ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 3/8/11 at 09:59 Reply With Quote

การ์ตูน...วรรณคดีอีสาน เรื่อง "ผาแดงนางไอ่" และ ประวัติพระธาตุพนม


"ผาแดงนางไอ่" เป็นตำนาน "บั้งไฟพญานาค" แห่งเมืองหนองหาน

(โดย "khonsurin" โพสต์ใน www.baanmaha.com)

......ณ เมืองสุวรรณโคมคำ มีพญาขอมครองเมืองคู่กับมเหสีชื่อ "นางจันทร์" มีลูกสาวหรือพระธิดานามว่า "นางไอ่" หรือ "นางไอ่คำ" อันว่านางไอ่ ของเราก็งดงามมาก สวยสุดหาใดจะเปรียบปานเชียวล่ะ

ความงามของนางไอ่ลือเลื่องไปทั่ว จนไปถึงหู "ท้าวผาแดง" ผาแดงจึงแอบมาหานางไอ่ที่วัง โดยผ่านทางคนใช้เป็นแม่สื่อ จนทั้งสองนั้น ได้สมัครรักใคร่กัน รักกัน และสัญญาว่าจะมาสู่ขอตามประเพณีในไม่ช้านี้

ที่เมืองบาดาลมีพญานาคชื่อ "สุทโธนาค" ครองเมือง มีลูกชายชื่อ "ท้าวภังคี" ชาติที่แล้ว "ภังคี" ได้เป็นคู่กับ "นางไอ่" ซึ่งเป็นใบ้ "นางไอ่" เมื่อชาติที่แล้วเคยอธิษฐานว่า ชาติต่อไปไอ้ใบ้ต้องตายด้วยนางเอง...

ด้านพญาขอม เมื่อถึงเดือนหกมาก็ได้จัดงานบุญประเพณีจุดบั้งไฟ แข่งขันว่าใครจะได้สูงกว่ากัน ตอนนั้นพญาขอมรู้แล้วว่าท้าวผาแดงจะมาสู่ขอนางไอ่ จึงตรัสว่า หากบั้งไฟของใครสูงกว่าจะยกนางไอ่ให้ ถ้าของผาแดงขึ้นสูงกว่าก็จะยกนางไอ่ให้กับผาแดง ในการประลองครั้งนี้ผาแดงพ่ายแพ้ แก่ท้าวภังคี เพราะบั้งไฟแตกก่อนขึ้น ท้าวผาแดงหอบความซ้ำกลับบ้านเมือง

ส่วนท้าวภังคีดีใจมาก อยากไปเที่ยวงานบุญบั้งไฟที่พญาขอมจัดขึ้น จึ่งได้แปลงเป็นกระรอกด่อนขึ้นมาเที่ยวงานเหมือนกัน แต่นายพรานจับได้จึงนำไปให้นางไอ่

นางไอ่บอกให้เอาไปแกง ท้าวภังคี อธิษฐานว่า ขอให้เนื้อของตนอร่อยที่สุด สามารถเลี้ยงคนทั่วทั้งเมืองได้ ชาวบ้านชาวเมืองเห็นดั้งนั้นก็ยื้อแย่งกันไปกินแกงกระรอก

บริวารของท้าวภังคีเห็นดังนั้นก็นำข่าวไปบอกท้าวสุทโธนา พ่อของท้าวภังคี พ่อของท้าวภังคีโกรธแค้นจึงพาบริวารของตนไปถล่มเมืองพญาขอม เมืองเริ่มถ่มถลายเรื่อยๆไล่หลังเข้ามา น้ำจะท่วมฟ้าปลาจะกินดาว อุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่เหนือคำบรรยาย

ท้าวผาแดงห่วงนางไอ่ จึงพานางไอ่ขึ้นม้าควบหนี ฝ่าภัยอันตรายนานัปการ แต่ทว่าท้าวนาคาได้ใช้หางรัดนางไอ่ลงไปเมืองบาดาล ส่วนท้าวผาแดงปลอดภัย กลับถึงบ้านของตน อธิษฐานว่าจะขอตายเพื่อไปต่อสู้เอานางไอ่ กลับคืนมาว่าแล้วผาแดงก็กลั้นใจตาย

เมื่อตายไปกลายเป็นผี ก็ได้ไปสู้กับกองทัพนาคา ต่อสู้จนน้ำในบาดาลขุ่น พระอินทร์จึงได้ลงมาระงับศึก ให้ผีกลับเมืองผี ส่วนนาคาให้กลับลงไปในเมืองนาคา

ส่วนนางไอ่ ให้รอเนื้อคู่ของตนในเมืองบาดาลต่อไป จนกว่าจะมีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ นางไอ่ จึงรอมาจนถึงทุกวันนี้ รอว่าใครจะเป็นคู่ครองของตน


ประวัติของผาแดงนางไอ่

(โดย "บ่าวกุมภวาปี" โพสต์ใน www.baanmaha.com)

......ของกล่าวถึงประวัติของ "ผาแดงนางไอ่" ที่เกี่ยวข้องกับหนองหาร (สกลนคร) กับหนองหาร (กุมภวาปี) ตามประวัติเล่ากันว่า หนองหารสกลนคร นั้น เป็นปลาไหลเผือก [ด่อน] ส่วนหนองหารกุมภวาปี นั้นคือกระรอกเผือก(ด่อน)

เมื่อก่อนนั้น คนเฒ่าคนเเก่ ที่อยู่ในยุคสมัย เมืองชะติตานคร ที่มีเจ้าเมืองชื่อ พระยาขอม ซึ่งพระราชธิดา ชื่อ "ไอ่คำ" พระนางมีรูปโฉมงดงามไม่มีใครเทียบได้ ในนครแห่งนี้ หรือในมหานครอื่นก็ตาม ประวัติหนองหารล่มที่จะกล่าวต่อไปนี้ สาเหตุเกิดจากความสวยงามของนางไอ่ เพราะเจ้าเมือง หรือพระยาขอมได้ตีฆ้องร้องป่าว ว่าจะจัดงานบุญเดือนหก หรือบุญบั้งไฟ ถ้าบั้งไฟเจ้าเมืองไหน ชนะเลิศ จะยกลูกสาวให้พร้อมยกทรัพย์สมบัติให้

เรื่องนี้ก็ได้ยินไปถึงเมืองบาดาล เจ้าเมืองบาดาลมีบุตรชายชื่อ "พังคี" ซึ่งเคยเป็นสามีเก่าของนางไอ่เมื่อชาติที่เเล้ว (โดยที่บ่าวกุมภวาปีไม่ได้กล่าวถึง) ผลสรุปของการแข่งบั้งไฟ น้องชายพระยาขอม เป็นฝ่ายชนะ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น พังคี หรือ บุตรชายของพญานาคได้ แปลงร่างเป็นกระรอกเผือก มาแอบดูนางไอ่

เมื่อนางไอ่ได้เห็นกระรอกด่อนที่ต้นไม้ ก็คิดอยากได้เอามาเลี้ยงดู เพราะเป็นกระรอกซึ่งไม่เหมือนกระรอกทั่วไป จึงสั่งให้นายพราน จับมาให้ ซึ่งนางไอ่บอกว่า ตอนนี้กระรอกเผือกตัวนั้นอยู่ที่ดอนหลวง (ปัจจุบัน ดอนหลวงอยู่กลางหนองหาร เป็นเกาะ) นายพรานได้ไล่จับกระรอก จนมาถึงบ้านศรีทันดอน (บ้านพันดอน)ไ ล่ไปจนถึงดอนเลียบ แล้วไปพักที่ดอนเลา ปัจจุบันเรียกบ้านเซียบ ออกจากบ้านดอนเลา ไปยังดอนแหว ดอนแซ "ดอนแหว" ปัจจุบันคือ บ้านเชียงแหว "ดอนแซ" คือวัดเก่า



(กดปุ่ม Play ตอนแรกที่เครื่องเล่นก่อน หรือกดปุ่ม  ด้านล่างก็ได้)



การ์ตูน "ผาแดงนางไอ่" คลิป 1 - คลิป 2 - คลิป 3 - คลิป 4 - คลิป 5 - คลิป 6
การ์ตูนเซียงเมี่ยง ตอน.. หลวงพ่อเคียดให้ปลา - หลวงพ่อบักโต่น - พระธาตุพนม


ตำนานรัก ผาแดง-นางไอ่

(บทความใน http://atcloud.com/stories/48676)

......ตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา มูลเหตุที่ทำให้เกิด “ หนองหาน ” ต้นน้ำลำปาว มีเรื่องราวเกี่ยวพันกับวรรณคดีพื้นบ้านอีสานเรื่อง "ผาแดง – นางไอ่" ตำนวนรักอันลึกซึ้งของ "หนึ่งหญิง - สองชาย" เมื่อฝ่ายหนึ่งพลาดรักและถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ก็กลายเป็นสงครามทำให้บ้านเมืองถล่มทลาย กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ และวรรณคดีอีสานเรื่องนี้ก็เป็นปฐมเหตุ "บุญบั้งไฟ" วัฒนธรรมประเพณีที่ยิ่งใหญ่ขึ้นชื่อลือชาของชาวอีสานมาแต่บรรพกาล โดยตำนวนรักเรื่องนี้มีอยู่ว่า

“พระยาขอม” ผู้ครองเมืองเอกชะธีตา มีธิดานางหนึ่งชื่อ “นางไอ่” ซึ่งจัดเป็นหญิงที่มีรูปร่างงดงามในวัยแตกเนื้อสาว ซึ่งจะหาสาวงามนางใดในสามไตรภพมาเทียบมิได้ ความงดงามของเธอเป็นที่เลื่องลือไปทั่วแดนไกล เจ้าชายหลายหัวเมืองต่างหมายปองอยากได้มาเป็นคู่ครองกันทุกคน

ท้าวผาแดง เจ้าชายเมืองผาพง ทราบข่าวเล่าลือถึงสิริโฉมอันงดงามของนางไอ่ ก็เกิดความหลงไหลใฝ่ฝันในตัวนางเป็นอย่างมาก จึงวางแผนทอดสัมพันธ์ไมตรี ด้วยการส่งแก้วแหวนเงินทองและผ้าแพรพรรณเนื้อดีไปฝาก นางไอ่ เมื่อมหาดเล็กนำเอาสิ่งของไปมอบให้ แถมยังได้บอก นางไอ่ ถึงความรูปหล่อ องอาจ ผึ่งผายของ ท้าวผาแดง ให้ฟัง เท่านั้นเองนางก็เกิดความสนใจและฝากเครื่องบรรณาการไปฝาก ท้าวผาแดง เป็นการตอบแทนด้วย

ก่อนที่มหาดเล็กจะเดินทางกลับ “นางไอ่” ยังได้ฝากคำเชื้อเชิญ” ท้าวผาแดง” ซึ่งตั้งทัพรออยู่นอกเมืองให้เข้าพบนางที่วังพระยาขอม แน่นอนละ จะเป็นด้วยบุพเพสันนิวาส บวกกับเจ้า “กามเทพ” ได้แผลงศรรักไปปักอกคนทั้งสองเข้า ก็ทำให้คนคู่นี้รักกันอย่างรุนแรง และได้เสียกัน สุดจะยั้งใจได้ อะไรจะปานนั้น

ฝ่าย “ท้าวพังคี ” ลูกชาย พญาศรีสุทโธ พญานาคผู้ครองเมืองบาดาล ก็เป็นอีกตนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันอยากยลสิริโฉมของ นางไอ่ ทั้งนี้เพราะเป็นเวรกรรมในอดีตชาตินั้นบันดาลให้มีอันเป็นไป โดยเรื่องมีอยู่ว่า ท้าวพังคี เมื่อชาติก่อน เป็นชายหนุ่มที่ยากจนและเป็นคนใบ้ เดินทางเที่ยวขอทานไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ จนมาถึงหน้าบ้านเศรษฐีคนหนึ่ง และได้เข้าไปอาศัย ช่วยทำงานให้บ้านของเศรษฐีโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทำให้เศรษฐีมีความรักใคร่เอ็นดูอย่างมาก ถึงกับยกลูกสาวสวยนางหนึ่งให้เป็นภรรยา ลูกสาวของเศรษฐีนางนี้คือ นางไอ่ ในชาติปางก่อน

“ท้าวพังคี” ในชาตินั้นเป็นคนไม่เอาไหน แทนที่จะรักภรรยาลูกเศรษฐีกลับไม่สนใจใยดี ไม่ยอมหลับนอนด้วยกันฉันสามี – ภรรยาแม้แต่ครั้งเดียว ภรรยาก็ไม่ปริปากบอกใครทราบ ปรนนิบัติสามีเยี่ยงภรรยาที่ดี เสมอมา

อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวพังคี ก็คิดถึงญาติพี่น้องที่บ้านเกิดของตน จึงพาภรรยากลับไปเยี่ยมบ้าน เศรษฐีผู้เป็นบิดาได้จัดแจงให้ลูกสาวหาบเสบียงอาหารตามผัวไป ท้าวพังคี หนุ่มใบ้ก็ไม่เคยช่วยเหลืองนางด้วยการหาบแทนเลย นางทนลำบากหาบของหนักข้ามห้วย และป่าเขา จนกระทั่งเสบียงอาหารหมดลงกลางทาง

ท้าวพังคี เห็นมะเดื่อสุกเต็มต้น จึงขึ้นไปเก็บกินแทนข้าว ฝ่าย นางไอ่ ชะเง้อคอแหงนหน้าขึ้นมอง ท้าวพังคี ผัวรักให้โยนลูกมะเดื่อลงไปให้กินบ้าง แต่ ท้าวพังคี กลับไม่ใส่ใจเนื่องจากเป็นคนใจแคบ กินอิ่มคนเดียวแล้วก็ลงจากต้นมะเดื่อเดินหนีไป นางจึงขึ้นเก็บกินเอง เมื่อนางกินอิ่มแล้ว ก็ลงมาแต่ไม่พบ ท้าวพังคี จึงออกเดินตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ นางมีความทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่ง พอเดินทางถึงต้นไทยริมฝั่งแม่น้ำ นางจึงลงอาบน้ำและดื่มกินจนมีความสดชื่นขึ้นมา จึงตัดสินใจแล้วอธิษฐานว่า

“ชาติหน้าขอให้สามีตายอยู่บนกิ่งไม้ และอย่างได้เป็นสามี – ภรรยากันอีกเลย” ด้วยแรงอธิษฐานของนาง ชาติต่อมา “เจ้าใบ้ ” สามีจึงเกิดมาเป็น “ท้าวพังคี ” ส่วนเธอเองได้เกิดมาเป็น “นางไอ่ ” และเวรกรรมจะตามสนองคนทั้งสองอย่างไร เอ้า..ตามมา

ฝ่าย พระยาขอม เห็นว่า นางไอ่ ธิดาสาวผู้มีเรือนร่าง และใบหน้าอันสิริโฉม หาหญิงใดในหล้ามาเปรียบเทียบมิได้ ปัจจุบันเธอก็โตเต็มสาวแล้ว จึงมีใบฎีกาแจ้งไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ ให้ทำบั้งไฟมาจุดแข่งขันกันที่เมืองเอกชะธีตา หรือเมืองหนองหาน ต้นลำน้ำปาวในปัจจุบัน เพื่อจุดถวายพญาแถนผู้เป็นใหญ่ในชั้นฟ้าบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ประการหนึ่ง ส่วนอีกประการหนึ่ง หากบั้งไฟเมืองไหนขึ้นสูงกว่าเพื่อน ก็จะได้ นางไอ่ ธิดาสาวผู้เลอโฉมไปเป็นคู่ครอง

พระยาขอม ได้กำหนดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนหก เป็นวันงาน ทำให้เจ้าชายเมืองต่าง ๆ ทำบั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน มาจุดแข่งขันกันอย่างมากมาย บุญบั้งไฟครั้งนั้นนับเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร พอถึงวันงานผู้คนก็หลั่งไหลมาทั่วทุกสารทิศ ทั้งยังมีการแข่งขันตีกลอง ซึ่งคนอีสานเรียกว่า “ เส็งกอง ” กันอย่างครึกครื้น หนุ่ม - สาวต่าง จ่ายผญา เกี้ยวพาราศรีกันอย่างสนุกสนาน

“บุญบั้งไฟ” ในครั้งนี้ แม้ “ ท้าวผาแดง ” จะไม่ได้รับฎีกาบอกบุญเชิญให้นำเอาบั้งไฟไปร่วมงานด้วยก็ตาม แต่ ” พระยาขอม ” ว่าที่พ่อตา ก็ให้การต้อนรับ ” ท้าวผาแดง ” เป็นอย่างดี

ฝ่าย ท้าวพังคี เจ้าชายเมืองบาดาล ก็อยากมาร่วมงานกับมนุษย์ เพราะต้องการยลโฉม นางไอ่ เป็นกำลัง และคิดและวางแผนในใจว่า บุญบั้งไฟครั้งนี้ข้าต้องไปให้ได้ แม้พ่อข้าจะทัดทานอย่างไรก็ตาม จากนั้นก็พาไพร่พลส่วนหนึ่งออกเดินทางขึ้นมาเมืองมนุษย์

ก่อนโผล่ขึ้นเมืองเอกชะธีตาของพระยาขอม ผู้เป็นใหญ่ ท้าวพังคี ก็พาบริวารแปลงร่างเป็นมนุษย์บ้าง สัตว์บ้าง ส่วนท้าวพังคี ได้แปลงร่างเป็น กระรอกเผือก ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า กะฮอกด่อน ได้ออกติดตามลอบชมโฉมนางไอ่ ในขบวนแห่ของ พระยาขอม เจ้าเมือง ไปอย่างหลงไหลในความงามของนาง

การจุดบั้งไฟแข่งขันเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทุกคนใจจดจ่ออยากรู้ว่า บั้งไฟเจ้าชายเมืองไหนชนะและได้ นางไอ่ ไปครอง ซึ่งการจุดบั้งไฟครั้งนั้น ท้าวผาแดง และ พระยาขอม มีเดิมพันกันว่า ถ้าบั้งไฟท้าวผาแดง ชนะบั้งไฟ พระยาขอม แล้ว ก็จะยก นางไอ่ ธิดาสาวให้ไปเป็นคู่ครอง
ผลปรากฎว่า บั้งไฟของ” พระยาขอม” ไม่ขึ้นจากห้าง ซึ่งคนอีสานเรียกว่า“ ซุ” ส่วนของ ท้าวผาแดง แตก( ระเบิด) คาห้าง คงมีแต่บั้งไฟของ “ พระยาฟ้าแดด” เมืองฟ้าแดดสูงยาง และของ “ พระยาเซียงเหียน” แห่งเมืองเซียงเหียนเท่านั้นที่ขึ้นสู่ท้องฟ้านานถึง 3 วัน 3 คืน จึงตกลงมา แต่พระยาทั้งสองนั้นเป็นอาว์ของ ” นางไอ่” เป็นอันว่าเธอจึงไม่ตกเป็นคู่ครองของใคร

เมื่อ บุญบั้งไฟ เสร็จสิ้นลง“ ท้าวผาแดง” และ” ท้าวพังคี” ต่างฝ่ายต่างกลับบ้านเมืองของตน แต่ในที่สุด “ ท้าวพังคี” ก็ทนอยู่บ้านเมืองแห่งตนไม่ได้ เพราะหลงไหลในสิริโฉมอันงดงามของ” นางไอ่” จึงพาบริวารย้อนขึ้นมายังเมืองเอกชะธีตาอีก โดยแปลงร่างเป็น” กระรอกเผือก” อย่างเดิม ส่วนที่คอแขวนกระดิ่งทอง ไปเกาะอยู่บนกิ่งไม้ใกล้หน้าต่างห้องนอนของนาง

เมื่อเสียงกระดิ่งทองดังกังวาลขึ้น “ นางไอ่ ” ได้ยินก็เกิดความสงสัยจึงเปิดหน้าต่างออกไปดูเห็นกระรอกเผือกวิ่งและเต้นไปเกาะกิ่งนั้นกิ่งนี้ด้วยท่าทางน่ารักน่าเอ็นดู นางก็เกิดความพอใจอยากได้ขึ้นมาจึงสั่งให้นายพรานฝีมือดีออกติดตามจับกระรอกเผือกให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดนายพรานก็จับไม่ได้ เพราะความว่องไวของกระรอกเผือกตนนั้น นางจึงเกิดความไม่พอใจขึ้นมาแทนที่และสั่งให้นายพรานจับให้ได้ ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย

นายพรานออกติดตามกระรอกเผือกเริ่มตั้งแต่บ้านพันดอน บ้านน้ำฆ้อง ก็ไม่มีโอกาสจับกระรอกเผือกเสียที จึงไล่ติดตามมาถึงบ้านนาแบก บ้านเหล่าหมากบ้า บ้านเหล่าแชแลหนองแวง บ้านเหล่าใหญ่ บ้านเมืองพรึก บ้านคอนสาย บ้านม่วง ก็จับยังไม่ได้

ในที่สุดผลกรรมแต่ชาติปางก่อนตามมาทัน เมื่อกระรอกเผือกตัวน้อยหนีนายพรานมาถึงต้นมะเดื่อที่มีผลสุกเต็มต้น เจ้ากระรอกน้อยก็ก้มหน้าก้มตากัดกินลูกมะเดื่อด้วยความหิวโหย นายพรานไล่ตามมาทันก็เกิดความโมโหที่จับเป็นไม่ได้ จึงตัดสินใจจับตาย ด้วยการใช้หน้าไม้อาบยาพิษยิงถูกร่างเจ้ากระรอกเผือกเต็มรักกระรอกเผือกหรือ ” ท้าวพังคี ” รู้ตัวดีว่าต้องตายแน่ ๆ จึงสั่งให้บริวารกลับเมืองบาดาลเพื่อนำเอาความไปเล่าให้บิดาทราบ และก่อนจะสิ้นใจ ” ท้าวพังคี ” ก็แสดงอิทธิฤทธิ์ โดยร่ายมนต์อธิษฐานว่า “ ขอให้เนื้อของตนมีมากมาย 8,000 เล่มเกวียน มากพอเลี้ยงผู้คนได้ทั้งเมืองอย่างทั่วถึง ”

เมื่อกระรอกเผือกสิ้นใจตาย นายพรานกับพวก” นักล่า” ฝีมือฉกาจ ก็นำเอาร่างของกระรอกเผือกไปชำแหละเอาเนื้อที่บ้านเชียงแหว เมื่อนายพรานปาดเอาเนื้อแบ่งให้ผู้คนทั้งบ้านใกล้บ้านไกลได้กินกัน ก็ปรากฏว่าเนื้อของกระรอกน้อยก็เพิ่มขึ้นมาอย่างทวีคูน ผู้คนในเมืองต่างพากันกินเนื้อกระรอกอย่างอิ่มหมีพีมัน ยกเว้นผู้คนที่บ้านดอนแม่หม้ายไม่มีผัว หรือ “ บ้านดอนแก้ว” ซึ่งอยู่กลางทุ่งหนองหานเท่านั้นที่พวกพรานไม่ได้แบ่งปันให้กิน

ฝ่ายบริวาร “ ท้าวพังคี ” เมื่อกลับถึงเมืองบาดาล ก็เล่าเหตุการณ์ ” ท้าวพังคี ” ลูกชายถูกนายพรานฆ่าตายให้พญานาคราชผู้เป็นบิดาฟัง บิดาท้าวพังคีก็เกิดความกริ้วโกรธโกรธา สั่งจัดบริวารเป็นริ้วขบวนกำลังยกพลโยธาทัพขึ้นไปอาละวาดเมืองพระยาขอมถล่มทลายให้หายแค้น พร้อมประกาศก้องว่า “ ใครกินเนื้อลูกพังคีของข้าพวกมึงอย่าไว้ชีวิต ”

พญานาคพาบริวารออกอาละวาดไปทั่วแดนเมืองเอกชะธีตา เสียงดังครืน ๆ ฆ่าผู้คนตายไปอย่างมากมายสุดคณานับ แผ่นดินเมืองพระยาขอมก็ล่มทลายลงเป็นหนองหานต้นลำน้ำปาว ส่วนบ้านดอนแก้ว หรือดอนแม่หม้ายแห่งเดียวที่ผู้คนไม่ได้กินเนื้อท้าวพังคี จึงไม่ได้ล่มทลายลง ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ขณะที่บ้านเมืองกำลังล่มทลายเพราะอิทธิฤทธิพญานาค “ ศรีสุทโธ ” อยู่นั้น “ ท้าวผาแดง ” พระเอกของเรื่องนี้ ก็ขี่ม้า “ บักสาม ” เหยาะย่างมุ่งหน้าไปหา “ นางไอ่ ” ท้าวผาแดงเห็นนาคเต็มไปหมดและได้เล่าเรื่องที่พบเห็นให้นางฟัง นางกลับไม่สนใจแต่ได้ทำอาหารที่มีกลิ่นหอมหวลเป็นพิเศษมาให้ท้าวผาแดงรับประทาน ท้าวผาแดงจึงถามว่า เนื้ออะไรจึงหอมนัก ก็ได้รับคำตอบจากนางว่า “ เนื้อกระรอก ถูกนายพรานยิงตายนำมาให้ ”

เท่านั้นเอง ท้าวผาแดงก็ทราบในทันทีว่าเป็นเนื้อของท้าวพังคีลูกชายเจ้าพ่อศรีสุทโธ เจ้าเมืองบาดาลจึงไม่ยอมกินอาหาร ” ต้องห้าม ” ที่นางยกมาให้ พอตกตอนกลางคืนผู้คนกำลังหลับสนิท เหตุการณ์ร้ายก็ได้เกิดขึ้น เสียงครืน ๆ แผ่นดินถล่มดังมาแต่ไกล ท้าวผาแดงก็รู้ในทันทีว่าเป็นการกระทำของพญานาค จึงคว้าร่างนางไอ่ขึ้นหลังม้าบักสามควบหนีออกจากเมืองอย่างสุดฝีเท้า เพื่อให้พ้นภัย

แต่นางไอ่ได้กินเนื้อกระรอกกับชาวเมืองด้วย แม้ว่าท้าวผาแดงจะควบม้าคู่ชีพไปทางไหน นาคก็ดำดินติดตาม แผ่นดินก็ถล่มทลายไปด้วย ท้าวผาแดงควบม้ามุ่งไปภูพานน้อยต้นลำห้วยสามพาดเพื่อหนีไปยังเมืองผาพง พญานาคก็ติดตามอย่างไม่ลดละและแปลงร่างเป็นขอนไม้ยางขนาดยักษ์ขวางเส้นทางไว้ ม้าบักสามก็กระโดดข้ามอย่างสุดฤทธิ์ สองขาหน้าข้ามขอนไม้ไปได้ แต่สองขาหลังคู้ขึ้นมาไม่ข้าม จึงทำให้ม้าเสียหลักล้มพังพาบลงอวัยวะเพศของม้าไปกระแทกกับภูพานน้อย เป็นร่องลึกลงไปและกลายเป็นต้นลำห้วยสามพาดมาตั้งแต่บัดนั้น

ในที่สุดนางไอ่ก็ถูกพญานาคใช้หางฟาดตกลงจากหลังม้า และจมลงในน้ำตายไปต่อหน้าท้าวผาแดง ด้วยเหตุสุดวิสัยที่จะช่วยนางเอาไว้ได้ เมื่อท้าวผาแดงกลับถึงเมืองผาพง ก็คิดถึงนางไอ่ เมียรักข้าวปลาไม่กิน ร่างกายผ่ายผอม เกิดล้มป่วยลงและตรอมใจตายตามนางไปในที่สุด

เมื่อท้าวผาแดงตายเป็นผี ก็ยังมีความอาฆาตเคียดแค้นพญานาคอยู่ไม่วาย พอได้โอกาสเหมาะ ผีผาแดง ก็เตรียมไพร่พลเดินทัพผีไปรบกับพวกพญานาคให้หายแค้น บริวารผีท้าวผาแดงมีเป็นแสน ๆ เดินเท้าเสียงดังอึกทึกปานแผ่นดินจะถล่ม เข้ารายล้อมเมืองพญานาคเอาไว้ทุกด้าน ต่างฝ่ายต่างใช้อิทธิฤทธิ์รบกันนานถึง 7 วัน 7 คืน ไม่มีใครแพ้ใครชนะ ฝ่ายเจ้าพ่อศรีสุทโธ เจ้าเมืองบาดาลซึ่งแก่ชราภาพมากแล้ว ก็ไม่อยากก่อกรรมก่อเวร เพราะต้องการไปเกิดในแผ่นดินพระศรีอาริยเมตตรัยอีก จึงไปหาท้าวเวสสุวัณ ผู้เป็นใหญ่ให้มาตัดสินความ

ท้าวเวสสุวัณ จึงเรียกทั้งสองฝ่ายมาโดยให้ทั้งสองฝ่ายเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทราบ ท้าวเวสสุวัณจึงบอกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นผลของ “ บุพกรรม ” หรือกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนที่ตามมาในชาตินี้ และทั้งสองฝ่ายก็มีเหตุผลกล้ำกึ่งกัน

.......จึงให้ทั้งสองเลิกลาไม่ต้องเข่นฆ่ากันอีก ขอให้มีเมตตาต่อกัน และให้ทั้งสองฝ่ายรักษาศีลห้า ปฏิบัติธรรม และให้มีขันติธรรม ต่อไป ท้าวผาแดง และพญานาคได้ฟังคำสั่งสอนของท้าวเวสสุวัณก็กลับมีสติ เข้าใจในเหตุและผลต่างฝ่ายต่างอนุโมทนา..สาธุการ เหตุการณ์ร้ายจึงยุติลงด้วยความเข้าใจ มีการให้อภัยกันในที่สุด..



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2040
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved