|
 |
 |
posted on 10/11/09 at 13:46 |
|
|
|
|
Posts: 462 |
Registered: 12/3/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 3/2/10 at 12:16 |
|
ตอนที่ ๓
วัดพระธาตุดอยคำ จังหวัดเชียงใหม่
ทิวทัศน์บริเวณบน "พระธาตุดอยคำ" มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ
เมื่อฉบับที่แล้วได้เล่าเรื่องมาถึงตอนออกมาจาก วัดพระธาตุศรีจอมทอง แล้วเดินทางมาค้างคืนที่
วัดโขงขาว รุ่งเช้าของวันอาทิตย์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๐ จึงเดินทางต่อไปยังจุดที่ ๔ คือ วัดพระธาตุดอยคำ
ครั้นเมื่อรถขึ้นมาถึงวัดแล้ว เจ้าหน้าที่จัดเตรียมเครื่องบายศรี และนำผ้าห่มขึ้นห่มรอบพระเจดีย์พร้อมด้วยดอกดาวเรืองแล้ว
ทุกคนมานั่งแวดล้อมอยู่บนลานขององค์พระธาตุ เพื่อรับฟังเรื่องราวความสำคัญของปูชนียสถานที่นี้ต่อไป ตามตำนานและประวัติ พระธาตุดอยคำ ได้เล่าไว้ว่า
เอกัง สมายัง... ในกาลสมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้วได้ประมาณ ๑๙ พระพรรษา มีพระชนมายุได้ ๕๐
เศษ พระองค์มาทรงจินตนาการว่า หากว่าพระองค์ปรินิพพานไปจากโลกนี้แล้ว ปวงมนุษย์ที่อยู่ต่างแดน จะประสบเคราะห์กรรมในปวงกิเลสต่าง ๆ
ยังมิรู้มิแจ้งในธรรมของพระองค์อีกมากมาย ควรที่พระองค์จำต้องไปโปรดเขาเหล่านั้น ที่ยังมัวเมาอยู่ในโลกีย์วิสัย ในทิศานุทิศต่างๆ
ในแคว้นแดนไกลให้พ้นจากหายนะ จักได้เป็นที่ตั้งรากฐานแห่งพุทธบัญญติของพระองค์สืบไป
เมื่อพระองค์ทรงรำพึงดังนั้นแล้ว จึงได้นำภิกษุอรหันต์พร้อมด้วยพระยาอินทร์ มุ่งหน้าขึ้นสู่ทิศเหนือ เมื่อเห็นว่าเมืองใดที่ฝูงชนยังหนาด้วยกิเลสต่าง ๆ
ก็พยายามนำหลักธรรมของพระองค์ เข้าขัดเกลากิเลสของฝูงชนนั้น ๆ โดยลำดับ และเมื่อสถานที่ใดในกาลข้างหน้าประชาชนชาวเมืองจะเคารพเลื่อมใส
และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ เป็นรากฐานสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็จักประทับ รอยพระบาท และทรงประทาน
พระเกษาธาตุ ประดิษฐานไว้ให้ ณ ที่นั้น เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของฝูงชนสืบไป
พระองค์พร้อมทั้งพระอรหันต์ทั้งหลายได้บำเพ็ญพระกรณียกิจโดยมิได้หยุดยั้งท้อถอยแม้จะต้องเสด็จฝ่าทางที่ทุรกันดาร ฝ่าอุปสรรคแสนยากเพียงใดก็ตาม
พระองค์ก็ทรงเสด็จต่อ ๆ ไป จนกระทั่งถึงเมือง บุรพนครคือ "ลำพูน" เดิม
และจากนั้นได้ทรงเสด็จผ่านขึ้นเหนือของเมืองบุรพนคร ทรงยังยั้งอยู่ ณ หมู่บ้านนั้นแล้วได้เสด็จสู่ ดอยคำ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก
ขณะที่พระองค์และพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายได้เสด็จไปถึงดอยคำนั้น
ปรากฎว่า ณ ที่นั้น เป็นที่อาศัยของยักษ์สามตนพ่อแม่ลูก ยักษ์ทั้งสามตนนี้ยังชีพอยู่ด้วยเนื้อมนุษย์และเนื้อสัตว์ มนุษย์และสัตว์จึงถูกยักษ์ทั้งสาม
จับกินเป็นอาหารดังที่เคยปฎิบัติมา แต่พระองค์ทรงทราบวิสัยสัตว์ดี ได้ทรงแผ่เมตตาห้ามกิเลสนั้นให้อ่อนลง โดยบุญญาธิการแห่งพระองค์
ยักษ์ทั้งสามต่างเกรงขามพระบารมี
ยักษ์ผู้ผัวนามว่า จิคำยักษ์ผู้เมียนามว่า ตาเขียว
กับลูกก็เกิดเกรงขาม ต่างก็ก้มลงกราบแทบพระบาทของพระพุทธองค์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระทัยเอ็นดูยักษ์ทั้งสามทรงดำริว่า
เขาทั้งสามนี้เป็นผู้หลงได้กระทำบาปไว้มากมาย แต่มีตนหนึ่งต่อไปเบื้องหน้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว จักปฏิบัติตามธรรมแห่งพระองค์
เมื่อทรงทราบโดยพระญาณดังนั้นแล้วได้ทรงเทศนาขัดเกลากิเลสให้แก่ยักษ์ทั้งสามนั้น ก็ปรากฏว่ายักษ์ผู้บุตรได้ปฏิบัติตามวินัยได้ดี
เว้นแต่ยักษ์จิคำและตาเขียว ไม่สามารถจะรับศีลห้าได้ตลอดไป คือยักษ์ขอร้องกินเนื้อมนุษย์ปีละสองคน พระพุทธองค์ก็มิทรงอนุญาต
ยักษ์ทั้งสองจึงเปลี่ยนเป็นเนื้อสัตว์ ก็มิทรงอนุญาต แต่ตรัสให้ยักษ์ทั้งสองไปขอต่อเจ้าบ้านผ่านเมืองยักษ์ทั้งสองก็ปฏิบัติตาม
ผู้ครองนครก็ยินดีอนุญาตให้ เพราะย่อมเป็นการดีที่พระองค์จะเสียสัตว์แทนมนุษย์ แต่นั้นมาจึงมีพิธีฆ่าโคเผือกเขาเพียงหูให้ "ปู่แสะ" และ "ย่าแสะ"
โดยมีพิธีทำกันคนละแห่ง คือทำพิธีให้ "ปู่แสะ" ที่วัดฝายหิน และพิธีของ "ย่าแสะ" ที่เชิงดอยคำ
พระพุทธเจ้าประทานเส้นพระเกษาแล้วตรัสพยากรณ์
เจ้าหน้าที่แต่งชุดล้านนาขึ้นไปห่มผ้าบูชาพระธาตุ, ศาลพระแม่เจ้าจามะเทวีและพญากากะวานร
ส่วนยักษ์ผู้บุตรได้ขออุปสมบทตามรอยพระพุทธองค์ พระองค์ได้ทรงอนุญาตและได้แสดงธรรมให้ยักษ์ผู้บุตรฟัง และให้โอวาทอบรมจิตใจ เมื่อจบแล้วได้ทรงดึง
พระเกษาของพระองค์ออกมาปอยหนึ่ง และอธิษฐานให้เป็นพระธาตุแห่งพระองค์ เสร็จแล้วทรงมอบให้
"ปู่แสะ-ย่าแสะ" แล้วรับสั่งว่า
"ดูก่อนเจ้าทั้งสอง จงรับเอาพระเกศาธาตุแห่งเรานี้ไว้ แล้วจงรักษาไว้ให้ดีเถิด วันข้างหน้าจักเป็นที่เคารพบูชาแทนเรา
และ ณ สถานที่นี้ จักเป็นสถานที่ชุมนุมของผู้มีบุญญาธิการทั้งหลาย เมื่อเราปรินิพพานได้สองพันกว่าพรรษาแล้ว เหตุการณ์เหล่านี้จักปรากฎ.."
ยักษ์ทั้งสองได้รับเอาพระเกษาธาตุ เข้าบรรจุไว้ในผอบแก้วมรกต และบูชากราบไหว้เป็นนิจสิน จากนั้นได้เกิดศุภนิมิต มีฝนตกสามวันสามคืน
แล้วเม็ดฝนได้กลายเป็นทองคำไหลเข้าสู่ถ้ำ จึงเรียกนามว่า ถ้ำคำหรือ ถ้ำทองคำ แต่นั้นมา
แล้วพระพุทธองค์ได้ทรงประทับ รอยพระบาทไว้แท่นศิลา ระหว่างหมู่ไม้พยอมทางทิศตะวันออกของดอยคำ
และศิลานั้นก็จมหายไปในพื้นดิน โดยเทพเจ้ารักษาไว้ ซึ่งในกาลเบื้องหน้าจักขึ้นมาปรากฏแก่มหาชนทั่วไป
ส่วนยักษ์ผู้บุตรอุปสมบทอยู่ได้ไม่นานได้ขอลาสิกขา และขออนุญาตบวชเป็นพระฤาษี พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตและให้ชื่อยักษ์นั้นว่า วาสุเทพฤาษี หรือ เทพฤาษี แล้วพระองค์ได้เสด็จต่อไป
ตามประวัติ คุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ ซึ่งเป็นคนเดียวกันที่ได้เรียบเรียง "พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี"เวลานี้ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ได้กล่าวต่อไปว่า
ท่านครูบาศรีวิชัย ได้เคยมาบูรณะวิหาร สร้างพระเจดีย์ใหญ่คร่อมองค์เล็กเก่า สร้างศาลาและบันไดขึ้น
เมื่อพ.ศ.๒๔๖๖ และมีประวัติเล่าว่า มีเพชรนิลจินดา ของใช้ต่าง ๆ และเครื่องบวชครบครัน ภายในถ้ำดอยคำนี้ ต่อมามีผู้ทุศีลยืมของไปแล้วไม่นำส่งคืน
เทพยาดาจึงบันดาลให้มีหินก้อนใหญ่มาปิดปากถ้ำเสีย
และถ้ำนี้ก็มีประวัติเกี่ยวข้องกับ ขุนแผนก่อนจะเข้าตีเมืองเชียงใหม่ ได้มากับทหารร่วมใจ ๓๕ คน กับ
พระไวย ผู้บุตรชายเท่านั้น ก็ได้มาอาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ภายในถ้ำนี้ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ
ตามประวัติกล่าวว่า สถานที่นี้ นอกจากจะเป็นที่บรรจุพระเกษาธาตุแล้ว ยังเป็นที่ เด็กหญิงกุมารีวี
เติบโตอยู่ที่นี่ โดยท่าน สุเทพฤาษีองค์ที่ ๘ เป็นผู้เลี้ยงดู พร้อมกับพญาวานรทั้งหลาย สมัยนั้นเรียกว่า
"สุวรรณบรรพต"ซึ่งต่อมาเด็กหญิงกุมารีวีคนนี้ ก็ได้มาเป็น พระแม่เจ้าจามะเทวี นั่นเอง
สมัยต่อมาเมื่อได้ขึ้นครองเมืองหริภุญชัยแล้ว พระแม่เจ้าได้รับสั่งให้พระโอรสทั้งสองคือ พระเจ้ามหันตยศ และ พระเจ้าอนันตยศดำเนินการสร้างอารามและพระสถูปเจดีย์
ซึ่งเป็นสถานที่เคยอยู่เมื่อครั้งเยาว์วัย แล้วนำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ สร้างเสร็จในปลายปี พ.ศ.๑๒๓๐ แล้วให้มีงานสมโภช ๑๐ วัน ๑๐ คืน (คือเมื่อ ๑,๓๑๐
ล่วงมาแล้ว)
พระธาตุดอยคำจึงเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่แห่งลานนาไทยมาในอดีตแห่งหนึ่ง ควรที่พวกเราจะได้กราบไหว้บูชา เพื่อผลานิสงห์แห่งพระนิพพานต่อไป จึงขอนำ
"พระราชชีวประวัติของพระแม่เจ้า" มาเล่าแต่โดยย่อ ดังนี้
◄ll กลับสู่ด้านบน
|
|
|
|
Posts: 462 |
Registered: 12/3/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 3/2/10 at 12:17 |
|
พระราชชีวประวัติ
พระแม่เจ้าจามะเทวี
โดยประวัติเล่าไว้ว่า ท่านวาสุเทพฤาษี องค์ที่ ๘ คือนับลำดับมาตั้งแต่องค์ที่ ๑
ในสมัยพระพุทธเจ้ามาจนถึงองค์ที่ ๘ ซึ่งมีชื่อเดียวกันทุกองค์ ท่านได้บำเพ็ญพรตอยู่ ณ ฉุตบรรพตคือ
ดอยสุเทพ
ในคืนวันหนึ่ง ได้นิมิตไปว่า อสูรตนหนึ่งได้นำดวงมณีมาบนนภากาศ ขณะนั้นเป็นเวลาที่กำลังอยู่ในสถานที่เก็ฐอัฐิของปู่ย่าบรรดาฤาษีทั้งหลาย
ครั้นอสูรตนนั้นมาถึงก็ปล่อยดวงมณีลงมาให้ เมื่อสว่างแล้วจึงทราบด้วยญาณว่า ในวันรุ่งขึ้นจักมีเหตุการณ์เกิดขึ้น
ต่อมาในขณะที่ฤาษีวาสุเทพได้มายังที่อาศรม คือสถานที่เก็บอัฐิของปู่แสะ-ย่าแสะผู้เป็นบรรพบุรุษ
ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าไม่พยอมแล้วจึงเลยมาพักผ่อนอยู่เชิงดอยคำ ขณะนั้นมีพญาเหยี่ยวตัวหนึ่ง กำลังโฉบเอาทารกน้อยบินผ่านมาพอดี
จึงเพ่งกระแสจิตบังคับให้นกปล่อยทารกลงมายังภาคพื้นดิน
ขณะที่ทารกกำลังร่วงหล่นมายังเบื้องล่าง ก็พอดีมีลมแรงพัดทารกลงกลางสระบัวหลวง ซึ่งบัดนี้สระนั้นยังปรากฏอยู่
ร่างของทารกน้อยก็ได้ตกลงมาค้างอยู่กลางดอกบัวเป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านฤาษีวาสุเทพเห็นว่าทารกเป็นหญิงก็ประหลาดใจ ชะรอยมิใช่ทารกธรรมดาสามัญ
เห็นทีจะมีบุญญาธิการสูงส่ง จึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า
"ผิว่าทารกนี้ประกอบด้วยบุญญาธิการ จะได้เป็นใหญ่ในเบื้องหน้าแล้วไซร้ ขอให้ "วี" ของเรานี้ รองรับร่างของทารกไว้ได้ โดยมิต้องร่วงหล่นเถิด"
และก็น่าประหลาดยิ่งนัก เมื่อเอา "พัด" ซึ่งทางเหนือเรียกว่า "วี" ยื่นไปช้อนร่างทารกน้อย ก็ปรากฏว่าทารกน้อยวัย ๓ เดือนนี้
สามารถอยู่บนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงขนานนามว่า"หญิงวี"แล้วได้เรียก พญากากะวานรซึ่งเป็นหัวหน้าบรรดาวานรทั้งหลาย ให้เป็นผู้เลี้ยงดูทารกนี้
ให้หาผลไม้และรีดนมแม่โคที่เลี้ยงไว้ให้แก่เด็กหญิงวีและให้ระมัดระวังรักษาอย่าให้ได้รับอันตราย ณ ดอยคำแห่งนี้
ชาติกำเนิด

คุณแสงเดือน แม้นวงศ์ อดีตนางสาวไทย ร่วมเดินทางในงานนี้ด้วย
ตามประวัติบอกว่า เด็กหญิงวี ได้ถือกำเนิดในตอนสายัณห์พระจันทร์เต็มดวง พุทธ ศก ๑๑๗๖ เป็นบุตรีของ
ท่านเศรษฐีอินตา มีภรรยาเป็นชาวเม็ง คือชาวรามัญ อยู่ ณ ตำบลหนองดู่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน หรือบุรพนคร
เดิมนั่นเอง
ครั้นเด็กหญิงวีเจริญวัยได้ ๗ ปี ก็ได้ เรียนอักขระ วิทยาการ พระเวทย์มนต์คาถาและการดนตรีโดยครบถ้วน มีความเฉลียวฉลาด เรียนวิชาได้รวดเร็ว
ทั้งยิงธนูหน้าไม้ได้แม่นยำ
จวบจนกระทั่งอายุได้ ๑๓ ปี เด็กหญิงวี มีรูปโฉมงดงาม ยากจะหาสตรีใด ๆ ทั่วแคว้นจะงามเท่า ท่านวาสุเทพฤาษีเห็นว่าดวงชะตา
ของกุมารีวีจะได้เป็นใหญ่ในแคว้นไกล จึงคิดที่จะส่งนางไปตามกรรมลิขิต แล้วได้ทำการต่อนาวายนต์ขึ้น วันหนึ่งจึงได้บอกว่า
"วีลูกรัก... ตั้งแต่พ่อได้เลี้ยงและสั่งสอน วิทยาการต่าง ๆ ให้ลูกจนครบถ้วน แต่กระนั้น ลูกรักของพ่อยังจำต้องเรียนวิชาการให้สูงกว่านี้อีก
พ่อจำใจจะต้องให้ลูกจากไปศึกษาวิชาความรู้ยังถิ่นไกล
ขอลูกรัก...จงอย่าได้คิดว่า พ่อนี้คลายความรักในลูกแต่ประการใดเลย เจ้าจะอยู่กับพ่อในป่าดงพงพีกับฝูงวานรนี้เสมอไปมิบังควร
ลูกจะต้องไปอยู่ร่วมกับชนทั้งหลาย ภายภาคหน้าลูกจะเป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลาย
พ่อจะให้ลูกลงนาวายนต์พร้อมกับกากะวานรและบริวาร เป็นผู้ปกป้องกันภยันตรายให้ลูกระหว่างทาง
และถึงอย่างไรลูกกับพ่อจะต้องได้พบกันอีกในเบื้องหน้า..."
เมื่อเด็กหญิงวีได้ทราบเช่นนั้น ก็ร้องให้คร่ำครวญ เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก เมื่อรู้ว่าจะต้องจากพ่อฤาษีผู้เป็นเสมือนบิดาบังเกิดเกล้า
จึงได้ตัดพ่อต่อว่า
"ท่านบิดา...ผู้เป็นร่มโพธิร่มไทรของลูก อันลูกนี้มีกรรม เกิดมาแต่เล็กก็ต้องจากบิดามารดาผู้ให้กำเนิด
ก็ได้ท่านบิดาชุบเลี้ยงให้มีชีวิตดำรงอยู่กระทั่งจำความได้ ก็สั่งสอนวิชาความรู้ให้ พระคุณของท่านบิดา ลูกยังมิได้ตอบแทนสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ยามท่านบิดาชรา...ลูกก็มิได้อยู่ปรนนิบัติ อย่าให้ลูกต้องจากไปไกลเลย แล้วลูกจะได้ใครเป็นที่พึ่งเล่า..."
ท่านฤาษีก็ได้แต่ปลอบโยนให้คลายความวิตก ชี้แจงให้รู้ว่าภายภาคหน้าจะต้องเป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลาย ฉะนั้นต้องรู้สรรพสิทธิ์วิทยาการให้มาก
และการเดินทางก็มีกากะวานรและคณะไปด้วย ย่อมไม่มีภัยอันตรายใด ๆ เกิดขึ้นได้และอีกมิช้ามินาน ก็จะได้กลับมาอยู่กับพ่อ ขอลูกจนปฏิบัติตามนี้เถิด
ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ ปีมะเมียพุทธศก ๑๑๙๐ ได้ศุภฤกษ์ดีงาม จึงให้กุมารีวี พร้อมพญากากะวานรและบริวาร รวม ๓๕ ตัว ลงนาวายนต์ยังท่าน้ำชัยมงคล
ล่องลอยไปตามกระแสน้ำระมิงค์ลงสู่ทิศเบื้องใต้ด้วยความอาลัย ทั้งฝ่ายบิดาและกุมารีจะเป็นอย่างไร และเรือแพจะล่องลอยไปที่ใด ไว้ต้องคอยติดตามต่อไป
ในโอกาสนี้จะขอเริ่มพิธีบวงสรวงสักการะบูชาพระเกษาธาตุเจดีย์กันก่อน
หลังจากหลวงพี่โอทำพิธีบวงสรวงแล้ว พวกเราได้รวบรวมปัจจัยถวายแด่เจ้าอาวาสทันที
ครั้นหลวงพ่อทำพิธีบวงสรวงจบ จึงให้สรงน้ำองค์พระธาตุกัน แล้วไปรวมกันที่ศาลารายข้างองค์พระธาตุ ร่วมกันถวายจตุปัจจัยไทยทาน
เพื่อร่วมสร้างพระอุโบสถที่ยังค้างอยู่ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๐,๐๐๐ บาทเศษ เมื่อเจ้าอาวาสให้พรจบแล้ว จึงเดินทางกลับมาที่วัดโขงขาว
เพื่อเดินทางสู่จังหวัดลำพูนต่อไป
◄ll กลับสู่ด้านบน
|
|
|
|
Posts: 462 |
Registered: 12/3/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 3/2/10 at 12:18 |
|
|
|
|
Posts: 462 |
Registered: 12/3/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
|
|
"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน
เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player
ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป
ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved
|
|
|
 |