ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 1/7/08 at 18:45 Reply With Quote

การสร้างสมเด็จองค์ปฐม (ทรงเครื่องพระนิพพาน) ณ วัดสิริเขตคีรี (ตอนที่ 5)


« l 1 l 2 | | 3 | 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l »


ศรีสัชนาลัย - น่าน

วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

ท่านผู้อ่านได้สัมผัสกับบรรยากาศของ งานพิธีทอดกฐิน, งานพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ, และ งานพิธีฉลองสมโภชพุทธอุทยานพระร่วงผดุงธรรม ผ่านไปแล้ว ซึ่งเป็นงานพิธีที่สำคัญทั้ง ๓ งาน เลิกงานแล้วจึงได้ พักผ่อนหลับนอนกันตามอัธยาศัย

ในคืนนั้น มีหลายท่านที่จะต้องนอนตากยุง เพราะไม่ได้เตรียมมุ้งไป ส่วนใหญ่ก็นอนในศาลา ๗ วัน ได้อาศัยฟางข้าวรองพื้น จึงมีความอบอุ่นพอสมควร แต่พอรุ่งขึ้นมีคนบ่นว่าคันเหลือเกิน คงจะแพ้ฟางข้าวกระมัง แต่ไม่เป็นไร คุณแสงเดือน (ตุ๋ม) พร้อมพันธุ์ ก็ยังมีความพอใจที่จะกางเต้นท์นอนแถวนั้น ทั้ง ๆ ที่โรงแรมก็มี แต่ไม่ไปพักบอกว่าชอบบรรยากาศที่นี่มาก

เรื่องนี้จึงมีญาติโยมหลายคนบอกเหมือนกัน รวมทั้งคณะบ้านฉาง จ.ระยอง มี โยมสุดใจ เป็นต้น บอกว่าจะต้องไปทุกปี มีความรู้สึกเหมือนกับคุ้นเคยมาก่อน แล้วก็จองบ้านพักของโยมแถวนั้นตลอดทั้ง ๓ ปี นี่ก็เป็นความประทับใจของแต่ละคน อาจจะยังมีอีกบ้างที่ไม่ได้เล่าสู่กันฟังนะ

เป็นอันว่า การจัดงานทอดกฐินปีแรกก็ผ่านไปได้ด้วยดี ได้เงินทั้งหมด ๕ ล้านสามแสนบาทเศษ พอที่จะดำเนินการสร้างพระจุฬามณีได้อย่างเต็มที่ รุ่งเช้าของวันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ต้องลุกขึ้นกันมาแต่เช้าอีก เพราะมีกำหนดการเดินทางต่อไปสู่จังหวัดน่าน หลังจาก คณะสัมมาปฏิบัติ จากพิษณุโลก เลี้ยงข้าวต้มในตอนเช้าแล้ว แถมยังมอบข้าวกล่องให้แก่รถทุกคันอีกด้วย

เวลา ๐๗.๐๐ น. เมื่อรถทุกคันพร้อมแล้วที่จะออกเดินทาง จึงได้ร่ำลาคณะเจ้าภาพทั้งหลาย รวมทั้งผู้ที่ไม่สามารถจะไปต่อได้ มีบางคนบอกว่ารู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ตามไปด้วย เพราะจะต้องกลับไปทำงานก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รถกำลังวิ่งอยู่บนถนน มองเห็นชาวบ้านที่ยืนอยู่ข้างถนน ต่างก็มองดูขบวนรถกันด้วยความประหลาดใจ ครั้นผู้เขียนได้วิทยุถามเจ้าหน้าที่คุมรถคันสุดท้าย ปรากฏว่าขบวนรถยาวเหยียดประมาณ ๕ ก.ม. (ระยะที่วิ่งห่างกัน) ซึ่งนับจำนวนตามหมายเลขที่ติดไว้ข้างรถมีประมาณ ๑๐๐ คันเศษ

นับว่าเป็นภาระสำหรับผู้เขียนมาก ในขณะที่นำขบวนรถไปผ่านอุตรดิตถ์และแพร่ ในระหว่างทางก็ต้องแวะเข้าปั้มน้ำมัน เพื่อให้ญาติโยมได้พักเข้าห้องน้ำ ปรากฏว่าต้องเข้าแถวรอกันยาวเหยียดเหมือนกัน แต่ทุกคนก็ไม่บ่นไม่ย่อท้อรอจนกระทั่งครบถ้วนทุกคน รถทุกคันซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถตู้ จึงออกเดินทางต่อไปสู่ วัดพระธาตุเขาน้อย อ.เมือง จ.น่าน

เมื่อขบวนรถเดินทางมาถึงวัด ซึ่งอยู่บนเขาไม่สูงนัก แต่ก็มีถนนสำหรับรถวิ่งขึ้นไปได้ ความจริงการจัดงานครั้งนี้มีความหนักใจพอสมควร ผู้เขียนจึงให้เจ้าหน้าที่มาเตรียมงานไว้ก่อน คือมาดูสถานที่และวางแผนกัน ฉะนั้น ในขณะที่รถขึ้นมาถึง จึงได้รับความสะดวกและปลอดภัย เพราะมีคนคอยประสานงานกัน ทั้งข้างล่างและข้างบน ด้วยวิธีการสื่อสารกันด้วยวิทยุ แล้วก็ใช้นกหวีดบ้าง โทรโข่งบ้าง บางครั้งก็ใช้การโบกมือเป็นสัญญาณ

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่สถานที่จอดรถข้างบนเต็ม รถบางคันจึงไม่สามารถขึ้นไปได้ ญาติโยมที่สุขภาพไม่แข็งแรงต้องเดินขึ้นไปด้วยความลำบาก อาตมาจึงขออภัยด้วยที่ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากจำนวนคนมีมากมายเหลือเกิน แต่ก็เต็มใจทำงานนี้อย่างสุดความสามารถ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยกันทุกคน

ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะยากลำบากแค่ไหน ญาติโยมก็สามารถเดินขึ้นมาตามบันได จนได้ ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ไม่เพ่งโทษกัน ไม่ติเตียนว่าร้ายซึ่งกันและกัน ต่างก็พอใจในสภาพที่เป็นเช่นนี้ นั่นถือว่าท่านมีกำลังใจอยู่ในสภาพที่เต็มบริบูรณ์ ด้วยบุญบารมีที่ได้สร้างสมไว้เป็นอย่างดีแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเราทุกคนอุ่น ใจที่มีเสบียงอาหารกลางวันกันมาแล้ว ถึงแม้เจ้าอาวาสวัดพระธาตุเขาน้อย คือ พระอาจารย์สมชาย ได้จัดเตรียมไว้ให้พระภิกษุสามเณรก็ตาม ทุกคนจึงจัดการกับปากท้องของตนเองกันใกล้ ๆ กับองค์พระธาตุ ซึ่งมีความร่มรื่นพอสมควร

ในขณะที่พระภิกษุสงฆ์ประมาณ ๒๐ รูปเศษ กำลังนั่งฉันภัตตาหารเพลอยู่นั้น ญาติโยมที่ทานอาหารเสร็จแล้ว บ้างก็เดินชมบริเวณรอบ ๆ เพื่อชมทัศนียภาพลงไปเบื้องล่าง จะสามารถมองเห็นตัวเมืองน่านได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะพระพุทธรูปยืนสูงใหญ่ที่ทางวัด ได้จัดสร้างร่วมกับทางจังหวัด จะหันพระพักตร์ไปทางตัวเมือง คือทางทิศตะวันออก

เนื่องจากบนยอดเขาน้อยนี้ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐ ฟุต ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองน่าน มีพระเจดีย์เก่าแก่เป็นที่บรรจุ พระเกศาธาตุ ตามประวัติกล่าวไว้ว่า เป็นสถานที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดา เสด็จมาถึงเมืองน่านเป็นแห่งแรก แล้วประทับยืนตรัสพยากรณ์เหมือนกับที่ พระธาตุจอมกิตติ, พระธาตุดอยตุง, พระธาตุดอยสุเทพ โดยการหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมืองเหมือนกันทุกแห่ง

สำหรับสถานที่นี้ก็เช่นกัน พระพุทธองค์ทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งตัวเมืองน่านในปัจจุบันแล้วตรัสว่า
“ต่อไปสถานที่นี้ จะเป็นที่ตั้งของเมือง มีชื่อว่า “นันทบุรี” พระพุทธศาสนาจะมาเจริญรุ่งเรืองในอาณาเขตนี้ แล้วจะสามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ครบห้าพันปี..”

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้พาญาติโยมมากราบไหว้บูชาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ตนเองก็เคย เดินทางมาแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง (ม.ค. ๔๓) เพื่อหวังให้ทุกคนได้อานิสงส์ใหญ่เช่นกัน ฉะนั้น หลังจากนั้นจึงได้ทำพิธีบวงสรวง ด้วยบายศรีที่ คณะโยมหมู (ดอนเมือง) เป็นผู้จัดทำ โดยมี คณะคุณวิชัย จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคร่วมเป็นเจ้าภาพ

ในการทำพิธีเป็นเวลาเที่ยง ท่ามกลางอากาศที่แจ่มใส ขณะที่อยู่กลางลานพระธาตุ รู้สึกว่าอากาศร้อนพอสมควร มีญาติโยมที่จะต้องนั่งตากแดดกันหลายคน บางคนก็ต้องเอาร่มหรือหมวกมาบังแดดกัน แต่ก็ทนกันได้จน ผู้เขียนเล่าประวัติให้ฟังโดยย่อ แล้วก็บูชากันตามประเพณีเสร็จแล้ว จึงได้ร่วมกันทำบุญเพื่อบูรณะสถานที่นี้ เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท

สำหรับองค์พระธาตุแห่งนี้ ผู้เขียนมีเรื่องจะเล่าเสริมไปอีกนิดว่า หลังจากที่ได้พาญาติโยมไปคราวนั้นแล้ว ต่อมาองค์พระธาตุเริ่มเสื่อมโทรม คือสีเริ่มจางมีรอยคราบดำ ๆ ด่าง ๆ ไปทั้งองค์ เจ้าอาวาสคือ ท่านอาจารย์สมชาย ได้ติดต่อขอให้ผู้เขียนช่วยเป็นเจ้าภาพทาสีใหม่ให้ด้วย

ผู้เขียนจึงบอกเรื่องนี้ให้ คุณถวิล และ คุณยุพาผล สระน้อย พร้อมลูก ๆ ทราบ จึงรับเป็นเจ้าภาพค่าทาสีขาวที่องค์พระธาตุในครั้งนี้ เป็นเงิน ๑๑,๒๐๐ บาท ซึ่งผู้เขียนได้นำรูปถ่ายที่ก่อนจะทาสี และหลังจากทาสีเสร็จแล้วเมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

ผู้เขียนมีเรื่องที่จะเล่าเสริมต่อไปอีกว่า เรื่องชื่อขององค์พระธาตุนี้ จะถือว่าเป็นเรื่องแปลกหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจนะ แต่สำหรับผู้เขียนมักจะมีเหตุ ให้ต้องไปบูรณะองค์พระธาตุที่มีชื่อนี้เกือบทุกแห่ง คือมีชื่อคำว่า “น้อย”

๑. พระธาตุดอยน้อย ต.จำป่าหวาย อ.เมือง จ.พะเยา (บรรจุพระเกศาธาตุ)

๒. พระธาตุดอยน้อย ต.ดอยหล่อ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ (พระแม่เจ้าจามเทวี เป็นผู้บูรณะ)

๓. พระธาตุเขาน้อย ต.ดู่ใต้ อ.เมือง จ.น่าน (บรรจุพระเกศาธาตุ)

สถานที่สำคัญทั้ง ๓ แห่งนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมบูรณะมาแล้ว โดยเฉพาะที่ พระธาตุดอยน้อย จ.เชียงใหม่ ผู้เขียนก็เพิ่งจะได้ไปร่วมงานพิธียกฉัตรทองคำขึ้นบนยอดพระธาตุ เมื่อวันที่ ๑๒ พ.ค. ๒๕๔๖ (ก่อน วันวิสาขบูชา เพียงสองสามวัน) ในขณะที่ เจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จวัดปากน้ำฯ เป็นประธานยกฉัตรขึ้นไปนั้น มีหยาดฝนโปรยปรายลงมาทันที

ผู้เขียนรู้สึกปลื้มใจที่ได้ไปร่วมพิธี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้คิดจะไป คือย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นั้น ขณะที่ไปร่วมงานยกฉัตร ที่ วัดพระบาทผาผึ้ง อ.ลี้ จ.ลำพูน พร้อมกับ หลวงพี่โอ และพระวัดท่าซุงรวม ๙ องค์ ผู้เขียนและคณะได้แวะเข้าไปที่ พระธาตุดอยน้อย แล้วร่วมกันทำบุญบูรณะพระธาตุ ๓,๐๐๐ บาท

ในขณะที่ไปถึง เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยน้อยไม่อยู่ แต่พระที่วัดก็ได้อัญเชิญพระบรมธาตุส่วน พระเศียรเบื้องซ้าย ออกมาให้สรงน้ำ พร้อมกับนำยอดฉัตรทองคำ ซึ่งมีมูลค่านับล้านบาทออกมาให้ชมด้วย พระวัดท่าซุงที่ไปด้วย ต่างก็ดีใจกราบไหว้บูชา แล้วก็พากันเดินไปที่ลานพระธาตุ แหงนหน้ามองขึ้นไปบนยอดพระเจดีย์

ในเวลานั้นเอง ระฆังใบเล็ก ๆ (ขนาดเท่ากระดิ่งธรรมดา) ที่แขวนไว้ก็ดังกริ้ง ๆ ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ลมพัดก็ไม่แรงนัก แล้วก็ดังเฉพาะลูกนั้นลูกเดียว ลูกอื่นที่แขวนไว้อีกหลายอันไม่ดัง นี่ก็เป็นเรื่องแปลก ที่ผู้เขียนนำมาเล่า จึงได้ปรึกษากับพระที่ไปด้วยว่า สงสัยท่านคงจะสั่นกระดิ่งเรียกให้เราไปร่วมงานยกฉัตรด้วยกระมัง..?

เพราะฉะนั้น เดิมทีคิดว่าจะไม่ไปร่วมงานยกฉัตร ในเดือนพฤษภาคม แต่ก็ต้องมา เปลี่ยนใจทีหลัง ดังที่เล่าไปแล้วนั่นเอง โดยเฉพาะเสียงระฆังจะดังเฉพาะตอนที่อยู่ใกล้องค์พระธาตุเท่านั้น พอเดินเลยไปสักหน่อยระฆังก็หยุดสั่น จึงขอฝากเรื่องราวเหล่านี้ไว้แต่เพียงแค่นี้ จะขอวกกลับมาเล่าเรื่อง พระธาตุเขาน้อย ที่จังหวัดน่านกันต่อไปอีกว่า

หลังจากเสร็จพิธีแล้ว จึงได้ทยอยลงจากยอดเขา ออกเดินทางต่อไปสู่ อ.เชียงกลาง จ.น่าน ขบวนรถวิ่งตามกันยาวเหยียดสู่เส้นทาง ที่มีเป้าหมายเป็นจุดสุดท้ายของงานนี้ แต่ละคนคงมีโอกาสนั่งพักผ่อนไปในรถบ้าง เวลาขณะนั้น ก็เป็นเวลาบ่ายแล้ว สำหรับผู้เขียน และเจ้าหน้าที่คุมขบวนรถไม่มีโอกาสได้พัก เพราะว่าต้องนำขบวนรถตลอดเวลา บางครั้ง รถวิ่งตามไม่ทันบ้าง หรือ บ้างก็หลงออกไปนอกเส้นทางกันบ้าง เป็นต้น



รอยพระพุทธบาท

บ้านดอนสบเปือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน

ครั้นรถวิ่งไปถึง บ้านดอนสบเปือ หมู่ที่ ๗ ต.เปือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน จะเห็น ชาวบ้านยืนต้อนรับอยู่สองข้างทาง ตั้งแต่ทางเข้าหมู่บ้าน จนกระทั่ง ถึงศาลาครอบรอยพระพุทธบาท ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำน่านท้ายหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่แต่งกายอยู่ในชุดพื้นบ้าน หน้าตายิ้มแย้มด้วยความดีใจที่เห็นพวกเรามากันเยอะ เดิมทีที่ให้เจ้าหน้าที่ของเรามาติดต่อล่วงหน้า บอกว่าจะมีรถมาประมาณร้อยกว่าคัน ชาวบ้านบางคนไม่เชื่อบอกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้

แต่เมื่อได้เห็นแล้ว ทุกคนจึงตื่นเต้น ต่างเชื้อเชิญให้เข้าไปนั่งในเต้นท์ปะรำพิธีบ้าง บางคนก็พาไปเข้าห้องน้ำในบ้าน มีพวกเราที่ไปหลายคน รู้สึกประทับใจในอัธยาศัยไมตรีจิตเป็นอย่างยิ่ง ที่คนอยู่ห่างไกลความเจริญ แต่มีจิตใจที่เอื้ออารีต้อนรับผู้มาเยือน ด้วยน้ำใสใจจริงตามธรรมเนียมไทยเดิม ๆ ดีเหลือเกิน

เมื่อเสร็จภารกิจส่วนตัวกันแล้ว พวกเราก็เข้ามานั่งรวมกันในปะรำพิธี ทั้งนี้ ชาวบ้านอันมีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ได้จัดเตรียมสถานที่ไว้อย่างพร้อมเพรียง คือกางเต้นท์ผูกผ้า ประดับธงไว้อย่างสวยงาม โดยมี นายอำเภอ เชียงกลาง มาเป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระเลขาเจ้าคณะอำเภอเชียงกลางมาในนาม ตัวแทนเจ้าคณะอำเภอเชียงกลาง อีกด้วย

การเดินทางมาครั้งนี้ ชาวบ้านได้มีการเตรียมจัดสถานที่ไว้เป็นอย่างดี เดิมที่มาครั้งแรก บริเวณนี้มีหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด เวลานี้เขาได้เกรดจนเรียบสะอาด อีกทั้งได้ทำสะพานข้ามแม่น้ำ ไปยังฝั่งโน้นอีกด้วย ทำให้มองดูทิวทัศน์ได้โดยรอบข้าง บางคนบอกว่าสถานที่บริเวณนี้เข้าตำราฮวงจุ้ยดีจังเลย

คือมองเห็นแม่น้ำใสสะอาดไหลผ่าน โดยมีทิวเขาอยู่เบื้องหลังไกลออกไป มีคณะของพวกเราหลายคน มองเห็นน้ำใสไม่ลึกมาก จึงเดินข้ามสะพานไป แล้วนั่งลงเอามือวักน้ำขึ้นมาล้างหน้า สร้างความชุ่มชื่นเย็นฉ่ำ ให้คลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าได้พอสมควร ยิ่งเห็นชาวบ้านเตรียมอาหารมื้อเย็นไว้ด้วยแล้ว ถึงกับอมยิ้มกันหลายคน

แต่คงจะยิ้มนานกันไม่ได้ เพราะมีเวลาจำกัด ต้องรีบไปจัดสถานที่กันต่อไป โดยเฉพาะ คณะอู่วารี ต้องเตรียมบายศรีกันอย่างรีบด่วน ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ช่วยกันอัญเชิญพระพุทธรูปยืน “ปางประทานพร” พร้อมทั้งระฆัง, ราวเทียน, กระถางธูป และของที่ถวายจาก คณะลูกสัมพเกษี คือโต๊ะหมู่บูชา เป็นต้น ขณะที่เดินทางไปถึงเป็นเวลา ๑๔.๔๕ น.

สำหรับสถานที่แห่งนี้ ผู้เขียนได้เคยเล่าไปบ้างแล้วว่า เดิมทีได้เคยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ทราบว่ารอยพระพุทธบาทได้ถูกตัดมาจากในป่าลึก เมื่อนำมาไว้ในหมู่บ้านแล้วเกิดอาเพศ คือมีคนตายเกิดขึ้นในหมู่บ้าน รวมทั้งพระที่นำไปด้วย ต่อมาเห็นว่าทำในสิ่งที่ไม่สมควร จะนำไปไว้ที่วัดไหนก็ไม่มีใครรับ จึงนำมาทิ้งไว้ริมแม่น้ำตรงบริเวณนี้ (ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงถือโอกาสมาทำพิธีแก้อาเพศให้ชาวบ้านทั้งหลายในครั้งนี้ด้วย)

ครั้นผู้เขียนได้มาพบ จึงได้ตั้งบายศรีขอขมาโทษ แล้วแนะนำว่า ควรจะนำขึ้นมาไว้ข้างบน ภายหลังจึงได้มอบเงินให้สร้างศาลา จำนวนเงิน ๑๖,๐๐๐ บาท พร้อมกับนัดกับชาวบ้านว่า จะเดินทางมาฉลองในครั้งนี้ และจะนำพระพุทธรูปยืน มาถวายไว้ในศาลาหลังนี้ด้วย ชาวบ้านเขาไม่รู้จักผู้เขียนจึงได้เขียนชื่อ ไว้ว่า “พระครูชัยวัฒน์ อชิโต อุปถัมถ์”

ต่อมาผู้เขียนจึงได้บอกให้ชาวบ้าน ทำประวัติพร้อมกับภาพถ่ายไว้ด้วย เพื่อให้คนที่มาภายหลังได้ทราบเรื่องราว จึงขอเล่าเรื่องตามที่ชาวบ้านได้บันทึกไว้ดังนี้ว่า

“ตามประวัติชาวบ้านเรียกว่า รอยพระพุทธบาทศรีชุม เดิมอยู่ที่ริมฝั่งลำน้ำน่านในป่าลึก ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐ ก.ม. ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “วังพระบาท” เนื่องจากมีวังน้ำวนที่ลึกพอสมควร แต่ก่อนที่จะถึง ที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทจะมี เสาหิน ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำตะวันออก เป็นเสาหลักหิน คล้ายหลักกิโลเมตรที่ปักอยู่ริมถนน

ถ้าจะสังเกตดูคล้ายเหมือนมีใครนำ เชือกไปมัดและถูไปมา จนเกิดร่องรอย คล้ายเชือกบาดเข้าไปเป็นร่อง ชาวบ้านได้เล่าต่อกันมาว่า “เป็นเสาแหล่งม้า” (เสาที่ผูกเชือกม้าของ พระพุทธเจ้า) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๐ ซ.ม. หลังจากนั้น เดินขึ้นเลาะริมฝั่งน้ำขึ้นไปถึง “วังพระบาท” จะมองเห็นแผ่นหินเป็นลานกว้าง ประมาณ ๑๙ ตารางเมตร

ณ ที่ตรงนี้ มีรอยพระพุทธบาทกว้าง ๑๘ ซ.ม. ยาว ๓๗.๕ ซ.ม. เป็นพระพุทธบาทเบื้องซ้าย มีลักษณะเหมือนกับเหยียบโคลนที่หมาด ๆ คือมีรอยลื่นนิด ๆ นอกจากนี้ที่เหนือรอยเท้าก็ยังมีรอยเหมือนกับเอาไม้ปักลงไปในหิน มีลักษณะคล้ายกับโคลนปลิ้นออกมาด้วย ชาวบ้านเรียกว่า “รอยไม้เท้า” และห่างจากรอยพระพุทธบาทประมาณ ๒ เมตร บนลานหินนั้นก็ยังมีหลุมลึกเป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๐ ซ.ม. ลึก ๒๗ ซ.ม. คล้าย ๆ กับครก ชาวบ้านเรียกว่า “บาตรน้ำมนต์”

นอกจากนี้ก็ยังมีรอยคล้าย ๆ กับนั่งพาดขาอยู่ที่หน้าผาริมน้ำอีกด้วย แต่ถูกทำลายจนเสียธรรมชาติไปหมดแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ของคนบางคนและพระบางองค์ ที่อยากจะนำรอยมหัศจรรย์ท่ามกลางป่าลึกนี้ มาไว้ในหมู่บ้านของตน จึงได้ปรึกษาหารือเกณฑ์คนใน หมู่บ้านเดินทางไปทางเรือ เมื่อวันที่ ๑๕ มี.ค. ๒๕๒๙ เพื่อขุดเจาะเอารอยพระพุทธบาทนี้

แต่พอตกกลางคืน กลับมีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น นั่นคือมีฟ้าคำราม และมีเสียงกลิ้งของก้อนหินจากที่สูง ดังอึกกระทึกครึกโครม เหมือนจะลงมาทับเต้นท์ที่นอนพักอยู่ ทุกคนจึงไหว้พระสวดมนต์ จนเหตุการณ์เหล่านั้นสงบ แล้วก็ได้ทำการขุดเจาะอยู่ถึง ๗ วัน แล้วทำแพบรรทุกทั้งเสาหิน, รอยพระพุทธบาท และรอยบาตร นำล่องกลับมาตามลำน้ำน่าน แต่พอมาถึงชาวบ้านก็ช่วยกันจัดขบวนแห่ เป็นที่สนุกสนานและครึกครื้น

แต่วันนั้นก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นอีก คือปกติจะมีอากาศร้อน แต่วันนั้นกลับมีอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ฟ้าแลบฟ้าร้อง เป็นที่น่าสพึงกลัว เป็นอยู่ครึ่งวันก็หายไป ต่อมาก็ได้นำมาไว้ที่ วัดนาหนุน ประมาณ ๖ ปี เจ้าอาวาสที่นำไปตัดรอยพระพุทธบาทก็มรณภาพไป ชาวบ้านบางคนที่มีส่วนร่วมก็ตายไป ๒ - ๓ คน บางคนโดนฟ้าผ่าตายก็มี ส่วนที่ไม่ตายก็เป็นอัมพาตไปชั่วชีวิต

จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เกิดปรากฏการณ์แห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทางตำบลเปือจึงประชุมกัน เสนอให้เอารอยพระพุทธบาท มาไว้ที่ริมแม่น้ำน่านท้ายหมู่บ้าน ซึ่งเป็นท่าน้ำบ้านดอนสบเปือ ชาวบ้านมาอาบน้ำ ซักผ้า และเด็ก ๆ ก็ขึ้นไปกระโดดโลดเต้น เล่นน้ำบนก้อนหินพระบาทนี้ นับว่าเป็นที่น่าสังเวชใจเป็นอย่างยิ่ง

นับเป็นเวลา ๑๐ กว่าปีที่เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ด้วยความศรัทธาที่ขาดความเข้าใจ จึงทำให้ชาวบ้านเหล่านี้ ต้องพบกับเหตุการณ์ ที่คนโบราณเรียกกันว่า “อาเพศ” เกิดขึ้นกับหมู่บ้านของตนเอง ซึ่งผู้เขียนได้รับทราบเรื่องราวเหล่านี้อีกหลายแห่ง ดังที่เคยเล่าไปใน “ธัมมวิโมกข์” เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจที่จะทำให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ไม่ใช่พบของสำคัญแล้วบูชาสักการะที่ผิด ๆ อาจจะเกิดโทษแก่ตนเองก็ได้

ฉะนั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จึงให้ทั้งคุณและโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่ชาวบ้านเหล่านี้ได้ทำผิดพลาดมาแล้ว ต้องทำพิธีแก้อาถรรพณ์ ด้วยการบอกให้ชาวบ้าน เฉพาะคนที่เคยไปร่วมตัดรอยพระพุทธบาท ขอให้เอาดินเหนียวมาปั้นเป็นหุ่นแทนตัวเอง แล้วเขียนชื่อนามสกุลและวันเดือนปีเกิดไว้ด้วย โดยจะมาทำพิธีกรรมให้ในคราวนี้

เพราะฉะนั้น หลังจากคณะกรรมการและชาวบ้านทั้งหลาย โดยมีนายอำเภอเชียงกลางขึ้นมากล่าวต้อนรับ และเล่าประวัติสถานที่แห่งนี้แต่พอสังเขปแล้ว พวกเราจึงได้ร่วมกันทำบุญไว้ที่มณฑปครอบพระพุทธบาทแห่งนี้ เป็นเงิน ๑๒,๕๐๐ บาท ถวายพระสงฆ์ที่มาร่วมพิธีอีก ๖,๔๐๐ บาท บริจาคเป็นค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โรงเรียนบ้านดอนสบเปือ เป็นเงิน ๑๒,๕๗๐ บาท

จำนวนเงินเหล่านี้ เมื่อรวมกับค่าพระพุทธรูปยืน ๒๗,๐๐๐ บาท ค่าระฆังและกระถางธูป ๘,๘๒๐ บาท และค่าโต๊ะหมู่บูชา ของคณะลูกสัมพเกษีอีก ๕,๒๐๐ บาท จึงมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น ๗๒,๔๙๐ บาท จากนั้นก็ทำพิธีบวงสรวงโดย หลวงพี่โอ เป็นประธาน แล้วเปิดโอกาสให้ญาติโยม เข้าไปสรงน้ำ ปิดทองรอยพระพุทธบาท กันตามอัธยาศัย

เสร็จแล้ว จึงเริ่มพิธีแก้อาถรรพณ์กันต่อไป หลวงพี่โอ พร้อมด้วยพระสงฆ์รวมหลายสิบรูป จึงได้สวดบทมาติกาและบังสุกุลตาย โดยใช้ผ้าขาวคลุมหุ่นที่สมมุติแทนตัวของชาว บ้านที่เคยไปตัดรอยพระพุทธบาท แล้วนำหุ่นไปเผาไฟ และนำไปลอยในแม่น้ำทันที หลังจากนั้นจึงทำพิธีบังสุกุลเป็นและพระสงฆ์ให้พร เป็นอันเสร็จพิธีกรรมทั้งหมด

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้เคล็ดที่ชาวบ้านเหล่านี้ เคยไปขุดเจาะก้อนหินพระพุทธบาท ด้วยวิธีการเผาไฟตรงแนวที่เจาะไว้ แล้วราดด้วยน้ำ เพื่อให้ก้อนหินแยกออกจากกัน ต่อมาเมื่อเห็นว่าเกิดอาเพศ จึงได้นำมาทิ้งไว้ริมแม่น้ำน่าน จึงถือว่าทำความผิดซ้ำสองอีก เรื่องเหล่านี้ได้อธิบายให้ชาวบ้านและพวกเรา ซึ่งมีจำนวนนับพันคนให้เข้าใจ

การทำพิธีกรรมในครั้งนี้ จึงถือเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาโทษ ในสิ่งที่ล่วงเกินไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะได้ผลหรือไม่ประการใด ผู้เขียนก็ทำไปเพื่อสงเคราะห์ให้พวกเขามีความสบายใจ ส่วนพวกเราก็สบายใจเช่นกัน ที่ได้มีโอกาสร่วมพิธีสะเดาะพระเคราะห์ไปด้วย

ต่อไปก็เป็น พิธีการฉลองสมโภช ตามประเพณีพื้นบ้าน ที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมการละเล่นไว้ทางฝั่งโน้น พวกเราจึงเริ่มเดินทยอยออกจากเต้นท์ปะรำพิธี แล้วเดินข้ามสะพานไม้ที่ทำไว้ชั่วคราว มองเห็นน้ำใสไหลเรื่อย ๆ ที่ไม่ลึก ซึ่งมองเห็นพื้นกรวดทรายที่ใต้น้ำได้อย่างชัดเจน สายลมก็พัดมาเย็น ๆ ในยามที่ใกล้ค่ำ แล้วเสียงดนตรีที่เริ่มบรรเลง จึงต้องรีบย่ำเท้าก้าวเดิน สายตามองไปไกลถึงทิวเขาเบื้องหน้า เริ่มจะเห็นตะวันคล้อยลงไป

พวกเราต่างก็ไม่รอช้า จึงพากันไปตักอาหารที่เตรียมจัดเลี้ยงไว้ในเต้นท์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับมณฑปครอบพระบาท ตักข้าวใส่จาน แล้วพากันเดินมานั่งบนเก้าอี้ บ้างก็เดินเล่น ริมชายน้ำ บ้างก็ตั้งวงนั่งคุยกัน บ้างฟังเสียงดนตรีบรรเลง สลับกับการฟ้อนรำจากสาว ๆ ที่แต่งชุดไทยพื้นบ้านและหนุ่ม ๆ อีกรวม ๗ คน ออกมาฟ้อนร่มรำสาวไหมกัน

ชาวบ้านและชาวเราทั้งหลาย ต่างก็จับกลุ่มสนทนากัน ทุกคนมีความสุขที่ได้มารู้จักกันและร่วมบุญกุศลกันในครั้งนี้ งานทุกอย่างที่เตรียมไว้นานแล้ว กำลังจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี หลังจากที่รอคอยกันมานานหลายเดือน รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ จึงได้รับการสถาปนาให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อการเคารพบูชาต่อไป ถึงแม้จะเคยทำผิดพลาดมาแล้ว แต่ก็ได้ทำการขอขมาโทษเพื่อการอโหสิกรรม พร้อมทั้งสร้างมณฑปไว้เป็นอย่างดี

ส่วนผลจะเป็นประการใดนั้น ภายหลังผู้เขียนได้ทราบภายหลังว่า หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้ดำเนินการ ยกก้อนหินพระบาทขึ้นมา ต่อมาก็ได้เป็นกำนัน และหมู่บ้านดอนสบเปือที่เคยแห้งแล้ง แม้บางครั้งน้ำก็ท่วมมากจนเสียหาย คือน้ำน้อยและน้ำมากเกินไป เรียกว่าไม่พอดีนั่นเอง

อีกทั้งคนก็ตายไปหลายคน จนชาวบ้านเชื่อว่าคงจะมีเหตุมาจากนี้แน่นอน จึงได้นำก้อนหินสำคัญ ๓ ก้อนนี้ มาทิ้งไว้นานนับสิบปีแล้ว จนแทบว่าจะลืมกันไปแล้ว เมื่อผู้เขียนได้ผ่านมาทางนี้ จึงแนะนำให้เขาทำให้ถูกต้อง ก้อนหินก้อนเดียวกันที่เคยเป็นโทษ ก็กลับเป็นคุณขึ้นมาทันที

มีหลายคนไปบนก็ได้ผล จนกระทั่งต่อมาหมู่บ้านนี้ที่เคยแห้งแล้ง หรือว่าบางปีที่น้ำท่วมเสียหาย กลับได้รับผลบุญในครั้งนี้ คือได้รับการยกย่องจากทางราชการว่า “เป็นหมู่บ้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานดีเด่นประจำจังหวัด” ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้านได้ย้ำอีกว่า เป็นหมู่บ้านดีเด่นประจำจังหวัดด้วยนะครับ ไม่ใช่ดีเด่นแค่ตำบลหรืออำเภอเท่านั้น

ส่วนผู้ใหญ่บ้านคนนี้ หลังจากได้เลื่อนขึ้นเป็นกำนันแล้ว ก็ทำมาหากินคล่องตัว จนสามารถออกรถปิ๊คอัพและโทรศัพท์มือถือได้ ส่วนพี่ชายที่เคยนำรถแม็คโคมาช่วยยกก้อนหินพระบาท ทราบว่ามีงานรับเหมาเข้ามามากตลอดเวลา แล้วต่อมาใครจะได้ผลเพียงใดอีกก็ไม่อาจทราบได้

เวลานี้ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่ได้ไปที่นั่นอีกเลย แต่ก็ได้รับทราบข่าวจากคนที่ไป เล่าให้ฟังว่าปัจจุบันสถานที่นี้ จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านไปแล้ว มีพระบางวัดพอได้ทราบข่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ ต่างก็รีบเดินทางมา เพื่อจะขอรอยพระพุทธบาทไปไว้ที่วัดของตนบ้าง ปรากฏว่าชาวบ้านไม่มีใครยอมให้ ไม่เหมือนเมื่อก่อนนี้ยกไปให้ใคร หรือไปไว้ที่วัดไหนก็ไม่มีใครยอมรับ

แล้วทางหมู่บ้านก็ยึดถือกันเป็นประเพณีไปโดยปริยาย คือปีหนึ่งจะมีการสรงน้ำพระพุทธบาท วันที่ ๑๖ เมษายน ของทุกปี เพราะเขาถือว่าวันนี้เป็นวันที่ยกก้อนหินขึ้นมา ไว้ข้างบนนี้ (ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า ขณะที่ยกขึ้นมา มีละอองฝนโปรยลงมาเป็นฝอย ๆ) แล้วก็พอถึงกลางเดือน ๑๒ ก็จะมีงานประเพณี “ลอยกระทง” กันที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านแห่งนี้ โดยมีชาวบ้านอีกหลายตำบลมาร่วมงานกันมากมาย

นับว่าเป็นเรื่องแปลกจากประสบการณ์ ที่ผู้เขียนได้เล่ามานี้ อาจจะไม่ละเอียดหรือไม่ครบถ้วนต้องขออภัยด้วย แต่ก็เล่าไปตามที่จะนึกได้ คิดว่าคงจะมีข้อมูลมากพอแล้ว จึงต้องขอยุติไว้เพียงแค่นี้ เพราะในตอนนั้น เป็นเวลาใกล้ค่ำแล้ว พวกเราจึงเริ่มทยอยกันเดินทางกลับ

ส่วนผู้เขียนพร้อมคณะอีกประมาณ ๕๐ กว่าคน จำต้องหาที่ค้างคืนแถวนั้น โดยออกเดินทางเวลา ๑๙.๐๐ น. ไปพักค้างคืนที่ วัดหนองแดง ในตอนดึกคืนนั้น มีหลายคนออกมาแหงนดูพระจันทร์ทรงกลดกัน แต่บางคนคงจะนอนหมดแรงกันไปบ้างแล้ว



น่าน - พะเยา

ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นเป็น วันจันทร์ที่ ๑๓ พ.ย. ๒๕๔๓ พวกเราส่วนใหญ่ เดินทางกลับไปทำงานกันหมดแล้ว เหลือแต่ประเภทที่ไม่ได้ทำงานแต่มีเงิน ประมาณเกือบ ๕๐ คน ซึ่งตกลงพร้อมใจจะเดินทางกันต่อไปอีก ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าผู้เขียนจะพาไปที่ไหนบ้าง ภาระหนักจึงตกอยู่ที่รถบางคัน โดยเฉพาะ คุณปรีชา พึ่งแสง ที่อุตส่าห์ขับรถเก๋งตามไปด้วย

ฉะนั้นเหตุการณ์ต่อไป จะต้องไปผจญกับสภาพถนนที่วิบากกันอย่างไรบ้าง ก็ขอให้ติดตามกันต่อไป หลังจากที่ได้นอนพักผ่อนกันเต็มที่แล้ว ตอนเช้ามืดเวลา ๐๕.๕๐ น. พวกเราก็ต้องตื่นกันแต่เช้า เพื่อออกเดินทาง ไปจุดแรกของวันนี้ โดยแวะไปที่ วัดพรม เมืองสวรรค์ เพื่อกราบท่านเจ้าคณะตำบล

แต่ท่านยังไม่ออกมาจากกุฏิ จึงออกเดินทางต่อไปอีกสักเล็กน้อย ภายในหมู่บ้านนั้น เพื่อนำพวกเราบางคน ที่ยังไม่เคยไปกราบไหว้ พระพุทธบาทผ้าขาว ที่ได้สร้างเป็น พระพุทธบาทจำลอง ครอบของเดิมเอาไว้ ซึ่งผู้เขียนได้เคยเล่าผ่านไปแล้ว

เมื่อกราบไหว้บูชาเสร็จแล้ว จึงย้อนกลับมาที่วัดพรมเมืองสวรรค์อีก เพื่อกราบท่านเจ้าอาวาส และถวายเงินเพื่อบูรณะพระพุทธบาทผ้าขาว จำนวนเงิน ๕,๕๐๐ บาท จากนั้นจึงกลับมารับประทานอาหารเช้าที่ วัดหนองแดง แล้วล่ำลาชาวบ้าน ที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมกับถวายเงินแก่เจ้าอาวาสวัดหนองแดง เพื่อปฏิสังขรณ์วัดเป็นจำนวนเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท

เวลา ๐๘.๐๐ น. จึงออกเดินทางต่อไป โดยมีรถตามขบวนทั้งหมด ๗ คัน ซึ่งต้องขับรถผ่านป่าเขา ที่เป็นทางคดเคี้ยวตลอดระหว่าง อ.สองแคว กับรอยต่อ อ.เชียงคำ ในขณะที่กำลังข้ามเขาสูงอยู่นั้น ปรากฏว่ารถตู้คันหนึ่ง มีปัญหาคลัชสึกหมด ไม่สามารถจะเดินทางต่อไปได้ จึงต้องจอดรถอยู่บนยอดเขา ระหว่างนี้มีรถปิ๊คอัพของ คุณพลอย ช่วยลงมาซื้ออะไหล่ให้ในตลาดเชียงคำ

ระหว่างนี้พวกเราก็มาจอดคอยที่จุดชมวิว และรับประทานอาหารเที่ยงกัน ท่ามกลางป่าเขาที่เป็นธรรมชาติ พวกเราก็มีความสุขไปอีกอย่างหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสกับบรรยากาศที่ไม่เหมือนกับในเมืองหลวง ซึ่งน่าจะได้คำนิยามคำหนึ่งว่า “ความเจริญย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมก็ได้”

หมายถึงเจริญทางเทคโนโลยีเกินไป อาหารและอากาศ ที่เรากินและหายใจเข้าไปนั้น ย่อมเกิดโทษได้ ดังจะเห็นว่าปัจจุบันนี้คนเอเซีย เป็นโรคทางเดินอาหาร และโรคทางเดินหายใจกันมาก โดยเฉพาะโรคร้ายแรง ที่ติดอันดับหนึ่งของประเทศไทยมาโดยตลอด นั่นก็คือ “โรคมะเร็ง” ที่คร่าชีวิตคนไทยคนแล้วคนเล่า ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก “อาหารเป็นพิษ” และ “อากาศเป็นพิษ” นั่นเอง

แต่เราคงจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดให้มากกว่านี้ เพราะยังมีเหตุการณ์ที่ระทึกใจรออยู่ข้างหน้า ที่จะนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านทราบกันต่อไปอีกว่า เมื่อรถตู้คันหนึ่งเสียจอดอยู่บนยอดเขา พวกเราส่วนที่เหลือ จึงต้องลงมาที่หมู่บ้านชาวเขา เพื่อหารถใหญ่ ขึ้นไปลากลงมา บังเอิญเห็นบ้านหลังหนึ่ง ที่อยู่ริมถนน ภายในบ้านมีรถบรรทุก ๖ ล้อ จอดอยู่คันหนึ่ง

ทุกคนรู้สึกดีใจ คิดว่าพอจะมีความหวังอยู่บ้าง แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปขอความช่วยเหลือ เพราะเป็นคนแปลกหน้า ผู้เขียนจึงคิดว่า ถ้าพระเข้าไปพูดคงจะดีกว่า เพราะเขาคงจะไว้ใจ แต่ก็ต้องเจรจาหว่านล้อมกันนานพอสมควร เพราะเขาไม่รู้จักพวกเรา โชคดีว่ามีพระร่วมเดินทางไปด้วย เขาถึงเชื่อใจ และยังโชคดีอีก ที่มีช่างอยู่ในหมู่บ้านนี้พอดี ซึ่งตรงบริเวณนี้เขาเรียกว่า หมู่บ้านห้วยเฟือง ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา



อานุภาพพระเจดีย์สันติสุข

ในขณะนั้น ได้ข้อมูลจากช่างที่ไปติดต่อซ่อมรถว่า มีรอยพระพุทธบาทอยู่ใกล้บริเวณนี้ ผู้เขียนจึงออกเดินทางจากอู่ซ่อมรถในเวลา ประมาณ ๑๒.๓๐ น. เพื่อไปกราบรอยพระพุทธบาท แต่พอไปถึง ปรากฏว่าเป็นพระธาตุ คือเป็นพระเจดีย์ที่ อ.ศักดา สกุลพนารักษ์ มาสร้างไว้ ขณะที่ไปถึงแดดที่ร้อนเปรี้ยง อยู่ดี ๆ ก็ร่มรื่น เพราะมีก้อนเมฆมาบดบังพระอาทิตย์ไว้พอดี

ครั้นเข้าไปภายใน มีแม่ชีออกมาต้อนรับ พร้อมกับปรารภว่าตามปกติถ้าเป็นเวลาหลังเพลไปแล้ว ที่นี่แดดจะร้อนมาก ไม่สามารถจะมาเดินหรือนั่งลงกราบไหว้บนลานพระธาตุได้เลย แต่วันนี้แปลกที่แดดร่ม ครั้งแรกก็คิดว่าฝนจะตก เมื่อเห็นคณะที่เข้ามาก็ดีใจ

ขณะที่นั่งคุยกันถึงเรื่องประวัติความเป็นมา ในการสร้างพระธาตุ ก็รู้สึกว่ามีลมพัดโชยมาเบา ๆ พวกเราจึงได้กราบไหว้และร่วม อนุโมทนากับอาจารย์ศักดาและคณะ พร้อมทั้งเทวดาผู้อารักขาในเขตนี้ แล้วได้ถวายปัจจัยแก่ พระภิกษุสามเณร ๖๐๐ บาท และถวายไว้บูรณะสถานที่นี้อีก ๒,๐๐๐ บาท หลังจากนั้นแดดที่ร่ม อยู่สักพักก็เริ่มร้อนแบบเดิมอีก

คณะของเราต่างไม่รอช้า จึงได้ล่ำลาพระเณรและแม่ชี ออกเดินทางกลับมาที่อู่ซ่อมรถตามเดิมอีก แต่เห็นว่ายังซ่อมไม่เสร็จ จึงได้นำคณะเข้าไปที่อำเภอเชียงคำ เพราะยังมีบางคน ที่ยังไม่เคยไปนมัสการสถานที่สำคัญ คู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงคำ อยู่ที่ วัดพระนั่งดิน ซึ่งมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งอยูที่นี่

พระพุทธรูปองค์นี้แปลกมาก คือว่าไม่ได้ประทับอยู่บนแท่นเหมือนกับพระพุทธรูปทั่วไป ตามประวัติเล่าว่า เคยอัญเชิญขึ้นบนฐานชุกชีทีไร ฟ้าก็ผ่าลงมาทุกครั้ง ซึ่งผู้เขียนเคยเล่าไว้ใน “ธัมมวิโมกข์” นานแล้ว จึงไม่ขอเล่าย้อนอีก เนื่องจากมีเนื้อที่จำกัด และเวลาในตอนนั้นก็จำกัด เนื่องจากรถเสียกลางทาง ต้องเสียเวลาซ่อมอยู่นาน คณะผู้เขียนจึงขอล่วงหน้า ไปหาที่พักค้างคืนกันก่อน และก่อนจะเดินทางกลับจึงได้ทำบุญใส่ตู้ ๕๐๐ บาท

จากนั้นจึงได้ย้อนกลับมาตามข้อมูลที่ได้สอบถามครูที่ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการ เกษตร ประจำตำบล ม.๖ ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งในตอนนั้นได้แวะเข้าไปเยี่ยนเยียน ครูกับเด็กนักเรียนชาวไทยภูเขา พร้อมทั้งได้แจกขนมและลูกอมให้เด็ก ๆ ด้วย

ส่วน คุณปรีชา พึ่งแสง ก็ชักชวนเด็กสิบกว่าคน ร้องรำทำเพลงออกท่าออกทางกันอย่างสนุกสนาน นับว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่ง เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดความเป็นกันเองยิ่งขึ้น เพราะเด็กที่อยู่ตามชนบทส่วนใหญ่จะขี้อาย เรียกให้มารับขนมต้องตามแล้วตามอีก หลังจากแจกขนมเด็กแล้ว ผู้เขียนก็ได้สนทนากับ ครูตี๋ (ชุติพล) เพื่อสอบถามเส้นทาง ที่จะไปรอยพระพุทธบาทที่ ภูลังกา ซึ่งมีอยู่หลายรอยด้วยกัน แต่ได้ความว่าเข้าไปยาก ต้องใช้รถโฟล์วีลถึงจะเข้าไปได้ เพราะเป็นทางขึ้นเขาที่สูงชันมาก

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องสละสิทธิ์ ไม่อยากจะพิชิตความยากลำบากกันในตอนนี้ เพราะมากันหลายคน บางคนสุขภาพก็ไม่อำนวยให้ จึงได้สอบถามถึงสถานที่พัก เขาก็แนะนำให้ไปพักที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน บ้านน้ำคะ สานก๋วย อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาของแม่ฟ้าหลวง ดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปงคำ งบประมาณโดยกลุ่มอาสาเพื่อสนับสนุนโครงการหลวง มูลนิธิโครงการหลวง

เมื่อถามว่าต้องขับรถเข้าไปอีกกี่กิโล เขาตอบว่าไม่ไกลหรอก ประมาณ ๑๒ กิโลเมตรแค่นั้นเอง พวกเราได้ฟังต่างก็กระหยิ่มยิ้มย่อง คิดว่าลำบากมาทั้งวัน คงจะได้พักผ่อนกันให้สบาย นึกว่าจะหาที่ค้างคืนไม่ได้เสียแล้ว เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่ภูเขากับต้นไม้ จะหาบ้านคนสักหลังก็แสนยาก คืนนี้เราคงจะมีที่นอนสบายเป็นแน่ แค่ ๑๒ กิโลเมตรเท่านั้นเอง รถวิ่งประเดี๋ยวเดียวก็ถึง

แต่ทว่ากิโลเมตรของเขานี่ กลับไม่เป็นกิโลเมตรของเรา น่าจะเป็น “กิโลแม้ว” มากกว่า คือไม่ใช่กิโลเมตรชาวบ้านอย่างเรา มันเป็นกิโลเมตรชาวเขา ซึ่งต่างกันมากในความเข้าใจ ในตอนนี้ก็เช่นกัน ขณะที่เดินทางเข้ามาจากถนนใหญ่นั้น เป็นเส้นทางที่เข้าไปสู่ บ้านน้ำคะ สภาพถนนไม่ดีเลย รถที่เข้าไปต้องมีกำลังดีพอที่จะวิ่งขึ้นเขาลงเขาได้ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างขรุขระและมืด

ทั้งนี้ พื้นที่รอบข้างเป็นป่าเขาทั้งหมด ถึงแม้เส้นทางนี้จะได้รับการปรับพื้นดินแล้ว จากตอนที่มีการต้อนรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่เข้ามาสัมมนาผ่านมาไม่นานนัก คาดว่าถนนเดิมอาจจะมีสภาพแย่ยิ่งกว่าที่เราเห็น เมื่อรถขึ้นเขาสูงในระดับหนึ่งประมาณ ๙ กิโลเมตร เริ่มเป็นทางลาดลงมาและเป็นทางลงเขาตลอด ๒ - ๓ กิโลเมตร

ขณะนั้นมีความรู้สึกว่า เมื่อไรมันจะถึงเสียทีนะ เบื่อที่จะต้องนั่งอยู่ในรถนานเหลือเกินแล้ว มืดก็มืดมองไม่เห็นทางเลย รถบางคันตามมาไม่ทันเลี้ยวผิดไปก็มี โดยเฉพาะรถปิ๊กอัพของ โยมแสวง ศรีปัญญาธรรม ที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ จึงต้องอาศัยฝีมือจริง ๆ จึงจะขับตามกันไปได้ โดยไม่พลัดหลงเสียก่อน และรถคันอื่นก็มีฝีมือเช่นกัน สามารถขับลัดเลาะขึ้นไปตามขุนเขาในเวลาไล่เลี่ยกัน

เมื่อรถวิ่งเข้าไปใกล้ ๆ จุดที่มีแสงไฟแต่ไกล ท่ามกลางความมืดมิดในยามค่ำคืน รู้สึกค่อยคลายความกังวลไปได้ พบว่าศูนย์พัฒนาแห่งนี้ ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงขนาดกลาง และมีหุบเขาล้อมรอบ อากาศค่อนข้างจะหนาวเย็น ใครที่เคยไปเที่ยวตามป่าเขาลำเนาไพร คงจะคุ้นเคยกับสภาพบรรยากาศในตอนนี้นะ

ครั้นเข้าไปถึงก็พบ ครูตี๋ ที่มารออยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ให้การต้อนรับพวกเราเข้าไปถึงในเวลา ๑ ทุ่ม พบว่าบรรดาครูที่ประจำอยู่ที่นี่ ต่างก็เสียสละที่ให้พวกเราเข้าพักแทนแล้ว พวกเขาก็ออกไปกางเต็นท์กันที่สนามหญ้าด้านล่าง ถัดจากที่ก่อกองไฟกันไว้ในขณะนั้น

ขณะนี้ พวกเราก็ต้องคอยติดต่อทางวิทยุสื่อสาร เพื่อบอกทางให้รถของคุณพลอย และรถตู้ที่เสียระหว่างทางตามเข้ามาสมทบ หลังจากซ่อมเสร็จแล้ว เนื่องจากต้องเสียเวลาซ่อมรถอยู่ที่อำเภอสองแคว โดยพวกเราขอล่วงหน้ามาก่อน รออยู่ประมาณ ๒๐ นาที รถทั้งสองคันก็เข้ามาถึงทุกคนจึงโล่งใจกัน

นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ระทึกใจกันพอสมควร เพราะหากมีผู้ใดหรือรถคันไหน เกิดประสบเหตุอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง พวกเราทุกคนคงไม่มีความสุขแน่ แต่อีกใจหนึ่งก็นึกปลงว่าเป็นเรื่องกฎธรรมดา แต่อีกใจหนึ่ง ก็อดรู้สึกเป็นห่วงไม่ได้ ได้แต่เฝ้านึกอธิษฐาน ขอให้รถทุกคันและทุกคนปลอดภัย

สำหรับสถานที่พักแห่งนี้ หรือโปรแกรมต่อไปนี้ ทางผู้เขียนก็ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน แต่การที่รถเกิดมาเสียในระหว่างทาง กลับมีผลดีหลายประการ นั่นก็คือได้มารู้จักกับครูชาวเขา ตามที่เล่ามานี้ และก็จะมีการละเล่นหน้ากองไฟกันอย่างสนุกสนาน อย่างที่แต่ละคนที่เดินทางไปด้วยกันก็คาดไม่ถึง

และประการสำคัญ ตอนขากลับทำให้ ได้พบรอยพระพุทธบาทที่ อ.ปง จ.พะเยา เพิ่มอีกแห่งหนึ่งกันโดยบังเอิญ ซึ่งจะมีเหตุการณ์อย่างใด ผู้เขียนก็ขอเกริ่นไว้แต่เพียงแค่นี้ก่อน เพราะตอนนี้ พวกเราเข้าที่พักกันเรียบร้อยแล้ว อาบน้ำอาบท่าด้วยน้ำที่เย็นเฉียบ ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลลงมาจากยอดเขา ตามที่เรียกกันว่า “ประปาภูเขา” คือต่อด้วยท่อพีวีซีนั่นเอง
ส่วนอาหารมื้อค่ำในคืนนั้น ก็มาจากเสบียงอาหารที่เตรียมไป และจากการที่เห็น ครูที่ขี่มอเตอร์ไซด์นำทาง ขณะนั้นจะเห็นว่า แกเอากระบอกไม้ไผ่แบกสะพายขึ้นรถไปด้วย พอถึงเวลาทานอาหารจึงได้ทราบว่าเขาเอามาทำเป็น “ข้าวหลาม” แล้วเผาไฟกันที่กองไฟ ด้านหน้า เพื่อเลี้ยงต้อนรับพวกเรานั่นเอง.


kittinaja
Super Administrator
*********
Posts: 192
Registered: 10/2/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 30/10/09 at 16:01 Reply With Quote


แหม..บรรยากาศรอบกองไฟเช่นนี้ หากใครที่เคยเข้าไปตั้งแคมป์ในป่าหรือบนเขา แล้วมีการก่อกองไฟไว้หน้าที่พัก มีการร้องเพลง มีการละเล่นรอบกองไฟกันด้วย คงจะย้อนนึกถึงบรรยากาศในยามค่ำคืนนี้ได้ว่า มีความสนุกครื้นเครงกันอย่างไร

ความจริงเหตุการณ์แบบนี้ ที่จะต้องมาพบกับครูและนักเรียนชาวไทยภูเขา หรือที่จะต้องมาเล่นรอบกองไฟในค่ำคืนนี้ ผู้เขียนเองก็ไม่คิดว่าจะต้องมาประสบ ถ้าไม่มีเหตุมาจาก รถเสีย เหตุการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ คงจะไม่เกิดมีขึ้นอย่างแน่นอน แม้แต่ผู้ที่ติดตามมาด้วยเกือบ ๕๐ คนนี้ ต่างก็ไม่มีใครคาดคิดกันมาก่อนเช่นกัน

ฉะนั้น ผู้อ่านท่านใดที่เคยไปในครั้งกระนั้น หมายถึงผู้ที่ตามไปทอดกฐินแค่ที่วัด พระร่วงฯ หรือตามไปแค่พระพุทธบาทบ้านดอน สบเปือ อ.เชียงกลาง จ. น่าน เมื่ออ่านข้อเขียนนี้แล้ว ท่านจะรู้ว่าหลังจากที่แยกทางกันแล้ว ในวันนั้น เหตุการณ์ต่าง ๆ ยังไม่จบสิ้นเพียงแค่นั้น จึงอยากจะเล่าให้ท่านทราบว่า พวกที่ยังไม่กลับต้องไปเผชิญกับอะไรกันบ้าง

ครั้นถึงเวลาประมาณสองทุ่ม ทุกคนก็เดินลงมาจากเรือนที่พักแวดล้อมพร้อมกัน ที่หน้ากองไฟกลางสนามหญ้าหน้าอาคารที่พัก เพื่อร่วมกิจกรรมเทิดพระเกียรติแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งผู้เขียนได้ริเริ่มคิดทำ ในขณะอยู่ที่ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร จากการที่ได้เห็นเด็ก ๆ กำลังซ้อมรำกันอยู่นั่นเอง

โดยเฉพาะการเข้ามายังดินแดนถิ่นนี้ ถ้าเราจะมองย้อนกลับไปในสมัยเมื่อ ๒๐ ถึง ๓๐ ปี ก่อน ในตอนนั้น ดินแดนแห่งนี้นับว่าเป็นพื้นที่สีชมพู คือมีภัยอันตรายจากคอมมิวนิสต์มาก ด้วยเหตุนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เมื่อได้ตั้ง ศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร แล้ว

ผู้มีหน้าที่จึงรู้สึกตื่นเต้นดีใจ เพราะถือว่าจะได้ออกไปปฏิบัติงานกันเป็นครั้งแรก ของ “เจ้าหน้าที่กองทุนฯ” ซึ่งผู้เขียนได้บวชไปแล้ว ๑ พรรษา โดยมีภารกิจ เป็นผู้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้บริจาคให้หลวงพ่อ และจัดสิ่งของทุกอย่าง ที่ได้รับการบริจาคจากประชาชนทั่วไป หรือสิ่งของที่ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และของที่บริจาคมาจากคณะรัฐบาลสมัยนั้น

ฉะนั้น การออกเยี่ยมเยียน และมอบวัตถุสิ่งของ ให้แก่ประชาชนและทหารตำรวจ ในสมัยนั้น นับเป็น ครั้งที่ ๑ ณ สถานที่แห่งนี้ คือในเขตอำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย โดย มีกำหนดการตั้งแต่ วันที่ ๒๕ - ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านก็ได้นำคณะเจ้าหน้าที่กองทุนฯ เดินทางมาปฏิบัติภารกิจตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

ซึ่งในสมัยนั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเดินทางมากับท่านด้วย แล้วเข้าพักที่ค่ายทหาร ในอำเภอเชียงคำ วันรุ่งขึ้นก็ได้นำสิ่งของไปมอบให้ที่ บ้านแฮะ มีเด็กเป็นจำนวนมาก ยังไม่มีที่เรียนหนังสือ หลวงพ่อจึงมอบเงิน จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ท่านเสนาธิการ กองพล ๔ เพื่อไว้สร้างโรงเรียน แล้วจะให้อุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้านักเรียนชายหญิง คนละ ๒ ชุดต่อปี

ต่อมาเมื่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ ท่านก็ได้เดินทางไปตรวจการก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๑ แล้วให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนราชานุเคราะห์” ปรากฏมีทั้งเด็กชาวไทยชาวเขามาเรียนกันมาก ประมาณ ๒๐๐ คน ทำให้สถานที่ไม่เพียงพอ ท่านจึงมอบเงินเพื่อก่อสร้างให้ขยายออกไปอีก

ปัจจุบันนี้เมื่อรถวิ่งผ่าน บ้านแฮะ จึงได้ชี้มือไปที่โรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งมองดูแล้วเห็นว่า มีความเจริญมาก เป็นอาคารหลังใหญ่หลายหลัง แต่ปัจจุบันเขาได้เปลี่ยนชื่อไปเสียแล้ว ไม่ทราบว่า เวลานี้เขาจะรู้ประวัติความเป็นมาหรือไม่ ว่าใครเป็นผู้ก่อตั้ง เมื่อพวกเราหันหน้าไปมองตาม ผู้เขียนจึงบอกให้พวกเรารุ่นหลังฟังว่า

โรงเรียนแห่งนี้แหละ ที่หลวงพ่อของเราเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง โดยให้เจ้าหน้าที่ทหาร เป็นผู้ดำเนินการสร้าง เพราะสมัยนั้นบริเวณนี้ ยังเป็นพื้นที่อันตราย ฉะนั้น ในขณะที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเดินทาง จะต้องมีการระมัดระวังป้องกัน และพวกเราที่เป็นเจ้าหน้าที่ก็ต้องเสี่ยงภัยกันมาหลายครั้งแล้ว

แต่ถึงอย่างไรก็ปลอดภัย ทั้งส่วนบุคคลและชาติบ้านเมืองที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ได้สั่งสอน และนำคณะศิษย์ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อความสามัคคีและความอยู่ดีมีสุข ของคนในประเทศ เพื่อทำหน้าที่ช่วยกันจรรโลงสถาบันทั้ง ๓ คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้ผ่านพ้นอุปสรรคและอันตรายมาได้ โดยไม่ตกเป็นทาสของลัทธิตรงกันข้าม ที่เข้ามาแทรกซึมในสมัยนั้น

ถึงแม้ท่านจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม การที่ผู้เขียนได้นำผลงานของท่านมาเล่า แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของท่าน แต่คุณความดีที่ท่านได้ทำไว้แก่ผืนแผ่นดินไทยนี้ ก็เพื่อความยั่งยืนมั่นคงและความสงบสุขของคนไทยทั้งหลาย ที่พวกเราทุกคนที่เป็นศิษย์ ควรจะยึดมั่นอุดมการณ์ของท่านไว้ แล้วจะได้ถือเป็นแนวทางการปฏิบัติสืบต่อไป

ทุกคนที่นั่งอยู่รอบกองไฟในตอนนั้น ต่างก็หวนรำลึกนึกถึงภารกิจของท่าน ตลอดชีวิต..ตลอดเวลา..ตลอดลมหายใจเข้าออกของท่าน..ท่านไม่เคยหยุด..ไม่เคยลืมลูกลืมหลาน ไม่เคยลืมคนไทยที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ทั้งทหารตำรวจตามชายแดนที่มีทั้งภัยและกันดาร ท่านก็เฝ้าเป็นห่วงความปลอดภัย กลัวเขาจะได้รับอันตรายจากข้าศึกศัตรู กลัวเขาอดอยาก กลัวเขาจะลำบากกัน

ด้วยเหตุฉะนี้ แม้ตัวท่านเองจะเจ็บปวด จากทุกขเวทนาในร่างกาย จากการเดินทางที่จะต้องตระเวณไปทั่วทุกทิศ แต่โรคร้ายก็ตามเล่นงานท่านทุกวันเวลา ท่านก็ไม่ย่อท้อ เฝ้าแต่ฝืนทนทรมานสังขาร โดยไม่ห่วงใยต่อร่างกายและชีวิต ที่ได้อุทิศเพื่อความสุขของคนไทยทั้งหลาย ซึ่งหลั่งไหลออกมาจากใจ ที่กลั่นจนบริสุทธิ์แท้ของท่าน ผลจากความเสียสละของท่านนั้น คงจะตราตรึงไว้อยู่ในความทรงจำของทุกคนอย่างไม่ลืมเลือน

ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นในตอนค่ำ น้ำค้างเริ่มพร่างพรม แต่ใจของเราก็ยังดื่มด่ำ อยู่ในความดีที่ได้ระลึกถึงคุณของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ได้ยินเสียงของครูชุติพล ออกมากล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาแห่งนี้ ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ฝึกครูใหม่ ที่ต้องมาเรียนรู้วิธีการให้การศึกษาและวิถีชีวิต คือการอยู่ร่วมกับชาวบ้าน ก่อนที่จะถูกส่งออกไปพัฒนาตามท้องถิ่นต่าง ๆ

สถานที่นี้นับเป็นหนึ่งในเก้าแห่ง ที่อยู่ในความดูแลของครูชุติพล (ตี๋) ที่นี่มีครูประจำ อยู่ ๓ - ๔ คน และคืนนี้ยังมี ครูสุมาลี ซึ่งเป็นสาวชาวไทยภูเขา (เผ่าม้ง) ที่พบกันที่ศูนย์ถ่าย ทอดเทคโนโลยีการเกษตร และได้นำเด็กนักเรียนแต่งกายชุดประจำเผ่าอันสวยสดงดงาม มาแสดงให้พวกเราได้ชมกันเป็นพิเศษ ในค่ำคืนนี้อีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นครูสุมาลีกำลังฝึกหัดให้เด็กรำกันอยู่ จึงชักชวนให้มาแสดงการละเล่นแบบท้องถิ่นของชาวไทยภูเขา เพื่อให้พวกเราชมกันเป็นขวัญตาสักหน่อย เมื่อมาถึงแล้ว จึงมีการเปิดเพลง สยามานุสติ, เพลง สามัคคีชุมนุม ซึ่งเป็นการบังเอิญที่ผู้เขียน นำเทปเพลงเหล่านี้ติดย่ามไปด้วย สลับด้วย การรำเซิ้ง, รำวงมาตรฐาน และการแสดงพื้นเมืองของเด็กชาวไทยภูเขาเหล่านี้

นับว่าเป็นที่สนุกสนานครื้นเครงเป็นอย่างยิ่ง ที่เห็นพวกเราออกไปร่ายรำกับครู และเด็กนักเรียนทั้งหลาย สร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้เกิดขึ้น ทุกคนยิ้มแย้มหัวเราะกันอย่างมีความสุขจนถึงเวลา ๒๒.๐๐ น. อันเป็นเวลาที่จะต้องพักผ่อนกัน จึงได้มอบเงิน รางวัลให้แก่ครู ๒ คน และเด็กนักเรียนอีก ๑๒ คน ที่อุตส่าห์แต่งชุดประจำเผ่ามาให้ชมกัน เป็นจำนวนเงิน ๒,๒๐๐ บาท

หลังจากนั้นก็ล่ำลากัน ด้วยเพลงสดุดีมหาราชา และเพลงสรรเสริญพระบารมี ถือว่าเป็นการถวายพระพรกันก่อนวันที่ ๕ ธันวามหาราช เพราะเห็นว่ามีโอกาสเหมาะ ที่จะได้มีกิจกรรมรอบกองไฟแก้เหงากัน คืนนั้นจึงเป็นบรรยากาศที่เป็นมิตรกัน พวกเราทุกคนที่ไป ก็ไม่เคยนึกฝันว่าจะต้องไปรำวงรอบกองไฟกันในป่าเขา เหมือนกับฝันไปจริง ๆ นะ

แต่ในตอนดึกคืนนั้น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้หลับ หลังจากที่แยกย้ายกันกลับไปแล้ว ทุกคนคงจะต้องดึงผ้าห่มขึ้นมาห่มกันหนาว น่าเห็นใจครูที่อยู่ที่นี่ คืออุตส่าห์สละที่นอนในอาคารให้พวกเราพัก ส่วนพวกเขาออกไปนอนกางเต้นท์กันนอกสนาม ขณะที่นอนยังไม่ทันหลับ กลับได้ยินเสียงหัวเราะต่อกระซิกดังแว่วมาแต่ไกล เหมือนกับจะปลุกให้คนที่เป็นผู้ชาย ต้องลุกออกไปตามหาเสียงนั้น

ผู้เขียนนอนนึกเป็นห่วงพวกเรา โดยเฉพาะ คุณปรีชา ไม่รู้ละเมอลุกออกไปตาม เสียงหัวเราะคิกคัก ๆ ที่ดังแว่วมาแต่ไกลจากหมู่บ้านชาวเขาแถวนั้น ซึ่งอยู่ห่างไปจากที่นี้ไม่มาก เป็นเสียงผู้หญิงหลายคน ที่คุยกันไปหัวเราะกันไป เหมือนจะยั่วอารมณ์ชายหนุ่มทั้งหลายให้ออกไปร่วมอภิรมณ์ ไม่ทราบว่าคืนนั้นมีใครย่องไปที่ “ลานสาวกอด” กันบ้างหรือไม่ เพราะผู้เขียนดันหลับไปเสียก่อนนี่

พอตื่นขึ้นมาตอนเช้าเป็น วันอังคารที่ ๑๔ ต.ค. ๒๕๔๓ แต่ละคนก็มาคุยถึงเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าหัวใจของหนุ่มคนไหนสะเทือนไปบ้าง จากเสียงของสาว ๆ ชาวเขา เพราะยามดึกดื่น ของค่ำคืนนั้น หลังจากที่พวกเราเลิกจากการละเล่นกันแล้ว เสียงของพวกนี้ก็ดังขึ้นมาแว่ว ๆ ท่ามกลางความมืดและความเงียบสงัด เหมือนจะตั้งใจปลุกความคิดทั้งหลายให้ตื่นขึ้น แต่ปรากฏว่าพวกเราทุกคนยังอยู่กันครบ ไม่มีใครขาดหายไปกับเสียงเหล่านั้น

เป็นอันว่า เช้ามืดของวันนั้น บนยอดเขาที่แสนสุข แม้จะเป็นเพียงคืนหนึ่ง แต่ก็ฝังใจไม่รู้ลืม ท่ามกลางหุบเขาในยามเช้าตรู่ ซึ่งครูที่นี่บอกว่าจะต้องมีหมอกหนาจัดมาก จนไม่สามารถจะมองอะไรได้ แต่พวกเราที่มากันในครั้งนี้ ถือว่าโชคดีที่วันนี้แปลกมาก ที่ไม่มีหมอกลงมาต่ำเลย จึงสามารถมองเห็น ยอดเขา ภูลังกา ที่อยู่เบื้องหน้าไม่ไกลนัก ได้แต่นึกเสียดายที่ไม่มีโอกาส ขึ้นไปพิชิตยอดดอยที่มีรอยพระพุทธบาท

เมื่อทุกคนเก็บข้าวของขึ้นรถเสร็จแล้ว พร้อมกับชมทิวทัศน์โดยรอบ เนื่องจากเมื่อคืนเข้ามามืด ๆ มองไม่เห็นอะไรเลย เพิ่งจะได้มองเห็นชัดเจนในตอนเช้านี้เอง ต่อจากนั้นจึงได้บอกลาครูทุกคน ที่ให้การต้อนรับ แล้วออกเดินทางจากที่พักในเวลา ๐๖.๐๐ น.

ในขณะที่เดินทางกลับลงมาจากยอดเขา นับว่ามีความปลอดภัยพอสมควร เหมือนกับบารมีจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่บันดาลให้ เพราะถ้ามีหมอกลงจัด การขึ้นเขาลงเขาเช่นนี้ อาจจะมีอันตรายเกิดขึ้นได้ พวกเราจึงได้แต่ยกมือขึ้นเหนือศีรษะ นึกกราบขอบพระคุณความดีของท่านทุก ๆ พระองค์

แล้วก็เดินทางมาแวะทานอาหารเช้าที่ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกตร ตามเดิม โดยใช้เวลาเดินทางออกมาจากที่พักประมาณ ๓๐ นาที ไม่เหมือนกับตอนที่เข้าไป มันยากลำบากจริง ๆ หลงกันไปหลงกันมาจนพลบค่ำ ตอนนี้ทุกคนรู้สึกโล่งใจ ต่างก็ยิ้มแย้มแจ่มใสกันเหมือนเช่นเคย เพราะต่างก็ได้ผ่านประสบการณ์จริงในชีวิตกันบ้างแล้ว

เพราะเหตุว่าท้องถิ่นบริเวณนี้ หากเป็นสมัยก่อน พวกเราคงไม่มีโอกาส ได้กลับมามีชีวิตอยู่อย่างแน่นอน แต่ปัจจุบันนี้ คงจะมีเหตุมาจากที่ทางราชการ ตัดถนนเข้าไปลึกถึงในป่า เอาความเจริญเข้าไปพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คงจะไม่ลืมว่า ความเจริญในท้องถิ่นนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อของเราก็มีส่วนริเริ่มมาก่อน ดังที่ผู้เขียนได้พรรณนามาแล้วนี้

ขบวนรถได้วิ่งลิ่วไปตามถนนสายสองแคว - ปง มุ่งหน้าสู่ อ.ปง จ.พะเยา โดยทิ้งความทรงจำไว้เบื้องหลัง ต่างสนทนากันไปในรถด้วยความดีใจ เพราะจะได้กลับกันเสียที หลังจากต้องเสียเวลาไป ๑ วัน แต่ก็คุ้มค่ากับการเดินทาง โดยเฉพาะแถวนี้ก็ไม่เคยคิด ว่าต้องกลับมาอีก จึงนั่งทบทวนความทรงจำ ที่ได้มากับท่านเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ อีก

ครั้งนั้นหลวงพ่อได้นำคณะเดินทาง มาพักที่ค่ายทหารเชียงคำ ในตอนเย็นท่านก็ออกมาเดินเล่นกลางสนามหญ้าภายในบริเวณนั้น โดยมีพระติดตามไปด้วย ๓ องค์ คือ พระอรัญ พระประดิษฐ์ และผู้เขียน ขณะที่ท่านเดินออกกำลังกายไปนั้น พระอรัญก็ได้ถามถึงเรื่องการปฏิบัติธุดงค์บ้าง และเรื่องการงานต่าง ๆ บ้าง

แล้วก็เดินคุยกันไปเรื่อย ๆ ระหว่างหลวงพ่อกับพระทั้งสามองค์ ท่ามกลางบรรยากาศในยามเย็น ลมพัดโชยเย็นสบาย ทำให้ร่างกายหลวงพ่อแข็งแรงขึ้น หลังจากต้องนั่งรถออกมาจากวัดตลอดทั้งวัน หลวงพ่อจึงเล่า เรื่องการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ของท่านว่า การทำงานของท่านนั้น ส่วนใหญ่พระท่านมาคุม แล้วท่านก็หันมาบอกว่า...

“..อีกหน่อยพวกแกก็เป็นเหมือนข้า..!”

พระทั้งสามองค์ต่างพนมมือรับคำของท่าน แล้วก็เดินตามหลวงพ่อกลับไปยังที่พัก จากนั้นก็แยกย้ายกันไปตามวิถีทางของชีวิต จนถึงปัจจุบันนี้ ที่เหลือแต่ความทรงจำ ที่ได้นำมาถ่ายทอดไว้ในหน้ากระดาษนี้ จนกระทั่งรถวิ่งผ่านตลาดอำเภอปงเข้ามาถึง วัดพระธาตุดอยหยวก (พระธาตุภูเติม) จึงได้ลงไปกราบไหว้บูชากัน เนื่องจากสถานที่นี้ ถือว่าเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวปงมานานแล้ว

ครั้นผู้เขียนได้เล่าประวัติความเป็นมาโดยย่อ เพื่อบอกให้รู้ว่า เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทาน พระเกศาธาตุ และภายหลังได้บรรจุพระบรมธาตุ ริมขอบตาข้างขวา เมื่อได้ทำบุญบูรณะ ๕๐๐ บาท แล้วจึงออกเดินทางต่อไปทาง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา

พบรอยพระพุทธบาทโดยบังเอิญ

ในระหว่างทางผู้เขียนให้ คุณธนพนธ์ (เล็ก) ช่วยนวดขณะนั้น บังเอิญสายตาของเล็ก เหลือบไปเห็นป้ายข้างทาง บอกว่ามีรอยพระพุทธบาท จึงบอกให้รถ คุณพลอย เลี้ยวไปสำรวจก่อน แล้วกลับมาบอกว่ามีจริง ๆ รถทั้งหมดจึงเลี้ยวกลับไปทันที ต้องพยายามมองดูป้ายจริง ๆ จึงจะเห็นว่ามีป้ายตรงทางเข้าบอกว่า “พุทธสถานรอยพระพุทธบาท”

ความจริงป้ายอยู่ทางด้านนี้ ไม่ใช่จะมองเห็นได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะรถของพวกเรา ต่างก็วิ่งกันมาด้วยความเร็ว บังเอิญในขณะที่เล็กกำลังนวดอยู่นั้น ดันหันหน้าไปทางป้าย เรียกว่า “เข้าตากรรมการ” พอดี ผู้เขียนเองก็ดีใจที่ได้พบ เพราะไม่มีในบัญชีการสำรวจมาก่อน การที่มีเหตุให้รถเสียในระหว่างทาง จึงทำให้พวกเราเดินทางช้าไป ๑ วัน แล้วก็จังหวะเดินทางในตอนกลางวันพอดี

ถ้าหากตามกำหนดการเดิม ในช่วงนี้เราอาจจะเดินทางในตอนกลางคืน ซึ่งอาจจะมองไม่เห็นป้ายพระบาทก็ได้ นับว่าเป็นบุญของพวกเราทุกคน ที่ได้มีโอกาสเช่นนี้ แต่เพื่อความแน่ใจ ก่อนจะขับรถเข้าไป จึงให้พวกเรา สอบถามข้อมูลจากชาวบ้านเสียก่อน

เมื่อได้รับการยืนยันแล้ว จึงขับรถตามกันเข้าไปทันที ในเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. นับเป็นเรื่องแปลก ที่เมื่อเลี้ยวรถเข้าไปนั้น แดดที่ร้อนจัดอยู่ดี ๆ ก็กลับร่มคลึ้มทันที ในระหว่างที่กำลังจะเข้าไปตามถนนลูกรัง พวกเราทุกคนต่างก็กำลังลุ้นอยู่ในรถ ด้วยความตื่นเต้นว่า รอยพระพุทธบาทใหม่ ไม่ทราบว่าจะมีลักษณะเป็นอย่างใด จะมีการตบแต่งแล้วหรือไม่ หรือจะยังเป็นธรรมชาติเดิม ๆ อยู่

เมื่อเข้าไปถึงทางคณะของ คุณพลอย มี สุทัศน์ และ ต้น ลูกชายของคุณพลอย บอกว่ามีรอยพระพุทธบาทถึงสองรอย และมีพระแท่นที่ประทับอีกด้วย พวกเราได้ฟังถึงกับดีใจ ต่างก็รีบลงจากรถเดินจ้ำอ้าวตามกันไป โดยเดินลัดเลาไปบนก้อนหิน เพราะบริเวณนี้เป็นป่าเขา และมีลำธารไหลอยู่ตามธรรมชาติ มองไปมองมาจะหาบ้านคนสักหลังก็ไม่มี

เมื่อเดินข้ามลำธารเล็ก ๆ ขึ้นไปทางเนินเขาเตี้ย ๆ ระหว่างทางจะเห็นไม้ไผ่ ที่ชาวบ้านปักบอกเส้นทางไว้เป็นระยะ ๆ จนกระทั่ง เดินมาพบรอยพระพุทธบาทก่อน ซึ่งมีเชือกกั้นไว้รอบบริเวณนั้น คิดว่าชาวบ้านคงจะถือว่าตรงจุดนี้ที่สำคัญ แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่า พระแท่นที่ประทับนั่งสำคัญกว่า จึงได้ทำพิธีบวงสรวงที่นั่นกันทันที เพราะห่างกันเพียงแค่ ๒๐ เมตรเท่านั้น

หลังจากนั้นก็ได้โปรยดอกไม้ สรงน้ำ และปิดทอง แล้วเดินไปที่รอยพระพุทธบาทรอยบน อันเป็นพระพุทธบาทเบื้องซ้ายแบบธรรมดา กว้าง ๘๐ ซ.ม. ยาว ๑๕๐ ซ.ม. ลึก ๔๐ ซ.ม. ส่วนรอยล่างเป็นพระพุทธบาทเกือกแก้วเบื้องขวา กว้าง ๘๒ ซ.ม. ยาว ๑๖๗ ซ.ม. ลึก ๙๐ ซ.ม. นับว่าเป็นรอยที่ปรากฏจมไปในก้อนหินใหญ่มาก

พวกเราปลื้มใจ ที่ได้มีโอกาสมาพบเห็นโดยบังเอิญ ต่างพากันพูดว่า ไม่เสียดายเวลาเลยที่จะต้องเสียไป ๑ วัน กลับคิดว่าเพราะรถเสีย จึงเป็นเหตุให้ได้พบกับรอยพระพุทธบาท ถือว่าเป็นการชดเชยกันไปที่คุ้มค่าที่สุด ทุกคนจึงเข้าไปกราบไหว้อธิษฐานกันตามอัธยาศัย คิดว่าคงจะตั้งความปรารถนา ตามที่หลวงพ่อท่านสอนไว้อย่างแน่นอน

แล้วจึงเดินบุกป่าฝ่าดงกลับออกมา ในเวลา ๑๑.๐๐ น. และเมื่อรถออกมาได้สักครู่ ก็พบชาวบ้านเดินอยู่พอดี จึงจอดรถสอบถาม ได้ความว่าเป็นรอยพระพุทธบาท ที่พบเห็นกันมานานแล้ว ได้กราบไหว้ และสรงน้ำรอยพระพุทธบาทกันมานาน ตั้งแต่เขายังไม่เกิดด้วยซ้ำ และสมัยก่อนก็มีดวงไฟลอยขึ้นตรงบริเวณนี้ นี่ก็เพิ่งจัดงานสรงน้ำพระบาทประจำปีกันเพิ่งจะเสร็จ งานผ่านมาไม่กี่วันนี่เอง

พวกเราจึงโชคดีที่มาครั้งนี้ เนื่องจากเขาเพิ่งจัดงานกันไป จึงทำให้เดินเข้าไปได้สะดวก ไม่รกเกินไป พร้อมทั้งทำเครื่องหมายบอกทางไว้ให้ด้วย มิฉะนั้นพวกเราคงจะหลงทางกันแน่ เพราะขณะที่เข้าไปนั้น จะหาชาวบ้านแถวนี้นำทางไปสักคนก็ไม่มี นี่รถวิ่งออกมาสักพักเพิ่งจะพบชาวบ้านคนนี้เอง

ผู้เขียนจึงได้ฝากบอกเขาไปว่า ขอให้รักษาไว้แบบนี้ตามธรรมชาติ อย่าให้ใครไปตกแต่งให้เสียธรรมชาติ โดยเฉพาะพระที่มาธุดงค์ มักจะเข้ามาทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่ส่วนใหญ่ท่านก็มีความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว ได้ขอบใจชาวบ้านคนนั้น ซึ่งพวกเราก็ไม่มีเวลาจะซักถามข้อมูลให้มากกว่านี้ เพราะจะต้องรีบไปรับประทานอาหารกลางวันกัน

รถวิ่งเข้ามาจอดในตลาดก่อนถึงอำเภอสอง เพื่อพักให้พวกเราได้ทานอาหารกัน พร้อมทั้งสอบถามเส้นทาง การไป พระธาตุดอยงู พอจะทราบว่าอยู่ไม่ไกลนัก จะต้องขับรถไปทาง อ.สอง จ.แพร่ และก็เป็นความจริง เมื่อไปถึงแล้วพบว่า พระธาตุแห่งนี้สมัยก่อน เป็นวัดเก่าแก่ชื่อว่า วัดปางหมื่น ปัจจุบันได้ร้างไป เหลือแต่องค์พระธาตุ

ถึงอย่างไรก็ตาม ชาวบ้านแถวนี้ก็ยังมีความเคารพนับถือ จัดงานสรงน้ำตามประเพณีกันทุกปี มีความศักดิ์สิทธิ์มาก มักจะมาบนบานศาลกล่าวกันอยู่เสมอ พวกเราจึงได้มากราบไหว้และอนุโมทนาเช่นกัน แล้วก็ออกเดินทางกลับวัดในเวลา ๑๓.๐๐ น. ถือเป็นการสิ้นสุดการเดินทางในครั้งนี้

หากจะสรุปงานทอดกฐิน (ปีที่ ๑) ในระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๔ พ.ย. ๔๓ นับเป็นเวลา ๕ วัน รวมสถานที่ ๑๓ แห่ง ได้ทำบุญทอดกฐินที่วัดพระร่วงฯ เป็นเงิน ๕,๓๕๘,๒๘๐ บาท และทำบุญหลังจากนั้นอีก ตามที่เล่าผ่านมานี้ เป็นเงิน ๑๔๖,๓๐๕ บาท จึงขอยุติไว้เพียงนี้ โปรดติดตามงานทอดกฐิน (ปีที่ ๒) กันต่อไป

« l 1 l 2 | | 3 | 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l »



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved