ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 26/6/08 at 15:12 Reply With Quote

ประวัติการสร้าง "สมเด็จองค์ปฐม" วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี (ตอนที่ 4)


« l 1 l 2 l 3 l 4 l


"สมเด็จองค์ปฐม ปางพระนิพพาน"


(ประดิษฐานอยู่ชั้นบนพระวิหารฯ วัดท่าซุง)


คำสอนสมเด็จองค์ปฐมบรมครู

(สมเด็จพระพุทธสิกขีทศพล)

"ดูก่อนท่านทั้งหลายท่านที่มาประชุมทั้งหมดจะเป็นเทวดาก็ดี นางฟ้าก็ดี พรหมก็ดี ขอทุกท่านจงอย่าลืม ความตาย นั่นหมายถึงว่าการจุติ ลืมความเป็นทิพย์เสีย อย่าเพลิดเพลินเกินไป อย่ามีความสุขเกินไปและมันจะทุกข์ทีหลัง จงดูภาพมนุษย์ว่ามนุษย์เมืองไหนบ้างที่น่าเกิด ดินแดนไหนที่มีความสุขไม่มีการงาน เราจะมองไม่เห็นความสุขของมนุษย์ เมืองมนุษย์มีแต่ความทุกข์ ต้องประกอบกิจการงานทุกอย่าง ต้องกระทบกระทั่งกับอารมณ์ มีความปรารถนา ไม่ค่อยจะสมหวัง ทุกอย่างต้องใช้แรงงาน

แต่ว่ามาเป็นเทวดา มาเป็นนางฟ้าทุกอย่างหมดสิ้น นั่นหมายความไม่ต้องทำอะไรทั้งหมด ร่างกายอิ่มเป็นปกติ
ร่างกายเยือกเย็นอบอุ่นไม่ต้องห่มผ้า และมีความปรารถนาสมหวัง ก็หมายความถ้าจะไปทางไหนก็สามารถลอยไป
ถึงที่นั่นได้ทันทีทันใด ความป่วยไม่มี ความแก่ไม่มี ร่างกายไม่มีการเปลี่ยนแปลง ความเป็นทิพย์อย่างนี้ท่านทั้งหลาย
จงอย่ามัวเมา จงอย่ามีความเข้าใจผิดว่าเราจะอยู่ที่นี่ตลอดกาลตลอดสมัย

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะอายุเทวดาก็ดี นางฟ้าก็ดี พรหมก็ดี มีอายุจำกัดตามบุญวาสนาบารมี
ถ้าหมดบุญวาสนาบารมีก็ต้องจุติ คือตาย แต่ว่าท่านทั้งหลายจงอย่าลืมว่า เทวดาก็ดี นางฟ้าก็ดี พรหมทั้งหมด
ที่นั่งอยู่ที่นี่ทั้งหมด แม้แต่จะเป็นพระอริยเจ้า ที่ท่านเป็นพระอริยเจ้าก็มาก จงอย่าลืมว่าทุกท่านยังมีบาปติดตัวอยู่
และการสะสมบาปมาเป็นชาติ ๆ ยังมีมากมาย"

(พอพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้บรรดาท่านทั้งหลาย อาตมาก็ใช้กำลังใจดูร่างกายเทวดานางฟ้ากับพรหม
เห็นเงาบาปอยู่ใน หนามาก เป็นอันว่าทุกองค์ต่างองค์ต่างมีบาป แต่ก็มาเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหมได้ แล้วก็ดูตัวเองเวลานั้นร่างกายของตัวเองก็เป็นทิพย์ บาปมันก็ท่วมท้นเหมือนกัน ต่อไปองค์สมเด็จพระภควันต์ตรัสว่า)


"ภิกขเว...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย (เวลานั้นมีพระมาด้วยหลายองค์) และท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ทั้งหมด
จงอย่าลืมว่าทุกท่านมีบาปติดตัวมามากมาย อาศัยบุญเล็กน้อยก่อนจะตายจิตใจนึกถึงบุญก่อน จึงได้มาเกิดบนสวรรค์บ้าง
มาเกิดบนพรหมบ้าง ถ้าหากว่าท่านจุติเมื่อไร โน่น...นรก! (ท่านชี้มือลงเห็นนรกไฟสว่างจ้าแดงฉานไปหมด)
ท่านทั้งหลาย จะต้องพุ่งหลาวลงนรก เพราะใช้กฎของกรรมคือบาป ชำระหนี้บาป กว่าจะมาเกิดเป็นคนก็นานหนักหนา
และมาเป็นคนแล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะได้กลับมาเป็นเทวดานางฟ้าหรือพรหมใหม่

ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าเป็นคนอาจจะทำบาปใหม่อาจ ลงนรกไปใหม่ก็ได้ ฉะนั้นเมื่อท่านทั้งหลายมาถึงที่นี่
มาอยู่สวรรค์ก็ดี พรหมโลกก็ดี เป็นทางครึ่งหนึ่งของนิพพานระหว่างมนุษย์กับนิพพาน เป็นอันว่าท่านทั้งหลายได้ครึ่งทาง
การมาได้ครึ่งทางของท่าน ท่านทั้งหลายจงดูนั่น...นิพพาน!"

(ท่านก็ยกมือชี้ขึ้นให้ดูพระนิพพาน เวลานั้นเทวดานางฟ้ากับพรหมทั้งหมด อาตมาก็เหมือนกัน
เห็นพระนิพพานไสวสว่างจ้า มีวิมานสีเดียวกันคือ สีแก้วแพรวพราวเป็นระยับ เป็นแก้วสีขาว พระอรหันต์
ทั้งหลายที่อยู่ที่นั่นมีความสุข ขนาดไหน มีความเข้าใจหมดรู้หมดเห็นหมด แล้วองค์สมเด็จพระบรมสุคต
ก็ทรงกลับมาพูดกับเทวดากับนางฟ้าใหม่ว่า)


"ท่านทั้งหลายจงหวังตั้งใจคิดว่า ถ้าการจุติมีคราวนี้ ถ้าบุญวาสนาบารมีของเรานี้สิ้นสุดลง เราจะไม่ไปเกิดเป็น
มนุษย์ เราจะไม่เกิดเป็นเทวดา เราจะไม่เกิดเป็นนางฟ้า เราจะไม่ไปเกิดเป็นพรหม เราต้องการไปพระนิพพานจุดเดียว
และการไปนิพพานนี่ ท่านทั้งหลายต้องยึด อารมณ์พระนิพพาน เป็นสำคัญ สำหรับพรหมก็ดี เทวดา นางฟ้าเก่า ๆ ก็ดี อาตมาไม่หนักใจทั้งนี้เพราะ มีความเข้าใจแล้ว (ก็แสดงว่าพรหม เทวดา นางฟ้าเก่า ๆ เป็นพระอริยเจ้ามาก)

ที่มีความเป็นห่วงก็เป็นห่วงเทวดานางฟ้าใหม่ ๆ ที่มาเกิดใหม่ ๆ จะหลงความเป็นทิพย์ นั่นหมายความจะมี
ความเพลิดเพลินในความเป็นทิพย์ ยังมีความรู้สึกว่าเราจะเกิดอยู่ที่นี่ตลอดไป จะไม่มีการจุติจะไม่มีการเคลื่อน
อันนี้เป็นความเห็นที่ผิด จงคิดตามนี้เพื่อพระนิพพานนั่นคือ จงมีความรู้สึกว่าเราจะต้องจุติวันนี้ไว้เสมอ และอาการ
ของชีวิตนี่เป็นของที่ไม่แน่นอน เราจะตายเมื่อไรก็ได้ ความตายเป็นของเที่ยง ความเป็นอยู่เป็นของไม่เที่ยง

เมื่อคิดอย่างนี้แล้วทุกท่านจงอย่าประมาท จงใช้ปัญญาพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ว่าท่านทั้งหลายควรจะเคารพไหม ถ้าจิตใจของท่านมีศรัทธามีความเคารพในพระพุทธเจ้าในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ ก็เป็นอาการขั้นที่สองที่ท่านจะไปนิพพานได้

หลังจากนั้น ขอท่านทั้งหลายจงทรงศีลให้บริสุทธิ์ จะเป็นศีล ๕ ก็ตาม ศีล ๘ ก็ตาม กรรมบถ ๑๐ ก็ตาม ศีล ๑๐ ก็ตาม ศีล ๒๒๗ ก็ตาม"

(พอท่านพูดถึงศีล ๒๒๗ ก็คิดในใจว่าเทวดาจะไปบวชที่ไหน องค์สมเด็จพระจอมไตรก็หันหน้ามาตรัสว่า)

"ฤาษี .. เทวดาเขาไม่ต้องบวช อย่างเทวดาชั้นยามาก็ดี ชั้นดุสิตก็ดี อย่างนี้เขามีศีลครบถ้วนบริบูรณ์ทั้ง ๒๒๗ เหมือนกับความเป็นพระพรหมก็เช่นเดียวกัน ทุกท่านอยู่ด้วยธรรมปีติ ทุกท่านอยู่ด้วยความสุข เขาไม่อาบัติ สิ่งที่จะเป็นอาบัติไม่มี สิ่งที่จะเป็นบาปไม่มี"

แล้วท่านก็กลับหันหน้าไปหาเทวดานางฟ้ากับพรหมว่า ขอทุกท่านจงอย่างลืมคิดว่า เราจะเป็นผู้มีศีล ให้ตั้งเฉพาะศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘ ก็ได้ ศีล ๑๐ ก็ได้ กรรมบถ ๑๐ ก็ได้ ศีล ๒๒๗ ก็ได้ ตั้งใจไว้ว่าเราจะไม่ละเมิดศีล หลังจากนั้นจึงมีจิตใช้ปัญญาคิดว่า การเกิดเป็นเทวดาก็ดี เป็นนางฟ้าก็ดี เป็นพรหมก็ดี มีสภาพไม่เที่ยง จะต้องมีการจุติเป็นวาระสุดท้าย

ในเมื่อการจุติจะเกิดขึ้นอารมณ์จะทุกข์ จงคิดไว้เสมอว่าเราจะต้องจุติ ในเมื่อเราจะต้องจุติเราจะไม่ยอมลงอบายภูมิ เราไม่เกิดเป็นมนุษย์ ท่านทั้งหลายจงดูภาพของมนุษย์

(แล้วพระองค์ก็ชี้มาที่เมืองมนุษย์)

มนุษย์เต็มไปด้วยความวุ่นวาย มนุษย์เต็มไปด้วยความโสโครก มนุษย์เต็มไปด้วยความทุกข์ มนุษย์เต็มไปด้วยการงานต่างๆ มนุษย์มีความหิวมีความกระหาย มีความอยาก มีความต้องการไม่สิ้นสุด สิ่งทั้งหลายที่ก่อสร้างขึ้นมาแล้ว
จะเป็นทรัพย์สินยังไงก็ตาม

ในเมื่อเราตายจากความเป็นมนุษย์เราก็หมดสิทธิ อย่างบางท่านเป็นพระมหากษัตริย์ อยู่ในพระราชฐานดี ๆ สร้างไว้เป็นที่หวงแหน คนภายนอกเข้าไม่ได้เข้าได้แต่คนภายใน แต่ว่าท่านทั้งหลายเมื่อตายมาแล้วกลับไปเกิดเป็นคน หากว่าท่านไม่ได้เกิดในตระกูลกษัตริย์ตามเดิม ท่านเป็นประชาชนคนภายนอก
ท่านจะไม่มีสิทธิเข้าเขตนั้นเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นของที่ท่านสร้างเอาไว้ ท่านทำเอาไว้ทุกอย่างแล้วท่านจะไม่มีสิทธิ

นี่ความไม่แน่นอนของความเป็นมนุษย์มันเป็นทุกข์อย่างนี้ ถ้าเกิดเป็นคนก็ต้องหยุด ต้องเดินไปเดินมาทำกิจการงานทั้งวัน เพื่อผลประโยชน์หน่อยเดียว คือ "เงิน" ถ้าไม่มีเงินก็ไม่สามารถจะมีชีวิตทรงตัวอยู่ได้ เพราะมีความจำเป็นต้องหาเงิน

(ในเมื่อท่านตรัสอย่างนี้แล้วก็บอกว่า)

จงอย่าคิดเป็นมนุษย์ต่อไป ตัดความเป็นมนุษย์เสีย เลิกความหมายความเป็นมนุษย์ เห็นว่าโลกมนุษย์เป็นทุกข์ มนุษย์มีสภาพไม่เที่ยง ไม่มีการทรงตัว มีความเกิดขึ้นและมีความเปลี่ยนแปลง มีความแก่ มีความป่วย ในการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีความตายในที่สุด

และจงอย่าอยากเป็นเทวดา อยากเป็นางฟ้าเป็นพรหมต่อไป เพราะเทวดานางฟ้ากับพรหมก็มีสภาพไม่เที่ยงเหมือนกัน เมื่อมีความเกิดในเบื้องต้น ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปธรรมดา ก็มีความจุติไปในที่สุด ทุกคนหวังนิพพานเป็นที่ไป ตั้งใจไว้เสมอว่าเราจะเป็นผู้มีศีล เราจะนับถือพระไตรสรณคมน์คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ แล้วก็เราจะต้องจุติในวันหน้า

ตถาคตมีความรู้สึกว่าท่านทั้งหลายที่เป็นเทวดานางฟ้าพรหมเก่าๆ มีความเข้าใจดีแล้ว ( คำว่า "เข้าใจ" บรรดาท่านพุทธบริษัทหมายถึงว่า เขาปฏิบัติได้นี่คือ "อารมณ์พระโสดาบัน" กับ "อารมณ์พระอรหันต์")

สำหรับเทวดานางฟ้าและพรหมใหม่ๆ จงตั้งใจไว้เสมอว่า จงลืมความเป็นทิพย์เสีย อย่าเพลิดเพลินเกินไป อย่ามีความสุขเกินไป และมันจะทุกข์ทีหลัง ตั้งใจคิดว่าความสุขที่ได้มานี่ เราได้มาจากบุญเล็กน้อยเท่านั้น และบาปใหญ่ที่ขังอยู่ที่ตัวของเรายังมีอยู่ ถ้าเราเผลอไม่สร้างความดี ในเมื่อจุติความเป็นเทวดาหรือพรหมในภพนี้แล้ว ทุกคนจะต้องลงอบายภูมิ

จงดูภาพนรกว่ามีขุมไหนบ้างที่น่าอยู่น่ารัก มันไม่น่าอยู่ไม่น่าเกิด ดินแดนไหนที่มีความสุขไม่มีการงาน เราจะมองไม่เห็นความสุขของมนุษย์ และก็ดูเทวดานางฟ้ากับพรหม มนุษย์ที่เดินเกลื่อนกล่นทุกคนอยู่ในเมืองมนุษย์ เคยเป็นเทวดาเคยเป็นนางฟ้าเคยเป็นพรหมมาแล้ว แต่ว่าท่านทั้งหลายจงตั้งใจไว้เฉพาะนิพพาน จงดูภาพพระนิพพานให้ชัดเจนแจ่มใสว่า ดินแดนพระนิพพานไม่มีที่สิ้นสุด..."

( เมื่อพระองค์ตรัสเพียงเท่านี้พระองค์ก็จบ )




หลวงพ่อได้สรุปใจความสั้น ๆ ตามที่ท่านเทศน์ไว้ดังนี้


"ท่านทั้งหลายการหลบหลีกไม่ต้องตกอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เป็นของไม่ยาก

๑. ขอทุกท่านจงอย่าลืมความตาย จงคิดว่าความตาย อาจจะมีกับเราเดี๋ยวนี้ไว้เสมอๆ
๒. เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ด้วยศรัทธาแท้ (ด้วยความจริงใจ )
๓. มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และ
๔. เป็นกรณีพิเศษ ปฏิเสธการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา นางฟ้า และพรหม ในชาติต่อไป ทุกท่านเห็นนิพพานแล้ว ตั้งใจไปพระนิพพานโดยเฉพาะ เท่านี้ทุกท่านจะหนีอบายภูมิพ้น และไปพระนิพพานได้ในที่สุด"


หมายเหตุ : เทศน์ที่ "เทวสภา" วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๕ เวลา ๘.๐๐ น. พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน เมตตาเล่าให้ลูกหลานฟัง เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๕ เวลา ๒๑.๐๐ น.



คำสอนหลวงพ่อฤาษีลิงดำ


เรา คือ "จิต" ที่สิงในกาย หรือที่เรียกว่า "อทิสมานกาย" เราจริง ๆ คือ "จิต" ร่างกายเป็นแต่เพียงเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราว เมื่อเรานึกถึงอารมณ์ของจิต

คำว่า เราคือ "จิต" เราไม่เคยคิดเลยว่าต้องการให้ร่างกายของเราแก่ ไม่ต้องการให้หิว ไม่ต้องการให้ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ต้องการให้ป่วยไข้ไม่สบาย ไม่ต้องการให้มีทุกข์อย่างอื่น ไม่ต้องการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ไม่ต้องการตายในที่สุด แล้วร่างกายมันตามใจเราไหม..

เราคือ "จิต" ร่างกายมันเป็นร่างที่อาศัย อารมณ์ที่เราต้องการแบบนี้ มีความปรารถนาเหมือนกันหมดทุกคน แล้วก็ร่างกายมันตามใจเราไหม ลองนึกดู เวลานี้ เราอายุเท่าไรแล้ว ถ้าร่างกายมันเป็นของเราจริง เราพอใจอยู่แค่ไหน ถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ ก็เพราะว่าเราไม่อยากจะไม่แก่ แล้วมันเชื่อไหมล่ะ?

อยากจะกินอาหารอย่างไหนที่ว่ามันดีที่สุดที่มันมีประโยชน์แก่ร่างกายที่สุด ร่างกายจะได้ไม่ทรุดโทรม แต่กินเข้าไปเท่าไรก็โทรมก็แก่ ยาขนานไหนดีที่สุดกินแล้วไม่แก่ ไม่ป่วย ไม่ตาย กินเข้าไปเถอะ ไม่ช้ามันก็ตาย มันก็แก่ นี่เป็นอันว่าเราห้ามร่างกายไม่ได้

ในเมื่อร่างกายเราห้ามมันไม่ได้แล้ว เราก็ต้องรู้ว่าร่างกายความจริงมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราคือ "จิต" ที่เรียกว่า "อทิสมานกาย" ที่เข้ามาอาศัยร่างกายเป็นเรือนร่างที่อาศัย อันนี้ ร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แล้วมันก็ไม่อยู่ในอำนาจของเรา

เราจะปรนเปรอบังคับบัญชามันอย่างไรก็ตาม มันจะไม่ยอมปฏิบัติตามด้วยประการทั้งปวง ถึงเวลาที่มันจะแก่ มันก็ต้องแก่ ถึงเวลาที่มันจะป่วย ก็ต้องป่วย ถึงเวลาเวทนาต่างๆ เวทนาจะเกิดขึ้นมันก็เกิด ถึงเวลามันจะตาย จ้างมันเท่าไรมันก็ไม่เอา

แต่พอตายแล้ว ไปสวรรค์บ้าง ไปนรกบ้าง ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานบ้าง ไปเป็นพรหมบ้าง ไปนิพพานกันบ้าง ไอ้ที่ไปจริง ๆ ร่างกายมันไปด้วยรึเปล่า มันก็เปล่า?

ร่างกายเน่าทับถมพื้นแผ่นดินอยู่ บางทีเขาก็เผา บางรายไม่ได้เผาก็เละกระจายเป็นกรวดเป็นดิน อันนี้ร่างกายมันไม่ได้ไป ผู้ที่ตกนรก ไปสู่สวรรค์ มันเป็นใคร นั่นแหล่ะ คือ "เรา" ที่เรียกกันว่า "อทิสมานกาย" หรือ"จิต" ที่สิงในกาย

นี่มาถึงตรงนี้เราจะเห็นได้ทันทีถ้าไม่โง่เกินไป หรือว่าไม่ฉลาดเกินพอดีก็จะเห็นว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริง ๆ ในเมื่อมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริง ๆ จะไปนั่งเมาเพื่อประโยชน์อะไร ต้องการมันหรือ เกิดมาชาตินี้ความทุกข์ถมเต็มกำลังอยู่แล้ว เกิดในชาติต่อ ๆ ไปมันก็เป็นรูปนี้ ไม่ว่าชาติไหน

แต่เกิดเป็นคนมันก็ยังดี แต่ถ้าเป็นคนเลวลงนรกไป มันก็นานนักถึงจะกลับมา นี่พระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราก็จงวางภาระเสีย ทำใจให้สบายว่าร่างกายนี้เกิดขึ้นมาในเบื้องต้นแล้วมีความเสื่อมโทรมไปในท่ามกลาง มีการแตกสลายไปในที่สุดเป็นของธรรมดา เอาใจเข้าไปรับตัวธรรมดาเข้าไว้ ตนของตนเองก็ยังไม่มี ทรัพย์หรือบุตรจะมีแค่ไหน

"เจ้าจงใคร่ครวญอย่างนี้ จงคิดว่าเราเป็นผู้ไม่มีอะไรเลย ทรัพย์สินก็ไม่มี ญาติ เพื่อนลูกหลาน เหลนไม่มี แม้ร่างกายเราก็ไม่มี เพราะทุกอย่างที่กล่าวมามีสภาพพังหมด เราจะทำกิจที่ต้องทำตามหน้าที่ เมื่อสิ้นภาระคือร่างกายพังแล้ว เราจะไปพระนิพพาน เมื่อความป่วยไข้ปรากฏจงดีใจว่า วาระที่เราจะมีโอกาสเข้าสู่พระนิพพานมาถึงแล้ว เราสิ้นทุกข์แล้ว"

คิดไว้อย่างนี้ทุกวันจิตจะชินจะเห็นเหตุผล เมื่อจะตายอารมณ์จะสบายดี แล้วก็จะเข้านิพพานได้ทันที

***************************

« l 1 l 2 l 3 l 4 l



kittinaja
Super Administrator
*********
Posts: 192
Registered: 10/2/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved