ตามรอยพระพุทธบาท

หนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม 5 (ตอนที่ 5) พระธาตุลำปางหลวง
praew - 3/2/10 at 11:46

 ย้อนอ่าน ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4






*** เชิญชมคลิปวีดีโอ การเดินทางไปลำพูน ปี ๒๕๔๐ ตอนที่ ๑ ตอนที่ ๒ ตอนที่ ๓ ***

สารบัญ

01.
งานพิธีบวงสรวง ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง
02. ประวัติพระธาตุลำปางหลวง
03. น้ำบ่อเลี้ยง
04. พิธีบวงสรวงและสรงน้ำพระเจดีย์
05.
พิธีอัญเชิญเครื่องสักการะ ทำประทักษิณรอบพระเจดีย์
06. พิธีฉลองสมโภชพระบรมธาตุ
07. อนุโมทนากถา


praew - 3/2/10 at 11:47


ตอนที่ ๕


วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง



พระธาตุลำปางหลวง ปี 2540 (ขณะนี้ปี 2553 กำลังบูรณะ) ญาติโยมกำลังเดินขึ้นทางหน้าซุ้มประตูโขง


เมื่อตอนที่แล้วนั้น ได้จบลงจากการเล่าถึงเหตุการณ์ ณวัดจามเทวี จ.ลำพูน หลังจาก พิธีถวายพระราชสดุดีเทิดพระเกียรติคุณแด่พระแม่เจ้าจามะเทวี ผู้เป็นวีรกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัยแล้ว

พวกเราเหล่าลูกหลานของหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน จึงได้รวบรวมเงินถวายแด่เจ้าอาวาสวัดจามเทวี เป็นจำนวนเงิน ๕ หมื่นบาทเศษ พร้อมกับเครื่องไทยทานทั้งหลาย อันมีพระพุทธรูป ผ้าไตรจีวร ร่ม ตาลปัตร เป็นต้น

เมื่อเจ้าอาวาสรับประเคนของทั้งหมดแล้ว ท่านจึงได้กล่าว "สัมโมทนียกถา" ต่อหน้าองค์ "พระเจดีย์กู่กุด" นั้นว่า ท่านมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่พวกเราได้เดินทางมากระทำพิธีในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลานี้ท่านกำลังมีความทุกข์ทางใจ หรือเรียกว่า "ศัตรูของหัวใจ"

นั่นคือ...ท่านกำลังคิดที่จะจัด งานฉลองกุฏิ ที่สร้างอุทิศถวายให้ท่าน ครูบาเจ้าศรีวิชัย แต่เวลานี้มีเงินแค่ ๑ หมื่นบาทเศษเท่านั้น ทั้งที่จะต้องนิมนต์พระเถระมาร่วมงานถึง ๒๐๐ รูป เงินของพวกเรา ๕ หมื่นบาทเศษนี้ จึงได้ช่วยคลายความทุกข์ในใจของท่านไปได้

เมื่อท่านพูดมาถึงตอนนี้ จึงมีญาติโยมเข้าไปถวายเงินเพิ่มเติมอีก ท่านจึงบอกว่าเงินทั้งหมดที่ถวายมานี้ จะมีอานิสงส์ ๒ ประการ คือถวายให้วัดจามเทวีแล้ว ยังได้มีโอกาสถวายแด่พระเถระที่นิมนต์มาจากวัดอื่น ๆ อีกด้วย

ครั้นเสร็จสิ้นพิธีกรรมต่าง ๆ พร้อมกับพกพาความปลื้มใจไปด้วย พวกเราก็เดินทางต่อไปในยังจุดสุดท้ายคือ วัดพระธาตุลำปางหลวง อันเป็นโบราณสถานที่สำคัญและเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง ซึ่งมีคณะจัดทำบายศรีของเราเดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

เมื่อรถทุกคันมาถึงแล้ว มองเห็นบริเวณวัดตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ มียอดพระเจดีย์สูงเด่นเป็นสง่าน่าเลื่อมใส พวกเราทุกคนจึงเดินขึ้นมาทางบันใด แหงนมองขึ้นไปเห็นซุ้มประตูวัดยอดแหลมอยู่เบื้องหน้า เดินผ่านการฟ้อนรำอย่างสวยงาม ตามจังหวะเสียงฆ้องกลองของชาวบ้านที่ได้มารอต้อนรับ นับเป็นความประทับใจอย่างยิ่งของพวกเราที่ได้มาเยือน

ครั้นเหลียวกลับลงมา เห็นผู้คนทั้งหลายชายหญิง ต่างเดินเบียดเสียดยัดเยียดกันขึ้นมาเต็มทางขึ้น มองดูเป็นแถวยาวเหยียดไปล้นจนถึงถนน ท่ามกลางกระแสลมที่กำลังพัดมาพอดี ถ้าเจ้าหน้าที่บายศรีไม่มาถึงก่อน พวกเราคงจะไม่รู้ว่าพอดีจริงหรือไม่...!

ขณะที่ขึ้นไปถึงบนลานพระเจดีย์ เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. หลังจากนมัสการท่านเจ้าอาวาส และทักทายกับคณะทายกทายิกา วัดพระธาตุลำปางหลวงแล้ว พระภิกษุทุกรูปได้ไปนั่งบนพื้น "วิหารหลวง" ซึ่งอยู่ตรงหน้าด้านพระเจดีย์นั่นเอง

ส่วนคณะญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ต่างก็นั่งล้อมรอบอยู่ด้านหน้าพระเจดีย์เช่นกัน กระแสลมที่พัดแรงก็สงบลงพอดีอีกเช่นเคย ครั้นได้เวลาอันเป็นศุภมงคล จึงได้เริ่มเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของสถานที่นี้สืบต่อไป....

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง ประวัติพระธาตุลำปางหลวง )))))))


praew - 3/2/10 at 11:48


ประวัติพระธาตุลำปางหลวง



ตามตำนานได้เล่าประวัติพระธาตุลำปางหลวงไว้ว่า สถานที่นี้เป็นสถานที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมาเมื่อพุทธพรรษาที่ ๒๕ โดยมาประทับ ณ ดอยม่อนน้อย คือเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่ง พร้อมกับพระสาวกอีก ๔ รูป อันมีพระอานนท์ เป็นต้น แล้วก็มี พระเจ้าปเสนทิโกศล ตามเสด็จมาด้วยจากพระเชตวัน กรุงสาวัตถี

ขณะนั้น มีชาวลั๊วคนหนึ่งชื่อ "อ้ายกอน" ได้นำเอาน้ำผึ้งที่บรรจุอยู่ใน "ลำไม้ป้าง" (ไม้ข้าวหลาม) มะพร้าวและมะตูม อย่างละ ๔ ลูก มาถวายต่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วพระพุทธองค์จึงทรงมอบกระบอกน้ำผึ้งนั้น ให้แก่พระอานนท์ไปเทลงในบาตร

แล้วองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ จึงได้ฉันน้ำผึ้งนั้น เสร็จแล้วพระพุทธองค์จึงทิ้งกระบอกไม้นั้นไปตกทางทิศเหนือ พระองค์จึงทรงพยากรณ์ว่า สถานที่นี้ต่อไป จักมีผู้มาสร้างเมืองมีชื่อว่า "ลำป้าง" หรือ "ลัมภะกัปปะนคร"

ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงยกพระหัตถ์ข้างขวาขึ้นลูบพระเศียร ได้พระเกษา ๑เส้น ติดพระหัตถ์มาแล้วทรงมอบให้แก่ "ลั๊วอ้ายกอน" อ้ายกอนก็น้อมรับเอาเส้นพระเกษาด้วยความดีใจ แล้วนำลงบรรจุในผอบทองคำใหญ่ หนัก ๘ กรัม

ขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลพร้อมด้วย พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงให้ขุดหลุมแล้วอัญเชิญผอบพระเกศาลงไปประดิษฐานภายในหลุมนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลและ "ลั๊วอ้ายกอน" ก็ได้นำเอาแก้วแหวนเงินทองเป็นจำนวนมาก ถวายเป็นพุทธบูชาลงฝังในหลุมนั้น เสร็จแล้วก็สร้างยนต์หมุนรักษาไว้ จัดการถมดินดีแล้วก็ก่อเป็นเจดีย์ข้างบนหลุมอุโมงค์นั้นสูง ๗ ศอก

แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัสพยากรณ์ต่อไปว่า เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้วได้ ๒๑๘ ปี จักมีพระอรหันต์ ๒ องค์ องค์หนึ่งชื่อว่า พระกุมารกัสสปเถระ จักได้นำเอาอัฐิพระนลาต คือกระดูกหน้าผากข้างขวา และ พระเมฆิยเถระ จักได้นำเอาอัฐิลำคอข้างหน้าและข้างหลังของตถาคตมาบรรจุไว้ในที่นี้อีก พระเจดีย์องค์นี้จักปรากฏเป็นเจดีย์ทองคำ จักได้ชื่อว่า "ลัมภะกัปปะ" แล้วองค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จจาริกไปที่อื่นอีก

ครั้นสมัยต่อมา เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ๒๑๘ ปี ยังมีพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์มีความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพุทธศาสนา ปรารถนาจะสร้างพระเจดีย์ไว้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๘๔,๐๐๐ องค์ ทั่วทั้งชมพูทวีป


เมื่อขุดพบพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์ที่ กรุงราชคฤห์ แล้วพระองค์จึงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุนั้น เพื่อให้พระเถระทั้งหลาย อัญเชิญไปประดิษฐานในพระเจดีย์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ องค์ ซึ่งพวกเราคงจะจำเรื่องราวที่วัดพระธาตุศรีจอมทองก็ดี วัดพระธาตุหริภุญชัยก็ดี จะมีประวัติที่กล่าวถึงพระเจ้าอโศกมหาราชเช่นกัน

แสดงว่าจำนวนพระเจดีย์ที่พระองค์ทรงสร้าง ในจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์นั้น ได้มีส่วนเข้ามาในอาณาเขตของประเทศไทยด้วย สมัยนั้นพระองค์คงจะปรึกษากับพระอรหันต์ก่อน

ฝ่าย พระกุมารกัสสปเถระ กับ พระเมฆิยเถระ ทั้งสองท่านต่างก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ดังกล่าวแล้ว มาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุลำปางหลวง ตามพระพุทธพยากรณ์ทุกประการ

ต่อแต่นั้นมา เป็นเวลานาน ไม่ปรากฏกาลเวลา มีพระยาองค์หนึ่งเสวยราชสมบัติอยู่ ณ กรุงสุวรรณภูมิ มีพระนามว่า จันทะเทวราช ได้ทรงทราบข่าวว่าพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดลัมภะกัปปะนครนั้น องค์พระเจดีย์ได้ชำรุดทรุดโทรมลง มีพระประสงค์จะได้พระบรมธาตุมาไว้ในบ้านเมืองของพระองค์ พระองค์จึงเสด็จมาโดยจาตุรงคเสนาถึงลัมภะกัปปะนคร

เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงแล้ว ก็ให้จัดการพักพลตั้งค่ายรายรอบบริเวณที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แล้วพระองค์ก็ได้จัดการสมโภชเป็นมหกรรมครบ ๗ วัน แล้วจึงทรงตั้งสัจจะอธิษฐาน ขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเสด็จออกมาจากหลุม กระทำถึง ๓ ครั้ง พระบรมสารีริกธาตุก็หาได้เสด็จออกมาไม่

คราวนี้พระราชาแห่งกรุงสุวรรณภูมิ จึงทรงมีบัญชาให้อำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งหลายของพระองค์ทำการขุดดินลงไป แล้วจึงทำการอัญเชิญผอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุออกจากหลุม แล้วอัญเชิญขึ้นหลังช้างทรง แล้วยกกองทัพกลับไปสู่เมืองสุวรรณภูมิ

ครั้นถึงแล้วพระองค์ก็ให้จัดงานสมโภช พอถึงครบ ๒ คืน พระบรมสารีริกธาตุก็แสดงปาฏิหาริย์ ลอยขึ้นสู่นภากาศทั้งผอบทองคำที่บรรจุ แล้วเสด็จกลับมายังลัมภะกัปปะตามเดิม จึงทำให้พระองค์ทรงมีความน้อยพระทัยเป็นล้นพ้น


รุ่งขึ้น พระองค์สั่งให้เตรียมกองทัพเสด็จออกติดตามพระบรมสารีริกธาตุ จนบรรลุถึงลัมภะกัปปะนคร ก็ทรงเห็นผอบพระบรมสารีริกธาตุตั้งอยู่ที่เดิมเป็นปกติ ดังนั้นพระองค์ จึงกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุโดยความเคารพและเลื่อมใสเป็นยิ่งนัก

แล้วรับสั่งให้ไพร่พลจัดการตบแต่งหลุม ที่จักประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้กว้างปราบพื้นก้นหลุมให้ราบเรียบดีงาม แล้วก่ออิฐเงิน อิฐทองคำ ให้สูงจากก้นหลุม แล้วทำผอบเงินอีกอันหนึ่ง เพื่อบรรจุผอบทองคำเดิม โดยประดิษฐานไว้บนหลังสิงห์อันหล่อด้วยทองคำ แล้วก็นำเอาสิงห์ทองคำนี้ลงไปตั้งไว้เหนืออิฐทองคำท่ามกลางหลุม

เสร็จแล้วพระองค์ก็ให้ช่างก่อเจดีย์อันหนึ่ง หุ้มสิงห์ทองคำนั้น (เจดีย์รูปสัณฐานเหมือนฟองน้ำ) แล้วพระองค์ก็ประดับด้วยเครื่องบูชา คือดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองคำ และประทีปเงิน ประทีปทองคำ ล้อมรอบไว้ทุก ๆ ด้าน นอกจากนี้ พระองค์ก็ให้ตั้ง “ไหเงิน” ลูกใหญ่ไว้ ๔ มุมของหลุม

แล้วพระองค์ก็ให้สร้าง “หุ่นยนต์” ถืออาวุธทั้ง ๔ ด้าน ทั้งนี้ เพื่อจักได้รักษาพระสารีริกธาตุให้มั่นคงต่อไป ต่อนั้นพระองค์ก็ได้ ก่ออุโมงค์หุ่ม “หุ่นยนต์” นั้นไว้อีก ถัดจากนั้น ก็ก่อกลบด้วยแผ่นเงิน แล้วถมด้วยหินศิลาแลงให้เสมอด้วยดิน โบกด้วยปูนให้แน่นหนาแข็งแรง เป็นอันเสร็จการสร้างในสมัยของ พระเจ้าจันทะเทวราช กษัตริย์กรุงสุวรรณภูมิ

ต่อจากนั้นมาอีกนาน มีพระราชาองค์หนึ่งชื่อว่า “พระยาพละ” (เจ้าผู้ครองนครแพร่) เสวยราชสมบัติอยู่ในเมือง อันตั้งอยู่ใกล้กับเมืองลัมภะกัปปะนครนี้ รู้ประวัติว่าพระบรมสารีริกธาตุมีอยู่ในเมืองนี้ พระองค์อยากได้ จึงเสด็จมาโดยเหล่าเสนาทั้ง ๔

ครั้นถึงแล้ว พระองค์จึงรับสั่งให้คนขุดพระเจดีย์ แต่ไม่สามารถทำลายหุ่นยนต์ได้ จึงให้คนทั้งหลายถมดินแต่ข้างหลังหุ่นยนต์นั้นขึ้นมา จนหุ้มอุโมงค์นั้นแล้ว พระองค์จึงให้หาคนผู้กระทำความผิด ๔ คนมาฆ่า แล้วเอาหัวสุมกัน ให้เท้าชี้ไปคนละทิศ ทั้งนี้ เพื่อให้คน ๔ คนทำการรักษาพระบรมสารีริกธาตุต่อไป

(ผู้เขียนคิดว่า ท่านคงจะทำเป็นการแก้เคล็ดมากกว่า เพื่อทำลายหุ่นยนต์)

แล้วถมดินขึ้นมาจนเสมอพื้น ให้คนหา “ไม้ขะจาว” ปลูกไว้ตรงกลางหลุมนั้น ๑ ต้น และปลูกไว้ในทิศทั้ง ๔ อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นเครื่องหมายไว้ว่า วันหนึ่งข้างหน้า “หุ่นยนต์” ต้องชำรุดหักพังลง แล้วพระองค์จะได้มาขุดพระบรมสารีริกธาตุต่อไป

“ไม้ขะจาว” ได้ปลูกตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ตามตำนานพระธาตุลำปางหลวงว่า “ลั๊วอ้ายกอน” ได้ใช้เป็นไม้คานหาบกระบอกน้ำผึ้ง อีกทั้งมะพร้าวและมะตูม มาถวายพระพุทธองค์


ครั้นอยู่ต่อมาในสมัย พระแม่เจ้าจามะเทวี ได้เสด็จมาตั้งค่ายใกล้บริเวณนั้น เวลากลางคืนพระบรมธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์มาจาก ลัมภะกัปปะเจดีย์ ตกลงกลางค่ายพักของพระแม่เจ้าพอดี ทรงเข้าพระทัยว่าชาวบ้านแถวนั้นแกล้งจุดไฟโตนดให้มาตกลง

รุ่งขึ้นจึงได้ให้เสนาบดีไปถามคนอื่น ๆ ว่ามีใครเห็นไฟโตนดตกลงมากลางค่ายพักนี้บ้าง คนทั้งหลายต่างก็ตอบว่าไม่ได้เห็นเลย ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่งชื่อ ล่ามพันทอง จึงกราบทูลว่า ที่พระแม่เจ้าได้เห็นนั้น คงจะเป็นพระบรมสารีริกธาตุอันตั้งอยู่ที่วัดลัมภะกัปปะนคร แสดงปาฏิหาริย์ให้พระแม่เจ้าอยู่หัวได้ทราบ ทั้งนี้โดยบุญญาธิการของพระแม่เจ้าอยู่หัวต่างหาก

เมื่อพระแม่เจ้าทรงทราบเช่นนั้นแล้ว จึงเสด็จไปที่ลัมภะกัปปะเจดีย์ อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เสด็จเข้าไปกราบไหว้โดยอาการอันเคารพยิ่ง

ฝ่ายชาวบ้านชาวเมืองเมื่อทราบข่าวว่า พระแม่เจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึง ต่างก็ชักชวนกันมาเพื่อเฝ้าชมพระบารมี ส่วนพระแม่เจ้าก็ทรงซักถามชาวบ้านถึงความเป็นอยู่ ว่าได้รับความเดือดร้อนเป็นประการใดบ้าง

ชาวบ้านเหล่านั้นก็กราบทูลว่า ความเดือดร้อนอันอื่นใด จัดได้เกิดแก่พวกข้าพเจ้าหามิได้ นอกจากความเดือดร้อนอันเกิดจากการขาดแคลนน้ำบริโภคเท่านั้น

เพราะน้ำที่ใช้บริโภคอยู่ทุกวันนี้ ต้องนำเอาเกวียนไปบรรทุกมาจากแม่น้ำวัง และห้วยแม่ยาว อันเป็นระยะทางไกลมาก เมื่อจักขุดบ่อในบริเวณนี้ก็หาสายน้ำมิได้

เมื่อพระแม่เจ้า ได้สดับเช่นนั้น ก็มีพระทัยสงสารชาวบ้าน ก่อนที่จะเสด็จจากสถานที่นั้น พระแม่เจ้าก็ทรงกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุโดยความเคารพ แล้วทรงตั้งสัจจะอธิษฐานว่า

"ถ้าสถานที่นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ที่พระอรหันต์และ พระเจ้าอโศกมหาราช นำมาประดิษฐานไว้จริง แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอให้สายน้ำจงแตกออกตรงใจกลางเมืองเถิด..."

เมื่อพระแม่เจ้ากระทำสัจจะอธิษฐานเสร็จ แล้วกราบไหว้ด้วยความเคารพอีกครั้งหนึ่งแล้ว พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาขึ้นหลังช้างอันพระแม่เจ้าให้เตรียมไว้ แล้วทรงเสด็จยาตรากองทัพไปสู่ เมืองตาล หรือเมืองรมณีย์ (เป็นเมืองร้างตั้งอยู่ระหว่างดอยขุนตาล ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอห้างฉัตร) อันเป็นที่ทรงพระสำราญของพระองค์

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง น้ำบ่อเลี้ยง )))))))


praew - 3/2/10 at 11:49


น้ำบ่อเลี้ยง


วันนั้นเป็นเวลาเย็น เมื่อกระบวนเสด็จ ของพระแม่เจ้าผ่านไปแล้ว ก็มีหญิงแก่ผู้หนึ่ง ชื่อว่า “ย่าลอน” ได้เข้าไปพบเห็นที่บริเวณแห่งหนึ่ง มีน้ำซึมออกมาบนผิวดิน นางก็คุ้ยเขี่ยดูก็พบสายน้ำพุ่งออกมา

เมื่อเป็นเช่นนั้นนางก็ไปบอกกล่าวชาวบ้านทั้งหลายมาดู และชาวบ้านเหล่านั้นก็หาเสียมมาขุดดินให้เป็นบ่อก็พบสายน้ำพุ่งขึ้นมาแรงนัก คนเหล่านั้นก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

"นี่หากเกิดด้วยบุญญาธิการแห่งพระแม่เจ้า อันกระทำสัจจะอธิษฐานเป็นมั่นคง..."

สำหรับน้ำในบ่อนี้ ผิดกับน้ำที่มีในบ่อแห่งอื่น ๆ คือ ใสเย็น มีรสกลิ่นอร่อย บ่อนี้ยังปรากฏจนถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำบ่อเลี้ยง” หมู่บ้านนี้ไม่มีน้ำบ่อที่ไหนเลย ชาวบ้านต้องอาศัยบ่อน้ำนี้เพียงแห่งเดียว น้ำบ่อเลี้ยงนี้ ปัจจุบันอยู่กลางหมู่บ้าน ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากวัดประมาณ ๕๐๐ เมตร

รุ่งขึ้นผู้เป็น “พ่อเมือง” ก็ตักเอาน้ำบ่อนั้นใช้คนหามขึ้นไปถวายพระแม่เจ้าในเมืองตาลแล้ว เล่าเรื่องความเป็นมาให้ทรงทราบ พระแม่เจ้า จึงให้คนลองชิมน้ำนั้น ปรากฏว่ามีรสดีกว่าน้ำ ในเมืองหริภุญชัย

ต่อมาพระแม่เจ้าจึงรับสั่งให้อำมาตย์เลือกหาสถานที่ปลูกพลับพลาที่ประทับ อันมีอยู่ในลัมภะกัปปะนคร ครั้นปลูกสร้างพลับพลาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระแม่เจ้าจึงรับสั่งให้มีงานฉลองสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ ตลอด ๗ วัน ๗ คืน เสร็จแล้วจึงได้ถวายที่นาราคาล้านเบี้ย ให้เป็นเขตนาของพระบรมสารีริกธาตุ แล้วมอบหมายให้มีผู้คอยดูแลรักษาพระบรมธาตุ และดูแลรักษาบ่อน้ำอันเกิดจากการอธิษฐานของพระแม่เจ้าอีกต่อไป

ตามประวัติก็ได้เล่าถึงการบูรณะปฏิสังขรณ์กันตลอดมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ จึงเป็นศรีสง่ามานานแล้ว นับตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล ณ เมืองลำปาง หรือลัมภะกัปปะนคร หรือ นครละกอน แล้วมาเปลี่ยนเป็น นครเขลางค์ ในสมัยพระราชโอรสของพระแม่เจ้าจามะเทวี คือ พระเจ้าอนันตยศ ซึ่งเป็นผู้ครองนครเขลางค์ นับเป็นองค์ปฐมแห่ง “รามวงศ์” อีกด้วย

สถานที่นี้จึงเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่มากอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทั้งยังได้เป็นที่เคารพ และสักการะของชาวไทยตลอด โดยเฉพาะวัดนี้ ถือว่าเป็นพระอารามหลวงแห่งหนึ่ง ที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทุกกาลสมัย อันมีพระแม่เจ้าจามะเทวี ตลอดจนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้ทรงทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์ตลอดมา

ทั้งนี้ เป็นเพราะเหตุว่าเป็นสถานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมา พร้อมทั้งได้ทรงประทานเส้นพระเกษา ๑ เส้น ให้แก่ชาวลั๊วคนหนึ่ง ชื่อว่า “อ้ายกอน” แล้วได้ช่วยกันก่อพระเจดีย์สูง ๗ ศอก นับเป็นการสร้างในครั้งแรก

ครั้นถึงในรัชสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช พระอรหันต์ท่านก็ได้นำพระบรมธาตุที่เป็นส่วนพระนลาต คือกระดูกหน้าผากข้างขวา และพระธาตุที่พระศอ ได้แก่กระดูกลำคอข้างหน้า และข้างหลัง มาบรรจุรวมกันไว้ ณ พระเจดีย์องค์นี้

พิธีการอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเล่าเรื่องนี้จบแล้ว จึงอาราธนาให้เจ้าอาวาสท่านเล่าให้ฟังถึงเรื่อง พิธีการอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ มาสรงองค์พระเจดีย์ เพราะทราบว่า มีการจัดริ้วขบวนแห่เป็นกองเกียรติยศ นับเป็นงานสำคัญของจังหวัดลำปางทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้ ท่านได้กรุณาอธิบายว่า

“สำหรับประวัติของน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ มาจากการอธิษฐานของ พระนางจามะเทวี ซึ่งผุดออกจากกลางหมู่บ้าน ดังที่เล่ามาแล้วนั้น และเมื่อถึงเทศกาลประเพณีของทางวัด ซึ่งเป็นวันเพ็ญเดือน ๑๒ หรือทางภาคเหนือเรียกว่า วันเพ็ญเดือนยี่เป็ง ก็จะได้มีการอัญเชิญโดยการนำของมรรคทายก จะได้กล่าวอัญเชิญเทพยดา ให้รับทราบว่าได้ถึงประเพณีแล้ว ก็จะได้อัญเชิญน้ำนี้ไปสรงยังพระบรมธาตุ

เมื่อมรรคทายกกล่าวอัญเชิญแล้ว ชาวบ้านก็ช่วยกันตักน้ำหาบขึ้นมา เพื่อที่จะนำมาใส่ตุ่มหน้าพระวิหารทางด้านทิศใต้ คือจะทำวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี และก็มีเทศกาล “สงกรานต์” เพื่อจะทำพิธีก่อนวันที่ ๑๓ คือวันที่ ๑๑ เม.ย. ก็จะทำพิธีกัน

ซึ่งน้ำบ่อเลี้ยงที่เกิดจากแรงอธิษฐานของพระนางเจ้าจามะเทวีนี้ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ก็ได้อัญเชิญน้ำนี้ไปเป็นน้ำ “มูรธาภิเษก” ร่วมพิธีในครั้งนั้นด้วย

น้ำที่นำมาสรงนี้ ชาวบ้านก็ไม่ให้มีการข้าม หรือการไม่เคารพ คือให้ชาวบ้านนำมาสักการะพระบรมธาตุ เพื่อขอความสุขความเจริญต่อพระบรมธาตุเป็นลำดับมา ประวัติการสรงน้ำ ก็มีเพียงเท่านี้ ขอเจริญพร...”



◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง พิธีบวงสรวง )))))))


praew - 3/2/10 at 11:50


พิธีบวงสรวงและสรงน้ำพระเจดีย์


ต่อจากนั้น พระครูสมุห์พิชิต จึงได้เป็นตัวแทนของพวกเราทุกคน จุดธูปเทียนที่โต๊ะบวงสรวง แล้วหลวงพ่อก็ได้กล่าวชุมนุมเทวดาต่อไป พวกเราก็ร่วมกันอธิษฐาน เพื่อขอพระบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้โปรดคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายทั้งหลาย เพื่อให้ประเทศชาติมีความปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองต่อไป

หลังจากหลวงพ่อกล่าวนำคำบูชาพระรัตนตรัยและขอขมาโทษแล้ว ก็จะทำพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุกัน โดยแบ่งออกเป็น ๓ ชุด ชุดแรก เริ่มต้นจากพระภิกษุสงฆ์ก่อน ประมาณ ๒๐ กว่ารูป ได้ใช้กระบวยตักน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้นใส่ในกระป๋องเล็ก ซึ่งแขวนติดอยู่กับสิ่งหนึ่งคล้ายกับรูป “พญานาค” ที่จะเป็นผู้นำน้ำขึ้นไปสรงบนองค์พระเจดีย์ ฉะนั้น

เมื่อพระสงฆ์สรงน้ำเสร็จแล้ว ฝ่ายผู้ชายทั้งหลายก็เข้าไปสรงน้ำเป็นชุดที่ ๒ โดยดึงสายเชือกขึ้นไปพร้อมกัน ในตอนนี้ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา (สวดชยันโต) พร้อมเพลงมหาฤกษ์มหาชัย ตีฆ้องลั่นกลองชัยไปด้วย จนกระทั่งถึงบริเวณคอพระเจดีย์ แล้วจึงดึงสายเชือกอีกด้าน เพื่อให้กระป๋องน้ำเทราดรดบนองค์พระเจดีย์

แล้วจึงสาวเชือกกลับลงมา เพื่อให้บรรดาท่านสุภาพสตรีทั้งหลาย ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้ชายหลายเท่า ได้มีโอกาสสรงน้ำพระบรมธาตุต่อไปเป็นชุดสุดท้าย ตามโบราณประเพณีของภาคเหนือ โดยคณะอุบาสิกาทั้งหลายยืนถือเชือก ซึ่งต้องนำต้ายสายสิญจน์มาถือต่อไปอีกยาวเหยียด บางคนก็ได้นำน้ำหอมที่เตรียมมาผสมลงไปด้วย แล้วก็ได้ทำพิธีสรงน้ำเช่นเดียวกันกับชุดก่อนแล้วครบถ้วนทุกประการ

ในขณะที่สรงน้ำนี้ มีบางคนเล่าให้ฟังในภายหลังว่า มองไปบนท้องฟ้าทางด้านทิศตะวันตก ผ่านด้านหลังองค์พระเจดีย์ไป ซึ่งผู้เขียนก็ไม่มีโอกาสได้เห็น แต่มีหลายคนได้เห็นแล้ว เล่าให้ฟังตรงกันว่า ในตอนนั้น ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้ม น่าจะเป็นเวลาใกล้ ๑๘.๐๐ น. แต่มีแสงสีทองเหลืองอร่าม (คุณแสงเดือนถ่ายรูปมาให้ชมด้วย) เกิดขึ้นทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ แล้วค่อยมีแสงหลายหลากสีเป็นรัศมีวงกลมสวยงามมาก

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป "พิธีอัญเชิญเครื่องสักการบูชา" )))))))


praew - 3/2/10 at 11:51


พิธีอัญเชิญเครื่องสักการะ ทำประทักษิณรอบพระเจดีย์




เมื่อทุกคนได้สรงน้ำพระบรมธาตุแล้ว จึงขอให้ทุกคนมารวมกันที่ลานพระเจดีย์ เพื่อจะทำพิธีอัญเชิญเครื่องสักการะแห่รอบองค์พระบรมธาตุ พร้อมทั้งสวดอิติปิโสไปด้วย ๓ รอบ

โดยการนำของพระภิกษุทั้งหลาย ได้เดินถือพานธูปเทียนแพ พุ่มเงินพุ่มทอง ฉัตรเงิน ฉัตรทอง และดอกดาวเรือง พร้อมทั้งอัญเชิญผ้าห่มพระเจดีย์ที่ตัดเย็บอย่างสวยงาม หลายคนเดินถือชายผ้าห่มทั้งสองด้าน ซึ่งมีความยาวเกือบ ๕๐ เมตร โดยมี "กรวยดอกไม้" ถือ อยู่ในมือ ซึ่งทางวัดได้จัดเตรียมไว้ให้


เสียงการเจริญ "พระพุทธคุณ" ของพวกเราได้ดังไปทั่ว เพื่อสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้าคุณพระธรรม และคุณพระอริยสงฆ์ ด้วยความเคารพยิ่งชีวิต จิตใจได้มุ่งตรงอยู่ที่องค์พระเจดีย์ เหมือนเป็นศูนย์กลางให้พวกเราได้มารวมกันเป็นหนึ่งเดียว จนเต็มรอบพระเจดีย์ที่เรียกว่าหัวชนท้ายกันก็ว่าได้

ทุกคนจึงมีความปลื้มปีติยินดีที่มีโอกาสได้กระทำประทักษิณครบ ๓ รอบ อันเป็นสถานที่แห่งเดียวและแห่งสุดท้ายที่ได้มาเวียนเทียนกัน หลังจากนั้น พวกเราก็ทรุดตัวนั่งลง โดยรอบองค์พระธาตุ เพื่อประกาศถวายเครื่องสักการะทั้งหลายเหล่านี้อย่างเป็นทางการ


โดยตั้งนะโม ๓ จบพร้อมกันก่อน แล้ว จึงกล่าวถวายเครื่องสักการะต่าง ๆ อันมีน้ำโสรจสรงองค์พระบรมธาตุ ผ้าตุง ผ้าห่มพระเจดีย์ เครื่องบายศรี ฉัตรเงินและทอง พุ่มเงินและทอง เป็นต้น

แล้วทุกคนก็ได้นำเข้าไปถวายพระเจดีย์เป็นที่เรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ของวัดก็ได้รับเอาผ้าห่มเดินขึ้นบันได เพื่อนำขึ้นไปห่มพระเจดีย์แทนพวกเรา ส่วนคนที่มีกรวยดอกไม้ ต่างก็นำไปบูชารอบองค์พระเจดีย์ด้วยความเคารพ


หลังจากนั้นก็เป็นถวายผ้าป่า อันมีพระพุทธรูป ผ้าไตรจีวร พร้อมพานวางสิ่งของต่าง ๆ ร่ม และตาลปัตร โดยมีหลายท่านร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดเครื่องไทยทานเหล่านี้ พร้อมทั้งร่วมกันบริจาคเงินบูรณะวัดพระธาตุลำปางหลวงอีก ประมาณ ๑ แสนบาทเศษ จึงอุทิศส่วนกุศล แล้วรับพรจากเจ้าอาวาส คือ ท่านมหานิยม เป็นลำดับต่อไป.

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง พิธีฉลองสมโภชพระบรมธาตุ )))))))


praew - 15/2/10 at 08:32


พิธีฉลองสมโภชพระบรมธาตุ


ตอนต่อไปนี้ หลังจากเสร็จพิธีการบวงสรวงสักการะบูชาตามที่กล่าวมาแล้ว ก็จะเป็นการฟ้อนรำถวาย "ชุดรำเทียน" ซึ่งขณะนี้เป็นเวลาใกล้ค่ำพอดี เริ่มมีกระแสลมโชยมาเบาๆ แต่ก็พยายามจุดธูปเทียนไว้ในมือ พร้อมกับร่ายรำไปตามเสียบเพลง จะเห็นเปลวเทียนระยิบระยับแกว่งไกวไปอย่างพร้อมเพรียง

ในความมืดพอมีแสงสลัว ๆ จะมองเห็นเด็กสาวที่อยู่ในชุดไทยชาวเหนือ แสดงลีลาท่าทางที่อ่อนช้อยงดงาม บ่งบอกถึงความมีน้ำใจไมตรีของชาวเหนือ โดยเฉพาะในตอนนี้ ยังมีบางคนลุกออกไปทานอาหารเย็นกันที่ศาลาอีกหลังหนึ่ง ซึ่งทางวัดร่วมกับชาวบ้านลำปางหลวง ได้จัดเตรียมอาหารมาเลี้ยงเป็นพิเศษ ได้ทราบในตอนหลังจากกลับมาแล้วบอกว่าอร่อยดี

เมื่อเสียงเพลงจบลงไปแล้ว ก็เป็นเสียงปรบมือให้แก่ชุดฟ้อนรำจาก โรงเรียนพร้าววิทยาคม เสร็จแล้วจึงขอให้ทุกคนไปรวมตัวกันอีกด้านหนึ่งของพระเจดีย์ เพื่อชมการบูชาเป็นการปิดท้ายที่สำคัญต่อไป


◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป เรื่อง อนุโมทนากถา )))))))


praew - 22/2/10 at 08:24


อนุโมทนากถา


แต่ก่อนที่จะจบ "พิธีสมโภชอันยิ่งใหญ่" ณ ปูชนียสถานอันสำคัญที่นี่ และที่ทุกแห่งทางภาคเหนือ เป็นการฉลองสมโภชปิดท้ายรายการทางภาคเหนือ ตอนนี้เป็นตอนจบ นับตั้งแต่จัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ โดยเริ่มตั้งแต่ วัดพระบาท ๔ รอย จ.เชียงใหม่ แล้วมาถึงปีนี้ ๑๘ ม.ค. ๔๐ ที่พระธาตุดอยตุง และ พระธาตุจอมกิตติ จ.เชียงราย

แล้วต้องมาแบ่งมาเป็นตอนที่ ๒ นี้ อันมี จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และสุดท้ายที่ จ.ลำปาง โดยได้มายุติลงคงไว้ ณ สถานที่แห่งนี้เป็นที่สุด จึงต้องขอกล่าวก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับไปว่า

สรุปผลการเดินทางมาในครั้งนี้ และทุกครั้งที่ผ่านมา บางท่านกว่าจะมาได้ ก็ด้วยความยากลำบาก ต้องมีความเสียสละ ทั้งภารกิจและความสุขสบายต่าง ๆ เพื่อผลอันยิ่งใหญ่ในการบูชาคุณพระรัตนตรัย

โดยเฉพาะในปีนี้ นอกจากจะจัดงานไหว้พระคุณของครูบาอาจารย์ หรือเรียกว่า "งานไหว้สาครูบาเจ้า" ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้มแล้ว เราจะต้องไปกราบไหว้บูชาพระคุณของท่าน "บิดา" และ "มารดา" กันเป็นกรณีพิเศษ เพราะถ้าหากสมมุติว่าโลกจะต้องประสปกับทุกข์ภัยใหญ่ชาวโลกทั้งหลายอาจจะต้องมีเคราะห์กรรม แต่กรณีผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา คงจะแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลาย นอกจากท่านที่มีหน้าที่ช่วยพิทักษ์รักษาตัวเราแล้ว ก็ยังมี "ท่านพ่อ" และ "ท่านแม่" ทั้งหลาย ที่จะห่วงในใกล้ชิด และให้กำลังใจลูกของท่านตลอดเวลาในยามคับขัน

ทั้งนี้ เป็นด้วยพวกเราได้ประกอบคุณงามความดี ตามที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนไว้ แม้ท่านจะละทิ้งสังขารไปแล้วก็ตาม พวกเราก็ได้จาริกไป "ตามรอยความดี" ของท่าน โดยได้ไปกราบนมัสการ ณ สถานที่สำคัญเกือบทุกแห่งตามที่ท่านเคยไป แล้วได้กระทำตามแบบอย่างของศิษย์ที่ดีทุกประการ

ถึงแม้ว่าจะมีข้อบกพร้องไปบ้างก็ตามทีแต่ด้วยเกียรติคุณความดีของท่าน ที่พวกเราได้ประกาศไปเกือบทั่วทุกภาคของประเทศแล้วได้สรรเสริญเกียรติคุณของท่าน โดยถูกต้อง ชอบธรรมทุกประการ คือยกขบวนกันไปด้วยความสามัคคีเป็นอย่างดี

พวกเราไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน มีระเบียบวินับ มั่นคงในเวลา ซื่อสัตย์ต่อตนเอง และผู้อื่น ประพฤติมั่นในศีลธรรม ปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ได้แก่อุโบสถ วิหาร และพระเจดีย์ต่าง ๆ เพื่อช่วยกันค้ำจุนพระพุทธศาสนา ให้สถิตย์สถาพรอยู่ในจิตใจของคนไทยตลอดไป

การจัดงานในแต่ละครั้งจนถึงปัจจุบันนี้ จึงได้เลือกสถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาพร้อมด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย โดยเฉพาะในครั้งนี้ ถ้าจะย้อนตั้งแต่ตอนแรก เราก็บูชาคุณความดีของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย มีหลวงพ่อและหลวงปู่ครูบาชัยวงศ์ เป็นต้น ได้จัดงานร่วมสมัยกัน แล้วได้ทำบุญกับพระเถระทั้งหลายที่ได้อาราธนามาร่วมงานด้วย


◄ll กลับสู่ด้านบน


((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))))))


praew - 5/3/10 at 07:55

ต่อจากนั้น ได้ไปกราบรอยพระพุทธบาท "เกือกแก้ว" จนได้รับผล คือความเยือกเย็น ชุ่มฉ่ำชื่นใจไปทั่ว เหมือนกับหยดน้ำที่ประทานพรลงมาจากฟากฟ้า ฉะนั้น แล้วไปสรงน้ำพระบรมธาตุ "จอมโมลี" ณ วัดพระธาตุศรีจอมทอง และไปค้างคืนทำบุญกันต่อที่ วัดโขงขาว

รุ่งเช้า จึงเดินทางไปบูชาเส้นพระเกศาธาตุ ณ วัดพระธาตุดอยคำ สักการะพระบรมธาตุ หริภุญชัย ไหว้พระอัฐิธาตุของ พระแม่เจ้าจามะเทวี แล้วจึงมาปิดท้ายคือ "รวมงานพิธีฉลองสมโภช" ณ สถานที่นี้ และสถานที่ทุกแห่งที่ผ่านมาทั้งหมด

จึงได้ชื่อว่ากราบไหว้บูชาคุณพระพุทธเจ้าตลอดทั้งพระองค์ทีเดียว คือได้กราบตั้งแต่ พระบาทจนถึงพระเศียร ใช่ไหม.. เพราะอะไร จึงได้จัดงานอย่างนี้ ก็เพื่อผลความดีที่จะพึงกระทำ ตามที่เรายังมีชีวิตอยู่..ยังมีโอกาสอยู่.. ยังมีความสามัคคีอยู่..ยังเป็นสัมมาทิฏฐิอยู่.. ต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้...!

แต่ตอนนี้ถือว่าพวกเรายังรวมกำลังกันอยู่ จึงได้จัดงานเป็นกรณีพิเศษ คืองานฉลองอายุพระพุทธศาสนาครบ ๒๕๔๐ ปีพอดี แล้วที่จะต้องมายุติ "ภาคเหนือ" อันเป็นตอนจบเพียงแค่นี้

สรุปแล้วในครั้งนี้พวกเราได้มีโอกาสร่วมบำเพ็ญกุศล ถวายพระพุทธรูป ผ้าไตรไทยทานทั้งหลาย แด่พระเถระที่นิมนต์มาและตามวัดจัดเป็นสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน รวมทั้งสิ้น ๒๐ วัด ตรงกับ ๒๐ พรรษาที่ผ่านมา พอดีที่มีโอกาสร่วมฉลองไปด้วย เป็นจำนวน เงินรวมทั้งสิ้น ๑ ล้านบาทเศษ

นอกจากนั้น ยังมีค่าใช้จ่ายของงานอื่นๆ อีก ที่ได้หักออกจากเงินกองกลางแล้ว และรวมทั้งมีผู้ที่จัดเครื่องไทยทานมาร่วมด้วย คงจะเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ ๑ แสนบาทเศษ จึงขอให้ทุกท่านได้โปรดอนุโมทนาร่วมกันเทอญ

ในที่สุดนี้ที่จะต้องขอขอบคุณพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย โดยเฉพาะงานตอนที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๘ - ๑๙ ม.ค. ๔๐ อันมี พระครูปลัดอนันต์ เป็นประธาน ส่วนงานตอนที่ ๒ นี้ เมื่อวันที่ ๑๙ - ๒๐ เม.ย. ๔๐ อันมี พระครูสมุห์พิชิต เป็นประธานของงาน

ท่านทั้งสองนี้ พร้อมทั้งพระภิกษุภายในวัด และเพื่อนพระภิกษุที่ไปจากวัดอื่น ๆ ก็ตามที่ได้เมตตาอุปการะ ให้คำแนะนำและช่วยกิจการจัดงานต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี พร้อมกันนี้ ก็ต้องขออนุโมทนาญาติโยมด้วยที่ช่วยร่วมเดินทางมา รวมทั้งผู้จัดรถ เจ้าหน้าที่จัดงาน ช่วยขนของ และช่วยทำบายศรี เป็นต้น

หรือแม้แต่ท่านผู้อ่านทุกท่านก็ตาม ถึงท่านจะมิได้ไปร่วมงาน แต่ก็เป็นงานของพวก ท่านเช่นกัน เพราะเราทำกันในนามของ "คณะศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน" จึงควรนับเนื่องเป็น "ผลงาน" และ "ผลบุญ" ของพวกท่านทุกคนนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีท่านทั้งหลายเหล่านี้ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น งานก็คงไม่มีจนมาถึงวันนี้อย่างแน่นอน จึงขออวยพรให้ทุกท่าน ที่ได้บำเพ็ญบารมีมาด้วยดี จะเป็นที่ไหน ๆ ชาติหนใดก็ตาม ตราบถึงปัจจุบันนี้ ที่จะมีอานิสงส์สูงสุดเพียงใด ในกำลังบุญบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ

ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย และคุณบิดา มารดา คุณครูบาอาจารย์ คุณของเทพเจ้าผู้รักษาตัวท่านเอง ทั้งเทพเจ้าผู้รักษาพระบรมธาตุและรอยพระบาททุกแห่ง ที่เราได้สักการบูชาท่านมาแล้ว ขอจงได้สนองผลบุญเป็นอเนกอนันต์ แล้วขอให้ปราศจากภัยที่เป็นทุกข์มหันต์ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะประสงค์สิ่งใดก็ขอให้สมความปราถนาทุกประการเทอญ..."


◄ll กลับสู่ด้านบน


((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))))))


praew - 12/3/10 at 08:22


ครั้นการกล่าว "อนุโมทนากถา" จบแล้ว ทุกคนออกไปยืนข้างนอกแล้ว พลุไฟต่าง ๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้ตั้งแต่กลางวัน ได้ถูกจุดขึ้นเสียงดังอย่างสนั่นหวั่นไหว ในชุดแรกเป็นพลุดาวกระจายเรียกว่า "ชุดเบิกฟ้า" เป็นการบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้อนุโมทนาการ

ทุกคนแหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน เห็นพลุกระจายไปท่ามกลางความมืด สวยสดงดงามตระการตา สะท้อนกลับลงมา คล้ายสายผนที่กำลังโปรยปรายลงมาจากฟากฟ้าเหมือนเป็นสักขีพยานในการสักการบูชาของพวกเรา ฉะนั้น

ทุกคนจึงมีความชุ่มฉ่ำชื่นใจ จิตใจมีความสุข เมื่อได้เห็นพลุชุดต่อไปเรียกว่า "ต้นพุ่มเงินและพุ่มทอง" โดยถูกจัดไว้อยู่ด้านหน้าทั้งซ้ายขวาพระเจดีย์ เพื่อเป็นพุทธบูชา เปลวไฟที่กิ่งก้านของต้นพุ่มเงินและพุ่มทองได้แกว่งไกวไปมา พร้อมกับเสียงประทัดดังกึกก้องสลับกันไป


ในเวลาเดียวกันนั้นเอง พลุไฟพะเนียง ๑๒ กระบอกที่อยู่ด้านข้างพระเจดีย์ได้พุ่งกระจายสูงขึ้น แสงไฟที่พุ่งออกมาพร้อมกันดูเจิดจ้าสว่างไสวไปทั่ว พร้อมกันนั้น พลุควันสี ก็ถูกปล่อยออกมากระจายรายรอบพระเจดีย์

มีหลายคนร้องออกมาด้วยความยินดี หลังจากชมพลุข้างล่างแล้ว พอใกล้จะหมด ก็ได้ยินเสียงพลุบนท้องฟ้าดังขึ้นอีกแล้ว เมื่อเงยหน้ามองดูพลว่า พลุดาวกระจายชุด "ฟ้าประทานพร" ได้ถูกจุดขึ้นอย่างสวยงาม แล้วตาด้วยชุด "พรจากฟ้า" แสงหลายหลากสีของพลุ ได้พุ่งแผ่กระจายออกแล้วสลับสีกันเป็นชั้น ๆจนมาถึงชุดสุดท้ายที่จะต้องมองกลับลงมาอีก

นั่นก็คือ..พลุชุด "น้ำตก" ถ้ามองไกลๆ จะเหมือนกระแสน้ำสว่างไสวไหลร่วงหล่นลงมา เป็นสาย ๆ พร้อมกันนี้พลุชุดตัวหนังสือคำว่า "นิพพานะ สุขัง" ก็ได้จุดขึ้นตามมา มองเห็นเปลวไปไปตามตัวหนังสือสว่างไสวไปทั่ว พร้อมกับเสียงประทัดดังสลับกันไปจนหมดสิ้น


เป็นอันเสร็จสิ้นการเฉลิมฉลองด้วยเปลวประทีป ตามโบราณประเพณีแล้ว ทุกคนต่างมีความชื่นบานไปกับแสงสีที่สวยงามของพลุแต่ละชุด ที่จุดขึ้นในยามค่ำคืน บางท่านรู้สึกหิวข้าวขึ้นมา บ้างก็เดินไปทานข้าวกันก่อน ส่วนใหญ่ที่เหลือก็กลับมายืนที่เดิม รอว่าจะมีอะไรอีกต่อไป

บัดเดี๋ยวนั้นเอง...เสียงเพลง..."สามัคคีชุมนุม" ก็ดังขึ้นท่ามกลางความเงียบสงัด ทุกคนจึงร้องตามด้วยความสามัคคี กลุ่มสตรี บางคนต่างก็โอบไว้ซึ่งกันและกัน แล้วโยกกาย เปล่งเสียงร้องไปตามทำนองเพลง

"...พวกเราเหล่ามาชุมนุม ต่างกุมใจรัก สมัครสมาน ล้วนมิตรจิตชื่นบาน สราญเริง อยู่ ทุกผู้ทุกนาม

(สร้อย) อันความกลมเกลียว กันเป็นใจเดียวประเสริฐศรี ทุกสิ่งประสงค์จงใจ จักเสร็จ สมได้ด้วยสามัคคี..."

แล้วถึงท่อนสุดท้ายร้องว่า "...สามัคคีนี้แหละล้ำเลิศ จักชูชาติเชิด พระศาสนา สยามรัฐจักวัฒนา ปรากฏเกียรติ ฟุ้งเฟื่องกระเดื่องแดนดิน..." (สร้อย)

ครั้นเสียงเพลงนี้จบลงไปแล้ว มีบางคนจะเปล่งเสียงร้อง..."ไชโย...!" พอดีมีเสียงเพลง "สดุดีมหาราชา" ดังขึ้นมาอีก พวกเราก็ต้องร้องตามกันไป เพื่อเทิดพระเกียรติองค์พระประมุขของชาติ ท่ามกลางความสุขขอบบรรยากาศในค่ำคืนนั้น เย็นสบายเหมือนกับ "น้ำพระพุทธมนต์" ที่กำลังประพรมลงมาถูกต้องกายา ฉะนั้น

เมื่อเสียงเพลงท่อนสุดท้ายร้องว่า "อ้า..องค์พระสยมบรมราชันย์ขวัญหล้า เปล่งบุญญาสมสง่าบารมี ผองข้าพระพุทธเจ้า น้อมเกล้าขออัญชุลี สดุดีมหาราชา สดุดีมหาราชินี..."

เสียงเพลงนี้จบลงไปแล้ว ต่อจากนั้น เสียงเพลง "ข้าวรพุทธเจ้า..." ดังขึ้น ทุกคนต่างก็เข้าใจดีว่า ต้องเป็นเพลงปิดท้ายอย่างแน่นอน นั่นก็คือเพลง "สรรเสริญพระบารมี" เสียงร้องตามด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่างก็ต้องด้วยความปลาบปลื้มใจ บางคนถึงกับปีติน้ำตาไหลไหก็มี ครั้นร้องจบลงตรงที่คำว่า

"...ปวงประชาเป็นสุขศานต์ ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด สงสฤษฎ์ดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย...ชโย...!"


คราวนี้เอง พวกเราถึงกับชูมือขึ้นพร้อมกับ เปล่งเสียงร้อง "ไชโย..! ไชโย..! ไชโย..!" ดังสนั่นกึกก้องไปทั่วบริเวณ แสดงให้เห็นถึงพิธีกรรม "ตัดไม้ข่มนาม" ได้บรรลุผลโดยสมบูรณ์ที่สุด เพราะจิตใจของเรารวมกันอย่างมีพลังมั่นคง จึงถือ "เคล็ด" ว่า ได้ชัยชนะเอาไว้ก่อน

นับตั้งแต่ที่ได้ทำพิธีที่ วัดพระธาตุจอมกิตติ จนมาถึงจุดสุดท้ายของภาคเหนือ ณ สถานที่แห่งนี้ อันเปรียบเสมือน "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" พวกเราหวังที่จะได้กระทำพิธีฉลองสมโภช เพื่อผลแห่งชัยชนะทั้ง "ทางโลก" และ "ทางธรรม" เป็นที่สุด

บัดนี้ พวกเราก็บรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ จึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ บางท่านที่ยังมิได้รับประทานอาหารกัน ก็ต้องไปฉลองศรัทธาของชาวบ้านลำปางหลวง ที่อุตส่าห์จัดอาหารมาถึง ๔-๕ หมู่บ้าน มาเลี้ยงดูพวกเราอย่างอิ่มหนำสำราญ พวกเราจึงเดินทางกลับอย่างอิ่มเอมเปรมใจ..คืออิ่มทั้งกาย..และใจ..!


◄ll กลับสู่ด้านบน


((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป งานพิธีฉลองชัย ณ อาณาจักรสุโขทัย ปี 2541 )))))))