ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 9/5/08 at 08:50 Reply With Quote

(ตอนที่ 5) รูปภาพชุด..เกิด..แก่..เจ็บ..ตาย "ศพจริงๆ" ถ้าไม่มั่นใจก็อย่า Click"


<< ตอนที่ 4

ภาพชุดที่ 3 "พยาธิปิ ทุกขา" การเจ็บป่วยเป็นทุกข์

(จะฟัง "คลิปเสียง" หลวงพ่อเทศน์ไปด้วยก็ได้)


ผู้ที่อยู่ใต้ความตาย

ตามธรรมดาของสัตว์โลก พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้แล้วว่า เป็นไปตาม "กรรม" ได้แก่การทำความชั่วผิดศีลข้อที่ ๑ คือ "ฆ่าสัตว์" ไว้แต่ชาติก่อน ส่งผลให้เจ็บป่วยไม่สบาย บางคนอายุสั้นก็พลันตายไปเลย ฉะนั้น ภาพที่คนนอนป่วยในบ้าน หรือในโรงพยาบาล คงจะเห็นจนชินตาไปแล้ว จึงเอาภาพมาลงเตือนสติเป็นตัวอย่างแค่นี้เอง จากนั้นก็ไปชมภาพจริงของ "ผู้ที่ยังอยู่เหนือความตาย" จนได้




ผู้ที่อยู่เหนือความตาย



บุคคลตัวอย่างท่านนี้ นับว่าเป็นชีวิตจริงที่จะต้องประสบกับชะตากรรม ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอย่างแท้จริง นั่นก็คือประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ แล้วถูกไฟครอก แต่ไม่ตาย มีคนช่วยเหลือออกมาได้ทัน แต่สภาพก็เหมือนกับตายทั้งเป็น เธอโชคดีที่ยังมีสามีที่ดี ช่วยรักษาพยาบาลและให้กำลังใจตลอดเวลา เธอจึงได้มีชีวิตยืนอยู่ได้ ท่ามกลางความเศร้าโศกของครอบครัว และญาติมิตรตลอดถึงเพื่อนสนิททั้งหลาย

ภาพชุด "การเจ็บป่วยนี้" จึงมีชื่อ "ผู้ที่อยู่เหนือความตาย" จะเห็นภาพก่อนถูกไฟคลอก และหลังจากรักษาหายดีแล้ว เปรียบเทียบได้ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ขอให้ใช้ใจพิจารณา แล้วเอาปัญญาเข้าห้ำหั่นกิเลสให้ได้ในที่สุด แล้วเราจะไม่ต้องเกิดมาพบทุกข์เช่นนี้อีกต่อไป


ในอดีต..คุณเจ็กกาลีนมีความสุขกับครอบครัว มีชีวิต..มีร่างกาย..มีทรัพย์สิน..มีทุกๆ อย่างเช่นเดียวกับเรา แต่บัดนี้เธอสูญเสียรูปร่างที่สวยงามน่ารักไป รถก็พังยับเยินไปหมดทั้งคัน ชีวิตและร่างกายยากที่จะกลับคืนมาได้ ใครเล่า..ทำให้เป็นเช่นนี้ เราอย่าโทษโลก แต่เป็นเพราะเหตุที่เรา "เกิด" มานั่นเอง


สภาพที่เห็นนี้เป็นของจริง..ที่เกิดขึ้นจริง..กับชีวิตของใครก็ได้บนท้องถนน ในที่ทุกแห่ง โลกใบนี้จึงมีแต่ทุกข์กับทุกข์..เสียเหลือเกิน หมดสิ้นทุกอย่าง ไม่สามารถจะทวงคืนได้ ทั้งทรัพย์สินและชีวิตร่างกาย อันเป็นสุดที่รักของเรา โลกนี้หนอ..ทำไมช่างแสนทรมานใจกระไรเช่นนี้..เราจะเกิดอีกหรืออย่างไรกันดีอีกต่อไปละ ลองถามใจมันดูซิครับ...?


ความสุขที่เคยได้รับ ความสมหวังที่มีกับความครัว ทุกคนให้ความรักความอบอุ่น ซึ่งกันและกัน แต่แล้วชั่วเสี้ยววินาทีเดียวนั้นเอง ของวันที่ 19 เดือน 9 ปี 1999 พลันก็เข้าฉุดกระชาก เอาความสุขเหล่านี้อันตรธานหายไปในทันที เมื่อ "ความตาย" เข้ามาเยือน รออยู่ที่กลางถนน ณ ที่แห่งนี้ ตามที่โบราณเรียกกันว่า "ถึงที่ตาย" จริงๆ


แน่ละ..ไม่มีใครอยากพบ ไม่มีใครอยากประสบ..ไม่มีใครอยากเห็น แต่มันเกิดขึ้นกับใครได้ทุกคนนะ หยาดน้ำตาที่หลั่งไหลออกไปนั้น มันกลั่นออกมาจากจิตใจที่แสนเศร้า กับบุคคลที่เรารัก ที่เราปรารถนา ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

"..........เธอจะเศร้าโศกไปเพื่อสิ่งใดเล่า ในเมื่อการเกิดของคนเรานั้น ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ จากบุคคลอันเป็นที่รัก เธอต้องร้องไห้น้ำตาไหลอย่างนี้กันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน น้ำตาที่หลังไหลอออกมานั้น มันมากมายกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่เสียอีกนะ.."



เหตุการณ์ครั้งนี้..นับว่าเธอยังโชคดี ถึงแม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่เธอก็ต้องพิการไปตลอดชีวิต นี่ดีว่าได้สามีที่รักเธออย่างจริงใจ เธอจึงมีชีวิตอยู่จนบัดนี้...แต่เธอความทุกข์ทางใจ มันยากที่จะเยียวยา มันแสนสาหัสกว่าความทุกข์ทางกาย เพราะตราบใดที่คนเรายังมีกิเลสอยู่ ทุกคนจะต้องแสวงหาความทุกข์อยู่ร่ำ จนกว่าจะพ้นภัยจาก ชาติ ชรา พยาธิ เป็นต้นนี้ไปได้อย่างถาวรนั่นเอง



ผู้อยู่ภายใต้ธรรมชาติ



ภายใต้โลกใบนี้อีกเช่นกัน ผู้อยู่ภายใต้ธรรมชาติ ก็ยังประสบชะตากรรมกันอีกไม่รู้แบบไหน ตัวอย่างเช่นนี้คงไม่ต้องอธิบายภาพนะ ว่าทุกข์ยากลำบากแสนเข็ญกันแค่ไหน ไม่ถึงตาย..ก็คางเหลืองแน่ละ ภัยธรรมชาติเช่นนี้ ทุกข์กันไปหมดทั้งโลกเลยนะ




ภาพนี้..เรียกว่า "เส้นยาแดงผ่าแปด" ปรากฏว่าไปไม่รอดนะครับ ถูกรถชนเข้าอย่างจังตรง "ไฟแดง" ทางข้ามม้าลายนั่นเองแหละ ดูภาพให้ดี.."เสี้ยววินาทีของชีวิต" จริงๆ






หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร)

เทศน์เรื่อง "กายคตานุสสติ"


(การเทศน์ "กายคตานุสสติ" ตอนที่ 15 นี้ จะไม่ตรงกับคำสอนข้างล่าง)





คำสอนหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร)

"มรณานุสสติกรรมฐาน"

คำว่า "มรณานุสสติกรรมฐาน" นี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความมุ่งหมายให้นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ แต่ความจริงเรื่องความตายนี้...ท่านพุทธบริษัท เราเห็นคนตายกันเสมอ ได้ยินข่าวการตายกันอยู่เกือบจะทุกวัน เวลานี้ อาจจะ เป็นวันละหลายครั้งก็ได้ เพราะ มีวิทยุ มีหนังสือพิมพ์ เป็นเครื่องทราบ

หรือบางครั้งบางคราว เราก็ไปเผาคนอื่นที่เขาตาย แต่ทว่าตัวของเราเองกลับไม่คิดว่า จะตายอย่างนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาถือว่า มีความประมาทอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพราะว่า กฎธรรมดาที่เราพึงเกิดมา เมื่อมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น ก็ต้องมีความตายไปในที่สุดเหมือนกัน เมื่อความตายเข้ามาถึงแล้ว บางท่านคิดถึงความตายเหมือนกัน

แต่ทว่าคิดว่าเมื่อตายแล้ว มันก็แล้วกันไปหมดเรื่องหมดราว..หมดทุกข์ ถ้าความตายมีสภาพเป็นอย่างนั้นจริง ก็ไม่น่าจะวิตกกังวล ขณะที่เรามีชีวิตเป็นคน เราจะสร้างความดีหรือจะสร้างความชั่วอย่างไรก็ได้ เพราะตายแล้วถือว่าแล้วกันไป

แต่ทว่าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ท่านมิได้บอกอย่างนั้น ท่านกลับบอกว่า ถ้าเรายังไม่หมดกิเลสเพียงใด ตายแล้วมันก็ยังไม่หมดเรื่อง ถ้าหากว่าจิตของเราเต็มไปด้วย อำนาจของความชั่วเข้ามาครอบงำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รากเหง้าของอกุศล และบริวารของรากเหง้าของอกุศล

อกุศลเดิม คือ รากเหง้าจริงๆ แห่งความชั่ว ได้แก่
1. ราคะ ความรัก หรือโลภ ความโลภสองอย่างนี้เป็นอัน เดียวกัน
2. โทสะ ความโกรธ
3. โมหะ ความหลง ความชั่วจริงๆ

ที่เป็นพื้นฐานรากเหง้าต้นของมันมีอยู่ 3 หรือ 4 อย่างนี้เท่านั้น แล้วมันก็ แตกกระจัดกระจายออกไปเป็น กิ่งเป็นก้านสาขานับไม่ถ้วน ถ้าอารมณ์จิตของเรายังหมกมุ่นอยู่กับ อำนาจของความชั่วตามที่กล่าวมานี้ ตายแล้วแทนที่จะมีความสุข มันก็กลับมีความทุกข์ คือไปเกิดใน อบายภูมิ มี สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น ถ้ามาเกิด เป็นคน ก็ตามไปด้วย ความทุกข์ ความยาก ความลำบาก ไม่มีความสุขสมบูรณ์เหมือนเขา

ถ้าจิตใจของเรามีกุศล คือ มีอารมณ์ตรงกันข้าม แทนที่จะทำลายทรัพย์สิน ของบุคคล อื่น ด้วยความโลภ กลับเป็นผู้ให้ ได้แก่ การให้ ทาน จิตมีความเมตตา ปรานี คือมีความรัก มีความสงสาร เห็นสัตว์ หรือ คน ที่มี ความทุกข์ เราสงเคราะห์ ให้เขา มีความสุข ตามกำลังที่เราจะพึงให้ได้

เมื่อใครเขาทำผิด ถ้ามันไม่ผิดระเบียบวินัยกฎข้อบังคับ เราก็ให้อภัย ถ้ามันเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าเป็นเรื่องส่วนรวม การลงโทษถือว่าเป็นการหวังดี เพื่อไม่ให้บุคคลนั้นทำความชั่วต่อไป แล้วก็การหลงใหลใฝ่ฝัน ในรูปโฉมโนมพรรณไม่มีในเรา รวมความว่า จิตเป็นกุศล คือ

1. จิตพอใจในการให้ทาน
2. จิตพอใจในการสงเคราะห์
3. จิตไม่มัวเมาในชีวิต มีความรู้สึกคิดอยู่เสมอว่า เราจะต้องตาย แต่ก่อนที่เราจะ ตาย ถ้าเราเป็นคน เรา ก็ขอ เป็นคนดี ถือว่า ถ้าเราเป็นคนดีแล้ว ถ้าตายเป็นผี เราก็เป็นผีดี ผีดีเขาอยู่ กันที่ไหนบ้าง เขาก็อยู่เทว ดา บ้าง อยู่ในเขต ของพรหมบ้าง ที่เรียกกันว่า เทวดา นางฟ้า หรือ พรหม ถ้าดีที่สุดก็ไปพระนิพพาน ในเขตขององค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงกล่าวอย่างนี้

เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์ ท่านทรงยืนยัน เราก็ควรจะคิดว่า ถ้าอย่างนั้นในสมัยที่เราเป็นคน เราก็ควรจะเป็นคนดีอะไรบ้าง ที่เป็นระเบียบวินัย เป็นธรรมะ ที่ควรประพฤติ ปฏิบัติ ที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ทรงสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุที่จะทำให้หลงใหลใฝ่ฝันในรูปโฉมโนมพรรณจนเกินไป

ความโลภ อยากจะ ได้ทรัพย์สมบัติ ของบุคคลอื่นมาโดยไม่ชอบธรรม ผิดระเบียบ ผิดวินัย ผิดธรรมะ ผิดกฎหมาย และ ความโกรธ คิดประทุษร้ายบุคคลอื่น อิจฉาริษยาบุคคลอื่น หลงใหล ใฝ่ฝันในชีวิต ไม่คิดว่าเราจะต้องตาย

อย่างนี้..จงอย่ามีในจิตของเรา หลีกเลี่ยงเสีย เมื่อเรามีจิตเมตตาปรานี ใครๆ เขา ก็รัก ใครๆ เขาก็ว่าดี เมื่อเรามี ความเคารพชีวิตของเรา คิดว่าชีวิตมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มันมีความตายไปในที่สุด ความประมาทมันก็ไม่มี เมื่อปฏิบัติตามนี้ ถ้าเป็นคนก็เป็นคนดี ตายแล้วก็เป็นผี ดี คือเป็นเทวดาหรือเป็นพรหม

การพิจารณาถึง ความตาย เป็นสำคัญ บางท่านที่มีความหวาดหวั่นในชีวิต คิดว่าถ้าเรานึกถึง ความตาย มันจะเป็นลาง ร้าย ทำให้เราตายเร็ว แต่ความจริงเรื่องความตายนี้บรรดาท่านพุทธบริษัท อย่างไรๆ มันก็ต้องตายกันแน่ เราจะหนีความตายให้พ้นไปไม่ได้

การที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงแนะนำให้เรานึกถึงความตาย คือไม่เมาในชีวิต คิดว่าวันนี้วันพรุ่งนี้เราอาจจะตายก็ได้ เราจะได้สร้างความดีเข้าไว้ ส่วนใด ที่เป็นความดี สมมติว่าชาตินี้เราขาดแคลนด้วยทรัพย์สิน เห็นชาวบ้านมีความร่ำรวย แต่งตัว สวย มีพาหนะ ดีๆ แต่ว่าเราไม่มีกับเขา

เราก็จงคิดว่า เขาสร้างบุญญาธิการ อะไรไว้ อันนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรกล่าวว่า เพราะอาศัยการให้ทานกับคน การให้ทานกับสัตว์ การให้ทานแก่พระสงฆ์การถวายทาน แก่พระอริยสงฆ์เป็นสำคัญ เป็นปัจจัยให้คน เกิดมาแล้วมี วามร่ำรวยในทรัพย์สินต่างๆ

ถ้าเราเห็นเขามีรูปสวย ทรัพย์สินของเขาที่มีอยู่ โจรไม่ลักไม่ขโมย คนที่อยู่ในปกครอง ว่าง่ายสอนง่าย ไม่มีใครนอกใจใคร จะพูดอะไรก็เป็นที่รักของบุคคลผู้รับฟัง มีสติปัญญาสมบูรณ์ทุกอย่าง เราอยากเป็นอย่างนั้นบ้าง

อันนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์กล่าวว่า เพราะ มีศีลบริสุทธิ์เป็นปัจจัย ถ้าเราต้องการอย่างนั้น ใน ชาตินี้เราก็รักษา "ศีล" เสียให้บริสุทธิ์ ชาติหน้าจะมีความเป็นเช่นนั้นบ้าง ตามที่เราต้องการ ถ้าหากว่า เห็นคนเขามีสติปัญญาเฉียบแหลมเป็นกรณีพิเศษกว่าคนใดๆ

อันนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรกล่าวว่า เป็น ผู้ทรงสมาธิ และวิปัสสนาญาณตามสมควร ถ้ามีญาณสูง มี วิปัสสนาญาณสูง เกิดชาติใหม่ก็มีปัญญาดีมาก มีสมาธิต่ำเจริญวิปัสสนาญาณได้ต่ำก็มีปัญญาดีน้อย แต่ก็ดีกว่าคนที่มี ศีลปกติ ชื่อว่า เป็นปัญญาชน คนที่มีความฉลาด หรือคนที่มีความรู้

องค์สมเด็จพระบรมครูทรงแนะนำว่า ถ้าเรารู้ว่าเราจะตาย เราจะได้ไม่ประมาทในชีวิต คิดจะทำความ ดีไว้เสมอ คนที่คิดถึงความตายไว้เป็นปกติ เป็นคนไม่ประมาท สามารถเป็นพระอริยเจ้าได้ง่าย ตัวอย่างที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองอาฬวี ตอนนั้นองค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่า

"ท่านทั้งหลาย..ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง ท่านทั้งหลาย จงอย่าประมาท ในชีวิต อย่าคิดว่าเราจะไม่ตาย ในขณะใดที่เรายังทรงชีวิตอยู่ องค์สมเด็จพระ บรมครูแนะนำให้ สร้างแต่ความดี คือ พยายามตัดความโลภ มีการยื้อแย่งทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น คดโกงเขาเอาทรัพย์สินมาเป็น ส่วนตัว ด้วยการให้ "ทาน"

ประการที่สอง ให้ระงับอารมณ์ของโทสะและพยาบาท ด้วยมีจิต เมตตา ปรานี ทรงอยู่ใน ศีล ๕ ประการ

ประการที่สาม องค์สมเด็จพระพิชิตมาร กล่าวว่า จงอย่า ประมาทในชีวิต จงคิดไว้เสมอว่า เราจะตายเดี๋ยวนี้ เราจะตายอีกประเดี๋ยวหนึ่งก็ได้ อย่าพึงคิดว่า ชีวิตของเราจะยืนยาวเกินไป"

เปสการีเทพธิดา

องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาเทศน์เพียงเล็กน้อยเท่านี้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็เสด็จกลับ จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าเทศน์แต่ละคราว พระพุทธเจ้าไม่ได้เทศน์มาก ขณะที่องค์สมเด็จพระผู้มี พระภาคเจ้าเทศน์ ชาวบ้านหลายร้อยคนมาฟังกัน และในเวลาเดียวกันนั้น ก็มีเด็กหญิงน้อยๆ อายุเพียง ๑๓ ปี ชื่อว่า เปสการี มาฟังอยู่ด้วย

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปแล้ว ชาวบ้านลุกขึ้นกลับบ้าน เทศน์ของพระพุทธเจ้าหล่นอยู่ตรงนั้นหมด ไม่มีใครจำพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมสุคตไปปฏิบัติเลย มีเด็กหญิงอายุ เพียง 13 ปีเพียงคนเดียว มองดูพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นว่าสวยสง่างาม พระสุรเสียงที่ แสดงพระธรรมเทศนาก็ไพเราะ วาจาที่กล่าวออกมาก็ไพเราะ เธอก็จับใจ

เมื่อเดินกลับไปก็มีความคิด อยู่เสมอว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งว่า จงอย่าประมาทในชีวิต ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้สร้างความดี มีเมตตา คือ มีการให้ ทาน รัก ษาศีล เป็นต้น เธอจำพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระทศพล แล้วปฏิบัติตามสิ้นระยะเวลา 3 ปี

วันหนึ่ง..องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรวจอุปนิสัยของสัตว์ ในเวลาเช้ามืด สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ได้ทรงเห็นภาพเด็กสาวผู้นี้ เวลานี้อายุ 16 ปี ตกอยู่ในข่ายพระญาณ สมเด็จพระพิชิตมารตกพระทัยว่า นี่..มันเรื่องอะ ไร..?

พิจารณาไป ก็ทราบว่า ตอนสายวันนี้เธอจะตาย จึงได้ พิจารณาต่อไปว่า การตาย ของเธอคราวนี้ ถ้าเราไม่ช่วย คติของเธอจะแน่นอนหรือไม่แน่นอน ก็ทรงทราบว่าถ้าองค์สมเด็จพระชินวรไม่ช่วยเหลือ คติของเธอจะไม่แน่นอน

ฉะนั้น เวลาตอนเช้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเสด็จไปพระองค์เดียว ไปคอยเธออยู่ระหว่างทางที่เธอจะมาจากบ้าน และไปโรงทอหูกของพ่อ (ขอเล่าลัดๆ เพราะไม่ต้องการประวัติของนาง) เมื่อคนมาเฝ้าองค์สมเด็จพระทศพล เธอก็มาแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วมองหน้าเธอ ความจริงเธออยู่ข้างนอก

เธอก็มองหน้า ตาจ้องมองตา พระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้ามองหน้าเธอ เธอก็ทราบว่า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าต้องการให้เธอเข้าไปใกล้ เธอเข้าไปแล้วองค์สมเด็จพระจอมไตร จึงได้มีพระพุทธฎีกาถามว่า

" ภคินิ..ดูก่อน..น้องหญิง เธอมาจากไหน"

นี่..พระพุทธเจ้าท่านจะเรียกคนหนุ่ม คนสาว คนแก่ ท่านเรียกอย่างนี้ทั้งหมด ท่านไม่ถือว่าท่านใหญ่โต ท่านถือว่าคนทุกคนเป็นน้องท่าน ท่านแสดงความรัก ความ เมตตาสม่ำเสมอกัน

เธอตอบองค์สมเด็จพระจอมไตรว่า " ไม่ทราบพระพุทธเจ้าข้า"
สมเด็จพระบรมศาสดาจึงถามใหม่ว่า " เธอจะไปไหน"

เธอก็ตอบว่า " ไม่ทราบ พระพุทธเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคเจ้าถามต่อไปว่า " เธอไม่ทราบหรือ"

เธอตอบว่า " ทราบ พระพุทธเจ้าข้า "
และพระองค์จึงถามต่อไปว่า " เธอทราบหรือ "

เธอก็ตอบไปว่า " ไม่ทราบ พระพุทธเจ้าข้า"

เมื่อเธอตอบแบบนี้ คนที่ฟังอยู่หลายร้อยคน หาว่าเด็กหญิงล้อเลียนองค์สมเด็จพระทศพล จึงด่าว่า
"อีเด็กถ่อย..สามารถกล้าล้อเลียนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ห้ามปรามเขาเหล่านั้น แล้วก็กลับมาถามย้อนไปใหม่ว่า
"ภคินิดูก่อนน้องหญิง ที่ตถาคตถามเธอว่า เธอมาจากไหน เธอตอบว่าไม่ทราบนั้น หมายความว่าอย่างไร ?

เธอตอบว่า "คำถามขององค์ สมเด็จพระจอมไตร มีความหมายว่า ก่อนที่ หม่อมฉัน จะมาเกิดเป็นมนุษย์ หม่อมฉัน มาจากไหนอันนี้หม่อมฉันไม่ทราบพระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธเจ้าก็ยกมือขึ้นตรัสว่า " สาธุ..สาธุ..ดีแล้ว..ตอบถูกแล้ว "

และองค์สมเด็จพระประทีป แก้วถามว่า ที่ถามว่า เธอจะไปไหน เธอตอบว่า ไม่ทราบ มีความหมายว่าอย่างไร"

เธอก็ตอบว่า "ที่ว่าไม่ทราบ หม่อมฉันไม่ทราบว่า เวลาที่ตายจากชาตินี้ไปแล้ว จะไปไหน จะไปเกิดเป็น สัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นคน เกิดเป็นเทวดา หรือ พรหม หม่อมฉันไม่ทราบพระพุทธเจ้าข้า"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยกมือ ตรัสว่า สาธุ..สาธุ..เธอตอบถูกแล้ว แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ถามต่อไปว่า
"น้องหญิง..ที่ตถาคตถามว่า เธอไม่ทราบหรือ เธอตอบว่าทราบ หมายความว่า อย่างไร ?"

เธอตอบว่า "ที่ว่า ทราบก็หมายความว่า จำได้แน่นอนว่าชีวิตของหม่อมฉัน อย่างไรต้องตายแน่ พระพุทธ เจ้าข้า"

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ให้สาธุการ และ องค์สมเด็จพระพิชิตมารกล่าวว่า ข้อสุดท้ายที่ตถาคตถาม เธอว่า เธอทราบหรือ เธอตอบว่าไม่ทราบ หมายความว่าอย่างไร ?

เธอก็กราบทูลองค์สมเด็จพระจอมไตร "ที่ว่าไม่ทราบ หม่อมฉันไม่ทราบว่า ความตายจะปรากฏขึ้น วันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ เดือนนี้ เดือนโน้น จะตาย ตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนเที่ยง อันนี้หม่อมฉันไม่ทราบ พระพุทธเจ้าข้า"
องค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกมือขึ้น..สาธุ

เพียงแค่ถามปัญหา ๔ ข้อ แต่อาศัยที่เธอระลึกถึง "ความตาย" ไว้เป็นปกติ และเธอทรง "ศีล" เป็นปกติ มีความเคารพใน "พระพุทธเจ้า" เป็นประจำ ทุกวัน ทุกคืน เวลาเธอนั่งอยู่นอนอยู่ ยามว่างจิตใจของเธอนึกถึงวง พักตร์ คือ ดวงหน้า ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เสมอ

จัดว่าเธอมี "พุทธานุสสติกรรมฐาน" เป็นประจำ "ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์" มี "จิตเมตตา สงเคราะห์" แก่บุคคล หรือ สัตว์ผู้ยาก อยู่เสมอ แต่ว่ากำลังใจยังไม่มั่นคงนัก เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ชมเธอว่า ตอบได้ถูกต้อง มีปัญญา หลักแหลม ให้ สาธุการ ว่า "ดีแล้ว..ถูกต้องแล้ว" อย่างนี้ อารมณ์ของเธอ ก็เกิดธรรมปิติ เวลานั้นเองความมั่นคงของจิต ก็ปรากฏ ก็ปรากฏว่าเธอได้บรรลุพระโสดาปัตติผล

หลังจากนั้น พระพุทธเจ้ากลับ เธอก็ไปที่โรงหูก พ่อกำลังหลับ เธอไปกระทบพื้นเข้า พ่อตกใจ พุ่งกระสวยโดยแรง กระสวยถูกอกของเธอล้มลงสู่ความตาย ตายแล้วก็ไปเกิดเป็น เทวดาบนชั้นดุสิต

อันนี้องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรชี้ให้เห็นว่า คนที่นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ และมีความไม่ประมาทในชีวิต มีความคิดอยู่เสมอว่า "เราจะตาย" แต่ว่าการตายของเรานี้จะต้อง ตายอย่างคนผู้มีเหตุผล ตายอย่างคนผู้มีความดี ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราก็ตั้งใจ "ให้ทาน รักษาศีล เจริญ ภาวนา" ก็ ย่อมเป็น ปัจจัยให้ท่านทั้งหลายได้บรรลุมรรคผลได้โดยง่าย อย่าง "เปสการี" ที่ได้กล่าวมาแล้ว

ถ้าเรานึกถึงความตายเป็นอารมณ์ (นี่มาพูดกัน) นึกถึงความตาย และก็คิดว่าถ้าเราตายไม่ดี เราก็มีทุกข์ ถ้าเรา ตายไปกับความดี เราก็มีความสุข

อันดับแรก..ก็ยึดหัวหาดไว้ก่อนว่า ธรรมะนี้องค์สมเด็จพระชินวร เป็นคนเตือนเรา และเวลานี้ พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระสงฆ์นำมาแนะนำให้กับเรา เรายอมรับนับถือความดีของพระพุทธเจ้า ความดีของพระ ธรรม และความดีของพระอริยสงฆ์

นี่อาตมาเจาะจงลงไปเฉพาะ "พระอริยสงฆ์" ก็เพราะว่า "พระสงฆ์ธรรมดา" ไว้ไจไม่ได้ แม้แต่ อาตมา เองก็เหมือนกันไว้ไจไม่ได้ พระที่จะไว้ใจได้จริงๆ ต้องตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เพราะ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนี้ไม่มีอารมณ์ใจโยกโคลง ทรงอยู่ในความดี จึงได้บอกว่าให้ท่านมีความเคารพใน .พระอริยสงฆ์. ถ้าจิตใจมั่นคงอยู่อย่างนี้

อันดับต่อไปก็ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์ ที่เรียกว่าเจริญ "สีลานุสสติกรรมฐาน" เป็นประจำ ตื่นขึ้นมาใหม่ๆ ก็ตั้งใจ จะทรงศีลให้บริสุทธิ์ วันทั้งวัน จิตกำหนดอยู่ในศีลบริสุทธิ์อยู่เสมอ ก่อนจะหลับก็ใคร่ครวญดูว่า ตั้งแต่ตื่นมาจนถึงเวลานี้ เราบกพร่องในศีลสิกขาบทไหนบ้าง เมื่อเห็นว่าจิตใจของเราทรงศีล ๕ ประการ (เฉพาะฆราวาส) เป็นเอกัคตารมณ์ คือ มีอารมณ์เดียวกัน ไม่ลืมไม่เผลอ ไม่ต้องระวังในศีล และขอแถมอีกนิดหนึ่ง ถ้าจิตใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้ท่านเรียกว่า "พระโสดาบัน" ก็ไม่ยากนัก

จุดหมายปลายทางคือ พระนิพพาน

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า คนที่คิดว่าตัวจะตา ถ้าคิดต่อไปว่า ถ้าเราเป็นพระโสดาบัน เราจะต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์กับเทวดา สลับกันไป ความเหนื่อยยากในกายเรายังมีอยู่ องค์สมเด็จพระบรมครูตรัสว่า ถ้าอย่างไรก็ดีตัดความเกิดเสียให้สิ้น จุดหมายปลายทางก็คือ "พระนิพพาน "

การจะเข้า พระนิพพาน ถ้าจะว่ากัน ตาม "สังโยชน์ ๑๐ ประการ" ก็รู้สึกว่าจะช้า เราก็ไปรวบยอดกัน ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ใน "มหาสติปัฎฐานสูตร" ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวว่า
"เราจงอย่าสนใจร่างกาย กายในกายได้แก่ กายของเรา จงมีความคิดว่า กายนี้มันสักแต่ว่าเป็น "กาย" กายนี้สักแต่ว่าเป็น "เรือนร่าง" ที่อาศัยชั่วคราว มันมีความเกิดขึ้น ในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด เราคือ "จิต" ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกาย ถ้ากายมันพัง เราก็ต้องไป ไปแล้วถ้าหากว่า เรายังต้องหากายมาเป็นที่เกิดอีก เราก็มีความทุกข์อย่างนี้"

องค์สมเด็จพระชินสีห์รวบรัดตัดใจความว่า "เธอจงอย่าสนใจกายของเธอ ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ทำงานหา อาหารเลี้ยงมัน หาผ้านุ่งผ้าห่มให้แก่มัน เพื่อเป็นการป้องกัน การหนาว การร้อน และ การหิวกระหายในอาหาร แต่ทว่าจงอย่าคิดว่า เรากับร่างกายนี้ จะอยู่ร่วมกันไปตลอดกาลตลอดสมัย ให้มีความรู้สึกเสมอว่า ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราคือ "จิต" ที่เข้ามาอาศัยร่างกาย ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อมันสลายตัวเมื่อไร เราก็ต้องไป"

องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงแนะนำว่า "จงอย่าผูกพันในร่างกายต่อไป เราจงคิดไว้ เสมอว่า ร่างกายเป็นแดนของความทุกข์ เป็นปัจจัยของความทุกข์ ไม่ได้บันดาลความสุขให้แก่เรา เมื่อร่างกาย นี้หมดไปเมื่อไร ขึ้นชื่อว่า "กาย" อย่างนี้สำหรับเราไม่มีอีก"

และก็ทรงแนะนำว่า "แม้แต่ร่างกายของบุคคลอื่น เราก็ต้องการผูกพัน ในวัตถุทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ถือว่าเป็นสมบัติของโลก มันก็เป็นสมบัติของโลก ในเมื่อชีวิตอินทรีย์ของเรานี้หมดไปก็เป็นเหตุสุดวิสัย ที่เรา ะปกครองสมบัติของโลกต่อไปได้"

ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย คิดอย่างนี้เป็นปกติ และแถมต่อไป สักนิดว่า ถ้าเราตายคราว นี้เราขอมี "พระนิพพาน" เป็นที่ไป มนุษยโลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี ไม่เป็นที่ยินดีสำหรับเรา เราต้องการอย่างเดียวคือ "พระนิพพาน"

ถ้าอารมณ์ใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน คิดไว้อย่างนี้เป็น ปกติ อารมณ์ความรักในระหว่างเพศ อารมณ์ความโลภในทรัพย์สิน อารมณ์ความโกรธ ความพยาบาททั้ง หลาย ความหลงใหลใฝ่ฝันในรูปโฉมโนมพรรณ ร่างกายและทรัพย์สินทั้งหลายก็สลายตัวไปจากจิต อย่างนี้องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรกล่าวว่า ท่านเป็นผู้เข้าถึงซึ่ง "อารมณ์แห่งพระนิพพาน" รวมความว่าเป็น "พระอรหันต์" ตายจากชาตินี้แล้วก็ไปพระนิพพานทันที......สวัสดี.

(((( โปรดติดตามตอนต่อไป ตอนภาพชุดสุดท้ายคือ..ตาย ))))

โปรด "คลิก" ชมต่อได้เลยครับ.. ตอนที่ 6  » 


รูปภาพที่มา - เว็บที่เกี่ยวกับอสุภะ

หมายเหตุ รูปภาพประกอบนี้ กรุณาอย่าวิพากษ์วิจารณ์ ขอให้พิจารณาเป็นธรรมะเท่านั้น ควรจะอุทิศผลบุญนี้ให้แก่ผู้วายชนม์ หรือที่เรียกว่า "อาจารย์ใหญ่" จึงจะเป็นการดีที่สุด


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved