ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 14/5/11 at 10:11 Reply With Quote

นิทานชาดก (เรื่องที่ 45) มาตุโปสกชาดก - ชาดกว่าด้วย "ช้างยอดกตัญญู"


...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง

ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 45 มีชื่อว่า "มาตุโปสกชาดก" (อ่าน..มาตุโปสะกะชาดก) เป็นเรื่องของ "ช้างยอดกตัญญู" โดยพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น "พญาช้าง" จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

.....This story is a fable about "Buddha" While still a Bodhisat. He has to perform the prestige of each nation. Is a true story that occurred.

Then spoke told these deeds. Which in many Tripitaka on. At this will be cartoon chapters No.45 called "Matuposaka Jataka" The come into the Buddha "Elephant Paya"

มาตุโปสกชาดก : ชาดกว่าด้วย "ช้างยอดกตัญญู"


มูลเหตุที่ตรัสชาดก

... พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภภิกษุผู้เลี้ยงมารดา จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ว่า

..... เรื่องปัจจุบัน เสมือนกับเรื่อง "สุวรรณสามชาดก" นั่นเอง ก็พระศาสดาตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ายกโทษภิกษุนี้เลย

บัณฑิตในครั้งก่อนทั้งหลาย แม้บังเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พรากจากมารดา ซูบซีดไป เพราะอดอาหาร ๗ วัน แม้ได้โภชนะอันสมควรแก่พระราชา ก็มีความคิดว่าพวกเราเว้นจากมารดาเสีย จักไม่บริโภค พอเห็นมารดา ก็ยึดถือเอาอาหาร ดังนี้แล้ว อันภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนา จึงนำอดีตนิทานมาว่า..


เนื้อความของชาดก

.....ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยพระราชสมบัติ ในกรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นช้างในหิมวันตประเทศ ได้เป็นสัตว์เผือกปลอด มีรูปงาม น่าชม น่าเลื่อมใส สมบูรณ์ด้วยลักษณะ เมื่อวัยเจริญขึ้นโดยลำดับ มีช้าง ๘๐,๐๐๐ เชือกเป็นบริวาร

ส่วนมารดาของท่านเป็นช้างตาบอด แต่ท่านได้ให้ผลไม้มีรสอร่อยแก่ช้างทั้งหลาย แล้วให้ส่งไปยังมารดาของท่าน แต่ช้างทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้ส่งอาหารเหล่านั้นให้แก่มารดาท่านเลย เคี้ยวกินเสียเอง

เมื่อท่านรู้เรื่องนั้นจึงคิดว่า เราจักละโขลงแล้วเลี้ยงแต่มารดาเท่านั้น ครั้นถึงราตรี เมื่อช้างเหล่าอื่นไม่สนใจจึงพามารดาไปยังเชิงเขาชื่อว่า จัณโฑรณะ แล้วพักมารดาไว้ที่ถ้ำแห่งหนึ่งในภูเขา แล้วเลี้ยงดูบำรุงมารดา

ลำดับนั้น พรานไพรชาวกรุงพาราณสีคนหนึ่งหลงทางมา เมื่อไม่อาจกำหนดทิศได้ จึงร้องไห้ด้วยเสียงอันดังลั่น พระโพธิสัตว์ได้ยินเสียงของพรานไพรนั้น คิดว่าบุรุษนี้เป็นคนไร้ที่พึ่ง ข้อที่เขาพึงพินาศไปในที่นี้ เมื่อเรายังอยู่ ไม่สมควรแก่เราเลย

ดังนี้แล้ว จึงไปหาเธอ เห็นเธอกำลังหนีไปด้วยความกลัว จึงถามว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านไม่มีภัยเพราะเรา ท่านอย่าหนีไปเลย เพราะเหตุไรท่านจึงเที่ยวร้องไห้ร่ำไรอยู่เล่า

เมื่อเขากล่าวว่า ข้าแต่นาย กระผมเป็นคนหลงทาง วันนี้เป็นวันที่ ๗ สำหรับผม จึงกล่าวว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านอย่ากลัวเลย เราจักวางท่านไว้ในถิ่นมนุษย์ ดังนี้แล้ว ให้เขานั่งบนหลังตน นำออกจากป่าแล้วกลับไป

ฝ่ายเขาเป็นคนชั่วคิดว่า เราไปยังนครแล้วจักทูลแก่พระราชา ดังนี้แล้ว จึงทำต้นไม้เป็นเครื่องหมาย ทำภูเขาเป็นเครื่องหมาย ได้ออกไปยังกรุงพาราณสี

ในกาลนั้น ช้างมงคลของพระราชาได้ทำกาละไป พระราชาตรัสสั่งให้ตีกลองร้องประกาศว่า ถ้าใคร ๆ เห็นช้างตัวเหมาะ ที่ส่งเสียงร้องในที่ใดที่หนึ่ง ผู้นั้นจงบอก

บุรุษนั้นเข้าไปเฝ้าพระราชาแล้วทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทพ ข้าพระองค์ได้เห็นพญาช้าง ตัวมีสีเผือกปลอด เหมาะเพื่อจะทำการฝึก ข้าพระองค์จักแสดงหนทาง ขอพระองค์จงส่งนายหัตถาจารย์พร้อมกับข้าพระองค์ไปให้จับช้างนั้นเถิด

พระราชาตรัสรับคำแล้วจึงตรัสว่า พวกเธอ จงให้ผู้นี้เป็นผู้นำทางนำไปยังป่านำพญาช้างที่บุรุษนี้พูดไว้มาให้แก่เรา

ดังนี้แล้วจึงส่งนายหัตถาจารย์พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมากไปพร้อมบุรุษนั้น นายหัตถาจารย์ไปกับบุรุษนั้นเห็นช้างพระโพธิสัตว์กำลังถือเอาอาหารเข้าไปยังที่ซ่อนเร้น

ฝ่ายพระโพธิสัตว์เห็นนายหัตถาจารย์แล้วอธิษฐานว่า ภัยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้อื่น ชะรอยจักเกิดขึ้นจากสำนักบุรุษชั่วนี้นั้น ฝ่ายเราแลเป็นผู้มีกำลังมาก และสามารถจะกำจัดช้างได้ตั้ง ๑,๐๐๐ เชือก

เมื่อเราโกรธแล้ว สามารถจะนำพาหนะของนายทัพพร้อมทั้งแว่นแคว้นให้พินาศไปได้ เพราะฉะนั้น วันนี้แม้เขาเอาหอกตอกศีรษะเรา เราก็จักไม่โกรธ ดังนี้แล้ว จึงน้อมศีรษะลงยืนนิ่งเฉยอยู่

นายหัตถาจารย์ลงสู่สระปทุม เห็นความสมบูรณ์แห่งลักษณะของพระโพธิสัตว์นั้น จึงกล่าวว่า มาเถอะพ่อ แล้วจับงวงพระโพธิสัตว์พาไป ในวันที่ ๗ จึงถึงกรุงพาราณสี

ฝ่ายมารดาพระโพธิสัตว์ เมื่อเห็นบุตรยังไม่มาจึงคร่ำครวญว่า ชะรอยว่า พระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา นำเอาบุตรของเราไป บัดนี้ หมู่ป่าไม้นี้จักเจริญ เพราะอยู่ปราศจากช้างนั้น ดังนี้ จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า

[๑๔๙๓] ไม้อ้อยช้าง ไม้มูกมัน ไม้ช้างน้าว หญ้างวงช้าง ข้าวฟ่าง และลูกเดือย งอกงามขึ้นแล้วเพราะพญาช้างนั้นพลัดพรากไป อนึ่ง ต้นกรรณิการ์ทั้งหลายที่เชิงเขาก็เผล็ดดอกบาน.

[๑๔๙๔] พระราชา หรือพระราชกุมาร ประทับนั่งบนคอพญาช้างใด เป็นผู้ไม่มีความสะดุ้ง ย่อมกำจัดเสียซึ่งปัจจามิตรทั้งหลาย อิสรชนผู้ประดับด้วยอาภรณ์อันงดงามผู้หนึ่ง ย่อมเลี้ยงดูพญาช้างนั้นด้วยก้อนข้าว.

ฝ่ายนายหัตถาจารย์ ดำเนินไปในระหว่างทาง ส่งสาส์นไปถึงพระราชา พระราชาตรัสสั่งให้ตบแต่งพระนคร ฝ่ายนายหัตถาจารย์นำพระโพธิสัตว์ ที่เขาประพรมด้วยของหอม ประดับตกแต่งเข้าไปยังโรงช้าง ให้ล้อมด้วยม่านอันวิจิตร ให้ผูกเพดานอันวิจิตรไว้ข้างบน แล้วให้กราบทูลแด่พระราชา

พระราชาทรงนำโภชนะมีรสอันเลิศต่าง ๆ มาให้แก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์คิดว่า เราเว้นมารดาเสีย จักไม่ยอมรับอาหาร ดังนี้แล้ว จึงไม่รับ อาหาร ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะทรงอ้อนวอนพระโพธิสัตว์ จึงตรัสคาถา ที่ ๓ ว่า

[๑๔๙๕] ดูกรพญาช้างตัวประเสริฐ เชิญพ่อรับเอาคำข้าวเถิด อย่าผ่ายผอมเลย ราชกิจมีเป็นอันมาก ท่านจะต้องทำราชกิจเหล่านั้น.

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า

[๑๔๙๖] นางช้างนั้นเป็นกำพร้า ๑ ตาบอด ไม่มีผู้นำทางคงจะสดุดตอไม้ล้มลงตรง ภูเขาจัณโฑรณะเป็นแน่. ๑ เป็นกำพร้า เพราะพลัดพรากจากบุตร

ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะตรัสถามพระโพธิสัตว์ จึงตรัสคาถาที่ ๕ ว่า

[๑๔๙๗] ดูกรพญาช้าง นางช้างตาบอดหาผู้นำทางมิได้ คงจะสดุดตอไม้ล้มลงตรง ภูเขาจัณโฑรณะนั้นเป็นอะไรกับท่านหรือ.

พระโพธิสัตว์ กล่าวคาถาที่ ๖ ว่า

[๑๔๙๘] ข้าแต่พระมหาราชา นางช้างตาบอดไม่มีผู้นำทาง คงจะสดุดตอไม้ล้มลงตรงภูเขาชื่อจัณโฑรณะนั้น เป็นมารดาของข้าพระองค์.

พระราชา ทรงสดับเนื้อความแห่งคาถาที่ ๖ นั้น เมื่อจะให้ปล่อยไป จึงตรัสคาถาที่ ๗ ว่า

[๑๔๙๙] พญาช้างนี้ย่อมเลี้ยงดูมารดา ท่านทั้งหลายจงปล่อยพญาช้างนั้นเสียเถิด พญาช้างตัวประเสริฐจงอยู่ร่วมกับมารดา พร้อมด้วยญาติทั้งหลายเถิด.

พระราชาตรัสว่า พญาช้างนี้ กล่าวว่า ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระองค์เลี้ยงมารดาตาบอด เว้นข้าพระองค์เสีย มารดาของข้าพระองค์ ก็จักถึงความสิ้นชีวิต

เว้นมารดาเสีย ข้าพระองค์ไม่มีความต้องการด้วยความเป็นใหญ่เลย วันนี้เมื่อมารดาของข้าพระองค์ไม่ได้อาหารเป็นวันที่ ๗

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงปล่อยพญาช้างที่เลี้ยงมารดานี้ พญาช้างนั้นจงมาอยู่ร่วมกับมารดา พร้อมด้วยญาติทั้งหมด.

พระพุทธคาถาที่ ๘ และที่ ๙ มีดังนี้

[๑๕๐๐] พญาช้างอันพระเจ้ากาสีทรงปล่อยแล้ว พอหลุดจากเครื่องผูก พักอยู่ครู่หนึ่ง ได้ไปยังภูเขา จากนั้นเดินไปสู่สระบัวอันเย็นที่เคยซ่องเสพมา แล้วดูดน้ำด้วยงวงมารดมารดา.

ได้ยินว่า พญาช้างนั้นพ้นจากเครื่องผูก พักอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วแสดงธรรมแก่พระราชา ด้วยทศพิธราชธรรมคาถาแล้วให้โอวาทว่า

ข้าแต่ พระมหาราชา ขอพระองค์จงอย่าเป็นผู้ประมาทเลย อันมหาชนบูชาอยู่ด้วย เครื่องสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น ออกจากพระนครถึงสระปทุมนั้น

ในขณะนั้นนั่นเอง คิดว่า เราไม่ให้มารดาของเรารับเอาอาหาร เราเองก็จักไม่รับ ดังนี้แล้ว จึงถือเอารากเหง้าบัวเป็นอันมาก จึงใช้งวงดูดน้ำจนเต็ม ออกจากที่เร้นในถ้ำไปยังสำนักมารดา ตัวนอนอยู่ที่ประตูถ้ำ รดน้ำบนศีรษะเพื่อให้ร่างของมารดาได้สัมผัส เพราะอดอาหารมาตั้ง ๗ วัน

พระศาสดา เมื่อจะทรงทำให้แจ้งซึ่งความนั้น จึงได้ตรัสคาถา ๒ คาถาเหล่านี้ ฝ่ายมารดาของพระโพธิสัตว์ จึงว่ากล่าวเธอด้วยความสำคัญว่า ฝนตก แล้วกล่าวคาถา ที่ ๑๐ ว่า

[๑๕๐๑] ฝนอะไรนี้ไม่ประเสริฐเลย ย่อมตกโดยกาลที่ไม่ควรตก บุตรเกิดในตนของเราเป็นผู้บำรุงเรา ไปเสียแล้ว.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อจะให้มารดาสบายใจ จึงกล่าวคาถา ที่ ๑๑ ว่า

[๑๕๐๒] เชิญท่านลุกขึ้นเถิด จะมัวนอนอยู่ทำไม ฉันผู้เป็นลูกของแม่มาแล้ว พระเจ้ากาสีผู้ทรงพระปรีชาญาณ มีบริวารยศใหญ่หลวงทรงปล่อยมาแล้ว.

นางช้างดีใจ เมื่อจะทำอนุโมทนาแด่พระราชา จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า

[๑๕๐๓] พระราชาพระองค์ใดทรงปล่อยลูกของเรา ผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อบุคคลผู้เจริญทุกเมื่อ ขอพระราชาพระองค์นั้นจงทรงพระชนม์ยืนนาน ทรงบำรุงแคว้นกาสีให้เจริญรุ่งเรืองเถิด.

ครั้งนั้น พระราชาทรงเลื่อมใสในพระคุณของพระโพธิสัตว์ ทรงรับสั่งให้สร้างโรงช้างไม่ไกลแต่เมืองนิลีนิ จึงทรงเริ่มตั้งภัตตาหารไว้เนืองนิตย์ เพื่อพระโพธิสัตว์และมารดา

ครั้นภายหลัง พระโพธิสัตว์เมื่อมารดาทำกาละแล้ว ได้ทำการบริหารร่างกายของมารดาแล้ว ไปสู่อาศรมชื่อ กรัณฑกะ

ก็ในที่นั้น ฤาษีจำนวน ๕๐๐ ลงจากภูเขาหิมพานต์มาอยู่ พระโพธิสัตว์ได้ถวายปวัตตทานนั้นแด่ฤาษีเหล่านั้น พระราชาทรงรับสั่งให้สร้างรูปปฏิมา อันสำเร็จด้วยศิลามีรูปเท่าพระโพธิสัตว์แล้ว ได้ให้มหาสักการะเป็นไป ประชาชนชาวชมพูทวีป ประชุมกันเป็นประจำปี ได้ทำการฉลองช้าง.


ประชุมชาดก

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงประกาศสัจจะทั้งหลาย ประชุมชาดกว่า พระราชาในกาลนั้น ได้เป็นพระอานนท์ บุรุษชั่วได้เป็นพระเทวทัต

นายหัตถาจารย์ได้เป็นพระสารีบุตร นางช้าง นั้นได้เป็นพระนางมหามายาเทวี ส่วนช้างเชือกประเสริฐ ซึ่งเลี้ยงดูมารดา คือเรานั่นเอง ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.

ข้อคิดจากชาดก

ความกตัญญูเป็นสิ่งประเสริฐ บัณทิตทั้งหลายควรจดจำและกระทำตาม ย่อมนำมาสู่ความเจริญแก่ตนเองในที่สุด



ที่มา - dhammathai.org



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved