ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 9/5/08 at 15:08 Reply With Quote

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 23)


(Update 5 ต.ค. 51)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »


ตอนที่ 23

รายการ "สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต" ตอนที่ 11




สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต

ตอนที่ 11 ดินแดนแห่งดอกไม้

ออกอากาศเมื่อ : 2008-07-14



พิธีบวงสรวงบายศรีพญานาคที่ดูแลพระธาตุพนม

นอกจากพิธีบวงสรวงบูชา พญานาค ที่จังหวัดหนองคายแล้ว ที่ พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ก็ได้มีการทำบายศรีบูชาพญานาคเช่นกันในวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุก ๆ ปีเป็นประเพณี ที่เรียกกันว่า "วันพิธีศรีสัตตนาค" ถ้าหากได้ “คลิก” ดูภาพบายศรีที่นี่แล้ว จะเห็นว่าเขาทำเป็นรูปพญานาค

จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ให้คนไทยหรือคนลาวเลื่อมใสการบูชา “พญานาค” เพราะตลอดระยะกาลเวลา ที่เชาได้ถือเป็นโบราณประเพณีอันยาวนานมานี้ ยากที่นักปราชญ์สมัยนี้ที่มักอ้างทฤษฎี “วิทยาศาสตร์” มาลบล้างความเชื่อถือนี้ได้ กลับซ้ำเข้าตำรา “ยิ่งว่ายิ่งยุ” เข้าไปนั่น..ลอง "Click" เข้าไปชมเขาหน่อยปะไร.. คลิก..พิธีบวงสรวงที่พระธาตุพนม

อนึ่ง ถึงแม้ “เว็บตามรอยฯ” จะเพิ่งเข้ามาสู่วงการ “อินเตอร์เน็ต” ด้วยแล้ว จะยิ่งช่วยทำให้วงการนี้มีความเชื่อมั่นยิ่งขึ้น เพราะสามารถค้นคว้าหาหลักฐานมายืนยันได้อย่างมีเหตุผลและครบถ้วนทุกประการ หมายถึงปิดประตูหรืออุดรอยรั่วได้อย่างแน่นอนเชียวละ เพราะทีมงานได้ใช้เวลาศึกษาและสำรวจร่องรอยเหล่านี้ ตลอดระยะเวลา ๑๕ มานี้ คงจะพอที่จะยืนยันกับคนที่สงสัย ที่มักจะทำลายความเชื่อของปู่ย่าตาทวดของเขาเอง ข้อเขียนของ คุณอภิรัตน์ชัย จอมศรี ยังมีต่อไปอีกว่า..

ความหมายของ "พญานาค"

"........พญานาค...สะพาน (สายรุ้ง) ที่เชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ โลกศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อที่ว่า พญานาค กับ รุ้ง เป็นอันเดียวกัน ก็คือสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์นั่นเอง
........นาคสะดุ้ง...ที่ราวบันไดโบสถ์นั้นได้สร้างขึ้นตามความเชื่อถือ "บันไดนาค" ก็ด้วยความเชื่อดังกล่าว แม้ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ก็โดยบันไดแก้วมณีสีรุ้ง ที่เทวดาเนรมิตขึ้นและมีพญานาคจำนวน 2 ตน เอาหลังหนุนบันไดไว้ หรือแม้แต่ "ตุง" ของชาวล้านนาและพม่า ก็เชื่อกันว่าคลี่คลายมาจากพญานาค และหมายถึงบันไดสู่สวรรค์

ความเชื่อของชาวฮินดู ก็ถือว่า "นาค" เป็นสะพานเชื่อมภาวะปกติ กับที่สถิตของเทพ ทางเดินสู่วิษณุโลก เช่น ปราสาทนครวัด จึงทำเป็น “พญานาคราช” ที่ทอดยาวรับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ สู่โลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ หรือก็บั้งไฟของชาวอีสานที่ทำกันในงานประเพณีเดือนหก ก็ยังทำเป็นลวดลาย และเป็นรูปพญานาค พญานาคนั้นจะถูกส่งไปบอก "พญาแถน" บนฟ้าให้ปล่อยฝนลงมา.."

สำหรับ "ภาคเหนือ" ก็มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคอยู่เช่นกัน ดังใน ตำนานสิงหนวัติ ซึ่งเป็นตำนานเก่าแก่ของทางภาคเหนือเอง “เมื่อพระเจ้าสิงหนวัติอพยพคนมาจากนครไทยเทศ (กรุงราชคฤห์) พระองค์เป็นโอรสองค์สุดท้องของพระเจ้าพิมพิสาร พญานาคได้แปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมืองเป็นเมือง นาคพันธุ์สิงหนวัติ

ต่อมายกทัพปราบเมืองอื่นได้และรวมดินแดนเข้าด้วยกันจึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนคร ต้นวงศ์ของ พระยามังราย ผู้ก่อกำเนิด อาณาจักรล้านนา นั่นเอง” ซึ่งประวัติการสร้างเมืองทางภาคเหนือ ก็ตรงกับประวัติการสร้างเมืองหนองหาร (สกลนคร) เล่าไว้ว่า พญาสุวรรณนาคราช ก็ได้แปลงกายมาชี้ตำแหน่งการสร้างเมืองใหม่ให้แก่ พระยาสุวรรณภิงคาร เช่นกัน

พิธีบวงสรวงพญานาคที่พะเยา

"........จังหวัดพะเยาก็ยังมีสถานที่สำคัญที่กล่าวถึง "พญานาค" คือ พระเจ้าองค์หลวง ณ วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา ตามประวัติของวัดเล่าว่า สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้เสด็จขึ้นมาที่ดอยจอมทอง (ปัจจุบันคือ พระธาตุจอมทอง) ได้ให้พระอานนท์ไปตักน้ำที่ "หนองเอี้ยง" (กว๊านพะเยา) แต่ถูกพญานาคชื่อว่า จาตุ๊มะสักขี ขัดขวาง จึงไม่สามารถตักน้ำไปถวายพระพุทธองค์ได้ ต่อมาพระอานนท์ได้ขึ้นกราบทูลให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงเสด็จลงไปทรมานพญานาคจนสิ้นพยศ

สมัยต่อมา พญาจาตุ๊มะสักขีนาคราช ก็ได้นำทองคำมาให้ "ตายายคู่หนึ่ง" ที่ตั้งบ้านอยู่ริมกว๊านพะเยาเพื่อสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งตายายคู่นี้ใช้เวลา สร้างถึง 33 ปี (พ.ศ. 2034 - 2067) เรียกกันว่า "พระเจ้าองค์หลวง" หรือ "วัดพระเจ้าตนหลวง" เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในลานนาไทย

ฉะนั้น เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เวลา ๑๘.๐๐ น. ได้มีพิธีบวงสรวงพญานาคที่ชื่อว่า "ธุมะสขี" (ในตำนานเรียก จาตุ๊มะสักขี) ในอดีตเป็นพญานาคที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้แปลงร่างเป็นมานพหนุ่มนำทองมาให้สองตายายสร้าง พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันแกะสลัก "เทวรูปพญานาค" เพื่อเป็นที่สักการบูชาแก่คนทั่วไป...โปรด "Click" พิธีบวงสรวงพญานาคธุมะสขี

พญานาคใน "มหาปรินิพพานสูตร"

ประวัติสำคัญที่ปรากฏใน "มหาปรินิพพานสูตร" หลังจากถวายเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว ท่านโทณพราหมณ์ ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ทะนาน ถวายให้เหล่ากษัตริย์ทั้งหลายไปสักการบูชาตามเมืองต่างๆ ดังนี้

๑. พระเจ้าชาตศัตรู เมืองราชคฤห์ ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค ในพระนครราชคฤห์
๒. พวกกษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวสาลี
๓. พวกกษัตริย์ศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกบิลพัสดุ์
๔. พวกกษัตริย์ถูลี เมืองอัลกัปปะ ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมือง อัลกัปปะ
๕. พวกกษัตริย์โกลิยะ เมืองรามคาม ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองรามคาม
๖. พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ ก็ได้ กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวฏฐทีปกะ
๗. พวกเจ้ามัลละ เมืองปาวา ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองปาวา
๘. พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกุสินารา
๙. โทณพราหมณ์ ก็ได้กระทำสถูปและการฉลอง "ตุมพะ" (ทะนานตวงพระบรมธาตุ)
๑๐. พวกกษัตริย์โมริยะเมืองปิปผลิวัน ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลอง "พระอังคาร" ในเมืองปิปผลิวัน ฯ

พระสถูปบรรจุพระสรีระมี ๘ แห่ง เป็น ๙ แห่ง ทั้งสถูปบรรจุทะนาน และเป็น ๑๐ แห่งทั้งพระสถูปบรรจุพระอังคาร ด้วยประการฉะนี้ การแจกพระธาตุและ การก่อพระสถูปเช่นนี้ เป็นแบบอย่างมาแล้ว ฯ
พระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ ๘ ทะนานนั้น ๗ ทะนานบูชากันอยู่ในชมพูทวีป ส่วนพระสรีระอีกทะนานหนึ่งของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบุรุษที่ประเสริฐอันสูงสุด พวกนาคราช บูชากันอยู่ในรามคาม
พระเขี้ยวองค์หนึ่งเทวดาชาวไตรทิพย์บูชาแล้ว ส่วนอีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ในคันธารบุรี อีกองค์หนึ่งบูชากันอยู่ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ อีกองค์หนึ่ง พญานาคบูชากันอยู่ ฯ

ด้วยพระเดชแห่งพระสรีระพระพุทธเจ้า นั้นแหละ แผ่นดินนี้ชื่อว่าทรงไว้ซึ่งแก้ว ประดับแล้วด้วยนักพรตผู้ประเสริฐที่สุด พระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีจักษุนี้ ชื่อว่า อันเขาผู้สักการะๆ สักการะดีแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใด อันจอมเทพจอมนาคและจอมนระบูชาแล้ว อันจอมมนุษย์ผู้ ประเสริฐสุดบูชาแล้วเหมือนกัน ขอท่านทั้งหลายจงประนม มือถวายบังคมพระสรีระนั้นๆ ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้ยากโดยร้อยแห่งกัป ฯ พระทนต์ พระเกศา และ พระโลมาทั้งหมด พวกเทวดานำไปองค์ละองค์ๆ โดยนำต่อๆ กันไปในจักรวาล ดังนี้แล ฯ

ในหนังสือพระบรมสารีริกธาตุ (Buddha Relics) โดยมูลนิธิ พระบรมธาตุ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ได้กล่าวไว้ว่า มีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ ๗ องค์ ที่ไม่แตกทำลายเป็นเม็ดเล็กเม็ดน้อย และมีผู้นำไปประดิษฐานไว้ในที่ต่างๆ คือ
1. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา๑ และพระรากขวัญเบื้องขวา๑ ประดิษฐานอยู่ที่พระจุฬามณีเจดีย์ ณ ดาวดึงสเทวโลก.
2. พระเขี้ยวแก้วเบื้องล่างขวา๑ ปัจจุบันอยู่ที่ประเทศศรีลังกา (เมืองแคนดี้)
3. พระเขี้ยวแก้วเบื้องล่างซ้าย๑ ประดิษฐานอยู่ในภพของพญานาค
4. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย๑ ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ (ปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประเทศจีน)
5. พระรากขวัญเบื้องซ้าย๑ และพระอุณหิส๑ ประดิษฐานในทุสสเจดีย์ ณ พรหมโลก.
พระทนต์ ๓๖ องค์ พระโลมา พระนขา เทพยดาในหมื่นจักรวาล นำไปบูชาจักรวาลละองค์.

ธาตุอันตรธาน
"ธาตุอันตรธาน" เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "พระบรมธาตุนิพพาน" และคำว่านิพพานในที่นี้ มีอยู่ ๓ ประการ คือ
1. กิเลสนิพพาน คือ การตรัสรู้ที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์
2. ขันธนิพพาน คือ การดับแห่งเบญจขันธ์ ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา
3. ธาตุนิพพาน คือ พระบรมสารีริกธาตุสูญสิ้นไปจากโลก ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต

การนิพพานแห่งพระบรมธาตุทั้งหลายนั้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ ไม่มีผู้สักการะบูชา พระบรมธาตุในที่นั้นก็จะเสด็จไปยังถิ่นประเทศที่มีคนเคารพสักการะบูชา จวบจนวาระสุดท้ายมาถึง ทั่วทุกถิ่นประเทศ หาผู้สักการะบูชาไม่มีเลย.

เมื่อนั้น พระบรมธาตุทั้งหมด ทั้งจากมนุสโลก เทวโลกและนาคพิภพ จะเสด็จมาสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ แล้วรวมกันเป็นรูปพระพุทธองค์ ทรงประดิษฐาน ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ประหนึ่งว่า พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ จะทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ในที่นั้น แต่ในครั้งนี้ มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย จะไม่มีผู้ใดได้เห็นพระองค์เลย.

ที่มา - เว็บ gotoknow.org



สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

ต่อมาสมัยเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เมื่อเสร็จจากการทำสังคายนา (ประมาณ พ.ศ. ๒๓๕) เหมือนว่าเป็นปฏิสังขรณ์ศาสนาครั้งยิ่งใหญ่แล้ว ก็ทรงตั้งพระทัยต่อศาสนวัตถุที่กำลังเสื่อมโทรม โดยเฉพาะสถูป ๘ แห่งที่ประดิษฐานพระบรมพระธาตุ ที่ได้รับมอบจากกษัตริย์แห่งกุสินารา โปรดให้เที่ยวค้นหาพระบรมสารีริกธาตุตามเมืองต่าง ๆ

ในตอนนี้ หลวงจีนที่จาริกไปถึงอินเดียได้เล่าว่า พระเจ้าอโศกเสด็จมาถึง รามคาม ด้วยพระองค์เอง และเตรียมการจะขุดสถูป พญานาคราช ซึ่งเฝ้าสถูปอยู่ได้แปลงร่างเป็นพราหมณ์ ขอร้องให้พระองค์อย่าขุดทำลายสถูปนี้เลย เพราะเป็นของสำคัญในชีวิตของนาค พระสถูปทั้ง ๗ จึงถูกขุดบูรณะเสียใหม่ จัดให้มีการบูรณะเสียใหม่ และสร้างเพิ่มอีก ๘๔,๐๐๐ องค์ นำพระบรมสารีริกธาตุแจกจ่ายไปบรรจุโดยทั่ว และนำไปบรรจุไว้ที่สถูปของพระองค์ ในเมืองปาตลีบุตรด้วย

ในบรรดาเจดีย์ที่ขุดค้นพระบรมสารีริกธาตุนั้น จึงยกเว้นสถูปที่ รามคาม แห่งนี้เท่านั้น เพราะเหตุว่าพระเจ้าอโศกได้รับการแสดงความเป็นเจ้าของผู้ดูแลจาก "นาคราชา" พร้อมด้วยบริวาร ถวายการอารักขาพระบรมธาตุอย่างมั่นคงอยู่แล้วนั่นเอง (แต่ในประวัติบางแห่งเล่าว่า พระสถูปที่เมืองรามคามนั้นตั้งอยู่ริมตลิ่ง ต่อมาได้เกิดน้ำเซาะพังลงไปในน้ำ พญานาคราชจึงได้อัญเชิญไปบูชาไว้ที่นาคพิภพ)

(หมายเหตุ : กษัตริย์โกลิยะ รามคาม นครหลวงของแคว้นโกลิยะ บัดนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล เป็นที่ประดิษฐานสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งหนึ่ง อันเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ชาวเทวทหะได้รับส่วนแบ่งมาแต่เมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า ที่กุสินารา เป็นพระบรมสารีริกธาตุองค์ที่ ๘ ที่ยังไม่เคยมีใครพบ ฉันรู้เพียงว่าพระธาตุเจดีย์นั้นประดิษฐานอยู่ที่เมืองรามคาม ซึ่งเป็นชื่อของกรุงเทวทหะในอดีต นี่เป็นบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ได้เคยไปสำรวจมาแล้ว)

สุมนสามเณร ไปอัญเชิญพระบรมธาตุจากนาคพิภพ

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเช่นกัน พระองค์ได้ส่งพระโอรสและพระธิดา ซึ่งได้ทรงออกผนวชในพระพุทธศาสนา คือ พระมหินทเถระ และ พระนางสังฆมิตตาเถรี เดินทางไปประกาศพระศาสนาที่ เกาะลังกา ในคราวนั้นมีเรื่องเล่าว่า พระบรมสารีริกธาตุใน "รามคาม" ที่พระมหินทเถระใช้ให้ สุมนสามเณร ผู้เป็นหลาน (เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ) ไปนำมาจาก นาคพิภพ อีกทั้งเหาะขึ้นไปขอ พระรากขวัญเบื้องขวา มาจากท้าวสักกเทวราชด้วย

ในตอนนี้ จะต้องขอเล่าย้อนตอนเนื้อความที่กล่าวถึงการบรรจุพระบรมธาตุของ พระเจ้าอชาตศัตรู ณ กรุงราชคฤห์ ซึ่งประธานฝ่ายสงฆ์ คือ พระมหากัสสปเถระ ได้อาราธนาพระบรมสารีริกธาตุที่ถูกแบ่งคราวนั้นไปตามเมืองต่างๆ ทั้ง ๗ แห่ง (เว้นเมืองรามคาม) ให้เสด็จมารวมกันในพระสถูป ณ กรุงราชคฤห์

พระมหาเถระดำริว่า เพราะเหตุการณ์ต่อไปในอนาคต พระบรมธาตุทั้งหลายใน รามคาม ที่เหล่าพญานาคเก็บรักษาไว้ อันตรายของพระบรมธาตุเหล่านั้นไม่มี และต่อไปในอนาคตกาล คนทั้งหลายจักอัญเชิญไปบรรจุไว้ใน พระมหาเจดีย์ ในมหาวิหาร ลังกาทวีป ดังนี้ แล้วจึงไม่นำพระบรมธาตุเหล่านั้นมา.

สรุปได้ว่า สุมนสามเณร ได้ขึ้นไปขอ พระรากขวัญเบื้องขวา มาจากพระอินทร์ แสดงว่า "พระรากขวัญเบื้องขวา" ที่กล่าวไว้ในตอนต้นๆ ว่าอยู่ที่ดาวดึงสเทวโลกนั้น บัดนี้ ได้มาประดิษฐานอยู่ในมนุษยโลกแล้ว เพราะพระอินทร์ได้มอบให้สามเณรมาแล้ว ที่ดาวดึงส์ยังเหลือแต่ พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา เท่านั้น (และพระเมาฬีที่ตัดในวันผนวช)

นอกจากพระรากขวัญเบื้องขวาแล้ว สุมนสามเณรยังได้พระบรมธาตุอีกส่วนหนึ่งมาจากพระเจ้าอโศกมหาราช. และอีกส่วนหนึ่งมาจาก นาคพิภพ ในรามคาม สายทางแห่งพระบรมสารีริกธาตุเหล่านี้ เคลื่อนย้ายสถานที่ไป เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระพุทธศาสนาในโลก เป็นอันทำกิจในส่วนของตนๆ สำเร็จแล้ว

ทั้งนี้ คงแล้วแต่ความเหมาะสม หรือแล้วแต่กาลเวลาที่พระบรมสารีริกธาตุส่วนที่สำคัญของพระพุทธเจ้า ถึงเวลาอันสมควรที่จะประดิษฐานอยู่ที่ใด เพื่อเป็นขวัญเป็นกำลังใจ และเป็นที่กราบไหว้บูชา เพื่อเป็นอานิสงส์แห่ง "พระนิพพาน" สืบไป ตราบเท่าสิ้นอายุพระพุทธศาสนาครบถ้วน ๕ พันปีนั่นเอง

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved