ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 24/5/08 at 23:05 Reply With Quote

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 26)


(Update 8 ต.ค. 51)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »


ตอนที่ 26

รายการ "สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต" ตอนที่ 14




สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต

ตอนที่ 14 งดงามและเข้มแข็ง

ออกอากาศเมื่อ : 2008-08-04



ความเห็นเรื่อง “พญานาค” จากนักประวัติศาสตร์

"........ท่านผู้อ่านคงจะอ่านรายละเอียดเรื่อง “บั้งไฟพญานาค” กันมาตั้งแต่ต้นแล้ว จะเห็นว่ามีทั้งฝ่ายที่เชื่อและไม่เชื่อ โดยเฉพาะทางด้านพุทธศาสตร์ต่างก็เชื่อว่า “พญานาคมีจริง” ตามที่ได้นำประวัติของครูบาอาจารย์ต่างๆ ท่านได้พบเห็นด้วยตนเองไปแล้ว ส่วนฝ่ายที่อ้างทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์กลับเห็นว่า “เป็นปรากฏการณ์จากธรรมชาติ” ในตอนนี้ก็เหลือแต่ข้อมูลทางด้าน “นักประวัติศาสตร์” กันบ้าง ว่าเขาก็มีแง่คิดที่แตกต่างไปจากความเชื่อถือในทางพระพุทธศาสนาอย่างไรกันบ้าง ?

ความเชื่อเรื่อง “นาค” ในอุษาคเนย์

ในบรรดาชุมชนบ้านเมืองทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสองฝั่งลำน้ำโขงตั้งแต่ตอนใต้มณฑลยูนนานของจีนลงมาจนถึงปากแม่น้ำโขงล้วนเลื่อมใสลัทธิบูชานาค เพราะเชื่อกันว่านาคเป็นผู้บันดาลให้เกิดธรรมชาติ เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง ในขณะเดียวกันก็อาจบันดาลให้เกิดภัยพิบัติถึงขั้นบ้านเมืองล่มสลายได้

นอกจากนี้ยังนับถือ "นาค" เป็นบรรพบุรุษด้วย เหตุนี้เองผู้คนในอุษาคเนย์จึงมีนิทานปรัมปราเกี่ยวกับนาคมากมายหลายสำนวนนับไม่ถ้วน โดยนาคที่ปรากฏในตำนานนิทานต่างๆ สามารถแยกแยะได้อย่างน้อย ๓ ลักษณะ คือ เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนดั้งเดิม เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแห่งดินและน้ำ และเป็นลัทธิทางศาสนา (2)*

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(2)* โปรดดู ศรีศักร วัลลิโภดม, แอ่งอารยธรรมอีสาน : แฉหลักฐานโบราณคดีพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย, กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๓๘.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

น่าสังเกตว่าคำ “นาค” นั้นอาจไม่ใช่คำของคนในดินแดนอุษาคเนย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอว่า “นาค” หรือ Naga อยู่ในภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป (3)* มีรากเดิมจากคำว่า “นอค” (Nog) (4)* แปลว่าเปลือยหรือแก้ผ้า ตรงกับ Naked ในภาษาอังกฤษ ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ สังคมอุษาคเนย์รับคำนี้มา เพื่อใช้หมายถึงงูหรือพญางูผู้มีฤทธิ์ โดยจินตนาการต่อไปว่าพญางูมีถิ่นที่อยู่ใต้ดินเรียก “บาดาล”

จิตร ภูมิศักดิ์ เคยเขียนอธิบายเรื่องความหมายของชื่อนาคไว้ในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอมฯ (5)* สรุปความว่า “พวกนาค” เป็นชนส่วนน้อยทางตะวันออกสุดของอินเดียติดพรมแดนพม่า ณ บริเวณเทือกเขานาค เดิมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอัสสัม แต่ชาวนาคได้ต่อสู้จนรัฐบาลอินเดียยินยอมให้จัดตั้งขึ้นเป็น “รัฐนาค” (Nagaland) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗

แต่เดิมชาวนาคมีประเพณีล่าหัวมนุษย์ ชาวอารยันในครั้งโบราณจึงเหยียดหยามดูถูกพวกนาคมาก ถือว่าเป็นมิลักขะ (คนป่าเถื่อน) คำเรียกนาคก็สันนิษฐานว่ามาจากภาษาอัสสัม เขียนว่า nāga ออกเสียงว่า “นอค” แปลว่า เปลือย หรือ แก้ผ้า หรือสันนิษฐานในอีกทางหนึ่งว่าเป็นคำที่มาจากภาษาฮินดูสตานี คือ นัค (nag) แปลว่า คนชาวเขา

จิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานต่อไปว่าเรื่องนี้อาจเกี่ยวกับตำนานในพุทธศาสนาที่ห้ามนาคมิให้บวช โดยเล่ากันว่า พญานาคเคยปลอมเข้ามาบวชแต่ภายหลังถูกจับได้จึงถูกขับให้ลาสิกขา พญานาคจึงร้องขอต่อพระพุทธเจ้าว่า ต่อไปภายหน้า แม้นาคจะบวชไม่ได้ก็ขอให้ผู้ที่กำลังเตรียมตัวบวชมีชื่อเรียกว่า “นาค” จนกลายเป็นต้นกำเนิดของประเพณีการทำขวัญนาค

การขานนาค การบวชนาค และในพิธีการบวชที่มีระเบียบว่าพระคู่สวดจะสอบผู้บวชด้วยคำถามหนึ่งว่า “มนุสโส สิ?” (เจ้าเป็นคนหรือเปล่า?) เป็นไปได้ว่าในครั้งอดีต สังคมอินเดียกระทั่งในศาสนาพุทธเองก็ยังมีอคติไม่ยอมรับชนชาวนาค จึงไม่ยอมให้เข้าบวชในพุทธศาสนา

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(3)* ตระกูลภาษาอินเดีย-ยุโรป เป็นภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในอินเดียตอนกลางและในทวีปยุโรปส่วนมาก เดิมเรียกว่า “อารยัน” แบ่งย่อยออกเป็นตระกูลภาษาอารยันตะวันออก ได้แก่ ภาษาอารยันแห่งอินเดียกลาง (มัธยมประเทศ) กับ ภาษาอิหร่าน และภาษาอารยันตะวันตก ได้แก่ ภาษากรีก อิตาลิก เยอรมันนิก เคลติก และสลาวิก คำอารยันสืบมาจากคำ “อริยะ” (สันนิษฐานว่า “อิหร่าน” ก็เป็นคำเดียวกันแต่เสียงเพี้ยนไปเท่านั้น)

ในภาษาสันสกฤตโบราณปรากฏมีในคัมภีร์พระเวท ใช้เรียกเป็นชื่อชนชาติและคำยกย่องพราหมณ์ที่นับถือบูชาทวยเทพในพระเวท และเพื่อให้แตกต่างจากชาวอื่นที่ยังเพาะปลูกไม่เป็น ไม่เจริญ และยังอนารยะ ที่เปลี่ยนมาเรียกอินโด-ยุโรปเพราะเห็นว่าครอบคลุมภาษาส่วนมากในยุโรป หากเรียกเพียงอารยันจะทำให้เข้าใจผิดไปได้;
ดูเพิ่มเติมที่ เสฐียรโกเศศ, นิรุกติศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ ๓ คลังวิทยา: กรุงเทพฯ, ๒๕๒๒.

(4)* เปรียบเทียบกับคำอื่นที่ใกล้เคียงได้ที่ http://www.etymonline.com/index.php?term=naked

(5)* โปรดดู จิตร ภูมิศักดิ์, ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติมข้อเท็จจริง ว่าด้วยชนชาติขอม, กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, ๒๕๔๐.


-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องนี้ อาจเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับตำนานสำคัญของสังคมในเขตลุ่มน้ำโขง เช่น “ตำนานอุรังคธาตุ” (ตำนานพระธาตุพนม) โดยในตอนต้นของตำนานมีกล่าวข้อความว่า

“เมืองสุวรรณภูมินี้เป็นที่อยู่แห่งนาคทั้งหลาย มี "สุวรรณนาค" เป็นเค้า แลผีเสื้อน้ำเสื้อบกยักษ์ทั้งมวล”

นักวิชาการจำนวนมากตีความว่า ในด้านหนึ่ง “ตำนานอุรังคธาตุ” เป็นการเล่าถึงการอพยพโยกย้ายของผู้คนจาก “หนองแส” (6)* ลงมาตามลำน้ำอูที่อยู่ในดินแดนลาว ถึงการอพยพโยกย้ายของผู้คนจาก “หนองแส” ลงมาตามลำน้ำอูที่อยู่ในดินแดนลาว
แล้วกระจายกันตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณต่างๆ ตั้งแต่ลุ่มน้ำปิงในภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบันจนถึงสองฝั่งแม่น้ำโขง รวมทั้งแม่น้ำมูลกับแม่น้ำชีในภาคอีสาน โดยผูกเป็นเรื่องการหนีภัยของเหล่านาคน้อยใหญ่ไปตามถิ่นต่างๆ ใน “ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ” ก็เล่าเรื่องนาคในทำนองนี้เช่นเดียวกัน

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(6)* สันนิษฐานว่าคือ ทะเลสาบที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกลองมโหระทึกที่เก่าแก่มาก จากนั้นจึงแพร่หลายไปสู่แหล่งต่างๆ เช่น แถบมณฑลกวางสีอันเป็นถิ่นของชาวจ้วง และตอนเหนือของเวียดนามที่เรียก “วัฒนธรรมดองซอน” รวมทั้งแพร่กระจายมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิที่ตั้งรัฐไทยในปัจจุบัน
จากหลักฐานเรื่องกลองมโหระทึกประกอบกับเรื่อง "นาค" ในตำนานทั้งสอง อาจช่วยสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า "หนองแส" เป็นแหล่งที่อยู่ของมนุษย์ในดึกดำบรรพ์แล้วจึงค่อยเคลื่อนย้ายไปสู่ดินแดนใกล้เคียง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------

นอกจาก “ตำนานอุรังคธาตุ” อาจเกี่ยวข้องกับตำนานการโยกย้ายของกลุ่มคนแล้ว ยังเกี่ยวกับตอนที่ "นาค" หรือกลุ่มคนที่อพยพลงมาปรับตัวรับศาสนาพุทธ “ตำนานอุรังคธาตุ” พยายามลดความสำคัญของนาคลงเป็นเพียงผู้ที่ถูกปราบ ยอมต่อพระศาสดา มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ถึงขนาดที่เหล่านาคทูลขอรอยพระบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้สักการะบูชา

และกลายเป็นผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาต่อมา ดังเห็นเป็นรูปนาคหรือช่อฟ้าประดับในส่วนต่างๆ ของวัดมากมาย ตำนานเรื่องพระพุทธเจ้าปราบนาคยังมีอีกหลายเรื่อง เช่นในนิทาน พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา หรือในพม่าเองก็ปรากฏนิทานในทำนองพระพุทธเจ้าปราบนาคด้วยเช่นเดียวกัน

ในวิทยานิพน์ของ พิเชษฐ สายพันธ์ เรื่อง “นาคาคติ อีสานลุ่มน้ำโขง : ชีวิตทางวัฒนธรรมจากพิธีกรรมร่วมสมัย” (7)* เสนอว่า สัญลักษณ์นาคเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันมั่งคั่ง ที่ปรากฏในเกือบทุกแง่มุมของชีวิตชาวลุ่มน้ำโขง และสามารถจัดนาคออกได้ ๕ ประเภทความหมาย ดังนี้

๑) นาคผู้เป็นสัญลักษณ์ของน้ำ
๒) นาคในฐานะเจ้าที่เจ้าทาง
๓) นาคผู้ให้กำเนิดและผู้ทำลายเมือง
๔) นาคในฐานะผีบรรพบุรุษตามระบบการสืบสายตระกูลทางแม่ (มาตุพงศ์)
๕) นาคผู้สะสมธรรมเพื่อบรรลุพุทธิภาวะ


ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามามีอิทธิพลในอีสาน ผู้คนในแถบนี้อาจมีความคิดเรื่องการเคารพต่อแผ่นดินและผืนน้ำ โดยมีนาคเป็นสัญลักษณ์แห่งความเคารพดังกล่าว ในตำนาน "สุวรรณโคมคำ" และ "อุรังคนิทาน" ต่างก็กล่าวว่า แม่น้ำโขงเกิดขึ้นจากการคุ้ยควักของพญานาคที่หนีจาก "หนองแส" ซึ่งทำให้เกิดแม่น้ำสายอื่นอีกหลายสายคือ ปิง งึม มูล ฯลฯ นาคจึงอยู่ในฐานะของผู้ให้กำเนิดแม่น้ำ หนอง คลอง บึง รวมทั้งน้ำฝนดังที่กล่าวไว้ในนิทานเรื่อง “ขุนทึง” เช่นเดียวกับในนิทานเรื่อง “พญาคันคาก” ที่เล่าว่า

พญาแถนกับพญาคันคากโกรธเคืองกัน เพราะเห็นว่าพญาคันคากมีอำนาจบารมีมากกว่าตนทั้งที่อยู่แค่เมืองมนุษย์ พญาแถนจึงสั่งให้บรรดาพญานาคห้ามเล่นน้ำ ชาวบ้านเกิดเดือดร้อนเพราะขาดน้ำฝนทำนาจึงคิดวิธีร้องขอบอกกล่าวแก่พญาแถน ซึ่งได้กลายเป็นต้นเค้าหนึ่งของประเพณีบุญบั้งไฟที่ปฏิบัติสืบมาจนกระทั่งในปัจจุบัน

ส่วนคติที่ถือว่านาคเป็นเจ้าแห่งผืนดิน คตินี้มีแพร่หลายทั่วไปในเขตวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง เช่น คติเรื่องนาคประจำอยู่ทิศต่างๆ หากจะปลูกเรือนต้องบอกกล่าวบูชาให้ถูกต้อง ฯลฯ หรือเรื่อง "พระพุทธเจ้าปราบนาค" ดังที่มีเล่าในตำนานท้องถิ่นทั่วไป ย่อมแสดงให้เห็นเค้าความเชื่อเรื่องนาค ในฐานะเจ้าที่หรือผู้เป็นใหญ่บนผืนดินได้เป็นอย่างดี การเคารพนาคจึงหมายถึงการเคารพต่อแผ่นดินและผืนน้ำโดยมีนาคเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแห่งน้ำและเจ้าแห่งผืนดิน อันจะนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขและความอุดมสมบูรณ์ในสังคมแบบเกษตรกรรม

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(7)* โปรดดู พิเชษฐ สายพันธ์, “นาคาคติ อีสานลุ่มน้ำโขง: ชีวิตทางวัฒนธรรมจากพิธีกรรมร่วมสมัย,” วิทยานิพนธ์สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๙.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

นอกจากนี้นาคยังมีบทบาททั้งในฐานะผู้สร้างและผู้ทำลายเมืองของมนุษย์ด้วย ดังปรากฏชัดเจนในนิทานหรือตำนานท้องถิ่นอีสานซึ่งมีอยู่มากมายหลายเรื่องหลายสำนวน และมักมีโครงเรื่องไปในทางเดียวกัน คือ กล่าวถึงกำเนิดของเมืองที่เกิดจากการบันดาลของพญานาค และในตอนท้าย เมืองเหล่านั้นก็ถูกทำลายลงด้วยอิทธิฤทธิ์ของพญานาคเช่นเดียวกัน

ตำนานเหล่านี้ ได้แก่ ตำนานสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวติกุมาร อุรังคนิทาน หรือตำนานพระธาตุพนม (ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น) ตำนานเมืองหนองหานหลวง ในพงศาวดารเมืองสกลนคร และนิทานเรื่อง "ผาแดง-นางไอ่" เป็นต้น ในแง่นี้ "นาค" จึงเป็นสัญลักษณ์ที่มีพลังและมีความเป็นอันตราย เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างขั้วของการสร้างสรรค์-ให้กำเนิดกับขั้วของการทำลายล้าง-ความตาย-หายนะ ทั้งนี้เพราะนาคสามารถบันดาลให้เกิดสิ่งที่มีผลดีหรือผลร้ายต่อสังคมได้

ถึงแม้รูปพญานาคมากมายที่ถูกปั้นเขียนขึ้นจะไม่เคยระบุเพศให้เรารู้ว่าตัวนาคนั้นเป็นหญิงหรือชาย แต่ในกรณีของผ้าทอลายนาคนั้นอาจเกี่ยวข้องกับเพศหญิง ทั้งในฐานะที่ผู้หญิงเป็นผู้ทอผ้าและโดยเฉพาะหลักฐานว่าเพศชายไม่นิยมหรือไม่มีผ้าทอลายนาคซึ่งตรงข้ามกับเพศหญิงที่นิยมหรือมีผ้าลายนาคเป็นของตน

นักวิชาการบางส่วนที่ศึกษาเรื่องผ้าและวัฒนธรรมการทอผ้าจึงเสนอว่า นาคและผ้าทอลายนาคเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับระบบการสืบสายตระกูลทางแม่ (มาตุพงศ์) โดยอ้างหลักฐานสนับสนุนจากงานศึกษาชาติพันธุ์วิทยา นอกจากนี้ ในตำนานรุ่นเก่า (ก่อนได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา) จำนวนหนึ่ง นาคในตำนานเหล่านี้มักเป็นหญิงและเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดมนุษย์ เช่นในนิทานเรื่อง “ขุนทึง” ที่มีแม่เป็นนาค

เมื่อสัญลักษณ์นาคผู้ทรงฤทธิ์โยงใยอยู่กับความเป็นแม่ ก็ย่อมสะท้อนถึงบทบาทและอำนาจของเพศแม่ที่มีอยู่ในสังคมนั้นด้วย อย่างไรก็ดีในตำนานยุคหลังที่เริ่มมีเรื่องราวไปในทำนองพุทธประวัติ เช่น ในตำนานอุรังคธาตุ หรือในนิทานวัดศรีโคมคำ กลายเป็นเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จปราบและเทศนาสั่งสอนพญานาค

กระทั่งนาคขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระพุทธบาทไว้เพื่อบูชา องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้ากลายเป็นผู้พิชิตและปราบพญานาคให้สิ้นฤทธิ์ เกิดเป็นผู้เลื่อมใสและปวารณาตนเป็นผู้ปกปักรักษาพระพุทธศาสนา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาสามารถเอาชนะความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่น หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ "นาค" ในฐานะสัญลักษณ์แทนกลุ่มคนดั้งเดิมที่ดิบ ป่า เถื่อน ดอย ได้เจริญขึ้นก็เพราะพระพุทธศาสนา

การสะสมบารมีของพญานาคจึงเป็นภาวะหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตที่ดีขึ้นตามอุดมคติแบบพุทธ ดังเช่นที่พระสมณโคดม ก่อนจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เคยเสวยชาติเป็นพญานาคด้วย การเปลี่ยนโครงเรื่องให้นาคกลายเป็นผู้ถูกปราบและกลายเป็นผู้เลื่อมใสรับใช้พระศาสนา จึงน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการเสื่อมคลายของระบบการนับถือญาติฝ่ายแม่ และเริ่มให้ความสำคัญต่อบทบาทและอำนาจของฝ่ายชายมากขึ้น.

ที่มา - เอกสารประกอบการแสดงทางวัฒนธรรมครั้งที่ ๒๒ การแสดงลิเกเรื่อง "พระทอง - นางนาค ณ หอประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) วันศุกร์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘ เวลา ๑๗.๓๐ - ๑๙.๐๐ น. โดย กลุ่มละครมะขามป้อม

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved