ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 1/2/11 at 11:47 Reply With Quote

เล่าเรื่องไป "เมืองลาว" มกราคม ปี 2554 (ตอนที่ 2)






๑๒ มกราคม ๒๕๕๔ (อุดมชัย - เชียงราย)

เป็นอันว่า พวกเราคนไทยได้กราบครบถ้วนทั้ง ๕ องค์ ถึงแม้จะได้พบแค่ ๓ องค์ ส่วนอีก ๒ องค์ยังจมอยู่ในแม่น้ำ แต่ผู้เขียนถือว่าได้กราบไหว้กันอย่างครบถ้วนแล้ว เรื่องอะไรเราจะโง่กราบเท่าที่เห็น เพราะบุญสำเร็จที่ใจ จิตใจ เรานึกถึงพระที่จมอยู่ในน้ำด้วย เราก็ถือว่าได้กราบทั้งหมดแล้ว..ใช่ไหม? โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ไปด้วย เพียงแค่อนุโมทนายินดีด้วย ท่านก็ได้กำไรโดยไม่ต้องลงทุนให้เหนื่อยเลย



(ถนนลาดยางดีเรียบก่อนถึงหลวงน้ำทา แต่พอจะถึงห้วยทรายเหมือนรอยถูกฟันแทะ)

ขอเล่าต่อไปว่า เมื่อออกจากอุดมไชยหลังฉันเช้าแล้ว และเตรียมอาหารกล่องไว้ฉันเพล นั่งรถกลับทางเดิมมาทางหลวงน้ำทา ช่วงนี้เป็นเส้นทางที่ ๓ ชาติ ช่วยกันก่อสร้างคือ จีน ลาว และไทย ช่วงของคนไทยรับทำก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน จนรัฐบาลลาวไม่ยอมรับและให้รื้อทำใหม่ น่าขายขี้หน้ามาก แต่เราก็จำทนนั่งรถมาอย่างหน้าด้านๆ อายในฐานะคนไทยด้วยกัน วันนี้อากาศเริ่มร้อน มองเห็นท้องฟ้าเริ่มแจ่มใส ทั้งที่ตลอด ๖-๗ วันที่ผ่านมา พวกเราไม่เจอแสงแดดเลย

เดินทางมาถึง "ด่านห้วยทราย" ประมาณบ่ายสองโมง แสตมป์พาสปอรต์ออกจากลาว แล้วข้ามมาฝั่งไทยถึงบ่ายสองครึ่ง ค่าใช้จ่ายในการเหมารถกระบะวีโก้ คนขับรถคิดเงิน ๒๓,๐๐๐ บาท แต่ก็ต้องต่อรองกันนาน เพราะเริ่มแสดงนิสัยที่จะเอาเปรียบคนไทย ตามที่เคยเห็นมาหลายแห่งแล้ว

พวกเราเดินกลับขึ้นฝั่งไทย รู้สึกเบาสบาย ไม่เหมือนตอนที่ไป ต้องหิ้วของกระเป๋ามีเครื่องใช้เช่น ถุงนอนหมอนมุ้งเครื่องสัมภาระส่วนตัว ส่วนเครื่องสักการบูชาได้แบ่งถวายไปหมดทุกเมืองที่ไป ตอนนี้จึงรู้สึกสบายกันทุกคน เดินไปที่ฝากจอดรถเอาไว้ เขาคิดว่าจอดรถประมาณ ๓๕๐ บาท

จากนั้นผู้เขียนได้กลับที่ "วัดพระแก้ว" ซึ่งเคยแวะมาแล้วเมื่อวันที่ ๖ ม.ค. ทางวัดได้จัดงานสรงน้ำพระธาตุเสร็จพอดีและกำลังเก็บของอยู่ คุณสำราญจึงขึ้นไปห่มผ้าบนองค์พระเจดีย์ ผู้เขียนสรงน้ำพระบรมธาตุ และปิดทองช่อฟ้าใบระกา ร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาส ๓,๐๐๐ บาท ถวายหนังสือตามรอยพระพุทธบาท ๑ ชุด เสร็จแล้วเดินลงไปบูชารอยพระพุทธบาท "ผาช้าง" ที่อยู่ริมโขงหน้าวัดนี้ ที่ชาวบ้านเคยเห็นตอนหน้าแล้งน้ำจะแห้งลง ได้บูชาด้วยน้ำหอมและแผ่นทอง โดยโปรยลงไปบนน้ำ พร้อมกับสวดมนต์และอธิษฐานด้วย



(ถวายปัจจัยกับเจ้าอาวาสวัดพระแก้ว พร้อมกับหนังสือตามรอยพระพุทธบาทด้วย)



(ภาพด้านหลังคือพระวิหาร ที่จะจัดงานยกช่อฟ้าในวันที่ ๒๔ ม.ค. นี้)





(ชักรอกนำน้ำที่บริสุทธิ์ ซึ่งพวกเราได้ผสมด้วยน้ำหอมและแผ่นทองคำเปลว เพื่อขึ้นโสรจสรงองค์พระธาตุ)





(หลังจากได้ห่มผ้าและสรงน้ำองค์พระธาตุ ครบถ้วนตามโบราณประเพณีแล้ว จึงไปปิดทองช่อฟ้าภายในศาลา)



(นับว่าโชคดีทุกอย่าง เจ้าอาวาสบอกว่าพวกเราได้ปิดทองเป็นคณะแรก)



(ทิวทัศน์แม่น้ำโขงด้านหน้าวัดพระแก้ว มองเห็นฝั่งลาวอยู่ตรงข้าม)



(เดินลงไปเบื้องล่างแล้วนั่งบูชาอยู่ริมโขง น้อมจิตกราบไหว้ "รอยพระพุทธผาช้าง"ที่อยู่กลางลำน้ำโขง)



๑๘ พระธาตุวัดหลวง ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย



(ผู้เขียนกำลังชี้ให้เจ้าอาวาสดูรายชื่อ "วัดหลวง" ที่อยู่ในหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท")


พวกเราได้กราบพระเกศาธาตุ ณ วัดพระแก้วแล้ว ยังมีพระเกศาธาตุอีกเส้นหนึ่ง ณ วัดหลวง ที่ยังค้างอยู่ จึงได้ไปห่มผ้าพระเจดีย์ สรงน้ำหอมและปิดทอง ร่วมทำบุญ ๕๐๐ บาท และถวายหนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม ๑ กับท่านเจ้าอาวาส เพื่อเป็นการชดเชยที่ไปร่วมงานไม่ทันที่ พระธาตุดอยตุง และพระธาตุจอมกิตติ ซึ่งเป็นพระมหาธาตุเกรดเดียวกัน หมายถึงเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทานพระเกศาธาตุไว้นั่นเอง

ประวัติวัดพระแก้วและวัดหลวง

ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระอานนท์ ได้เสด็จถึง ดอยแห่งหนึ่งใกล้ "เมืองเมิง" อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ดอยแห่งนั้นมี ซอกเขาสลับซับซ้อน วิจิตรงดงาม มีถ้ำทรง พระองค์ได้ประทับรอยพระบาทเบื้องขวาไว้บนก้อนหินก้อนหนึ่ง ใกล้กับหินใหญ่ที่ชะโงกเงื้อมคล้ายกระท่อม อยู่ทางด้านขวาติดกับปากถ้ำ หันมาทางทิศตะวันออก (ในพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก เรียกว่า "พระพุทธบาทเมืองกาง" เมื่อปี ๒๕๔๔ ผู้เขียนเคยไปมาแล้ว ปัจจุบันเรียกว่า "ถ้ำพระบาท" เมืองน้ำยู้ แขวงบ่อแก้ว เป็น "รอยพระบาทเบื้องขวา" ตรงกับตำนาน)

แล้วพระองค์ได้เสด็จข้ามแม่น้ำโขงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มายังบ้านแห่งหนึ่ง คือบ้านของตำมิละ ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำโขง พระองค์ได้เสด็จลงสรงน้ำ บนก้อนหินก้อนหนึ่ง มีรูปคล้ายช้าง ตั้งอยู่กลางลำน้ำโขง (บัจจุบันมีรอยพระบาทปรากฏอยู่บนก้อนหินนั้น เรียกว่า "พระพุทธบาทผาช้าง")

แล้วพระองค์ได้ประทับบริเวณใต้ต้นขนุน เป็นระยะเวลาหนึ่ง ได้ทรงเทศนาสั่งสอนชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ให้ถือศีล ๕ แทนการเลี้ยงผี ก่อนพระองค์จากไป ด้วยความอาลัย ตำมิละหัวหน้าบ้าน จึงเอ่ยขอสิ่งหนึ่งจากพระองค์ไว้เพื่อระลึกถึง ในเวลานั้นพระองค์ประทับหันพระพักตร์ไปทางตะวันตก พระองค์จึงเอาพระหัตถ์ขวาลูปพระเศียรได้พระเกศามาสองเส้นเอายื่นให้แก่ตำมิละโดยพระหัตถ์ของพระองค์เองแล้ว บอกแก่ตำมิละว่า

"ผมเราสองเส้นนี้ให้บรรจุไว้ทางซ้ายมืออยู่เดี๋ยวนี้ เมื่อก่อนจะบรรจุเส้นผมเราสองเส้นนี้ ให้ท่านวัดตั้งแต่ที่เราอยู่เดี๋ยวนี้ทั้งสองข้างซ้าย - ขวา ให้มีระยะเท่ากัน"

ภายหลังหัวหน้าบ้านได้นำเส้นพระเกศาบรรจุผอบทองคำหนัก ๕ บาท ผอบละหนึ่งเส้น ใส่ไว้ในเรือทองคำหนัก ๒๕ บาท ลำละ ๑ ผอบ แล้ววัดระยะจากที่พระพุทธเจ้าเคยประทับออกไปในทางซ้าย-ขวา ในระยะที่เท่ากัน ขุดหลุมลึก ๙ วา เอาเรือที่บรรจุผอบวางไว้ในหลุมทั้งสองข้าง ข้างละหนึ่งลำ เอาเรือลอยไว้ในหลุมดิน แล้วก่ออิฐทับขึ้นจนพ้นผิวดินไม่ใหญ่ไม่สูง เป็นเพียงเครื่องหมายให้รู้ไว้เท่านั้น ซึ่งก็คือบริเวณพระเจดีย์ "วัดหลวง" ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายมือ และพระเจดีย์ "วัดแก้ว" ซึ่งอยู่ฝั่งขวาเช่นที่ปรากฎในปัจจุบัน

จากนั้นหัวหน้าบ้านตำมิละได้ว่าจ้างผู้รู้หนังสือมาสลักหินไว้สองแผ่นมีความกว้าง ๑ ศอก ยาว ๒ ศอก โดยสลักเป็นอักษรขอมโบราณเต็มแผ่นศิลา ในศิลาจากรึกได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาทที่แขวงเมืองเมิง ของอินโดจีน ฝรั่งเศส พร้อมทั้งบอกตำแหน่งที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับใต้ต้นขนุน

บนศิลาจารึกนั้นยังได้ทำผู้ที่จะมาสร้างพระเจดีย์ทั้งสองแห่งคือ "พระยาไชยราช" อีกทั้งจารึกข้อความไว้เกี่ยวกับความรุ่งเรืองของพระศาสนาและเมืองเชียงของในอนาคต แล้วหัวหน้าบ้านได้นำศิลาจารึกทั้ง ๒ แผ่นฝังไว้เป็นใบเสมา ณ ที่ฝังผอบบรรจุพระเกศาทั้งสองแห่ง ซ้าย-ขวา

หมายเหตุ : สำหรับแผ่นศิลาที่หนังสือพื้นเมืองได้กล่าวอ้างนี้ เจ้าหนานบุษรศ ผู้เรียบเรียงประวัติศาสตร์การสร้างเมืองเชียงของ ได้บันทึกไว้ว่า ศิลาจารึกทั้ง ๒ แผ่น ได้ถูกนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันนำออกไป เมื่อ ร.ศ. ๑๒๔ หรือ พ.ศ.๒๔๔๙ โดยนักท่องเที่ยวผู้นั้นสามารถอ่านอักษรขอมโบราณได้ จึงได้นำปืนไรเฟิลชนิด 3 ลำกล้อง สำหรับยิงสัตว์มาแลกจากเจ้าราชวงศ์ บุณรังษี ซึ่งเป็นน้องเขยของเจ้าจิตตวงษ์ เจ้าเมืองเชียงของในเวลานั้น แล้วนำศิลาทั้งสองแผ่นลงเรือถ่อขนาดใหญ่ในลำน้ำโขงสมัยนั้น มุ่งหน้าไปทางเมืองเชียงแสน

ที่มา - www.discoverylaos.com/index.php?option=history_chiangkhong
อ้างอิง : ประวัติการสร้างเมืองเชียงของ ขุนภูนพิเลขกิจ (เจ้าหนานบุษรศ จิตตางกูร) พ.ศ.๒๕๔๘


๑๙ พุทธอุทยานภูสวรรค์เชียงของ บ้านเชียง ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย



(มองเห็นป้ายสร้างพระอยู่ริมถนน)



(ผืนที่ดินบนเนินเขาถูกปรับให้เป็นสถานที่ก่อสร้างพระใหญ่)

ในปีนี้ผู้เขียนอยากจะไปแวะที่ พระเจ้าหลวงสวนดอก วัดสวนดอก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพราะเคยไปบูรณะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ที่นี่ จึงบอกให้ขับรถไปทางนั้น ระหว่างที่ออกมาจากเชียงของไม่ไกลนัก รถวิ่งเลียบริมแม่น้ำโขงถนนสายเชียงของ - เชียงราย เห็นป้ายข้างเชิญชวนร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ “พระพุทธศรีเชียงของ” พระพุทธรูปองค์ใหญ่ หน้าตัก ๑๙ เมตร สูง ๓๒ เมตร จึงได้บอกให้แวะเข้าไปทำบุญทันที



(ถวายปัจจัยกับพระอาจารย์ เพื่อร่วมสร้าง "พระพุทธศรีเชียงของ)

เมื่อจอดรถแล้วเดินเข้าไปที่พักชั่วคราว ส่วนด้านหลังเป็นเนินเขา กำลังเกรดที่ไว้ก่อสร้างองค์พระ นับเป็นการบังเอิญที่พระผู้เป็นประธานในการก่อสร้าง เคยพบกันมาก่อนที่วัดเขาช่องชาด อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนผู้เขียนได้เคยไปทำบุญกับท่านมาแล้ว คือร่วมสร้างพระหน้าตัก ๓๐ ศอก นี่ก็ได้พบกันอีกเป็นครั้งที่ ๒ จึงร่วมทำบุญกับท่านไปอีก ๕,๐๐๐ บาท ตอนนี้มีการเลี้ยงอาหารด้วย โชเฟอร์ของเราสองคนจึงทานข้าวเย็นที่นี่เลย

๒๐ พระธาตุจอมเม็ง ต. เวียง อ.เชียงของ จ. เชียงราย (พบใหม่)



(รถของเราวิ่งเลยป้ายวัดเล็กๆ ไปก่อน แล้วต้องเลี้ยวกลับมา)



(ปรากฏว่าองค์พระธาตุกำลังขึ้นนั่งร้านเพื่อทาสีใหม่)



(เมื่อไม่พบเจ้าอาวาส จึงได้มอบเงินค่าทาสีให้แก่ผู้ใหญ่บ้านนี้)

พระธาตุแห่งนี้ ความจริงไม่เคยรู้มาก่อน แต่เมื่อได้เห็นป้ายจึงบอกให้แวะเข้าไป ทั้งที่เป็นเวลาเย็นมากแล้ว รถวิ่งขึ้นไปบนเขา จะเห็นเป็นพระธาตุเก่าแก่ แต่ได้บูรณะมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ไม่ได้พบเจ้าอาวาส แต่ได้พบช่างที่กำลังขึ้นห้างเพื่อจะทาสีใหม่ นับว่าเป็นโอกาสอันดี ผู้เขียนจึงร่วมทำบุญเป็นค่าทาสี ๑,๑๐๐ บาท ทั้งนี้มีผู้ใหญ่บ้านขับรถขึ้นมารับเงินทันเวลาพอดี

๒๑ พระเจ้าหลวงสวนดอก วัดสวนดอก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ฉะนั้นกว่าจะเข้าไปที่ "วัดสวนดอก" ถึงเวลาหนึ่งทุ่มโดยประมาณ เข้าไปกราบพระเจ้าหลวงสวนดอกในเวลากลางคืนมืดหน่อย ต้องเปิดไฟหน้ารถส่องเข้าไป เดินไปไม่พบใครเลย เดิมคิดว่าจะนอนพักที่นี่ แต่เนื่องจากไม่สะดวกหลายอย่าง จึงเดินทางมาพักที่พระธาตุจอมกิตติ



๑๓ มกราคม ๒๕๕๔ (เชียงราย - บ้านต้นผึ้ง สปป.ลาว)

๒๒ พระธาตุจอมกิตติ ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย



(กราบกันตั้งแต่เช้ามืด เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปฝั่งลาวในวันนี้)

เวลา ๐๖.๓๐ น. ผู้เขียนและคณะได้ขึ้นไปกราบพระเกศาธาตุ, พระบรมธาตุแขนเบื้องขวา, และพระบรมธาตุส่วนหน้าผาก ซึ่งได้รวมกันบรรจุอยู่ในพระเจดีย์แห่งนี้ ซึ่งในวันที่ ๙ ม.ค. ที่ผ่านมาทางวัดท่าซุงโดยการนำของเจ้าอาวาสได้มากราบพระธาตุดอยตุงและพระธาตุจอมกิตตินี้ทุกปี ในปีนี้พวกเราได้มาล่าช้าไป เป็นเพราะข้ามไปฝั่งลาวแล้วกลับมาไม่ทันนั่นเอง ในวันนี้ก็มีโปรแกรมที่จะข้ามไปที่ฝั่งลาวกันอีก



รูปหล่อหลวงปู่โต, หลวงปู่ปาน และ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
เดิมอยู่ข้างศาลาบนองค์พระธาตุ ขณะนี้ได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่บนแท่นอันสมควรแล้ว



(ด้านข้างทั้งสองของพระราชานุสาวรีย์ "พระเจ้าพรหม" คือช้างพลายประกายแก้วจำลอง
ที่พวกเราได้เคยจัดงานพิธีฉลองชัย (ย้อนยุคเชียงแสน) เมื่อปี ๒๕๔๐ ได้นำมาถวายไว้ที่นี่)

ทั้งนี้ ในขณะที่ข้ามไปลาวที่บ้านห้วยทราย "คุณเอ็ง" คนขับรถเช่าที่เหมาไปนั้น ที่กระจกหน้ารถติดสติกเกอร์คำว่า "เมืองสุวรรณโคมคำ" และในขณะเดินทางได้เล่าว่า มีการขุดพบพระพุทธรูปเก่าแก่ที่จมอยู่ในแม่น้ำโขงมานาน ๕๐๐ - ๖๐๐ ปีมาแล้ว เวลานี้ได้นำมาไว้ที่ "วัดต้นผึ้ง" ฝั่งลาว จะต้องไปข้ามแม่น้ำโขงที่เชียงแสน



(ผู้เขียนรอลงเรือหางยาวที่ท่าเรือเชียงแสน)



(เรือวิ่งขึ้นเหนือแม่น้ำโขงไปได้สัก ๑๕ นาทีก็ถึงท่าเรือบ้านต้นผึ้ง สปป.ลาว)

ฉะนั้นเมื่อกราบไหว้บูชาเสร็จแล้วก็ไปฉันเช้าในตัวเมืองและเตรียมอาหารเพลไปด้วย เวลา ๐๘.๐๐ น. ไปที่อำเภอเชียงแสนเพื่อทำ "บอเดอร์พาส" (หนังสือข้ามแดนชั่วคราว) ข้ามไปยังฝั่งลาว เพื่อจะไปที่ "อาณาจักรสุวรรณโคมคำ" ตรงข้ามกับ "พระธาตุผาเงา" และ "พระเจ้าหลวงสวนดอก" เวลา ๐๙.๐๐ น. จึงข้ามไปยังฝั่งลาวแล้วเหมารถกะบะในการเดินทาง


อาณาจักรสุวรรณโคมคำ


พวกเราที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อฯ นับตั้งแต่ที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้นำไปกราบไหว้ที่เชียงแสนอยู่เสมอ จึงทำให้รู้จักประวัติความเป็นมาของ "เมืองโยนกนครเชียงแสน" ถึงแม้เมืองจะล่มจมน้ำไปกลายเป็นทะเลสาบเชียงแสน แต่ถ้าย้อนกลับไปอีกในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน บริเวณนี้มีชื่อเรียกว่า "เมืองสุวรรณโคมคำ" ซึ่งมีประวัติถูกพวกกล๋อม (ขอม) มาทำลายเช่นเดียวกัน

คำว่า "สุวรรณโคมคำ" จึงฝังจิตฝังใจผู้เขียนมานาน ยิ่งได้อ่านประวัติทราบว่า ชาวเมืองสุวรรณโคมคำสมัยนั้น มีประเพณีการจุดประทีปโคมทอง เพื่อบูชากันทุกบ้านทั้งเมือง จึงได้มีชื่อว่า "สุวรรณโคมคำ" คือ "โคมทอง" นั่นเอง

การเดินทางไปลาวครั้งนี้ ทั้งที่ไปมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่ครบถ้วนสักที โดยเฉพาะที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากลาวเหนือที่เคยอยู่ในเขต "สิบสองปันนา" มาก่อน และที่เป็นลาวอีสาน คืออยู่ในอาณาจักร "สิบสองจุไทย" ซึ่งมีเมืองแถง (เดียนเบียนฟู) เป็นเขตแดนของไทยมาก่อนเช่นกัน

ฉะนั้น อาณาจักรที่กว้างใหญ่ในอดีต โดยเฉพาะมีสถานที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนา ผู้เขียนก็ได้เดินทางไปกราบไหว้แทบจะครบถ้วนทุกแห่งแล้ว จึงเหลือแต่ดินแดน "สุวรรณโคมคำ" แห่งนี้ที่ยังค้างอยู่ ก่อนอื่นขอนำประวัติโดยย่อมาพอสังเขปจากเว็บ discoverylaos.com ดังนี้

โบราณสถานแห่งชาติลาว

ไม่ว่าท่านจะเป็นนักค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือ เป็นนักศึกษาศาสตร์ หาความรู้ก็ดี ไม่ว่าท่านจะเป็นนักขีดนักเขียน นักข่าวที่อยากมีหัวข้อเขียนพิสดารและจับใจ หรือ เป็นนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จะแสวงหาความรู้ ความตระการตาของทิวทัศน์ธรรมชาติ ความหลากหลายของสีสัน เผ่าพันธุ์ จารีตประเพณี หรือ แม้กระทั่งจะแสวงหาการผักผ่อน บำรุงร่างกายก็ดี

หนึ่งในจำนวนสถานที่ ที่มีทั้งร่องรอยปูชนียสถานทางประวัติศาสตร์ มีทั้งความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ และธรรมชาติที่หายากนั้น นั่นก็คือ อดีตเมืองสุวรรณโคมคำ ซึ่งต่อมากลายมาเป็นนครเชียงลาว นครเงินยาง หรือ นครเชียงแสน (เก่า) อยู่บริเวณ "เมืองต้นผึ้ง" แขวงบ่อแก้ว เขตหัวของ หรือ บริเวณที่เรียกว่า "เขตสามเหลี่ยมทองคำ" ทางฝั่งลาวเรานั่นเอง

สถานที่ดังกล่าวนั้น ตั้งอยู่ในเขตที่เป็นอดีตเกาะเขิน ซึ่งได้หายสาบสูญไปแล้วภายหลังที่น้ำโขงได้เปลี่ยนทางเดินน้ำ คงยังเหลือแต่ร่องรอยอย่างหนึ่งของเมืองเป็นบึงโค้งยาวประมาณ 3 กิโลเมตร เรียกว่า "หนองวังคำ"

เมื่อพวกเราล่องเรือลงไปตามแม่น้ำโขง จากเมืองต้นผึ้งไปถึงท่าต่อง ซึ่งอยู่คนละฟากกับเมืองเชียงแสนใหม่ทางฝั่งไทยในปัจจุบัน หรือพวกเราไปทางบกทางตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร พวกเราก็จะถึงสถานที่ที่เป็นใจกลางของเมืองร้างดังกล่าว คือ "เขตบ้านดอนทาด" และ "บ้านร่มเย็น" ซึ่งจะมีพระพุทธรูปปางสมาธิองค์มหึมาตั้งอยู่ที่นั่น

ที่ตั้งของเมืองต้นผึ้ง หรือ "เมืองสุวรรณโคมคำร้าง" นั้นยังเป็นสุดเขตตะวันตกของประเทศลาว คือ ห่างจากเมืองห้วยทรายไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตรทางอากาศ หรือทางน้ำ 60 กิโลเมตร และห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 375 กิโลเมตรทางอากาศ

เป็นโบราณสถานบรรจุร่องรอยทางประวัติศาสตร์แห่งโบราณนครเก่าแก่ เรียกว่า “นครสุวรรณโคมคำ” ซึ่งต่อมากลายมาเป็น นาคะนคร หรือ นครเชียงลาว นครเงินยวง (เงินยาง) หิรัญนคร แล้วก็ นครเชียงแสน (เก่า) จากการสำรวจเบื้องต้นในสถานที่ประมาณ 10,000 เฮคเตอร์ พบว่า มี โบราณสถาน 44 แห่ง และ สร้างโดยการก่ออิฐถือปูน ได้แก่ พระอุโบสถ พระธาตุ พระพุทธรูป บ่อน้ำ และ สถานที่อื่น ๆ สิ่งที่ยังคงความงดงาม

และ ความสง่าตระการที่ยังเหลือให้เห็น รอดพ้นจากฝีโจรปล้นสมบัติทั้งลาวและไทยสมัยก่อน ก็ได้แก่ พระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างโดยการก่ออิฐถือปูน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งมีความกว้างหน้าตัก 7.10 เมตร ความสูง 7.22 เมตร (ไม่รวมยอดเกศ) บ่าแต่ละข้าง 1.10 เมตร ด้านข้างตั้งแต่สะโพกถึงเข่า 3.60 เมตร นับว่าพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศลาว และ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากขนาดของพระพุทธรูปองค์นี้ ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้คือพระพุทธรูปประจำวัดของพระราชวัง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันคงเหลือแต่ร่างองค์พระพุทธรูป ส่วนพระหัตถ์ พระเกศ พระนาภี และ ฐานพระ ถูกโจรขุดเจาะเอาของมีค่าไปหมด

นอกจากพระพุทธรูปองค์นี้แล้ว ยังมีอีกองค์ที่ใหญ่เกือบเท่ากัน แต่พังทลายไปเนื่องจากการกัดเซาะของน้ำ นั่นก็คือ "พระล้านตื้อ" หรือ "พระรัศมีทองสำริด" ที่จมอยู่ใต้แม่น้ำโขงที่ "ดอนแห้ง" ของฝั่งลาว ยังคงเหลือแต่พระเจดีย์หลายองค์ให้เห็น แต่น่าเสียดายที่ถูกทำลายจากการขุดเจาะเพื่อเอาของมีค่า ยังคงเหลือบางองค์เท่านั้นที่ตั้งเด่นให้เห็น

ปูชนียสถานที่ยังคงหลงเหลืออยู่นี้ สามารถสันนิษฐานได้ว่า ส่วนใหญ่ มาจากยุคของนครเชียงแสน ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งพระองค์ได้ทรงรับสั่งให้สถาปนาบูรณะให้เป็นนครที่สวยสดงดงามบนสองฝั่งแม่น้ำโขง โดยมีศูนย์กลางของเมืองอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งคือที่เมืองต้นผึ้งนั่นเอง นครดังกล่าวถูกทำลายจากการรุกรานของกองทัพพม่า ในรัชกาลของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนั้นเช่นกัน

อันเป็นสาเหตุให้ดินแดนล้านนาถูกยึด และถูกแยกออกจากดินแดนล้านช้างในเวลาต่อมา ต่อจากแนวเขาเล็กๆ ตั้งทางด้านตะวันตกของนครร้างที่ทอดยาวจากทางเหนือไปทางใต้นั้น สังเกตเห็นมีคูเมือง ลึกและกว้างประมาณ 10 กว้างเมตร ทอดยาวจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง มีคันคูสูงเลียบทางฝั่งตะวันออกของคูเมือง ซึ่งก็คือทางตะวันตกของตัวนครนั่นเอง จึงเข้าใจได้ว่า นั่นเป็นแนวคูสู้รบและกำแพงป้องกันกองทัพของข้าศึก

ประวัติความเป็นมาของเมืองสุวรรณโคมคำ กว่าจะมาถึงนครเชียงแสน

ตำนานของนครโยนก ก็คือ "ตำนานลี่ผี" ของ "เจ้าคำหมั้นวงกดรัตนะ" ได้กล่าวไว้ มีข้อความดังนี้ :
พระเจ้าสิริวงสา กษัตริย์ของนครโพธิสารหลวง (นครโคตปูระ หรือ โคตบูร หรือ สีโคตรตะบอง เขตเมืองท่าแขกในปัจจุบัน) มีพระราชบุตร 2 พระองค์ องค์แรกมีพระนามว่า" อินทรวงศา" และ องค์น้องพระนามว่า "ไอยกุมาร"

เมื่อพระบิดาสวรรคต ราชโอรสองค์โตก็ขึ้นครองราชย์สมบัติ และองค์รองเป็นมหาอุปราช พระยาอินรวงศามีพระโอรส ทรงพระนามว่า "พระยาอินทปฐม" และพระยาไอยกุมารมีพระธิดา ทรงพระนามว่า "นางอูรสา" และ พระโอรส พระธิดาทั้งสองพระองค์ได้อภิเษกสมรสกัน ครั้นพระยาอินทรวงศาสวรรคต พระยาอินทปฐมกุมาร ก็ขึ้นครองราชย์สมบัติแทน

เมื่อนั้น พระยาไอยกุมาร ผู้เป็นอาและเป็นพ่อตา ได้สละตำแหน่งมหาอุปราช แล้วพาบริวารเดินเรือกลับขึ้นตามแม่น้ำโขง เป็นเวลา 3 เดือน จึงถึงเกาะเขิน ซึ่งตั้งอยู่ด้านซ้ายปากแม่น้ำกก ทางทิศตะวันตก พระยาไอยกุมาร จึงตัดสินใจตั้งราชนครที่เกาะเขิน อันประกอบด้วยครัวเรือนเบื้องต้น 3,000 ครัวเรือน

ขณะนั้นข่าวดีก็ได้มาถึงพระองค์ว่า ราชธิดาของพระองค์ได้ให้ประสูติพระโอรส ที่มีเดชานุภาพตั้งแต่ประสูติ และต่อมาก็เกิดอภินิหารขึ้นหลายอย่างในราชสำนักนครโคตรปูระ (โคตรบูร) อันเป็นสาเหตุให้เสนาอามาตย์ และ ไพร่ฟ้า กลัวว่าจะเกิดภัยพิบัติทำให้บ้านเมืองล่มจมได้

เมื่อเสนาอามาตย์เอาความขึ้นทูลถวายพระบิดาผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์เลยทรงรับสั่งให้เอาพระมเหสีและราชบุตรใส่แพลอยน้ำ ครั้นเมื่อพระเจ้าไอยกุมารทรงทราบเรื่องนี้ ก็เสียพระทัยเป็นยิ่งนัก จึงได้ทรงรับสั่งให้ไพร่ฟ้าราษฎรทำการบวงสรวงจุดธูปเทียน โคมไฟ และ ประทีป บูชาพญานาค ให้สว่างทั่วแม่น้ำโขงเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน

เพื่อขอให้พญานาคชูเอาเรือของพระธิดาและองค์กุมารน้อยไว้ไม่ไหลสู่ลงทะเล (ตามตำนานบอกว่า พญานาคได้สร้างลี่ผีขึ้น จึงปรากฏเป็นดอนขี้นาค เพื่อกั้นแม่น้ำโขง ทำให้แพองค์กุมารน้อยไหลขึ้นเหนือจนถึงเกาะเขิน) การที่บวงสรวงพญานาคโดยการจุดประทีป โคมไฟ ธูปเทียนบูชาไหลไปตามแม่น้ำโขงนี้เอง จึงก่อให้เกิดประเพณีการไหลเรือไฟของลาวครั้งแรก และ ปฏิบัติกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง ชุมชนใหม่ที่ตั้งขึ้นบนเกาะเขินนั้น จึงได้รับการขนานนามว่า "เมืองสุวรรณโคมคำ" ซึ่งได้มาจากพระนามขององค์กุมารน้อย ซึ่งมีพระนามว่า "สุวรรณมุขทวาร" และชื่อของพิธีจุดโคมบวงสรวงพญานาค ซึ่งเรียกว่า "โคมคำ"

เมืองสุวรรณโคมคำนั้น ตั้งขึ้นในสมัยใด และเชื้อกษัตริย์เมืองโพธิสารหลวงนั้นเป็นชาติพันธุ์ใด ?
ตามตำนานของประเทศศรีลังกา ซึ่งท่าน "ฟรังซิสการเย" เขียนไว้ในหนังสือการสำรวจแม่น้ำโขงของท่าน ในศตวรรษที่ 19 กล่าวไว้ว่า เมืองสุวรรณโคมคำนั้นปรากฏตัวอยู่ในศตวรรษที่ 5 ของคริสตกาล และตามตำนานน้ำท่วมโลก ซึ่งได้กล่าวถึง "พระยาศรีสัตนาค" ที่ครองเมืองหนองกระแสแสนย่าน ได้นำกำลัง 7 โกฏิ ( 7 พันล้าน) ยกลงมาตามแม่น้ำโขง และเป็นต้นกำเนิดของนาค 15 ตระกูล ในหลวงพระบาง และต่อมาชาวเมืองโพธิสารหลวง (ศรีโคตรตะบอง หรือ โคตรบูร) นั้นเป็นเชื้อขอม

ตำนานยังบอกว่า เมืองสุวรรณโคมคำนั้น เติบโตอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น บ้านเรือนของไพร่พลก็มีถึง 100,000 หลัง

ครั้งต่อมา เมืองสุวรรณโคมคำมีการประพฤติไม่ซื่อสัตย์ต่อพ่อค้า ซึ่งเป็นพวกนาคชาวหลวงพระบาง ทำให้เกิดการขัดแย้งกัน ชาวหลวงพระบางจึงได้ยกกำลังมาบุกทำลายเมืองสุวรรณโคมคำจนราบ ทำให้ชาวเมืองแตกตื่นอพยพไปทั่วสารทิศ เช่น หนีเข้าอุโมงค์ ไปศรีสัชนาลัย และหลวงพระบาง และได้นำประเพณีไหลเรือไฟไปปฏิบัติด้วย

ต่อมายังมีเชื้อนาคตระกูล "ลาวจก" คือ ลาวทางภาคเหนือของเชียงราย ได้มาสร้างนครสุวรรณโคมคำขึ้นอีกครั้ง ตามตำนานมีกำแพงเมืองรอบ 4 ด้าน และ แต่ละด้านยาว 3,000 วา ด้วยเหตุนี้ เมืองสุวรรณโคมคำที่สาบสูญไปแล้ว จึงได้ชื่อเรียกใหม่ว่า "เมืองนาเคนทรนคร" หรือ "นาคบุรี" หรือ "เมืองนาคพันธุสิงหนวัตนคร" หรือ "นครเชียงลาว"

เนื่องจากว่าชาวลาวภาคเหนือ (นาค) เป็นผู้สร้างขึ้น นอกจากชื่อต่าง ๆ นั้นแล้ว ในตำนานต่าง ๆ ของชาวลาวภาคเหนือ และมหากาพย์เรื่อง ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ยังได้เรียกไว้อีกชื่อหนึ่งว่า นครเงินยาง หรือ เงินยวง ต่อมาเมื่อ "พระยาแสนภู" ได้มาครองเมืองดังกล่าวก็ได้อีกชื่อว่า เชียงแสน (เก่า)

ตระกูลลาวจกได้ครองนครเชียงลาว หรือ นาคบุรี หรือ นครเงินยาง มาตลอด 43 รัชสมัย จนมาถึงสมัย "ขุนเจือง" กษัตริย์ลาวองค์แรกที่รวบรวมเผ่าต่าง ๆ ให้เป็นอาณาจักรเดียวกันอยู่ทางภาคเหนือ เมื่อ ค.ศ. 1096 ขุนเจืองได้ยกกองทัพพิชิตหลวงพระบาง เชียงขวาง และปะกัน (แคว้นแกวจี ของเวียตนาม) จากนั้นก็รวมเป็นอาณาจักรเดียวกัน โดยเฉพาะรวมตระกูลนาคและตระกูลขอมเข้าด้วยกัน

พระองค์จึงถือได้ว่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของเหล่าบรรดาเผ่าพันธุ์ต่างๆ ของชาติลาว อาณาจักรของขุนเจืองล่มสลายในรัชสมัยที่ 4 ของกษัตริย์หลวงพระบาง คือในสมัยรัชกาลของขุนกันฮาง ผู้ซึ่งเป็นเหลนโหลนของขุนเจือง หลังจากพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพของขุนลอ ที่ยกทัพมาจากเมืองแถง ( ปัจจุบันคือ เดียนเบียนฟู ของเวียตนาม)

เมืองสุวรรณโคมคำ อันเป็นชื่อแรกของนครโบราณแห่งนี้ นับว่าได้ผ่านการถูกทำลาย และ สร้างขึ้นใหม่หลายครั้งหลายหน และมีชื่อเรียกต่าง ๆ มากมาย ในที่สุดก็เหลือให้เห็นแต่ร่องรอยของเมืองร้างอันน่าสะเทือนใจ ปัจจุบันนี้ทางแผนกวัฒนธรรม แขวงบ่อแก้ว และ กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม ได้มีมาตรการอนุรักษ์และประกาศให้เป็นปูชนียสถานแห่งชาติ เป็นสถานที่อนุรักษ์และหวงห้าม เป็นอุทยานแห่งการศึกษาหาความรู้ แหล่งท่องเที่ยวและผักผ่อนหย่อนใจของนักค้นคว้า นักศึกษา นักอนุรักษ์นิยม และรักษาวัฒนธรรมอันหลากหลาย นั่นก็คือ ธรรมชาติที่สวยงามและปลอดโปร่ง

ออกไปไม่ไกลจากปูชนียอุทยานแห่งนี้ มีสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่มาที่แห่งนี้ คือ "บ่อน้ำร้อน" คุณภาพดี ต้นไม้ที่หายากหลายชนิด ร่องรอยอดีต "สามเหลี่ยมทองคำ ถ้ำคูหา" และวิถีชีวิตของชนเผ่าต่าง ๆ ที่หลากหลาย นอกจากนั้นที่พิเศษอีกอย่างคือ เมื่อถึงวันบุญออกพรรษา ก็จะได้ชมการไหลเรือไฟบูชาพญานาค ณ ที่ที่เป็นต้นกำเนิดของประเพณีนี้ และ เมื่อถึงฤดูดอกงิ้วบาน ก็จะได้ร่วมบุญดอกงิ้วอันสนุกสนานรื่นเริงหาที่ใดเปรียบได้เหมือน...

ที่มา - www.discoverylaos.com/index.php?option=suwan-khom-kham

ตำนานสุวรรณโคมคำ (โดยสังเขป)

จารึกไว้ว่ามีพญานาค 2 ตน โดยนาคที่อยู่ทางทิศเหนือ ชื่อ "พญาสุตตนาค" ส่วนนาคที่อยู่ทางทิศใต้ ชื่อ "พญาศรีสัตตนาค" หลังจากมีเรื่องวิวาทเนื้อช้างเนื้อเม่นกัน โดยนาคที่ได้เนื้อช้างมานั้น ชื่อพญาศรีสุทโธ ส่วนนาคที่ได้เนื้อเม่นนั้น ชื่อพญาสุวรรณ การวิวาทของนาคทั้งสองกินเวลานานถึง 7 ปี สัตว์ต่างๆ ในแถบนั้นเดือดร้อนไปทั่ว

ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาตัดสินความ โดยมีโองการให้นาคทั้งสองหยุดรบกัน แล้วให้แยกกันอยู่โดยสร้างแม่น้ำคนละสายจากหนองแส ใครถึงทะเลก่อนจะได้ปลาบึกลงไปอยู่ในแม่น้ำสายนั้น จากนั้นให้เอาภูเขาพญาไฟเป็นเขตกั้น ใครลุกล้ำก็ให้ไฟจากภูเขาพญาไฟไหม้ฝ่ายนั้นเป็นจุลมหาจุล

เมื่อได้รับโองการแล้ว พญาศรีสุทโธก็สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางตะวันออกของหนองแส เจอภูเขาขวางหน้าตรงไหน แม่น้ำก็คดโค้งไปตามภูเขา เพราะพญาศรีสุทโธเป็นนาคใจร้อน แม่น้ำนี้เรียกว่า "แม่น้ำโขง" คำว่า "โขง" มาจากคำว่า "โค้ง" คือไม่ตรง

ส่วนพญาสุวรรณ ก็พาบริวารสร้างแม่น้ำลงไปทางใต้ พญาสุวรรณเป็นนาคใจเย็น พิถีพิถัน พยายามสร้างแม่น้ำให้ตรง ซึ่งแม่น้ำนี้เรียกว่า "แม่น้ำน่าน" ซึ่งเปรียบกับแม่น้ำสายอื่นแล้ว ถือว่าตรงกว่าทุกสาย

ผลก็คือ พญาศรีสุทโธนาคสร้างแม่น้ำโขงถึงทะเลก่อน จึงได้ปลาบึกจากพระอินทร์ ซึ่งปลาบึกนี้ ปรากฏว่ามีที่แม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวในโลก จากนั้น พญาศรีสุทโธได้เหาะขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอทางขึ้นลงระหว่างเมืองบาดาลกับเมืองมนุษย์ เพราะนาคอยู่ในเมืองมนุษย์นานไม่ได้ พระอินทร์จึงโปรดให้ทางขึ้นลงไว้ 3 แห่ง คือ ที่พระธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ ที่หนองคันแท ที่พรหมประกายโลก (คำชะโนด)

แห่งที่สาม คือพรหมประกายโลก คือที่ที่พรหมลงมากินง้วนดินจนหมดฤทธิ์กลายเป็นมนุษย์ ให้พญาศรีสุทโธนาคไปตั้งบ้านเรือนครอบครองเฝ้าอยู่ และให้มีต้นคำชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งลักษณะต้นชะโนดเหมือนต้นไม้สามชนิด คือต้นมะพร้าว ต้นหมาก และต้นตาลผสมกัน และในเวลา 1 เดือนจันทรคติ ข้างขึ้น 15 วัน ให้พระยาศรีสุทโธนาคและบริวารกลายร่างเป็นมนุษย์ เรียกชื่อว่า "เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ"ทำหน้าที่รักษาคุ้มครองอาณาจักรสุวรรณโคมคำ....

ที่มา - nakusol.com



kittinaja
Super Administrator
*********
Posts: 192
Registered: 10/2/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 16/3/11 at 14:53 Reply With Quote


ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ (โดยพิศดาร)


(ขอบคุณภาพจาก rustanyou.com)

จักกล่าว "ตำนานถ้ำกุมภ์" และ สุวรรณโคมประเทศ คือ "เมืองท่าสุวรรณโคมคำ" อันเป็นที่สถาปนาพระศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ ซึ่งเสด็จอุบัติมาตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ เพื่อ โปรดปาณสัตว์ในภัททกัลป์นี้ เหตุใดจึงได้ชื่อว่า "ถ้ำกุมภ์" และ "สุวรรณโคมคำ" พึงทราบดังมีในภัทรกัลป์นี้เถิด...
☼ อ่านต่อได้ที่เว็บ th.wikisource.org หรือที่เว็บ rustanyou.com



ข่าวจาก "ผู้จัดการออนไลน์" 1 มีนาคม 2553 12:30 น.

พบซากเจดีย์ 600 ปี ยุคสุวรรณโคมคำ โผล่กลางลำน้ำโขงลาว

แผนที่จากเว็บไซต์ discoverylaos.com ที่วาดขึ้นจากแหล่งที่ค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุจำนวนมาก ทางฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ของไทย ในท้องที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณสุวรรณโคมคำที่มีอายุ 500-600 ปีมาแล้ว


ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงต่ำอย่างเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้ ทำให้เจดีย์เก่าแก่อายุ 500-600 ยุคเมืองสุวรรณโคมคำ โผล่ขึ้นมาให้เห็นซากบนเกาะกลางลำน้ำ ซึ่งช่วยสานต่อตำนานเมืองงโบราณสุวรรณโคมคำ ที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว กับ อ.เชียงแสน จ.เชียงรายของไทย ในยุคปัจจุบัน

การค้นพบดังกล่าวนับเป็นหลักฐานชิ้นใหม่อีกชิ้นหนึ่งที่อาจจะช่วยสนับสนุนทฤษฎีของนักโบราณคดีที่เชื่อว่า เมืองสุวรรณโคมคำของชาวไทยล้านนากับชาวลาวที่เคยรุ่งเรืองในอดีตนั้นตั้งอยู่คาบเกี่ยวกับลำน้ำโขงที่กลายเป็นดินแดนไทยและลาวขณะนี้

ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว ซากเจดีย์โบราณโผล่ขึ้นมาในบริเวณเกาะเล็กๆ ฝั่งบ้านดอนสะหวัน เชื่อว่าเจดีย์องค์นี้จะเป็นส่วนหนึ่งของวัดโบราณ เนื่องจากมีการค้นพบซากพระอุโบสถอยู่ในบริเวณเคียงริมฝั่งแม่น้ำโขง ด้วย

นอกจากซากเจดีย์แล้วยังค้นพบพระพุทธรูปอีก 26 องค์ รวมทั้งพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด ทองแดงและทองเหลือ ตลอดจนพระพุทธรูปไม้ ทั้งพระพุทธรูปที่มีรูปทรงปกติทั่วไป และพระพุทธรูปที่หล่อ ก่อรูปเป็นใบโพธิ์ด้วย พระพุทธรูปหลายองค์ยังคงมีสภาพดี ขปล.กล่าว

การค้นพบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองแดง สำริดและทองเหลือ แสดงให้เห็นความร่ำรวยด้วยแร่ธาตุล้ำค่าในแผ่นดินลาวยุคโบราณ แม้กระทั่งถึงปัจจุบันแม่น้ำโขงในแถบนั้นยังอุดมไปด้วยทองคำ ซึ่งมีการลักลอบงม หรือขุดกันขึ้นมาใช้มานานนับร้อยปีแล้ว

คณะกรรมการชายแดนร่วมลาว-พม่า ที่เพิ่งจะเสร็จสิ้นการประชุมในสัปดาห์ที่แล้ว ได้ตกลงกันจะหาทางสกัดกั้นการลักลอบขุดทองอย่างผิดกฎหมาย ตามแนวชายแดนของสงประเทศที่ติดกับแม่น้ำโขง ในเขต จ.ท่าขี้เหล็กและแขวงบ่อแก้ว สื่อของทางการกล่าวในรายงานก่อนหน้านี้

นายขันทอง แก้วปะเสิด ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมแห่งแขวงบ่อแก้วกล่าวว่า พระเจดีย์โผล่ขึ้นมาให้เห็นครั้งแรกกลางลำน้ำโขงในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว เมื่อระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว ต่อมาทางการเมืองตนผึ้งจึงได้ร่วมกับบริษัทดอกงิ้วคำ (เจ้าของโรงแรมกาสิโนใหญ่แห่งแรกในเขตสามเหลี่ยมทองคำของลาว) ใช้รถแบ็กโฮขุดและดึงซากเจดีย์ขนาดความสูงประมาณ 3 เมตรขึ้นจากน้ำ


ภาพจาก discoverylaos.com เศียรพระพุทธรูปที่ค้นพบก่อนหน้านี้ และในเดือน ก.พ.นี้ ทางการลาวได้กู้ซากเจดีย์อายุ 500-600 ปี ขึ้นจากกลางลำน้ำโขง ที่น้ำลดระดับลงจนตื้นเขินและซากโผล่ขึ้นมาให้เห็น นับ เป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนความเชื่อที่ว่า เมืองโบราณสุวรรณโคมคำสร้างขึ้นคร่อมลำน้ำและครอบคลุมดินแดนสองฝั่ง ที่เป็นเขต อ.เชียงแสน จ.เชียงรายของไทย กับ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้วของลาวในปัจจุบัน


ภาพจาก discoverylaos.com พระพุทธรูปโบราณที่วัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง ที่ค้นพบก่อนหน้านี้ ในเขตเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้วของลาว ซึ่งได้ช่วยยืนยันการดำรงอยู่ของอู่อารยธรรม เมืองโบราณสุวรรณโคมคำ ในเดือน ก.พ.นี้ ทางการลาวได้กู้ซากเจดีย์อายุ 500-600 ปี ขึ้นจากกลางลำน้ำโขง ที่น้ำลดระดับลงจนตื้นเขินและซากโผล่ขึ้นมาให้เห็น เป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนเรื่องนี้
ด้
"การค้นพบครั้งนี้ได้พิสูจน์การมีอยู่จริงของอู่อารยธรรมเมืองโบราณสุวรรณโคมคำ ในเขตเมืองต้นผึ้ง ซึ่งก่อนหน้านี้มีการค้นพบโบราณสถานกับโบราณวัตถุอื่นๆ อีกจำนวนมาก" ขปล.กล่าว ทางการลาวกำลังเร่งขุดสำรวจเมืองโบราณสุวรรณโคคำ รัฐบาลลาวประกาศเมื่อปีที่แล้วจะร่วมกับรัฐบาลไทย ขึ้นทะเบียนเมืองเก่าสุวรรณโคมคำอายุ 500-600 ปี เป็นมรดกโลก.


ภาพถ่ายวันที่ 23 มิ.ย.2552 เรือติดธงชาติจีนจอดนิ่งอยู่ที่บริเวณท่าเรือศุลกากร อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ฝั่งตรงข้ามเป็นดินแดนลาวในเขตเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ที่มีการค้นพบโบราณวัตถุกับโบราณสถาน เมืองโบราณสุวรรณโคมคำอายุ 500-600 ปี


ภาพถ่ายวันที่ 23 มิ.ย.2552 มองข้ามแม่น้ำโขงช่วงแคบๆ ทางตอนเหนือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มองเห็นสถานที่ตั้งโรงแรมกาสิโนหรูของกลุ่มดอกงิ้วคำจากจีน กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง สำนักข่าวสารปะเทดลาวกล่าวว่า ไม่ไกลจากจุดนี้ เจ้าหน้าที่ทางการกับบริษัทเอกชนดังกล่าวได้ร่วมกันกู้ซากเจดีย์สูงประมาณ 3 เมตรขึ้นจากลำน้ำโขง


ภาพถ่ายวันที่ 23 มิ.ย.2552 ศูนย์การท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่บริเวณสบรวก ทางตอนเหนือ อ.เชียงแสน พระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานเด่นเป็นสง่าอยู่ใกล้กับช้างหล่อขนาดเท่าตัวจริงที่หันหน้าสู่ลำน้ำโขงทางทิศตะวันออก ฝั่งตรงข้ามยังเป็นเขตเมืองโบราณสุวรรโคมคำ อู่อารยธรรมอายุ 500-600 ปี ในดินแดนลาว

ที่มา - manager.co.th

๒๓ วัดดอนสวรรค์พัฒนาราม บ้านต้นผึ้ง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว



(ซุ้มประตูทางเข้าวัดดอนสวรรค์ฯ กำลังสร้างอยู่พอดี)



(ผู้เขียนกำลังยืนสนทนากับเจ้าอาวาสวัดดอนสวรรค์ฯ)

เมื่อผู้อ่านก็ได้ทราบรายละเอียดเป็นอย่างดีแล้ว คราวนี้จะเล่าเรื่องการเดินทางต่อไป หลังจากข้ามเรือจาก "ท่าเรือเชียงแสน" ไปที่ "ท่าเรือบ้านต้นผึ้ง" กันแล้ว พวกเราก็ได้ว่าจ้างรถกระบะเก่าๆ แต่แรงดีคันหนึ่ง คนขับรถก็มีอายุแล้วเขาคิดราคา ๕๐๐ บาท จึงได้ขับรถไปทางเกาะดอนซาว (หนองวังคำ) แต่ได้แวะที่ วัดดอนสวรรค์พัฒนาราม เป็นแห่งแรกกันก่อน



(ท่านได้นำเข้าไปในศาลา พร้อมกับเล่าเรื่องการขุดพบพระพุทธรูปโบราณเป็นจำนวนมาก)



(หลังจากได้กราบไหว้บูชาแล้ว จึงได้เดินออกไปด้านนอกศาลา เพื่อชมซากพระเจดีย์)

โยมคนขับรถได้เล่าว่า ทางลาวได้ขุดพระเจดีย์ในบริเวณลำน้ำโขง ขุดได้ช่วงตรงกลางของพระเจดีย์ และยกมาไว้ที่วัดนี้ อีกทั้งขุดได้พระหน้าตักตั้งแต่ ๙ นิ้วลงมาถึงพระเครื่องขนาดที่แขวนคอได้รวมกันแล้ว ๑๐๐ กว่าองค์ พวกเราโชคดีจึงได้เข้าไปชมพระที่ขุดมาได้ภายในศาลา แล้วออกไปบูชาพระเจดีย์ที่วางไว้ข้างศาลาด้วยน้ำหอมและแผ่นทอง



ผู้ชายเสื้อสีน้ำเงิน เป็นคนศรีสะเกษเล่าว่า เคยมีคนถูกหวยจากเจ้าแม่ตะเคียนทองนี้
และก่อนที่จะขุดพบซากพระเจดีย์นี้ เคยมีคนเห็นดวงไฟลอยขึ้นเหนือแม่น้ำโขงอีกด้วย



(คุณสำราญช่วยกันห่มผ้าสไบทองรอบองค์พระธาตุโบราณ ก่อนที่จะกราบไหว้บูชา)



(ผู้เขียนใส่เลข 5 ลงไปที่ขอนไม้นี้ที่วางอยู่ตรงกลาง เพื่อจะได้รู้ว่าเห็นเลขตรงไหน)

ตอนนี้มองเห็นข้างพระธาตุที่ขุดขึ้นมามีไม้ตะเคียนแห้งอยู่ ๓ ท่อน ในระหว่างนี้มีคนไทยคนหนึ่งบอกว่า ขุดขึ้นมาพร้อมพระธาตุ ในขณะที่ก้มมองไปเห็นเป็นเลข 5 ตรงไม้ตะเคียนที่บริเวณถูกตัดต้นหนึ่ง จึงนำผ้าทองที่ตัดเตรียมไว้ยาว ๓ เมตรห่มพระธาตุ (หลังจากกลับมาแล้ว ผู้เขียนบอกว่าสงสัยเจ้าแม่ตะเตียนทองจะให้เลข 55 ปรากฏว่างวดนั้นยังไม่ออก แต่ได้มาออกในงวดต่อไปคือเลขท้ายสองตัว 55 ซึ่งตรงกับเลขทะเบียนรถของเราด้วย) จากนั้นได้ทำบุญใส่ตู้บูรณะวัด ๕๐๐ บาท

อดีต "สุวรรณโคมคำ" และ "เชียงแสน" เคยเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน

ดินแดนสุวรรณโคมคำ หมายถึงพื้นที่บริเวณ "บ้านร่มเย็น" เมืองต้นผึ้ง ประเทศ สปป.ลาว เชื่อมต่อกับพื้นที่ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน ต่อมาหลังจากแม่น้ำโขงเปลี่ยนเส้นทางจึงแบ่งแยกออกจากกัน



(พระใหญ่เดิมพระเศียรหล่นลงมา ภายหลังกรมศิลป์ลาวได้เข้ามาบูรณะ ภาพจาก discoverylaos.com)

เมืองสุวรรณโคมคำมีประวัติศาสตร์อยู่ในยุคก่อนเมืองหิรัญนครเงินยาง เมืองโยนกนาคพันธุ์ และเมืองเชียงแสน ปัจจุบันคงเหลือร่องรอยซากอิฐและพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งชาวลาวเรียกว่า "พระเจ้าโองโมง" แปลว่า "พระองค์ใหญ่" นั่นเอง

การเดินทางไปยังพื้นที่ดินแดนสุวรรณโคมคำต้องทำหนังสือผ่านดินแดนที่หลังที่ว่าการอำเภอเชียงแสน ลงเรือที่สามแยกหน้าอำเภอเชียงแสนไปขึ้นที่เมืองต้นผึ้ง และมีรถรับจ้างเข้าไปจากเมืองต้นผึ้งไปบ้านร่มเย็นอีกประมาณ ๕ กิโลเมตร ระหว่างทางแวะกราบไหว้พระที่ วัดดอนสะหวัน เป็นพระพุทธรูปและพระเจดีย์ที่ขุดได้จากกลางลำน้ำแม่โขง เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมาจำนวนมาก

ที่มา - bansaeo.go.th

หมายเหตุ : สำหรับข่าวที่ขุดพบพระพุทธรูปและพระเจดีย์ได้จากกลางลำน้ำแม่โขง เมื่อปี ๒๕๕๓ นั้น ผู้เขียนและคณะไม่เคยทราบมาก่อนเลย ถือว่าได้ไปพบเห็นกันโดยบังเอิญ หลังจากกลับมากำลังเขียนเล่าเรื่องนี้ จึงจะเพิ่งทราบข่าวดังกล่าวนี่แหละ

๒๔ เมืองโบราณสุวรรณโคมคำ บ้านร่มเย็น เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว



(รถปิ๊คอัพที่เช่าวิ่งผ่านไร่ข้าวโพด มองไปไกลจะเห็นฝั่งไทย)



(บริเวณป่าโปร่งจะเห็น "พระใหญ่" โบราณอยู่กลางทุ่ง)

พวกเราออกจากวัดดอนสวรรค์ แล้วออกจากไปนอกหมู่บ้าน รถวิ่งไปตามถนนลูกรังแคบๆ ที่ขรุขระ ถ้าหน้าฝนคงจะแย่กว่านี้ ประมาณ ๓๐ นาที รถก็เลี้ยวซ้ายเลาะเลียบไปตามไร่ข้าวโพด มองเห็นซากพระเจดีย์เก่าๆ อยู่บ้าง แล้วรถวิ่งผ่านศาลาเก่าหลังหนึ่ง มองไปไม่ไกลๆ จะเห็นซากพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่กลางป่า


แต่ถ้ามองข้ามฝั่งโขงไปทางฝั่งไทย จะเห็นพระพุทธรูปเชียงแสน สิงห์ ๑ องค์ใหญ่ตั้งเด่นอยู่ในวัดเกาะผาคำ ที่บ้านแซว และฝั่งตรงข้ามกับ "พระธาตุผาเงา" และ "พระเจ้าหลวงสวนดอก" เป็นเมืองที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนในอดีต และเคยเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง เช่น "นาคะนคร" หรือ นครเชียงลาว นครเงินยวง(เงินยาง) หิรัญนคร นครเชียงแสน เป็นต้น



(หลังจากทำพิธีบวงสรวงกราบไหว้บูชาสถานที่สำคัญ ณ อาณาจักรสุวรรณโคมคำแล้ว)

ชาวบ้านแถวนี้เรียก "พระใหญ่" โดยกรมศิลปากรลาวได้เข้ามาอนุรักษ์ไว้เป็น "โบราณสถาน" เป็นพระขนาดหน้าตักประมาณ ๕ เมตร อยู่ในบริเวณนี้โดดเด่นองค์เดียวที่ยังเหลือซากอยู่ แขนเบื้องขวาหายไป ส่วนที่เป็นขาขัดสมาธิชำรุด พระเศียรชำรุด พระกรรณหายไป พระเมาฬีก็หายไปด้วย เชื่อว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับ “พระเจ้าหลวงสวนดอก” ซึ่งอยู่ทางฝั่งเชียงแสน ตรงกับตำบลบ้านแซวฝั่งไทย



(มุมภาพจากด้านหลังขององค์พระพุทธรูป "โองโมง")

คนขับรถเล่าให้ฟังว่า เคยมีพระมาซ่อมแซมเพื่อให้สมบูรณ์ทั้งองค์ โดยได้ขนเหล็กและปูนมาเตรียมไว้แล้ว แต่ทางการลาวห้ามไม่ให้สร้าง เพื่อรักษาให้เป็นพุทธสถาน มีชาวลาวมากราบไหว้กันอยู่เสมอ ดังจะเห็นดอกไม้ธูปเทียนวางเกลื่อน ตอนนี้คุณสำราญได้เตรียมเครื่องบูชา เพื่อจะได้ทำพิธีสักการบูชา ณ สุวรรณโคมคำ รวมทั้งอาณาจักร โดยถือเอาสถานที่นี้เป็นจุดศูนย์กลางต่อไป



(หลังจากเสร็จพิธีแล้วเป็นเวลา ๑๑ โมงพอดี จึงได้มานั่งฉันเพลบนศาลา)

ก่อนที่จะทำพิธีก็ได้ถวายผ้าห่มสไบเฉียงที่องค์พระ แล้วบวงสรวงด้วยเทปหลวงพ่อ สรงน้ำหอมและปิดทอง พร้อมกับสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย คาถาเงินล้าน อุทิศส่วนกุศล เป็นอันเสร็จพิธี แล้วกลับมานั่งฉันเพลบนศาลาเก่าๆ มองเห็นป้ายภาพเก่าๆ แขวนอยู่มากมายจากเว็บ discoverylaos.com จึงทำให้รู้รายละเอียดสถานที่นี้เพิ่มขึ้น จึงขออนุโมทนาคณะผู้จัดทำเว็บไซด์ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย.


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 16/3/11 at 15:04 Reply With Quote


๒๕ วัดศรีบุญเรือง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว

สำหรับสถานที่แห่งนี้ ต้องขับรถย้อนกลับมาทางบ่อนกาสิโน เพราะได้ข้อมูลจากคนขับรถว่า จะมีการวางศิลาฤกษ์ สร้างพระหน้าตักกว้าง ๙ เมตร ปางนาคปรก และถ้านับพญานาคที่แผ่พังพานแล้วจะมีความสูง ๒๕ เมตร และทราบว่าทางวัดจะทำพิธีเวลา ๑๓.๓๙ น. ผู้เขียนจึงบอกคนขับรถให้รีบไปทันที พร้อมกับเพิ่มค่าเช่ารถอีก ๑๐๐ บาท รวมเป็น ๕๐๐ บาท



(คนขับรถบอกว่าวันนี้จะมีงานพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างพระใหญ่ จึงรีบเดินทางพบมีป้ายหน้าวัดพอดี)



(ทางวัดกำลังจัดเตรียมสถานที่ก่อสร้าง ที่ด้านหลังพระวิหารหลังนี้ จึงร่วมทำบุญสร้างพระ ๑,๑๐๐ บาท)



บริเวณด้านหลังวัด จะเป็นสถานที่วางศิลาฤกษ์สร้าพระใหญ่ปางนาคปรก)





(การจัดทำบายศรีของชาวลาวสวยงามดี มีพระพุทธรูปปางนาคปรกอีกด้วย)





(พุ่มผ้าป่าพร้อมทั้งบายศรีพานพุ่มและบายศรีต้นเทียน)





(มองจากฝั่งลาวไปยังฝั่งไทย จะเห็นพระเชียงแสนทองคำสวยงามอยู่ที่สามเหลี่ยมทองคำ)



(ที่เห็นเป็นหลังคาทรงกลมสีทอง คือ ด่าน ต.ม. ถาวรของ สปป.ลาว)




(รถได้วิ่งออกจากด่านต.ม. ของลาว แล้ววิ่งผ่านเมืองใหม่ที่กำลังก่อสร้าง
มีโรงแรมใหญ่โต และอาคารร้านค้ามากมาย แล้วพวกเรากลับมาลงเรือหางยาวที่บ้านต้นผึ้ง)



โครงการนี้ทางประเทศจีนได้มาลงทุนให้เป็นเมืองการพนันที่ยิ่งใหญ่ในเขตลาวแห่งนี้



(พวกเราก็ได้นั่งปลงถึงเรื่องความยิ่งใหญ่ในทางโลกอย่างนี้ จนกลับมาถึงท่าเรือเชียงแสน)



(เดินขึ้นจากเรือแล้ว ในระหว่างรอรถ จึงได้ยืนถ่ายรูปที่ริมโขง ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน)



(จากนั้นได้เดินทางต่อไปที่สามเหลี่ยมทองคำ ด้านนี้จะเห็นป้ายแผนที่อยู่ข้างพระใหญ่ริมโขง)



(ภาพนี้อาจจะมัวๆ แต่อยากจะให้เห็นว่า เมื่อกี้นี้เรายืนอยู่ริมโขงฝั่งลาวนั่นเอง)



(ภาพนี้จากเว็บ thaiseafrog.com ทำให้เห็นบริเวณ "สามเหลี่ยมทองคำ" โดยรวมได้ชัดเจน)



("พระเชียงแสนสี่แผ่นดิน" หรือ "พระพุทธนวล้านตื้อ" หน้าตัก ๙.๙๙ เมตร ผู้เขียนเคยไปร่วมสร้างหลายครั้งแล้ว)


พวกเราเดินทางกลับจากฝั่งลาวถึงฝั่งไทยเวลาบ่ายสองโมง แล้วเดินทางต่อไปที่ "โรงเรียนเชียงแสน" เพื่อพบ อาจารย์นคร (ผู้เขียนได้มอบหมายให้ดูแลการบูรณะ "พระเจ้าหลวงสวนดอก") ร่วมทำบุญกับอาจารย์นคร ซึ่งวางแผนที่จะสร้างวิหารที่พระเจ้าหลวงสวนดอก เป็นจำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท แล้วกลับมาแวะที่สามเหลี่ยมทองคำ เพื่อกราบนมัสการ "พระพุทธนวล้านตื้อ" อันลือโลกต่อไป

๒๖ วัดแม่สรวย อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

เป็นอันว่าการเดินทางในทริปนี้ ถือว่าเป็นการจบการเดินทางไป "ลาวเหนือ" ครบถ้วนเกือบทุกแห่ง แล้วก็ยังได้พบสถานที่เกินจากความคาดหมาย อีกทั้งได้ร่วมสร้างพระใหญ่ที่ฝั่งลาวอีกด้วย นับว่าโชคดีหลายชั้นทีเดียว หลังจากนั้นก็ยังโชคดีอีกตลอด คือปรากฏว่าได้พบการสร้างพระใหญ่และพระเจดีย์ใหม่ๆ อีกหลายแห่ง โดยได้ย้อนกลับมาทางเชียงราย ในระหว่างทางพบว่ามีการสร้างพระเจดีย์ จึงได้เลี้ยวรถเข้าไปทำบุญดังนี้



(ป้ายสร้างพระธาตุเจดีย์ศรีอรุณโชติ ทางวัดเริ่มสร้างฐานพระเจดีย์)



(ร่วมทำบุญสร้างพระธาตุเจดีย์ศรีอรุณโชติ และพระธาตุสิบสองราศี เป็นเงิน ๑,๑๕๐ บาท)


๒๗ วัดศรีบุญเรือง อ.แม่จัน จ.เชียงราย



(ป้ายสร้างพระธาตุเจดีย์ วัดศรีบุญเรือง ภายในวัดกำลังสร้างฐานองค์พระธาตุ)



(ร่วมทำบุญสร้างพระธาตุศรีบุญเรือง ๑,๑๐๐ บาท)




๑๔ มกราคม ๒๕๕๔ (เชียงราย - พิษณุโลก)

วันนี้นับเป็นวันที่สิบของการเดินทาง จึงได้ล่องกลับลงมาจากภาคเหนือ โดยมีเป้าหมายที่ "วัดพระธาตุภูปอ" แต่ขณะที่รถวิ่งผ่านพระธาตุดอกบัวทอง จึงได้แวะเข้าไปกราบนมัสการ ซึ่งอยู่บนเขาจะต้องนำรถขึ้นไปจอดที่หน้าบันได

๒๘ พระธาตุน้ำ ๑๒ ราศี (ดอกบัวทอง) ต.โรงช้าง อ.ป่าแดด จ.เชียงราย (พบใหม่)



(รถวิ่งเข้ามาเจอป้ายบอกทางเข้าวัดให้เลี้ยวขวา)



(แล้วจอดรถไว้ตรงทางขึ้นบันได ที่จะไปวิหาร และ พระเจดีย์ที่อยู่ตรงข้ามกัน)



(ผู้เขียนได้พบกับเจ้าอาวาสพอดี ท่านเป็นคนอีสานธุดงค์มาอยู่ที่นี่หลายปีแล้ว)



(เดิมก่อนที่ท่านจะมาอยู่ มีพระรูปอื่นได้มาสร้างไว้ แต่ได้ลาสิกขาบทไปแล้ว ท่านจึงพาเดินขึ้นไปบนวิหาร)



(ระหว่างเดินขึ้นบันได ช่วงเช้าอาหารยังไม่ค่อยย่อย ท่าทางจะอืดๆ สักหน่อย)



(แต่ก็ขึ้นมาถึงจนได้ วิหารหลังไม่ใหญ่นัก แต่ก็สร้างได้สวยงามบนยอดเขานี้ ซึ่งมองดูแล้วไม่ง่ายเลย)



(จึงเข้าไปกราบพระประธานทรงเครื่องจักรพรรดิในวิหาร)



(พระธาตุแห่งนี้ยังไม่เคยมา เพิ่งจะได้มาเป็นครั้งแรก ตามข้อมูลใน GPS คือเครื่องนำทาง)



(หลังจากนั้นได้เดินลงมาทางบันได จะมองเห็นทางขึ้นพระเจดีย์อีกด้านหนึ่ง)



(บริเวณนี้สงบเงียบดี เพราะอยู่ห่างไกลหมู่บ้าน วัดก็สะอาดพอสมควร)



(เจ้าอาวาสเล่าว่าได้สร้างครอบพระธาตุองค์เก่า จึงได้ร่วมทำบุญ ๖๐๐ บาท แล้วสรงน้ำหอม ปิดทององค์พระเจดีย์)

((( โปรดติดตามตอนต่อไป คลิกที่นี่ ตอนที่ 3 )))



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved