ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 23/9/10 at 10:37 Reply With Quote

ตามรอยพระพุทธบาท "ภาคอีสาน" (ครั้งที่ 2) 12-14 มิ.ย.2541



คลิกชมคลิปวีดีโอ "ภาคอีสาน Part A - Part B - Part C


การเดินทางไปภาคอีสาน (ครั้งที่ ๒)

เมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๔ มิ.ย. ๒๕๔๑(จาก หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม ๑)


...สำหรับ งานพิธีฉลองชัย ณ กรุงสุโขทัย ไม่ได้นำมารวมเล่ม รวมทั้ง งานฉลองชัย ณ นครโยนกเชียงแสน, งานทำบุญครบรอบ ๘๔ ปี หลวงปู่ชัยวงศา, และงานฉลองชัย ณ กรุงศรีอยุธยา, งานฉลองชัย ณ กรุงรัตนโกสินทร์ (ภูเขาทอง วัดสระเกศ) ซึ่งท่านผู้อ่านจะหาอ่านได้ในธัมมวิโมกข์เล่มก่อนๆ (ปัจจุบันได้นำมาลงในเวปตามรอยฯ กระทู้ "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม ๕")

“...ส่วนการเดินทางไปภาคอีสานในครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ ถือเป็นการไปทำพิธีบวงสรวงสักการบูชาต่อจากคราวที่แล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ซึ่งในตอนนั้นได้เดินทางไปทำพิธี สมโภช รอยพระพุทธบาทภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ อันเป็นภาคอีสานตอนล่าง

แล้วไปทำพิธีต่อที่ วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม และ วัดพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร ถือเป็นการทำพิธีเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ประเทศที่ภาคอีสานตอนบน แล้วก็เว้นระยะมาจนถึง บัดนี้ได้ ๓ ปี จึงมีโอกาสไปทำพิธีในครั้งนี้อีก โดยได้มาบรรจบ ณ ดินแดนภาคอีสานตอน กลาง ซึ่งถือว่าเป็นการทำครบถ้วนภาคอีสานเกือบทั้งหมด

การเดินทางไปในวาระนี้ จะมีรอยพระพุทธบาทเป็นสำคัญ ทั้งที่เป็นของเก่าและที่เพิ่งค้นพบใหม่ ความจริงรู้ข่าวการพบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ แต่ตอนนั้นถนนทางเข้ายังไม่ค่อยดี ต้องรอโอกาสมาถึงปีนี้ จึงได้ไปทำพิธีสมโภชกัน เพื่อเป็นการสถาปนารอยพระพุทธบาท ให้เป็นที่รู้จักและกราบไหว้บูชาของบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกท่านที่ไปในครั้งนี้ โดยเฉพาะโชเฟอร์ที่ขับรถด้วย ท่านจะช่วยให้สามารถไปถึงได้อย่างปลอดภัย และครบถ้วนตามกำหนดการทุกแห่งด้วย

ฉะนั้น จึงขอความร่วมมือทั้งผู้ขับรถและ ผู้โดยสารทุกท่าน โปรดตรงต่อเวลานัดหมายทุกครั้ง คือต้องมาก่อนเวลานัดเล็กน้อย ไม่ใช่มาตรง เวลาพอดี อย่างนี้ไม่มีใครเขารอท่านอย่างแน่นอน เมื่อขบวนรถออกเดินทางแล้ว ขอให้ขับรถตาม หมายเลข ห้ามขับแซงหรือแข่งกันอย่างเด็ดขาด

ขณะที่ขบวนรถวิ่งตามกันไปนั้น อย่าทิ้งห่างมากนัก จะได้ไม่พลัดหลงกันไป เพราะเคย มีตัวอย่างมาแล้ว จึงทำให้รถคันนั้นพลาดโอกาส ไม่สามารถจะไปร่วมงานอีกเลย จึงขอให้ขับแล้วมองคันหลังบ้าง เพื่อที่จะช่วยไม่ให้หลงทางกัน ไป จึงขอให้มีน้ำใจเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน เมื่อจะเติมน้ำมัน จะต้องนัดหมายกันก่อนให้แน่นอน ว่าจะแวะตรงไหน ไม่ใช่ต่างคนต่างเติมตามอำเภอ ใจ ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำให้เสียเวลา

ถ้าหากท่านให้ความร่วมมือกันโดยตลอด ทั้งคนขับรถและผู้โดยสารทุกคน เราจะสามารถ ทำเวลาได้ทันทุกแห่งตามกำหนดการ และอาจ จะสามารถเพิ่มสถานที่สำคัญได้ในบางแห่ง แต่ ถ้าหากท่านทำให้ล่าช้าก็อาจจะพลาดโอกาสอัน สำคัญนี้ก็ได้

งานครั้งนี้จึงต้องวางแผนงานกันอย่างละเอียด เพราะมีคนประมาณ ๓๐๐ คน จะมีรถร่วม ประมาณเกือบ ๔๐ คัน หลังจากทานอาหารเช้าแล้ว ขอให้ทุกคนร่วมกันชำระหนี้สงฆ์ ซึ่งจะ มีขันจัดเตรียมไว้ เพราะทาง วัดมิตรภาพวนาราม ได้มีน้ำใจจัดเลี้ยงโดยมิได้หวังผลประโยชน์ ใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อทานข้าวต้มเสร็จแล้ว เวลาประมาณ ๖.๔๐ น. ขอให้ทุกคนเตรียมขึ้นรถ ให้เวลา ๕ นาทีเท่านั้น แล้วรถจะออกทันที ทั้งนี้ ขอให้รถ ทุกคัน เตรียมพร้อมไว้ด้วย ไม่ใช่มีแต่รถแล้วหา คนขับไม่เจอ ถ้ามีเหตุจำเป็นจะต้องแจ้งผู้โดย สารด้วย หรือผู้โดยสารมาไม่ครบ คนในรถต้อง รีบไปตาม

อย่าลืมช่วยรักษาน้ำใจผู้ขับรถไว้ด้วยนะ เพราะเขาต้องรับผิดชอบพวกเราทุกคน เมื่อทุก คันพร้อมแล้ว จะมีรถหมายเลข ๑ นำขบวนแล้ว ให้รถคันต่อ ๆ ไปวิ่งตามลำดับหมายเลข เดินทาง ไปประมาณ ๑๕ นาที ก็จะถึงสถานที่ทำพิธีเป็นจุดแรก แล้วเราจะทำพิธีบวงสรวง พร้อมทั้ง ร่วมกันบำเพ็ญกุศลตามอัธยาศัย...”

ข้อความเบื้องต้นเหล่านี้ เป็นเสียงเทปที่เปิดให้ผู้ร่วมเดินทางทั้งหลายฟังไปด้วย ระหว่าง =ที่กำลังนั่งทานอาหารเช้า ณ วัดมิตรภาพ แถว "กลางดง" ก่อนถึงโคราช เมื่อเช้า วันที่ ๑๒ มิ.ย. ๒๕๔๑ เป็นการนัดหมายไว้ล่วงหน้า ซึ่งยังมีเรื่องราวจะแจ้งให้ท่านทั้งหลายทราบต่อไปอีกว่า

“...สำหรับสถานที่แห่งนี้เป็นที่สำคัญที่ค้นพบใหม่ จะอัญเชิญพระพุทธรูปหน้าตัก ๓๐ นิ้ว ไปถวายไว้ด้วย ใครจะร่วมสมทบทุนไว้เป็นกองกลางก็ขอเชิญได้ ผู้รับทำบายศรีคือ คณะแม่ชีเล็กโดยมี คุณแสงเดือน พร้อมพันธุ์ เป็นเจ้าภาพ และมีผู้ร่วมสมทบผ่านอาตมาอีกบ้าง

หลังจากทำพิธีเสร็จแล้ว เวลา ๙.๐๐ น. จะออกเดินทางผ่านโคราชไปที่ จ. ขอนแก่น จะ ไปทานอาหารกลางวันที่ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสาขา หลวงพ่อจรัล ทางวัดจะจัดเลี้ยง โดยขอให้ทุกคน ชำระหนี้สงฆ์ในภายหลัง เวลาบ่ายจะออกเดินทางผ่าน เขื่อนอุบลรัตน์ ไป หนองบัวลำภู เลย ตัวเมืองไปเล็กน้อย จึงจะถึงบ้านห้วยทราย มี ป้ายบอกทางเข้าทางด้านขวามือว่า “สำนักสงฆ์ วรพจน์-ปรีดา” ก็จะถึง จุดที่ ๒ ซึ่งมี คุณเล็ก และ หนูเล็ก พร้อมทั้งคณะเป็นผู้จัดทำบายศรี

เมื่อทำพิธีบวงสรวงเสร็จแล้ว จึงจะออกเดินทางผ่านตัวเมืองอุดรธานี แล้วเลี้ยวขวาก่อน ถึงหนองหาร เพื่อไปทานอาหารเย็นและค้างคืน ที่ วัดป่าดอนหายโศก หลังจากทอดผ้าป่าแล้ว จึงพักผ่อนหลับนอนกัน

วันที่ ๑๓ มิ.ย ๔๑ เวลา ๐๖.๐๐ น. ทางวัดจะจัดเลี้ยงข้าวต้ม เวลา ๐๗.๐๐ น. จะออก เดินทางไป อ.เพ็ญ ก่อน แล้วจึงจะเดินทางไปที่ จุดที่ ๓ คือ วัดพระธาตุบังพวน โดยมี คุณแดง เป็นผู้จัดทำบายศรี เมื่อทำพิธีบวงสรวงกันแล้ว จึงจะรับประทานอาหารกลางวัน โดยมีการชำระหนี้สงฆ์ด้วย แล้วจึงจะเดินทางไปที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เพื่อเดินชมสถานที่สำคัญ ๒ - ๓ แห่ง

เมื่อกลับมาขนของเข้าที่พักอาบน้ำและ รับทานอาหารเย็นแล้ว ขอให้มารวมกันเพื่อทำ พิธีบวงสรวงสักการบูชา โดยมี คุณอู่วารี และ คณะจ่าวิรัตน์ สระบุรี เป็นผู้จัดทำเป็น จุดที่ ๔ (วัดพระพุทธบาทบัวบก) ครั้นทำพิธีทอดผ้าป่า แล้วจึงจะพักผ่อนหลับนอนกัน

วันที่ ๑๔ มิ.ย. เวลา ๐๖.๐๐ น. ทานข้าวต้มเช้าและรับ “ข้าวกล่อง” แล้วออกเดินทางไป อ.เชียงคาน จ.เลย เพื่อไปทำพิธีบวงสรวงเป็น จุดที่ ๕ โดยมี คุณหมู, ทิพย์ และ คณะคุณวิชัย จากการไฟฟ้าฯ รับจัดทำบายศรี เสร็จพิธีแล้วจึงจะเดินทางต่อไปถึง จุดที่ ๖ คณะสระบุรี เป็นผู้จัดทำ โดยมี คุณสัจจะ ทันการ รับเป็นเจ้าภาพบายศรี

(การเดินทางไปกลางดงมี คณะหมอยิ้ม เป็นผู้ประสานงาน และไปที่ขอนแก่น ก็มีพี่ชายของ คุณซ้ง (อชิระ) จนถึงอุดรธานีก็มี คุณลดาวัลย์ พรรณวิเชียร เป็นผู้ประสานงานให้)

ต่อจากนั้นก็แยกย้ายกันเดินทางกลับโดย สวัสดิภาพ พร้อมกับพกพาบุญอันเป็นมหากุศล กลับไปอย่างเต็มที่ จึงขอให้รักษาเวลานัดหมาย ให้ดี แล้วท่านจะสมหวังทุกสถานที่ที่ได้ไป และ อย่าลืม..! การเดินทางครั้งนี้มีอานิสงส์มาก นับ ตั้งแต่ก้าวแรกของการเดินทาง จงอธิษฐานจิตขอพรทั้ง ๓ ประการ คือ “โรค” “ลาภ” และ “เลิศ”

๑. ขอให้โรคและภัยมลายสิ้นทั้งอินทรีย์
๒. ขอให้ลาภผลมากล้นพูนทวี
๓. ขอให้ได้ของดีเลิศประเสริฐยิ่ง นั่นคือ พระนิพพาน...”


รอยพระพุทธบาทกลางดง จ.นครราชสีมา
เริ่มพิธีบวงสรวงบายศรี ณ รอยพระพุทธบาทกลางดง เป็นแห่งแรก


…ตอนเช้าของวันนั้น ผ่านมาจนถึงบัดนี้ ครบ ๑ ปีแล้ว สำหรับผู้ที่เคยร่วมเดินทางไปด้วย คงจะหวลระลึกนึกถึงบรรยากาศในขณะนั้นได้ เป็นอย่างดีว่า ตามแผนการที่วางไว้นี้ ได้ประกาศ ให้ทราบทั่วถึงกัน เพื่อทุกคนจะได้เตรียมปฏิบัติ ตามข้อกติกาที่ตกลงไว้นี้

…แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะวางแผนไว้ เป็นอย่างดีแล้ว หลังจากทานข้าวต้มเช้า ณ วัดมิตรภาพ พวกเราก็ได้ร่วมกันทำบุญ รวมเป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ บาท แล้วทั้ง ๓๐๐ ชีวิตก็เริ่มเดินทาง ไปยังจุดแรก คือ รอยพระพุทธบาท ณ กลางดงจ.นครราชสีมา จึงมีรถตู้หลายคันต้องผจญกับ อุปสรรค นั่นก็คือถนนทางเข้ามีสภาพขรุขระ ทั้งที่ “คณะหมอยิ้ม” ปรับปรุงไว้บ้างแล้ว

…เพราะฉะนั้น รายการทำบุญหลังจากพิธี บวงสรวงแล้ว พวกเราจึงร่วมกันสมทบทุนเป็น จำนวนเงิน ๒๗,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าทำถนนให้ มีสภาพดีกว่านี้ ส่วนพระพุทธรูปปางคันธาระ ขนาดหน้าตัก ๓๐ นิ้ว ที่อัญเชิญไปประดิษฐาน ไว้ใต้ต้นไม้ใกล้รอยพระพุทธบาทนั้น มีมูลค่า ๑๖,๕๐๐ บาท เมื่อรวมกับเงินค่าทำถนน เป็นเงิน ๔๓,๕๐๐ บาท

ส่วนเรื่องการพบรอยพระพุทธบาทนั้น ได้ค้นพบโดย “หมอยิ้ม” เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๙ ซึ่งตรงกับ “ปีกาญจนาภิเษก” พอดี ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่คณะศิษย์หลวงพ่อฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสทำพิธีสมโภชรอย พระพุทธบาท แต่ต้องรอเวลาเกือบ ๒ ปี กว่าจะ ได้ไปกัน เพราะตอนแรกสภาพถนนยังแย่กว่านี้ เมื่อคณะพวกเราร่วมกันทำบุญกลับมาแล้ว ต่อมา “หมอยิ้ม” ได้มาบอกว่าได้ทำถนนให้มีสภาพ ดีกว่าเดิมแล้ว

เมื่อออกจากที่นั้นแล้ว จึงได้เดินทางต่อไปที่จังหวัดขอนแก่น โดยมีพี่ชายของ “ซ้ง” (อชิระ) และ “ปุ้ย” (ชวการ) พร้อมกับ คุณชุมพล เวสสบุตรทำงานอยู่โรงไฟฟ้าน้ำพอง เป็นผู้ประสานงานกับทางวัด แต่กว่าจะไปถึงที่นั่นคือ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสาขาของหลวงพ่อจรัล ก็เป็นเวลา ๑๔.๐๐ น. เศษแล้ว หลังจากทานอาหาร กลางวันกันแล้ว ก่อนจะออกเดินทางต่อไป พวก เราก็ได้ถวายผ้าป่า เป็นเงิน ๑๖,๗๕๐ บาท

ครั้นออกมาจากขอนแก่นแล้วก็เดินทางผ่านเขื่อนอุบลรัตน์ โดยมีรถของเจ้าหน้าที่ทำบาย ศรีและจัดสถานที่ล่วงหน้าไปก่อน ขณะที่จะถึงจุด หมายปลายทาง เจ้าหน้าที่ของเราก็ได้ยืนบอกทาง อยู่ข้างถนน เพื่อป้องกันมิให้รถคันอื่นๆ วิ่งเลยไป


รอยพระพุทธบาท หนองบัวลำภู


เวลา ๑๖.๐๐ น. เศษ ขบวนรถทั้งหมดก็ได้มาถึง รอยพระพุทธบาท ณ หนองบัวลำภู ซึ่งอยู่ท่ามกลางป่าเขาเช่นเดียวกับรอยพระพุทธบาท ณ กลางดง ซึ่งมีสภาพอยู่เดิมๆ ไม่มีการตกแต่งแต่อย่างใด ยังรักษารอยพระพุทธบาทให้เห็นเป็นธรรมชาติ ดูแล้วทำให้เกิดธรรมปีติเป็นอย่างยิ่ง

พวกเราทุกคนก็เช่นเดียวกัน ย่อมยังความปลาบปลื้มใจที่ได้พบเห็น จึงช่วยกันจัดทำบายศรี เพื่อเป็นเครื่องสักการบูชาอันสูงค่า พร้อม ทั้งร่วมกันบริจาคเงินแก่สำนักสงฆ์แห่งนี้ เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท อีกทั้งเครื่องไทยทานทั้งหลาย อันมี พระพุทธรูป ตาลปัตร ผ้าห่ม ผ้าปูนั่ง เป็นต้น โดย มี “คณะลูกสัมพเกษี” เป็นผู้จัดนำไปถวายทุกแห่ง

เมื่อทำพิธีบวงสรวงสักการบูชาแล้ว จึงได้ เดินทางไปค้างคืนที่ วัดป่าดอนหายโศก จ.อุดรธานี หลังจากทานอาหารค่ำกันแล้ว จึงได้ร่วมทำบุญกับท่านเจ้าอาวาส เป็นเงิน ๓๐,๑๐๐ บาท พอตอนเช้าทานข้าวต้มแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไปที่ วัดพระพุทธบาทแม่แส อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ทำบุญ ๑๐,๐๐๐ บาท แล้วจึงออกเดินทางไป จังหวัดหนองคาย

ประวัติพระธาตุบังพวน

…ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า การเดินทางไปภาคอีสานครั้งที่ ๒ นี้ ถือว่าเป็นการมาสืบต่อจากครั้งที่แล้วเมื่อปี ๒๕๓๘ จึงขอย้อนเล่าเรื่อง การเดินทางไปที่ วัดพระธาตุพนม แล้วได้เล่าถึง ประวัติการสร้างว่า เป็นที่บรรจุ “พระอุรังคธาตุ” คือพระบรมสารีริกธาตุส่วนยอดอก ๘ องค์ ที่ พระมหากัสสป เป็นผู้อัญเชิญมาหลังจากถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว โดยมีเจ้าพระยา ทั้ง ๕ เป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๘

…ในตำนาน อุรังคธาตุ นั้น ยังได้กล่าวถึงพระอรหันต์ ๕ องค์ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุหัวเหน่า จำนวน ๒๙ องค์ มาประดิษฐานไว้ ณภูเขาลวง คือที่ วัดพระธาตุบังพวน นี้ เมื่อ พ.ศ. ๑๙ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทราบว่านอกจากพระธาตุ พนม จ.นครพนม และพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนครแล้ว ก็ยังมีสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ควรที่จะมาทำพิธีสักการบูชาให้ครบถ้วน เพราะมี ประวัติเกี่ยวเนื่องถึงกัน แต่ครั้งนั้นไม่สามารถ จะมาได้ต้องรอเวลาถึง ๓ ปี จึงจะมีโอกาสเดินทางมาครั้งนี้ได้

…เพื่อให้พวกเราทุกคนได้ทราบว่า พระธาตุบังพวนแห่งนี้ เป็นพุทธสถานที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองไทย ร่วมสมัยเดียวกับพระธาตุพนม นับเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อันเป็น ศักดิ์เป็นศรีที่น่าภาคภูมิใจของชาวจังหวัดหนองคายมาช้านาน

สถานที่นี้นอกจากจะเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุหัวเหน่าแล้ว เมื่อสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จ พระพิชิตมารบรมศาสดาก็ได้เคยเสด็จมายัง ณ สถานที่นี้ ตามโบราณพุทธประเพณีแห่งพระพุทธเจ้าในอดีตทั้ง ๓ พระองค์ คือ พระพุทธกกุสันโธ พระพุทธโกนาคม และ พระพุทธกัสสป แล้ว ทรงทราบด้วยพระพุทธญาณว่า พระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นั้น ได้นำเอาพระ บรมธาตุของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ไปประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุพนม หลังจากถวายพระเพลิงแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้ากับพระอานนท์ จึงได้เสด็จมาทางอากาศลงประทับที่ เวียงจันทน์ คือที่ ริมหนองคันแทเสื้อน้ำ (บัดนี้คือ พระธาตุหลวง นครเวียงจันทน์) แล้วเสด็จมาเมืองหนองคายที่ โพนจิกเวียงงัว ณ ที่นั้นมีพญานาคชื่อว่า “ปัพพาละ” เพราะเหตุที่ประดับสังวาลย์คอด้วยแก้วประพาฬ จึงได้เนรมิตเป็น “ตาผ้าขาว” เข้ามารับ บาตรและอาราธนาพระพุทธเจ้ามา ณ ภูเขาลวง คือพระธาตุบังพวนนี้ เพื่อถวายภัตตาหารแด่ พระองค์ ภายใต้ร่มไม้ป่าแป้ง (ต้นโพธิ์)

ครั้นทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว จึงประทานผ้ากัมพลผืนหนึ่งแก่พญาปัพพาลนาคราช แล้วเสด็จไปประทับรอยพระบาทที่ "โพนฉัน” เวียงจันทน์ และ “เวินปลา” จ. นครพนม จากนั้นจึงได้เสด็จไปที่ พระธาตุพนม จ.นครพนม, พระธาตุอิงรัง สุวรรณเขต, พระธาตุเชิงชุม สกลนคร แล้วก็เสด็จกลับสู่พระเชตวัน กรุงสาวัตถี

ครั้นถึง พ.ศ.๘ พระมหากัสสป ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุมาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุ พนม แล้วจึงเดินทางกลับสู่กรุงราชคฤห์ ในกาล เวลาต่อมา ท่านจึงได้มอบหมายให้ศิษย์ที่เป็น พระอรหันต์ ๓ องค์ คือ พระพุทธรักขิต พระธรรมรักขิต และ พระสังฆรักขิต มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เมืองหนองคาย โดยได้มาตั้งสำนักสงฆ์ที่บ้านหนองกก อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย

แล้วได้สอนธรรมปฏิบัติอยู่ที่นั้น จนได้ศิษย์อีก ๕ องค์เป็นพระอรหันต์ คือ พระมหารัตนะ กับ พระจุลรัตนะ ราชบุตรของพระยาจุลอินทปัตถ์ พระมหาสุวรรณปราสาท กับ พระจุลสุวรรณปราสาท ราชบุตรของพระยาปุตตจุลณี พรหมทัต พระสังขวิชา ราชบุตรพระเจ้าสุริยวงศา

รวมความว่า พระอรหันต์ทั้ง ๕ องค์นั้น ความจริงก็คือพระราชนัดดา คือเป็นหลานของพระยาทั้ง ๕ ซึ่งเป็นผู้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนม แล้วได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้กลับมาบวชเป็นพระภิกษุ เพื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา ผลที่สุดด้วยอานิสงส์นั้น ก็ได้กลับมาเกิดเป็นบุตรของลูกตัวเอง และได้ออกบวชตั้งแต่เป็นสามเณร จนสามารถจบกิจขั้นสูงสุด หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว

ต่อมาพระอาจารย์ทั้ง ๓ และศิษย์ทั้ง ๕ รวมเป็นพระอรหันต์ ๘ องค์ ได้เดินทางไปกรุง ราชคฤห์ เพื่อไปขอรับพระบรมสารีริกธาตุจากพระมหากัสสป ครั้นได้พระบรมสารีริกธาตุจากพระมหาเถระแล้ว พระอาจารย์ทั้ง ๓ จึงได้ มอบหมายให้ศิษย์ทั้ง ๕ องค์นั้น นำมาประดิษฐานไว้ ณ ร่มไม้ป่าแป้ง คือใต้ต้นโพธิ์บนภูเขาลวง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับฉันภัตตาหารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน

ครั้งนั้น พระยาจันทบุรี เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ได้ทรงทราบว่า มีพระอรหันต์ได้อัญ เชิญพระบรมสารีริกธาตุมา จึงเสด็จมาพร้อมกับ พระมเหสีทั้ง ๓ คือ พระนางอินทสว่างรัตนเกศี พระนางมงคลทปาลัง และ พระนางมงคลกตัญญู พร้อมทั้งข้าราชบริพารและประชาราษฎร์ทั้งหลาย เพื่อกระทำสักการบูชาพระบรมธาตุ
จึงได้รับสั่งให้หล่อเป็นรูปสิงห์ทอง ๔ ตัว หนักตัวละ ๑ หมื่นตำลึง แล้วให้นำสิงห์ทอง ๔ ตัวนั้นมารวมผินหลังกันเข้าหันหน้าออกตัวละทิศ แล้วเอาทองคำหนัก ๒ หมื่นตำลึงมาหล่อเป็นอูบ รูปเจดีย์แล้วประดับด้วยแก้ว ในขณะนั้น พระ อรหันต์ทั้ง ๕ องค์ จึงพร้อมกันอธิษฐานว่า

“หากว่าพระบรมธาตุจะสถิตประดิษฐาน อยู่ที่ภูเขาลวงนี้ตลอด ๕ พันปี ขอแผ่นปฐพีนี้ จงแยกออกเป็นหลุมลึก ๘ วา กว้างด้านละ ๑๐ วา ทั้ง ๔ ด้านนั้นเถิด..”

ทันใดนั้น ด้วยอำนาจแห่งการตั้งสัจจาธิษฐาน แผ่นดินก็แยกออกทันที พระยาจันทบุรีจึงตรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์ก่ออุโมงค์ด้วยหิน แต่หินที่ก่อนั้นไม่พอ ขณะนั้น พญาปัพพาลนาคราช ได้จำแลงเพศเป็นชีปะขาวถือไม้วัด ซึ่งยาวเท่าตัวนาคเดินเข้ามาบอกว่า

“หินของเรากองไว้มากมายทางด้านทิศตะวันตก พวกท่านจงไปเอามาก่อให้เสร็จเถิด พวกท่านจงเอาไม้วัดนี้ วัดไปได้ถึง ๑,๐๐๐ ช่วง ของไม้อันนี้ ก็จะพบกองหินนั้น...”

คนทั้งหลายบอกว่า ไม้วัดอันนี้ยาวนัก เราไม่ไปเอาดอก ชีปะขาวจึงทำให้ไม้นั้นสั้น ลงมาเหลือแค่ ๒ วา แล้วก็หายไปต่อหน้า โดยทิ้งไม้วัดเอาไว้ คนเหล่านั้นเห็นเป็นอัศจรรย์ พระอรหันต์จึงได้บอกว่า "ชีปะขาว" คือ “พญาปัพพาลนาคราช” อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาลวงนี้แหละ เขามาช่วยเราแล้ว จึงให้คนเหล่านั้น นำไม้มาวัดตามที่ชีปะขาวแนะนำก็ได้พบหินแค่ ๓ ก้อน

ครั้นพากันหามมาทั้ง ๓ ก้อน หินก็มีเพิ่มมาอีก ๖ ก้อน จะนำมาเท่าไรก็ไม่รู้จักหมดสิ้น ในที่สุดการก่อสร้างอุโมงค์ก็สำเร็จ พระยาจันทบุรีจึงได้ตรัสสั่งให้เอาแผ่นเงิน ๓ แผ่นปูรองพื้น เอาแผ่นทองคำปูทับอีก ๓ แผ่น แล้วเอาสิงห์ทอง ๔ ตัว ตั้งไว้บนแผ่นทองคำหันหน้าไป ทั้ง ๔ ทิศ เอาอูปทองคำรูปเจดีย์ตั้งบนหลังสิงห์

แล้วบรรจุสิ่งของมีค่าไว้อีกมากมาย เพื่อบูชาพระบรมธาตุ ส่วนหัวเหน่า ๒๙ องค์ ซึ่งได้ บรรจุไว้ในขวดไม้จันทน์ ๑๐ องค์ บรรจุในขวด แก้วผลึก ๑๐ องค์ และบรรจุในผอบทองคำ ๓ ตลับๆ ละ ๓ องค์ แล้วเอาหินก้อนใหญ่ปิดปาก อุโมงค์ กลบดินเสมอระดับดินเดิม การก่อสร้างทั้งหมดจึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๑๙

สมัยต่อมา พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้ครองอาณาจักรล้านช้าง พระองค์ทรงมีความ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงตั้งมโนปณิธานขอเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในภายภาคหน้า จึงได้เสด็จมาสร้างพระเจดีย์ครอบอุโมงค์ไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๙ แล้วตั้งชื่อพระเจดีย์นี้ว่า “พระธาตุบังพวน” แล้วได้มอบหมายให้มีผู้ดูแลสถาน ที่นี้นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

จนกระทั่งถึง วันเสาร์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๓ เวลา ๐๔.๓๐ น. องค์พระธาตุก็หักพังทลายลงมา กรมศิลปากรได้เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์ จนถึงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๒๐ สมเด็จพระสังฆราช (วัดราชบพิตร) ได้เสด็จมาบรรจุพระอุรังคธาตุองค์ใหม่ เพิ่มไว้ในพระเจดีย์ ตอนบน

ครั้นถึงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ฯ ได้เสด็จมายกฉัตรสู่ยอดพระเจดีย์ อันมีพระเถรานุเถระ พร้อมด้วยข้าราชการ และบรรดาประชาชนทั้งหลาย เดินทางมาร่วมงานครั้งนี้กันอย่างมากมาย

เป็นอันว่า พระเจดีย์องค์นี้ ได้เป็นศรีสง่า แห่งแว่นแคว้นมานานนับพันปี ควรที่พวกเราจะได้พากันกราบไหว้ด้วยความเคารพ โดยการจัดเครื่องบายศรีบวงสรวง เพื่อเป็นการสักการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระ องค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย อันมีพระอรหันต์ทั้ง ๕ ที่ได้เป็นผู้อัญเชิญพระบรมธาตุส่วนนี้มา

พร้อมด้วยผู้ร่วมสร้างทั้งหลาย นับตั้งแต่ ต้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ อันมีพระยาจันทบุรี เป็นต้น ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เทพพรหมทั้งหมด รวมทั้งผู้ที่ปกปักรักษาอาณาเขตนี้ ซึ่งมีพญาปัพพาลนาคราช เป็นต้น ขอได้โปรดเสด็จมาเป็นสักขีพยาน ณ สถานที่นี้

เพื่อทรงพระมหากรุณาสงเคราะห์บรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย ที่ได้เดินทางมาในครั้งนี้ และผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนภาคอีสานตอนกลางนี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล และเจริญด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ และ พละ

คือขอให้มีอายุครบอายุขัย ไม่ตายด้วยอุปัทวันตรายทั้งปวง วรรณะ ขอให้สุขภาพแข็งแรง มีผิวพรรณผ่องใส สุขะ คือขอให้มี ความสุขทั้งโลกียทรัพย์ และโลกุตรทรัพย์ พละ คือขอให้มีกำลังกายและกำลังใจ สามารถฝ่า ฟันอุปสรรคอันตรายไปได้ จวบจนกระทั่งข้ามถึงฝั่งแห่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้เถิด

อนึ่ง โลกจะถึงภัยพิบัติด้วยธรรมชาติก็ดี หรือภัยจากอาวุธร้ายแรงก็ดี ขอให้ผู้มีศีลธรรมทั้งหลาย จงปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ เหล่านั้น ขอให้พุทธศาสนาจงรุ่งเรือง ขอให้ชาติจงพ้นภัยจากผู้ไม่หวังดี และขอให้สถาบันพระมหากษัตริย์ จงวัฒนาถาวรตลอดกาลนานเทอญ ฯ

ครั้นได้ร่วมกันอธิษฐานดังนี้แล้ว ผู้ร่วมพิธีกรรมทุกท่าน ต่างก็สงบจิตสงบใจไปตามกระแสเสียงของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ตามที่ท่านได้กล่าวชุมนุมเทวดา เพราะรู้ถึงความสำคัญของสถานที่นี้ ตามที่ได้เล่าประวัติความเป็นมาทุกคน จึงบูชาสักการะด้วยความเคารพ เพราะถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองคาย

ฉะนั้น ไม่ว่าสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ประดิษฐานอยู่ ณ ที่ไหนของประเทศไทย คณะตามรอย พระพุทธบาท จึงได้เดินทางไปกราบไหว้บูชา เพื่อขอความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเหล่านั้น ได้โปรด คุ้มครองป้องกันภัย ให้คนดีมีศีลธรรมทั้งหลาย ได้ช่วยกันรักษาชาติ พุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้จรรโลงอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป

หลังจากพิธีบวงสรวงเสร็จแล้ว ทางวัดก็ได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ ภายใต้ร่มไม้ พวกเราต่างก็ทานด้วยความเอร็ดอร่อย พอจะมีเรี่ยวแรงต่อไป จึงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์และสิ่งของไว้ในพระพุทธศาสนา เป็นเงิน ๓๒,๕๐๐ บาท

แล้วขบวนรถเกือบ ๔๐ คัน ก็เริ่มเดินทางไป อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ตรงไปยังที่ รอยพระพุทธบาทหลังเต่า ที่อยู่กลางป่าภูพาน ซึ่งจะ ต้องให้สามเณรนำทางไป ใช้เวลาเดินเท้าประ มาณเกือบ ๑ ชั่วโมง เดิมคิดว่าคงจะไปกันไม่มาก เพราะเห็นมีผู้สูงวัยหลายคน แต่ผลที่สุด ก็ไปได้หมดทุกคน


รอยพระพุทธบาทหลังเต่า จ.อุดรธานี

…เมื่อทุกคนเดินเข้าไปถึง ได้เห็นสภาพ เดิมๆ ตามธรรมชาติแล้วก็ปลาบปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง ลืมความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าลงไปสิ้น จึงได้ช่วยกันทำความสะอาดบริเวณรอยพระพุทธบาท เหมือนกับได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์ เช่นเดียวกับพระอานนท์ฉะนั้น

…มองดูแต่ละคนแล้ว ถึงแม้บางคนจะ แสดงอาการอ่อนล้า เพราะอากาศร้อน ด้วยการ นำพัดออกมาช่วยบรรเทา แต่ทุกคนก็มีใบหน้า ยิ้มแย้มสดชื่น แสดงถึงความเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ทุกคนมีความภูมิใจที่ ได้เดินเท้าเข้ามาในป่า ซึ่งยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย เพราะเป็นสถานที่สงวนพันธุ์สัตว์ป่า จึงเหมือนกับได้ออกมาปฏิบัติ “ธุดงค์” เพื่อถวายเป็น “พุทธบูชา” ไปด้วย

…หลังจากได้กราบไหว้บูชาเป็นที่เอิบอิ่มใจแล้ว ทุกคนก็ได้สัมผัสกับรอยพระพุทธบาทด้วยตนเอง คือฝ่ามือทั้งสองข้างและหน้าผากของทุกคน ที่ได้หมอบกราบอย่างสุดชีวิตและจิตใจ ด้วยเศียรเกล้าของข้าพระบาททั้งหลาย ที่ได้ซบลงไปแทบฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์ เหมือนกับพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ในขณะ ที่ทรงยื่นฝ่าพระบาทให้พวกข้าพระพุทธเจ้าได้กราบไหว้บูชา

ฉะนั้น แม้พระองค์จะได้เสด็จไป ณ แห่งหนตำบลใดในแว่นแคว้นสุวรรณภูมินี้ ใน ชีวิตนี้ หลังกึ่งพุทธกาล ข้าพระบาททั้งหลาย ผู้เป็นเผ่าพงศ์แห่งวงศ์ศากยะของพระองค์ ก็ ได้อุตส่าห์บากบั่น ยอมสละความสุขทุกอย่าง ในโลกนี้ เพื่อขอยกย่องเชิดชูรอยพระพุทธบาท ของพระองค์ ที่ได้ทรงสถิตไว้ในชมพูทวีป ได้ ปรากฏแก่ชาวโลก เพื่อค้ำจุนชาวพุทธทั้งหลายตลอดพุทธันดรนี้เทอญ

แต่ละคนจะอธิษฐานตามนี้หรือไม่ก็ตาม เมื่อถึงเวลาก็ต้องเดินทางกลับมายังที่เดิม เพื่อ ส่งสามเณรที่ช่วยนำทางให้ คือ วัดป่าบ้านใหม่ แล้วได้ถวายปัจจัยให้แก่พระภิกษุสามเณรทั้ง หลาย จำนวนเงิน ๕,๐๐๐ บาท จุดหมาย ปลายทางต่อไป คือ วัดพุทธบาทบัวบก ซึ่งจะต้องไปทานอาหารเย็นและค้างคืนที่นั่น โดยมี คุณลดาวัลย์ พรรณวิเชียร เป็นผู้ประสานงาน


พระเจดีย์พุทธบาทบัวบก จ.อุดรธานี

…เมื่อถึงที่พักและรับประทานอาหารเย็นกันแล้ว พวกเราก็ช่วยกันจัดสถานที่ พร้อม กับจัดบายศรีไว้ด้านหน้าพระเจดีย์ที่ครอบรอยพระพุทธบาทบัวบก ในขณะที่จะนั่งลงไปบน เก้าอี้ เพื่อเล่าประวัติพระพุทธบาทบัวบกนั้น พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นขอบฟ้าทาง ด้านทิศตะวันออก มีลำแสงค่อย ๆ พุ่งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า ในขณะนั้นเป็นเวลาเย็น ประมาณ ๑๘.๓๐ น. พระอาทิตย์เริ่มตกดินแล้ว แต่ก็ยังไม่มืด ผู้เขียนจึงได้เล่าประวัติไปพลางว่า...

… “ตามที่ได้เล่าประวัติไว้ที่ วัดพระธาตุบังพวน ว่าดินแดนภาคอีสานนี้ ณ อาณาจักรศรีโคตรบูร ได้เป็นสถานที่องค์สมเด็จพระชินสีห์เคยเสด็จมาขณะยังทรงพระชนม์อยู่ นับตั้งแต่พระธาตุพนมแล้วได้มาประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ พระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร

…สมัยนั้นเรียกว่า เมืองหนองหารหลวง อันมี พระยาสุวรรณภิงคาร เป็นผู้ครองเมือง ส่วนพระอนุชามีนามว่า พระยาคำแดง ได้เสด็จไปครอง เมืองหนองหารน้อย ปัจจุบันนี้อยู่ ในเขต อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี

ฉะนั้น เมืองทั้งสองนี้ จึงเหมือนกับเป็นเมืองพี่เมืองน้อง พระธาตุเชิงชุม เป็นโบราณ สถานที่สำคัญของสกลนครอย่างไร.. พระพุทธบาทบัวบก ก็เป็นโบราณสถานที่สำคัญและเก่าแก่ของชาวอุดรธานีเช่นกัน นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และเป็นที่เคารพบูชาของชาวอุดรธานีมานาน นักโบราณคดีคือ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้สันนิษฐานไว้ในหนังสือ “อีสานแอ่งอารยธรรม” ว่า

ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงแหล่งโบราณคดีบนเทือกเขาภูพานนี้ว่า เป็นที่อยู่ของพญานาค ชื่อ สุวรรณนาคราช และ พุทโธปาปนาคราช ซึ่งแต่เดิมหนีจาก หนองแส (ตาลีฟู) มาตามลำน้ำโขง แล้วมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้

ต่อมาเมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้มาประทับรอยพระพุทธบาท ณ พระธาตุเชิงชุม แล้วจึงได้เสด็จกลับคืนมาประทับที่ ภูกูเวียน ทรงเปล่งรัศมีให้เข้าไปในเมืองนาคปู่เวียน ขณะ นั้น สุวรรณนาคราช ได้เห็นพระรัศมี จึงออก มาจากแม่น้ำขึ้นไปสู่บนยอดเขา แล้วพ่นพิษ ออกมาเป็นควัน เขาลูกนั้นก็มืดมัวไปทั้งสิ้น


ภาพปรากฏการณ์ลำแสงพุ่งสู่ท้องฟ้า ณ พระพุทธบาทบัวบก จ.อุดรธานี


พระพุทธองค์จึงทรงเนรมิตเป็นเปลวไฟ ทำให้สุวรรณนาคราชกระเด็นไปในน้ำปู่เวียน เปลวไฟได้ผุดแต่พื้นน้ำขึ้นมาไหม้เมืองนาค ตลอดไปถึงหนองบัวบาน ซึ่งเป็นที่อยู่ของ พุทโธปาปนาคราช นาคทั้งหลายมาล้อมภูกูเวียนนั้นไว้ แล้วพ่นเปลวไฟขึ้นไปหาพระพุทธองค์ แต่เปลวไฟนั้นก็พุ่งกลับคืนมาไหม้นาคทั้งหลาย แล้วกลับไปบังเกิดเป็นดอกบัวบูชาพระตถาคตเป็นที่อัศจรรย์ จากนั้นจึงทรงสั่งสอนหมู่ นาคเหล่านั้น ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ตลอดไป

และใน ตำนานพระพุทธบาทภูควายเงิน เล่าว่า สถานที่นี้เป็นที่อยู่ของ มลินทนาคราช ผู้เป็นน้องของ พุทโธปาปนาคราช คือหลังจากที่ ตนเองเลื่อมใสในพุทธศาสนาแล้ว จึงได้ขอให้ พระพุทธเจ้าไปโปรดน้องด้วย ต่อมามลินทนาค ราชได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว มีความปรารถนาจะ บวช แต่พระพุทธเจ้าตรัสห้ามไว้ แล้วได้ประทาน รอยพระพุทธบาทลงบนแผ่นหินภูเขาบัวบก มีบาลีว่า

“มลินทะนาคราชา ยะจิตโต โคตมะ พุทธเชษฐัง ปาทะวะรัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา”

ย้อนมา ตำนานอุรังคธาตุ ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า พญานาคเหล่านี้เป็นผู้รักษาเมืองพาน ต่อมาเมื่อ พระบารถ มายุ่งเกี่ยวกับ นางอุษา ซึ่งเป็นราชธิดาของเจ้าเมืองพาน พญานาคก็ช่วยเจ้าเมืองพานจับพระบารถมัดไว้ แต่พระกิดนารายณ์ก็มาช่วยไว้ได้ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกบริเวณตอนหนึ่งของเทือกเขานี้ว่า “เมืองพาน” มีโขดหินที่เรียกว่า “หอนางอุษา - คอกม้าพระ บารถ” ดังที่พวกเราบางคนได้เดินไปชมมาแล้ว และเรียกเขาภูพานลูกหนึ่งว่า “ภูกูเวียน”

ส่วนคำว่า “บัวบก” เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดตามป่า มีหัวและใบคล้ายใบบัว ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ผักหนอก” บัวบกนี้ คงจะมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท หรือคำว่า “บัวบก” อาจจะมาจากคำว่า “บ่บก” ซึ่งหมายถึง “ไม่แห้งแล้ง” ก็ได้

สำหรับมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ พระอาจารย์ศรีทัต ได้รื้อมณฑปเก่าเดิม ออก แล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ และยังสร้าง รอยพระพุทธบาทจำลองวางทับรอยพระพุทธ บาทเดิมไว้ภายใน องค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ วันขึ้น ๑๓ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ จะมีงานนมัสการพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี ในปัจจุบันนี้มี ท่านพระครูพุทธบทบริรักษ์ เป็นเจ้าอาวาส

ตามประวัติพระธาตุพนมเล่าต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระศาสดาประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ อุดรธานีแล้ว พระองค์ก็เสด็จขึ้นไปทางหลวงพระ บาง และเสด็จไปสู่ ดอยนันทกังรี ซึ่งเป็นที่อยู่ ของนางนันทยักษ์ แล้วจึงเสด็จกลับกรุงสาวัตถี

(ข้อความต่อไปนี้ ที่ผู้เขียนจะได้เล่าต่อไป เป็นเรื่องที่เล่าผิดพลาดไป เพราะหลังจากนั้นอีก ๗ วันต่อมา ผู้เขียนได้เดินทางไปที่ประเทศลาว จึงได้ทราบว่าเรื่องที่เล่าไว้ที่วัดพระบาทบัวบกในตอนนั้น เป็นเรื่องประวัติของ วัดพระธาตุจอมศรี (พระธาตุพูสี) ซึ่งอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง)




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 23/9/10 at 10:41 Reply With Quote


ยอดพระธาตุจอมศรี (พูสี) และทิวทัศน์ด้านล่างคือ เมืองหลวงพระบาง



ประวัติพระธาตุจอมศรี (พูสี)


...“ในหนังสือ

อุทยานประวัติศาสตร์อีสาน เรียกว่า ดอยผาม่อง มีพญานาคชื่อว่า อ้ายโต่งกว้าง หรือ “อ้ายโพงพางปากกว้าง” อยู่รักษา ณ ปากน้ำคาน ได้แลเห็นพระพุทธเจ้าก็เข้ามาถวายบังคม บนกลางดอยนั้นมีแอ่งน้ำหินอยู่แห่งหนึ่ง เป็นน้ำสะอาดมีรสจืด พระอานนท์ได้เอาที่กรอง น้ำไปตักน้ำ แล้วให้พญานาคถือมาถวายพระ พุทธเจ้า แอ่งน้ำแห่งนั้นจึงได้นามว่า “น้ำเที่ยง” ตั้งแต่นั้นมา

ในขณะนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสเล่าว่า พญานาคตนนี้ได้เคยเกี่ยวข้องกับพระตถาคต ในสมัยที่เสวยพระชาติเป็น พระยาขัทธนาม ครองเมืองจำปา หลังจากสวรรคตแล้ว พระโอรส อันมีนามว่า “ขัทธเนตร” ซึ่งเกิดแต่พระมเหสีนามว่า “พระนางสีไว” และ “ขัทธจันทร์” ซึ่งเกิดจากพระมเหสีนามว่า “พระนางสีดา” พระ โอรสทั้งสองได้ต่อสู้เพื่อแย่งชิงราชสมบัติจน สิ้นพระชนม์ไป แล้วได้มาเป็น “อ้ายโต่งกว้าง” นี้แหละ

ครั้นแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จขึ้นไปตามริมแม่น้ำโขงไปจนถึง เมืองชาทะบุรี ได้เสด็จรับบิณฑบาตจากชาวเมืองชาทะบุรีคนหนึ่ง แล้วเสวยภัตตาหารบนดอยแห่งหนึ่ง เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ทรงทอดพระเนตรไปมาและแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงทูลถามถึงเหตุนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์จึงตรัสเล่าความเป็นมาของเมืองนี้ว่า

“ในกาลก่อน..อานนท์! ในเมืองอุชเชนี ได้มีพระยานามว่า ปารุทธเสน มีพระมเหสี ๑๒ องค์ ซึ่งเป็นธิดาของเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองอินทปัตถ์ ซึ่งพ่อเศรษฐีนำเอาไปปล่อยในป่าลึก จนไป อยู่อาศัยด้วยนางยักษิณีมีชื่อว่า “กาเล” และได้หนีนางยักษ์ไปพบ วัวอสุภราช ช่วยเหลือให้พ้นจากนางยักษ์ จนได้มาเป็นมเหสีของปารุทธเสนราชา แต่เพราะกรรมเก่า จึงต้องถูกควักลูกตาออก

ในเรื่องวิบากกรรมของนางสิบสองที่ถูกบิดานำไปปล่อยในป่าลึกนั้น มีสาเหตุดังนี้

ในอดีตกาล นางสิบสองนี้เกิดในตระกูล หนึ่ง ตระกูลนั้นเขาเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่ง แต่เป็น สุนัขสันหลังยาวเกียจคร้าน เมื่อพ่อของนาง สิบสองจะออกไปป่าล่าสัตว์มาเป็นอาหารคราว ใด ก็จะเรียกสุนัขตัวนั้นตามไปด้วย แต่เพราะ ด้วยสันดานขี้เกียจของมัน พอพ้นบ้านก็หนีกลับ มาเรือนเสียทุกคราว จนลูกสาวทั้งสิบสองคน ทนไม่ไหว จึงบอกพ่อให้นำมันไปปล่อยไว้ในป่า

เมื่อพ่อนำไปปล่อยไว้ในป่าแห่งหนึ่งแล้ว ต่อมาสุนัขผู้น่าสงสารจึงต้องหลงทาง จนไปพบ หญิงชราที่ทำไร่อยู่ในป่า แล้วได้นำมันไปเลี้ยงไว้ อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าสุนัขก็ไปตะกุยเอากองขมิ้นของ ยายเสียป่นปี้ แต่แทนที่ยายจะโกรธ กลับรีบไป เก็บนำมาใส่ครกโขลกแล้วคั้นน้ำไว้ และไปนำ เอาผ้าจีวรมาย้อมด้วยน้ำขมิ้นนั้น แล้วได้นำไป ถวายพระภิกษุสามเณร

ฉะนั้น ด้วยผลที่สุนัขได้ขุดคุ้ยหัวขมิ้นให้ แก่หญิงชรา จนได้นำมาย้อมผ้าจีวร ครั้นตายไป จึงได้มาเกิดเป็นเศรษฐีในเมืองอินทปัตถ์ ส่วน นางสิบสองนั้น ก็ไปเกิดเป็นลูกเศรษฐีถูกนำไป ปล่อยในป่าลึก เพราะผลกรรมที่รบเร้าให้พ่อ นำสุนัขไปปล่อยนั่นเอง

ส่วนผลบุญที่นางได้เคยเกิดเป็นคนใจ บุญสุนทาน วันหนึ่งหลังจากฟังธรรม เดินมา ในระหว่างทาง ได้พบปลาหมอตัวหนึ่งติดปลัก อยู่ในแอ่งน้ำที่ขอดแห้ง นางจึงเกิดความสงสาร ได้ช่วยผลัดกันอมปลาตัวนั้นไปปล่อยที่แม่น้ำ ด้วยบุญกุศลอันนี้ เมื่อนางสิบสองหลงทางอยู่ในป่า วัวก็ช่วยให้รอดพ้นจากนางยักษิณี ที่ชื่อว่า “กาเล” ไว้ได้ และวัวตัวนั้นในอดีตหา ใช่ใครอื่น นอกจากปลาหมอติดปลักตัวนั้นเอง

ต่อมานางยักษ์ทราบข่าวว่า พวกนางสิบ สองได้เป็นมเหสีของท้าวปารุทธเสน จึงได้เนรมิต เป็นหญิงสาวสวยงามยิ่งนัก จนท้าวปารุทธเสน หลงรักนำมาเป็นมเหสี ด้วยความหลงเสน่ห์ ของนาง จึงทำให้นางสิบสองถูกควักนัยน์ตา ทั้งสองข้าง เว้นแต่ นางปทุมมา คนสุดท้องเท่านั้น ที่ถูกควักนัยน์ตาเพียงข้างเดียว

ทั้งนี้ ด้วยผลกรรมที่นางสิบสองเคยเกิด เป็นธิดาเศรษฐีในเมืองปัญจาละ ได้พากันไปงม ปลาในสระแห่งหนึ่ง ซึ่งน้ำกำลังแห้งขอด พี่ทั้ง ๑๑ คน เอาไม้แทงตาปลาทะลุทั้งสองข้าง ส่วน นางคนที่ ๑๒ เพียงแต่ร้อยตาปลาข้างเดียว เพราะบุพกรรมนั้น จึงมาถูกนางยักษ์ควักลูกตา เสียในคราครั้งนี้

ส่วนกรรมเก่าของนาง “กาเล” และ “เมรี” ต้องมาเป็นยักษิณีเล่าว่า ในชาติปางก่อนนางกาเล ได้เคยเป็นหญิงชรา วันหนึ่งพาเอาลูกสาวไปดาย หญ้าในบริเวณที่หวงห้ามทางศาสนา ได้ขุดเอาจิ้ง หรีดมาเผาไฟที่ดายหญ้านั้น เป็นการไม่เคารพ สถานที่ จึงได้มาเกิดเป็นยักษิณีทั้งแม่และลูก

เมื่อนางยักษ์ได้นำลูกตาไปฝากไว้แก่ลูกสาวชื่อ “เมรี” แล้ว นางสิบสองจึงถูกขังในถ้ำ ทั้งๆ ที่ตาบอด ต่อมานางปทุมมาได้คลอดบุตรชาย ชื่อว่า “รุทธเสน” ที่เราเรียกว่า “พระรถ” ผู้เป็นหน่อเนื้อพระโพธิสัตว์

ครั้นกุมารรุทธเสนเจริญวัยขึ้น จึงได้มา อาศัยกับพระราชบิดา แต่นางกาเลก็คิดจะฆ่า รุทธเสนให้ได้ จึงออกอุบายสั่งให้ไปหาลูกสาว ณ เมืองยักษ์ เพื่อว่าลูกของตัวจะได้จับกินเสีย แต่ด้วยบุพเพสันนิวาสที่เคยเป็นเนื้อคู่กันมานั้น พระรถกับนางเมรี จึงได้เป็นสามีภรรยากัน

อยู่มาไม่นานพระรุทธเสนก็ได้หีบลูกตา ของแม่และป้า พร้อมทั้งของวิเศษที่นางเมรีมอบ ให้ด้วยความรัก คือ “มะนาวศักดิ์สิทธิ์” เพื่อจะรักษาตาแม่และป้า จึงลอบหนีออกจากวังของนางเมรี ครั้นนางตื่นขึ้นไม่เห็นสามีก็ออกติด ตาม แต่ไม่ทันน้ำตาไหลออกมาเป็นสายเลือด ทั้งรักทั้งแค้น โศกเศร้าเสียใจ ร้องไห้จนอก แตกตายเพราะความอาลัย นอนเหนือแผ่นหิน แดนยักษ์ต่อแดนมนุษย์

ฝ่ายพระรุทธเสนกลับมาถึงเมืองอุชเชนีแล้ว นางกาเลรู้ว่ารุทธเสนไม่ได้ถูกลูกสาวของ ตนฆ่า ตามกลอุบายที่ตนวางไว้ จึงได้ทะยาน ไปด้วยความโกรธ หมายจะสังหารพระรุทธเสน พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้น จึงฟาดพระขรรค์ตัดขั้ว หัวใจตาย ณ ที่นั้นเอง พระปารุทธเสนราชบิดา ก็พ้นจากเสน่ห์ของนางยักษ์ จึงรับสั่งให้นำ นางสิบสองออกมาจากถ้ำ

ครั้นพระรุทธเสนรักษานัยน์ตาของแม่ และป้าด้วยมะนาววิเศษแล้ว จึงกลับไปเมืองยักษ์ พบว่า นางเมรีอกแตกตายแล้ว ด้วยความดีและ เห็นใจในความรักของนางที่มีต่อตน จึงร้องไห้ อาลัยจนสลบแล้วสลบอีก ในที่สุดก็อกแตกตาย นอนเอาหัวซุกซากนางเมรีด้วยความรักแท้

เรื่องบุพกรรมในตอนนี้เล่าว่า การที่พระ รุทธเสนปล่อยให้นางเมรีต้องร้องไห้ตามจนอก แตกตายนี้ เพราะกรรมเก่าของนางเมรีเอง ชาติ ต่อๆ มาพระรุทธเสนก็ได้เกิดเป็น พระสุธน (อีสานเรียก ท้าวศรีธน) ร้องไห้ตาม นางมโนราห์ ต้องประสบความลำบากแทบเลือดตากระเด็น จากเมืองเป้งจาน คือปัญจาละ จนถึงเมืองภูเงิน แดนหิมพานต์ กว่าจะได้ครองนางมโนราห์คืน ต้องตามอยู่นานถึง ๗ ปี

และกรรมของ นางยักษ์กาเล ที่ต้องถูก พระรุทธเสนสะบั้นขั้วหัวใจนั้นมีว่า

ในอดีตกาล นางยักษ์นี้เกิดเป็น “กวนบ้าน” ผู้หนึ่ง เข้าใจว่าเป็น “หมอตำแย” แม่ของพระรุทธเสนก็เป็นชาวบ้านนั้น กำลังตั้งครรภ์ อ่อนๆ อยู่ และนางนั้นก็มีทองคำอยู่ร้อยแท่ง หญิงหมอตำแยก็ไปขอซื้อทองคำนั้น แต่แม่ พระรุทธเสนไม่ขายบอกว่า เผื่อว่าลูกเกิดมา เป็นผู้ชายจะเก็บไว้ให้เป็นทุน เมื่อนางไม่ได้ ทองคำก็โกรธและอาฆาตในใจว่า ถ้าลูกมัน ออกมาเมื่อไร เราจะตัดสายรกให้ลูกมันตาย เสียแล้วทองคำจะต้องตกเป็นของเรา

ครั้นถึงกำหนดนางก็คลอดลูกออกมาเป็นชาย หมอตำแยได้มาทำคลอดและตัดสายรก เด็กแรกเกิดตรงจุดตาย และเด็กก็ต้องตายเพราะ เหตุนั้น ด้วยวิบากกรรมนั้น เด็กแรกเกิดที่ตาย จึงมาเป็นพระรุทธเสน ส่วนหญิงหมอตำแยมา เกิดเป็นนางยักษิณีกาเล จนถึงมาถูกพระรุทธเสน เอาพระขรรค์ตัดขั้วหัวใจตายไป ด้วยการใช้เวร กรรมที่เคยทำไว้นั้น

นี่แหละผลบุญและผลบาปย่อมติดตามสัตว์ทั้งหลายไม่มีหมด ดุจเงาตามตัวหรือล้อเกวียน หมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียน ที่เรียกว่า “กงกรรมกงเกวียน” ไปไม่รู้จบนั่นเอง องค์สมเด็จ พระทศพลตรัสต่ออีกว่า

“อานันทะ! ดูก่อน..อานนท์ ในอนาคต หญิงชาวเมืองชาทะบุรีนี้ จะเป็นคนมีมารยามาก รู้จักเอาอกเอาใจผู้ชายเก่ง มีเสน่ห์ยึดใจผู้ชายให้ เข้ามาอยู่ในอำนาจปกครอง เหมือนสามีเป็นทาส ชายของตน ย่อมนั่งอยู่เหนือดวงใจของผู้ชาย เกาะกุมความภักดีไว้ได้ เพราะว่าพระรุทธเสน ต้องร้องไห้จนอกแตกตาย ตามนางเมรีนี่เป็นเหตุ”

ครั้นตรัสทำนายดังนั้นแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วได้เสด็จโปรดบรรดาพุทธบริษัทต่อไป เทพยดาอารักษ์และพญานาคทั้งหลายได้ขอรอยพระพุทธบาทไว้ พระองค์ก็ประทับไว้ ณ ยอดดอยพระธาตุจอมศรี ตามพุทธประเพณี ของอดีตพระพุทธเจ้าแต่ก่อนมา...”

เป็นอันว่า ผู้เขียนได้เล่าเรื่องนี้จบลงแล้ว ภายหลังจึงได้ทราบว่า เป็นเรื่องประวัติของพระธาตุจอมศรี นอกจากจะมีพระธาตุเจดีย์แล้ว พระพุทธเจ้ายังได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้บนยอดเขานี้ ซึ่งมีอยู่ใจกลางเมืองหลวงพระบางอีกด้วย และในปัจจุบันนี้ นิยมเรียกกันว่า “พระธาตุพูสี”

มองจากพระพุทธบาทบัวบกจะเห็นแสงพุ่งสว่างขึ้นไป


...ด้วยเหตุนี้ มิน่าเล่า...ในขณะที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อบวงสรวง พวกเราก็ตั้งจิตอธิษ ฐานไปตามเสียงเทปของท่าน เมื่อแหงนหน้าขึ้นบนท้องฟ้า ในตอนที่เริ่มมืดแล้ว จะเห็นแสงสว่างที่ปรากฏขึ้นทางทิศตะวันออก ได้พุ่งกระจายขึ้นเต็มท้องฟ้า ลำแสงนั้นได้ส่องมาชนกับลำแสงอีกด้านหนึ่ง ที่พุ่งขึ้นมาจากทางด้านทิศตะวันตก โดยมาบรรจบอยู่บนท้องฟ้า เหนือพระเจดีย์ที่กำลังทำพิธีอยู่พอดี

...มีหลายคนที่ได้มาเล่าให้ฟังภายหลังบอกว่า แสงสว่างนั้นสวยงามมาก พร้อมกับได้ถ่ายรูปไว้ดังที่เห็นนี้ ภายหลังเมื่อกลับมาแล้ว โยมชอ (อัญชัน) และ โยมเชิญ (อัญเชิญ) ได้มาดูภาพนี้ ที่วิหารสมเด็จองค์ปฐม พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า

...เมื่อปี ๒๕๓๕ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ได้เดินทางไปที่อเมริกา มีคนมาเยี่ยมท่านมากมาย ในจำนวนนั้น ท่านได้ถามโยมผู้ชายคนหนึ่งว่า โยมมาจากไหน ตอบว่าผมเป็นคนลาวครับ อยู่ในประเทศลาวไม่ได้ จึงต้องอพยพมาอยู่ที่นี่ หลวงพ่อจึงได้พูดขึ้นว่า

“อีกหน่อย..ไทยกับลาวจะรวมกันนะ..”

เรื่องนี้ถือว่าเป็นที่ประหลาดใจมาก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่ทำพิธี ณ พระบาทบัวบกนั้น นับเป็นเรื่องอัศจรรย์มาก เพราะแสงที่พุ่งมาจากทางด้านทิศตะวันออกนั้น ถ้าดูตามแผนที่แล้ว จะเห็นว่าพุ่งมาจากทางด้าน ประเทศลาว แล้วมารวมกับแสงที่ขึ้นมาจากทาง ด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ในขณะที่พระอาทิตย์ตกดินแล้ว

เหตุการณ์ครั้งนี้ นอกจากจะบอกเหตุว่า ในอดีตพระเจ้าแผ่นดินของลาวก็เคยมีส่วนเกี่ยวข้องในเขตไทยแล้ว น่าจะเป็นความหมายดังที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อกล่าวไว้ ส่วนจะเป็น ความจริงหรือไม่เพียงใด ไว้คอยดูเหตุการณ์กัน ต่อไปในวันข้างหน้า

แต่ถ้าจะพิจารณาตามประวัติการสร้างแล้ว พระธาตุที่สำคัญทางด้านอีสาน ไม่ว่าจะเป็นพระ ธาตุพนมก็ดี พระธาตุบังพวนก็ดี หรือพระบาท บัวบกก็ตาม จะเป็นพระมหากษัตริย์ลาวมาสร้าง และบูรณะไว้เกือบทุกสมัย จึงสันนิษฐานได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว อาจจะเป็นมิตรที่ดียิ่งขึ้นต่อไปในวันข้างหน้า พร้อมทั้งทาง ด้านพระพุทธศาสนาคงจะได้เจริญรุ่งเรืองเป็น ปึกแผ่น คนไทยและคนลาวอาจจะมีศีลธรรม มากขึ้นกว่านี้

ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่มิได้คาดฝันมาก่อน แต่ทุกคนก็ได้เห็นเป็น ประจักษ์พยาน ท่ามกลางเหตุการณ์หลายร้อยคน ซึ่งผู้เขียนก็มิได้มีโอกาสได้เห็นตลอด เพียงแต่ มีผู้มาเล่าให้ฟังด้วยความปีติยินดี เพราะใน ขณะนั้น ผู้เขียนกำลังเล่าประวัติ จึงมิได้แหงน ขึ้นบนท้องฟ้าอีกเลย แต่ก็ดีใจแทนทุกคน ถ้า ผลไปตามที่คาดการณ์จริง ก็น่าจะถือเป็นนิมิต หมายที่ดี ซึ่งพวกเราอย่าเพิ่งเชื่อ หรือว่าอย่าเพิ่งค้าน ชั่งใจไว้รอดูเหตุการณ์กันต่อไป

ในตอนนี้ขอย้อนกล่าวถึงคำอธิษฐานในวันนั้นกันก่อน ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า.. “ต่อไปนี้ขอให้ทุกท่านตั้งจิตอธิษฐาน ขอ พระบารมีแห่งรอยพระพุทธบาทขององค์สมเด็จ พระบรมโลกนาถที่ได้สถิตอยู่ ณ ที่นี้ และสถาน ที่ทุกแห่งในเทือกเขาภูพานนี้ ท่านที่อารักขารอยพระพุทธบาท และพระบรมธาตุทั้งหลาย

ผู้ที่ปกปักรักษาบ้านเมือง ป่าเขา แม่น้ำ และอากาศ ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ตลอดถึงผู้ร่วมสร้างร่วมบูรณะทุกท่าน ขอได้โปรดเสด็จ มาเป็นสักขีพยาน ในการกระทำพิธีบวงสรวง เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่ประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดถึงประชาราษฎร์ที่ ทรงศีลทรงธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะอาณาเขต ภาคอีสานนี้ และผู้ที่มาร่วมพิธีในครั้งนี้ทั้งหมด

ครั้นจบคำอธิษฐานดังนี้แล้ว จึงเปิดเทปหลวงพ่อบวงสรวง แล้วจึงกล่าวคำถวายเครื่อง สักการะ พร้อมกับเวียนเทียนรอบองค์พระเจดีย์ ต่อจากนั้นพวกเราทั้งชายและหญิง ทั้งวัยอาวุโส และวัยรุ่น ต่างก็ช่วยกันร้องรำทำเพลง เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ท่ามกลางหยาดพิรุณที่โปรย ปรายลงมาเป็นเม็ดใหญ่ ๆ

ในยามค่ำคืนนี้ ทุกคนจึงมีความสุขด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ลืมความเหน็ดเหนื่อยไปสิ้น บาง คนแหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้าอีกครั้ง ก็จะเห็นดวงดาว ๕ ดวง ปรากฏขึ้นอยู่โดยรอบของยอดพระเจดีย์เป็นที่อัศจรรย์

หยาดน้ำทิพย์ได้ร่วงหล่นลงมาสู่พวกเรา ในขณะที่ฟ้อนรำอยู่รอบองค์พระเจดีย์นั้น พลันก็ค่อยๆ หายไป ในตอนนี้จึงได้กล่าวว่า จะขอจุดพลุเพื่อบูชาพระบาทแทน “บั้งไฟ” ของชาวอีสาน ตามประเพณีที่นิยมบูชา “พระยาแถน” พอพูดถึง ตอนนี้ ก็มีสายลมพัดกระหน่ำมาอย่างแรง จนฉัตรเงินฉัตรทองที่วางอยู่บนโต๊ะบายศรีล้มลงไป

สักครู่หนึ่ง ประมาณ ๒ - ๓ นาที ลมที่ พัดมาโดยมิคาดฝันก็พลันสงบลง ทุกคนจึงยกมือพนม นึกถึงอานุภาพแห่งความศักดิ์สิทธิ์ แล้วเสียงพลุเล็กๆ ก็ดังขึ้นสู่ท้องฟ้า มองเห็น แสงสีกระจายขึ้นรายรอบพระบรมธาตุเจดีย์

ต่อจากนี้ก็เป็นการทำบุญสร้าง พระพุทธรูปปางเปิดโลก ไว้ที่ วัดพระพุทธบาทบัวบก เป็น จำนวนเงิน ๗๐,๕๓๕ บาท และร่วมกันถวายเงิน แด่เจ้าอาวาส วัดพระพุทธบาทบัวบาน ซึ่งได้มาร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย เพื่อสร้างบันไดขึ้นรอยพระพุทธบาทบัวบาน จำนวนเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท





ประวัติท่านครูบาศรีทัต ญาณสัมปันโน

.....เมื่อตัวแทนถวายเงินแล้ว ท่านเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทบัวบกจึงได้เล่าประวัติของ ท่านครูบาศรีทัต ญาณสัมปันโน ให้ฟังว่า ท่านได้บรรพชามาตั้งแต่เป็นสามเณร เมื่ออุปสมบทแล้วจึงได้ไปศึกษา เปรียญกับพระสำคัญองค์หนึ่งในประเทศลาว มี นามว่า “สมเด็จลุน”

พอศึกษาได้เวลาอันสมควรแล้ว ท่านได้ออกธุดงค์ไปตามลำน้ำโขง พอมาถึง “ถ้ำนกยูง ทอง” จะเห็นแสงรุ้งพาดผ่านเข้ามาในนิมิตของท่านตลอด จนมาถึงบริเวณ “ภูกูเวียน” คือ “ภูพระบาทบัวบก” แห่งนี้

ท่านก็เลยปักกลดอยู่ที่ถ้ำพญานาค ตรงที่เรานั่งอยู่นี้เป็นเจดีย์เก่า มี กอไผ่ และมีเถาวัลย์ปกคลุมกันหนาแน่น ในขณะที่ท่านพักแรมอยู่หลายวัน เห็นสัตว์ป่าพวกลิงช้างทั้งหลายเข้ามาอาศัยอยู่ในพุ่มไม้แห่งนี้ เข้าๆ ออกๆ เป็นประจำ

ท่านอาจารย์ศรีทัตก็เลยเดินเข้ามาจากถ้ำพญานาคมาที่นี่ ก็รู้สึกว่ามันจะไกลพอสมควร ในสมัยที่มันเป็นป่าอยู่ ท่านเห็นสัตว์พวกนี้มัน กินดินกินโป่งที่เกิดขึ้นจากเจดีย์ร้าง แล้วท่านก็เห็นพระพุทธรูปที่คนโบราณได้สร้างเอาไว้ในเจดีย์ ส่วนพระเจดีย์ก็ทรุดโทรมพังลงมาเหลือเป็นผงอิฐผงดินปลวกผสมกัน

ท่านก็เห็นว่าพระพุทธรูปมากมายปานนี้ มีคนมาสร้างไว้ตรงนี้ คงจะมีอะไรดี ๆ หลายอย่าง จึงเก็บพระพุทธรูปเอาไว้ตามต้นไม้ตามกอไผ่ เสร็จแล้วท่านก็กลับไปที่ ภูเขาควาย เวียงจันทน์ เล่าเรื่องนี้ให้อาจารย์สมเด็จลุนฟัง

ท่านสมเด็จลุนก็ตกใจว่า มีเจดีย์ร้างอยู่ กลางภูเขา ทำให้พระพุทธรูปทั้งหลายที่ชาวพุทธ มีความเคารพนับถือหล่นออกมาไม่เป็นทิศเป็นทาง ท่านก็เลยปรารภว่าพามาดูหน่อย ท่านก็พามาดู พร้อมกับเจ้านครเวียงจันทร์คนหนึ่ง ชื่อว่า “เจ้าเพชรศราช”

เมื่อได้รื้อซากพระเจดีย์ ก็ได้พบตลับซึ่งทำด้วยทองคำ เป็นลักษณะสี่เหลี่ยมอยู่ด้านใน และพบกระดูก ๑๖ ชิ้นในลูกนิมิต ต่างก็ลงความเห็นว่า คงจะเป็นกระดูกของพระราชา หรืออาจจะเป็นของพระอรหันต์ เพราะมีลักษณะสีเหลือง คล้ายหญ้าคาแห้ง ๆ ที่เป็นปล้อง ๆ อยู่ ๑๖ ชิ้น

ต่อมาสมเด็จลุนท่านก็มานั่งเจริญภาวนา เห็นเป็นช้างเผือกมานอนขวางพระอาทิตย์อยู่ ซึ่งมีความหมายว่าเป็น “พระบรมสารีริกธาตุ” ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ที่มาด้วยกันพร้อมกับญาติ โยมของราชวงศ์ประเทศลาวเกิดความเลื่อมใส เลยชักชวนผู้มีศรัทธาทั้งสองฝั่งโขง “ไทย - ลาว” มาช่วยกันก่อสร้างเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสารี ริกธาตุไว้ ซึ่งใช้เวลา ๓ ปี จึงแล้วเสร็จ

ส่วนเรื่อง “พระพุทธรูปางเปิดโลก” นั้น สร้างองค์ใหญ่หมดเงินไป ๒ ล้านกว่าบาท แต่ยังไม่แล้วเสร็จ “เปิดโลก” ก็หมายถึงเปิด พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ขอขอบ พระคุณอย่างยิ่งที่ได้มาเยี่ยมเยียนในครั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายถึงวัตถุปัจจัยอะไรทั้งนั้น หมายถึง เรามีศรัทธาแก่กันและกัน ซึ่งเราก็คือชาวพุทธ ที่แท้จริง และก็ช่วยเหลือกันตามฐานานุรูป

โอกาสนี้ หากด้วยจิตบารมีบุญกุศลที่โยม ได้ทำมาแล้ว ครูบาอาจารย์ได้ทำมาแล้วตั้งแต่อดีต ขอบุญกุศลนั้น จงเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นปัจจัย เป็นนิสัย ตามส่งให้ญาติโยมทั้งหลาย จงเป็นผู้ร่ำ รวยตลอด ปลอดภัยตลอด โชคดีตลอด ปราศจาก โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอให้รวยๆ ตลอดทุกถ้วนหน้ากันตลอดไปเทอญ

ในขณะที่ทุกคนนั่งฟังท่านเล่าอยู่ในนั้น จำได้ว่าจะมีฝนโปรยปรายลงมาเป็นละออง ซึ่ง ต่างกับตอนแรกขณะที่กำลังทำพิธีบวงสรวง ฝน ตกลงเป็นเม็ดใหญ่ แต่ในตอนท้ายกลับตกลง เป็นฝอย สักชั่วครู่หนึ่งก็หายไป จึงนับว่าเป็น สิริมงคลอย่างยิ่ง และเป็นสักขีพยานในการกระทำพิธีครั้งนี้

ทั้งนี้ พวกเรามีความเคารพในพุทธสถาน การทำพิธีก็มีความจริงใจ มิได้หวังผลว่าจะมี สิ่งใดเกิดขึ้น สักการบูชาด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมิได้นำมาเล่าเพื่อโอ้อวด หรือติดพันพอใจ ในเรื่องของปาฏิหาริย์ แต่ความจริงก็คือความ จริง ทั้งๆ ที่ควรคุยเป็นการส่วนตัว มิใช่เป็น สาธารณะทั่วไป แต่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ หวังจะ ให้ผู้อ่านรับทราบถึงเหตุการณ์ที่เป็นจริงว่า นี่ เป็นประสบการณ์จากมุมหนึ่งของพิธีกรรม ที่ กระทำเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และความ มั่นคงของประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และ พระมหากษัตริย์ ตลอดถึงปวงชนชาวไทย

หลังจากนั้น พวกเราก็เข้าพักผ่อนหลับ นอนกัน มีบางคนก็นั่งคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตามความหมายของแสงสว่างที่พุ่งมาบรรจบกัน น่าจะเป็นความเกี่ยวข้องระหว่างไทยกับลาว ซึ่ง หลังจากรับฟังเรื่องราวจากเจ้าอาวาสแล้วก็ชัดเจน ยิ่งขึ้น แต่ก็ทำให้คิดว่า จะเป็นเรื่องในอดีต หรือจะ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคต ต้องติดตามกันต่อไป

ถึงอย่างไรก็ตาม หลังจากเสร็จพิธีแล้ว ผู้เขียนกลับมานอนฟัง พระวันชัย เล่าถึงเหตุการณ์บนท้องฟ้า ซึ่งเราเองไม่มีโอกาสได้เห็นโดยตลอด ฟังเพลินจนหลับไปด้วยความอ่อน เพลีย แต่ก็พอจำได้บ้างว่า ขณะทำพิธีในครั้งนี้ มีอานุภาพทั้งลมฝนและแสงสีตระการตา ซึ่งได้เกิดปรากฏเกือบทุกแห่งที่เดินทางไปทางภาคอีสานคราวนี้ ส่วนคนที่ยังไม่หลับไม่นอน ยังมีภาระหน้าที่ คงจะเป็นพวกทำบายศรีอีกเช่นเคย ซึ่ง ยังคงนั่งทำกันต่อไป เพื่อจะได้เตรียมไว้ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันที่สามอันเป็นวันสุดท้ายของการเดินทาง







ตำนานพระพุทธบาทภูควายเงิน อ.เชียงคาน จ.เลย

ตามประวัติที่วัดจัดพิมพ์นี้ จะขอนำมาเล่าโดยย่อว่า สมัยนั้นมีพรานป่าคนหนึ่ง ได้ขึ้น ไปยอดเขา เพื่อไปล่าสัตว์มาเป็นอาหาร ได้พบ องค์สมเด็จพระพิชิตมารกำลังประทับอยู่ จึงรู้สึกแปลกใจเพราะไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า ซึ่งมีรัศมี เปล่งปลั่ง ดังนี้ พรานจึงเอาธนูซ่อนไว้ที่ต้นไม้ แล้วจึงเดินเข้าไปหาพระพุทธองค์

สมเด็จพระผู้มีพระเจ้าจึงตรัสถามว่า ท่าน มาจากไหน พรานนั้นตอบว่า ดูก่อนมนุษย์ผู้มี หลายสี บ้านเกิดของข้าอยู่ที่ บ้านอุบมุง มีพี่น้อง ด้วยกัน ๒ คน แล้วท่านล่ะมาจากไหน สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า เรามาจากรุงสาวัตถี พรานจึงถามต่อไปว่า กรุงสาวัตถีไกลประมาณเท่าใด ต้องใช้เวลาเดินทางมาถึงที่นี้กี่วัน องค์สมเด็จพระภควันต์จึงได้ตรัสตอบว่า เรามาจากกรุงสาวัตถีชั่วพริบตาเดียวเท่านั้น

นายพรานได้ยินเช่นนั้น จึงคิดว่าถ้าเราได้ผู้นี้มาร่วมล่าสัตว์ด้วย ก็คงจะช่วยไล่ล่าสัตว์ได้มากมาย จึงออกอุบายชักชวนว่า ถ้าอย่างนั้นขอ ท่านผู้มีหลายสีไปเป็นเพื่อนข้าด้วย เพราะฝีมือ การยิงธนูของข้าแม่นมาก แต่บางทีถูกสัตว์แล้ว ไม่ตายทันที กลับวิ่งหนีไป ถ้าได้ท่านผู้มีหลายสี เป็นเพื่อนด้วย คงจะช่วยให้วิ่งตามทันแน่ และพวก เราจะต้องรวยกันแน่ เพราะสัตว์บนเขานี้มีเยอะ

พระพุทธองค์ได้ทรงสดับดังนั้น จึงทรงแย้มพระโอษฐ์พร้อมกับตรัสว่า

“ดูก่อน..นายพราน เราจะไปเป็นพราน เหมือนเธอไม่ได้อีกแล้ว คือเราผู้มีหลายสีนี้ เป็น แต่ผู้โปรดสัตว์เท่านั้น เราเป็นครูของสัตว์โลกนี้ แล้ว เราเป็นพระศาสดาเอกในโลกแล้ว พราน อยากจะฟังพระสัทธรรมไหมล่ะ..?”

พรานบอกว่าอยากจะฟัง พระพุทธเจ้า จึงบอกให้นั่งลงและประนมมือทั้งสองขึ้น พราน นั้นก็กระทำตามทุกประการ แล้วองค์สมเด็จ พระพิชิตมารจึงได้พรรณนาคุณของศีล สมาธิ และปัญญา จนในที่สุดพรานคนนั้นก็ได้ดวงตา เห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล ต่อมาก็ได้บรรลุ เป็นพระอรหันต์ในที่สุด จึงทูลอาราธนาพระ พุทธองค์ไปทรงโปรดญาติพี่น้องที่บ้านอุบมุง

พระองค์ทรงรับคำอาราธนาแล้วเสด็จจาก ดอยจารี เที่ยวบิณฑบาตโปรดสัตว์จนถึงบ้าน อุบมุง ซึ่งเป็นหมู่บ้านเชิงเขาภูควายเงิน สมัยนั้น ชาวบ้านภูควายเงินไม่มีผู้ใดรู้จักพระ พุทธเจ้าเลย จึงไม่มีใครใส่บาตรให้เลย พระองค์จึงเสด็จ ออกพ้นหมู่บ้านไปถึงทุ่งนาแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชาว นาสองผัวเมียทำนาอยู่

เมื่อคนทั้งสองมองเห็นพระพุทธเจ้าเดินมา สองผัวเมียจึงปรึกษากันว่า คนผู้นี้แปลกหน้ามา จากถิ่นอื่น และตอนนี้ก็สายแล้ว คงจะหิวโหย เป็นแน่แท้ ควรที่เราจะเอื้อเฟื้อให้ทานอาหาร สักมื้อหนึ่ง คิดดังนี้แล้ว จึงจัดทำอาหารมาถวายพระ พุทธเจ้า และหลังจากฉันภัตตาหารแล้ว สมเด็จ พระประทีปแก้วจึงได้ทราบว่า พรานป่าเป็นน้อง ชายของชาวนาผู้นี้ พร้อมกับขอให้พระพุทธเจ้า นำมาหาด้วย พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“อันน้องชายของโยม คือชีวะพินพราน นั้น คงจะกลับมาอีกไม่ได้ เพราะเขาได้หลุด พ้นจากบ่วงมารแล้ว”

สองผัวเมียไม่เข้าใจความหมาย คิดว่า น้องชายของตนคงจะไม่มีชีวิตอยู่ อาจจะเป็น เหยื่อของสัตว์ร้าย หรือไม่ก็ตกเป็นเหยื่อของนาง ยักษิณีไปแล้ว เพราะนางยักษ์ตนนี้ พอถึงวัน ๘ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ มันก็แปลงตัวเป็นสาวสวยออก มาหลอกเอาชายหนุ่มไปกินอยู่เสมอ ยิ่งคิดก็ ยิ่งกลัวว่าพระพุทธองค์เป็นนางยักษ์แปลงมา

สองผัวเมียก็ค่อย ๆ กระซิบกระซาบ แล้ว ก็รีบวิ่งหนีออกมาทันที แต่ด้วยอำนาจพุทธานุ ภาพ ก็ไม่สามารถจะหนีพ้นไปได้ วิ่งเสียจน เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ด้วยพระองค์ทรงเล็งเห็น ด้วยญาณว่า ถ้าไม่ทรมานอย่างนี้ สองผัวเมียคง ไม่เลื่อมใสในพระสัทธรรมเป็นแน่

เมื่อเห็นว่าสองผัวเมียคุกเข่าประนมมือ ขึ้นแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงทรงเปล่ง ฉัพพรรณรังสีรัศมี ๖ ประการ พวยพุ่งออกจาก พระวรกายคล้ายพระอาทิตย์ทรงกลด พร้อมกับ บันดาลให้สองผัวเมียได้หูทิพย์ตาทิพย์ คือได้ยิน เสียงต่างๆ จากทิศทั้ง ๔ ไม่ว่าเสียงร้ายเสียงดี และได้เห็นภาพนรกซึ่งมีความทุกข์ยากลำบาก และสวรรค์ซึ่งมีความสุขสนุกบันเทิงยิ่งนัก

สองผัวเมียซึ่งเป็นคนเชื่อใครยากก็เริ่ม สนใจ จึงก้มกราบลงที่พระบาทแล้วขอให้แสดง ธรรมแก่ตนบ้าง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมีพระพุทธฎีกาว่า ก่อนที่เราจะแสดงธรรมให้ พวกท่านฟัง จงสมาทานศีล ๕ เสียก่อน แล้วพระพุทธองค์จึงตรัสเหตุและผล ที่จะส่งผลให้ไปสวรรค์หรือนรก ชาวนาสอง ผัวเมียก็มีความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา ใน ที่สุดก็บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคล ในพระพุทธศาสนา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัส ถามเหตุที่วิ่งหนี จึงทรงทราบจากสองผัวเมียนี้ว่า หมู่บ้านนี้มีนางยักษิณี พระพุทธองค์จึงให้เทวดา ผู้มีมเหสักขาอยู่ที่ภูควายเงินนี้ ไปนำเอาชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ในแถบนี้

ครั้นเทพบุตรผู้ที่ได้รับพระพุทธบัญชาแล้ว ก็แปลงกายไปเป็นมนุษย์ประกาศว่า ตอนนี้ใกล้ จะถึงวัน ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ แล้ว ใครกลัวนางยักษิณีบ้าง ชาวบ้านทุกคนต่างก็ตอบว่ากลัว เทวดา จึงพูดต่อไปว่า ถ้าใครกลัวก็ให้เอาธูปเทียน ดอกไม้ เราผู้เป็นเทวดาจะพาไปหาครูของเรา เดี๋ยวนี้ พระ พุทธเจ้าได้มาโปรดเราแล้ว

เมื่อชาวบ้านมากันครบแล้ว พระองค์จึง ให้สมาทานศีล ๕ แล้วประทานพระธรรมเทศนา จนได้มรรคได้ผลเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นตาม วาสนาบารมี ในขณะนั้น พระพุทธเจ้าจึงเตือน ให้ผู้ที่ฟังธรรมนั้นทราบว่า นางยักษ์กำลังจะมา ถึงที่นี้แล้ว อย่าได้ตกอกตกใจไปเลย เราจะทรมาน นางยักษิณีเสียก่อน แล้วจะแสดงธรรมให้มันฟัง

ฝ่ายนางยักษ์ก็ได้ยินเสียงที่พระพุทธองค์ แสดงธรรม จึงรู้ว่าเป็นเสียงคนแน่ๆ หวังจะไป จับกินให้สิ้นซาก คิดดังนี้แล้วก็มาถึงที่ฟังธรรม แต่เกิดอ่อนเพลียไปทั้งตัว เหมือนกระดูกจะหัก หมด นางจึงร้องคำรามดิ้นรนอยู่บนพื้นดิน ยอม จำนนแต่โดยดี พร้อมกับขอบวชชีกับพระองค์ พระพุทธเจ้าจึงให้นางถือศีล ๘ และทรงเห็นว่า นางชอบเครื่องสีเขียว ผิวพรรณก็เป็นสีเขียว จึง ตั้งชื่อให้ว่า “นางเขียวค้อม” แล้วจะเสด็จกลับ กรุงสาวัตถี แต่ชาวบ้านทั้งหลายได้วิงวอนขอ สิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เป็นที่สักการบูชา

องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า

“เมื่อเราตถาคตได้เหยียบรอยไว้แล้ว ให้ ท่านทั้งหลายจงบอกกันต่อ ๆ ไปด้วยว่า ผู้ใดมี ศรัทธาได้สร้างพระเจดีย์ครอบพระบาทไว้ คน ผู้นั้นตายจากชาตินั้นแล้ว จะได้ไปเกิดในสวรรค์ มีวิมานทองเป็นที่อยู่ และมีนางฟ้าเป็นบริวาร

บุคคลใดได้เอาแผ่นทองมาปิดให้เป็นที่สวยงาม บุคคลนั้นจะได้ไปเกิดบนสวรรค์ มี ผิวพรรณวรรณะเปล่งปลั่งดั่งดวงจันทร์ ใครเห็น ใครก็รัก ใครเห็นใครก็อยากทัศนา

บุคคลใดชักชวนผู้อื่นมานมัสการรอย พระพุทธบาทของเรานี้ บุคคลนั้นจะได้ไปเกิด บนสวรรค์ มีความสุขกายสุขใจ จะไปทางไหน มาไหน พอแค่นึกก็ถึงจุดหมาย และนึกอยาก ได้อะไร ก็เกิดขึ้น ณ ปรางค์ปราสาททันที

บุคคลใดเอาข้าวน้ำโภชนาหารมาถวาย บุคคลนั้นจะได้ไปสวรรค์ จะมีกำลังกายแข็งแรง เปรียบเหมือนพญาช้างสารของท้าวเวสสุวรรณ สำหรับต่อสู้ศัตรูให้พ่ายแพ้ไปฉะนั้น...”

......ครั้นตรัสดังนี้แล้วองค์สมเด็จพระภควันต์ จึงประทับรอยพระบาทไว้ ณ เชิงเขาภูควายเงินนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พระองค์เคยเสวยพระชาติเป็น พญามหิงสาโพธิสัตว์ ที่ได้อาศัยอยู่ ณ ที่นี้

ฝ่ายสองผัวเมียกลับมาถึงกระท่อมของตนเพื่อจะพักผ่อน จึงพากันล้มนอนลงชั่วขณะ หนึ่ง พอตื่นขึ้นมาก็แปลกใจ เพราะก้อนดินที่ ไถอยู่กลางทุ่งนานั้น แลดูกลายเป็นทองคำไป หมด สองคนผัวเมียจึงพากันขนเอาไปไว้ที่บ้าน

ผลที่สุดก็กลายเป็นเศรษฐีพ่อนา ด้วย อานิสงส์ที่ได้ถวายทานแด่พระพุทธองค์เป็นคน แรก ได้ฟังธรรมเป็นคนแรก กุศลเหล่านั้นจึง สนองผลให้เป็นเศรษฐีในชาติปัจจุบันนี้ จึงหวัง ว่าผลบุญที่พวกเราได้กระทำนี้ ขอจงบังเกิดมีเช่น เดียวกับท่านทั้งหลายในอดีตทุกประการเทอญ..”

นี้คือสรุปคำเล่าประวัติในวันนั้น ณ วัด พระพุทธบาทภูควายเงิน อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่ง ตรงกับวันที่สามของการเดินทาง คือ วันอาทิตย์ ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ และเป็นจุดแรกของ การเดินทางในวันนั้น โดยการออกมาจากวัดพระ พุทธบาทบัวบก หลังจากทานข้าวต้มในตอนเช้า แล้ว พร้อมกับนำอาหารกล่องไว้สำหรับมื้อกลาง วันบนรถด้วย เมื่อมาถึงซึ่งเป็นถนนขึ้นบนยอดเขา จึง จัดเตรียมบายศรี แล้วได้เล่าประวัติตามที่กล่าว ไปแล้วนั้น พร้อมกับเริ่มพิธีบวงสรวงทันที โดย ผู้เขียนได้กล่าวอีกว่า...

“ต่อไปนี้ขอให้ทุกท่านตั้งจิตอธิษฐาน หวัง ประสานบุญบารมี ด้วยอำนาจพระพุทธคุณ พระ ธรรมคุณ พระสังฆคุณ ผู้อุปการคุณทั้งหลาย อัน มีครูบาอาจารย์ เทพพรหมทั้งหมด ที่รักษาอาณา เขตนี้ และที่ทุกสถาน ขอได้โปรดคุ้มครองป้อง กันภัย ผู้ที่อยู่ในศีลธรรมทั้งหลาย ให้ปลอดภัย จากความทุกข์ยาก พืชสวนไร่นาอย่าได้เสียหาย ค้าขายให้ได้ผลดี

ขอให้พ้นจากภัยธรรมชาติ ภัยจากผู้คิด ร้ายต่อประเทศ เพื่อประเทศชาติได้ทรงเป็น เอกราชตลอดไป เป็นการรักษาพระพุทธศาสนา ให้ครบถ้วน ๕ พันปี ขอให้พวกเราทุกคนได้ ประสบแต่สันติสุข มีชัยชนะในที่ทุกสถาน ผล ที่สุดสามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เพื่อ เสวยผลอันเป็นอมตมหานฤพานนี้เทอญ”

ในขณะที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อทำพิธีบวงสรวงนั้น พวกเราก็ตั้งจิตไปตามกระแสเสียง เพื่อขอให้ช่วยประเทศชายแดนติดกับลาวนี้ จงมี ความปลอดภัยตลอดไป เป็นการทำพิธีจรดแนว ชายแดนที่ติดต่อกับน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และ สุโขทัย ที่ได้กระทำต่อจากการทำพิธีเมื่อคราว ที่แล้ว

และถือเป็นการครบถ้วนจากภาคอีสานเมื่อปี ๒๕๓๘ ที่เลาะเขตแดนมาตั้งแต่ภาคอีสาน ตอนล่าง คือศรีสะเกษ และภาคอีสานตอนบน คือ นครพนม และสกลนคร ซึ่งต้องใช้เวลานานหลาย ปีทีเดียว จึงจะมาสมทบกันทุกขอบเขตของประ เทศไทย แต่ก็ยังไม่ครบจริง เพราะยังมีการเดิน ทางอีกครั้งในเดือนตุลาคม ๒๕๔๑ ซึ่งจะเล่าใน ฉบับหน้าต่อไป คือเรื่อง... ภาคอีสาน ครั้งที่ ๓

ก่อนที่จะเดินทางกลับ พวกเราจึงได้ร่วม กันทำบุญสร้างทางขึ้นเขา ซึ่งได้เทปูนซิเมนต์ ค้างไว้เพียงครึ่งทางเท่านั้น ส่วนที่เหลือพวกเรา จึงได้ถวายเงินเป็นค่าทำถนนให้สำเร็จไปเลย เป็นเงิน ๓๒,๕๖๙ บาท แล้วจึงเดินทางต่อไป ระหว่างล่องลงมาผ่านจังหวัดเลย จึงได้แจ้งให้ ทุกคนทานอาหารกลางวันบนรถ เพื่อเป็นการ ประหยัดเวลา พร้อมกับฝึกฝนธุดงค์ไปด้วยเลย

จนกระทั่งมาถึง พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย ในเวลาบ่าย พอไปถึงเดินขึ้น ไปบนลานพระธาตุรู้สึกร้อนจนขนลุก แต่ก็ให้ จัดโต๊ะบายศรีไว้ด้านหน้าองค์พระธาตุ ต่อมา ท้องฟ้าก็เริ่มมืดครึ้มร่มเย็นพอที่จะกระทำพิธีได้ โดยไม่มีแสงแดดมาแผดเผาเหมือนกับตอนแรก ที่เพิ่งมาถึง

แต่ก่อนที่จะเล่าประวัติพระธาตุศรีสองรัก จะขอเล่าความในใจสักเล็กน้อยว่า เดิมไม่แน่ใจว่า จะแวะสถานที่นี้หรือไม่ เพราะทราบว่า ใครจะมา ที่นี่ เขาห้ามใส่เสื้อผ้าสีแดง หรือบูชาด้วยดอกไม้ สีแดง ผู้เขียนจึงคิดจะตัดรายการนี้ออกไป แต่ก็ คิดในใจว่า สถานที่นี้เป็นที่สำคัญเกี่ยวกับประเทศ ชาติ เพราะเป็นที่กษัตริย์ทรงสร้างร่วมกัน เพื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว สมควรที่เรา จะแวะทำพิธีบวงสรวงเหมือนกัน

ฉะนั้น ก่อนจะเดินทางไปจึงคิดในใจว่า ถ้าสมควรจะไปยังสถานที่นี้ ขอให้ผู้ทำบายศรี อย่าประดับดอกไม้ด้วยสีแดง จะเป็นสีอะไรก็ได้ ถ้าเป็นสีชมพูได้ยิ่งดี เมื่อ คณะอู่วารี ทำบายศรี แล้วจึงขอดูก่อนที่จะไป ปรากฏว่าเป็นสีชมพู ตามที่ตั้งใจไว้




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 23/9/10 at 10:46 Reply With Quote




ประวัติพระธาตุศรีสองรัก


...องค์พระธาตุศรีสองรักนี้ เป็นโบราณ สถานที่สำคัญของชาวด่านซ้าย จ.เลย และเป็น จุดศูนย์รวมน้ำใจของชาวไทยและชาวเวียงจันทน์ มาในอดีต โดยการนำของพระมหากษัตริยาธิ ราชเจ้าทั้งสองกรุงศรี คือ กรุงศรีอยุธยา และ กรุงศรีสัตนาคนหุต

โดยทั้งสองพระองค์ได้ทรงตัดสินพระทัย เลือกเอาสถานที่นี้ เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ ไมตรีกัน ด้วยการสร้างพระธาตุศรีสองรัก ไว้ เป็นสักขีพยานของความผูกพันในอนาคต แล้ว ได้ดำรงคงอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ควรที่พวก เราจะได้ทราบประวัติตามตำนานที่วัดจัดพิมพ์ไว้ โดยย่อดังนี้

ในรัชสมัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ครองกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ทรงทำศึกสงครามกับพม่าหลายครั้ง สมัยนั้น พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหา จักรพรรดิได้ยกกองทัพออกต่อสู้ เมื่อจะพลาด ท่าเสียทีข้าศึก พระนางศรีสุริโยทัย ได้ทรงไส ช้างเข้าป้องกันพระราชสวามี จึงถูกอาวุธของ พระเจ้าแปรแม่ทัพหน้าสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

สมัยต่อมา พระเจ้าบุเรงนอง ได้เป็น พระเจ้าแผ่นดินแทน ทางพม่ามีความเข้มแข็ง ยิ่งขึ้น จึงยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก โดยหาอุบาย ขอช้างเผือกจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ฝ่าย ไทยไม่ยอมให้จึงได้เกิดศึกติดพันกันมาหลาย คราว นอกจากนั้น พม่าได้ยกกองทัพไปตีกรุง ศรีสัตนาคนหุต คือเวียงจันทน์อีกด้วย

ในสมัยนั้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เป็น พระเจ้าแผ่นดินครองอาณาจักรล้านช้าง เมื่อ เห็นฝ่ายพม่ามีกำลังเข้มแข็งยิ่งนัก ยากที่จะต่อสู้ ป้องกันภัยให้มีชัยชนะได้ จึงทรงมีพระราช ประสงค์จะได้เป็นพันธมิตร เพื่อร่วมกันทำศึก สงครามกับพม่า ทั้งสองพระนครจึงได้ทำสัญญา เจริญพระราชไมตรีกันขึ้น และได้ร่วมกันสร้าง พระเจดีย์องค์หนึ่งขึ้นที่เมืองด่านซ้าย ณ กึ่งกลาง ระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำน่าน ตรงเนินที่เรียก กันว่า “โคกไม้ติดกัน”

โดยเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๐๓ ตรงกับ ปีวอก แล้วเสร็จเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๑๐๖ แล้วจึง ทำพิธีฉลองสมโภชเมื่อวันพฤหัสขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๖ เพื่อเป็นประจักษ์พยานแห่งการ รำลึกถึงสัญญาทางพระราชไมตรีต่อกันอย่างหนึ่ง และเพื่อเป็นอนุสาวรีย์ชัยมงคลระหว่างเขตแดน ของอาณาจักรทั้งสองคือ “อาณาจักรศรีอยุธยา” และ “อาณาจักรล้านช้าง”

เป็นการร่วมพระทัยด้วยสัมพันธมิตรของ สองกษัตริย์ และเพื่อพระราชวงศ์ทั้งสองจะได้ เป็นทองแผ่นเดียวกัน พระเจดีย์องค์นี้ได้ถูก สร้างขึ้นจากความรักของคนที่อยู่ต่างแดน โดยมี พระเจดีย์นี้เป็นอนุสรณ์แห่งความรักไว้ในระหว่าง เขตแดนกัน เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า “พระธาตุศรีสองรัก”

ผลของการทำสัมพันธไมตรีครั้งนั้น นอก จากร่วมรบกับพม่าแล้ว พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ยังได้มีพระราชสาส์นมาสู่ขอ พระเทพกษัตรีย์ พระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่ง เกิดแต่พระนางศรีสุริโยทัยไปเป็นพระมเหสีด้วย เพราะพระมเหสีเดิมถูกกองทัพพม่ากวาดต้อนไป ในคราวเสียกรุงศรีสัตนาคนหุตแก่พม่า

ฉะนั้น เพื่อเห็นแก่พระราชไมตรี พระเจ้า ช้างเผือกก็ยินดียกให้ แต่เป็นที่น่าเศร้าเสียใจ เป็นอย่างยิ่ง ขณะพระเทพกษัตรีย์เดินทางไปยัง กรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ถูกกองทัพพม่าดักเข้า แย่งชิง และกวาดต้อนไปกรุงหงสาวดีเสียก่อน

จึงเป็นอันว่า สถานที่นี้มีความสำคัญ ระหว่างประเทศเขตแดน เพราะเป็นสถานที่ที่ สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีทั้งสองทรงร่วมกันหลั่งน้ำ พิพัฒน์สัตยาบันลงเหนือพื้นปฐพี โดยมีสมเด็จ พระสังฆราชของทั้งสองแผ่นดินร่วมกันเป็นสักขี พยาน เพื่อเป็นมิตรไมตรีตลอดพุทธันดร

ตามประวัติที่ทราบทั้งสองพระองค์ ก็ทรง เป็นหน่อเนื้อพระบรมโพธิสัตว์เช่นกัน พระธาตุศรีสองรักองค์นี้ จึงเป็นพระเจดีย์ที่กษัตริย์ทรง สร้างโดยเฉพาะ แต่เสียดายที่มิได้จารึกพิธีบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุไว้ ถึงอย่างไรก็ตาม ชาว ด่านซ้ายก็ยังได้อนุรักษ์พุทธสถานนี้ และรักษา โบราณราชประเพณี ตามพระราชพิธีสืบต่อกันมา

การสร้างพระธาตุศรีสองรักขึ้น นับเป็น สักขีพยานในความรักใคร่สามัคคีของชนชาติไทย ทั้งในดินแดนอาณาจักรสยาม และอาณาจักรล้าน ช้าง มาตั้งแต่โบราณกาลเป็นอย่างดี จนถึงบัดนี้ นับได้ ๔๐๐ ปีเศษแล้ว ควรที่พวกเราผู้เกิดมา ภายหลัง จะได้มาร่วมกันทำพิธีฉลองสมโภช เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เขตแดนแห่งนี้ ซึ่งเป็น สมบัติของพ่ออีกแห่งหนึ่งที่ได้ทรงมาเสวยพระชาติ เป็นพระมหาจักรพรรดิ

ต่อไปนี้จึงขอให้ทุกท่านน้อมจิตใจ ขอ อาราธนาบารมีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย มีท่านผู้ อารักขาเขตแดนนี้ คือเจ้าผู้ครองทั้งสองพระนคร อันมีพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ทรงเป็นประ ธาน ตลอดถึงผู้ร่วมสร้างร่วมบูรณะทั้งหมด

เพื่อขอให้ทรงแผ่พระบรมเดชานุภาพ ช่วยปกปักรักษาปวงประชา และสมณชีพราหมณ์ ที่ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม อย่าได้ประสบภัยพิบัติ อันตรายทั้งหลาย ทั้งหญิงและชาย จะประกอบ อาชีพการงานต่างๆ ขอให้ได้ผลดี พืชสวนไร่นา อย่าได้เสียหาย จงพบแต่ความสันติสุข พ้นจาก ความทุกข์ คือบ่วงมารในที่สุด ผลสุดท้ายขอ ให้แผ่นดินทั้งสอง จงมารวมกันอีกครั้งหนึ่งเถิด

เป็นอันว่า การเดินทางของพวกเรา ณ โอกาสนี้ เพื่อที่จะแสวงหาบุญกุศลอันจะอำนวย ให้เกิดพลัง เพื่อจะได้ต่อสู้กับโรคร้ายภายในกาย เพื่อจะได้ต่อสู้กับโรคร้ายภายนอกกายคือความจน เพื่อจะได้ต่อสู้กับโรคร้ายภายในจิตใจ คือกิเลส ผลบุญในครั้งนี้ จึงหวังโดยเฉพาะเรื่อง โรค ลาภ และ เลิศ เป็นสำคัญ

ขอให้โรคร้ายจงมลายสิ้น ขอให้ลาภจง ก่อเกิดทุกเมื่อ และสิ่งที่เลิศประเสริฐสุดนั่นก็คือ พระนิพพาน ขอให้พวกเราทุกคนและชาวไทยที่มี บุญบารมีพอสมควร จงช่วยกันผดุงพุทธศาสนา ไว้ให้มั่นคง ประเทศชาติจงพ้นภัยจากข้าศึกรุก ราน ขอพระมหากษัตริย์จงทรงพระเจริญยั่งยืน ตลอดกาล เพื่อสถิตสถาพรอยู่คู่เมืองไทย และ อยู่ในจิตใจของชาวไทยทั้ง ๓ สถาบันคือ ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ ตลอดครบอายุ พุทธศาสนา ๕ พันปีเทอญ

ครั้นแล้วเสียงของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ก็ดังก้องไปทั่วบริเวณนั้น และการบูชาสักการะ ก็เกิดขึ้นจากพวกเรา ด้วยการฟ้อนรำบายศรี และสมโภช ทั้งจากเพลงรำวงของภาคกลางบ้าง จากเซิ้งของภาคอีสานบ้าง เป็นต้น

ทุกคนร้องรำไปอย่างสบายๆ ท่ามกลาง ความร่มเย็นที่เกิดขึ้นในขณะนั้น จนกระทั่งเสร็จ พิธี ในขณะที่จะเดินกลับ ก็เห็นลมพัดตรงมาที่ โต๊ะบายศรี เห็นผ้าปูโต๊ะปลิวว่อน ของบนโต๊ะ ทำท่าจะเอนเอียง เหมือนกับเป็นพยานในการ กระทำพิธี แล้วเจ้าหน้าที่จึงช่วยกันเก็บสิ่งของ บนโต๊ะ พร้อมกับยกมือพนมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหลายด้วย

เมื่อได้ทำบุญไปกับกรรมการวัด ๒,๐๐๐ บาท และได้อุทิศส่วนกุศลแล้ว จึงได้เดินทาง กลับในเวลาเย็น ไปถึงจุดสุดท้ายใกล้ค่ำ โดยมี รถตู้ตามไปเกือบ ๒๐ คัน ส่วนที่เหลือที่มิได้ ติดตามไปนั้น จำเป็นต้องรีบเดินทางกลับก่อน



ประวัติพระพุทธบาทไพศาลี

การติดตามรอยพระพุทธบาทในครั้งนี้ ได้ไปทำพิธีสมโภชกันมานับตั้งแต่จุดแรก จนถึง จุดสุดท้ายนี้ นับว่าเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง สำหรับ สถานที่นี้ ตามหนังสือประวัติที่ทางวัดจัดพิมพ์ โดยเจ้าอาวาส คือ พระอธิการชำนาญ ได้เล่าว่า

สมัยก่อน หลวงพ่อเฉลิม ญาณจารี ได้มาสร้างวัดแห่งนี้ไว้แล้วท่านก็จากไป วัด พระพุทธบาทก็ได้รกร้างมาเป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปี จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๖ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้ มาบูรณปฏิสังขรณ์ และได้ค้นพบรอยพระพุทธ บาทของเก่า ของดั้งเดิม ของแท้ ที่ประดิษฐาน อยู่บนยอดภูเขา เมื่อวันที่ ๑๖ ก.ค. ๒๕๓๔ ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมา ประทับไว้ในสมัยที่ยังทรงพระชนม์อยู่

ในตอนแรกได้ทำเป็นศาลาหลังเล็กๆ ครอบรอยพระพุทธบาทไว้ จนถึงวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๓๗ ได้มี คุณประวิทย์-คุณวรรณา สุวัตธิกุล ได้มาเพื่อขอบูรณะมณฑปครอบรอยพระพุทธ บาทจำลอง แต่พระอธิการชำนาญบอกว่า ได้ พบรอยพระพุทธบาทจริงๆ แล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการสร้างพระมณฑป ดังที่เห็นอยู่นี้ เป็นเงิน ๗ ล้านบาท ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ เสด็จมาเป็นองค์ประธาน เมื่อวันที่ ๒๓ พ.ย. ๒๕๓๙

จนถึงวันที่ ๙ พ.ย. ๒๕๔๐ ท่านเจ้าประ คุณ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานอัญเชิญพระบรมสารี ริกธาตุ ขึ้นประดิษฐานบนจอมปราสาท ชั้นที่ ๖ ของพระมณฑป เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวเมืองไพศาลี จ.นครสวรรค์ และแก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่เดินทางมาเคารพกราบไหว้บูชา

ต่อจากนั้น พวกเราก็ได้ร่วมพิธีบวงสรวง แล้วร่วมกันบริจาคทรัพย์เป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท แก่เจ้าอาวาส ซึ่งได้มาเล่าเรื่องราวให้พวกเรารับฟังกัน ในขณะนั้น ผู้ที่อยู่ภายนอกพระมณฑป บอกว่า ขณะที่ทำพิธีบวงสรวงอยู่นั้น ละอองฝน ได้โปรยปรายลงมาชั่วขณะหนึ่ง แล้วพวกเราก็แยกย้ายเดินทางกลับ ด้วยความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นได้เดินลงมากราบรอยพระพุทธบาท (จำลอง) ที่อยู่ด้านข้าง

หมายเหตุ ผู้เขียนเพิ่งได้อ่านในเวปไซด์ chaiwbi.com เล่าเรื่องประวัติไว้ดังนี้

โบราณสถาน... "เมืองเก่าเวสาลี"

......เมืองเก่าเวสาลีเป็นเมืองหน้าด่านเล็กๆ ของกรุงละโว้ในดินแดนสุวรรณภูมิ ปรากฏหลักฐานซากวัตถุโบราณ เช่น พระปรางค์ หอสมุด และพระปฏิมากร ซึ่งเป็นศิลปของขอมโบราณ เมื่อราว ปี พ.ศ.1100 ถึง พ.ศ.1400

......ขอมมีอำนาจเจริญรุ่งเรืองในแคว้นสุวรรณภูมิ ตลอดทั้งในเขตแคว้นโคตรบูร แคว้นโยนก และแคว้นทราราวดี โดยมีกรุงละโว้ (ลพบุรี) เป็นราชธานี เมืองเวสาลี สร้างขึ้น ในสมัยนั้น มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับกรุงสยาม (สุโขทัย นครโยนกเมืองโอฆะบุรี และเมืองศรีเทพ) โดยที่เมืองเหล่านี้ สร้างขึ้นเพื่อไว้เป็นเมืองหน้าด่านของกรุงบูรณปฏิสังขรณ์เมืองละโว้ขึ้นเป็นราชธานีอีกแห่ง ให้ชื่อว่า" เมืองลพบุรี"

......พระองค์ทรงเห็นว่าหัวเมืองฝ่ายเหนือยังไม่สงบลงได้ง่ายเพราะมีพม่าคอยหนุนหลักประกอบกับพื้นที่ทำเลเป็นที่ราบลุ่มทำนาข้าวได้ดี เหมาะแก่การที่จะตั้งกองรักษาด่านไว้ เพื่อป้องกันข้าศึกทางฝ่ายลานนาจึงได้บูรณปฏิสังขรณ์เมืองเวสาฬีขึ้นใหม่ จวบจนปัจจุบันยาวนานกว่า 1000 ปี คงเหลือ เพียงซากปรักหักพัง


โบราณสถาน "รอยพระพุทธบาทไพศาลี"

......เดิมทีก่อนที่จะพบรอยเท้ามีพระธุดงค์รูปหนึ่ง (พระชำนาญ) ได้มาปักกรดอยู่ที่นี่และวันหนึ่งขณะกำลังปฏิบัติ กัมมฐานก็นิมิตเห็นผู้คนมากมายนุ่งขาวห่มขาวเดินขึ้นเขา พระชำนาญจึงถามว่า "มาทำอะไรกัน" เขาตอบว่ายังไม่รู้อีกหรือว่าที่นี่มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนเขา พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ชาวลับแลจะมากราบไหว้

......รุ่งเช้าพระชำนาญตั้งใจว่าจะค้นหารอยพระพุทธบาทให้พบ พระชำนาญพยายามค้นหาอยู่หลายปี จนหาพบในปีพ.ศ.2534 รอยพระพุทธบาทมีรูปลักษณะเป็นรอยเท้าสีเขียวที่เหยียบลงบนหินสีแดง ความยาวฟุตกว่าๆ เป็นรอยเท้าข้างขวา และมีลักษณะของรอยเท้าเด็กเดินตาม ซึ่งค้นพบที่ยอดเขาอีกลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กันกับพระพุทธบาทจำลองนั่นเอง

.....และต่อมามีผู้สละทรัพย์เป็นเงิน 7 ล้านบาท เพื่อสร้างมณฑปคลอบรอยพระพุทธบาท และสมเด็จวัดปากน้ำได้อัญเชิญพระสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ยอดมณฑปสันนิษฐานว่า "รอยพระพุทธบาทจำลอง" ที่อยู่บนเขาอีกลูกหนึ่งนั้น สร้างในสมัยพระเจ้าลิไทแห่งกรุงสุโขทัย

.....จากเอกสารที่มีผู้บันทึกไว้ทำให้ทราบว่า รอยพระพุทธบาทนี้ได้ถูกอัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พร้อมกับผู้คนที่เกณฑ์มาสร้างเมืองเวสาลี โดย ได้นำไปประดิษฐานไว้บนยอดเขา แล้วสร้างวิหารคลอบไว้ ภูเขาลูกนี้คือที่ตั้งของวัดพระพุทธบาท ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี ในปัจจุบันบ


ณ โอกาสนี้ จึงขอสรุปยอดเงินทำบุญ ภาคอีสาน ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๔ มิ.ย. ๒๕๔๑ มีรายการดังต่อไปนี้...

๑. วัดมิตรภาพวนาราม ๑๖,๐๐๐ บาท
๒. รอยพระพุทธบาทกลางดง ๒๗,๐๐๐ บาท
๓. ศูนย์ปฏิบัติธรรมขอนแก่น ๑๖,๗๕๐ บาท
๔. พระพุทธบาทหนองบัวลำภู ๕๐,๐๐๐ บาท
๕. วัดป่าดอนหายโศก อุดรธานี ๓๐,๑๐๐ บาท
๖. วัดพระพุทธบาทแม่แส ” ๑๐,๐๐๐ บาท
๗. วัดพระธาตุบังพวน หนองคาย ๓๒,๕๐๐ บาท
๘. วัดป่าบ้านใหม่ อุดรธานี ๕,๐๐๐ บาท
๙. วัดพระพุทธบาทบัวบก ” ๗๐,๕๓๕ บาท
๑๐.วัดพระพุทธบาทบัวบาน ” ๑๕,๐๐๐ บาท
๑๑.วัดพระบาทภูควายเงิน เลย ๓๒,๕๖๙ บาท
๑๒.พระธาตุศรีสองรัก ” ๒,๐๐๐ บาท
๑๓.พระวันชัย สุโขทัย ๑๖,๑๙๐ บาท
๑๔.วัดพระพุทธบาทไพศาลี ๑๒,๐๐๐ บาท
ค่าใช้จ่ายและค่าสิ่งของอื่น ๆ ๒๖,๐๐๐ บาท

รวมเป็นเงิน ๓๖๑,๖๔๔ บาท

รวมความว่า การเดินทางไปภาคอีสานในครั้งนี้ ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ขออนุโมทนาความดีแก่ผู้ร่วมเดินทางทุกท่าน ตลอดถึงผู้ที่ถวายให้ใช้เป็นการส่วนตัวด้วยเงินทุกบาททุกสตางค์ของ ท่าน ได้นำไปบำรุงพระพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรแล้ว ด้วยความภักดีแด่พระพุทธองค์.. สวัสดี




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 20/1/11 at 08:56 Reply With Quote


โปรดติดตามตอนต่อไป..

การเดินทางไปภาคอีสาน (ครั้งที่ ๓)
เมื่อวันที่ ๒๓ - ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved