ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 28/2/08 at 20:43 Reply With Quote

งานก่อสร้างภายในวัดท่าซุง (เว็บตามรอยพระพุทธบาท 4 มี.ค. 2551)


ภาพถ่าย เมื่อ วันที่ 28 ก.พ. 2551



ตามภาพที่เห็นเป็นแนวกำแพงและซุ้มประตูทางเข้า มณฑปพระศรีอาริย์ ที่เพิ่งจะทาสีใหม่





ส่วนภาพนี้ก็เป็นแนวกำแพงเดียวกัน นั่นก็คือ ศาลพระภูมิใหญ่ที่สุด "ท้าวเวหน"





ในตอนนี้ ช่างทาสีกำลังทาสีแนวกำแพงไปตลอด จนถึงประตูทางเข้าด้านหลัง "วิหารร้อยเมตร" ทั้งนี้ เพื่อเตรียมงานใหญ่และสำคัญงานหนึ่งของวัด นั่นก็คือ ได้นิมนต์พรเถระ มาร่วม "งานประจำปี" นับร้อยรูป



บริเวณ "สวนสมเด็จ" มีเนื้อที่ประมาณ 20 กว่าไร่ เดือนธันวาคมของทุกปี จะมีการปักกลด "ธุดงค์"
ของชีพราหมณ์ทั้งหลาย



ภายในเป็นสนามหญ้า ตั้งแต่ด้านหน้า วิหารองค์ปฐม ไปจนถึงด้านหลัง พระยืน 30 ศอก ปี 2549
น้ำท่วมมิดหัว..นะจ๊ะ ขับเรือหางยาวไปได้สบายๆ



ด้านซ้ายมือ "สวนสมเด็จ" จะเห็น "ตึกพระเถระ" สวยงามเพิ่งสร้างเสร็จได้สักปีสองปี ภาพที่เห็นเป็น
"หลังกลาง" และ "หลังด้านขวามือ" ของเรา สำหรับต้อนรับ "พระเถระ" ที่จะเดินทางมาใน "งานประจำปี"
วันที่ 15 - 16 มี.ค. 2551



ตึกพระเถระหลังนี้ เป็น "หลังด้านซ้ายมือ" มีสนามหญ้าอยู่ด้านหน้า ต้องมีคนดูแลอยู่เป็นประจำ




ตอนนี้ย้อนกลับไปทาง "วิหารร้อยเมตร" จะมองเห็น "ศาลามิตรศรัทธา" อยู่ใต้ร่มไม้ด้านซ้ายมือ เป็นเวลาได้พักเหนื่อยพอดี หากรอเวลาที่วิหารจะเปิด สามารถนั่งจิบกาแฟรสดี "Coffee House" ได้ทุกเวลานะ..จะบอกห๊ายย..



วันที่ 28 ก.พ. นี้ ขณะที่ถ่ายภาพ เป็นเวลาสายแล้ว แต่อากาศยังครึ้ม ลมหนาวย้อนกลับมาโชยอีกครั้ง
เห็นสุนัขนอนหลับเป็นแถว ส่วนใหญ่นำมาปล่อยกันเต็มวัดไปหมดแล้ว นับว่าเป็นภาระของวัดเป็นอย่างยิ่ง
ใครหนอ..ช่วยแบ่งเบาภาระไปซะทีเน้อ..



เมื่อผ่านวิหารแก้วร้อยเมตร ได้ยกมือไหว้หลวงพ่อแล้ว จึงผ่านออกไปทางถนนใหญ่ เลี้ยวขวาหน้าโรงพยาบาลฯ ผ่านหน้า โรงเรียนพระสุธรรมฯ และ พระจุฬามณี แล้วจึงได้เลี้ยวเข้าทาง "สวนไผ่" ตรงไปหลังร้านอาหาร ช่างกำลังก่อสร้าง "ตึกกองทุน" หลังใหม่ (สวนไผ่)



ทั้งนี้ เมื่อปี 2549 น้ำท่วมใหญ่กว่าครั้งไหนๆ เดิมหลวงพ่อท่านถมดินที่สวนไผ่ให้สูงกว่าที่อื่นๆ เผื่อเวลาน้ำท่วม จะได้นำรถมาจอดไว้ได้ แต่พอถึงปี 2549 น้ำท่วมรถที่จอดอยู่เกือบถึงครึ่งล้อ ท่านเจ้าอาวาสเห็นท่าไม่ดี จึงรีบสร้างตึกแห่งใหม่ (หลังร้านอาหารกองทุน) เพื่อให้ "เจ้าหน้าที่กองทุน" ได้เก็บข้าวของ และเป็นที่พักด้วย คราวนี้รับรองปลอดภัยแน่



นี่ก็เป็นแบบแปลนที่วิศวกรและสถาปนิกของวัดท่าซุง ได้ออกแบบเป็นอาคาร 3 ชั้น ถ้าน้ำท่วมมากๆ สามารถเก็บของไว้ได้มากทีเดียว



คราวนี้ ขอออกไปทางหน้าโบสถ์บ้าง เพราะเห็นว่ามีการซ่อมแซมป้าย "ศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร" ตั้งแต่ปี 2520 ถือว่าเป็นการซ่อมใหญ่ นั่นก็คือปิดทองและปิดกระจกใหม่หมด




หอนาฬิกาอยู่หน้า "ศาลานวราช" จะเห็นป้อมยามด้านขวามือ เจ้าอาวาสวัดท่าซุงเพิ่งจะให้ช่างรื้อแล้วทำใหม่
เพิ่งจะแล้วเสร็จเมื่อปลายปีที่แล้วนี้เองจ๊ะ หลวงพี่หลายรูปจะได้อยู่เวรยามกันอย่างสะดวกสบายขึ้น



ภาพนี้นับว่าสำคัญมาก เป็น วิหารหลวงพ่อ 5 พระองค์ สร้างมาได้ 3 ปีเศษแล้ว ใกล้ความจริงเข้าไปเรื่อยๆ แล้วละ





ขณะนี้เป็นเวลา 10 โมงเศษ ของวันที่ 28 ก.พ. 51 ช่างกำลังตบแต่งลวดลาย ทำท่าจะทำขึ้นไปถึงยอดเจดีย์แล้ว




ด้านข้างมองลึกเข้าไป เห็นแล้วดูท่าจะสวยงามนะ ต้นมะม่วงอกร่องยังอยู่หน้า "ตึกกองทุน" อยู่เลย แต่ก่อนหน้าแล้ง พอออกดอก หลวงพ่อจะสั่งให้พระรดน้ำทันที



ภายในวิหารได้ประดิษฐาน พระประธาน หน้าตัก 7 ศอก ทรงเครื่องพระเจ้าจักรพรรดิ เหมือนกับที่
"วัดหน้าพระเมรุ" จ.อยุธยา



ขณะนี้ ช่างกำลังปั้นลวดลายประดับฐานพระประธาน และหล่อองค์พระเจดีย์ เตรียมขึ้นไปประกอบด้านบนสุดของวิหาร




เมื่อได้เข้าไปในวิหาร เห็นช่างกำลังทำแบบ "พระนอนองค์เล็ก" เตรียมที่จะให้ญาติโยมบรรจุใน
"พระนอนองค์ใหญ่" 84,000 องค์ ณ วัดสุขุมาราม อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร จึงนำภาพมาให้ชมเล่นๆ กันก่อนนะ..
คิดว่าน่าจะจัด "งานบรรจุพระบรมธาตุ" ในปีหน้า 2552



นี่คือแบบแปลนเต็มๆ เป็นส่วนด้านหน้าของวิหาร จะเห็นว่าสวยงามมาก หากเสร็จแล้วไม่รู้จะสวยงามขนาดไหน




สำหรับภาพนี้ เป็นส่วนด้านข้าง เป็นรูปวิหารแต่มียอดสูงเด่นเป็นประธาน และมีเจดีย์บริวารแวดล้อมทั้งสี่ทิศ




ยัง...ยังไม่หมด..ในการชมภาพความเคลื่อนไหวของวัดท่าซุง ท่านที่ไม่เคยมาวัดก็ดีหรือท่านที่นานๆ จะมาสักที
เปิดเว็บ..ปั๊บ คลิก..เข้าไปชมได้..ทันที อยู่ที่บ้าน หรือที่ไหนๆ ก็รู้ข่าวคราวของวัดท่าซุงได้อย่างทันท่วงที

ภาพนี้ แม่บ้าน หรือ แม่ครัว ทั้งหลายคงจะนึกออก หรือ พ่อครัว ก็ตาม คงจะรู้ได้ทันทีว่า ด้านหลังวิหารพระ
5 พระองค์ จะเป็น "โรงครัววัด" อย่างถาวร พระครูปลัดอนันต์ ได้จัดหาอุปกรณ์ในการประกอบอาหารที่ทันสมัย
แม้แต่ที่ล้างถ้วยล้างชาม เป็นต้น



นี่ก็เป็นประตูทางเข้าอีกด้านหนึ่ง ที่ คุณวัชรพล (บุ๋ม) พยายามถ่ายผ่านประตูกระจกเข้าไป จะเป็นว่าภายใน
โรงครัวแห่งใหม่นี้ เตรียมพร้อมสำหรับ "เจ้าภาพ" ที่จะจองเลี้ยงอาหารทุกท่าน..ทุกคณะ

โดยเฉพาะ ต่อไปในอนาคต หลวงพี่เจ้าอาวาสได้วางแผนไว้ว่า หากมีญาติโยมประสงค์จะทำบุญ
ให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือจะทำบุญวันเกิด วันครบรอบแต่งงาน หรือวันอะไรก็ตาม จะนิมนต์พระในวัดสัก 9 รูป
ให้มาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วถวายภัตตาหาร ณ วิหารหลวงพ่อ 5 พระองค์ เพื่อเป็นบุญเป็นกุศลในโอกาสต่อไป



เวลานี้ได้เดินมาถึงท่าน้ำ (ข้างตึกเสริมศรี) จะมุดเข้าไปถ่ายทำที่ "โรงครัวเก่า" ใต้ต้นโพธิ์ก็ไม่ได้ ช่างบอกว่าให้เดินทางหอฉัน แล้วจึงลงสะพานไปที่ "แพปลา" ปรากฏว่าสามารถถ่ายได้ในระยะไกล เป็นอาคารหลังใหญ่ ที่สร้าง
ทดแทนหลังเดิม จะใช้เป็นที่เก็บของสงฆ์ต่อไป



แหม..พอได้เห็นแม่น้ำสะแกกรังก็ชื่นใจ นักท่องเที่ยวนิยมมาเลี้ยงปลา และนั่งเรือล่องแม่น้ำกันไป ได้ทั้งบุญ...
ได้ทั้งสุขภาพที่ดี...ไปด้วยกันนะ เข้าท่าดีจังเยยย...



อีกทั้งบริเวณนี้ เป็นที่อนุรักษ์พันธ์สัตว์น้ำ ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่กรมประมงมาช่วยด้วย




ล้างถ้วยชาม เลี้ยงอาหารปลาไปด้วย มีทั้งปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาชะโด และแถมยังมี "ปลาบึก" มาเวียนว่ายให้ชมเล่นเป็นบางครั้ง..อีกด้วย..ล่ะ ((ห้ามน้ามลายหก..นะ))



ตึกอินทราพงษ์ เป็นอดีตที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เคยทำงานในเวลากลางวันเป็นประจำ บัดนี้มีป้ายเขียนบอกว่า "หอฉัน" และ ที่พัก "พระอาคันตุกะ" นับเป็นเวลา 16 ปีผ่านไป..ที่ท่านต้องจากไป...:(



ก่อนที่จะไปทาง "ฝั่งโบถส์เก่า" ขอให้ถ่ายภาพ "โรงครัวเก่า" เดิมที่ใต้ต้นโพธิ์นี้มี "กระท่อมเล็กๆ" ที่หลวงพ่อท่านเคยอาศัย เมื่อครั้งย้ายมาอยู่ใหม่ๆ ประมาณ มีนาคม 2511 บัดนี้..กาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

แต่พอได้เห็น พ.ศ. 2511 จึงนึกได้ว่าเป็นปีที่หลวงพ่อท่านมาอยู่วัดนี้ หากจะนับปี พ.ศ. 2511 ถึงปีนี้ พ.ศ. 2551 เป็นเวลา 40 ปีผ่านไปแล้ว นับเป็นระยะเวลานานมากแล้วนะเนี่ย.. ฉะนั้น "งานทำบุญประจำปี" เดือนมีนาคม จึงถือว่าเป็นการทำบุญครบรอบที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ เดินทางมาอยู่วัดนี้พอดี

จึงนำมาย้อนบอกไว้เป็นที่ระลึกนึกถึงท่านผู้มีคุณ... ที่จะต้องอุตส่าห์มาลำบากกาย บุกเบิกสถานที่แห่งนี้ เพื่อรอลูกหลานที่ตามกันมา นับเป็นจุดนัดพบที่ท่านได้รอคอยมานาน จุดนี้จึงเป็น...จุดเริ่มต้น..และจุดสุดท้าย.. ที่พบกันสำหรับพวกเรา...เพราะท่านไม่กลับมาอีกแล้วว...:)



เมื่อได้กลับไปรำลึกนึกถึงท่านพอสมควรแล้ว จึงย้อนออกไปตามถนน แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปทางโบสถ์เก่า พอดีทราบข่าวว่า คุณมนตรี เชียงอารีย์ นำรอยพระพุทธบาทมาถวายหลวงพี่ชัยวัฒน์ไว้นานแล้ว



ปัจจุบันนี้ หลวงพี่พรชัย เป็นผู้ดูแล ได้จัดทำฐานและห้องกระจกไว้อย่างดี อยู่ข้างพระเจดีย์ และหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์




ภายในสะอาดเรียบร้อยสวยงาม สำหรับผู้มากราบไหว้ด้วยความเคารพนับถือ




เป็นรอยเบื้องขวา แต่ไม่ปรากฏรอยนิ้ว ได้นำมาจากป่าริมแม่น้ำโขง ใกล้วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย





ขี้เกียจอธิบายนะ อ่านประวัติตามที่ติดไว้ข้างรอยพระบาทดีกว่า




คุณมนตรีบอกว่า สมัยก่อนชัดเจนกว่านี้มาก ได้นำไปถวายวัดที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม จากนั้นก็ได้ย้ายมาไว้ที่นี่ ประมาณ 2 - 3 ปีแล้ว



ศาลาหลวงพ่อองค์ที่ 10 -11 ในอดีตเมื่อปี 2528 เคยมีพระองค์หนึ่งมานั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์แห่งนี้ แต่เป็นพระมาจากคลองเตยใน กรุงเทพฯ ปัจจุบันย้ายไปสร้างวัดใหม่แถวสามพราน จ.นครปฐม

เรื่องนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เล่าให้ฟังภายหลังว่า พระองค์ที่ 10 หมายถึง สมเด็จองค์ปัจจุบัน ท่านได้คลุมพระองค์นี้ ในขณะนั้น จึงพูดธรรมะได้ไพเราะ เหมือนรู้จิตรู้ใจคนรับฟังไปหมด เป็นที่ประทับใจมาก แต่เมื่อออกไปจากวัดแล้ว เป็นอันว่าจบกันแค่นั้น

แต่ภายหลังมีคนเข้าใจผิดคิดว่า พระองค์นี้เป็น "พระองค์ที่สิบ" ความจริงท่านเป็นแค่อยู่ที่วัดท่าซุงในตอนนั้นเท่านั้น เมื่อออกไปแล้ว หลวงพ่อท่านบอกไม่ใช่

เรื่องนี้มีคนพูดกันใน "เว็บ" บอกว่า หลวงพี่ชัยวัฒน์ ให้คนไปที่นั่น ความจริงหลวงพี่ชัยวัฒน์ก็ไม่เคยพูดสนับสนุนให้ใครไปหา เพราะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีแล้ว และท่านก็เคยเขียนลง "ธัมมวิโมกข์" ชี้แจงเรื่องนี้ไว้นานแล้ว เรื่องนี้ก็ขอให้ผ่านไปนะ



ในตอนนี้ ขอวกกลับมาที่เดิม ตรงด้านหน้าศาลา 25 ไร่ เห็นภาพพื้นปูนนี้ ใครที่เคยไปงานธุดงค์วัดท่าซุง ตอนเช้ามืดจะต้องได้ยินเสียงหลวงพี่ชัยวัฒน์เล่าอะไรให้พวกเราฟังกันทุกเช้า คงจะนึกออกนะว่า คือ...ลานธรรม นั่นเอง



หลังจากงานธุดงค์ ปลายปี 2550 เจ้าอาวาสวัดท่าซุงก็ได้สั่งช่างระดมกำลังกันทันทีทั้งนี้ เพื่อสร้างสิ่งที่ควรสักการบูชาไว้เหนือเศียรเกล้า ของใช้ของจำเป็นของหลวงพ่อฯ ทุกอย่าง แม้แต่เทปเสียง วีดีโอภาพ หรือห้องประชุม ตลอดถึง พระเครื่องสมัย "หลวงปู่ปาน" เป็นต้น ก็จะมารวมกันไว้ทุกรุ่นทุกสมัย ณ ที่นี้ ชนิดว่าหาดูได้ยากมากๆ เลย



สถานนี้จึงเป็นสถานที่สำคัญในโอกาสต่อไป เหมาะสำหรับผู้ที่จะมาศึกษาหาความรู้ หรือค้นคว้าด้วย "เทคโนโลยี" สมัยใหม่



อาคารหลังนี้มีชื่อว่า อาคารพิพิธภัณฑ์ "สมบัติพ่อให้" เปรียบเสมือนเป็นคลังวิชาความรู้ของท่าน ที่ได้ถ่ายทอดไว้สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ผลงานต่างๆ ของท่านที่ผ่านมา จะปรากฏเป็นที่แพร่หลายของอนุชนรุ่นหลัง เพื่อจะได้เป็น "ข้อมูล" ไว้ศึกษาหาความรู้สืบต่อไป และจะมี "พระโพธิสัตว์" ที่ใกล้เต็มแล้ว แต่จะลงมาลา "พระโพธิญาณ" เพื่อค้ำจุนวัดท่าซุงสืบๆ ไป จนกว่าจะถึงกาลอวสาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2520 หลังจาก "ในหลวง" ทรงตัดลูกนิมิต เมื่อวานนี้แล้ว (24 เม.ย. 20) พระท่านได้มาพยากรณ์ไว้ว่า วัดนี้จะมีพระอรหันต์ต่อไปทุกยุคทุกสมัย และภายในพระอุโบสถ ท่านยังได้จารึก "แผ่นทองคำ" บรรจุไว้ด้วยว่า

"เรา..พระมหาวีระ มีพระราชานามว่า "ภูมิพล" เป็นผู้อุปถัมภ์ ร่วมด้วยพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ สร้างวัดนี้ไว้เป็นพุทธบูชา เมื่อศักราชล่วงไปได้ ๒๗๐๐ ปีปลาย จะมี พระเจ้าธรรมมิกราช นามว่า ศิริธรรมราชา สืบเชื้อสายจากสุโขทัยบวกอยุธยา ร่วมกับ พระอรหันต์ จะมาบูรณะวัดนี้สืบพระศาสนาต่อไป คณะเราขอโมทนาด้วย แต่อยู่ช่วยไม่ได้เพราะว่าไป "นิพพาน" หมดแล้ว.."

(เริ่มสร้างเมื่อ ๒๕๑๗ แล้วเสร็จเมื่อ ๒๕๑๙)



หมายเหตุ ข้อความใน "แผ่นจารึก" นี้ได้คัดมาจาก "ต้นฉบับเดิม" ซึ่งต่อมาภายหลังหลวงพ่อบอกว่า "พระอรหันต์องค์นี้" จะมีอายุประมาณ 27 ปี (เวลานี้ ได้ทราบแล้วว่า ผู้ที่จะมาเกิดทั้งสองท่านนั้นเป็นใคร คงจะต้องไปค้นหาใน หนังสือรวมเล่ม 4 กันก่อนนะ)



แบบแปลนที่ได้ออกแบบไว้วิจิตรบรรจง จะสร้างในลักษณะแบบนี้ 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นที่จอดรถ ชั้นบนจะเป็นห้องสำคัญต่างๆ มีทั้งห้องพิพิธภัณฑ์ ห้องประชุม ห้องวิชาการต่างๆ พร้อมสรรพด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย



พ.ต.อ. (พิเศษ) อรรณพ กอวัฒนา เป็นผู้ริเริ่ม ส่วนสถาปนิกและวิศวกร คงจะเป็น คุณชุมนุมพร (ขนม) และ คุณสมศักดิ์ เหมือนเดิม แล้วก็มี คุณโต (ลืมชื่อจริง) ช่วยออกแบบภายในด้วย แล้วก็มีพวกเราเหล่าบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ จะได้ช่วยกันต่อไป

ทั้งนี้ เหมือนกับได้ช่วยกันรักษา "สมบัติพ่อให้" ไว้คงอยู่เป็น "อมตะ" สืบต่อไป ตราบสิ้นพระพุทธศาสนา ตามที่หลวงพ่อได้เคยบอกไว้แล้วว่า วัดท่าซุงจะเสื่อมสลายไป ประมาณ พ.ศ. 4500 ปี ผ่านไปแล้ว แล้วท่านได้เน้นต่อไปอีกว่า คำสอนทั้งหมดที่ท่านสอนไว้ จะคงอยู่คู่กับวัดท่าซุงตลอดไป



คณะทีมงาน.. "ตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอยุติข้อมูลของวัดท่าซุงไว้เพียงแค่นี้ ขออนุโมทนา
ทุกท่าน..ที่ได้ "ร่วมสร้าง"...และ.."ร่วมซ่อม" วัดท่าซุงด้วยดีตลอดมา..สาธุ...

อนุโมทามิ..นิพพานะ ปัจจะโย...โหตุ ฯ




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2040
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved