posted on 12/2/09 at 15:37
การระลึกชาติของ..หลวงปู่บุดดา ถาวโร
"...เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าล่วงศีล 5 ก็เป็นอบายภูมิเหมือนกัน ไม่ต่างจาก สัตว์เดรัจฉาน เพราะยังเบียดเบียนกัน
สร้างกรรมเรื่อยไป มนุษย์ ถ้าเบียดเบียนกันก็เป็นอมนุษย์ทันที ขาดจากศีลธรรมไม่ได้หรอก เป็นเปรต อสุรกายทันที เดี๋ยวนั้นเลย..."
ประวัติโดยย่อ
........หลวงปู่บุดดา ถาวโร มีนามเดิมว่า
มุกดา นามสกุล มงคลทอง กำเนิด วันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2437 สถานที่เกิด หมู่บ้านหนองเต่า ต.พุคา
อ.โคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
........ท่านได้บรรพชาและอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดเนินยาว ต.โพนทอง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ในปีพ.ศ. 2465 โดยมีพระครูธรรมขันธ์สุนทร เป็นพระอุปัชฌาย์
มรณภาพ 12 มกราคมพ.ศ. 2537 ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริรวมอายุ 101 ปี 7 วัน 73 พรรษา ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๒ ปีจอ
ชีวิตก่อนบวช
........หลวงปู่บุดดา มีโยมบิดาชื่อ นายน้อย มงคลทอง โยมมารดาชื่อ นางอึ่ง มงคลทอง มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน
ในช่วงวัยเด็กท่านได้เกิดมีสัญญาความจำระลึกย้อนอดีตชาติได้ว่า บิดาของท่านในอดีตชาติเคยเป็นพี่ชายของท่าน
........ชีวิตตอนเยาว์ ชีวิตตอนต้นของหลวงปู่ก็เหมือนกับชีวิตเด็กลูกชาวนาบ้านนอกทั่วไป ในสมัยนั้นที่ไม่มีโรงเรียนใกล้เคียง
จึงไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนหนังสือ มีแต่ทุนเดิมที่ได้ฝึกฝนอบรมมาดีในอดีตชาติ จึงเป็นผู้ระลึกชาติได้แต่เด็ก ท่าได้ไปพบเห็นสิ่งที่ปรากฏตามภาพนิมิต
ของอดีตได้ถูกต้อง และได้มีบุคคลที่เกี่ยวข้อง จนท่านต้องขุดกระดูกของท่านที่ถูกฝังไว้ในอดีต
การเห็นภาพในอดีตนั้นท่านเห็นได้หลายภพ ในกรณีหลวงปู่บุดดา อดีตชาติท่านเกิดเป็นชายทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
ตัวหนังสือที่ใช้เป็นตัวหนังสือแบบเดียวกับสมัยพ่อขุนรามคำแหง มิใช่ตัวหนังสือเดียวกับเมื่อหลวงปู่เป็นเด็ก ท่านจึงอ่านหนังสือไม่ออก
แต่พอเป็นทหารท่านได้เรียนหนังสือ ท่านก็สามารถเรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งที่หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการรับราชการเป็นทหารเกณฑ์นั้นหนักมาก
ทั้งนี้น่าจะเนื่องมากจากสาเหตุสองประการ ที่ทำให้สามารถรู้หนังสือได้ดีเพราะท่านรู้หลักของหนังสือเดิมดีอยู่แล้ว พอเทียบตัวถูกท่านก็อ่านได้
และสมาธิจิตของท่านเข้าอันดับญาณจึงสามารถทำอะไรได้ง่าย
ระลึกชาติ
ถ้าสอบถามถึงอดีตชาติแล้ว ท่านมักปรารภเสมอว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้ท่านรู้สึกเบื่อหน่าย เช่น เล่าว่านับถอยหลังปัจจุบันไป ๗ ชาติ
ท่านได้เกิดเป็นบุรุษทุกชาติ และเสียชีวิตตั้งแต่อายุไม่มากรวมทั้งไม่มีครอบครัวเลย ตลอด ๗ ชาติ
ที่ผ่านมาส่วนมากท่านเกิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมากกว่าฝั่งขวา มีชาตินี้เท่านั้นที่ท่านมีอายุยืน พี่ชายของท่านในอดีตชาติทั้งรักและตามใจทุกอย่าง
ตั้งแต่เด็ก จะไปไหนก็พาท่านไปด้วย ได้สัญญากับท่านไว้ว่าจะไม่ทิ้งเป็นอันขาด ท่านจึงเกิดเป็นบุตรในชาติปัจจุบัน
ฉะนั้นเมื่อบิดาของท่านตีท่านในสมัยเด็ก ท่านเล่าว่า ท่านวิ่งออกไปนอกบ้านแล้วตะโกนว่า พ่อโกหก ๆ ๆๆ ไม่ยอมหยุดจนมารดาของหลวงปู่เห็นผิดสังเกต
จึงไปปลอบถามว่า พ่อโกหกเรื่องอะไร ท่านจึงได้เล่าเรื่องอดีตสัญญาให้มารดาของท่านฟังว่า พ่อไม่รักษาคำพูด
ผู้ใดสามารถเฉลยอดีตสัญญาแบบนี้ให้เป็นธรรมและยอมรับกันได้ทั่วไปบ้าง ?
เรื่องอายหมา
หลวงปู่เล่าว่า ตั้งแต่เด็กท่านมักจะบอกกับมารดาของท่านเสมอว่า โตขึ้นท่านจะไม่มีครอบครัว เพราะท่านละอายใจดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้
อดีตชาติหนึ่งในหนหลังเมื่อท่านเป็นหนุ่มเกิดพอใจหญิงสาวชาวบ้านใกล้เคียงกันผู้หนึ่งจึงไปอู้สาวผู้นั้น แทนที่ฝ่ายหญิงจะพูดดีกับลำเลิกอดีตชาติว่า
หลวงปู่ที่เป็นชายหนุ่มในชาตินั้นเป็นผู้ทำให้เขาถูกทุบตี และถูกจับผูกทรมานอดอาหารจนท้องกิ่วตาย พอมาชาตินี้มารักเขาทำไม
หลวงปู่ในชาตินั้นก็มองเห็นอดีตตนเองได้ว่า ตอนนั้นท่านเป็นสมภารเจ้าวัดอยู่ประเทศลาว ขณะนอนป่วยอยู่มีหมาตัวเมียขึ้นมาลักลอบอาหารที่เด็กเก็บไว้
ท่านจึงร้องบอกเด็ก พวกเด็กจึงไล่ตีหมา และพวกเด็กไม่เพียงแต่ไล่ตี คงได้ไล่จับหมาตัวนั้นไปผูกกับรั้ว
และกว่าจะถูกจับได้คงต้องไกลกว่าที่สมภารนอนเจ็บประการหนึ่ง และทุกคนก็คงสนใจแต่ความป่วย และการตายของสมภาร
ในเวลาต่อมาจึงลืมนึกถึงการจับหมาตัวนั้นไปผูกไว้จนต้องอดถึงตายไป
เมื่อชายหนุ่มระลึกอดีตชาติได้ก็เกิดความสลดและละอายใจว่า นี่เรากำลังจะเอาหมามาเป็นเมียแล้วหรือ ? และเป็นการประทับฝังอยู่ในจิตใจต่อมาทุกชาติ
การป่วยและการตายในคราวนั้น หมาตายภายหลัง จึงจองเวรและติดตามถูก
ส่วนการที่เด็กไปตีหมาที่ถูกจับไว้จนหมาตาย ต้องมิใช่คำสั่งของสมภาร หมาจึงจองเวรได้เพียงหมาถูกตีเพราะเสียงร้องบอกของสมภารเป็นเหตุ
หมาจึงทำให้สมภารในอดีตชาติเดือดร้อนเพราะลำเลิกของหญิงนั้นตามอดีตเหตุที่สมภารได้ทำไว้เท่านั้น
เรื่องความผูกพันหรือการจองเวรในอดีตชาติทำนองนี้หลวงปู่ปรารภเสมอว่าเมื่อนึกถึงเรื่องราวในอดีตแล้ว
ท่านมีความรู้สึกเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิดมาตั้งแต่เด็ก
พบซากศพตนเองในอดีต
คราวนี้ท่านได้สอบดูนิมิตสมัยเด็ก ๆ ของท่านว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่นอกนครเวียงจันทร์ไม่ไกลนัก ซึ่งเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว
เขาก็นำเอาศพในอดีตชาติของท่านไปฝังไว้ และไม่ได้เผา ในนิมิตนั้นท่านเห็นกะโหลกศีรษะขาวโพลน โผล่ดินขึ้นมาตรงตอพุดซา ท่านจึงไปสอบดูตามนิมิต
และได้พบกะโหลกศีรษะมนุษย์ ในภูมิประเทศคล้ายคลึงกัน แต่กะโหลกที่พบจริงไม่ขาวเท่าในนิมิต และตอพุดซาไม่มีแล้วท่านจึงได้เผากระดูกนั้นด้วยตนเอง
พรรษาที่ 3 จารพระไตรปิฎก
ขณะที่ไปสอบดูตามนิมิตก็ใกล้เข้าพรรษาแล้ว ท่านได้จำพรรษา ณ วัดบ้านทุ่ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
และในขณะที่ข้ามไปเวียงจันทร์ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์และวัดพระแก้วที่เวียงจันทร์ ท่านระลึกถึงอดีตชาติเมื่อเห็นตู้พระไตรปิฎกและจารด้วยตนเอง
แต่สมัยเป็นสามเณรต่อมาเป็นภิกษุและเป็นสมภารเจ้าวัดในที่สุด ได้จารพระไตรปิฎก บรรจุไว้จนเต็ม 3 ตู้ ท่านว่าได้เป็นสมภารเจ้าวัดในฝั่งลาว 3 สมัย
ตายตั้งแต่ยังไม่พ้นวัยกลางคน ที่ท่านไปพบตู้ที่สร้างไว้นั้นไม่มีพระไตรปิฎกแล้ว
ขณะที่ท่านพักอยู่ ณ วัดบ้านทุ่ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย คราวหนึ่งท่านต้องไปกิจนิมนต์ร่วมกับภิกษุหลายรูปด้วยกัน
ไปทางเรือตามลำน้ำโขงปรากฏว่าเรือเกิดจมลง พระรูปอื่นต่างว่ายน้ำหนีจากเรือหมด เหลือแต่ท่านองค์เดียวในเรือ
และน้ำท่วมเกือบถึงคอแล้วพอดีชาวบ้านเอาเรือไปรับนิมนต์ท่านขึ้นเรือแล้วเรือก็จมหายไป
พบบิดาในอดีตชาติ
พอออกพรรษารับกฐินเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ออกเดินทาง และในระหว่างทางนั้น ท่านได้พบกับหลวงพ่อสงฆ์ พรหมสโร ซึ่งออกจาริกไปตามป่าเขาทำนองเดียวกับท่าน
หลวงพ่อสงฆ์ผ่านพรรษา 4 แก่กว่าหลวงปู่บุดดาหนึ่งพรรษา แต่อายุหลวงพ่อสงฆ์แก่กว่าท่านหลายปี เพราะท่านบวชภายหลังมีครอบครัวแล้ว
และเมื่อท่านพบหลวงพ่อสงฆ์ ท่านก็ระลึกได้ว่า เคยเป็นบิดาของท่านในอดีตชาติ ท่านก็เรียก "คุณพ่อสงฆ์" ตั้งแต่แรกพบจนถึงที่สุดแห่งวาระของท่านเอง
คำสนทนาธรรม กับ หลวงปู่บุดดา ถาวโร
ณ วัดอาวุธวสิกตาราม กทม.
ศิษย์ : คืนที่หลวงปู่บอก พรรษา ๔ เวลา ๓ ทุ่มกว่า หลวงปู่ทำอะไรอยู่นะครับ?
หลวงปู่ : จุดเทียน..นั่งสนทนาธรรม เจริญวิปัสสนาไปด้วย ทำอยู่ทุกวัน จุดเทียนไว้ ทำวัตรเย็น แล้วสนทนาธรรมต่อ ทำกันอยู่ ๒ องค์ด้วยกัน
ศิษย์ สำเร็จแล้วมีนิมิตอะไร ?
หลวงปู่ มีธรรมซิ มีมนุษย์ธรรม เทวธรรม โลกุตตรธรรม..เยอะ..!
ศิษย์ เขามาทำอะไรครับ ?
หลวงปู่ มาดู..มาสอบซ้อม มนุษย์สมบัติแค่ไหน สวรรค์สมบัติแค่ไหน นฤพานสมบัติอย่างไร พระโสดามีนฤพานแค่ไหน ตัดสังโยชน์ได้แค่ไหน สกิทาคามีแค่ไหน
เขามาฟังน่ะซิ อนาคาแค่ไหน อรหันต์ตัดได้แค่ไหน
ศิษย์ หลวงพ่อสงฆ์ทราบไหม ? แล้วหลวงปู่ทราบไหมว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ
หลวงปู่ ฌาณล่วงหน้าไม่บอกหรอก ทำเสร็จแล้วจึงทราบทีหลัง หลวงพ่อสงฆ์ท่านทราบ เพราะท่านนั่งเฝ้าอยู่
ศิษย์ ตอนหลุดจากกิเลสเป็นอย่างไรครับ ?
หลวงปู่ กิเลสมันหลุดไปเอง ชีวิตยังอยู่ มันหยุดงาน มันไม่ทำงาน มีแต่งงานนั่งอย่างเดียว งานเดินงานยืน งานนอนไม่เอา งานหลับตาก็ไม่เอา
เอาแต่งานลืมตา
ศิษย์ ตอนหลุดจากกิเลส หลวงปู่อายุเท่าไร ?
หลวงปู่ อายุ ๓๒ ปี ปีนั้นพรรษา ๔ มาแล้ว จะเข้าพรรษา ๕ เดือน ๗ แล้ว ๔ พรรษา ๙ เดือน ออกจากวัดผดุงธรรมไปทำความเพียรอยู่ในถ้ำกับ "คุณพ่อสงฆ์"
ที่ถ้ำเขาภูคา ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
ศิษย์ ที่ว่าแผ่นดินไหวนั้นเพราะอะไร
หลวงปู่ เรื่องธรรมะ
ศิษย์ ธรรมะของหลวงปู่หรือ ?
หลวงปู่ ธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ธรรมะของเรา ธรรมะของเราจะมีอะไร เขามาพร้อมเพรียงกันทั้งมนุษย์ธรรม เทวธรรม พรหมธรรม โลกุตตระธรรม
จะไม่ให้มันดังได้อย่างไร คนรุ่นเก่าเขามี คนรุ่นเก่าบอกว่าวัตถุในนี้มี พวกพ้องเขามี เขาบอกว่าวัตถุอยู่นี่ เอาขึ้นมาสร้างเมีย จะเอาถวายพระพระไม่เอา
ตั้งแต่บวชมาเขาไม่เคยเอาอะไรเลยพระพวกนี้องค์นี้พรรษา ๔ เขาก็ไม่เอา องค์นั้นพรรษา ๕ เขาก็ไม่เอา เขาอยู่ในบริเวณนี้ เขาดูรักษาพื้นที่ของเรา
เขามีทรัพย์คนละเจ็ดแสน พวกมีตั้ง ๑๐๐ คน
ศิษย์ เขาเป็นยุคไหนครับหลวงปู่ ?
หลวงปู่ คนยุคอดีตนะซี ตั้งแต่ ๓๐๐ ปีมาแล้ว เขาให้เราไม่เอา เขาเลยเอาหนีไปทางเวียดนาม โน่นมาคราวหลังถูกระเบิดเลยตามไปนิมิตตามเสียงเขา
เหมือนแผ่นดินถล่มเหมือน ภูเขาในจังหวัดนั้นคล้าย ๆ มันพังหมด ชาวบ้านเขาได้ยิน เราก็ได้ยินเสียงถล่มทลายเขาเอาของเขาไป เขาย้ายที่ไปเราไม่เอาเขาก็เสียใจ
เขาก็อพยพของเขาไปซี
หลวงพ่อสงฆ์ก็ไม่เอามาตั้งแต่บวชแล้ว ตั้งแต่พรรษา ๕ แล้ว เราก็ไม่เอามา ๔ พรรษาแล้ว เขาถวายให้เอาสมบัติไปสร้างเขาลูกนี้มีศักดิ์สิทธิ์อยู่ในพื้นเขา
มันเป็นบ้านเก่าเมืองเก่าเขา
ศิษย์ เขามาฟังธรรมหลวงปู่หรือเปล่าครับ ?
หลวงปู่ เขาฟังอยู่แล้ว ก่อนเราไปก็มีพระธุดงค์ไปอยู่เป็นประจำ เขามาเดินให้ดู แล้วมาพูดใกล้ ๆ ว่า ทรัพย์อยู่นี่ เอาไปสร้างเสีย เราก็บอกไม่เอา
หลวงพ่อสงฆ์ไม่ได้ยิน ได้ยินเราคนเดียวกับชาวบ้านโน่น ของอย่างนี้ไม่ใช่สาธารณะ ได้ยินเป็นคน ๆ
ศิษย์ หลวงปู่นั่งรถมากับคุณหมอสมศักดิ์ สืบสงวน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจนั้น เกิดปาฏิหาริย์อะไรครับ?
หลวงปู่ นั่งรถมาจากเชียงแสน (ไปกับหลวงพ่อมหาวีระ) มากับ ดร.ปริญญา นุตาลัย (เป็นคนขับ) คุณปานนั่งหน้า หลวงปู่นั่งกันคุณหมอสมศักดิ์ ด้านหลัง
หัวเป็นหมา ตัวเป็นคนวิ่งตัดหน้ารถ บอกให้หลีกรถเสีย เขาวิ่งหลบคืนไป
ศิษย์ เขายังไม่ถึงอายุขัยใช่ไหมครับ ?
หลวงปู่ ถ้าไม่บังคับให้พ้นก็จะตาย
ศิษย์ เป็นกรรมของเราหรือเปล่า
หลวงปู่ เป็นกรรมของเขา ตายแล้วจะเกิดเป็นหมา
ศิษย์ ผู้หญิงหรือชาย ?
หลวงปู่ ผู้ชาย..คนกลางคนนุ่งกางเกงขายาว ว่าหมาตัวนี้ทำไมโต หัวเป็นหมาท้ายเป็นคน
ศิษย์ คนที่นั่งมาในรถทราบไหมครับ ?
หลวงปู่ มาทราบตอนหลัง
ศิษย์ กลางวันหรือกลางคืนครับ ?
หลวงปู่ กลางวันเวลาบ่าย ถึงเมืองตากแล้ว
ศิษย์ หลวงปู่เจอหลวงปู่ หลวงพ่อดัง ๆ ไหมครับ ?
หลวงปู่ เจอ..ครูบาศรีวิชัย วัดเบญจมบพิตร พรรษาที่ ๑๐ กว่า ใบสุทธิออกเป็นปีนั้น เจออาจารย์มั่นที่วัดสระปทุม
ศิษย์ สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญารวงศ์นิมนตหลวงปู่ ตอนนั้นหลวงปู่อยู่ที่ไหน ? ถามธรรมอะไร ?
หลวงปู่ อยู่วัดราชาธิราช ให้คนเอารถมารับถามว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะรู้ธรม ศีล ๕ สมุทเฉทย์น่ะซี ไม่ต้องสมาทาน
ศิษย์ ตอนนั้นหลวงปู่พรรษาเท่าไร ?
หลวงปู่ พรรษา ๖ แล้ว
ศิษย์ ที่หลวงปู่ระลึกชาติได้ ๗ ชาติ นั้น หลวงปู่ตายแล้วเกิดที่ไหน ?
หลวงปู่ ตายตำบลไหนก็เกิดตำบลนั้น
ศิษย์ อายุเท่าไรจึงตาย ?
หลวงปู่ อายุ ๑๕ ตาย ๑๖ ตาย ๑๗ , ๑๘, ๑๙ ตายไม่ทันได้บวช
ศิษย์ ทำไมหลวงปู่อายุสั้นนักละครับ ?
หลวงปู่ สมัยนั้นไข้ป่ามาก ยาไม่มีรักษาก็เลยตายก่อน
ศิษย์ หลวงปู่เคยเกิดเป็นผู้หญิงบ้างไหม ?
หลวงปู่ ไม่เคย เกิดทีไรเป็นชายทุกที เกิดทีไรมาเกิดกับผู้หญิงทุกที เราจึงได้รู้ว่า มนุษย์นี้เป็นอย่างนี้ แม่เราเป็นผู้หญิง
เราจึงไม่ประมาทพวกผู้หญิง ผู้หญิงมาเกะกะเรา ๆ ไม่เอาหรอก แม่เราก็เป็น ผู้หญิง พวกผู้ชายมาชวนเป็นพวกปล้น พวกระดม ก็ไม่เอาหรอก พ่อเราก็เป็นผู้ชาย
ศิษย์ หลวงปู่เกิดที่ไหนมาก ?
หลวงปู่ เกิดสองฝั่งแม่น้ำโขง สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ศิษย์ หลวงปู่เกิดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยไหน ?
หลวงปู่ สมัยรัชกาลที่ ๕ มารัชกาลที่ ๖ จึงได้บวช
ศิษย์ ที่ว่า..หลวงปู่วิ่งออกไปนอกบ้าน แล้วตะโกนว่า พ่อโกหก ๆ นั่นอย่างไร ?
หลวงปู่ เป็นพี่ชายในอดีตมาเกิดด้วยกัน ว่าจะไม่ตีกัน เกิดมาตีขึ้น ตอนนั้นอายุประมาท ๑๐ ขวบ ก็เลยไปบอกแม่
ศิษย์ แม่ทราบไหมว่า หลวงปู่ระลึกชาติได้ ?
หลวงปู่ ไม่รู้หร๊อก...
ศิษย์ ที่ระลึกได้นั้นเหมือนนับว่า สถานที่นั้นเคยไปมาแล้วจึงได้ใช่ไหม ?
หลวงปู่ อือ ! จิตมันบอกเอง กุศลจิตทำมาแต่อดีตมารู้ได้ตั้งแต่เขาภูคาบรรพต เคยทำบุญร่วมพระสงฆ์ ๕๐๐ รูป มาแล้ว มาเกิดมาตายทั้ง ๑๐๐ ชาติ ๑,๐๐๐ ชาติ
อดีตมี ๒ พวก ปัจจุบันมี ๑ พวก อนาคตมี ๒ พวก
ศิษย์ แล้วงหลวงปู่จะเกิดอีกไหมครับ ?
หลวงปู่ เชื้อไม่มีจะมาเกิดได้อย่างไร ข้าวสารหมดเชื้อแล้วปลูกไม่ชื้น
ศิษย์ ชาติสุดท้ายแล้วหลวงปู่โปรดเต็มที่
หลวงปู่ ยิ้ม....!
ที่มา - เว็บประวัติหลวงปู่บุดดา
◄ll กลับสู่ด้านบน
((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))
Posts: 2037
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
posted on 12/3/09 at 10:22
(Update 12/03/52)
ตอนที่ 2
ประวัติหลวงปู่บุดดา ถาวโร
ขอย้อนกลับมาเล่าในตอนนั้นต่อไปอีกว่า พอเข้าสู่วัยฉกรรจ์อายุได้ 21 ปีบริบูรณ์ในปี พ.ศ. 2458 ได้ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารสังกัดกองทัพบก ทหารบกปืน 3
ในสมัยรัชกาลที่ 6 รับราชกาลทหารอยู่ 2 ปี ในกองทัพที่ 3 ลพบุรี หลวงปู่รับราชการทหาร 2 ปี โดยมีหลักฐานการเป็นทหารปรากฏบนท้องแขนขวาดังนี้ ๒๔๕๘ ท.บ.๓
ล.๑๐
การเกณฑ์ทหารสมัยนั้น เมื่อผู้มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ถึงแม้ถูกเกณฑ์แล้วจับ
ใบดำได้ไม่ต้องรับราชการทหารในปีนั้นแล้วก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทุกปีจนกว่าจะอายุ 30 ปี หลวงปู่เป็นทหารในกองทัพ 3 ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดลพบุรี
สมัยเมื่อเป็นพลทหารหนุ่มรูปงาม มีผู้หญิงมาชอบ เข้ามาพูดจาทำนองเกี้ยว แต่ท่านพูดกลับไปว่า "กลับไปเสียเถิด ฉันเป็นทหารตัวเมีย ไม่ชอบผู้หญิง
ถ้าไปเจอทหารตัวผู้คนอื่นเข้าก็จะลำบาก"
ในปี พ.ศ. 2460 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ทางการได้มีการรับสมัครคัดเลือกทหารอาสาไปราชการรบในสงคราม ณ ทวีปยุโรป
หลวงปู่ได้เข้าสมัครอาสาด้วยเหมือนกัน แต่ท่านกินเหล้าไม่เป็น เขาจึงไม่รับโดยได้อธิบายเหตุผลว่า ในทวีปยุโรปนั้นอากาศหนาวเย็นมาก
ทหารทุกคนจำเป็นต้องดื่มเหล้าเพื่อช่วยให้คลายหนาว ดังนั้นท่านจึงไม่ได้เข้าร่วมในสงครามคราวนั้น
หลังรับราชการทหาร ท่านได้ช่วยโยมบิดามารดาทำงานเกษตรกรรมอยู่ 4 ปี โดยท่านมีความปรารถนาในใจเสมอมาว่า อยากจะได้บวชในร่มเงาพระพุทธศาสนา
ด้วยจิตที่เบื่อหน่ายในทางโลกมาตั้งแต่เด็กขณะที่มีอายุได้ 5 ขวบ หลวงปู่เคยขอโยมบิดา มารดา บวชเณร แต่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากอายุยังน้อย
กระทั่งหลวงปู่อายุ 28 ปี โยมบิดา มารดา จึงอนุญาตให้บวช
ดังนั้นเมื่อมีโอกาสจึงขออนุญาตต่อบิดามารดาบวช เมื่ออายุได้ 28 ปี ที่วัดเนินยาว โดยมี ท่านพระครูธรรมขันธ์สุนทร (ม.ร.ว.เอี่ยม อิศรางกูร ณ
อยุธยา)เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูเรือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เจ้าอธิการไพล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "ถาวโร"
หลังจากบวช เมื่อออกพรรษาแรกแล้วหลวงปู่ได้ออกจาริกแสวงหาสถานที่วิเวก เจริญสมณธรรมตามอัธยาศัยเพียงองค์เดียว
หลวงปู่มุ่งปฏิบัติกรรมฐานพิจารณากายภายในอยู่เสมอ ข้อวัตรปฏิบัติเคยทำอย่างไรก็ยังคงทำมิได้ขาด ท่านทำความเพียรอยู่โดยตลอด บางครั้งบางคราว
กิเลสราคะอันมักจะเกิดขึ้นมาให้รู้ได้ว่ายังมีอยู่ท่านก็ได้เพียรพยายามดับมันด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ ในพรรษาที่สอง ท่านก็ได้เดินธุดงค์ไปฝั่งลาว
ไปถึงนครเวียงจันทร์
หลวงปู่บุดดา ถาวโร เป็นพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมที่มีอัธยาศัย ท่านเคยได้พบปะสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ที่เป็นศิษย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อยู่เสมอ
ๆ อย่างเช่น หลวงปู่สิม พุทธาจาโร หลวงปู่บุดดา เคยออกปากชมหลวงปู่สิมต่อหน้าคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลายว่า เรื่องธุดงค์เข้าป่าลึกและนานกันแล้ว
ท่านสู้อาจารย์สิมองค์นี้ไม่ได้
สมัยที่หลวงปู่บุดดา ถาวโร ออกบำเพ็ญเพียรในป่า เมื่อใกล้เข้าพรรษาท่านจะเข้ากรุงพักอยู่ที่วัดบรมนิวาสบ้าง วัดเทพศิรินทร์บ้าง ในต่างจังหวัดบ้าง
ทุกวัดทุกสำนัก ไม่เคยรังเกียจในองค์ท่านเลย ยกตัวอย่างเช่น ท่านพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ท่านธมฺมวิตกฺโก
(พระยานรรัตนราชมานิต)
ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติแบบเงียบ ๆ นอกจากจะมีความศรัทธาเลื่อมใสแล้ว ท่านยังสนับสนุนโดยไม่เลือกนิกายอีกด้วย การปฏิบัติธรรมของท่านสมัยนั้น
นับว่าเป็นการปฏิบัติอย่างชนิดเอาเป็นเอาตายกับกิเลสมารเลยทีเดียว
หลวงปู่ท่านจาริกธุดงค์บำเพ็ญเพียรมาโดยตลอด จนถึงพรรษาที่ 4 ท่านได้ออกธุดงค์อยู่ในป่าแถบเทือกเขาภูพานนั้นก็ได้พบกับหลวงปู่สงฆ์
แล้วท่านก็ได้ออกจาริกร่วมธุดงค์มาด้วยกัน จากอีสานมาสู่ภาคกลาง ผ่านตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี นครสวรรค์พบชัยภูมิคือ ถ้ำภูคา บนเขาภูคามีบรรยากาศสงบ
ร่มเย็นและวิเวกยิ่ง สถานที่สัปปายะ เหมาะแก่การเจริญกรรมฐานยิ่ง พอใกล้พรรษาทั้งสองจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าหนองคู
พอออกพรรษาก็กลับมาที่ถ้ำภูคาอีกครั้ง
ณ ที่ถ้ำภูคานี้เองที่หลวงปู่บุดดาในพรรษาที่ 4 และหลวงปู่สงฆ์ ในพรรษาที่ 5 ได้พำนักอาศัยบำเพ็ญเพียรจนได้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจธรรมทั้งสององค์
หลวงปู่ท่านได้เล่าเหตุการณ์ในวันที่บรรลุธรรมว่า
คืนนั้นขณะที่ท่านทั้งสองกำลังนั่งคุยกันอยู่ โดยนั่งลืมตาคุยกันปกตินี่เอง แล้วหันหน้าเข้าสนทนากันอย่างออกรสชาติอยู่นั่นเอง จู่ ๆ
หลวงปู่บุดดาก็เงียบเสียงไปเฉย ๆ นั่งลืมตาค้างอยู่ หลวงปู่สงฆ์ท่านก็นั่งเฝ้าอยู่อย่างนั้นมองดูอยู่ ปกติท่านเป็นพระขี้สงสัย ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ
ก็แปลกใจที่ทำไมหลวงปู่บุดดาจึงเงียบเสียงไปเฉย ๆ ก็ถามหลวงปู่บุดดาว่า "เอ๊ะ..เป็นอะไรไป"
หลวงปู่บุดดาท่านก็นิ่งเฉยไม่ตอบ นัยน์ตาคงเบิกโพลงอยู่อย่างนั้น เป็นอันว่าหลวงปู่บุดดาท่านได้จบกิจพระศาสนา ทำอาสวะให้สิ้นต่อหน้าหลวงปู่สงฆ์นั่นเอง
หลังจากนั้น 3 วัน ในตอนเช้าก่อนที่จะออกบิณฑบาต หลวงปู่สงฆ์ก็มาบอกต่อหลวงปู่บุดดาว่า "ไม่มีคนไปนรก ไม่มีคนไปสวรรค์ เน้อ" หลวงปู่บุดดาจึงเสริมว่า
"โอ๊ย..มันจะมีนรก มีสวรรค์อย่างไร นั่นมันกิเลสต่างหากเล่า กิเลสหมด มันก็หมดนรก หมดสวรรค์ซิ"
เป็นอันว่าหลวงปู่สงฆ์ท่านได้จบกิจบรรลุธรรมในคืนก่อนนั่นเอง
หลวงปู่สงฆ์ พรหมสโร หรือ คุณพ่อสงฆ์ หลวงปู่บุดดา ท่านเรียก เมื่อเกิดมีภัยมาถึงตัวไม่ว่าสัตว์ร้าย หรือไข้ป่ารุมเร้าภายใจอย่างรุนแรง
ท่านก็จะต้องให้คุณพ่อสงฆ์ช่วยปัดเป่าทุกครั้งนี่แสดงได้ว่า ท่านเคยมีความผูกพันกันมาแต่อดีตชาติ เมื่อกลับมาชาตินี้
ท่านก็ยังสงเคราะห์กันอยู่เช่นเดิม
หลวงปู่นับเป็นพระภิกษุผู้เคร่งครัดยิ่ง ถือธุดงควัตร ครองผ้าสามผืนเป็นวัตร ชีวิตเป็นอยู่เรียบง่ายทุกอย่างพอดีหมด
หลวงปู่ได้ทุ่มเทชีวิตให้แก่การปฏิบัติธรรมชนิด เอาชีวิตเป็นประกัน เดิมพันด้วยความตาย และความสำเร็จ โดยเฉพาะยามประเทศชาติมีภัยสงคราม
ปัจจัยสี่ทุกอย่างขัดสน ประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ ช่วงนั้นหลวงปู่ต้องอดทนกับความทุกข์ยากอย่างยิ่ง แต่ด้วยความมุ่งมั่นมานะอย่างเด็ดเดี่ยว
ในการประพฤติปฏิบัติธรรม หลวงปู่ก็สามารถต่อสู้กับความทุกข์ยากนั้นได้อย่างกล้าหาญยิ่ง หลวงปู่นับเป็นพระเถระที่มีคุณธรรม และมีพรรษามาก
พระฝ่ายปฏิบัติอื่น ๆ กับหลวงปู่
พระฝ่ายปฏิบัติอันเป็นที่เคารพสักการะมีอยู่ทุกภาคและแทบทุก ท่านมักจะได้เคยพบวิสาสะกันตอนจาริกธุดงค์เพราะต่างก็แสวงหาสถานที่วิเวก
และมีสิ่งเกื้อกูลอื่นๆ เหมือนๆ กัน สถานที่เช่นนั้นจึงเหมือนเป็นจุดนัดพบของพระฝ่ายปฏิบัติ และจุดสำคัญต่างๆนี้ท่านออกธุดงค์จะต้องผ่าน เช่น ภาคกลาง
มีพระพุทธบาท พระพุทธฉายและเขาวงพระจันทร์ ภาคเหนือก็พระแท่นศิลาอาสน์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็พระธาตุพน มและพระปฐมเจดีย์ของภาคกลางด้วย
พระสายปฏิบัติฝ่ายธรรมยุต สายท่านเจ้าคุณอุบาลี และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สายนี้พูดได้ว่าหลวงปู่รู้จักเป็นส่วนมาก ที่พรรษาสูงกว่าหลวงปู่เรียกหลวงพ่อ
เช่นเรียก "หลวงพ่อมั่น" หลวงพ่อเสาร์ และอาจารย์สิงห์ ฯลฯ รุ่นเรียกอาจารย์ ก็คือรุ่นราวคราวเดียวกันหรืออ่อนกว่า
กล่าวได้ว่าสายปฏิบัติฝ่ายธรรมยุตกับฝ่ายปฏิบัติธรรมของมหานิกาย สายหลวงปู่เภา พุทธสโร และหลวงปู่บุดดาท่านไม่มีความรังเกียจซึ่งกันและกันเลย
จะเห็นได้จากประวัติของท่านสุภัทโท (เจ้าคุณโพธิญาณเถระ) นอกจากนั้น วัดมหานิกายที่ถือข้อวัตรปฏิบัติแบบหลวงพ่อเภากับวัดธรรมยุตของจังหวัดลพบุรี
ท่านก็มีการติดต่อกันอยู่เสมอ
คราวหนึ่งหลวงปู่ได้พบหลวงพ่อสด จันทสโร จากวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ โดยบังเอิญ ณ วัดพระแท่นศิลาอาสน์ อุตรดิตถ์
เมื่อได้สนทนาธรรมและร่วมทำวัตรสวดมนต์โดยมี หลวงพ่อเกรียง กิตติธรรมโม จากวัดหินหักใหญ่ ลพบุรีร่วมธุดงค์มาด้วย ได้ชวนกันจาริกไปพระธาตุดอยสุเทพ
โดยธุดงค์ไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาแรมเดือนจึงถึงจุดหมายแล้วเมื่อร่วมพักปฏิบัติธรรมอยู่ ๗๕ วัน ต่างก็แยกทางกันตามอัธยาศัย ซึ่งหลวงปู่ชอบธุดงค์องค์เดียว
หลวงปู่ปานวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา หลวงปู่เรียกหลวงพ่อปาน ท่านบอกว่า หลวงพ่อปาน ท่านปรารถนาพุทธภูมิ ท่านออกธุดงค์แต่ละครามีพระ เณร
อุบาสิกา ติดตามเป็นขบวนยาวมาก ที่ที่ท่านพบกันเสมอก็คือบริเวณเขาวงพระจันทร์ที่ซึ่งในเวลาต่อมาหลวงปู่ปานได้มาสร้างเป็นวัดเขาสะพานนาค
สายครูบาศรีวิชัย นอกจากครูบาเองท่านยังสั่งมอบหมายไว้ ก็คือ หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
ซึ่งหลวงปู่มีความเคารพเป็นอย่างยิ่ง และนับถือพระสุพรหมยานเถรเป็นพี่ชายของท่าน หลวงปู่สิม พุทธจาโร วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่อยู่บ่อย ๆ ด้วยความปิติและเบิกบานในอมตธรรมเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นก็ยังมีพระเถระสายอื่นๆ อีก เช่น
หลวงพ่อเติม หลวงพ่อจาด หลวงพ่อจง หลวงพ่อรุ่ง หลวงพ่อเงิน หลวงพ่ออี๋ หลวงพ่อปาน มีทั้ง ๓ ปาน ครูบาพรหมจักร ท่านเจ้าคุณนรฯ เจ้าคุณอุบาลี
สมเด็จพุฒาจารย์ (อาสภเถระ) หลวงปู่ดู่ หลวงปู่ชา ท่านพุทธทาส หลวงปู่เทสก์ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงปู่วัย หลวงพ่อสังวาลย์ หลวงพ่อพุธ ครูบาชัยวงษา หลวงพ่อแพ
หลวงปู่ชอบ หลวงปู่แว่น หลวงพ่อคง จันตตามโร ครูบาธรรมชัย หลวงพ่อมหาอำพัน หลวงปู่สาม หลวงปู่โง่น
ครั้งป่วยอยู่ รพ.ศิริราชฯ และพระเถระที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่ สมเด็จสังฆราชญาณสังวรฯ หลวงพ่อเพ็งฯ, หลวงพ่อ บุญเพ็ง, หลวงปู่เหรียญ, อาจารย์วิชัย,
อาจารย์จำเนียร, อาจารย์จรัล, หลวงพ่อเหรียญ, หลวงพ่ออุตตมะ ฯลฯ
อนึ่ง ท่านพูดหลักปฏิบัติที่เกิดจากธรรมะภายในใจได้อย่างชัดแจ้ง ภูมิธรรมปัญญาได้บังเกิดกับท่านนี้ เป็นที่บ่งชัดว่า ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี
ปฏิบัติชอบในขั้นสูงองค์หนึ่งในประเทศไทย ความเมตตาสงเคราะห์แก่บุคคลทุกเพศทุกวัยนั้นเสมอเหมือนกันทุกคน ไม่มีการแบ่งชั้น หรือยกเว้นแก่ผู้ใด
หลวงปู่บุดดา มีพร้อมทุกอย่างทางด้านคุณธรรมเหล่านี้ท่านไม่เคยแสดงความอิดโรยต่อการสั่งสอน สิ่งที่เราท่านจะประจักษ์แจ้งก็ด้วยการเดินทางไปนมัสการท่าน
ปฏิภาณอันแหลมคม ฉับไวท่านจะแสดงธรรมคำสอนตักเตือนให้ทุกคน มุ่งมั่นแต่สิ่งดีงามคือ ท่านสอนไว้ตอนหนึ่งว่า
พระพุทธเจ้าท่านไปถึงที่สุดแล้ว เราเป็นผู้ดำเนินตาม ก็ควรรีบเร่ง ท่านเข้าพระนิพพาน ก็ไม่ได้มีค่าผ่านประตู พระอรหันต์ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า
ไปถึงแล้วได้เปล่า ไม่ต้องเสียค่าภาษีอากรอะไร ไม่มีค่าผ่านประตู พอไปถึงท่านก็ไม่ได้แบ่งภาคเป็นสาวกผู้หญิง สาวกผู้ชาย
หมดสมมติเป็นผู้ประเสริฐหมด..!
(ภาพนี้ "คุณเนาว์สถิตย์" โพสต์ใน www.gmwebsite.com)
วาระสุดท้ายของสังขาร
เมื่อวันที่ ๖ ก.พ. ๒๕๓๖ หลวงปู่บุดดาได้ไปร่วมพิธีทำบุญ ๑๐๐ วัน หลวงพ่อพระราชพรหมยานเถร (หลวงพ่อฤาษี) ณ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
หลังท่านกลับถึงวัดกลางชูศรีเจริญสุขแล้ว เวลาประมาณ ๐๑.๐๐ น. หลวงปู่มีอาการป่วยกะทันหัน พระครูโสภณจารุวัฒน์ (พระอาจารย์ มหาทอง)
จึงได้นำส่งโรงพยาบาลสิงห์บุรี นายแพทย์วิศิษฐ์ ถนัดสร้าง ได้นำหลวงปู่เข้าเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่โรงพยาบาล หมอประเจิดพบว่าสมองด้านซ้ายฝ่อเส้นโลหิตอุดตัน
และปอดอักเสบ หลวงปู่หอบเพราะเสมหะตกค้างในปอดมาก แพทย์ตัดสินใจใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก
- ๙ ก.พ. ๒๕๓๖ สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับหลวงปู่เข้าเป็นคนไข้พระราชูปถัมภ์ คณะแพทย์สิงห์บุรีจึงได้นำหลวงปู่ส่งโรงพยาบาล ศิริราช
ณ ห้องไอซียู โดยมี ศ.พ.ญ. นันทา มาระเนตร์ เป็นแพทย์เจ้าของไข้
- ๑๑ ก.พ. ๒๕๓๖ หลวงปู่ได้รับการรักษาที่ห้องอภิบาลการหายใจ (อาร์ซียู) ตึกอัษฏางค์ ชั้น ๒ หลวงปู่อาการดีขึ้นตามลำดับ หายใจได้เอง
- ๑๔ ก.ค. ๒๕๓๖ หลวงปู่ได้ย้ายไปที่ห้องพิเศษ ตึก ๘๔ ปี ห้อง ๘๐๘ โดยอยู่ในความ ดูแลของแพทย์และพยาบาลประจำตึก มีพระอุปัฏฐากอยู่ประจำ ๒ รูป
- ๒๖ พ.ย. ๒๕๓๖ หลวงปู่มีอาการทรุดลงทั้งหอบและไอ แพทย์ได้นำเสมหะไปเพาะ เชื้อปรากฏว่าหลวงปู่ติดเชื้ออย่างแรง
- ๒ ธ.ค. ๒๕๓๖ แพทย์ได้ย้ายหลวงปู่กลับไปที่ห้องอาร์ซียูอีกครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น
- ๑๑ ม.ค. ๒๕๓๗ ช่วงกลางคืนอาการหลวงปู่สุดวิสัยที่คณะแพทย์จะเยียวยารักษาได้
วันดับขันธ์แห่งดวงประทีปพุทธศาสนา
เช้าของวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๗ อาการของหลวงปู่ได้ทรุดหนักลง พระมหาทอง (พระครูโสภณจารุวัฒน์) เจ้าอาวาสวัดกลางชูศรีเจริญสุข
ซึ่งคอยเฝ้าสังเกตอาการของหลวงปู่เห็นดังนั้น จึงได้แจ้งให้คณะแพทย์ทราบโดยคณะแพทย์ได้เรียกระดมแพทย์ที่ให้การรักษามาทำการเยียวยาอย่างสุดความสามารถ
พระมหาทองได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ท่านได้เฝ้าดูอาการหลวงปู่มาอย่างใกล้ชิด
จึงคาดว่าไม่ช้านี้หลวงปู่คงมรณภาพเพราะอาการขณะนี้มีเปอร์เซ็นต์ให้หวังได้เพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ระบบการหายใจแย่ลงทุกที
พระครูโสภณจารุวัฒน์ หรือมหาทองได้ กล่าวอีกว่า หลวงปู่บุดดาเคยสั่งเอาไว้ว่าหากท่านมรณภาพไม่ให้จัดพิธีงานศพใดๆ
ทั้งสิ้นด้วยเกรงว่าจะเป็นการสิ้นเปลือง
แต่แล้วเมื่อเวลา ๑๙.๓๐ น. ทางคณะแพทย์ได้แจ้งให้บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายได้ที่เฝ้ารอดูอาการของหลวงปู่ที่หน้าห้องไอซียู
ว่าหลวงปู่ได้ละสังขารไปอย่างสงบแล้ว เป็นเวลา ๓๔๐ วัน ที่หลวงปู่ต้องทนต่อสู้กับโรคปอดบวม สมองซีกซ้ายฝ่อและเส้นโลหิตอุดตัน
ท่ามกลางความเศร้าสลดของบรรดาคณะแพทย์ที่ให้รับการรักษาและสานุศิษย์ทั้งหลายที่มารอเฝ้าดูอาการจนวาระสุดท้ายก่อนจะสิ้นลม สิริรวมอายุ ๑๐๑ ปี ๗ วัน ๗๓ พรรษา
ดวงประทีปแห่งพุทธศาสนาได้ดับสูญไปอีกดวงหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่หลวงปู่บุดดาได้สอนไว้ยังคงอยู่ว่า
"คนเราจะเป็นสุขเมื่อรู้จักพอดี ไม่มีใครได้อะไรตลอดไป หรือเสียอะไรตลอดไป ไม่มีใครหรือสิ่งไหนคงอยู่ตลอดไปโดยไม่สูญสิ้น
ขอเพียงแค่รู้จักพอดีทุกคนจะเป็นสุข"
ประวัติหลวงปู่บุดดา - มีในเว็บต่างๆ เรียบเรียงโดย นาวาเอก ไชยวัฒน์ สุพัฒนานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิพระชัยยะวงศาพัฒนา ๑๐ มกราคม
๒๕๔๖
◄ll กลับสู่ด้านบน
((( โปรดติดตาม "ประวัติหลวงปู่บุดดากับหลวงพ่อพระมหาวีระ" ตอนจบ )))
Posts: 2037
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
posted on 26/3/09 at 04:49
(Update 25/03/52)
ตอนที่ 3
ประวัติหลวงปู่บุดดากับหลวงพ่อพระมหาวีระ
โดย..พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต
(กด Play ฟังเทศน์หลวงปู่บุดดา คลิกขวาเพื่อขยายภาพ)
(หลวงปู่บุดดานั่งใกล้หลวงพ่อ ณ งานพิธีบวงสรวงพระธาตุจอมกิตติ เมื่อปี 2517
ผู้เขียนยังไม่ได้บวชกำลังถวายสิ่งของหลวงปู่)
หลวงปู่บุดดา ถาวโร ท่านมีฉายาเดียวกับ หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร หรือที่รู้จักกันในนาม "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ" นั่นเอง เมื่อปี พ.ศ.2518, 2519,
2520 หลวงพ่อได้นิมนต์หลวงปู่มาในงานสำคัญที่วัดท่าซุงทุกงาน โดยเฉพาะใน งานพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ ณ วัดท่าซุง ท่านได้ประกาศว่า
"หลวงพ่อฤาษีลิงขาว" ได้มาในงานนี้เช่นกัน ทุกคนต่างก็ดีใจพากันไปกราบไหว้
เวลานั้นพระสุปฏิปันโนหลายรูปจากภาคเหนือได้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่ศาลาหลวงพ่อห้าพระองค์
การพบกันระหว่างหลวงพ่อกับหลวงปู่นั้น ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครเล่า หรือไม่มีผู้ใดเขียนบทความได้ละเอียด
เนื่องจากเพิ่งจะพบกับหลวงปู่ในบั้นปลายชีวิตนั่นเอง ส่วนสาเหตุก่อนที่หลวงปู่จะเป็นที่รู้จักนับถือมากมายนั้น เนื่องมาจากคืนหนึ่งประมาณปี 2517
ในขณะเจริญพระกรรมฐาน ณ ตึกกรรมฐานเก่า (ข้างหอฉันริมน้ำ) มีคนร่วมปฏิบัติธรรมหลายสิบคน หนึ่งในจำนวนนั้นมีผู้เขียนนั่งรวมอยู่ด้วย
หลังจากหลวงพ่อนำเจริญกรรมฐานเสร็จแล้ว ท่านได้เล่าว่าพระได้มาสั่งว่า ให้นิมนต์พระมาร่วมในงานที่วัดท่าซุง ปี 2518 ชื่อ "ทืม" ทางภาคเหนือ
ให้ไปสืบหาเอาเอง (ต่อมาก็ได้สืบหาจนพบท่านคือ หลวงปู่บุญทืม วัดจามเทวี จ.ลำพูน นั่นเอง) และอีกองค์หนึ่งให้นิมนต์พระชื่อ "บุดดา" ด้วยอีกองค์หนึ่ง
อยู่ทางภาคกลางนี่เอง
บังเอิญเวลานั้น คุณประชา - คุณอรุณ สิกวาณิช บ้านอยู่แถวยศเส กรุงเทพฯ ได้นิมนต์หลวงปู่บุดดามาที่บ้านบ่อยๆ ระหว่างนั้นท่านยังไปๆ มาๆ ที่วัดบุญทวี
ถ้ำแกลบ จ.เพชรบุรี ส่วนใหญ่หลวงปู่ไม่ชอบอยู่ประจำที่ ท่านมักจะชอบไปองค์เดียวเสมอๆ มีบางครั้งอยู่ดีๆ ท่านก็ออกไปนั่งรถแท็กซี่หายไปไหนก็ไม่มีใครรู้
ภายหลังมีบางคนถามท่านว่า "มาจากไหน" ท่านจะบอกว่า "มาจากข้างหลัง" ถามท่านต่อไปอีกว่า "ท่านจะไปไหน" ท่านตอบว่า "จะไปข้างหน้า"
แล้วหลวงปู่จะนอนที่ไหนละ "อ้าว..ก็นอนอยู่บนแผ่นหนังนี่ไงล่ะ..! หลวงปู่ท่านตอบแบบทันทีทันใด หมายความว่าคนเรามีหนังหุ้ม
จึงต้องนอนบนแผ่นหนังของตนเองไง...
บางคนเล่าว่า ในคราวที่หลวงปู่เดินทางไปกิจนิมนต์ ชายคนหนึ่งถามหลวงปู่ว่า หลวงปู่อยู่วัดอะไรครับ? หลวงปู่ตอบว่า อยู่วัดสองขา
แหม..ทำเป็นงงอยู่ได้ ไม่ทันหลวงปู่ใช่ไหม..? "วัดสองขา" หมายถึงเดินไปเรื่อยๆ ไง.. แล้วหลวงปู่ก็แจกผงแป้งให้ ทุกคนก็ต้องยื่นมือไปรับ
พร้อมกับนำแป้งมงคลนั้นมาลูบหน้าลูบตัวเองกันต่อไป (แป้งฝุ่นนี้ท่านนำมาแจกให้ในตอนอายุมากแล้ว)
เราจะเห็นได้ว่า หลวงปู่เป็นผู้มีปฏิภาณเป็นเลิศ แม้ท่านจะไม่เคยเล่าเรียนหนังสือระดับสูงมาก่อน แต่ท่านก็สามารถเรียนรู้ภาษาธรรมได้เป็นอย่างดี
ท่านสามารถกล่าวข้อธรรมในหลักสูตรนักธรรมตรี, โท, เอก ได้เป็นอย่างดี แม้ท่านจะไม่ได้ไปสอบนักธรรมสนามหลวงก็ตาม
ผู้เขียนได้เคยกราบท่านเป็นครั้งแรกที่บ้านคุณประชานี่เอง แล้วต่อมาก็ได้ไปกราบท่านอีก ที่วัดอาวุธสิตาราม แถวบางพลัด ฝั่งธนบุรี
แล้วได้ร่วมเดินทางไปกับหลวงปู่และหลวงพ่ออีกหลายครั้ง เช่นเดินทางไปทำพิธีบวงสรวง ณ พระธาตุจอมกิตติ และ วิหารน้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนและหลวงตาวัชรชัยและเพื่อนๆ อีกหลายคน รวมทั้งพระอาจารย์สมศักดิ์ วัดทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่ สมัยก่อนบวชก็รู้จักกันที่วัดอาวุธฯ
นี่แหละ หลวงปู่บุดดาท่านจะเล่าประสบการณ์แปลกๆ ของท่านเสมอ
มีอยู่ตอนหนึ่งท่านเล่าว่า ท่านไปบิณฑบาตที่ถ้ำแกลบ เสร็จแล้วก็ไปฉันที่พระธาตุดอยสุเทพ..โน่น ! ท่านเล่าหน้าตาเฉยๆ เรียบๆ
แต่พวกเราฟังแล้วต่างก็มองหน้ากัน ทำหน้าเลิ่กลั่กๆ เพราะเวลาเพียงแค่น้อยนิด แต่ระยะทางห่างไกลกันมาก จากเพชรบุรีไปถึงเชียงใหม่นะ
เราลองคิดดูก็แล้วกันว่าท่านไปได้ยังไง ถ้าไม่ใช่อภิญญาของท่านนะ
สมัยนั้นพวกเราเพิ่งเข้าวัดกันใหม่ๆ ได้พบหลวงพ่อแล้วก็ได้พบหลวงปู่บุดดาเป็นองค์ที่สองนี่แหละ ในระหว่างนั้น ท่านยังแข็งแรงอยู่พักอาศัยที่
วัดสองพี่น้อง อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท จึงได้ปรึกษาหารือจัดกฐินไปทอดกันในวันที่ 17 ตุลาคม 2519 และจัดผ้าป่าไปทอดวัดท่าซุง เรียกว่าทำบุญวันเดียว 2
วัดกันเลย โดยจัดรถบัสจากบ้านสายลมทั้งหมด 4 คัน ทอดได้วัดละแสนกว่าบาท สมัยนั้นก็ถือว่าเยอะมากนะ
หลังจากนั้นต่อมา ปีพ.ศ.2520 ผู้เขียนก็บวชที่วัดท่าซุง ได้มีโอกาสไปเยี่ยมหลวงปู่กับหลวงพ่อพร้อมกับพระวัดท่าซุง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2523
หลวงพ่อได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่อย่างสนุกสนาน อย่างที่หลวงตาวัชรชัยเล่าไว้นั่นแหละว่า ในสายของท่าน ไม่มีพระสุปฏิปันโนรูปไหน
ที่โต้ตอบกับหลวงพ่อได้อย่างทันท่วงที
ถึงแม้หลวงพ่อจะพยายามถามไล่เลียงไปมา แต่หลวงปู่ก็ไม่ยอมแพ้ ท่านก็กล่าวแก้ตามแบบฉบับของท่าน ชนิดว่าไม่ยอมจนมุมนั่นเอง ลองไปฟังย้อนที่คลิปเสียง
"สนทนาธรรมกับหลวงปู่บุดดา" ที่ห้องฟังเทศน์ฟังธรรมนั่นแหละ แล้วจะได้อรรถรสเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนเก็บเทปชุดนี้ไว้นานนับสิบปีแล้ว
เพิ่งจะมีโอกาสนำมาเผยแพร่ในเว็บไซด์นี่แหละ
ผู้เขียนยังปลื้มใจเป็นที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะถือว่าเป็นวาระสุดท้ายก็ว่าได้ ตามที่ทราบประวัติในตอนต้นเล่าโดย น.อ.ชัยวัฒน์
สุพัฒนานนท์ ซึ่งเล่าได้ละเอียดดีว่า วาระสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2536 หลังจากไปร่วมพิธีทำบุญ 100 วัน หลวงพ่อฯ ณ วัดท่าซุง
ต้องนำส่งโรงพยาบาลศิริราชอย่างกระทันหัน แล้วท่านก็ได้มรณภาพที่นั่น
แต่ในตอนทำบุญครบ 7 วัน ท่านอยู่ที่ ณ ศาลา 12 ไร่ ในขณะที่ท่านนั่งอยู่หน้าพระศพหลวงพ่อฯ นั้น ท่านมองดูไปที่หลวงพ่อแล้วพูดเล่นๆ ว่า อ้าว..ยังไงล่ะ
ทำไมมานอนเฉยเสียแล้ว ไม่ลุกมาคุยกันก่อนละ แล้วท่านก็มองหน้าพวกเราพร้อมกับยิ้มๆ ในวันงานทำบุญ 100 วันนั้น ถือว่าหลวงปู่ได้มาเป็นครั้งสุดท้าย
หลังจากนั้นก็มรณภาพไปในที่สุด
ในคืนวันนั้น ผู้เขียนก็มีความรู้สึกอยากจะเข้าไปนั่งใกล้ๆ หลวงปู่ เพราะปกติก็ไม่กล้าไปรบกวนท่าน แล้วก็ห่างเหินท่านมานานหลังจากมาบวชที่วัดท่าซุง
จึงได้ลงไปนั่งข้างๆ แล้วนวดเฟ้นขาทั้งสองของหลวงปู่ ตั้งแต่หัวเข่าลงมา ซึ่งท่านก็มองด้วยความเมตตา ภาพเหตุการณ์ครั้งนั้น
จึงเป็นความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน เพราะเป็นการได้ใกล้ชิดแทบเท้าของท่านเป็นวาระสุดท้ายเช่นกัน...สวัสดี.
ll กลับสู่ด้านบน
Posts: 2037
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน
เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player
ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป
ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved