|
|
|
posted on 3/3/08 at 10:55 |
|
ภาพข่าว...การเดินทางไป "ภาคเหนือ" เมื่อ วันที่ 9 - 14 ม.ค. 2551 (ตอนที่ 2)
จอมทอง - สันป่าตอง - หางดง - ดอยสะเก็ด
เมื่อตอนที่ 1 ได้นำเสนอภาพการเดินทาง ตั้งแต่ วันที่ 9 ม.ค. 51 ถึง วันที่ 10 ม.ค. 51 ในตอนที่ 2 นี้ จะลงรูปภาพต่อไปว่า หลังจากกลับลงมาจาก
"ดอยอินทนนท์" แล้วจึงได้แวะที่ "น้ำตกแม่ยะ" เพื่อค้นหารอยพระพุทธบาทตามข้อมูลของ คุณศราวุธ ราชบุรี หลังจากนั้น
จึงเดินทางมาที่ อ.จอมทอง ได้แวะทำบุญเป็นค่าทาสีพระเจดีย์ ณ วัดแขมด เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท
ต่อจากนั้นก็เดินทางตามถนนสายหลัก เห็นป้ายบอกทางเข้า วัดพระธาตุดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ จึงเลี้ยวรถเข้าไป
เพราะเป็นพระธาตุที่ยังไม่ได้สำรวจ พบว่าทางวัดกำลังปิดแผ่นทองจังโก เตรียมจะปิดทองคำเปลวต่อไป จึงได้ร่วมทำบุญเป็นเงิน 1,100 บาท เจ้าอาวาสเล่าว่า
เจ้าแม่จามเทวี เป็นผู้สร้างสมัยเดียวกับ พระธาตุดอยน้อย ที่อยู่ใกล้กันนี้
ในตอนบ่าย จึงได้ออกเดินทางผ่าน อ.สันป่าตอง - หางดง ได้เลี้ยวรถไปทางลำพูน เห็น วัดท่านาค กำลังสร้างโบสถ์ทรงล้านนาสวยงาม
ทั้งที่รถวิ่งเลยไปแล้ว จะต้องกลับรถย้อนกลับมาอีก ได้ร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นพระอุโบสถสองชั้น เป็นเงิน 1,000 บาท
จากนั้นก็เดินทางต่อไป ยังไม่ถึงกิโลเมตรเศษ จึงเลี้ยวรถเข้าไปที่ สำนักสงฆ์กู่ขะจาว เพราะเห็นป้ายบอกว่า วันนี้เป็นวันสร้าง
"พระเจ้าทันใจ" (ต้องทำให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง)
เมื่อเข้าไปในสำนักนี้แล้ว ได้พบซากพระธาตุ (กู่) ถูกต้นขะจาวขึ้นโอบไว้สูงใหญ่ คล้ายกับที่ วัดมหาราชฐานหลวง เมืองเชียงกู่
สิบสองปันนา ทางสำนักได้ก่ออิฐล้อมไว้
มีบันไดทางขึ้นไปไหว้พระธาตุเก่าด้วย
พวกเราไปถึงเวลาประมาณ 17.00 น. นับว่ายังทันเวลาที่จะได้ร่วมสร้าง "พระเจ้าทันใจ" ด้วย ทราบว่าเขาเริ่มทำกันตั้งแต่เวลา 05.00 น.
พวกเราถือว่าโชคดี เพราะไม่รู้เรื่องมาก่อน แต่ภายในสำนักนี้รู้จักและเคารพหลวงพ่อฯ เช่นกัน ร่วมทำบุญ 1,000 บาท
เวลาใกล้ค่ำแล้ว เห็นป้ายที่ถนนใหญ่บอกว่า ทางไป พระธาตุดอยเวียง ต.บ้านธิ อ.เมือง จ.ลำพูน (ตั้งอยู่บ้านดอยเวียง
ห่างจากอำเภอบ้านธิประมาณ 5 กม.) จึงเลี้ยวรถวิ่งเข้าไปอีก เนื่องจากเป็นพระธาตุที่ตกสำรวจเช่นกัน ปรากฏว่าพระธาตุอยู่บนดอย
ต้องรีบทำเวลาก่อนที่จะมืดเสียก่อน เมื่อห่มผ้าสไบทองแล้ว จึงกลับลงมาทำบุญกับเจ้าอาวาส 1,000 บาท
ซึ่งมีประวัติเล่าว่า บริเวณวัดมีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ สร้างเมื่อ พ.ศ 1220 สมัย พระแม่เจ้าจามเทวี
ตามจารึกใบลานภาษาพื้นเมืองเล่าว่า ขุนหลวงปาละวิจา ได้มาตั้งเมืองที่นี่ สร้างพระวิหารและพระเจดีย์บนภูเขา
วัดนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำหน้าตักกว้าง 39 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นอกจากนี้ยังมี องค์พระเจ้าดำดิน ซึ่งสร้างสมัย
"พระแม่เจ้าจามเทวี" ประดิษฐานไว้บนเขา 1 องค์ และข้างล่าง 1 องค์ หน้าตักกว้าง 80 นิ้ว บริเวณวัดมีความร่มรื่นเงียบสงบดี
ในตอนเช้า วันที่ 11 ม.ค. 51 ระหว่างเดินทางจากเชียงใหม่สู่เชียงราย เหลือบมองเห็นป้ายข้างถนนว่า ขอเชิญร่วมสร้าง พระพุทธรูปยืนสูง 19 เมตร 18
เซ็นต์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล รัชกาลที่ 9 จึงเลี้ยวรถเข้าไปทำบุญที่ วัดพระธาตุดอยสะเก็ด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
พวกเราได้ทำบุญสร้างพระพุทธรูป ร่วมบูรณะซุ้มประตูพระธาตุ และอื่นๆ อีกหลายรายการ รวมเป็นเงิน 2,200 บาท
พระธาตุดอยสะเก็ดองค์เดิม อยู่ภายในพระธาตุองค์ใหญ่ สามารถเข้าไปมองเห็นได้
ดอยสะเก็ด - แม่สรวย - แม่จัน - เชียงแสน
ระหว่างเดินทาง ได้แวะถวายหนังสือ เล่ม 4 ให้เจ้าอาวาส วัดพระบาทปางแฟน จากนั้นก็ไปเติมน้ำมันที่ ต.แม่เจดีย์
ออกมาจากปั้มเห็นป้ายซ่อม "พระธาตุบนม่อนพระเจ้าหลาย" จึงได้ไปร่วมทำบุญที่วัดหนองบัว เป็นเงิน 1,100 บาท แล้วออกเดินทางต่อไปที่
จ.เชียงราย
ในตอนนี้ เดินทางไปถึง วัดพระธาตุจอมสวรรค์ (1 ใน 9 จอม ของเชียงราย) อ.แม่จัน จ.เชียงราย พบว่าทางวัดกำลังสร้างทางขึ้นบนลานพระธาตุ
จึงได้ร่วมทำบุญ 1,000 บาท
พวกเราเดินทางมาถึง พระธาตุจอมกิตติ ในเวลาเย็น จึงได้ทำความสะอาดลานพระธาตุ เพื่อจัดเตรียมสถานที่ไว้วันพรุ่งนี้
หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดท่าซุง จะเดินทางมาถึง
ยอดพระธาตุได้หักลงมา เหตุเพราะแผ่นดินไหวดังกล่าวแล้ว พวกเราโชคดีจึงได้ปิดทองที่ยอดพระธาตุ เพราะก่อนนี้ได้แต่ไหว้อยู่ข้างล่าง
พระเชียงแสน 4 แผ่นดิน ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วอย่างสวยงามอยู่ที่ สามเหลี่ยมทองคำ ริมแม่น้ำโขง
พวกเราลูกหลานหลวงพ่อฯ ก็มีส่วนร่วมสร้างมาแล้ว หน้าตักประมาณ 9 เมตรเศษ
วันที่ 12 ม.ค. 51 หลังจากได้ร่วมพิธีบวงสรวง ณ พระธาตุจอมกิตติ กับ หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดท่าซุงแล้ว จึงออกเดินทางเพื่อไปสมบทกับ
คณะหลวงพี่อาจินต์ เพื่อร่วมกันทำพิธีหล่อพระพุทธรูป ณ พระธาตุพลูทอง ต.ท่าสุก อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีท่านอาจารย์สมบูรณ์
เจ้าสำนักวัดป่าปฐมพุทธาราม เป็นผู้บูรณะพระธาตุพลูทองขึ้นใหม่
ด้วยการสร้างครอบซากพระธาตุเก่าเอาไว้ แล้วสร้างพระพุทธรูปไว้โดยรอบ
หลวงพี่ชัยวัฒน์ ประธานในพิธี ได้มอบให้ หลวงพี่อาจินต์ และ พระอาจารย์สมบูรณ์ จุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรี
หลังจากเสียง พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ บวงสรวงจบแล้ว จึงเริ่มทำพิธีเทปูนหล่อพระพุทธรูปกันต่อไป (หน้าตัก 4 ศอก) หลวงพี่ชัยวัฒน์ได้สรงน้ำที่ยอดฉัตร
(เตรียมที่จะอัญเชิญขึ้นภายหลัง)
หลวงพี่อาจินต์ และ หลวงพี่จำเนียร ร่วมกันเทองค์พระพุทธรูปเป็นปฐมฤกษ์
หลวงพี่ชัยวัฒน์อุตส่าห์ปีนขึ้นไปเทบนพระเศียรเอง โดยมีพระสงฆ์เจริญชัยมงคลกถา
ทั้งนี้ มีคณะศิษย์ทั้งหลาย ทั้งที่ไปจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่และเชียงราย ต่างยืนเข้าแถวคอยหิ้วถังปูนกัน
ท่ามกลางความยินดีของทุกคน ก่อนจะกลับ หลวงพี่ชัยวัฒน์ ได้ถวายปัจจัย เพื่อร่วมสร้างทุกอย่างกับ ท่านอาจารย์สมบูรณ์ 11,000 บาท
เชียงราย - พะเยา - แพร่
วันที่ 13 มกราคม 2551 หลังจากได้ร่วมทำพิธีบวงสรวง ณ พระธาตุดอยตุง แล้ว จึงแยกย้ายเดินทางกลับผ่าน จังหวัดพะเยา เห็นป้ายบอกทางเข้า
"ภูลังกา" จึงนึกขึ้นได้ว่า ยังมีพระพุทธบาทแห่งนี้ที่ค้างสำรวจอยู่ จึงเลี้ยวรถเข้าไปทันที
รถสามารถวิ่งขึ้นไปบนอุทยานแห่งชาติภูลังกา สอบถามเจ้าหน้าที่แล้ว จึงติดต่อชาวบ้านนำรถขึ้นไปทันที โดยขอเช่ารถโฟร์วิลวิ่งขึ้นเขา เพื่อไปที่
"แท่นเทวดา" (ตามภาพถ่ายแผนที่) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญบนยอดเขานี้
ขณะเดินทางขึ้นเขา เจ้าของรถเช่าได้เล่าว่า เขาเป็นคนพื้นที่นี้อยู่มานานแล้ว สมัยก่อนมีฝรั่งคนหนึ่ง ได้ให้คนขึ้นมาสืบดูบนยอดเขานี้
เนื่องจากเขานั่งเครื่องบินผ่านมา แล้วเห็น แสงสว่างอยู่บนนี้ จากนั้นมีชาวบ้านที่เขาจ้างมา ได้เข้าไปในถ้ำ (อยู่ในบริเวณนี้) แล้วนำก้อนเล็กๆ
นี้ไปไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาชาวบ้านแถวนี้ ก็ไม่เคยเห็นแสงประหลาดบนยอดเขานี้อีกเลย
ต่อมามีผู้หญิงชาวบ้านนี้คนหนึ่ง ได้ไปทำงานอยู่ที่อเมริกา บังเอิญไปเห็นก้อนหินนี้อยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง คุยไปคุยมา ฝรั่งเจ้าของก้อนหินนี้ได้บอกว่า
อยากจะนำก้อนหินนี้กลับไปคืนที่เดิม
นี่เป็นเรื่องจริงที่เขาเล่าให้ฟัง ซึ่งมีละเอียดมากมาย แต่ขอนำมาเล่าย่อๆ ไว้เพียงแค่นี้ เพราะขณะที่รถวิ่งเข้าไปนั้น จะต้องจอดรถไว้
แล้วเดินต่อขึ้นไปบนยอดเขา เพื่อไปที่ "แท่นเทวดา" และ "อุทยานหิน 100 ล้านปี" ที่นี่มี "บ่อน้ำทิพย์" ด้วย
สมัยก่อนเป็นที่อยู่อาศัยของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ท่ามกลางเวลาเย็นพอดี จะต้องเร่งฝีเท้าแข่งกับเวลา ลมพัดแรง อากาศเริ่มหนาวเย็น แต่ก็อยากจะฝากบรรยากาศบนยอดเขานี้ไว้หลายๆ ภาพ
เพราะหาโอกาสขึ้นไปยากเหลือเกิน ถ้าท่านได้ชมภาพทุกภาพนี้ คิดว่าคงจะคุ้มค่ากับการเดินทางอย่างแน่นอน
ตอนเช้า วันที่ 14 ม.ค. 51 อันเป็นวันสุดท้าย และเป็นการเดินทางเที่ยวแรกของต้นปี พ.ศ. 2551 จึงเดินทางลงมาจากภูลังกา อ.ปง จ.แพร่ แต่ได้แวะไปที่
บ้านสนามเหนือ เพื่อไปสำรวจรอยพระพุทธบาท ตามข้อมูลของ อบต. แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะเส้นทางเต็มไปด้วยฝุ่นลูกรัง
ต้องถอยรถกลับออกมาทันที
แล้วเดินทางล่องลงมาที่ วัดพระธาตุจอมแจ้ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับ วัดพระธาตุช่อแฮ นั่นเอง
เนื่องจากคุณศราวุธ ราชบุรี ได้เคยมาพบก้อนหินมีรอยเท้าอยู่ที่นี่ แต่กว่าจะพบก็ค้นหากัน ต้องโทรถามกันพอสมควร
เจ้าอาวาสองค์ใหม่ท่านก็เพิ่งทราบเหมือนกัน
ก่อนจะกลับได้พูดคุยถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปวางบาตรที่ ดอยปูกวาง (ตามตำนานพระธาตุจอมแจ้ง) เดิมคิดว่า ดอยปูกวาง คือ
ดอยวางบาตร ที่ไหนได้ ท่านบอกว่าเป็นคนละดอยกัน เป็นอันว่า ดอยวางบาตร (ผาด่าน) อยู่ที่ บ้านแม่ลั๊ว ที่เราไปเจอกันนั้น ไม่มีในตำนาน
ก่อนจะกลับได้ร่วมทำบุญปิดทองพระธาตุจอมแจ้งย้อนหลัง 1,000 บาท เพราะเห็นว่ายังใหม่ๆ อยู่ เพิ่งจะบูรณะผ่านไปไม่นานนี้เอง
นี่คือบ่อน้ำทิพย์ ตามประวัติเล่าว่า เกิดจากการอธิษฐานของพระพุทธเจ้า หลังจากได้เสด็จไปวางบาตรที่บน "ดอยปูกวาง" แล้ว
จึงเสด็จมาถึงแห่งนี้ในเวลารุ่งแจ้ง แล้วได้ประทาน "พระเกศาธาตุ" บรรจุไว้ ภายหลังมีชื่อว่า "พระธาตุจอมแจ้ง"
เมื่อปี พ.ศ. 2540 ได้จัดงานพิธีบวงสรวงที่สุโขทัย แล้วได้นำคณะศิษย์หลวงพ่อฯ เดินทางมากราบไหว้ ตอนนั้น หลวงพี่ชัยวัฒน์
ได้เล่าประวัติให้ฟังถึงเรื่อง บ่อน้ำทิพย์ หลวงพ่อโอ ก็ถามว่าอยู่ตรงไหน ขณะหลวงพี่ชัยวัฒน์บอกแล้ว พวกเราจึงหันไปดู "บ่อน้ำทิพย์"
พลันก็มีสายลมพัดผ่านมาทันที นับเป็นที่อัศจรรย์แก่ทุกคนในวันนั้นเป็นอย่างมาก
หลังจากนั้น ได้เข้าไปร่วมทำบุญกับ ท่านเจ้าอาวาส วัดพระธาตุช่อแฮ พร้อมกับหลวงพี่ได้ถวายหนังสือตามรอยฯ เล่ม 1 ให้ท่านด้วย
และร่วมทำบุญบูรณะปิดทององค์พระธาตุ เป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท
เมื่อได้ออกไปนมัสการที่องค์พระธาตุ ได้พบท่อนไม้กลายเป็นหิน คุณศราวุธ เคยมาพบเห็นได้ถ่ายรูปไปให้หลวงพี่ชัยวัฒน์ดูก่อนแล้ว
เห็นว่ามีลายคล้ายรอยเท้าจริงๆ ด้วย
สรุปการเดินทาง ตั้งแต่ วันที่ 9 - 14 มกราคม 2551 ได้พบรอยพระพุทธบาทใหม่ ประมาณ 5 แห่ง พระธาตุใหม่อีก 5 แห่ง ได้ร่วมทำบุญบูรณะหลายแห่ง
ประมาณ 44,700 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายและสิ่งของที่บูชา นับว่าเป็นมหากุศล เพราะบางแห่งไม่ได้ตั้งใจจะไป บังเอิญผ่านไปก็ได้ร่วมบุญพอดี
ส่วนเส้นทางก็ไม่แน่นอน แล้วแต่จังหวะ
จึงขอเล่าเหตุการณ์การเดินทางไป "ภาคเหนือ" ไว้เพียงแค่นี้ ขออนุโมทนาทุกท่าน หากบรรยายผิดพลาดประการใด
ขอได้โปรดตักเตือนและท้วงติงได้ตลอดเวลา
"คณะตามรอยพระพุทธบาท"
|
|
|
|
Posts: 2043 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
|
|
"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน
เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player
ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป
ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved
|
|
|
|