ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 11/2/08 at 11:35 Reply With Quote

ข่าวศูนย์ฯ (ธัมมวิโมกข์ กุมภาพันธ์ 2551) "เว็บตามรอยพระพุทธบาท"



พระธาตุดอยตุง (องค์ใหม่)


ข้อมูลจาก...หนังสือธัมมวิโมกข์ ฉบับ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
"จามร, วิชชุดา" รวบรวม


ปี พ.ศ. ๒๕๕๐


วันที่ ๒๘ , ๒๙ , ๓๐ , ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ และพระ สงฆ์ ๓ รูป มีพระใบฎีกาประทีป,พระอาจินต์, พระละออง เดินทางไปรับสังฆทาน
และฝึกมโนมยิทธิ ที่บ้านเลขที่ ๙ ซอยสายลม ๑ กรุงเทพ ฯ

วันที่ ๒๘ ธ.ค. ฉันภัตตาหารเช้าแล้ว เวลา ๐๗.๐๐ น. ออกเดินทางจากวัด
ไปบ้าน พล.อ.อ.อาทร โรจนวิภาต เพื่อรับสังฆทาน มีญาติโยมถวายสังฆทานได้เงินสังฆทาน ๓๔,๑๙๐ บาท และร่วมทำบุญอื่น ๆ อีกหลายรายการ รวมกับสังฆทาน
ด้วยเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๐,๕๐๐ บาท เวลา ๑๑.๐๐ น. ฉันภัตตาหารเพล

เวลา ๑๒.๐๐ น. เดินทางเข้าบ้านสายลม ตอนกลางคืน เวลา ๑ ทุ่ม พระครูปลัดอนันต์ ฯ ลงรับสังฆทาน และสนทนากับญาติโยมพุทธบริษัท เวลา ๓ ทุ่มขึ้นพัก

วันที่ ๒๙ , ๓๐ ธ.ค. มีการฝึกมโนมยิทธิ แบบครึ่งกำลัง ตั้งแต่เวลา ๑๒.๓๐ น. ถึง ๑๕.๐๐ น.

วันที่ ๒๙ ผู้ฝึกมโนมยิทธิขั้นต้น ๑๐๘ คน
ฝึกไปเห็นสภาวะพระนิพพานได้ ๙๑ คน
ผู้มาฝึกญาณ ๘ ๑๘๙ คน
ฝึกท่องเที่ยว ฯ ๑๙ คน
รวมผู้มาฝึกมโนมยิทธิ ๓๑๖ คน

วันที่ ๓๐ ผู้ฝึกมโนมยิทธิขั้นต้น ๑๐๙ คน
ฝึกไปเห็นสภาวะพระนิพพานได้ ๙๓ คน
ผู้มาฝึกญาณ ๘ ๑๙๓ คน
ฝึกท่องเที่ยว ฯ ๓๒ คน
รวมผู้มาฝึกมโนมยิทธิ ๓๓๔ คน
รวมผู้มาฝึกมโนมยิทธิทั้ง ๒ วัน ๖๕๐ คน




ปี พ.ศ. ๒๕๕๑


พระธาตุจอมกิตติ - พระธาตุดอยตุง


วันที่ ๑๒, ๑๓ มกราคม ๒๕๕๑ พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ นำพระสงฆ์และลูกศิษย์ลูกหลานของหลวงพ่อเดินทางไปนมัสการ พระธาตุดอยตุง และ พระธาตุจอมกิตติ

วันที่ ๑๐ ม.ค. ออกเดินทางจากวัดท่าซุง

วันที่ ๑๒ ม.ค. เวลา ๐๗.๓๐ น. พระครูปลัดอนันต์เดินทางจากที่พักไปพระธาตุจอมกิตติ ก่อนเดินทางมา หลวงพี่ชัยวัฒน์และคณะ มาช่วยจัดเตรียมสถานที่บนพระธาตุจอมกิตติ คุณป้าน้อยและคณะ จัดทำบายศรี พระสมบูรณ์และคณะศิษย์ สำนักสงฆ์ปฐมพุทธาราม นำโต๊ะวางอาหาร เตา เสื่อ เตรียมสำหรับเลี้ยงอาหาร คณะคุณต๋อย เตรียมทำอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงคน โดยจัดที่วัดพระธาตุผาเงา ก่อนจะถึงเวลาบวงสรวง พระครูปลัดอนันต์ พระชัยวัฒน์ ดร.ปริญญา ได้สนทนาเรื่องพระธาตุจอมกิตติให้ญาติโยมที่มาใหม่และมาเก่าให้ทราบอีก

ที่สำคัญคือคณะลูกศิษย์ลูกหลานหลวงพ่อ ลูกหลานพระเจ้าพรหม เป็นเจ้าภาพซ่อมฉัตรที่โค่นล้มลงมา ตอนเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐ โดยมีพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เป็นประธาน ทางกรมศิลปากรก็อนุญาตให้ทำได้ ขณะนี้กำลังจะแล้วเสร็จ มูลค่า ๑ ล้าน ๙ แสนบาท

อันที่จริงมาคราวนี้ตั้งใจว่าจะมาฉลองฉัตร แต่ว่าช่างทำเสร็จไม่ทัน ก็คงต้องเลื่อนไปฉลองปีหน้า นอกจากเป็นเจ้าภาพซ่อมฉัตรแล้ว ยังเป็นเจ้าภาพปิดทองพระพุทธรูปที่ประดิษฐานที่องค์ พระธาตุจอมกิตติอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ตั้งใจทำตั้งแต่ปีที่แล้ว ทางกรมศิลปากรก็อนุญาต ขณะนี้กำลังปิดทองอยู่


เวลา ๐๙.๐๐ น. คุณสหวัฒน์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักกรมศิลปากรเขตที่ ๘ เดินทางมาร่วมพิธีด้วย ดร.ปริญญา จึงขอให้คุยให้ฟังถึงการบูรณะพระธาตุจอมกิตติซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คุณสหวัฒน์เล่าให้ฟังว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐ ฉัตรหักล้มลงมา พลอยหายไป ๒ เม็ด กรมศิลปากรจึงทำการบูรณะ เสริมความมั่นคงองค์พระธาตุที่ร้าว ถอดแผ่นทองจังโกออก ซ่อมองค์พระธาตุ เปลี่ยนแกนพระธาตุ แล้วหุ้มแผ่นทองจังโกเข้าไปใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือนมกราคมนี้

รมต.กระทรวงวัฒนธรรมได้ทำหนังสือกราบทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จ เป็นองค์ประธานยกฉัตรในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ซึ่งตรงกับพิธีมอบปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แต่ทั้งนี้แล้วแต่จะทรงพระกรุณา เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไว้ทุกข์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

เวลา ๐๙.๓๐ น. พระครูปลัดอนันต์ทำพิธีบวงสรวง เมื่อทำนำมนต์แล้ว กลับมานั่งที่และนำขอขมาพระรัตนตรัย สวดอิติปิ โส สวดคาถาเงินล้าน ดร.ปริญญานำอุทิศส่วนกุศล เป็นเสร็จพิธี เวลา ๑๐.๐๐ น. พอดี


เนื่องจากในวันเสาร์ที่ ๑๒ มกราคม เป็นวันเด็ก พระครูปลัดอนันต์ มีของขวัญแจกให้กับเด็ก ๆ ที่เดินทางมากับคุณพ่อ คุณแม่ด้วย

เวลา ๑๐.๓๐ น. คุณต๋อยและคณะถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์ที่เดินทางมาร่วมพิธีในปีนี้ ๕๖ องค์ คุณต๋อยและคณะทำอาหารหลายอย่าง และยังทำอาหารเลี้ยงแก่ผู้มาร่วมพิธีด้วย ขอโมทนาเป็นอย่างสูง


เมื่อรับประทานอาหารกันแล้วต่างก็แยกย้ายกันไปกราบนมัสการสถานที่ต่างในจังหวัดเชียงราย แต่คณะของหลวงพี่ชัยวัฒน์และพระอาจินต์เดินทางไปร่วมพิธียกฉัตรประดิษฐานไว้บนยอดเจดีย์ที่สร้างใหม่สร้างครอบเจดีย์เก่าที่ร้างไปนาน ที่บ้านพลูหลวงซึ่งอยู่ห่างจากสำนักสงฆ์ปฐม พุทธารามไป ๓ ก.ม. วันดีคืนดีชาวบ้านก็เห็นแสงสว่างลอยจากเจดีย์นี้ไปทางด้านเจดีย์ที่อยู่ฝั่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พระสมบูรณ์เดินทางมาเห็นก็เลยร่วมกับชาวล้านบ้านพลูหลวงช่วยกันสร้างเจดีย์ครอบองค์ที่ร้างไปเหลือแต่ซากอิฐ

นอกจากนี้ยังได้ร่วมเทปูนหล่อพระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอก ประดิษฐานรอบพระเจดีย์ เทปูนเสร็จแล้วก็ได้ร่วมกันถวายตู้พระไตรปิฎก ถวายรูปเหมือนพระเดชพระคุณหลวงปู่ปาน และพระเดชพระคุณหลวงพ่อซึ่งพระสมบูรณ์ได้สร้างไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพื่อให้ชาวบ้านได้บูชา ตอนนี้ได้เปิดเสียงคำสอนหลวงพ่อให้ฟังอยู่ ชาวบ้านก็สนใจมาก หลวงพี่ชัยวัฒน์บอกว่าเสียดายพระสมบูรณ์บอกช้าไป คนจึงรู้ไม่มาก มาร่วมงานกันน้อย แต่น้อยก็ได้เงินทำบุญร่วมสร้างเจดีย์ ๘ หมื่นบาทเศษ ขอโมทนาเป็นอย่างสูง
เวลา ๑๖.๐๐ น. เดินทางกลับ

วันที่ ๑๓ ม.ค. เวลา ๐๗.๓๐ น. พระครูปลัดอนันต์เดินทางออกจากที่พักไปพระธาตุดอยตุง ลูกศิษย์ลูกหลานหลวงพ่อเริ่มเดินทางมาถึงบ้างแล้ว อากาศเย็นสบายดี ไม่หนาวมากอย่างที่คาดคิดไว้ ท้องฟ้าโปร่งแจ่มใส หลวงพี่ชัยวัฒน์ ดร.ปริญญา ก็เดินทางมาถึงเหมือนกัน ก็สนทนาเรื่องพระธาตุดอยตุงกันอีก เพราะมีคนใหม่มาทุกปี

ถ้าคนไม่เคยมาและได้มาปีนี้ก็ไม่มีโอกาสได้เห็นพระธาตุดอยตุงแบบเก่าคือทรงปราสาทอีกแล้ว เพราะรื้อถอนไปหมดแล้ว เมื่อปี ๒๕๔๙ เปลี่ยนเป็นแบบทรงเจดีย์สมัยที่ครูบาศรีวิชัยมาบูรณะไว้ เมื่อปี ๒๔๔๖ เพราะดูเป็นแบบศิลปะทางล้านนาหน่อย เมื่อปีที่แล้วยังมีศาลาอยู่ ๑ หลัง ปีนี้ก็รื้อถอนไปหมดแล้ว ปูกระเบื้องและปูหญ้าแทน ทำให้ดูพื้นที่กว้างขวางขึ้น วันที่พวกเราไปพวกช่างก็ยังทำงานปูพื้นอยู่

พระธาตุดอยตุงที่เห็นวันนี้ทำเป็นรูปทรงเจดียแล้วทั้งสององค์ แต่ยังเป็นปูนอยู่ ต่อไปก็จะปิดทองจังโก โดยคณะศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน มีพระครูปลัดอนันต์ เป็นประธาน เป็นเจ้าภาพ ทางกรมศิลป์ให้ทำได้แค่นี้ ค่าปิดทองจังโก
๓ ล้าน ๙ แสนบาท ได้ทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว จะเสร็จใน ๑๒๐ วัน ฉะนั้นเงินที่รับบริจาคมาเพื่อสร้างพระธาตุดอยตุงสององค์ก็จะเหลือ พระครูปลัดอนันต์บอกว่า จะเป็นทุนเพื่อบูรณะต่อไป ตามอย่างที่รัฐบาลพม่าเขาบูรณะทุก ๔ ปี เจดีย์บ้านเขาจึงแลดูเหลืองอร่ามไปหมด

ก่อนจะได้เวลาทำพิธีบวงสรวง ท่านผอ. สหวัฒน์ ก็เดินทางมาร่วมพิธีกับพวกเราอีก พระครูปลัดอนันต์ก็ขอให้ ท่านผอ. เล่าเรื่องการบูรณะพระธาตุดอยตุงครั้งนี้ให้ญาติโยมทราบอีก ก็ได้รับรู้เรื่องราวละเอียดขึ้นอีก คือ

การรื้อถอนพระธาตุดอยตุงสององค์ทำอย่างระมัดระวังมาก ไม่อยากให้ชำรุดเสียหายมาก ปัจจุบันนี้นำไปเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดน้อยซึ่ง อยู่ตรงทางขึ้นพระธาตุดอยตุง ผู้ที่เป็นหัวหน้าควบคุมงานบูรณะองค์พระธาตุครั้งนี้คือ ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล กรมศิลปากรควบคุมการก่อสร้าง งบบูรณะงวดที่ ๑ เป็นเงิน ๒๓ ล้านบาท งบบูรณะงวดที่ ๒ เป็นเงิน ๒๑ ล้านบาท


การรื้อถอนและบูรณะครั้งนี้ทำให้ได้ทราบว่าได้สร้างมา ๓ สมัยแล้ว พวกเรามาก็ได้เห็นด้านข้างของพระธาตุดอยตุงเป็นบ่อขุดลึกลงไป ทำให้เห็นชั้นดินโดยเด่นชัด แต่บ่อนี้เขาห้ามสตรีลงไป บางท่านได้เห็นแล้วอาจจะคิดว่า ขุดไปทำไม ทำให้เสียเนื้อที่เปล่า ๆ ทำให้ทางเดินแคบไป อันนี้ก็เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จะไปแก้ไขก็คงไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ทำ

ดร.ปริญญาถามท่านผอ.ว่า แล้วโบสถ์ที่อยู่ใกล้องค์พระธาตุจะมีการบูรณะไหม ท่านผอ.บอกว่า มีโครงการต้องบูรณะ ดร.ปริญญาถามว่า ถ้าบูรณะจะให้เลื่อนโบสถ์ห่างออกไปอีกได้ไหม ? เพื่อจะได้ไม่บังองค์พระธาตุดอยตุงมากเกินไป ท่านผอ.บอกว่า เรื่องนี้ต้องเข้าที่ประชุมกันก่อน เพราะว่าเกี่ยวกับสงฆ์

พระครูปลัดอนันต์ มองดูแล้วเป็นห่วงว่า เมื่อปิดแผ่นทองจังโกแล้ว สวยงามดีแล้ว คนจะมาปิดทองเพิ่มเติมจนเลอะไปหมด จะมีวิธีป้องกันอย่างไรไหม ท่านผอ. คงไม่ได้คิดเรื่องนี้มาก่อน จึงได้แต่บอกว่า จะเขียนประกาศติดไว้

พระครูปลัดอนันต์บอกว่า ถึงเขียนไว้คนก็ไม่อ่าน เพราะได้เห็นมาหลาย
แห่งแล้วปิดทองกันเปรอะไปหมด ดร.ปริญญาเสนอว่า ขอทำเป็นกำแพงกั้นเตี้ย ๆ
ได้ไหม เรื่องนี้ท่านพระครูจะเป็นเจ้าภาพเอง ท่านผอ.บอกว่า เรื่องนี้ขอไปปรึกษา
หารือกันอีกที (ขอให้อนุมัติตามที่ขอนี้เถอะ เพื่อทรงไว้ซึ่งความสวยงาม)


เวลา ๐๙.๓๐ น. พระครูปลัดอนันต์ ทำพิธีบวงสรวง เสร็จแล้วนำบูชา
พระรัตนตรัย หลวงพี่ชัยวัฒน์นำขอขมาพระรัตนตรัยแบบทางเหนือ จบแล้วพระครูปลัดอนันต์นำสวดอิติปิ โส และคาถาเงินล้าน ๑ จบ พระครูปลัดอนันต์และพระสงฆ์ประพรมน้ำหอมที่องค์พระธาตุและโปรยดอกไม้ พระสงฆ์ชยันโต คนที่คิดไว้ว่า ไม่ควรขุดบ่อก็คิดถูกแล้ว เพราะตอนพรมนํ้าอบนํ้าหอมนั้น เดินผ่านบ่อไม่ได้ เพราะไม่มีใครอยากตกบ่อ
เมื่อเรียบร้อยแล้ว ดร. ปริญญา นำอุทิศส่วนกุศล


จบแล้ว พระครูสมุห์พิชิต (หลวงพี่โอ) ประพรมน้ำมนต์บวงสรวงให้แก่ญาติโยมที่เดินทางมาร่วมพิธี พระครูปลัดอนันต์และพระสงฆ์ชยันโต ปีนี้เดินเข้าแถวมารับน้ำมนต์เป็นระเบียบเรียบร้อยดีมาก หลวงพี่ชัยวัฒน์ก็ทำหน้าที่แจกแผ่นพับ (แผนที่เดินทางไปหล่อพระนอน ๕๐ เมตร ที่วัดใหม่สุขุมาราม อ. บางมูลนาก จ. พิจิตร)

เวลา ๑๐.๑๐ น. เสร็จพิธี ปีนี้เสร็จพิธีเร็วหน่อย เพราะไม่มีการร้องเพลง

คุณต๋อยและคณะ นิมนต์พระสงฆ์ทุกรูปฉันภัตตาหารเพลในพระอุโบสถ และเลี้ยงอาหารแก่ญาติโยมที่มาร่วมพิธีด้วย เข้าแถวกันยาว เพราะมีร้านเดียว


คุณต๋อยเห็นคนอุดหนุนคับคั่งก็ปลื้มใจ ความเหนื่อยหายไปทันที มีใจเมตตาและ เสียสละดีเหลือเกิน ปีหน้าก็ขอให้มาเลี้ยงอีกนะ ขอโมทนากับคุณต๋อยมา ณ โอกาสนี้ และขอกราบขอบพระคุณท่านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา ที่ให้คุณต๋อยและคณะพักที่วัดและเตรียมอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงคนที่วัด

เมื่อฉันเพลเสร็จแล้ว พระครูปลัดอนันต์ เดินทางกลับวัดท่าซุง เป็นอันว่าการเดินทางมาร่วมกันทำพิธีบวงสรวงที่พระธาตุดอยตุงและพระธาตุจอมกิตติ ปีละ ๑ ครั้ง ถึงแม้ว่าจะเดินทางไกลไปหน่อย แต่บรรพบุรุษบุพการีและเพื่อนทหารหาญแห่งโยนกนครท่านคงดีใจและปลื้มใจกันมาก ที่ลูกหลานและพี่น้องของท่านยังมีความระลึกนึกถึงท่านอยู่ สำหรับบางท่านอาจจะมีความลำบากอยู่ เมื่อได้รับผลบุญที่พวกเราอุทิศให้อย่างใกล้ชิด ท่านเหล่านั้นก็คงจะมีความสุข เมื่อบุญเต็มก็จะได้ไปเสวยสุข ณ สุคติภพ

ส่วนพวกเราที่ได้มีโอกาสเดินทางไปถือว่ามีบุญ จึงสามารถเดินทางไปถึง ไม่มีอุปสรรคมากมาย และได้บูชาพระบรมสารีริกธาตุและพระเกศาธาตุของพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด มีอานิสงส์แห่งพุทธานุสสติเป็นอันมาก กลับไปก็จะได้มีโชค มีลาภ มีชีวิตอันสดใส มีความสุขและความเจริญ ขอพระบารมีแห่งพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่พระธาตุดอยตุงและพระธาตุจอมกิตติจงดลบันดาลให้ทุกท่านมีความสุข สมความปรารถนาในการปฏิบัติธรรมธรรมด้วยเทอญ ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูง สาธุ สาธุ สาธุ...





ปี พ.ศ. ๒๕๕๑


วันที่ ๔ , ๕ , ๖ มกราคม ๒๕๕๑ พระครูปลัดอนันต์ และ พระอาจินต์ ธมฺมจิตฺโตเดินทางไปวังน้ำเขียว ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรม ศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง สาขาที่ ๙ , ไปบ้านไร่ปลายตะวัน , ไปสอนพระกรรมฐานที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง (โคราช)
เวลา ๐๗.๓๐ น. ออกเดินทางจากวัดท่าซุง มีคณะครูฝึกจากวัดติดตาม ไปด้วย ๑ คันรถตู้ และไปสมทบกับครูฝึกที่เดินทางจากบ้านสายลม ๒ คันรถตู้ ที่ อ. ปากช่อง แวะฉันภัตตาหารเพล ที่ อ. ปากช่อง

เสร็จแล้วเดินทางต่อไปศูนย์ปฏิบัติธรรมศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง สาขาที่ ๙ ที่ ต. วังน้ำเขียว อ. วังน้ำเขียว จ. นครราชสีมา เวลา ๑๔.๒๕ น. พระครูปลัดอนันต์ และคณะเดินทางถึงศูนย์ปฏิบัติธรรมศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง สาขาที่ ๙ พระอรุณ วณฺณวฑฺฒโน พร้อมด้วยพระสงฆ์และญาติโยมรอต้อนรับ
พระอรุณ กราบนิมนต์พระครูปลัดอนันต์เข้านั่งพักในศาลามุงแฝกซึ่งมีพระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอก ประดิษฐานเป็นองค์พระประธาน และมีรูปเหมือนหลวงปู่ปานและพระเดชพระคุณหลวงพ่อด้วย

หลังจากดื่มน้ำและนั่งพักสบายพอสมควรแล้ว พระอรุณได้กราบนิมนต์พระครูปลัดอนันต์ ไปที่ศาลาหลังใหญ่ที่มุงกระเบื้องเรียบร้อย ระหว่างเดินไป พระครูปลัดอนันต์แวะชมศาลาท่านปู่ท่านย่า และสามท่านแม่ซึ่งพระอรุณให้ช่างปั้นรูปท่านปู่ ท่านย่าไว้องค์ใหญ่และตกแต่งสีสวยงาม


เมื่อไปถึงศาลาหลังใหญ่ ข้างในมีพระประธาน ๗ ศอกทรงเครื่องพระนิพพาน สวยงามมาก หลังคามุงกระเบื้องยกสูงมาก เพราะพระประธานสูง โครงหลังคาและเสาก็เป็นไม้ธรรมดา ไม่ได้เน้นเรื่องสวยงามประณีต แต่ก็ช่วยกันทำทั้งพระและญาติโยมจนสำเร็จ

พระครูปลัดอนันต์ขอให้พระอรุณเล่าถึงความเป็นมาของสำนักให้ญาติโยมฟังหน่อย พระอรุณได้ให้ คุณรณกร เทพวงษ์ เล่าแทน พอสรุปได้ว่า เดิมเนื้อที่เป็นที่ว่างเปล่า เมื่อพระอรุณธุดงค์เดินทางผ่านมาที่นี่ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๔ ก็มีความพอใจสถานที่ตรงนี้ ก็ตั้งจิตอธิษฐานขอสร้างที่นี้ถวายพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ต่อมาญาติโยมมาเห็นศรัทธาก็ช่วยซื้อที่กันมีเนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๒ งาน และสร้างอาคารแบบพออยู่ได้

พระอรุณก็สร้างพระพุทธรูปขึ้นเรื่อย ๆ จาก ๑ องค์ เป็น ๒ องค์ เป็น ๓ องค์ จนปัจจุบันนี้ ๔๐ องค์ ใครเห็นก็ต้องทึ่ง เพราะเป็นพระขนาด ๔ ศอกทั้งนั้น และสุดท้ายก็มีเจ้าภาพมาสร้างพระหน้าตัก ๑๒ ศอก พร้อมด้วยหลวงปู่ปานและพระเดชพระคุณหลวงพ่ออีก ๒ องค์ หน้าตัก ๔ ศอก ดูแล้วใหญ่มาก ที่วัดท่าซุงยังไม่มีให้เห็นอย่างนี้


สาเหตุที่ให้เป็นสาขาวัดท่าซุง ก็เนื่องจากว่า มีผู้มาเสนอว่าให้ทำเป็นวัดจะได้เป็นที่ปฏิบัติธรรมได้อย่างสมบูรณ์ แต่พระอรุณและคณะกรรมการมองเห็นว่า ถ้าเป็นวัด ต่อไปไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นเจ้าอาวาส ก็เลยปรึกษากันกับญาติโยม ตกลงกันว่าไม่ควรให้เป็นวัด ยกให้วัดท่าซุงดีกว่า เพราะได้ตั้งใจถวายพระเดชพระคุณหลวงพ่ออยู่แล้ว

พระครูปลัดอนันต์ได้ทราบเหตุผลและความตั้งใจของพระอรุณและญาติโยมแล้วก็ยอมรับ แต่เรื่องเป็นสาขาที่ ๙ นั้น พระอรุณเป็นผู้ตั้งเอง สาขาที่ ๘ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ?
ได้ฟังความคิดท่านอรุณแล้วก็น่าขำดี หลวงพี่นันต์ก็ไม่ได้ว่าอะไร

พระครูปลัดอนันต์รับเป็นสาขาแล้วก็ได้แนะนำพระอรุณในการปฏิบัติต่อพระที่มาอยู่ด้วยว่าควรให้ท่านหายความกังวลใจในเรื่องการเจ็บป่วยให้มาก จะต้องมีเงินกองทุนก้อนหนึ่งเพื่อดูแลเวลาพระเจ็บป่วย และเรื่องเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ ควรระมัดระวัง ต้องควบคุมให้มาก

พระครูปลัดอนันต์อยู่สนทนาจนเวลา๑๗.๓๐ น. เดินทางไปที่บ้านไร่ปลายตะวัน ซึ่งคุณนิรันดร์ เขียนดวงจันทร์ ได้นิมนต์ให้มาพักตั้งแต่ก่อนเดินทางมาแล้วที่บ้านไร่ ปลายตะวันถ้าคนมาเห็นเมื่อเดินทางเข้ามาก็คงเข้าใจว่าเป็นสำนักปฏิบัติธรรมศูนย์ศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุงสาขาที่ ๙ เพราะอยู่ใกล้กันและสร้างสิ่งต่าง ๆ เหมือนวัด

ณ สถานที่นี้มีพระพุทธรูปพร้อมอาคารสวยงาม มีรูปปั้นพระปิยมหาราช และพระมเสี ๓ พระองค์ มีรูปปั้นท่านท้าวมหาพรหม มีรูปปั้นกรมหลวงชุมพร ฯ มีรูปปั้นเจ้าพ่อพระกาฬ มีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม และต่อไปคงจะมีรูปปั้นของสิ่งศักสิทธิ์อีกหลายอย่าง อาคารที่เป็นที่พักที่ทำงานก็ทำลักษณะคล้ายที่วัด ถ้าดูผาด ๆ ก็อาจจะนึกว่าเป็นรีสอร์ท แต่ความเป็นจริงไม่ใช่รีสอร์ท เป็นเทวสถาน สามารถมาพักและปฏิบัติธรรมได้

คุณนิรันดร์ จัดอาหารมาเลี้ยงแก่คณะครูฝึกที่ติดตามมาและลูกศิษย์ลูกหลานที่อยู่ใกล้เคียงรู้ข่าวก็เดินทางมากราบพระครูปลัดอนันต์ เลี้ยงอาหารอย่างดีฝีมือแม่ครัวรสอร่อยทั้งนั้น

เวลา ๑๘.๓๕ น. พระครูปลัดอนันต์ลงมาที่หอประชุมอเนกประสงค์ เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว โฆษกพูดดีมาก ได้กล่าวต้อนรับพระครูปลัดอนันต์และคณะศิษย์ที่เดินทางมาที่บ้านไร่ปลายตะวัน เนื่องในวาระปีใหม่พอดี ทางบ้านไร่ปลายตะวันรู้สึกซาบซึ้งในความเมตตาของพระครูปลัดอนันต์ จึงขอจัดชุดรำถวายเพื่อเป็นการต้อนรับและเป็นการอวยพรเนื่องในวาระปีใหม่ด้วย

นักรำเป็นคณะนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาล ๒ อ. บัวใหญ่ จ. นครราชสีมา ต้องขอชมเชยครูผู้ฝึกสอนและนักเรียนว่า ฝึกสอนดี รำได้สวยงามมาก มีความอ่อนช้อย นุ่มนวลและพร้อมเพรียงดีมาก จัดรำถวาย ๒ ชุด

รำจบแล้ว พระครูปลัดอนันต์ และ คุณเยาวลักษณ์ มิตรศรัทธา ตบรางวัลให้แก่คณะนักเรียนที่รำถวายทุกคน

เวลา ๑๙.๐๐ น. คุณเศรษฐา และ คุณเยาวลักษณ์ เป็นตัวแทนคณะศิษย์หลวงพ่อ ถวายพานดอกไม้แด่ พระครูปลัดอนันต์ และ พระอาจินต์ เนื่องในวาระปีใหม่ คุณนิรันดร์และครอบครัวพร้อมด้วยญาติพี่น้องถวายพาน ดอกไม้ แด่พระครูปลัดอนันต์เช่นกัน


พระครูปลัดอนันต์กล่าวขอบคุณคุณนิรันดร์และคณะศิษย์หลวงพ่อที่แสดงน้ำใจอันดีในครั้งนี้ เวลา ๑๙.๐๐ น. เริ่มเจริญพระกรรมฐานแบบสุกขวิปัสสโก โดย คุณปรีชา พึ่งแสง เปิดเทปสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐาน จบแล้วจึงเปิดคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ แล้วนั่งภาวนา ๑๐ นาที


เวลา ๒๐.๐๐ น. ถวายสังฆทาน ชุดสังฆทานก็จัดเหมือนที่วัดและบ้านสายลม มีพระพุทธรูปหน้าตัก ๒๐ นิ้ว ซึ่งเป็นสังฆทานชุดใหญ่พิเศษด้วย โดยมี คุณสุภาวดี (บี๋) เป็นผู้จัด

ถวายสังฆทานเสร็จแล้ว พระครูปลัดอนันต์ให้คุณนิรันดร์เล่าความเป็นมาของสถานที่นี้ให้ฟังหน่อย ตอนแรก
คุณนิรันดร์ก็ไม่อยากจะเล่า เพราะเป็นคนไม่ชอบจับไมค์ แต่เมื่อถูกขอให้เล่ามาก เข้าจึงจำเป็นต้องเล่า โดยสรุปว่า เมื่อปี ๒๕๓๕ เจ้าพ่อพระกาฬ มาบอกว่าให้ไปหาหลวงพ่อฤาษีที่วัดท่าซุงอย่างเร่งด่วน เพราะมีเวลาเหลือน้อย คุณนิรันดร์ก็รีบเดินทางไป ไปก็เห็นหลวงพ่อรับแขก ตัวเองก็นั่งไกล ไม่ได้คุยกับหลวงพ่อเลย แล้วก็กลับบ้าน ได้หนังสือมาอ่านก็ถูกใจอยู่เรื่องเดียวที่หลวงพ่อสอนว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงกล่าวโทษโจทย์ความผิดของตัวเองอยู่เสมอ

เดิมนั้นไม่ได้ตั้งใจจะซื้อที่นี้แต่เจ้าของที่เดิมมีความเดือดร้อน เขาจะขายก็ซื้อไว้ ซื้อแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ลูกสาวชอบที่นี่ก็สร้างบ้านไว้ให้หลังหนึ่ง ลูกชายเป็นหมอพาเพื่อนมาพัก มากขึ้น ๆ ก็เลยขยายไปเรื่อย ๆ ต่อมาฐานะการเงินไม่ค่อยดี เป็นหนี้สิน ก็เลยตั้งจิตอธิษฐานว่าจะไม่ขอลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตอนหลังดีขึ้นใหม่ ก็ให้น้องชายมาดูแลก็เลยทำอะไรต่ออะไรอย่างที่เห็นนี้ ต่อไปก็อยากให้เป็นที่ปฏิบัติธรรม

ได้ฟังคุณนิรันดร์เล่าเรื่องของตัวเองก็รู้สึกอัศจรรย์ ชีวิตมีขึ้นมีลง แต่คุณนิรันดร์ก็ยึดมั่นในคำสอนหลวงพ่อเสมอมาในหัวข้อที่ว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงกล่าวโทษโจทย์ความผิดของตัวเองอยู่เสมอ

ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง สาขาที่ ๙ คุณนิรันดร์และครอบครัวก็ไปทำบุญอยู่เสมอ ได้สร้างสมเด็จองค์ปฐมหน้าตัก ๒๐ นิ้วประดับเพชร ๑ องค์ พร้อมตู้ และเครื่องสักการะ ล่าสุดเป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๑๒ ศอก ๑ องค์ พร้อมด้วยสร้างรูปเหมือนหลวงปู่ปาน หลวงพ่อ หน้าตัก ๔ ศอก ๒ องค์ ต่อไปก็จะทำอาคารคลุมให้อีก นับว่าเป็นผู้ที่มีใจเป็นบุญดีมาก

เวลา ๒๐.๔๕ น. พระครูปลัดอนันต์ นำอุทิศส่วนกุศล ให้พรแล้วกลับที่พัก คืนนี้พักที่ บ้านไร่ปลายตะวัน คณะผู้ติดตามก็พักที่นี่เหมือนกัน บรรยากาศดีมากจริง ๆ สมกับเป็นที่พักผ่อน

วันที่ ๕ ม.ค. เวลา ๐๗.๐๐ น. คุณนิรันดร์ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ และเลี้ยงอาหารคณะผู้ติดตาม

เวลา ๐๗.๓๐ น. พระครูปลัดอนันต์เดินทางไปที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง สาขาที่ ๙ เพื่อทำพิธีบวงสรวงและเปิดป้ายศูนย์ปฏิบัติธรรม ฯ อย่างเป็นทางการ





เวลา ๐๗.๕๕ น. เดินทางไป ศูนย์ปฏิบัติธรรมศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง (โคราช) ถึงศูนย์ปฏิบัติธรรมฯ เวลา ๐๙.๐๐ น. คนมารอฝึกกรรมฐานกันเต็มห้องโถง


ก่อนถึงเวลาฝึก ผู้ที่ไม่ได้ฝึกก็ถวายสังฆทานกันก่อน ครูฝึกช่วยกันจัดผู้ฝึกมโนมยิทธิเข้าห้อง บางส่วนก็นั่งฝึกที่ห้องโถงชั้นล่าง เพราะห้องฝึกไม่พอ

เวลา ๐๙.๐๐ น. เจ้าหน้าที่เครื่องเสียง คุณปรีชา พึ่งแสง เปิดวีดิทัศน์บวงสรวงและชุมนุมเทวดา สมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐาน ตามลำดับ และต่อด้วยคำสอนก่อนฝึกมโนมยิทธิโดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ จบแล้วให้ผู้ฝึกนั่งภาวนา ๑๐ นาที แล้วครูฝึกจึงเริ่มแนะนำ เลิกฝึกเวลา ๑๑.๐๐ น. ได้เวลาถวายอาหารเพลแด่พระสงฆ์พอดี ก่อนวันเดินทางมา ๒ วัน พระครูปลัดอนันต์ให้พระสงฆ์เดินทางมาเตรียมงานก่อน มี พระสมนึก พระอนุชิต พระพิษณุ พระมงคลเวทย์ และ พระเอกชัย

ทางศูนย์ ฯ ก็จัดเจ้าหน้าที่แบ่งงานกันทำอย่างเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่ทำอาหาร เจ้าหน้าที่จัดที่พัก เจ้าหน้าที่ช่วยสังฆทาน เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนผู้ฝึก เจ้าหน้าที่จัดรถ ในวันนี้ คณะปลาร้าโคราช ได้นำส้มตำปลาร้ามาเลี้ยง เช่นเดิม คุณนิรันดร์ ก็นำก๋วยเตี๋ยวมาเลี้ยง และมีญาติโยมนำอาหารมาเสริมอีก พระฉันก็อิ่ม คนทานก็อร่อย ขอโมทนาเป็นอย่างสูง
หลังฉันภัตตาหารเพลแล้ว พระสงฆ์ให้พร พระครูปลัดอนันต์ขึ้นพัก ตอนบ่ายนี้ไม่มีการฝึก

ศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ชั้นที่ ๑ เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีซุ้มพระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐมหน้าตัก ๔ ศอก ประดับเพชรสวยงาม มีรูปเหมือนหลวงปู่ - หลวงพ่อ ด้านซ้าย - ขวา พระประธาน มีบันไดขึ้นไปชั้นที่ ๒ สองด้าน ชั้นที่ ๒ นี้มีห้องพักสำหรับพระสงฆ์ ๔ ห้อง ห้องฝึกกรรมฐานห้องใหญ่ กว้าง ๔ เมตร ยาว ๘ เมตร ๘ ห้อง มีระเบียงเดินหน้าห้อง หลังคารูปทรงโค้ง มีทางระบายลมได้โปร่งดีมาก นั่งอยู่ที่ห้องโถงไม่ร้อนเลย ต้องขอชมสถาปนิกออกแบบได้ดีมาก

อาคารหลังนี้สิ้นค่าก่อสร้างไป ๑๙ ล้านบาท เป็นการลงทุนที่สูง แต่ ถ้าคนมาฝึกกรรมฐานแล้วได้ผลดี ก็ถือว่าคุ้มมาก ขอโมทนากับพระครูปลัดอนันต์และท่านผู้ร่วมสร้างทุกคน ท่านได้อานิสงส์ทั้งวิหารทานและธรรมทานทีเดียว โดยเฉพาะ คุณป้าเสาวพงศ-์ คุณ ป้าศรีพร วงศ์สวัสดิ์ ผู้ถวายที่ดินผืนนี้ถวายให้วัดท่าซุงได้บุญมากจริง ๆ ขอโมทนาเป็นอย่างสูง

เวลา ๑๘.๓๐ น. พระครูปลัดอนันต์ลงมาที่ห้องโถง ญาติโยมก็ทยอยมาเพื่อฝึก
กiรมฐานมโนมยิทธิ คืนนี้คนสนใจมาฝึกมากเช่นเดิม

เวลา ๑๙.๓๐ น. เจ้าหน้าที่เครื่องเสียง คุณปรีชา พึ่งแสง เปิดวีดิทัศน์บวงสรวงและชุมนุมเทวดา สมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐาน ตามลำดับและต่อด้วยคำสอนก่อนฝึกมโนมยิทธิ โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ จบแล้วให้ผู้ฝึก นั่งภาวนา ๑๐ นาที แล้วครูฝึกจึงเริ่มแนะนำ เลิกฝึกเวลา ๒๐.๒๐ น. อุทิศส่วนกุศล และถวายสังฆทานกัน พระครูปลัดอนันต์อยู่สนทนาจนเวลา ๒๒.๐๐ น. จึงขึ้นพัก

สรุปผู้ฝึกในวันนี้ รอบ ๐๙.๐๐ น. ผู้ฝึกใหม่ ๑๓๗ คน สามารถไป
เห็นสภาวะพระนิพพานได้ ๑๐๒ คน
ฝึกท่องเที่ยว ๔๕ คน
ฝึกญาณแปด ๒๕ คน
รวม ๒๐๗ คน

รอบ ๑๙.๐๐ น. ผู้ฝึกใหม่ ๑๐๔ คน สามารถไปเห็นสภาวะพระ
นิพพานได้ ๘๖ คน
ฝึกท่องเที่ยว ๔๐ คน
ฝึกญาณแปด ๗๒ คน
รวม ๒๑๖ คน

วันที่ ๖ ม.ค. เวลา ๐๗.๐๐ น. ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ ๗ รูป อาหารมื้อนี้เป็นข้าวต้มเครื่อง ก๋วยเตี๋ยวผัดคณะปลาร้าโคราช และอีกหลายอย่าง อาหารคาวหวานสมบูรณ์จริง ๆ

เวลา ๐๘.๐๐ น. พระสงฆ์และคณะครูฝึกได้แสดงมุทิตาจิตต่อ พระอาจินต์ ธมฺมจิตฺโต เนื่องในวาระวันคล้ายวันเกิด ชนิดคนเกิดไม่รู้ตัวเลย พระสมนึก เป็นตัวแทนพระสงฆ์ขอขมาและถวายพานธูปเทียนแพ คุณประไพ เป็นตัวแทนครูฝึกบ้านสายลม ขอขมาและถวายพานธูปเทียนแพ คุณเครือพันธ์ (ก๋อย) เป็นตัวแทนครูฝึกวัดท่าซุง ขอขมาและถวายพานธูปเทียนแพ คุณป้าสุธี คุณป้าโมทย์ ก็นำพานธูปเทียนแพถวายเป็นการส่วนตัวด้วย คณะศิษย์และลูกหลานหลวงพ่อที่โคราชก็ร่วมขอขมาด้วย


พระอาจินต์ กล่าวขอบคุณและโมทนา เพื่อนพระภิกษุและครูฝึกในกุศลจิตครั้งนี้ ได้ กล่าวอวยพรเพื่อนพระภิกษุ ครูฝึก และญาติโยมทุกท่าน ให้มีความสุข ความเจริญ ปรารถนาสิ่งใดในทางที่ชอบขอสมปรารถนาทุกประการ

จากนั้นทำพิธีสรงน้ำอวยพร ในวาระวันคล้ายวันเกิดแด่พระอาจินต์ โดยมีพระครูปลัดอนันต์เป็นองค์สรงน้ำองค์แรก น่าปลื้มใจจริง ๆ ต่อไปพวกเราก็คงได้มีโอกาสสรงน้ำท่านบ้าง เนื่องในวาระวันคล้ายวันเกิดเช่นกัน

เวลา ๐๙.๐๐ น. เริ่มฝึกกรรมฐานมโนมยิทธิ รอบที่ ๓ รอบเช้าวันนี้คนน้อยกว่าเมื่อวาน เลิกฝึกเวลา ๑๐.๐๐ น. อุทิศส่วนกุศล และถวายสังฆทาน


สรุป ผู้ฝึกในวันนี้รอบ ๐๙.๐๐ น. ผู้ฝึกใหม่ ๙๖ คน สามารถไปเห็นสภาวะ
พระนิพพานได้ ๑๐๒ คน
ฝึกท่องเที่ยว ๖๐ คน
ฝึกญาณแปด ๕๐ คน
รวม ๒๑๖ คน

เวลา ๑๑.๐๐ น. ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ๗ รูป อาหารคาวหวานเต็มโต๊ะเช่นเดิม เช่น ต้มยำเนื้อเปื่อย ยำผ้าขี้ริ้วกับหนังตีนไก่ แกงส้ม ปลาทอดราดพริก ที่แปลกมากคือ มะขามเทศจิ้มปลาร้า ฯลฯ คณะแม่ครัวโคราชฝีมือเยี่ยมจริง ๆ

เวลา ๑๒.๐๐ น. พระครูปลัดอนันต์ รับสังฆทาน คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนไผ่สีสุก ร่วมกันถวายสังฆทานและขอถ่ายรูปกับพระครูปลัดอนันต์ด้วย ครูและนักเรียนโรงเรียนนี้ไปช่วยงานที่วัดท่าซุงทุกครั้งเมื่อวัดมีงาน

เวลา ๑๒.๓๕ น. พระครูปลัดอนันต์และคณะครูฝึกเดินทางกลับ ถึงวัดเวลา ๑๖.๐๕ น.

งานธรรมทานครั้งนี้ได้ผลดีจริง ๆ น่าปลื้มใจที่เห็นผู้คนสนใจการฝึกวิชามโนมยิทธิ ต่อไปก็จะไปที่วังน้ำเขียวอีกที่หนึ่ง ในสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อมีชีวิตอยู่ หลวงพ่อซื้อรถทัวร์ธรรมทาน ๑ คัน หลวงพ่อตั้งใจว่าจะไปสงเคราะห์ลูกศิษย์ลูกหลานที่อยู่ต่างจังหวัด แต่ตอนหลังหลวงพ่อท่านป่วยบ่อยจนไม่มีโอกาสได้ทำ

มาถึงสมัยพระครูปลัดอนันต์เป็นเจ้าอาวาส ได้มีโอกาสทำงานนี้ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่เพราะลูกศิษย์ลูกหลานหลวงพ่อมานิมนต์เอง จึงต้องทำมาจนบัดนี้ ก็ถือว่าความตั้งใจของพระเดชพระคุณหลวงพ่อสมความปรารถนา พวกเราที่เป็นลูกศิษย์ลูกหลานได้มีโอกาสตอบแทนพระคุณหลวงพ่อได้เต็มที่ และก็ทำด้วยความเต็มใจ เป็นบุญที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ





งานเทปูนหล่อพระพุทธไสยาสน์ จ.พิจิตร


วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๑ พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เดินทางไป เป็นประธานเทปูนหล่อพระนอน ยาว ๕๐ เมตร ที่วัดใหม่สุขุมาราม ต.วังตะกู อ.บางมูลนาก
จ.พิจิตร


เวลา ๐๗.๐๐ น. ทางวัดถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่เดินทางมาร่วมงาน ลูกศิษย์ลูกหลานหลวงพ่อที่บางมูลนาก นำอาหารมาเลี้ยงหลายร้าน

เวลา ๐๘.๐๐ น. พระครูปลัดอนันต์และพระสงฆ์เดินทางไปที่ปะรำพิธีซึ่งจัดไว้อย่างสวยงาม มีอาสนะสำหรับพระสงฆ์สวดชยันโต หัวอาสนสงฆ์มีโต๊ะหมู่บูชา มีโซฟาให้พระผู้ใหญ่นั่ง ถัดมาอีกเต็นท์หนึ่งเป็นที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ที่มาร่วมพิธี ถัดจากเต็นท์พระสงฆ์ก็เป็นเต็นท์สำหรับฆราวาส จัดเป็นรูปตัวยู ตรงกลางที่ว่างตั้งกองผ้าป่า เพื่อให้ญาติโยมมาทำบุญได้

ถ้ามองจากปะรำพิธีก็จะเห็นพระนอนองค์ใหญ่มาก ยาว ๕๐ เมตร (หรือเท่ากับ ๒๕ วา) ที่เห็นวันนี้ช่างเทปูนไปได้เกือบจะครบองค์แล้ว เหลือตอนช่วงพระเศียร วันนี้ตั้งนั่งร้านยาวและสูงขึ้นไป เพื่อให้พวกเราที่เดินทางมางานนี้ได้ร่วมเทปูนกันฉาบผิวด้านบน

ด้านหน้าพระนอน ตั้งรูปพระนอนต้นแบบ ยาว ๒ เมตร และมีโต๊ะหมู่บูชา ถัดมาด้านล่างตั้งโต๊ะบวงสรวง มีบายศรี ๙ ชั้น และเครื่องคาวหวาน ผลไม้ ครบถ้วน

ก่อนจะถึงเวลาบวงสรวง ญาติโยมที่เดินทางมาได้ทำบุญกับพระครูปลัดอนันต์ร่วมสร้างพระนอน หลวงพี่ชัยวัฒน์ก็ประกาศรายชื่อผู้มาทำบุญให้ทราบโดยตลอด

เวลา ๐๘.๕๐ น. พระครูปลัดอนันต์ได้ กล่าวถึงอานิสงส์ในการสร้างพระครั้งนี้ว่า การสร้างพระเป็นพุทธบูชา นอกจากร่วมกันสร้างพระแล้วต่อไปก็จะสร้างอาคาร มีหลังคาคลุมองค์พระซึ่งคงจะใหญ่โตมาก เพราะพระนอนองค์ใหญ่ พวกเราก็ได้อานิสงส์ในวิหารทาน พระพุทธเจ้าตรัสว่าอานิสงส์แห่งการถวายทานต่อพระพุทธองค์นั้นไม่เท่ากับการถวายสังฆทาน การถวายสังฆทานก็มีอานิสงส์น้อยกว่าวิหารทาน ฉะนั้นพวกเรามาร่วมสร้างพระนอนก็ได้อานิสงส์ถึง ๒ ประการ

จากนั้นพระครูปลัดอนันต์นิมนต์พระครูวิจารณ์วิหารกิจ (พระครูสุรินทร์) เจ้าอาวาสวัดใหม่สุขุมาราม เล่าเรื่องการได้พบพระเดชพระคุณหลวงพ่อ และให้เล่าเรื่องแรงบันดาลใจในการสร้างพระครั้งนี้ สรุปว่า ท่านตั้งใจว่า ก่อนจะตายชาตินี้จะสร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๒๐ นิ้ว ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่มาจนใกล้จะตายอยู่แล้วก็ยังสร้างไม่ได้ ชาตินี้ก็ตัดสินใจจะไปนิพพานแล้ว ไม่ขอติดตามไป เกิดในสมัยหลวงปู่ปานอีกแล้ว แต่ความกังวลใจที่อยากจะสร้างพระก็ยังตัดไม่ขาด ตอนหลังพระเดชพระคุณหลวงพ่อมาบอกพระครูสุรินทร์ในนิมิตว่า ให้สร้างพระนอนขนาดใหญ่ ๑ องค์ แทนสร้างพระ ๘๔,๐๐๐ องค์

ตอนมาวัดท่าซุงก็ได้มาคุยกับหลวงพี่ชัยวัฒน์ หลวงพี่ชัยวัฒน์ก็ได้ไปปรึกษาพระครูปลัดอนันต์ พระครูปลัดอนันต์ทราบแล้วก็มีความเต็มใจจะช่วยสร้าง ทั้งนี้เพราะได้ระลึกถึง พระคุณของพระครูสุรินทร์ที่แนะนำมาพบหลวงพ่อและฝากให้มาอยู่กับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ที่วัดท่าซุง ตั้งแต่บวชใหม่ ๆ การมาครั้งนั้นก็พา หลวงพี่โอ และหลวงพี่ประทีปมาด้วย
เมื่อพระครูปลัดอนันต์รับปากช่วยสร้างพระแล้ว และเป็นประธานในการสร้างด้วยก็ไม่หนักใจ งานสร้างพระก็ได้ดำเนินมาจนถึงวันนี้ พระครูสุรินทร์บอกว่า การสร้างพระและการจัดงานลุล่วงมาด้วยดีทั้งนี้ก็ด้วยบารมีหลวงปู่ปาน หลวงพ่อเขียน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน และด้วยความเมตตาของท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ พระครูสมุห์พิชิต ฐิตวีโร และ พระชัยวัฒน์ อชิโต


เวลา ๐๙.๑๕ น. พระครูสุรินทร์ พระครูปลัดอนันต์ทำพิธีบวงสรวง เมื่อเรียบร้อยแล้วหลวงพี่ชัยวัฒน์ก็ประกาศให้ญาติโยมทราบขั้นตอนในการจะเทปูนที่องค์พระทำอย่างไรบ้าง คือทางเจ้าหน้าที่ได้จัดแถวให้เข้าเทปูนไว้ ๕ แถว ญาติ โยมที่จะมาเทปูนก็เข้าแถวเรียงกัน
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วเครื่องโม่จะเริ่มผสมปูน แล้วส่งถังใส่นํ้าเปล่ามาให้ก่อน จากนั้นจะเทปูนใส่ถังส่งมาให้ ญาติโยมก็รับถังปูนส่งไปเป็นทอด ๆ จนถึงองค์พระชั้นบนสุด เมื่อชุดแรกได้เทปูนพอสมควรแล้วก็จะเปลี่ยนชุดต่อไป เพื่อจะได้เทกันครบทุกคน

หลวงพี่ชัยวัฒน์ได้ประกาศรายชื่อญาติผู้ใหญ่และผู้ที่ร่วมทำบุญสร้างพระนอนตั้งแต่ ๑ แสนบาทขึ้นไป เชิญให้มาเป็นประธานเทปูนในแต่ละแถว มี กัปตันศรัญสุข สุขสวัสดิ์ หม่อมหลวง เอื้อมสุข กิติยากร คุณเยาวลักษณ์ มิตรศรัทธา คุณสุดา เสริมศรี คุณจุฑาวรรณ โอฬารวัฒน์ คุณชุมนุมพร ชวนานนท์ เป็นต้น

เวลา ๐๙.๔๕ น. เริ่มพิธีเทปูนชุดที่ ๑ พระสงฆ์สวดชยันโต เจ้าหน้าที่ลั่นฆ้องชัย และจุดประทัดเสียงสนั่นลั่นไกล ญาติโยมที่มาร่วมพิธีพนมมืออนุโมทนาอยู่ในเต็นท์ เห็นแล้วประทับใจจริง ๆ ที่พวกเราได้มีโอกาสสร้างพระนอนขนาดใหญ่เช่นนี้ในชีวิต


เทปูนไปได้ ๓ ชุด ชุดที่ ๔ ก็เปิดโอกาสให้พระสงฆ์ที่มาร่วมพิธีได้มีโอกาสร่วมเทปูนบ้าง

เวลา ๑๐.๓๐ น. ใกล้เวลาที่พระสงฆ์จะฉันภัตตาหาร ดร.ปริญญา ประกาศให้ญาติโยมมาร่วมกันถวายผ้าป่า และถวายพระพุทธปฏิมากร พร้อมแล้ว ดร.ปริญญา เรียนเชิญ คุณชุมนุมพร ชวนานนท์ สถาปนิกประจำวัดท่าซุง จุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา เสร็จแล้ว
กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล พระครูปลัดอนันต์ให้ศีล จบแล้ว ดร.ปริญญา นำถวายผ้าป่า และถวายพระพุทธปฏิมากร กล่าวจบพระสงฆ์สาธุ ดร.ปริญญา นำอุทิศส่วนกุศล พระสงฆ์ ให้พร

เวลา ๑๑.๒๐ น. พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหารเพลในศาลาการเปรียญหลังใหม่ ญาติโยมก็เลือกรับประทานอาหารได้ตามอัธยาศัย เพราะมีร้านมาเลี้ยงถึง ๔๘ ร้าน
พระครูปลัดอนันต์ ไม่ยอมฉันภัตตาหารเพล เพราะญาติโยมหลั่งไหลกันมาทำบุญตลอด
ยอดเงินที่ร่วมกันทำบุญในวันนี้ หลวงพี่ชัยวัฒน์ประกาศให้ทราบว่า (ก่อนเพล) ได้เงิน ๓ ล้าน ๖ หมื่นบาทเศษ ขอโมทนาเป็นอย่างสูง

คนมาร่วมงานกันมากจริง ๆ เก้าอี้เตรียมไว้ ๓,๐๐๐ ตัว ไม่พอนั่ง ต้องยืนกันก็เยอะ งานนี้พระครูปลัดอนันต์ และพระครูสุรินทร์เตรียมต้อนรับอย่างเต็มที่ ก่อนงานพระสงฆ์วัดท่าซุงชุดทำงานวัดประจำและฆราวาสได้มาช่วยจัดสถานที่ ตั้งแต่ปรับพื้นที่สำหรับจอดรถได้หลาย ๆ คัน จัดตั้งเต็นท์ ๓๐ หลัง พร้อมเก้าอี้ หายืมได้ไม่พอก็มาเอาที่วัดท่าซุง ประดับธงที่องค์พระนอน และตามรายทาง ติดตั้งเครื่องขยายเสียง พระครูปลัดอนันต์ให้ช่างทำห้องน้ำชั่วคราวเพิ่มอีก ๒๐ ห้อง

ลูกศิษย์พระครูสุรินทร์ ท่านสจ.ช่วยเดินน้ำประปาให้ได้ใช้น้ำอย่างสะดวก และงานนี้ อาจารย์บุญเรือน เป็นอาจารย์สอนวิชาศิลปหัตถกรรมของ ร.ร.พระสุธรรมยานเถระวิทยาพาคณะไปช่วยประดับประดาตกแต่งสถานที่ และนำนักเรียนชายไปช่วยทำบายศรี หลวงพี่โอ และ หลวงพี่ชัยวัฒน์ ไป ช่วยเตรียมงานก่อน ๒ วัน

ขอโมทนาทุกๆท่านที่ช่วยกันทำงานจนสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี ด้วยอานิสงส์แห่งความตั้งใจช่วยงานและร่วมทำบุญสร้างพระนอนในครั้งนี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้ท่านทั้งหลายได้เข้าถึงนิพพาน ในชาติปัจจุบันนี้เทอญ

วันที่ ๓๐ , ๓๑ มกราคม ๒๕๕๑ พระครูปลัดอนันต์ และพระสงฆ์ ๘ รูป เดินทางไปรับสังฆทานและฝึกมโนมยิทธิที่โรงงานทำร่มไทยโอเชี่ยน อ. บางพลี จ.สมุทรปราการ


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved