ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 20/11/09 at 08:17 Reply With Quote

นิทานชาดก (เรื่องที่ 27) เสยยชาดก - ชาดกว่าด้วย "คบคนที่ประเสริฐก็ย่อมประเสริฐ"


...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง

ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 27 มีชื่อว่า "เสยยชาดก" (อ่าน..สัยยะชาดก) โดยพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น "พระเจ้ากังสมหาราช" จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

เสยยชาดก : ชาดกว่าด้วย "คบคนที่ประเสริฐก็ย่อมประเสริฐ"



มูลเหตุที่ตรัสชาดก

....พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภอำมาตย์ของพระเจ้าโกศลคนหนึ่งจึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า เสยยังโส เสยยะโส อะโหสิ ดังนี้.

........ได้ยินว่า...อำมาตย์ผู้นั้นมีอุปการะเป็นอันมากแก่พระราชา ได้เป็นผู้จัดสรรพกิจทั้งปวงให้สำเร็จ. พระราชาทรงพระดำริว่า อำมาตย์นี้มีอุปการะเป็นอันมากแก่เรา จึงได้ประทานยศใหญ่โตแก่อำมาตย์นั้น อำมาตย์พวกอื่นอดทนอำมาตย์นั้นไม่ได้ ก็คอยส่อเสียดยุยงพระราชาทำลายอำมาตย์นั้น.

........พระราชาทรงเชื่อคำของอำมาตย์เหล่านั้น มิได้ทรงพิจารณาโทษ รับสั่งให้จองจำอำมาตย์ผู้มีศีลนั้น ผู้หาโทษมิได้ด้วยเครื่องจองจำคือโซ่ตรวนแล้วให้ขังไว้ในเรือนจำ.

อำมาตย์นั้นตัวคนเดียวแท้อยู่ในเรือนจำนั้น อาศัยศีลสมบัติได้เอกัคคตาจิตแน่วแน่ในอารมณ์เดียว พิจารณาสังขารทั้งหลายก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล.

ครั้นในกาลต่อมา พระราชาทรงทราบว่าอำมาตย์นั้นไม่มีโทษ จึงรับสั่งให้ถอดเครื่องพันธนาการคือโซ่ตรวน แล้วได้พระราชทานยศอันยิ่งใหญ่กว่ายศครั้งแรก.

อำมาตย์คิดว่าจักถวายบังคมพระศาสดา จึงถือเอาของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นเป็นอันมากไปยังพระวิหาร บูชาพระตถาคตถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระศาสดาเมื่อจะทรงกระทำปฏิสันถารกับอำมาตย์นั้น จึงตรัสว่าเราตถาคตได้ยินว่า ราชทัณฑ์อันหาประโยชน์มิได้ เกิดขึ้นแก่ท่านหรือ?

อำมาตย์กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราชทัณฑ์อันหาประโยชน์มิได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ข้าพระองค์ได้กระทำประโยชน์จากสิ่งที่หาประโยชน์มิได้นั้น ข้าพระองค์นั้นนั่งอยู่ในเรือนจำแล้วทำโสดาปัตติผลให้เกิดขึ้นแล้ว.

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อน..อุบาสก มิใช่ท่านเท่านั้น ที่นำเอาประโยชน์มาจากสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย ก็นำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์มาจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเหมือนกัน อันอำมาตย์นั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

เนื้อความของชาดก

.....ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตนั้น พอเจริญวัยก็เล่าเรียนศิลปะทั้งปวงในเมืองตักกศิลา

เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้วก็ดำรงอยู่ในราชสมบัติ มิได้ทรงยังทศพิธราชธรรมให้กำเริบ ครองราชสมบัติโดยธรรมสม่ำเสมอ บำเพ็ญทาน รักษาศีล ๕ รักษาอุโบสถกรรม

ลำดับนั้น อำมาตย์ผู้หนึ่งของพระองค์ก่อการประทุษร้ายขึ้นภายในพระราชวัง. ข้าราชบริพารที่เป็นบาทบริจาริกาเป็นต้น จึงกราบทูลแก่พระราชาว่า

อำมาตย์ผู้โน้นก่อประทุษร้ายในภายในพระราชวัง พระราชาทรงสืบสวนแล้วทรงทราบได้ตามสภาพ จึงรับสั่งให้พาอำมาตย์นั้นมาเฝ้าแล้วตรัสว่า

จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าได้มาอุปัฏฐากเราเลย แล้วทรงถอดยศเสีย. อำมาตย์นั้นไปอุปัฏฐากพระเจ้าสามันตราชองค์อื่น (เรื่องทั้งปวงได้กล่าวไว้ในมหาสีลวชาดกในหนหลังนั่นแหละ)

แม้ในชาดกนี้ พระราชานั้นทรงทดลองถึง ๓ ครั้ง จึงเชื่อคำของอำมาตย์นั้น ทรงดำริว่าจักยึดราชสมบัติในเมืองพาราณสี จึงพร้อมด้วยบริวารอันใหญ่หลวงประชิดราชอาณาเขตของพระเจ้าพาราณสี.

นายทหารผู้ใหญ่ของพระเจ้าพาราณสีประมาณ ๗๐๐ นาย รู้ประพฤติเหตุนั้นแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทพ ได้ยินว่าพระราชาองค์โน้นคิดว่าจักยึดราชสมบัติในเมืองพาราณสี จึงตีชนบทเข้ามา พวกข้าพระองค์จักไปในชนบทนั้นนั่นแหละ แล้วจักจับพระราชาองค์โน้นมา.

พระเจ้าพาราณสีตรัสว่า เราไม่มีการกระทำกรรมด้วยราชสมบัติที่ได้ด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น พวกท่านอย่ากระทำอะไรๆ เขา. พระราชาโจรเสด็จมาล้อมพระนครไว้.

อำมาตย์ทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระราชาอีกทราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าทรงกระทำอย่างนี้ พวกข้าพระองค์จะจับพระราชาโจรนั้น.

พระราชาตรัสว่า อย่าได้กระทำอะไรๆ พวกท่านจงเปิดประตูเมืองทุกประตู พระองค์เองทรงแวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ประทับนั่งบนบัลลังก์ในท้องพระโรง.

พระราชาโจรโบยตีพวกมนุษย์ที่ประตูทั้ง ๔ เข้าเมืองได้แล้วขึ้นยังปราสาทให้จับพระราชาผู้แวดล้อมด้วยอำมาตย์ ๑๐๐ คน จองจำด้วยโซ่ตรวนทั้งหลายแล้วให้ขังไว้ในเรือนจำ.

พระราชาประทับนั่งในเรือนจำนั่นแล ทรงแผ่เมตตาไปยังพระราชาโจร ทรงยังฌานมีเมตตาเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้น.

ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาของพระเจ้าพาราณสีนั้น ความเร่าร้อนจึงเกิดขึ้นในกายของพระราชาโจร. พระสรีระกายทั้งสิ้นของพระราชาโจรนั้น เป็นประหนึ่งถูกคบเพลิงในยมโลกลวกลน. พระราชาโจรนั้นถูกมหันตทุกข์ครอบงำจึงตรัสถามว่า มีเหตุอะไรหนอ.

อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า พระองค์ให้จำขังพระราชาผู้มีศีลไว้ในเรือนจำ ด้วยเหตุนั้น ทุกข์อันนี้จักเกิดขึ้นแก่พระองค์.

ราชาโจรนั้นจึงเสด็จไปขอขมาพระโพธิสัตว์ ตรัสว่าราชสมบัติของพระองค์ จงเป็นของพระองค์เถิด แล้วทรงมอบราชสมบัติแก่พระเจ้าพาราณสีนั้นแล

แล้วทูลว่าตั้งแต่นี้ไปข้าศึกของพระองค์จงเป็นภาระของหม่อมฉัน ให้ลงอาญาแก่อำมาตย์ผู้ประทุษร้ายแล้วเสด็จไปยังพระนครของพระองค์เอง


พุทธภาษิตจากชาดก

พระโพธิสัตว์ประทับนั่งบนบัลลังก์ซึ่งยกเศวตรฉัตรขึ้นแล้วในท้องพระโรงอันอลงกต เมื่อจะทรงปราศัยกับหมู่อำมาตย์ที่นั่งห้อมล้อมอยู่ จึงได้ตรัสคาถา ๒ คาถาแรกว่า :-

ผู้ใดคบหากับบุคคลผู้ประเสริฐ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนอันประเสริฐด้วย เราสมานไมตรีกับพระยาโจรคนเดียว ก็ปลดเปลื้องท่านทั้งหลายผู้ต้องโทษได้ทั้งร้อยคน

เพราะฉะนั้น บุคคลคนเดียวสมานไมตรีกับโลกทั้งมวล สิ้นชีพแล้วก็พึงเข้าถึงสวรรค์ ท่านชาวกาสิกรัฐทั้งหลาย จงฟังคำของเรานี้เถิด


พระมหาสัตว์พรรณนาคุณของภาวนา อันประกอบด้วยเมตตาแก่มหาชนอย่างนี้ แล้วทรงสละเศวตรฉัตรในพระนครพาราณสี อันกว้างใหญ่ถึง ๑๒ โยชน์ แล้วเสด็จเข้าป่าหิมพานต์บวชเป็นฤๅษี ครั้นบวชแล้วก็ยังฌานให้เกิดขึ้น เป็นผู้มีฌานไม่เสื่อมจึงได้เกิดขึ้นในพรหมโลก

พระศาสดาทรงเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งแล้ว ทรงตรัสพระคาถาที่ ๓ ว่า พระเจ้ากังสมหาราชครอบครองราชสมบัติเมืองพาราณสี ได้ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว ก็ทรงสละทิ้งธนูและลูกศรเสีย เข้าถึงความสำรวมในศีล คือบวช ก็แหละครั้นบวชแล้วก็ยังฌานให้เกิดขึ้น เป็นผู้มีฌานไม่เสื่อม จึงได้เกิดขึ้นในพรหมโลก

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระราชาผู้เป็นโจรในครั้งนั้น ได้เป็น "พระอานนท์" ในบัดนี้ ส่วนพระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved