ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 22/10/08 at 18:13 Reply With Quote

ลอยกระทง.. เพื่อวัตถุประสงค์อะไร?




หลวงพ่อเทศน์ "วันลอยกระทง"


 




คลิปวีดีโอทาง Modernine TV

ประวัติ "ลอยกระทง" ประเพณีเก่าแก่ของคนไทย






ลอยกระทง.. เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ?

เรียบเรียงโดย..พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต วัดท่าซุง


(Click : Loykrathong Online ลอยกระทงออนไลน์)
Click ........ประเพณีลอยกระทง เพื่อวัตถุประสงค์อะไร มีเหตุผลเป็นประการใด ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านโปรดใช้วิจารณญาณไปด้วย เพราะจะได้อ้างเหตุอ้างผลไปตามหลักฐานพยาน ส่วนจะเชื่อหรือไม่ จะเป็นความจริงแค่ไหน เราต้องไปพิสูจน์กัน อย่าหลับหูหลับตาอ้างเอาแต่ความคิดของตนเอง มิฉะนั้น...เราจะไม่รู้คุณค่าว่า เรามีของดีอยู่ในประเทศไทยอีกมากมาย

.......เมื่อพูดถึงการ “ลอยกระทง” คนไทยทุกคนแม้แต่ลูกเด็กเล็กแดงก็รู้จักกัน โดยเฉพาะประเทศไทยมีการรักษาประเพณีนี้มานานแล้ว แต่รูปแบบการจัดงานในปัจจุบันนี้ มีเทคโนโลยี สมัยใหม่เข้ามามาก จึงมีการจัดแสดงแสงและ สีเข้ามาประกอบ ทำให้เกิดบรรยากาศอันดีที่ จะทำให้ผู้ชมต้องย้อนกลับไปในภาพอดีตอีก ครั้งหนึ่ง แต่ถ้าจะสืบสาวราวเรื่องความเป็นมาต่างๆ เช่นถามว่า...

“ประวัติการ ลอยกระทง มีความเป็นมาอย่างไร? ลอยเพื่อวัตถุประสงค์จะบูชาอะไร? และ นางนพมาศ เป็นใคร? มีประวัติความ เป็นมาอย่างไร? ถึงได้คิดประดิษฐ์กระทงให้มีลักษณะเป็นรูปทรง “ดอกบัว” อย่างนี้..?”

ชาวไทยทุกคนที่เคย “ลอยกระทง” มาแล้ว นับตั้งแต่เล็กจนโต ต้องอดหลับอดนอนไม่รู้สักกี่ครั้ง อาจจะเคยรู้คำตอบได้เป็นอย่างดี แต่คงจะมีไม่น้อยที่ลอยแล้วไม่รู้ว่าลอยเพื่ออะไรกันแน่....เพียงแต่ขอให้ได้รับความสนุกสนาน หรือชมความสวยสดงดงาม จากการจัดประกวด“กระทง” หรือประกวด “นางนพมาศ” เท่านั้น ก็พอใจ โดยเฉพาะผู้เขียนเอง เมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๕๓๖ บังเอิญได้ยินคำตอบทางโทรทัศน์ จาก “ดอกเตอร์” ท่านหนึ่งว่า “ลอยกระทง เพื่อลอยเคราะห์..ลอยโศก” แล้วกัน..!

สำหรับ “ภาพประกอบการศึกษา” ก็เหมือนกัน ซึ่งไว้ใช้ในการสอนเด็กนักเรียนเรื่อง “การลอยกระทง” โดยได้อธิบายไว้ในภาพวาดหลายประเด็น เช่น เพื่อบูชาและขอขมา “พระแม่คงคา” เพื่อบูชา “รอยพระพุทธบาท” ใน นาคพิภพ และเพื่อบูชา “พระอุปคุต” เป็นต้น

พลิกประวัติศาสตร์และโบราณคดี


ในตอนนี้ “ผู้เขียน” ก็ไม่มีความรู้อะไรแต่ก็อยากจะ “รณรงค์วัฒนธรรมไทย” ต่อไป ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งที่เป็นห่วงเป็นใย ในวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยบางคนที่กำลังจะถูกย่ำยีเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ซึ่ง “ผู้เขียน” มีเจตจำนงที่จะฟื้นฟูประเพณี “ลอยกระทง” เพื่อให้ตรงกับความประสงค์ของโบราณราชประเพณี ที่สืบต่อกันมานานหลายชั่วคนแล้ว ซึ่งเป็นประเพณีอันดีงามผสม ผสานกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

เพราะว่าวัฒนธรรมไทยย่อมผูกพันกับสถาบัน “ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์” มานานแล้ว โดยเฉพาะประเพณีลอยกระทงนี้เป็นประเพณีที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ ย่อมเป็นที่รู้จักไปในนานาประเทศ แม้กระทั่งเพลง “ลอยกระทง” ฝรั่งบางคนยังร้องได้เลย..!

จึงนับเป็นที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เรามีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เพราะมีแต่ประเทศ ไทยเท่านั้น ที่ยังรักษารูปแบบประเพณีนี้มานาน แล้ว ซึ่งประเทศอื่นๆ ไม่มีประเพณีเช่นนี้มา ก่อนเลย อีกทั้งรอยพระพุทธบาทที่อยู่กลางทะเล ก็มีอยู่ในประเทศไทยแต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ “นางนพมาศ” คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูป “ดอกบัว” นั้น ก็เป็นการบ่งบอกเอาแล้วว่า เพื่อบูชา “รอยพระพุทธบาท” เป็นแน่แท้...

เพราะ “ดอกบัว” เป็นสัญลักษณ์เฉพาะผู้ที่ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นดังจะสังเกตได้ว่า “พระพุทธรูปปางลีลา” ทุกองค์ มักจะนิยมสร้างเป็นรูป "ดอกบัว" ไว้เพื่อรองรับฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ฉะนั้น เพื่อให้ สมเหตุสมผลตามข้อวินิจฉัย ผู้เขียนจึงใคร่ขอ นำหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยมา ยืนยันเป็นคำเฉลย จากคำถามที่ตั้งไว้ว่า... “เราลอยกระทงเพื่อบูชาอะไรกันแน่..?”

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์


ในหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” อันเป็นพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยในเรื่องนี้เอาไว้ว่า...

“..สมมุติว่าเอาโคมนั้นลอยไปตาม “ลัทธิพราหมณ์” ที่พอใจลอยอะไรๆ จัดอยู่เช่นกับ“ลอยบาป..ล้างบาป” จะถือว่าเป็น “ลอยเคราะห์ลอยโศก” อย่างใดไปได้ดอกกระมัง การก็ตรงกันกับ “ลอยกระทง” บางทีสมมติว่าลอยโคมข้อความตาม “กฎมณเฑียรบาล” มีอยู่แต่เท่านี้

ส่วน พระราชพิธี ซึ่งได้ประพฤติอยู่ในปัจจุบันนี้ นับว่าเป็น พระราชพิธีพราหมณ์ มิได้เกี่ยวข้องด้วยพระพุทธศาสนาสืบมา การที่ยกโคมขึ้นนั้น ตามคำโบราณกล่าวว่า ยกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ “พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม”

แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนา ก็กล่าวว่าบูชา พระบรมสารีริกธาตุ “พระจุฬามณี” ในดาวดึงสพิภพ และบูชา “พระพุทธบาท” ซึ่งได้ปรากฏอยู่ ณหาดทราย เรียกว่า “นะมะทานที” อันเป็นที่ “ฝูงนาคทั้งปวง” สักการบูชาอยู่...”

สมัยกรุงศรีอยุธยา


จากหนังสือ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” มีใจความว่า...
“...ในสมัย สมเด็จพระเอกทัศราชา ครองกรุงศรีอยุธยา ครั้งถึงเพ็ญเดือน ๑๑ ออกพระวรรษา พระองค์เสด็จทรงประทีปเสด็จอยู่บนเรือขนาน แล้วถวายธูปเทียนดอกไม้ และกระทงกระดาษตามเทียนและเรือต่างๆ เป็นอัน มาก แล้วพระองค์อุทิศถวายพระพุทธบาทใน “นัมทานที” แล้วก็ลอยกระทงอุทิศส่งไปเป็นอันมากเต็มไปทั้งแม่น้ำ แล้วจุดดอกไม้เพลิงที่ริมคงคาต่างๆ เป็นอันมาก...”

ส่วน คณะทูตชาวลังกา ที่เคยเข้ามาขอพระสงฆ์ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าบรมโกฏฐ์ เมื่อ พ.ศ.๒๒๙๓ ได้บันทึกไว้เป็น “จดหมายเหตุ” ถึงข้าราชการไทยได้อธิบายเรื่องนี้ว่า“...พระราชพิธีอันนี้ทำเพื่อการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ (ซึ่งบรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์) ในดาวดึงสพิภพ และบูชารอยพระพุทธ บาท ซึ่ง “พญานาค” ได้กราบทูลอัญเชิญสมเด็จ พระพุทธองค์ให้ทรงประดิษฐานไว้เหนือหาด ทราย “ฝั่งแม่น้ำนัมทานที”

สมัยกรุงสุโขทัย


สำหรับหลักฐานชิ้นนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นต้นกำเนิดประเพณีนี้ ผู้เขียนจึงขอนำเอกสารที่บันทึกไว้โดยท่านเจ้าของเรื่องโดยตรง นั่นก็คือ... หนังสือเรื่อง “นางนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” นั่นเอง โดยได้บรรยายพระราชพิธีต่างๆ ในราชสำนัก ซึ่งพระอรหันต์ทั้งหลายสมัยนั้นได้แนะนำไว้ และได้พรรณนาสภาพบ้านเมืองในสมัยนั้นไว้ว่า...

“...เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงแล้วได้ ๑๘๓๐ พรรษา นครสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสมบูรณ์พูลสุขด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ไพร่ฟ้าหน้าใส (ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ไพร่ฟ้ากำลังหน้า แห้ง เพราะของแพงจาก...ค่าเงินบาทลอยตัว) พลเมืองมีความสุขสบาย มีวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีงามโดยถ้วนหน้า

พระมหากษัตริย์ก็ปกครองโดยธรรม ทรงไว้ซึ่ง “ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ” ทรง พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า มีถนนหนทางที่งามสะอาด และทรงสร้างปราสาทราชมณเฑียร สถานอันงามวิจิตรมีจตุรมุขทั้ง ๔ ด้าน ด้านหน้านั้นมีพระที่นั่งมุขกระสันติดเนื่องกันกับสนามมาตยา หน้ามุขเด็จขนานนามต่างๆ เป็นทั้งมณฑปพระพุทธรูปและเทวรูป

ตึกตำแหน่งเรือนหลวงเรือนสนมกำนัลเหล่านี้ ล้วนวิจิตรไปด้วยลายปูนปั้น ลายจำหลักวาดเขียนลงรักปิดทองแลอร่ามตา มีพระแท่นที่ฉากกั้น เครื่องปูลาดอาสนบัลลังก์กั้นเศวตฉัตรห้อยย้อยด้วยระย้า ประทีปชวาลาเครื่องชวาลา เครื่องราชูปโภคงามยิ่งนัก...”

นอกจากนั้นยังกล่าวถึง วัดมหาธาตุ เทวสถาน ราชอุทยาน ไม้ดอกนานาชนิด ผลไม้ ไร่นาที่ทำกิน ผาสุขสบายถ้วนหน้า ปราศจากพาลภัยอันตรายจากโจรผู้ร้าย มีการละเล่น ขับพิณดุริยางค์ มีการประกวดร้อยกรองทำนองอันไพเราะ เห่กล่อมชาวนครให้ชื่นชมสมสวาทตราบเท่าเข้าแดนสุขาวดี

นอกจากนี้นางยังได้กล่าวถึงความประพฤติของนางสนม ซึ่งมีทั้งประพฤติดีและชั่ว เช่นสามัญชนทั้งหลาย กล่าวถึงพระเกียรติคุณและพระราชจริยาวัตรขององค์ “สมเด็จพระร่วงเจ้า” เป็นการกล่าวเฉลิมพระเกียรติ ด้วยความจงรักภักดีอย่างสูงสุด และกล่าวถึงตระกูลต่างๆ ว่า ฝ่ายทหารมี ๔ ตระกูล ฝ่ายพลเรือนก็มี ๔ ตระกูล

ความรู้ในทางโลก ได้กล่าวถึงชาติและภาษาต่างๆ กล่าวถึงการแบ่งอาณาเขตในชมพูทวีป ส่วนในทางศาสนาได้กล่าวถึงพุทธศาสนาศาสนาพราหมณ์ และลัทธิศาสนาอื่นบ้าง เป็นต้น สำหรับเรื่องการ “ลอยกระทง” ได้มีพรรณนาไว้ดังนี้...


ประวัติการลอยกระทง


สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น มีพระราชพิธี “จองเปรียง” ในวันเพ็ญเดือน ๑๒เป็นนักขัตฤกษ์ ชักโคม ลอยโคม ประชาชนพลเมืองชายหญิงต่างตกแต่ง โคมชัก โคมแขวน โคมลอย ทุกตระกูลทั่วทั้งพระนครเพื่อถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงสักการะ พระจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ส่วนพระสนมกำนัลฝ่ายใน ก็ทำโคมลอยด้วยบุปผาชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกัน เพื่อถวายให้ทรงอุทิศบูชารอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งแม่น้ำ นัมทานที แต่ “นางนพมาศ” พระสนมเอกของ “พระร่วงเจ้า” นั้น ได้ประดิษฐ์โคมลอย (คือกระทง) อย่างงดงามเป็นพิเศษ

สมเด็จพระร่วงเจ้าทอดพระเนตรเห็นโคมงามประหลาดของนางนพมาศ ก็ทรงพอพระทัยมาก จึงรับสั่งให้ถือเป็นประเพณีว่า ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ นี้ ให้ประดิษฐ์ “โคมลอย” เป็นรูป “ดอกบัว” ไปสักการบูชารอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งแม่น้ำนัมทานที ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อ เรียกว่า “ลอยกระทงทรงประทีป”

หลังจากนั้น พระมหากษัตริย์ก็ถวาย ดอกไม้เพลิง บูชาพระรัตนตรัยทุกพระอารามหลวงแล้วทรงทอด ผ้าบังสุกุลจีวร ถวายพระภิกษุสงฆ์ บรรดาขุนนางและประชาราษฎร์ก็ดำเนินตามพระยุคลบาท เป็นที่สนุกสนานกันทั่วหน้า เมื่อพระร่วงเจ้าทรงลอยกระทงแล้ว ลงเรือพระที่นั่งประพาสชมแสงจันทร์ และเสด็จทอดพระเนตรโคมไฟ โปรดให้ “นางนพมาศ” โดยเสด็จด้วย ทรงรับสั่งให้นางผูกกลอนให้ พวกนางบำเรอขับถวาย

เมื่อทรงสดับบทกลอนแล้ว จึงรับสั่งถามว่าที่ต้องการให้พวก “เจ้าจอมหม่อมห้าม”มาด้วยนั้น เห็นว่าจะได้ประโยชน์อย่างใด..? นางก็กราบทูลสนองว่า เพื่อเปิดโอกาสให้นาง เหล่านั้น ได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณที่ สวยงาม ได้ออกหน้าสักครั้งหนึ่ง ก็จะชื่นชมยินดีมีความสุข และจะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอยู่ไม่รู้วาย บรรดาเครื่องอาภรณ์ที่ได้ทรงโปรดพระราชทานไปแล้วนั้น ก็จะได้มีโอกาสตกแต่งกันในครั้งนี้

ครั้นได้ทรงสดับดังนั้นก็ทรงพอพระทัยในคืนต่อมาก็ทรงโปรดให้บรรดานางในได้ตามเสด็จโดยทั่วหน้ากัน และเป็นประเพณีนับแต่นั้นมา...

ประวัตินางนพมาศ


".........ตามประวัติ “นางนพมาศ” ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ บิดามีนาม “โชตรัตน์” มีบรรดาศักดิ์ว่า.. “ออกพระศรีมโหสถ ยศกมเลศ ครรไลยหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์” มีเกียรติยศยิ่งกว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งปวง รับราช การในฐานะเป็นปุโรหิต ณ กรุงสุโขทัย มี หน้าที่บังคับบัญชากิจการตกแต่งพระนคร มี การทำพระราชพิธี ๑๒ เดือน เป็นต้น

..........ส่วนมารดาชื่อ “นางเรวดี” เมื่อนางจะตั้งครรภ์นั้น ฝันว่าได้เยี่ยมพระบัญชรสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ชมแสงจันทร์จนตกใจตื่น แม้ พระศรีมโหสถก็ฝันว่า ได้เห็นดอกไม้นานาพันธุ์แย้มบานเกสรอยู่สะพรั่งในมิใช่ฤดูกาล และมี กลิ่นหอมระรื่นตลบอบอวล

ความฝันทั้งสองนี้พยากรณ์ว่า จะได้บุตรเป็นหญิง จะมีวาสนาพรั่งพร้อมไปด้วยสติปัญญาและเกียรติยศ เป็นที่พึ่งแก่วงศ์ญาติทั้งหลาย ครั้นถึงวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันเพ็ญ กลางเดือน ๓ ปีชวด อันเป็นเวลาที่ภาคพื้นอากาศปราศจากเมฆ พระจันทร์ทรงกลดแสง ประภัสสร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน กาลนั้น นางก็คลอดจากครรภ์มารดา

หมู่ญาติมิตรทั้งหลายก็นำเครื่องทองชนิดต่างๆ มาทำขวัญ เช่น ดอกไม้ทอง สนอบเกล้าทอง จุฑาทอง ประวัตรทอง กุณฑลทอง ธุรำทอง วลัยทอง ของ ๗ สิ่งนี้เฉลิมขวัญท่านบิดาจึงให้นามว่า “นพมาศ” (มีผู้แปลว่า “ทองเนื้อเก้า”) แล้วอาราธนาพระมหาเถรา นุเถระ ๘๐ องค์ จำนวน ๗ วัด มาเจริญพระพุทธมนต์ในบท “มงคลสูตร รัตนสูตร” และ“มหาสมัยสูตร” จนครบ ๗ วันแล้วอัญเชิญ “พราหมณาจารย์” ผู้ชำนาญในไตรเพทอีก ๖๐ คน มากระทำพิธีชัยมงคลอีก ๓ วัน เพื่อสมโภชธิดาผู้เกิดใหม่ให้มีความสวัสดิมงคล เสร็จแล้วก็ถวายไทยธรรมแก่พระ เถระ ด้วยไตรจีวรกับของที่เป็นบริวารทั้งหลาย และสักการะหมู่พราหมณ์ด้วยทรัพย์เป็นอันมาก ในการเลี้ยงดูนางเมื่อเยาว์วัย บิดามารดาก็ได้ คัดเลือกเอาแต่ผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดในวิชา ต่างๆ ให้เป็นผู้ดูแล พี่เลี้ยงก็จะสอนให้ร้อย กรองให้วาดเขียน เป็นต้น

ครั้นจำเริญวัยอายุได้ ๗ ปี บิดาก็ให้ศึกษาวิชาต่างๆ เป็นต้นว่า อักษรไทย อักษรสันสกฤต ภาษาบาลี พอแปลได้ เรียนคัมภีร์ไตรเพท แต่งกลบทกลอน กาพย์ โคลง ฉันท์และลิลิต เรียนตำรับโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์และตำราพยากรณ์ จนอายุได้ ๑๕ ปี ก็มีความ ชำนิชำนาญเฉลียวฉลาด รู้คดีโลกและคดีธรรม นับเป็นสตรีนักปราชญ์ได้ผู้หนึ่ง

นางนพมาศจึงเป็นยอดหญิงสุโขทัย ที่มีความเฉลียวฉลาดในวิชาการต่างๆ มีความชำนาญในด้านภาษา วรรณคดี การขับร้อง ดนตรี บทกวีต่างๆ และมีรูปโฉมงดงามอีกด้วย จนเป็นที่ยกย่องสรรเสริญกันโดยทั่วไป มีความตอนหนึ่งที่ท่านได้บันทึกชีวิตส่วนตัวไว้ว่า...

“...วันคลอดจากครรภ์มารดา พื้นอากาศก็ปราศจากเมฆ พระจันทร์ก็ทรงกลดแสงประภัสสร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน เสวยฤกษ์บุษยวันเพ็ญ เดือน ๓ ปีชวด ประกอบกับมีฉวีวรรณเรื่อเรืองเหลือง ประดุจชโลมลูบด้วยแป้งสารภีทั่วทั้งกรัชกาย จึงให้นามข้าน้อยนี้ว่า... “นพมาศ” จากความงามทั้ง ๓ ประการของนางคือ งามรูปสมบัติ งามทรัพย์สมบัติ และปัญญาสมบัติ จึงทำให้ชาวเมืองสุโขทัยต่างก็สรรเสริญทุกเช้าค่ำ กิตติศัพท์นี้ก็แพร่หลายเล่าลือต่อๆกันไป จนมีทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่ง ได้ผูกกลอนสรรเสริญนางนพมาศขึ้นไว้ ๓ บท

ตำแหน่งพระสนมเอก


อันกลอนทั้ง ๓ บทนี้ บรรดาหญิงชายทั้งหลาย ต่างก็พากันขับร้องและดีดพิณยลโฉม คุณความดีของนางอยู่โดยทั่วไป จนแม้พนัก งานบำเรอพระเจ้าแผ่นดินก็จดจำได้ จนกระ ทั่งถึงวันหนึ่งได้ขับเพลงพิณบทนี้บำเรอถวาย สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นได้ทรงสดับก็พอ พระทัยแล้วสอบถามว่า เป็นความจริงหรือแกล้ง สรรเสริญกันไปเอง

ท้าวจันทรนาถภักดี ผู้เป็นใหญ่ฝ่ายในได้กราบทูลว่าเป็นความจริง นางอายุได้ ๑๕ ปี ควรจะได้เป็นพระสนมกำนัลอยู่ในพระราชฐาน สมเด็จพระร่วงเจ้า จึงมีรับสั่งให้นำนางนพมาศ เข้ามาเป็นพระสนมอยู่ในพระราชวัง เพื่อเป็น เกียรติยศแก่ “ออกพระศรีมโหสถ” ผู้บิดา ท้าวจันทรนาถฯ รับพระราชบัญชาก็มาแจ้งให้ พระศรีมโหสถทุกประการ

เมื่อพระศรีมโหสถได้ทราบดังนั้น ก็ รู้สึกอาลัยธิดายิ่งนัก แต่ก็ได้ทราบมาแล้วแต่ ต้นว่า นางนี้เกิดมาสำหรับผู้มีบุญ จึงยินยอม ตามพระราชประสงค์ และจะได้เลือกหาวันอัน เป็นมงคล เพื่อนำธิดาของตนขึ้นทูลถวายต่อไป นับตั้งแต่นั้นมาชีวิตของนาง จึงได้หันเหเข้ามา อยู่ในแวดวงของสตรีผู้สูงศักดิ์ เพื่อสนองพระ เดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายในพระราช สำนัก

ครั้นถึงวันอันเป็นมงคล พระศรีมโหสถได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ และเชิญพราหมณ์มาทำพิธีให้เป็นสวัสดิมงคล แล้วเชิญหมู่ญาติมิตรมาประชุม นางนพมาศก็ทำการเคารพหมู่ญาติมิตรทั้งหลายนั้น บรรดาญาติมิตรต่างก็พากันอวยชัยให้พรแก่นางนพมาศนานาประการ

นกเบญจวรรณ ๕ สี


แต่ก่อนที่นางจะเข้าไปเป็นบาทบริจาริกาในพระราชสำนักนั้น พระศรีมโหสถ ผู้เป็นบิดาได้ตั้งปัญหาถาม เพื่อจะทดลองสติปัญญาความสามารถของนางว่า...

“นกเบญจวรรณอันประดับด้วยขน ๕ สี เป็นที่งดงามอยู่ในป่าใหญ่ ครั้นมนุษย์ดักเอามา ได้ก็นำมาเลี้ยงไว้ในบ้านจนเป็นที่รัก เพราะมี ขนสีงามถึง ๕ สี ก็เจ้าเป็นมนุษย์เมื่อเข้าไปอยู่ในพระราชฐาน จะประพฤติตนให้บรรดาคนทั้งหลายรักใคร่เจ้า เช่น นกเบญจวรรณ ได้หรือไม่?...”

นางนพมาศก็ตอบว่า
“ลูกสามารถจะประพฤติตนให้เป็นที่รักใคร่แก่บุคคลเหล่านั้น โดยยึดสุภาษิต ๕ ประการ เช่นเดียวกับสีของ “นกเบญจวรรณ” ทั้ง๕ คือ:-

ประการที่ ๑ จะเจรจาถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน มิให้เป็นที่รำคาญระคายโสตผู้ใด

ประการที่ ๒ จะกระทำตนให้ละมุนละม่อม ไม่เย่อหยิ่งจองหอง ทั้งจะตกแต่งร่างกายให้สะอาดและสุภาพเรียบร้อย

ประการที่ ๓ จะมีน้ำใจบริสุทธิ์สะอาดไม่อิจฉาพยาบาทปองร้าย หรือดูหมิ่นดูแคลนผู้ใด

ประการที่ ๔ ถ้าปรากฏว่าผู้ใดเมตตารักใคร่โดยสุจริตใจ ก็จะรักใคร่มีไมตรีตอบมิให้เกิดการกินแหนงแคลงใจได้

ประการที่ ๕ ถ้าได้เห็นผู้ใดทำความดีความชอบในราชการ และทำถูกต้องขนบธรรมเนียมทั้งคดีโลกคดีธรรม ก็จะจดจำไว้เป็นเยี่ยงอย่างแล้วประพฤติและปฏิบัติตามสิ่งที่ดีนั้น ถ้าได้กระทำอย่างนี้แล้ว ก็จะต้องมีผู้เอ็นดูรัก ใคร่ ขอท่านบิดาอย่าวิตกเลย...”

พระศรีมโหสถและบรรดาญาติมิตรทั้งหลาย เมื่อได้ฟังถ้อยคำนางนพมาศดังนั้นแล้วก็ชื่นชมยินดีชวนกันสรรเสริญอยู่ทั่วไป ลำดับ ที่ ๒ พระศรีมโหสถได้ตั้งปัญหาถามต่อไปว่า

ข้อปฏิบัติให้มีผู้เมตตา ๑๒ ประการ


“การที่จะเข้าไปอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินนั้นจะสามารถประพฤติตนให้ถูกพระราชอัธยาศัยในขัตติยประเพณี ซึ่งมีอยู่ในตระกูลอันสูงศักดิ์ได้หรือไม่ เพราะสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระอัครมเหสีถึง ๒ พระองค์ และนางพระสนมกำนัลอีกเป็นอันมาก เจ้าจะกระทำตนให้ทรงพระเมตตาได้หรือ?...”

นางนพมาศตอบว่า “ลูกสามารถกระทำได้ แต่ใจหาคำนึงว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระเมตตาหรือไม่แต่ว่าจะอาศัยสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ เป็นเครื่องช่วยเหลือให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเมตตาเองกล่าวคือ:-

๑. จะอาศัย “ปุพเพกะตะปุญญะตา” ซึ่งได้สร้างสมมาแต่ชาติก่อนสนับสนุน

๒. ตั้งใจจะประกอบความเพียรอย่างสุดความสามารถ ไม่เกียจคร้านในราชกิจการงานทั้งปวง

๓. จะใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งผิดและชอบ แล้วเว้นไม่กระทำสิ่งที่ผิด มุ่งแต่จะประพฤติในสิ่งที่ชอบ

๔. จะใช้ความพินิจพิจารณา สอดส่องให้รู้พระราชอัธยาศัย แล้วจะประพฤติให้ต้องตามน้ำพระทัยทุกประการ มิถือเอาใจตัวเป็นประมาณ

๕. จะประพฤติและปฏิบัติการงานโดยสม่ำเสมอ ไม่ทำงานลุ่มๆ ดอนๆ

๖. จะรักตัวของตัวเองยิ่งกว่ารักผู้อื่น

๗. จะไม่เกรงกลัวผู้ใดให้ยิ่งไปกว่าเจ้านายของตนเอง

๘. จะไม่เข้าด้วยกับผู้กระทำผิด

๙. จะเพ็จทูลข้อความใดๆ ลูกจะกราบทูลแต่ข้อความที่เป็นจริงเท่านั้น

๑๐. จะไม่นำพระราชดำริอันใด ที่เป็นความลับออกเปิดเผยเป็นอันขาด

๑๑. จะวางใจให้มั่นคงต่อกิจการงานทั้งปวง ไม่โลเลและแชเชือน

๑๒. จะจงรักภักดีต่อองค์สมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวโดยไม่เสื่อมคลาย

คุณสมบัติ ๗ ประการ



........อนึ่ง ลูกเป็นคนใหม่เพิ่งจะเข้าไปถวายตัว ยังหารู้ขนบธรรมเนียมสิ่งใดไม่ ฉะนั้นเพื่อสามารถปฏิบัติการงานในหน้าที่ให้ลุล่วงไปจนได้ ลูกจึงจะวางวิธีของลูกไว้ดังนี้

๑. ในขั้นต้น ลูกจะต้องระวังรักษาตัวกลัวต่อความผิด ไม่ทำอะไรวู่วามลงไป

๒. จะต้องคอยสังเกตผู้ที่โปรดปรานคุ้นเคยพระราชอัธยาศัย ว่าประพฤติและปฏิบัติอย่างไร จักได้จดจำนำมาปฏิบัติต่อไป

๓. เมื่ออยู่นานไป ได้รู้เช่นเห็นช่องในกิจการบ้างแล้ว ก็จะได้พากเพียรเฝ้าแหนมิให้ขาดได้

๔. เมื่อใดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสใช้การงานแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะตั้งใจกระทำให้ดีที่สุด สมพระราชหฤทัยประสงค์ให้จงได้

๕. ต่อไปถ้าได้เห็นว่าทรงพระเมตตาขึ้นบ้างแล้ว แม้สิ่งใดจะมิได้ทรงรับสั่งใช้แต่สามารถจะกระทำได้ ก็จะกระทำโดยมิได้คิดเหนื่อยยาก เลย

๖. เมื่อตระหนักแน่แก่ใจว่าทรงโปรดอย่างใดแล้ว ก็จะได้ชักชวนคนทั้งหลาย ให้ช่วย กันกระทำในสิ่งที่ชอบพระราชอัชฌาสัย

๗. เมื่อได้กระทำดังนี้แล้ว หากจะไม่ทรงพระเมตตา ก็จะไม่น้อยเนื้อต่ำใจอย่างใด จะนึกเพียงว่าเป็น “อกุศลกรรม” ที่ได้กระทำไว้แต่ปางหลังเท่านั้น และจะคงกระทำความดีอยู่เช่นนั้นโดยมิเสื่อมคลาย...” แล้วนางได้ยกอุทาหรณ์นิทานเรื่อง “นกกระต้อยตีวิด” และเรื่อง “ช้างแสนงอน” มาเล่าประกอบด้วย พระศรีมโหสถและบรรดาญาติมิตรทั้งหลาย ต่างได้ฟังก็มีความยินดีใน สติปัญญาของนางเป็นอันมาก และพากันสรร เสริญอำนวยพรอยู่ทั่วกัน...

การกระทำเพื่อความมีชื่อเสียง


ในวาระสุดท้ายท่านบิดาได้ตั้งปัญหาถามต่อไปว่า...

“ลูกจะคิดสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างไร ให้ตนเองมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดิน?...”

นางนพมาศก็ตอบว่า
“อันจะกระทำการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดิน จนมีชื่อเสียงปรากฏเลื่องลือนั้นสำหรับสตรีกระทำได้ยากนัก ถ้าเป็นบุรุษอาจจะกระทำได้หลายประการ เช่น ทำการรณรงค์สงคราม ทำกิจการงานพระนคร ในสิ่งที่ยากลำบากให้สำเร็จได้ด้วยดี หรือวินิจฉัยถ้อยความให้เป็นไปโดยยุติธรรม หรือจะหาของวิเศษอัศจรรย์มาทูลเกล้าถวาย เหล่านี้เป็นต้น

แต่ราชการฝ่ายสตรีที่สำคัญก็คือราชการ ในพระราชวัง ซึ่งก็ตกเป็นพระราชภาระของพระอัครมเหสีทั้งสองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นใน ส่วนตัวของลูกก็จะมีแต่ความจงรักภักดี ตั้งใจสนองพระเดชพระคุณด้วยความกตัญญูกตเวทีอันสะอาดบริสุทธิ์

แม้ในการนั้นหากจำเป็นจะต้องเสียทรัพย์สินส่วนตัวมากเพียงใด หรือแม้ถึงกับจะต้องเสียสละเลือดเนื้อหรือชีวิตก็ดี ก็เต็มใจอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณโดยมิได้อาลัย

อนึ่ง ในการปฏิบัติให้ทรงพระเมตตานั้นลูกปรารถนาที่จะให้ทรงโปรดปรานแต่ในความดีของลูกเท่านั้น การที่จะใช้เสน่ห์เล่ห์กลเวทมนตร์คาถา และกลมารยาต่างๆ เพื่อให้ทรงเมตตาโปรดปรานนั้น ลูกจะละเว้นไม่ประพฤติเป็นอันขาด หรือแม้ลูกจะได้ดีมียศถาบรรดา ศักดิ์เพียงใดก็ดี ก็จะยิ่งกระทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จะไม่กำเริบใจว่าทรงรักใคร่แล้วเล่นตัว หรือกดขี่เหยียดหยามผู้อื่น...”

แล้วนางได้ยกอุทาหรณ์นิทานเรื่อง “นางนกกระเรียนคบนางนกไส้ช่างยุ” มาประกอบด้วย ในที่สุดนางก็สรุปว่า...

“อันนิทานที่ยกมาเล่านี้ ก็เพื่อให้ผู้ฟังจำไปสอนใจตนเองว่า อย่าประพฤติเป็นคนต้นตรงปลายคด และการคบมิตรก็ต้องคบที่เป็นกัลยาณมิตร นักปราชญ์จึงจะสรรเสริญ

อันว่าการคิดถูกและคิดผิด พูดจริงและ พูดเท็จ ใจซื่อและใจคด ยั่งยืนและโลเล เรียบ ร้อยและเล่นตัว สุภาพและดีดดิ้น ปกติและ มารยา มักตื่นและมักหลับ มีสติและหลงลืมอุตสาหะและเกียจคร้าน ทำดีและทำชั่ว หรือกัลยาณมิตรและบาปมิตร

บรรดาของคู่กันเหล่านี้ จะประพฤติอย่างหนึ่ง และละเสียอย่างหนึ่งเช่นนี้ ลูกก็สามารถจะเป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดินได้...”

พระศรีมโหสถและบรรดาญาติมิตรผู้นั่งฟังอยู่ ณ ที่นั้นก็แซ่ซ้องสาธุการอยู่ทั่วกัน ในคืนนั้น นางเรวดีผู้มารดาก็ได้ให้โอวาท แก่นางอีกเป็นอันมาก กล่าวคือ..มิให้ตั้งอยู่ใน ความประมาท ให้เคารพแก่ผู้ควรเคารพ ให้ประพฤติจริตกิริยาในเวลาเฝ้าแหนหมอบคลานให้เรียบร้อย ให้แต่งกายเรียบร้อยงามสะอาดต้องตาคน ประพฤติตนให้ถูกใจคนทั้งหลายฝากตัวแก่เจ้าขุนมูลนาย คอยระวังเวลาราชการอย่าให้ต้องเรียกหรือต้องคอย ต้องหูไวจำคำให้ มั่น อย่าถือตัวหยิ่งจองหอง ให้เกรงกลัวอัครมเหสี ทั้งสอง เป็นต้น นางนพมาศก็รับคำเป็นอันดี

ครั้นรุ่งเช้าเป็นวันศุกร์เดือน ๑๒ ขึ้น๑๐ค่ำ จุลศักราช ๖ ปีมะโรง ฉ ศก อันเป็นเวลา ที่นางมีอายุนับปีได้ ๑๗ ปี นับเดือนได้ ๑๕ ปี กับ ๘ เดือน ๒๔ วัน นางเรวดีผู้มารดา ได้ให้แต่งกายอันประดับด้วยอาภรณ์นานาชนิดมาคำนับลาบิดาและบรรดาญาติแล้วขึ้นระแทะ ไปกับมารดา มีบ่าวไพร่ติดตามไปพอสมควรเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง

นางเรวดีได้นำไปยังจวน “ท้าวจันทรนาถภักดี” และ “ท้าวศรีราชศักดิ์โสภา” ซึ่ง เป็นใหญ่ในชะแม่พระกำนัล เพื่อนำขึ้นเฝ้า สมเด็จพระร่วงเจ้า อันมีพานข้าวตอกดอกมะลิ พานข้าวาร พานเมล็ดพันธุ์ผักกาด พานดอก หญ้าแพรก ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วย

สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงรับและมีพระราชปฏิสันถารกับนางเรวดีพอสมควร และพระราชทานรางวัลพอสมควรแก่เกียรติยศ แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้นางนพมาศเข้ารับราชการในตำแหน่ง“พระสนม” นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา...

ฉะนั้น ด้วยคุณความดีที่นางได้นำมาเป็นหลักปฏิบัติดังกล่าวนี้ ต่อมานางนพมาศได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ตำแหน่งพระสนมเอก จึงได้รับการยกย่องเชิดชูว่า เป็นแบบอย่างของกุลสตรีไทย ที่สืบทอดวัฒนธรรมและจริยประเพณี เพื่อผูกพันกับสถาบันชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็ยังมีการจัดริ้วขบวนแห่นางนพมาศ ลอยกระทงทรงประทีป จุดดอกไม้เพลิง เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ณ ริมฝั่งน้ำนัมทา โดยยึดถือเป็นประเพณีประจำ ชาติไทยกันตลอดมา


ภาพการจัดงาน "ลอยกระทง" ณ เกาะแก้วพิศดาร ปี 2537
การแต่งกายย้อนยุคสมัยพระร่วงเจ้า และนางนพมาศ


ผู้เขียนได้ลำดับประวัติ “รอยพระพุทธบาท” และ “การลอยกระทง” มาจนถึงประวัติความเป็นมาของ “นางนพมาศ” ก็เพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลประกอบไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อันพอที่จะสรุปได้ว่าการลอยกระทงนั้น เป็นการลอยเพื่อบูชา “รอยพระพุทธบาท ณ นัมทานที” แต่เพียงประเด็นเดียวเท่านั้น ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันมา อันเป็นปริศนามานานหลายร้อยปีแล้ว

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรม “ตามรอยพระพุทธบาท” เพื่อฟื้นฟูประเพณี “ลอยกระทง” และฟื้นฟูประเพณีการสักการบูชา “พระจุฬามณี” ตลอดถึงการสร้างพระพุทธรูป “ปางประทับรอยพระบาท” ณ นัมทานที” ขนาดสูง ๙ ศอก และสร้างป้ายจารึก “ประวัติรอยพระพุทธบาท” เพื่อไว้เป็นอนุสรณ์ ณ เกาะแก้วพิสดาร จ.ภูเก็ต กันต่อไป (ปัจจุบันนี้ ปี พ.ศ.๒๕๔๓ ได้สร้างไว้อีกองค์หนึ่งที่ วัดพระร่วง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย)

ในฐานะที่ได้ร่วมกันทำหน้าที่ “รณรงค์วัฒนธรรมไทย” โดยการจัดงานพิธีลอยกระทงในวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ เพื่อสมโภชรอยพระพุทธบาท ที่มีอายุกาลครบถ้วน ๒๕๖๐ ปีพอดี อีกทั้งเป็นการเปิดเผยให้ชาวโลกรู้ว่า การที่เราลอยกระทงมาตั้ง ๗๐๐ กว่าปี ด้วยการฝากพระแม่คงคาตลอดมา

บัดนี้ เราได้ไปลอยถึงที่อันประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้อย่างแท้จริงแล้ว จึงเป็นการรณรงค์ให้ชาวไทยทั้งหลายได้ทราบว่า รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ มีความเกี่ยวข้องกับประเพณี “ลอยกระทง” อันเป็นเส้นผมบังภูเขากันมานานแล้ว

ฉะนั้น ในนามคณะศิษยานุศิษย์ทั่วทุกภาคของพระเดชพระคุณ “หลวงพ่อพระราชพรหมยาน” วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันไปจัดงาน “พิธีลอยกระทง” เพื่อ บูชารอยพระพุทธบาท ณ เกาะแก้วพิสดาร และ “พิธีลอยกระทงสวรรค์” เพื่อบูชา “พระเกศแก้ว” และ “พระเขี้ยวแก้ว” บนพระจุฬามณีเจดียสถาน ณ “แหลมพรหมเทพ” เพื่อคงไว้เป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์โบราณราชประเพณีนี้ อันมีความสัมพันธ์กับรอยพระพุทธบาท หวังให้อนุชนรุ่นหลังได้ช่วยกันสืบสาน “รอยไทย” ไว้คงอยู่คู่เมืองไทยตลอดไป...



ข้อสรุป

ข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้ที่ได้นำมาอ้างอิง หวังว่าคงจะเป็นคำตอบที่ชัดเจน พอที่จะสรุป “ฟันธง” ลงไปได้จากคำถามที่ว่า.. “ลอยกระทง เพื่อวัตถุประสงค์อะไร...?” ก็คงจะลอยเพื่อบูชา “รอยพระพุทธบาทที่ ๕ ณ นัมทานที” แต่เพียงประเด็นเดียวเท่านั้นที่เป็นคำตอบ

All these data to be referenced. Hope that answers would be clear enough to conclude "decide for sure," down to the question that .. "What's Loy Kratong Festival purposes ...?" would float to worship "Buddha foot 5 at Namtanatee" but only issue is the answer.

รวมความว่า พระราชพิธีนี้เรียกว่า “การลอยพระประทีป” พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงเรือพระที่นั่งทรงพระภูษาขาว เครื่องราชอาภรณ์ล้วนแต่ทำด้วยเงิน แล้วก็ล่องลงไปตามลำน้ำ นอกจากนี้ยังมีขบวนแห่เรือการละเล่นต่างๆ และขบวนเรือผ้าป่า เพื่อนำไปทอดตามอารามต่างๆ แล้วมีการจุดดอกไม้เพลิงเป็นการเฉลิมฉลองอีกด้วย ฯ

combines that. Royal ceremony is called. "King of floating light" majesty royal yacht has come into his white clothes. A royal garments were all made with money. Then cruise down the rivers. There are also various amusement boat parade. And boat procession ผ้าป่า. To bring joy to the fried variety. Then a point a firework celebration with the .

******************************




ขอเชิญ "ลอยกระทงออนไลน์" ได้จากเว็บไซด์ชั้นนำต่างๆ

Click

Click Here.. Free Code
By... Tamroi Media Center


คำกล่าวถวาย "กระทงลอยประทีป"

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

มะยัง อิมินา ปะทีเปนะ นัมมะทายะ นะทิยา

ปุเลเนฐิตัง มุนิโน ปาทะวะลัญชัง อะภิปูเชมะ

อะยัง ปะทีเปนะ มุนิโน ปาทะวะลัญชัสสะ ปูชา

อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ


........ข้าพเจ้าขอน้อมถวายกระทงประทีปนี้ เพื่อสักการะ "รอยพระพุทธบาท" ของพระศาสดา อันประดิษฐานอยู่ ณ หาดทราย "นัมมทานที" เป็นพุทธบูชา เพื่อประโยชน์ และประโยชน์สุข แก่ข้าพเจ้าสิ้นกาลนานเทอญ

คำกล่าวบูชา "ลอยกระทง"

อะหัง อิมินา ปะทีเปนะ อะสุกายะ

นัมมะทายะ นะทิยา ปุลิเนฐิตัง

มุนิโท ปาทะวะลัญชัง อะภิปูชะยามิ อะยัง

ปะทีเปนะ มุนิโท ปาทะวะลัญชัง ปูชา

มัยหัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ


......ด้วยการบูชาด้วยประทีปนี้ ข้าพเจ้าขอน้อมบูชา "รอยพระพุทธบาท" ของพระศาสดา อันประดิษฐานอยู่ ณ หาดทราย "นัมมทานที" ขอให้การบูชารอยพระพุทธบาทด้วยประทีปนี้ จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ และประโยชน์สุข แก่ข้าพเจ้าสิ้นกาลนานเทอญ.

คลิปวีดีโอ ย้อนอดีต..งานฟื้นฟูประเพณีลอยกระทง

ณ เกาะแก้วพิสดาร จ.ภูเก็ต




โดย..คณะศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 12/11/08 at 03:58 Reply With Quote


เพลง "ลอยกระทง" ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ




......วันที่ 28 พ.ย. 2555 จะเป็นวันลอยกระทง ซึ่งคนไทยร่วมกันอนุรักษ์ สืบเนื่องมายาวนานโอกาสประเพณีสำคัญดังกล่าว วันนี้สำนักข่าวไทย ขออัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ลอยกระทง ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาให้รับฟัง.



เพลง ลอยกระทง / คณะสุนทราภรณ์



......วันเพ็ญ เดือนสิบสอง

น้ำก็นอง เต็มตลิ่ง

.เราทั้งหลาย ชายหญิง

.สนุกกันจริง วันลอยกระทง

.ลอย ลอยกระทง . ลอย ลอยกระทง

.ลอยกระทง กันแล้ว

.ขอเชิญน้องแก้ว ออกมารำวง

.รำวง วันลอยกระทง .รำวง วันลอยกระทง

บุญ จะส่ง ให้เรา สุขใจ

บุญ จะส่ง ให้เรา สุขใจ

.วันเพ็ญ เดือนสิบสอง .น้ำก็นอง เต็มตลิ่ง

.เราทั้งหลาย ชายหญิง .สนุกกันจริง วันลอยกระทง

.ลอย ลอยกระทง .ลอย ลอยกระทง

.ลอยกระทง กันแล้ว .ขอเชิญน้องแก้ว ออกมารำวง

.รำวงวันลอยกระทง .รำวงวันลอยกระทง

.บุญ จะส่ง ให้เรา สุขใจ .บุญ จะส่ง ให้เรา สุขใจ...




คลิปวีดีโอ



เพลงลอยกระทง




ประวัติรอยพระพุทธบาท ๕ แห่ง


.....สําหรับรอยพระพุทธบาทที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ซึ่งได้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นมีอยู่ ๕ แห่ง ดังนี้คือ

๑. สุวัณณมาลิก
๒. สุวัณณบรรพต
๓. สุมนกูฏ
๔. โยนกปุระ
๕. นัมทานที


ตามความเชื่อของคนโบราณต่างมีความเชื่อถือมานานแล้วว่า ครั้งหนึ่งในชีวิต หากได้มีโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาท นับว่ามีบุญวาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงมีประเพณีพากันเดินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท โดยเตรียมเสบียงอาหารไปกินระหว่างทาง แม้สมัยหลวงพ่อบวชอยู่กับ หลวงปู่ปาน ท่านก็ได้นำคณะธุดงค์ไปกราบรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีเช่นกัน

ต่อมาในสมัยปัจจุบันนี้ถนนหนทางดีขึ้น ประเพณีเดินไปนมัสการพระพุทธบาทก็เริ่มเสื่อมหายไป เพราะใครจะไปเมื่อไรก็ได้ เนื่องจากมีความสะดวกเกินไปนั่นเอง ความศรัทธาในเรื่อง "รอยพระพุทธบาท" จึงเริ่มจืดจางความสำคัญไป แต่ที่ยังมีความเชื่อความเลื่อมใสก็ยังมีอีกมากมาย เช่นที่รอยพระพุทธบาทบน เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี

โดยเฉพาะเนื่องในวโรกาสครบรอบ ๖๐ พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีการจัดสร้าง รอยพระพุทธบาทจำลองทองคำ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองอีกด้วย เวลานี้หลังจากพระราชพิธีพุทธาภิเษกแล้ว ได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สำหรับวัดของเรา อาจจะมีข่าวดีในเรื่องนี้บ้างก็ได้ นั่นคือจะมีการเททองรอยพระพุทธบาทจำลอง เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ที่โบสถ์เก่า เป็นการทดแทนรอยพระพุทธบาทเดิมที่หายไป ตั้งแต่สมัยเจ้าอาวาสองค์เก่าแล้วนั้น

ต่อไปขอนำความเชื่อถือของคนสมัยก่อน เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ยังปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ใบลาน หรือศิลาจารึก ยังสามารถค้นหามาอ้างอิงได้ เพื่อเป็นการสานต่อความเชื่อถือระหว่างคนสมัยก่อนกับคนสมัยนี้ และเพื่อสืบต่อไปยังคนรุ่นหลังอีก

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้ริเริ่มฟื้นฟูรอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้เพื่อเรียกความศรัทธาให้กลับมาเหมือนเดิม แต่ก่อนที่จะนำหลักฐานต่างๆ มาอ้างอิงนั้น ใคร่ขอนำหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้มาให้ทราบก่อน

ซึ่งตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายท่านวิเคราะห์แตกต่างกันไป ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า รอยพระพุทธบาททั้ง ๕ แห่ง ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น ในปัจจุบันนี้จะเป็นสถานที่ใด และอยู่ในประเทศไหนบ้าง เป็นต้น แต่บางแห่งก็วิเคราะห์ลงเป็นแนวเดียวกัน ที่มีปัญหาถกเถียงกันไม่มีที่สิ้นสุดจนถึงปัจจุบันนี้ มีด้วยกัน ๒ แห่ง คือ รอยพระพุทธบาทที่ ๔ และที่ ๕ คือ "โยนกปุระ" และ "นัมทานที"

ในตอนนี้ ผู้เขียนขอนำคำวิเคราะห์ของ ดร.นันทนา ชุติวงศ์ ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ "รอยพระพุทธบาท" ที่ได้กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทยอินเดีย ลังกา และพม่า จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เมืองโบราณ โดยเฉพาะรอยพระพุทธบาท ๕ แห่งนั้น ท่านวิเคราะห์ไว้ในวงเล็บดังนี้

สุวัณณมาลิก คงจะได้แก่ที่ตั้งพระสถูป รุวันเวลิ ที่อนุราธปุระ ในลังกา
สัจจพันธ์คีรี คือเขาสุวรรณบรรพต ที่สระบุรี
สุมนกูฏ อันอาจจะหมายถึง "เขาสุมนกูฏ" ในลังกา หรือ "เขาพระบาทใหญ่" ที่สุโขทัย
แม่น้ำนัมทา ในอินเดียหรือในพม่า
โยนกปุระ โยนกปุระที่กล่าวถึงนี้ อาจจะหมายความถึงดินแดนภาคเหนือของไทย ที่เคยเป็นอาณาจักรล้านนา และ อาณาจักรโยนก


ดร.นันทนา ได้ให้ความเห็นต่อไปว่า มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ภาพเขียนฝาผนัง หรือลายทองรดน้ำบนตู้พระธรรม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่แสดงเรื่องรอยพระพุทธบาท ๕ รอยที่มีอยู่ซ้อน และรอยนี้มักจะปรากฏอยู่ทางทิศเหนือของแผ่นภาพ อาจจะหมายถึงรอยพระพุทธบาทที่ โยนกปุระ ซึ่งได้แก่ "อาณาจักรล้านนา" อันมีประเพณีการทำพระบาท ๔ รอยมาก่อนที่อื่น และนิยมทำมากกว่าที่อื่นๆ



รอยพระพุทธบาทที่ ๔
"โยกนกปุระ"

ข้อวินิจฉัยตรงนี้มีความสำคัญมาก ท่านอาจจะหมายถึง พระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งชื่อเดิมเรียกกันว่า "พระพุทธ บาทเขารังรุ้ง" แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานอะไรมารับรอง เพราะท่านผู้อ่านก็ยังสงสัยอยู่ว่า "พระพุทธบาทสี่รอย" จะเป็น "รอยพระพุทธบาทที่ ๔" ได้อย่างไรกัน

แต่นับเป็นความโชคดีเป็นอย่างยิ่ง ที่เราสามารถค้นหาหลักฐานมายืนยันกันได้ จากข้อวินิจฉัยของ ดร.นันทนา ว่า รอยพระพุทธบาทที่ ๔ โยนกปุระ นั้น อาจจะเป็นที่ พระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งผู้เขียนจะได้นำประวัติพระพุทธบาทสี่รอยมาให้อ่านก่อน แล้วจะนำข้อความในศิลาจารึกมารับรองอีกว่า พระพุทธบาทสี่รอย หรือพระพุทธบาทเขารังรุ้งนี้ จะเป็นพระพุทธบาทที่ประทับไว้ ณ โยนกบุรี ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทที่ ๔ ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหรือไม่ ส่วนจะมีเหตุผลเป็นประการใด ก็ฝากไว้ให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้ช่วยกันวินิจฉัยต่อไป



ความเป็นมาของพระพุทธบาทสี่รอย

ตามความในหนังสือ “ประวัติความเป็นมาของพระพุทธบาทสี่รอย” ภายในเล่มนั้นเริ่มต้นเป็น “คำปรารภ” ของ พล.อ.เชิดชาย ธีรัทธานนท์ (อดีต ผช.ผบ.ทบ.๒) สรุปโดยย่อว่า ได้เป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่ตามที่ พระพรชัย ปิยวัณโณ เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้คัดลอกมาจากคำที่จารึกใน “ใบลาน” เก่าแก่มาก เป็นภาษาเหนือ โดยได้แปลเป็นภาษาไทยกลาง เพื่อความเข้าใจของผู้อ่านทั่วไป แต่ในที่นี้จะขอนำมาโดยย่อ ตามตำนานได้เล่าว่า

เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ พร้อมด้วยพระสาวก ๕๐๐ องค์ ได้เสด็จจารึกมายังประเทศนี้ โดยแวะฉันภัตตาหารอยู่บนยอดเขาแห่งนี้ ซึ่งขณะนั้นมีชื่อว่า “เวภารบรรรต”

ขณะประทับอยู่นั้น ก็ได้ทราบว่าบนเทือกเขาแห่งนี้ ได้มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่บนก้อนหินก้อนใหญ่แล้วทั้ง ๓ พระองค์ คือ พระกกุสันโธ รอย ๑ พระโกนาคม รอย ๒ พระพุทธกัสสป รอย ๓ และต่อไป พระศรีอาริย์ ก็จักเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี้ และจักประทับรอยพระบาททั้งสี่รอยนี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จไปประทับรอยพระบาท ซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์

ในตอนนี้ หลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง ก็ได้ยืนยันไว้เช่นกันในหนังสือ พุทธาจารานุสรณ์ ที่แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ ตามความในหนังสือ "ประวัติพระพุทธบาทสี่รอย" ได้กล่าวต่อไปอีกว่า

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานล่วงแล้วประมาณ ๒๐๐๐ วัสสา เทวดาทั้งหลายต้องการ จะให้ “พระพุทธบาทสี่รอย” ปรากฏแก่คนทั้งหลาย จึงเนรมิตเป็น “รุ้ง” (เหยี่ยว) ตัวใหญ่ บินโฉบลงมาเอาลูกไก่ของชาวบ้านที่อยู่เชิงเขา นั้น แล้วก็บินกลับขึ้นไปสู่ยอดเขา

ชาวบ้านผู้นั้นก็โกรธมาก จึงตามขึ้นไปแต่ก็ไม่เห็น “รุ้ง” ตัวนั้น เห็นแต่รอยพระพุทธบาทสี่รอย จึงได้ลงมาบอกเล่าแก่ชาวบ้านทั้งหลายต่างก็พากันขึ้นไปสักการบูชามากมาย แต่นั้นมาจึงได้ชื่อว่า “พระบาทรังรุ้ง” (รังเหยี่ยว)

ในสมัยนั้น พระยาเม็งราย ครองเมืองเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจึงเสด็จขึ้นไปกราบไหว้บูชา และพระราชาที่สืบราชสมบัติต่อมา ก็ได้ขึ้นไปกราบพระพุทธบาทสี่รอยทุกๆ พระองค์ หลังจากนั้น "พระบาทรังรุ้ง" หรือ "รังเหยี่ยว" นี้ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "พระพุทธบาทสี่รอย" ซึ่ง ครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านได้สร้างพระวิหารครอบ รอยพระพุทธบาทไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒

ต่อมาในสมัยปัจจุบันนี้ ครูบาพรชัยและชาวเชียงใหม่ ตลอดถึงจังหวัดต่างๆ ซึ่งรวมทั้งคณะศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ก็ได้ไปทอดกฐินเพื่อสมทบทุนบูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหาร จนกระทั่งสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และมีความสวยสดงดงามมาก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖

เมื่อท่านผู้อ่านได้ติดตามมาถึงตอนนี้ ก็คงจะเริ่มเห็นเหตุเห็นผลไปตามหลักฐานอย่างชัดเจน แต่ก็ยังไม่มีอะไรมายืนยันข้อสันนิษฐานของ ดร.นันทนา ว่า "พระบาทสี่รอย" หรือ "พระบาทรังรุ้ง" จะเป็นพระบาทรอยที่ ๔ ที่ทรงประทับไว้ ณ โยนกปุระ ที่นักประวัติศาสตร์ นักโปราณคดีทั่วโลก ต่างก็ค้นหากันมานาน

แต่เมื่อผู้เขียนได้พบข้อความจากหนังสือ "ย่อประวัติวัดพระเชตุพน" ซึ่งคัดมาจากศิลาจารึก อันติดอยู่ที่พื้นผนังกำแพงมุขหลังของพระวิหาร อันเป็นที่ประดิษฐานพระนาคปรก ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ข้อความในศิลาจารึก ได้บรรยายเรื่องพระพุทธบาททั้ง ๕ แห่ง โดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทที่ ๔ "โยนกปุระ" ได้จารึกไว้ว่า

รอยพระพุทธบาทอันพระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานไว้บนยอดเขา "รังรุ้ง" แดนโยนกประเทศ คือเมืองเชียงใหม่..."

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เรื่องพระพุทธบาทเขารังรุ้งนี้ ยังมีกล่าวไว้ในหนังสือสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกเล่มหนึ่ง คือ "คำให้การขุนหลวงหาวัด" ได้บรรยายความตอนนี้ไว้ว่า

สมัยสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปรบที่เมืองห่าง พระองค์ทรงทราบว่ามีรอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดเขา เรียก "เขารังรุ้ง" จึงได้เสด็จขึ้นไปนมัสการ ทรงเปลื้องเครื่องทรงทั้งสังวาลและภูษา แล้วทรงถวายไว้ในรอยพระพุทธบาท และทำสักการบูชาด้วยธง ธูปเทียน ข้าวตอกดอกไม้ มีเครื่องทั้งปวงเป็นอันมาก แล้วจึงทำการพิธีสมโภชอยู่เจ็ดราตรี ดังนี้



เมื่อนำหลักฐานต่างๆ เหล่านี้มาเทียบเคียงกันแล้ว ท่านผู้อ่านคงจะสรุปได้ว่า รอยพระพุทธบาทที่ ๔ ตามที่หากันมานานนั้น บัดนี้ได้เปิดเผยความจริงแล้ว รวมความว่า พระพุทธบาท ๕ รอยนั้น ประดิษฐานอยู่ที่ลังกา ๒ แห่ง คือ รอยที่ ๑ "สุวัณณมาลิก" และรอยที่ ๓ "สุมนกูฏ"

ส่วนรอยที่ ๒ "สุวรรณบรรพต" และรอยที่ ๔ "โยนกปุระ" และรอยที่ ๕ "นัมทานที" ก็คงอยู่ในประเทศไทยนี่เอง ถ้าดูตามแผนที่ประเทศไทยแล้วจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับไว้ตั้งแต่เหนือจรดใต้ คือภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ภาคกลาง คือ สระบุรี และภาคใต้ คือ ภูเก็ต เป็นการครอบคลุมอาณาจักรและพุทธจักรไว้ด้วยกัน เป็นการประทับไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะรวมกันเป็นประเทศไทยอย่างสมัยปัจจุบันนี้

อีกทั้งเป็นการกำหนดขอบเขตให้เป็นเมืองผ้ากาสาวพัสตร์ ที่จะต้องโบกสะบัดไปไม่มีที่สิ้นสุด ตราบเท่าครบอายุพระศาสนา ๕๐๐๐ ปี หลังจากพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานแล้ว รอยพระพุทธบาทในประเทศไทยยังมีอีกหลายแห่ง แต่ที่มีชื่อเสียงและปรากฏในพระไตรปิฎก มีเฉพาะตามที่กล่าวมาแล้วนั้น



รอยพระพุทธบาทที่ ๕
"นัมทานที"


อันดับต่อไปจะขอกล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่ ๕ ที่พระพุทธองค์ทรงประดิษฐานไว้ ณ ริมฝั่งน้ำนันทา ตามที่ชาวประชาไทยได้สักการบูชาด้วยโคมกระทง โดยการประดิษฐ์ คิดกระทำให้เป็นรูป "ดอกบัว" อันเป็นสัญลักษณ์เฉพาะผู้ที่ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธจ้าเท่านั้น

ถ้าเราจะศึกษาตามประเพณีนิยมจากประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน มีแต่ประเทศไทยเท่านั้น ที่มีวิธีการบูชารอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ทั้งยังรักษารูปแบบประเพณีนี้ไว้ ซึ่งกระทําสืบต่อกันมานานหลายชั่วคนแล้ว แต่ความเชื่อถือของผู้ค้นคว้าทั้งหลายยังไม่แน่ชัดว่าอยู่ที่ไหน

ในบางประเทศอ้างว่ารอยพระพุทธบาทแห่งนี้อยู่ในประเทศของตน ทำให้นักค้นคว้าต่างมองข้ามความสำคัญประเทศไทยไปทั้งสิ้น ค้นไปค้นมานักรู้บางท่านถึงกับไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมายังดินแดนแห่งนี้

บางท่านก็มุ่งเน้นแต่ค้นคว้า "รอยพระพุทธบาทจําลอง" ว่าเป็นสมัยใดบ้าง ใครเป็นผู้สร้างบ้าง เป็นต้น เลยมองข้ามความสําคัญของพระพุทธบาทที่เป็นของจริงไป โดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทที่ "เกาะแก้วพิสดาร" จ.ภูเก็ต พวกนักสํารวจรอยพระพุทธบาททั้งหลายไม่เคยให้ความสนใจเลย คนไทยสมัยใหม่เลยไม่ค่อยได้รู้ของจริง ความเชื่อความนิยมในการบูชารอยพระพุทธบาท จึงได้เริ่มเสื่อมหายคลายความศรัทธาไปในที่สุด



นิราศถลาง


สำหรับความนิยมของคนสมัยก่อน อาจจะหาหลักฐานได้ยาก พอดีมีผู้ส่งคำกลอนจากหนังสือวรรณกรรมของสุนทรภู่ ที่ได้บรรยายการเดินทางมายังดินแดนปักษ์ใต้ เมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา โดยบันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นบทกลอนดังนี้

มาประมาณโมงหนึ่งถึงพระบาท
ที่กลางหาดเนินทรายชายสิงขร
พี่ยินดีปรีดาคลายอาวรณ์
ประณมกรอภิวาทบาทบงสุ์

จุดธูปเทียนบุปผาบูชาพร้อม
รินน้ำหอมปรายประชำระสรง
แล้วกราบกรานคลานหมอบยอบตัวลง
เหมือนพบองค์โลกนาถพระศาสดา

พี่พบต้องมองแลพระลายลักษณ์
เหมือนประจักษ์จริงจังไม่กังขา
มีทั้งร้อยแปดอย่างกระจ่างตา
เป็นดินฟ้าพรหมอินทร์สิ้นทั้งปวง

มีขอบเขาจักรวาฬวิมานมาศ
ห้องอากาศเมรุไกรอันใหญ่หลวง
พระสุริยันจันทราดาราดวง
มีทั้งห้วงนทีสีทันดร

นาคมนุษย์ครุฑาสุรารักษ์
ทั้งกงจักรห้องแก้วธนูศร
สกุณินกินนราวิชาธร
มีไกรสรเสือช้างและกวางทราย

มีอยู่พร้อมเพริศพริ้งทุกสิ่งสรรพ์
ดูอนันต์นับยากด้วยมากหลาย
ยิ่งพิศดูก็ยิ่งงามอร่ามพราย
ด้วยแสงทรายแวววามอร่ามเรือง

มีบัวบุษย์ผุดรับระยับวาบ
ดูเปล่งปลาบแวววาวเขียวขาวเหลือง
พื้นพระบาทผุดผ่องดังทองประเทือง
ดูรุ่งเรืองด้วยทรายนั้นหลายพรรณ

ตามริมรอบราบรื่นทั่วพื้นหาด
ดังแก้วลาดแลรอบเป็นขอบขัณฑ์
ดูก็น่าผาสุกสนุกครัน
ด้วยสีสันแสงพรายหลายประการ

พวกเพื่อนฝูงทั้งหลายน้อมกายกราบ
ศิโรราบเรียบเรียงเคียงขนาน
พระสุริยงลงลับโพยมมาน
ก็คิดอ่านสมโภชพระบาทา

บ้างรำเต้นเล่นตามประสายาก
พิณพาทย์ปากฟังเสนาะเพราะนักหนา
บ้างก็นั่งตีกรับขับเสภา
ตามวิชาใคร่ถนัดไม่ขัดกัน

อึกทึกกึกก้องทั้งท้องหาด
ไหว้พระบาทปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
แต่นอนค้างกลางทรายอยู่หลายวัน
บ้างชวนกันเที่ยวเล่นไม่เว้นวาย

บ้างเที่ยวเก็บว่านยากายสิทธิ์
ปรอทฤทธิ์พลวงแร่แม่เหล็กหลาย
พวกลายแทงก็แสวงไปตามลาย
เที่ยวแยกย้ายมรรคาเข้าป่าไป

บ้างเที่ยวจับนกหนูลูกหมูเม่น
มาเลี้ยงเล่นตามประสาอัชฌาสัย
บ้างลงเล่นยมนาชลาลัย
เห็นเต่าใหญ่ขึ้นหาดดาษดา

ชวนกันจับขี่เล่นเช่นกับช้าง
ให้คลานกลางหาดทรายชายพฤกษา
เต่ามันพาลงทะเลเสียงเฮฮา
กลับขึ้นมาหัวร่อกันงอไป

เขาเที่ยวเล่นเป็นสุขสนุกสนาน
ในกลางย่านยมนาชลาไหล
แต่ตัวพี่เศร้าสร้อยละห้อยใจ
แสนอาลัยนิ่มนุชสุดประมาณ

ไหว้พระบาทยมนาแล้วลากลับ
ก็เสร็จสรรพเรื่องราวที่กล่าวสาร
นิราศนุชสุดใจไปไกลนาน
แต่งไว้อ่านอวดน้องลองปัญญา

ฉันเป็นศิษย์สุนทรยังอ่อนศักดิ์
พิไรรักมิ่งมิตรกนิษฐา
ประโลมโลกโศกศัลย์พรรณนา
ยุติกาจบกันเท่านั้นเอย ฯ


((( โปรดติดตามตอนพบหลักฐานใน "กเบื้องจาร" )))




(ทิวทัศน์บริเวณด้านหน้าและด้านหลัง เกาะแก้วพิสดาร จ.ภูเก็ต
จะเห็นก้อนหินเป็นรูป "ช้างหมอบ" อยู่ใกล้รอยพระพุทธบาท)




ประวัติความเป็นมารอยพระพุทธบาทที่ ๕


สำหรับประวัติความเป็นมาเรื่อง รอยพระพุทธบาทที่ ๕ นี้มีความสำคัญมาก เพราะนักค้นคว้าประวัติศาสตร์ ต่างก็ค้นคว้าหากันมานานแล้ว โดยเฉพาะประเทศต่างๆ เช่น พม่า ลังกา ต่างก็อ้างว่าอยู่ในประเทศของตน บางคนก็เข้าใจว่าอยู่ในประเทศอินเดียก็มี

ต่อมาเมื่อได้พบหลักฐานจาก “กเบื้องจาร” ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินบริเวณ บ้านคูบัว จังหวัด ราชบุรี ทำให้เราได้รู้ความจริงว่า รอยพระพุทธบาทที่ ๕ หรือตามประวัติที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า ประทานรอยพระพุทธบาทนี้ไว้ให้ พญานาคราช ทั้งหลายได้สักการบูชานั้น ไม่ได้อยู่ที่ประเทศไหนตามที่เข้าใจกัน ความจริงอยู่ในปรเทศไทยนี่เอง

อีกทั้งความเชื่อถือของชาวใต้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ต่างก็มีความเคารพเลื่อมใส พากัน ไปกราบไหว้บูชาอยู่เสมอมา ทั้งได้ประสบพบกับความ “พิสดาร”อีกนานัปการ คนที่ไม่มีความเคารพต่างก็ประสบภัยพิบัติกันไปแล้วหลายราย โดยเฉพาะวัตถุสิ่งของที่นั่น แม้แต่ทรายเม็ดเดียวยังเอากลับมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราพอจะสรุปกันเพียงผิวเผินได้ว่า ถ้าไม่ใช่ของจริงแล้วไซร้ คงจะไม่มีอะไรเป็นที่อัศจรรย์อย่าง แน่นอน

รอยพระพุทธบาท ๕ แห่ง


แต่ก่อนที่ถึงเรื่องราวทั้งหลายต่อไป จะขอ ย้อนกล่าวถึงรอยพระพุทธบาททั้ง ๕ แห่งเสีย ก่อน ความจริงรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย ยังมีอีกมาก แต่เท่าที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกจนเป็น ที่ยอมรับของท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายนั้น มีปรากฏอยู่ในพระบาลีดังนี้ คือ :-

๑. สุวรรณมาลิก (ลังกา)
๒. สุวรรณบรรพต (สระบุรี)
๓. สุมนกูฏ (ลังกา)
๔. โยนกปุระ (เชียงใหม่)
๕. นัมทานที (ภูเก็ต)

ข้อความในวงเล็บนั้น ผู้เขียนลงเอาไว้เพื่อความเข้าใจตามที่ได้ค้นคว้ามา ซึ่งจะหาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ “ธัมมวิโมกข์” ฉบับ ที่ ๑๕๖, ๑๖๓, ๑๖๔ (ปี ๒๕๓๗) ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะรอยพระพุทธบาทที่ ๕ “นัมทานที” ซึ่งได้ยืนยันไว้เป็นหลักฐานจากหนังสือ “พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ์”อ่านคำจารึกโดย พระราชกวี (อ่ำ ธมฺมทตฺโต) วัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ มีใจความตามสำนวนสมัยเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมานี้เองว่า...

“บุญมุนี อยู่ถ้ำฤษี ผู้นำพุทธ สู่เกาะคนชาวน้ำ หมู่คนน้ำ เกาะแก้ว เข้ากราบไหว้ ห้อมล้อม พุทธสอนมาก หมู่คนขอรอยตีนไว้ ชายทเล พุทธเหยียบดิน ทำให้ใหญ่กว่า ๓ เท่า เมื่อวันขึ้น ๑๓ ค่ำนั้น พุทธมาถึงบ้านแม่กุน วันขึ้น ๑๔”

“พุทธ ปุณณ เดินทาง ไปเขาสัจจพันธ พาสัจจพันธ ไปส่งเขาสัจจพันธ อันสัจจพันภิกขุ วอนขอ รอยตีน อันเหยียบหินในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย เหยียบหิน เชิงเขานั้น

พุทธสร้างรอยตีน ณ หิน ทำรอยใหญ่กว่า ๓ เท่า เถรเดินภุ่มมือตลอดนั้น เสดแล้ว พระภิกขุพันหมอบกราบพุทธ พุทธว่าเขา-ตีนพุทธ”


ถ้าใช้สำนวนในปัจจุบันอ่านได้ดังนี้

“พระปุณณะ อยู่ถ้ำฤษี (เขางู จ.ราชบุรี) ผู้นำพระพุทธเจ้า สู่เกาะคนชาวน้ำ (ชาวเล) หมู่คนน้ำ เกาะแก้ว เข้ากราบไหว้ ห้อมล้อม พระพุทธเจ้าสอนมาก หมู่คนขอรอยพระบาท ไว้ที่ชายทะเล พระพุทธเจ้าทรงเหยียบดิน ทำให้ใหญ่กว่า ๓ เท่า เมื่อวันขึ้น ๑๓ ค่ำนั้น (เดือนอ้าย พุทธพัสสา ๒๒) พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาถึงบ้านแม่กุน วันขึ้น ๑๔ ค่ำ

พระพุทธเจ้า พระปุณณะ เดินทางกลับไปที่เขาสัจจพันธ์ พาสัจจพันธ์ไปส่งที่เขาสัจจพันธ์ อันสัจจพันธ์ภิกขุทูลขอรอยพระพุทธบาท พระพุทธองค์จึงทรงเหยียบหินในวันขึ้น ๑๕ เดือนอ้าย เหยียบหินไว้ที่เชิงเขานั้น

พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทบนก้อนหิน ทำรอยใหญ่กว่า ๓ เท่า พระเถระเดินพนมมือตลอดเวลา เสร็จแล้วพระภิกษุสัจจพันธ์จึงหมอบกราบพระพุทธเจ้า

พระองค์จึงตรัสว่า "เขาพระพุทธบาท" (คงจะทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปคนจะเรียกกันอย่างนั้น)

ท่านเจ้าคุณพระราชกวี ได้วินิจฉัยเรื่องนี้ ไว้อีกว่า

“เท่าที่ปรากฏรอยตีนพุทธนี้ ย่อมทรงแสดงให้เห็นหลักฐาน พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระองค์ว่า ได้เสด็จตั้งแต่ใต้สุดถึงเหนือสุดของ ดินแดน “สุวัณณภูมิ” จึงเสด็จเพื่อทรงเหยียบแสดงรอยพระบาทเป็นประจักษ์พยานไว้ สัจจพันธ์คีรี (จังหวัดสระบุรี) และที่ เกาะแก้ว(เกาะแก้วพิสดาร?) หรือ “นิมมทานที” (ไทยว่า..นัมมะทา) ซึ่งเป็นที่เลื่องลือมานาน กระทั่งถึงต่างประเทศคือลังกาและชมพูทวีป เพราะคำใน “อรรถกถา” ยืนยันอยู่



อรรถกถาปุณโณวาทสูตร


ในตอนนี้ตามความใน อรรถกถาปุณโณวาทสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีได้ตรัสเรียกพระอานนท์มาสั่งว่า

“อานันทะ..ดูก่อนอานนท์ พรุ่งนี้พวกเราจะเที่ยวบิณฑบาตที่หมู่บ้านพ่อค้าในแคว้นสุนาปรันตะ เธอจงให้สลากแก่ภิกษุ ๔๙๙ รูป..”

เมื่อพระอานนท์รับพระพุทธบัญชาแล้วจึงได้ประกาศแก่ภิกษุทั้งหลาย และในวันนั้นพระกุณฑธานเถระ จับได้สลากเป็นองค์แรกในตอนเช้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งเข้าผลสมาบัติ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะเกิดร้อนขึ้นมา

พระองค์ทรงพิจารณาแล้วทราบว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจะเสด็จไป แคว้นสุนาปรันตะ ซึ่งเป็นระยะทางไกลมาก จึงรับสั่งให้ วิษณุกรรมเทพบุตร เนรมิตเรือนยอด ๕๐๐ หลัง สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้ามี ๔ มุข (จตุรมุข) ของพระอัครสาวกทั้งสองมี ๒ มุข ที่เหลือมีมุขเดียว

พระศาสดาทรงเข้าสู่เรือนยอด และ พระสาวก ๔๙๙ รูป ต่างเข้าสู่เรือนยอด ๔๙๙ หลังตามลำดับ โดยมีเรือนยอดว่างอยู่หลังหนึ่ง เรือนยอดทั้ง ๕๐๐ หลังนั้นลอยไปในอากาศ

ครั้นถึงภูเขาชื่อ“สัจจพันธ์” แล้วทรงหยุดเรือนยอดไว้ในอากาศ ทรงเทศน์โปรดท่าน สัจจพันธ์ฤาษี จนสำเร็จพระอรหันต์แล้ว จึงได้เข้าสู่เรือนยอดที่ว่างหลังนั้น

ตามเสด็จไปพร้อมกับพระภิกษุทั้งหลายมายังหมู่บ้านพ่อค้า (เพชรบุรี) ที่เป็นน้องชายพระปุณณะ ต่างก็ได้ถวายทานเป็นอันมากแด่พระภิกษุทั้งหลาย อันมีองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน

เมื่อพระศาสดาประทับในที่นั้น ๒-๓วัน จึงได้เสด็จไปโปรด “นัมทานาคราช” ซึ่งตามในจารึกกเบื้องจารได้บอกว่า พระศาสดาได้เสด็จโปรด “คนน้ำ” ที่เกาะแก้ว โดยประทับไว้ทำให้ใหญ่กว่า ๓ เท่า

ตามอรรถถาจารย์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า พระศาสดาเสด็จออกจากนั้น แล้วเสด็จสู่ภูเขาสัจจพันธ ตรัสกะพระสัจจพันธว่า

"...เธอให้มหาชนดำเนินไปทางอบายแล้ว เธอจงอยู่ที่นี้แหละ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นละลัทธิเดิม แล้วให้ตั้งอยู่ในทางนิพพานเถิด.."

แม้ท่านสัจจพันธทูลขอฐานะอันตนพึงบำรุงรักษา พระศาสดาทรงแสดงรอยพระบาทเหมือนตราประทับ ณ ก้อนดินเหนียวเปียก จากนั้น จึงเสด็จสู่เชตวันแล

ท่านเจ้าคุณพระราชกวี วินิจฉัยคำว่า “นาค” กับ “น้ำ” นั้นออกเสียงใกล้เคียงกัน และใน “อุทานวรรค” ตรัสว่าเป็น “คนทะเล”

ซึ่งในเวลานี้ปรากฏว่า “คนน้ำ” หรือว่า “ชาวเล” ยังมีอยู่ ๕ กลุ่ม เช่นที่ “หาดราไวย์” เป็นต้น ใครจะลองไปถามประวัติแกดูบ้างก็ได้ เผื่อแกอาจจะจำได้บ้าง แต่ต้องพูดภาษาเขาได้นะ

ท่านเจ้าคุณพระราชกวีอธิบายต่อไปอีกว่า บุรโณวาทคำฉันท์มีว่า
เบื้องบรรพ์ยังมีพระดาบสหนึ่งสมญา พระสัจพรรทโคดม
สถิตเขาสุวรรณไพรพนม แทบสถานนิคม สุนาปรันตคามา
สมเด็จสุคตก็ทรง การุณโดยจง พระสัจจพรรทภักดี
จึงเหยียบบวรบาทมุนี ยังยอดศีขรี สุวรรณพรายเจษฎา
ด้วยบงกชบาทเบื้องขวา ลายลักษณวรา ทั้งร้อยแปดประการงาม


(พระวิหารครอบพระพุทธสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
เชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในห้าแห่ง คือ "โยนกบุรี" ที่มีในพระไตรปิฎก)


แต่ตามที่ทราบว่า สมัยก่อนพวกนี้จะรับจ้างพายเรือรับส่งคนไปกราบรอยพระพุทธบาทต่อมาชาวบ้านแถวหาดราไวย์ สามารถใช้เรือหางยาวแทนแกจึงเลยตกงานไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถไปหาเงินมาซื้อเรือหางยาวแข่งกับชาวบ้านได้ จึงต้องไปดำน้ำหากุ้งหาปลามาขายแทน แต่บางคนก็มีกับเขาเหมือนกันนะ

ตามความในพระไตรปิฎกกล่าวต่อไปว่าเมื่อพระศาสดาทรงออกจากที่นั้นแลัวก็เสด็จถึงภูเขาสัจจพันธ์ คือที่ สระบุรีนี่เอง ทรงแสดงรอยพระบาทไว้บนหลังแผ่นหินทึบ เหมือนประทับตราไว้บนก้อนดินเหนียวสดๆ ฉะนั้น ต่อจากนั้นก็เสด็จไปถึงพระเชตวันทีเดียว

เรื่องนี้ตามที่วินิจฉัยไว้แล้วว่า รอยพระพุทธบาททั้ง ๒ แห่งนี้ มิได้อยู่ที่อินเดียแน่นอน แต่ถ้าจะคิดว่ารอยพระบาท ณ นัมทานที อยู่ที่ลังกา ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเสด็จมาถึง “สุนาปรันตะ” สิ้นระยะทาง ๓๐๐ โยชน์ หรือ ๔,๘๐๐ ก.ม. ก็จะต้องย้อนกลับไปกลับมาหลาย ครั้ง

ทั้งที่ลังกาก็ไม่ปรากฎว่าพบรอยพระบาท ที่อยู่ริมทะเลอย่างนี้มาก่อน มีแต่รอยที่ปรากฎอยู่ ตามภูเขาเท่านั้น เช่น รอยพระพุทธบาทบนยอดเขา“สุมนกูฏ” เป็นต้น

เพราะฉะนั้น รอยพระบาททั้งสองแห่งนี้จะต้องอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ถ้าเชื่อว่ารอยพระพุทธบาทที่สระบุรีเป็นของจริง รอยพระพุทธบาทที่ภูเก็ตก็ต้องเป็นของจริงเช่นกัน โดยเฉพาะความพิสดารเล่ากันไม่หวาดไม่ไหว

เล่าลือกันจนไม่มีใครกล้าไป แต่ที่ไปกันได้เพราะอาศัยความตั้งใจจริง หรือที่เรียกกันว่า “เอาชีวิตเป็นเดิมพันกันทีเดียว” เพราะถ้ายังรักตัวกลัวตาย หรือชอบความสนุกสนาน ก็คงจะไม่ได้ไปยืนอยู่ ณ ที่นี้เป็นแน่แท้



(รอยพระพุทธบาท ณ สุวรรณบรรพต คือที่จังหวัดสระบุรี ตามความเชื่อมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา)

โดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ สมัยโบราณก็มีความเชื่อว่า เป็นรอยพระพุทธบาทที่ ๕ ที่ได้ประทับไว้ ณ ริมฝั่งน้ำนัมทา ตามที่ นางนพมาศ เป็นผู้คิดประดิษฐ์ “กระทง” ให้มีลักษณะเป็นรูป “ดอกบัว” เพื่อเป็นเครื่องบูชาสักการะลอยไปบูชารอยพระพุทธบาท โดยฝากไปกับ “พระแม่คงคา” ซึ่งเรื่องวัตถุประสงค์ในการลอยกระทงนี้ กำลังถูกลอยหายไปกับกระแสน้ำเหมือนกัน..สวัสดี.

The only trace of the Buddha Foot. Ancient belief that it is. Buddha Foot is a 5 to mark the Buddha on the waterfront (Namtanatee) at "Nangnoppamas" paint her as a thinker Npmas artificial "point" to look as a "lotus" to the machine. Drift body worship worship worship Buddha Foot by deposit to the "Phramae kongkha River", which on purpose. In the Loy Kratong Festival. Lloyd is being lost with the same currents.. Hello...


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 10/11/11 at 09:14 Reply With Quote


สรุปความโดยย่อ

"ประเพณีลอยกระทง เพื่อวัตถุประสงค์อะไร"


"..........ประเพณีลอยกระทง เพื่อวัตถุประสงค์อะไร มีเหตุผลเป็นประการใด ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านโปรดใช้วิจารณญาณไปด้วย เพราะจะได้อ้างเหตุอ้างผลไปตามหลักฐานพยาน ส่วนจะเชื่อหรือไม่ จะเป็นความจริงแค่ไหน เราต้อง ไปพิสูจน์กัน อย่าหลับหูหลับตาอ้างเอาแต่ความคิดของตนเอง มิฉะนั้น...เราจะไม่รู้คุณค่าว่า เรามีของดีอยู่ในประเทศไทยอีกมากมาย

..........เมื่อพูดถึงการ “ลอยกระทง” คนไทยทุกคนแม้แต่ลูกเด็กเล็กแดงก็รู้จักกัน โดยเฉพาะประเทศไทยมีการรักษาประเพณีนี้มานานแล้ว แต่รูปแบบการจัดงานในปัจจุบันนี้ มีเทคโนโลยี สมัยใหม่เข้ามามาก จึงมีการจัดแสดงแสงและ สีเข้ามาประกอบ ทำให้เกิดบรรยากาศอันดีที่ จะทำให้ผู้ชมต้องย้อนกลับไปในภาพอดีตอีก ครั้งหนึ่ง แต่ถ้าจะสืบสาวราวเรื่องความเป็นมาต่างๆ เช่นถามว่า...

“ประวัติการ ลอยกระทง มีความเป็น มาอย่างไร? ลอยเพื่อวัตถุประสงค์จะบูชาอะไร? และ นางนพมาศ เป็นใคร? มีประวัติความ เป็นมาอย่างไร? ถึงได้คิดประดิษฐ์กระทงให้มีลักษณะเป็นรูปทรง “ดอกบัว” อย่างนี้..?”

ชาวไทยทุกคนที่เคย “ลอยกระทง” มาแล้ว นับตั้งแต่เล็กจนโต ต้องอดหลับอดนอนไม่รู้สักกี่ครั้ง อาจจะเคยรู้คำตอบได้เป็นอย่างดี แต่คงจะมีไม่น้อยที่ลอยแล้วไม่รู้ว่าลอยเพื่ออะไรกันแน่....เพียงแต่ขอให้ได้รับความสนุกสนาน หรือชมความสวยสดงดงาม จากการจัดประกวด“กระทง” หรือประกวด “นางนพมาศ” เท่านั้น ก็พอใจ โดยเฉพาะผู้เขียนเอง เมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๕๓๖ บังเอิญได้ยินคำตอบทางโทรทัศน์ จาก “ดอกเตอร์” ท่านหนึ่งว่า “ลอยกระทง เพื่อลอยเคราะห์..ลอยโศก” แล้วกัน..!

สำหรับ “ภาพประกอบการศึกษา” ก็เหมือนกัน ซึ่งไว้ใช้ในการสอนเด็กนักเรียนเรื่อง “การลอยกระทง” โดยได้อธิบายไว้ในภาพวาดหลายประเด็น เช่น เพื่อบูชาและขอขมา “พระแม่คงคา” เพื่อบูชา “รอยพระพุทธบาท” ใน นาคพิภพ และเพื่อบูชา “พระอุปคุต” เป็นต้น


ในตอนนี้ “ผู้เขียน” ก็ไม่มีความรู้อะไรแต่ก็อยากจะ “รณรงค์วัฒนธรรมไทย” ต่อไป ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งที่เป็นห่วงเป็นใย ในวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยบางคนที่กำลังจะถูกย่ำยีเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่ง “ผู้เขียน” มีเจตจำนงที่จะฟื้นฟูประเพณี “ลอยกระทง” เพื่อให้ตรงกับความประสงค์ของโบราณราชประเพณี ที่สืบต่อกันมานานหลายชั่วคนแล้ว ซึ่งเป็นประเพณีอันดีงามผสม ผสานกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

เพราะว่าวัฒนธรรมไทยย่อมผูกพันกับสถาบัน “ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์” มานานแล้ว โดยเฉพาะประเพณีลอยกระทงนี้เป็นประเพณีที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ ย่อมเป็นที่รู้จักไปในนานาประเทศ แม้กระทั่งเพลง “ลอยกระทง” ฝรั่งบางคนยังร้องได้เลย..!

จึงนับเป็นที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เรามีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เพราะมีแต่ประเทศ ไทยเท่านั้น ที่ยังรักษารูปแบบประเพณีนี้มานาน แล้ว ซึ่งประเทศอื่นๆ ไม่มีประเพณีเช่นนี้มา ก่อนเลย อีกทั้งรอยพระพุทธบาทที่อยู่กลางทะเล ก็มีอยู่ในประเทศไทยแต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ “นางนพมาศ” คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูป “ดอกบัว” นั้น ก็เป็นการบ่งบอกเอาแล้วว่า เพื่อบูชา “รอยพระพุทธบาท” เป็นแน่แท้...

เพราะ “ดอกบัว” เป็นสัญลักษณ์เฉพาะผู้ที่ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นดังจะสังเกตได้ว่า “พระพุทธรูปปางลีลา” ทุกองค์ มักจะนิยมสร้างเป็นรูป "ดอกบัว" ไว้เพื่อรองรับฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ฉะนั้น เพื่อให้ สมเหตุสมผลตามข้อวินิจฉัย ผู้เขียนจึงใคร่ขอ นำหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยมา ยืนยันเป็นคำเฉลย จากคำถามที่ตั้งไว้ว่า... “เราลอยกระทงเพื่อบูชาอะไรกันแน่..?” ด้วยประการฉะนี้..สวัสดี.



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 27/11/15 at 05:38 Reply With Quote


.


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved