ตามรอยพระพุทธบาท

งานพิธีเททองสมเด็จองค์ปฐม "ทองคำ" ณ วัดท่าซุง (ตอนที่ 1)
webmaster - 4/2/09 at 19:22

l 1 l 2 | 3 | 4 | 5 | 6 »




งานพิธีหล่อ "สมเด็จองค์ปฐม" ทองคำ เมื่อปี ๒๕๔๒

โดย... พระชัยวัฒน์ อชิโต (ธัมมวิโมกข์ ฉบับ ปี ๒๕๔๓)




เดิมตู้นี้สำหรับเป็นที่ประดิษฐาน "สมเด็จองค์ปฐม" ชั่วคราว (ระหว่าง ปี ๒๕๔๒ - ๒๕๕๐)
ปัจจุบันตู้นี้ยังอยู่ที่ในวิหารร้อยเมตร


ตอนที่ ๑


ณ โอกาสบัดนี้ ก็จะเป็นการย้อนเล่าเหตุการณ์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่งานพิธีเททอง “สมเด็จองค์ปฐม” ทองคำ ตามที่มีผู้เล่าผ่านไปแล้วบ้าง โดย คุณชุมนุมพร (ขนม) คุณกัญญา (หมวย) และ พระนิคม เป็นต้น โดยมี พระครูปลัดอนันต์ เล่าเป็นปฐมฤกษ์

ทุกท่านได้เล่ารายละเอียด โดยผ่านคอลัมน์ของ “จามร” ทำให้ผู้อ่านทั้งหลายได้รับทราบ “เบื้องหลังความสำเร็จของงาน” เพราะว่ากว่าจะสำเร็จผ่านมาได้นั้น ทุกคนก็ต้องประสบกับอุปสรรคต่างๆ มากมาย

โดยเฉพาะพระภิกษุภายในวัดหลายรูป เช่น พระพิษณุ และ พระสุรเชษฐ์ เป็นต้น ที่ต้องบาดเจ็บที่เท้าจนเกือบจะพิการไป ในขณะที่จัดกระถางต้นไม้เพื่อตกแต่งปะรำพิธี ทั้งนี้ ด้วยคุณธรรมความดีที่พวกเราทุกคน ต่างก็ตั้งใจเพื่อบูชาคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันมี สมเด็จองค์ปฐม เป็นต้น ที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้นำมากล่าวสั่งสอนอยู่เสมอ นั่นก็คือ “ความสามัคคี” ที่ก่อให้เกิดสุขและความสำเร็จทุกประการ

แต่ก็เป็นด้วยมโนปณิธานของท่าน พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน หวังจะช่วยเกื้อกูลลูกหลานของหลวงพ่อทุกคน หลังจากครูบาอาจารย์ได้มรณภาพไปแล้ว ก็ได้ชักนำให้เข้าสู่หนทางที่ดี มีการออกไปบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เป็นประจำทุกปี ภายในวัดก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์ เช่นการทาสีใหม่ให้สวยงามอยู่เสมอ

จนกระทั่งถึงปีอันเป็นมิ่งมหามงคล ที่พสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างก็จัดกิจกรรมของแต่ละกลุ่มแต่ละคณะ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ชีวิตของตน ด้วยการจัดงานบำเพ็ญกุศล เพื่อน้อมอุทิศถวายพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระประมุขของชาติ

ฉะนั้น นับตั้งแต่เริ่มงานพิธียกฉัตร ที่ พระธาตุจอมกิตติ ตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งถึงการจัด งานธุดงค์ ในปลายปีทั้งหมดนี้ ท่านเจ้าอาวาสก็หวังว่าพวกเราทุกคน ในนามของ คณะศิษย์พระราชพรหมยาน ทั่วทุกภาค ทั้งที่อยู่ในประเทศไทย และไกลออกไปถึงต่างแดน จะได้จารึกไว้ในความทรงจำตลอดไปว่า

ครั้งหนึ่งในชีวิต พวกเราทุกคนก็ได้มีโอกาสทำความดี เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งยากที่จะมีโอกาสเช่นนี้ได้ เพราะฉะนั้น ท่านเจ้าอาวาสจึงได้ปรึกษากันว่า จะจัดงานพิธีเททองวันไหนกันดี

กำหนดวันงานได้ที่พิษณุโลก


ทั้งหมดนี้ ใช้เวลาหลายเดือนหลายปี กว่าจะตัดสินใจกันได้ ต่างองค์ต่างก็ว่าวันนั้นดีวันนี้ดี เป็นต้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงใจกัน จนกระทั่งถึงวันที่เดินทางไปที่บ้าน อ.สันต์ และ อ.เกษริน ภู่กร จ.พิษณุโลก เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๑ ในขณะที่กำลังนั่งฉันเพลกันอยู่ในบ้านนั้น

ทั้งนี้ เสมือนกับอานุภาพของ พระพุทธชินราช อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ของชาวพิษณุโลกมาแต่โบราณก็เป็นได้ จึงดลบันดาลใจให้ตัดสินใจกันได้ในวันนั้น เนื่องจาก สมเด็จองค์ปฐม ได้สร้างจำลองมาจาก พระพุทธชินราช จ. พิษณุโลก นั่นเอง อันเป็นเหตุให้ต้องมาคิดกันได้ ณ สถานที่นั้น หลังจากไม่ลงตัวกันมานานแล้ว

โดยครั้งแรกได้กำหนดเอาเป็นวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ แต่พอประกาศออกไป แล้ว ปรากฏว่าตรงกับวันตรุษจีน จึงต้องเลื่อนไปเป็น วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ วันนั้นจึงเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของวัดท่าซุง ที่ได้มีโอกาสจัดงานพิธีอันสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นการหล่อหลอมรวมใจของผู้คนทั้งหลายมากมายนับพันนับหมื่นคน ที่มีความเลื่อมใสในคุณของพระพุทธเจ้า และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์




ผลที่ออกมาจากการรวมจิตรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น จึงปรากฏเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองคำบริสุทธิ์ หน้าตัก ๙.๙ นิ้ว สวยสดงดงามสมพุทธลักษณะ เปล่งประกายสีทองออกมาแวววาว ถือว่าเป็นการอุบัติขึ้นมาในสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี ทั้งนี้ ด้วยผลความดีที่ทุกคนยอม เสียสละเครื่องประดับอันเป็นของตน ซึ่งเป็นสิ่งของที่รักที่หวงแหนและมีค่าที่สุดในชีวิต เพื่อถวายสักการบูชาแด่พระผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐสุดนั่นเอง

แต่ผลปรากฏว่า เดิมทีหวังเพียงแค่ ๑ องค์ แต่กลับเพิ่มมาเป็น ๒ รวมทั้งตัว อย่างที่เป็นเงินอีก ๑ จึงรวมเป็น ๓ องค์ ครบไตรสรณาคมน์ และครบสถาบันทั้ง ๓ พอดี คือชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ความจริงงานนี้แบ่งส่วนที่สำคัญ คิดว่าน่าจะเป็น ๓ ส่วน ถ้ารวม กำหนดพิธีการ ของงานไปด้วย คือ

๑. ส่วนงานหล่อองค์พระ
๒. ส่วนงานสร้างปะรำพิธี
๓. ส่วนกำหนดงานพิธี


ทั้งนี้ เหมือนกับพ่อครัวที่ปรุงอาหาร จากผู้ที่เตรียมส่วนประกอบไว้ดีแล้ว จึงจะ ได้อาหารที่มีรสเลิศตามความต้องการ ทุกท่านจึงมีส่วนร่วมในการทำอาหารครั้งนี้ด้วย ฉะนั้น การปรึกษาหารืออย่างเป็นทาง การเริ่มมีขึ้นที่วิหาร ๑๐๐ เมตร พร้อมกับ คุณขนม ได้นำแผนผังการจัดปะรำพิธีมาเสนอเจ้าอาวาส ท่านจึงได้มอบหมายให้ผู้เขียนเป็นผู้จัดงานพิธี โดยมี ท่านอาจินต์ เป็นผู้จัดปะรำพิธี พร้อมกับพระภิกษุภายในวัด

ผู้เขียนจึงเริ่มดำเนินงาน โดยการประสานงานกับลูกศิษย์หลวงพ่อฯ ทั่วทุกภาค เพื่อ เตรียมการจัดขบวนแถวทั้ง ๔ ภาค พร้อมจัดการฟ้อนรำมาให้ครบทั้ง ๔ ภาค ซึ่ง เจ้าอาวาสได้เน้นเรื่องการแต่งกายสวยงาม เพื่อเป็นเกียรติแก่งานในครั้งนี้ด้วย ต่อมาก็ได้ศึกษาเรื่องกรรมวิธีในการหล่อทองคำ เพราะนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดสร้างเป็นทองคำล้วน ต่างก็ยังไม่มีประสบการณ์ด้วยกันทั้งนั้น

ท่านเจ้าอาวาสจึงต้องเดินทางไปพิษณุโลก เพื่อศึกษาการสร้างจาก ดร.จ่าทวี ที่พิษณุโลก แต่ผลสุดท้ายก็มาลงตัวที่ ช่างประเสริฐ แก้วมณี โดยมี คุณวิเศษ และ คุณสันติ จากสวรรคโลก และ อ.ฉลอง จากกรุงเทพฯ พร้อมกับพระวัดท่าซุง อันมี พระนิคม เป็นต้น ช่วยกันหล่อจนเป็นผลสำเร็จ

แต่ก่อนที่จะนำทองคำที่มีผู้บริจาคมา หล่อเป็นองค์พระนั้น จะต้องนำทองทั้งหมดไปหลอม เพื่อสกัดให้เป็นเนื้อทองบริสุทธิ์เสียก่อน ท่านจึงมอบหมายให้ผู้เขียนเป็นผู้ดำเนินการ โดยประสานงานกับ คุณประสงค์ จินตนพันธ์ จ.ภูเก็ต เพื่อนำทองไปสกัดที่ บริษัท เกรทเทสโกลด์ฯ จำกัด อันเป็นบริษัทเดียวกับที่หลอมทองคำให้ “หลวงตามหาบัว”

วันที่ ๕ ม.ค. ๔๒ จึงขนทองคำใส่ รถตู้โดย นายดาบพเยาว์ (สอ) เป็นผู้ขับรถ น้ำหนักทองคำรูปพรรณและทองคำแท่ง รวมแล้ว ๖๒.๗๙๐๙ ก.ก. สกัดได้ทองคำบริสุทธิ์ ๙๙.๙๙ % เป็นจำนวน ๕๖.๔๖๒๔ ก.ก. พร้อมกับเงินบริสุทธิ์อีก ๕.๕๐๐๗ ก.ก.

ทางบริษัทได้หล่อทองคำเป็นแท่งๆ ละ ๑ กิโลกรัม จำนวน ๕๖ แท่ง เพื่อให้ผู้ร่วมพิธีได้เททองโดยสะดวก อีกทั้งได้คิดค่าสกัดเป็นจำนวนเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท ทางวัดเตรียมจะจ่าย แต่ คุณประสงค์ พร้อมด้วย คณะชาวภูเก็ต ขอรับเป็นเจ้าภาพเสียเอง

จึงเป็นอันว่า การเตรียมงานขั้นแรกก็ผ่านไป ใกล้เวลาที่จะมาถึง หลังจากนำทองไปสกัดแล้ว แต่ก็ยังมีผู้บริจาคทองคำมาอีกมากมาย จนกระทั่งถึงวันกำหนดงาน

ซึ่งตามแผนเดิมที่วางไว้ นอกจากจะกราบอาราธนา ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศ มาเป็นประธานในพิธีแล้ว ท่านเจ้าอาวาสก็ตั้งใจจะกราบนิมนต์ “หลวงปู่” ทั้งหลายมาร่วมในงานครั้งนี้ด้วย เพื่อเป็นเนื้อนาบุญอันดีแก่ผู้ที่เดินทางมาบำเพ็ญกุศล แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่แต่ละองค์ท่านก็ชราภาพมากแล้ว ไม่สามารถจะเดินทางมาร่วมงานได้

หลังจากมีข้อขัดข้องเรื่องการนิมนต์ “พระสุปฏิปันโน” บางท่านแล้ว ท่านเจ้าอาวาสก็ให้ผู้เขียนนิมนต์พระผู้ใหญ่ในจังหวัดอุทัยธานี อันมี พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอุทัยธรรมคณี เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น

ก่อนวันงานก็มีการประชุมเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยเฉพาะทีมงานของผู้เขียน และ คณะรวมใจภักดิ์, คณะพุฒตาล ต่างก็มีประสบการณ์จากการจัดงานมาแล้ว จึงได้ร่วมมือกันเตรียมเครื่องขบวนแห่ อันมีเสลี่ยง สมเด็จองค์ปฐม และเสลี่ยงบายศรี เป็นต้น พร้อมกับวางตัวบุคคลต่างๆ ในเรื่องการเข้าขบวนในแต่ละภาค การจัดทำบายศรีแต่ละภาค การกล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติคุณสมเด็จองค์ปฐมในแต่ละภาค

งานทั้งหมดที่กำหนดพิธี ถือว่าเป็นการรวมภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้อนรำ การทำบายศรี หรือการแต่งกายประจำภาค แม้แต่การกล่าวสดุดีก็มีการนัดหมาย ให้กล่าวไปตามสำเนียงท้องถิ่นของแต่ละภาค

เป็นอันว่า งานพิธีเททองครั้งนี้ ก็ได้เตรียมการณ์ไว้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งการ บันทึกเทปโทรทัศน์ ทาง ดร.ปริญญา ก็ได้ติดต่อมืออาชีพมาเลย คือเป็นน้องชายของ คุณเหมี่ยว มีชื่อว่า คุณพาณิชย์ สดสี ซึ่งมีอาชีพบันทึกเทปออกทางโทรทัศน์โดยเฉพาะ

แต่ทีมงานถ่ายทำของวัดท่าซุง ได้แก่ คุณปรีชา และ คุณสุพัฒน์ ก็เตรียมพร้อมเหมือนกัน นั่นเป็นเรื่องของ “สี” ส่วนเรื่อง ของ “เสียง” คุณลือชัย ก็มาช่วยเต็มที่ โดยมี พระบุญชู พระทนงศักดิ์ พระมงคลเวทย์ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องเสียง

ต่อมาก็เป็นเรื่องของ “แสง” คือแสงไฟด้านหน้าเวที เจ้าอาวาสเน้นให้มีความสว่างเต็มที่ พระละออง พระไพบูลย์ (บวชใหม่) และ ทิตวีรยุทธ เป็นผู้จัดทำ โดย คุณประสงค์ และ คุณศรีอดุลย์ จากภูเก็ต เป็นที่ปรึกษาด้วย จึงครบทั้งสี, เสียง, และแสง

พร้อมกันนี้ท่านดอกเตอร์ก็ยังติดต่อวงดนตรีไทยของ คณะสุพจน์ โตสง่า ประสานงานโดย ดร.สุรพล จันทราปัตย์ ผู้ขับร้องจากกรมศิลปากรคือ อ.ดวงเนตร ดุริยพันธ์ ส่วนผู้ประพันธ์เนื้อร้องก็มิใช่ใครอื่นนั่นก็คือ ดร.ปริญญา นั่นเอง....

l 1 l 2 | 3 | 4 | 5 | 6 »