ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 28/4/10 at 16:02 Reply With Quote

เดินทางไป "ภาคตะวันออก" วันที่ 16-20 เมษายน 2553


วันที่ ๑๖. เมษายน ๒๕๕๓
๑. ศูนย์ปฏิบัติธรรมชำระจิต "บารมีธรรม" บ้านหุบบอน ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
๒. รอยพระพุทธบาท "บ้านเขารัง" ต.นาดี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี

วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๓
๓. สำนักสงฆ์ทับทิมสยาม (๐๓) ต.ทัพไทย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ร่วมเทปูนหล่อพระพุทธรูป หน้าตัก ๑๐ ศอก
๔. รอยพระพุทธบาท "โคกวัด" บ้านโคกระกา หมู่ ๓ ต.ทัพไทย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
๕. รอยพระพุทธบาท "บ้านซับม่วง" ต.โคคลาน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
๖. รอยพระพุทธบาท "บ้านแก้วเพชรพลอย" ต. ตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
๗. รอยพระพุทธบาท "เขาคันนา" บ้านโคกกลาง ต.ตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว

วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๓
๘. วัดสายไหมวนาราม ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ร่วมสร้างพระเจดีย์ ๒,๖๐๐ บาท
๙. รอยพระพุทธบาท "วัดป่าเขาพลับพลึงทอง" บ้านวังน้ำฝน ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว
๑๐. รอยพระพุทธบาท "เขาจำปา" ต.ทุ่งขนาน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี
๑๑. วัดน้ำซับตาพุด ต.ทรายขาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ทำบุญหล่อพระ หน้าตัก ๑๐ เมตร ๒,๐๐๐ บาท
๑๒. วัดถ้ำสาริกา ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ร่วมสร้างพระหน้าตัก ๒๐ ศอก และร่วมสร้างอื่นๆ

วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๓
๑๓. วัดทุ่งกร่าง หมู่ ๔ ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ร่วมหล่อพระทันใจ หน้าตัก ๑๒ ศอก ๒,๒๐๐ บาท
๑๔. รอยพระพุทธบาท "สวนป่ากรรมฐานโลกทิพย์" บ้านนาบุญ ต.แก่งหางแมว อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี
๑๕. วัดเขาวงกตรุจิรวงศาราม หมู่ ๑ ต.เขาวงกต อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี
๑๖. วัดถ้ำวัฒนมงคล ต.เขาน้อย อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ทำบุญสร้างพระเจดีย์สูง ๕๒ เมตร ๒,๕๐๐ บาท
๑๗. รอยพระพุทธบาท "เขานางนม" หมู่ ๕ ต.ท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี

วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓
๑๘. วัดเขาถ้ำ หมู่ ๘ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ทำบุญร่วมสร้างพระเจดีย์ ๖๐๐ บาท
๑๙. รอยพระพุทธบาท "บางปลาสร้อย" (เขาเขียว) บ้านห้วยมะไฟ หมู่ ๔ ต.บ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

สรุปตั้งแต่วันที่ ๑๖ - ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓
- รอยพระพุทธบาท ๙ แห่ง จำลอง ๑ แห่ง
- สร้างพระเจดีย์ ๓ แห่ง
- ร่วมสร้างพระพุทธรูป ๕ แห่ง
- ร่วมสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม ๑ แห่ง
- เงินทำบุญทั้งหมด ๑๕,๒๐๐ บาท ไม่รวมเงินที่ทำบุญหล่อพระที่สำนักสงฆ์ทับทิมสยาม
- และค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมด



วันที่ 16 เมษายน 2553 (อุทัยธานี - ชลบุรี - นาดี - ตาพระยา)

1. ศูนย์ปฏิบัติธรรมชำระจิต "บารมีธรรม" บ้านหุบบอน ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี



เนื่องด้วยหลวงพี่ได้รับกิจนิมนต์ไปที่ ศูนย์ปฏิบัติธรรมชำระจิต "บารมีธรรม" บ้านหุบบอน ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จากคุณพิรุณ-คุณศรีรัตนา รัตนประสิทธิ์ เจ้าของสถานที่ญาติมิตรที่ร่วมปฏิบัติธรรมได้จัดเลี้ยงอาหารเพล พร้อมกับถ่ายภาพร่วมกันภายในศาลา ซึ่งจะมีการปฏิบัติธรรมในวันที่ 28 เม.ย. นี้ หลวงพี่จึงได้ร่วมทำบุญ ๑,๐๐๐ บาท และคุณพิรุณและภรรยาก็ได้ถวายปัจจัยหลวงพี่ ๒,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ได้มีการประสานกับ "พี่หน่อย" จากสุราษฎร์ธานี


ต่อจากนั้น คุณพิรุณและภรรยา ซึ่งเป็นบุตรชายของคุณพิชัย เจ้าของน้ำปลาตราพิชัย (หอยนางรม) ได้เดินนำไปที่ก้อนหิน ซึ่งมีต้นไม้ปกคลุมอยู่ทั่วไป พร้อมกับเล่าว่า คุณพ่อได้ซื้อที่ดินแถวนี้ไว้นานแล้ว ต่อมาจึงคิดสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติดีกว่าปล่อยทิ้งร้างไว้ ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถชภาพบริเวณสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ได้ คลิกที่นี่


ด้วยเหตุที่ว่า เคยได้ยินเสียงปี่พาทย์แถวนี้ และเคยมาร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ จึงคิดว่าก้อนหินแถวนี้น่าจะมีความสำคัญอะไรสักอย่าง


หลวงพี่จึงได้ทำพิธีบวงสรวง เพราะคุณพิรุณมีโครงการจะสร้างเจดีย์ครอบก้อนหินแถวนี้ไว้ ชมภาพแบบแปลนโครงการได้ คลิกที่นี่



(เชิญชมคลิปวีดีโอที่สำนักบารมีธรรม และรอยพระพุทธบาทที่นาดี ภาพจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)



2. รอยพระพุทธบาท "บ้านเขารัง" ต.นาดี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี (พบใหม่ ลำดับที่ 601)


ในตอนบ่าย หลวงพี่ได้โทรศัพท์ติดต่อกับ "คุณฐากูล กองไชย (แชมป์)" ผู้ที่แจ้งเรื่องรอยพระพุทธ บ้านเขารัง อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เพื่อให้ช่วยนำทาง แต่ปรากฏว่าคุณแชมป์เดินทางไปที่ตาพระยาแล้ว หลวงพี่เห็นว่าถ้าไม่ไปวันนี้ วันพรุ่งนี้จะต้องล่องลงไปทาง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี จะทำให้ไม่มีโอกาสไปที่รอยพระพุทธบาท "บ้านเขารัง" แห่งนี้

ท่านจึงได้ตัดสินใจ เดินทางไปสืบหาที่ "บ้านเขารัง" ด้วนตนเอง อาศัยเจ้า GPS เป็นผู้ช่วยได้เป็นอย่างดี ในที่สุดก็ขึ้นไปถึง "วัดเขารัง" จนได้ แต่ทางวัดบอกว่า ตอนนี้เกือบ 5 โมงเย็นแล้ว คงไปไม่ทันเพราะต้องเดินขึ้นเขาไปไกลมาก แต่หลวงพี่ตัดสินใจเสี่ยง โดยออกไปหาชาวบ้านนำทางที่อยู่หน้าวัด

ปรากฏว่าได้พบกับ "ลุงประสิทธิ์" รับอาสาช่วยนำทางให้ รถวิ่งเข้าไปข้างวัดเขารัง แล้วจอดรถไว้ข้างทางเดินขึ้นเขาไม่สูงชันนักประมาณ 20 นาที สภาพป่ายังเป็นธรรมชาติ ระหว่างทางได้ยินเสียงนกร้องหลายประเภท จนถึงจุดหมายปลายทาง ภาพที่เห็นเบื้องหน้าเป็นศาลาเล็กๆ อยู่หลังหนึ่ง


ตอนแรกหลวงพี่เข้าใจว่าเป็นศาลาครอบพระพุทธบาท แต่คุณลุงได้อธิบายว่า ชาวบ้านได้สร้างขึ้นเพื่อให้นั่งกราบไหว้โดยไม่ร้อนหรือไม่เปียกฝน ส่วนรอยพระพุทธบาทอยู่ด้านนอก


นับว่ายังเห็นเป็นรอยธรรมชาติ (ไม่มีนิ้วเท้า) ยาวประมาณเมตรเศษ จึงได้ช่วยกันทำความสะอาด แล้วนำผ้าสีทองห่มรอบพระเจดีย์ ซึ่งเป็นก้อนหินที่ชาวบ้านนำมาก่อไว้รูปเจดีย์ทั้งสี่ทิศ


คุณแชมป์เล่ามาทางอีเมล์ว่า รอยพระพุทธบาทนี้ค้นพบอยู่บนเขา ในเขตหมู่บ้านเขารัง อ.นาดี มีการพบกันมานานประมาณ 4-5 ปี แล้ว ค้นพบโดยนายทหาร ซึ่งได้ไปล่าสัตว์ ระหว่างที่รอซุ่มอยู่ก็ได้เหลือบไปเห็นแท่น มองไปมองมาคล้ายๆ รอยพระพุทธบาท จึงได้บอกกันต่อๆ กันมา


หลังจากทำพิธีบวงสรวงกันแล้ว หลวงพี่ก็ได้เดินไปสำรวจหลังศาลา ปรากฏว่าพบรอยพระพุทธบาทอีก 4 รอย เพราะสำรวจเห็นว่าก้อนหินมีรูปร่างเป็นรูปรอยเท้า และลักษณะเป็นรอยหยักคล้ายกัน แต่บางรอยก็ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก เพราะกาลเวลาผ่านมานาน ก้อนหินอาจจะหดตัวหรือขยายออก ทำให้เสียรูปทรงไปบ้าง


หลวงพี่ได้ขอให้ลุงประสิทธิ์ คนนำทาง ช่วยทำป้ายบอกไว้ โดยให้ทุน 500 บาท จากนั้นก็เดินกลับออกมา โดยคุณลุงก็ได้แวะที่บ่อน้ำทิพย์ เวลานี้ได้แห้งไปหมดแล้ว ซึ่งคุณลุงบอกว่าปกติไม่เคยแห้งมาก่อน ในตอนนี้ทำไมแห้งไปเสียได้ หรือว่ามีใครมาทำด้วยความไม่เคารพ เช่นเท้าลงไปล้าง หรือมีผู้หญิงมาทำไม่ถูกต้อง


รอยพระพุทธบาทที่ "คุณแชมป์" เพิ่งพบใหม่ในบริเวณนี้

หลวงพี่จึงทำพิธีขอขมา แล้วโปรยดอกไม้สรงน้ำหอม เผื่อน้ำจะกลับคืนมาอีก ดังที่ท่านเคยทำไว้ที่พระพุทธบาท 4 รอยในป่า อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ผลปรากฎภายหลังน้ำก็มีกลับมาเหมือนเดิมอีก หลังจากกลับมาแล้ว "คุณแชมป์" ก็ได้ขึ้นไปสำรวจอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าได้ปัดกวาดก้อนหินบริเวณน้น ได้พบร่องรอยต่างๆ อีกหลายแห่ง จึงขออนุโมทนา "คุณแชมป์" ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยครับ.



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 1/5/10 at 16:45 Reply With Quote


วันที่ 17 เมษายน 2553 (ชลบุรี - ตาพระยา)

3. สำนักสงฆ์ทับทิมสยาม (๐๓) ต.ทัพไทย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว



ในเวลาเย็นใกล้ค่ำ หลวงพี่พร้อมคณะได้เดินทางออกจากบ้านเขารัง โดย GPS ได้นำเข้าสู่ทางลัดไปตาพระยา ถึงบ้านคุณหรรษา - สุชัย พัฒนนิติศักย์ ในเวลาเกือบสามทุ่ม โดยมีคุณทิพยา วิลาวัลย์ และคณะตาพระยา มารอต้อนรับสิบกว่าคน หลวงพี่ได้พบกับคุณแชมป์ที่นี่ จึงได้เล่าเรื่องพร้อมกับฉายวีดีโอที่รอยพระพุทธบาท "บ้านเขารัง" ให้ชมกันด้วย


ในตอนเช้า หลังจากฉันเช้าแล้ว หลวงพี่ได้เดินทางไปร่วมเทปูนหล่อพระพุทธรูป หน้าตักกว้าง ๑๐ ศอก สูง ๑๕ ศอก ณ สำนักสงฆ์ทับทิมสยาม (๐๓) โดยพระอาจารย์พล จันทสาโร ได้มานิมนต์หลวงพี่ไว้ก่อนแล้ว หลวงพี่จึงได้ถวายปัจจัยร่วมด้วย ๕,๐๐๐ บาท
วันนี้จะเริ่มพิธีตั้งแต่ ๙.๐๐ น. - ๑๑.๐๐ น. โดยเทปูนหล่อตั้งแต่ช่วงบ่าถึงพระเศียร แต่ฝนได้ตกลงมาตั้งแต่ตีห้า ปรากฏว่าในบริเวณวัดเฉาะแฉะไปหมด หลวงพี่ได้พบกับเพื่อนพระภิกษุที่รู้จักกันบ้างไม่รู้กันบ้างหลายรูป ตอนขากลับหลวงพีได้ถวายปัจจัยไว้ใช้ส่วนองค์ทุกรูปด้วย


จากนั้นได้เดินมาที่ปะรำพิธี มองดูโต๊ะบายศรีสวยงาม โดยมีญาติโยมเดินทางมาร่วมพิธีกันมากมาย ส่วนด้านข้างก็มีร้านอาหารจัดเลี้ยงอยู่ภายในเต้นท์


หลวงพี่เดินอ้อมมาทางข้างหลังองค์พระ ซึ่งสร้างอยู่ตรงกลางลานวัด มีบันไดขึ้นไปข้างบนด้วย ท่ามกลางอากาศที่ยังมืดคลึ้ม แต่เย็นสบายไม่ร้อนเหมือนอย่างที่คิด ทั้งนี้ พวกเราได้เดินทางมาได้จังหวะฝนตกพอดี โดยพบกับละอองฝนวันแรกแถวชลบุรี ตลอดทางมีฝนตกเกือบทุกเส้นทาง โดยเฉพาะที่บ้านคุณสุชัย - คุณหรรษา ปรากฏว่านอนกลางคืนอากาศเย็นสบาย


แบบหล่อพระหน้าตัก ๑๐ ศอกนี้ เป็นพิมพ์ของพระสายอีสาน ได้นำไปหล่อหลายแห่งแล้ว ทำให้ประหยัดเงินกว่าหล่อด้วยโลหะ อีกทั้งญาติโยมได้มีโอกาสร่วมสร้างด้วยมือของตนเองด้วย วิธีการเช่นนี้เป็นที่นิยมกันมาก หลวงพี่ก็ได้ไปจัดสร้างองค์พระใหญ่ไว้หลายแห่งแล้ว


นอกจากจะมีบายศรีธรรมดา ๗ ชั้นแล้ว ยังมีการทำบายศรีธรรมจักรและบายศรีพญานาคอีกด้วย ท่ามกลางพระภิกษุที่เดินทางมาร่วมพิธี มีทั้งพระผู้ใหญ่เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสอีกหลายรูป มีท่านนายอำเภอตาพระยา และปลัดอาวุโสเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการลูกศิษย์หลวงพ่อฯ ชาวตาพระยาอีกหลายคน


ก่อนจะเริ่มพิธีบวงสรวง โฆษกของวัดได้กล่าวเชิญท่านนายอำเภอพร้อมด้วยคณะออกมาปล่อยโคมลอยกันก่อน


ต่อจากนั้นจึงได้จุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรี พร้อมกับเปิดเทปเสียงบวงสรวงของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ "พระราชพรหมยาน"


จบแล้วหลวงพี่ได้ดับเทียนที่ขันน้ำมนต์ แล้วเดินขึ้นบันไดไปโปรยข้าวตอกดอกไม้และสรงด้วยน้ำหอมที่แบบพิมพ์องค์พระ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป


ในขณะนี้จะมีการโปรยเหรีญขวัญถุงและดอกไม้ให้แก่ผู้ที่อยู่ด้านล่าง เสร็จแล้วเป็นการฟ้อนรำระบำท้องถิ่นอีก ๒ ชุด


หลังจากฟ้อนรำจบแล้ว เด็กน้อยนางรำแต่ละชุดก็ได้เข้ามารับรางวัลจากหลวงพี่ และท่านนายอำเภอตาพระยาก็ได้มอบทุนการศึกษาอีกด้วย


เวลาประมาณ ๑๐ โมงเศษ จึงได้ฤกษ์งามยามดี หลวงพี่ได้ปีนขึ้นบนนั่งร้านขององค์พระ พร้อมกับจัดแถวให้ญาติโยม ๒ แถว เพื่อหิ้วปูนส่งต่อกันไป ส่วนผู้ชายให้ปีนขึ้นมาช่วยข้างบน ถังปูนแต่ละถังได้ส่งผ่านต่อกันทุกคน ต่างก็หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป ถังแล้วถังเล่า ทุกคนต่างยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะอากาศที่เป็นไป ด้วยอำนาจแห่งพุทธานุภาพนั่นเอง


ได้ยินเสียงพระภิกษุที่อยู่ในปะรำพิธี เจริญชัยมงคลคาถา "ชยันโต" ดังลั่นก้องไปทั่วบริเวณวัด ท่ามกลางญาติโยมในชุดสีขาวบ้างหลายหลากสีบ้าง ต่างช่วยกันหิ้วถังปูนขึ้นไปเรื่อยๆ





การทำพิธีเทองค์พระได้ดำเนินการไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเทขึ้นไปเกือบถึงพระเศียร หลวงพี่จึงได้เดินลงมาข้างล่าง


เพื่อไปฉันภัตตาหารเพลร่วมกับพระสงฆ์ทั้งหลาย


สมเด็จองค์ปฐม เป็นพระประธานภายวิหารหลังนี้


พุ่มผ้าป่าที่ญาติโยมประดิษฐ์นำมาถวายหลายพุ่ม จากนั้นคณะตาพระยานำบายศรีไปไหว้พระบาทกันต่อไป




(เชิญชมคลิปวีดีโอที่ "เทพระใหญ่" และ "ไหว้รอยพระบาท" ที่ตาพระยา ภาพจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)


4. รอยพระพุทธบาท "โคกวัด" บ้านโคกระกา หมู่ ๓ ต.ทัพไทย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว


ก่อนที่จะออกจากสำนักสงฆ์ทับทิมสยาม (๐๓) หลวงพี่ได้แวะเจิมรถให้แก่ชาวตาพระคนหนึ่ง แล้วออกเดินทางเข้าไปในป่าโปร่ง พร้อมด้วยคณะตาพระยาเจ้าของถิ่น และคณะที่มาจาก อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี อีก 1 รถตู้, คณะที่มาจากอรัญประเทศ รวมแล้วเกือบร้อยคน เพื่อนำมาที่โบราณสถานแห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า "โคกวัด" บัดนี้ที่เคยเป็นวัดมาก่อน ได้กลับกลายเป็นสภาพรกร้างอยู่ในเขตป่า "อุทยานแห่งชาติตาพระยา" ไปแล้ว


การเดินทางครั้งนี้มี คุณสุทัศน์ นะรานรัมย์ ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำไป ด้วยการจอดรถไว้ข้างถนนลูกรัง แล้วเดินเข้าไปในป่าสักร้อยเมตร จะเห็นก้อนหินก้อนใหญ่อย่างโดดเด่น


ผู้ใหญ่สุทัศน์ซึ่งมีชื่อเหมือน คุณสุทัศน์ วิลาวัลย์ ที่อุตส่าห์เดินโขยกเขยกเข้าไปด้วย ได้เล่าว่าตอนเด็กเคยเห็นเป็นรอยเท้าชัดเจนอยู่บนก้อนหินใหญ่นี้ แต่ปัจจุบันรอยได้จางไปเยอะแล้ว


หลวงพี่จึงได้ปีนขึ้นไปสำรวจ หลังจากตรวจดูแล้วน่าเชื่อว่าเป็นจริง แต่ปัจจุบันนี้ไม่สามารถจะขึ้นบัญชีได้ เพราะรอยได้จางไปเหลือไม่กี่เปอร์เซนต์ จะเป็นปัญหาถกเถียงในภายหลังได้ จึงได้แต่บวงสรวงบูชาด้วยบายศรี ที่คณะตาพระยาจัดทำเตรียมไว้

5. รอยพระพุทธบาท "บ้านซับม่วง" ต.โคคลาน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว (ลำดับที่ 602)


หลังจากนั้น คณะตาพระยา คือน้องชายของคุณทิพยา 2 คน ได้นัดกับคุณเอกไว้ นำไปที่บ้านซับม่วงต่อไป


ด้วยการจอดรถจำนวนสิบกว่าคันไว้อีกเช่นเคย แล้วเดินเข้าไปในป่า เสียงคนนำทางบอกว่าไปแค่ร้อยเมตร แต่เดินเกือบตายกว่าจะถึง พบว่าเป็นรอยพระพุทธบาทรอยเล็กๆ กับรอยส้นเท้า ๒ รอยชัดเจน จึงได้เพิ่มเข้าบัญชีเป็นลำดับที่ ๖๐๒


หลวงพี่บอกว่านึกไม่ถึงว่าอำเภอตาพระยาจะมีพระพุทธบาทหลายรอย ส่วนใหญ่อยู่ในป่าทั้งนั้น แต่บางแห่งก็ถูกทำลายไปบ้าง เสียหายจากธรรมชาติบ้าง เป็นต้น สำหรับที่นี่เข้าไปยากถ้าไม่มีใครนำทาง เพราะต้องเข้าไปในป่าระหว่างทางไปบ้านละลุ - บ้านหนองผักแว่น


การเดินทางไปตาพระยาครั้งนี้ หลวงพี่ได้เว้นระยะมานาน 2-3 ปีแล้ว อีกทั้งได้มีการสำรวจไว้ล่วงหน้า จึงทำให้การเดินทางไปถึงรอยพระพุทธบาทได้อย่างสะดวกและปลอดภัย อีกทั้งวันนี้ไม่มีแดด อากาศร่มคลึ้มตลอดทั้งวัน เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ทุกคนเป็นอันมาก เพราะปกติธรรมดาอากาศที่ตาพระยาจะร้อนอบอ้าวมาก


นับว่าเป็นรอยที่ยังหลงอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีการตกแต่งหรือเพิ่มสีสรรไปแต่อย่างใด และได้พบรอยพระพุทธบาทเกือกแก้วเพิ่มไปอีก ๑ รอย โดยมีคนเอาหินมาปิดบังเอาไว้ เมื่อยกออกไปจึงเห็นได้ชัดเจนว่ามีน้ำขังอยู่ในรอย อยู่ไม่ไกลจากรอยเล็ก เป็นรอยที่ปลายเกือกแก้วลึกเข้าไปในหิน น้องชายคุณทิพยาเล่าว่า ตอนที่มาครั้งแรกกับคุณเอก บริเวณก้อนหินรอยพระบาทแห่งนี้ จะมีดอกไม้สีสวยงาม ออกดอกบานสะพรั่งเต็มไปหมด นับว่าเป็นเรื่องแปลกมาก

6. รอยพระพุทธบาท "บ้านแก้วเพชรพลอย" ต. ตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว



ความจริงสถานที่แต่ละแห่งนี้ก็อยู่ไม่ไกลกันนัก แต่ก็ต้องมีคนรู้ทาง รถของคุณสุชัยได้นำทางไปที่ "บ้านแก้วเพชรพลอย" รถวิ่งผ่านหมู่บ้านแล้วเลี้ยวขวาเข้าไปในป่าข้างทาง คุณเอกที่ตามไปด้วยบอกว่า แถวนี้เคยมีพระมาสร้างกุฏิอยู่ด้วย แต่ปัจจุบันได้ปล่อยทิ้งร้างไปแล้ว


เดินเข้าไปป่าจะเห็นโขดหินใหญ่ พอเดินขึ้นไปจะเห็นรอยเท้าได้อย่างชัดเจน บริเวณนี้เป็นป่าเขตอุทยาน ไม่มีบ้านคนอาศัยอยู่เลย หลวงพี่ได้สำรวจดูพบว่ามีหลายรอยที่มีน้ำขังอยู่ แต่มีแค่รอยเดียวที่ชัดจน


หลวงพี่ได้นำบายศรีบวงสรวงทุกแห่ง โดยมีคณะตาพระยาร่วมเดินทางไปด้วยทุกแห่ง ตอนนี้ก็เป็นเวลาเย็นแล้ว พวกเรายังมีสถานที่สุดท้ายอีกแห่งเดียว ก่อนที่จะกลับไปค้างคืนที่บ้านคุณสุชัยอีก

7. รอยพระพุทธบาท "เขาคันนา" บ้านโคกกลาง ต.ตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว


คนนำทางได้นำมาที่ "เขาคันนา" บ้านโคกกลาง ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากตลาดตาพระยา ความจริงแล้วเทือกเขานี้ยาวเหยียดไปตั้งแต่ที่เราแวะไปรอยพระพุทธบาท "บ้านซับม่วง" แล้ว ถ้ามองดูแล้วจะเป็นเทือกเขาเตี้ยๆ เหมือนคันนาจริงๆ


บริเวณแห่งนี้ต้องเดินผ่านทุ่งนาพอสมควร จะเห็นรอยอยู่บนก้อนหินใกล้เชิงเขา มีหลายรอย บางรอยมีการตัดเอาหินไป มีรอยตัดชัดเจน เป็นอันว่าได้กราบไหว้กันครบถ้วนได้เวลาพลบค่ำพอดี คุณสุชัยได้นำพวกเราไปทานอาหารเย็นที่ร้านอาหาร และหลวงพี่ได้พักที่นี่อีก ๑ คืน เสร็จสิ้นภารกิจของท่านแถวนี้ วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางไปอำเภอคลองหาดกันต่อไป โดยมีการนัดแนะกับญาติพี่น้องของคุณทิพยาและ "คณะตาพระยา" ไว้อีกด้วย.



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 2/5/10 at 10:08 Reply With Quote


วันที่ 18 เมษายน 2553 (ตาพระยา - จันทบุรี)

8. วัดสายไหมวนาราม ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว


ในตอนเช้าวันนี้ อากาศเริ่มร้อนเหมือนเดิม โชคดีที่มาถึงตาพระยา อากาศเย็นสบายทั้งสองวันที่พักอยู่ จนเจ้าของบ้านบอกว่า หลวงพี่เอาฝนมาด้วย หลวงพี่ท่านบอกว่าคงเป็นด้วยพุทธานุภาพมากกว่า

หลังจากฉันข้าวต้มเช้าและปาท่องโก๋ยัดใส้ด้วยหมูสับ ตามแบบฉบับของชาวตาพระยามานาน โดยมี "เจ๊หมวย" ช่วยจัดทำทั้งสองเช้า ก่อนจะออกเดินทาง เจ๋หมวยยังมาทำบุญกับหลวงพี่อีกด้วย ส่วน "เจ๊โอ่ง" และหนิงกับน้องชาย ได้เข้ามาร่วมทำบุญเช่นกัน บอกว่าวันนี้จะต้องเดินทางไปทำบุญครบรอบ ๕๐ วัน ท่านอาจารย์วินัยที่วัดเขาพระธรรมขันธ์ จ.ปราจีนบุรี จึงไม่สามารถจะร่วมเดินทางไปที่คลองหาดกับหลวงพี่ได้

เมื่อทุกคนพร้อมที่จะร่วมเดินทางไป หลวงพี่จึงอำลาคนที่ไม่ได้ไปด้วย โดยมีคุณสุชัย คุณหรรษา และคุณทิพยา พร้อมด้วยญาติพี่น้องและลูกสาวนั่งรถปิคอัพ 2 คัน ร่วมติดตามไปด้วย โดยแวะรับคนที่อยู่ในตลาดอรัญประเทศไปด้วย



แต่ในระหว่างเดินทางไปคลอดหาด เห็นป้ายสร้างพระเจดีย์ ทั้งที่เคยแวะมาแล้ว
แต่พวกเราจำไม่ได้ พอรถเข้าไปถึงก็นึกได้ว่าเคยเข้ามาทำบุญเมื่อปีที่แล้ว


พวกเราจึงได้ทำบุญร่วมสร้างพระเจดีย์ ๒,๖๐๐ บาท กับเจ้าอาวาส จากนั้นจึงออกเดินทางต่อไปตามถนนสายตาพระยา - อรัญประเทศ จนไปถึงคลองหาด

9. รอยพระพุทธบาท "วัดป่าเขาพลับพลึงทอง" บ้านวังน้ำฝน ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว (ลำดับที่ 603) คลิกดูแผนที่


หลังจากได้แวะรับคณะอรัญฯ ๓ คน พร้อมกับจัดเตรียมดอกไม้ไว้ด้วย ซึ่งเป็นคณะเดียวกันที่ไปไหว้รอยพระพุทธบาทเมื่อวานนี้ ที่จะนำทางไปรอยพระพุทธบาทที่ "วัดป่าเขาพลับพลึงทอง" ในครั้งนี้ รถต้องวิ่งผ่านเข้าไปทางป่าหลังวัด เดินขึ้นไปบนเชิงเขาเล็กน้อย จะเห็นมีพระพุทธรูปเล็กๆ อยู่หนึ่งองค์


ภาพแรกจะเห็นรอยที่มีน้ำขัง ยังไม่ได้ตกแต่ง คุณพี่ที่นำทางจากอรัญฯ เล่าว่า เคยมาพบรอยพระพุทธที่นี่หลายปีแล้ว และฝากให้พวกตาพระยาไปแจ้งให้หลวงพี่ทราบ แต่ตอนนั้นหลวงพี่บอกเลิกสำรวจแล้ว จึงได้บอกเรื่องนี้กับพระรูปหนึ่งภายในวัดนี้


ต่อมาภายหลังได้กลับมาอีกครั้ง พบว่าท่านได้แต่งรอยพระพุทธบาทไปแล้ว นับว่าเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง รอยพระพุทธบาทที่นี้มีอยู่ ๒ รอย ( รอยที่ชัดเจนมีการตกแต่งไปแล้ว) แต่อีกรอยที่อยู่ด้านข้างยังปกติอยู่ แต่ไม่ชัดเจนเท่ากับรอยแรกที่อยู่ด้านหน้านี้ ส่วนพระที่แต่งรอยพระบาทก็ไม่ได้อยู่วัดนี้แล้ว



(เชิญชมคลิปวีดีโอที่ "วัดป่าเขาพลับพลึงทอง" ภาพจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)




10. รอยพระพุทธบาท "เขาจำปา" ต.ทุ่งขนาน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี


หลังจากที่คณะญาติโยมเป็นผู้นำหลวงพี่ไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาทครบถ้วนแล้ว ในตอนนี้ หลวงพี่จะเป็นผู้นำไปบ้าง คณะตาพระยาและคณะอรัญฯ คงจะตามมาถึงแค่นี้ เพราะตอนนี้ก็เป็นเวลาบ่ายมากแล้ว รถได้วิ่งเข้าไปในหมู่บ้านทุ่งขนาน (ก่อนถึงวัดเขาพริก) ผ่านสวนปาล์มและไร่มัน ที่มีหน่วยทหารนาวิกโยธินเข้าไปตั้งค่ายทหารเอาไว้ที่ชายแดน


ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่มีพระรูปหนึ่ง ท่านได้เข้ามาอาศัยอยู่แถวเขาจำปา แล้วได้แจ้งว่าพบรอยพระพุทธบาทเพิ่มขึ้นอีกหลายรอย หลวงพี่ได้รับข้อมูลแล้ว แต่ต้องรอเวลามาปีกว่า ถึงจะมีโอกาสเดินทางไปสำรวจ แต่เมื่อได้สอบถามทหารนาวิกโยธิน ปรากฏว่าพระรูปนี้ไม่อยู่เสียแล้ว


ความจริงสถานที่แห่งนี้ หลวงพี่เคยไปมาแล้ว แต่ตอนนั้นได้พบแค่รอยพระพุทธบาทรอยเดียว แต่ซ้อนลึกลงไป ๔ รอย สมัยนั้นทหารได้สร้างศาลาครอบเอาไว้ พวกเราไม่ได้มานานแล้ว จึงหาทางเข้าลำบาก บังเอิญได้พบกับทหารสองนายขี่มอเตอร์ไซด์มาพอดี จึงขอให้นำทางไปด้วย เพราะเป็นสวนปาล์มทั้งนั้น


ครั้นไปถึงลำห้วยเล็กๆ เรียกว่า "คลองด่าน" ด้านหลังเขาจำปา ซึ่งไม่ค่อยมีน้าไหลในหน้าแล้ง เจ้าหน้าที่ทหารบอกว่าให้ระวัง อย่าเดินออกนอกเส้นทางเกินไป เพราะลำห้วยนี้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับเขมร พวกเราจึงต้องเดินตามหลังกันไปเป็นแถว อย่างที่เห็นในภาพนี้แหละ


เดินไปได้สัก ๕ นาทีก็ถึงแล้ว ปรากฏว่าเป็นรอยเท้าลึกมาก ชัดเจนตามธรรมชาติ แต่ไม่เห็นรอยนิ้ว พวกเราได้ช่วยกันทำความสะอาด แล้วช่วยกันสำรวจรอบๆ บริเวณนั้น จึงได้พบอีกหลายรอย ที่เห็นชัดเจนมีถึง ๕ รอย


ซึ่งมีทั้งรอยเล็กและรอยใหญ่ไปทั่วบริเวณนี้ นับว่าโชคดีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ทำพิธีบวงสรวงกราบไหว้บูชากันต่อไป





หลังจากนั้นได้ย้อนกลับออกมาทางด้านหน้า "เขาจำปา" เพื่อไปที่รอยพระพุทธบาทเก่า หลวงพี่เองก็จำทางไม่ได้ จึงให้ทหาร ๒ คนนำไป พบว่าอยู่ในป่าข้างสวนปาล์ม ศาลาที่สร้างไว้ได้ล้มไปนานแล้ว มิน่าถึงจำไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรให้เห็นเป็นที่สังเกตแล้วนั่นเอง


ที่จริงบริเวณนี้เป็นดินล้วน แต่จะมีก้อนหินพระบาทแต่เพียงก้อนเดียวเท่านั้นที่อยู่กลางสวนปาล์ม เป็นรอยลึกลงไป ๔ รอย รอยพระพุทธบาทแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับที่ "เขากะลา" อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ จากนั้นจึงได้ช่วยกันทำความสะอาด แล้วบูชาด้วยดอกไม้ของหอม


เมื่อเสร็จการกราบไหว้บูชา ชาวคณะตาพระยาและคณะอรัญฯ แสนจะดีใจ เพราะได้มีโอกาสมากราบไหว้ทั้งรอยใหม่และรอยเก่า จึงอำลาด้วยการใส่ปัจจัยในย่ามของหลวงพี่ แล้วจึงแยกย้ายเดินทางกันต่อไป ปรากฏเป็นที่อัศจรรย์ หลังจากกราบพระบาทเสร็จ ฝนได้โปรยปรายลงมาทันทีที่ขึ้นรถ รถวิ่งออกมาได้สักครู่ มองดูฝนตกเฉพาะบริเวณรอยพระพุทธบาทเท่านั้นเอง.



(เชิญชมคลิปวีดีโอที่ "เขาจำปา" ภาพจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)




11. วัดน้ำซับตาพุด ต.ทรายขาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี


หลังจากแยกทางกับคณะที่ตามมาแล้ว พวกเราก็เดินทางมุ่งสู่ อ.โป่งน้ำร้อน ขณะที่รถวิ่งผ่านได้เห็นป้ายเชิญร่วมทำบุญหล่อพระ หน้าตัก ๑๐ เมตร (๒๐ ศอก) จึงได้เข้าไปทำบุญร่วมสร้าง ๒,๐๐๐ บาท ได้พบกับเจ้าอาวาส ท่านบอกว่าเป็นสายของ "หลวงพ่อเขียน" วัดพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี


หลังจากได้ทำบุญแล้ว ก่อนจะออกเดินทางจึงได้ถ่ายรูป "ฐานองค์พระ" ซึ่งมีขนาดกว้างใหญ่มาก พวกเราโชคดีที่มีโอกาสได้ร่วมสร้างพระใหญ่อีกแล้ว

12. วัดถ้ำสาริกา ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี


ขณะเดินทางไปตามถนนสายนี้ อีกไม่นานก็พบป้ายวัดถ้ำสาริกาอีก ตามข้อมูลที่เจ้าอาวาสวัดน้ำซับตาพุดบอกไว้ว่า วัดถ้ำสาริกาก็มีการสร้างพระใหญ่เช่นกัน ฉะนั้น ในระหว่างที่เดินทางเข้าวัดถ้ำสาริกา จะเห็นพระพุทธรูปสีขาวแต่ไกล ขนาดหน้าตัก ๒๐ ศอก เช่นกัน แต่ยังสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี


หลวงพี่ได้เข้าไปในวัดแล้ว แต่ไม่พบท่านเจ้าอาวาส จึงได้ฝากปัจจัยร่วมสร้างทุกอย่าง ๒,๐๐๐ บาท จากนั้นท่านได้เข้าไปปิดทองลูกนิมิต ซึ่งจะเห็นพระอุโบสถที่สร้างใหม่แต่ไกล แล้วออกเดินทางต่อไปทางเขาคิชฌกูฏ โดยมีเป้าหมายที่ อ.แก่งหางแมว แต่ไม่ทันเสียแล้วต้องแวะพักที่ อ.โป่งน้ำร้อนกันก่อน.



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 2/5/10 at 10:29 Reply With Quote


วันที่ 19 เมษายน 2553 (จันทบุรี - ชลบุรี)

13. วัดทุ่งกร่าง หมู่ ๔ ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี




เช้าวันนี้หลังจากหลวงพี่ฉันเช้าแล้ว ได้เห็นป้ายติดที่ในตลาดโป่งน้ำร้อน ว่ามีการสร้างพระพุทธรูป
ที่วัดทุ่งกร่าง แต่ต้องย้อนกลับไปทางเดิมอีก 12 ก.ม. แต่เพื่อผลบุญอันยิ่งใหญ่ หลวงพี่ตัดสินใจทันที


ทั้งที่จะต้องเดินทางต่อไปที่ อ.แก่งหางแมว เมื่อรถไปถึงวัดทุ่งกร่างแล้ว หลวงพี่ได้ร่วมทำบุญหล่อพระพุทธรูปทันใจ สูง ๙ เมตร กว้าง ๖ เมตร (หน้าตัก ๑๒ ศอก) จำนวนเงิน ๒,๒๐๐ บาท กับหลวงพ่อเจ้าอาวาสที่นี่ ซึ่งจะมีกำหนดหล่อให้เสร็จภายในวันเดียวที่เรียกันว่า "พระเจ้าทันใจ" นั่นเอง เวลานี้ได้สร้างแท่นพระไว้เรียบร้อยแล้ว

14. รอยพระพุทธบาท "สวนป่ากรรมฐานโลกทิพย์" บ้านนาบุญ ต.แก่งหางแมว อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี


รถได้วิ่งไปสายโป่งน้ำร้อน - เขาคิชฌกูฏิ - แก่งหางแมว กว่าจะหาทางเข้า "สวนป่ากรรมฐานโลกทิพย์" ได้ ต้องเสียเวลาถามหากันนาน ภาพแรกเป็นก้อนหิน "แก้วหนุมาน" ที่แตกมาจากรอยพระพุทธบาท แต่ได้นำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป เพื่อไว้เสี่ยงทายในศาลา ภาพต่อมาเป็นพระเจดีย์ที่อยู่บนเขาข้างวัด ซึ่งจะต้องขับรถย้อนออกไปเข้าทางถนนใหญ่


ทั้งนี้ได้อาศัยเด็กวัดคนหนึ่งช่วยนำทางให้ แล้วเดินเข้าไปภายในพระเจดีย์ จะเห็นก้อนหินรอยพระบาทวางอยู่บนแท่น พระอาจารย์ที่สำนักเล่าว่า หลวงปู่กอง ขันติโก เป็นผู้นำหินรอยพระพุทธบาทนี้มาจากหินกอง จ.สระบุรี หลังจากกลับลงมาจากยอดเขาแล้ว จึงได้ขับรถลงมาที่ร้านอาหารริมทางเข้านั้นแหละ หลวงพี่ฉันเพลแล้วจึงได้ขับรถไปส่งเด็กวัดที่สำนักสงฆ์โลกทิพย์แล้ว จึงออกเดินทางต่อไป



(เชิญชมคลิปวีดีโอ "ตามรอยพระพุทธบาท" ภาพอาจจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)


15. วัดเขาวงกตรุจิรวงศาราม หมู่ ๑ ต.เขาวงกต อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี



ในขณะที่รถวิ่งไปตามถนน เห็นทิวเขามีรูปร่างลักษณะแปลกๆ อีกทั้งเห็นป้ายที่อยู่หน้าวัดเขาวงกตฯ หลวงพี่จึงได้บอกให้ขับรถเข้าไปในวัด ท่านได้เข้าไปพบกับเจ้าอาวาส จึงได้ร่วมทำบุญสร้างพระหลวงปู่โต ๕๐๐ บาท และทำบุญสร้าง "พระพุทธญาณรัตนศากยมณีณฑล" อีก ๕๐๐ บาท เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ ณ ลานบุญพุทธมณฑลจังหวัดจันทบุรี รวมเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท


เทือเขาหินปูนนี้ มีพันธุ์ไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ประปราย ลูกที่สูงที่สุด ๒๕๐ เมตร ลูกที่ยาวที่สุด ๒,๐๐๐ เมตร เขาทุกลูกจะตั้งเรียงกันเป็นวงคล้ายวงฆ้อง ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า "บ้านเขาวงกต" ถ้าจะเข้าไปต้องจอดรถไว้แล้วเดินเข้าไป ซึ่งมีถ้ำต่างๆ ซับซ้อนเป็นอันมาก



(ภาพจาก khaowongkot.go.th)

หลวงพ่อเจ้าอาวาสเล่าว่า สมัยก่อนที่ยังเป็นฆราวาสเคยเข้าไปร่วมพิธีกับคนที่มาจากที่อื่น เพื่อเข้าไปทำพิธีตัด "เหล็กไหล" แต่ในขณะที่ทำพิธีเห็นเหล็กไหลยืดออกมาเป็นคืบ แล้วก็หดหายกลับเข้าไปเขา คนที่มาทำพิธีต้องหนีออกไป ไม่สามารถจะนำเหล็กไหลออกไปจากภูเขานี้ได้

16. วัดถ้ำวัฒนมงคล ต.เขาน้อย อ.เขาชะเมา จ.ระยอง


ตอนบ่ายของวันนี้ได้เดินทางมีเป้าหมายที่ "เขาเขียว" จังหัดชลบุรี แต่คุณสำราญได้บอกหลวงพี่ว่า ที่วัดถ้ำวัฒนมงคลก็มีการสร้างพระเจดีย์ด้วย คุณสำราญเคยมาร่วมงานพิธีวางศิลาฤกษ์แล้ว


ด้วยเหตุนี้ หลวงพี่จึงบอกให้คุณสำราญขับรถไปทันที เพราะเป็นทางผ่าน จึงไม่ยากที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วม ณ สถานที่นี้ด้วย โดยขับรถขึ้นบนเนินเขาเตี้ยๆ ภายในวัดก่อน ซึ่งมีช่างกำลังผูกเหล็กฐานพระเจดีย์สูง ๕๒ เมตร มองดูแล้วกว้างใหญ่มาก จากนั้นได้ลงมาที่ศาลาการเปรียญ นับว่าโชคดีที่ได้พบท่านเจ้าอาวาสพอดี หลวงพี่จึงได้ร่วมทำบุญเป็นจำนวนเงิน ๒,๕๐๐ บาท พร้อมกับได้ถ่ายภาพโมเดลของพระเจดีย์ไว้อีกด้วย


หลังจากได้ทำบุญแล้ว หลวงพี่ได้เข้าไปชมภายในถ้ำวัฒนมงคล ซึ่งในขณะนั้นมีการอุปสมบทหมู่พระภิกษุนักเรียนน้อยร้อยจำนวน ๖๐ กว่ารูป ภายในถ้ำกว้างพอสมควร พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในหลายองค์หลายขนาด ด้านหน้าถ้ำมีเก้าอี้วางไว้หลายตัว ทราบว่าอีกสักครู่จะมีการฟังธรรม


เมื่อเดินผ่านเข้าไปหลังพระประธาน จะทะลุไปอีกถ้ำหนึ่งกว้างใหญ่กว่า มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่หลายองค์ แหงนมองดูข้างบน จะเห็นเป็นถ้ำโปร่งเหมือนปล่องภูเขาไฟในอดีต อากาศหมุนเวียนเย็นสบาย ดักว่าอากาศภายนอกที่มีแต่ไอร้อน ตอนนี้หลวงพี่ได้พบกับวิทยากรที่เป็นนายพลท่านหนึ่ง เพื่อที่จะได้ถวายความรู้แด่พระภิกษุใหม่


ครั้นหลวงพี่ได้สนทนากับญาติโยมแล้ว ท่านจึงได้เดินเลี้ยวไปทางขวามือ ซึ่งมีบันไดทางเข้าถ้ำเล็กๆ อีกถ้ำหนึ่ง ภายในมีพระพุทธรูปอีกมากมายดังที่เห็นในภาพนี้ จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปที่มีค่า ทางวัดได้ทำประตูปิดกุญแจไว้ด้วย

17. รอยพระพุทธบาท "เขานางนม" หมู่ ๕ ต.ท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี (พบใหม่ ลำดับที่ 605)


เมื่อได้ชื่นชมบรรยากาศใน "ถ้ำวัฒนมงคล" ที่เย็นสบายในหน้าร้อนแล้ว พวกเราจึงขับรถออกมาตามถนนสายชลบุรี เท่ากับย้อนกลับมาทางเดิมเมื่อวันก่อนอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะไปเขาเขียวกัน หลวงพี่ได้พบข้อมูลใน GPS มีรอยพระพุทธบาท "เขานางนม" ที่อำเภอเกาะจันทร์ ท่านจึงให้เครื่อง GPS นำทางไปทันที

ปรากฏว่ารถวิ่งเข้าไปเห็นวิหารบน "เขานางนม" แต่ไกล ก้มมองดูถนนเปียก คงมีฝนตกก่อนหน้าไปแล้ว หลวงพี่จึงเข้าไปสอบถามชาวบ้านแถวนี้ ที่มาอยู่อาศัยนานกว่า ๕๐ ปีแล้ว ตามภาพคุณยายที่เห็นนี้ บอกว่าเห็นมีรอยพระพุทธบาทตั้งแต่มาอยู่ใหม่ๆ แล้ว ตอนนั้นยังเป็นศาลาเล็กๆ หลวงพี่จึงได้เดินขึ้นไปบนเขา แต่ได้แวะถ่ายรูปด้านหน้า "ศาลเจ้าแม่นางนม" ก่อน


จากนั้นได้เดินขึ้นไปตามบันได ๔๐๐ กว่าขั้น โดยมีคุณลุงชาวบ้านคนหนึ่งช่วยนำทางไปด้วย บนเขานี้มีวิหารหลังใหญ่ ซึ่งขณะขับรถมาจะเห็นได้แต่ไกล ส่วนภายในวิหารมีพระพุทธรูปเก่าแก่ ๔ องค์


ด้านหลังองค์พระจะมีรอยพระพุทธรูปอยู่บนฐาน แต่เข้าไปมองดูแล้ว ปรากฏว่าเป็นรอยจำลอง นับว่าเป็นเรื่องแปลกมาก ทำไมชาวบ้านนี้เล่าให้ฟังว่า บนสถานที่นี้ศักดิ์สิทธิ์มาก แม้แต่ไฟยังไม่ไหม้ศาลเลย เวลามีงานประจำปีกลางเดือนสาม ๓ วัน ๓ คืน จะมีผู้คนมากราบไหว้ด้วยความเคารพนับถือมาก จึงสันนิฐานว่าน่าจะมีรอยพระพุทธบาทจริงอยู่บนนี้


สังเกตเห็นได้ว่า ภายในวิหารมีธูปเทียนและทองคำเปลวบูชากันเต็มเกลื่อนไปหมด จึงได้ทำความสะอาดและบูชารอยพระพุทธบาทกัน แล้วออกมาถ่ายรูปด้านหน้าวิหาร และเดินลงมาตามบันไดเพื่อออกเดินทางต่อไป



(เชิญชมคลิปวีดีโอ "ตามรอยพระพุทธบาท" ภาพอาจจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)




วันที่ 20 เมษายน 2553 (ชลบุรี - อุทัยธานี)

18. วัดเขาถ้ำ หมู่ ๘ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี



ในตอนเช้าได้ออกเดินทางไปที่เขาเขียว ระหว่างทางเห็น "วัดเขาถ้ำ" สร้างได้ใหญ่โตสวยงามอยู่บนยอดเขาเตี้ยๆ จึงได้แวะขึ้นไปชมโบสถ์ วิหาร ศาลา ซึ่งมีอยู่หลายหลัง ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราช อีกด้านก็เป็นวิหารยอดพระเจดีย์ จึงได้ร่วมทำบุญสร้างทุกอย่าง ๖๐๐ บาท

19. รอยพระพุทธบาท "บางปลาสร้อย" (เขาเขียว) บ้านห้วยมะไฟ หมู่ ๔ ต.บ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี (พบใหม่ ลำดับที่ 606)

ก่อนที่จะได้เล่าเรื่องการสำรวจรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ หลวงพี่ได้รับทราบข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ "มติชน" เมื่อ ปี 2551 โดยมีเนื้อข่าวดังนี้ว่า

อ้างพบรอย'พระพุทธบาท'เขาเขียว

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นายวันชัย จึงจรัสทรัพย์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอบ้านบึง จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ได้พยายามสืบค้นเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทที่มีบันทึกไว้ว่า อยู่บริเวณหลังศาลเจ้าพ่อขุนด่าน เทือกเขาเขียว อ.บ้านบึงมานานหลายปี แต่ไม่พบ

กระทั่งนายประโยชน์ เนื่องจำนงค์ คหบดีในพื้นที่ อ.บ้านบึง ซึ่งเชื่อว่ามีรอยพระพุทธบาทจริงได้สั่งให้ตนพร้อม นายงักเช็ง แซ่จึง ผู้ที่เคยเห็นรอยพระพุทธบาทเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา และ นายพลรัตน์ เชื้ออารีย์ กรรมการสภาวัฒนธรรม จ.ชลบุรี ช่วยกันค้นหา ในที่สุด พบรอยพระพุทธบาทหลัง "ศาลเจ้าพ่อขุนด่าน" 2 รอย คือรอยพระบาทขวา กว้างประมาณ 1.2 เมตร ยาว 2.10 เมตร และรอยเล็ก

คาดว่าเป็นรอยพระพุทธบาทซ้าย กว้างประมาณ 30 เซนติเมตร และยาว 80 เซนติเมตร จึงประสานงาน "กรมศิลปากร" เพื่อมาตรวจสอบ แต่ขณะนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นรอยจริง เพราะการทำงานของกรมศิลปากรที่ผ่านมามีแต่การพิสูจน์รอยพระพุทธบาทจำลอง

ที่มา...ข่าวมติชน


ด้วยเหตุนี้ หลวงพี่จึงมอบหมายให้ คุณศราวุธ ราชบุรี กับ "คณะพระธาตุแก้วมณีโชติ" เพื่อให้สืบหารอยพระพุทธบาทแห่งนี้ทันที ต่อมาคุณศราวุธได้แจ้งมาว่าได้ไปสำรวจมาวันนี้ (14 มีนาคม 2551) แล้วว่า

"...ในบริเวณเขาเขียว รอยพระพุทธบาทที่หลวงพ่อใช่ท่านได้สำรวจไว้ตามที่ทราบกันมีอยู่ด้วยกัน 2 ที่ อันได้แก่ รอยพระพุทธบาทที่ เขาโหม่ง กับรอยพระพุทธบาทที่ ยอดเขาบ่อทอง รอยพระพุทธบาทที่เขาโหม่งอยู่ค่อนข้างไกลหลายสิบกิโลเมตร จาก สำนักสงฆ์โฆษิตตาราม เหตุที่ได้ชื่อว่า "เขาโหม่ง" นั้นก็เนื่องจากมีหินประหลาดสีขาวนวลตั้งอยู่ ณ ยอดเขานี้ เมื่อเคาะหินนี้ก็จะเสียงคล้ายกับเสียงระฆังดังโหม่งๆ จึงได้ชื่อว่า "เขาโหม่ง"

ส่วนอีกแห่งที่มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่นั้นคือ เขาบ่อทอง เหตุที่ได้ชื่อว่า "เขาบ่อทอง" ก็เนื่องมาจาก "สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง" ทหารญี่ปุ่นได้นำเอาหีบทองคำและสมบัติมีค่ามาฝังไว้ที่เขานี้ ซึ่งปัจจุบันได้ถูกขุดและนำไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังมี บ่อน้ำทิพย์ ที่มีลักษณะเป็น "บ่อน้ำซับ" ซึ่งบ่อน้ำนี้จะมีน้ำซึมผุดออกมาจากใต้ดินตลอดปี จึงได้ชื่อว่า "เขาบ่อทอง"

การเดินทางไปรอยพระพุทธบาทที่ยอดเขาบ่อทองนั้น ต้องเดินเท้าเข้าไปในป่าโดยเริ่มที่ สำนักสงฆ์โฆษิตตาราม ไปประมาณ 4 กิโลเมตร ก็จะพบก้อนหินใหญ่อันประดิษฐานรอยพระพุทธบาท และพระพุทธรูปปางประธานพรอยู่ และก็มีลานเล็ก ๆ ร่มรื่นเหมาะแก่การทำกรรมฐาน.." ท่านผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดได้ต่อไป คลิกที่นี่

ประวัติความเป็นมา "รอยพระพุทธบาทบางปลาสร้อย"

.......เจ้าเมืองบางปลาสร้อยสืบได้ความว่ามีรอยอยู่ในศิลาเหมือนรูปเท้าคน ตั้งอยู่บนเนินเขาทางทิศตะวันออกของเมืองบางปลาสร้อย บริเวณเทือกเขาเขียว ใกล้ห้วยน้ำคงคาลัยซึ่งเป็นห้วงน้ำใหญ่ในครั้งนั้น จึงมีใบบอกเขามายังกรุงศรีอยุธยา ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และได้ตั้งกองทหารมาตรวจสอบและรักษา ตลอดถึงการทำแผนที่บอกตำแหน่งที่ตั้งของรอยให้ชัดเจน แล้วทำเป็นใบบอกส่งกลับถวายพระเจ้าทรงธรรม

รอยพระพุทธบาทที่เมืองบางปลาสร้อยนี้ หลังมีใบบอกส่งกลับถวายพระเจ้าทรงธรรมแล้ว ก็เป็นที่สนใจของผู้คน ผู้ศรัทธาเป็นอย่างมาก จึงมีการเดินทางมานมัสการเสมอ แต่จะเดินทางมานมัสการจะทำใด้เพียงไม่กี่เดือนในแต่ละปี เพราะมีอุปสรรคจากกระแสน้ำในห้วงน้ำคงคาลัยที่เชี่ยวมากในฤดูน้ำ การเดินทางจะมาได้ก็ในช่วงปลายเดือนยี่ถึงกลางเดือนห้าเท่านั้น

โดยมาทางเรือจากท่าตะกรูด (อำเภอพานทอง) พายเรือทวนน้ำมาตามห้วงน้ำคงคาลัย ขึ้นที่ท่าวัดคงคาลัยและค้างแรมที่วัดนี้หนึ่งคืน รุ่งเช้าจึงข้ามฟากจากวัดคงคาลัยมาขึ้นที่ท่าขุนด่าน (ปัจจุบันคือบ้านห้วยมะไฟ หมู่4 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี) แล้วใช้เกวียนบรรทุกสิ่งของขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท

ด้วยการที่เดินทางมาได้ในเวลาจำกัดในแต่ละปี จึงมีการทำจำลองรอยพระพุทธบาทนี้ไปประดิษฐานที่ วัดบางทราย เพื่อให้ผู้มีจิตเลื่อมใสศรัทธาได้นมัสการตลอดทั้งปี ต่อมาห้วงน้ำคงคาลัยตื้นเขิน (ปัจจุบันเหลือเพียงร่องน้ำลึก เป็นห้วงบ้านบึงและห้วยควายเผือก) ไม่สะดวกกับการเดินทางมานมัสการรอยพระพุทธบาทบางปลาสร้อยจึงได้มีการขาดช่วงไป จะมีผู้มานมัสการเพียงเฉพาะผู้ที่ทราบที่ตั้งและอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น จากคำเล่าลือว่ามีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ในบริเวณเนินเขาหลังศาลพ่อขุนด่านเท่านั้น แต่สอบถามร่องรอยที่ตั้งที่แท้จริงไม่มีผู้ใดชี้ชัดได้

ต่อมาชาวบ้านชุมชนบ้านห้วยมะไฟ หมู่4 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี มีความเห็นตรงกันว่าควรค้นหารอยพระพุทธบาทให้พบ เพราะเชื่อว่าตำนานที่เล่าขานกันมาอาจเป็นความจริง โดยมีผู้ร่วมตำนานในครั้งนี้ประมาณสิบกว่าคน ได้ชักชวนกันสืบค้นหามาตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นการค้นพบได้ยากเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์ จะปรากฏให้เห็นในเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น

จนกระทั่งในวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 เป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนา ทางกลุ่มผู้คนหาพบรอยพระพุทธบาทจึงค้นพบเวลาประมาณ 9 โมงเศษ ซึ่งมีความยาวประมาณ 80 เซนติเมตร กว้างประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นได้มีการปิดทองที่รอยพระพุทธบาท และชาวบ้านได้มีการประชุมเพื่อดำเนินการบูรณะบริเวณรอยพระพุทธบาทให้สวยงาม เป็นที่สักการะบูชาของชุมชน และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ในอนาคตจะได้จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป


ที่มา - thailandchonburi.com


ในตอนนี้ขออธิบายภาพต่อไปว่า หลังจากนั้นได้เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว รถได้วิ่งเข้าไปทางบ้านบึง ถึงทางเข้าฮวงซุ้ยของชาวจีนอยู่ที่เชิงเขามากมาย หลวงพี่จึงได้แวะเข้าไปที่ร้านขายของข้างทางเข้า มีชาวบ้าน ๓ - ๔ คนกำลังนั่งดื่มน้ำชากาแฟกันอยู่

นับว่าโชคดีที่แต่ละคนก็เคยขึ้นไปสำรวจบนยอดเขาเขียวกันมาแล้ว แต่พอหลวงพี่บอกให้ช่วยนำทาง ปรากฏว่าแต่ละคนก็มีธุระ แต่มีพี่ผู้ชายคนหนึ่งและเด็กลูกชายเจ้าของร้าน ต่างขับรถเครื่องของตนเองนำเข้าไป รถได้วิ่งเข้าไปถึงเชิงเขา และไปจอดรถไว้ที่หน้า "ศาลเจ้าพ่อขุนด่าน" แล้วเดินเท้าเข้าไปที่ด้านหลังศาล


เมื่อเดินตามเข้าไปในป่า มองเห็นคนนำทางขึ้นไปอยู่บนโขดหินก้อนหนึ่ง หลวงพี่จึงได้รีบตามขึ้นไป พบว่ามีรอยลางเลือนอยู่บนก้อนหินนี้ แต่คนนำทางบอกว่า เพิ่งจะมีคนเอาสีทองไปทาเป็นลายเส้นเอาไว้


ต่อจากนั้น เขาบอกว่ายังมีอีกรอยหนึ่งข้างบน จึงขอให้นำทางขึ้นไปอีก ต้องเดินขึ้นไปไกลพอสมควร จึงได้พบศาลาเล็กๆ หลังหนึ่ง ภายในมีพระพุทธรูปอยู่ด้วย ด้านข้างศาลามีเชือกล้อมบริเวณลานหินไว้ แต่เมื่อหลวงพี่ได้เข้าไปสำรวจแล้ว ปรากฏว่าไม่มีรอยปรากฏให้เห็นชัดเจนเลย มีแต่น้ำขังเป็นแอ่งน้ำเท่านั้น


จากนั้นได้เดินกลับลงมาที่เดิมอีก และได้พบกับ "รองปลัด อบต.บ้านบึง" (ใส่เสื้อสีชมพู) คือ คุณภูมิพงศ์ ไพศาลศิริเลิศ ได้เล่าประวัติให้ทราบโดยย่อ แล้วได้นิมนต์หลวงพี่ไปฉันเพลที่สำนักงาน อบต.บ้านบึง ซึ่งเรื่องนี้หลวงพี่ได้สรุปความเห็นให้ฟังโดยย่อว่า

".....เรื่องประวัติรอยพระพุทธบาทบางปลาสร้อย ที่อยู่บนเขาเขียวนี้มีเรื่องเล่าเหมือนกัน "ประวัติพระพุทธบาทสระบุรี" คือเกิดขึ้นสมัย พระเจ้าทรงธรรม ที่ทรงโปรดให้ค้นหารอยพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณบรรพต ต่อมาก็มี "พรานบุญ" ล่าสัตว์แล้วไปพบบนยอดเขาสัจจพันธ์ ปัจจุบันนี้คือ "วัดพระพุทธบาทสระบุรี"

ส่วนประวัติศาสตร์ทางด้านนี้ที่บันทึกไว้ โดยกล่าวว่าพบในสมัย "เจ้าเมืองบางปลาสร้อย" ซึ่งมีทหารมาตั้งด่านค้นหาตรงบริเวณนี้จึงมีชื่อว่า "ศาลเจ้าพ่อขุนด่าน" ตามหลักฐานเดิมศาลนี้อยู่อีกด้านหนึ่งของภูเขา (ทิศตะวันตก) ไม่ใช่ตำแหน่งในปัจจุบันนี้ (ทิศตะวันออก) หมายถึงมีการย้ายศาลตั้งแต่ปีพ.ศ. 2507 นั่นเอง ซึ่งภายหลังมีการสำรวจ 3 ครั้ง ดังนี้

- ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2534-2535 กรมศิลปกรจังหวัดปราจีนบุรีได้ค้นหา "รอยพระพุทธบาทบางปลาสร้อย" อีกครั้งหนึ่งจาก "แผ่นที่แผ่นหนัง" ลายแทงโบราณแต่ไม่พบ

- ครั้งที่ 2 วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2550 คุณวันชัย จึงจรัสทรัพย์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอบ้านบึง และคณะก็ได้ออกค้นหาเป็นครั้งที่ 2 จากข้อมูลของนายงักเช็ง แซ่จึง ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ยืนยันว่า ตนเองได้เคยเห็นรอยพระพุทธบาทเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ผลการค้นหาก็ได้เป็นข่าวทาง นสพ.มติชน วันที่ 7 มีนาคม 2551 ตามที่ได้ลงให้อ่านไปแล้ว ซึ่งอยู่หลัง "ศาลเจ้าพ่อขุนด่าน" ห่างออกไปประมาณ 1.5 ก.ม.

- ครั้งที่ 3 วันที่ 8 พฤษภาคม 2552 คุณชาญชัย เรืองสุข นายก อบต.บ้านบึง เจ้าของพื้นที่ พร้อมคณะได้สำรวจเพิ่มเติม จากข้อมูลของนายซ้ง วชิรพัตถพงษ์ อายุ 74 ปี นายมัก แซ่ตั้ง อายุ 67 ปี นายทรรศสนัย ลัคนศิยานนท์ อายุ 65 ปี ที่กล่าวว่า เมื่อตอนอายุ 18-19 ปี ได้ทราบว่า หลวงพ่อเซ้ง ได้มาธุดงค์แล้วปักกลดทำสมาธินิมิตเห็นรอยพระบาท พร้อมรอยเท้าม้าและสุนัขอยู่ด้านข้าง จึงให้ลูกศิษย์ออกค้นหาจนพบรอยพระบาทดังกล่าว ในสมัยนั้นตนได้นำควายออกมาเลี้ยงแถวนี้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ท่านนายก อบต.บ้านบึง พร้อมชาวบ้านประมาณ 10-20 คน จึงได้ดำเนินการสำรวจใหม่ก็แต่ก็ไม่พบ นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา จึงได้มีพิธีกรรมบวงสรวงชุมนุมเทวดา แล้วได้พบรอยหินมีลักษณะเหมือนรอยพระบาท ณ โขดหินนี้ มีขนาดกว้างประมาณหนึ่งศอกข้างขวา

การค้นพบรอยพระบาทในครั้งนี้ ก็สร้างความกังขาสงสัยให้แก่คนที่รับรู้ข่าวสารทั่วไป ว่าจะเป็นรอยใดกันแน่ ซึ่งมีการสำรวจพบ 2 แห่ง คือรอยที่คุณวันชัยสำรวจอยู่บนยอดเขา ส่วนรอยที่คุณชาญชัยพบอยู่บนโขดหินที่เชิงเขา ตามที่ได้สรุปมาแล้วนี้ ซึ่งเป็นรอยที่เกิดขึ้นจากโขดหินก้อนนี้ แต่ก็เป็นหินที่เพิ่งแตกแยกออกมาใหม่ๆ ย่อมเป็นที่สงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร อีกทั้งรอยที่อยู่บนยอดเขา หลวงพี่ได้สำรวจแล้วก็ไม่ชัดเจน อาจจะเป็นที่สงสัยอีกเช่นกัน


สรุปแล้วตามที่หลวงพี่ได้สอบถามร้านค้า (อยู่ตรงทางเข้าศาลเจ้าพ่อขุนด่าน) เจ้าของร้านอายุมากแล้วก็ได้ยืนยันว่า ตนเคยเอาควายขึ้นไปเลี้ยงแถวนั้น ได้เคยเห็นรอยพระบาทบนก้อนหินก้อนหนึ่ง แต่เวลานี้ไม่รู้ว่าหายไปไหนแล้ว หลวงพี่จึงเชื่อว่าน่าจะมีรอยพระพุทธบาทจริงอยู่บนเทือกเขาเขียวนี้ ตามที่เรียกกันว่า "รอยพระพุทธบาทบางปลาสร้อย" (อ้างอิงโดยย่อ - จากบันทึกของ คุณภูมิพงศ์ ไพศาลศิริรเลิศ รองปลัด อบต.บ้านบึง ที่ถวายหลวงพี่มา)

แต่คิดว่าการสำรวจที่ผ่านมาทั้ง 3 ครั้ง ยังไม่พบรอยเดิมอยู่นั่นเอง ถึงอย่างไรก็ตามจากหลักฐานดังกล่าวนี้ อีกทั้งหลวงพี่ได้เสี่ยงอธิษฐานแล้วเช่นกัน จึงขอนำสถานที่นี้เข้าบัญชีรอยพระพุทธทั่วประเทศนับเป็น "ลำดับที่ 606" โดยเอาชื่อเดิมมาเรียกอีกครั้งว่า "รอยพระพุทธบาทบางปลาสร้อย" เขาเขียว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ถึงอย่างไรก็ขออนุโมทนาผู้ร่วมค้นหาทุกชุด คิดว่าถ้าถึงเวลาคงจะพบรอยเดิมอีกครั้งหนึ่ง.."



หลังจากหลวงพี่ได้ฉันเพลที่ อบต.บ้านบึง และท่านนายก อบต.บ้านบึง คือ คุณชาญชัย เรืองสุข ถวายปัจจัยทำบุญกับหลวงพี่ ท่านก็ได้มอบหนังสือตามรอย ๑ ชุด พร้อมกับพระ "ปางประทับพระบาท" ๒ องค์ แล้วจึงได้ลาคณะเจ้าหน้าที่ อบต.บ้านบึง เดินทางกลับวัดในวันนั้นกันเลย.



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 3/6/10 at 05:21 Reply With Quote


(Update 03-05-53)


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved