ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 15/7/08 at 19:02 Reply With Quote

การสร้างสมเด็จองค์ปฐม (ทรงเครื่องพระนิพพาน) ณ วัดสิริเขตคีรี (ตอนที่ 8)


« l 1 l 2 | | 3 | 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l


อาศิรวาทราชสดุดี

พระร่วงโรจนฤทธิ์เจ้าคำฉันท์


น้อมกราบพระยุคลบาท อธิราชพระภูธร
ทวยราษฎร์ถวายพระพร สดุดีพระคุณมัย

พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระภูมินทร์ปิ่นไผทไทย
เอกองค์พระทรงชัย พระคุณูปการขาน

เกริกเกียรติ์พระบุญญา พระมหาคุณาการ
ทรงเป็นพระภูมิบาล ปฏิบัติงานพิพัฒนพูน

ทรงมีวาจาสิทธิ์ คุณฤทธิ์อเนกจำรูญ
ราชัย ธ ไพบูลย์ บริบูรณ์เลิศประเสริฐศรี

เพียบพร้อมคุณากร มหิศธร พระบารมี
เมตตาประชาชี สมภาค เสมอกัน

แดนไทยวิไลเรือง พลเมืองต่างสุขสันต์
ด้วยองค์พระทรงธรรม์ ทศธรรม อดิศร

ครองราชมไหศูรย์ ธ วิบูลย์คุณากร
มิ่งขวัญประชากร สิริรัฐพิพัฒน์พูน

คู่ควรพระราชา พระจริยานุวัตรงาม
เป็นศรีประเทศ ธ เรืองราม เทิดพระนาม
พระวิสุทธิราชเทวี

บำเพ็ญวรากิจ พระบพิตรอดุลยศรี
เลิศล้ำพระคุณมี ภิยโยวโรฬาร

มากบุญพระคุณมัย หฤทัย ธ เบิกบาน
พระเดชยิ่งดั่งปณิธาน ฐิติมั่นนิรันดร ฯ


อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ก็ได้จบลงอย่างไพเราะ ด้วยการประพันธ์ของ คุณตุ๋ม โดยการอัญเชิญพระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ชื่อว่า “ดุจบิดรมารดา” มากล่าวก่อนว่า “รักชาติยอมสละแม้ชีวี” จนกระทั่งถึง “อันสยามเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ดุจบิดามารดรเปรียบได้”

จากนั้น คุณโยมประชา และ คุณโยมเดือนฉาย จึงได้อัญเชิญพานพุ่มเข้าไปสักการะบูชา ซึ่งได้จัดทำอย่างสวยงามจาก คุณวิชชุดา (แอน) ชัยกูล และคณะ โดยมีผู้ขอรับเป็นเจ้าภาพด้วย คือ คุณจินตนา พิเชียรสุนทร และ คุณรวีวรรณ บุญชัย เป็นต้น

จากนั้นทุกท่านต่างก็ถวายความเคารพโดยพร้อมเพรียงกัน ท่ามกลางเสียงเพลงบรรเลงและเสียงพลุ ๒๑ นัดที่ดังลั่นสนั่นฟ้า หลังจากนั้นก็มีผู้เข้าไปถวาย เครื่องสักการะเป็นจำนวนมาก แล้วจึงเป็นอันว่าเสร็จพิธีทั้งหมดในตอนกลางวัน



งานมหาพิธีบวงสรวง

ตามกำหนดการเดิม ผู้เขียนจะให้มีการจัดขบวนแห่กระทงเงินกระทงทอง และกระทง แก้วที่ด้านหน้าวัด นำขบวนโดยคณะกลองยาวจากเด็กนักเรียน ที่มาจาก อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร แต่พอถึงเวลาจริง ๆ ผู้จัดหมดแรงอยู่ในกุฏิ ไม่สามารถจะออกมาจัดขบวนแห่ได้

จึงรู้สึกน่าเห็นใจคณะกลองยาว ที่อุตส่าห์ซ้อมอยู่หน้าวัดจนหมดแรง เด็กนักเรียนบางคนถึงกับเป็นลม แต่ครูที่นำมาคงจะเข้าใจ เพราะงานพิธีในตอนกลางวันนั้นมีมาก โดยเฉพาะหลังจากเสร็จพิธีเปิดพระบรมรูปแล้ว ช่างก็ต้องทำการรื้อนั่งร้านลงจากพระจุฬามณี เพื่อที่จะได้ชมองค์พระเจดีย์ทั้งห้ายอดได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจดีย์องค์เล็ก จะต้องวางเรียงบนระเบียงให้เป็นแถวโดยรอบพระจุฬามณี

ในระหว่างนี้ เป็นเวลาประมาณ ๕ โมงเย็น ญาติโยมก็นั่งพักผ่อน บางท่านก็ทานอาหารเย็น บางท่านก็เดินชมตามร้านสินค้าพื้นเมือง บ้างก็เดินไปชมบายศรีทั้ง ๘ ทิศ รายรอบพระจุฬามณี บางทีก็เข้าไปกราบไหว้รูปเหมือน หลวงปู่ปาน และ หลวงพ่อ ซึ่งประดิษฐานยืนอยู่บนเนินพญามังกรใกล้ ๆ พระจุฬามณี

แต่ก่อนงานพิธีจะเริ่มขึ้น ผู้เขียนก็ได้เดินวนรอบโต๊ะบายศรี มองเห็นผู้คนนั่งบนเก้าอี้ล้อม รอบมากมาย ต่างนั่งฟังเสียงดนตรีไทยบรรเลงขับกล่อมในยามเย็น ท่ามกลางอากาศที่คลายร้อนไปแล้ว ลมพัดเย็นพอสบาย ๆ รู้สึกว่าอยากจะพักผ่อนสายตาบ้าง แต่ก็อดที่จะลืมตาดูความสวยสดงดงามหลายหลากสีที่จัดวางอยู่บนโต๊ะพิธี

ทุกคนที่ทำบายศรี ต่างก็พิถีพิถันกันได้อย่างปราณีตบรรจง เรียกว่าทำกันด้วยหัวใจจริง ๆ
เหน็ดเหนื่อยกันทั้งวันทั้งคืน เพราะบายศรีในมหาพิธีบวงสรวงครั้งนี้ จะมีด้วยกันทั้งหมด ๕ ต้น คือต้นกลาง ๙ ชั้น ต้นที่อยู่ ๔ มุม ๕ ชั้น ถือว่าเป็นการตั้งบายศรีไหว้ “พระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์” ตามความหมายของคนสมัยก่อน

เพราะว่าการที่สร้างพระเจดีย์ ๕ ยอดนั้น เป็นความหมายพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ บายศรีที่จัดทำกันคราวนี้ก็เหมือนกัน ถือว่าเป็นการบูชาคุณพระพุทธเจ้ากันโดยเฉพาะ แล้วก็เชิญพรหมเทวดาทั้งหลายมาเป็นสักขีพยานทั่วทั้งจักรวาล ซึ่งผู้เขียนจะได้เล่า “ประวัติการทำพิธีบวงสรวง” ในภายหลังว่ามีความเป็นมาอย่างไรบ้าง

ในตอนนี้ขอเดินดูบรรยากาศรอบ ๆ งานก่อน เพราะว่า พระจุฬามณี จะเป็นศูนย์กลางของจักรวาล จึงต้องเตรียมสถานที่ตรงนี้ให้เรียบร้อย คงปล่อยให้ญาติโยมกับคณะเจ้าภาพบายศรีทั้ง ๘ ทิศ นั่งฟังเพลงบรรเลงไทยเดิมไปพลาง ๆ ก่อน แล้วจึงได้เดินลงไปที่ลานพระอุโบสถ เห็นเพื่อนพระภิกษุสามเณรนั่งอยู่ในปะรำพิธีกันเต็มไปหมด เมื่อเห็นว่าพร้อมสมควรแก่เวลาแล้ว จึงได้กล่าวเริ่มงานพิธีทันทีว่า...



มหาสมัยสูตร

“สำหรับมหาพิธีบวงสรวง ๘ ทิศครั้งนี้ คิดว่าคงทำเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวหลังพุทธกาลนี้ เพื่อเป็นการสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าทั้งพระวรกาย รวมทั้งรอยพระพุทธบาทและเครื่องบริขารของพระองค์ทั่วทั้งจักรวาล

โดยมี พระจุฬามณี แห่งนี้เป็นศูนย์กลางและ พระเจดีย์องค์เล็ก โดยรอบ เพื่อเป็นองค์แทนพระเจดีย์ทั้งหลาย ตามที่ได้ไปทำพิธีบวงสรวงมาแล้ว ซึ่งเป็นพระธาตุรวม ๕๘๐ แห่ง กับรอยพระพุทธบาทอีก ๓๓๕ แห่ง

คราวนี้จะได้ทำพิธีบวงสรวงสรุปรวมทั้งหมด เพื่อตั้งสัจจะอธิษฐานบารมี ณ สถานที่นี้ ซึ่งเป็นดินแดนวาจาสิทธิ์ของพระร่วง คิดว่าน่าจะมีผลตามที่ต้องการ ไม่ว่าผู้ที่จะปรารถนา “พระโพธิญาณ” หรือว่าจะ “ลาพุทธภูมิ”

โดยเฉพาะผู้ที่มาร่วมพิธีนี้ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ได้สร้างสมบุญบารมี มาแต่ชาติปางก่อนแล้วด้วยดี คือพอใจในการตัดกิเลสให้เป็นสมุทเฉทปหาน ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยบอกไว้แล้วว่า ท่านผู้นั้นไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุสามเณร หรืออุบาสกอุบาสิกา จัดอยู่ในระดับ ปรมัตถบารมี คือปฏิบัติธรรมเพื่อหวังมรรคผลนิพพานในชาติปัจจุบันนี้

ฉะนั้น การกระทำพิธีในครั้งนี้ จึงตั้งบายศรีเป็นกรณีพิเศษ ถือเป็นเครื่องสูงเพื่อบูชาคุณของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เคยทำอย่างนี้มาก่อน แม้แต่คราวทำพิธีที่ วัดพระแท่นดงรัง เมื่อปี ๒๕๓๙ นั่นก็เพียงแค่ “รวมภาค” เท่านั้น นับตั้งแต่เริ่มงาน ตามรอยพระพุทธบาท เมื่อปี ๒๕๓๖ เป็นต้นมา

จนกระทั่งบัดนี้ครบ ๑๐ ปีพอดี ก็ได้ทำพิธีบวงสรวงไหว้พระธาตุและพระบาท รวมแล้วนับเป็น ๑,๐๐๐ แห่ง คือมีทั้งต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกหลายแห่ง ผู้ร่วมพิธีในครั้งนี้ ถึงแม้จะไหว้ไม่ครบก็ถือว่ามาบรรจบ ณ ที่นี้ โดยการอัญเชิญพรหมเทวดาทั้งหลาย ได้เสด็จมาเป็นสักขีพยานทั่วทั้งจักรวาล ตามที่เรียกกันว่า มหาสมัยสูตร ซึ่งมีเรื่องเล่าใน พระสุตตันตปิฎก มีใจความโดยย่อว่า...

“คำว่า มหาสมัย แปลว่า การประชุมใหญ่ คือพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ จะมีการประชุมใหญ่ของเทวดามากมายเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ส่วนการที่ท่านมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ามากมายนั้น เป็นเพราะเหตุว่า คราวหนึ่งในระหว่างที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อีก ๕๐๐ องค์ ซึ่งได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ในวันที่แสดงพระสูตรนี้

ฉะนั้น การที่พระพุทธองค์เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์คราวนี้ เป็นเพราะทรงทราบด้วยอำนาจพระพุทธญาณว่า พระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายของพระองค์ จะทะเลาะกันเพราะแย่งน้ำกันทำนา จึงทรงทราบต่อไปว่า เมื่อเราตถาคตเสด็จไปแล้ว จะแสดงชาดกเพื่อระงับการวิวาทนั้นได้

เมื่อพระประยูรญาติทั้งสองพระนคร คือกรุงกบิลพัสดุ์และเทวทหะนคร ได้ฟังธรรมเทศนาของเราตถาคตแล้ว ก็จักถวายกุมารข้างละ ๒๕๐ องค์ แก่เราตถาคต เราตถาคตก็จักให้กุมารเหล่านั้นบรรพชา ในคราวนั้นก็จักมีการประชุมใหญ่เกิดขึ้น ครั้นทรงพระดำริดังนี้แล้ว

จึงได้ทรงบาตรจีวร เสด็จไปโดยลำพังพระองค์เดียว แล้วประทับนั่งอยู่บนอากาศ ในท่ามกลางเสนาทั้งสองพระนคร เปล่งฉัพพรรณรังสีรัศมี ๖ ประการ ออกไปให้ปรากฏสว่างไสว จนชาวเมืองทั้งสองเกิดมีสติ ระลึกขึ้นได้ว่า เราไม่ควรเข่นฆ่ากันเองด้วยเหตุเพียงเท่านี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ จึงแสดงชาดกให้ฟังจนเกิดความเลื่อมใส แล้วได้ถวายพระราชกุมาร ๕๐๐ องค์ ต่อมาก็ได้ออกบวชทั้งหมด

แต่เวลาต่อมาเกิดความเบื่อหน่ายในเพศบรรพชิต เหตุเพราะเหล่าพระชายาทั้งหลาย พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงพาภิกษุ ๕๐๐ นั้น ไปทางอากาศลงที่สระแห่งหนึ่งในป่าหิมพานต์ จนเกิด ความสลดสังเวชแล้ว พระภิกษุเหล่านั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เทวดาในหมื่นจักรวาล ก็ได้มาประชุมกันที่ป่ามหาวันเป็น “มหาสมัย” คือการประชุมใหญ่ขึ้นในเวลานั้น

พระอรรถกถาจารย์จึงได้พรรณนาไว้ว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ องค์นั้น ได้ทรงเกิดขึ้นในตระกูลกษัตริย์ และเป็นราชวงศ์เดียวกับพระพุทธเจ้า คือพระองค์เป็น “ราชบรรพชิต” ภิกษุเหล่านั้นก็เป็น “ราชบรรพชิต” เหมือนกัน พระศาสดาเป็นผู้บริสุทธิ์มีบริวารที่บริสุทธิ์ คือเป็นผู้ไม่มีกิเลส

พระพุทธเจ้าเป็นผู้สงบระงับและหลุดพ้นแล้ว ซึ่งมีบริวารที่สงบระงับและหลุดพ้นแล้ว ย่อมไพโรจน์รุ่งเรืองอย่างยิ่งในราตรีอันบริสุทธิ์ ปราศจากเมฆหมอกและควันธุลีราหู ซึ่งเป็นคืน วันเพ็ญ ๑๕ ค่ำนั้น

การประชุมใหญ่ครั้งนั้น เว้นแต่ อรูปพรหม และ รูปพรหม แล้ว เทวดามาประชุมกันโดยมาก แต่ก็มีพรหมอนาคามีจาก สุทธาวาสทั้ง ๔ ชั้น (พรหมชั้นที่ ๑๓ - ๑๖) มาสู่ที่ประชุมนั้นเหมือนกัน จะมีเทวดาในจักรวาลหนึ่ง ๆ มาประชุมกันตามลำดับ จนตลอดทั้งหมื่นจักรวาล

เพราะฉะนั้นในห้วงจักรวาลทั้งสิ้นนี้ ได้เต็มไปด้วยเทวดาทั้งหลายที่ประชุมกันตลอด จนถึงพรหมโลก เทวโลก ยัดเยียดเบียดเสียดกัน เหมือนกับเข็มที่อยู่ในกล่องเข็มฉะนั้น ก็ตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปจนถึงพรหมโลกนั้นไกลกันมาก ซึ่งอุปมาเหมือนกับก้อนหินใหญ่เท่าปราสาท ๗ ยอด ซึ่งผู้มีฤทธิ์ทิ้งจากพรหมโลกลงมาจนกว่าจะถึงพื้นดินนี้ กินเวลาได้ ๔ เดือนเป็นกำหนด แต่ถึงอย่างนั้นก็เต็มไปด้วยเหล่าเทพยดาทั้งนั้น

เมื่อสมเด็จพระผู้พระภาคเจ้าทอดพระเนตร เห็นเทวดาประชุมกันในจักรวาลนี้ จึงตรัสบอกแก่พระภิกษุทั้งหลาย แล้วทรงเนรมิตพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่ง เพื่อถามตอบปัญหาซึ่งกันและกัน พระพุทธนิมิตก็ได้ประทับนั่งบนอาสนะเสมอกับพระพุทธเจ้า ต่อหน้าเทพยดาทั้งหลาย มีพระมหาปุริสลักขณะ คือมีลักษณะ ๓๒ เหมือนกัน

พระพุทธเจ้าสองพระองค์ต่างก็เปล่งฉัพพรรณรังสีรัศมี ๖ ประการออกจากพระวรกายเหมือนกัน ได้พุ่งขึ้นจากพรหมโลกชั้น ๑๖ แล้วย้อนตลบลงมาครอบศีรษะของเทพยดาทั้งหลายจนจดขอบปากจักรวาล ท้องจักรวาลทั้งสิ้นได้รุ่งเรือง เหมือนกับเป็นพระเจดีย์ที่ดาษด้วยกลอนทองคำฉะนั้น

เทวดาในหมื่นจักรวาลที่มาประชุมในจักรวาลนี้ ได้อยู่ภายในรัศมีของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์ที่ได้ตรัสถามปัญหาซึ่งกันและกัน พระสูตรนี้จึงเป็นที่รักใคร่พอใจของเทวดาทั้งหลาย ถือว่าพระสูตรนี้เป็นของตน เพราะฉะนั้นบทท้ายของพระบาลีสูตรนี้ที่ขึ้นต้นว่า “ปุริมัญจะ” หลวงพ่อจึงได้นำมากล่าวเชิญเทพยดาทั้งหลายสืบต่อมาตั้งแต่สมัย หลวงปู่ปาน ตามที่นิยมเรียกกันว่า พิธีบวงสรวง นี้แหละ

เทพเจ้าทั้งหลายในหมื่นจักรวาล ได้มาประชุมกันที่จักรวาลนี้แห่งเดียว เพื่อจะได้เห็นพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นวงศ์กษัตริย์ “ศากยราช” และปราศจากกิเลสมลทินทั้งนั้น สมเด็จพระภควันต์จึงตรัสสรุปว่า

“การที่เทพเจ้าประชุมกันครั้งนั้น จัดเป็นการประชุมใหญ่ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตหรือในอนาคต ก็จะมีการประชุมใหญ่เท่ากันทั้งนั้น จะได้ยิ่งหย่อนกว่ากันนั้นหามิได้ จัดว่าเป็นการประชุมอันน่าอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งจะมี “มหาสมัย” เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น”

ฉะนั้น งานพิธีครั้งนี้มิได้เลียนแบบท่าน แต่เป็นการบูชาคุณความดีของพระพุทธเจ้า เพื่อ เป็นการรำลึกถึง “มหาสมัย” คือการประชุมใหญ่ในครั้งนั้น ส่วนครั้งนี้ท่านจะมากันมากน้อย เพียงใดก็แล้วแต่ท่านจะโปรดเมตตา เพื่อเป็นสักขีพยานในการอธิษฐาน เป็นการตั้งความปรารถนาอย่างเป็นทางการ จึงขอให้ท่านช่วยผู้ร่วมพิธีทั้งหลายได้สมประสงค์

โดยเฉพาะผู้มุ่งหวังพระนิพพานในชาตินี้ บางท่านอาจจะไม่แน่ใจตนเอง จึงได้จัดพิธีกรรมเหล่านี้ เช่นการบรรจุ แผ่นดวงชะตา ไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปเมื่องานทอดกฐินในปีแรก หรือการจัดประชุม “มหาสันนิบาต” ในคราวนี้ ก็เพื่อความมั่นใจขึ้นในตนเอง

เมื่อกำลังใจเกิดมีความมั่นคง ก็สามารถทำจิตตรงได้อย่างแน่นอน ถ้าหากไม่เกินวิสัยขอท่านโปรดให้กำลังใจ เพื่อเป็นการบอกเหตุแห่งความสำเร็จ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการมรรคผลในชาติปัจจุบันนี้ ก็ขอให้ท่านได้โปรดสงเคราะห์เป็นประจักษ์พยานด้วย

ฉะนั้น งานต่าง ๆ ที่ผ่านมาจึงเป็นการฟื้นฟูพุทธสถานคู่บ้านคู่เมือง พร้อมทั้งบูรณะปฏิสังขรณ์ เพื่อเร่งสะสมบารมีแด่ผู้ร่วมบุญทั้งหลาย ต่อไปนี้จะเป็นรวมบารมี ๓๐ ทัศ โดยเฉพาะการตั้งสัจจะอธิษฐานร่วมกัน ณ สถานที่นี้ ที่ได้บำเพ็ญร่วมกันมานับตั้งแต่ชาติที่เป็นอดีต จะได้ประกาศแก่บรรดาเหล่าทวยเทพทั้งหลายที่มาประชุมกัน ณ บัดนี้ เพื่ออำนวยอวยพรให้พวกเราได้สมความปรารถนากัน

การที่ได้ติดตาม “ท่านผู้มีพระคุณ” มานานนับอสงไขยกัป ต่อไปนี้ก็จะได้สิ้นสุดยุติ ลงแต่เพียงแค่นี้..ต่อไปเราจะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก จึงขอเชิญ “ประธาน” ในพิธีทั้ง ๘ ทิศได้จุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรีก่อน ซึ่งเป็นพระภิกษุ มีรายชื่อดังต่อไปนี้คือ...

๑. ทิศอุดร (เหนือ) หลวงพี่โอ วัดท่าซุง
๒. ทิศทักษิณ (ใต้) พระอธิการวิชา วัดถ้ำสำเภาทอง จ.ชุมพร
๓. ทิศบูรพา (ตะวันออก) พระอธิการวินัย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
๔. ทิศปัจจิม (ตะวันตก) พระอาจินต์ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
๕. ทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) พระพิทักษ์ วัดป่าพุทธโมกข์ จ.สกลนคร
๖. ทิศอาคเณย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) พระอธิการธานี จ.ฉะเชิงเทรา
๗. ทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) พระธรรมธรวันชัย วัดพระร่วงฯ จ.สุโขทัย
๘. ทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) พระอธิการสวรรค์ วัดหนองไม้แดง จ.นครสวรรค์

ในขณะที่ตัวแทนจุดธูปเทียนนี้ จึงขอให้ทุกท่านตั้งจิตอธิษฐาน ขออาราธนาบารมีองค์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย อันมี สมเด็จองค์ปฐม ทรงเป็นประธาน พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระโพธิสัตว์ทั้งปวง พระอริยเจ้าทั้งหลาย พระพรหมทุกชั้น อันมี ท่านสหัมบดีพรหม เป็นองค์ประธาน

และเหล่าเทพอัปสรทุกชั้นฟ้าซึ่งมี ท่านปู่ท่านย่า ทรงเป็นประธาน โดยเฉพาะท่านผู้อารักขาสถานที่สำคัญทุกแห่งของพระพุทธเจ้า ท่านที่รักษาบ้านเมือง ป่า เขา นภากาศ แม่น้ำ มหาสมุทร กระทั่งสุดพื้นปฐพี อันมี ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เป็นประธาน บูรพมหากษัตริย์เจ้าทั้งหลาย รวมทั้งผู้ร่วมสร้าง ผู้ร่วมบูรณะทุกท่าน ทุกสมัย ทุกสถานที่ ตามรายชื่อในหนังสือที่แจกไปแล้วนี้

ซึ่งมีทั้ง พระมหาธาตุเจดีย์ อันเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุทั้งพระวรกาย รอยพระพุทธบาท และ เครื่องพุทธบริขารทั้งหลาย ของพระองค์ อันประดิษฐานอยู่ในชมพูทวีปนี้ รวมไปถึงเบื้องบนสวรรค์ โดยเฉพาะ พรหมโลก อันเป็นที่ประดิษฐาน พระภูษา ที่ทรงออกผนวช เป็นครั้งสุดท้าย ขอได้โปรดเสด็จมาเป็นสักขีพยาน ในการกระทำ มหาพิธีบวงสรวง ของปวงข้าพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ด้วยเถิด

ต่อจากนั้นพระเดชพระคุณ หลวงปู่ปาน และ หลวงพ่อฯ ก็ได้ทำพิธีบวงสรวง โดยมีรูปเหมือนของท่านในลักษณะยืนอยู่บนเนิน “พญามังกร” ข้างพระจุฬามณีเป็นเจ้าพิธีในครั้งนี้ ทุกคนที่นั่งอยู่รายรอบบริเวณนั้น ต่างก็ได้กำหนดจิตและอธิษฐานตามความปรารถนา ท่ามกลางบรรยากาศในยามเย็น

เมื่อเสียงของท่านจบไปแล้ว ต่างก็ลืมตา ดูไปที่โต๊ะบายศรีของแต่ละทิศ เพื่อจะได้จดจำ ภาพความสวยงามไว้ตลอดไป และมองเข้าไปใน พระจุฬามณี จะเห็น สมเด็จองค์ปฐม “ปางประทับรอยพระพุทธบาท” สูง ๙ ศอก ปิดทองเหลืองอร่าม พร้อมผ้าสไบทองที่เพิ่งจะห่ม และ เพชรพระนลาฏที่งามเด่นอยู่กลางหน้าผากของพระองค์ โดยมีท้าวมหาราชทั้ง ๔ ยืนประทับอารักขาอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ของสมเด็จองค์ปฐม

เมื่อแหงนหน้ามองขึ้นไปบนพระจุฬามณี หลังจากที่รื้อไม้นั่งร้านที่ปิดบังออกหมดสิ้นแล้ว จึงพบว่าองค์พระเจดีย์มีแสงสีมุกที่ประดับด้วยโมเสก งามสะท้อนย้อนกับแสงตะวัน ครั้นมองไปที่ระเบียงก็จะเห็นพระเจดีย์สีเงินเล็ก ๆ เป็นเสมือนกับเป็นพระเจดีย์บริวารของพระจุฬามณี ที่อยู่รายรอบฉะนั้น

ในขณะที่กำลังชื่นชมกับภาพโดยรวมของ พระจุฬามณีอยู่นั้น พลันก็ได้ยินทายกอาราธนา พระปริตร เพื่อเจริญพระพุทธมนต์บทพิเศษ สำหรับการทำพิธีรับพระเคราะห์เสวยอายุ ๑๐๘ เสียงพระภิกษุสวดมนต์ดังก้องไปทั่วบริเวณนั้น ทุกคนต่างก็พนมมือด้วยความเคารพ จบแล้วก็ได้ยินเสียงผู้เขียนบรรยายต่อไปอีกว่า...

“สำหรับงานฉลองสมโภชปีนี้ นับเป็นปีที่ ๓ ถือว่าเป็นบันไดสามขั้นสู่ความสำเร็จ งานการก่อสร้างได้ดำเนินแบบรวดเร็วทันใจ ถึงแม้จะยังไม่เพียงพอแก่ญาติโยมก็ตาม แต่ทุกคนก็ภูมิใจว่าเป็นวัดที่เราสร้างที่เราริเริ่มด้วยกันมา จนกว่าจะเห็นเสร็จสวยงามเป็นวัดโดยสมบูรณ์ในปี ๒๕๔๙ หวังว่าคงจะคอยติดตามข่าวการจัดงานพิธีฝังลูกนิมิตกันต่อไป

เพื่ออุทิศถวายผลบุญทั้งหมดนี้ เป็นการบูชาพระคุณความดีของท่าน เสมือนเป็นพ่อแม่ ที่ได้เคยปกบ้านคุ้มเมืองให้แก่ลูกหลานมาแล้วในอดีต นับตั้งแต่ โยนกเชียงแสน สมัย พระเจ้าพรหมมหาราช และ สมัยพระแม่เจ้าจามเทวี จนกระทั่งสมัย สุโขทัย และ อยุธยา มาจนถึง รัตนโกสินทร์ ก็ได้จัดงานพิธีเทิดพระเกียรติไปแล้ว เมื่อปี ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๒ แต่ ศรีสัชนาลัย เพิ่งจะมาจัดตอนนี้

ฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะมาเกิดภพใดชาติใด พวกเราก็ติดตามบูชาพระคุณท่านตลอดมา อีกทั้งได้ร่วมกันจรรโลงพระพุทธศาสนา เพื่อหวังจะสนับสนุนพระโพธิญาณ หากท่านยังไม่ลา คงจะต้องติดตามกันไปอีก ๗ วาระ แต่มาในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ ท่านก็ได้ตัดใจลาจากพุทธภูมิ แม้จะได้รับการคัดค้านถึง ๓ วาระ

แต่ท่านก็สละความรักในพระโพธิญาณลงไปได้ แล้วหักหาญกำลังใจไปทางด้านพระสาวก ทั้งนี้ด้วยเวลาเพียงแค่ไม่นาน จากพระบารมีที่สร้างสมมาแล้วด้วยดี ท่านจึงจ้วงฟันข้าศึกศัตรู คือกิเลสให้พินาศย่อยยับไป คุณธรรมอันสูงสุดได้เกิดขึ้นแก่ท่าน ดวงจิตอันบริสุทธิ์ได้ใสสะอาด เสมือนพระจันทร์วันเพ็ญฉะนั้น

หลังจากนั้นต่อมา วิถีชีวิตของท่านก็ต้องมาพบกับบุตรธิดาตามสัญญาเดิม แม้จะยากเข็ญด้วยอุปสรรคนานัปการ จากบุคคลที่มุ่งร้ายหรือจากโรคร้ายที่เข้ามาเสียดแทงร่างกาย แต่ด้วยน้ำใจอันกล้าหาญและกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก จึงทำให้ท่านหักด่านของข้าศึก คืออุปสรรคเหล่านั้นไปได้ด้วยสติปัญญาและความสามารถจากพระโพธิญาณเดิม

เพราะว่าจิตของท่านมุ่งที่จะอนุเคราะห์บุตรและธิดาของตน ให้เข้าถึงธรรมอย่างแน่นแฟ้นอย่างน้อยเข้าถึง “ธรรมาภิสมัย” ตามที่พระพุทธเจ้าองค์ก่อนได้เคยตรัสพยากรณ์ไว้ เพราะผลที่ท่านบรรลุธรรมมาแล้วนั่นเอง บัดนี้ ภารกิจท่านเสร็จสิ้นแล้ว หมดทั้งหน้าที่ หมดทั้งสังขารร่างกายที่มีอยู่ ท่านไม่มีกิจอื่นใดที่จะทำแล้ว

นอกจากผู้ที่อยู่เบื้องหลังเท่านั้น ที่จะรับภารกิจอันใหญ่หลวงของท่านไว้ เพื่อช่วยกันประกาศพุทธศาสนา ให้ตั้งมั่นอยู่ในขอบขัณฑเสมาตลอด ๕๐๐๐ ปี ขอจงรักกันประสานไว้ด้วยน้ำใจและไมตรีต่อกัน เพื่องานของท่านจะได้ดำเนินต่อไป แล้วเราจะพบกับความสำเร็จ หมดทั้งภารกิจ หมดทั้งสังขารร่างกายที่ทรงอยู่ ความสุขอันยิ่งใหญ่จะรออยู่เบื้องหน้า..อย่างแน่นอน..!”


kittinaja
Super Administrator
*********
Posts: 192
Registered: 10/2/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 30/10/09 at 16:20 Reply With Quote


ต่อไปนี้จึงขอเชิญ คณะพิษณุโลก โดย อ.วิบูลย์ มีชู ออกมากล่าวบทกลอน...

อภิวาทแทบเบื้องบาทพระพุทธเจ้า
พระพงศ์เผ่าวิสุทธิเทพวิมุติขันธ์
พระผู้มีพระภาคเจ้านับอนันต์
สมเด็จองค์ปฐมนั้นท่านเป็นประธาน

กราบขอขมาปวงข้าฝ่าพระบาท
ผิว์พลั้งพลาดบังเอิญเพลินกล่าวขาน
พระมหากรุณาปรานีปาน
ดุจลูกหลานพระผ่านเผ้าเบาปัญญา

น้อมวันทามหาบุรุษสุดประเสริฐ
พระร่วงโรจนฤทธิ์เลิศวาจาหนา
พระแม่วิสุทธิเทวีศรีราชา
ทั้งบรรดาพระราชวงศ์พงศ์เผ่าไทย

ขออธิษฐานดวงมาลย์ญาณศักดิ์สิทธิ์
อิทธิฤทธิ์เทพยดาอสงไขย
ทั้งแสนโกฏิจักรวาลชาญศักดิ์ชัย
ร่วมพิธีบูชาไท้อลังการ์

เริ่มตรึงตรามหาพิธีพลีบวงสรวง
งามเด่นดวงพวงบายศรีที่เลอค่า
วางแปดทิศอิสริยะพระศาสดา
พระเหนือกว่าบุญญาธิการใด

ปีที่สามอร่ามเรืองเครื่องกฐิน
สมถวิลเจ้าภาพซาบซึ้งใหญ่
ถวายผ้าพระกฐินรินจากใจ
ครบกองที่จับจองไว้น่ายินยล

จุฬามณีมีพิธียกฉัตรแก้ว
แสนเพริดแพร้วแวววับจับเวหน
ท่านพระครูปลัดอนันต์อนุเคราะห์ชน
ประธานต้นยกฉัตราจุฬามณี

เจดีย์เล็กบรรจุพระบรมธาตุ
เพื่อให้ญาติโยมทั้งหลายได้สุขี
ประดิษฐานรอบพระจุฬามณี
พระเกียรติคุณสุนทรีย์ศรีศาสดา

ดังเดือนดาวราวล้อมจอมพุทธะ
ประจักษ์พระอภิขิตกิจศาสนา
พอเย็นย่ำค่ำลอยโคม โลมจันทรา
ระยิบระยับนับดารายามราตรี

บูชารอยพระพุทธบาทจอมปราชญ์ไท้
บรมธาตุพระจอมไตรอุไรศรี
พุทธบริขารทั่วจักรวาลปานเปรียบมี
เก้าร้อยแห่งแหล่งชี้ปรีดิ์เปรมใจ

ศิโรราบกราบองค์ปฐมพุทธ
พระสูงสุดพรหมวิหารตระการใส
พระโปรดเกล้าสรรพมงคลดลพรชัย
ทรัพย์ภายนอกภายในไหลหลั่งมา

ขอคำว่าไม่มีนี้อย่าปรากฏ
สรรเสริญเจริญยศจรดทั่วหล้า
เป็นหนึ่งในมหาประเทศเขตโลกา
ชาวประชาถ้วนหน้าผาสุขจริง

มาดแม้นมีสงครามลามทั่วโลก
ขอพัดโบกวิโยคไปไกลทุกสิ่ง
กัมมันตภาพรังสีนี้ประวิง
ระเบิดทิ้งห่างเมือง..เรื่องพวกมาร

วีรสตรีวีรบุรุษรุดเร่งช่วย
ชูเชิดด้วยพระศาสนานำรากฐาน
บารมีพระราชาราชินีคาน
งามศีลทานค้ำไทยชัยโย..เทอญ ฯ

*****************


เมื่อจบบทประพันธ์ที่ได้กล่าวไปนี้ ทุกคนที่อยู่ร่วมพิธีต่างก็ปรบมือด้วยความประทับใจ จากนั้น “คณะจเร” ก็ได้ออกมาร้องเพลงนำของคณะตามรอยพระพุทธบาท นั่นก็คือเพลง ธรรมเป็นอำนาจ โดยเนื้อร้องได้ทำการแจกไปก่อนหน้านี้แล้ว จาก “หนุ่ม ไทยรัฐ” ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า...

“..ธรรมะ คือคุณากร คำสอนของพุทธองค์ ผองเราชาวไทย ใต้ร่มพุทธศาสนา ตามรอยพระบาทศาสดาสูงส่ง พระพุทธศาสน์คู่ชาติไทยยั้งยืนยง อยู่ดำรงคงผูกพัน...”

เสียงร้องดังไปทั่วบริเวณนั้น แต่ภายหลังมีบางคนบอกว่า เสียงทางพระจุฬามณีไม่ค่อยได้ยิน ผู้จัดจึงต้องขออภัยด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะงานฉลองสมโภชยังดำเนินต่อไป โดย คณะรวมใจภักดิ์ เมื่อได้ยินเสียงประกาศให้ออกมาฟ้อนรำบวงสรวงชุด “ศรีสัชนาลัย” และการแสดงรำดาบ เพื่อเป็นการบูชาเหล่าเทพอัปสรทั้งหลาย และเป็นการรำลึกนึกถึงบรรดาชาวศรีสัชนาลัยทั้งหลายในอดีตด้วย...

ผู้ชมทุกคนต่างก็ปรบมือให้กำลังใจ เมื่อได้เห็นลูกศิษย์สาว ๆ ของ อ.วิชชุ ออกมาร่ายรำ ได้อย่างสวยงาม ท่ามกลางแสงจันทร์ที่เพิ่งจะโผล่ขึ้นมาเหนือขอบฟ้าด้านหลังพระจุฬามณี ด้วยลีลาที่อ่อนช้อยงดงาม สร้างความปลื้มใจให้แก่ ผู้ชมที่นั่งอยู่รอบ ๆ จบแล้วก็มีเสียงเพลงดาบดังขึ้น ได้เห็นหนุ่ม ๆ ออกมาร่ายรำเสียงดาบกระทบกันเป็นจังหวะ เป็นการบ่งบอกถึงความเข้มแข็งอย่างมีระเบียบ

เป็นอันว่าศิลปะการรำและการต่อสู้ของไทยในอดีต พวกเราก็ได้ฝึกซ้อมกันมาแรมเดือน เพื่อจะได้รำถวายแด่บุรพชนทั้งหลาย ณ สถานที่นี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี ต่อจากนี้ก็เป็นการเล่าประวัติของ “พระร่วงเจ้า” และประเพณี “ลอยกระทง” พอสังเขป ในขณะนั้นพวกเราก็ได้นำ กระทงเงิน กระทงทอง และ กระทงแก้ว ออกมา ซึ่งมีลูกโป่งหลายสิบใบผูกติดอยู่ด้วย

ในขณะนั้น คุณโยม เดือนฉาย คอมันตร์ ก็ได้เป็นประธานในพิธี แต่ก่อนที่จะปล่อยออกไป พวกเราก็ได้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วกล่าว คำนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ (ฉบับโบราณ) โดย คุณครูสมคิด ศุภดีเลิศมงคล จากศรีสัชนาลัย ซึ่งได้ฝึกซ้อมมาหลายวันแล้ว มีหลายคนบอกว่ากล่าวได้ไพเราะมาก จบแล้วผู้เขียนก็ได้กล่าว คำนมัสการรอยพระพุทธบาท พร้อมทั้งกล่าวนำคำอธิษฐานว่า...

“..ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเครื่องสักการบูชาทั้งหลายเหล่านี้ อันมีบายศรีทั้ง ๘ ทิศ กระทงเงินกระทงทอง และประทีปโคมลอยเป็นต้น เพื่อบูชา พระบรมสารีริกธาตุ และ รอยพระพุทธบาท กับ เครื่องพุทธบริขารทั่วทั้งจักรวาล และขออนุโมทนาความดี ท่านผู้ร่วมสร้างและผู้ร่วมบูรณะทั้งหลาย นับตั้งแต่ต้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ณ สถานที่ทุกแห่ง

ขอผลบุญทั้งหมด จงเป็นปัจจัยให้คนดี มีศีลธรรมทั้งหลายที่นับถือพุทธศาสนา จงมีความ อยู่ดีกินดี พืชสวนไร่นาอย่าได้เสียหาย ค้าขาย ขอให้ได้กำไรดี ขอให้พ้นจากทุกข์โศกโรคภัย และอันตรายทั้งหลาย มีภัยจากธรรมชาติ ภัยจากความอดอยาก และภัยจากสงคราม เป็นต้น

สัพพทุกข์ สัพพโศก สัพพโรค สัพพภัย สัพพเคราะห์เสนียดจังไร จงพินาศหมดสิ้นไป ขอให้สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้ จงเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนาตลอด ๕ พันปี หากแม้นข้าพระพุทธเจ้าได้เคยปรารถนา “พุทธภูมิ” มาก่อน ถ้าหากพระโพธิญาณจะมีความก้าวต่อไป ก็ขอให้สำเร็จโดยฉับพลันนั้นเทอญ แต่หากว่าจะพึงลา ก็ขอให้เข้าถึงคุณธรรมในชาติปัจจุบันนี้เถิด..”

จบคำอธิษฐานแล้ว กระทงทั้งหมด ก็ถูกปล่อยลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า พร้อมกับ ประทีปโคมลอย ก็ถูกปล่อยขึ้นไปเรื่อย ๆ นับจำนวนเป็นร้อย พร้อมกับเสียงประทัดและเสียงพลุไฟพะเนียง ดังลั่นสนั่นหวั่นไหวตามไปด้วย แสงสีระยิบระยับขึ้นสู่ท้องฟ้า พร้อมกับแสงไฟที่งามตา อันประดับอยู่รายรอบพระจุฬามณี และบริเวณเบื้องล่างของมณฑปทั้งสอง ยิ่งพาให้สดสวยและสว่างไสว คืองามทั้งข้างล่างและสวยทั้งข้างบน

ทุกคนตั้งใจบูชาองค์พระจุฬามณีที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วและพระเมาลี พร้อมทั้งภูษาทรงที่ออกผนวช อันประดิษฐานอยู่ที่พรหมโลก แล้วก็ทั่วทุกหนทุกแห่งในชมพูทวีปตลอดทั้งจักรวาลนี้ เพื่อเป็นการบูชาพระคุณความดีของท่าน จนกระทั่งได้ยินเสียงกลองสะบัดชัยดังขึ้น จึงได้มองลงมาที่ด้านหน้าเวที เพื่อชมการแสดงจาก คณะชาวเชียงใหม่เอื้อเฟื้อโดย อ.อำไพ สุจนิล พร้อมคณะเพื่อน ๆ จากเชียงใหม่ต่อไป

เมื่อได้เห็นท่วงท่าและจังหวะในการตีกลอง อันเป็นศิลปะของชาวเหนือที่ได้แสดงออกมา เป็นการบ่งบอกถึงการเอาฤกษ์เอาชัยที่จะทำศึกสงคราม เพื่อปลุกปลอบกำลังใจให้เข็มแข็ง หรือเป็นการสะกดให้ข้าศึกศัตรูต้องหวั่นไหวเสียก่อน การร่ายรำทำนองในการตีกลอง จึงสร้างความเร้าใจให้แก่ผู้ชม โดยเฉพาะการแสดงพ่นเปลวไฟ ได้รับการปรบมือจากผู้ชมที่นั่งอยู่โดยรอบ

ครั้นได้ยินเสียงกลองที่ดังระทึก พร้อมกับเห็นเปลวไฟที่พ่นออกไป แล้วก็แหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้าอีกครั้งหนึ่ง ยังมีโคมลอยขึ้นไปสู่ท้องฟ้าในยามค่ำคืน พร้อมกับเสียงพลุดาวกระจายดังลั่น แสงสีสดสวยพวยพุ่งขึ้นสู่เบื้องบน ทุกคนตื่นตาตื่นใจไปกับงานฉลองอย่างมโหฬาร เมื่อมองลงมาด้านหน้าเวทีก็เห็นเด็ก ๆ จากโรงเรียนบ้านท่าชัยออกมา “รำอวยพรอ่อนหวาน” จากนั้นผู้เขียนก็ได้บรรยายต่อไปอีกว่า...

คำว่า ศรีสัชนาลัย แปลว่า ที่อยู่ของคนดี เดิมมีชื่อว่า “ชะเลียง” ได้เป็นเมืองหลวงมาก่อนสมัยสุโขทัย แต่ต่อมาก็ได้เป็นเพียงเมืองลูกหลวง โดยเฉพาะก่อนที่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช จะเสวยราชสมบัติในกรุงสุโขทัย พระราชบิดาก็ให้มาครองเมืองศรีสัชนาลัยก่อน ส่วนประวัติการลอยประทีปโคมไฟนั้น ถือเป็นโบราณประเพณีที่สืบทอดกันมานานแล้ว

ชาวเมืองสมัยนั้นตามศิลาจารึกที่ขุดพบ จะทราบได้ว่าล้วนแต่มีคนใจบุญสุนทานเป็นส่วนมาก ทุกคนมักโอยทาน คือมีการเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว มักทรงศีล คือทุกคนมีความประพฤติดี ดังข้อความจารึกไว้ตอนหนึ่งว่า...

“พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธา ในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษาแล้ว กรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย พนมหมาก มีพนม ดอกไม้ มีหมอนนั่ง หมอนนอน บริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน” ดังนี้

จึงจะเห็นได้ว่าคนในสมัยนั้น ไม่ว่าใครนับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมาถึงลูกเจ้าลูกนาย และไพร่ฟ้าประชาชนทั่วไป แทบจะไม่มีใครที่จะไม่ไปเข้าวัดฟังธรรมตักบาตรทำบุญในฤดูกาลเข้า พรรษาตามวัดวาอารามต่าง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมมองเห็นแล้วว่าชาวเมืองสมัยนั้นเป็นคนใจบุญสุนทาน ทุกคนมีจิตใจเบิกบานมีความสุขทุกถ้วนหน้า

หลังจากออกพรรษาแล้ว ชาวเมืองโดยการนำของพระเจ้าแผ่นดิน ยังปลูกฝังสร้างเสริม วัฒนธรรมให้ดำรงคงไว้แก่บ้านเมืองสืบไป คือ ทรงเป็นผู้นำในการสร้างจารีตประเพณี และขนบ ธรรมเนียมทางพุทธศาสนา มีการทำบุญทอดกฐิน ครั้นเมื่อเสร็จจากการทำบุญถวายผ้ากฐินกันแล้ว ในวันสุดท้ายของฤดูกาล คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ก็มีการลอยกระทงกัน

ทั้งนี้ ด้วยน้ำใจของคนไทยที่มีกำลัง คือความดี ก่อนที่จะรำวงในเพลงแรกกัน คือเพลงลอยกระทงนั้น เราควรที่จะได้ร้องเพลง ไทยรวมกำลัง นี้ไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของคนไทยสมัยนั้น เพราะถ้าไทยรวมกำลังตั้งมั่น จะสามารถป้องกันขันแข็ง ถึงแม้ว่าศัตรูผู้มีแรงมายึดแย่งก็จะมลายไป...”

พอจบการบรรยายเสียงเพลง “ไทยรวมกำลัง” ก็ดังขึ้น ทุกคนร้องด้วยความเต็มใจ แล้วก็ออกมารำวงเพลง “ลอยกระทง” กัน ทุกคนยิ้ม ระรื่นมีความสนุกสนาน เมื่อได้ออกมาร่ายรำกันตามประเพณี ตามที่ชาวไทยสมัยนั้นมีการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจ มีการร้องรำ ทำเพลงตามศิลปวัฒนธรรมที่เป็นของไทยแท้ ๆ ดังคำจารึกไว้ว่า...

“ด้วยเสียงพาทย์เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น..เล่น ใครจักมักหัว..หัว ใครจักมักเลื่อน..เลื่อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปาก ประตูหลวง เทียนญอมเสียดกัน เข้าดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ”

ต่อจากนั้นเด็กนักเรียนโรงเรียน บ้านเมืองเก่า ก็ออกมา “เซิ้ง” กันเป็นชุดต่อไป สลับกับ การบรรยายของผู้เขียนอีกว่า...

“กรุงสุโขทัยในอดีต นอกจากจะร้องรำทำเพลง อันเป็นศิลปะประจำชาติ ในคราวสนุกสนานก็มีการเล่นหัวกัน ถึงคราวทำมาหาเลี้ยงชีพก็ทำกันอย่างขยันขันแข็ง พอถึงคราวรบก็รบเยี่ยงชาติชายชาตรี ดังจะเห็นได้จากศิลาจารึกตอนหนึ่งที่ว่า

“ด้วยรู้ ด้วยหลวก ด้วยแกล้ว ด้วยหาญ ด้วยแคะด้วยแรง หาคนจะเสมอเหมือนมิได้”

คำว่า “หลวก” คือมีความเฉลียวฉลาด “แคะ” คือมีความพยายาม รวมความว่าชาวเมืองสมัยนั้น ทุกคนมีแต่คนรู้จักตัวของตัวเอง รู้หน้าที่ที่ตนควรกระทำ มีความเฉลียวฉลาด กล้าหาญ มีความอดทน พยายามและมีกำลังแข็งแรง หาใครที่จะมาเทียบเท่าได้ยากที่สุด

จึงทำให้อาณาเขตมีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลมากที่สุด ทั้งนี้เป็นเพราะอะไร ก็ต้องเป็นเพราะเราเผ่าไทย ต่างคนต่างแดนไกล ต่างมารวมใจสามัคคี ทุกหมู่เหล่า พวกเราพร้อมพรั่ง ยามถิ่นเราถิ่น ไทยในแดนทอง แหล่งดีคนปอง ไทยเข้าครอง ต้องรวมกัน ผูกพันรักเผ่า...”
ในตอนนี้ ทุกคนจึงลุกขึ้นยืนร้องเพลง “ตื่นเถิดไทย” เพื่อเป็นการถวายคุณความดีแก่บรรพบุรุษไทยทั้งหลาย แล้วก็ออกมารำวงเพลง “รำวงลอยเรือ” กันอีก ยามค่ำคืนนี้ทุกคนต่างก็สนุกสนานกันเต็มที่ แม้บางคนบางคณะจำจะต้องเดินทางกลับไปก่อน แต่ผู้เขียนก็ยังไม่จบ เพราะยังมีคำบรรยายต่อไปอีกว่า...

“..ในงานเทศกาลทอดกฐิน ชาวเมืองจะมาพร้อมเพรียงกัน เพื่อชมการแสดงมหรสพต่าง ๆ ชนิดดีด สี ตี เป่า ประโคม จึงมีแต่เสียงพิณพาทย์ ลาดตะโพนขับกล่อมกันทั่วทั้งพระนคร สถานที่แห่งนี้จึงทำให้ย้อนคิดถึงอดีตกาลนานมาแล้ว

ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันถึงสองสมัย และมีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือเมื่อราวปี พ.ศ. ๙๐๐ เศษ สมัย พระเจ้าพรหมมหาราช ได้รุกไล่ขอมเข้ามาถึงดินแดนแห่งนี้ ได้อาศัย ช้างพลายประกายแก้ว ซึ่งเป็นช้างทรงคู่บุญบารมีที่เกิดขึ้นเพื่อกู้ชาติจากขอมโดยเฉพาะ

ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๐ เศษ พระองค์ก็ได้มาเกิดเป็น พระร่วงโรจนฤทธิ์ อีกสมัย หนึ่ง ณ ดินแดนแห่งนี้ แล้วก็ทรงได้ช้างเผือกเชือกหนึ่ง แต่คราวนี้เป็น ช้างเผือกงาดำ และ เขี้ยวงูใหญ่ เท่าผลกล้วยเป็นคู่บารมีอีก พระองค์ทรงอานุภาพยิ่งใหญ่

สมัยนั้นประเทศน้อยใหญ่ ต่างพากันมาสวามิภักดิ์ พระองค์ทรงเรียนรู้จบไตรเพท รู้วิชาบังเหลี่ยม ล่องหนหายตัวได้ มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ คือพูดอะไรก็เป็นไปตามคำพูดนั้น (ในตอนนี้ โรงเรียนบ้านท่าชัย ได้ออกมาฟ้อนรำ “ระบำสุโขทัย”)

หลังจากนั้นได้มีการรำกลองยาวจาก โรงเรียนอนุบาลคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เด็ก ๆ หลายสิบคนแสดงได้ดีมาก มีการต่อตัวขึ้นไปได้อย่างหวาดเสียว สร้างความพอใจให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง

“...จะขอเล่าเหตุการณ์สมัยพระร่วงต่อไปว่า ในปีนี้เองที่พระร่วงมีพระชนมายุครบ ๕๐ พรรษา ที่ประวัติศาสตร์จำต้องซ้ำรอย เหมือนสมัยพระเจ้าพรหมมหาราชอีก เมื่อกองทัพขอมกรีฑาทัพเข้ามารุกราน ซึ่งคิดว่าคงจะเป็นคนละกลุ่มสมัยพระเจ้าพรหม พระองค์จึงได้ทรงนำทัพชาวเมืองศรีสัชนาลัย

ในครั้งนั้น พระองค์ได้ออกทำศึกสงครามกับพวกขอมอีกสมัยหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นได้นำกองทัพบุกตีขอม แล้วยึดเมืองสุโขทัยซึ่งมีขุนนางขอมปกครองอยู่ไว้ได้ ต่อมาจึงทรงย้ายราชธานี จากเมืองศรีสัชนาลัยมาที่เมืองสุโขทัย ทรงครองราชย์ต่อมาถึงปี พ.ศ. ๑๖๑๑ จึงเสด็จสวรรคต

ในตอนนี้ พงศาวดารเหนือ เล่าว่า พระองค์ทรงลงสรงน้ำที่แก่งหลวงเหนือแม่น้ำยม เหตุที่พระองค์ทรงชราภาพมากแล้ว จึงถูกกระแสน้ำพัดเอาร่างจมน้ำสิ้นพระชนม์ไป ดังนั้น พระวิสุทธิกุมาร จึงขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา จึงเป็นอันว่า ความตายเป็นธรรมดาแก่คนและสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีใครจะหนีความจริงไปได้

ในวาระสุดท้ายพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ยังได้เล่าเรื่องราวหนหลังไว้ว่า พระเจ้าพรหมมหาราช ได้กลับมาเกิดเป็น พระร่วงโรจนฤทธิ์ สร้างความเจริญมั่นคง ขยายอาณาเขตออกไป ครองมอญ พม่า ขอม ไว้ได้หมดอาณาจักรยาวเหยียด แต่ในที่สุดก็สวรรคต

โดยเฉพาะดินแดนแห่งนี้ ผู้เขียนคิดว่ามีทั้งอดีตของความรักที่เกิดขึ้นกับท่านทั้งสอง ซึ่งเป็นด้วยบุพเพสันนิวาส ที่เคยเป็นคู่ครองกันมาแต่กาลก่อน จึงทำให้ต้องมาพบรักกันระหว่าง พระเจ้าพรหมมหาราช กับ พระนางปทุมเทวี และ พระร่วงโรจนฤทธิ์ กับ พระนางวิสุทธิเทวี

ซึ่งพวกเราได้หล่อพระบรมรูปของท่านทั้งสอง ไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความรักทั้งสองสมัยขึ้นไว้ ณ ดินแดนแห่งนี้ คือ... “ศรีสัชนาลัย” และชาวเมืองสมัยนั้น อาจจะเป็นชาวเราสมัยนี้ ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลกันแค่ไหน จะไกลแสนไกล ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคใต้ ภาค กลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคอีสาน

เมื่อถึงเวลาก็ต้องกลับมาเยือนดินแดนแห่ง “มาตุภูมิ” นี้อีก มารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงแล้ว ทำพิธีเทิดพระเกียรติคุณของท่านอีกครั้งหนึ่ง..” จึงขอให้ทุกคนได้ออกมารำวงเพลง “ลูกพ่อขุน” กัน จากนั้นก็เป็นการฟ้อน “รำดอกบัว” จาก โรงเรียนบ้านท่าชัย พร้อมกับการบรรยายถึงวิถีไทยในสมัยก่อนโน้นอีกว่า...

“ในสมัยเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย หรือละว้า หรือขอมดำ ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่พอ จะสันนิษฐานว่า หลังจากนครโยนกเชียงแสนล่มในปี พ.ศ. ๑๑๘๑ แล้ว ดินแดนบริเวณนี้ คงตกอยู่ในอำนาจของพวกขอมดำ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เมื่อ พระนางจามเทวี ราชธิดาเจ้าเมืองละโว้ ได้เสด็จขึ้นไปครองราชสมบัติ ณ เมืองหริภุญชัย

ตอนนั้น เจ้านครละโว้ ยังได้ส่งโอรสพระนามว่า พระยาพาลีราช ขึ้นไปครองเมืองสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐ เมืองสุโขทัยจึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง กับแคว้นละโว้และหริภุญชัยมา แต่ความจริงมีความสัมพันธ์กันมา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าพรหมแล้ว

ต่อไปนี้จึงขอให้พวกเราร้องเพลงนี้ เพื่อเป็นการระลึกถึงความสัมพันธ์ ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมชาติ เราเป็นญาติกันด้วยหัวใจ ด้วยวิญญาณความเป็นไทย เชื่อมใจเราอยู่ มาเถิดมาชูธงไทย มิให้ใครหลู่ ร่วมเชิดชูชื่อไทย ให้โลกศรัทธา ด้วยการร้องเพลง “รู้รักสามัคคี” กัน และออกมารำไทยในเพลง “คำขวัญสุโขทัย”

สำหรับประวัติความเป็นมา ในการสร้างบ้านแปลงเมืองราว พ.ศ. ๑๔๐๐ ตามพงศาวดาร เหนือเล่าว่า ท่านฤาษีสัชนาลัย กับ ฤาษีสิทธิมงคล ซึ่งบำเพ็ญพรตอยู่เกิดความเมตตา ได้มาสั่งสอนพราหมณ์ลูกหลาน ให้รู้จักดำรงชีวิตด้วยธรรมะ จึงชี้สถานที่ให้สร้างบ้านสร้างเมือง ใกล้กับเมืองสุโขทัย (นัยว่าบริเวณเมืองชะเลียงเดิม) แล้วให้นามเมืองใหม่นี้ว่า “สวรรคโลก” แล้วได้สั่งสอนบรรดาพราหมณ์ทั้งหลายว่า

“สูเจ้าทั้งหลายอันอยู่ทั้ง ๑๐ บ้าน อย่าประมาทลืมตน อย่าได้เมามัวแก่ตัณหา ปู่จะสั่งสอนเจ้าไว้ สูเจ้าจงเอาพนมเพลิงเข้าไว้ในเมือง เป็นที่สร้างพรตบูชากูณฑ์ ผู้เฒ่าจะสั่งสอน จงทำตามคำ...”

พอบรรยายมาถึงตอนนี้แล้ว จึงสลับกับการรำของ โรงเรียนบ้านพระปรางค์, โรงเรียน หนองช้าง โดยเฉพาะ โรงเรียนสวรรค์อนันต์ ได้แสดงจินตลีลาได้สมบทบาทมาก แต่ก็มีขัดข้องนิดหน่อย ที่กระแสไฟเกิดขัดข้องกันตอนนี้ คุณลือชัย กับพระวัดท่าซุงที่คุมเครื่องเสียง ต้องวิ่งเข้าไปช่วยเหลือกัน แล้วก็แสดงได้ต่อไปจน กระทั่งครบทั้ง ๑๐ ชุด ของเด็กนักเรียน

นับว่าปีนี้ได้ส่งมาแสดงกันมากเป็นพิเศษ จึงขออนุโมทนา “คณะครูผู้ฝึกสอน” ทุกคน และทุกโรงเรียน รวมทั้งที่นำเด็กมาช่วยจัดดอกไม้ และทำความสะอาดพื้นที่ด้วย เป็นการช่วยให้ดูงดงามและมีสีสันยิ่งขึ้น แม้จะเป็นกลางวันก็ตาม ยิ่งดูกลางคืนก็มีความสวยสว่างไสวไปหมด เสีย ดายที่ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้ออกไปดูไกล ๆ เห็นเขาบอกว่าสวยงามมาก

“เป็นอันว่า ดินแดนภาคเหนือทั้งหมด นับตั้งแต่ เชียงแสน หริภุญชัย ลงมาถึง สุโขทัย แล้วก็ล่องลงมาถึง อยุธยา แล้วมาหยุดอยู่ตรงที่ “รัตนโกสินทร์” คือแผ่นดินเกิด จึงขอให้เปิดเพลงอำลาแผ่นดินนี้ด้วยเพลงนี้ เพื่อไว้เป็นอนุสรณ์แด่ “ท่านผู้มีพระคุณทั้งสอง”

เพราะ “รัตนโกสินทร์” คือแผ่นดินที่หล่อหลอมหัวใจ ร้อยความรักรวมผู้คนมากมาย อาศัยอยู่ร่วมชายคา เชื้อชาติไหนก็พี่น้อง ล้วนพวกพ้องคล้องเกี่ยวนานเนิ่นมา ทุกชีวิตมีสุขใจใต้ฟ้าใต้บารมี “จักรีวงศ์”

ในค่ำคืนนั้น แม้จะเริ่มดึกน้ำค้างพรม พระจันทร์ก็เริ่มคล้อยแล้วก็ตาม แต่ก็ได้ยินเสียงเพลงอำลา “รัตนโกสินทร์” ดังเศร้าสร้อยอยู่ในโสตประสาทของทุกคน จึงต้องปลุกกันด้วยเพลงรำวง กำเนิดลอยกระทง, นพมาศจำแลง และ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นการรำวงต่อเนื่องกันไป

ในขณะที่พลุดาวกระจายหมดไปแล้ว พร้อมกับโคมลอยที่เริ่มลอยหายไปจากท้องฟ้าในยามราตรี แต่ทุกคนก็ต้องสะดุ้งกับเสียงพลุชุดสุดท้าย ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บนลานเวทีนั้นเอง ทุกคนตื่นตลึงกับพลุ ๒ ต้น คือ ดอกไม้เงินและดอกไม้ทอง ที่อยู่สองข้างทางขึ้น

ต่างก็ชื่นชมกับกิ่งไม้ที่แกว่งไปแกว่งมา ด้วยพลุที่ได้ถูกจุดประกายเป็นช่อดอกไม้สว่างไสวในเวลากลางคืน แล้วก็ร่วงหล่นลงมาเป็นสาย ๆ อย่างสวยงามคล้ายกับพุ่มเงินพุ่มทอง จนกระทั่งเสียงเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ดังขึ้น จึงได้ลุกขึ้นทำความเคารพ แล้วเป็นอันจบ พิธีฉลองสมโภชงานทอดกฐิน (ปีที่ ๓) แต่เพียงเท่านี้



ศรีสัชนาลัย - เถิน

หลังจากเสร็จสิ้นงานพิธีที่มีความสำคัญต่าง ๆ แล้ว รุ่งขึ้น วันพุธที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ คณะญาติโยมที่ยังไม่กลับ ต่างก็มารับประทานอาหารเช้า แล้วก็รับข้าวกล่องไปด้วย จากนั้นเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น. จึงได้ออกเดินทางสู่ วัดดอยป่าตาล อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวเถินบุรี

สถานที่แห่งนี้ ผู้เขียนได้เคยเล่าประวัติผ่านไปแล้วว่า เป็นที่ประดิษฐาน พระเกศาธาตุ และ ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย เคยบูรณะมาแล้ว โดยเฉพาะ ลูกแก้ว บนยอดพระธาตุมีความศักดิ์สิทธิ์มาก วันที่พวกเราเดินทางไปถึงก็เช่นกัน

หลังจากรถขึ้นมาบนดอยแล้ว มีหลายคนที่นั่งอยู่บนลานพระธาตุ ได้เห็นแสงส่องออกมาจากลูกแก้วเหมือนกัน คนที่เห็นก่อนจึงเรียกให้เพื่อน ๆ ดู แล้วก็ได้เห็นอัศจรรย์กันหลายคน

สำหรับการที่ผู้เขียนนำคณะญาติโยมมาสถานที่แห่งนี้ เพราะมีความสำคัญดังที่กล่าวแล้วว่า เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็น “แม่โค” มาก่อน ได้พาลูกน้อยมาอาศัยนอนอยู่บนดอยนี้ เพราะฉะนั้นดอยแห่งนี้จึงมีชื่อเดิมว่า “ดอยม่อนวัวนอน” แม้ชาวบ้านแถวนี้ก็ยังเรียกชื่อเดิมนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน

ในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังจัดบายศรี และขึ้นไปห่มผ้าสไบทองอยู่นั้น ผู้เขียนก็ได้เล่าประวัติโดยย่อ พร้อมกับปรารภที่จะทาสีองค์พระธาตุใหม่ แต่คณะกรรมการไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือ จึงได้ให้ลูกศิษย์หลวงพ่อฯ ที่อยู่ที่นั่นชื่อ “ภูมิ” เป็นผู้ประสานงานแทนพวกเรา แล้วก็ได้ร่วมกันสมทบทุนเป็นค่าทาสีขาว เป็นจำนวนเงิน ๓๐,๓๔๗ บาท แล้วมอบให้เจ้าอาวาสทำการบูรณะภายหลังจากพวกเรากลับไปแล้ว

ต่อจากนั้นก็เดินทางต่อไปที่ วัดพระบาทนาเกลือ ซึ่งอยู่ห่างกันไม่มากนัก ตามที่ได้นัดหมายไว้แล้วว่า ผู้เขียนจะนำคณะศิษย์หลวงพ่อฯ มาร่วมกันสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทนี้ และรอยพระพุทธหัตถ์แห่งนี้ ซึ่งได้สร้างค้างไว้ ๓ - ๔ ปีแล้ว

พร้อมกับรับเป็นเจ้าภาพเทพื้นคอนกรีต และปูกระเบื้องภายในมณฑป และสร้างห้องส้วมเพิ่มอีก ๔ ห้อง ตามที่ผู้เขียนได้มาติดต่อกับเจ้าอาวาสวัดพระบาทนาเกลือก่อนงาน คือได้เดินทางมาเตรียมงานไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ต.ค. ๒๕๔๕ เมื่อได้มาเห็นงานที่เตรียมไว้

ปรากฏว่าเจ้าอาวาสได้สร้างเสร็จตามที่ตกลงไว้ทุกอย่าง คือขอให้ทำไปก่อน แล้วทางเราจะเอาเงินไปให้ทีหลัง ไม่เหมือนกับที่ วัดดอยป่าตาล ทางกรรมการไม่กล้าจะตัดสินใจทำไปก่อน จึงได้เงินทำบุญไม่มาก ไม่เหมือนกับสถานที่นี้ หลังจากรับประทานอาหารกลางวันกันแล้ว พวกเราก็ร่วมกันทำบุญได้เงินประมาณ ๘๐,๐๐๐ บาท

จากนั้น ท่านอาจินต์ ก็ได้เป็นตัวแทนของพวกเราทุกคน จุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรี ผู้จัดทำบายศรีทั้งสองแห่งคือ คณะอู่วารี แล้วก็ได้เปิดเทปหลวงพ่อบวงสรวง ทุกคนนั่งพนมมืออยู่โดยรอบรอยพระพุทธบาท และรอยพระพุทธหัตถ์ภายในมณฑป ต่างมีความปลื้มใจที่ได้เป็นเจ้าภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ปูกระเบื้องยังใหม่เอี่ยมอยู่นี้ ผู้ที่ได้รับอานิสงส์ก่อน ได้แก่พวกเราที่เป็นเจ้าภาพทุกคนนั่นเอง คือมีที่นั่งกันอย่างสุขสบายก่อนใครอื่น ทั้งนี้ไม่เหมือนกับที่ผู้เขียนมาเมื่อเดือนตุลาคม

ในขณะนั้นยังไม่ได้เทปูน หากจะนั่งลงไปคงจะสกปรกเลอะเทอะอย่างแน่นอน เป็นอันว่าเราได้ผลบุญทั้งวิหารทาน ทั้งการกราบไหว้บูชารอยพระพุทธบาท และรอยพระพุทธหัตถ์ และได้อานิสงส์จากการถวายพระพุทธรูปหน้าตัก ๓๐ นิ้วอีก ๑ องค์ด้วย ซึ่งมี คุณนิพัทธา (น้อย) อมาตยกุล ได้ฝากมาถวายตามวัดต่าง ๆ ทุกปี



สรุปยอดเงินกฐิน (ปีที่ ๓)


ยอดเงินงานทอดกฐินครั้งนี้ พวกเราได้ทำบุญตามวัดต่าง ๆ มีดังนี้
๑. วัดจันทโรภาส ๕๘,๑๔๐ บาท
๒. หลวงปู่จัน วัดป่าข่อย ๒,๐๐๐ บาท
๓. วัดพระร่วงผดุงธรรม ๗,๖๗๔,๖๒๓ บาท
๔. วัดดอยป่าตาล ๓๐,๓๔๗ บาท
๕. วัดพระบาทนาเกลือ ๘๐,๐๐๐ บาท
ยอดรวมทั้งสิ้น ๗,๘๔๕,๑๑๐ บาท

ถ้าหากจะสรุปเงินยอดกฐินเฉพาะที่ วัดพระร่วงผดุงธรรม นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๕ รวมระยะเวลาเพียง ๔ ปีนี้ พอจะสรุปยอดเงินกฐินสุทธิ คือหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ตามที่ พระวันชัย แจ้งมานี้ จะได้ยอดเงินทำบุญทั้งสิ้น ๑๘,๓๘๔,๙๒๒ บาท (กฐินปี ๒๕๔๖ ได้เงินอีก ๒,๖๐๔,๗๐๐ บาท)

นอกจากนี้ยังมียอดเงินที่บริจาคนอกงานกฐินอีกมาก แต่ไม่มีรายละเอียด มีแต่เพียงยอดเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างในวัดทั้งหมด จ่ายไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ ๒๑,๔๘๗,๔๖๓.๕๐ บาท

รวมความว่าสถานที่แห่งนี้ เดิมเรียกว่า พุทธอุทยานพระร่วงผดุงธรรม ต่อมาทำเรื่อง ขอตั้งชื่อวัดไปหลายครั้ง แต่ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาไม่อนุมัติ ท่านวันชัย จึงจำเป็นต้องทำเรื่องถึง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระองค์จึงได้พระราชทานนามวัดนี้ว่า วัดสิริเขตคีรี ซึ่งถือว่าเป็นพระกรุณาอย่างล้นพ้น

ตามที่บอกไว้แล้วว่า เดิมไม่ได้ตั้งใจจะสร้างเป็นวัด คิดทำเพียงแค่ พระจุฬามณี เท่านั้น ต่อมาภายหลังจากที่ คณะศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน อันมี ท่านพระครูปลัดอนันต์ ท่านพระครูสมุห์พิชิต (หลวงพี่โอ) และ ท่านอาจินต์ พร้อมเพื่อนพระภิกษุสามเณรจากวัดต่าง ๆ รวมทั้งญาติโยมที่ได้มารวมตัวกันสร้างความเจริญ ณ สถานที่นี้ จนเจริญรุ่งเรืองรุดหน้าอย่างรวดเร็ว

คงจะสมคล้องกับสมญานามตามที่ชาวบ้านแถวนี้เคยเรียกขานว่า “ตลาดผี” คือสมัยก่อนเวลาเดินผ่านบริเวณนี้ จะได้ยินเสียงพูดเสียงคุยกันเหมือนคนซื้อขายของกัน ซึ่งผู้เขียนได้วินิจฉัยว่า เทวดาอารักษ์คงจะทำเหตุเช่นนี้ไว้ก่อนว่า ต่อไปจะมีผู้คนมายังสถานที่นี้มากมาย ทั้ง ๆ ที่บริเวณนี้หากจะย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน จะมีแต่ป่าเขาเท่านั้น ใครจะไปคิดได้ละว่า “ตลาดผี” จะกลายมาเป็น “ตลาดคน” ไปในที่สุด

แต่จะเป็น “ตลาดผี” หรือ “ตลาดคน” ก็ตาม ในที่สุดพวกเราทุกคนก็ต้องเป็น “ผี” ไปในที่สุดเหมือนกันหมด ขณะที่ยังไม่เป็นก็ต้องพยายามสร้าง “สมบัติผี” ไว้ให้มาก ซึ่งไม่ต้องฝังดินไว้ให้เสียเวลา เพราะผลบุญที่เราทำไว้ทั้งหมด จะไปรอเราก่อนที่จะละโลกใบนี้ไปแล้ว ที่เขาเรียกกันว่า “มรดกผี” นี่ไงละ... สวัสดี.

********************************


« l 1 l 2 | | 3 | 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved