่าการพิจารณาตนนี้ง่าย เมื่อเห็นตนแล้วก็เห็นคนอื่นชัด ถ้าเห็นตนชัดว่าไม่มีอะไรสวย เพราะมีแต่ของน่าเกลียดโสโครก เราก็มองเห็นคนอื่นเป็นอย่างนั้น พยายามทำให้ชินให้ขึ้นใจ จนมองเห็นไม่ว่าใครมีสภาพเป็นซากศพ ตัดความกำหนัดยินดีในส่วนกามารมณ์เสียได้แล้ว ชื่อว่าท่านได้ อสุภกรรมฐานในส่วนของ "สมถภาวนา" แล้ว

การได้อสุภกรรมฐานในส่วนสมถะนี้ เป็นผลได้ที่อยู่ในสภาพง่อนแง่นคลอนแคลน อารมณ์ความเบื่อหน่ายจะเสื่อมทรามลงเมื่อไรก็ได้ เพราะปกติของอารมณ์จิตมีปกติฝักใฝ่ฝ่ายต่ำอยู่แล้ว หากไปกระทบความยั่วยุเพียงเล็กน้อย อารมณ์ฌานเพียงแค่ "ปฐมฌาน" ก็จะพลันสลายตัวลงอย่างไม่ยากนัก

เพื่อรักษาอารมณ์ฌานที่หามาได้ยากอย่างยิ่งนี้ไม่ให้เสื่อมเสียไป เมื่ออารมณ์จิตหมดความหวั่นไหวนี้ ท่านให้ใช้ "วิปัสสนาญาณ" เข้าสนับสนุน เพื่อทรงพลังสมาธิให้มั่นคง เพราะฌานใดที่ได้ไว้แล้ว และมีอารมณ์วิปัสสนาญาณสนับสนุน ฌานนั้นท่านว่าไม่มีวันที่จะเสื่อมสลาย การเจริญวิปัสสนาญาณต่อจากอสุภฌานนี้ ท่านสอนให้พิจารณาดังต่อไปนี้

ยกนิมิต "อสุภะ" เป็นวิปัสสนา

ธรรมดาของ "นิมิต" ที่เกิดจากอารมณ์ของสมาธิ จะเป็น นิมิตของ "อุปจารฌาน" หรือที่เรียกว่า "อุคคหนิมิต" หรือ ขั้น "อัปปนาสมาธิ" ที่เป็นอารมณ์ "ปฐมฌาน" ก็ตาม จะเกิดยืนสภาพตลอดกาลตลอดสมัยนั้นไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วชั่วครู่ชั่วพักก็หายไป ทั้งนี้ก็เพราะจิตไม่สามารถจะทรงสมาธิไว้ได้นานมากนัก จิตก็จะเคลื่อนจากฌาน

ตอนที่จิตเคลื่อนจากฌานนี่แหละ...ภาพนิมิตก็จะเลือนหายไป ถ้าต้องการเห็นภาพใหม่ ก็ต้องตั้งต้นสมาธิกันใหม่ ถ้าประสงค์จะเอานิมิตเป็นวิปัสสนา เมื่อเพ่งพินิจอยู่ พอนิมิตหายไปก็ยกอารมณ์เข้าสู่ระดับวิปัสสนาโดยพิจารณาว่า นิมิตนี้เราพยายามรักษาด้วยอารมณ์ใจ โดยควบคุมสมาธิจนเต็มกำลังอย่างนี้

แต่นิมิตนี้จะได้เห็นใจเราจะอยู่กับเราโดยที่เราหรืออุตสาห์ประคับประคองจนอย่างยิ่งอย่างนี้ นิมิตนี้จะเห็นอกเห็นใจเราก็หาไม่ กลับมาอันตรธานหายไปเสียทั้ง ๆ ที่เรายังต้องการ ยังมีความปรารถนา นิมิตนี้มีสภาพที่จะต้องเคลื่อนหายไปตามกฎของธรรมดาฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่มีความเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีอันตรธานไปในที่สุดฉันนั้น

ความไม่เที่ยงของชีวิตที่มีความเกิดขึ้นนี้ มีความตายเป็นที่สุดเช่นเดียวกับนิมิตนี้ ขึ้นชื่อว่าความเกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร เป็นสัตว์ มนุษย์ เทวดา พรหมต่างก็มีความไม่เที่ยงเสมอเหมือนกันหมด เมื่อเกิดแล้วก็มีอันที่จะต้องตายเหมือนกันหมด เอาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย

เมื่อความไม่เที่ยงมีอยู่ความทุกข์ก็ต้องมี เพราะการต้องการให้คงอยู่ยังมีตราบใด ความทุกข์ก็มีอยู่ตราบนั้น เพราะความปรารถนาให้คงอยู่โดยไม่ต้องการให้เสื่อมสิ้นนั้น เป็นอารมณ์ที่ฝืนต่อกฎของความเป็นจริง การทรงชีวิตนั้น ไม่ว่าจะทรงอยู่ในสภาพใด ๆ ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ทั้งสิ้น

เพราะทุกข์จากการแสวงหาอาหารและเครื่องอุปโภคมาเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บรบกวน ทุกข์เพราะไม่อยากให้ของรักของชอบใจ แม้ในที่สุดชีวิตที่จะต้องแตกทำลายนั้นต้องอันตรธานไป ความปรารถนาที่ฝืนความจริงตามกฎธรรมดานี้เป็นเหตุของความทุกข์ แต่ในที่สุดก็ฝืนไม่ไหว ต้องแตกทำลาย

อย่างนิมิต "อสุภะ" นี้เหมือนกัน นิมิตอสุภะนี้เดิมทีก็มีปัญจขันธ์เช่นเรา บัดนี้เขาต้องกระจัดพลัดพรากแตกกายทำลายขันธ์ออกเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่อย่างนี้ ความที่ขันธ์เป็นอย่างนี้ เขาจะมีความปรารถนาให้เป็นอย่างนี้ก็หาไม่ แม้เขาจะฝืนอย่างไร ก็ฝืนกฎธรรมดาไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องสลายอย่างนี้

ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "โลก เป็น อนัตตา" คือไม่มีอะไรทรงสภาพ ไม่มีใครบังคับการสิ้นไปของชาวโลกนั้นเป็นความจริง สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขทรงสภาพปกตินั้น มี "พระนิพพาน" แห่งเดียว ผู้ที่จะถึงพระนิพพานได้ ท่านปฏิบัติอย่างเรานี้

ท่านเห็นสังขารทั้งหลายเป็นของน่าเกลียด เห็นสังขารทั้งหลายเป็นแดนของความทุกข์ เพราะกิเลสและตัณหาปกปิดความรู้ความคิดสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ท่านไม่ยึดมั่นในสังขารท่านเบื่อในสังขารโดยท่านถือว่าธรรมดาของการเกิดมามีสังขารต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ ท่านไม่ปรารถนาการเกิดอีกท่านไม่ต้องการชาติภพใดๆ อีก ท่านหวังนิพพานเป็นอารมณ์

คือท่านคิดนึกถึงพระนิพพานเป็นปกติ ไม่มีอารมณ์รัก ความเกิด รักสมบัติ รักยศ รักสรรเสริญ ไม่รักแม้แต่สุขที่เกิดแต่ลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม ท่านตัด ฉันทะ ความพอใจในโลกทั้งสิ้น ท่านตัด ราคะ ความกำหนัดยินดีในโลกทั้งสิ้น ท่านพอใจในพระนิพพาน เมื่อทรงชีวิตอยู่ท่านก็ทรงเมตตาเป็น "ปุเรจาริก" คือ มีเมตตาเป็นปกติ ท่านไม่ติดโลกามีสคือสมบัติของโลก
ท่านที่เข้าพระนิพพานท่านมีอารมณ์เป็นอย่างไร..?

บัดนี้...เราผู้เป็นพุทธสาวกก็กำลังทรงอารมณ์อย่างนั้น เราเห็นความไม่เที่ยงของสังขารแล้ว เพราะมี "อสุภ" เป็นพยาน เราเห็นความทุกข์เพราะการเกิดแล้ว เพราะมีอสุภเป็นพยาน เราเห็นอนัตตาแล้ว เพราะมีอสุภเป็นพยาน เราจะพยายามตัดความไม่พอใจในโลกามีสทั้งหมดเพื่อได้ถึงพระนิพพานเป็นที่สุด

จงคิดอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้เนืองๆ ทุกวัน ทุกลมหายใจเข้าออก ท่านจะเข้าถึงนิพพานในชาติปัจจุบัน พระนิพพานเป็นของมีจริง พระนิพพานเป็นสุขไม่มีทุกข์เจือปน ผู้ที่มีจิตผูกพันพระนิพพานเป็นปกติ จะมีความสุขในสมัยที่ทรงชีวิตอยู่ ความสุขนี้อธิบายให้สมเหตุสมผลไม่ได้ เพราะเป็นสุขประณีต สุขยิ่งกว่าความสุขใด ๆ ที่เจือด้วยอามิส

ท่านที่เข้าถึงแล้วเท่านั้นที่ท่านจะทราบความสุขใจของท่านที่เข้าถึงพระนิพพานได้จริง ขออธิบายวิปัสสนาญาณโดยอาศัยนิมิต "อสุภกรรมฐาน" เป็นบาทไว้โดยย่อเพียงเท่านี้ ขอนักปฏิบัติจงคิดคำนึงเป็นปกติ ท่านจะเข้าถึง "พระนิพพาน" ได้อย่างคาดไม่ถึง...."

(((( โปรดติดตามตอนต่อไป ภาพชุด "เกิด..แก่..เจ็บ..ตาย" ))))

โปรด "คลิก" ชมต่อได้เลยครับ.. ตอนที่ 4 » 


หมายเหตุ รูปภาพประกอบนี้ กรุณาอย่าวิพากษ์วิจารณ์ ขอให้พิจารณาเป็นธรรมะเท่านั้น ควรจะอุทิศผลบุญนี้ให้แก่ผู้วายชนม์ หรือที่เรียกว่า "อาจารย์ใหญ่" จึงจะเป็นการดีที่สุดนะครับ.

ข้อมูลที่มา - เว็บhttp://84000.org/
รูปภาพที่มา - เว็บที่เกี่ยวกับอสุภะ



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved