ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 21/12/10 at 09:30 Reply With Quote

นายบัวลอย แสงวงศ์ จ.ยโสธร ระลึกชาติได้ 2 ชาติ (รายการ VIP)


(Update 12-3-58)


ชายระลึกชาติ” ปะทะ “หมอดูสเกตช์กรรม” p.1 - p.2 - p.3 - p.4 - p.5 (ออกอากาศ วันที่ 24 พฤษภาคม 2553)
"บัวลอย แสงวงศ์ ระลึกชาติได้ 2 ชาติ" (ออกอากาศ วันที่ 12 เมษายน 2553)

ประวัติความเป็นมาโดยละเอียด


เรียบเรียงโดย เว็บมาสเตอร์ : ธวัชชัย ขำชะยันจะ
http://sites.google.com/site/reincarnationthailand


........เรื่องนี้เกิดที่บ้านแซง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มแต่ เด็กชายบัวลอย แสงวงศ์ ตัวเรื่องเกิดประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อเริ่มรู้เรื่องราวกันในวงแคบๆ แล้ว ก็บอกเล่ากล่าวขานกันกว้างขวางออกไป

มีคณะบุคคลร่วมกันไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามคำเล่าลือคณะหนึ่ง ประกอบด้วยพระคุณท่านเจ้าคุณพระมงคลเมธี เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี พระมหาถวัลย์จารยสุโภ (วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี)

ท่านปลัดอำเภอเลิงนกทา และบุคคลที่ไม่ได้กล่าวชื่ออีก ๕ คน กับภิกษุสามเณร และชาวบ้านผู้อยากรู้อยากเห็น ร่วมเดินทางไปอีกจำนวนมาก ในการพิสูจน์สอบสวนเด็กชายบัวลอยต้นเรื่องแล้วยังขอสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องอีกหลายราย พอสรุปเนื้อหาสาระได้ดั้งนี้

เด็กที่สืบชาติจากงูเหลือมมาเกิด ชื่อ เด็กชายบัวลอย แสงวงศ์ ขณะคณะบุคคลดังกล่าวไปพิสูจน์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ เขามีอายุ ๑๓ ปีแล้ว เขาเป็นลูกคนที่ ๘ ของ นายดา แสงวงศ์ กับ นางหนูพุก แสงวงศ์ ด.ช.บัวลอยจำอดีตชาติได้ ๒ ชาติ

เขาเล่าแก่คณะพิสูจน์ว่า เขาจำได้แม่นยำในชาติก่อนหน้าที่เขาจะเกิดมาเป็นงูเหลือม เขาเคยเกิดเป็นกวางตัวเมียเคราะห์ร้ายถูกพรานป่ายิงตาย วิญญาณ (โอปปาติกะ) เขาออกจากร่างกวางไปพบเจ้าพ่อแห่งผีตนหนึ่ง ชื่อ "เจ้าศรีสงคราม"

เจ้าพ่อแห่งผีให้เขาไปเกิดเป็น "งูเฝ้าสมบัติ" (พระพุทธรูป) ในถ้ำอ่างน้ำจาง ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอเลิงนกทา ที่ถ้ำนี้มีงูเหลือมใหญ่เฝ้าสมบัติอยู่หลายตัว ชาวบ้านกลัวงูเหลือมเหล่านี้จึงไม่กล้าเข้าไปในถ้ำ ตัวเขาเอง(ตอนที่เป็นโอปปาติกะหรือวิญญาณกวาง)จึงได้ไปเกิดเป็นงูเหลือมตัวเมีย เมื่อตัวเขา (ตอนที่เป็นงูเหลือม) เติบโตเป็นงูสาวก็ได้สมสู่กับงูตัวผู้ในถ้ำ จนมีลูกในท้อง

คราวหนึ่งนางงูเหลือมท้องไปหากินที่ห้วยน้ำจาง มีหมา ๒ ตัว มาเห่ากระโชก นางงูเหลือมไม่กลัวคิดจะจับหมากินเสีย แต่ยังไม่ทันมีโอกาสได้จับกิน ก็มีเจ้าของหมา ๒ ตัวนั้น มาพบงูเหลือมแสดงท่าร้ายจึงเกิดต่อสู้กับงู งูเหลือมเมื่อได้โอกาสก็หนีไปได้ เมื่อไปถึงปากถ้ำอ่างน้ำจางอันเป็นถ้ำที่อยู่เฝ้าพระพุทธรูป ยังไม่ทันเข้าในถ้ำ นึกว่าปลอดภัย จึงนอนพักผึ่งแดดจนงีบหลับไป รู้สึกตัวอีกทีก็มีเชือกบ่วงรัดคอแน่น

นางงูเหลือมเหลือบตาดูก็เห็นชายคนที่ต่อสู้กันที่ห้วยน้ำจาง กับชายอีกคนหนึ่ง ช่วยกันรัดคองูเหลือม(คือตัวเขา)แล้วใช้ท่อนไม้ร่วมกันตีหัวงูจนความรู้สึกดับวูบไปรู้สึกตัวอีกทีก็เป็นโอปปาติกะงู(วิญญาณงู) เห็นชายทั่งสองร่วมกันตัดร่างงูเหลือม(คือร่างเดิมของเขา)เป็นท่อน โอปปาติกะงู ติดตามไปจนกระทั่งเขานำเนื้องูเหลือมไปแกงกินกัน

เขาจำชายคนแรกที่สู้กลับเขาทำร้ายเขาได้ติดตา และโกรธเคืองไม่หาย(พยาบาท) ในบรรดาพวกคนที่เขากินเนื้องูกันอยู่ มีอยู่คนหนึ่งมาร่วมกินด้วย โอปปาติกะงูเห็นชายนั้นมีลักษณะท่าทางไม่ค่อยดุร้าย เมื่อพวกคนเขากินกันเสร็จแล้วก็พากันแยกย้ายกลับบ้าน โอปปาติกะงูตัดสินใจไปกับชายท่าทางใจดีคนนั้น โดยโดดเกาะไหล่เขาไป จนกระทั่งถึงบ้านของชายคนนั้น พอชายคนนั้นขึ้นบันไดบ้าน เขาจึงออกจากบ่าของชายคนนั้นไปอยู่บนเสารั้วใกล้ๆบันไดบ้าน

ต่อมาเขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งออกจากห้องมาดื่มน้ำ โอปปาติกะงูจึงโดดจากปลายเสารั้วไปหาหญิงนั้นเลยตกลงไปในขันน้ำ ผู้หญิงนั้นดื่มน้ำเข้าไปก็ติดโอปปาติกะลงท้องไปด้วย ต่อมาเขา(โอปปาติกะงู) ก็รู้สึกตัวว่าเขาได้เกิดมาเป็นเด็กชายบัวลอย ชายคนนั้นที่เขา(โอปปาติกะงู)เกาะบ่ามาก็คือ นายดา แสงวงศ์ พ่อของเขาเอง และผู้หญิงที่ดื่มน้ำติดเขา(โอปปาติกะงู) ลงท้องไปด้วยก็คือนางหนูพุก แสงวงศ์ แม่ในชาตินี้ของเขานั้นเอง

นางหนูพุก แสงวงศ์

........เด็กชายบัวลอย เกิดมาจำอดีตชาติได้ และผิวหนังประหลาด มีลายเป็นเกล็ดคล้ายเกล็ดงูเหลือมในชาติก่อนของเขา จะเช็ดถูอย่างไรก็ไม่หายเป็นอันเดียวกับหนัง เด็กชายบัวลอยรู้สึกนึกคิดเหมือนอย่างมนุษย์ธรรมดาทั่วไป แต่ความรู้สึกสะเทือนใจ เคียดแค้นเมื่อตอนที่เขาเป็นงูแล้วถูกคนฆ่าตายยังติดอยู่ในใจมาตลอดถึงชาตินี้

เมื่อเขาเป็นเด็กโตพอจำความได้ คราวหนึ่งเขาไปเที่ยวงานที่บ้านห้องแซง เขาพบชายแก่คนที่ฆ่าเขาเมื่อตอนที่เขาเป็นงูเหลือม แล้วตัดร่างเขา(งูเหลือม)ออกเป็นท่อนๆแล้วแกงกิน เขายังจำได้แม่นยำ เขาแสดงสีหน้าโกรธแค้นแต่เขายังเป็นเด็กทำอะไรชายแก่นั้นไม่ได้ เพียงแต่จับดึงผ้านุ่งของชายแก่จนหลุดเท่านั้น

ชายแก่ผู้นี้คือ นายเหี่ยว กุมารสิทธิ์ ในตอนนั้นเขารู้สึกมึนงงสงสัยว่า เด็กที่ไหนลูกเต้าเหล่าใครมาดึงผ้านุ่งของเขาจนหลุด แล้วยังมาทำหน้าดุๆใส่เขาอีก ต่อมาเขาได้ทราบจากครอบครัวของเด็กชายคนนั้นว่า เด็กชายบัวลอยคืองูเหลือมที่เขาเคยฆ่ามาแกงกินกลับชาติมาเกิด

เขาจึงซื้อเสื้อผ้ามาให้และด้ายผูกข้อมือรับขวัญเด็กชายบัวลอย อธิษฐานขอขมาลาโทษ อย่าได้จองเวรจองกรรมกันเลย ต่อมานายเหี่ยว กุมารสิทธิ์ ก็กลายเป็นคนจิตใจอ่อนโยน กลัวบาปกลัวกรรมมากขึ้น และนายเหี่ยวก็เป็นคนหนึ่งที่พาคณะพิสูจน์ไปสัมภาษณ์ เด็กชายบัวลอย

นายเหี่ยว กุมารสิทธิ์

........นายเหี่ยว เล่าถึงความหลังให้ฟังว่า เขาเป็นคนบ้านสีแก้วห่างจากบ้านห้องแซงบ้านเกิดของ ด.ช.บัวลอย ประมาณ ๒๐ กม. คราวหนึ่ง(ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๗ ) เขาตั้งใจไปจับเต่าที่ห้วยน้ำจาง จึงพาหมาไปด้วย ๒ ตัว เมื่อไปถึงห้วยลำห้วยน้ำจาง ได้ยินหมาเห่ากระโชกอยู่ฝั่งตรงข้ามจึงข้ามลำน้ำไปดู ก็พบงูเหลือมตัวโต นายเหี่ยวเห็นก็คิดจะฆ่าเอางูไปเป็นอาหาร แต่พอจะจับงูก็สู้ เกิดการต่อสู้กัน

สุดท้ายงูเหลือมตัวนั้นหนีไปได้ เมื่องูตัวนั้นเลื้อยหนีไปเขาจึงรีบกลับไปบ้าน พาเพื่อนคนหนึ่งมาช่วยตามจับงูด้วย พวกเขาตามรอยงูเหลือมไปจนไปพบมันนอนนิ่งอยู่(หลับ) ใกล้ปากถ้ำ พวกเขาจึงช่วยกันฆ่างูเหลือมตาย แล้วนำไปตัดเป็นท่อนๆ แล้วแกงกินกัน(เหตุการณ์ที่นายเหี่ยวเล่ามา ตรงกับคำบอกเล่าของเด็กชายบัวลอยชาติที่เป็นงูเหลือมถูกฆ่าทุกประการ)

และต่อมาเมื่อนายเหี่ยวทราบเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของเด็กชายบัวลอย ก็เชื่อมโยงเรื่องราวได้ว่า วันนั้นที่เด็กชายบัวลอยแสดงสีหน้าโกรธเคืองถึงกับกระชากผ้านุ่งเขาหลุด ในงานบ้านห้องแซง ทั้งที่เขาไม่เคยรู้จักหรือพบหน้ากันมาก่อนเลยนั้น ก็คืองูเหลือมที่เขาฆ่าตายสืบชาติมาเกิดนั่นเอง เด็กชายบัวลอยจำหน้าเขาได้ เมื่อครั้งที่เป็นงูเหลือมที่ต่อสู้กันและโดนเขาฆ่าตาย เอาเนื้อไปกินเมื่อครั้งกระโน้น





ข้อมูลเพิ่มเติม : รายการวีไอพี เมื่อวันจันทร์ ที่ 12 เม.ย. 2553

- ตอนตั้งท้อง ด.ช.บัวลอย นางหนูพุกผู้เป็นแม่ฝันว่ามีงูตัวใหญ่มากกลิ้งมาหาเธอ และขอมาอยู่ด้วย

- ด.ช.บัวลอย แสงวงศ์ มีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด 2 รอย ที่บริเวณหลัง และบริเวณรักแร้ ซึ่งเป็นร่องรอยบาดแผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในอดีตชาติ ที่นางงูเหลือมถูกพรานเหี่ยวใช้มีดฟันจนตาย และจนถึงปัจจุนนี้ก็ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน (ชมภาพต่อไปได้ที่ : http://sites.google.com/site/reincarnationthailand)




ข้อมูลเพิ่มเติม : จาก exteen blog

เด็กชายบัวลอย ชาติก่อนเป็นงูเหลือมอยู่ในถ้ำ


........ปีพุทธศักราช 2498 นางหนูพุก ภรรยาของ นายตา ชาวตำบลหนองแซง อำเภอลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี มีอาชีพค้าขายขนมจีน ตั้งครรภ์ลูกคนที่ 8 เมื่อครบกำหนดได้คลอดออกมาเป็นลูกชาย มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

แต่ลูกคนนี้มีลักษณะผิดประหลาดไม่เหมือนทารกแรกเกิดทั่วไป คือผิวหนังทั้งตัวเป็นลายตารางสีแดงพาดตัดกันเหมือนขนมเปียกปูน หรือคล้ายๆ ผิวปลาช่อนที่ขอดเกล็ดออกอย่างไรนั้น ลายประหลาดนี้มีตั้งแต่ใบหน้ามาถึงสะดือ ลายส่วนนี้จะมีสีค่อนข้างอ่อนจาง แต่จากสะดือลงมาถึงข้อเท้าจะเป็นสีเข้ม โดยความเข้มจะไล่จากสะดือลงมา และมาเป็นสีเข้มจัดตรงบริเวณหน้าแข้ง พ่อแม่ได้ตั้งชื่อให้เป็นมงคลนามว่า “บัวลอย"

เมื่อบัวลอยเจริญเติบโตพ้นวัยทารก ลายสีแดงตามตัวค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม และลักษณะซึ่งเหมือนเกล็ดปลาช่อนเริ่มเห็นชัดว่าคล้ายเกล็ดงูเหลือม เซลล์ผิวหนังตรงบริเวณเกล็ดแห้งแข็งคล้ายหนังงูลอกคราบ เวลาเอามือไปลูบบริเวณที่เป็นเกล็ด ผิวเกล็ดจะหลุดร่วงออกมาได้เหมือนแผลตกสะเก็ดทั่วไป

นอกจากบัวลอยจะมีลักษณะแปลกประหลาดบนเนื้อตัวมาตั้งแต่กำเนิด เขายังมีกิริยาซึ่งผิดปกติธรรมดาของเด็กทั่วไป นั่นคือเมื่ออายุได้ 2 ขวบกว่า เดินได้คล่องแล้ว เวลาจะขึ้นบันไดลงบันได บัวลอยจะไม่เดินขึ้นลงเหมือนคนทั่วไป หากจะนอนพังพาบกับพื้นแล้วไถลตัวเองลงไปทีละขั้นโดยเอาหัวลงไปก่อนจนกระทั่วถึงพื้นเบื้องล่าง ส่วนเวลาขึ้นบันไดก็จะไถลตัวเองขึ้นไปในลักษณะเดียวกัน แม้เวลาจะนอนบัวลอยก็นอนไม่เหมือนเด็กอื่น คือจะหาราวไม้หรือราวระเบียงเป็นที่เกี่ยวขาห้อยหัวลงมา ซึ่งลักษณะการขึ้นบันได ลงบันได ตลอดจนท่านอนของบัวลอยเป็นลักษณะเดียวกับงูไม่มีผิด

ตอนแรกๆ แม่กับพ่อก็ดุด่าห้ามปรามไม่ให้บัวลอยแสดงกิริยาเช่นนั้น เพราะคิดว่าเด็กเล่นซุกซนทำอะไรพิเรนแผลงๆ แต่ไม่ว่าจะดุจะขู่และทำท่าจะเฆี่ยนตีอย่างไร บัวลอยก็ยังทำกิริยาท่าทางเหมือนเดิมไม่ยอมเปลี่ยน จนพ่อแม่อ่อนใจ จำต้องปล่อยให้เด็กชายบัวลอยแสดงกิริยาพิลึกๆ ตามที่เขาชอบต่อไป เพราะห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง

เมื่อบัวลอยเติบโตขึ้น การแสดงกิริยาท่าทางเหมือนงูดังกล่าว ก็ค่อยๆ หายไป ทั้งนี้อาจเนื่องจากได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่และพวกพี่ๆ เรียนรู้จดจำกิริยาท่าทางอันเป็นปกติของมนุษย์ทั่วไป การเคลื่อนไหวแปลกๆ จึงได้เลือนหายไป แต่บางครั้งมีใครมาขอให้เขาแสดงท่าทางคล้ายงูให้ดู บัวลอยก็จะแสดงให้ดูทันที และทำได้อย่างคล่องแคล่วเพราะมีความเคยชินอยู่ก่อนแล้ว

ความวิตกกังวลอีกอย่างหนึ่งของนายตาและนางหนูพุกผู้เป็นพ่อแม่ก็คือ เรื่องผิวพรรณของบัวลอยซึ่งไม่เหมือนพวกพี่ๆ และเด็กทั่วไป ผิวหนังที่แตกเป็นเกล็ดคล้ายๆ งูเหลือมนั้น ทั้งสองไม่รู้ว่าเป็นอะไรและเกิดจากอะไร ทำให้พ่อแม่หวั่นวิตกว่าจะเป็นโรคผิวหนังร้ายแรงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะรอยแตกเป็นเกล็ดนั้นไม่ยอมหายไปเสียที

ดังนั้น ทั้งสองจึงพาบัวลอยไปหานายแพทย์เพื่อขอให้ตรวจดู แพทย์หรือคุณหมอ ซึ่งประจำอยู่ที่สถานีอนามัยเลิงนกทาสอบถามนายตากับนางหนูพุกว่ามีญาติพี่น้องคนใดมีผิวหนังผิดปกติลักษณะเดียวกันแบบนี้หรือไม่ เพราะอาจเป็นโรคติดต่อจากกรรมพันธุ์ก็ได้ ทั้งสองยืนยันว่าญาติพี่น้องของตนทั้งสองฝ่ายไม่มีใครมีผิวหนังลักษณะเช่นนี้แม้แต่คนเดียว หมอจึงให้ยาทามาลองทาดูก่อน

บัวลอยทายาโรคผิวหนังจนหมดตลับก็ไม่ปรากฏผลอะไรเลย ผิวหนังที่แตกเป็นลายงูเคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น พ่อกับแม่เห็นว่ารักษาไม่บังเกิดผลและลูกก็ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างไร จึงไม่คิดจะหาทางรักษาอีก ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสังเกตก็คือ นานๆ ครั้งเกล็ดตามเนื้อตัวของบัวลอยจะลอกหลุดออกเสียทีหนึ่งคล้ายๆ กับการลอกคราบของงูไม่มีผิด นี่ก็เป็นเรื่องแปลก

เวลาได้ผ่านไปกระทั่งบัวลอยมีอายุได้ 3 ขวบ เริ่มพูดได้ เขาก็เจริญวัยเป็นปกติดีทุกอย่างเพียงแต่เนื้อตัวแตกระแหงเป็นลายเกล็ดงูเกือบจะทั่วทั้งตัวเท่านั้น โดยเฉพาะที่หน้าแข้งจะมีลายชัดเจนมาก คนที่เพิ่งเห็นนึกว่าเป็นโรคผิวหนังมักจะรีบถอยออกห่างๆ เนื่องจากกลัวจะเป็นโรคติดต่อ แต่พ่อแม่ก็ยังรักเอ็นดูบัวลอยเช่นเดียวกับลูกคนอื่นๆ มิได้นึกรังเกียจเดียจฉันท์แม้แต่น้อย

วันหนึ่ง ที่วัดโพธารามได้จัดงานบุญประจำปีขึ้น นายตาไปเที่ยวที่งานนั้นพร้อมกับพาบัวลอยลูกชายไปด้วย เมื่อไปถึงบริเวณงานก็ปล่อยให้บัวลอยวิ่งเล่นที่ลานวัดซึ่งมีคนเดินไปเดินมาพลุกพล่าน ขณะที่บัวลอยกำลังวิ่งเล่นอยู่นั้น มีชายสูงอายุคนหนึ่งเดินผ่านมา พอบัวลอยเห็นหน้าชายสูงอายุคนดังกล่าวก็หยุดวิ่งเล่นทันที แล้วจ้องมองหน้าเขม็งด้วยสายตาโกรธแค้นทั้งๆ ที่เพิ่งเห็นหน้ากันเป็นครั้งแรก

แล้วบัวลอยก็วิ่งเข้าไปกระตุกชายผ้านุ่งของชายสูงอายุ ตะโกนต่อว่าด้วยเสียงอันดัง

"เฒ่าเหี่ยวใจร้าย เฒ่าเหี่ยวใจร้าย"

ชายสูงอายุคนนั้นมีชื่อว่า นายเหี่ยว จริงๆ เสียด้วย รู้สึกงงงันที่จู่ๆ มีเด็กตัวเล็กๆ มากระตุกชายผ้านุ่งแล้วพูดว่าตนใจร้าย พอดีนายตาเห็นลูกเข้าไปพูดจาไม่ดีกับผู้ใหญ่ ประกอบกับรู้จักคุ้นเคยกับเฒ่าเหี่ยวมาก่อนจึงรีบเข้าไปดึงบัวลอยออกมา พลางขอโทษขอโพยแทนลูก ตาเหี่ยวก็หัวเราะไม่ถือสาแล้วเดินจากไป

เวลานั้นนายตาผู้เป็นพ่อยังไม่สะกิดใจอะไร อุ้มบัวลอยออกเดินเที่ยวงานต่อไปอีก กระทั่งเห็นสมควรแก่เวลาแล้วจึงพาลูกกลับบ้าน เมื่อถึงบ้านนั่งพักพอหายเหนื่อยแล้วเกิดนึกสงสัยขึ้นมาว่าทำไมบัวลอยจึงแสดงกิริยาวาจาก้าวร้าวกับผู้ใหญ่คือตาเหี่ยว จึงเรียกบัวลอยมาซักถามสาเหตุที่ไปต่อว่าตาเหี่ยวเช่นนั้น

บัวลอยก้มหน้านิ่งอยู่ครูหนึ่งจึงได้เงยหน้าขึ้นมา บอกเล่าเรื่องราวที่ทำให้นายตาถึงกับตื่นตะลึง และคิดไม่ถึงว่าลูกตัวน้อยๆ ของตนจะพูดออกมาเป็นเรื่องราวซึ่งพิสดารอันเหลือเชื่อปานนั้น

บัวลอยเล่าอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องเป็นราวผิดวิสัยเด็กอายุ 3 ขวบกว่าว่า เมื่อชาติก่อนเขาเกิดเป็นกวางตัวเมีย พออายุได้ 15 ปี ก็ถูกนายพรานยิงตายที่ภูหินปูนซึ่งอยู่เลยถ้ำอ่างน้ำจางขึ้นไป (สถานที่เหล่านี้มีอยู่จริงแต่เด็กไม่เคยรู้) หลังจากตายแล้ววิญญาณได้ล่องลอยไปหา “ผีเจ้าศรีสงคราม” ผีเจ้าศรีสงครามเป็นผู้มีอำนาจมีฤทธิ์ในป่าแถบนั้น ผีเจ้าศรีสงครามสั่งให้ไปเกิดเป็นงูตัวเมีย ตอนไปเกิดเป็นงูจำได้ว่าเข้าไปทางปากแม่งู เมื่อเกิดแล้วก็อยู่ในถ้ำอ่างน้ำจางพร้อมกับงูเหลือมใหญ่หลายตัว นอกจากจะมีงูเหลือมอยู่ ยังมีเสืออยู่ร่วมถ้ำเดียวกัน แต่ไม่ทำอะไรกัน ต่างฝ่ายต่างอยู่ งูเหลือมใหญ่ทั้งหมดทำหน้าที่เฝ้าทรัพย์สมบัติอันล้ำค่า โดยเฉพาะมีพระพุทธรูปอยู่หลายองค์

ครั้นเมื่อโตเป็นงูใหญ่เกิดรักใคร่กับงูหนุ่มตัวหนึ่งจนกระทั่งตั้งท้อง เวลาออกไปหากินก็จะแยกกันไปไม่เลือกว่ากลางวันหรือกลางคืน ที่หากินตามปกติตนคือบริเวณห้วยอ่างน้ำจาง ซึ่งเวลานั้นน้ำในห้วยมีมากและตรงกับปลายฤดูฝน มีธารน้ำไหลหลายสายไหลซอกซอนลงมาจากยอดเขา ตนจึงไปนอนพาดขวางทางน้ำไหลเหล่านั้นในช่วงที่ค่อนข้างแคบเพื่อหลอกสัตว์เล็กๆ พวกกระรอก กระแต สัตว์เหล่านั้นคิดว่าเป็นท่อนไม้หรือคันดินจึงไต่ข้ามเพื่อจะไปอีกฝั่งหนึ่ง ตนก็จะจับกินเป็นอาหารเสีย

เด็กชายบัวลอยเล่าเรื่องในชาติอดีตของตนให้พ่อฟังอย่างตะกุกตะกักตามภาษาเด็ก อาศัยว่านายตาคอยซักถามจึงพอปะติดปะต่อเรื่องราวได้ค่อยข้างชัดเจน

บัวลอยเล่าเรื่องต่อไปว่า วันที่พบกับเฒ่าเหี่ยวนั้น ตนก็ออกไปหากินที่อ่างน้ำจางเช่นเดิมโดยนอนขดตัวรอคอยให้สัตว์มากินน้ำ ขณะที่นอนเงียบๆ อยู่นั้น หมาพรานสองตัวก็เข้ามาถึงตัวและเห่าเสียงขรมทำท่าจะกัด ตนจึงเตรียมสู้ ไม่มีความหวาดกลัวใดๆ ทั้งยังคิดจับหมาพรานสองตัวนั้นกินเสียด้วยซ้ำ.

ขณะงูเหลือมหรือเด็กชายบัวลอย เตรียมสู้กับสุนัข 2 ตัว คือ “อีแตน” กับ “อีแดง” สุนัขไทยที่ถูกฝึกให้ไล่ล่าสัตว์ขนาดเล็กของพรานเหี่ยว พรานเหี่ยวก็เดินลุยน้ำมายังงู ในมือถือพร้ามาด้วย พรานเหี่ยวต้องการฆ่างูเหลือมเอาไปกิน งูก็เตรียมต่อสู้ด้วยสัญชาตญาณ

ด.ช.บัวลอย เล่าว่าตนกัด พรานเหี่ยว เข้าที่บ่า ส่วนพรานเหี่ยวใช้พร้าฟัน ทั้งสองฝ่ายสู้กันนานตั้งแต่เช้าจนเกือบเที่ยง ก็ยังไม่มีใครแพ้ชนะ พรานเหี่ยวยอมเป็นฝ่ายเลิกราเดินกลับไปก่อน ส่วนตนก็กลับไปที่ถ้ำอ่างน้ำจางและดื่มน้ำที่ปากถ้ำแล้วก็นอนพักด้วยความอ่อนเพลีย

แต่พรานเหี่ยวไปแล้วก็กลับมาอีก คราวนี้พาเพื่อนมาด้วย 2 คน คือ นายโบ ดอกบัว กับ นายสา พิมพ์ภาพ มาถึงบริเวณที่สู้กับงู ไม่พบงู พอดีได้ยินเสียงสุนัขเห่างูหน้าถ้ำอ่างน้ำจาง ทั้งสามคนก็ตามไปกระทั่งพบงูเหลือมนอนขดอยู่

เด็กชายบัวลอยเล่าว่า ขณะที่เป็นงูอยู่นั้น ตนยังคิดเสียใจที่ไม่ควรมาอยู่นอกถ้ำหากเข้าไปอยู่เสียในถ้ำก็คงจะปลอดภัย ทว่าตอนนี้ก็สายเกินไปแล้ว นายโบใช้เชือกทำบ่วงนาคพยายามจะรัดคอ ตอนแรกตนหลบทัน แต่พอคล้องครั้งที่สองหลบไม่ทัน เลยถูกรัดคอจนแน่นรู้สึกภายในจุกเสียด แล้วความรู้สึกก็ดับวูบไป

หลังจากที่ตายไปแล้ว วิญญาณ (เป็นอทิสสมานกายยังอยู่ในรูปลักษณ์ของงู) ได้แยกออกจากร่าง เฝ้ามองดูพรานเหี่ยวกับเพื่อนใช้เชือกลากงูไปตามทางเดิน โดยมีพรานเหี่ยวเดินตามหลังคอยระวัง เพราะกลัวงูเหลือมตัวผู้จะตามมาแก้แค้น ขณะที่วิญญาณติดตามคณะล่างูซึ่งแสดงท่าทางดีใจที่ล่างูใหญ่มาได้ ตนมีความรู้สึกสงสารร่างไร้วิญญาณของตนมาก เนื่องจากเส้นทางที่ผ่านมาเป็นทางขรุขระมีตอไม้และหนามตลอดทาง ทำให้หนังฉีกขาดหลุดลุ่ย กระทั่งมาถึงเถียงนาของพรานเหี่ยว ที่นั่นมีคนอยู่หลายคน

จากนั้นพวกเขาก็ผ่าท้องงู เอาไข่ออกมาพร้อมกับเครื่องใน แล้วถลกหนังออกก่อนจะหั่นลำตัวเป็นท่อนๆ เอาลงไปต้มในหม้อดินขนาดใหญ่เป็นบางส่วน พอเนื้อสุกแล้วก็ตักขึ้นมาแบ่งกันอย่างเอร็ดอร่อย

ระหว่างที่กินเนื้องูต้มอยู่นั้น มีชายคนหนึ่งท่าทางเรียบร้อยเดินเข้ามาและร่วมกินงูต้มกับเขาด้วย พอชายคนนี้กินแล้วได้ถือเนื้องูท่อนขนาดศอกเอากลับไปด้วย 2 ท่อน ชายคนนี้ก็คือ นายตา แสงวงศ์ ผู้เป็นพ่อของเด็กชายบัวลอยนั่นเอง เด็กชายขณะเป็นวิญญาณงูพอเห็นนายตาก็เกิดความรู้สึกถูกชะตา ชอบขึ้นมาทันที เมื่อนายตาเดินกลับบ้าน ตนจึงขึ้นไปขดอยู่ใต้ต้นมะพร้าว เพราะจะตามเข้าไปในบ้านไม่ได้ เนื่องจากมีชายร่างใหญ่ท่าทางดุร้ายไม่ให้เข้าไปใกล้ตัวเรือนนายตา (น่าจะเป็นพระภูมิเจ้าที่หรือผีเรือน)

เวลาผ่านไปไม่นาน ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินลงมาจากเรือน(น้องสาวของแม่หรือน้าของบัวลอยในชาติปัจจุบัน) ตอนนั้นตนรู้สึกเฉยๆ กระทั่งมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งเดินตามมา พอเห็นผู้หญิงคนนี้ก็รู้สึกรักและชอบ อยากอยู่ใกล้ๆเขา พอผู้หญิงคนดังกล่าวอ้าปากจะดื่มน้ำ ตนจึงพุ่งเข้าทางปากแล้วความคิดก็ดับวูบไป ผู้หญิงคนนี้คือ นางหนูพุก แสงวงศ์ แม่ของเขาเอง

สำหรับเรื่องบัวลอย เด็กชายที่เป็นงูเหลือมในชาติก่อน เริ่มต้นจากการพูดเล่าต่อๆ กันมา กระทั่งเป็นข่าวกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง พระมหาถวัลย์ อาจารสุโภ วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ไปสวดมนต์ฉันเช้าที่บ้าน มหาสุวัฒน์ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2511 บังเอิญนั่งใกล้กับท่าน พระครูเมธาวัตร วัดไชยมงคล พระครูเมธาวัตรไปได้ยินเรื่องงูเหลือมมาเกิดเป็นลูกคน และนำออกอากาศ มีประชาชนสนใจจำนวนมาก พระมหาถวัลย์ก็เกิดสนใจขึ้นมาบ้าง ตั้งใจจะไปดูด้วยตัวท่านเอง

วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2511 เวลา 07.00 น.คณะของพระมหาถวัลย์ ได้เดินออกเดินทางจากวัดทุ่งศรีเมืองไปยังอำเภอเลิงนกทา ไปถึงที่ว่าการอำเภอเลิงนกทา เวลา 11.00 น. คุณวรวิทย์ ชนกุล ปลัดอำเภอได้วิทยุล่วงหน้าไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านหนองแซง ให้แจ้งแก่บิดามารดาของเด็กชายบัวลอยว่า ให้ไปรออยู่ที่วัดโพธาราม คณะพักฉันเพลที่วัดเขมไชยาราม เสร็จแล้วออกเดินทางไปที่บ้านหนองแซง เวลาบ่ายโมงกว่า ขณะนั้นเด็กชายบัวลอยพร้อมกับพ่อและแม่ได้คอยอยู่ที่วัดโพธารามแล้ว

เวลานั้นเจ้าอาวาสไม่อยู่ มีบุคคลร่วมอยู่ในการพบปะวันนั้น นอกจาก พระมหาถวัลย์ และ เด็กชายบัวลอย แสงวงศ์ ยังมีบุคคลอื่นๆ ดังมีรายนามต่อไปนี้

1. พระเทพมงคลเมธี เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี

2. เจ้าคณะตำบลสวาท บ้านคีมชาด

3. นายวรวิทย์ ชนกุล ปลัดอำเภอ

4. นายสวัสดิ์ น้อยอินทร์ พัฒนากรอำเภอ

5. นายปุ่น ห้องแซง กำนัน

6. นายบัวแพง เมืองนิล ผู้ใหญ่บ้าน

7. พระภิกษุและสามเณร วัดโพธาราม

8. นายตา แสงวงศ์ พ่อของบัวลอย

9. นางหนูพุก แสงวงศ์ แม่ของบัวลอย

10. นายสมนึก สุธาธรรม
อาจารย์ในวิทยาลัยครูอุบลราชธานี เป็นผู้ถ่ายภาพและบันทึกเรื่องราวโดยละเอียด

พระมหาถวัลย์ อาจารสุโภ เปรียญ 9 ประโยค และจบวิชาปรัชญาปริญญาโทจากวิทยาลัยนาลันทา แห่งประเทศอินเดีย หลังจากได้กลับมาถึงวัดทุ่งศรีเมืองแล้ว ได้เขียนหนังสือภายใต้ชื่อเรื่องว่า “งูเหลือมกลับชาติมาเกิดเป็นคน” พิมพ์ออกเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2511

พระมหาถวัลย์ได้เล่าถึงการคุยกับเด็กชายบัวลอยครั้งแรกในหนังสือเล่มนั้น ดังต่อไปนี้

“หนูชื่ออะไร” ผู้สัมภาษณ์เริ่มเรื่อง

“บัวลอยครับ” อดีตงูเหลือมตอบพร้อมกับหายใจฟืดฟาด

“ทำใจดีๆ นะ ตั้งใจตอบคำถามนะ” ผู้สัมภาษณ์กำชับ

บัวลอยยิ้มแห้งๆ หลุบสายตาลงต่ำและไม่ลืมชำเลืองดูถ้วยเป๊ปซี่เย็นเจี๊ยบที่วางอยู่ข้างๆ แต่ถึงใครจะรบเร้าเท่าไร เขาก็ไม่ยอมแตะต้อง ตอนนี้บัวลอยหายใจหอบเฮือกใหญ่อยู่ เนื่องจากเพิ่งเดินทางมาจากบ้าน กอปรทั้งตื่นเต้นคนแปลกหน้าล้อมวงอยู่สลอน เหล่าไทยมุงพากับซุบซิบศัพท์สำเนียง

“อายุเท่าไหร่” ผู้สัมภาษณ์ซักต่อ

“ฉิบฉามปีครับ” บัวลอยตอบด้วยสำเนียง “ส” เป็น “ฉ” อย่างฉาดฉาน

ตามหลักฐานทางโรงเรียนเลิงนกทา ซึ่งครูใหญ่คัดให้ นั่นแสดงว่าบัวลอยเกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2498 ปัจจุบันกำลังเรียนชั้น ป.6 ตอนที่สอบถามเรื่องราวครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มีนาคมนั้น บัวลอยกำลังสอบไล่ปลายปีพอดี

“ทำไมถึงลายอย่างนี้” ผู้สัมภาษณ์ดึงเข้าเรื่อง

“เป็นงูครับ” บัวลอยตอบซื่อๆ

“งูอะไร”

“งูเหลือมครับ”

“ขอจับเกล็ดนี้หน่อยได้ไหม”

“ได้ครับ”

“เจ็บไหม”

“ไม่เจ็บครับ”

การทดสอบเพื่อพิสูจน์ว่าอดีตชาติ ของเด็กชายบัวลอยเป็นงูเหลือมจริงหรือไม่ มิใช่ทำเพียงแค่ครั้งเดียว หากมีการสัมภาษณ์สอบถามหลายครั้งหลายหน และเด็กก็ให้คำตอบตรงกันทุกครั้ง ซึ่งถ้าหากได้รับการเสี้ยมสอนให้โกหก หรือแต่งเรื่องมดเท็จขึ้นมา คำตอบก็คงจะผิดเพี้ยนหลงลืมไปไม่มากก็น้อย

วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2511 คณะทดสอบพิสูจน์เด็กชายบัวลอยได้เดินทางไปหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง ผู้ร่วมคณะมีพระมหามังกรธัมมวาที พระมหาถวัลย์ อาจารสุโภ วัดทุ่งศรีเมือง ครูเฉลิมศักดิ์ แสงสิงแก้ว ครูโรงเรียนศรีทองวิทยา และ นายเทอดธรรม แสงสิงแก้ว ผู้จัดการโรงเรียนศรีทองวิทยา พร้อมด้วยผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางออกจากจังหวัดอุบลราชธานี ไปตามถนนสายอุบล นครพนม มุ่งหน้าไปยังอำเภอเลิงนกทา

เมื่อถึงตัวอำเภอเลิงนกทาแล้ว ต้องเดินทางออกจากอำเภอไปตามถนนลูกรังอีก 18 กิโลเมตร จึงได้ไปถึงหมู่บ้านพัฒนาการตัวอย่าง บ้านหนองแซง ตำบลหนองแซง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี เวลาประมาณ 11.00 น. คณะพิสูจน์ได้สอบถาม นายตา แสงวงศ์ ผู้เป็นพ่อของเด็กชายบัวลอยถึงเหตุการณ์ก่อนเด็กชายบัวลอยจะมาเกิด นายตาได้ให้ปากคำแก่ พระมหาถวัลย์ และพระชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด ซึ่งได้บันทึกไว้เป็นหลักฐานดังนี้

"ผมชื่อตา มีลูกทั้งชายและหญิง รวม 9 คน บัวลอยเป็นคนที่ 8 ลูกทั้งหมดนี้เกิดจากผมและนางหนูพุกทั้งหมด วันเกิดเหตุนั้น ผมตั้งใจจะไปซื้อกระบือ เมื่อเดินทางผ่านไปทางเถียงนาของเฒ่าเหี่ยว เห็นคนมุงดูงูใหญ่กันแน่นบริเวณ จึงแวะเข้าไปดู ครั้นเข้าไปแล้ว เฒ่าเหี่ยวได้ชวนให้กินต้มงูด้วยกันก่อน โดยได้กินทั้งเนื้อและทั้งไข่งูด้วย กินแล้วก็นั่งคุยกันถึงเรื่องราวที่เฒ่าเหี่ยวไปฆ่างูได้ ตลอดถึงความอร่อยที่ได้กินงูกันคราวนั้น จนกระทั่งตะวันบ่ายจึงเลิกล้มความตั้งใจที่จะไปซื้อความกระบือ แล้วเดินกลับบ้านคนเดียว และไม่รู้สึกว่ามีใครติดตามมาด้วย ได้แต่นึกดีใจที่ได้กินต้มงูอิ่มหนำสำราญเท่านั้น นอกจากนี้ยังเอาเนื้องูติดมา 2 ท่อน แต่ละท่อนยาวประมาณ 1 ศอก ที่เห็นนั้นเป็นงูขนาดใหญ่มาก ตัวโตสัก 3 กำ และยาว 13 ศอก"

นายตา แสงวงศ์ ผู้เป็นพ่อของเด็กชายบัวลอยเล่าให้ฟังถึงการมาเกิดของงูเหลือมและเป็นลูกของตนไปแล้ว นางหนูพุก ผู้เป็นแม่ก็เป็นฝ่ายเล่าบ้าง

"คืนวันนั้น กินข้าวแลง (ข้าวเย็น) แล้ว ข้าน้อยก็เข้านอนแต่หัวค่ำ เมื่อเลยค่อนคืนไปแล้วจึงฝันว่ามีงูใหญ่ตัวหนึ่งมาขออยู่ด้วย งูนั้นมิได้ทำร้ายพิสังอะไรแก่ข้าน้อยเลย นับแต่นั้นมาก็ฝันในทำนองเดียวกันเรื่อยมา บางคราวก็ฝันว่าได้อุ้มงูใหญ่ตัวนั้น บางครั้งฝันว่างูใหญ่มาขอดูดนม การณ์เป็นดั่งนี้เสมอมา จนกระทั่งครบกำหนดคลอด ครั้นคลอดออกมาเห็นลูกชายมีลายเป็นงูเต็มเหมือนกับที่ปรากฎในความฝัน ก็ให้สลดสังเวชใจแท้ 2-3 วันแรกไม่กล้าแตะต้องด้วยเกิดความรู้สึกสะอิดสะเอียน พร้อมกับนึกภาพงูใหญ่ที่ปรากฎในความฝัน ให้หวั่นวิตกไปต่างๆ ก็เป็นลูกของตน ภาพงูใหญ่ในฝันนั้นลืมไม่ลงจนทุกวันนี้ "

ข้อมูลที่นางหนูพุกเล่าคล้องจองกับนายตาผู้เป็นสามีเล่า รวมทั้งถูกต้องตรงกันกับที่ด.ช.บัวลอยเล่ามาทั้งหมด เหลืออยู่แต่พรานเหี่ยวผู้เดียวที่ยังไม่ได้พูดเกี่ยวกับงูเหลือมกลับมาเกิดเป็นคนในครั้งนี้ ดังนั้น คณะของพระมหาถวัลย์ จึงเดินทางไปพิสูจน์ที่บ้านพรานเหี่ยวต่อไป โดยมี ด.ช.บัวลอยร่วมทางไปด้วย

พรานเหี่ยว หรือ นายเหี่ยว กุมารสิทธิ์ เป็นคนบ้านสีแก้ว อยู่ห่างจากบ้านหนองแซงบ้านเกิดของบัวลอยไกลพอสมควร การไปบ้านพรานเหี่ยวไม่ง่ายเลย เพราะออกจากตัวจังหวัดอุบลฯ ไปตามถนนสายอุบลฯ นครพนมไปถึงอำเภอเลิงนกทา แล้วแยกเข้าทางแยกไปยังบ้านสาวงามอีก 13-14 กิโลเมตร เส้นทางไปยังบ้านสาวงามนั้นทุรกันดารอย่างยิ่ง นอกจากผิวทางจะเป็นหลุมเป็นบ่อ บางช่วงยังเป็นแอ่งโคลนขวางเกือบเต็มถนน

คณะของพระมหาถวัลย์ ลุยรถไปถึงบ้านสาวงามแล้วก็ต้องต่อไปยังบ้านส้มฝ่ออีก 7-8 กิโลเมตร คราวนี้เส้นทางผ่านเข้าไปกลางป่าทึกอันเงียบสงัด และทางรถก็หมดลง ต้องเดินเข้าไปอีกหลายกิโลเมตรกว่าจะถึงบ้านของพรานเหี่ยว กระทั่งเวลาประมาณ 15.30 น. คณะพระมหาถวัลย์ก็มาถึงเถียงนาของพรานเหี่ยว เป็นเรือนไม้หลังเล็กๆ ปลูกอยู่บนเนิน ด้านหน้าเป็นทางลาดลงไปและเป็นที่นา

นายเหี่ยว เล่าให้ พระมหาถวัลย์ ฟังว่า ข่าวเด็กระลึกชาติเมื่อชาติก่อนเป็นงูเหลือมแล้วมาเกิดเป็นคน ตนเองก็ได้ยันข่าวมาเหมือนกัน แต่ไม่ได้สนใจกระทั่งไปเที่ยวงานบุญที่วัดโพธารามบ้านหนองแซง มีเด็กชายตัวเล็กๆ มาดึงชายผ้าแล้วต่อว่า ว่าเป็นคนใจร้าย ตนเองก็แปลกใจแต่ไม่ได้ติดใจอะไร

ต่อมาตนบวชเป็นพระภิกษุ ได้ยินข่าวว่าเด็กชายบัวลอยซึ่งบอกว่าอดีตชาติของตนเป็นงูเหลือมกล่าวพาดพิงถึงตน จึงได้เดินทางไปพบเด็กชายบัวลอยที่วัดโพธาราม ก็เอาด้ายมาผูกข้อมือ ขออโหสิกรรมกันต่อกันเสีย อย่ามีอาฆาตพยาบาทสืบต่อไปเลย เด็กชายบัวลอยก็รับคำและไม่คิดโกรธแค้นพรานเหี่ยวอีก เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง คณะพระมหาถวัลย์ ได้ให้พรานเหี่ยวและเด็กชายบัวลอยพาไปที่ถ้ำอ่างน้ำจาง ระหว่างทางนักข่าวได้ซักถามเด็กชายบัวลอยว่า

“ถ้ำที่ว่าเคยอยู่เมื่อตอนเป็นงูเหลือมอยู่ที่ไหน”

เด็กชายบัวลอยตอบว่า “อยู่ที่เขาน้ำจาง”

ผู้สื่อข่าวซักต่อ “ใหญ่แค่ไหน และข้างในล่ะเป็นอย่างไร”

“ใหญ่มาก”

“ใหญ่น่ะใหญ่แค่ไหน” ผู้สื่อข่าวซักอีก

เด็กชายบัวลอยนึกอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่า “ใหญ่ยังกะสนาม”

“เข้าไปลึกไหม” บัวลอยถูกซักต่อ

“ลึกมาก”

“ลึกสักเท่าไหร่”

“หลายเส้น”

“ในถ้ำมีกี่ชั้น”

“มี 2 ชั้น”

“ข้างในถ้ำมีน้ำบ้างไหม”

“ไม่มี ถ้ามีก็น้อยมาก แค่บางแห่ง”

“ข้างในมีอะไรอยู่”

“มีงู”

“อย่างอื่นล่ะ มีอะไรอีก”

“มีพระของพ่อเฒ่าศรีสงคราม”

“มีมากเท่าใด”

“มีหลาย”

นอกจากนี้เด็กชายบัวลอยยังถูกซักถามความเป็นอยู่ในถ้ำตอนเป็นงูเหลือมอีกว่า

“อยู่อย่างไรในถ้ำ ตอนนั้นนอนอยู่ส่วนล่างหรือบนของถ้ำ”

“นอนอยู่ส่วนล่าง”

“นอนกับใคร”

“นอนกับงูตัวผัว”

“อยู่ด้วยกันสักกี่ปี”

“สัก 4 5 ปี”

“กินนอนด้วยกันอย่างไร”

“เกี้ยว (รัด) กัน”

คณะของพระมหาถวัลย์มาถึงถ้ำน้ำจาง พร้อมด้วยพรานเหี่ยวและเด็กชายบัวลอย ปากถ้ำเป็นป่ารกชัฏ ปากถ้ำสูงประมาณเมตรครึ่ง กว้างประมาณ 3 เมตร จากปากถ้ำเป็นโพรงซอนลึกลงไปประมาณ 2 เมตร พระมหาถวัลย์ลงไปดูภายในถ้ำ พบว่าภายในถ้ำมีบริเวณกว้าง แต่ไม่ได้เข้าไปลึกจนสุดถ้ำ เพราะเกรงว่าจะพบกับงูเหลือมตัวผู้ ผัวของบัวลอยในชาติก่อน

สำหรับพระพุทธรูปในถ้ำ พรานเหี่ยวเป็นผู้เอาไปหมด มีพระพุทธรูปประมาณ 40 องค์ สูงตั้งแต่ 3 4 นิ้วไปจนถึง 1 ศอก พระแต่ละองค์มีอักษรขอมจารึกไว้ตรงฐานว่า “พ่อเฒ่าศรีสงครามกับเมียสร้างไว้ ร.ศ.101” พระพุทธรูปเหล่านี้พรานเหี่ยวให้ผู้อื่นไปหมด เพราะกลัวผีพ่อเฒ่าศรีสงคราม

.......เด็กชายบัวลอย ถูกพิสูจน์หลายครั้งหลายหน จนเป็นที่เชื่อได้ว่าอดีตชาติเขาเป็นงูเหลือม และได้เกิดมาเป็นคนในชาติปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก และในกรณีของเด็กชายบัวลอยระลึกชาตินี้ ยังเป็นข้อพิสูจน์ถึงการตายแล้วเกิด มิใช่ตายแล้วดับสูญไปเฉยๆ อย่างเห็นเป็นรูปธรรมที่สุด...!!!


นายธวัชชัย ขำชะยันจะ
ผู้เรียบเรียง



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 13/6/18 at 11:01 Reply With Quote


.


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved