ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 1/8/09 at 11:02 Reply With Quote

เล่าเรื่องไป "เมืองพม่า" เมื่อวันที่ 11 - 21 ม.ค. 2553 (ตอนที่ 1)



ตอนที่ 2 |
ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4 ll►

(อัพเดทข้อมูล 25 ม.ค. 54)

"ประวัติพระเจดีย์ดาโน๊ะ และ พระเจดีย์ชเวซานดอว์"

(ผู้เขียนได้หนังสือประวัติมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพิ่งจะให้แปลจากภาษาพม่าเสร็จวันนี้เอง)



สำหรับการเดินทางไปประเทศเมียนมาร์ หรือประเทศพม่า นับเป็นการเดินทาง "ตามเก็บ" หมายถึงเคยไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังตกค้างอยู่บางแห่ง โดยเริ่มเดินทางครั้งแรกเมื่อปี 2539 (ยังไม่ได้ลงในเว็บไซด์) จนถึงเวลานี้ปี 2553 นับเป็นเวลา 14 ปีทีเดียว กว่าจะได้ครบถ้วน โดยเฉพาะการ "ตามเก็บ" ปี 2553 นี้ ต้องใช้เวลาถึง 2 ทริปด้วยกัน จึงจะครบถ้วน ทั้งนี้ มิได้คาดคิดว่าจะไป "ตามเก็บ" ได้หมด เพียงแต่อธิษฐานขอให้ไปได้ครบถ้วน

ผลปรากฎว่าได้ผลสมความปรารถนาทุกประการ อย่างแทบว่าไม่น่าเป็นไปได้เลย เพราะว่าสถานที่ตกค้างแต่ละแห่ง อยู่ห่างไกลความเจริญและไปลำบากมาก จะต้องไปเป็นการส่วนตัว คือไม่สามารถจะชวนใครไปได้หลายๆ คนเหมือนเคย อีกทั้งได้ตั้งใจจะไปพม่าหลายปีแล้ว แต่ก็ยังหาโอกาสไปไม่ได้สักที โดยเฉพาะปีที่เกิด "พายุนาร์กิส" ประเทศพม่าได้รับความเสียหายมาก จึงอยากจะเดินทางไปทำบุญบูรณะพระเจดีย์ต่างๆ ที่เสียหาย

โดยเฉพาะได้ทราบข่าวว่ามีการซ่อมแซม "พระเจดีย์ชเวดากอง" ครั้งใหญ่ ซึ่งผู้เขียนไปพม่าหลายครั้ง แต่ยังไม่มีจังหวะที่จะไปบูรณะสักที พอถึงปี 2553 นี้ ทั้งที่เคยเดินทางไปพม่าครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2549 เว้นมานานถึง 4 ปี จึงได้มีโอกาสเดินทางอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ได้ชักชวน คุณทนงฤทธิ์ สีทับทีม ไปเป็นเพื่อนเดินทางด้วย เพราะคุณทนงฤทธิ์สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี แต่ถ้าเจอภาษาพม่าก็แย่เหมือนกันนะ

สรุปว่าต้องเดินทางไปประเทศพม่า 2 ครั้ง คือ วันที่ 11 - 21 มกราคม 2553 รวมเวลา 10 วัน (เมืองย่างกุ้ง - เมืองมินบู) และ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2553 รวมเวลา 20 วัน (เมืองเมาะละแหม่ง - ละมาย - เย - กเลงอ่อง และ เมืองมิตจิน่า) ซึ่งจะเล่า (กรุณาอ่านรายละเอียด "ครั้งที่ 1" ก่อน เพื่ออนุโมทนาร่วมกัน) ดังต่อไปนี้..

การเดินทางครั้งที่ 1
วันที่ 11 - 21 มกราคม 2553


วันที่ 12 - 16 มกราคม 2553 เมืองย่างกุ้ง Yangon (คนไทยบางคนเรียก "ร่างกุ้ง)
1. พระเจดีย์สุเล (พระเกศาธาตุ 1 เส้น) ทำบุญค่าแผ่นทองคำเปลวไว้บูรณะ 5 ดอลลาร์
2. พระเจดีย์ชเวดากอง (พระเกศาธาตุ 8 เส้น) ทำบุญแผ่นทองคำแท้ พร้อมจารึกชื่อผู้บริจาคลงในแผ่นทองคำด้วย จำนวนเงิน 550 ดอลลาร์ พร้อมกับทำบุญแผ่นทองคำเปลวอีก 28,000 จ๊าด (ถวายกำไล, สร้อย, แหวนหลายชิ้น)
3. พระเจดีย์ Global Vipassana (สร้างเป็น "พระเจดีย์ชเวดากองจำลอง" ที่ประเทศอินเดีย) ทำบุญ 10 ดอลลาร์
4. พระเจดีย์มหาวิชะยะ (เพิ่งปิดทองใหม่ อยู่ใกล้พระเจดีย์ชเวดากอง) ทำบุญ 5,000 จ๊าด
5. พระเจดีย์มหาธรรมสันติ (กำลังบูรณะพอดี อยู่ชานเมืองย่างกุ้ง) ทำบุญ 5,000 จ๊าด
6. พระเจดีย์โบดาทอง (พระเกศาธาตุ 1 เส้น) ทำบุญ 10,000 จ๊าด (ถวายสร้อยทองคำ 2-3 เส้น)
7. วัดปารมีเจา (คนไทยเรียก "วัดตะต่อยะใต้ มีพระบรมธาตุมากมาย) ทำบุญ 6,000 จ๊าด
8. พระเจดีย์โอกะลาปา ทำบุญ 2,000 จ๊าด
9. พระเจดีย์ไจ้คาเซน (กำลังบูรณะพอดี พระเกศาธาตุ 7 เส้น) ทำบุญ 10,000 จ๊าด

ข้ามแม่น้ำย่างกุ้งไปที่เมืองดาลา (Dala Township)
10. พระเจดีย์ดาโน๊ะ (ล้มมาแล้ว 9 ครั้ง ขณะนี้กำลังรอบูรณะ) ทำบุญ 30,000 จ๊าด
11. วัดตุริยะเจตอง (พระพุทธรูป) ทำบุญซ่อมยอดพระเจดีย์มณฑป ทำบุญ 10,000 จ๊าด
12. พระเจดีย์ชเวซานดอว์ (พระเกศาธาตุ 6 เส้น) ทำบุญ 20,000 จ๊าด
13. ศาลากลางน้ำ "กัมโปเม็งกะลา" (มีพระพุทธรูปล้อมรอบด้วยงูเหลือมขนาดใหญ่ประมาณ 10 ตัว) ทำบุญ 2,000 จ๊าด
14. พระเจดีย์ชเวนันดาสิทธิ (วัดปานาโจ สร้างเมื่อ พ.ศ.1926)
15. พระเจดีย์ไจ้คาลอร์ ทำบุญ 3,000 จ๊าด
16. พระเจดีย์ไจ้คาลี ทำบุญ 2,000 จ๊าด
17. พระเจดีย์ไจ้วินนี่ (กำลังบูรณะ) ทำบุญค่าแผ่นจังโก 15,000 จ๊าด, ค่าซ่อมวิหารรอบ 2,000 จ๊าด
18. พระเจดีย์ Melamu ทำบุญค่าแกรนิค, หินอ่อน 2,000 จ๊าด, ถวายพระและแจกคนงานทำพระเจดีย์ 6,000 จ๊าด

วันที่ 17 - 21 มกราคม 2553 ย่างกุ้ง - ชเวเซ็ทตอว์ เมืองมินบู
19. พระเจดีย์เมี่ยตะลอง เมืองแม็กเว (บรรจุเตียงมรกตของพระพุทธเจ้า) เพิ่งปิดทองใหม่ๆ ทำบุญ 10,000 จ๊าด
20. พระเจดีย์เซ็ทเคนเดอ (Set Kane De') เมืองมินบู ทำบุญ 10,000 จ๊าด
21. พระเจดีย์จองโด่ยา (บรรจุพระคันธกุฎีไม้จันทน์หอมของพระพุทธเจ้า กำลังบูรณะพอดี) ทำบุญปิดทอง 50,000 จ๊าด ทำฉัตรใหม่ 10,000 จ๊าด
22. รอยพระพุทธ "ชเวเซ็ทตอว์" ทำบุญรอยพระพุทธบาทบนเขา 1,000 จ๊าด, ค่าไฟฟ้า 1,000 จ๊าด ทำบุญรอยพระพุทธบาทข้างล่าง 10 ดอลลาร์

ชเวเซ็ทตอว์ เมืองมินบู - เมืองแปร - ย่างกุ้ง
23. พระเจดีย์ชเวปงต้ามุนี เมืองปานดอง ทำบุญ 2,000 จ๊าด
24. พระเจดีย์ชเวซานดอว์ ทำบุญ 10,000 จ๊าด (จะซ่อมแซมเดือนสิงหาคม ปี 2553 นี้)
25. พระพุทธรูปแว่นทอง ทำบุญ 2,000 จ๊าด (พระปิดทองใหม่สวยงาม แต่กำลังเทพื้นภายในวัด)
26. พระเจดีย์ซวยต่อ เมืองเป้าคอแล (กำลังบูรณะพอดี) ทำบุญ 10 ดอลลาร์




กรุงเทพฯ - ย่างกุ้ง

วันที่ 11- 13 ม.ค. 2553


เมื่อได้เตรียมตั๋วเครื่องบินและและทำวีซ่าเรียบร้อยแล้ว จึงออกเดินทางไปเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 53 โดยมีเป้าหมายที่กรุงย่างกุ้งก่อน ทั่งที่ไม่อยากคาดหวังว่าจะไปได้ครบถ้วนหรือไม่ ส่วนสถานที่ยังตกค้างที่จะต้องไปสืบหา นั่นก็คือ..

1. พระเจดีย์ซานดอว์เซน เมืองกเลงอ่อง จังหวัดทวาย อยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า
2. รอยพระพุทธบาท "ชเวเซ็ทตอว์" เมืองมินบู อยู่ใกล้เมืองแม็กเว (ชาวพม่าเรียก "มะกรวย") เลยไปทางเมืองแปร ก่อนถึงเมืองพุกาม


ในระหว่างที่สืบค้นหาอยู่นั้น ผู้เขียนและคุณทนงฤทธิ์ได้ไปทำบุญที่ พระเจดีย์ชเวดากอง หลังจากแวะไปฉันเพลที่ร้านอาหารไทย "บางกอกคิชเช่น" สืบถามเจ้าของร้านและทัวร์ที่อยู่หลังร้าน โดยได้ข้อมูลพอสมควรแล้ว จึงได้เดินทางไปกราบไหว้และทำบุญตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งผู้เขียนได้ลำดับไว้เริ่มนับตั้งแต่ พระเจดีย์สุเล เป็นต้นไป


แต่ก่อนที่ไปทำบุญซ่อมพระเจดีย์ชเวดากอง ผู้เขียนได้เดินวนรอบองค์พระเจดีย์ก่อน ในระหว่างนี้เห็นมีเจ้าหน้าที่ต้อนรับเชิญชวนสร้างพระเจดีย์ชเวดากอง (จำลอง) ที่ประเทศอินเดีย โดยตั้งชื่อว่า พระเจดีย์ Global Vipassana จึงได้ร่วมทำบุญ 10 ดอลลาร์ จากนั้นได้เดินไปทำบุญซ่อมพระเจดีย์ชเวดากอง ถวาย "แผ่นทองคำเปลว" 100 แผ่น เป็นเงิน 27,000 จ๊าด โดยการดึงเชือกชักรอกขึ้นไปบนพระเจดีย์


(ภาพปกหนังสือประวัติ "ชเวดากอง" ที่ได้รับมอบจากเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส ซึ่งมีภาพขณะกำลังบูรณะ)


(ภาพจากในหนังสือประวัติ "ชเวดากอง" จะเห็นยอดฉัตรสูงสุด ประดับประดาด้วยอัญมณีอันมีค่ามากมาย)



(ช่างทองขณะชั่งน้ำหนักทองคำ และช่างทองกำลังตีแผ่นทองคำแท้ด้านหลังสำนักงาน ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม)


ด้วยเหตุเริ่มต้นที่นี้เอง เจ้าหน้าที่คนเดิมได้เดินนำไปชมการตีทองที่ด้านหลังสำนักงาน "พระเจดีย์ชเวดากอง" ที่กำลังบูรณะอยู่ เจ้าหน้าที่ผู้นี้ได้นำไปเดินชมช่างที่กำลังตีแผ่นทองคำอยู่ด้านหลังสำนักงาน จึงได้ร่วมทำบุญแผ่นทองคำไป รวมทั้งสิ้น 550 ดอลลาร์



(ผู้เขียนและคุณทนงฤทธิ์กำลังถวาย "แผ่นทองคำแท้" แก่เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส)

เจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะสลักชื่อของเราลงในแผ่นทองอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ถวายสร้อย, แหวน, กำไลทอง เพื่อไว้บรรจุ จึงมีการทำพิธีรับมอบใบอนุโมทนาใส่กรอบอย่างดี จาก "เจ้าหน้าที่อาวุโสสูงสุด" ในขณะนั้นจะมีช่างถ่ายภาพ สักพักจะนำรูปภาพของเรามาให้ไว้เป็นที่ระลึกเดี๋ยวนั้นกันเลย

หลังจากนั้นได้เดินทางไปกราบไหว้ตามสถานที่ต่างๆ (ตามรายการข้างบน) ในเมืองย่างกุ้ง นับตั้งแต่วันที่ 12 - 13 ม.ค. สุดท้ายได้แวะมาที่สำนักงานท่องเที่ยว (Infromation อยู่ข้างพระเจดีย์สุเล) เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือเดินทางไปที่เมืองดาลา เนื่องจากทางด้านฝั่งโน้น ทางการพม่ายังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางไป ต้องทำหนังสือเป็นการเฉพาะก่อน



วันที่ 14 ม.ค. 2553 (ย่างกุ้ง - ดาลา)


วันรุ่งขี้นได้ข้ามแม่น้ำย่างกุ้งเดินทางไปที่ "เมืองดาลา" (Dala Township) โดยเช่ารถมอเตอร์ไซด์นั่งซ้อนท้ายต่อไปคนละคัน ตระเวณไปหลายแห่ง เพื่อไปที่ พระเจดีย์ดาโน๊ะ (Danoke) ตามข้อมูลที่คุณทนงฤทธิ์เตรียมไว้ หลังจากล้มไปเพราะพายุ "นาร์กิส" ตามที่เจ้าอาวาสที่วัดนี้เล่าว่า พระเจดีย์องค์นี้บรรจุพระเกศา 24 เส้น และพระบรมสารีริกธาตุอีก 24 องค์

ประวัติของพระเจดีย์ดาโน๊ะ (Danoke) Update 25-01-54


(พระเจดีย์ดาโน๊ะภาพนี้ จากหนังสือประวัติของวัด เวลานี้ได้แปลมาให้อ่านกันแล้ว)

สมัยนั้นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สุระติวิมาตอกะ ปกครองเมืองดาลา วันหนึ่งพระองค์ได้ฝันว่ามี พระเกศาธาตุ และ พระทนต์ (ฟัน)อยู่กับพระมหากษัตริย์ประเทศอินเดียชื่อ อะตอกาแม จึงได้โปรดให้พระสงฆ์จำนวน 7 รูป เดินทางไปประเทศอินเดีย เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว พระสงฆ์ทั้ง 7 รูปมีรายชื่อดังต่อไปนี้

1. พระอเชนกีตะ โกตะ
2. พระอเชนเต๊ะคะ ปินยา องค์นี้อยู่ดาโน๊ะ (เมืองดาลา)
3. พระอเชนตากะละ ปินยา องค์นี้อยู่ต่งแต (เมืองดาลา)
4. พระอเชนโบด๊ะ เงี๊ยนะ องค์นี้อยู่ไจ้โท (พระธาตุอินทร์แขวน)
5. พระอเชนเต๊ะตะ องค์นี้อยู่สินไจ้ (พระธาตุสินไจ้) อยู่เลยพระธาตุอินทร์แขวนไป
6. พระอเชนอติละ องค์นี้อยู่แดแม๊ะ
7. พระอเชนโต่งด๊ะ องค์นี้อยู่เมาะลำใย (เมาะละแหม่ง)


พระมหากษัตริย์อินเดียได้ทรงแบ่งพระเกศาธาตุให้จำนวน 78 องค์ และพระทนต์ 3 องค์ เมื่อได้มาแล้วพระมหากษัตริย์เมืองดาลาได้ทรงสร้างพระเจดีย์ และนำพระเกศาธาตุไปบรรจุที่พระเจดีย์ดาโน๊ะ พระเจดีย์องค์นี้ได้บรรจุพระเกศาธาตุจำนวน 24 เส้น และพระบรมสารีริกธาตุอีกจำนวน 24 องค์ ชื่อเดิมของพระเจดีย์ดาโน๊ะ ชื่อว่า "ดาโน๊ะกาฮะ" พระเจดีย์ดาโน๊ะสร้างเสร็จ ศักราชปีที่ 240

พระเจดีย์ดาโน๊ะตั้งอยู่ที่ จังหวัดตะลา หรือ "ดาลา" พระเจดีย์เดิมสูงแค่ 16 ศอก ถึงแม้ทางวัดจะสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ก็ได้ล้มลงไปอีกนับได้ 9 ครั้งแล้ว ดังนี้...

ครั้งที่ 1 ล้มลงไปเมื่อปี 1883 ส่วนที่บรรจุพระเกศาธาตุได้พังลงมาและได้สร้างใหม่
ครั้งที่ 2 ล้มลงไปเมื่อปี 1937 พระมหากษัตริย์กับพระมเหสีจากกรุงหงสาวดี ได้สร้างฉัตรมาถวาย
ครั้งที่ 3 ล้มลงไปเมื่อปี 2001 ได้เกิดแผ่นดินไหว พระเจดีย์ได้พังล้มลงมา
ครั้งที่ 4 ล้มลงไปเมื่อปี 2108 ได้เกิดแผ่นดินไหว พระเจดีย์ได้พังล้มลงมา
ครั้งที่ 5 ล้มลงไปเมื่อปี 2198 ได้มีการบูรณะ คือสร้างพระเจดีย์ขึ้นมาใหม่ ทำให้เจดีย์สูงขึ้นเป็น 45 ศอก
ครั้งที่ 6 ล้มลงไปเมื่อปี 2359 ได้เกิดแผ่นดินไหว พระเจดีย์ได้พังล้มลงมา
ครั้งที่ 7 ล้มลงไปเมื่อปี 2433 ได้เกิดแผ่นดินไหว พระเจดีย์ได้พังล้มลงมา
ครั้งที่ 8 ล้มลงไปเมื่อวันที่ 2 พฤษาคม 2551 ได้เกิดพายุนาร์กีสพัดถล่ม พระเจดีย์ได้พังล้มลงมา

(แต่ตามข้อมูลใน "แผ่นพับ" ของวัดบอกว่า ล้มลงวันจันทร์ที่ 27 พ.ค. 2549 เวลาตี 3.15 นาที)
ครั้งที่ 9 บูรณะเสร็จแล้วได้ล้มลงไปเองอีก เมื่อวันที่ 30 พฤษาคม 2552 (ท่านเจ้าอาวาสเล่าว่า เดิมความสูงปกติ 180 เมตร จึงคิดจะสร้างให้สูง 189.6 เมตร ซึ่งผู้เขียนได้ร่วมทำบุญ 30,000 จ๊าด)


(หมายเหตุ : ทางพม่านับศักราชไม่ตรงกับพุทธศักราชของไทย ประวัติการล้มอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง ทางทีมงานฯ ต้องขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย)


by Myo Thein
Monday, 01 June 2009 10:27

Rangoon (Mizzima) – The 180-foot high Danoke pagoda in Dala Township, which was being renovated, collapsed on Saturday afternoon leaving many injured including naval personnel from the Irrawaddy Naval base.

The pagoda located on Dala-Letkhokekone Road collapsed while renovation work on its bell and bell-shaped structure was underway.

The hospital staff in Rangoon General Hospital’s Emergency Ward said that at least 30 patients were admitted in the ward. Some patients were admitted to Dala and Twante hospitals, he said.

“The incident occurred at about 2 p.m. yesterday when we were climbing the scaffold. I heard a deafening noise and I looked up and saw the structure had collapsed from the bell-shaped structure and the portion above it. I clambered to the ground immediately and saved myself. One of our five-member group, was admitted to the emergency ward,” a painter who escaped death narrowly said.

According to survivors, the pagoda collapsed starting from the bell-shaped structure and then within a few minutes the whole structure came down completely.

“There were about 54 volunteer naval personnel at the renovation site. There were about 100 people at the work site including villagers and scaffolding workers. The pagoda started to collapse when the scaffolding workers were dismantling and removing their scaffold from the bell-shaped structure. There were countless injured persons at the construction site. We had to take the people and rush them to the hospital immediately in the available cars,” a painter said.



(สภาพที่พระเจดีย์ดาโน๊ตพังทลายลงมาอย่างที่เห็นนี้)

There were Saya Khin Nyein -- two persons from the pagoda trustee and two army officers supervising the renovation when the pagoda collapsed.

“Seventeen sailors have arrived here so far. The injured are still coming in. We are not sure of the total number of injured persons. Some of them were admitted in Dala and Twante hospitals,” a Naval Sergeant, who is attending to the patients in Rangoon General Hospital Emergency Ward said at about 7 p.m. local time.

It is learnt that most of the patients are navy volunteer workers, mainly from the No. 36 naval force. After emergency treatment at RGH, they are being transferred to No. 2 Army Hospital.

The pagoda was damaged by Cyclone Nargis and was being renovated. The umbrella hoisting ceremony was held on May 8.

“A rumour circulating among local Dala people says according to a dream ousted Gen. Khin Nyunt had, the pagoda must be renovated by a team led by a woman. And then the rumour also said that this dream also predicted there would be an accident when the umbrella is hoisted. My husband went only today for volunteer work and now he is injured. Both his legs are broken,” the wife of an injured local villager told Mizzima.




พระเจดีย์ดาโน๊ะ - พระเจดีย์ชเวซานดอว์

ต่อจากนั้นก็ได้ไปพบพระเจดีย์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ พระเจดีย์ชเวซานดอร์ แห่งเมืองย่างกุ้ง ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุไว้ 6 เส้น มีความสูง 247 เมตร ตามที่เคยไปกราบไหว้มาหลายแห่งแล้ว พอจะสรุปได้ดังนี้

1. พระเจดีย์ชเวซานดอว์ เมืองแปร
2. พระเจดีย์ชเวซานดอว์ เมืองพุกาม
3. พระเจดีย์ชเวซานดอว์ เมืองตองอู


โดยเฉพาะ พระเจดีย์ชเวซานดอว์ เมืองย่างกุ้ง ผู้เขียนไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีอยู่ที่นี่ด้วย นับว่าเป็นการโชคดีเป็นอย่างมาก เพราะภาษาพม่าคำว่า "ชเวซานดอว์" (หรือ "ซานดอว์เซน") ชเว แปลว่า "ทอง" ซานดอว์ แปลว่า "พระเกศาธาตุ" (ชาวมอญเรียกว่า "ธาตุศก") ขณะที่ไปถึงเขากำลังบูรณะปิดทองใหม่พอดี

นั่นแสดงว่าแต่ละเมืองได้มีการบรรจุ "พระเกศาธาตุ" ไปในพระเจดีย์แล้วจึงตั้งชื่อว่า "พระเจดีย์ชเวซานดอว์" เหมือนกันทุกแห่ง สำหรับสถานที่แห่งนี้ ผู้เขียนได้สอบถามการบูรณะแล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่าจะมีการบูรณะ คือปิดทองคำเปลวใหม่ ประมาณเดือนสิงหาคม 2553 จึงได้มอบปัจจัยไว้ก่อน 20,000 จ๊าด

ประวัติของพระเจดีย์ชเวซานดอร์ เมืองต่งแต (Update 25-01-54)



ภาพปกหนังสือประวัติ "พระเจดีย์ชเวซานดอร์" (แปลโดย "คุณลิ้นจี่" ร้านมายิน จ.พิจิตร)

พระพุทธเจ้าประสูติ ปีศักราชที่ 68 วันศุกร์ เดือนพฤษภาคม สมัยนั้นยังมีพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อ "เชนกะวอปะติ๊" ได้เดินทางมาที่ "เมืองตุ๊นะบอมิ" (ชื่อเดิมของเมืองตะโท คนไทยเรียก "สะเทิม" หรือ "เมืองสุธรรมวดี" นั่นเอง) แล้วได้มาสวดมนต์อุทิศถวายให้กับพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า "เต้ตะติ๊ฮะเดอร์มายาสะ"

เมื่อกษัตริย์พระองค์นี้ได้ทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้ว มีพระราชประสงค์จะได้พบพระพุทธเจ้าบ้าง จึงโปรดให้พระสงฆ์ไปกราบทูลอาราธนา องค์สมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์ 2,000 รูป จึงได้เหาะมาตามคำอาราธนาที่เมืองตุ๊นะบอมิ ระหว่างทางทรงหยุดพักที่ "เกาะเจ้าซินจอง" แล้วเหาะต่อไปที่ "สินไจ้"

พระพุทธองค์ทรงหยุดพักสักครู่ ได้หลับพระเนตรแล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์เห็นจึงได้กราบทูลถามว่า "เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงสถานที่นี้แล้ว เพราะเหตุใดจึงทรงแย้มพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้าข้า"

องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ในสมัยชาติที่แล้ว ตถาคตได้เสวยพระชาติเป็น "ช้าง" และเป็น "กวาง" อยู่ที่ "ต่งแตแมรูดาโกง" แล้วได้เสียชีวิตที่นี่ จากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า จะประทานพระเกศาธาตุไว้ที่เมืองตุ๊นะบอมิ 2 เส้น และหลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว จะทรงประทานเพิ่มให้อีก 4 เส้น

ต่อมามีพ่อค้า 3 คนพี่น้องชื่อ ตุ๊มานะเท, เต๊ะคะปินยา, ตากะละปินยา ได้นั่งเรือออกทะเลเพื่อตามหาพระพุทธเจ้า ตามที่ได้ยินมาว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ "สินไจ้ต่อง" (คำว่า "ต่อง" แปลว่า ภูเขา) แต่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ไม่นานก็ได้เดินทางไปประทับที่เมืองตุ๊นะบอมิ ซึ่งพ่อค้า 3 พี่น้องก็ได้เดินทางตามไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองดังกล่าว

จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระเกศาธาตุให้ 2 เส้น เมื่อวันที่ 14 วันอังคาร เดือนพฤศจิกายน ศักราชปีที่ 111 เมื่อพ่อค้าทั้ง 3 พี่น้องได้รับพระเกศาธาตุแล้ว จึงได้เดินทางกลับเมืองต่งแต มีชาวบ้านทราบข่าวจึงออกมาต้อนรับประมาณ 500 คน

แต่ขณะที่พ่อค้าทั้ง 3 พี่น้องได้รับพระเกศาธาตุมานั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งไว้ว่าให้นำไปบรรจุที่ "ต่งแตแมรุดาโกง" แต่พ่อค้าทั้ง 3 พี่น้อง ไม่ทราบว่าต่งแตแมรุดาโกงอยู่ที่ใด ทั้ง 3 พี่น้องจึงได้ตั้งจิตอธิฐานว่า ถ้าต่งแตแมรุดาโกงอยู่ที่ใดก็ขอให้เกิดปาฏิหาริย์

ขณะนั้นได้เกิดลมพายุหมุนแรงที่บริเวณนั้น ชาวบ้านและพ่อค้า 3 พี่น้อง ก็ตื่นเต้นดีใจมาก จึงได้ช่วยกันปรับพื้นที่บริเวณนั้น เพื่อสร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุ ขณะที่ทำพิธีบรรจุพระเกศาธาตุลงในผอบ ได้มีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้น คือมีแสงฉัพพรรณรังสีปรากฏออกมาจากผอบ อีกทั้งแผ่นดินก็ได้ไหวสั่นสะเทือนทั่วบริเวณไปหมด เจ้าเมืองและชาวบ้านทั้งหลายจึงได้นำสิ่งของมีค่ามากมายมาบรรจุไว้ในเจดีย์ และมีการเรียกชื่อเจดีย์นี้ว่า "พระเจดีย์ชเวซานดอร์" โดยได้ไช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 9 ปี

สมัยต่อมาได้มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระนามว่า "ปัญญากอแลแม" และพระฤาษีที่ชื่อ "ตื๊ยังก๊กะติก กอแลละแม" ได้ปรึกษากันว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ศาสนาจะได้ไม่ดับสูญหายไปจากโลกนี้ และพระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า ถ้าพระพุทธองค์ปรินิพานแล้วจะประทานพระเกศาธาตุให้ 4 เส้น ไว้ให้กับพระมหากษัตริย์ของเมืองตุ๊นะบอมิ (ตะโท หรือ สะเทิม) ชื่อ "ติลิเดอร์มา ตอกาแม" ซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ตั้งไจมอบไห้กับพระอริยสงฆ์จำนวน 7 รูปที่มารอรับ และพระฤาษีทราบข่าวก็เหาะมารอรับเช่นกัน

ซึ่งพระอริยะสงฆ์ทั้ง 7 รูปได้บอกกับพระฤๅษีว่า จะนำไปให้กับพระฤๅษีเอง พระฤาษีก็ดีใจมากจึงได้เหาะกลับไปที่อยู่ หลังจากนั้นพระอริยะสงฆ์ทั้ง 7 รูปได้นำพระเกศาธาตุจำนวน 4 เส้นไปที่ "คะเบียนติโฮ" ที่พระฤๅษีอยู่ แล้วมอบพระเกศาธาตุให้กับพระฤๅษี เพื่อนำไปถวายให้พระมหากษัตริย์ต่อไป เมื่อพระฤๅษีนำไปถวายให้พระมหากษัตริย์แล้วก็ได้นำไปที่ต่งแต เพื่อบรรจุที่เจดีย์ เมื่อศักราชปีที่ 238 เดือนกุมภาพันธ์ วันที่ 3 วันศุกร์ เวลาตี 1 กว่า ซึ่งพระอริยะสงฆ์ทั้ง 7 พระองค์ประกอบด้วย

1. พระอเชนอุ๊ปาก๊ะ
2. พระอเชนตอนะ
3.พระอเชนอุตาละ
4.พระอเชนอนุลองดา
5.พระอเชนเตต๊ะ
6.พระอเชนโก๊ะทะ
7.พระอเชนตอเมยะ


พระเกศาธาตุที่บรรจุครั้งแรกมี 2 เส้น บรรจุครั้งที่ 2 อีก 4 เส้น รวมเป็นพระเกศาธาตุ 6 เส้น ซึ่งได้นำมาบรรจุรวมกันไว้ในที่เดียวกัน (ส่วนชื่อเมือง "ต่งแตแมรุดาโกง" ปัจจุบันเรียกสั้นๆ ว่า "ต่งแต") จบประวัติแต่เพียงเท่านี้

เป็นอันว่าพวกเราคนไทยก็ได้ทราบประวัติความเป็นมาแต่เพียงเท่านี้ ซึ่งหนังสือประวัตินี้ตามที่ "คุณลิ้นจี่" ซึ่งเป็นชาวเมืองตะโท (สะเทิม) ได้มาทำงานอยู่ที่ร้านมายิน แล้วได้ช่วยกันแปลกับคุณมายิน เดียวสุรินทร์ จนได้ทราบซึ่งความสำคัญของ "พระเจดีย์ชเวซานดอร์" แห่งนี้

ขอย้อนเล่าเหตุการณ์ต่อไปว่า หลังจากกลับมาถึงที่พักแล้ว พนักงานต้อนรับได้แนะนำว่า มีการจัดรถบัสไปกราบไหว้ รอยพระพุทธบาท "ชเวเซ็ทตอว์" ที่เมืองมินบู ผู้เขียนได้ยินเช่นนั้นรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง ความฝันที่จะได้ไปกราบไหว้และได้ไปเห็นสมหวังแล้ว

เมื่อได้ไปซื้อตั่วรถทัวร์แล้ว จึงได้ทราบว่ารถจะออกเดินทางไปวันที่ 17 มกราคม 2553 เป็นเวลาเขาจะมีการทำพิธีเปิดรอยพระพุทธบาทอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20 มกราคม 2553 นับว่าโชคดีอย่างบังเอิญจริงๆ เวลาที่เหลือ คือ วันที่ 15 - 16 ม.ค. 2553 จึงได้ตระเวณกราบไหว้พระเจดีย์สำคัญในเมืองย่างกุ้งทุกวัน (ตามรายการทำบุญที่แจ้งอยู่ข้างบน) รวมทั้งสิ้น 18 แห่งแล้ว

(( โปรดติดตามตอน "ย่างกุ้ง - เมืองแม็กเว - เมืองมินบู" ต่อไป ))



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 28/4/10 at 12:11 Reply With Quote


(Update 29-04-53)

ย่างกุ้ง - เมืองแม็กเว (Magwe) - เมืองมินบู

วันที่ 17 ม.ค. 2553


การเดินทางในวันนั้น โดยรถบัสปรับอากาศ 2 คัน ออกจากย่างกุ้ง เวลา 18.00 น. ผ่านเมืองแปร ไปสว่างที่ "พระเจดีย์เมี่ยตะลอง" เมืองแม็กเว (มะกวย) พระเจดีย์องค์นี้เพิ่งปิดทองงามอร่าม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิรวดีที่กว้างใหญ่ ผู้เขียนเพิ่งได้ประสบความสมหวังเป็นครั้งแรก หลังจากได้เดินทางมาบริเวณแถวนี้เมื่อปี 2543 คือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ภาพทั้งหมดนี้ถ่ายเมื่อ ปี 2543 (ภาพการเดินทางครั้งที่ 1 ปี 2553 ไม่มี)


ขณะนั่งรถเรือข้ามแม่น้ำอิรวดีอันกว้างใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 45 นาที จะเห็นพระเจดีย์เซ็ทเคนเดออยู่ริมแม่น้ำ



สมัยเมื่อ 10 ปีก่อน ยังไม่มีสะพาน ต้องข้ามเรือแล้วนั่งรถสองแถว (ขึ้นหลังคา) อย่างที่เห็นนี่แหละ



ลงจากรถสองแถวแล้วต้องเดินลุยน้ำ แม่น้ำหน้าด้านนี้จะไม่ลึกมาก มีชาวบ้านมาช่วยถือของให้ด้วย



มณฑปยอดแหลมครอบรอยพระพุทธบาท ขณะที่กำลังซ่อมอยู่ด้านในพอดี จึงได้ทำบุญร่วมบูรณะ 15,000 จ๊าด



ปี 2543 รอยพระพุทธบาท "ชเวเซ็ทต่อว์" ถูกครอบด้วยเหล็กฝาชีเอาไว้ แต่มาปี 2553 ได้เห็นชัดเจน



รอยพระพุทธบาท "ชเวเซ็ทตอว์" อยู่ภายในวิหารข้างล่าง สมกับรอคอยมานาน 10 ปีจริงๆ


นี่ก็อีกภาพหนึ่งเดิมๆ เมื่อปี 2543 จะเห็นทางขึ้นเขาวิหารครอบพระพุทธบาทอยู่ริมแม่น้ำ ปัจจุบันนี้ทาง
การได้ถมดินจนพื้นยื่นออกมาอีกมาก จะมองไม่เห็นทางขึ้นเช่นนี้อีกแล้ว
เวลามีงานร้านค้าจะอยู่เต็มไปหมด และมีการสร้างเรือนพักด้วยไม้ไผ่อยู่ริมแม่น้ำ คนที่มาไหว้พระบาทจะพักอยู่ที่นี่ พร้อมกับลงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน เวลานี้เป็นที่นิยมกันมาก ได้บุญด้วยได้พักผ่อนไปด้วย ส่วนใหญ่มากันทั้งครอบครัว มีทั้งเด็กผู้ใหญ่เต็มไปหมด



พระเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาท "ชเวเซ็ทตอว์" ภายในวิหารอีกรอยหนึ่งอยู่บนภูเขา

ในตอนนั้นได้ไปที่รอยพระพุทธ "ชเวเซ็ทต่อว์" และ "พระเจดีย์จองโด่ยา" แต่ทว่าค่ำมืดเสียก่อน ไม่สามารถจะมาที่ "พระเจดีย์เมี่ยตะลอง" แห่งนี้ได้ ได้แต่โปรยดอกไม้ลงในแม่น้ำอิรวดี เพื่อฝากลอยไปบูชาเท่านั้น ในระหว่างที่นั่งเรือข้ามแม่สายนี้ในยามค่ำคืน ซึ่งปัจจุบันนี้ทางการพม่าได้สร้างสะพานข้าม ทำให้ได้รับความสะดวกสบายกว่าสมัยก่อนมาก






คลิปวีดีโอการเดินทางไปรอยพระพุทธชเวเซ็ทต่อว์ เมื่อปี 2543

ฉะนั้น ความปรารถนาที่จะกลับมาอีกครั้ง หลังจากรอคอยมานาน 10 ปี ได้สมหวังในครั้งนี้แล้ว ท่ามกลางอากาศยามเช้าสดใสและสงบเงียบ ผู้เขียนเดินลงไปพร้อมกับชาวพม่าชายหญิงทั้งหลาย ที่นั่งรถทัวร์มาตลอดทั้งคืน บางคนก็เข้าห้องน้ำ ไม่ลืมที่จะถอดรองเท้าเวลาเข้าไปในลานพระเจดีย์ทุกครั้ง

ขณะที่เดินไปตามทางเดินมุ่งตรงไปพระเจดีย์เมี่ยตะลองนี้ แหงนดูภาพวาดที่เขียนประวัติพระพุทธเจ้าเสด็จมา ณ สถานที่แห่งนี้ ชาวเมืองยกขบวนออกไปต้อนรับ ท่านวิษณุกรรมเทพบุตรจึงได้เนรมิต "พระแท่น (เตียง) แก้วมรกต" เป็นที่ประทับ ต่อมาภายหลังชาวเมืองได้สร้างพระเจดีย์ครอบเอาไว้

สำหรับประวัติของ รอยพระพุทธบาท "ชเวเซ็ทต่อว์" จะมีความเกี่ยวข้องกับ พระเจดีย์ตันจิต่อง ที่เมืองพุกาม (บรรจุพระเขี้ยวแก้ว) กล่าวคือเมื่อสมัยที่พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุ ๗๕ พรรษา ได้ เสด็จมาที่ วัดจองโด่ยา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับชเวเซ็ทตอว์ ชาวพิว (พยู) และพม่าได้สร้างพระคันธกุฎีด้วยไม้แก่นจันทน์ทั้งหลังถวายพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้ 2 รอย จากนั้นจึงเสด็จไปที่ ภูเขาตันจิต่อง ใกล้เมืองพุกาม ต่อมาภายหลังได้มีการสร้างพระเจดีย์ครอบพระคันธกุฎีหลังนี้ไว้ และตามตำนานใน "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม 4" เล่าไว้ว่า

ก่อนสมัยพุทธกาล ๑๐๐ ปี มี พระนางสุธรรมจารี หรือ "มนูจารี" แห่งเมืองอปรันตสีฐะ ได้ตามเสด็จพระราชบิดาที่เข้าป่าออกบวชเป็นฤาษี พระธิดาชอบเล่นน้ำอาบแสงจันทร์ที่แม่น้ำมันชอว์มาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้มีความงดงามมาก

ต่อมามีพระมหาอุปราชของเมืองอปรันตสีฐะ ชื่อ เจ้าชายอธิตรา ได้มาเห็นนางก็เกิดรักใคร่ไม่ยอมกลับบ้านเมือง พระธิดามีญาณหยั่งรู้ว่ามีคนมาคอยแอบดู จึงแยกร่างเป็นสองร่าง ร่างหนึ่งกำลังอาบแสงจันทร์ อีกร่างหนึ่งไปดักจับเจ้าชาย จนรู้ความจริงแล้ว จึงได้แต่งงานกันและกลับไปครองเมืองอปรันตสีฐะ

แต่ก็มีเรื่องยุ่งเหยิงอีกมาก ขอรวบรัดไปเลยว่า สุดท้ายพระนางได้เป็นผู้ออกกฎหมายไว้ ใช้ในเมือง ตอนหลังถูกกลั่นแกล้งจนแขนขวาได้ขาดไป พระสวามีก็ตายไปอีก จนเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และเสด็จมาที่มานเซ็ทต่อว์ แต่พระนางไปยอมไปกราบ เพราะมือขวาขาดหายไป

คนพม่ามีความเชื่อว่า การที่จะกราบพระ จะต้องกราบให้ครบทั้งสิบนิ้ว พระนางจึงอธิษฐานว่าจะไปกราบพร้อมเจ้าชายอธิตราในสมัย "พระศรีอาริย์" ในอนาคตกาลโน้น ปัจจุบันนี้คนพม่ามี ความเชื่อว่า พระนางสุธรรมจารียังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ แม้เวลาจะล่วงเลยไปนาน ยังคงตามหาเจ้าชายอยู่ แต่รูปร่างหน้าตาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ





พระเจดีย์เมี่ยตะลอง เมืองมินบู ประเทศพม่า

Magwe Myathalun Pagoda

Steaming into Magwe, the riverine traveller is greeted by the sight of the Myathalun Pagoda glinting serenely from the summit of the Naguttama hillock hard by the bank of the Ayeyarwaddy River. Being one of the greatly venerated shrines, and also because Magwe lies midway between the upcountry and the lower parts, its annual festival has served as a great fair for the exchange of local goods.

According to legend the original pagoda had a height of about 55.5 feet (16.9 m) and was built by U Baw Gyaw and his wife the daughter of a certain Maha Bawga, a man of great wealth with an official title.

King Saw Lu (1077-1084) of Bagan encapsulated the original pagoda and raised it to a height of 87 feet (26.5 m). In 1847, it was destroyed by an earthquake and rebuilt by the mayor of the town Min Din Min Hla Kyaw Gaung. The pagoda was rebuilt to the present height of approximately 104 feet (31.7m).

ประวัติ "พระเจดีย์เมี่ยตะลอง" เมืองแม็กเว ตามแผ่นพับที่ทางวัดแจกให้แก่นักท่องเที่ยว คลิกที่นี่

ที่มา - www.myanmartravelinformation.com/mti-other-destinations/myathalun.htm

หลังจากที่ได้เข้าไปกราบไหว้ ด้วยการนำแผ่นทองคำเปลวและน้ำอบไปด้วยแล้ว จึงได้เข้าไปร่วมทำบุญค่าปิดทองย้อนหลังกับเจ้าหน้าที่ของวัด เป็นจำนวนเงิน 10,000 จ๊าด จากนั้นรถบัสได้วิ่งย้อนออกมาข้ามสะพานแม่น้ำอิรวดี (ขณะที่มาปี 2543 ยังไม่ได้สร้าง) สะพานยาวเกือบกิโลเมตร เพราะแม่น้ำกว้างใหญ่มาก มองเห็นพระเจดีย์อยู่สองข้างฝั่งสวยงามอร่ามตา



พระเจดีย์เซ็ทเคนเดอ (Set kane de' Padoda) เมืองมินบู

สถานที่นี้เขาบอกว่าสร้างสมัยเดียวกันนั่นก็คือ พระเจดีย์เซ็ทเคนเดอ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ พระเจดีย์เมี่ยตะลอง โดยมีแม่น้ำกว้างใหญ่ขวางกั้นอยู่ มองดูระหว่างรถวิ่งข้ามสะพานสวยงามมาก แสงสีทองขององค์พระเจดีย์ทั้งสองฝั่งกระทบกับแสงอาทิตย์ในยามเช้า มองดูแล้วจิตใจสดใส ทั้งๆ ที่ต้องนั่งหลับ (ไม่หลับบ้าง) อยู่ในรถตลอดทั้งคืน

ขณะที่ไปถึงต้องรีบเดินขึ้นบันไดไปบนพระเจดีย์ เนื่องจากพระเจดีย์อยู่ริมแม่น้ำสูงขึ้นไป พอที่จะมองเห็น "พระเจดีย์เมี่ยตะลอง" ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำอิรวดี และพอจะนึกย้อนภาพสมัยปี 2543 นั้นได้ดีว่า ขณะนั่งเรือข้ามฟาก เราก็สามารถมองเห็นพระเจดีย์ทั้งสองฝั่งนี้ได้ แต่เสียดายที่ไม่มีเวลาพอนั่นเอง บัดนี้ก็ได้สมหวังตามที่ตั้งใจแล้ว จึงได้กราบไหว้บูชาพระพุทธรูป 8 ทิศ ภายในพระเจดีย์ด้วยน้ำหอม พร้อมกับทำบุญ 10,000 จ๊าด แล้วออกเดินทางต่อไป กรุณาชมภาพแผนที่เมือง Minbu และเมือง Magway โดยมีแม่น้ำอิระวดีอยู่ระหว่างกลาง คลิกที่นี่





พระเจดีย์จองโด่ยา เมืองมินบู ภายในเป็นที่ประดิษฐาน "พระคันธกุฎิไม้จันทน์หอม" ของพระพุทธเจ้า

รถบัสวิ่งผ่านไปตามหมู่บ้านต่างๆ จนกระทั่งมาถึงหมู่บ้านปุ้นพิว จะเห็น "พระเจดีย์จองโด่ยา" แต่ไกล เมื่อแหงนมองขึ้นไปบนพระเจดีย์ ปรากฎว่าพระเจดีย์กำลัง "เข้าเฝือก" อยู่พอดี รู้สึกหัวใจพองโตด้วยความดีใจ ที่จะได้บุญทั้งที่ได้มากราบไหว้และจะได้ร่วมบูรณะ เดินเข้าไปภายในร่วมทำบุญกับเจ้าหน้าที่ เป็นค่าปิดทอง 50,000 จ๊าด และค่าทำฉัตรใหม่อีก 10,000 จ๊าด รวมเป็นเงิน 60,000 จ๊าด (อย่าคิดว่าเป็นเงินบาทนะ) ใกล้ถึงเวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่บอกให้ออกมาฉันเพลที่ร้านค้าหน้าวัด

ประวัติพระเจดีย์จองโด่ยา (Update 03-08-53)

......ต่อมาได้นำประวัติที่ได้ไปให้ "ลิ้นจี่" คนงานชาวพม่าที่ร้านคุณมายิน จ.พิจิตร แปลจากภาษาพม่ามีใจความว่า สถานที่แห่งนี้มีชื่อเต็มว่า "วัดสนากูนั่นดะ จองโด่ยา" ตามประวัติเล่าว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จมาพร้อมกับพระสงฆ์ 500 รูป พระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระสัทธรรมเทศนา เพื่อโปรดบรรดาสาธุชนทั้งหลาย ซึ่งมาฟังธรรมกันมากมายพร้อมทั้งถวายสิ่งของแด่พระพุทธเจ้า ในเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จมานั้น ฝูงปลาทั้งหลายก็จะมาแสดงความเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

......ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจะมีปรากฏการณ์พิเศษ ดังนี้

1. ปลาจะมาทุกปี มาเดือนที่ 4 (นับเดือนของพม่า) ปลาจะว่ายน้ำมาก่อนเพื่อมาจำพรรษา พอครบ 1 พรรษาก็จะว่ายน้ำกลับไป ฝูงปลาในบริเวณนี้จะหายไปหมดสิ้นเลย (เดือนที่ 4 คือเดือน เม.ย.)
2. ฝูงปลาเหล่านี้จะกินเจ กินขนม และกินข้าวโพด
3. คนเข้าไปกอดลูบคลำได้ โดยปลาไม่ทำร้ายแต่อย่างใด
4. ปลามีสีขาว ตัวไม่มีกลิ่นคาว




ฝูงปลาตัวใหญ่ว่ายมาอาศัยอยู่ในแม่น้ำแห่งนี้ เฉพาะระหว่างเข้าพรรษา กินแต่ข้าวสุกเท่านั้น

......ในหนังสือประวัติเล่าต่อไปอีกว่า ในปีศักราชที่ 103 ท่านได้เป็นพระพุทธเจ้าทรงผนวชได้ 20 พรรษา พระชนมายุ 56 ปี
.......ปีศักราชที่ 123 (B.C 610) องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ชื่อว่า "มหาโป่งนะยะหาดามาเท" ได้เสด็จมาที่ "เซโด่วงจองโด่" เมืองตาวหยี แล้วเสด็จต่อไปที่ "ตู๊นาป๊ะลั่นต๊ะไต๋ชุโด่งเมี่ยนบูพระยา วาเนซะกะมะ จองโด่ยา" ระหว่างทางยังไม่ถึงจองโด่ยา พระพุทธองค์ได้พบกับพระฤาษีตนหนึ่ง ซึ่งพระฤาษีตนนี้ได้สอนคนแบบผิดๆ เช่นปฏิเสธว่าไม่มีพระนิพพาน เป็นต้น พระพุทธองค์จึงได้ทรงสั่งสอนให้พระฤาษีมีความเห็นถูก จนพระฤาษีมีความเลื่อมใสได้บรรลุธรรม แล้วขอบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

......ต่อจากนั้นพระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์ที่เป็นบริวารทั้ง 500 รูป ได้เสด็จไปที่ "เมืองวันเนซะขะมะ จองโด่ยา" ไปที่ "วัดสนากูนั่นดะ" (วัดที่มีปลามาจำพรรษา) ชาวบ้านทั้งหลายได้สร้างพระคันธกุฎีถวายแด่องค์สมเด็จพระบรมศาสดา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ 500 รูป ได้พักอาศัยอยู่ที่วัดสนากูนั่นดะจองโด่ยาเป็นเวลา 7 วัน แล้วจึงเสด็จกลับ

..... ในระหว่างทาง มีพระยานาคตนหนึ่ง ชื่อว่า "นาปะดา" ได้เข้ามากราบไหว้ขอให้พระองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาท พระพุทธองค์จึงทรงประทานไว้ที่ "เอ๊าเซนตอว์ยา" (เอ๊าเซน แปลว่า "ข้างล่าง") ต่อมาได้มีพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อว่า "ตินสะบันด๊ะยะหาดา" ได้มากราบไหว้พร้อมทั้งทูลขอให้องค์สมเด็จพระประทีปแก้วประทับรอยพระพุทธบาท พระพุทธองค์จึงทรงประทานไว้ที่ "อาเท็ดเซนตอว์ยา" (อาเท็ด แปลว่า "ข้างบน") ต่อมาจึงมีผู้คนมากราบไหว้บูชากันอย่างมากมายจนถึงทุกวันนี้.




เที่ยวงานเทศกาลไหว้พระพุทธบาท "ชเวเซ็ทตอว์" เมืองมินบู



ภาพทิวทัศน์ : จะมองเห็นมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งไหลอ้อมภูเขาตลอดแนว
ปัจจุบันนี้มีการถมทรายยื่นออกมาทั้งสองฝั่ง จะมองเห็นพื้นทรายยาวเหยียด

รถบัสวิ่งออกจากร้านอาหารหน้าพระเจดีย์จองโดยา หลังจากฉันเพลเสร็จแล้ว รถวิ่งสวนกับรถบัสอีกคันหนึ่งที่มาร่วมกัน แต่จำนวนคนของเขามากกว่า จึงทำให้เดินทางล่าช้า รถบัสของเราวิ่งเข้าไปตามป่าเขา ซึ่งเป็นอาณาเขตของอุทยานแห่งชาติ Shwesettaw Wildlife Sanctuary ตามถนนที่ลาดยางแต่ไม่กว้างมาก ซึ่งยังดีกว่าที่พวกเรามาครั้งแรก เพราะในตอนนั้นถนนขรุขระมากกว่าจะไปถึงก็เย็นแล้ว


ภาพแรก Shwesettaw Wildlife Sanctuary ภาพ 2 เรือนพักเป็นแถวยาวเหยียด มีเฉพาะงานเทศกาลเท่านั้น
โปรดคลิกดูแผนที่ Shwesettaw จาก Google Earth
คลิกที่นี่

ขอเล่าลัดๆ ต่อไปว่า หลังจากกลับมาแล้วได้เป็นหวัดลงคออย่างแรง แม้จะบนหลวงพ่อ 5 พระองค์ช่วยแล้วก็ตามว่า ต่อไปก็ถึงจุดสำคัญ นั่นก็คือ รอยพระพุทธบาท "ชเวเซ็ทตอว์" แห่งเมืองมินบู อยู่ริมแม่น้ำ 1 รอย อยู่บนเขาอีก 1 รอย ชาวพม่าได้สร้างมณฑปครอบไว้อย่างสวยงาม สถานที่แห่งนี้โดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทริมน้ำ เจ้าหน้าที่จะทำฝาเหล็กปิดทองครอบปิดไว้ตลอดปี และจะมีพิธีเปิดรอยพระพุทธบาท ในวันที่ 19 ม.ค. นี้ โดยมีท่านรองนายกรัฐมนตรีของพม่ามาเป็นประธานในการเปิด

ในวันนี้ นับว่าโชคดีอีกชั้นหนึ่ง ความฝันที่จะได้ไปกราบ "พระเจดีย์ชเวซานดอว์" ที่เมืองกเลงอ่อง รัฐมอญ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ใกล้ "เมืองทวาย" ของประเทศพม่า (ติดกับชายแดนของไทยด้านเมืองกาญจนบุรี) เริ่มมีแววที่จะสมหวังขึ้น เมื่อได้พบกับพระภิกษุชาวมอญรูปหนึ่ง ชื่อ พระสุวรรณ สุวัณโณ ที่ได้เดินทางมาจากย่างกุ้งในครั้งนี้ด้วย แต่ท่านได้นั่งอยู่ในรถบัสอีกคันหนึ่งที่ได้เดินทางมาด้วยกัน

บ้านเดิมของท่านอยู่ที่เมืองเมาะละแหม่ง แต่ท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ "มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย" ในระดับปริญญาตรี และได้พักอยู่ที่วัดบางกระดี่ ฝั่งธนบุรี ในเรื่องนี้ได้ถามท่าน ปรากฏว่าท่านรู้จัก "เมืองกเลงอ่อง" (เดิมผู้เขียนเรียก "เมืองเกงอ่อง" พอสำเนียงเปลี่ยนไป ถามใครจึงไม่มีใครรู้จัก)
จึงขอให้ท่านนำไปกราบไหว้ โดยนัดหมายพบกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 นั่นก็คือจะต้องมีการเดินทางสู่ประเทศพม่า เป็นทริปที่ 2 อย่างไม่คาดฝันมาก่อนเช่นกัน


วันที่เราเดินทางไปถึงเป็นวันที่ 18 ม.ค. เวลาประมาณ 15.30 น. ได้เห็นแม่น้ำใสไหลเชี่ยวแต่ไม่ลึก มีนักบุญชาวพม่าต่างพากันอาบน้ำอยู่ริมแม่น้ำ โดยมีเกาส์เฮ้าท์ (ทำด้วยไม้ไผ่) มากมายนับร้อยหลัง ตั้งเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำทั้งสองด้าน สำหรับค่าที่พักคนละ 6,000 จ๊าด นอนกี่คนก็ได้ พวกเรามองดูแทบไม่น่าเชื่อว่า ในป่าในเขาไม่มีบ้านคนอาศัย มีแต่ป่ารกทึบไกลจากตัวเมืองมาก จะมีผู้คนหลั่งไหลมารอพิธีเปิดรอยพระพุทธบาทในวันพรุ่งนี้นับพันๆ คน



ภาพซ้ายมือของเรา : รอยพระพุทธบาทบนเขา ภาพขวามือ : รอยพระพุทธบาทริมแม่น้ำ
โปรดอ่านประวัติ "รอยพระพุทธบาทชเวเซ็ทตอว์" (ภาษาอังกฤษ) จากไฟล์ PDF
คลิกที่นี่
(ท่านผู้ใดสามารถแปลเป็นภาษาไทยได้ กรุณาแปลแล้วส่งมาเพื่อลงในกระทู้นี้ด้วย)

Minbu Shwe Settaw - Magwe Division

A pair of Buddha's Footprints are located in Settawya, a forest retreat at 34 mile distant west of Minbu on the apposite bank of Magwe which is 331 miles from Yangon by road. The Footprints are well preserved and shrines were constructed nearly.

The place is known as the Pagoda site of the forest. The pilgrimage is combined with flicking for young people as the scenery is picturesque with a full taste of natural atmosphere. One can go there also by Minbu- A Road following braches lane at 22 miles post. The site is on the river Man.

The festival is held on the fifth waxing moon of the Myanmar calendar month, Tabodwe (February and March) annually. Many people from different parts of the country gather their and make meritorious deeps singly or collectively.

On the way from Minbu, the visitors can pay homage to Sandal wood Monastery at Legging where the Lord Buddha had visited in his lifetime. The history of that Footprint Pagoda dated back to the time of the lord Buddha. Once the Lord Buddha came to that site in the country of Sunapranta.

He met the Orahat Sicca Vanda and Naga Nammada on his way and on their humble request, the lord granted their reverence. The Foot points were enshrined ever since. The lower Footprint on the slat is under water during the monsoon months as the river Man is flooded. Therefore the festival is celebrated in the later winter months.
There are series of stalls marketing different things for the pilgrims and villagers nearly. The souvenirs can be bought there also.


ที่มา - www.myanmartravelinformation.com/mti-other-destinations/shwesettaw.htm



บรรยากาศเก่าๆ ริมแม่น้ำมันชอร์ ด้านหน้ามณฑปรอยพระพุทธบาท "ชเวเซ็ทตอว์"

งานเทศกาลไหว้พระบาทนี้ มองเห็นผู้คนต่างเดินชมร้านค้าขายสินค้ามากมายอยู่สองข้างทาง ซึ่งเขาจะมีกำหนดการเปิดถึงวันสงกรานต์เท่านั้น (ประมาณ 3 เดือน) หลังจากนั้นจะปิดไป เพราะแม่น้ำเริ่มไหลเอ่อล้นมาถึงวิหารครอบพระพุทธบาท ในพรรษาจะมีปลาว่าย (ตัวใหญ่ก็มี) มาจากที่อื่น มาวนเวียนอยู่แถวนั้น แล้วจะว่ายกลับไปช่วงออกพรรษา ผู้เขียนได้ร่วมทำบุญทุกอย่างที่นี่ เพราะมีการจัดงานมหกรรมยิ่งใหญ่อลังการจริงๆ

ผู้เขียนได้พักค้างคืนอยู่ที่นี่ 2 คืน วันที่ 19 มกราคม 2553 ได้ทำพิธีเปิดรอยพระพุทธอย่างยิ่งใหญ่ โดยคณะฝ่ายบรรพชิตมีพระผู้ใหญ่ระดับเจ้าอาวาสประมาณ 30 กว่ารูป และประธานฝ่ายคฤหัสถ์อันมีท่านรองนายกรัฐมนตรีของพม่ามาร่วมเปิดรอยพระพุทธบาท ท่ามกลางชาวพม่าและชาวมอญ ชาวกะเหรี่ยง และรวมทั้งชาวไทยเช่นเราอีก 2 คนด้วย ที่ได้มีโอกาสร่วมพิธีมีคนร่วมงานนับพันๆ คน

พวกเราต้องเดินเข้าไปเบียดเสียดอยู่ภายในวิหาร เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่เปิดฝาครอบออก ท่ามกลางผู้คนชาวพุทธมากมาย ต่างใจจดใจจ่อที่จะได้มองเห็น ครั้นเจ้าหน้าที่ได้ชักรอกฝาครอบเหล็กขึ้นไปแล้ว จึงได้ทำความสะอาด และเอาเสาหลักขึ้นมาค้ำฝาชี แล้วเอาชิ้นส่วนมาวางบนฝาครอบ ประกอบเป็นรูปพระเจดีย์ มองดูแล้วนับว่าทำได้ดี สามารถเอาฝาครอบมาดัดแปลง มองไกลๆ ก็เหมือนกับรอยพระพุทธบาทอยู่ในพระเจดีย์นั่นเอง



รอยพระพุทธบาท "ชเวเซ็ทต่อว์" เมืองมินบู ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 2543 ปัจจุบันไม่ได้เห็น
แบบนี้แล้ว เพราะมีการเสริมพื้นดินออกมาทั้งสองฝั่ง จนแม่น้ำแคบไม่กว้างเหมือนกับที่เห็นนี้

ผู้เขียนได้เข้าไปกราบไหว้บูชา โดยการปิดทองสรงน้ำหอม แล้วมอบเงินจ๊าดให้เจ้าหน้าที่คนละ 1,000 จ๊าด จำนวนสิบกว่าคน จากนั้นได้เดินชมรอบๆ บริเวณนั้น ส่วนตอนกลางคืนก็ได้มานั่งสวด "อิติปิโส" และนั่งสมาธิ มีญาติโยมมาร่วมสวดมนต์กันโดยรอบ

วันรุ่งขึ้น จึงได้ออกเดินทางกลับไปทางเมืองแปร รถบัสได้นำไปกราบไหว้ "พระเจดีย์ชเวซานดอว์" และ "พระพุทธรูปแว่นทอง" มีหลายแห่งที่ผู้เขียนไปมาแล้ว แต่ส่วนที่ยังไม่เคยไปก็มีหลายแห่ง ตามที่ได้แจ้งรายชื่อการทำบุญในแต่ละแห่งข้างบนแล้ว รวม 26 แห่ง เป็นเวลา 10 วัน จึงขอผู้อ่านทุกท่านได้ร่วมอนุโมทนามหากุศลในครั้งนี้ ซึ่งในครั้งหน้าก็จะได้เล่าเรื่องการเดินทางในครั้งที่ 2 รวมทั้งสิ้น 60 แห่ง นับเป็นเวลา 20 วันต่อไป...สวัสดี


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 25/1/11 at 08:11 Reply With Quote



โปรดติดตามต่อไป ตอนที่ 2 ►



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved