ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 15/4/08 at 10:10 Reply With Quote

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 21)


(Update 3 ต.ค. 51)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »


ตอนที่ 21

รายการ "สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต" ตอนที่ 9




สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต

ตอนที่ 9 ศรัทธาที่ไม่เคยเปลี่ยน

ออกอากาศเมื่อ : 2008-06-30



พงศาวดารพญานาคกับชนชาติลาว


"........ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า "วรรณกรรมปรัมปรา" (Myth) ย่อมจะมีทั้งความจริงและไม่จริงปนกันอยู่ แต่ฐานของข้อมูลโดยมากมักจะมาจากข้อเท็จจริงอันเดียวกัน คือในทุก ๆ Myth ของพญานาค ล้วนมาจากความเชื่อว่าพญานาคมีจริง จึงเป็นเหตุให้เกิด Myth ต่างๆ มากมาย และปรากฏเรื่องราวพิสดารควบคู่ไปด้วย

..........ความเชื่อของผู้ที่เชื่อว่าพญานาคมีจริง เป็นความเชื่อที่ใครก็ลบล้างไม่ได้ เหมือนความเชื่อของหลวงปู่ครูบาอาจารย์ผู้บรรลุธรรมแล้ว ย่อมเชื่อว่าพระนิพพานมีจริง ใครก็ลบล้างไม่ได้ ถ้าลบล้างได้หลวงปู่ก็คงต้องสึกอย่างไม่ต้องสงสัย

.........เฉกเช่น "นักบวช" ที่หาพระนิพพานไม่เจอ จึงทำระยำตำบอนอย่างที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ เห็นแล้วสลดใจมาก ถึงกับแสดงภาพกำลังจะร่วมเพศกับสีกาก็มี ลักษณะนี้คือ นอกจากจะล้มเลิกความเชื่อในพระนิพพานแล้วยังรวมไปถึงไม่เชื่อในบาปบุญ หรือนรกสวรรค์ จึงมีความกล้าสามารถที่จะกระทำการอันผิดวิสัยของสมณเพศ โดยไม่พรั่นพรึงต่ออะไรทั้งสิ้น

..พระธาตุหลวง นครเวียงจันทน์ ลาว..

สำหรับผู้ที่มีความเชื่อโดยไม่คลอนแคลนในพญานาคที่เป็นมวลใหญ่ที่สุด เห็นจะเป็นคนลาวทั้งประเทศ เชื่อไปถึงที่สุดว่า พวกเขาสืบเชื้อสายมาจากพญานาค จนกระทั่งปรากฏเป็น พงศาวดารลาว และกล่าวถึงการกำเนิดคนลาวและชนชาติลาวที่เกี่ยวข้องกับพญานาคอย่างเต็มที่เต็มทาง ดังเนื้อหาโดยย่อต่อไปนี้

“นานมาแล้ว ยังมีคนพวกหนึ่งย้ายตั้งถิ่นฐานอยู่แถบแม่น้ำโขง ข้างภูเขาในแดนเสฉวนของจีนปัจจุบัน มีหญิงคนหนึ่งในหมู่คนพวกนั้นมีลูกแล้ว 8 คน วันหนึ่งไปช้อนปลาที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เกิดมีขอนไม้ประหลาด มีเกล็ดสากๆ ลอยมาพาดขาของนาง โดยที่นางเองไม่ทราบว่าเป็นอะไร เข้าใจแต่เพียงว่าเป็นขอนไม้พิลึกๆ เท่านั้น

จากนั้นมานางได้ตั้งครรภ์ลูกคนที่ 9 และให้กำเนิดลูกคนที่ 9 จนกระทั่งลูกคนที่ 9 เจริญวัยพอวิ่งเล่นได้ นางได้พาลูกๆ ทั้ง 9 คนไปช้อนปลาที่ริมฝั่งโขงอีกครั้ง ขณะนั้นมีนาคตัวหนึ่งปรากฏตัวขึ้นแล้วร้องถามนางว่า “ลูกเราอยู่ไหน” นางตกใจร้องเสียงหลงว่า “เก้าหล้ง” นางกับลูกทั้ง 8 คนวิ่งหนีไปได้ เว้นแต่ลูกคนเล็กคือ คนที่ 9 หนีไม่ทัน พญานาคได้ขึ้นมาแลบลิ้นเลียด้วยความรัก

ต่อมาเมื่อลูกทั้ง 9 คน เติบใหญ่แล้ว ปรากฏว่าลูกคนที่ 9 มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าใคร ๆ คนทั้งหลายจึงพร้อมใจกันยกให้เป็นหัวหน้าปกครองหมู่คณะ และสื้บเชื้อสายเป็นทอด ๆ มา จนกลายเป็นต้นกำเนิดของชนชาติลาว โดยเรียกว่า "พวกอ้ายลาว”

พงศาวดารจีน

"พงศาวดารลาว" นี้ใช่จะเป็นเรื่องเป็นราวลอย ๆ ในอากาศก็หาไม่ แม้ "พงศาวดารจีน" ก็มีกล่าวถึงไว้ใกล้เคียงกัน ดังนี้

“ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาติลาวตั้งอยู่บริเวณภูเขาอ้ายลาว (เมืองเสฉวนทุกวันนี้) ริมแม่น้ำโขงที่เรียกชื่อว่า “เก้าหล้ง” โดยที่จีนเรียกว่า “กิวลุงเกียง” แปลว่า แม่น้ำนาคทั้ง 9 หมายความว่าเป็นถิ่นฐานของชาย 9 คน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดชนชาติลาว” พวกอ้ายลาวจึงนิยมนับถือนาค มักจะสักรูปนาคใส่แขนและขา จนเป็นเอกลักษณ์ของพวกอ้ายลาวสมัยนั้น

ความเชื่อในพญานาคของชนชาติลาวยังมีปรากฏในพงศาวดารจีนว่า แม้แต่เมืองแทบทุกเมืองของพวกอ้ายลาวที่ได้ตั้งขึ้นและอาศัยอยู่ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพญานาคทั้งสิ้น ดังที่ได้ปรากฏในงานวิจัยเรื่อง "นาค" ของนางคำผุย พลลือชา ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว จังหวัดกำแพงนครเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

“เมืองลุง หรือนครลุง เป็นเมืองหลวงของชาติลาวในสมัยอ้ายลาว เนื่องจากพวกจีนเรียก พวกอ้ายลาวทั้ง 9 ว่า "พวกลี" และเรียกประเทศของพวกลีว่า "ประเทศจก" คำว่า "หลง" กับ "ลี" คงจะเป็นคำเดียวกัน ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น "ลุย" แล้วเพี้ยนเป็น "ลวง" ที่สุดก็กลายเป็น "ลา" ดังนั้นที่จีนเรียกว่า "กิ้วหล้ง "หรือกิวลุงนั้น จึงหมายถึง "ลาวทั้ง 9" หรือ "นาคทั้ง 9" คำว่า "ลุง" ที่กลายมาเป็นชื่อ "เมืองลุง" หรือ "นครลุง" จึงมีความหมายว่า นครนาค นั่นเอง

ต่อมาเมื่อประมาณ 843 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ชนชาติตาดได้เข้ามารุกรานพวกจีนแล้วเลยเข้ามารุกรานพวกอ้ายลาวถึงนครลุง ชนชาติลาวสู้ไม่ได้จึงอพยพหลบหนีลงมาอยู่ที่นครปา และสร้างนครใหม่ขึ้นอีกคือ นครเงี้ยว หรือเมืองเงี้ยว ชื่อของเมืองใหม่ก็ยังคงสัมพันธ์กับนาค เพราะว่า "เงี้ยว" แปลว่า "งู" และ "งู" ก็คือ "นาค" ("งู" เป็นคำลาว "นาค" เป็นคำบาลี)

จากนั้นมา 70 ปี ชนชาติจีนได้เข้ามารุกรานนครปาและนครเงี้ยวของพวกลาวอีก ชาวลาวจึงอพยพหนีลงมาทางใต้ของเมืองเสฉวน โดยมาสร้างอาณาจักรใหม่ที่หนองแส เรียกว่า อาณาจักรลาวหนองแส หรือ "อาณาจักรน่านเจ้า”

หนองแสเป็นบึงใหญ่ อยู่ตะวันออกของแม่น้ำโขง ในเขตมณฑลยูนนานของจีน สมัยโบราณ ลาวเรียกบึงนี้ว่า "หนองแส" หรือ "หนองกระแส" แสนย่าน แต่จีนกลับเรียกว่า "ตาลีฟู"

อาณาจักรหนองแสนี้มีเรื่องราวกล่าวถึงความเชื่อในพญานาคอยู่ไม่น้อย ปรากฏอยู่ในนิทานและตำนานหลายเล่ม เช่น ในเรื่อง ขุนทึง กล่าวว่า ขุนเทืองไปได้กับลูกสาวพญานาคอยู่หนองแสชื่อ "เอกไคล้" และได้ลูกคนหนึ่งชื่อ "ขุนทึง"

ต่อมาขุนทึงได้มาสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น ทั้งขุนเทือง - ขุนทึง เชื่อว่าเป็นพวกขอมที่สืบเชื้อสายมาจาก พระนางจามเทวี ที่ครองเมืองหริภุญไชย ในระหว่างปี พ.ศ. 1008 ตอนนั้นพวกอ้ายลาวก็อพยพมาอยู่หนองแสแล้ว พวกขอมกับลาวจึงไปมาหาสู่กันตลอดเวลาหลายชั่วคน จนขุนเทืองมาได้กับนางเอกไคล้ ผู้เป็นลูกกษัตริย์เมืองหนองแส จึงได้กล่าวว่า นางเอกไคล้เป็นลูกสาวนาคหนองแส เพราะว่าชาวอ้ายลาวสืบเชื้อสายมาจากนาค จึงเรียกพวกอ้ายลาวว่า "นาค" ทั้งชนชาติ

ต่อมาอาณาจักรหนองแส ได้ถูกชนชาติจีนรุกรานอีก จึงอพยพลงมาสร้างเมืองใหม่อยู่ทุ่งนาน้อยอ้อยหนู เกิดเป็นอาณาจักรแถน จีนเรียกอาณาจักรแถนว่า "เก้าหล้ง" และเรียกเมืองแถนว่า "เมืองกาหลง" ซึ่งมาจากคำ "เก้าหล้ง" และมีความหมายว่าเป็น "เมืองนาค" ตามเดิม

จากพงศาวดารต่างๆ นั้น ทำให้เห็นชัดเจนว่า ชนชาติลาวมีความเชื่อในพญานาคอย่างแน่นแฟ้น ชื่อเมืองทุกเมืองล้วนเกี่ยวเนื่องกับพญานาคทังสิ้น ไม่เพียงแต่การตั้งชื่อเมืองให้เกี่ยวข้องกับพญานาค หากแต่ยังปรากฏคติความเชื่อในการหาฤกษ์งามยามดี ในการขึ้นครองราชย์ของเจ้านครอีกด้วย เช่น ขุนบรมราชาธิราช เจ้านครหนองแส ผู้สร้างเมืองแถนจนสำเร็จ จึงหาฤกษ์ขึ้นครองเมืองแถน ซึ่งหาได้วันที่ราหูเข้าสู่ราศีตุลย์ สัตว์คู่ราศีคือ "พญานาค"

ความสัมพันธ์ระหว่างนาคกับนครต่าง ๆ ของชาวลาวไม่ได้สิ้นสุดอยู่ในสมัย "ขุนบรม" สายสัมพันธ์นี้ยังสืบทอดมาถึงรุ่นลูกของขุนบรมคือ "ขุนลอ" ซึ่งเป็นผู้สร้างเมืองเชียงคง เชียงทอง (หลวงพระบาง) โดยมีการหมายเขตแดนเมืองดังตำนานว่า

“เอาโง่นหมิ่นหลวงเป็นหางนาค เอาปากน้ำคาน (ที่ไหลมาบรรจบแม่น้ำโขง) เป็นหัวนาค" แล้วเรียกชื่อนครนี้ว่า “นครเชียงทองสีสัตตนาค” กลายมาเป็น นครหลวงพระบาง จนทุกวันนี้

หลวงพระบางได้ชื่อว่าเป็นนครแห่งนาค ชาวหลวงพระบางเชื่อถือในพญานาคอย่างแนบแน่นในจิตใจ จนถึงกับปรากฏความเชื่อในเรื่องบรรพบุรุษของชาวหลวงพระบางคือ พญานาค 15 ตระกูล และพญานาคทั้ง 15 ตระกูล ก็ยังอยู่ประจำรักษาเขตแดนต่างๆ ดังนี้

(ภาพที่เห็นคือ "พระธาตุพูสี" อยู่ในเมืองหลวงพระบาง จะมองเห็นแม่น้ำของ (โขง) ไหลคดเคี้ยวไปมา)

........พญานาคตระกูลที่ 1 อยู่แก้งหลวงน้ำช่วง ตระกูลที่ 2 อยู่สบบ่อ ตระกูลที่ 3 อยู่คกเรือ ตระกูลที่ 4 อยู่แก้งอ้อย ตระกูลที่ 5 อยู่สบเชือง ตระกูลที่ 6 อยู่แก้งตังนาย ตระกูลที่ 7 อยู่สบโฮบ ตระกูลที่ 8 อยู่แก้งหลวง ตระกูลที่ 9 อยู่พูสี ("พูสี" อยู่ใจกลางหลวงพระบาง) ตระกูลที่ 10 อยู่หนองตาบาก ตระกูลที่ 11 อยู่ท่าท้าง ตระกูลที่ 12 อยู่ปากคาน ตระกูลที่ 13 อยู่ผาเผือก ตระกูลที่ 14 อยู่พูช้าง และตระกูลที่ 15 อยู่พูชวง

........ด้วยเหตุที่หลวงพระบางเป็นแดนแห่ง "พญานาค" ดังกล่าวนี้ จึงเป็นความเหมาะควรโดยประการทั้งปวง ที่จะเป็นสถานที่สถาปนาฤทธิ์เดชให้กับ นาคาธิบดีสีสัตตนาค บาดาลที่สภาบุญได้จัดสร้างขึ้น และกำลังเป็นกระแสเชี่ยวกรากให้ผู้เสื่อมใสศรัทธาได้สัมผัสในขณะนี้)

ความสัมพันธ์ระหว่างพญานาคกับคนลาว ที่ปรากฏในตำนานนิทานหรือพงศาวดาร มักจะมีลักษณะของความเป็นประวัติศาสตร์สอดแทรกอยู่ด้วยเสมอ แม้แต่ตำนานการสร้างเมืองหลวง เมืองสุดท้ายของลาว ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับพญานาคเหมือนกัน

ประวัติผู้สร้างนครเวียงจันทน์

อุรังคธาตุนิทาน (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวถึงการสร้างนครเวียงจันทน์ว่ามีเหตุมาจากพญานาคดังนี้
มีชายคนหนึ่งชื่อ บุรีจันทน์ เป็นคนอัปลักษร์ ตัวดำใหญ่ พุงใหญ่ จนเรียกกันทั่วไปว่า “บุรีจันทน์อ่วยล้วย” (อ่วยล้วย = คนอ้วนคนพี) เป็นชาวเมืองสุวรรณภูมิ อยู่บ้านเก้าเลี้ยว (ในเขตเวียงจันทน์) ได้ออกมาตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านร่องแก ข้าง "หนองคันแทเสื้อน้ำ" บุรีจันทน์แม้อัปลักษณ์ รูปชั่วตัวดำ แต่จิตใจงดงาม เต็มไปด้วยเมตตา เป็นทั้งคนใจบุญสุนทาน รักษาศีล ภาวนา และได้อุปถัมภ์อุปัฐากพระอรหันต์ 2 รูป มาจากราชคฤห์นคร องค์หนึ่งชื่อ พระมหาพุทธวงศ์ อยู่ริมบึง อีกองค์ชื่อ พระมหาสัชชติ อยู่ในป่าเหนือบึง


หมายเหตุ : ท่านผู้อ่านช่วยจำชื่อ "หนองคันแทเสื้อน้ำ" ไว้ด้วย เพราะจะเป็นสถานที่ในกาลต่อมา "คันแท" แปลว่า "คันนา" ซึ่งเคยเป็นที่อาศัยของผีเสื้อน้ำ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จไปประทับที่ริมหนองนี้เป็นครั้งแรกในเมืองเวียงจันทน์ แล้วได้ตรัสพยากรณ์ไว้ ส่วนรายละเอียดบันทึกอยู่ใน "อุรังคนิทาน"

สมัยต่อมาได้ถมหนองน้ำนี้ แล้วสร้าง "พระธาตุหลวงเวียงจันทน์" ไว้ตรงที่พระพุทธเจ้าประทับนั่ง สมัยต่อมาได้มีพระอรหันต์นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้างก็ได้ทำการบูรณะ จนเป็นที่สวยสดงดงาม และเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวลาวสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

และด้วยอำนาจบุญกุศลดังกล่าว คนทั้งหลายจึงพากันยกบุรีจันทน์เป็นหัวหน้า และเป็นอาจารย์สั่งสอนศีลธรรม ศิลปหัตถกรรม การกสิกรรม จนเป็นที่รักใคร่ของเหล่ามนุษย์และเทวดา รวมไปถึงเหล่านาคทั้งหลายที่มาคอยช่วยเหลือ โดยมีนาคใหญ่คือ พญาสุวรรณนาคราช เป็นราชาแห่งนาคในเขตนั้น

ครั้งหนึ่งน้ำท่วมไร่นาชาวบ้านเสียหายมาก สุวรรณนาคราช มีบัญชาให้ เศรษฐไชยนาคราช มาเนรมิตคันเทกั้นน้ำเอาไว้ไม่ให้น้ำท่วมนาข้าว จึงเกิดชื่อ "หนองคันแทเสื้อน้ำ" ในเวลาต่อมา

กาลล่วงผ่านไปจนกระทั่งถึงเวลาที่บุญวาสนาของบุรีจันทน์จะบังเกิดผล สุวรรณนาคราชจึงให้ "เอกจักขุนาคราช" กับ "สุคันธนาคราช" แปลงเพศเป็นงูน้อย 2 ตัว มีเกล็ดสีทองเหมือนทองคำ มีหงอนงามเข้าไปอยู่ในไซดักปลาของชาวบ้าน ระหว่างนั้นบุรีจันทน์ก็ฝันไปว่าไส้ของตนไหลอออกมาจากท้องมาพันรอบเอวได้ 7 รอบ พอตื่นเช้าก็กลัวความฝันนั้นเป็นอันมาก ถึงกับเล่าฝันให้พระมหาพุทธวงศ์ฟัง ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พญานาค พอดีเป็นเวลาบิณฑบาต บุรีจันทน์จึงถือโอกาสใส่บาตรอุทิศส่วนบุญกุศลทันที

ครั้นตกสายชาวบ้านไปกู้ไซเห็นงูน้อย 2 ตัว แปลกประหลาดมาก ก็นำมาให้บุรีจันทน์ดู บุรีจันทน์จึงของู 2 ตัวนั้นไว้ ตั้งใจว่าจะเอาไปถวายท้าวคำบาง ผู้เป็นเจ้าเมือง พอค่ำลง สุวรรณนาคราชก็เนรมิตกายเป็นคนเฒ่านุ่งข่าวห่มขาวมาหาบุรีจันทน์ และบอกว่างู 2 ตัวนั้นเป็นลูกจะมาขอคืน บุรีจันทน์บอกว่าจะเอางู 2 ตัวไปถวายเจ้าเมือง และสงสัยว่าทำไมคนเฒ่าจึงบอกว่างูเป็นลูก

“เราเป็นพญานาค ไม่จำเป็นต้องเอาลูกของเราไปให้ท้าวคำบางเลย ท้าวคำบางต่างหากจะต้องเป็นฝ่ายให้ท่าน”

เมื่อทราบเช่นนั้นบุรีจันทน์จึงมอบงูน้อย 2 ตัว ให้คนเฒ่า (สุวรรณนาคราช) และคนเฒ่าจึงบอกบุรีจันทน์ว่า จงไปขุดบ่อน้ำไว้ที่ริมบึงนอกบ้าน ถึงวันพระจะให้นาคน้อย 2 ตัวนี้มา ท่านประสงค์สิ่งใดจงบอกแก่นาคน้อยทั้ง 2 ก็จะสมดังประสงค์ทุกประการ

หลังจากนั้น สุวรรณนาคราชได้ไปดลใจให้ท้าวคำบางและมเหสี เกิดความคิดจะยกลูกสาวคือ นางอินทะสว่าง ให้ไปเป็นสนมของ พญาสุมิตธรรมวงศา กษัตริย์เมืองมารุขระ (มรุกขนคร) คือ เมืองธาตุพนมเดี๋ยวนี้

เมื่อนางอินทะสว่างทราบว่าบิดาจะยกตนให้ไปเป็นเมียของพญาสุมิตธรรมวงศา ก็โศกเศร้าเสียใจด้วยไม่มีความเต็มใจแต่ประการใด บิดาจึงขู่ว่า “ถ้าไม่อยากไปเป็นเมียท้าวพญามหากษัตริย์ ก็จะให้เป็นเมียบุรีจันทน์ท้องใหญ่เสียเลย”

แทนที่นางอินทะสว่างจะตกใจกลัว กลับมีความพอใจและหายโศกหายเศร้า เกิดความรู้สึกอยากเห็นตัวบุรีจันทน์ จึงยอมที่จะเดินทางไปมารุขระนคร แต่ขอแวะนอนที่ท่าตรงข้ามที่บ้าน "หนองคันแทเสื้อน้ำ" สักคืน เพื่อจะได้ดูตัวบุรีจันทน์

ท้าวคำบางก็ตามใจลูกสาว สั่งให้บ่าวไพร่ไปปลูกหอไว้ที่หาดดอนจันทร์ แล้วพาลูกสาวล่องเรือมาพักค้างคืนที่หอนั้น โดยสั่งบ่าวไพร่ให้ไปตามบุรีจันทน์มาเฝ้าในตอนรุ่งเช้า เพื่อว่าลูกสาวเห็นบุรีจันทน์แล้วจะได้กลัว

ฝ่ายบุรีจันทน์เมื่อทราบดังนั้น จึงออกไปที่บ่อน้ำเรียกหานาคทั้ง 2 ตัวให้มาช่วย โดยบอกนาคทั้ง 2 ว่า ครั้งนี้เราเกิดอยากได้นางอินทะสว่างเป็นเมีย จงช่วยเราด้วยเถิด พญานาคทั้งหลายก็ร่วมแรงแข็งขันช่วยบุรีจันทน์คนละไม้คนละมือ ให้บุรีจันทน์อาบน้ำในบ่อนั้น

สุคันธนาคราชให้ขวดไม้จันทน์และกระบวยดักน้ำอาบ เอกจักขุนาคราชให้ผ้าเช็ดตัว กายโลหะนาคราชให้ผ้านุ่ง อินทจักขุนาคราชให้แหวนธำมรงค์ เศรษฐไชยนาคราชให้ดาบศรีด้ามแก้ว สหัสสพลนาคราชให้เสื้อรูปท้าวพันตา สิทธิโภคนาคราชให้มงกุฎทองคำประดับแก้ว คันธัพนาคราชให้สังวาลย์ทองคำ ศิริวัฒนานาคราชให้รองเท้าทองคำ อินทรศิริเทวดาให้แว่นกรองทองคำ เทวดาผยองให้ต่างหูทองคำ เทวดาสนิทให้ผ้าเช็ดหน้า ประสิทธิสักกเทวดาให้ขวดน้ำมันแก้วผลึก

เมื่อเหล่านาคและเทวดาร่วมมือกันปานนี้ บุรีจันทน์ก็กลายเป็นคนละคน ส่วนสุวรรณนาคราช หัตถีนาคราช ปัพพาละนาคราช และพุทโธปาปนาคราช ได้ร่วมกันเนรมิตปราสาทหลังงามให้ ของที่นาคและเทวดาเนรมิตให้นี้ คนทั่วไปจับต้องไม่ได้ ถ้าจับต้องจะมีเหตุเป็นไปต่างๆ นานา

คืนนั้นหลังจากอาบน้ำแล้ว บุรีจันทน์กลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม หอมไปทั้งเนื้อทั้งตัว เทวดามัจฉานารีจึงอุ้มบุรีจันทน์ไปนอนกับนางอินทะสว่าง จนได้เสียเป็นเมียผัว และเกิดความรักใคร่พอใจจะร่วมชีวิตเป็นสามีภรรยากัน ท้าวคำบางเมื่อทราบว่าบุรีจันทน์กับนางอินทะส่ว่างลักลอบได้เสียกัน แทนที่จะโกรธกลับมีความยินดีไปด้วย จึงทำพิธีอภิเษกสมรสให้บุรีจันทน์ที่ดอนนั้น

ต่อมาบุรีจันทน์ได้สร้าง หนองคันแทเสื้อน้ำ ให้เป็นเมือง และได้เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองนี้ โดยเรียกชื่อว่า “เมืองจันทน์บุรีสีสัตตนาค” กลายเป็น เมืองเวียงจันทน์ จนทุกวันนี้

นางคำผุย พลลือชา ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า

"........ถ้าพิจารณาจากพงศาวดารและนิทานพื้นบ้าน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชนชาติลาว จะพบว่า เริ่มแรกที่ชนชาติลาวสร้างบ้านสร้างเมืองมาจนถึงอาณาจักรสุดท้ายที่คนลาวอาศัยอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งเมืองลุง เมืองปา เมืองเงี้ยว ในเขตเมืองเสฉวนของจีนทุกวันนี้ ตลอดจนถึงการสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียง เช่น

.........อาณาจักรหนองแส อาณาจักรแถน และอาณาจักรล้านช้าง คือ นครเวียงจนทน์และหลวงพระบาง ล้วนแต่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับ "นาค" ดูเหมือนว่า นาคจะเป็นเจ้าแห่งปิตุภูมิที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนลาว และผูกพันกับคนลาวอย่างใกล้ชิด และคนลาวก็เชื่อถือว่าสืบสกุลมาจากนาค พร้อมกับนิยมนับถือบูชาพญานาค ใช้รูปนาคเป็นตราประจำชาติสืบมา”

ความเชื่อในเรื่องพญานาคของชนชาติลาวไม่ได้หยุดอยู่แค่ระดับพงศาวดารหรือในระดับ Myth ต่าง ๆ แต่กลับปรากฏอยู่ในระดับชาวบ้าน หรือในการดำรงชีวิตประจำวันที่เชื่อว่า เมื่อมีภัยอันตรายเกิดขึ้น สามารถพึ่งพญานาคช่วยให้พ้นภัยได้

นางแนน อายุ 63 ปี (9 ตุลาคม 2542) ชาวบ้านสีฐานใต้เล่าว่า ก่อนมารดาของตนจะเสียชีวิตได้สั่งว่า แม้จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น พวกเจ้าไม่ต้องหนีจากบ้าน ให้ไปพึ่งป่าหางบ้าน พญานาคจะเอาหางมาเกี้ยวกอดพวกเจ้าเอาไว้ ทำให้ไม่เกิดภัยต่อพวกเจ้า เพราะว่าบ้านสีฐานใต้อยู่ในเขตหางนาค

นางแสงแก้ว อายุ 68 ปี (9 ตุลาคม 2542) ผู้ปฏิบัติหน้าที่จัดอาหารคาวหวานประกอบพิธีกรรมบูชาพญานาคประจำวัดนาคห่อผ้าได้บอกว่า เขตวัดนาคห่อผ้า บ้านฐินเพีย เป็นเขตหัวนาค ส่วนบ้านสีฐานใต้เป็นเขตหางนาค สมัยก่อนในวัดนาคห่อผ้าจะมีรูโปร่งทะลุถึงหนองคำแสนบ้านสีฐานใต้ เรียกว่า "รูนาค" เขตนี้เป็นที่อยู่ของพวกนาค

ดูจากโครงสร้างกำแพงนครเวียงจันทน์ชั้นใน จะเห็นว่าเขตแดนทิศเหนือติดกับบ้านสีฐานหนือจนถึงบ้านเก้าเลี้ยว ซึ่งเรียกว่า เป็นเขตทำนาเหนือ ชาวลาวเชื่อว่ามีพญานาคชื่อว่า สิริวัดทนนาคราช รักษา มีหอบูชาพญานาคอยู่ที่บ้านเก้าเลี้ยว ส่วนเขตแดนทิศใต้ก็อยู่ที่บ้านสีฐานใต้ นับตั้งแต่บ้านบ่อโอทำนาจนถึงสีฐานใต้ เป็นเขตทำนาใต้ มีพญานาคชื่อ สิริโพธิ์พระนาคราช รักษา มีหอบูชาอยู่บ้านห้อม บ้านโอท่านา

ความเชื่อเรื่องพญานาค 2 ตนนี้ ชาวบ้านสีฐานใต้ยังรักษาไว้จนปัจจุบัน เวลามีประเพณีแข่งเรือที่วัดจันทน์ นครเวียงจันทน์ ชาวสีฐานใต้จะนำเรือล่องตามลำน้ำโขงกราบไหว้พญานาค 2 ตนที่กล่าวมานี้เสียก่อนจะนำเรือลงมาแข่งที่วัดจันทน์ พิธีการกราบไหว้บูชาพญานาคนี้ ชาวสีฐานยังปฏิบัติสืบต่อมาจนทุกวันนี้

ได้ยินว่าที่บ้านหนองหมากนาว ออกไปจากกำแพงนครเวียงจันทน์ 40 กิโลเมตร จะมีพิธีบูชาพญานาคที่ริมฝั่งโขงหลังเหตุการณ์บั้งไฟพญานาคไม่กี่วัน พิธีนี้ปฏิบัติกันทุกปี หลังพิธีแล้วจะมีงูสารพัดชนิดทุกขนาดขึ้นมารวมตัวอยู่บนหาดทรายริมฝั่งโขงนับร้อยตัว ไว้ได้ไปเห็นด้วยตาตนเองเมื่อไหร่จะกลับมาเล่าให้ฟัง เรื่องนาคนี้ยังไม่จบครับ....

ที่มา - www.suankhung.com

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2038
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved