ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites   Post new thread Poll:
[*] posted on 30/6/08 at 06:23 Reply With Quote

ภาพข่าว..การเดินทางไปภาคเหนือ วันที่ 6 – 11 มกราคม 2552 (ตอนที่ 2)




5. รอยพระพุทธหัตถ์ก๊อแก้วเมืองกื้ด
วัดเมืองกื้ด ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่




ครั้นได้ทำบุญสร้างพระธาตุองค์ใหม่แล้ว จึงได้ออกเดินทางต่อไปที่แม่มาลัย แล้วเลี้ยวเข้าไปทางเมืองกื๊ด ระยะทางไม่ไกลประมาณ 20 กิโลเมตร แต่สภาพถนนย่ำแย่เต็มที ใช้เวลานานเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงวัด มองเห็นวัดอยู่บนเนินมีต้นโพธิ์สูงใหญ่ เห็นชาวบ้านนั่งอยู่บริเวณทางขึ้นวัดอยู่หลายคน


เมื่อได้พบกับ พระถา เจ้าอาวาส และพระอีกรูปหนึ่งชื่อ พระจิรพงศ์ ต่างก็เล่าเรื่องความเป็นมาของวัดให้ฟัง ปรากฏว่าเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งมาแต่โบราณ ต่อมาพระจิรพงศ์ได้ส่งเอกสารมาให้อ่าน ดังนี้

ประวัติและความเป็นมา

เมืองกื้ดเป็นเมืองโบราณแต่เป็นเมืองเล็กๆ เข้าใจว่าสร้างโดยเจ้าเมืองในสมัยนั้นประมาณว่าสร้างรุ่นเดียวกับเมืองเชียงใหม่ เมืองพร้าว เมืองแหง คือประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ ปีล่วงเลยมาแล้ว มีข้อสันนิฐานเกี่ยวกับการตั้งเมือง ๒ ประเด็น คือ

๑. จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า ประวัติบ้านเมืองกื้ด เดิมสร้างโดยเจ้าเมือง ๓ เมือง (ไม่ทราบชื่อ) ได้ไปเที่ยวป่าบังเอิญมาเจอกันจึงได้ชวนกันสร้างเมืองขึ้นให้ชื่อว่า “เมืองงืด” ซึ่งน่าจะแปลว่าความบังเอิญและเรียกต่อๆกันว่า เมืองกื้ด

๒. เมืองกื้ดเป็นชื่อเดิมของหมู่บ้านตั้งตามลักษณะของลำน้ำแม่แตง ซึ่งคำว่า “กื้ด” เป็นคำโบราณเป็นคำเฉพาะใช้สำหรับน้ำที่ไหลผ่านหินหรือภูเขาเพื่อทะลุไปยังอีกฟากหนึ่ง เช่นที่ตำบลอินทขิลก็มีหมู่บ้าน ลักษณะนี้ เรียกว่า “บ้านปางกื้ด” และสถานที่มีลักษณะเช่นนี้ในประเทศพม่าก็เรียกว่า “กื้ด” เช่นกัน

“ เมืองกื้ด ” เป็นที่มาของคำว่า ตำบลกื้ดช้าง แต่เดิมเป็นที่อาศัยของชาวลั๊วะ ได้เคยเป็นเมืองเมืองหนึ่งในหลายเมืองของอาณาจักรล้านนามีอายุการสร้างหลายร้อยปี ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นเส้นทางติดต่อระหว่างล้านนากับประเทศพม่าที่มีการติดต่อค้าขาย ตลอดถึงการเดินทัพสมัยโบราณ ซึ่งเส้นทางนี้จะผ่านเมืองกื้ด เมืองคอง เมืองแหง และเข้าเขตพม่า

ในสมัยโบราณเมืองกื้ดก็มีเจ้าเมืองเป็นผู้ดูแล ต่อมาภายหลังถูกพม่าคุกคามบางครั้งก็เป็นของพม่า บางครั้งก็เป็นของเชียงใหม่ จวบจนรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ต้องการแผ่พระบรมราชานุภาพจึงยกทัพจากกรุงศรีอยุธยา ผ่านเชียงใหม่เพื่อจะไปตีเมืองอังวะ พระองค์ทรงใช้เส้นทางเดินทัพ ตามเส้นทางเดิมของชาวเชียงใหม่และพม่าที่เคยใช้ติดต่อกัน คือต้องผ่าน เมืองกื้ด เมืองคองและเมืองแหง พระองค์ได้ทรงพักทัพที่บริเวณเมืองกื้ด หรือที่เรียกว่า “ น้ำลั่นกื้ด ”


(พระวิหารที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ถวายให้พระพี่นางสุพรรณกัลยา
มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังพระวิหาร ด้านข้างเป็นอนุสาวรีย์พระนเรศวร)

ในคราวที่ทำการบูรณะวิหารหลังเก่า (พ.ศ.๒๕๓๒) มีจารึกว่าสร้างในปี พ.ศ. ๒๒๘๒ โดยได้จารึกไว้ในไม้กระดานเป็นอักษรขอม แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว เจ้าอาวาสองค์หนึ่งที่ปกครองวัดเมืองกื้ด ในยุคสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกกับพม่าเพื่อขับไล่พม่าออกไปจากแผ่นดินไทยนั้น เรียกว่า "ครูบาพรหมมหาปัญญา" (ครูบาหน้อย)

เล่ากันว่าครูบารูปนี้ได้ปรารภธรรมกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในคราวที่พระองค์เสด็จขึ้นไปเมืองแหง และได้ทรงเสี่ยงทายปลูกต้นโพธิ์กับครูบาพรหมมหาปัญญา โดยพระองค์ทรงปลูกไว้ที่หน้าวัดเมืองกื้ด

สังเกตได้จากพระประธานในอุโบสถจะมีลักษณะพิเศษต่างจากพระพุทธรูปในล้านนา คือจะมีนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ ยาวเสมอกัน ( ซึ่งเป็นศิลปะสมัยอยุธยา ) มีพระพักตร์ที่อ่อนช้อยงดงาม ท่านผู้รู้บางท่านกล่าวว่าพระองค์ทรงนำใบหน้าของ พระพี่นางสุพรรณกัลยา มาเป็นเค้าหน้าพระประธาน ( นอกจากนั้นตัวอาคารของอุโบสถเป็นศิลปะล้านนา ) จากนั้นทรงยกทัพเสด็จตามลำน้ำแม่แตงผ่านเมืองคอง เมืองแหง และเสด็จสวรรคต ในพ.ศ.๒๑๔๘

ในปัจจุบันที่วัดเมืองกื้ด ต้นโพธิ์ที่พระองค์ทรงปลูกยังยืนต้นเด่นเป็นสง่าที่หน้าวัด ซึ่งต้นโพธิ์ต้นนี้ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวว่าเป็นหน่อของพระศรีมหาโพธิ์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ที่ประเทศอินเดีย กล่าวคือจะมีใบขนาดเล็กกว้างประมาณ ๒-๓ นิ้วไม่เหมือนต้นโพธิ์ทั่วไปที่มีใบใหญ่ ขนาด ๕-๖ นิ้ว


.......(ในปัจจุบันต้นโพธิ์ยังคงอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารจากการศึกษาค้นคว้าของ นายชัยยง ไชยศรี ว่ากองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มาพักทัพคืนที่ ๓ ณ เมืองกื้ด แม่น้ำแม่แตง วันพฤหัสบดี ที่ ๑๔ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๕

........และพระองค์อาจจะได้ทรงสั่งให้บูรณะวัดเมืองกื้ดด้วยก็เป็นได้ หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงยกทัพเสด็จตามฝั่ง ลำน้ำแม่แตงขึ้นไปถึงเมืองคอง เมืองแหง และทรงสวรรคต ในปี พ.ศ.๒๑๔๘

........จากหลักฐานที่พบในพระวิหารหลังเก่าจารึกว่าสร้างปี พ.ศ.๒๒๘๒ คาดว่าน่าจะมีผู้มาบูรณะวัดและอาจจะจารึก ปี พ.ศ. ที่ทำการบูรณะก็เป็นได้ ซึ่งจากหลักฐานที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จสวรรคตนั้น ตรงกับ พ.ศ.๒๑๔๘ และที่พระองค์ทรงปลูกต้นโพธิ์ไว้ยังเห็นเป็นรูปร่างอยู่ ดังนั้นคาดว่าวัดเมืองกื้ดน่าจะสร้างก่อนปี
พ.ศ.๒๑๔๘)


ในพ.ศ.๒๔๑๗ พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๗ ได้มีคำสั่งให้คนเมืองกื้ด จำนวน ๕๐ คนไปดูแลรักษาด่านเมืองแหง (ขณะนั้นเมืองแหงเป็นเมืองร้างและเป็นช่องทางค้าขายกับพม่าคือช่องทางหลักแต่ง) เพื่อคุ้มครองผู้เดินทางค้าขาย และปราบปรามโจรผู้ร้าย

พ.ศ.๒๔๓๕ บ้านเมืองกื้ด หมู่ ๑ เป็นสถานที่ตั้งของแขวงอยู่ที่บ้านเมืองกื้ด เรียกว่า “ แขวงเมืองกื้ด ” ซึ่งมีขุนกื้ดคีรีวงค์ เป็นผู้ปกครองในสมัยนั้น บ้านเมืองกื้ดเท่าที่ทราบมีผู้ปกครองได้แก่

๑. เจ้าพ่อขุนธนูทอง (ต๊าวอ้าย) เป็นผู้ปกครองดูแลเมืองกื้ดสมัยขึ้นกับเมืองเชียงใหม่

๒. เจ้าขุนกื้ดคีรีวงค์ เป็นผู้ปกครองแขวงเมืองกื้ด พ.ศ. ๒๔๓๕ (แขวงตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนบ้านเมืองกื้ด เป็นแขวงได้ ๒ ปี จากนั้นย้ายไปบ้านวังแดง พ.ศ.๒๔๓๗)

๓. แสนคำเขื่อนขั้น จอมคีรีเมฆ (แสนไชย,แสนกั๋น) เป็นผู้ปกครองเมืองกื้ด (ปกครองทั้งเมืองกื้ด บ้านช้างดังปรากฏในค่าวว่า “เมืองกื้ดบ้านช้าง กิ๋นน้ำบ่อไหล ลูกน้องแสนไชย คอปอตกปล้อง” หมายความว่า เมืองกื้ดและบ้านช้างดื่มน้ำแม่แตงจนคอพอก เพราะสมัยก่อนไม่มีเกลือไอโอดิน)


(อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมีคนนำไก่ไปถวายบูชา
ส่วนด้านข้างอนุสาวรีย์จะมีป้ายคำจารึกประวัติการบูรณะ)

ปูชนียวัตถุสำคัญภายในวัด

๑. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน พระประธานในพระอุโบสถ
หน้าตักกว้าง ๔๖ นิ้ว สูง ๑๘๐ นิ้ว
๒. พระสิงห์ ๓ จำนวน ๒ องค์ องค์ที่ ๑ หน้าตักกว้าง ๒๓ นิ้ว สูง ๑๒๐ นิ้ว
องค์ที่ ๒ หน้าตักกว้าง ๒๓นิ้ว สูง ๑๐๑ นิ้ว
๓. พระปิ่น (เป็นหินอ่อน) ๑ องค์ สูง ๒๓ นิ้ว กว้าง ๘ นิ้ว
๔. พระเกษร ( ทำจากดอกไม้ ) สูง ๒๓ นิ้ว กว้าง ๑๐ นิ้ว
๕. สัตตภัณฑ์
๖. เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ( เครื่องบวชพระพุทธรูปของชาวล้านนา )
๗. หีบธรรม
๘. ปราสาทพระ

ปูชนียสถานภายในวัด

๑. อุโบสถ ทรงล้านนา ( แต่เดิมเป็นวิหาร ภายหลังบูรณะเป็นอุโบสถ )
๒. วิหาร
๓. พระธาตุก้าวหน้ามหามงคลคีรี ศรีเมืองกื้ด
๔. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
๕. รอยพระหัตถบาท
๖. พระบาทเกือกแก้ว

ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

๑. ครูบากัณฑารขะ ( ครูบาขาว ) เจ้าอาวาสองค์แรก
๒. ครูบาพรหมมหาปัญญา ( ครูบาหน้อย ) ประมาณ พ.ศ. ๒๑๑๐ - ๒๑๖๐
๓. ครูบาพรมเสน ประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๐-๒๔๑๐
๔. ครูบาหลวงอินต๊ะ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๐ - ๒๔๗๖
๕. พระอรุณ อรุโณ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๓ - ๒๕๐๐
๖. พระตั๋น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๐๓
๗. พระตั๋นพาน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๙
๘. พระชัย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ - ๒๕๑๓
๙. พระอธิการจันทร์แก้ว อินทวณฺโณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๑๙
๑๐. พระทัย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ - ๒๕๒๐
๑๑. พระจันทร์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๑
๑๒. พระสม สุภโร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ - ๒๕๒๔
๑๓. พระมา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๖
๑๔. พระสกล อภินนฺโท ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๒๗
๑๕. พระอธิการสุรพล ปทุมวณฺโณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๓๗
๑๖. พระคำ สีสํวโร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๓๙
๑๗. พระมินทร์ตา กตธมฺโม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๙ – ๒๕๕๐
๑๘. พระถา รตนวณฺโณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ – ปัจจุบัน


ประวัติการค้นพบรอยพระพุทธหัตถ์


เรื่องประวัติความเป็นมาก่อนที่จะค้นพบนั้น ความจริงให้เจ้าอาวาสบันทึกส่งมาให้ แต่เวลานี้ก็ยังไม่ได้รับ จึงต้องเล่าเท่าที่จำได้สั้นๆ ว่า เป็นรอยพระหัตถ์ที่พบขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551ท่านได้ฝันว่ามีคนมาบอกให้ไปค้นหา ต่อมาก็จึงได้พบก้อนหินนี้ เดิมทียังไม่มีรอยแต่อย่างใด เพิ่งจะปรากฏขึ้นให้เห็นเป็นอัศจรรย์


ก้อนหินนี้ก็มีอยู่เดิมข้างถนนทางขึ้นวัด วางอยู่นานแล้วโดยไม่มีใครสนใจ ซึ่งมีรอยปรากฏขึ้นเป็นธรรมชาติ ทางวัดได้ทางฝากระจกครอบเอาไว้ จึงได้เอาผ้าห่มสไบบูชาไว้รอบรั้ว ต่อจากนั้นจึงบวงสรวงด้วยเทปหลวงพ่อ เห็นไม้ว่าวางอยู่ จึงอธิษฐานวัดไม้วา ปรากฏว่าเป็นรอยพระพุทธหัตถ์จริง


นอกจากนี้ยังมีรอยเล็กๆ ปลายแหลม คล้ายรอยเกือกแก้วอีกแห่งหนึ่งด้วย จากนั้นก็เดินลงมาข้างล่าง เพราะท่านเล่าว่า วันที่พบรอยพระหัตถ์นั้น ได้มีน้ำพุ่งออกมาจากบ่อน้ำเล็กๆ อีก 2 บ่อด้วย ทั้งๆ ที่เดิมก็ยังไม่ปรากฏมีมาก่อนเช่นกัน น้ำไหลตลอดจนทุกวันนี้ จึงได้นำก้อนอิฐไปวางกั้นไว้ที่ขอบบ่อ


บ่อน้ำทิพย์สองบ่อนี้แปลกประหลาดมาก จะมีรสไม่เหมือนกัน บ่อหนึ่งมีรสฝาด อีกบ่อหนึ่งมีรสหวาน ค้นพบครั้งแรกมีกบตัวใหญ่ 2 ตัว หนักประมาณ 1 กิโลกรัมอยู่ด้วย จึงได้ถ่ายรูปเอาไว้ที่เห็นนี้ ต่อมาเด็กๆ จับเล่นบ่อยๆ เจ้าอาวาสจึงอธิษฐานว่า ถ้าเป็นเทวดาอารักษ์จริงก็ขอให้ไปเสียเถิด


พอวันรุ่งขึ้นก็หายไปแล้ว จึงได้ปั้นรูปพญากบเอาไว้เป็นอนุสรณ์ ภายหลังมีชาวบ้านมาน้ำไปอธิษฐานดื่มกินรักษาโรคได้หลายรายแล้ว ขณะนี้ทางวัดกำลังสร้างหลังคา ครอบทั้งรอยพระหัตถ์และบ่อน้ำทิพย์ จึงได้ร่วมทำบุญทุกอย่าง 20,000 บาท และรับเป็นเจ้าภาพที่จะถวายพระพุทธรูป หน้าตัก 30 นิ้ว มาถวายไว้ที่รอยพระหัตถ์นี้ พร้อมทั้งถวายหนังสือตามรอยพระพุทธบาทครบชุดอีกด้วย


หลังจากนั้นก็เดินเข้าไปหลังศาลา มองเห็นพระเจดีย์อยู่บนเนินเขาสูงขึ้นไป แล้วจึงได้ขอลาท่านออกเดินทางกลับ พร้อมทั้งจดหมายเลขบัญชีธนาคาร เพื่อจะได้โอนเงินไปทำบุญเพิ่มเติมอีก





ข่าวพบรอยพระหัตถ์พระพุทธเจ้า

จากหนังสือพิมพ์ www.thainews70.com/


........แตกตื่นพบรอยพระหัตถ์พระพุทธเจ้า รอยพระบาทเกือกแก้วพระอรหันต์ 7 ขวบผู้ติดตามพระพุทธเจ้า สมัยพุทธกาล ก่อนพบรอยพระบาท เจ้าอาวาสวัดฝันเห็นชีปะขาวมาอวยพร จึงให้สามเณรลงมือปัดกวาดสถานที่ หน้าวัดเพื่อจัดตั้งทำเวทีพุทธาภิเษก ตะลึงพบรอยพระบาทขนาดใหญ่ ยาว 29 นิ้ว กว้าง 23 นิ้ว ปรากฏบนก้อนหินขนาดใหญ่ ด้านล่างมีบ่อน้ำทิพย์ที่ล้างบาตร และบ่อน้ำดื่ม
.......เผยแหล่งที่พบ เป็นที่เส้นทางผ่านกองทัพ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ยกทัพไปรบกับพม่าเมื่อ 700 ปี ทีมงานสร้างภาพยนตร์หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้มาสำรวจเส้นทางการเดินทัพเพื่อจัดสร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3

ผู้สื่อข่าวรายงานมาเมื่อ เวลา 11.30 น.วันที่ 19 ม.ค.นี้ ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก พระอธิการถา รัตนวัณฺโณ เจ้าอาวาสวัดเมืองกึ๊ด หมู่ 1 ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตงเชียงใหม่ ว่า ได้พบรอยพระหัตถ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรากฏอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ และพบรอยพระบาทเกือกแก้ว พระอรหันต์ 7 ขวบ ผู้ติดตามพระพุทธเจ้า สมัยพุทธกาล และยังพบ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้เป็นยารักษาโรคที่วัด ขอให้ไปร่วมตรวจสอบด้วย

ดังนั้นต่อมาผู้สื่อข่าว ได้เดินทางเข้าพบ พระอธิการถา รตนวณฺโณ เจ้าอาวาสวัด และ พระปิยะพันธ์ สุนทรปญโญ รองเจ้าอาวาสวัด และ พระจิรพงศ์ ชยมมงคโล เลขาเจ้าอาวาส ได้พาผู้สื่อข่าวไปดูรอยพระหัตถ์ รอยพระบาท และบ่อน้ำทิพย์ ที่อยู่บริเวณหน้าวัดเมืองกื้ด ซึ่งทางวัดได้มีกั้นบริเวณไว้ และ มีด้ายสายสิญจน์โยงใยเป็นลักษณะการผ่านการสวดเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล

พระอธิการถา รัตนวณฺโณ เปิดเผยว่า การค้นพบรอยพระหัตถ์ รอยพระบาท และบ่อน้ำทิพย์ นั้น มีเรื่องราวความเป็นมาคือ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.51 ในตอนเย็น ได้มีพระภิกษุสามเณร ได้พากันกวาดบริเวณทางขึ้นวัดได้พบก้อนหินก้อนหนึ่งอยู่ริมทางเดินมีลักษณะคล้ายรอยเท้าเด็ก แต่ไม่มีนิ้ว จึงคิดว่า น่าจะใช่รอยพระบาท จึงได้เขียนวันที่พบก้อนหินนั้นไว้

จากนั้นได้นำดอกไม้ธูปเทียนมาสักการบูชา แล้วไปค้นคว้าสอบถามผู้รู้หลายคนบอกว่า เป็นรอยพระบาทของพระอรหันต์ 7 ขวบ ที่ติดตามพระพุทธเจ้าสมัยพุทธกาล และประทับรอยพระบาทเอาไว้เป็นที่ระลึก จึงได้ตั้งชื่อไว้ว่า "พระบาทเกือกแก้วร่มโพธิ์นเรศวร"

จากนั้นวันที่ 8 ธ.ค.51 ได้มีการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดงานสมโภช พระธาตุก้าวหน้ามหามงคลคีรี ศรีเมืองกื้ดขึ้น จากนั้นในที่ประชุมได้มีมติ จะเอาวงแห่พื้นเมืองมาตั้งบริเวณทางขึ้นหน้าวัด เจ้าอาวาสวัดจึงได้ให้พระภิกษุ สามเณร ทำความสะอาดบริเวณหน้าวัด ได้มีการถอนหญ้าที่รกขึ้นใกล้ก้อนหิน

ปรากฏว่าพบรอยพระหัตถ์ สร้างความปลื้มยินดีแก่พระเณร และศรัทธาบ้านเมืองกื้ดเป็นอย่างมาก จึงได้ตั้งชื่อว่า"พระหัตถบาทก๊อแก้วเมืองกื้ด" เพราะเจอระหว่างต้นก๊อกับต้นแก้วโดยพระหัตถ์ มีความกว้าง 23 นิ้ว ความยาว 29 นิ้ว แต่ละนิ้วกว้าง 3 นิ้ว เมื่อมีข่าวแพร่ออกไปก็มีคณะศรัทธาสาธุชนทั่วทุกสารทิศ พากันมากราบไหว้ เพื่อเยี่ยมชม สักการะไม่ขาดสาย

ซึ่งในคืน วันที่ 8 ธ.ค.51 เจ้าอาวาสวัดได้นิมิตฝันเห็นชีปะขาวมาอวยพร พร้อมกับบอกแหล่งบ่อน้ำทิพย์ ซึ่งมีกบตัวใหญ่หนักประมาณครึ่งกิโลกรัม เฝ้าอยู่ จึงได้ลงไปค้นหาก็เจอบ่อน้ำทิพย์ในวันที่ 10 ธ.ค.51 ทางเจ้าอาวาสวัด จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ พอรุ่งเช้ากบตัวนั้นได้หายไป

ทุกวันชาวบ้านจะมาอธิษฐานเพื่อขอน้ำจากบ่อน้ำทิพย์ไปดื่มบางคนก็หายจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นจำนวนมาก ในแต่ละวันจะมีศรัทธาสาธุชนทั่วสารทิศมาสักการะ รอยพระหัตถบาท รอยพระบาทเกือกแก้ว และเอาน้ำจากบ่อน้ำทิพย์ไปดื่มกินไม่ขาดสาย

เจ้าอาวาสวัดเมืองกื้ด เปิดเผยต่ออีกว่า ในครั้งแรกชาวบ้านบางคนไม่เชื่อว่าเป็นรอยพระหัตถ์และรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า แต่หลังจากมีข่าวแพร่ออกไปทางด้าน หลวงพ่อชัยวัฒน์ อชิโต จากวัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี ผู้ที่ทำการศึกษาคิดค้นเกี่ยวกับตำรารอยพระพุทธบาท รอยพระหัตถ์ พระพุทธเจ้า ได้เดินทางมานั่งสมาธิกรรมฐานภายใน เกิดอาการปวดหัวอย่างแรง จึงได้สวดพระพุทธมนต์ และนำน้ำจากบ่อน้ำทิพย์มาดื่ม

ปรากฏว่าหายเฉียบพลัน จึงเกิดความเชื่อว่า เป็นรอยพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าที่ได้เดินทางมาจารึกไว้ ซึ่งรอยพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าจะปรากฏน้อยกว่ารอยพระบาท โดยรอยพระหัตถ์ที่พบเป็นรอยพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าจริงๆ

นอกจากนั้นทางวัดได้ก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นมาหนึ่งองค์บนภูเขา เพื่อเป็นการกราบไหว้สักการะแก่หมู่คนและเทวดา และเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไป จึงตั้งชื่อว่า "พระธาตุก้าวหน้ามหามงคลคีรีศรีเมืองกื้ด " เป็นชื่อที่เป็นสิริมงคลใครมากราบไหว้และจะพบแต่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

ทางด้านพระปิยะพนธ์ สุนทรปญโญ รองเจ้าอาวาสวัดเมืองกื้ด เปิดเผยว่า สำหรับเมืองกื้ดเป็นเมืองโบราณ ประมาณว่าสร้างขึ้นสมัยเมืองเชียงใหม่ เมืองพร้าว เมืองแหง ประมาณ 700 ปีที่ผ่านมา มีการจารึกไว้ในไม้กระดานเป็นอักษรขอม แต่ปัจจุบันได้หายไป

ในยุคสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงทำศึกกับพม่าเพื่อขับไล่ออกไปจากแผ่นดินไทยนั้น ได้มีการปรารภธรรมกับครูบาพรหมมหาปัญญา (ครูบาหน้อย) ในคราวเสด็จไปเมืองแหง โดยพระองค์ทรงปลูกต้นโพธิ์กับครูบาพรหมมหาปัญญาไว้หน้าวัด ในปัจจุบันต้นโพธิ์ยังคงอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารจากการศึกษาค้นคว้าของนายชัยยง ไชยศรี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ศึกษาค้นคว้า

ทราบว่ากองทัพสมเด็จพระนเรศวร ได้มาพักทัพที่เมืองกื้ด และได้สั่งให้บูรณะวัดเมืองกื้ดด้วย หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2147 พระองค์ได้ยกทัพเสด็จไปเมืองแหงและทรงสวรรคต มีพระชนมายุ 50 พรรษา เมื่อเดือนธันวาคม 51 ที่ผ่านมาทางทีมงานภาพยนตร์เรื่อง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้จัดส่งทีมงานติดต่อมาทางวัดเพื่อถ่ายทำเส้นทางการเดินทัพและหนังประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวรภาค 3 โดยในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและหาโลเกชั่นเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์.

ขอแก้ข่าว

เรื่องการนำเสนอข่าวนี้ หลวงพี่ชัยวัฒน์ขอแก้ตรงคำที่ว่า

"...ได้เดินทางมานั่งสมาธิกรรมฐานภายใน เกิดอาการปวดหัวอย่างแรง จึงได้สวดพระพุทธมนต์ และนำน้ำจากบ่อน้ำทิพย์มาดื่ม ปรากฏว่าหายเฉียบพลัน จึงเกิดความเชื่อว่า เป็นรอยพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าที่ได้เดินทางมาจารึกไว้..."

ความจริงในวันที่ไปนั้นตรงกับวันที่ 6 มกราคม 2552 ได้ไปเห็นแล้ว ท่านก็เชื่อว่าเป็นรอยจริง เพราะได้สำรวจมาแล้วหลายแห่ง จากนั้นท่านได้ทำพิธีบวงสรวงและได้อธิษฐานวัดไม้ว่า ปรากฏว่าเป็นไปตามนั้นจริง ส่วนเรื่องอาการปวดหัว ไม่ได้ปวดหัวรุนแรงแต่อย่างใด ปวดนิดหน่อยเนื่องจากเดินทางมาไกล ถนนไม่ค่อยดีเท่านั้นเอง จึงขอชี้แจงไว้เพียงแค่นี้ครับ




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
Post new thread Poll:

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved