ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 28/6/08 at 07:03 Reply With Quote

การสร้างสมเด็จองค์ปฐม (ทรงเครื่องพระนิพพาน) ณ วัดสิริเขตคีรี (ตอนที่ 4)


« l 1 l 2 l l 3 l 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l »


ประวัติการสร้างวัดสิริเขตคีรี (วัดพระร่วง)


งานพิธีฉลองสมโภช (ปีที่ ๑)


พอถึงเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. อัน เป็นเวลาที่นัดหมาย พวกเราก็มารวมตัวกันที่ด้านล่างพระจุฬามณี (ในปีต่อมาสถานที่นี้ ได้จัดให้เป็นที่รับประทานอาหาร) พระสงฆ์ นำโดย หลวงพี่โอ ก็มานั่งกันหน้าเต็นท์ปะรำพิธี ในเวลากลางคืนอากาศเริ่มหนาว แต่ทุกคนก็ ได้เห็นแสงจันทร์ทอสว่างขึ้นเหนือขอบฟ้า

ในคืนเดือนเพ็ญอันเป็น วันลอยกระทง การจัดงานในปีนี้เป็นปีแรก ถือว่าโชคดีที่ตรง กับวันเสาร์ พอที่ญาติโยมจะเดินทางมาร่วมงานกันได้สะดวก ท่ามกลางความสว่างพอมองเห็นกันได้ จากแสงจันทร์และแสงสปอร์ตไลท์ ผู้ร่วมงานต่างก็นั่งบนเก้าอี้อยู่รายรอบเต้นท์ ปะรำพิธี แล้วผู้เขียนก็ได้กล่าวถึงพระราชประวัติ พระร่วงเจ้าเคล้ากับเพลงไทยเดิม “ศรีสัชนาลัย” เพื่อให้ย้อนกลับสู่บรรยากาศในอดีตกาลนานมาแล้ว

โดยมีผู้รับฟังนั่งย้อนรำลึกนึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่เคยทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองไว้ในอาณาจักรศรีสัชนาลัยแห่งนี้ พระองค์ทรงอานุภาพยิ่งใหญ่ ประเทศน้อยใหญ่พากันมาสวามิภักดิ์ บ้านเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุขด้วยทศพิธราชธรรมของพระองค์



พิธีกล่าวถวายราชสดุดี
ในระหว่างนี้ เพื่อให้ท่านผู้ร่วมพิธีได้สัมผัสกับการเทิดพระเกียรติคุณของพระองค์ จึงได้เชิญ คณะพิษณุโลก จำนวน ๕ ท่าน พร้อมผู้ประพันธ์คือ อ.วิบูลย์ มีชู ออกมากล่าวพระราชสดุดีด้วยบทกวี เนื่องในงานปฐมฤกษ์ถวายผ้ากฐิน นับเป็นปีที่ ๑ ว่า..

“..ประนมหัตถ์นมัสการพระสัมพุทธ์ พระพิสุทธิ์ดุจน้ำค้างกลางบัวหลวง
พระมหากรุณาข้าทั้งปวง เพื่อพ้นห่วงบ่วงมารด่านตรมตรอม
เทิดบูชาบารมีพระร่วงเจ้า ผู้ปกเกล้าชาวประชาพ้นข้าขอม
พระวาจาศักดิ์สิทธิ์อมิตร์ยอม พระเพียบพร้อมคุณธรรมนำเผ่าไทย
พระพ่อท่านผูกพันจรรโลงรัฐ พระทรงพัฒนาวัดวาสดใส
บำรุงชาติศาสนาปรากฏไกล อาณาเขตกว้างใหญ่ไทยยืนยง

พระทรงเป็นมหากษัตริย์ขัตติยราช พระองอาจประพาสจีนถิ่นประสงค์
สังคโลกเตาทุเรียงเคียงเบญจรงค์ ไทยจีนคงมิตรภาพตราบปัจจุบัน
สนมเอกนพมาศฉลาดล้ำ ใบตองนำมาประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์
กระทงน้อยลอยคงคาคืนแจ่มจันทร์ ประเพณีนิจนิรันตร์นั้นสืบมา
มโหรีดีดสีตีขับกล่อม เครื่องสายพร้อมล้อมวงทรงหรรษา
ยามศึกรุกรบไล่ภัยปัจจา ยามสงบเริงร่าพาเบิกบาน
ลูกทุกคนดื่มด่ำจำอนุสรณ์ กลับนาครสร้างปูชนีย์เจดีย์สถาน
เมืองพ่อหนอขอคืนถิ่นจินตนาการ พิษฐานโรจนฤทธิ์ประสิทธิ์ดล

ศิลาฤกษ์เบิกชัยในวันนี้ คืนดิถีจันทร์เพ็ญเด่นเวหน
สาดแสงนวลหวลรำลึกตรึกกมล ถิ่นบรรพชนกุศลสร้างทางบุญญา
สายใยรักถักทอมิท้อถอย ลูกเคลื่อนคล้อยตามรอยบาทอาสา
ถวายกฐินคนละกองเนืองนองมา ณ เมืองศรีสัชนาร่าเริงใจ
รวมพลังทั้งอาหารการกินเสริม ปีแรกเริ่มเติมศรัทธาค่ายิ่งใหญ่
แดนเดิมเราเมืองศรีสัชนาลัย ถิ่นคนดีเลิศวิไลใจเปรมปรีดี์
ดวงชะตาแผ่นทองคล้องความหมาย วางเรียงรายรอบมุมคุ้มทิศสี่
บรรจุพระบรมธาตุจอมปราชญ์มุนี เครื่องประดับแก้วมณีพลีบูชา

สะเดาะเคราะห์จำเพราะมีพิธีช่วย ทาน ศีล ภาวนาด้วยอำนวยหนา
ที่หนักนักจักบรรเทาเพลาลงมา เบาสร่างซาพาสบายหายทันใด
แล้วปล่อยโคมโสมส่องล่องลอยฟ้า ท้องนภาพร่างพราวสกาวใส
นำทุกข์โศกโรคร้ายคลายหมดไป พรยิ่งใหญ่ชัยมงคลผลความดี
น้อมถวายบังคมก้มเบื้องบาท พระหน่อนาถบวรสุนทรศรี
พระผู้มีวาจาสิทธิ์ด้วยฤทธี พรวจีรวยรวยทบทวีแต่นี้เทอญ..”


พอสิ้นเสียงกล่าวบทกวีที่ร้อยกรองอย่างไพเราะเพราะพริ้ง ทุกคนต่างก็ตบมือให้ เป็นกำลังใจ ต่อจากนั้นก็เป็นการรำอวยพร จากคณะนักเรียน โรงเรียนสวรรค์อนันต์ อ. สวรรคโลก จ.สุโขทัย แล้วผู้เขียนก็ได้เริ่มบรรยายถึงวิถีชีวิตของชาวสุโขทัยในอดีตต่อไปว่า นับตั้งแต่ฤดูกาลวันออกพรรษาแล้ว ประชาชนพลเมืองสมัยนั้น ต่างก็พากันไปถวายผ้ากฐินทาน จนถึงวันสุดท้ายคือวันลอยกระทง มีการละเล่นรื่นเริงกันทั่วทั้งพระนคร

กล่าวคำนมัสการบูชาพระจุฬามณี
ในขณะที่ผู้เขียนพรรณนาเพื่อให้ผู้ฟังได้เกิดภาพพจน์ไปด้วยนั้น ก็ได้สลับกับการ ฟ้อนรำของเด็กนักเรียน โรงเรียนบ้านท่าชัย ในชุดระบำเงี้ยว รำเสร็จแล้วก็มีผู้ออกไปให้ รางวัลแก่เด็กโดย พ.ต.ท.ประสาท ก่อน แล้วก็เป็น คุณมายิน ต่อจากนั้นผู้เขียนก็เริ่มพิธีการปล่อย "กระทงสวรรค์" ขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยวิธีการตั้ง นะโม ๓ จบ เสียก่อน แล้วกล่าวคำบูชาให้ว่าตามกัน ดังนี้


“วันทามิ พุทธัง ภะวะปาระติณณัง ติโลกะเกตุง ติภะเวกะนาถัง.. ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอกราบนมัสการองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค ผู้ข้ามพ้นฝั่งแห่งสังสารวัฏ ผู้เป็นธงชัยแห่งไตรโลก ผู้เป็นที่พึ่งเอกของภพทั้งสาม พระองค์ทรงเป็นผู้ประเสริฐในโลก และตัดกิเลสทั้งสิ้นได้แล้ว ทรงช่วยปลุกมวลชนให้ตื่นจากความหลับคือกิเลส อย่างหาที่สิ้นสุดมิได้

พระเขี้ยวแก้วและพระเมาฬีอันใด ที่ประดิษฐาน ณ พระจุฬามณี ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอกราบนมัสการของพระมุนีด้วยเศียรเกล้า ขอนอบน้อมแต่ไกล ซึ่งสถานที่อัน ประเสริฐ ข้าพระองค์ได้แล้วซึ่งห้วงแห่งบุญอันไพบูลย์ ขออานุภาพแห่งพระรัตนตรัยนี้ จงขจัดอุปัทวันตราย และทุพภิกขภัยเสียสิ้น ให้มีแต่ความศิริสุขสวัสดีมีชัยทุกเมื่อเถิด

ขอความขัดข้องทั้งหลายอย่าได้พ้องพาน สุขเกิดแต่ความไม่มีโรค และอนามัยอันดี จงมี ขอให้พ้นจากโรคทั้งปวง ขอความเดือดร้อนทั้งหลาย อย่าได้มากล้ำกลาย และให้ล่วง เสียซึ่งเวรทั้งปวง และขอให้กิเลสอันเป็นความทุกข์ เป็นเครื่องเศร้าหมอง ที่มืดมิดอยู่ในดวงจิต จงถูกกำจัดไป จากอานุภาพแห่งการบูชาด้วยดวงประทีปโคมไฟนี้ จงมีความสว่างผ่องใสไร้มลทิน เหมือนกับพระจันทร์วันเพ็ญฉะนั้นเทอญ..”

ต่อจากนั้นก็กล่าว วันทาพระ เป็นภาษาบาลี แล้วพิธีการปล่อยโคมลอยก็เริ่มขึ้น โดยการปล่อยกระทงลอยฟ้า ที่เรียกกันว่าพิธี “ลอยกระทงสวรรค์” และ “กระทงบูชาพระเคราะห์ ๑๐๘” ขึ้นก่อน เสียงเพลงมหาฤกษ์มหาชัยบรรเลงขึ้น ท่ามกลางความตื่นเต้นดีใจ โดยเฉพาะ ท่านอาจินต์ ออกไปยืนดูด้วยความสนใจ พร้อมกับ หลวงพี่โอ ก็ออกไปเป็น ประธานในการกระทำพิธีครั้งนี้


ในระหว่างที่โคมลอยถูกปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า พวกเราต่างก็แหงนดูด้วยความปลื้มใจ เพราะโคมลอยขึ้นไปเรียงแถวตามกันไปอีกเหมือนปีที่แล้ว บางคนโดยเฉพาะเด็กๆ ที่ไป ด้วย ต่างก็เล่นดอกไม้ไฟที่เตรียมกันไปบ้างอย่างสนุกสนาน สวยงามทั้งเบื้องบนและเบื้อง ล่าง เพราะมีการฟ้อนรำแต่จำไม่ได้ว่าชุดอะไร จาก โรงเรียนสวรรค์อนันต์ ไปด้วย

แต่ละคนจึงมีความเพลิดเพลินบันเทิงใจ ลืมความทุกข์ความกังวล จิตใจมีความชื่นชม ยินดีในการทำพิธีฉลองสมโภช ตามแบบฉบับโบราณประเพณีจริงๆ ไม่มีการละเล่นที่เป็นอันตรายต่อศีลธรรมอันดี เด็กนักเรียนร่ายรำไปตามทำนอง มองเห็นเด็กๆ อยู่ในชุดไทยห่มผ้าสไบสวยงามเป็นระยับ ทั้งผู้ชมก็แต่งกายงดงามตามแบบฉบับของไทยเช่นกัน

คิดว่าถ้าหากท่านผู้อ่านได้มาเห็นภาพเหล่านี้ด้วยตนเอง คงจะเหมือนกับได้ย้อน ยุคเข้าสู่เหตุการณ์เมื่อสมัยหลายร้อยปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอนทีเดียว ความสนุกสนานร่าเริง เริ่มทวีขึ้น เมื่อเสียงเพลง “เดือนเพ็ญ” ดังขึ้น แต่ละคนจึงลุกยืนขึ้นพร้อมกับเนื้อร้องที่ “หนุ่ม ไทยรัฐ” แจกไว้ให้แล้วว่า...

“เดือนเพ็ญ..สวยเย็นเห็นอร่ามนภา แจ่มนวลดูงาม เย็นชื่นหนอยามเมื่อลมพัดมา แสงจันทร์นวลชวนใจข้า คิดถึงถิ่นที่จากมา คิดถึงท้องนาบ้านเรือนที่เคยเนาว์..”

แหม..จะพิมพ์เนื้อร้องให้หมดก็เกรงใจหน้ากระดาษ จึงต้องหยุดไว้แค่นี้ แต่ทว่า เสียงร้องในครั้งนั้น ยังคงดังก้องอยู่ในความทรงจำของทุกคน เพราะเป็นเพลงแรกในค่ำคืนนั้น ผู้เขียนถึงแม้จะไม่สันทัด แต่เมื่อได้ฟังเนื้อร้องแล้ว รู้สึกว่าเข้ากับบรรยากาศในยามราตรี ท่ามกลางสายลมที่เริ่มพัดมาเย็นๆ จึงชักชวนให้ผู้คนได้ออกมารำฉลองในเพลงรำวง “คืนเดือนหงาย” กันต่อไป


ในตอนนี้ไม่ว่าสาวแก่แม่ม่าย ทั้งหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ ต่างก็ออกมารำวงกัน มากมาย เพราะเห็นเด็กรำมาหลายเพลงแล้ว คงจะคันไม้คันมือมานาน คราวนี้จึงพากัน รำวงไปโดยรอบจนกระทั่งจบเพลง มีบางคนไม่ค่อยกล้า กว่าเพื่อนจะคะยั้นคะยอให้ออกมาได้ เพลงก็จบไปเสียก่อนแล้ว

แต่ไม่เป็นไร ยังมีเพลงรำวงอีกหลายเพลง คงจะให้เด็กรำบ้าง ผู้ใหญ่รำบ้าง สลับกัน ในขณะนี้ ผู้เขียนก็เริ่มบรรยายพระราชประวัติ พระร่วงโรจนฤทธิ์ ต่อไปอีก พร้อม กับเสียงดนตรีไทยคลอเบาๆ ภายใต้แสงจันทร์ที่อร่ามตาในคืนเดือนเพ็ญ เพื่อให้ทุกคนที่ รับฟังได้ซาบซึ้งตรึงใจไปด้วย

ทั้งนี้ ด้วยวิถีชีวิตของชาวไทยสมัยก่อน ไม่ได้ฉาบทาด้วยค่าวัตถุนิยมมากมายเหมือนกับสมัยนี้ ซึ่งอาจจะมีคนไทยบางคนบางคณะ ที่อาจจะหลงใหลและห่างไกลไปจากวัฒนธรรมประเพณีเดิม บางทีก็ลืมคุณงามความดีของบรรพบุรุษไทย จึงขอให้เปิดเพลงนี้เพื่อปลุกใจให้คนไทยทั้งหลาย ได้มีจิตสำนึกในความเป็นไทย

พอสิ้นเสียงบรรยาย เสียงเพลงก็เริ่มดังขึ้น ทุกคนจึงลุกขึ้นยืน เพื่อให้การเคารพต่อบุรพชนไทยของเราทั้งหลาย ในขณะนี้มีพวกเราหลายคนเช่น คณะจเร เป็นต้น ออก มาช่วยกันร้องนำ ตามเนื้อร้องทำนองเพลง “ตื่นเถิดชาวไทย” พวกเราทั้งชายและหญิงต่าง ช่วยกันร้องด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นไทย เพื่อช่วยปลุกปลอบคนไทยบางคนที่ยัง หลับไหลอยู่ว่า...

“ตื่นเถิดชาวไทย อย่ามัวหลับไหลลุ่มหลง ชาติจะเรืองดำรง ก็เพราะเราทั้งหลาย ถ้ามัวหลับมัวหลง เราก็คงมลาย เราต้องเร่งขวนขวาย ตื่นเถิดชาวไทย...

ในขณะที่ร้องเพลงนี้ พวกเราก็ช่วยกันโบงธงชาติไทยและธงธรรมจักรไปมา เป็นความหมายของการลุกขึ้นมาช่วยกันสร้างประเทศชาติ และพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าว หน้าต่อไป ต่อจากนั้นก็เป็นการฟ้อนรำชุด "ระบำสุโขทัย" จากเด็กนักเรียนบ้านท่าชัย แล้วก็ออกมารำวงกันอีกเป็นเพลงที่ ๒ คือ “ความหมายในดวงตา”

ปรากฏว่าคราวนี้มีคนออกมารำเพิ่มขึ้นมากกว่ารอบแรก ทุกคนมีความร่าเริงเป็นสุข เหมือนกับได้กลับมาเยือนแผ่นดินเกิดอีกครั้งหนึ่ง แล้วได้มาพบกับญาติมิตรและเพื่อนสนิททั้งหลาย จึงได้ร่ายรำไปตามจังหวะรำวงกันจนกระทั่งจบเพลง ผู้เขียนจึงหยุดให้พักเหนื่อยกันด้วยการกล่าวต่อไปว่า

“วันนี้ถือว่าเป็นวันสำเร็จระดับหนึ่ง ที่พวกเราทุกคนได้มารวมตัวกันทั่วทุกภาค เพื่อประกาศเกียรติคุณความดีของครูบาอาจารย์ และเพื่อประกาศความสามัคคีที่มีต่อกัน พวกเราคงจะลืมไม่ได้ในเหตุการณ์ครั้งนี้ ณ จุดศูนย์รวมใจที่ตรงนี้ อันเป็นอาณาเขตของแหลมทอง ความมีอิสรภาพ ความมีเสรีภาพ

ทั้งในด้านการปกครอง การนับถือพระศาสนา ชาวไทยในสมัยนี้จึงมีความสุข เพราะชาวไทยทั้งหลายในอดีต ได้ช่วยกันกอบกู้ผืนแผ่นดินไทยผืนนี้ไว้ จึงขอให้พวกเราลุกยืนขึ้น ร้องเพลงนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่บรรพบุรุษไทยทั้งมวล ที่ได้เคยครอบครองถิ่นแหลมทองนี้มานาน...

“แหลมทองไทยเข้าครองเป็นแดนไทย รักกันไว้เราพวกไทยในแดนทอง..ขอพวกเราชาวไทยในแดนทอง หมายใจปองผูกรักสมัครมั่น ไทยสยามมุ่งจิตมิตรสัมพันธ์ ผูกไมตรีทั่วกันในแหลมทอง...”

เมื่อเพลงแหลมทองจบลงไป ทุกคนต่างก็นั่งลงที่เดิม พร้อมกับความภูมิใจในความเป็นไทยดำรงคงอยู่มานาน โดยเฉพาะเพลงนี้นับว่า เป็นเพลงปลุกใจที่เก่าแก่มานาน เมื่อนำมาร้อง กันอีกก็ทำให้จิตใจหึกเหิมและห้าวหาญ แต่ก็คึกคักกันเพียงไม่นาน เมื่อชุดฟ้อนรำได้ออกไป รำเป็นชุดสุดท้ายคือ “ระบำธิดาสวรรค์” จากโรงเรียนสวรรค์อนันต์ จบแล้วเสียงเพลงสุดท้ายก็ดังขึ้นตามลำดับ คราวนี้มีหลายคนก็ได้ออกมารำวงเป็นเพลงสุดท้าย

เสียงเพลง “ลอยกระทง” เป็นที่คุ้นหูของชาวไทยมานาน การรำจึงสนุกสนานเป็นที่ครื้นเครงยิ่งนัก ผู้เขียนจึงได้กล่าวว่า สุดท้ายนี้จึงขออนุโมทนาความดีทุกท่าน ที่ยังรักษาจริยาตามโอวาทของท่านไว้ด้วยดี ในโอกาสนี้ แผ่นดินที่พวกเราได้ยืนอยู่ในขณะนี้ คือพระแม่ธรณีย่อมเป็นสักขีพยานในการบูชาของพวกเราทุกคน

ฉะนั้น ความประทับใจทั้งหลาย ไม่มีสิ่งอื่นใดในโลกนี้ จะมีความดื่มด่ำใจในยามค่ำคืน เท่ากับโอวาทของบิดาผู้มีพระคุณยิ่งแก่ลูกทุกคน ตามที่ท่านได้สอนไว้ในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ตอนหนึ่ง ถึงแม้จะนำมากล่าวครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ยังไม่อิ่มไม่เบื่อต่อการรับฟัง ถือว่าเป็นโอวาทที่มีความซาบซึ้งตรึงใจเหนือสิ่งอื่นใดว่า...

“ธรรมใด..ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พ่อไว้ พ่อถ่ายทอดให้แก่ลูก ทรัพย์สมบัติทั้งหมดนี้ ขอลูกจงถือว่านั่นคือตัวแทนของพ่อ เพราะว่าชีวิตของพ่อนี้ พ่อไม่แน่ใจนักว่าจะมีอายุยืนยาวอีกสักกี่ปี ขอลูกทั้งหลายจงอย่าถือขันธ์ ๕ ของพ่อนี้เป็นสำคัญ ปฏิปทาใดที่เป็นที่ชอบใจ ไม่เกินวิสัยลูก ขอลูกจงทำ..และจงทำ..และจงรักษาอภิญญาสมาบัติไว้

ขณะใดที่ใจของลูก ยังรักษาอภิญญาสมาบัติไว้ และรักษาปฏิปทาสาธารณประโยชน์ ขณะนั้นลูกจงภูมิใจว่า พ่ออยู่กับลูกตลอดเวลา ถึงแม้ว่าร่างกายกายาของพ่อจะสลายไป แต่ใจของพ่อยังอยู่กับใจของลูก ลูกจะไปไหน..ก็ชื่อ ว่าพ่อไปด้วย.. ช่วยลูกทุกประการ ขอลูกรักของพ่อทุกคนจงทรงธรรมนั้นไว้ จนกว่าจะเข้านิพพานในชาตินี้..สวัสดี”

ทุกคนที่รับฟังถึงแม้จะซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็เหมือนจะเพิ่งได้รับฟังอยู่นั่นเอง เท่ากับปลุกจิตให้หวลคิดถึงพระคุณของท่านไม่รู้ลืม ความสัมพันธ์ฉันท์พ่อลูก มิได้มีอยู่เพียงนี้เท่านั้น แต่ได้ผูกพันธ์กันมานับแสนชาติ เมื่อพ่อจากไป จึงเหลือไว้แต่คุณความดีให้ระลึกถึง การเดิน ทางไปทั่วทุกหนทุกแห่ง จึงเท่ากับไปรวมตัวสร้างความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องกันฉะนั้น

ในขณะที่กำลังเคลิบเคล้มไปกับคำบรรยาย เสียงพลุดาวกระจายก็ดังขึ้นสู่ท้องฟ้า ท่ามกลางแสงสว่างในยามราตรี ทุกคนแหงนมองขึ้นสู่ท้องฟ้า เห็นพลุพวยพุ่งทะยานขึ้นไปกระจายหลายหลากสี เป็นการประกาศถึงคุณความดีที่ พวกเราได้รวมตัวกันในครั้งนี้ ถือเป็นการฉลองความสำเร็จในปีแรกของการจัดงาน

แสงสีของพลุถูกจุดขึ้นตามกันไปเป็นระยะ ท่ามกลางเสียงเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ทุกคนยืนร้องเพลงนี้ด้วยความเคารพองค์พระประมุขของชาติ พร้อมทั้งมองดูพลุไฟพะเนียงที่สวยงามหลายรูปแบบ เป็นการจบและจากลาด้วยความเบิกบานและประทับใจยิ่ง จนกระทั่งเพลงจบทุกคนต่างก็ทำความเคารพ แล้วแยกย้ายกันกลับไปพักผ่อน เพื่อเตรียมตัวเดินทางต่อไปในวันรุ่งขึ้น

เป็นอันว่า ท่านผู้อ่านได้สัมผัสกับบรรยากาศของ งานพิธีทอดกฐิน, งานพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ, และ งานพิธีฉลองสมโภช ณ พุทธอุทยานพระร่วงผดุงธรรม ผ่านไปแล้ว ซึ่งเป็นงานพิธีที่สำคัญทั้ง ๓ งาน เลิกงานแล้วจึงได้พักผ่อนหลับนอนกันตามอัธยาศัย

ในคืนนั้น มีหลายท่านที่จะต้องนอนตากยุง เพราะไม่ได้เตรียมมุ้งไป ส่วนใหญ่ก็ นอนในศาลา ๗ วัน ได้อาศัยฟางข้าวรองพื้น จึงมีความอบอุ่นพอสมควร แต่พอรุ่งขึ้นมีคนบ่น ว่าคันเหลือเกิน คงจะแพ้ฟางข้าวกระมัง แต่ไม่เป็นไร คุณแสงเดือน (ตุ๋ม) ก็ยังมีความพอใจที่จะกางเต้นท์นอนแถวนั้น ทั้งๆ ที่โรงแรมก็มีแต่ไม่ไปพัก บอกว่าชอบบรรยากาศที่นี่มาก

เรื่องนี้จึงมีญาติโยมหลายคนบอกเหมือนกัน รวมทั้ง คณะบ้านฉาง จ.ระยอง มี โยมสุดใจ เป็นต้น บอกว่าจะต้องไปทุกปี มีความรู้สึกเหมือนกับคุ้นเคยมาก่อน แล้วก็จองบ้านพักของโยมแถวนั้นตลอดทั้ง ๓ ปี นี่ก็เป็นความประทับใจของแต่ละคน อาจจะยังมีอีกบ้างที่ไม่ได้เล่าสู่กันฟังนะ....

ศรีสัชนาลัย - น่าน



เป็นอันว่า การจัดงานทอดกฐินปีแรกก็ผ่านไปได้ด้วยดี ได้เงินทั้งหมด ๕ ล้านสามแสนบาทเศษ พอที่จะดำเนินการสร้างพระจุฬามณีได้อย่างเต็มที่ รุ่งเช้าของวันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ต้องลุกขึ้นกันมาแต่เช้าอีก เพราะมีกำหนดการเดินทางต่อไปสู่ จังหวัดน่าน หลังจาก คณะสัมมาปฏิบัติ จากพิษณุโลก เลี้ยงข้าวต้มในตอนเช้าแล้ว แถมยังมอบข้าวกล่องให้แก่รถทุกคันอีกด้วย....

เวลา ๐๗.๐๐ น. เมื่อรถทุกคันพร้อมแล้วที่จะออกเดินทาง จึงได้ร่ำลาคณะเจ้าภาพ ทั้งหลาย รวมทั้งผู้ที่ไม่สามารถจะไปต่อได้ มีบางคนบอกว่ารู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ตามไปด้วย เพราะจะต้องกลับไปทำงานก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รถกำลังวิ่งอยู่บนถนน มองเห็นชาวบ้านที่ยืนอยู่ข้างถนน ต่างก็มองดูขบวนรถกันด้วยความประหลาดใจ ครั้นผู้เขียนได้วิทยุถามเจ้าหน้าที่คุมรถคันสุดท้าย ปรากฏว่าขบวนรถยาวเหยียดประมาณ ๕ ก.ม. (ระยะที่วิ่งห่างกัน) ซึ่งนับจำนวนตามหมายเลขที่ติดไว้ข้างรถมีประมาณ ๑๐๐ คันเศษ

นับว่าเป็นภาระสำหรับผู้เขียนมาก ในขณะที่นำขบวนรถไปผ่านอุตรดิตถ์และแพร่ ในระหว่างทางก็ต้องแวะเข้าปั้มน้ำมัน เพื่อให้ญาติโยมได้พักเข้าห้องน้ำ ปรากฏว่าต้องเข้าแถวรอกันยาวเหยียดเหมือนกัน แต่ทุกคนก็ไม่บ่นไม่ย่อท้อ รอจนกระทั่งครบถ้วนทุกคน รถทุกคันซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถตู้ จึงออกเดินทางต่อไปสู่ วัดพระธาตุเขาน้อย อ.เมือง จ.น่าน

เมื่อขบวนรถเดินทางมาถึงวัด ซึ่งอยู่บนเขาไม่สูงนัก แต่ก็มีถนนสำหรับรถวิ่งขึ้นไปได้ ความจริงการจัดงานครั้งนี้มีความหนักใจพอสมควร ผู้เขียนจึงให้เจ้าหน้าที่มาเตรียมงานไว้ก่อน คือมาดูสถานที่และวางแผนกัน ฉะนั้น ในขณะที่รถขึ้นมาถึง จึงได้รับความสะดวกและปลอดภัย เพราะมีคนคอยประสานงานกันทั้งข้างล่างและข้างบน ด้วยวิธีการสื่อสารกันด้วยวิทยุ แล้วก็ใช้นกหวีดบ้างโทรโข่งบ้าง บางครั้งก็ใช้การโบกมือเป็นสัญญาณ

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่สถานที่จอดรถข้างบนเต็ม รถบางคันจึงไม่สามารถขึ้นไป ได้ ญาติโยมที่สุขภาพไม่แข็งแรงต้องเดินขึ้นไปด้วยความลำบาก อาตมาจึงขออภัยด้วยที่ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากจำนวนคนมีมากมายเหลือเกิน แต่ก็เต็มใจทำงานนี้อย่างสุดความสามารถ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยกันทุกคน...

« 1 l 2 l l 3 l 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l »



kittinaja
Super Administrator
*********
Posts: 192
Registered: 10/2/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved